กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ชิต บุรทัต

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




ชิต บุรทัต


....................................................................................................................................................



ตอน ๑
เรียนภาษาไทยและบาลีถึงอุปสมบท

ชิต บุรทัต เกิดเมื่อ ๒๔๓๕ วายชนม์ ๒๔๘๕ เป็นบุตรนายชู (เปรียญ ๕ ประโยค) บิดา และนางปริกมารดา นายชูบิดาได้สอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณรอยู่ที่วัดราชบพิธ เพราะสมัยนั้นครูสอนภาษาบาลีโดยมากตามวัด ภิกษุที่เป็นเปรียญละเพศสมณะแล้วสอนหนังสือบาลีเกือบทั้งนั้น บิดาชิต บุรทัตก็ดุจกัน สำหรับ ชิต บุรทัต ได้ศึกษาอักษรสมัยทั้งไทยมคธเป็นทุนเดิมมาจากบิดามารดาก่อน มีเชาวนปฏิภาณเฉลียวฉลาดในด้านการศึกษาดี พออายุสมควรก็ได้เล่าเรียนศึกษาชั้นปะถมและมัธยม ณ วัดราชบพิธนั่นเอง บางท่านว่าเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามด้วย (อ่านแล้วคิดดู) อายุครบ ๑๔ ปีก็สอบไล่ได้ชั้นประโยคมัธยมศึกษา (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๘) เมื่อเรียนภาษาไทยได้ครบหลักสูตรแล้ว ครั้นต่อมาก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระอุปัชฌายะ ส่วนการศึกษาภาษาบาลีเมื่อชิต บุรทัตบรรพชาเป็นสามเณร ก็ได้รับการสอนจากบิดาผู้บังเกิดเกล้าเองโดยมาก บรรพชาอยู่ได้ประมาณ ๒ พรรษาก็ลาเพศจากสามเณร มาดำเนินประกอบธุรกิจการงานตามควรแก่อัธยาศัยของตน

ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๒ ชิต บุรทัตสละเพศฆราวาสมาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพกวี) เป็นพระอุปัชฌายะ และได้รับการศึกษาภาษาบาลี ณ สำนักวัดนั้นเอง โดยพระอมราภิรักขิต (อยู่ เขมจาโร เปรียญ ๙ ประโยค) เป็นครูสอน มีความรู้ความสามารถเรียนได้ถึงหลักสูตรประโยค ๕-๖ คล่องแคล่วเป็นอย่างดี แม้ภิกษุสามเณรรุ่นเดียวกันหาทัดเทียมได้ยาก

เวลานั้นสนามหลวงได้เปิดการแปลพระปริยัติธรรมประจำปีสอบพระภิกษุสามเณรทั่วไป ชิต บุรทัตได้แปลพระธรรมบทจากภาษามคธมาเป็นภาษาไทย ได้แปลถอดใจความมาเป็นภาษาไทยได้เป็นยอดเยี่ยมกว่าบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลายที่เข้าสอบด้วยกัน แตกฉานรู้สัมพันธ์-ไวยากรณ์ สนธิ สามัญญาภิธานทุกอย่างทางด้านภาษาบาลี ทั้งๆ ที่ใจจอดอยู่กับการประพันธ์ด้วย เหมือนคำโบราณที่ว่า “จับปลาสองมือ” ปลาหลุดมือไปหมดเป็นการถูกต้องแล้ว แต่ชิต บุรทัตไม่ใช่อย่างนั้น เยี่ยมยอดทั้งสองทาง ทั้งทางบาลีและภาษาไทยควบคู่กันไปทีเดียว ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ผลได้สมค่าน่าสรรเสริญ จึงได้สมญาว่า “ชิต บุรทัต กวีเอก” แต่นั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้

ตามที่ว่าการแปลภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย ชิต บุรทัตเยี่ยมยอดนั้น เช่นปกติครูบาอาจารย์ที่สอนภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนกันในสมัยนั้น ก็ย่อมสอนแปลบาลีกันอย่างตรงไปตรงมาคือ แปลตามศัพท์ ธาตุ ปัจจัย ไวยากรณ์ แม้ในสนามหลวงก็เช่นนั้น การแปลบาลีในสนามหลวงออกมาเป็นภาษาไทยของชิต บุรทัตนั้น ถ้าจะยกคำมคธมาตั้งประกอบแล้วแปลเป็นไทยความก็จะยาวมากไป จะยกมาประกอบให้ผู้อ่านเห็นเพียงสังเขปเท่านั้น คพมคธว่า “อิมัง ธัมมเทศนัง สัตถา เวฬุวเน วิหรันโต จูฬปันกกัตเถรัง อารัพภ กเลสิ” โดยทั่วๆ ไปและปกตินิยมจะต้องแปลกันว่า “พระศาสดาอยู่ในเวฬุวัน ปรารภแล้วซึ่งพระจูฬปันถกเถระ กล่าวแล้วซึ่งธรรมเทศนานี้” โวหารการแปลของชิต บุรทัตไม่แปลอย่างนั้น จะต้องแปลให้คำสละสลวยทีเดียวว่า “สมเด็จพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวัน (วิหาร) ทรงปรารภพระเถระจูฬถก จึงตรัสแสดงพระธรรมเทศนานี้” และอีกบางเช่น “พหูชนา สัตถารัง วันทิตวา” ซึ่งแปลกันว่า “ชนเป็นอันมากไหว้พระศาสดาแล้ว” ชิต บุตรทัตแปลว่า “บรรดามหาชนได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว” นี่ก็เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ให้เห็นแล้วว่าชิต บุรทัตมีความสามรถดีกว่า เห็นชัดแล้วในเรื่องแปลภาษามคธมาเป็นคำภาษาไทย เป็นผู้แตกฉานรอบรู้คำราชาศัพท์และคำสามัญได้ดีเป็นยอดเยี่ยมว่าคำนั้นๆ ควรจะใช้ในที่อย่างใด หรือเช่นยกตัวอย่างคำสองคำมาให้เห็น “ราชา คันตวา” แปลว่า “พระราชาไปแล้ว” ชิตจะต้องแปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินแล้ว” อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อแปลในขณะนั้น บรรดาหมู่พระเถรานุเถระต่าง แม่กองและกรรมการในสนามหลวงชมเชยและรู้สึกแปลกใจโดยไม่นึกเลยว่า สามเณรชิตรูปนี้มีโวหารฉลาดเฉียบแหลมในฝ่ายภาษาไทยได้เป็นอย่างดีอีก และชมว่ารู้จักร้อยแก้วคำพูดของใครจะพูดอย่างไร ตัดเติมเสริมต่อๆได้เป็นอย่างดี คำของพระศาสดา คำของพระเจ้าแผ่นดิน คำของประชาชนจะใช้คำพูดสามัญอย่างไร ราชาศัพท์ให้เหมาะสมอย่างไรก็ใช้ถูกต้องทุกอย่าง แปลไปก็ไม่เสียรูปศัพท์เดิมคงรูปอยู่ ใจความก็ได้ชัดเจนดีที่สุด ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ววัดวาอารามที่ส่งภิกษุสามเณรเข้าสอบยังสนามหลวง การแปลภาษามคธมาเป็นไทยจึงนิยมใช้กันมา แต่ชิต บุรทัตเขาแปลเป็นปฐมแรกจนใช้เป็นตัวอย่างสนามหลวงมาถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นศรีประวัติในวงการภาษาบาลีเป็นอันมาก เพราะชิต บุรทัตเริ่มแปลเป็นตัวอย่างไว้

ครั้นต่อมา ชีวิตสามเณรชิต บุรทัตทางด้านภาษาบาลีเล่าเรียนฝักใฝ่น้อยไป เพราะเข้าใจหลักใหญ่ภาษาบาลีดีว่า ประโยคประธานการแปลภาษาบาลีมาเป็นไทยตามหลักสูตรซาบซึ้งดีแล้ว จึงไม่พะวงเท่าใดนัก เรียกว่าเพลามือไป จึงใน พ.ศ. ๒๔๕๒ นี้เองได้มีหนังสือพิมพ์รายปักษ์อุบัติขึ้นมา ๑ ฉบับ ชื่อ “ประตูใหม่” เจ้าของและบรรณาธิการมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสารัตถ์ธุรธำรง (วอน โกมลเมนะ) ตอนหลังเป็น “หลวงพรหมประกาศ” หนังสือประตูใหม่หนักไปในเรื่องกวีนิพนธ์มีโคลง-ฉันท์-กาพย์-กลอน-ร่าย-ดอกสร้อย-สักวา ฯลฯ ใครจะแต่งเข้าประกวดได้ทั้งนั้น อัตรารางวัลหนังสือนี้ควรทราบไว้บ้าง โดยมีอยู่ ๓ รางวัล รางวัลที่ ๑ เงิน ๑ บาท ประตูใหม่ ๑ เล่ม รางวัลที่ ๒ เงิน ๕๐ ส.ต. ประตูใหม่ ๑ เล่ม รางวัลที่ ๓ ประตูใหม่ ๑ เล่ม และยังมีรางวัลชมเชยอีกหลายรางวัล อัตราค่ารับหนังสือประตูใหม่ปีหนึ่ง ๒๔ ฉบับ อัตรารับในกรุงเทพฯ ๓.๕๐ บาท ถ้าหัวเมือง ๔.๐๐ บาทถ้วน รวมทั้งค่าไปรษณีย์ด้วย ซื้อปลีกฉบับละ ๒๕ ส.ต. ลองคิดเทียบดูกับหนังสือพิมพ์สามทหารของเราในด้านกวีนิพนธ์เฉพาะการสมนาคุณรางวัลที่ ๑ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าห่างไกลกันมาก ผิดกันหนึ่งในร้อยอย่างที่เขียนไว้ให้เห็นนี้ หรือว่าอาจเป็นไป “ตามสถานการณ์” ก็ไม่ผิดนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนักกวีของเราก็คงเห็นประจักษ์ชัดว่าศักดิ์ศรีของผู้ประพันธ์ด้านกวีนิพนธ์ว่ามีเกียรติอันล้ำค่าสูงส่งเพียงใด ซึ่งได้รับรางวัลอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องที่ควรภูมิใจมิใช่น้อย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า (เพื่อเงินเป็นของเล็กน้อย-เกียรติยศสำคัญยิ่งกว่า) หวังว่าทุกคนคงเห็นอย่างข้าพเจ้า

