กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
คนดีเมืองเหนือ

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น




พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




........................................................................................................................................................



พระเจ้าชัยสงคราม

พระเจ้าชัยสงคราม เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเมงราย (พระนามจริงของพระเจ้าเมงรายนี้ ในตำนานต่างๆ ทางภาคเหนือเรียกว่า พระเจ้ามังราย) ได้เสวยราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรลานนาไทย สืบต่อจากพระเจ้าเมงราย ในปีพุทธศักราช ๑๘๖๐ ขณะขึ้นเสวยราชย์พระองค์มีพระชนมายุได้ ๕๕ ปี พระเจ้าชัยสงครามนับเป็นปิยราชโอรส เพราะทรงเป็นเสมือนพระพาหาเบื้องขวาของพระเจ้าเมงรายพระราชบิดา ในการสถาปนาอาณาจักรลานนาไทยขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ หลังจากที่ทรงมีชัยชนะต่อพญาเบิก เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย ในการยุทธครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ แล้วพระราชบิดาก็สถาปนาให้เป็นมหาอุปราช เป็นที่เจ้าพระยาชัยสงคราม และโปรดประทานเมืองเชียงดาวให้เป็นบำเหน็จรางวัลอีกด้วย

พระเจ้าชัยสงครามมีพระมเหสีหลายองค์ และทรงมีพระราชบุตร ๓ พระองค์ คือ เจ้าท้าวแสนภู เจ้าท้าวน้ำท่วม เจ้าท้าวงั่ว พระราชบุตรทั้งสามนี้เมื่อทรงจำเริญวัยขึ้นแล้ว พระบิดาได้ส่งเข้ามาเล่าเรียนศึกษาศิลปะวิทยาการและราชประเพณีในราชสำนักของพระเจ้าเมงรายผู้เป็นพระอัยกา ซึ่งพระเจ้าเมงรายก็ทรงมีพระกรุณาแก่พระนัดดาทั้งสามเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระเจ้าชัยสงครามได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ทรงจัดการบ้านเมืองในเมืองเชียงใหม่ได้ ๔ เดือน พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ จึงได้สถาปนาให้เจ้าท้าวแสนภูพระราชบุตรองค์โตขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ในยุคนี้เมืองเชียงใหม่ได้ลดฐานะเป็นเพียงเมืองลูกหลวง พระเจ้าชัยสงครามองค์พระประมุขทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงราย และทรงแต่งตั้งให้เจ้าท้าวน้ำท่วมพระราชบุตรองค์กลางไปครองเมืองฝาง ให้พระราชบุตรองค์เล็กคือเจ้าท้าวงั่วไปครองเมืองเชียงของ

ฝ่ายเจ้าท้าวแสนภูได้ครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๑ ปี เจ้าขุนเครือพระอนุชาของพระเจ้าชัยสงครามซึ่งครองเมืองนายอยู่นั้น ได้ทราบว่าพระราชบิดาสวรรคตแล้ว การที่เจ้าขุนเครือทรงทราบข่าวช้าก็เพราะพระเจ้าชัยสงครามพระเชษฐาธิราชไม่โปรดในพระอนุชาองค์นี้ เพราะทรงก่อเรื่องร้ายแรงไว้หลายประการ เช่นลอบทำชู้กับมเหสีของพระเจ้าชัยสงคราม พระเชษฐาธิราชซึ่งยังความกริ้วให้แก่พระองค์เป็นอันมาก จึงไม่ยอมแจ้งข่าวให้พระอนุชาทรงทราบ ถึงการสวรรคตของพระราชบิดา

และเมื่อเจ้าขุนเครือทรงทราบก็ทรงดำริที่จะยกไพล่พลชาวไทยใหญ่มาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลทุ่งข้าวสาร ทำทีประหนึ่งจะเข้ามาทำการเคารพพระราชบิศพ เมื่อตั้งทัพแล้วเจ้าขุนเครือก็ยกเข้ามายังตลาดเมืองเชียงใหม่ แล้วแต่งราชสาส์นให้คนสนิทถือไปถวายเจ้าท้าวแสนภูพระนัดดา พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการ ในราชสาส์นนั้นแจ้งว่า เราเจ้าขุนเครือผู้เป็นอาขอทูลมายังเจ้าแสนภูผู้เป็นหลาน ด้วยอาได้ทราบข่าวว่าพระราชบิดา ซึ่งเป็นพระอัยกาของหลานได้เสด็จสวรรคตล่วงลีบไปแล้ว ด้วยความกตัญญูกตเวทีธรรม อาก็ใคร่เข้ามากราบบังคมเคารพพระบรมศพ ขณะนี้อาได้มาตั้งพักอยู่ที่ตลาดเมืองเชียงใหม่ ขอเจ้าผู้เป็นหลานอย่าได้มีความสงสัยในตัวอาแต่ประการใด และอาก็มิได้มีเจตนาร้ายอะไร นอกจากจะมาเคารพพระศพเท่านั้น

ข้างฝ่ายเจ้าท้าวแสนภูนั้น เมื่อทรงทราบว่าเจ้าขุนเครือผู้อาได้ยกกองทัพเข้ามา ก็ให้จัดแต่งการป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างแข็งแรง ฝ่ายเจ้าขุนเครือเมื่อส่งราชสาส์นถึงเจ้าแสนภูแล้ว ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่ที่ประตูเชียงใหม่และประตูสวนดอก (เวลานั้น ตลาดอยู่ข้างวัดพระสิงห์ปัจจุบัน) เจ้าขุนเครือตั้งทัพคอยทีอยู่ จะเข้าจับกุมเอาตัวเจ้าแสนภูผู้หลานในขณะที่เจ้าแสนภูออกไปชมตลาดในตอนเช้า

ฝ่ายเจ้าแสนภูนั้น หาได้มีความประมาทไม่ พระองค์ทรงดำริว่าแม้ตัวเราจะยกกองทัพออกสู้รบกับกองทัพเจ้าขุนเครือผู้อาก็ย่อมทำได้ แต่อาจพลาดพลั้งลงไปเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตด้วยน้ำมือทหารหาเป็นการสมควรไม่ เมื่อเป็นดังนี้สมควรที่พระองค์จะเสด็จหลบหนีออกจากเมืองเชียงใหม่เสียก่อน จึงจะไม่เป็นเวรานุเวรสืบต่อไป เมื่อทรงดำริเช่นนั้นแล้วก็ทรงอพยพครัวหนีออกจากเชียงใหม่ไปทางประตูหัวเวียง คือ ประตูช้างเผือก เวลานั้นยังไม่เรียกว่าประตูช้างเผือก ชื่อประตูช้างเผือกนี้เพิ่งมาเรียกในสมัยหลังในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมา

