กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




....................................................................................................................................................


เจ้าพระยาเสนา (บุนนาค)


เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหม นามเดิม บุนนาค ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดให้เป็นพระยาอุไทยธรรม แล้วเป็นเจ้าพระยายมราช แล้วเป็นเจ้าพระยามหาเสนา มีคำปรึกษาปูนบำเหน็จว่า บุนนาค (และมีชื่อคนอื่นอีกหลายนาย) ทำราชการมาช้านาน ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามไปปราบอริราชข้าศึกนานานุประเทศ มีชัยชำนะหลายครั้ง มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้นาย บุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม ในพระราชพงศาวดารว่า ตรัสเอาหม่อมบุนนาค ทนายข้าหลวงเดิมเป็นพระยาอุไทยธรรม อีกตอนหนึ่งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอุไทยธรรมเลื่อนที่เป็นพระยายมราช

ในลำดับเสนาบดีของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช ชื่อ บุนนาค เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า มาเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่สมุหกลาโหม (เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาคได้คุณนวล น้องนางสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นภรรยา บุตรหลานจึงเป็นราชนนิกุล) บุตรธิดาทำราชการ คือ สมเด็จพระยาองค์ใหญ่ องค์น้อย บุตรหญิง คือ เจ้าคุณวังหลวง(นุ่ม) เจ้าคุณวังหน้า(คุ้ม) เจ้าคุณปราสาท(กระต่าย) และเจ้าจอมมารดาตานี(ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณวัง เป็นธิดาเกิดด้วยภรรยาเดิม ทำราชการในรัชกาลที่ ๑ เป็นเจ้าจอมมารดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกลและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์)

เจ้าพระยามหาเสนาผู้นี้ เกิดเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๒๘๑ ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘ อายุได้ ๖๘ ปี
เป็นต้นสกุล บุนนาค ในบัดนี้




ประวัติ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)
ของ พระยาโกมารกุลมนตรี


(๑)

เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีของไทย และในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งนิยมเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๑ ของกรุงศรีอยุธยา) ในวัดสามวิหารอันเป็นวัดใหญ่วัดหนึ่ง มีภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้น มีสามเณรอยู่สามองค์ ซึ่งถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า สามเณรสามองค์นี้ไว้ตัวว่าสูงศักดิ์กว่าสามเณรอื่นๆ และถ้าถามท่านสมภารผู้เป็นอาจารย์ว่า สามเณรสามองค์ศิษย์ของท่านนั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ท่านสมภารจะเล่าประวัติของแต่ละองค์ให้ฟังว่า

สามเณรองค์ที่แก่กว่าเพื่อนนั้น เกิดปีขาล ชื่อสิน เป็นบุตรบุญธรรมของ ฯพณฯ เจ้าพระยาจักรี สมุหนายก บิดาตัวนั้นเป็นจีนพ่อค้า ชื่อไหฮอง มารดาชื่อเอี้ยง เมื่อเวลาคลอดฟ้าผ่าลงที่เรือน คลอดออกมาแล้วงูใหญ่เลื้อยขึ้นไปขดอยู่รอบกระด้ง บิดาเห็นเป็นทารกที่ชะตาแรงจะเลี้ยงเองเกรงจะไม่รอด จึงยกให้ผู้มีบุญวาสนา ท่านสมุหนายกก็ยินดีรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

สามเณรที่อายุรองลงมานั้น ชื่อทองด้วง เกิดปีมะโรงเป็นบุตรหลวงพิพิธอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย สามเณรองค์นี้ลักษณะกิริยาบ่งชัดว่า โตขึ้นจะเป็นคนมีบุญ ถ้าเทียบกันในทางสติปัญญา สามเณรทองด้วงดูเหมือนจะเหนือสามเณรสิน

สามเณรองค์ที่อ่อนกว่าเพื่อนนั้น เกิดปีมะเมีย ชื่อบุนนาค เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากร ข้าราชการวังหน้า สามเณรองค์นี้มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน ปัญญาไว เรียนดี เสียงก็ดี เทศน์กัณฑ์มัทรีเพราะนัก บ้านอยู่ใกล้ๆวัดนี้เอง

สามเณรสามองค์นี้ชอบพอกันมาก อยู่ไหนอยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน เรียนด้วยกัน เพราะเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่ก่อนอุปสมบท สามเณรสินนั้นเป็นเชื้อจีน ดังที่เล่ามาแล้ว แต่สามเณรบุนนาคนี้เป็นเชื้อแขก