ตามที่เขียนเล่าการเป็นมาของหนังสือพิมพ์ “ประตูใหม่” ฉบับนี้อุบัติขึ้นหนักไปทางกวีนิพนธ์แล้ว ก็ควรจะทราบเสียด้วยว่า ผู้ประพันธ์รุ่นนั้นชอบใช้นามจริงหรือนามแฝงกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าผู้ประพันธ์สมัยนั้นชอบใช้ทั้งนามจริงและนามแฝงลงในบทประพันธ์ กาพย์-กลอน-โคลง-ฉันท์ ของตัวกำกับเป็นอันมาก จบบทกาพย์บทหนึ่งของผู้ได้รับรางวัลในหนังสือพิมพ์ “ประตูใหม่” ในกาพย์บทนั้นว่า “นายชายและนายชิน – นายถวัล – เอกชน – พ.จ. ทิดโม้คน – ชำนาญกลอนอักษรสาร” ฯลฯ เขาหยิบยกชมกันเองในเรื่องนามปากกาสมัยนั้น

ในครั้งนี้เองเมื่อมี “ประตูใหม่” ออกมาในชนิดร้อยกรองในแบบฉันทลักษณ์กำลังดำเนินอยู่จนกระทั่งหยุดเลิกไปนั้น ชีวิตของชิต บุรทัตปล่อยให้คลุกคลีอยู่กับประตูใหม่นี้ไม่ว่างเว้นเลย แทบทุกปักษ์ได้ส่งบทประพันธ์เข้าประกวดแข่งขันได้รางวัลเกือบทุกปักษ์ แม้ไม่ได้รับรางวัลก็ได้รับความชมเชยเสมอๆ ตลอดมา เขาเจริญรุ่งโรจน์ในงานประพันธ์ชั่วระยะเวลารวดเร็วระหว่าง “ประตูใหม่” อุบัตินี้ ชิต บุรทัตใช้นามปากกาว่า “เอกชน” โด่งดังแต่นั้นมาเป็นที่รู้ทั่วไปว่า นามปากกา เอกชน คือใครในสมัยนั้น ซึ่งเขาได้ฝากลีลาการประพันธ์โวหารกวีในประตูใหม่ไว้มากมาย ข้าพเจ้าจึงได้นำบทประพันธ์นั้น เช่น โคลงกระทู้ – ดอกสร้อย – สักวา – กาพย์ – ฉันท์ มาให้ฟังเท่าที่อาจเป็นประโยชน์แก่พวกเราบ้างไม่มากก็น้อย (เข้าทำนองว่ารู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม) เพื่อทราบไว้

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๑
น้ำ อะไรเพื่อนเฮ้ย............................เจ๊กขาย
แข็ง แต่มันละลาย............................ออกได้
แสง เป็นประกายพราย......................บางกอก นะเอย
แก้ว ละอัฐใส่ให้...............................ดื่มแล้วหวานเย็น ฯ

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๑
กล หนึ่งตักศึกกล้า............................ทำดุจ
พวน เชือกพวกเรือฉุด........................ย่อมใช้
เรือ แพ-ภริยาบุตร์............................แต่สนิท สนมนา
โยง หมู่ปฏิปักษ์ได้...........................เหตุด้วยมิตรธรรม ฯ

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๒
หม้อ ศัพท์มคธนั้น............................กุมภะ
เข้า ศัพท์ตัณฑุละ............................เร่งรู้
เตา ไฟอุทธนะ................................จงอย่า ลือเนอ
ไฟ ว่าอัคคีผู้...................................ทราบแล้วควรจำ ฯ

ดอกสร้อย “พิศเอ๋ย” ได้ที่ ๑ – ๒ ตามลำดับ
.........พิศเอ๋ยพิศพระเมรุ์...................................อิศวเรนทรบรมวงษ์องค์ที่ห้า
เรืองอร่ามงามระยับประดับประดา.........................ช่างโสภาบริเวณเมรุ์สุวรรณ
หากพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพ.........................มิด่วนรีบครรไลล่วงสรวงสวรรค์
คงทรงปลื้มพระหฤทัยใช่น้อยครัน........................สุดรำพรรณ์ความวิไลให้สิ้นเอย
........พิศเอ๋ยพิศพระโกษฐ์................................เรืองวิโรจน์พรรณรายลายจำหลัก
พิศเมรุ์ทองเหลืองอร่ามงดงามนัก........................พิศลายลักษณ์แลสล้างช่างสมทรง
พิศพระที่นั่งทรงธรรมล้ำวิจิตร.............................ช่างประดิษฐ์ชวนพิศพิศวง
ดั่งเทพวิศนุจิตรจำนง.........................................นฤมิตรลงเพื่อถวายจอมไทยเอย

เฉพาะบทดอกสร้อยบทนี้ ได้รับรางวัลตลอดถึงรางวัลชมเชยรวมถึง ๕ รางวัลด้วยกัน ในงานพระเมรุท้องสนามหลวงรัชกาลที่ ๕ มีผู้ส่งเข้าประกวดแข่งขันมากมาย แต่ลีลาคารมโวหารกวี ชิต บุรทัตได้รับเกียรติมาก

ดอกสร้อย “สายเอ๋ย” รางวัลที่ ๒
..........สายเอ๋ยเชื้อสาย...........................ของชาติชายสี่อย่างอ้างไว้หนา
สำหรับพระเจ้าจอมกระษัตริย์ขัติยา.............ทรงเลือกหามนตรีสี่ประการ
หนึ่ง ตระกูลเสนาเนื่องมามาก....................สอง นั้นหากทรงเจริญเกินดังขาน
สาม รู้สรรพวิทยาศึกษาชาญ.....................สี่ อาจหาญด้วยปัญญาปรีชาเอย

บทสักวา “น้อมเกล้า” รางวัลที่ ๑
..............สักวาน้อมเกล้าถวายพระพร........ขออำนาจบวรรัตน์พิพัฒน์สาม
อีกเทวาทรงฤทธิ์สถิตตาม.........................ภูมิคามชลชัฏและฉัตรไชย
ให้พระองค์ทรงพระนฤโศก........................นฤโรคนฤทุกข์เป็นสุกใส
นิรุปัทวะนฤนัย........................................พระชนม์ให้ยืนนานสำราญเอย

บทสักวา “คนไทย” รางวัลที่ ๒
...........สักวาคนน้ำใจเพชร......................พริกเม็ดเล็กว่าเผ็ดยังเผ็ดกว่า
เข็มว่าแหลมแหลมกว่าเข็มเต็มราคา............เกลือเล่าว่าเค็มอย่างไรไม่ทนทาน
ไม่พรั่นใครมาอย่างไรไปอย่างนั้น..............ไม่หวาดหวั่นขามขยาดจิตอาจหาญ
ไม่กลัวใครแต่ไม่เที่ยวเลี้ยวรังควาน............คิดแต่การเครื่องเจริญดำเนินเอย

บทสักวา “เดือนสิบเอ็ด” รางวัลที่ ๒
.............สักวาเดือนสิบเอ็ดคราวกุศล..........นักนิพนธ์จัดกระบวนแห่กฐิน
พลโคลงออกนำหน้าล่องวาริน....................ข้างซ้ายสิ้นพลลักษณ์สักวา
เรือทรงวงแวดด้วยพลฉันท์........................พลดอกสร้อยทั้งนั้นเป็นกองขวา
กองตามหลังกาพย์เห่พลเสภา....................แห่แหนมาทอดวัดนพทวารเอย

คำถวายพระพร ในวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ๑๕ เมษายน ๑๒๙

