กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
เพชรพระมหามงกุฎ
แผ่นดินทอง
รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ ยินดีต้อนรับ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชสกุล
เที่ยวเมืองพระร่วง
ตำนานวังหน้า
ความ-ทรงจำ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อธิบายเรื่องธงไทย
ตำนานภาษีอากร
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ
สารคดีที่น่ารู้ - ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
พระจอมเกล้าพระจอมปราชญ์
เทศาภิบาล
สิมอีสาน
ม.ร.ว.โต จิตรพงศ (คู่พระบารมีนายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์)
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์)
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ชิต บุรทัต
กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาลักษณ์ขี้เมา
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕
เจ้าพระยาพระคลัง(หน) กับสมบัติอมรินทร์คำกลอน
คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล)
คนดีเมืองเหนือ
พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต)
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ)
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)
พระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) เปรียญ
พระครูวัดฉลอง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชหัตถ์ซ้าย)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชหัตถ์ขวา)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์)
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี
เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
....................................................................................................................................................
จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ประสูติที่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงดิถีทางสุริยคติที่ ๗ พฤศจิกายน พระพุทธศาสนกาล ๒๔๑๙ ในปีคริสต์ศักราช ๑๘๗๖ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในเจ้าจอมมารดาทับทิม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์(ดิส) พระเจ้าลูกเธอในเจ้าจอมมารดาเดียวกันมีอีก ๒ พระองค์ คือพระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย ประสูติเมื่อปีเถาะเอกศก พ.ศ. ๒๔๒๒ พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าชายวุฒิชัยเฉลิมลาภ ที่ได้รับพระสุพรรณบัตรเป็นกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกรอยู่ในบัดนี้ ประสูติเมื่อปีมะแมเบญจศก พ.ศ. ๒๔๒๖ อีกพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามกรมหลวงนครชัยศรสุรเดชว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ชายที่มีพระชนม์อยู่เป็นรุ่นใหญ่ ๔ พระองค์ คือ กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถพระองค์ ๑ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์พระองค์ ๑ กรมหลวงปราจิณกิติบดีพระองค์ ๑ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชพระองค์ ๑ ทั้ง ๔ พระองค์นี้ตั้งแต่มีพระชันษาพอจะทรงศึกษาอักขระสมัยได้ ก็ได้มีการศึกษาร่วมกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ด้วยกัน กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชเล็กกว่าทั้ง ๓ พระองค์ ด้วยพระชันษาอ่อนกว่าถึง ๒ ปี แต่มีนิสัยพระทัยแข็งมาแต่เดิม เจ้าพี่ทั้ง ๓ พระองค์ทรงเล่าเรียนหรือปฏิบัติการอย่างไรคงเพียรทำด้วยทุกอย่าง เริ่มการศึกษาทั้ง ๔ พระองค์นี้ โปรดฯให้ทรงเล่าเรียนอักขระสมัยภาษาไทย ในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) มาสอนที่เก๋งกรงนกซึ่งอยู่หน้าประตูสนามราชกิจ อันเคยเป็นที่เล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๔ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชเวลานั้นยังเล็กกว่าทุกพระองค์ พระยาศรีสุนทรโวหารจึงจัดให้พระอนุกูลวิธาน(ชม) เป็นครูสอนเฉพาะแต่พระองค์เดียวในชั้นแรก เมื่อทรงอักขระวิธีในภาษาไทยในชั้นปฐมได้แล้ว จึงโปรดฯให้ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จออกมาเริ่มเรียนภาษาอังกฤษชั้นต้นในสำนักครูรามสามี ตั้งที่เล่าเรียนที่โรงเรียนทหารมหาดเล็ก อยู่ตรงมุมตึกข้างประตูพิมานชัยศรีด้านตะวันออก ทรงศึกษาอยู่ที่นั้นจนปีมะแมเบญจศก พ.ศ. ๒๔๒๖ เมื่อโรงเรียนที่พระตำหนักสวนกุหลาบตั้งเป็นระเบียบแล้ว จึงโปรดฯให้เสด็จไปศึกษาวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ(แก่น เปรียญ) เป็นอาจารย์ใหญ่ แต่ครูที่สอนประจำพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์นี้ คือ เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม(เปรียญ)) แต่ยังเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นตำแหน่งครูอยู่ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ด้วยเหตุนี้ทั้ง ๔ พระองค์จึงทรงเคารพเรียกเจ้าพระยายมราชว่า "ครู" ในกาลภายหลังสืบมาจนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริตริตรองมาก ถึงวิธีที่จะจัดการศึกษาของบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชาย ได้มีรับสั่งเป็นคติในความข้อนี้ว่า ธรรมดาบ้านเมืองก็ดี หรือในวงศ์สกุลก็ดี ที่จะเจริญ อาศัยผู้เป็นใหญ่ต้องคิดอ่านให้ลูกหลาน และคนชั้นหลังได้เล่าเรียนมีความรู้ยิ่งกว่าชั้นของตนขึ้นไป ถ้าหากว่าผู้ใหญ่หวงวิชาก็ดี หรือริษยามิให้เด็กมีวิชาความรู้ดีกว่าตนก็ดี ความเจริญก็จะมิได้มีแก่บ้านเมืองและวงศ์สกุล มีกระแสรับสั่งเป็นคติเช่นนี้อยู่ประการ ๑ อีกประการ ๑ มีรับสั่งว่า ผู้ที่เกิดมาเป็นเจ้านี้ไม่ใช่มีแต่ฝ่ายข้างดีโดยมีทรัพย์และยศศักดิ์ที่เป็นเจ้านั้นเอง อาจจะให้โทษมากกว่าบุคคลชั้นอื่นๆ เพราะเหตุที่รู้สึกว่าเป็นเจ้า และเป็นผู้มียศสูงกว่าผู้อื่นมาแต่แรก มีทางเสียด้วยเพลินไปในยศศักดิ์ ไม่พากเพียรแสวงหาคุณวุฒิให้สมกับที่เกิดมาเป็นเจ้า พระองค์ทรงพระราชดำริโดยรอบคอบทุกประการแล้ว จึงได้ตกลงปลงพระราชหฤทัยว่า บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชาย เมื่อมีพระชันษาถึงเวลาอันสมควรแล้ว จะส่งออกไปทรงศึกษาวิชาการในยุโรปทุกพระองค์
ครั้นถึงปีวอกฉศก พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงพระราชดำริว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะส่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ออกไปยุโรป เวลานั้นกรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระชันษาได้ ๑๑ ปี กรมหลวงปราจิณกิติบดี พระชันษาหย่อน ๑๑ ปีอยู่หน่อยหนึ่ง แต่กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช พระชันษาได้ ๙ ปี โปรดฯให้ตั้งพระราชพิธิโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๓ พระองค์ คือ กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช มีกระบวนแห่ทางข้างใน มาทรงฟังสวดที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ๓ วัน แล้วโสกันต์เมื่อ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๒๗ วันโสกันต์เมื่อขาแห่กลับและเวลาบ่ายเมื่อสมโภชที่พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬารในวันนั้น โปรดฯให้แต่งพระองค์เครื่องต้นทั้ง ๓ พระองค์ ส่วนกรมหลวงปราจิณกิติบดีนั้น ในปีวอกพระชันษายังอยู่ในเขต ๑๐ ปีขัดแก่ประเพณีการโสกันต์ จึงเลื่อนกำหนดมาโสกันต์ต่อเดือน ๖ ปีระกาสัปตศก พ.ศ. ๒๔๒๘ ทำการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีกระบวนแห่ข้างในและทรงเครื่องต้นเหมือนงานก่อน โสกันต์เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่ายสมโภชที่พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์นี้ได้พระราชทานพานทองเครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันสมโภชโสกันต์เหมือนกันทั้ง ๔ พระองค์
เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชายโสกันต์แล้ว ตามราชประเพณีซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน โปรดฯให้ทรงผนวชเป็นสามเณร เพื่อจะได้โอกาสเริ่มศึกษาความรู้และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ที่โสกันต์ครั้งนั้น พระชันษายังทรงพระเยาว์กว่าที่เจ้านายเคยทรงผนวชเป็นสามเณรมาแต่ก่อน ข้อวิตกจึงเกิดขึ้นว่า จะทนรักษาสิกขาบทสามเณรได้หรือไม่ แต่ทั้ง ๔ พระองค์เต็มพระทัยที่จะทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ประเพณีทรงผนวชเจ้านายเป็นสามเณรนั้นมีความสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือที่เป็นการปฏิญาณมอบพระองค์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ความสำคัญข้อนี้มีในครั้งนั้นโดยเฉพาะ เพราะพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ จะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการอยู่ในประเทศซึ่งมิได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาช้านาน เมื่อเวลามีอยู่และสมัครที่จะทรงผนวชทั้ง ๔ พระองค์ ถึงจะทรงผนวชแต่น้อยวัน ก็เป็นการสมควร ด้วยเหตุนี้จึงโปรดฯให้จัดการให้ทรงผนวชพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ จัดการพิธีคล้ายกับเมื่อพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อในรัชกาลที่ ๔ สมโภชที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ ปีระกาสัปตศก พ.ศ. ๒๔๒๘ รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ แต่งพระองค์ทรงเครื่องต้นที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงพระยานุมาศ มีกระบวนแห่พร้อมด้วยเครื่องสูงกลองชนะ แห่ออกประตูพิมานชัยศรี เลี้ยวทางหน้าศาลาลูกขุนไปออกประตูรัตนพิศาล เลี้ยวลงข้างใต้ไปออกประตูพิทักษ์บวร มาทางถนนท้ายวัง ถนนสนามชัย เข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ประทับเกยขึ้นพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงโปรยทานแล้ว เปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์
ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จส่งพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นพระยานุมาศที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์แล้ว เสด็จออกทอดพระเนตรแห่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ แล้วเสด็จออกทอดพระเนตรโปรยทานที่พระที่นั่งไชยชุมพล เมื่อโปรยทานแล้วเสด็จเข้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงประเคนอาหารบิณฑบาตรถวายสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น และโปรดฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เลี้ยงพระสงฆ์ เมื่อเลี้ยงพระแล้ว พระสงฆ์รวม ๓๐ รูป มีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ประชุมกันในพระอุโบสถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จเข้าในพระอุโบสถ ทรงบยูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว สมเด็จพระชนกนารถพระราชทานผ้าไตรให้ทรงขอบรรพชา ในสำนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นทรงผนวชแล้ว โปรดฯให้ประทับอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเย็นวันนั้นเสด็จออก มีการฉลองพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ พระสงฆ์ ๓๐ รูปเจริญพระพุทธมรต์ในพระอุโบสถ ครั้น ณ รุ่งขึ้นเวลาเช้า โปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์มีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประธาน พาพระเจ้าลูกยาเธอสามเณรทั้ง ๔ พระองค์เข้ารับบิณฑบาตรที่ใต้ต้นมิดตวันในสวนขวา ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงบาตร แล้วเสด็จออกเลี้ยงพระที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาบ่ายในวันเสาร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำนั้น เสด็จทรงรถพระที่นั่งรับพระเจ้าลูกยาเธอสามเณรทั้ง ๔ พระองค์ ไปส่งยังวัดบวรนิเวศ พระเจ้าลูกยาเธอสามเณรทั้ง ๔ พระองค์ทรงผนวชศึกษาธรรมวินัยอยู่ในสำนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนวันศุกร์ เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ทรงผนวชได้ ๒๐ วัน จึงลาผนวชกลับเข้ามาประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
ในการที่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ จะเสด็จไปยุโรปครั้งนั้น ทรงพระราชดำริว่า ถ้ารวมเล่าเรียนอยู่ในที่เดียวกันที่ ๔ พระองค์ การเล่าเรียนจะช้ากว่าแยกกันเล่าเรียน จึงทรงกำหนดให้กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ๒ พระองค์นี้ เสด็จไปเล่าเรียนในสก๊อตแลนด์ ให้หมอเคาแวนซึ่งเป็นชาวสก๊อตรับราชการเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์อยู่นั้น ออกไปจัดวางการที่จะทรงศึกษาสำหรับ ๒ พระองค์นั้น ส่วนกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ๒ พระองค์นี้ เสด็จเล่าเรียนในเมืองลอนดอนให้กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เมื่อยังเป็นราชทูตสยามอยู่ในเมืองอังกฤษเป็นผู้จัดการศึกษา ฝ่ายผู้ซึ่งจะตามเสด็จออกไปเป็นผู้ใหญ่อยู่ด้วย โปรดให้หม่อมเจ้าเพิ่ม ในกรมหมื่นภูมินทร์ภักดีเป็นผู้ใหญ่อยู่กับพระเจ้าลูกยาเธอที่สก๊อตและเป็นครูสำหรับสอนหนังสือไทย ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอที่เสด็จอยู่ลอนดอน โปรดฯให้พระยาไชยสุรินทร์(ม.ร.ว.เทวหนึ่ง)เป็นผู้ใหญ่ไปอยู่ด้วย และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งนายปั้น-เปรียญ(เจ้าพระยายมราช) เป็นขุนวิจิตรวรสาสน์ออกไปอยู่เป็นครูสอนหนังสือไทยพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงศึกษาอยู่ลอนดอนด้วย ส่วนทางกรุงเทพฯ โปรดให้กรมพระเทวะวงศ์วโรปการทรงอำนวยการ
คราวนั้น เป็นครั้งแรกที่จะส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปทรงศึกษาในยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรเห็นตัวอย่างบุตรข้าราชการที่ได้ไปเล่าเรียนในยุโรปกลับมาแต่ก่อนไปมีเหตุและได้คติมาบางอย่างซึ่งไม่พอพระราชหฤทัย มีพระราชประสงค์จะให้พระเจ้าลูกยาเธอทรงระมัดระวัง จึงได้ทรงพระราชทานนิพนธ์พระบรมราโชวาส พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ ดังนี้
พระบรมราโชวาท
ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ ให้แก่ลูกบรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. การซึ่งจะออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม คืออย่าให้ใช้ฮิสรอแยลไฮเนสปรินส์นำหน้าชื่อ ให้ใช้แต่ชื่อเดิมของตัวเฉยๆ เมื่อผู้อื่นเขาจะเติมหน้าชื่อฤาเติมท้ายชื่อตามธรรมเนียมอังกฤษ เป็นมิสเตอร์หรือเอศไวท์ก็ตามเถิด อย่าคัดค้านเขาเลย แต่ไม่ต้องใช้คำว่านายตามอย่างไทย ซึ่งเป็นคำนำของชื่อลูกขุนนางที่เคยใช้แทนมิสเตอร์เมื่อเรียกชื่อไทยในภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะว่าเป็นภาษาไทย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ฟังขัดๆหูไป
ขออธิบายความประสงค์ข้อนี้ให้ชัดว่า เหตุใดจึงได้ไม่ให้ไปเป็นยศเจ้าเหมือนอาของตัวที่เคยไปแต่ก่อน ความประสงค์ข้อนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณา ฤาจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย พ่อคงรับว่าเป็นลูก และมีความเมตตากรุณา ตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร แต่เห็นว่าซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้น ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก ด้วยธรรมดาเจ้านายฝ่ายเขามีน้อย เจ้านายฝ่ายเรามีมาก ข้างฝ่ายเขามีน้อยตัวก็ยกย่องทำนุบำรุงกันใหญ่โตมากกว่าเรา ฝ่ายเราจะไปมียศเสมออยู่กับเขา แต่ความบริบูรณ์และยศศักดิ์ไม่เต็มที่เหมือนอย่างเขา ก็จะเป็นที่น้อยหน้าแลเห็นเป็นเจ้านายเมืองไทยเลวไป และถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวงที่จะทำทุกอย่าง เป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะให้พอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเข้าถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้ เท่ากันกับเป็นเจ้านั้นเอง เพราะฉะนั้นจึ่งขอห้ามเสียว่า อย่าให้ไปอวดอ้างเองฤาอย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้
๒. เงินค่าที่จะใช้สอยในการเล่าเรียน กินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินพระคลังข้างที่ คือเงินที่เป็นส่วนสิทธิ์ขาดแก่ตัวพ่อเอง ไม่ใช้เงินที่สำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน เงินรายนี้ได้ฝากไว้ที่แบงก์ซึ่งจะได้มีคำสั่งให้ราชทูตจ่าย เป็นเงินสำหรับเรียนวิชาชั้นต้น ๕ ปีๆละ ๓๒๐ ปอนด์ เงิน ๑๖๐๐ ปอนด์, สำหรับเรียนวิชาชั้นหลังอีก ๕ ปีๆละ ๔๐๐ ปอนด์ เงิน ๒๐๐๐ ปอนด์ รวมเป็นคนละ ๓๖๐๐ ปอนด์ จะได้รู้วิชาเสร็จสิ้นอย่างช้าใน ๑๐ ปี แต่เงินนี้ฝากไว้ในแบงก์ คงจะมีดอกเบี้ยมากขึ้น เหลือการเล่าเรียนแล้วจะได้ใช้ประโยชน์ของตัวตามชอบใจ เป็นส่วนยกให้ เงินส่วนของใครจะให้ลงชื่อเป็นของผู้นั้นฝากเอง แต่ในกำหนดยังไม่ถึงอายุ ๒๑ ปีเต็ม จะเรียกเอาเงินใช้สอยเองมิได้ จะตั้งผู้จัดการแทนไว้ที่นอก ให้เป็นผู้ช่วยจัดการไป เงินฝากไว้แห่งใดเท่าใดและผู้ใดเป็นผู้จัดการจะได้ทำหนังสือมอบให้อีกฉบับหนึ่ง สำหรับที่จะได้ไปทวงเอาในเวลาต้องการได้
การซึ่งใช้เงินพระคลังข้างที่ ไม่ใช่เงินแผ่นดินอย่างเช่นเคยจ่ายให้เจ้านาย และบุตรข้าราชการไปเล่าเรียนแต่ก่อนนั้น เพราะเห็นว่าพ่อมีลูกมากด้วยกัน การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐ ดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดีฤาไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็จะต้องส่งออกไปเรียนวิชาทุกคนตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆกันทุกคน ก็ถ้าใช้เงินแผ่นดินสำหรับให่ไปเล่าเรียนแก่ผู้ซึ่งไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กลับมาไม่ได้ทำราชการคุ้มกับเงินแผ่นดินที่ลงไป ก็จะเป็นที่ติเตียนของคนบางจำพวกว่ามีลูกมากเกินไป จนต้องใช้เงินแผ่นดินเป็นค่าเล่าเรียนมากมายเหลือเกิน แล้วซ้ำไม่เลือกเฟ้นเอาแต่ที่เฉลียวฉลาดจะได้ราชการ คนโง่คนเง่าก็เอาไปเล่าเรียนให้เปลืองเงินเพราะค่าที่เป็นลูกของพ่อ ไม่อยากจะให้มีมลทิน ที่พูดติเตียนเกี่ยวข้องกับความปรารถนา ซึ่งจะสงเคราะห์แก่ลูกให้ทั่วถึงโดยเที่ยงธรรมนี้จึงมิได้ใช้เงินแผ่นดิน
อีกประการหนึ่งเล่า ถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเอง ก็เป็นเงินส่วนหนึ่งในแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เป็นส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยการในตัว มีทำการกุศลและสงเคราะห์บุตรภรรยาเป็นต้น เห็นว่าการสงเคาระห์ด้วยเล่าเรียนดังนี้เป็นดีกว่าอย่างอื่นๆ จึงได้เอาเงินรายนี้ใช้เป็นการมีคุณต่อแผ่นดิน ที่ไม่ต้องแบ่งเงินแผ่นดินมาใช้เป็นค่าเล่าเรียนขึ้นอีกส่วนหนึ่ง และพ้นจากคำคัดค้านต่างๆ เพราะเหตุที่พ่อได้เอาเงินส่วนที่พ่อได้ใช้เองออกให้เล่าเรียน ด้วยเงินรายนี้ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะแซกแซงว่าควรใช้อย่างนั้น ไม่ควรใช้อย่างนั้นได้เลย
๓. เจ้าจงรู้สึกตัวเป็นนิจเถิด ว่าเกิดมาเป็นเจ้านาย มียศบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยที่ผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น จะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งเป็นมาแต่ก่อน เจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ ยากกว่าลูกขุนนาง เพราะเหตุที่เป็นผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์มาก จะรับการในตำแหน่งต่ำๆซึ่งเป็นกระไดขั้นแรก คือเป็นนายรองหุ้มแพรมหาดเล็กเป็นต้น ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะไปตั้งแต่งให้ว่าการใหญ่โตสมแก่ยศศักดิ์ เมื่อไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดี ก็อาศัยได้แต่สตอปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตส่าห์เล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตัว และโลกที่ตัวได้มาเกิด ถ้าจะถิอว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบายดังนั้น จะไม่ผิดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมา กินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะมีประโยชน์อันใด ยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก เพราะฉะนั้นจงอุตส่าห์ที่จะเล่าเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลัง ที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุง เพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา
๔. อย่าได้ถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงคุมเหงผู้ใด เขาก็คงจะมีความเกรงใจ พ่อไม่ต่อสู้ฤาไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ที่เดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่าเมื่อรักลูกเกินไป ปล่อยให้ไม่กลัวใครและประพฤติการชั่วดังนั้น คงจะเป็นโทษแก่ตัวลูกนั้นเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นจงรู้ไว้เถิดว่า ถ้าเมื่อได้ทำความผิดเมื่อใดจะได้รับโทษโดยทันที การที่พ่อเป็นเจ้าแผ่นดินนั้น จะไม่เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนแก้ไขอันใดได้เลย อีกประการหนึ่งชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่อออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่ง เป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อความชั่วนั้นคงจะปรากฎเป็นโทษติดตัว เหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด เพราะฉะนั้นจงเป็นคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันหาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จงละเว้นทางที่ชั่ว ซึ่งรู้ได้เองแก่ตัวฤามีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลย เป็นอันขาด