ถ้าใครซักไซร้ท่านสมภารต่อไปว่า เป็นเชื้อแขกต่างศาสนาเหตุใดจึงมาบวชเณรในพุทธศาสนา ท่านสมภารจะชี้แจงให้ฟังว่า ตนสกุลเป็นแขกเจ้าเซ็น แต่สกุลนี้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามาสามชั่วคนแล้ว ถ้าผู้ฟังสงสัยไม่เข้าใจดี จะขอให้ท่านเล่าเรื่องราวของวงศ์สกุลของสามเณรบุนนาคให้ฟังอย่างละเอียด ท่านจะเล่าดังนี้

เมื่อห้าหกสิบปี่ที่แล้วมา แขกเจ้าเซ็นชาวอาหรับชื่อ เฉกอะหมัด ได้เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงนี้ ซื้อของไทยบรรทุกเรือสลุบส่งออกไปขายเมืองแขก และนำสินค้าแขกเข้ามาขายเมืองไทย การค้าขายนี้เจริญรุ่งเรือง ทำให้ท่านเฉกอะหมัดเป็นเศรษฐีใหญ่ ท่านได้หญิงไทยเป็นภรรยาและชอบพอกันมากกับเจ้านายขุนนางไทย เข้ารับราชการได้เป็นที่พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ท่านได้ช่วยพระเจ้าปราสาททองเมื่อยังเป็นพระยามหาอำมาตย์ ปราบกบฏญี่ปุ่นในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ และเมื่อชราลงในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ท่านเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ท่านผู้นี้เป็นต้นวงศ์เฉกอะหมัด

บุตรของท่านผู้นี้คือ เจ้าพระยาอภัยราชา(ชื่น) เจ้าพระยาอภัยราชามีบุตรชื่อสมบุญ เป็นเจ้าพระยาชำนาญภักดี สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ และบุตรของเจ้าพระยาชำนาญภักดี ชื่อใจ เป็นเจ้าพระยาเพชรพิไชย วงศ์เฉกอะหมัดถือศาสนาอิสลามตลอดมา มีกระฎีเจ้าเซ็นอยู่ในกรุงนี้สองแห่ง คือที่บ้านท้ายคูแห่งหนึ่ง เป็นกระฎีที่ท่านเฉกอะหมัดสร้างขึ้น ที่บ้านแขกกระฎีใหญ่ใกล้ๆวัดอำแมแห่งหนึ่ง ซึ่งท่านพระยาศรีนวรัตน์(อากามหะหมัด) บุตรท่านมหะหมัดสะอิด น้องท่านเฉกอะหมัดเป็นผู้สร้าง เจ้าพระยาเพชรพิไชย(ใจ) ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมวัดนี้ ท่านเป็นต้นเหตุที่พวกวงศ์เฉกอะหมัดเปลั่ยนมานับถือพุทธศาสนา เพราะพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์ให้ท่านทิ้งศาสนาแขกมาเข้ารีตไทย ท่านก็เต็มใจปฏิบัติตาม ท่านได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนเมื่อตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท แต่นั้นมาวงศ์เฉกอะหมัดก็นับถือศาสนาไทย ท่านผู้นี้เป็นบิดาของท่านพระยาจ่าแสนยากร ซึ่งเป็นบิดาของสามเณรบุนนาคนี้

พระยาจ่าแสนยากรเป็นจางวางกรมมหาดไทยวังหน้า ไม่ใช่วังหน้าองค์นี้เท่านั้น รับราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านราธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เวลานั้นท่านเป็นพระยาเสน่หาภูธร ท่านเป็นคนโปรดกรมพระราชวังบวร กรมขุนเสนาพิทักษ์ ประทานท่านบุญศรีให้เป็นภรรยา และท่านบุญศรีภรรยาประทานนี้เป็นมารดาสามเณรบุนนาค



(๒)


สามเณรสิน คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สามเณรทองด้วง คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสามเณรบุนนาค คือ เจ้าพระยามหาเสนา ผู้อ่านได้ทราบชีวิตตอนต้นของเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ผู้เป็นต้นสกุล บุนนาค แล้ว จะดำเนินความในประวัติของท่านเจ้าพระยาผู้นี้ต่อไป