เจ้าแสนภูพาครอบครัวหนีไปหาเจ้าท้าวน้ำท่วมอนุชาซึ่งครองเมืองฝาง พ่อท้าวน้ำท่วมก็จัดแต่งผู้คนออกไปส่งเจ้าแสนภูเชษฐาและครอบครัวถึงเมืองเชียงราย เจ้าแสนภูจึงนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าชัยสงครามพระราชบิดาให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าชัยสงครามทรงทราบดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธพระอนุชาเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าบรรดามุขมนตรีทั้งหลายว่า ขุนเครือนี้ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงถึง ๓ ประการ ประการที่ ๑ ได้ลอบทำมิจฉาจารต่อภริยาของกูที่เมืองเชียงดาว ประการที่ ๒ แย่งชิงเอาเมืองเชียงดาวที่พระราชบิดาประทานให้แก่กู ประการที่ ๓ บังอาจยกไพร่พลมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่จากลูกของกูอีก ฉะนั้นกูจะยกไปปราบมันเสียให้จงได้

ทรงมีพระราชดำรัสดังนั้นแล้ว ก็โปรดให้จัดแต่งกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ในเดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีวอก ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๖๒ โปรดให้เจ้าท้าวน้ำท่วมราชบุตรองค์ที่ ๒ เป็นทัพหน้ายกไปยังเมืองเชียงใหม่ก่อน เจ้าท้าวน้ำท่วมยกไปถึงเมืองเชียงใหม่ในวันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาใกล้รุ่ง ให้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลทุ่งแสนตอ เจ้าท้าวน้ำท่วมจึงจัดแต่งกลศึกอันมีชื่อว่าราชปัญญา คือแต่งคนเอาเครื่องศึกใส่หาบดังประหนึ่งมาเข้าเวรรั้งเมือง ดังที่เคยปฏิบัติมาแต่กาลก่อน

พวกไพร่พลที่ปลอมตัวไปนั้น ก็เข้าไปประจำอยู่ทุกประตูเมือง แล้วพระองค์จัดแต่งทหารอีกกองหนึ่ง ยกเรียงรายกันล้อมตัวเมือง เพื่อให้พวกชาวเมืองเป็นกังวลรักษาหน้าที่ ครั้นได้ยามดี เจ้าท้าวน้ำท่วมกับทหารร่วมพระทัยก็ลอบยกเข้าไปถึงประตูเมือง ไพร่พลที่ปลอมเข้าไปเป็นคนรักษาประตูก็เปิดประตูเมือง ออกรับกองทัพของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าเมืองได้ แล้วไพร่พลทั้งหลายก็พากันโห่ร้องยิงปืนตีฆ้องกลองอย่างสนั่นหวั่นไหว ชาวเมืองทั้งหลายของเจ้าท้าวน้ำท่วม ไล่ฟันไพร่พลของเจ้าขุนเครือล้มตายลงเป็นอันมาก

ข้างฝ่ายเจ้าขุนเครือนั้น เสพสุรามึนเมานอนหลับอยู่ในหอคำ นายประตูที่เฝ้ารั้งคุ้มหลวงอยู่ เห็นไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมบุกเข้ามาเช่นนั้นก็รีบเข้าไปปลุกร้องว่า “กองทัพเจ้าท้าวน้ำท่วมผู้หลานเจ้า ตนครองเมืองฝางนั้น ยกเข้าเมืองได้แล้ว และกำลังยกเข้ามายังคุ้มหลวง ขอเจ้าเร่งรีบหนีเอาตัวรอดเถิด” แล้วนายประตูก็รีบหนีเอาตัวรอดไป ฝ่ายเจ้าขุนเครือได้ยินดังนั้น ก็มีความตกพระทัยเป็นอันมาก รีบลุกขึ้นจากที่บรรทมวิ่งไปตีกลองสัญญาณเรียกไพร่พล แต่หามีผู้ใดมาไม่ เพราะต่างก็ตื่นหนีศึกไปก่อนแล้ว เจ้าขุนเครือเลยตกตะลึงยืนพะว้าพะวังอยู่ที่นั้นเอง ไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าไปถึงก็เลยจับกุมเอาตัวเจ้าขุนเครือได้ และนำไปถวายเจ้าท้าวน้ำท่วม เจ้าท้าวน้ำท่วมจึงให้เอาตัวไว้เพื่อรอให้พระเจ้าชัยสงครามพระราบิดาทรงพิจารณาโทษด้วยพระองค์เอง

เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมจัดการบ้านเมืองจนเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งข่าวสาส์นไปกราบทูลให้พระราชบิดา ณ เมืองเชียงรายให้ทรงทราบ พระเจ้าชัยสงครามทรงมีพระทัยโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงตรัสชมเชยพระราชบุตรองค์ที่ ๒ ว่าแกล้วกล้าในการสงคราม สมควรที่จะได้ครองเมืองเชียงใหม่แทนเจ้าแสนภูต่อไป ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงยกพหลพลเสนาตรงไปยังเมืองเชียงใหม่ โปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษกให้เจ้าท้าวน้ำท่วมเป็นพระยาครองเมืองเชียงใหม่

เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมได้ครองบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๐ ชันษา ปีที่ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่นั้นตรงกับปี พ.ศ. ๑๘๖๕ ส่วนเจ้าขุนเครืออนุชานั้น ทรงมีพระเมตตาอยู่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกัน และเป็นอนุชาองค์เดียวเท่านั้น จึงไม่ลงพระอาญาฆ่าฟัน เพียงแต่ให้จำขังไว้ ณ ที่มุมเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ และให้หมื่นเรืองเป็นผู้ดูแล เจ้าขุนเครือถูกคุมขังอยู่ได้ ๔ ปีก็พิราลัย และมุมเมืองทางด้านนั้น ส่วนหมื่นเรืองผู้ดูแลนั้น เมื่อถึงแก่กรรมลงก็สร้างกู่ที่บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่นั้น มุมเมืองด้านนั้นเลยเรียกว่าแจ่งกู่เรือง ตามนามของหมื่นเรืองนั้นเอง (คำว่า แจ่งกู่เรือง เมืองเหนือออกเสียงเป็น แจ่งกู่เฮือง)