........ข้าบาทนิพนธสุภวา-..........................กยเพื่อประสงค์สรวม
ชีพถวายพระพรพจนรวม............................นวบทยุบลไข
........ในวันเถลิงศกพระจอม.......................รัฐปิ่นนครไทย
ศุกร์วารปัณณรสใน...................................จิตรมาสศกจอ
........ข้าบาทสยามิกอุบัติ...........................ณะประเทศสยามขอ
โอนอ่อนศิราพยพยอ.................................กิติไท้ถวายพร
........ด้วยเดชพระตรัยรตนเป็น....................สรณานิรันดร
อีกทวยคณาคณอมร..................................ณ พิภพพิมานสรรพ์
........ทั้งเทพย์สถิต ณ ชลสี-.......................ขรพฤกษอารัญ
อีกเทพเสวตฉัตรอนัน-...............................ตมหิทธิเดชา
........เชิญช่วยขจัดอุปัทวสรร-.....................พภยันตรายคลา
คลาดจาดพระโรคนิรพยา-...........................ธิพิบัตินิวัติสูญ
........จุ่งทรงเจริญพระชนมา-.......................ยุศมยิ่งพลาภูล
เพิ่มด้วยพระเดชวรพิบูลย์............................ดุจเทวราชินทร์
........ปวงเหล่าริปู ณ จตุทิศ.........................มนคิดมิชอบยิน
เดชท้าวผะผ่าวจิตรถวิล...............................มละซึ่งพยศตน
........จุ่งทรงสถิตย์อิศวราง-.........................คิกครองประชาชน
กอบด้วยสวัสดิ์วิปุลผล................................จิรหมื่นฉนำ เทอญ

เท่าที่รวบรวมบทประพันธ์ ชิต บุรทัต ในประตูใหม่มาให้ท่านอ่านอยู่นี้ เพียงหนึ่งในร้อยที่ยังเหลือปรากฏอยู่ในประตูใหม่ จึงเป็นที่น่าเสียดาย บทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ก็ดี ฉันท์เฉลิมพระเกียรติชมงานพระเมรุท้องสนามหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ดี ก็มิได้นำมาลงให้ท่านอ่านกันได้ บทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ ตอนบูชาไหว้ครูเชิญเทพเจ้ามาประชุมในโรงพิธี (เป็นกาพย์ฉบับ ๑๖) และตอนสอนพระเสตรให้ลืมป่าดงพงไพร (เป็นวสันตดิลกฉันท์) กับตอนชมกรุงเทพฯ เหมือนสวรรค์พิมานลอยอยู่บนอัมพร (เป็นอินทรวิเชียรฉันท์) นั้น อุปมาลีลาโวหารกวีไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ ถึงฉันท์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุท้องสนามหลวงก็ไพเราะดุจกัน มีการชมพระบรมโกษฐ์และชมพระเมรุบรรจุเนื้อความรสกวีไว้มากมาย ล้วนน่าสดับตรับฟังทั้งนั้น นับว่าเอกยอดเยี่ยมทีเดียว มีอยู่หลายร้อยบทประกอบทั้งบทประพันธ์ที่ได้รางวัลที่ ๑ ก็ยังมิได้นำมาลงให้ท่านอ่านอีกมาก

จะนำมาลงให้ท่านอ่านกันก็ยาวนัก (ทั้งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์สามทหารก็จำกัดด้วย) จึงนำมาลงให้ท่านอ่านได้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ และยังมีคำฉันท์ถวายชัยมงคลในวันราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๖ กับฉันท์ราชสดุดีและอนุสาวรีย์กถา พระบาทสมเด็จ ฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นคำฉันท์ และยังมีกาพย์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุฯ อีกที่มิได้นำมาลง ล้วนเป็นวรรณกรรมของชิต บุรทัต กวีเอกทั้งนั้น ผลงานของเขาเป็นที่น่าปลื้มใจแก่บุคคลทั่วๆ ไปจนถึงบัดนี้ เข้าใจว่าบทประพันธ์ของชิต บุรทัต ยุคประตูใหม่นี้เอง สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยมาก


ตอนที่ ๒

เมื่อชิต บุรทัตเห็นว่าบทประพันธ์ของเขาเป็นที่นิยมแล้ว การประกวดแข่งขันชิงรางวัลแต่ละคราวก็ได้รับรางวัลได้ลงพิมพ์ตามโอกาสเสอมๆ เช่นนี้ จึงเป็นเครื่องจูงใจในการกวีทวีมากขึ้นตามลำดับ นามปากกา “เอกชน” ก็มิได้ใช้นามนี้นามเดียวเท่านั้น นามแฝงอื่นๆ ยังมีอีก เช่น เอ. “ศรีสุข” เทพศิรินทร์ (ส) “ช” ศรีสุข ท.ศ.ร. “ศรีสุข” กับ นายอิทธิ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ล้วนเป็นนามแฝงของชิตด้วยทั้งนั้น รวมทั้ง แมวคราว เจ้าเงาะ ด้วย แต่ยุคประตูใหม่ยังมิได้ใช้นามนี้

ผู้เขียนยังคิดเสียดายที่ไม่สามารถนำบทประพันธ์ดังกล่าวนั้นๆ มาลงให้ละเอียดลออได้ หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทประพันธ์กล่อมช้างสวรรค์ หรือกาพย์ฉันท์ชมพระเมรุ ฯลฯ อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็จะทราบว่าชิต บุรทัตสมเป็นจิตกวีเอกจริง ไม่เฉพาะแต่มวลสมาชิกประชาชนหรือในหมู่กวีเท่านั้นที่นิยม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงชื่นชมเหมือนกัน ถึงทรงออกพระโอษฐ์ตรัสว่า “สามเณรชิต เชิงประพันธ์บทกวีมีเชาวนปฏิภาณดีมาก... ถ้าเป็นฆราวาสได้อยู่กรมอาลักษณ์ที่พระยาศรีสุนทรโวหารเหมาะสม แต่ต้องได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยคก่อน” พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ ชิต บุรทัตก็ทราบเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้กระตือรือร้นทางภาษาบาลีเท่าใดนัก คงมุ่งหน้าคลุกคลีกอยู่ด้วยการประพันธ์ต่อไป

เท่าที่ทราบมาว่าตามหลักสูตรภาษาบาลี เรียนสอบไล่ได้เป็นสามเณรรู้ธรรมบัดนี้เทียบเท่านักธรรมตรี แต่บางแห่งว่าแปลบาลีได้สำเร็จ ๑ ประโยคไม่ถึง ๓ ประโยค คำพูดประโยคหลังนี้ใกล้ต่อความเป็นจริง (คือสอบไม่ได้ถึง ๓ ประโยค ชิต บุรทัตอยากลาเพศจากสามเณรก็ยังลาไม่ได้เพราะสอบได้ประโยคเดียว เกรงขัดพระราชหฤทัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) ตอนนี้เองจึงเป็นมูลเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สมัยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง เป็นองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ) ทรงโปรดประทานให้สามเณรชิต บุรทัตเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อทรงรู้จัก เมื่อได้พบพอพระทัยแล้ว ก็ได้โปรดประทานให้ค้นหนังสือต่างๆ ดูได้ในหอพระสมุดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องกวีนิพนธ์เป็นส่วนใหญ่

เมื่อชิต บุรทัตได้มีโอกาสเป็นพิเศษอย่างนี้แล้ว ก็ได้ค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือกวีนิพนธ์นั้นๆ เพิ่มพูนความรู้ฉลาดเฉลียวในเชิงกวีขึ้นอีกเป็นอันมาก และยิ่งกว่านั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ก็ยังทรงมีพระคุณอุปการะสนับสนุนชิต บุรทัต (เข้าใจว่าสมัยอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว) โปรดให้แต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร พราหมณ์สวดสังเวยในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สี่ลาด้วยกัน ชิต บุรทัตประพันธ์ลาที่สามในลาทั้งสี่ ร่วมกับท่านกวีผู้มีเกียรติสูงอีกสามท่านด้วยกัน มีหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตกถึก) พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ได้รับพระราชทานเงินรางวัลเป็นเงินตราสองชั่ง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

ครั้นต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๕๔ ชิต บุรทัต (เป็นสามเณร) ได้ย้ายจากสำนักวัดเทพศิรินทราวาส มาอยู่ยังสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนถึงประโยค ๗ ตลอดมา จนได้อุปสมบทโดยพระอุปการคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์ท่านทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ด้วย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดเทพศิรินทราวาสเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างแปสมบทอยู่นั้น (พระชิต ชุตินฺธโร) ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลี มีปฏิภาณแคล่วคล่องว่องไวเฉียบแหลม แปลภาษามคธมาเป็นไทยได้เป็นอย่างดี เหมือนดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่โปรดปรานถูกพระหฤทัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ามาก กำลังอุปสมบทอยู่ได้มีมิตรสหายเพื่อนฝูงนักประพันธ์มิใช่นักประพันธ์ไปมาเยี่ยมเยียน ทั้งภิกษุสามเณรและฆราวาสมากมายเสมอเป็นเนืองนิตย์ อาทิเช่น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา และหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล สามพระองค์นี้ก็เสด็จมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอด้วย


ลาเพศบรรพชิต

ตั้งแต่พระภิกษุชิต ชุตินฺธโร (นามฉายามคธ) อุปสมบทแล้วระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๕๕ นั้น พระภิกษุชิตยังพยายามเล่าเรียนภาษาบาลีอยู่ตลอดมา และได้ประพันธ์บทกวีนิพนธ์อยู่เสมอเหมือนกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงโปรดปรานให้อยู่งานรับใช้ตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ เพราะพระภิกษุชิตมีเชาวน์ไวดีรอบรู้ทุกอย่างในเรื่องศาสนกิจ หาภิกษุสามเณรอื่นเสมอได้ยาก