๕. เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มฤาใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งวปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่าย โดยถือว่าเป็นเจ้านายมั่งมีมากฤาถือว่าพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินเงินทองมีถมไป ขอบอกเสียให้รู้แต่ต้นมือว่าถ้าผู้ใดไปเป็นหนี้มา จะไม่ยอมใช้หนี้ให้เลย ฤาถ้าเป็นการจำเป็นต้องใช้ จะไม่ใช้เปล่าโดยไม่มีโทษแก่ตัวเลย พึงรู้ไว้เถิดว่าต้องใช้หนี้เมื่อใด ก็จะต้องรับโทษเมื่อนั้นพร้อมกัน อย่าเชื่อถ้อยคำผู้ใดฤาอย่าหมายใจว่า โดยจะจะใช้สุรุ่ยสุร่ายไปเหมือนอย่างเช่นคนเขาไปแต่ก่อนๆ แต่พ่อเป็นขุนนางเขายังใช้กันได้ไม่ว่าไรกัน ถ้าคิดดังนี้คาดดังนี้เป็นผิดแท้ที่เดียว พ่อรักลูกจริง แต่ไม่รักลูกอย่างชนิดนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่า ถ้าจะรักอย่างนั้นตามใจอย่างนั้น จะเป็นการไม่มีคุณอันใดแก่ตัวลูกผู้ได้รับความรักอันนั้นเลย เพราะจะเป็นผู้ไม่มีวิชาที่ปรารถนาจะให้ได้จะไปได้แต่วิชาที่จะทำให้เสียชื่อเสียง และได้ความร้อนใจอยู่เป็นนิจ จงนึกไว้ให้เสมอว่า เงินทองที่แลเห็นมากๆ ไม่ได้เป็นของที่หามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไปง่ายนั้นเลย เงินที่ส่วนตัวได้รับเบี้ยหวัดเงินกลางปีอยู่เสมอนั้น ก็ด้วยอาศัยเป็นลูกพ่อ ส่วนเงินที่พ่อได้ฤาลูกได้เพราะพ่อนั้น ก็เพราะอาศัยที่พ่อเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมืองและราษฎรผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นก็เรี่ยรายกันมาให้ เพื่อจะให้เป็นกำลังที่จะหาความสุขคุ้มกับค่าที่เหน็ดเหนื่อน ที่ต้องรับการในตำแหน่งอันสูง คือผู้รักษาความสุขของเขาทั้งปวง เงินนั้นไม่ควรจะนำมาจำหน่ายในการที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่เป็นเรื่องและเป็นการไม่มีคุณ กลับให้โทษแก่ตัวต้องใช้แต่ในการจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งจะเป็นการมีคุณประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นในทางชอบธรรม ซึ่งจะเอาไปกอบโกยใช้หนี้ให้แก่ลูกผู้ทำความชั่วจนเสียทรัพย์ไปนั้น สมควรอยู่ฤา เพราะฉะนั้นจึงต้องว่าไม่ยอมที่จะใช้หนี้ให้ โดยว่าจะต้องให้ใช้ก็ต้องมีโทษ เป็นประกันมั่นใจว่าจะไม่ต้องใข้อีก เพราะเข็ดหลาบในโทษที่ทำนั้น จึงจะยอมใช้ให้ได้ ใช้ให้เพราะจะไม่ให้ทรัพย์ผู้อื่นสูญเสียเท่านั้น ใช่จะใช้ให้โดยความรักใคร่ อย่างบิดาให้บุตรเมื่อมีความยินดีต่อความประพฆฤติของบุตรนั้นเลย เพราะฉะนั้นจงจำไว้ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่า ตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆอื่นและไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด
อีกอย่างหนึ่ง จะนึกเอาเองว่า ถึงโดยเป็นหนี้ลงอย่างไร พ่อจะไม่ใช้ฤาจะให้ใช้ก็กลัวต้องโทษ คิดว่าเงินทองของตัวที่ได้ปีหนึ่งปีหนึ่งมีอยู่ทั้งเบี้ยหวัดและเงินกลางปี เวลาออกไปเรียนไม่ได้ใบช้เงินรายนี้เก็บรวมอยู่เปล่าๆจะเอาเงินรายนี้ใช้หนี้เสีย ต่อไปก็คงได้ทุกปี ซึ่งจะคิดอย่างนี้แล้วและจับจ่ายเงินทองจนต้องเป็นหนี้กลับเข้ามานั้น ก็เป็นการไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์อันใด ที่จะได้อยู่ในเวลามีพ่อกับเวลาไม่มีพ่อนั้น จะถือเอาเป็นแน่ว่า จะคงที่อยู่นั้นไม่ได้ และยิ่งเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็จะมีบ้านเรือนบุตรภรรยามากขึ้น คงต้องใช้มากขึ้น เงินที่จะได้นั้นบางทีก็จะไม่พอ จะเชื่อว่าวิชาที่ตัวไปเรียนจะเป็นเหตุให้ได้ทำราชการได้ผลประโยชน์ทันใช้หนี้ก็เชื่อไม่ได้ เพราะเหตุที่ตัวเป็นเจ้านาย ถ้าบางเวลาเป็นเวลากีดขัดข้องเพราะเป็นเจ้านั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจะหันไปข้างทำมาหากิน ซึ่งเป็นการยากที่จะทำ เพราะเป็นเจ้าเหมือนกัน คือไปรับจ้างเขาเป็นเสมียนไม่ได้เป็นต้น เมื่อทุนรอนที่มีเอาไปใช้หนี้เสียหมดแล้ว จะเอาอันใดเป็นทุนรอนทำมาหากินเล่า เพราะฉะนั้นจึงว่าถ้าจะคิดใช้อย่างเข่นนี้ ซึ่งตัวจะคิดเดห็นว่าเป็นอันไม่ต้องกวนพ่อแล้ว นั้นก็ยังเป็นการเสียประโยชน์ภายหน้ามาก ไม่ควรจะก่อให้มีให้เป็นหนี้
๖. วิชาที่ออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้ได้แม่นยำชัดเจนคล่องแคล้วจนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่งกับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดใช้ได้จริงๆเป็นชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆท่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควร จะต้องไว้เป็นคำสั่งต่อภายหลังเมื่อรู้วิชาชขั้นต้นพอสมควรแล้ว แต่บัดนี้จะขอตักเตือนอย่างหนึ่งก่อนว่า ซึ่งให้ออกไปเรียนวิชาการในประเทศยุโรปนั้น ใช้ว่าจะต้องการเอามาใช้แต่เฉพาะภาษาฝรั่งฤาอย่างฝรั่งนั้นอย่างเดียว ภาษาไทยและหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของตัวหนังสือของตัวคงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้น เป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่าๆมีน้อย เพราะมิได้สมาคมกับชาติอื่นช้านานเหมือนวิชาการในประเทศยุโรป ที่ได้สอบสวนซึ่งกันและกันจนเจริญรุ่งเรืองมากแล้วนั้น ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรียนวิชาให้กว้างขวางออก แล้วจะเอากลับลงมาใช้เป็นภาษาไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะทิ้งภาษาของตัวให้ลืมถ้อยคำที่จะพูดให้สมควรเสียฤาจะลืมวิธีเขียนหนังสือไทยที่ตัวได้ฝึกหัดแล้วเสียนั้นไม่ได้ ถ้ารู้แต่ภาษาต่างประเทศ ไม่รู้เขียนอ่านแปลลงเป็นภาษาไทยได้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าอย่างนั้นหาจ้างฝรั่งมาใช้เท่าไรเท่าไรก็ได้ ที่ต้องการนั้นต้องให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเป็นภาษาไทยได้ แปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์ อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กับเห็นเป็นการเก๋การกี๋ อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น แต่ที่จริงเป็นการเสียที่ควรจะติเตียนแท้ทีเดียว เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคนอย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ก็ให้เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษภาษาหนึ่งภาษาใดได้ ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไตร่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วยฤาค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะช่วยเป็นกำลังอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิด จะติเตียนออกไปแล้วจงจำต่อไปไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า อย่าให้มีความกลัวกระดากว่าจะผิด ให้ทำตามที่เต็มความอุตส่าห์ความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด
๗. จงรู้ว่าการเล่าเรียนของลูกทั้งปวงนั้น อาของเจ้ากรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการได้รับปฏิญาณต่อพ่อว่า จะตั้งใจอุตส่าห์เป็นธุระในการเล่าเรียนชองลูกทั้งปวงทั้งในปัจจุบันและภายหน้า พ่อได้มีความวางใจมอบธุระสิทธิ์ขาดแก่กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเป็นธุระทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมีธุระขัดข้องประการใดให้มีหนังสือมาถึงกรมหมื่นเทวะวงศ์ก็จะรู้ตลอดได้ถึงพ่อ และกรมหมื่นเทวะวงศ์นั้นคงจะเอาเป็นธุระทำนุบำรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จตลอดไปได้ ส่วนที่ในประเทศยุโรปนั้น ถ้าไปอยู่ในประเทศใดที่มีราชทูตของเราอยู่ ราชทูตคงจะเอาเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีการขัดข้องลำบากประการใด จงชี้แจงให้ท่านราชทูตทราบคงจะจัดการได้ตลอดไป เมื่อไปอยู่โรงเรียนแห่งใดจงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งไว้ อย่าเกะกะวุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชาให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดี สมกับที่มีความรักนั้นเถิด
..........................................................
เมื่อตระเตรียมที่จะส่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ไปยุโรปพร้อมแล้ว ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๘ บูรพาสาธ โปรดฯให้มีการพิธีฉลองพระชัยวัฒน์ขนาดน้อย ซึ่งโปรดฯให้ตั้งพิธีหล่อขึ้นไว้พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอไปบูชาเวลาเสด็จทางไกล นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ๕๐ รูป รุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือน ๘ บูรพาสาธ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จออกยังที่ประชุมสงฆ์พระราชทานพระชัยวัฒน์ และทรงพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏหลั่งน้ำมนตื แล้วทรงเจิมพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งจะเสด็จไปยุโรปทั้ง ๔ พระองค์ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยปริตร ชาวประโคมๆเครื่องดุริยดนตรีพร้อมกัน ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินลงไปส่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ถึงที่ท่าราชวรดิษฐ์ ลงเรือพระที่นั่งโสภณภัควดี ไปส่งขึ้นเรือใหญ่ที่จะไปยังเมืองสิงคโปร์ มีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการตามไปส่งถึงเรือใหญ่บ้าง ถึงปากน้ำบ้าง ถึงเกาะสีชังบ้าง เป็นอันมาก
เมื่อเสด็จไปถึงเมืองอังกฤษแล้วจึงแยกกัน กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงปราจิณกิติบดี เสด็จไปศึกษาอยู่ที่เมืองเอเดนเบอร์ในสก๊อตแลนด์ ส่วนกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ทรงศึกษาอยู่ในเมืองลอนดอน ทั้ง ๔ พระองค์ทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศในครั้งนั้น ๒ ปี
ถึงปีกุนนพศก พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระนางวิกตอเรีนพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ มีงานพิธีรัชมงคลเมื่อเสวยราชย์มาได้ครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้กรมพระเทวะวงศ์วโรปการเสด็จออกไปช่วยงานต่างพระองค์ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงอำนวยการศึกษาของพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์มาแต่เดิม เมื่อเสร็จราชการที่เมืองอังกฤษแล้ว จัเสด็จไปประเทศอื่น มีประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน เป็นต้น ได้ทรงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จไปด้วย เพื่อจะเป็นโอกาสได้ทอดพระเนตรภูมิฐานบ้านเมืองต่างๆ
ครั้นเมื่อกรมพระเทวะวงศ์วโรปการจะเสด็จกลับกรุงเทพฯได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เสด็จกลับทางประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น ทรงพระราชดำริเห็นเป็นโอกาสสมควรจะให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้ทอดพระเนตรบ้านเมืองประเทศเหล่านั้นด้วย จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับมาชั่วคราว เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว กรมพระเทวะวงศ์วโรปการจึงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับเข้ามาและให้ครูอังกฤษตามเสด็จเข้ามาด้วย เพื่อมิให้เสียประโยชน์การเล่าเรียน พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีกุนนพศก พ.ศ. ๒๔๓๐ โปรดฯให้กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช เสด็จอยู่ตำหนักเดิมในพระบรมมหาราชวัง ถึงเวลาเสด็จออกมาเล่าเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบพร้อมกัน พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ครั้งนั้น ๑๐ เดือน
ถึงปีชวดสัมฤทธิ์ศก พ.ศ. ๒๔๓๑ เมื่อโปรดให้นายพลเรือตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ไปราชการยังประเทศยุโรป จึงโปรดให้พาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับไปส่งด้วย โปรดให้ขุนวิจิตรวรสาสน์เป็นผู้ใหญ่ดูแลทั้ง ๔ พระองค์ ระยะทางที่พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ออกไปยุโรปคราวนี้ ไปแวะที่เมืองพม่าก่อน แล้วไปอินเดียขึ้นที่เมืองกาละกะตา ดูภูมิฐานประเทศอินเดียตลอดทางไปจนลงเรือที่เมืองบอมเปยุโรป พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้โอกาสทั้งคราวที่กลับกรุงเทพฯกับกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ และคราวที่กลับยุโรปกับพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ได้เสด็จโดยทางรอบพิภพและได้ทอดพระเนตรบ้านเมืองในนานาประเทศแต่ยังทรงพระเยาว์ยิ่งกว่าชาวไทยได้เห็นมาแต่ก่อนจนเวลานั้น เมื่อเสด็จกลับไปถึงเมืองอังกฤษแล้ว ทรงศึกษาวิชาชั้นมัธยมอยู่ในเมืองลอนดอนด้วยกันทั้ง ๔ พระองค์ ทรงศึกษาระยะนี้ ๓ ปี
ครั้นถึงเวลาที่จะกำหนดทางศึกษาเฉพาะพระองค์ว่า พระองค์ใดจะทรงเล่าเรียนวิชาการในทางใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดวิชาสำหรับพระองค์เป็นฝ่ายพลเรือน ๓ พระองค์ ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชนั้นทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาฝ่ายทหาร ในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ เสวยราชย์อยู่ในประเทศเดนมาร์กเป็นที่ชอบชิดสนิทกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบว่า มีพระเจ้าลูกยาเธอออกไปเล่าเรียนอยู่ในยุโรป ได้ทูลมายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จออกไปทรงเล่าเรียนในประเทศเดนมาร์กบ้าง ก็จะทรงยินดีจะทรงรับเป็นพระราชธุระอุปการะ มิให้มีความลำบากเดือดร้อน อาศัยเหตุนี้ ประกอบกับที่ได้ทรงทราบว่า ในประเทศเดนมาร์กการฝึกทหารก็นับว่าเป็นอย่างดี ด้วยเป็นประเทศที่ใช้ลักษณะการเกณฑ์ทหาร ชายชาวเมืองต้องเป็นทหารทั่วไป จึงมีพระราชประสงค์จะโปรดฯให้กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปเรียนวิชาทหารในประเทศเดนมาร์ก
เมื่อปีเถาะตรีศก พ.ศ. ๒๔๓๔ โปรดฯให้กรมพระดำรงราชานุภาพเสด็จไปยุโรป เพื่อเยี่ยมตอบสมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ ราชาธิราชรุสเซีย แต่ยังดำรงพระยศเป็นพระยุพราชต่างพระองค์
(๑)
และเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปถวายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ราชาธิราชรุสเซีย กับทั้งพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆอีก รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนประเทศเดนมาร์กด้วย จึงโปรดฯให้กรมพระดำรงราชานุภาพเชิญพระราชหัตถเลขาและให้พากรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปถวายพระเจ้าคริสเตียนด้วย
เมื่อกรมพระดำรงราชานุภาพพากรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปถึงกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เวลานั้นพระเจ้าคริสเตียนเสด็จไปเยี่ยมสมเด็จพระนางมารีราชธิดา เป็นมเหสีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ราชาธิราชรุสเซีย อยู่ที่เมืองลิวาเดียริมทะเลดำ พระเจ้าเฟเดอริกที่ ๘ เวลานั้นเป็นพระยุพราชทรงรับรองต่างพระองค์ กรมพระดำรงราชานุภาพได้ถวายพระราชสาส์น และทูลเรื่องที่โปรดฯให้พากรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปฝากให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าเฟเดอริกมีโทรเลขไปทูลสมเด็จพระเจ้าคริสเตียน มีรับสั่งตอบมาว่าได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ จะทรงรับรองกรมพระดำรงราชานุภาพที่พระราชวังลิวาเดีย ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ถ้าหากกรมพระดำรงราชานุภาพพากรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปที่เมืองลิวาเดียด้วยจะทรงยินดีมาก ด้วยเหตุนี้กรมพระดำรงราชานุภาพจึงพากรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปประเทศรุสเซีย
เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ กับพระมเหสี และบรรดาพระราชโอรสธิดาพร้อมกันอยู่ที่พระราชวังลิวาเดีย นอกจากนั้นยังมีสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กและพระมเหสี และสมเด็จพระนางอเลกซานดราเมืองอังกฤษ
(๒)
ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าคริสเตียน เวลานั้นยังเป็นพระชายาของพระยุวราชเมืองอังกฤษกับพระธิดา ๒ องค์
(๓)
ก็พร้อมกันอยู่ที่นั่น กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชได้คุ้นเคยกับเจ้านายในพระราชวงศ์ทั้ง ๓ ประเทศ ตั้งแต่เมืองลิวาเดียเป็นเดิมมา
(๔)
ส่วนสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนกับทั้งพระมเหสี สั่งให้มาทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงยินดีที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชไปเล่าเรียนอยู่ในประเทศเดนมาร์ก ทั้ง ๒ พระองค์จะทรงเป็นพระธุระดูแลทำนุบำรุงรักใคร่ เหมือนหนึ่งว่าเป็นพระราชนัดดาพระองค์ ๑
เมื่อกรมพระดำรงฯเฝ้าที่เมืองลิวาเดียแล้ว สมเด็จพระเจ้าอเลกซานเดอร์ที่ ๓ มีรับสั่งให้จัดเรือพระที่นั่งมาส่งที่กรุงคอนสแตติโนเปอล
(๕)
ประเทศเตอรกี และโปรดให้ราชทูตรุสเซียเป็นธุระ ด้วยประเทศเตอรกียังไม่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม ครั้นมาถึงกรุงคอนสแตนติโนเปอล สมเด็จพระเจ้าอับดูลฮามิดสุลต่านประเทศเตอรกี ก็ทรงยินดีรับรองเหมือนกับเจ้านายต่างประเทศที่มีพระราชไมตรีต่อกัน และโปรดให้จัดเรือหลวงมาส่งถึงกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีก กรมหลวงนครชัยศรีฯได้ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้ายอช ได้คุ้นเคยกับราชวงศ์ประเทศกรีกในคราวนั้นด้วยอีกประเทศ ๑ ครั้นกรมพระดำรงฯเสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงแยกกับกรมหลวงนครชัยศรีฯที่ประเทศอิตาลี กรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จกลับไปเมืองอังกฤษ รอจนสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนเสด็จกลับแล้ว จึงเสด็จไปเล่าเรียนอยู่ ณ กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา
ในเวลาที่เรียนอยู่ในประเทศเดนมาร์กนั้น ทั้งสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนและพระมเหสีทรงพระเมตตาสนิทสนมกับกรมหลวงนครชัยศรีฯเหมือนอย่างกับเป็นพระญาติวงศ์พระองค์ ๑ เวลาว่างการเล่าเรียนโปรดฯให้ไปเฝ้าและไปเสวยที่พระราชวังเป็นนิจ ถึงเจ้านายในราชวงศ์เดนมาร์กก็พากันชอบพอรักใคร่ทุกๆพระองค์ และประเทศเดนมาร์กนั้นเป็นที่ประชุมในราชวงศ์รุสเซียและราชวงศ์อังกฤษ เพราะเหตุที่เกี่ยวดองเป็นพระญาติวงศ์กับพระเจ้าคริสเตียน เจ้านายมักมาประชุมกันวังเบินสตอฟเนื่องๆ กรมหลวงนครชัยศรีฯจึงคุ้นเคยชอบพอกับเจ้านายทั้ง ๒ ประเทศนั้นมาก กรมหลวงนครชัยศรีฯทรงเล่าเรียนภาษาชาวเดนมาร์กและวิชาชั้นต้น ๒ ปี ในระหว่างนั้นเมื่อปีมะเส็งเบญจศก พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ต่อมาปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ สอบวิชาชั้นต้นสำหรับนายทหารได้ ได้มียศร้อยตรีในทหารเดนมาร์ก แล้วเข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นสูงสำหรับนายทหารต่อไป และรับสัญญาบัตรที่ร้อยเอกส่งออกไปพระราชทานเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘
ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ สอบวิชานายทหารปืนใหญ่ได้อแล้วจึงได้ออกจากโรงเรียน ไปฝึกหัดรับราชการประจำอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่สนามของประเทศเดนมาร์ก ต่อมาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯอยู่ในเดนมาร์กนั้น ได้ออกงานรับราชการเฉพาะพระองค์ครั้งแรก เมื่อเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปช่วยงานบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้านิโคลัส ที่ ๒ ราชาธิราชรุสเซีย เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ต่อมาไดเป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานรัชฎาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าโอคาร์ ที่ ๒ พรเจ้าแผ่นดินสวีเดน เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ อีกครั้ง ๑ ถึงเวลานี้พระเจ้าลูกยาเธอที่เสด็จไปพร้อมกับกรมหลวงนครชัยศรีฯสำเร็จการเล่าเรียน ได้เสด็จกลับเข้ามารับราชการแล้วทั้ง ๓ พระองค์ พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จออกไปภายหลังตั้งแต่ชั้นกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาจนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ทรงเล่าเรียนอยู่ในยุโรปหลายพระองค์ กรมหลวงนครชัยศรีฯเป็นผู้ใหญ่โดยพระชันษาเจริญกว่าพระองค์อื่นๆอยู่ในชั้นนั้น
ครั้นปีระกา รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก กรมหลวงนครชัยศรีฯตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมารับเสด็จที่เมืองเวนิส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า กรมหลวงนครชัยศรีฯทรงพระเจริญ จึงทรงพระกรุณาโรปดเกล้าฯให้เข้าในจำนวนผู้โดยเสด็จติดพระองค์ไปยังราชสำนักนานาประเทศที่จะเสด็จไปเยี่ยมเยือนในคราวนั้น พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมวงศ์แก่กรมหลวงนครชัยศรีฯ และโปรดให้แต่งเครื่องแต่งพระองค์เป็นตำรวจได้ด้วยอีกอย่าง ๑
ในคราวที่ตามเสด็จไปในครั้งนั้นกรมหลวงนครชัยศรีฯได้ตามเสด็จประพาสยุโรปแทบทั่วทุกประเทศ ต้องเว้นแต่ระยะ ๑ ด้วยสมเด็จพระเจ้านิโคลัสเอมเปอเรอรุสเซีย ได้ทูลขอให้กรมหลวงนครชัยศรีฯไปทอกพระเนตรการประลองยุทธในประเทศรุสเซีย กรมหลวงนครชัยศรีฯจึงต้องแยกไปชั่วคราว เมื่อไปทอดพระเนตรการประลองยุทธนั้นแล้วก็กลับมาตามเสด็จอีก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จกลับคืนพระนครทรงพระราชดำริว่า กรมหลวงนครชัยศรีฯมีพระชนมายุ และได้ทรงศึกษาวิชาการ สมควรจะกลับมารับราชการบ้านเมืองได้อยู่แล้ว จึงโปรดฯให้โดยเสด็จกลับมาในเรือพระที่นั่งมหาจักรีแต่ยุโรปจนถึงกรุงเทพฯ โปรดฯให้เสด็จอยู่ที่ตึกซึ่งเป็นศาลาว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ตึกนั้นเวลานั้นว่างด้วยกระทรวงเกษตราธิการเข้ามารวมกับกระทรวงการคลัง เสด็จอยู่ที่นั้นจนปีชวดโทศก พ.ศ. ๒๔๔๓ วังที่สร้างพระราชทานที่ริมถนนกรุงเกษม ฝั่งเหนือคลองมหานาค สร้างเสร็จแล้ว จึงได้เสด็จไปอยู่ที่วังแต่นั้นมา
Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 13:58:13 น.