สามเกลอนี้สึกจากสามเณรแล้วก็ยังพบปะเที่ยวเล่นด้วยกันเสมอ กาลวันหนึ่งขณะที่นอนสนทนากันที่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี นายสินเคลิ้มหลับไป นายสินเวลานั้นยังไว้ผมเปีย นายบุนนาคเห็นได้ที ก็ค่อยๆเอาผมเปียนายสินผูกเข้ากับฟากเรือนที่นอนอยู่ด้วยกัน โดยมิให้นายสินรู้ตัว ผูกแน่ดีแล้วก็ทำเสียงเอะอะดังขึ้น นายสินตื่นขึ้นด้วยความตกใจ รีบลุกขึ้นกระชากผมเปียตนเองโดยแรง คนที่ได้เห็นก็พากันฮาขึ้น การเสียทีกันในทางเชิงเล่น อันฝ่ายที่เสียทีต้องเจ็บอายนี้ เป็นเหตุให้มางมึนกันไป ไม่รักใคร่กันสนิทเหมือนแต่ก่อนมา

เมื่ออายุสมควรรับราชการได้แล้ว นายบุนนาคนั้นพระยาจ่าแสนยากรผู้บิดาได้นำขึ้นถวายเป็นมหาดเล็ก รับราชการในเจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร กรมขุนพรพินิต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือวังหน้าต่อจากกรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ เรื่องเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ นายสินนั้น เจ้าพระยาจักรีนำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และหลวงพิพิธอักษรก็ถวายตัวนายทองด้วง ให้เป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรเช่นเดียวกับนายบุนนาค

นายบุนนาคได้กระทำการมงคลสมรสกับท่านลิ้ม ธิดาพระธิเบศร์บดี เหตุที่ไดท่านลิ้มเป็นภรรยานี้ น่าจะเป็นเพราะนายบุนนาคเป็นมหาดเล็ก และพระธิเบศร์บดีเป็นจางวางมหาดเล็ก คงรับใช้ทั้งทางราชการและส่วนตัว คงไปมาที่บ้านพระธิเบศร์บดีเนืองๆ และได้พบเห็นท่านลิ้มเข้าเกิดความรักใคร่กันขึ้นเอง หรือเพราะบิดานายบุนนาคเห็นว่า ถ้านายบุตรของท่านได้ธิดาผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นภรรยา จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตราชการของนายบุนนาค จึงจัดการสู่ขอตกแต่งให้ หรืออาจจะเป็นเหตุสองประการควบกันก็อาจเป็นได้ การสมรสกันยังให้เกิดธิดาด้วยกันคนหนึ่ง เมื่อทำขวัญตั้งชื่อ ได้ขอให้พระยาจ่าแสนยากรผู้เป็นปู่ขนานนาม ประจวบเป็นเวลาที่ท่านพึ่งกลับจากราชการทัพที่ตานี ท่านจึงให้ชื่อหลานปู่ของท่านว่า ตานี

พระยาจ่าเเสนยากกร(เสน) บิดานายบุนนาคนี้ ในรัชกาลกรมขุนพรพินิต หรือที่ภายหลังกันว่า ขุนหลวงหาวัด ได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหมอัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ และเพราะเหตุที่บ้านของท่านอยู่ริมวัดสามวิหาร ราษฎรจึงเรียกท่านว่า เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร

อันความเจริญในราชการของหนุ่มสามคนนั้น นายสินรุ่งโรจน์กว่าเพื่อน ได้เป็นพระยาตาก เจ้าเมืองตาก นายทองด้วง เป็นหลวงยกกระบัตรไปอยู่ราชบุรี ส่วนนายบุนนาคนั้น เป็นนายฉลองไนยนารถ หมาดเล็กหุ้มแพรในกรมพระราชวังบวร และคงอยู่ในบ้านบิดา

ขณะนั้นทางกรุงอังวะ ซึ่งพระเจ้ามางลองเป็นเจ้าแผ่นดิน กำลังอยากทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา พอดีเกิดเรื่องจับเรือกำปั่นและนายเรือกันขึ้นทางเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดมีใบบอกเข้ามากราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้ม้าใช้ออกไปสืบ ม้าใช้กลับมากราบทูลว่าพม่ายกเข้ามาทางเมืองมะริดทางหนึ่ง ทางท่ากระดานทางหนึ่ง ทางเชียงใหม่ทางหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงนั้น พม่ายกมาทางเมืองมะริดทางเดียว