ระหว่างจำพรรษาอยู่นี้ อันการเล่าลือในเรื่องมาตุคามนั้น (เกี่ยวด้วยผู้หญิงซึ่งเรียกว่าสีกา) พระภิกษุชิตมิได้มีการเกี่ยวข้องให้เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของตัวหรือแก่วัดวาอารามอย่างใดเลย แต่กฎแห่งกรรมจะลอยลมพัดมาแต่ชาติไหนไม่ทราบ จึงทำจิตใจของพระภิกษุชิตให้ผันผวนปรวนแปร คิดอยากจะเปลื้องผ้ากาสาวพัตร์ออกเสีย (คิดจะสึก) จึงแสดงอาการออกมา คิดจะเข้าเฝ้าทูลลาสึกแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้ผู้อื่นรู้ บรรดาภิกษุสามเณรตลอดญาติมิตรทั้งหลายพอทราบเรื่องการคิดจะทูลลาสึกของพระภิกษุชิต จึงได้พากันทักท้วงไว้ ความก็ทราบถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงตรัสสั่งให้พระภิกษุชิตเข้าเฝ้า ดำรัสถามว่า “จะคิดทูลลาสึกหรือ” พระภิกษุชิตทูลถวายตอบว่า “พ่ะย่ะค่ะ” จึงทรงรับสั่งต่อไปว่า “สึกยังไม่ได้ ยังไม่ควรสึก อยู่จำพรรษาไปก่อน”

การที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงตักเตือนและยังมิให้พระภิกษุชิตทูลลาสึกนั้น อาจเป็นด้วยเหตุผลสองประการคือ พระภิกษุชิตยิงมิได้สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ครบตามหลักสูตรเปรียญ ๓ ประโยค ตามที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าตรัสไว้ประการหนึ่ง ประการที่สอง พระภิกษุชิตปฏิบัติงานกิจการทางสงฆ์รับใช้ตำแหน่งเลขานุการได้ดีเป็นเยี่ยม จึงจะทรงเอาไว้ใช้ส่วนพระองค์ (ไม่ให้สึก) เหตุสองประการนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าจึงทรงมิให้พระภิกษุชิตทูลลาสึกโดยประการใดประการหนึ่งก็ได้ เหตุอื่นก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะให้พระองค์ทรงยับยั้งอย่างนี้ จึงเห็นได้ว่ากาลานุโยคแห่งวิถีชีวิตโคจรในอนาคตของแต่ละบุคคล ใครๆ ก็ไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าสุขทุกข์ของเราจะให้ผลอย่างไร รุ่งโรจน์หรืออับเฉาอย่างไร ก็ประมาณคาดคะเนไม่ถึงได้ เพราะกาลยังไกลกับปัจจุบันอยู่ นอกจากพระบรมศาสดาพระองค์เดียวซึ่งเป็นพระสัพพัญญูรู้ภาวการณ์อย่างนี้ได้ แม้เรื่องราวของพระภิกษุชิตนี้ก็เหมือนกัน ขอท่านผู้อ่านรอฟังต่อไป

เมื่อกาลานุโยคอันเป็นเครื่องประกอบชี้กาละของดวงชีวิตโคจรซึ่งได้พูดมาแล้วนั้น ทุกๆ คนได้รับผลไม่เหมือนกัน ย่อมหมุนเวียนไปตามดวงชีวิตซึ่งพรหมลิขิตตามแต่จะอำนวยผล พระภิกษุชิต ชุตินฺธโรนี้ก็เหมือนกัน เมื่อคิดทูลลาสึก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าตรัสยับยั้งมิให้สึกนั้น จิตใจก็ยังคิดอยู่เสมอที่จะทูลลาสึกต่อมา แต่มีเพื่อนภิกษุสามเณรและมิตรสหายทักท้วงไว้อีกเหมือนก่อนๆ พระภิกษุชิตจึงใช้ความสงบเงียบอยู่ตลอดมาอย่างเนือยๆ ซึ่งใครไม่รู้ความนึกคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทราบความจริงจากพระภิกษุชิตเลย เฉพาะด้านการประพันธ์บทกวีนิพนธ์ในระยะนี้ก็พลอยน้อยไปด้วย บรรดาภิกษุสามเณรเพื่อนสหธรรมิกร่วมอาวาสเดียวกันยิ่งมีความสงสัยมากขึ้น

จริงอยู่ไม่ผิด พวกถือธรรมะชอบพูดกันว่า ทุกคนย่อมมีกิเลสพัวพันหมกมุ่นอยู่ในหัวใจแทบทุกคนไม่มากก็น้อย เว้นแต่พระอรหันต์ขีณาสพเท่านั้นหลุดพ้นได้ เมื่อความจริงเป็นเครื่องประจักษ์อยู่อย่างนี้ ถึงพระภิกษุชิตแม้จะดำรงอยู่ในสมณะซึ่งเป็นเพศสงบไตรทวารก็ยังไม่พ้นตัวกิเลสอันละเอียดอ่อน คอยสั่นสะเทือนจิตใจให้ไหวอยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์ คอยแต่จะดึงจิตใจของพระภิกษุชิตให้ลาเพศพรหมจรรย์ให้ได้

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระภิกษุชิตกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังด้วยเชิงประพันธ์บทกวีนั้น ในต้นรัชกาลนี้เอง เวลานั้นการบันเทิงด้วยมหรสพต่างๆ มีน้อย ยิ่งภาพยนตร์แล้วไม่มีเป็นล่ำเป็นสันอึกทึกกึกก้อง โฆษณากันทุกแง่ทุกมุมเหมือนปัจจุบันนี้เลย ภาพยนตร์ในสมัยนั้นได้แต่ทัศนาหย่อนใจกันเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น คงมีแต่โรงละครร้องเปิดการแสดงกันมากจึงหาดูได้ไม่ยากนัก และในยุคนั้นมีโรงละครตั้งชื่อกันเพราะๆ มากมายหลายโรงด้วยกันเช่น ละครปรีดาลัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย ไฉวเวียง และละครปราโมทัย เป็นต้น

คณะละครที่กล่าวมานี้ คณะละครปรีดาลัยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งทรงริเริ่มตั้งขึ้นแสดงในวังของพระองค์ที่ถนนแพร่งนรา ราวปลายรัชกาลที่ ๕ รุ่งเรืองตลอดมาถึงรัชกาลที่ ๖ เป็นคณะละครร้องแสดงยอดเยี่ยมกว่าคณะอื่นๆ มีบทบาทซาบซึ้งตลอดการประพันธ์เรื่อง การจัดฉาก การประกอบเนื้อเพลงร้องดีเด่นที่สุด เค้าเรื่องดำเนินด้วยกลอนแปดใช้เป็นบทร้องเพลงและเจรจาประสานเสียงช่วย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงอบรมฝึกสอนทั้งนั้น เรื่องบทละครที่นำแสดงท่านทรงประพันธ์โดยมาก โดยใช้นามปากกาว่า “พระศรี” กำกับเรื่อง

ครั้นต่อมา เมื่อคณะละครปรีดาลัยหยุดการแสดงแล้ว คณะละครปราโมทัยของนายเล็ก สมิตสิริ ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น พระโสภณอักษรกิจ แสดงต่อมา รุ่งเรืองถึงขีดสุดยอดอยู่พักหนึ่ง มีพระเอกพระรองนางเอกนางรองลูกคู่และตัวประกอบอีกเป็นจำนวนมาก ผู้แสดงล้วนเป็นผู้หญิงเกือบทั้งนั้น รูปร่างหน้าตากำลังสวยสดงดงามอยู่ในเกณฑ์วัยรุ่น เลือกคัดจัดสรรมาแสดง เป๋นที่ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้ทัศนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะละครปราโมทัยเปิดการแสดงอยู่ วิกหน้าโรงหวยนั้น ใกล้วังบูรพาเดิม (โรงหนังควีนส์บัดนี้)

ในตอนนี้เอง พระภิกษุชิตก็ได้รับนิมนต์จากนายเล็ก สมิตสิริ ผู้จัดการ ขอให้แต่งบทละครร้องเพื่อให้คณะปราโมทัยแสดง พระภิกษุชิตรับนิมนต์ แล้วก็ประพันธ์บทละครหลายเรื่องด้วยกัน ให้แก่คณะละครปราโมทัยแสดง โดยมาใช้นามปากกากำกับเรื่องว่า เจ้าเงาะ บ้าง เอกชน บ้าง แต่เป็นที่น่าเสียดายบทละครร้องโดยฝีปากพระภิกษุชิต ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมไว้นั้นยังกระจัดกระจายอยู่ค้นไม่พบหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งถ้าจำไม่ผิดเห็นจะมีเรื่องชื่อว่า “โกงมะโรงมะเส็ง” เรื่องอื่นๆ จำไม่ได้เลย นี่ก็พอเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระภิกษุชิตเป็นกวีเอกในยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ จริง

บทประพันธ์ตามฉันทลักษณ์แล้วประพันธ์ได้อย่างดี ไม่ใช่โคลงและฉันท์อย่างเดียวเท่านั้น แม้บทละครร้องก็ประพันธ์ได้ดีเหมือนกัน จึงเป็นที่สบอารมณ์ของนายเล็ก สมิตสิริมาก บทละครร้องของพระภิกษุชิตถ้าคณะละครปราโมทัยนำออกแสดงเมื่อใดแล้ว ผู้ทัศนาเข้าชมแออัดล้นหลามทุกๆ คราว ค่าผ่านประตูก็เก็บได้มาก เป็นที่นิยมของชาวเมืองหลวงทั่วไป ชื่อเสียงของพระภิกษุชิตก็รุ่งโรจน์โด่งดังมาภายใต้นามปากกาว่า “เจ้าเงาะ” อีกคำรบหนึ่ง ซึ่งไม่แพ้นามปากกาที่ใช้ว่า “เอกชน” ในประตูใหม่นั้นเลย