4 comments
Counter : 4628 Pageviews.
Share
Tweet
(ต่อ)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานดำริตริตรองในเรื่องการศึกษาของพระราชโอรสดังกล่าวมาแล้วโดยสุขุมคัมภีรภาพฉันใด เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอทรงศึกษาเสร็จเสด็จกลับคืนมาถึงพระนครแล้ว ก่อนที่จะโปรดให้มีตำแหน่งรับราชการพระองค์ก็ทรงพระราชดำริตริตรองโดยความระมัดระวังมากอย่างเดียวกัน ข้อพระราชปรารภนั้นทรงพระราชดำริว่า การที่เจ้านายโดยเฉพาะที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอจะเข้าตำแหน่งรับราชการแผ่นดินผิดกับผู้อื่นทั้งฝ่ายคุณและฝ่ายโทษ ฝ่ายคุณนั้นที่ได้ทรงศึกษาวิชาการตามต้องการในปัจจุบันนี้ประการ ๑ อีกประการ ๑ เพราะเป็นเจ้านายและเป็นพระเจ้าลูกยาเธอของพระองค์ ถึงจะไปมีตำแหน่งรับราชการอยู่ในที่ใด ก็คงได้รับความอุปถัมภ์บำรุงโดยไมตรีจิตของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในที่นั้นๆ
แต่ข้างฝ่ายโทษนั้นก็เพราะที่เป็นเจ้านายและเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ความที่ผู้อื่นมีไมตรีจิตอาจจะเลยอ่อนน้อมยกยอเกินไป ไม่บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนตามสมควรแก่ประโยชน์ที่จริงแท้ของพระเจ้าลูกยาเธอ ฝ่ายพระเจ้าลูกยาเธอถึงได้ทรงเล่าเรียนวิชาการมาอย่างไร เมื่อยังไม่คุ้นเคยการงาน ถ้าไปถูกยกย่องอ่อนน้อมเกินไปก็อาจจะเสีย ถ้าไปพลาดพลั้งเสียไปแล้ว เป็นเจ้านายจะลดถอนผลัดเปลี่ยนก็ยาก และจะเป็นเหตุให้โทมนัสเสียพระทัยเมื่อปลายมือ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกอยู่อย่างนี้ เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จกลับเข้ามาจากการเล่าเรียน ไม่ได้โปรดฯให้มีตำแหน่งในราชการโดยทันที ในขั้นต้นทรงสังเกตพระอัธยาศัยเสียก่อน ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดจะทรงคุณวิชา และมีพระอัธยาศัยสมควรแก่ราชการอย่างใด เมื่อตกลงพระทัยจะให้ไปรับราชการในกระทรวงใด ยังทรงปรึกษาหารือเจ้ากระทรวงนั้นๆ ทรงกำชับขออย่าให้ยกย่องเกินไป โดยถือว่าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ขอให้บังคับบัญชาให้เหมือนกับผู้อื่นให้ทำราชการขึ้นไปแต่ตำแหน่งชั้นรองซึ่งพอควรแก่คุณวิชา ถ้าและไม่มีความสามารถที่จะทำการได้เหมือนผู้อื่นจริงแล้ว อย่าให้ยกย่องพระเจ้าลูกยาเธอให้มีตำแหน่งยศเกินความสามารถไปเลยเป็นอันขาด และเมื่อจะโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดไปรับราชการที่ใด ย่อมรับสั่งให้หาเข้าไปพระราชทานพระบรมราโชวาทอีกครั้ง ๑ และบางทีเสด็จพระราชดำเนินพาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นไปถึงห้องเสนาบดี ณ ที่ว่าการกระทรวงนั้นๆ ทรงฝากฝังอีกครั้ง ๑ ทรงปฏิบัติเป็นประเพณีมาดังนี้ทุกพระองค์ เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเข้ารับราชการมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงแล้วยังทรงระวังต่อมาเสมอ ที่จะมิให้พระเจ้าลูกยาเธอเลื่อนตำแหน่งสูงเกินกว่าความสามารถ
ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงประวัตินี้เคยได้ยินและได้ทราบด้วยตนเองหลายครั้ง ในเวลาที่ผู้ใหญ่กราบบังคมทูลยกย่องพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งรับราชการอยู่ในกระทรวงนั้นๆ เมื่อได้ทรงฟัง บางทีถอนพระทัยใหญ่รับสั่งว่า "
นี่จะให้เสียๆ หรืออย่างไร"
ข้าพเจ้าได้สังเกตมา ในเวลาที่เจ้ากระทรวงกราบบังคมทูลขอเลื่อนตำแหน่งราชการพระเจ้าลูกยาเธอให้สูงขึ้นคราวใด คงซักไซร้ไล่เรียงจนแน่พระทัยว่า ไม่เป็นการยกย่องเกินความสามารถไปแล้ว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นเช่นนี้มาทุกคราวที่ข้าพเจ้าได้ทราบ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรกที่ได้เล่าเรียนวิชาทหาร และสอบวิชานายทหารต่างประเทศได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาในการคัดเลือกกระทรวงราชการ เพราะต้องรับราชการในทหารบกตามคุณวิชา แต่อาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระวังที่จะมิให้รับตำแหน่งเร็วเกินกว่าความสามารถไป จึงเป็นแต่โปรดฯให้ไปรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการเพื่อศึกษาราชการ ยังไม่ได้มีตำแหน่งประจำพระองค์ในชั้นแรก
ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติกรมหลวงนครชัยศรีฯตอนที่มีตำแหน่งรับราชการทหาร ควรกล่าวถึงการบังคับบัญชาทหารที่เป็นอยู่อย่างไรในเวลานั้นให้ปรากฏก่อน ผู้อ่านทราบว่าการทหารเป็นอยู่อย่างไรในเวลาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯเช้ารับราชการ จึงจะเข้าใจการทหารที่เปลี่ยนแปลงมาในสมัยเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงบัญชาการได้ดี
เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี โปรดฯให้ประกาศเลิกประเพณีเก่าที่มีกรมพระราชวังบวรมงคลสถานเป็นพระมหาอุปราช ทรงสถาปนาสมเด็จะพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในตำแหน่งรัชทายาท เนื่องต่อพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ราชการทหารบกทหารเรือ ยังแยกย้ายกันอยู่เป็นหลายหมู่หลาบกรม ที่ผู้บังคับราชการในกรมทหารต่างๆนั้นก็ต่างจัดไปโดยน้ำใจตน ที่เห็นว่าเป็นคุณต่อราชการจริงแต่การที่จัดไปนั้นไม่ได้ปรึกษาหารือกันทั่วทุกหมู่ทุกกรม ก็แปลกแตกต่างๆกันไปไม่ลงเป็นแบบแผนได้ เงินแผ่นดินที่ใช้ในการทหารต่างๆนี้ จึงไม่มีกำหนดลงเป็นอัตราแน่ได้ใช้เปลืองมากมายนัก
อีกประการ ๑ ที่ผิดแปลกแตกต่างกันนี้ ใช่แต่ว่าเป็นแต่ใช้เงินเปลืองอย่างเดียว ถึงสรรพการฝึกหัด การบังคับบัญชาและเครื่องศาสตราวุธที่ใช้อยู่ก็ไม่ลงเป็นแบบแผน การที่เป็นอยู่เช่นนี้ไม่สมควรจะเป็นจะมีอยู่ในราชการบ้านเมืองที่นับถือว่าเป็นเมืองเอกราชได้ ผิดจากธรรมเนียมที่ใช้อยู่ทุกประเทศ จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ว่าควรจะจัดการให้เป็นแบบแผนสำหรับกรมทหาร ให้เรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนอย่างท่านแต่ก่อนจัดไว้แล้วและเหมือนอย่างประเทศที่รุ่งเรืองแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขความเสียที่มีอยู่ในทุกวันนี้ให้หมดสิ้นไป และการที่จะแก้ไขการทหารดีขึ้นนี้ ทรงพระราชดำริว่า จำจะต้องมีผู้บังคับบัญชาทั่วไปนั้นผู้หนึ่ง และตำแหน่งนี้สำหรับกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงจะถูกต้องกับโบราณราชประเพณี
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหารเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ ปีกุนยังเป็นอัฐศก พ.ศ. ๒๔๒๙
(๖)
รวมการบังคับบัญชาทั้งทหารบกทหารเรือตั้งเป็นกรม ๑ เรียกว่า กรมยุทธนาธิการ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงเป็นผู้บัญชาการแต่ในเวลาที่ทรงพระเยาว์อยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ ทรงบัญชาการแทนในตำแหน่งนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ใหญ่ฝ่ายทหารก็ทรงเลือกสรรเจ้านายและข้าราชการ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาการกรมทหารต่างๆอยู่ก่อน ไปมีตำแหน่งรับราชการในกรมยุทธนาธิการ
กรมทหารในเวลานั้น ทหารบกมี ๗ กรม ทหารเรือ มี ๒ กรม
๑. กรมทหารมหาดเล็ก กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้บังคับการ
๒. กรมทหารรักษาพระองค์ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้บังคับการ
๓. กรมทหารล้อมวัง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับการเวลานั้นเสด็จไปราชการปราบฮ่อ กรมหลวงอดิศรอุดมเดชเป็นผู้แทนอยู่
๔. กรมทหารหน้า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บังคับการ เวลานั้นไปราชการปราบฮ่อ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี(บุศย์ มหินทร์)เป็นผู้แทน
๕. กรมทหารฝีพาย พระยาอภัยรณฤทธิ์(เวก) บังคับการขึ้นในกรมพระเทวะวงศ์วโรปการอีกชั้น ๑
๖. กรมทหารปืนใหญ่ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์เป็นผู้บังคับการเวลานั้นไปราชการปราบฮ่อหลวงสรวิเศษเดชาวุธ(บุยศ์ บุนนาค)เป็นผู้แทน
๗. กรมทหารช้าง เดิมขึ้นในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พึ่งสิ้นพระชนม์ พระยาเทพราชา(เอี่ยม)เป็นผู้รั้งตำแหน่งบังคับการ
๘. ทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี คือ กรมทหารช่างแสงเดิม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นผู้บังคับการ
๙. ทหารเรือรบ เรียกว่าทหารมารีน พระยาประภากรวงศ์(ชาย บุนนาค)เป็นผู้บังคับการ
ทรงพระกรุณาโปรดฯให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารบก พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัคติวงศ์ เป็นผู้บัญชาการใช้จ่าย กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บัญชาการรักษาพระราชวัง คือบังคับทหารทุกกองซึ่งมีหน้าที่ประจำกองรักษาการในพระราชวัง รวมการบังคับบัญชาทหารทั้งปวงขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการเป็นครั้งแรกในคราวนี้ ส่วนทหารเรือซึ่งแยกกันอยู่ก็รวมเข้าเป็นกรมเดียวบังคับทั่วไปทั้งเรือรบและเรือพระที่นั่งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
การทหารบกทหารเรือที่ได้จัดในชั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นถ้าจะว่าโดยหัวข้อ ก็คือแก้ไขแบบอย่าง ตั้งแต่งตำแหน่ง วิธีฝึกหัด ตลอดจนอัตราเงินเดือน ซึ่งแตกต่างกันอยู่แต่ก่อนให้เป็นระเบียบอันเดียวกันประการ ๑ จัดการซ่อมแซมโรงทหารเครื่ออาวุธยุทธภัณฑ์และเรือรบซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่ให้ดีขึ้นประการ ๑ และมีการประชุมปรึกษาการทั่วถึงกันทุกกรมนี้ประการ ๑ ที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่เป็นสิ่งเป็นอัน ส่วนทหารบกโรงเรียนนายร้อยได้ตั้งขึ้นในครั้งนั้น
ส่วนทหารเรือได้สร้างอู่ใหญ่และโรงเครื่องจักรขึ้นในครั้งนั้น ส่วนราชการจรนอกจากการอุดหนุนกองทัพกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ทหารได้ทำการอันนับว่าเป็นการสำคัญ มีผลดีมายืดยาวอย่าง ๑ คือเมื่อเดือนมิถุนายน ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกจีนอั้งยี่เกิดรบกันขึ้นในกรุงเทพฯ ที่บางรักถึงทำสนามเพลาะรบกันอยู่ ๓ วัน เหลือกำลังพลตระเวน จึงโปรดฯให้ระงับด้วยกำลังทหาร ทั้งทหารบกทหารเรือพร้อมกันลงไปปราบอั้งยี่ในคราวนั้นเป็นคราวแรก เป็นเหตุให้พวกอังยี่ไม่กล้ารบกันอีกจนบัดนี้
ต่อมาถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ยกกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ด้วยเวลานั้นได้โปรดฯให้กรมพระดำรงราชานุภาพ ไปบัญชาการกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี และสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ไปบัญชาการกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดีเหมือนกัน แต่พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มีอาการประชวร จะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งในกรมทหารเรือ
ต่อมาปีมะโรง รัตนโกศินทร์ศก ๑๑๑ พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบกระทรวงเสนาบดีตั้งเป็น ๑๒ กระทรวง กำหนดหน้าที่กระทรวงกลาโหม เป็นกระทรวงราชการทหารตามตำราโบราณ แต่ในเวลานั้นการในกระทรวงกลาโหมยังจะจัดให้ตลอดไปไม่ได้ทีเดียว ด้วยราชการพลเรือนที่เป็นสำคัญ คือ การบังคับหัวเมืองเป็นต้น ยังไม่ถึงเวลาจะถอนไปจากกระทรวงกลาโหม ๆ ยังต้องทำการพลเรือนมากอยู่ ในประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี เมื่อวันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ จึงเป็นแต่โปรดฯให้แยกการบังคับบัญชาการทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง จากกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมขึ้นกลาโหม ส่วนกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ก็ลดลงคงเป็นกรมบังคับบัญชาทหารบก แต่โปรดให้ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ มีตำแหน่งนั่งในที่ประชุมเสยาบดีด้วย ในครั้งนั้นโปรดฯให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดชจึงทรงเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
ต่อมาถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงกลาโหมมาแต่นั้น คือ ยกการบังคับบัญชาหัวเมืองไปรวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ยกกรมพระสุรัสวดีมาขึ้นกระทรวงกลาโหม ย้ายที่ว่าการกระทรวงกลาโหมจากศาลาลูกขุนใน ออกมาอยู่ที่ศาลายุทธนาธิการ คือ ที่หลังตึกกระทรวงกลาโหมทุกวันนี้ ส่วนการที่จัดในกระทรวงกลาโหมในชั้นนั้น เริ่มลงมือจัดกรมพระสุรัสวดี สำรวจเรื่องทะเบียนบัญชีพล ด้วยการเกณฑ์ทหารในสมัยนั้น ยังใช้เก็บลูกหมู่ทหารและยกเลขกรมอื่นมาเป็นทหาร จำนวนทหารไม่พอแก่การ จึงต้องชำระเรียกคนตามบัญชีกรมพระสุรัสวดี เอาคนส่งให้เป็นทหารทันความต้องการก่อน กับอีกอย่าง ๑ กระทรวงกลาโหมถือบัญชีใช้จ่ายในการทหารบกทหารเรือ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการทหารนัก
ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชไท่ทรงสบาย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพักรักษาพระองค์ โปรดฯให้กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงรั้งราชการแทน ในเวลานั้นกรมหลวงนครชัยศรีเสด็จกลับเข้ามาถึง จึงเริ่มไปรับราชการอยู่ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อเดือนมกราคม ปีระกา รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ นั้น
ผู้ที่สังเกตจะเห็นได้ว่าในเรื่องประวัติต่อไปนี้ว่า เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ เข้าไปศึกษาราชการทหารในเวลายังไม่มีตำแหน่งนั้น ไม่ใช่แต่กรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงศึกษาราชการที่เป็นอยู่อย่างไรในเวลานั้นแต่ฝ่ายเดียว สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงแลเห็นประโยชน์ ที่ได้กรมหลวงนครชัยศรีฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนวิชาทหารตามวิธีปัจจุบันสมัย เข้าไปช่วยในเวลาที่กำลังต้องการ ได้ทรงปรึกษาหารือกรมหลวงนครชัยศรีฯมาแต่แรก จึงมีผลได้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบก อันยังมิได้มีมาแต่ก่อน ขึ้นเมื่อ ณ วันที่ ๑ เมษายน ปีจอ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงนครชัยศรีฯเลื่อนยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งเสนาธิการ เป็นตำแหน่งแรกที่กรมหลวงนครชันศรีฯได้รับราชการทหาร
ต่อมาในปีจอนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็กด้วยอีกตำแหน้ง ๑ และได้มีพระเกียรติยศในฝ่ายพลเรือนเป็นองคมนตรี เมื่อในปีจอ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น ตั้งแต่จัดตั้งกรมเสนาธิการมาแม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้ปรากฏมากมาย ก็เห็นเป็นข้อสำคัญแต่แรกว่า ตั้งแต่ทหารบกได้กรมหลวงนครชัยศรีฯก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง เข้าในวิธีการทหารอย่างที่ถือในประเทศที่ชำนาญการทหาร จึงบังเกิดความพอใจแก่บรรดาผู้ที่เอาใจใส่ในประโยชน์ของราชการทหาร มีความเชื่อถือคุณวุฒิของกรมหลวงนครชัยศรีฯแต่นั้นมา
ถึงปีกุน รัตนโกสินทร์สก ๑๑๘ พ.ศ. ๒๔๔๒ ตำแหน่งเสนาธิการกระทรวงโยธาธิการว่าง ทรงพระราชดำริว่า กระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงซึ่งเกี่ยวข้องด้วยวิชาการ สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงบัญชาการจัดตั้งกระทรวงนั้นขึ้น ในเวลานั้นจะหาผู้ใดเหมาะแก่ราชการกระทรวงโยธาธิการไม่ได้เท่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์กลับไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งกลับจากราชการในตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอุดร เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในเวลานั้นความเห็นมีอยู่โดยมากว่า ตำแหน่งผูบัญชาการกรมยุทธนาธิการสมควรแก่กรมหลวงนครชัยศรีฯ
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอม้เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่ากรมหลวงนครชัยศรีฯยังอ่อนพระชันษา พึ่งรับราชการยังใหม่นัก ไม่มีพระราชประสงค์จะให้รับราชการตำแหน่งสูงเร็วไป ทรงปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ๆ จึงทรงรับจะบัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทำนุบำรุงกรมหลวงนครชัยศรีฯให้ชำนิชำนาญราชการยิ่งขึ้น สมเด็จฯเจ้าฟ้าภานุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จกลับเข้ามาบัญชาการกรมยุทธนาธิการ ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น จึงทูลขอกรมหลวงนครชัยศรีฯ มารับราชการในตำแหน่งปลัดทัพบก ทั้งเป็นเสนาธิการ และบังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย
...................................................................................................................................................