กองทัพพระเจ้ามางลองตีเมืองกุย เมืองปราณ เพชรบุรี ราชบุรี ตะลุยเข้ามาเป็นลำดับ จนเข้าตั้งประชิดกำแพงพระนคร ต้องนับว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงดูลักษณะคนเป็น ในคราวที่ไม่ยอมให้กรมขุนอนุรักษ์เป็นมหาอุปราช ด้วยทรงวิตกว่าจะเกิดความวิบัติฉิบหาย กรมขุนอนุรักษ์เวลานี้ยิ่งกว่าดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงสามารถจะบัญชาการป้องกันแผ่นดินให้พ้นเงื้อมมือข้าศึกได้ สมเด็จพระราชอนุชาต้องทรงลาผนวชออกมาว่าราชการ ซึ่งยุ่งทั้งการสงครามและการฝ่ายในพระราชสำนัก แต่เคราะห์ของเมืองไทยยังไม่ถึงคราวอับปางในครั้งนั้น เผอิญพระเจ้ามางลองประชวนลงต้องยกทัพกลับ เลยสวรรคตในระหว่างทาง เสร็จการสงครามแล้วสมเด็จพระราชอนุชาเสด็จกลับออกไปทรงผนวชอีก

แต่นั้นมาก็ไม่ได้ว่างศึกพม่า มังลอกราชบุตรมางลองขึ้นครองราชสมบัติ ให้มังหม่อมราชบุตรมาตีเชียงใหม่และลำพูน มังลอกสวรรคตแล้ว มังระราชอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงอังวะก็ให้มังมหานรธานคราโบ มังยีเจสู สตูกามนี แยงตะยาเข้ามาตีเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรี ครั้นได้เมืองทะวายแล้ว พม่าเดินกองทัพเรื่อยเข้ามาตีเมืองสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ได้แล้ว เข้ามาบรรจบกัน ณ ทับลำลูกแก แล้วตั้งค่ายอยู่ตอกระออมและดงรักหนองขาว พม่าตีค่ายของไทยที่บางบำรุ นนทบุรี และบางระจันได้

เมื่อความปรากฏว่าพม่าใกล้กรุงเข้าทุกที ราษฎรพากันตระหนกตกใจอลหม่านไปทั่วกรุง พวกที่อยู่นอกพระนครต้องอพยพเข้าไปอยู่ในพระนคร และเมื่อก่อนหน้าอพยพใครมีทรัพย์สมบัติที่ไม่สามารถจะเอาติดตัวไปได้ จะทิ้งไว้ก็เสียดายว่าจะตกเป็นของข้าศึก จึงพากันฝังทรัพย์สมบัติของตนซ่อนไว้ด้วยความหวังว่า เสร็จศึกรอดตายและจะได้ขุดขึ้นมาเป็นกำลังในคราวตกทุกข์ได้ยากเพราะสงคราม เจ้าพระยามหาเสนา(เสน)นั้น ดังได้กล่าวมาแล้ว บ้านอยู่ริมวัดสามวิหารอันอยู่ชานพระนคร ต้องอพยพเช่นเดียวกับผู้อื่น ก็ได้ฝังซ่อนทรัพย์สมบัติเช่นเดียวกับผู้อื่น วิธีซ่อนทรัพย์สมบัติกันครั้งนั้น คงเอาทรัพย์สมบัติที่มีค่าใส่โอ่งไหปิดฝาขุดหลุมฝังในบริเวณบ้านของตน ที่ที่ขุดหลุมฝังคงเป็นที่ที่นึกว่าสังเกตยาก รักษาเป็นความลับ ให้รู้แต่เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องรู้จริงๆเท่านั้น

กองทัพแรกของพม่าถึงกรุงไม่ช้า กองทัพพม่าอีกกองหนึ่งซึ่งมีโปสุพลาเป็นแม่ทัพยกมาแต่เชียงใหม่ เข้าทางด่านสวรรคโลก ก็เลยลงมาช่วยกองทัพทางใต้ มาอยู่ปากน้ำประสบ พอโปแมงแม่ทัพสีกุกป่วยเป็นไข้ตาย พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงอยู่ทุกทิศ และล้อมอยู่ปีเศษ ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงยกออกไปรบ ก็พ่ายแพ้แตกเข้ามา ในที่สุดพม่าเข้าเมืองได้ ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันอังคารเดือนห้าขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๑๐

ชาวกรุงศรีอยุธยาในขณะที่เสียกรุงนั้น แบ่งออกได้เป็นสี่จำพวก คือตายพวกหนึ่ง เป็นเชลยพม่าส่งไปกรุงอังวะพวกหนึ่ง เล็ดลอดหนีพวกพม่ากระจัดกระจายกันไปพวกหนึ่ง ทรยศต่อชาติเข้าสวามิภักดิ์พม่าพวกหนึ่ง ครอบครัวของนายฉลองไนยนารถอยู่ในจำพวกที่หนีพม่า นายฉลองไนยนารถซึ่งพลัดพวกไปแต่เฉพาะท่านลิ้มภรรยาและท่านตานีธิดานั้น เมื่ออกจากรุงได้แล้วนึกได้ถึงหลวงยกกระบัตรผู้เป็นเพื่อน ก็เล็ดลอดต่อไปยังสวนอัมพวา ราชบุรี และอาศัยอยู่กับหลวงยกกระบัตร