และในสมัยนั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่า บทละครทุกๆ เรื่องที่ผู้เขียนประพันธ์ขึ้นนั้น โดยมากผู้เขียนเรื่องเกือบทุกคนต้องเข้าช่วยกำกับตัวผู้แสดง ให้แสดบทบาทตามบทละครที่ตนแต่งขึ้นนั้นเกือบทุกราย เพื่อให้การแสดงเป็นไปตามอารมณ์จังหวะที่ตนปรารถนาจึงจะเข้ากับเรื่องที่แต่งได้ดี จึงพยายามคลุกคลีอยู่กับตัวละครผู้แสดงมิใช่น้อยทีเดียว เพื่อให้เรื่องของตัวดีเด่นขึ้นอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนบทละครร้องบางคน เมื่อเริ่มต้นเขียนหรือเขียนแล้ว และเมื่อไปช่วยกำกับการแสดงเรื่องของตนนั้น เท่าที่ทราบมาต้องเป็นผู้ที่ชอบเสพสุราบำรุงสมองประสาท ให้มีเชาวน์ปฏิภาณดีเป็นทุนเดิมไว้เกือบทั้งนั้น

เมื่อกฎธรรมดาบ่งล้อมชีวิตจิตใจของนักประพันธ์บางคนอย่างที่พูดมาข้างต้นนั้น เมื่อถูกเข้าแล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อใช้มัยสมองประพันธ์เรื่องนั้นๆ จะต้องหยุดเสพสุราเพื่อให้มันสมองแล่นทำงานเองอย่างนั้นรึ ต้องไม่ไปกำกับตัวละครให้ทำบทบาทเข้ากับเรื่องอันเป็นของยียวนกวนใจ ปล่อยไปตามเพลงอย่างนั้นรึ ใครเล่า ซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้ว จะปฏิเสธเสียงดังๆออกมาว่าเป็นของไม่จำเป็นเลย ก็เห็นจะฝืนกฎธรรมดาเกินไปแน่ ผู้เขียนเชื่อทีเดียวว่า ผู้ประพันธ์แต่ละท่านคงผ่านพ้นไปได้น้อย เพราะเป็นเรื่องของโลกียวิสัยจิตใจยังเป็นปุถุชนอยู่อย่างว่า การเสพสุราแต่น้อยพอดิบพอดี ก็ย่อมเป็นของหย่อนใจสมองแล่นปฏิภาณดี และการเข้าใกล้ชิดตัวละครกำลังวัยสาวรุ่นกำดัดน่าพึงพอใจนั้น ไหนเลยจิตใจใครจะมาตั้งเป็นสมาธิอย่างพระอริยะเจ้าได้

เมื่อภาวการณ์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พวกนักประพันธ์โดยเฉพาะบทละครร้อง จะต้องมีพฤติการณ์อื่นแทรกแซงอย่างนี้แล้ว ผู้อ่านลองนึกดูทีหรือว่าสำหรับพระภิกษุชิตนั้น ในเมื่อมีอิฏฐารมณ์จรมากระทบโดยเฉพาะหน้าเกิดขึ้นบ้างอย่างนี้แล้ว จิตใจจะผันผวนปรวนแปรไปในรูปใด ท่านผู้อ่านก็จะทราบได้ทันทีว่า พระภิกษุชิตต้องเสพสุราเป็นแน่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปกำกับตัวละครให้แสดงบทบาทให้สมกับบทละครที่ประพันธ์อย่างผู้อื่นเขาทำกัน ประการใดประการหนึ่งเป็นแน่ ความจริงของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องอิงนิยายเพื่อสร้างให้เป็นเรื่องขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมหมุนไปตามดวงชีวิตหรือกฎธรรมดา อย่างพูดมาแล้วนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องยืดยาวโดยรวบรัดตัดให้สั้นเข้า จึงขอเขียนเท่าที่รู้และทราบมาในสมัยนั้นว่า “พระภิกษุชิตได้เสพสุรา และไปกำกับตัวละครแสดงจริง” เสียแล้ว ในสมัยคณะละครปราโมทัยแสดงอยู่นั่นเอง

อะไรเป็นมูลกรณีให้พระภิกษุชิตเสพสุรานี้ เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่า “ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น” เพราะชื่อเสียงของพระภิกษุชิตกำลังรุ่งโรจน์อยู่ทั่วทั้งพุทธจักรและอาณาจักรในเชิงกวีนิพนธ์ยุคนี้ ไม่น่าจะมีอธิกรณ์เสพสุราเกิดขึ้นอย่างนี้เลย เอาละ ไหนๆ จะแจงสี่เบี้ยตามความเป็นจริงให้ละเอียดแล้ว ผู้เขียนจึงขอเขียนย้อนวกไปเบื้องต้นอีกว่า คราวเมื่อพระภิกษุชิตประพันธ์บทละครร้องให้แก่คณะละครปราโมทัยแสดงนั้น ทุกๆ เรื่องก่อนจะลงมือแสดงวันใด วันนั้นเองยามราตรีผู้จัดการละครต้องใช้ให้คนเอารถยนต์มารับพระภิกษุชิตที่วัดบวรนิเวศวิหารไปที่โรงละครปราโมทัย เพื่อกำกับตัวละครให้แสดงบทบาทและจังหวะให้เข้ากับเรื่องที่ประพันธ์ขึ้นเป็นอย่างนี้เสมอมา เรื่องก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ตอนนี้เอง ผู้เขียนเข้าใจว่าพระภิกษุชิตเสพสุราแล้ว บางคนว่าเสพมาแต่เป็นสามเณรแล้วก็มี บางคนว่าบางคราวมีขวดเหล้าโยนจากกุฏิพระภิกษุชิตลงในคลองข้างกุฏิเสมอๆ อย่างนี้ก็มี) ฉะนั้นเรื่องทั้งหลายแหล่เหล่านี้ขอฝากเป็นการบ้านให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านลองคิดดูบ้าง ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏแค่ไหน

ต่อจากนั้นมา ผู้จัดการละครปราโมทัยกับพระภิกษุชิตก็สัมพันธ์กันโดยทำนองนี้อยู่ไม่ขาดระยะ จิตใจของพระภิกษุชิตในเรื่องคิกทูลลาสึกต่อองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็ยังมิคลายน้องลงเลย จึงในวันหนึ่งความกดดันจากสิ่งแวดล้อมภายนอกครอบจิตใจให้คิดมากหนักเข้า พระภิกษุชิตนั่งอยู่ที่กุฏิของตนเอง พร้อมทั้งเปิดขวดสุราบรั่นดีรินดื่มอย่างสบายใจอยู่ภายในกุฏินั้น ในขณะพระภิกษุชิตเสพสุราอยู่นี่เอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าโปรดรับสั่งให้พระที่อยู่เวรรับใช้ไปตามพระภิกษุชิตมาเพื่อรับใช้ส่วนพระองค์ พระเวรรับบัญชาแล้วจึงไปตามพระภิกษุชิตที่กุฏิ ก็พบพระภิกษุชิตกำลังนั่งเสพสุราอยู่

พระเวรจึงย้อนไปเรียนพระเทพกวี (มณี ฉันโน) เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระมหานายกให้ทราบก่อน เมื่อเจ้าคุณมหานายกทราบแล้วจึงไปที่กุฏิพระภิกษุชิต ก็พบพระภิกษุชิตกำลังเสพสุราอยู่ยังมิเลิก เมื่อเกิดประสบการณ์ขึ้นเฉพาะหน้าอย่างนี้ ท่านเจ้าคุณมหานายกจึงไปกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้ทรงทราบ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงทราบแล้ว ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงทรงลงทัณฑกรรมของวัด (การทำโทษ) ให้พระภิกษุชิตสึกได้ และทรงให้รดน้ำต้นโพธิ์ในวัดอีกสามสิบบาตรด้วย (ไม่ใช่เป็นการปัพพาชนียกรรม อย่างคนบางคนที่พูดถกเถียงกันมาแล้วล้วนแต่เป็นแง่ร้ายทั้งนั้น)

เมื่ออวสานกาลของพระภิกษุชิตผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เป็นอันสิ้นสุดลงเพียงนี้ บรรดาเพื่อนคฤหัสถ์บรรพชิต เมื่อได้สดับตรับฟังข่าวการสึกของ “ชิต” กวีเอกแล้ว พากันรู้สึกเศร้าสลดใจเสียดายไปตามกัน และเจ้านายบางพระองค์มีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า) ทรงเสียพระทัยมาก และยังเสด็จมาเยี่ยมพร้อมทั้งประทานผ้าไหมแพรพรรณให้แก่ “ชิต” กวีเอก ซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้วอย่างมากมาย