โดย:
กัมม์
วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:10:02:03 น.
(ต่อ)
ในระยะนี้ เมื่อปีชวดรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ พ.ศ. ๒๔๔๓ กรมหลวงนครชัยฯได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์มหาสุราภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ เมื่อเดือนกันยายน ครั้นถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ในปีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระสุพรรณบัตรสถาปนาพระเกียรติยศ เป็นกรมหมื่นนครชัยศรีสุรเดช ประกาศพระบรมราชโอการเมื่อตั้งกรมดังนี้
ประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กตกมาศ กาฬปักษ์ จุตตถีดิถี โสรวาร สุริยคติ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสามาสาหคุณพิเศษปริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จไปเล่าเรียนวิชาในประเทศยุโรป ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ได้ทรงศึกษาวิชาการฝ่ายทหาร ตามแบบอย่างประเทศเดนมาร์ก โดยความชำนิชำนาญรอบรู้ในยุทธวิธี จนครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอรัสเซีย ได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศยุโรป ให้พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จช่วยในการประลองยุทธ ครั้นเมื่อเสร็จการแล้ว สมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอพระองค์นั้น ได้มีพระราชหัตถเลขามายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญความว่องไวสามารถและความรู้ของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชเป็นอันมาก และเมื่อเสด็จประเทศยุโรปนั้นได้รับหน้าที่ต่างพระองค์ ไปช่วยการบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้านิโคลัศที่ ๒ พระเจ้ากรุงรัสเซีย และไปช่วยการรัชฎาภิเษก สมเด็จพระเจ้าออสคาร์ พระเจ้ากรุงสวีเดนและโนรเว และเมื่อเวลาเสด็จประเทศยุโรป ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกือบจะทั่วทุกราชสำนัก เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายในนานาประเทศ ทั่วทุกพระนครย่อมสรรเสริญพระอัธยาศัยและวิชาความรู้ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ทั่วทุกสถาน ครั้นเมื่อเสด็จเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการในกองทัพบก ได้ทรงจัดการบำรุงโรงเรียนฝ่ายทหารให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ภายหลังได้ทรงบังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และดำรงตำแหน่งปลัดทัพบกได้ทรงจัดวางแบบอย่างแลบำรุงในกรมทหารบกให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก บัดนี้มีพระชนมายุเจริญวัยกอปรด้วยพระสติปัญญาสามารถสมควรที่จะเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณพระองค์หนึ่งได้
จึ่งมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครชัยศรีสุรเดช นาคนาม ทรงศักดิ์นา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณสุขพลปฎิภาณ คุณสารสมบัติสรรพศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล สุนทรศุภผลธรสารสมบูรณ์ อดุลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการ
.................................................................
ต่อมาถึงปีฉลูรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๐ กรมหลวงนครชัยศรีฯได้เลื่อนยศทหารเป็นนายพลตรี และเป็นราชองค์รักษ์พิเศษ ในปีนั้นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้าภานุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และโปรดฯให้กรมหลวงนครชัยศรีฯ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ บังคับบัญชาทหารบกทั่วไป แต่เดือนสิงหาคม ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น มาในปลายปีนั้นโปรดฯให้กรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จไปยุโรปคราวนี้ได้ทรงรับธุระกระทรวงต่างประเทศไปเลือกหาที่ปรึกษา แทนเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลัง ยัคมิน)
(๗)
ที่ถึงอสัญกรรม กรมหลวงนครชัยศรีฯเป็นผู้เลือกได้ นายสโตรเบล ที่ได้เข้าเป็นที่ปรึกษาราชการ เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ กลับจากยุโรปได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยสภรณ์มหาวราภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑ ต่อมาเลื่อนยศทหารเป็นนายพลโท เมื่อปีเถาะ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ พ.ศ. ๒๔๔๖ และเป็นนายพลเอก เมื่อปีมะเมีย รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙
การต่างๆที่ได้จัดขึ้นในทหารบก ให้เป็นคุณประโยชน์แก่สยามราชอาณาจักร ในเวลากรมหลวงนครชัยศรีฯทรงบัญชาการนั้น ยากที่จะพรรณาให้ถ้วนถี่พิศดารได้ในที่นี้ ด้วยเป็นการมากมายหลายอย่างนัก ตั้งแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๑ มาจนปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ ตลอดเวลา ๑๕ ปีนี้เป็นเวลาที่ราชการทหารบกได้จัดการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยปรากฎในพงศาวดาร ว่าโดยย่อคือได้สร้างกองทัพ สำหรับป้องกันกรุงสยามให้มีขึ้นได้จริงในระยะเวลานี้
อนึ่งตัวข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงประวัติ ถึงเป็นทหารและเคยรับราชการทหารก็จริง แต่ออกมารับราชยการพลเรือนเสียช้านานไม่เคยร่วมราชการทหารกับกรมหลวงนครชัยศรีฯ แม้จะลองพรรณาถึงการทหารที่ได้จัดขึ้นในเวลากรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงบัญชาการทหารบกให้พิศดาร ความรู้ก็ไม่พอที่จะกล่าวได้ถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นจะกล่าวแต่เฉพาะการซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการใหญ่และสำคัญ
การสำคัญอย่างหนึ่ง ๑ ซึ่งได้จัดในการทหาร ในเวลาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการนั้น คือ เรื่องตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร จะเข้าใจความสำคัญของพระราชบัญญัตินี้จำต้องทราบวิธีเกณฑ์ทหารแต่เดิมก่อน วิธีเกณฑ์คนมาฝึกเป็นทหารแต่ก่อนมา เกณฑ์ตามวิธีเกณฑ์อย่างโบราณ วิธีนั้น กำหนดความเป็นดังนี้ คือ
๑. ชายทุกคนต้องมีหน้าที่รับราชการตลอดเวลาฉกรรจ์ คือตั้งแต่อายุ ๑๘ ไปจน ๖๐ ผู้ใดอายุฉกรรจ์ ต้องมาเข้าทะเบียนที่กรมพระสุรัสวดี และเจ้าพนักงานสักข้อมือเป็นสำคัญว่าเป็นคนสังกัดอยู่กรมไหนๆชายฉกรรจ์ถ้าไม่มาขึ้นทะเบียนสักท้องมือ โดยมิได้รับอนุญาตยกเว้นตามกฏหมาย เรียกว่าคนมือขาวจับได้มีโทษ และต้องสักส่งไปรับราชการในกรมที่มีงานหนัก
๒. บรรดาไพร่พลที่สักแล้ว มีกำหนดรับราชการต่างกันคนที่อยู่หัวเมืองชั้นในโดยรอบกรุงเทพฯ ข้างเหนือตั้งแต่เมืองชัยนาถลงมา ข้างใต้ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีขึ้นมา ข้างตะวันออกตั้งแต่เมืองปราจีณและเมืองฉะเชิงเทราเข้ามา ข้างตะวันตกตั้งแต่เมืองราชบุรีเข้ามา ไพร่อยู่ในเขตเหล่านี้ต้องมารับราชการในกรุงเทพฯปีละ ๓ เดือน และยังมีการระดมปีละครั้ง ส่วนพลเมืองที่อยู่หัวเมืองชั้นกลางห่างกรุงเทพฯ จะมารับราชการกรุงเทพฯ ไม่สะดวกคนอยู่ไหนก็เข้าทะเบียนสังกัดเป็นเลขคงเมืองอยู่เมืองนั้น มีหน้าที่รับราชการปีละเดือน ๑
๓. การควบคุมคน จัดเป็นกรมๆ กรม ๑ มีเจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบัญชี เป็นผู้บังคับบัญชา รองลงไปมีนายกอง นายหมวดอยู่ตามท้องที่ๆไพร่พลอยู่ สำหรับดูแลและเรียกคนส่งมารับราชการ
๔. วิธีหาคนเพิ่มเติมเข้าในกรมตามวิธีเก่ามีอยู่ ๓ สถาน คือ สถาน ๑ ไพร่พลที่มีสังกัดกรมไหนถ้ามีลูกออกมา เรียกว่า "ลูกหมู่" ต้องเข้าสังกัดรับราชการในกรมนั้นอย่าง ๑ สถานที่ ๒ คนข้อมือขาวอันรู้ไม่ได้ว่าเป็นลูกหมู่กรมไหน ใครเกลี้ยกล่อมได้ก็เอาเข้าสังกัดกรมนั้นนี้อย่าง ๑ สถานที่ ๓ ลูกหมู่หรือแม้ตัวไพร่ที่มีสังกัดในกรมที่มีหน้าที่รับราชการเบา ถ้าจะสมัครไปอยู่กรมอื่นที่มีหน้าที่ราชการหนักกว่ากัน ก็ไปได้ตามใจสมัครนี้อย่าง ๑ ว่าโดนเนื้อความลักษณะ เกณฑ์พลตามวิธีเลขเป็นดังกล่าวมานี้
แต่มีอีกอย่าง ๑ ซึ่งตั้งขึ้นแต่ครั้งกรุงเก่าตอนหลัง เป็นการผ่อนผันวิธีเกณฑ์เลข คือ ยอมให้ไพร่เสียเงินค่าราชการแทนตัวเข้ามารับราชการได่ ถ้าถึงเวรใครและจะไม่เข้ามา ถ้าเสียเงินค่าราชการเดือนละ ๖ บาทหรือหรือคิดรวมปีเป็นปีละ ๑๘ บาท แล้วไม่ต้องเข้ามา เจ้ากรมปลัดกรมมีหน้าที่เก็บเงินค่าราชการส่งกรมพระสุรัสวดี และมีส่วนลดที่ได้แก่เจ้ากรมปลัดกรม ตลอดจนนายกองนายหมวด เป็นผลประโยชน์ในการที่ได้ควบคุมคนนั้นเพราะเหตุที่มีวิธีผ่อนผันให้เสียเงินแทนได้ดังนี้ ไพร่พลโดยมากจึงยอมเสียเงินแทนรับาราชการ ต่อที่ไม่มีเงินเสียหรือเห็นประโยชน์ที่จะรับจ้างผู้อื่นทำราชการแทนตัวจึงเข้ามา ด้วยเหตุนี้โดยปกติผู้ที่เข้ามารับราชการจึงมีน้อย แต่ราชการแต่ก่อนไม่ต้องการตัวคนรับราชการมากนัก ก็เป็นการเพียงพอแยงได้ตัวเงินมาจ่ายใช้ราชการอีกปีละมากๆด้วย
การเกณฑ์คนเข้ามาเป็นทหาร ฝึกหัดกระบวนอาวุธ อย่างทหารทุกวันนี้ ทราบว่าเริ่มมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ จะจัดการอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบชัด แต่ในครั้งนั้นเสมอจัดขึ้นลองดูเพียงพวกหนึ่งสองพวก ที่ใมขยายการฝึกหัดทหารมีมากขึ้นนั้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เรียกว่าทหารอย่างยุโรป แต่ก็จัดเป็นทหารสำหรับรักษาพระองค์ และแห่นำตามเสด็จ ทั้งวังหลวงวังหน้ามีไม่กี่กรม แต่มีข้อสำคัญอยู่ในเรื่องวิธีเกณฑ์คนด้วยเป็นแบบติดต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร
วิธีเกณฑ์มาฝึกหัดเป็นทหารในรัชกาลที่ ๔ คือเอาเลขที่เกณฑ์อย่างโบราณดังกล่าวมาแล้วมาฝึกหัดเป็นทหาร เมื่อกำหนดว่าจะเอาคนในกรมใดๆมาเป็นทหาร ก็เรียกระดมคนกรมนั้นๆเข้ามาเลือกคนฉกรรจ์ฝึกหัดกระบวนอาวุธ เมื่อฝึกหัดแล้วแบ่งคนเหล่านั้นออกเป็น ๔ ส่วน ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรประจำราชการส่วน ๑ ปล่อยให้ออกเวรไปทำมาหากิน ๓ ส่วน ใครถึงเวรเข้าตัวต้องเข้ามารับราชการจะเสียเงินค่าราชการไม่ได้
แต่เวลาที่อยู่รับราชการได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนของหลวง ถึงกระนั้นการเป็นทหารต้องฝึกหัด ยืนยามและทำการต่างๆ ยังหนักกว่าไพร่หลวงที่มารับราชการฝ่ายพลเรือนเป็นอันมาก ความรู้สึกจึงมีมาแต่แรก ว่าคนกรมใดที่ต้องเกณฑ์เป็นทหารเหมือนต้องตกไปทำการหนักยิ่งกว่าไพร่หลวง กลัวอยู่แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นทหาร ครั้นเข้าเป็นทหารแล้วพอได้คุ้นเคยก็สิ้นความกลัว ด้วยเหตุนี้จึงมีทหารมาได้แต่ในรัชกาลที่ ๔
มาถึงรัชกาลที่ ๕ จัดตั้งทหารเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายกรม จำนวนคนที่อยู่ประจำการในกรม ๑ กรม ๑ ก็ทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังเกณฑ์คนอยู่ด้วยวิธีเก่า เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อเกณฑ์คนเป็นทหารมากขึ้น ความที่คนรู้สึกกลัวจะต้องเกณฑ์เป็นทหารก็ยิ่งแพร่หลายออกไป ความที่กลัวในการเป็นทหารครั้งนั้น จะยกตัวอย่างที่ข้าพเจ้าได้พบคุ้นเคยด้วยตัวเองมาแสดงในที่นี้แต่เรื่อง ๑ ก็จะเข้าใจได้ว่าความกลัวเป็นทหารแต่ก่อนมาเป็นอย่างไร คือ เมื่อข้าพเจ้ารับราชกหารอยู่ในกรมศึกษาธิการ จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัด เริ่มจัดที่วัดมหรรณพารามในกรุงเทพฯนี้ พอถึงวันเปิดเรียน ครูไปถึงวัดมหรรณฯ ก็ได้ความว่าบิดามารดาถอนเด็กลูกศิษย์วัดเกือบหมด ด้วยเข้าใจว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว จะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร การจัดตั้งโรงเรียนที่อื่นๆก้ได้รับความลำบากอย่างนี้ กว่าจะตั้งติดได้แต่ละโรงไม่ใช่ง่ายทีเดียว กรมทหารที่ตั้งขึ้นแล้วในครั้งนั้น แม้จะหาคนเพิ่มเติมให้จำนวนคนประจำราชการคงที่อยู่ก็ไม่ได้ ผู้คนที่รับราชการต้องจำหน่ายตายบ้าง หนีบ้าง ชราพิการบ้าง จำนวนคนลดลงเสมอ ทางที่จะได้คนมาเพิ่มเติมโดยปกติ ก็มีแต่ได้ลูกหมู่ของทหารเก่าอย่าง ๑ กับเกลี้ยกล่อมหาค่าสมัครอย่าง ๑ แต่จำนวนคนเข้าก็ไม่เท่ากับจำนวนคนออก
เมื่อจำนวนทหารกรมใดหมดไป ก็ต้องยกกรมอื่นซึ่งมีทะเบียนอยู่ในกรมพระสุรัสวดีมาสมทบ เรียกตัวคนที่มีทะเบียนอยู่ในกรมนั้นมาฝึกหัดเป็นทหาร กรมนั้นก็สูญจากทะเบียน และเงินค่าราชการที่เคยได้จากกรมนั้นก็หมดไป ฝ่ายกรมทหารได้คนมาเพิ่มมากขึ้นคราว ๑ แล้วก็กลับน้อยลง เปรียบเหมือนชักทุนเรือนกินสิ้นไปเสมอ จึงรู้สึกกันมาช้านานว่าการเกณฑ์คนเป็นทหารเป็นการจำเป็นที่จะต้องคิดแก้ไขกันครั้ง ๑ เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้บังคับการทหารหน้า ถึงจะสังกัดอยู่ในกรมอื่นก็ปลดมาตามใจสมัครและสัญญาว่า เมื่อรับราชการอยู่ครบกำหนดปีแล้วจะปล่อยจากราชการทั้งปวง ครั้งนั้นแต่แรกมีคนชาวเมือง ราชบุรี เพชรบุรี สมัครเข้ามาเป็นทหารมาก
(๘)
ทหารหน้าได้อาศัยคนพวกทหารสมัครนี้ เป็นกำลังขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง คราวเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพขึ้นไป แต่วิธีเกลี้ยกล่อมคนเข้าสมัครคราวนั้นสำเร็จประโยชน์ได้ในชั่วคราวเดียว ด้วยต่อมาไม่มีใครค่อยสมัครเป็นทหาร
ต่อมาได้แก้ไขสำเร็จอีกครั้ง ๑ เมื่อโปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์จัดตั้งทหารเรือขึ้นตามหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก จัดครั้งนี้จะเรียกว่าเกณฑ์ชายฉกรรจ์ในหัวเมืองเหล่านั้นเป็นทหารทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะเกณฑ์บรรดาชายฉกรรจ์มาฝึกหัด ฝึกหัดแล้วแบ่งเป็นเวรผลัดเปลี่ยนกันมาประจำรับราชการอยู่ที่โรงทหารในเมืองนั้นๆ การที่จัดมีผลดีได้คนมากในคราวแรกแต่ต่อมาคนก็น้อยลง ด้วยไม่มีสำมะโนครัวรายตัวพลเมือง และไม่มีพนักงานที่จะตรวจเรียกคนมาส่งให้ทหาร
เมื่อโปรดให้ตั้งกรมยุทธนาธิการ ก็แลเห็นความยากข้อสำคัญของกรมยุทธนาธิการ มีอยู่ในเรื่องที่จะหาคนเป็นทหารนั้นยากยิ่งกว่าอย่างอื่น ที่จริงความคิดที่จะตั้งพระบัญญัติเกณฑ์ชายทุกคนให้เป็นทหารชั่วเวลาที่มีกำหนด เหมือนอย่างต่างประเทศที่จัดกันในยุโรป เป็นความคิดที่มีมาแต่ครั้งนั้นหรือก่อนนั้นแล้ว แต่จัดขึ้นไม่ได้ด้วยเห็นข้อขัดข้องเพราะเป็นการใหญ่โต จะเกณฑ์คนซึ่งไม่อยากเป็นทหารให้ต้องเป็นทหารทั้งพระราชอาณาจักร วิธีที่จะผ่อนผันจัดการให้เรียบร้อยยากมิใช่น้อย ผู้จะเป็นครื่องมือสำหรับทำการ ตั้งต้นแต่นายทหารที่จะส่งออกไปบังคับบัญชาก็มีไม่เพียงพอ ฝ่ายพลเรือนที่จะช่วยทำการในท้องที่มีสำมโนครัวเป็นต้น ก็ยังไม่แลเห็นความหวังใจอยู่ที่ไหน และที่สุดซึ่งเป็นข้อสำคัญกว่าอย่างอื่นนั้น คือ จะได้เงินที่ไหนมาพอใช้จ่าย คิดเห็นความขัดข้องเหลือที่จะแก้ไขได้ในเวลานั้น