(๓)


ในระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น พระยาตาก(สิน) ซึ่งได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว แต่ราษฎรยังคงเรียกว่า พระยาตาก เป็นแม่ทัพคนหนึ่งครั้งเมื่อไทยไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบ พระยาตากก็คุมทัพไปด้วยและเป็นกองที่รบรั้งหลัง ในขณะที่จมื่นศรีสรรักษ์และจมื่นเสมอใจราชขี่ม้าลงแม่น้ำหนีพม่า และเมื่อคราวทางในกรุงแต่ทัพเรือออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่ พระยาตากก็คุมกองทัพเรือออกไปด้วย เมื่อก่อนหน้าพม่าจะเข้ากรุงได้พระยาตากเห็นว้าจะอยู่สู้ต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะข้าศึกได้ เหตุการณ์ภายในกรุงก็ยุ่งเหยิง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเอาพระราชหฤทัยใส่แก่ผู้หญิงมากกว่าการสงคราม ทั้งๆที่ข้าศึกตั้งประชิดกำแพงพระนครอยู่ พระยาตากจึงพาบริวารเท่าที่รวมกันได้ตีแหกที่ล้อมออกไปตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก

ครั้นกรุงเสียแก่พม่าแล้ว พระยาตากตั้งก๊กใหญ่อยู่ก๊กหนึ่ง และเมื่อรวบรวมกำลังได้พอแล้วก็ยกกองทัพเข้ามากู้กรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่ย้ายมาตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงธนบุรี ราษฎรจึงถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อยังเป็นพระยาตาก หัวหน้าก๊กใหญ่ก๊กหนึ่งทางชายทะเลฝั่งตะวันออกนั้น มีข้าราชการไปสมัครเป็นบริวารเป็นอันมาก ในจำนวนผู้ที่ไปสมัครเข้าด้วยนี้ มีนายสุดจินดา(บุญมา)คนหนึ่ง นายสุดจินดานี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระมหาในตรี ท่านผู้นี้เป็นน้องหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ที่นายฉลองไนยนารถ(บุนนาค)ไปอาศัยด้วย เสร็จการปราบดาภิเษกแล้วพระมหามนตรีได้กราบทูลพระกรุณาขอไปรับหลวงยกกระบัตรราชบุรี ผู้พี่เข้ามาร่วมรับราชการ ก็โปรดเกล้าฯให้ออกไปรับตัวมา แล้วทรงพระกรุณาตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์

เมื่อนายสุจินดาออกไปรับนั้น เพราะเหตุที่เชิญพระบรมราชโองการออกไป พระราชวรินทร์จึงรีบเข้ามากรุงธนบุรีโดยลำพัง ไม่มีเลาที่จะจัดให้ครอบครัวเข้ามาด้วย ได้ทิ้งครอบครัวไว้ในความดูแลของนายฉลองไนยนารถ และมอบภาระให้นายฉลองไนยนารถเป็นผู้พาครอบครัวเข้ามากรุงธนบุรี นายฉลองไนยนารถได้ปฏิบัติการตามสั่ง และตนเองนั้นได้ปลูกเรือนอยู่ในจวน เป็นทนายหน้าหอ

ถึงเพื่อนฝูงทั้งหลายสมัครเข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นายฉลองไนยนารถก็หาเข้าทำราชการไม่ และยังซ้ำขอมิให้ญาติและเพื่อนฝูงกล่าวชื่อตนให้เข้าพระกรรณสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันขาด ทั้งนี้เพราะเกรงพระราชอาญา ว่าถ้าทรงจำความหลังเรื่องผูกผมเปียได้และมีพระราชหฤทัยพยาบาท อาจจะทรงพาลเอาผิด

พระราชวรินทร์และพระมหามนตรีสองพี่สองนั้น เป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ช่วยทำสงครามปราบก๊กอื่น และตีเมืองใกล้เคียงตลอดมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ตามความดีความชอบโดยลำดับ จนพระราชวรินทร์(ทองด้วง)ได้เป็นเจ้าพระยาจักรี และพระมหามนตรี(บุญมา)ได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์