เจ้าท้าวน้ำท่วมครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๒ ปี ลุปี พ.ศ. ๑๘๖๗ มีผู้ไปกราบทูลพระเจ้าชัยสงครามว่า เจ้าท้าวน้ำท่วมจะคิดกบฏ พระเจ้าชัยสงครามทรงมีความระแวง จึงโปรดให้เจ้าท้าวงั่วราชบุตรองค์เล็กมาคุมตัวเจ้าท้าวน้ำท่วมไปยังเมืองเชียงราย ทรงไต่สวนทวนความดูก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระราชบุตรองค์ที่ ๒ จะคิดทรยศจริงดังคำกราบทูลนั้น จึงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงตุง และโปรดให้อภิเษกเจ้าแสนภูราชบุตรองค์โตเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ครั้นเสร็จจากพิธีอภิเษกเจ้าแสนภูแล้ว ก็เสด็จกลับคืนไปยังเมืองเชียงราย สถิตสำราญอยู่ได้ ๒ ปี ก็ทรงพระประชวรสวรรคต สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๒ ชันษา เจ้าแสนภูราชบุตรองค์โตได้เถลิงราชสมบัติสืบต่อมา และได้ทรงไปบูรณะเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่นั้น แล้วย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงแสนตลอดรัชกาลของพระองค์


นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่



..........................................................................


เจ้าศรีสองเมือง
วีรบุรุษแห่งเมืองนันทบุรี



เจ้าศรีสองเมือง หรือมีนามภายหลังที่ได้ครองเมืองน่านแล้วว่า เจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม ผู้นี้เป็นสำคัญคนหนึ่งของลานนาไทย ต่อมาภายหลังพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ประมุขของอาณาจักรลานนาไทย ในยุคพม่าเรืองอำนาจ ท่านได้คิดกู้อิสรภาพทำการแข็งเมืองสู้รบกับพม่าผู้เกรียงไกรในยุคนั้น แต่ยังไม่ถึงคราวที่ลานนาไทยจะเป็นอิสรภาพ พม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าจึงเป็นฝ่ายชนะ และจับกุมตัวพระองค์ไปกักขังไว้ที่กรุงอังวะ จนถึงแก่ทิวงคต ณ ที่นั้นเอง

ในสมัยประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๓ ในครั้งนั้นเชียงใหม่ได้เสียอิสรภาพแก่พม่าแล้ว (ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเมกุฏิหรือพญาแม่กุ) ทางเมืองน่านมีพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามเป็นเจ้าเมืองน่าน ครั้งต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๒๓ เจ้าฟ้าสารวดี (หรือในตำนานโยนกเรียกว่า มังซานรธามังคุย เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง เดิมครองเมืองสารวดี พระบิดาให้มาครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระนางวิสุทธิเทวี) ได้ยกกองทัพมาตีเมืองน่าน พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามเห็นทีจะสู้ไม่ได้จึงยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อเชียงใหม่ พระยาเสถียรไชยสงครามมีราชบัตรอยู่ ๔ องค์ องค์โตชื่อเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ องค์ที่ ๒ ชื่อ เจ้าน้ำบ่อ (แต่แรกไม่ปรากฏชื่อ ชื่อนี้เรียกเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว) องค์ที่ ๓ ชื่อ เจ้าศรีสองเมือง องค์ที่ ๔ ชื่อ เจ้าอุ่นเมือง

เมื่อเจ้าศรีสองเมืองบุตรองค์ที่ ๓ ประสูติออกมานั้น เกิดมหัศจรรย์ต่างๆ เช่นแผ่นดินไหวเป็นต้น พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามบิดาจึงให้หาโหรมาทำนาย โหรทำนายว่า เจ้าศรีสองเมืองผู้นี้ เมื่อเติบโตไปภายหน้าจะมีบุญญาบารมีมากนัก แต่ว่าจะทำปิตุฆาต ขอให้เอาไปฆ่าทิ้งเสียให้ตาย พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามทรงเห็นด้วย จะให้เอาไปทิ้งเสียตามคำทำนายของโหร แต่เจ้าน้ำบ่อราชบุตรองค์ที่ ๒ ได้กราบทูลทัดทานไว้เพราะความสงสาร และทูลขอเอากุมารผู้เป็นน้องนั้นไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งพระบิดาก็ทรงอนุญาตตามความประสงค์ เจ้าน้ำบ่อจึงเอาน้องไปเลี้ยงไว้จนเติบใหญ่ขึ้นมา

ฝ่ายพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามได้ครองเมืองน่านสืบมา จนกระทั่งย่างเข้าวัยชราก็ประชวรถึงแก่พิราลัย เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ราชบุตรที่ ๑ จึงได้ครองเมืองน่านสืบมา เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ได้ขึ้นครองเมืองน่านในปี พ.ศ. ๒๑๓๔ หลังจากที่ครองเมืองได้ ๖ ปี ลุปี พ.ศ. ๒๑๓๙ โปรดให้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้น ในสมัยนั้นเมืองน่านขึ้นต่อเชียงใหม่ ซึ่งมีกษัตริย์เป็นพม่าครองอยู่ เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์คิดกูอิสรภาพ จึงตั้งแข็งเมืองไม่ย่อมส่งส่วยให้พระเจ้าเชียงใหม่ (เจ้าฟ้าสารวดี) พระเจ้าเชียงใหม่ทรงทราบว่าเมืองน่านแข็งเมืองเช่นนั้น ก็ทรงยกกองทัพมาเพื่อปราบปราม ให้เข้าอยู่ในอำนาจของพระองค์เช่นเดิม เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ยกกองทัพไปตั้งรับอยู่ที่ตำบลปากงาว และได้สู้รบกันเป็นสามารถ แต่เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์มีกำลังไพร่พลน้อยกว่า จึงพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ ล่าถอยหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าล้านช้าง ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อตีได้เมืองน่านแล้ว ก็แต่งตั้งพระยาแขกอยู่รักษาเมืองน่าน