ในชั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการ ตลอดมาจนถึงเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯได้มาเป็นผู้บัญชาการทหารบก การเกณฑ์คนเป็นทหารจึงต้องอนุโลมแต่โดยวิธีเก่า เป็นแต่จัดการให้กวดขันถี่ถ้วนดีขึ้น เช่นยกกรมพระสุรัสวดีมาขึ้นทหารเป็นต้น พอกรมหลวงนครชัยศรีฯได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ตั้งต้นคิดอ่านเรื่องแก้ไขวิธีเกณฑ์ทหาร อันเป็นปัญหาใหญ่และยากที่สุดของการทหารอยู่ในเวลานั้น เพราะเห็นอยู่ว่าถ้าไม่คิดเรื่องวิธีเกณฑ์ทหารให้ลุล่วงตลอดไปได้แล้ว ถึงจะจัดการอย่างอื่นก็เหมือนสักแต่ว่าแต่งเครื่องประดับประดา หาเป็นแก่นสารแก่ราชการทหารได้จริงๆไม่ จึงจับดำริในเรื่องเกณฑ์ทหารในเบื้องต้นเร่งรัดให้ฝ่ายพลเรือนทำสำมโนครัวรายตัวพลเรือนก่อน ครั้งนั้นสำมโนครัวมณฑลนครราชสีมาแล้วก่อน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเป็นข้อบังคับลักษณะการเกณฑ์ทหาร จัดเป็นการทดลองที่มณฑลนครราชสีมา มณฑล ๑ ก่อนแต่ในปีเถาะ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ พงศ. ๒๔๔๖ เมื่อจัดการวางมณฑลนครราชสีมาเห็นการจะสำเร็จได้ จึงใช้ข้อบังคับนั้นจัดต่อมาอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครสวรรค์ ๑ มณฑลพิษณุโลก ๑ มณฑลราชบุรี ๑ เมื่อจัดการตั้งทั้ง ๔ มณฑลนี้เห็นเป็นผลดีจะจัดได้ทั่วไป จึงตราพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร เมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ปีมะเส็ง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ พ.ศ. ๒๔๔๘
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียบเรียงพระราชบัญญัตินี้เองด้วยเสด็จดำรงตำแหน่งที่จเรทหารบกและเป็นที่ปรึกษาหารือของกรมหลวงนครชัยศรีฯอยู่ในเวลานั้น วิธีเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัตินี้ว่าแต่โดยเนื้อความ บรรดาชายเมื่ออายุถึงฉกรรจ์ ต้องมาเข้าทะเบียนเป็นทหารรับราชการประจำอยู่ ๒ ปี เมื่อรับราชการครบ ๒ ปีแล้ว ปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ ๑ พวกกองหนุนชั้นที่ ๑ มีหน้าที่เข้ามาฝึกซ้อมปีละ ๒ เดือน นอกจากนั้นปล่อยให้ทำมาหากินอย่างสบาย เมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๑ ครบ ๕ ปีแล้ว ปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ ๒ มีหน้าที่เข้ามาฝึกหัดซ้อมเพียงปีละ ๑๕ วัน เมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๒ ครบ ๑๐ ปีแล้วเป็นปลดพ้นราชการทหาร เมื่อประกาศพระราชบัญญัติแล้ว ได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติตามมณฑลโดยลำดับมาดังนี้
๑. มณฑลนครราชสีมา ๒. มณฑลนครสวรรค์ ๓. มณฑลพิษณุโลก ๔. มณฑลราชบุรี ๔ มณฑลนี้ได้จัดการตามข้อบังคับมาแล้ว ใช้พระราชบัญญัติแต่วันประกาศเป็นต้นมา
๕. มทณฑลกรุงเก่า ๖. มณฑลนครชัยศรี ๒ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติแต่วันที่ ๑ เมษายน ปีมะเมีย รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙
๗. มณฑลปราจีณ ใช้พระราชบัญญัติวันที่ ๑ เมษายน ปีมะแม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ พ.ศ. ๒๔๕๐
๘. มณฑลกรุงเทพฯ ๙. มณฑลจันทบุรี ๒ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติวันที่ ๑ เมษายน ปีวอก รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ มณฑลอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้เป็นมณฑลอยู่ชายพระราชอาณาเขต ใช้ข้อบังคับเกณฑ์คนเป็นตำรวจภูธรเพื่อให้คุ้นเคยแก่การฝึกเสียก่อน พึ่งมาประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารในรัชกาลปัจจุบันนี้
(๙)
คือ
๑๐ มณฑลภาคพายับ ๑๑. มณฑลอุดร ๑๒. มณฑลอุบลราชธานี ๑๓.มณฑลร้อยเอ็ด ๔ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติ เมื่อ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗
๑๔ มณฑลนครศรีธรรมราช ๑๕. มณฑลปัตตานี ๑๖. มณฑลสุราษฎร์ฯ ๑๗. มณฑลภูเก็ต ๑๘.มณฑลเพชรบูรณ์ ๕ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นอันได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ททหาร ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้
การที่ใช้พระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร แต่ทีละบางมณฑลโดยเฉพาะที่ใช้ในมณฑลที่อยู่ห่างกรุงเทพฯก่อนดังจัดมา ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์สำคัญซึ่งควรชมว่าเป็นความคิดดี ด้วยแก้ไขความขัดข้องซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนได้เกือบหมด คือ ๑ คนในมณฑลนั้นไม่เคยรับราชการทหาร ไม่กลัวเป็นทหารเหมือนคนข้างในจึงจัดได้ง่ายกว่ามณฑลชั้นใน ๒ การที่จัดแต่บางมณฑล พอจะเลือกหานายทหารที่ดีสมควรแก่การออกไปจัดวางการชั้นต้น ดูแลเอาใจผู้คนที่ต้องเกณฑ์ไม่ให้เดือดร้อนตื่นเต้น ๓ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการเองได้เวลาพอรู้เหตุการณ์ขัดข้อง ที่จะพึ่งมีแก่การใช้พระราชบัญญัติในที่อื่นต่อไป ได้คิดอ่านตระเตรียมแก้ไขไว้เสียก่อน ๔ ได้รู้จำนวนเงินที่จะใช้จ่ายในการจัดทหารอย่างนี้สักมากน้อยเท่าไร และ ๕ ทำให้คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในมณฑลใกล้เคียง โดยเฉพาะผู้ซึ่งเป็นทหารด้วยวิธีเกณฑ์อย่างแต่ก่อนได้แลเห็นว่า ผิดกับผู้ที่ต้องเป็นทหารด้วยวิธีเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้อย่างไร คือ ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนไปรับราชการไกล และไม่ต้องเป็นทหารอยู่จนแก่ดังแต่ก่อน ความขัดข้องเหล่านี้หมดไปด้วยการใช้พระราชบัญญัติแต่ทีละบางมณฑล เพราะเป็นเหตุให้รัฐบาลรู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร และให้คนทั้งหลายรู้ความจริงว่าเป็นทหารตามพระราชบัญญัติใหม่เป็นอย่างไรเสียก่อน แล้วจึงได้จัดการต่อมา การที่จัดต่อมาจึงมีผลสำเร็จดังเราทั้งหลายได้แลเห็นอยู่ในทุกวันนี้
...................................................................................................................................................
โดย:
กัมม์
วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:10:03:57 น.
(ต่อ)
แม้ว่าความคิดดีและวิธีจัดการดีดังกล่าวมานี้ การมิได้สำเร็จได้ด้วยง่าย ด้วยยังมีความลำบากอันไม่ได้คาดคิดไว้แต่ก่อนเกิดขึ้นต้องแก้ไข และแก้ไขได้ด้วยยากบ้าง ด้วยง่ายบ้างมากมายหลายอย่าง จะยกมากล่าวเป็นอุทธาหรณ์แต่บางอย่าง เช่นเมื่อแรกจัดตั้งทหารตามมณฑลผู้ที่ยังตื่นเต้นกลัวเป็นทหารกันหนีไปบวชเป็นพระบ้าง เป็นเณรบ้าง การแก้ไขต้องทูลขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(๑๐)
ทรงวางระเบียบข้างฝ่ายพุทธจักรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับราชการฝ่ายพระราชอาณาจักร ความขัดข้องอีกอย่าง ๑ ปรากฎขึ้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารในกรุงเทพฯ ความในพระราชบัญญัติมียกเว้นข้าราชการพลเรือน ไม่ต้องเกณฑ์เป็นทหารเหตุด้วยติดทำราชการอย่างอื่น
ครั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติ ผู้ที่ไม่อยากเป็นทหารพากันสมัครเข้ารับราชการตามกระทรวงพลเรือน ถึงจะได้เงินเดือนหรือไม่ได้เงินเดือนก็รับทำ ด้วยประสงค์จะหลีกเลี่ยงให้อายุพ้นกำหนดพ้นเกณฑ์ ข้างฝ่ายทหารเห็นเป็นช่องทางที่คนจะหลีกเลี่ยงเสียข้อพระราชบัญญัติ ซึ่งประสงค์ป้องกันความเดือดร้อน ด้วยให้คนทั้งหลายรู้สึกว่าต้องเป็นทหารเสมอหน้ากันทุกคน จะขอให้กระทรวงพลเรือนส่งเสมียนพนักงานมาเป็นทหาร ข้างฝ่ายพลเรือนเห็นชอบด้วยบ้าง ไม่เห็นชอบด้วยบ้าง เกิดโต้แย้งกันกว่าจะตกลงเป็นระเบียบได้ มีความลำบากไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ยังมีความลำบากโดยธรรมดาการ เพราะการจักการเจริญแพร่หลายขึ้นก็ต้องมีการตรวจสอบดูแลยิ่งขึ้น ต้องการนายทหารมากขึ้น ต้องการความดำริตริตรองที่จะวางแบบแผนกว้างขวางออกและละเอียดยิ่งขึ้น อันล้วนเป็นความลำบากในหน้าที่ของกรมยุทธนาธิการเอง ก็มีมากยิ่งขึ้นโดยลำดับมา ที่สามารถแก้ไขความลำบากและข้อติดขัดทั้งปวงให้ลุล่วงมาได้นั้น
ถ้าจะว่าเพราะความสามารถ พระปรีชาญาณ และพระวิริยอุตสาหะของกรมหลวงนครชัยศรีฯ แต่พระองค์เดียวเท่านั้น เห็นจะเป็นการชมเกินไป เพราะความจริง กรมหลวงนครชัยศรีฯ ต้องอาศัยความอุปการะจากที่หลายแห่ง เบื้องต้นตั้งแต่กระแสพระราชดำริทรงแนะนำในความคิดอ่าน และพระบรมราชูปถัมภ์ทรงอุดหนุนในบรรดาการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น อันมิได้อยู่ในอำนาจทหารบกให้สำเร็จลุล่วงไป การทั้งปวงไม่ว่าในกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดจำต้องอาศัยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวมาจึงจะสำเร็จ นอกจากพระบารมีกรมหลวงนครชัยศรีฯ ยังได้รับอุดหนุนจากผู้ที่ได้บังคับการทหารแต่ก่อน คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นต้น ได้ทรงชี้แจงแนะนำให้ทราบเบาะแสเค้าเงื่อนการงานที่เป็นมาแต่ก่อนสำเร็จได้ด้วยประการใดและมีข้อขัดข้องอยู่อย่างใดๆ ต้องอาศัยความรู้เก่าเช่นนี้ประการ ๑ แต่ความอุดหนุนที่เป็นกำลังอันสำคัญของกรมหลวงนครชัยศรีฯนั้น
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าที่ได้เป็นเจ้านายซึ่งได้ทรงเล่าเรียนวิชาทหารในยุโรปกลับมา ช่วยทรงรับภาระในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เป็นต้นว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงตำแหน่งเป็นจเรทหารบก สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสววรค์วรพินิต
(๑๑)
ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการ เมื่อทรงย้ายไปบัญชาการทหารเรือ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธเป็นเสนาธิการ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
(๑๒)
ทรงรับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธศึกษาฝึกหัดนายทหาร เมื่อพระยาวงศานุประพัทธ ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราช ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการด้วยอีกตำแหน่ง ๑กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยในกรมกลาง ยังนายทหารชั้นเก่ามีเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นต้น ที่ได้รับราชการในตำแน่งสูงก็หลายคน ยังพวกที่เข้าเป็นนักเรียนนายร้อย แต่ชั้นแรกตั้งกรมยุทธนาธิการ ถึงเวลานี้ทันที่จะรับราชการในตำแหน่งซึ่งจัดตั้งใหม่ได้หลายคน เช่น พระยาสีหราชเดโชชัย พระยากำแหงสงคราม พระยาสีหราชฤทธิไกร และหม่อมเจ้าอลงกฎ เป็นต้น ยังนายทหารที่ได้ออกไปเรียนวิชาในยุโรป แม้ยังมีน้อยคนในเวลานั้น ที่ได้เข้ามาทันต้องการได้รับราชการเป็นประโยชน์จริงในเวลานั้นก็หลายคน คือ เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ หม่อมเจ้าบวรเดช พระยาสุรเสนา พระยาสุรินราชา พระยาเทพอรชุน และพระยาพิชัยชาญฤทธิ์ เป็นต้น
ว่าโดยย่อเพราะมีคนดีพรักพร้อมจัดการติดต่อ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้เป็นข้อสำคัญ การที่ใหญ่และยากจึงสำเร็จ มีผลดีแก่บ้านเมือง และเป็นเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าจะชมเป็นเฉพาะพระองค์ กรมหลวงนครชัยศรีฯ ข้าพเจ้าเห็นควรชมข้อที่ทรงพระปรีชาชาญอาจหยั่งรู้คุณวิเศษ สำหรับการอย่างใดจะหาได้ในผู้ใด และมีพระอุปนิสัยสามารถในการปกครองควบคุมคนนี้เป็นหลัก ประกอบกับพระวิริยอุตสาห เอาพระองค์ออกหน้ารับความยากลำบากทั้งปวง จนได้รับความนิยมเชื่อถือของผู้อื่นทั่วไป เพราะคุณวิเศษเหล่านี้จึงสามารถที่จะเป็นหัวหน้าทำการใหญ่ให้สำเร็จได้ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้า บางทีจะผิดกับความเห็นของท่านผู้อื่นได้บ้าง
การสำคัญในทหารบกอีกอย่าง ๑ ซึ่งจัดขึ้นครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการนั้น คือ ลักษณะการจัดทหารแต่ก่อนมา ทหารจัดเป็นกรมๆ และโดยมากประจำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงไพร่จะอยู่ที่ใด เมื่อถึงเวรต้องเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ดังแสดงมาแล้วข้างต้น เมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการแล้ว นอกจากพวกทหารมณฑลจันทบุรี ก็ยังเป็นเช่นนั้น จนต้องใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว จึงตั้งกองทหารขึ้นตามหัวเมือง คนอยู่ในมณฑลไหนรับราชการทหารอยู่ในมณฑลนั้น เมื่อตั้งหลักดังนี้แล้วจึงจัดการควบคุมบังคับบัญชาติดต่อกัน ตั้งแต่กองร้อยกองพันขึ้นไปจนถึงกองพลกองทัพตามภูมิพิชัยสงคราม และจัดทหารเหล่าต่างๆตามกระบวนยุทธ จนสามารถจะเรียกกำลังกองทัพบก ยกไปปราบปรามศัตรูหมู่ร้าย ณ ที่ใดๆได้โดยเร็ว ข้อสำคัญนี้เพียงใด
ข้าพเจ้าจะยกอุทธาหรณ์อันเคยมีเหตุครั้ง ๑ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ มีพวกผู้ร้ายเงี้ยวคิดกบฏขึ้นที่มณฑลมหาราษฎร์ พวกผู้ร้ายพากันจู่เข้าตีเอาเมืองแพร่ได้ เวลานั้นยังไม่มีทหารในหัวเมือง พอทราบข่าวถึงกรุงเทพฯได้แต่สั่งโทรเลขผู้ว่าราชการเมืองพิชัย
(๑๓)
เมืองสวรรคโลก เมืองตาก ให้เกณฑ์ราษฎรและเก็บปืนตามแต่จะหาได้ในพื้นเมืองยกขึ้นไปขัดไว้ อย่าให้พวกผู้ร้ายเงี้ยวยกล่วงเลยลงมาได้ กว่าทหารที่ส่งจากกรุงเทพฯจะขึ้นไปถึง พวกเมืองพิชัยไปพอทันปะทะเงี้ยวไว้ที่เขาพรึง รบกันอยู่ ๓ วัน กันเงี้ยวไว้ได้ หาไม่ก็เสียเมืองอุตรดิษฐ์อีกเมือง ๑ พวกเงี้ยวเห็นกำลังกรุงเทพฯขึ้นไปช้า ยังคิดการใหญ่ที่จะไปตีเมืองนครลำปางอีก พวกพลเมืองก็รวนเรด้วยกลัวเงี้ยว เงี้ยวเข้าไปตั้งล้อมถึงเมืองนครลำปางอยู่แล้ว เดชะพระบารมี กองทหารซึ่งส่งไปจากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองนครลำปางทัน เมืองนครลำปางจึงมิได้เสียแก่พวกผู้ร้ายเงี้ยว และปราบปรามผู้ร้ายเงี้ยวต่อไปได้จนสงบ แต่ถึงกระนั้นผู้คนที่ถูกผู้ร้ายเงี้ยวฆ่าตายเสียคราวนั้นก็หลายคน มาคิดดูถ้าได้มีพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเช่นทุกวันนั้แล้ว เหตุการณ์ครั้งผู้ร้ายเงี้ยวนี้จะมีไม่ได้เลยเป็นอันขาด