วันหนึ่งมีงานวัดแจ้ง นายฉลองไนยนารถถือพานทองล่วมหมากตามเจ้าพระยาจักรีไปในงานนั้น พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินมา นายฉลองไนยนารถกลัวจะทอดพระเนตรเห็น ก็รีบเข้าไปซ่อนในท้องเรือโกลนลำหนึ่ง ต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว จึงได้ออกจากที่ซ่อนและรีบกลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมา นายฉลองไนยนารถมิได้ตามเจ้าพระยาจักรีเข้าไปในพระราชวังอีกเลย

นายฉลองไนยนารถไม่ยอมรับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่อันที่แท้นั้น รับราชการอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เพราะเจ้าพระยาจักรีไปสงครามครั้งไร นายฉลองไนยนารถก็ไปช่วยรบทุกครั้ง อันเป็นรับราชการอยู่ในตัว ชั่วแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงทราบ ราชการที่นายฉลองไนยนารถกระทำจึงเป็นการ "ปิดทองหลังพระ"

กาลวันหนึ่ง นายฉลองไนยนารถนึกขึ้นมาได้ถึงทรัพย์สินซึ่งเจ้าพระยามหาเสนา(เสน)ผู้บิดาฝังไว้ที่กรุงศรีอยุธยา และตนเป็นผู้ทราบที่ฝัง จึงชวนท่านลิ้มภรรยาไปขุดทรับย์สินนั้น เมื่อตกลงกันแล้วก็ฝากท่านตานีผู้เป็นธิดาไว้กับท่านผู้หญิงนาก สามีภรรยาก็พาบ่าวขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา ไปถึงบ้านเก่าที่ริมวัดสามวิหาร นายฉลองไนยนารถจำได้ดีว่าบิดามารดาฝังทรัพย์ไว้ตรงไหน จึงขุดทรัพย์เงินทองของต่างๆขึ้นมาได้ทั้งสิ้น แล้วก็บรรทุกเรือใหญ่ให้คนแจวล่องกลับลงมา เข้าทางแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี

มาถึงปากคลองบางใหญ่อันเป็นที่เปลี่ยวเวลาห้าทุ่มเศษ มีพวกผู้ร้ายล่องเรือพายแจวตามมาหลายลำ พอทันกันเข้าที่ตรงนั้น ก็พากันเข้ากลุ้มรุมตีเรือนายฉลองไนยนารถ สองฝ่ายได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ แต่ฝ่ายผู้ร้ายมากกว่า พวกผู้ร้ายได้ฆ่าท่านลิ้มกับทาสชายสองคนตายในเรือ นายฉลองไนยนารถเห็นภรรยาและคนเรือตาย จะต่อสู้ต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้ จึงต้องทิ้งเรือลงน้ำกับทาสคนหนึ่ง ว่ายไปขึ้นตลิ่ง ผู้ร้ายเก็บทรัพย์สินซึ่งบรรทุกมานั้นไปได้ทั้งสิ้น นายฉลองไนยนารถอาศัยวัดคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็เดินไปกรุงธนบุรี และแจ้งเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่ตนให้เจ้าพระยาและท่านผู้หญิงจักรีทราบทุกประการ

ท่านผู้หญิงนากของเจ้าพระยาจักรีนั้น บิดาท่านชื่อทอง มารดาชื่อสั้น เป็นเศรษฐีบ้านอัมพวา บางช้าง แขวงเมืองราบุรี เมื่อท่านได้ทราบเรื่องท่านลิ้มถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ท่านสงสารนายฉลองไนยนารถเป็นอันมาก จึงยกท่านนวลน้องสาวของท่านให้นายฉลองไนยนารถ และประกอบการพิธีสมรสให้นายฉลองไนยนารถกับท่านนวลอยู่กินด้วยกัน