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๔๓ เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์และน้องทั้งสาม ได้กำลังกองทัพล้านช้างช่วยเหลือ ได้ยกไปรบพระเจ้าชียงใหม่ แต่เมืองเชียงใหม่สู้รบป้องกันเมืองแข็งแรงนัก ตีไม่แตก จึงล่าถอยมายังเมืองน่าน พระยาแขกผู้รักษาเมืองน่าน เห็นกองทัพเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ยกมาเช่นนั้น เกรงว่าชาวเมืองจะไม่เป็นใจด้วย จึงไม่คิดสู้รบและอพยพครัวหนีไปยังเมืองเชียงใหม่เสีย เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์จึงยกเข้าไปตั้งอยู่เมืองน่านอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตีเมืองน่านอีก ครั้งนั้นเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์และเจ้าน้ำบ่อได้มอบให้เจ้าศรีสองเมือง ซึ่งเป็นทั้งน้องและบุตรบุญธรรมของเจ้าน้ำบ่อเป็นผู้รักษาด้านประตูหิ้งน้อย แต่เจ้าศรีสองเมืองกลับคิดเอาใจออกหากจากพี่ทั้งสอง ไปเข้ากับพระเจ้าเชียงใหม่ เปิดประตูเมืองออกรับกองทัพพม่าเข้าเมือง พม่าจับตัวเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์และเจ้าน้ำบ่อ ผู้เป็นพี่และบิดาเลี้ยงเจ้าศรีสองเมืองได้ พม่าจึงให้เอาไม้หนีบอกเจ้าน้ำบ่อไว้อยู่ได้ ๗ วันก็ถึงแก่กรรม แล้วให้เอาศพไปทิ้งไว้ที่บ่อน้ำข้างตะวันตกวัดภูมินทร์ จึงเรียกว่า “เจ้าน้ำบ่อ” แต่นั้นมาตราบจนทุกวันนี้ ส่วนเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์นั้น พม่าจับตัวไปยังเมืองเชียงใหม่ด้วย ครั้นถึงก็ให้ฆ่าเสีย วันที่เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ถูกประหารนั้น เกิดแผ่นดินไหวเป็นอัศจรรย์ ครั้นแล้วพระเจ้าเชียงใหม่ก็สถาปนาให้เจ้าศรีสองเมืองเป็นที่ “เจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม เจ้าเมืองน่าน” และทรงรับเลี้ยงไว้ในฐานะราชบุตรบุญธรรม

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๕๗ จุลศักราช ๙๗๖ (พงศาวดารลานนาไทยฉบับของแสนหลวงราชสมภาร ว่า พ.ศ. ๒๑๕๘ จุลศักราช ๙๗๗) เดือน ๕ น้องมองกวยตกราชบุตรองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าเชียงใหม่สารวดีทิวงคต ไม่มีราชบุตรที่จะสืบสันตติวงศ์ บรรดาขุนนางท้าวพระยาทั้งหลายและข้าราชบริพารทั้งมวล จึงพร้อมใจกันไปอัญเชิญเอาเจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม เจ้าเมืองน่าน ผู้เป็นราชบุตรบุญธรรมของพระเจ้าเชียงใหม่สารวดีนั้น มาครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมืองจึงโปรดให้เจ้าอุ่นเมืองอนุชาเป็นเจ้าเมืองน่าน แล้วพระองค์เสด็จขึ้นมาครองเมืองเชียงใหม่

ในครั้งนั้น ภายใต้เศวตฉัตรของประเทศพม่าเกิดยุ่งเหยิง เนื่องจากมังเรทิปราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีร่วมคิดกับขุนนางลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี แล้วยกมังเรทิปขึ้นเสวยราชสมบัติแทน เมื่อความทราบถึงสะโดะธรรมราชา (พระเจ้าสุทโธธรรมราชาหรือพระเจ้าแปร) กับมังเรกะยอโส (พระเจ้าอังวะ) ซึ่งมาจัดการปกครองแคว้นลานนาไทยอยู่ในขณะนั้น ก็รีบยกกองทัพกลับไป ครั้นถึงเมืองปินยาทราบว่าเจ้าราชบุตรมังเรทิป (หรือนองรามเมง) ได้ครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ถอยไปรวบรวมกำลังรี้พลที่เมืองฮ่อ ได้กำลังพอแล้วก็ยกไปตีเมืองพะโคถอดมังเรทิปออกเสียจากราชสมบัติ และพระเจ้าแปร (สะโดธรรมราชา) จึงขึ้นครองราชย์สมบัติ และทรงตั้งให้มังเรกะยอโส (พระเจ้าอังวะหรือมังเรจอชะวา) เป็นมหาอุปราชา แต่ให้รักษากรุงอังวะไว้ ส่วนพระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้ยกกองทัพกลับมายังลานนาไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นลานนาไทยที่ยังแข็งเมืองอยู่นั้นให้ราบคาบ

ฝ่ายพระเจ้าชียงใหม่ศรีสองเมืองเห็นว่า การภายในบ้านเมืองพม่ากำลังยุ่งเหยิงอยู่เช่นนั้น ก็ทรงดำริว่าเป็นโอกาสอันดีที่ลานนาไทยจะกอบกู้อิสรภาพ ให้กลับคืนคงดำรงเอกราชต่อไปอีก พระองค์จึงให้แข็งเมืองขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองที่ยังฝักใฝ่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่าอยู่ เช่นเมืองเชียงแสนเป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๑๖๙ (จุลศักราช ๙๘๘) จับตัวนายหน่อคำ เจ้าเมืองเชียงแสนมาขังไว้ที่เชียงใหม่ แล้วตั้งเจ้าเมืองนครลำปางเป็นที่ “พระยาศรีสองเมือง” ตั้งแสนอาญาเป็นหวุ่นถือพล ๓,๐๐๐ อยู่รั้งรักษาเมืองเชียงแสน เมื่อจัดการบ้านเมืองเชียงแสนเรียบร้อยแล้ว ก็ยกกองทัพกลับมายังเมืองเชียงใหม่

พระองค์ทรงได้ติดต่อไปยังหัวเมืองต่างๆในลานนาไทย ให้ช่วยกันกอบกู้อิสรภาพและแข็งเมืองต่อพม่า หัวเมืองที่แข็งเมืองจึงต่อสู้กองทัพพระเจ้าสุทโธธรรมราชาอย่างแข็งแรง ซึ่งพระเจ้าสุทโธธรรมราชาต้องตั้งค่ายอยู่ถึง ๓ ปี จึงตีแตก คือเมืองฝาง (อ่านเรื่องพระนางสามผิว) แต่พระองค์ทรงทำการไม่สำเร็จสมความมุ่งหมาย เพราะกำลังของพม่าในครั้งนั้นเข้มแข็งนัก และบรรดาหัวเมืองต่างๆ ไม่มีความสามัคคีกัน บางเมืองยังเกรงกลัวพม่าอยู่ก็ไม่อาจแข็งเมืองได้