การทหารที่สำคัญอีกอย่าง ๑ ที่ได้มีขึ้น เมื่อครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการนั้น คือ วิธีฝึกหัดทหาร ทหารอย่างยุโรปที่เราฝึกขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๔ ครูเป็นอังกฤษ เอาวิธีอังกฤษมาฝึกหัด ตลอดจนคำบอกก็ใช้ภาษาอังกฤษ ทหารไทยจึงบอกทหารภาษาอังกฤษต่อมา เมื่อแรกตจัดทหารมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เคยคิดเปลี่ยนคำบอกทหารเป็นภาษามคธครั้ง ๑ คิดคำบอกขึ้นได้เพียงท่าปืน มีวันทยาวุธ เป็นต้น ใช้ฝึกหัดไปไม่ได้จนแปรแถว จึงใช้คำบอกภาษาอังกฤษ ต่อมาเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีคิดใช้คำบอกภาษาไทยเมื่อว่าทหารหน้าอีกครั้ง ๑ ก็ไม่ได้ใช้ทั่วไป ด้วยเวลานั้นกรมทหารต่างยังเป็นอิสระแก่กัน ไม่พอใจจะเอาอย่างทหารหน้า จนเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการแล้ว จึงได้คิดคำบอกทหารเป็นภาษาไทย ใช้เหมือนกันหมดอย่างเดียวกับเพลงแตรสัญญา ซึ่งแต่ก่อนก็ผิดกันเหมือนกัน แต่กระบวนฝึกหัดแปรแถวครั้งนั้น เพราะทหารยังมีน้อยวิธีฝึกหัดมีแต่เพียงแปรแถวกองพันเป็นอย่างสูง ยังไม่ได้เริ่มฝึกถึงวิธียุทธ
ต่อเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จเข้ารับราชการทหาร จึงเริ่มคิดวิธีฝึกหัดอย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ทราบว่าทรงแต่งและเขียนเอง และหัดต่อขึ้นไปถึงออกสนามและกระบวนยุทธ ข้าพเจ้าได้ยินนายทหารเล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกกรมหลวงนครชัยศรีฯพาทหารออกไปฝึกหัดสนามที่เมืองราชบุรี ถึงเวลาค่ำลงนายทหารพากันปรารภว่าจะนอนอย่างไร กรมหลวงนครชัยศรีฯ ได้ยิน รับสั่งว่าไม่ยากอันใด จึงรับสั่งเรียกให้หากระดานมาได้แผ่น ๑ เอากระดานวางลงบนแผ่นดินแล้วขึ้นบรรทมบนแผ่นกระดานนั้นจนหลับไป ตั้งแต่นั้นมานายทหารก็เข้าใจได้ ว่าหาที่นอนในสนามไม่ยากจริง วิธีฝึกหัดทหารบกทุกๆอย่าง ตลอดจนซ้อมรบประลองยุทธ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นของเกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงบัญชาการกรมทหารบกอีกอย่าง ๑
ยังมีการอีกอย่าง ๑ ซึ่งเกิดขึ้นในครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯทรงบัญชาการทหารบก เป็นการซึ่งเห็นไม่ได้แก่ตา แต่ข้าพเจ้าทราบตระหนักแก่ใจตนเอง จึงอยากจะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วย คือ การฝึกหัดวินัยและน้ำใจทหาร ที่ว่าข้าพเจ้าทราบตระหนักแก่ใจตนเองนั้น ด้วยตั้งแต่เริ่มแรกใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ข้าพเจ้าได้เคยพบปะผู้ที่คิดหลบหลีกราชการทหารมามากกว่ามาก มาขอสมัครเป็นบ่าวไพร่พึ่งบุญบ้าง มาสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงของข้าพเจ้าบ้าง ได้เคยสังเกตน้ำใจของคนพวกนี้ และในเวลาไปเที่ยวตรวจราชการตามหัวเมืองยังได้สังเกตความคิดเห็นของผู้คนตามหัวเมืองที่ได้ไปพบปะการที่คิดหลีกเลี่ยงเป็นทหาร มีอยู่ในเวลาเมื่อแรกจัดตั้งจริงอยู่
แต่ครั้นเมื่อตั้งกองทหารในที่แห่งใดได้แล้ว พอพลทหารได้รับความอุปการะสั่งสอนคุ้นแกการทหารก็บังเกิดความศรัทธา พลทหารนั้นเองเป็นผู้ที่นำข่าวไปแสดงแก้ไขความตื่นเต้นได้ในไม่ช้า ไม่กี่ปีก็สิ้นความหวาดหวั่นในเรื่องเกณฑ์ทหาร สังเกตว่าเป็นดังนี้มาทุกมณฑลที่ได้จัดการ ความที่อบรมน้ำใจทหารได้อย่างไร ข้าพเจ้าจะยกอุทธาหรณ์เรื่อง ๑ ซึ่งได้ยินจากฝรั่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทหารอย่างหนึ่งอย่างใดเขาเล่าให้ฟัง ผู้เล่านั้นคือนายวันเดอ ไฮเด ชาติวิลันดา หัวหน้าพนักงานทดน้ำ เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาขึ้นไปตรวจที่สร้างทำนบที่เมืองชัยนาท เวลาวันหนึ่งไปนั่งพักร้อนอยู่ใต้ร่มไม้ในทุ่งแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นทางคนเดิน ในเวลาเขานั่งอยู่นั้นมีชาวเมืองเดินทางมาพวกหนึ่ง ๒-๓ คนแวะเข้าไปพักอาศัยร่มในที่แห่งเดียวกับเขา เขาจึงถามว่าคนเหล่านั้นมาแต่ไหนและจะไปไหน คนหนึ่งในพวกนั้นบอกว่าเป็นทหารอยู่เมืองชัยนาทได้ลาจะไปเยี่ยมบ้าน นายวันเดอ ไฮเด นึกอยากทราบขึ้นมาว่า พวกราษฎรที่ถูกเกณฑืมาเป็นทหารจะมีความรู้สึกอย่างไร จึงลองถามคนพวกนั้น ว่าที่เป็นทหารนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับตอบว่า เป็นทหารตามหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองของตน นายวันเดอ ไฮเด ไม่ได้คาดว่าจะได้ยินตอบอย่างนี้ ก็มีความพิศวง ต่อมาไม่ช้ากลับออกไปเมืองฮอลแลนด์ ได้ไปเล่าความเรื่องนี้แก่เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ๆว่า ถ้าชาววิลันดาของเรารู้สึกอย่างทหารไทยนี้หมดทุกคนก็จะดี นี่เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ยินมาซึ่งเชื่อว่าเป็นความจริง
ด้วข้าพเจ้ามีเด็กมาอยู่ให้ฝึกหัดและรับใช้สอยมากบ้าง น้อยบ้าง ทยอยกันอยู่เสมอ ได้เคยส่งไปรับราชการหลายคราวมาแล้ว เมื่อก่อนมาต้องชี้แจงเกลี้ยกล่อมอยู่ไม่น้อย ต่อมาไม่เท่าใดถึงคราวใครต้องเข้าเป็นทหาร ก็ไม่ต้องตักเตือนชี้แจงอย่างใด มา ๒ คราวที่ล่วงมานี้ ถึงมีคนไม่ถูกเกณฑ์ร้องขอสมัคร จนข้าพเจ้าต้องห้ามบางคนไว้ ด้วยอายุยังไม่ถึงกำหนด เห็นร่างกายยังไม่แข็งแรงพอแก่การทหาร ในเรื่องคนหลีกเลี่ยงเป็นทหารในเวลานี้เป็นการสงบเงียบ จะว่าไม่ได้ยินเลยที่เดียวก็ว่าได้ ยังอีกอย่าง ๑ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคนปรารภอยู่แต่ก่อนบ้าง ว่าการเกณฑ์คนหนุ่มๆไปรวบรวมไว้มากๆ เวลาพ้นทหารออกมา กลัวคนที่ดีจะไปได้ความชั่วออกมาประพฤติเป็นโจรผู้ร้าย เมื่อได้ยินดังนี้ ข้าพเจ้าลองให้ตรวจตรานักโทษตามเรือนจำหัวเมืองอยู่หลายปี ว่าจะมีผู้ที่พ้นราชการทหารแล้ว มาต้องรับพระราชอาญามากน้อยสักเพียงใด ข้าพเจ้าเองกลับได้รับความประหลาดใจ ที่ได้รับทราบว่า บรรดานักโทษที่มาเข้าเรือนจำมีน้อยที่สุดทีเดียวที่จะได้สักเป็นทหาร ความดีทั้งปวงที่ได้กล่าวมาในข้อนี้เป็นด้วยวิธีฝึกหัดน้ำใจคนซึ่งได้จัดขึ้นใหม่ ในครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงบัญชาการทหารบก ยิ่งกว่าด้วยเหตุอื่น
ผลของการที่ได้จัดการในราชการทหารบก ครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯทรงบัญชาการ ได้ปรากฎเห็นแก่ตาชาวกรุงเทพฯ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อมีการประลองยุทธที่ทุ่งพญาไทยแล้วสวนสนามที่หน้าพระลานสวนดุสิต คนทั้งหลายได้เห็นกองทัพทหารไทย พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ ตลอดจนวิธีฝึกหัดกระบวนรบ ในครั้งนั้น ถึงรัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้นายพลแม่ทัพฝรั่งเศส เข้ามาดูการประลองยุทธซึ่งควรเข้าใจได้ว่า เพราะเห็นว่ากำลังทหารไทยมีจริงๆแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านพิภพเมื่อปีจอ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ พงศ. ๒๔๕๓ ตำแหน่งจเรทหารบกซึ่งพระองค์ได้เสด็จดำรงมาว่างอยู่ ทรงพระราชดำริว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นตำแหน่งจเรทั้งทหารบกทหารเรือ แล้วโปรดฯให้กรมหลวงนครชัยศรีฯ เลื่อนเป็นเสนาบดีกลาโหม เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการมาแต่นั้น ครั้น ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านายเป็นฤกษ์ต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กรมหลวงนครชัยศรีฯ อยู่ในเจ้านายได้เลื่อนกรมครั้งนั้นพระองค์ ๑ ประกาศพระบรมราชโองการเมื่อเลื่อนกรมว่าดังนี้
ประกาศ
ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนากาลเป็นอดีตภาค ๒๔๕๔ พรรษา กาลปัตยุบันจันทรโคจร วราหะสัมพัตสร กรรติกมาศ กาฬปักษ์ฉัฐดิถีโสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ พฤศจิกายน เอกาทสมสุรทิน โดยกาลนิยม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครชัยศรีสุรเดช เป็นพระราชโอรสองค์ ๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระชนกาธิราช ได้ทอดพระเนตรเห็นคุณสมบัติแล้วหลายประการ ดังมีข้อความปรากฎอยู่ในประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อครั้งทรงยกย่องขึ้นให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมนั้นแล้ว ต่อแต่นั้นมาก็ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งอันสำคัญอย่างยิ่งอัน ๑ คือ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทรงพระราชดำริเริ่มการใหม่และแก้ไขการเก่าในแผนกทหารบกให้ดีขึ้นเทียมทันกาลสมัย แบบอย่างอันนิยมกันว่าดี ได้ทรงจัดเกณฑ์ทหารให้ดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย สมพระราชประสงค์แห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นับว่าได้ทรงกระทำประโยชน์อันใหญ่ ให้บังเกิดแก่ชาติไทยอย่างใหญ่หลวงอัน ๑ การป้องกันพระราชอาณาจักรและรักษาความสงบราบคาบภายในก็เป็นสิ่งสำคัญอัน ๑ เพื่อความมั่นคงและความเป็นไทยแห่งชาติ พระเจ้าพี่ยาเธอ ได้ทรงพระอุตสาหะดำริและจัดระเบียบวางการกองทัพบกไทยให้ดีเรียบร้อยและใช้ประโยชน์ได้จริง ตามแบบธรรมเนียมที่นิยมกันว่าดี ควรนับได้ว่าทรงทำการอันเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันมากยากที่จะคณนาได้ ครั้นมาในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกกรมยุทธนาธิการเสีย ตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้นให้บังคับบัญชาในแผนกทหารบก พระเจ้าพี่ยาเธอก็ได้ทรงรับราชการในตำปหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และทั้งเป็นกรรมการแห่งสภาการกองทัพด้วย นับว่าในการทหารบกเป็นอันได้ทรงทำราชการมาแล้วและเห็นผลดีอย่างยิ่ง
อนึ่ง นอกจากราชการในแผนกทหาร พระเจ้าพี่ยาเธอยังได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในเมื่อมีราชการจรอีกหลายครั้งหลายคราว เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยทรงใช้ต่างพระเนตรพระกรรณได้ ทั้งในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าพี่ยาเธอก็ได้สนองพระเดชพระคุณมาหลายอย่างหลายทาง ไม่เฉพาะแต่ในราชการแผ่นดินฝ่ายเดียว ทั้งในการในพระองค์อีกด้วย ทรงเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในสรรพกิจน้อยใหญ่ ทรงทราบแน่ชัดว่ามีพระอัธยาศัยสุจริต มีพระสติปัญญาสามารถอาจทรงดำริการอันสุขุม กอรปด้วยอุตสาหวิริยภาพหาที่เปรียบได้โดยยาก สมควรที่จะเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครชัยศรีสุรเดช ขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชนาคนาม ให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณศุขพลปฎิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลศุภผลสกลเกียรติยศอิสริยศักดิมโหฬารทุกประการ
......................................................................
ในรัชกาลปัจุบบันนี้ กรมหลวงนครชัยศรีฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ รัตนาภรณ์ และเหรียญรัตนภรณ์ชั้นที่ ๑ ได้มีพระเกียรติเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ เป็นนายทหารพิเศษกรมทหารรักษาวัง แล้วได้เป็นนายกองเอกผู้บังคับเสือป่านครชัยศรีฯ อนึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ซึ่งกรมหลวงนครชัยศรีฯ ได้ทรงรับเป็นเกียรติยศในคราวต่างๆ รวม ๑๓ ประเทศด้วยกันคือ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์รูเซีย เซนอเลกซานเดอร์ เนฟสกี ๑ , นกอินทรีขาวประดับเพชร ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย ลิโอโปลด์ ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปรุสเซีย นกอินทรีแดง ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อิตาลี เซนมอรีสกับเซนราซารัส ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สเปน ชาลส์ที่สาม ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ญี่ปุ่น ไลสิงสัน ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์เตอรกี ออสมานิเย ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สันตปาปา ไปอัสที่เก้า ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์เดนมาร์ก ดานาบร๊อก ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สวีเดน สอด ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นอรเว เซนโอลาฟ ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์โปรตุเกต เทาเอแอนสอด ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์บรันสวิก แฮนรี ดิ ไลออน ๑
ตั้งแต่กรมหลวงนครชัยศรีฯได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมรับราชการต่อมาได้ทำการใหญ่อีกครั้ง ๑ คือ เมื่อประชุมพลสวนสนามในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ ณ วันที่ ๗ ธันวาคม ปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ ครั้งนั้นประชุมพร้อมกันในกรุงเทพฯใกกว่าครั้งไหนๆซึ่งเคยมีมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงม้าพระที่นั่งออกตรวจพลพร้อมด้วยเจ้านายที่มาแทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิราช และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป และแทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิราชญี่ปุ่น มีนายทหารนานาประเทศที่เข้ามาครั้งนั้นตามเสด็จตรวจแถวทหาร และประทับ ณ ที่รับเคารพพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีฯ พระบรมวงศานุวงศ์เจ้านายผู้หญิงต่างประเทศ ทูตานุทูตและข้าราชการทั้งปวง กรมหลวงนครชัยศรีฯเป็นผู้บังคับทหารทั้งปวงนั้น นำแถวทหารผ่านหน้าพระที่นั่ง เมื่อเสร็จการสวนสนาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานคทา ทรงตั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯเป็นจอมพล ในที่สมาคมนั้น
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า วันนั้นกรมหลวงนครชัยศรีฯ ได้ถึงเกียรติยศอันสูงสุดในพระชนมายุแต่ได้รับราชการมา ทั้งที่ได้ยศทหารอย่างสูงสุด และความปิติพอพระทัยที่ได้แลเห็นผลแห่งความอุตสาหะ ได้เชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองปรากฏในสมาคมใหญ่และสำคัญที่สุดซึ่งได้มีในเมืองไทย กรมหลวงนครชัยศรีฯควรทรงปิติได้ด้วยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าอยู่ในสมาคมนั้นได้สังเกตบรรดาผู้ที่ได้มาประชุมอยู่ เมื่อได้แลเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่อง และพระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษแก่กรมหลวงนครชัยศรีฯในวันนั้น ล้วนพากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาในพระราชดำริทั่วหน้าไป ไม่ว่าชาวประเทศนี้หรือประเทศใดใดที่อยู่ ณ ที่นั้น ด้วยความรู้สึกเห็นจะมีทั่วไป ว่าความชอบของกรมหลวงนครชัยศรีฯ สมควรแก่เกียรติยศที่พระราชทานนั้น
.........................................................................................................................................................
โดย:
กัมม์
วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:10:05:37 น.