กาลล่วงต่อมา ข่าวการสึกของ “ชิต” ก็ทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงทราบเข้า พระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัยโยไม่สมความปรารถนาเป็นอันมาก จึงออกพระโอษฐ์ตรัสสั่งไว้อีกว่า คำว่า “เอกชน” นี้ ทรงห้ามไม่ให้ใช้ลงเป็นนามแฝงของ “ชิต” ในบทประพันธ์ทุกอย่างต่อไปอย่างเด็ดขาดด้วย ต่อจากนั้น “ชิต” กวีเอก เมื่อประพันธ์บทกวีขึ้นเมื่อใดแล้ว เพื่อไม่ขัดตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ก็มิได้ใช้นามปากกา “เอกชน” ลงในบทประพันธ์นั้นเลย โดยใช้นามปากกาเปลี่ยนใหม่ว่า “แมวคราว – เจ้าเงาะ” แทน “เอกชน” แต่นั้นมา

ความจริง “ชิต” กวีเอก เมื่อต้องอธิกรณ์เสพสุราแล้ว ข้าพเจ้าไม่ใช่จะวิพากษ์วิจารณ์โน้มน้าวช่วยแก้ตัวให้ “ชิต” กวีเอกประการใด แต่ตามอัตโนมัติแล้วเห็นว่า การเสพสุรากำลังเป็นพระภิกษุนั้น ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ามีความรู้น้อยในเรื่องพระวินัยบัญญัติก็จริง แต่เห็นว่า “พระภิกษุเสพสุรา” นั้น หากจะผิดตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ก็คงผิดเป็นแต่ล่วงข้อสิกขาบท “ปาจิตตีย์” เพียงเป็นลหุกาบัติเท่านั้นเอง ไม่เหมือนภิกษุที่ต้องปาราชิกหรือต้องสังฆาทิเสส ตามพระวินับบัญญัติว่าด้วยครุกาบัติ ซึ่งหนักร้ายแรงที่สุด เมื่อตัวสิกขาบทปรากฏในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้แล้ว จึงประมวลเข้ากับการเสพสุราของ “ชิต” ที่แล้วมาจนสึกนั้น โทษทางพระวินัยก็เป็นเพียงลหุกาบัติอย่างเบาที่สุด การที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้สึกเสียนั้น เป็นเรื่องของประชาชนพลเมือง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถือกันว่าเป็น “โลกวัชชะ” หาใช่โทษร้ายแรงอย่างใดไม่ พระองค์จึงทรงให้สึกไปตามความปรารถนาของ “ชิต” ที่คิดแผนไว้โดยทำนองนี้นานมาแล้ว

....................................................................................................................................................


คัดจากสวนหนังสือ ประวัติชิต บุรทัต กวีเอก โดย ชัชวาล อู่ทรัพย์


Create Date : 22 ธันวาคม 2550
Last Update : 22 ธันวาคม 2550 10:48:41 น. 4 comments
Counter : 10070 Pageviews.  
 
 
 
 
ช่วงปีของชิต บุรทัต

พ.ศ. ๒๔๓๕ ปีเกิด เกิดวันที่ ๖ กันยายน ปีมะโรง ดวงชะตาเหมือนคนปีนต้นไม้ขึ้นไปแล้วตกลงมา แล้วปีขึ้นไปอีกตกลงมาอีกไม่มีที่สิ้นสุ

พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๓ ย่าง ๑๔ สอบไล่ได้ประโยคมัธยมศึกษา บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธฯ

พ.ศ. ๒๔๕๐ ลาจากบรรพชาเพศ (สึกจากสามเณร) ทำงานในกองพลตระเวน กรมตำรวจ ไม่ถึงปีก็ไปอยู่กับญาติที่สุพรรณบุรี เป็นครูสอนหนังสือเด็กที่วัดจันทร์ (วรจันทร์) ตำบลโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี

พ.ศ. ๒๔๕๒ กลับกรุงเทพฯ บรรพชาเป็นสามเณรอีกที่วัดเทพศิรินทราวาส สนใจภาษาไทยและบาลี

พ.ศ. ๒๔๕๓ เรียนภาษาบาลีอย่างจริงจัง จนมีความรู้พอตัว เริ่มส่งเรื่องไปลงพิมพ์ เริ่มในหนังสือ “ประตูใหม่” ย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นที่โปรดปรานจนได้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ในสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับอาราธนาให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตรฉัตร ในพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖ ร่วมกับกวีผู้มีชื่อเสียง (ปลายปี) อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่งบทละครให้คณะละครที่มีชื่อเสียง “ปราโมทัย”

พ.ศ. ๒๔๕๖ ลาสิกขาออกรับราชการ ในกระทรวงธรรมการ ทำการสอนในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ไม่ถึงปีก็ลาออกไปทำงานหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง”

พ.ศ. ๒๔๕๗ เริ่มแต่งหนังสือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” เริ่มราวเดือนสิงกาคม จบในเดือนตุลาคม ใช้เวลาราว ๓ เดือน

พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ทำงานที่สำนักงาน “พิมพ์ไทย” ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ แต่งบทประพันธ์ทำนองปลุกใจ เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๖ พิมพ์ “สวามัคคีเภทคำฉันท์” เป็นครั้งแรก ๕๐๐ เล่ม

พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ โปรดฯ พระราชทานนามสกุลให้แก่ชิตว่า “บุรทัต” ชิตจึงเปลี่ยนนามสกุลจากเดิม “ชวางกูร” มาใช้ “บุรทัต” ตั้งแต่นั้นมา ได้สมรสกับคุณจั่น ครองชีวิตคู่กันมาจนตายจาก

พ.ศ. ๒๔๗๑ ทำงานหนังสือพิมพ์ “โทแท๊กซ์” ของคุณประสาท สุขุม กระทรวงธรรมการได้อนุญาตให้ใช้หนังสือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” เป็นแบบเรียนภาษาไทยมัธยมปลายได้

พ.ศ. ๒๔๗๒ กระทรวงธรรมการประกาศใช้หนังสือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” เป็นแบบเรียนกวีนิพนธ์ บังคับในชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘)

พ.ศ. ๒๔๗๔ ประจำสำนักงานนิตยสาร “นารีนาถ”

พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่งเรื่อง “กรุงเทพฯ คำฉันท์” ร่วมกับสุนทรภาษิต

พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ณ บ้านถนนวิสุทธิกษัตริย์ บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๙ กันยายน ปลงศพ (ฌาปนกิจ) ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับเป็นผู้อุปการะการฌาปนกิจร่วมกับคณะนักหนังสือพิมพ์ ญาติมิตร จำนวนมาก


อธิบายความเพิ่มเติม

พ.ศ. ๒๔๓๕ ชิตเกิดวันอังคาร เดือน ๑๐ หรือกันยายน รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชสมภพวันอังคารเดือน ๑๐ หรือกันยายน ชิตเกิดปีมะโรง รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชสมภพปีมะโรง แม้รัชกาลที่ ๘ ก็ทรงพระราชสมภพปีมะโรงในเดือน ๑๐ คือกันยายน รู้สึกว่าชิตมีความผูกพันทางใจในหลวงรัชกาลที่ ๘ เป็นพิเศษ มีการแต่งร้อยกรองถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีมิได้ขาดเลย

พ.ศ. ๒๔๔๘ บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธฯ โดยกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อครั้งดำรงพระยศหม่อมเจ้าสถาพรพิริยพรต ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๕๐ ระยะเวลาตอนเป็นพลตระเวน (ตำรวจ) เริ่มดื่มเหล้า และเริ่มดื่มหนักจนติดตอนไปอยู่กับญาติที่สุพรรณ และได้เป็นครูสอนหนังสือรุ่นบุกเบิกที่วัดจันทร์ (วรจันทร์) ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

พ.ศ. ๒๔๕๒ กลับกรุงเทพฯ มาบวชอีกครั้งที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อยังมีสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๕๓ การเรียนภาษาบาลีกับผู้ทรงคุณวุฒิมีชื่อเสียงได้แก่ พระอมราภิรักขิต (อยู่ เขมจาโร) เปรียญ ๙ ประโยค ซึ่งต่อมาลาสิกขาบทรับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบก เป็นนายพันเอกพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) และกรรมการชำระปทานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ทำให้สามเณรชิตมีความรู้ภาษาไทย ภาษาบาลีสูงขึ้นมาก แม้เมื่อย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหารก็มิได้ทอดทิ้งยังคงเรียนภาษาบาลีควบกับศึกษาพระปริยัติธรรม ธรรมศึกษา (นักธรรม) แบบใหม่ที่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มวางแนวทางไว้ (ใช้กันมาจนปัจจุบัน)

การเขียนหนังสือลงใน “ประตูใหม่” รุ่นแรกๆ คงเป็นพวกโคลงฉันท์กาพย์กลอนเบ็ดเตล็ด สุภาษิต ปริศนา โคลงทาย ฯลฯ จากนั้นจึงมีเรื่องสั้นและบทละครสั้นๆ ทยอยออกมา ใช้นามปากกา “เอกชน”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทอดพระเนตรผลงานของสมาเณรชิตจากหนังสือ “ประตูใหม่” ทรงพอพระทัย ทรงใคร่จะได้รู้จักตัว สามเณรชิตจึงได้โอกาสไปเฝ้า ทรงต้อนรับสามเณรน้อยด้วยความนับถือเลื่อมใสยิ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๔ สามเณรชิตได้รับอาราธนาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในพระราชพิธีฉัตรมงคล ร่วมกับกวีเอกอีก ๓ ท่าน คือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา และหลวงธรรมธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ได้รับพระราชทานเงินรางวัลสองชั่ง (๑๖๐ บาท)