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธธรรมราชา หลังจากที่ทรงจัดการบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อย ทรงทราบว่าหัวเมืองในลานนาไทยแข็งเมืองกระด้างกระเดื่องต่อพระองค์ ก็ทรงยกกองทัพใหญ่มาปราบปราม ในปีพ.ศ. ๒๑๗๔ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๙๙๓ ทรงตีเมืองเชียงใหม่แตก และจับตัวพระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมืองได้ จึงให้คุมตัวไปกักขังไว้ที่กรุงอังวะจนถึงแก่ทิวงคต

พระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมืองได้ครองเมืองเชียงใหม่แต่ปี พ.ศ. ๒๑๕๗ สิ้นอิสรภาพถูกพม่าจับตัวในปี พ.ศ. ๒๑๗๔ รวมเวลาทีครองราชย์สมบัติ ๑๗ ปี แล้วพม่าตั้งให้พระยาหลวงทิพเนตรเจ้าเมืองฝางมาครองเมืองเชียงใหม่ นับแต่นั้นมาลานนาไทยและเมืองเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในอำนาจพม่า สิ้นอิสรภาพโดยสิ้นเชิง


นันทบุรี



..........................................................................


ชานกะเล
พ่อเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก


ชานกะเล เป็นชนชาติไตเงี้ยว (หรือไทยใหญ่) แต่เนื่องด้วยเป็นคนซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทย ที่เขาได้อาศัยตั้งถิ่นฐานทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุข เขาจึงได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็น “พญาสิงหนาทราชา” เป็นพ่อเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก

ชีวิตของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติเมืองแม่ฮ่องสอนดังต่อไปนี้

เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๓๗๔ พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นครเชียงใหม่ องค์ที่ ๕ มีความประสงค์ใคร่จะทราบถึงความเป็นไปทางชายแดนด้านตะวันตกเมืองเชียงใหม่ และต้องการช้างป่าไว้ใช้การ จึงจัดให้เจ้าแก้วเมืองมา ซึ่งเป็นญาติและไพร่พลช้างต่อหมอควาญ ออกเดินทางไปตรวจตราและไล่จับช้างมาฝึกสอนเพื่อไว้ใช้ในราชการ เจ้าแก้วเมืองมาเมื่อได้รับรับสั่งของพ่อเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ยกขบวนเดินทางรอนแรมไปตามระยะทางเมืองปาย แล้วบ่ายโฉมหน้าไปทางใต้

จนกระทั่งบรรลุถึงที่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำปาย เป็นป่าพงที่ว่างเปล่า และเป็นที่โป่ง หมูป่าลงมากินดินโป่งชุกชุม ณ ที่แห่งนี้ มีพวกเงี้ยว กระเหรี่ยง(ยาง) ตั้งทับกระท่อมอยู่ตามชายเขาริมห้วย กระจัดกระจายกันอยู่เป็นหย่อมๆ เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสำหรับจะตั้งหมู่บ้านได้ จึงหยุดพักขบวนอยู่ที่นั่น และให้เรียกพวกชาวเงี้ยว กะเหรี่ยง(ยาง) ที่ตั้งทับกระท่อมอยู่ริมห้วยชายเขามาประชุมชี้แจง แนะนำให้ตั้งเป็นหมู่บ้านบุกเบิกทำไร่นา เพราะบริเวณป่าพงที่นั้นพอจะบุกเบิกทำนาได้ พวกเงี้ยว กะเหรี่ยงก็เห็นชอบด้วย เพราะสมัยนั้น ผู้ใดจะบุกเบิกทำไร่นาปลูกบ้านเรือน จะต้องไปขอรับอนุญาตจากหัวหน้าผู้ดูแลปกครองที่ดินเสียก่อน มิฉะนั้นจะถูกขับไล่และมีโทษ

เมื่อเห็นว่าพวกเงี้ยว กะเหรี่ยงตกลงแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาจึงเลือกชาวเงี้ยวผู้หนึ่ง ชื่อ พะกาหม่อง เป็นคนเฉลียวฉลาดคล่องแคล่ว ตั้งให้เป็น “ก๊าง” (ผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าราษฎร) คอยควบคุมดูแลพวกลูกบ้านที่จะมาตั้งอยู่ และแนะนำชี้แจงให้พะกาหม่องไปชักชวนเกลี้ยกล่อมพวกอื่นๆที่อยู่ตามชายเขาริมห้วยใกล้เคียง ให้มาอยู่รวมกันที่เดียวเป็นหมวดหมู่ และให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านโป่งหมู” เพราะมีดินโป่งที่หมูป่าชอบมากินนั้นเอง (หมู่บ้านนี้ปัจจุบันเรียกว่า บ้านปางหมู ห่างจากศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ ๗ กิโลเมตร)

เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาจัดตั้งหมู่บ้านโป่งหมูเรียบร้อยแล้ว ก็ยกขบวนออกเดินทางตรวจเขตแดน หารอยที่จะไล่คล้องช้างป่าต่อไป ครั้นเดินทางมาถึงห้วยแห่งหนึ่ง มีรอยช้างป่าชุกชุมก็หยุดพักออกทำการไล่คล้องช้างป่า ได้หลายเชือก จึงตั้งคอกสอนช้างที่ริมห้วย ที่บริเวณนั้นกว้างขวาง ภูมิภาคพื้นที่ก็ดีกว่าบ้านโป่งหมู มีพวกเงี้ยวและชาวเขาตั้งทับกระท่อมอยู่ตามไหล่เขา เช่นเดียวกับบ้านโป่งหมู เจ้าแก้วเมืองมาเห็นสมควรที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านได้ จึงเรียกเงี้ยวผู้หนึ่งชื่อว่า แสนโกม เป็นบุตรของเทพหม่อมบ้านโป่งหมู มาตั้งให้เป็น “ก๊าง” และให้เกลี้ยกล่อมชักชวนผู้อื่นที่อยู่ตามชายเขาในป่า ลงมาตั้งบ้านเรือยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขึ้น แสนโกมก็ยินดีปฏิบัติตาม เมื่อมีผู้คนลงมาตั้งอยู่พอประมาณ เจ้าแก้วเมืองมาก็ให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านแม่ร่องสอน” หมายถึงลำห้วยที่ใช้เป็นที่สอนช้างนั้นเอง แต่คำว่า “ร่อง” คำเมืองออกเสียงเป็น “ฮ่อง” จึงเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “แม่ฮ่องสอน” จนกระทั่งทุกวันนี้