ความคิดของท่านผู้หญิงจักรีที่ให้ท่านนวลร่วมชีวิตกับนายฉลองไนยนารถนั้น เป็นความคิดฉลาดยิ่งนัก เพราะเป็นการกระทำที่ได้นกถึงสามตัวด้วยหินก้อนเดียว นกตัวที่หนึ่งคือปลูกฝังให้น้องสาวของท่านซึ่งสมควรมีเหย้าเรือนของตนเองได้แล้วเป็นฝั่งฝา นกตัวที่สองคือแสดงความเมตตาปรานีต่อนายฉลองไนยนารถผู้เคราะห์ร้าย ต้องเสียทั้งภรรยาและทรัพย์สิน แม้ตัวเองก็จวนเจียนจะต้องตายด้วยเพราะมือโจร การให้นายฉลองไนยนารถเป็นเป็นน้องเขยนี้ เป็นการผูกจิตใจนายฉลองไนยนารถตรึงแน่นไว้อย่างไม่มีวันที่จะคลายได้ นายฉลองไนยนารถจะต้องรู้สึกเองว่านอกจากความเห็นใจในคราวเคราะห์ร้าย ยังเป็นการตอบแทนความดีความชอบที่ตนได้รับใช้สอยมาและทำให้กลายเป็นญาติสนิท ย่อมจะต้องมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงจักรียิ่งขึ้น เป็นการปฏิการคุณ นกตัวที่สามนั้นคือการปล่อยให้ท่านนวลผู้เป็นสาวขึ้นแล้วเป็นโสดอยู่ต่อไปนั้น มีโอกาสที่พี่น้องอาจขัดใจกันขึ้นได้สักวันหนึ่ง เราจะต้องไม่ลืมว่า ในสมัยนั้นถือความสามัคคีในครอบครัวกันเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใหญ่จึงไม่นิยมให้สาวๆในปกครองเลือกคู่เอง

ส่วนทางเสียนั้นไม่มีเลย เพราะแม้นายฉลองไนยนารถขณะนั้นจะดำรงเพียงตำแหน่งทนายหน้าหอ แต่นายฉลองไนยนารถก็เป็นผู้มีเทือกเถาเหล่ากอมาแต่โบราณกาล และในชั้นเดิมก็เป็นคนเสมอบ่าเสมอไหล่ และเป็นเพื่อนกันมากับเจ้าพระยาจักรี ในแง่ชีวิตสมรสของท่านนวลเล่า ก็ไม่มีเหตุที่ควรวิตก เพราะรู้จักนายฉลองไนยนารถมาเป็นเวลานาน พอที่จะแน่ใจได้ว่านายฉลองไนยนารถเป็นผู้ซึ่งมีน้ำใจหนักแน่นแลมีความประพฤติดี

ผู้หญิงสมัยนี้(พ.ศ. ๒๔๙๓) อันเป็นสมัยที่อบรมให้ความคิดความเห็นดำเนินแนวตะวันตก คงจะนึกว่า ถ้าสรรเสริญว่าท่านผู้หญิงจักรีฉลาด ส่วนท่านนวลนั้นจะว่ากระไร เพราะเมื่อพี่สาวประสงค์ให้แต่งงานก็ยอมตาม ไม่ปรากฏว่ารักใคร่กันมาก่อน ดูประหนึ่งไม่มีจิตใจของตนเอง แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ละเอียดจะแลเห็นว่าการสมรสของท่านนั้นไม่ใช่ว่าปราศจากความรัก เราจะต้องไม่ลืมว่า ท่านเห็นนายฉลองไนยนารถมานานพอที่จะบูชาความจงรักภักดีของนายฉลองไนยนารถ ต่อพี่เขยและพี่สาวของท่าน และบูชาความสามารถของนายฉลองไนยนารถที่ปกครองครอบครัวของเจ้าพระยาจักรี ตลอดเวลาที่เจ้าพระยาจักรีเมื่อยังเป็นหลวงยกกระบัตร จากครอบครัวเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี

อนึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีแล้ว ตำแหน่งทนายหน้าหอและตำแหน่งน้องสาวของนายในครอบครัวขุนนางผู้ใหญ่นั้นย่อมมีกิจที่ติดต่อเกี่ยวข้องกันเนืองๆ ความชอบพอกันในฐานร่วมบ้านกันย่อมมีเป็นธรรมดา ท่านนวลเป็นหญิงสาวมีความบูชาชอบพอนายฉลองไนยนารถเป็นทุนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นึกไปในทางรักใคร่ เพราะนายฉลองไนยนารถมีบุตรภรรยาอยู่ เมื่อนายฉลองไนยนารถมาเป็นพ่อหม้ายลงในปัจจุบันทันด่วน ย่อมเกิดความสงสารบวกความบูชาชอบพอเข้าด้วย และเมื่อพี่สาวแนะเรื่องสมรสขึ้น ความบูชาชอบพอและความสงสารหรือจะไม่กลายเป็นความรัก และความรักอันแท้จริง