(ต่อ)
ในที่นี้จะกล่าวถึงประวัติอันเป็นส่วนสกุลวงศ์ของกรมหลวงนครชัยศรีฯ เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จกลับเข้ามารับราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงใหญ่ประวาศสวัสดีในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระราชทานเป็นชายา เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่หม่อมเจ้าหญิงประวาสสวัสดีด้วย กรมหลวงนครชัยศรีมีหม่อมเจ้าด้วยหม่อมเจ้าหญิงประวาสสวัสดี ๔ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงวิมลปัทมราช ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ องค์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงนิวาสสวัสดี ประสูติเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ องค์ ๑ หม่อมเจ้าชายประสบศรีจิรประวัติ ประสูติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เดี๋ยวนี้กำลังเรียนวิชาอยู่ในยุโรป องค์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงประสูติเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ประสูติก็สิ้นชีพิตักษัย (องค์ ๑) หม่อมเจ้าหญิงประวาสสวัสดีก็สิ้นชีพิตักษัยด้วยในคราวประสูติหม่อมเจ้าหญิงนั้น เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้าหญิงประวาสสวัสดีที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาศ พระราชทานเกียรติยศศพอย่างพระองค์เจ้า
ต่อมาปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ ในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระราชทานกรมหลวงนครชัยศรีฯ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ด้วย หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ได้ปฏิบัติรักษาพยาบาลกรมหลวงนครชัยศรีฯมาจนสิ้นพระชนม์ กรมหลวงนครชัยศรีฯมีหม่อมเจ้ากับหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าชายนิทัศนาธร ประสูติเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ องค์ ๑ หม่อมเจ้าชายเขจรจิรพันธุ์ ประสูติที่เมืองเดนมาร์กในยุโรป เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ องค์ ๑ เจ้าจอมมารดาทับทิม
(๑๔)
มีอาการป่วยเรื้อรัง พระราชทานพระบรมราชานุญาตออกมาอยู่รักษาตัวที่วังกรมหลวงนครชัยศรีฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ กรมหลวงนครชัยศรีฯทรงเป็นพระธุระรักษาพยาบาลเจ้าจอมมารดาจนหายป่วย แล้วอยู่กับกรมหลวงนครชัยศรีฯ ที่วังได้ทรงปฏิบัติต่อมา เมื่อกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกรเสด็จกลับจากการเล่าเรียนในยุโรป ก็เสด็จมาอยู่กับกรมหลวงนครชัยศรีฯเป็นพระธุระอุปการะ แม้จนแยกวังออกมาอยู่ต่างหากแล้ว ก็ยังมิได้ทอดทิ้งความอุปการะนั้นตลอดจนสิ้นพระชนม์ จะหาครอบครัวอันใดซึ่งสมัครสโมสรและเคารพรักใคร่กันให้ยิ่งกว่าครอบครัวของกรมหลวงนครชัยศรีฯ นี้เห็นจะหาได้ด้วยยาก
ถ้าจะว่าด้วยความรักใคร่นับถือที่มีในกรมหลวงนครชัยศรีฯ ข้อนี้เป็นอันพ้นวิศัยที่จะประมาณจำนวนคนหรือชั้นบรรดาศักดิ์คนที่ชอบพอได้ กล่าวได้แต่โดยย่อว่าบรรดาผู้ที่ได้สมาคมกับกรมหลวงนครชัยศรีฯ จะเป็นเกี่ยวข้องกันในหน้าที่ราชการก็ตาม คุ้นเคยกันโดยฐานมิตรสหายก็ตาม หรือแม้ที่สุดผู้ที่เคยอยู่ในบังคับบัญชากรมหลวงนครชัยศรีฯก็ตาม ไม่มีผู้ใดที่จะปราศจากความรักใคร่ และจะไม่เชื่อถือในพระปรีชาสามารถ ถ้าจะต่างกันก็เพียงที่ยิ่งและหย่อนผิดกันตามที่ผู้อยู่ห่างและชิด กรมหลวงนครชัยศรีฯ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระบรมชนกนารถไม่ใช่เฉพาะแต่ในการทหาร ถึงราชการอื่นๆที่เป็นการสำคัญ กรมหลวงนครชัยศรีอยู่ในผู้ ๑ ซึ่งย่อมทรงหารือมาตลอดรัชกาล
ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้ทรงสนิทชิดชอบพระอัธยาศัยกับกรมหลวงนครชัยศรีฯ มาตั้งแต่ยังทรงเล่าเรียนวิชาอยู่ในยุโรปด้วยกัน และได้มาช่วยกันจัดการทหารบกตลอดรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยทั้งในราชการและในการส่วนพระองค์แต่เดิมมา จนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหลวงนครชัยศรีฯจึงเป็นเสนาบดีผู้หนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหลักของราชการ เพราะเหตุประกอบด้วยคุณวุฒิอันพ้นความสอดแคล้วของผู้อื่น และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยไม่มีผู้ใดจะยิ่งกว่า ความรักใคร่ในกรมหลวงนครชัยศรีฯมีทั่วไปในพระประยูรญาติสนิทชิดชอบกันได้ทุกชั้นพระราชวงศ์ ตลอดจนข้าราชการก็โดยมาก ไม่เลือกว่าเป็นทหารหรือพลเรือน ความประสงค์ของคนทั้งหลายอันมีความหวังดีต่อสยามราชอาณาจักร ไม่ว่าบุคคลชั้นใดๆ มีอยู่แต่อยากให้กรมหลวงนครชัยศรีฯ ยืนยงคงอยู่ในราชการ
สัพเพ สํขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา
แต่สังขารธรรมไม่เที่ยง ไม่อยู่ในบังคับของผู้ใด กรมหลวงนครชัยศรีฯกรากกรำทำราชการมาโดยไม่คิดถึงพระองค์ ไม่เอาธุระสงวนพระองค์มาแต่แรก
(๑๕)
จับมาอาการประชวรพระโรคภายในมาแต่เมื่อราวปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๔๖ ผู้ที่ชอบพออยู่ใกล้ชิดได้สังเกตเห็นแต่ในววันนั้น และได้ทูลตักเตือนขอให้หยุดพักรักษาพระองค์เสียบ้าง แต่กรมหลวงนครชัยศรีฯมิได้เชื่อฟัง ไม่ยอมหยุดพัก หรือแม้แต่ลดหย่อนราชการที่เคยทำให้น้อยลงในเวลาไม่สบาย ฝืนพระองค์ทรงปฏิบัติราชการเสมอมา พระโรคจึงมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ ไม่ทรงสบายมากขึ้นกราบถวายบังคมลาไปเที่ยวทางเมืองจีนและเมืองญี่ปุ่นเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ตามคำสั่งหมอคราว ๑ กรมหลวงนครชัยศรีฯเต็มพระทัยละราชการไปคราวนั้นก็ด้วยประสงค์จะไปทอดพระเนตรทหารญี่ปุ่น มิใช่เพื่อรักษาพระองค์อย่างเดียวแต่ในการรักษาพระองค์ก็เป็นประโยชน์ พอพระอาการคลายขึ้นกลับมาเข้ารับราชการได้อีก แต่พระโรคไม่หายขาด เมื่อกรากกรำพระองค์เข้าพระโรคก็กำเริบขึ้น
จนเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ มีพระอาการมากขึ้น หมอหลวงตรวจเห็นว่าจำเป็นต้องออกไปรักษาพระองค์ถึงยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จไปยุโรปพร้อมด้วยหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ ให้ไปรักษาพยาบาล กรมหลวงนครขียศรีฯเสด็จไปรักษาพระองค์คราวนั้น กลับเข้ามาพระอาการคลายขึ้นแต่เป็นเหตุให้เกิดวิตกแก่บรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเสียแต่ครั้งนั้น ว่าน่ากลัวพระโรคกรมหลวงนครชันศรีฯจะไม่หายขาดได้ ตั้งแต่เสด็จกลับเข้ามาถึงก็เข้ารับราชการกรากกรำพระองค์อีก ใครว่ากล่าวตักเตือนห้ามปรามอย่างไรก็ไม่นำพา มาจนรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔
มาจนรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ พอได้เลื่อนพระยศเป็นกรมหลวงฯ และเป็นจอมพลแล้วไม่ช้านานเท่าใดพระอาการก็ทรุดมากลง หมอหลวงตรวจเห็นว่าจะรักษาอยู่ในประเทศนี้น่ากลัวจะเป็นอันตราย ด้วยพระโรคถึงต้องผ่าตัดอวัยวะภายในต้องเสด็จออกไปยุโรป เลือกหาที่อากาศดีอยู่รักษาบำรุงพระกำลังให้บริบูรณ์พอทนการผ่าตัดได้แล้วจึงรักษาโรคเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรทราชานุญาตและพระบรมราชานุเคราะห์เป็นส่วนพิเศษ ให้กรมหลวงนครชัยศรีฯออกไปรักษาพระองค์ และให้หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ไปอยู่รักษาพระองค์อีกด้วย เมื่อแรกออกไปการรักษาในชั้นบำรุงพระกำลังเป็นประโยชน์เห็นคุณมาก เมื่อหมอในยุโรปเห็นว่าพระกำลังมีพอแล้วจึงได้ผ่า แต่เพราะพระโรคเรื้อรังมาช้านาน อวัยวะภายในชำรุดทรุดโทรมด้วยพระโรคนั้นเสียมากแล้ว ผ่าครั้ง ๑ แล้วต้องผ่าอีก รวมผ่า ๓ ครั้ง พระกำลังที่บำรุงขึ้นได้ทั้งพระกายก็กลับทรุดโทรมลง กรมหลวงนครชัยศรีเสด็จออกไปรักษาพระองค์คราวนี้ ๑ ปี กับ ๙ เดือน พอพระโรคประทังไม่ต้องผ่าอีกต่อไปแล้ว จึงเสด็จกลับมากรุงเทพฯ
เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จกลับมาถึง เจ้านายและข้าราชการที่มีความรักใคร่มีความยินดีพากันไปรับ เมื่อเห็นกรมหลวงนครชัยศรีฯเข้าความยินดีกลายเป็นน้ำตาแทบจะกลั้นไม่ได้ ด้วยเห็นพระรูปกายทรุดโทรม พระกำลังก็ลดถอย แม้แต่จะดำรงพระองค์ทรงพระดำเนินก็ไม่แข็งแรงดังแต่ก่อน แต่ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีฯเอง พอกลับมาถึงก็เข้ารับราชการตามตำแหน่งอีก ใครห้ามก็ไม่ฟัง อาการพระโรคเดิมประทังอยู่แล้ววทรุดลงโดยลำดับ จนพระกำลังอ่อนจนไม่สามารถเสด็จไปยังกระทรวงได้แล้ว ยังรับสั่งให้นำข้อราชการในหน้าที่มาทูลที่วัง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ พระองค์ทรงคุ้นเคยแก่พระอัธยาศัยกรมหลวงนครชัยศรีฯ จึงมีรับสั่งกำชับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม มีเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็นต้น ให้นำข้อราชการขึ้นทูลกรมหลวงนครชัยศรีฯบ้างอย่าหยุดเสียที่เดียว ด้วยเข้าพระทัยอยู่ว่าถ้าไม่ให้ทำราชการตามหน้าที่ กรมหลวงนครชัยศรีฯ จะทรงโทมนัส บางทีอาจจะผลุนผลันเข้าไปยังที่ว่าการกระทรวงในเวลาไม่สบายอยู่เช่นนั้นได้ แต่ให้ผ่อนราชการขึ้นถวายแต่พอพระกำลัง พระอาการกรมหลวงนครชัยศรีฯเวลานั้นยังมีที่หวังใจอยู่ว่า ยังจะคลายพอจะฟื้นกลับรับราชการได้อีก แต่เพราะทรุดโทรมมาเสียมากแล้ว พระกำลังไม่พอจะสู้กับพระโรค ครั้นถึง ณ วันพุธที่ ๔ กุมภาพันธ์ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ มีพระอาการจรเกิดขึ้น พอถึงเวลา ๔ ทุ่ม ๓๓ นาที ก็สิ้นพระชนม์ที่วังริมถนนกรุงเกษม คำนวนพระชันษาได้ ๓๘ ปี
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ ณ ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลบ้านโป่ง แขวงเมืองราชบุรี เวลาบ่ายได้ทรงทราบว่ากรมหลวงนครชัยศรีฯมีพระอาการประชวรมากขึ้น จึงโปรดฯให้กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกรกลับเข้ามาก่อนและโทรเลขกราบบังคมทูลพระอาการ ถ้าพระอาการมากมายอย่างไรมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับเข้ามารักษาพยาบาล แต่พอ ๒ ยามก็ทรงได้รับโทรเลขว่า กรมหลวงนครชัยศรีฯกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ทรงเศร้าโสกอาลัยยิ่งนัก รุ่งขึ้น ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ เสด็จโดยขบวนรภไฟพิเศษเข้ามาพระราชทานน้ำสรงพระศพ และบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานกรมหลวงนครชัยศรีฯ และโปรดให้ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ตั้งพระศพที่วังเต็มพระเกียรติยศอย่างเจ้านายผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินซึ่งเป็นชั้นสูง
ในเวลาต่อมาทรงพระมหากรุณาพระราชทานอุปการะแก่ครอบครัวกรมหลวงนครชัยศรีฯ เป็นเอนกประการ คือ พระราชทานเงินเลี้ยงชีพแก่หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ เป็นต้น โดยทรงพระอาลัยและระลึกถึงความชอบความดีที่กรมหลวงนครชัยศรีฯด้สนองพระเดชพระคุณนั้น ครั้นถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างพระเมรุที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตามแบบอย่างพระเมรุท้องสนามหลวง โปรดฯให้แห่พระศพด้วยกระบวนทหารและเสือป่า พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประกอบพระศพตั้งบนรถปืนใหญ่เต็มเกียรติยศจอมพลทหาร แห่พระศพไปยังพระเมรุแล้วพระราชทานเพลิงเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นที่สุดประวัติของกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชเพียงนี้
(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
นายพลโท ราชองครักษ์
ปล. ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียง ขอความอารักษ์ขาแก่ท่านผู้อ่านพระประวัตินี้ ด้วยได้ลงมือเรียบเรียงเมื่อจวนงานเต็มที ถึงต้องเรียงพลางส่งไปโรงพิมพ์พลางทยอยกันไป ไม่มีเวลาพอที่จะได้ตรวจสอบให้ถ่องแท้ เรื่องราวที่เรียบเรียงคงจะวิลาศคลาดเคลื่อนมิมากก็น้อย ถ้าไม่พอใจของท่านผู้ใด ในข้อใดๆที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงมา ขอจงมีเมตตาและขันติให้อภัยโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย
....................................................................................................................................................
เชิงอรรถ
(๑) ยังดำรงพระยศ แกรนดยุ๊กซาร์เรวิช รัชทายาทประเทศรุสเซีย
(๒) ปรินเซสออฟเวลส์
(๓) เจ้าหญิงวิกตอเรีย และเจ้าหญิงหมอด(ภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินีประเทศนอรเว)
(๔) ในพระนิพนธ์ ประวัติเจ้าพระยายมราช(ปั้น) มีความว่า"...วันหนึ่งพอเวลาเสวยแล้ว สมเด็จพระเจ้าซาร์ดำรัสให้แกรนดยุ๊กไมเคิลราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งยังเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับกรมหลวงนครชัยศรียังทรงเครื่องกะลาสีอยู่ ให้พวกกรมหลวงนครชัยศรีลงไปเล่นด้วยกันที่ในสวน พอลงไปถึงแกรนดยุ๊กไมเคิลก็กรากเข้าเล่นปล้ำตามประสาเด็ก กรมหลวงนครชัยศรีของเราก็แววดีใจหาย แทนที่จะกระดากกระเดื่อง เขาปล้ำก็ปล้ำกับเขาบ้างเล่นกันสนุกสนานอยู่ที่ในสวน สมเด็จพระชนกชนนียืนทรงพระสรวลทอดพระเนตรอยู่ทั้ง ๒ พระองค์...."
(๕) ปัจจุบันเรียก "อิสตันบลู"
(๖) ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน
(๗) โรลัง ยัคมิน ชาวเบลเยี่ยม ผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศจนเป็นที่ยอมรับในยุโรปได้รับเลือกเป็นนายกสภากฎหมายนานาประเทศ และเคยเป็นเสนาบดีในเบลเยี่ยม ได้ตกลงจะเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เข้ามาถึงในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ก่อนหน้านี้ พระเจ้าอับบัส ผู้เป็นเคดิฟครองประเทศอิยิปต์มีโทรเลขมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะขอตัวโรลัง ยัคมินสให้รับราชการตำแหน่งสำคัญในประเทศอิยิปต์ โรงลัง ยัคมินสปฏิเสธ และขอรับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นตำแหน่ง "ที่ปรึกษาราชการทั่วไป" ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๙ จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าพระยาอภัยราชา" เป็นฝรั่งคนที่ ๒ ที่ได้เป็น"เจ้าพระยา"ต่อจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(๘) ทหารหน้ามีกรมขึ้นอยู่หลายกรม คือ กรมทหารม้าเกราะทอง กรมทหารฝีพาย กรมทหารล้อมวัง กรมทหารรักษาพระองค์ กรมทองปราบปลายหอก กรมเกณฑ์หัดอย่างยุโรป กรมทหามหาดไทย และเลขเจ้าตายนายตายสมทบเข้าอีกกอง เมื่อเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ผู้บังคับการที่ ๒ ได้สำรวจพลทหารตามบัญชีเกือบ ๓๐,๐๐๐ คน จำหน่ายตายหนีพิการแล้วจำนวนที่มีอยู่จริงเหลือน้อยนัก เดิมเมื่อพระยามหามนตรีเป็นผู้บังคับการนั้น แม้ใครเสียเงินก็เป็นนายทหารได้เรียกเอาตามยศ เช่น นายร้อยเอก ๘๐๐ บาท นายร้อยโท ๖๐๐ บาท เป็นต้น
โปรดฯให้หาตัวเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง(เพ็ญ เพ็ญกุล)ผู้บังคับการกรมพระสุรัสวดีมาทรงปรึกษา จึงให้ทำประกาศตามกระแสพระบรมราชโองการ ใจความว่า เมื่อคนมือขาวรับราชการเป็นทหารจะพระราชทานเงินให้คนละ ๔ บาท ผ้า ๑ สำรับ และไม่สักแขนตามหมู่เหล่าของบิดา ให้รับราชการ ๕ ปี เมื่อพ้น ๕ ปีแล้ว จะปลดเป็นกองหนุนชั้นที่ ๒ ให้กลับเข้ารับราชการปีละ ๒ เดือน ครบอีก ๕ ปีปลดเป็นกองหนุนชั้นที่ ๓ และเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี โปรดให้พ้นราชการทั้งปวงพระราชทานตราภูมิคุ้มห้าม
พลเมืองที่มาสมัครเวลานั้นมีมากอยู่สองจังหวัดคือ ราชบุรีและเพชรบุรี จังหวัดราชบุรีนั้นมีพวกเขมรและพวกลาวพวน ลาวเวียงจันทร์เข้ามาสมัครมาก ส่วนเพชรบุรีนั้นมีพวกลาวสีไม้ หรือลาวโซ่งเข้ามาสมัครหมดทั้งเมือง เป็นคนกว่า ๕,๐๐๐คน แต่เดิมให้พักอาศัยอยู่ตามศาลาวัดในพระอารามหลวงต่างๆมีวัดพระเชตุพน วัดราชบุรณะ เป็นต้น ภายหลังโปรดฯให้ทำผู้บังคับการที่ ๒ โรงทหารชั่วคราวที่สระปทุมวัน เมื่อสร้างโรงทหารที่สระปทุมวันแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถให้ตอนกิ่งประดู่ไว้เป็นจำนวนมาก แล้วให้ปลูกไว้สองฟากถนนสระปทุมวัน เป็นครั้งแรกที่คิดปลูกต้นไม้ริมถนน---ไว้ว่างๆจะลองไปเดินดูว่าต้นประดู่ประวัติศาสตร์นั้นยังคงเหลืออยู่บ้างไหม ตะก่อนตอนกิ่งไม้มงคลปลูกกันเองไม่เสียตังค์สักบาท ปัจจุบันมุ่งหมายแต่ปลูกต้นปาล์มราคาต้นละหลายๆแสนจากเมืองนอก ฮิ้ว..เจริญกันทั้งประเทศล่ะที่นี้
(๙) รัชกาลที่ ๖
(๑๐) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษนาคมานพ ลำดับที่ ๔๗ ในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔ ในจำนวน ๕ พระองค์ของเจ้าจอมมารดาแพ คือ พระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์หญิงภัตรพิมล พระองค์ชายเกษมสันต์โสภาค พระองค์ชายมนุษนาคมานพ และพระองค์หญิงบรรจบเบญจมา ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๔ พระชันษา ๖๒
(๑๑) สมเด็จเจ้าฟ้าชายบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ ลำดับที่ ๓๓ ในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระองค์เจ้าสุขุมมาลมารศรี ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ ทรงศึกษาวิชาการทหารบกในประเทศเยอรมัน
ในรัชการที่ ๕ เป็นนายพลตรี ราชองครักษ์ ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก แล้วเลื่อนเป็นนายพลโท ราชองครักษ์ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในรัชกาลที่ ๖ เป็นนายพลเรือเอก แล้วเป็นจอมพลเรือ ราชองครักษ์ เป็นจอมพลตำแหน่งเสนาธิการทหารบกเป็นอุปนายกแห่งสถากาชาดสยาม ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเป็นหลักของแผ่นดินมาถึง ๓ รัชสมัย
เล่ากันว่าเมื่ออัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น ทรงกราบบังคมทูลว่า"ขอถวายชีวิตสนองเบื้องพระยุคลบาทแล้วแต่จะโปรดให้ใช้ทำอะไร แต่ขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ากบฏเสียที" ทรงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จำต้องทรงนิราศเมืองไทย เสด็จประทับ ณ เมืองบันดุง ประเทศชวา พร้อมด้วยพระชายา พระโอรส-ธิดา และพระญาติวงศ์บางองค์ และสิ้นพระชนม์ที่ประเทศชวานั่นเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ พระชันษา ๖๓ ทรงเป็นต้นราชสุกุล "บริพัตร ณ อยุธยา"
(๑๒) สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงศ์ภูวนารถ ลำดับที่ ๔๐ ในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๔ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ประสูติเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ในปีนั้นมีพระราชโอรสประสูติอีกพระองค์ ๑ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถเสด็จเรียนการทหารที่รัสเซีย(พร้อมด้วยนายพุ่ม หรือพุ่มสกี้บุตรนายซุ่ย ต่อมาแปลงสัญชาติเป็นรัสเซียและเป็นบุตรบุญธรรมในสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ภายหลังได้เป็นผู้บังคับการกองทหารม้าฮุสซาร์สที่ระบือลือลั่น) ในระหว่างที่ทรงเล่าเรียนอยู่นั้น ทรงพระสติปัญญา พระปรีชาสามารถเก่งกว่านักเรียนรัสเซียเองเสียอีก ทรงสอบได้ที่ ๑ ของโรงเรียนตลอดมา เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าซาร์ยิ่งนัก
(๑๓) พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ(โพธิ์) ชาวเมืองจันทบุรี เมื่อยังเป็นพระสีหราชสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์(พิชัย) ได้ยกกำลังไปกักพวกเงี้ยวที่ช่องเขาพรึง ได้รบกับเงี้ยวที่ปางต้นผึ้ง แล้วให้พระยาศรีสัชนาลัยบดี ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก ยกจากเมืองสวรรคโลกวกเข้าตีเมืองแพร่ทางข้างหลัง พวกเงี้ยวจึงถอยกลับ ในครั้งนั้นพระสีหสงครามมีความชอบมาก ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ ต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร
(๑๔) เจ้าจอมมารดาทับทิม ป.จ. รัตนาภรณ์ ม.ป.ร. ๕ จ.ป.ร. ๒ ว.ป.ร. ๒ พระสนมเอก เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นธิดาพระยาอัพภันตรกามาตย์(ดิส โรจนดิส) กับขรัวยายอิ่ม เป็นสกุลข้าหลวงเดิมทั้งในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นสกุลชื่อ"บุญเรือง"เป็นตำแหน่งหลวงวัง กรมการสวรรคโลก ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับราชการอยู่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอกฟ้าจุฬาโลกตามเสด็จทำศึกสงครามสำคัญๆหลายครั้ง "โรจนดิส"ก็มาจากนามหลวงวังท่านนั้น"บุญเรือง"และพระยาอัพภันตริกามาตย์ "ดิส" เจ้าจอมมารดาทับทิม เป็นอีกบุคคลที่มีประวัติที่น่าสนใจ มีโอกาสจะได้นำเสนอบ้าง
(๑๕) จากประวัติบุคคลสำคัญ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ "....พระหฤทัยของกรมหลวงนครชัยศรีฯไปหมกหมุ่นอยู่แต่ในราชการ ไม่นำพาต่อการที่จะบำรุงรักษาพระองค์เอง หมายแต่จะทำการให้สำเร็จเป็นประมาณ เช่นวันไหนมีงานมากก็ไม่เสวยกลางวันให้เสียเวลาทำงาน หรือเสวยแต่ของแสดงเป็นเครื่องว่างพอแก้หิว เป็นเช่นนั้นมาจนเกิดอาการประชวรขึ้น เจ้าจอมมารดาทับทิมสังเกตเห็นว่าเป็นเพราะทำงานเกินพระกำลัง ว่ากล่าวตักเตือนกรมหลวงนครชัยศรีฯก็ไม่ฟัง ท่านจึงเข้าไปกราบทูลร้องทุกข์ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าไปเฝ้า ดำรัสว่า"นางทิมมาร้องทุกข์ว่า จิระเอาแต่งาน ไม่เป็นอันจะอยู่กินจนมีอาการเจ็บป่วยขึ้น ห้ามก็ไม่ฟัง เธอลองไปว่ากล่าวกับจิระดูสักที่เป็นไร" พอออกจากที่เฝ้าข้าพเจ้าก็เลยไปวังกรมหลวงนครชัยศรีฯ เวลานั้นกำลังประชวรอยู่ ข้าพเจ้าบอกให้ทราบกระแสรับสั่ง เธอก็ไม่โต้แย้งอย่างไร แต่ต่อมาพอหายประชวรก็กลับไปทำงานทรมานพระองค์เช่นนั้นอีก..."
กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
.........................................................................................................................................................
โดย:
กัมม์
วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:10:10:35 น.
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
กัมม์
Location :
[Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [
?
]
วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
Bigmommy
NickyNick
เพ็ญชมพู
kenzen
สาวใหม
กระจ้อน
คนรักน้ำมัน
Why England
naragorn
biebie999
วรณัย
เซียงยอด
แม่สลิ่ม
รอยคำ
สุธน หิญ
นอกราชการ
BFBMOM
มณีไตรรงค์
karmapolice
เมื่อไรจะหายเหงา
เจ้าชายเล็ก
รักดี
ลุงนายช่าง
nidyada
mr.cozy
กวินทรากร
Mutation
พลังชีวิต
หนุ่มรัตนะ
Webmaster - BlogGang
[Add กัมม์'s blog to your web]
เครือข่ายกาญจนาภิเษก
หอมรดกไทย
เวียงวัง
มอญ
กฎหมายไทย
ประตูสู่อีสาน
พจนานุกรมไทย-อังกฤษ
พจนานุกรมไทย-บาลี
คำไท - คำถิ่น
คนโคราช
หนังสือหายาก E - Book
ลิลิตตะเลงพ่าย
สามก๊ก
บ้านมหา (หมอลำออนไลน์)
หมากรุกไทย และหมากกระดาน
ราชกิจจานุเบกษา
สมุดภาพเมืองไทยในอดีต
พระราชวังพญาไท
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ฐานข้อมูลภาพถ่าย กรมศิลปากร
ปากเซ ดอท คอม
ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้
มวยไชยา
ดำรงราชานุภาพ
พิพิธภัณฑ์ธงสยาม
ห้องสมุดพันทิป
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
จิตรกรรมฝาผนังวัดบุปผาราม
พิพิธภัณฑ์ศาลไทย
จิตรธานี
Wikimapia
ราชบัณฑิตยสถาน
Bloggang.com
MY VIP Friend
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานดำริตริตรองในเรื่องการศึกษาของพระราชโอรสดังกล่าวมาแล้วโดยสุขุมคัมภีรภาพฉันใด เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอทรงศึกษาเสร็จเสด็จกลับคืนมาถึงพระนครแล้ว ก่อนที่จะโปรดให้มีตำแหน่งรับราชการพระองค์ก็ทรงพระราชดำริตริตรองโดยความระมัดระวังมากอย่างเดียวกัน ข้อพระราชปรารภนั้นทรงพระราชดำริว่า การที่เจ้านายโดยเฉพาะที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอจะเข้าตำแหน่งรับราชการแผ่นดินผิดกับผู้อื่นทั้งฝ่ายคุณและฝ่ายโทษ ฝ่ายคุณนั้นที่ได้ทรงศึกษาวิชาการตามต้องการในปัจจุบันนี้ประการ ๑ อีกประการ ๑ เพราะเป็นเจ้านายและเป็นพระเจ้าลูกยาเธอของพระองค์ ถึงจะไปมีตำแหน่งรับราชการอยู่ในที่ใด ก็คงได้รับความอุปถัมภ์บำรุงโดยไมตรีจิตของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในที่นั้นๆ
แต่ข้างฝ่ายโทษนั้นก็เพราะที่เป็นเจ้านายและเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ความที่ผู้อื่นมีไมตรีจิตอาจจะเลยอ่อนน้อมยกยอเกินไป ไม่บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนตามสมควรแก่ประโยชน์ที่จริงแท้ของพระเจ้าลูกยาเธอ ฝ่ายพระเจ้าลูกยาเธอถึงได้ทรงเล่าเรียนวิชาการมาอย่างไร เมื่อยังไม่คุ้นเคยการงาน ถ้าไปถูกยกย่องอ่อนน้อมเกินไปก็อาจจะเสีย ถ้าไปพลาดพลั้งเสียไปแล้ว เป็นเจ้านายจะลดถอนผลัดเปลี่ยนก็ยาก และจะเป็นเหตุให้โทมนัสเสียพระทัยเมื่อปลายมือ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกอยู่อย่างนี้ เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จกลับเข้ามาจากการเล่าเรียน ไม่ได้โปรดฯให้มีตำแหน่งในราชการโดยทันที ในขั้นต้นทรงสังเกตพระอัธยาศัยเสียก่อน ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดจะทรงคุณวิชา และมีพระอัธยาศัยสมควรแก่ราชการอย่างใด เมื่อตกลงพระทัยจะให้ไปรับราชการในกระทรวงใด ยังทรงปรึกษาหารือเจ้ากระทรวงนั้นๆ ทรงกำชับขออย่าให้ยกย่องเกินไป โดยถือว่าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ขอให้บังคับบัญชาให้เหมือนกับผู้อื่นให้ทำราชการขึ้นไปแต่ตำแหน่งชั้นรองซึ่งพอควรแก่คุณวิชา ถ้าและไม่มีความสามารถที่จะทำการได้เหมือนผู้อื่นจริงแล้ว อย่าให้ยกย่องพระเจ้าลูกยาเธอให้มีตำแหน่งยศเกินความสามารถไปเลยเป็นอันขาด และเมื่อจะโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดไปรับราชการที่ใด ย่อมรับสั่งให้หาเข้าไปพระราชทานพระบรมราโชวาทอีกครั้ง ๑ และบางทีเสด็จพระราชดำเนินพาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นไปถึงห้องเสนาบดี ณ ที่ว่าการกระทรวงนั้นๆ ทรงฝากฝังอีกครั้ง ๑ ทรงปฏิบัติเป็นประเพณีมาดังนี้ทุกพระองค์ เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเข้ารับราชการมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงแล้วยังทรงระวังต่อมาเสมอ ที่จะมิให้พระเจ้าลูกยาเธอเลื่อนตำแหน่งสูงเกินกว่าความสามารถ
ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงประวัตินี้เคยได้ยินและได้ทราบด้วยตนเองหลายครั้ง ในเวลาที่ผู้ใหญ่กราบบังคมทูลยกย่องพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งรับราชการอยู่ในกระทรวงนั้นๆ เมื่อได้ทรงฟัง บางทีถอนพระทัยใหญ่รับสั่งว่า "นี่จะให้เสียๆ หรืออย่างไร" ข้าพเจ้าได้สังเกตมา ในเวลาที่เจ้ากระทรวงกราบบังคมทูลขอเลื่อนตำแหน่งราชการพระเจ้าลูกยาเธอให้สูงขึ้นคราวใด คงซักไซร้ไล่เรียงจนแน่พระทัยว่า ไม่เป็นการยกย่องเกินความสามารถไปแล้ว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นเช่นนี้มาทุกคราวที่ข้าพเจ้าได้ทราบ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรกที่ได้เล่าเรียนวิชาทหาร และสอบวิชานายทหารต่างประเทศได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาในการคัดเลือกกระทรวงราชการ เพราะต้องรับราชการในทหารบกตามคุณวิชา แต่อาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระวังที่จะมิให้รับตำแหน่งเร็วเกินกว่าความสามารถไป จึงเป็นแต่โปรดฯให้ไปรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการเพื่อศึกษาราชการ ยังไม่ได้มีตำแหน่งประจำพระองค์ในชั้นแรก
ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติกรมหลวงนครชัยศรีฯตอนที่มีตำแหน่งรับราชการทหาร ควรกล่าวถึงการบังคับบัญชาทหารที่เป็นอยู่อย่างไรในเวลานั้นให้ปรากฏก่อน ผู้อ่านทราบว่าการทหารเป็นอยู่อย่างไรในเวลาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯเช้ารับราชการ จึงจะเข้าใจการทหารที่เปลี่ยนแปลงมาในสมัยเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงบัญชาการได้ดี
เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี โปรดฯให้ประกาศเลิกประเพณีเก่าที่มีกรมพระราชวังบวรมงคลสถานเป็นพระมหาอุปราช ทรงสถาปนาสมเด็จะพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในตำแหน่งรัชทายาท เนื่องต่อพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ราชการทหารบกทหารเรือ ยังแยกย้ายกันอยู่เป็นหลายหมู่หลาบกรม ที่ผู้บังคับราชการในกรมทหารต่างๆนั้นก็ต่างจัดไปโดยน้ำใจตน ที่เห็นว่าเป็นคุณต่อราชการจริงแต่การที่จัดไปนั้นไม่ได้ปรึกษาหารือกันทั่วทุกหมู่ทุกกรม ก็แปลกแตกต่างๆกันไปไม่ลงเป็นแบบแผนได้ เงินแผ่นดินที่ใช้ในการทหารต่างๆนี้ จึงไม่มีกำหนดลงเป็นอัตราแน่ได้ใช้เปลืองมากมายนัก
อีกประการ ๑ ที่ผิดแปลกแตกต่างกันนี้ ใช่แต่ว่าเป็นแต่ใช้เงินเปลืองอย่างเดียว ถึงสรรพการฝึกหัด การบังคับบัญชาและเครื่องศาสตราวุธที่ใช้อยู่ก็ไม่ลงเป็นแบบแผน การที่เป็นอยู่เช่นนี้ไม่สมควรจะเป็นจะมีอยู่ในราชการบ้านเมืองที่นับถือว่าเป็นเมืองเอกราชได้ ผิดจากธรรมเนียมที่ใช้อยู่ทุกประเทศ จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ว่าควรจะจัดการให้เป็นแบบแผนสำหรับกรมทหาร ให้เรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนอย่างท่านแต่ก่อนจัดไว้แล้วและเหมือนอย่างประเทศที่รุ่งเรืองแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขความเสียที่มีอยู่ในทุกวันนี้ให้หมดสิ้นไป และการที่จะแก้ไขการทหารดีขึ้นนี้ ทรงพระราชดำริว่า จำจะต้องมีผู้บังคับบัญชาทั่วไปนั้นผู้หนึ่ง และตำแหน่งนี้สำหรับกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงจะถูกต้องกับโบราณราชประเพณี
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหารเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ ปีกุนยังเป็นอัฐศก พ.ศ. ๒๔๒๙(๖) รวมการบังคับบัญชาทั้งทหารบกทหารเรือตั้งเป็นกรม ๑ เรียกว่า กรมยุทธนาธิการ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงเป็นผู้บัญชาการแต่ในเวลาที่ทรงพระเยาว์อยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ ทรงบัญชาการแทนในตำแหน่งนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ใหญ่ฝ่ายทหารก็ทรงเลือกสรรเจ้านายและข้าราชการ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาการกรมทหารต่างๆอยู่ก่อน ไปมีตำแหน่งรับราชการในกรมยุทธนาธิการ
กรมทหารในเวลานั้น ทหารบกมี ๗ กรม ทหารเรือ มี ๒ กรม
๑. กรมทหารมหาดเล็ก กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้บังคับการ
๒. กรมทหารรักษาพระองค์ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้บังคับการ
๓. กรมทหารล้อมวัง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับการเวลานั้นเสด็จไปราชการปราบฮ่อ กรมหลวงอดิศรอุดมเดชเป็นผู้แทนอยู่
๔. กรมทหารหน้า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บังคับการ เวลานั้นไปราชการปราบฮ่อ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี(บุศย์ มหินทร์)เป็นผู้แทน
๕. กรมทหารฝีพาย พระยาอภัยรณฤทธิ์(เวก) บังคับการขึ้นในกรมพระเทวะวงศ์วโรปการอีกชั้น ๑
๖. กรมทหารปืนใหญ่ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์เป็นผู้บังคับการเวลานั้นไปราชการปราบฮ่อหลวงสรวิเศษเดชาวุธ(บุยศ์ บุนนาค)เป็นผู้แทน
๗. กรมทหารช้าง เดิมขึ้นในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พึ่งสิ้นพระชนม์ พระยาเทพราชา(เอี่ยม)เป็นผู้รั้งตำแหน่งบังคับการ
๘. ทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี คือ กรมทหารช่างแสงเดิม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นผู้บังคับการ
๙. ทหารเรือรบ เรียกว่าทหารมารีน พระยาประภากรวงศ์(ชาย บุนนาค)เป็นผู้บังคับการ
ทรงพระกรุณาโปรดฯให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารบก พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัคติวงศ์ เป็นผู้บัญชาการใช้จ่าย กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บัญชาการรักษาพระราชวัง คือบังคับทหารทุกกองซึ่งมีหน้าที่ประจำกองรักษาการในพระราชวัง รวมการบังคับบัญชาทหารทั้งปวงขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการเป็นครั้งแรกในคราวนี้ ส่วนทหารเรือซึ่งแยกกันอยู่ก็รวมเข้าเป็นกรมเดียวบังคับทั่วไปทั้งเรือรบและเรือพระที่นั่งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
การทหารบกทหารเรือที่ได้จัดในชั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นถ้าจะว่าโดยหัวข้อ ก็คือแก้ไขแบบอย่าง ตั้งแต่งตำแหน่ง วิธีฝึกหัด ตลอดจนอัตราเงินเดือน ซึ่งแตกต่างกันอยู่แต่ก่อนให้เป็นระเบียบอันเดียวกันประการ ๑ จัดการซ่อมแซมโรงทหารเครื่ออาวุธยุทธภัณฑ์และเรือรบซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่ให้ดีขึ้นประการ ๑ และมีการประชุมปรึกษาการทั่วถึงกันทุกกรมนี้ประการ ๑ ที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่เป็นสิ่งเป็นอัน ส่วนทหารบกโรงเรียนนายร้อยได้ตั้งขึ้นในครั้งนั้น
ส่วนทหารเรือได้สร้างอู่ใหญ่และโรงเครื่องจักรขึ้นในครั้งนั้น ส่วนราชการจรนอกจากการอุดหนุนกองทัพกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ทหารได้ทำการอันนับว่าเป็นการสำคัญ มีผลดีมายืดยาวอย่าง ๑ คือเมื่อเดือนมิถุนายน ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกจีนอั้งยี่เกิดรบกันขึ้นในกรุงเทพฯ ที่บางรักถึงทำสนามเพลาะรบกันอยู่ ๓ วัน เหลือกำลังพลตระเวน จึงโปรดฯให้ระงับด้วยกำลังทหาร ทั้งทหารบกทหารเรือพร้อมกันลงไปปราบอั้งยี่ในคราวนั้นเป็นคราวแรก เป็นเหตุให้พวกอังยี่ไม่กล้ารบกันอีกจนบัดนี้
ต่อมาถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ยกกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ด้วยเวลานั้นได้โปรดฯให้กรมพระดำรงราชานุภาพ ไปบัญชาการกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี และสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ไปบัญชาการกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดีเหมือนกัน แต่พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มีอาการประชวร จะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งในกรมทหารเรือ
ต่อมาปีมะโรง รัตนโกศินทร์ศก ๑๑๑ พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบกระทรวงเสนาบดีตั้งเป็น ๑๒ กระทรวง กำหนดหน้าที่กระทรวงกลาโหม เป็นกระทรวงราชการทหารตามตำราโบราณ แต่ในเวลานั้นการในกระทรวงกลาโหมยังจะจัดให้ตลอดไปไม่ได้ทีเดียว ด้วยราชการพลเรือนที่เป็นสำคัญ คือ การบังคับหัวเมืองเป็นต้น ยังไม่ถึงเวลาจะถอนไปจากกระทรวงกลาโหม ๆ ยังต้องทำการพลเรือนมากอยู่ ในประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี เมื่อวันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ จึงเป็นแต่โปรดฯให้แยกการบังคับบัญชาการทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง จากกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมขึ้นกลาโหม ส่วนกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ก็ลดลงคงเป็นกรมบังคับบัญชาทหารบก แต่โปรดให้ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ มีตำแหน่งนั่งในที่ประชุมเสยาบดีด้วย ในครั้งนั้นโปรดฯให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดชจึงทรงเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
ต่อมาถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงกลาโหมมาแต่นั้น คือ ยกการบังคับบัญชาหัวเมืองไปรวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ยกกรมพระสุรัสวดีมาขึ้นกระทรวงกลาโหม ย้ายที่ว่าการกระทรวงกลาโหมจากศาลาลูกขุนใน ออกมาอยู่ที่ศาลายุทธนาธิการ คือ ที่หลังตึกกระทรวงกลาโหมทุกวันนี้ ส่วนการที่จัดในกระทรวงกลาโหมในชั้นนั้น เริ่มลงมือจัดกรมพระสุรัสวดี สำรวจเรื่องทะเบียนบัญชีพล ด้วยการเกณฑ์ทหารในสมัยนั้น ยังใช้เก็บลูกหมู่ทหารและยกเลขกรมอื่นมาเป็นทหาร จำนวนทหารไม่พอแก่การ จึงต้องชำระเรียกคนตามบัญชีกรมพระสุรัสวดี เอาคนส่งให้เป็นทหารทันความต้องการก่อน กับอีกอย่าง ๑ กระทรวงกลาโหมถือบัญชีใช้จ่ายในการทหารบกทหารเรือ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการทหารนัก
ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชไท่ทรงสบาย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพักรักษาพระองค์ โปรดฯให้กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงรั้งราชการแทน ในเวลานั้นกรมหลวงนครชัยศรีเสด็จกลับเข้ามาถึง จึงเริ่มไปรับราชการอยู่ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อเดือนมกราคม ปีระกา รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ นั้น
ผู้ที่สังเกตจะเห็นได้ว่าในเรื่องประวัติต่อไปนี้ว่า เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯ เข้าไปศึกษาราชการทหารในเวลายังไม่มีตำแหน่งนั้น ไม่ใช่แต่กรมหลวงนครชัยศรีฯ ทรงศึกษาราชการที่เป็นอยู่อย่างไรในเวลานั้นแต่ฝ่ายเดียว สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงแลเห็นประโยชน์ ที่ได้กรมหลวงนครชัยศรีฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนวิชาทหารตามวิธีปัจจุบันสมัย เข้าไปช่วยในเวลาที่กำลังต้องการ ได้ทรงปรึกษาหารือกรมหลวงนครชัยศรีฯมาแต่แรก จึงมีผลได้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบก อันยังมิได้มีมาแต่ก่อน ขึ้นเมื่อ ณ วันที่ ๑ เมษายน ปีจอ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงนครชัยศรีฯเลื่อนยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งเสนาธิการ เป็นตำแหน่งแรกที่กรมหลวงนครชันศรีฯได้รับราชการทหาร
ต่อมาในปีจอนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็กด้วยอีกตำแหน้ง ๑ และได้มีพระเกียรติยศในฝ่ายพลเรือนเป็นองคมนตรี เมื่อในปีจอ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น ตั้งแต่จัดตั้งกรมเสนาธิการมาแม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้ปรากฏมากมาย ก็เห็นเป็นข้อสำคัญแต่แรกว่า ตั้งแต่ทหารบกได้กรมหลวงนครชัยศรีฯก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง เข้าในวิธีการทหารอย่างที่ถือในประเทศที่ชำนาญการทหาร จึงบังเกิดความพอใจแก่บรรดาผู้ที่เอาใจใส่ในประโยชน์ของราชการทหาร มีความเชื่อถือคุณวุฒิของกรมหลวงนครชัยศรีฯแต่นั้นมา
ถึงปีกุน รัตนโกสินทร์สก ๑๑๘ พ.ศ. ๒๔๔๒ ตำแหน่งเสนาธิการกระทรวงโยธาธิการว่าง ทรงพระราชดำริว่า กระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงซึ่งเกี่ยวข้องด้วยวิชาการ สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงบัญชาการจัดตั้งกระทรวงนั้นขึ้น ในเวลานั้นจะหาผู้ใดเหมาะแก่ราชการกระทรวงโยธาธิการไม่ได้เท่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์กลับไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งกลับจากราชการในตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอุดร เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในเวลานั้นความเห็นมีอยู่โดยมากว่า ตำแหน่งผูบัญชาการกรมยุทธนาธิการสมควรแก่กรมหลวงนครชัยศรีฯ
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอม้เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่ากรมหลวงนครชัยศรีฯยังอ่อนพระชันษา พึ่งรับราชการยังใหม่นัก ไม่มีพระราชประสงค์จะให้รับราชการตำแหน่งสูงเร็วไป ทรงปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ๆ จึงทรงรับจะบัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทำนุบำรุงกรมหลวงนครชัยศรีฯให้ชำนิชำนาญราชการยิ่งขึ้น สมเด็จฯเจ้าฟ้าภานุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จกลับเข้ามาบัญชาการกรมยุทธนาธิการ ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น จึงทูลขอกรมหลวงนครชัยศรีฯ มารับราชการในตำแหน่งปลัดทัพบก ทั้งเป็นเสนาธิการ และบังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย
...................................................................................................................................................