เมื่อเจ้าแก้วเมืองมากลับมายังเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ได้ทูลให้พระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทรงทราบ และต่อมาพ่อเจ้าหลวงได้ถือเอากรรมสิทธิ์ป่าไม้เมืองยวม (แม่สะเรียง) และให้ชาวพม่า ๒ คนเหมาทำป่าไม้ จนมีเรื่องพิพาทกัน เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เจ้าราชบุตรสุริยวงศ์บุตรของท่านต้องเป็นความกับพม่าต้องซู่ ต้องเสียเงินให้พม่าต้องซู่ถึงสองร้อยแปดสิบหกชั่ง (๒๒,๘๘๐ บาท)

ฝ่ายพะกาหม่องและแสนโกม เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาหลับมาแล้ว ก็ได้เกลี้ยกล่อมชักชวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง และที่อื่นๆให้มาตั้งอยู่รวมกัน ครั้นจำเนียรกาลนานมา ก็มีผู้คนอพยพมาอยู่ด้วยมากเข้า หมู่บ้านโป่งหมูและบ้านแม่ฮ่องสอนก็กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ผู้คนมากขึ้น หมู่บ้านทั้งสองก็เจริญขึ้นตามลำดับ พะกาหม่องและแสนโกมเห็นว่าป่าแถวนั้นมีไม้ขอนสักอยู่มาก หากตัดฟันชักลากลงลำห้วยและให้ไหลออกแม่น้ำคง (สาละวิน) ไปขายทางเมืองพม่า จะได้เงินบำรุงบ้านเมืองให้เป็นประโยชน์ดีกว่าที่เป็นอยู่ จึงพากันไปเมืองเชียงใหม่ เข้าเฝ้าพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทูลขออนุญาตฟันไม้สักล่องไปขายเมืองพม่า ได้ผลประโยชน์มาจะแบ่งเงินค่าตอไม้มาถวายทุกปี พระเจ้ามโหตรประเทศฯก็ทรงยินดีอนุญาต พะกาหม่องและแสนโกมจึงทูลลากลับ แล้วก็เริ่มลงมือทำป่าไม้แต่นั้นมา โดยตัดไม้ส่งขายที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ได้เงินมาก็แบ่งเป็นค่าตอไม้ถวายพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทุกปี

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๙๗ พระเจ้ามโหตรประเทศฯ ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแก้วสุริยวงศ์ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีนามตามสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์” เพราะเป็นราชบุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ) พะกาหม่องและแสนโกม ก็ยังคงทำป่าไม้และส่งเงินถวายเป็นค่าตอไม้เสมอมา และพะกาหม่องกับแสนโกมก็มีฐานะดีขึ้น บ้านโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนก็ค่อยเจริญขึ้น

ในครั้งนั้น หัวเมืองเงี้ยวฝ่ายตะวันตกฝั่งแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) เกิดการจลาจล เกิดรบราฆ่าฟันกัน พวกราษฎรชาวเมืองก็พากันแตกตื่นหนีภัยจลาจล อพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ที่บ้านโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนมากขึ้น บางพวกก็ไปอาศัยอยู่ที่บ้านขุนยวม ซึ่งมีพวกเงี้ยวไปตั้งหมู่บ้านอยู่บนเขานั้น บางพวกก็ไปอาศัยอยู่ที่เมืองปาย

ในจำนวนพวกเงี้ยวที่อพยพเข้ามานี้ มีชาวเงี้ยวเมืองจามก๋าผู้หนึ่งชื่อ ชานกะเล ได้เข้ามาอาศัยอยู่กับพะกาหม่องบ้านปางหมู ชานกะเลเป็นคนสัตย์ซื่อ และขยันขัยแข็ง พะกาหม่องมีความพอใจรักใคร่ จึงแบ่งทุนให้ร่วมในการทำป่าไม้ ชานกะเลก็มีความตั้งใจทำงานโดยมิคิดเหนื่อยยาก ทำให้มีรายได้ดีขึ้น พะกาหม่องไว้วางใจมาก ถึงยกบุตรสาวชื่อนางใสให้เป็นภรรยา นางใสมีบุตรหญิงกับชานกะเลคนหนึ่งชื่อ นางคำ

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าฟ้าโกหล่าน เจ้าเมืองหมอกใหม่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแม่ฮ่องสอน ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าฟ้าเมืองนาย เมืองนายจึงยกกองทัพไปตีเมืองหมอกใหม่แตก เจ้าฟ้าโกหล่านพาครอบครัวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแสนโกม ณ ที่บ้านแม่ฮ่องสอน เจ้าฟ้าโกหล่านมีภรรยาชื่อ นางเกี๋ยง มีบุตรชายผู้หนึ่งชื่อ เจ้าขุนหลวง เจ้าขุนหลวงมีบุตร ๔ คน เป็นชาย ๑ หญิง ๓ ชายชื่อ ขุนแจ หญิงชื่อ เจ้านางหอม เจ้านางนุ เจ้านางเมี๊ยะ

แสนโกมจึงนำความกราบบังคมทูลให้พระเจ้ากาวิโรรสทรงทราบ พระเจ้ากาวิโรรสสั่งให้ส่งตัวเข้าไปเฝ้า แต่เจ้าฟ้าโกหล่านป่วย จึงให้เจ้าขุนหลวงไปแทน พระเจ้ากาวิโรรสทรงชอบในอัธยาศัยของเจ้าขุนหลวง จึงอนุญาตให้เจ้าฟ้าโกหล่านและบุตรภรรยาอาศัยอยู่ในเขตแดนต่อไป