ปลายปีได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระอุปการะของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย การบวชครั้งนี้โปรดให้ทำพร้อมกับหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล พระยามานวราชเสวี และพระยานิพนธ์พจนาตถ์ นับเป็นเกียรติยิ่ง

การแต่งบทละครเรื่องยาวเริ่มที่วัดบวรนิเวศน์วิหารนี้ โดยให้กับคณะปราโมทัยของแม่บุนนาคและอื่นๆ ในนามปากกา “เจ้าเงาะ” ได้รับของถวายเป็นผ้าม่วงสีต่างๆ มีค่าป่วยการเรื่องละ ๕๐ หรือ ๑๐๐ บาท พร้อมคำปวารณาว่า “สึกเมื่อใดรับรองเต็มที่”

พ.ศ. ๒๔๕๖ ลาสิกขาเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ของกระทรงธรรมการ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดบพิตรภิมุขเกือบปี ออกจากครูจึงไปทำงานหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” รายเดือน ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่เชิงสะพานมอญตอนเริ่มต้นของถนนเจริญกรุงติดต่อถนนอัษฎางค์เลียบคลองรอบกรุงชั้นใน (คลองหลอด) ใช้นามปากกา “แมวคราว”

พ.ศ. ๒๔๕๗ เริ่มแต่งหนังสือสำคัญเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” โดยอาศัยมูลเหตุที่ได้อ่านหนังสือ “อิลราชคำฉันท์” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์ เมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ) อันมีพระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ต้นเล่ม ในตอนท้ายพระราชนิพนธ์นั้น ทรงกล่าวถึงการพระราชทานโอกาสให้แก่ผู้สนใจในทางประพันธ์ที่ได้แต่งหนังสือ เช่น เรื่องอิลราชคำฉันท์นั้นแล้ว และหากนำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายจะทรงตรวจแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ใคร่จะแต่งหนังสือ และผู้ใฝ่ใจในวรรณคดีทั่วไป

สำหรับเนื้อเรื่องได้มาจากการอ่านนิทานสุภาษิตเรื่องหนึ่ง จากหนังสือธรรมจักษุ อันเป็นหนังสือรายคาบของมหามกุฏราชวิทยาลัยรุ่นแรก วัดบวรนิเวศฯ บอกนามพระสุคุณคุณาภรณ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ ต่อมาดำรงสมณศักดิ์สูงยิ่ง เป็นถึงสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร) เป็นผู้แปลเรียบเรียงจากภาษาบาลี โดยนัยอันมาในสุมังคลวิลาสน์ อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค เห็นเป็นเรื่องดีเพราะมีคติธรรม และเหมาะที่จะดำเนินบทประพันธ์เป็นเชิงกวีได้ จึงเริ่มลงมือแต่งโดยยึดเอาคำแปลและเรียบเรียงในเรื่องนั้นเป็นหลัก เมื่อเห็นว่าตรงไหนสะดวกที่จะแสดงเป็นกวีโวหารได้ ก็เพิ่มเติมและตกแต่งลงไปตามความคิดเท่าที่สามารถจะกระทำให้ไพเราะสละสลวยได้ การแต่งได้ใช้ความอุตสาหพยายามค่อยเขียนไปคราวละเล็กละน้อย หากติดข้อสงสัยในเรื่องศัพท์ อันเป็นภาษาบาลี ก็ได้อาศัยไต่ถามจากบิดา ซึ่งเวลานั้นยังมีชีวิตอยู่ การล่วงมาโดยลำดับประมาณสามเดือน (ราวสิงหาคมถึงตุลาคม ๒๔๕๗) บทประพันธ์ว่าด้วยโทษแห่งการแตกสามัคคี ซึ่งผู้แต่งได้ตั้งชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “สามัคคีเภทคำฉันท์” ก็สำเร็จเป็นต้นฉบับร่างขึ้น

พอถึงตอนนี้ ผู้แต่งกลับรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าอายุยังน้อย (๒๒ ย่าง ๒๓) ยังด้อยความรู้ความสามารถ ห่างราชสำนัก เกรงผิดพระราชนิยม เมื่อนำเรื่องไปปรึกษากับมิตรสหาย ต่างมีความเห็นร่วมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นฉบับร่างเดิมแห่ง “สามัคคีเภทคำฉันท์” จึงหาได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อรับพระราชทานบรมราชานุเคราะห์ตามที่คิดหวังไว้แต่เดิมไม่

พ.ศ. ๒๔๕๘ ชิตได้เข้าทำการ (ทำงาน) ณ สำนักงานหนังสือ “พิมพ์ไทย” ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ โดยมพระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์ เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน) เป็นบรรณาธิการใหญ่

แม้ตัวจะประจำสำนักพิมพ์ไทย แต่งานในหน้าที่ผู้ประพันธ์ประจำสำนัก “ศรีกรุง” ยังคงทำอยู่ จนหนังสือศรีกรุงหยุดออกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑

ปีนี้ได้แต่งกาพย์ปลุกใจส่งไปให้หนังสือพิมพ์ “สมุทสาร” ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทอดพระเนตรในฐานะทรงเป็นผู้อำนวยการ จึงได้โปรดปรานเป็นอันมาก โปรดฯ ให้รับลงพิมพ์พร้อมด้วยดำรัสสั่งให้ขอรูปผู้แต่งมาลงประกอบด้วย นับว่าชิตเป็นบุคคลภายนอกคนแรกที่สมุทสารรับเรื่องลงพิมพ์ ในหน้าหนังสืออันนับถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นสูงยุคนั้น

บทประพันธ์ของชิต พร้อมรูปถ่ายที่ลงพิมพ์มีข้อความดังนี้

“เกิดเป็นคนไทย ทั้งใจและนาม ทั้งสองปองความ หมายคงตรงกัน
ชื่อตนคนไทย แต่ใจเหหัน เป็นอื่นพื้นพรรค์ พาลโหดโฉดเขลา
หมายความนามไทย คือใช่ข้าทาส ไป่มีใครอาจ ลบหลู่ดูเบา
ยืนยงคงทน มากลานานเนา ควรที่ชาวเรา ตรองตรึกนึกดู”


เมื่อพระยาธนกิจรักษา ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยเข้าเฝ้าในวันหนึ่ง ก็มีพระราชดำรัสถึงกวีชิต ผู้ประพันธ์บทปลุกใจนี้แล้วตรัสว่า “ให้มันขอนามสกุลมา ข้าจะให้” ชิตจึงเขียนประวัติของสกุลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานนามสกุล ในชั่วเลาไม่นาน (โดนมากผู้ที่ขอพระราชทานนามสกุลต้องรอกันนานๆ บางทีตั้งปีครึ่งหรือสองปี ทั้งนี้เพราะมีผู้ขอพระราชทานกันมากเหลือเกิน) ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๕๙ ในพระราชหัตถเลขามีข้อความว่า “ขอให้นามสกุลนายชิต ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย ตามที่ขอมานั้นว่า ‘บุรทัต’ อันเป็นมงคลนาม ฯลฯ”

พ.ศ. ๒๔๕๙ พระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ บรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงสมัญญานามเรียกขานถวายพระเกียรติว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จอมปราชญ์แห่งกรุงสยาม ได้พระราชทานนามสกุลให้ชิตว่า “บุรทัต” ตามหลักฐานดังนี้

อันดับอักษร “บ” ๑๗๙ นามสกุล บุรทัต (อักษรโรมัน Puradat)
พระราชทาน นายชิต ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย ปู่ชื่อ ป้อม
วันเดือนปี ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ นามสกุลเลขที่ ๓๒๑๗


(คัดข้อมูลจากอักขรานุกรม นามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้า ๑๔๐ คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๙)

ปีอันสำคัญนี้ ชิตได้แต่งงานกับจั่น ม่ายสาวนิสัยดี รูปโฉมหน้าตาหมดจดพอใช้ เธออายุ ๓๐ แก่กว่าชิต ๕ ปี ญาติพี่น้องของชิตต่างชอบเธอ จั่นเคยแต่งงานกับทหารเรือ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนของชิต ต่อมาเลิกกันเมื่อเธออายุได้ ๒๘ เพราะฝ่ายชายเจ้าชู้มีเมียน้อยและดื่มจัด ตอนแรกไปอยู่ปักษ์ใต้ จนจั่นทนไม่ไหวกลับมาอยู่กลับพี่ชายที่กรุงเทพฯ และขอหย่า ฝ่ายชายพยายามตามมาง้อขอคืนดีหลายครั้ง นางไม่ยอมจนมีแม่สื่อชักจูงให้ได้มาแต่งงานกับชิต

จั่นยอมรับว่าตอนนั้น คุณชิตเรียบร้อย สวนสะอาจไม่เมาเลอะเทอะ ช่วงแรกๆเมาธรรมดาๆ เธอทนได้ ต่อมามีอาละวาดจนเธอทนไม่ไหวหนีไป ชิตพยายามติดตามง้องอนจนเธอใจอ่อน กลับมาอยู่ด้วยความสงสาร เมื่อชิตถึงแก่กรรมเธอเสียใจมาก ยังได้เขียนกลอนไว้อาลัยว่า