ท่านเจ้าพระยาจักรีผู้ซึ่งเดิมเป็นเพื่อนแล้วเป็นที่พึ่งของนายฉลองไนยนารถนั้น เมื่อคราวยกกองทัพกลับไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ท่านขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี อันเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนกรุงบุรีต้องเสียราชบัลลังก์และสิ้นพระชนม์ เมื่อการจลาจลได้สิ้นสุดลงแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ย้ายราชธานีมาตั้งทางฝั่งตะวันออกของแม้น้ำเจ้าพระยา และขนานนามว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช(เจ้าพระยาสุรสีห์)เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งพระราชนัดดา(พระยาสุรอภัย)เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศ กรมพระราชวังหลัง "ทรงตั้งพระประยูรวงศานุวงศ์ และตั้งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยครบทุกหมู่ทุกกระทรวง"

นายฉลองไนยนารถเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาในครั้งนั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า "ตรัสเอาหม่อมบุนนาค ทนายข้าหลวงเดิมเป็นพระยาอุไทยธรรม" โปรดให้ว่าแสงในและช่างมุก พระราชทานบ้านให้อยู่ที่ท้ายวังแถวจวนเสนาบดี

นับแต่กรุงเทพฯเป็นราชธานีมาถึงบัดนี้เป็นเวลา ๑๖๗ ปี และเมื่อ ๑๖๗ ปีที่แล้วมานั้น บรรพชนของเราเห็นเป็นการสำคัญที่จะต้องรักษาเกียรติของเสนาบดี อันเป็นตำแหน่งที่บ้านเมืองควรเชิดชู ในการสร้างพระนครจึงสร้างจวนไว้สำหรับเสนาบดีอยู่ ทั้งๆที่ในสมัยนั้นการติดต่อกับชาวต่างประเทศมีน้อยกว่าในสมัยต่อๆมาหลายเท่า

จวนเสนาบดีซึ่งได้กล่าวมานั้น อยู่ที่วัดพระเชตุพน(วัดโพธิ์) และบ้านซึ่งพระราชทานให้พระยาอุไทยธรรมอยู่อันเป็นบ้านดั้งเดิมของสกุลบุนนาคนั้น อยู่ตรงที่เป็นโบสถ์พระนอนเดี๋ยวนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ)ก็ได้อยู่บ้านนั้นต่อจากเจ้าพระยามหาเสนาผู้บิดา และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง)ก็เกิดที่ตรงนั้น

พระยาอุไทยธรรมได้ถวายธิดาคนแรกของท่านที่ชื่อตานี ซึ่งเกิดด้วยท่านลิ้มภรรยาเดิมที่ผู้ร้ายฆ่าตาย ให้รับราชการฝ่ายใน ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงจงกลนีและพระองค์เจ้าชายเสวตรฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ต้นสกุล ฉัตรกุล ท่านเจ้าจอมมารดาตานีนี้ภายหลังเรียกกันว่า เจ้าคุณวัง

ในคราวสงครามกับพม่า ปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ ซึ่งพระเจ้าปะดุงยกทัพเข้ามา ฝ่ายไทยจัดทัพออกไปตั้งรับ โดยมีกรมพระราชวังบวรเป็นจอมทัพ ในคราวสงครามซึ่งเรียกกันว่าศึกหินดาดลาดหญ้านี้ เจ้าพระยายมราช(สน)แม่ทัพผู้หนึ่งซึ่งไปตั้งรับที่ราชบุรีต้องโทษ เสร็จสงครามแล้วจึงโปรดเกล้าฯให้พระยาอุไทยธรรม(บุนนาค)เป็นเจ้าพระยายมราช

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๒๐ ไทยยกทัพไปตีเมืองทะวาย สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเป็นจอมทัพเอง การสงครามครั้งนี้ตีเมืองทะวายไม่ได้ดั่งพระราชประสงค์ ต้องเลิกทัพกลับ รี้พลของไทยบอบช้ำเป็นอันมาก เจ้าพระยามหาเสนา(ปลี)แม่ทัพผู้หนึ่ง ก็ไม่มีใครทราบว่าตายหรือถูกจับไปเป็นเชลย ทราบแต่ว่าสูญหายไปในกลางศึก เสด็จกลับจากสงครามครั้งนั้นแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อเจ้าพระยายมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา

เจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) รับราชการในหน้าที่สมุหพระกลาโหม จนอายุได้ ๖๘ ปีจึงถึงอสัญกรรมเมื่อ ปีฉลู พุทธศักราช ๒๓๔๘




ในคลังกระทู้เก่า ที่นี่ มีหลายความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ครับ



Create Date : 14 มีนาคม 2550
Last Update : 23 มีนาคม 2550 10:28:28 น. 1 comments
Counter : 4860 Pageviews.  
 
 
 
 
ทดสอบ
 
 

โดย: NickyNick วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:12:43:59 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com