...........“จะหางานสามภพตลบหา...................หาเหมือนแก้วตาหาไม่ได้
จนกระทั่งสุดหล้าสุราลัย........................... ลับมืดไปใจจะขาดอนาถเอย”

ในบั้บปลายของชีวิตทั้งคู่รักใคร่กันมาก ชิตเอาอกเอาใจไม่ใคร่ขัดใจจั่น มีอยู่คราวหนึ่ง ช่วยกันตอบข้อซักถามผู้มาขอประวัติ จั่นช่วยเตือนให้ชิตตอบความสำคัญคือคำทำนายจากดวงชะตาของชิตที่ทราบว่า เมื่อตอนเด็กมหาชูบิดาของชิต ได้ขอร้องให้พระโหราธิบดี (ชุ่ม) ตำแหน่งโหรหลวงประจำราชสำนัก ผูกดวงชิตและทำนายให้ คุณพระทำนายว่า “ดวงชะตาของชิตแปลกประหลาดมาก เพราะมีดวงชะตาเหมือนคนขึ้นต้นไม้ ขึ้นไปแล้วตกลงมา แล้วปีนขึ้นอีกตกลงมาอีก ไม่มีที่สุด” และชิตก็ยอมรับว่า “อันที่จริงชีวิตของผมก็เป็นดังนี้”

ชิตแต่งงานอยู่กินกับจั่นเมื่ออายุ ๒๕ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๕๐ ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

ปีแต่งงานหนังสือพิมพ์ไทยเปลี่ยนบรรณาธิการ ชิตได้ลาออกกลับไปทำหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ที่กลับฟื้นตัวขึ้นใหม่ ระหว่างนี้ได้แต่งเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ต่างๆ ตามโอกาส

พ.ศ. ๒๔๖๘ ปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จสวรรคต ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ฐานะการเงินของชิตอยู่ในลักษณะพอมีอันจะกิน ไม่ฝืดเคืองเดือดร้อน หลังจากเหตุการณ์เศร้าสลดระดับชาติผ่านไป หนังสือพิมพ์ไทยต้องโอนเข้าเป็นสมบัติของพระคลังข้างที่ คณะบรรณาธิการต้องเปลี่ยนใหม่ ชิตจำเป็นต้องยื่นใบลาออก จากรายได้เดือนละ ๑๐๐ บาท กลับไปอยู่ “ศรีกรุง” รายได้เดือนละ ๕๐ บาท ด้วยความทะนงตน เมื่อรู้สึกว่าไม่เป็นที่พอใจของบางคน ชิตจึงลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ ถึง ๒ ปี จน พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงไปทำงานที่โฟแท็กซ์

พ.ศ. ๒๔๗๑ หนังสือโฟแท็กซ์ ของนายประสาท สุขุม ได้ค่าจ้างเป็นรายวันๆละ ๑ บาท พอโฟแท็กซ์เลิกล้มก็ได้รับคำชักชวนจากนายหอม นิลรัตน ณ อยุธยา ให้ไปอยู่หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม ซึ่งกำลังขึ้นหน้าขึ้นตา (โงดังมาแรง) กว่าฉบับอื่น ได้ค่าจ้างสัปดาห์ละ ๑๐ บาท ค่าเช่าบ้านต่างหาก พอมีความสุขขึ้นบ้าง ก็เผอิญไทยหนุ่มเกิดเลิกกิจการไป ชิตต้องดิ้นรนหารายได้จากการแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนในวาระที่ระลึก เช่น เฉลิมพระชนมพรรษา ขึ้นปีใหม่ วิสาขบูชา ฯลฯ ส่งตามหนังสือพิมพ์รายวัน และหนังสือที่ระลึกอื่นๆ เช่น อำนวยศิลปะสาร พอเลี่ยงชีพไปวันหนึ่งๆ

สืบเนื่องมาจากหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ ที่พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ด้วยความช่วยเหลืออนุเคราะห์ของพระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์ เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย จำนวน ๕๐๐ เล่ม ปรากฏว่าเป็นที่นิยมยกย่องมาก จนล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ออกใบอนุญาตให้ใช้เป็นหนังสือในโรงเรียนได้ จากการเสนอของขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) ครูภาษาไทยคนสำคัญ นายหอม นิลรัตน ณ อยุธยา ได้ช่วยจัดการพิมพ์จำหน่าย ๑,๐๐๐ เล่ม

ปีรุ่งขึ้น กระทรวงธรรมการเห็นว่าหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นแบบเรียนที่มีลักษณะสมควรจะใช้สอนกวีนิพนธ์ จึงออกประกาศทั่วไปว่าเป็นแบบเรียนที่บังคับใช้สอบไล่ในชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘) จึงได้มีการพิมพ์ใหม่จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม โดยโรงพิมพ์ศรีหงส์ จากนั้นได้พิมพ์ต่อๆ มาอีกเกือบ ๓๐ ครั้ง เป็นหนังสือประมาณไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ เล่ม เมื่อชิตถึงแก่กรรมแล้ว

เรื่องสามัคคีเภทใช้เป็นแบบเรียนบังคับเรื่อยมา จนราว พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กำหนดเป็นวิชาเลือกเรียน ครั้งปรับปรุงใหญ่ พ.ศ. ๒๕๓๓ เลิกหมดให้อยู่ในฐานะหนังสืออ่านประกอบเท่านั้น จึงน่าเสียดายนัก

จากไทยหนุ่ม ชิตมาอยู่บริษัทยาทองกับนายเสวียน โอสถานุเคราะห์ได้ ๖ เดือน ก็ย้ายมาทำหนังสือพิมพ์ “เทิดรัฐธรรมนูญ” ของขุนเลิศดำริการ รับเงินเป็นรายวันๆ ละ ๑ บาท เจ้าตัวรับจริงครึ่งเดียว (๕๐ สตางค์) ที่เหลือให้ที่บ้าน (คุณจั่น) มารับตอนสิ้นเดือน จนหนังสือเลิกกิจการ

พ.ศ. ๒๔๗๔ ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์นารีนาถ วันหนึ่งกลับจากสำนักงาน มาลงรถที่สะพานเทเวศร์ ก้าวเท้าพลาดเลยตกรถขาแพลง รักษาหายแล้วเลยกลายเป็นคนขาเป๋ตลอดมา

พ.ศ. ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ชิตได้ร่วมกับขุนสุนทรภาษิตแต่งเรื่องกรุงเทพฯ คำฉันท์ ตามประวัติว่าท่านขุนเป็นคนผูกความ (เขียนเป็นร้อยแก้วใจความย่อๆ) ชิตเป็นคนแต่งฉันท์ตามความนั้นๆ ท่านขุนฯ ตรวจแก้ความถูกต้องเหมาะสมให้ชิตดูเป็นที่พอใจจึงคัดลอกลงไว้ ขุนสุนทรภาษิตเป็นครูภาษาไทย สอนกวีนิพนธ์มานานปีอายุแก่กว่าชิตปีหนึ่ง เป็นคนที่ชิตเคารพนับถือมากทั้งด้านวิชาการและการเสพสุรา ตำแหน่งสุดท้ายของท่านได้เป็นอาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต่อมาได้เป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้กลับไปอยู่โรงพิมพ์ไทยอีกครั้งหนึ่งในฐานะคนพิสูจน์อักษรหรือตรวจปรู๊ฟ ได้เงินเดือน ๒๐ บาท เบี้ยเลี้ยงรายวันๆ ละ ๓๐ สตางค์ ชิตก็พอใจเพราะเป็นที่ซึ่งเคยอยู่มาก่อน

พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึงแก่กรรมเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๗ เมษายน เวลา ๑๕.๐๐ น. ด้วยโรงลำไส้พิการ อย่างเงียบเชียบภายในเรือนไม้ฝากระดานหลังเล็กๆ ใกล้ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สามเสน กรุงเทพฯ มีงานสองชิ้นที่ชิตทำไว้ก่อนตายและไม่ได้พิมพ์เนื่องจากต้นฉบับสูญหายไป คือเรื่อง “กลอนแม่ ก กา” และ “แปลคถาธรรมบท” แล้วแต่งเป็นฉันท์ และยังคงมีอีกมากแม้แต่งแล้วพิมพ์แล้ว แต่สูญไปกับกาลเวลา

ชิตได้ตายลงอย่างยากจนเกือบไม่มีเงินติดบ้านก็ว่าได้ คุณนายชะลอ รังควร เจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ได้เป็นหัวหน้าหรือประธานกรรรมการรวบรวมเงินจากคณะหนังสือพิมพ์ต่างๆ ญาติมิตรผู้รู้จักชอบพอเป็นค่าปลงศพ ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีน) จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในระยะนั้น ได้ส่งเงินมาร่วมงานด้วย เป็นเงินห้าชั่ง (๔๐๐ บาท) เท่ากับอายุ ๕๐ ของชิต นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง


....................................................................................................................................................


คัดจากสวนหนังสือ ช่วงปีของชิต บุรทัต กวีเอก โดยสมบัติ จำปาเงิน
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 ธันวาคม 2550 เวลา:10:58:17 น.  

 
 
 
 
 

โดย: นายแจม วันที่: 30 มกราคม 2551 เวลา:8:10:07 น.  

 
 
 

ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: ผู้รักสงบ วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:49:08 น.  

 
 
 
เป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับครับ
คุณ แจม, คุณ ผู้รักสงบ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:35:48 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com