ครั้นต่อมานางใส ภรรยาขอดงชานกะเลถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่านจึงยกเจ้านางเมี๊ยะหลานสาวให้เป็นภรรยาของชานกะเล เจ้านางเมี๊ยะเคยมีสามีเป็นชนชาติแม้ว และมีบุตร ๒ คน คนแรกชื่อ ขุนทุนเล่า ถึงแก่กรรมที่ขุนยวม อีกคนหนึ่งชื่อ เจ้าแดง เจ้านางเมี๊ยะมีบุตรกับชานกะเล ๑ คน ไม่ทราบชื่อ ชานกะเลเมื่อได้นางเมี๊ยะเป็นภรรยาแล้ว ก็แยกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ขุนยวม ความขยันขันแข็งและความซื่อสัตย์ของชานกะเล ได้ทรงทราบถึงพระกรรณของพระเจ้ากาวิโรรสฯ จึงเรียกตัวไปอยู่กับพระเจ้ากาวิโรรสฯ ที่นครเชียงใหม่

๒ ปีเศษ พระเจ้ากาวิโรรสพิราลัย ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ เจ้าอุปราชอินทนนท์ ซึ่งเป็นบุตรเขยได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นองค์ที่ ๗ และต่อมาใน พ.ศ.๒๔๑๗ พระเจ้าอินทวิชานนท์ (เป็นพระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) เห็นว่าชานกะเลเป็นคนซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่เป็นอันดี และเป็นบุคคลที่พวกเงี้ยวทั้งหลายเชื่อถือ จึงได้แต่งตั้งให้ชานกะเลเป็น ”พญาสิงหนาทราชา” เป็นพ่อเมือง และยกบ้านแม่ฮ่องสอนขึน้เป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า เมืองแม่ฮ่องสอน มีเมืองขุนยวมและเมืองปายเป็นเขตแดน เมืองยวมเป็นเมืองรอง นับว่าพญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) เป็นพ่อเมืองเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นคนแรก

พญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นเป็นอนุสรณ์ที่พระธาตุดอยกองมู และถวายไว้กับพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ นั้นเอง

เมื่อพญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) ถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนในต่อมาคือ แม่เจ้านางเมี๊ยะ ภรรยาของพญาสิงหนาทราชา พญาพิทักษ์สยามเขต และพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงเลิกตำแหน่งพ่อเมือง


พญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล)



..........................................................................


หมื่นด้ำพร้าคต
นายช่างเอกแห่งลานนาไทย


หมื่นด้ำพร้าคตผู้นี้ปรากฏในตำนานต่างๆกันดังนี้ ตำนานโยนกเรียกว่า หมื่นด้ำพร้าคต ชินกาลมาลินีปกรณ์ว่า สีหโคตรเสนาบดี ตำนานพระธาตุวัดเจดีย์หลวงว่า หมื่นด้ำสีหโคตร ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า หมื่นด้ำพร้าคต ท่านผู้นี้เป็นนายช่างเอกที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้เป็นนายช่างเอกอำนวยการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่กลางเวียงเชียงใหม่ คือเจดีย์หลวง หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โชติการาม ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่ท่านผู้นี้ได้ฝากไว้ในโลกา จนปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ประวัติเดิมของหมื่นด้ำพร้าคตนี้ ในพงศาวดารหรือตำนานพื้นเมืองฉบับของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในสมัยยังเยาว์วัยเป็นพระสหายของพระเจ้าติโลกราช ถึงกับทรงตรัสไว้เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า “หากกูเป็นใหญ่ กูจักตั้งมืงให้เป็นเสนา” และเมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติครองเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงแต่งตั้งให้หมื่นด้ำพร้าคนเป็นเสนาบดี สมดั่งที่ตรัสไว้

หมื่นด้ำพร้าคต เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยเหลือพระเจ้าติโลกราช ในการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางพุทธศาสนาให้แก่ลานนาไทย เช่นเดียวกับหมื่นโลกสามล้าน หรือ หมื่นด้งนคร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในด้านขุมกำลังทางทหารและการปกครอง หมื่นด้ำพร้าคตเคยไปลังกา เพื่อจำลองแบบอย่างโลหปราสาทและรัตนเจดีย์ ณ เมืองลังกาทวีปโพ้นมา แล้วให้หมื่นด้ำพร้าคตเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์กุฏิมหาธาตุ หรือเจดีย์ลักษณบุราคม (เจดีย์หลวง เชียงใหม่) ปีที่หมื่นด้ำพร้าคตเดินทางไปยังเมืองลังกาทวีปนี้ คือ พ.ศ. ๒๐๒๐ (ดูหนังสือตำนานโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ หน้า ๒๔๓ – ๒๔๔)

นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุเจดีย์หลวง หมื่นด้ำพร้าคตยังได้ทำการหล่อพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่หนักประมาณ ๓๓ แสน ให้มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลวปุระ (คือพระเจ้าแค่งคม วัดศรีเกิดปัจจุบัน) พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้หมื่นด้ำพร้าคต หรือสีหโคตรเสนา กับอาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ (คือหมื่นด้ำพร้าอ้าย) เป็นผู้ทำการหล่อที่วัดป่าตาลมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองเชียงใหม่ (ว่าคือวัดตะโปทารามหรือวัดล่ำเปิงปัจจุบันใต้สนามบิน) ลางท่านก็ว่าวัดป่าตาลนั้นเป็นวัดร้างอยู่ทางด้านใต้โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพปัจจุบัน

จากผลงานชิ้นสำคัญ ๒ ชิ้นนี้ แสดงว่าหมื่นด้ำพร้าคตหรือสีหโคตรเสนาบดีท่านนี้ เป็นทั้งนายช่างสถาปนิกและนักประติมากรรมลือชื่อ ไม่แต่ในอดีตสมัยเท่านั้น แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยากที่จะหานายช่างและนักประติมากรรมที่สร้างผลงานไว้เท่าเทียมท่านได้ ดังนั้นหมื่นด้ำพร้าคตจึงเป็นผู้ควรแก่การยกย่องสรรเสริญผู้หนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่ง หมื่นด้ำพร้าคตท่านนี้ เป็นชาวเมืองยวม และเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว อิฐของท่านก็ได้บรรจุไว้ในกู่ที่เมืองยวมใต้ ซึ่งอาจจะเป็นเจดีย์ร้างแห่งใดแห่งหนึ่ง ในบริเวณเมืองยวมใต้นี้เอง

ท่านถึงอนิจกรรมเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๒๕ * ปรากฏในตำนานโยนกว่า “ลุศักราช ๘๔๔ ปีขาลจัตวาศก หมื่นด้ำพร้าคตหรือสีหเสนาบดี ผู้เป็นนายช่างใหญ่ป่วยถึงอนิจกรรม โปรดให้ทำฌาปนกิจ ณ เมืองยวมใต้ ให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ ที่นั้น”

แม้ว่าท่านจะล่วงลับไปเป็นเวลานานถึง ๔๘๖ ปีกว่ามาแล้วก็ตาม แต่ผลงานของท่านยังคงปรากฏแก่สายตาของชนรุ่นหลังจนกระทั่งทุกวันนี้ และจะคงอยู่ต่อไป จนชั่วลูกชั่วหลานชั่วกาลนาน และดวงวิญญาณของท่าน แม้จะสิงสถิตอยู่แห่งใดก็ดีคงจะชื่นชมกับผลงานของท่าน ซึ่งยังคงอยู่ตาบทุกวันนี้ และตลอดไปชั่วกัลปวสาน


....................................................................................................................................................

* ชินกาลมาลินี ว่าพระเจ้าพิลกโปรดให้หล่อพระพุทธรูปแบบลวปุระ (พระเจ้าแค่งคม) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๗ (จ.ศ. ๘๔๕) หากถือเอาตามตำนานโยนกว่า หมื่นด้ำพร้าคตถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ จ.ศ. ๘๔๔ ก็เป็นเวลาหลังจากหมื่นด้ำพร้าคตถึงแก่อนิจกรรม ๑ ปี เข้าใจว่าอาจคลาดเคลื่อน


..........................................................................


เจ้าเมืองไชย
อัศวินใจสิงห์


เขาเป็นยอดนักสู้ชาวลำพูน ผู้ไม่ยอมคุกเข่าศิโรราบให้แก่ต่างชาติ แม้ว่าเขาจะถูกพม่าชนชาติศัตรูต้อนเอาจนมุมถึง ๒ ครั้ง แต่เขาก็เช่นเดียวกับเบ้งเฮงวีรบุรุษใจสิงห์ชาวหม่าน ซึ่งไม่ยอมคุกเข่าให้แก่ขงเบ้งผู้พิชิต ผิดแต่ว่าเบ้งเฮกนั้นเมื่อถูกจับครั้งที่ ๗ มนุษย์ใจสิงห์ชาวหม่านก็เลยใจอ่อน ยอมให้ขงเบ้งกลืนเอาทั้งเป็นอย่างคุณชายคึกฤทธิ์ว่าไว้ในสามก๊กฉบับนางทุน แต่ทว่ามนุษย์ใจสิงห์ชาวลำพูนผู้นี้ไม่ยอมแพ้ไม่ยอมให้พม่ากลืนทั้งเป็น แต่ยอมตายยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อเกียรติศักดิ์ของนักสู้ชาวลนนาไทย เขาคือ เจ้าเมืองไชย อัศวินใจสิงห์ เจ้าเมืองลำพูนแห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๓

ในยุคนั้นทั่วผืนลานนาไทย ต่างแยกกันตั้งอยู่เป็นก๊กเป็นเหล่า เมืองลำพูนในขณะนั้นตั้งตัวเป็นเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร โดยมีเจ้าเมืองไชยพ่อเมืองเป็นประมุข ครั้นในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่าได้ให้เกณฑ์กำลังทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ให้โป่ชุกเป็นแม่ทัพคุมพลลงมาตีหัวเมืองต่างๆในแว่นแคว้นลานนาไทย เพื่อจะยึดเอาหัวเมืองฝ่ายเหนือของลานนาไทย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นฐานทัพในอันที่จะรุกรานกรุงศรีอยุธยาตามแผนการต่อไป กองทัพพม่าในสมัยนั้นนับว่าเป็นกองทัพที่เกรียงไกร และแสนยานุภาพมากที่สุดในแหลมทอง ภายใต้การนำของจอมพลโป่ชุกก็บุกตะลุยตีดะมายังเมืองเชียงใหม่ อันเป็นเมืองใหญ่และตั้งแข็งเมืองอยู่นั้นแตกยับเยิน และต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่า

หลังจากที่ได้เมืองเชียงใหม่แล้ว โป่ชุกผู้เป็นแม่ทัพก็วางแผนที่จะตีเอาเมืองลำพูนอีก ฝ่ายเจ้าเมืองพ่อเมืองไชยลำพูนได้ทราบข่าวศึกก็เร่งจัดเตรียมไพร่พลไว้พร้อมพรัก เตรียมรับมือพม่าอย่างอาจหาญ และเมื่อกองทัพพม่ายกมาถึงเจ้าเมืองไชยก็คุมไพร่พลออกต่อสู้พม่าเป็นสามารถ แต่เพราะกองทัพเมืองลำพูนมีกำลังน้อยกว่า เมื่อต้านทานอยู่ได้ไม่นานนัก กองทัพพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าก็บุกตะลุยเข้าเมือง จับตัวเจ้าเมืองไชยพ่อเมืองได้ แต่พม่ามิได้ฆ่าคงให้อยู่ในตำแหน่งพ่อเมืองต่อไป โดยมิให้ทำอันตรายหรือลงทัณฑ์อย่างใดแก่เจ้าเมืองไชย ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ว่าอย่างไรเสียเจ้าเมืองไชยก็คงเป็นผู้ที่มีพิษสงอยู่ไม่น้อย พม่าจึงต้องเอาใจเลี้ยงไว้เพื่อเป็นกำลังต่อไป

นี่เป็นการจนมุมครั้งที่ ๑ ของยอดนักสู้ชาวลำพูน

เป็นที่น่าเสียดายที่ในพงศาวดารเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน กล่าวถึงพฤติการณ์เจ้าเมืองไชยน้อยไป แต่นั่นแหละมนุษย์ใจสิงห์อย่างเจ้าเมืองไชยนั้น ยากนักที่จะค้อมหัวให้แก่พม่าง่ายๆ เลือดนักสู้ของชาวลำพูนนี้คงมีสีแดงเข้มข้นเยี่ยงบรรพบุรุษของเขา แต่เมื่อเห็นว่ากำลังของตนน้อยกว่าพม่าเข้าก็สงบนิ่งคอยทีอยู่ แม้ว่าหัวใจของเขาจะเดือดพล่านด้วยเพลิงแค้น และความเจ็บช้ำอันแทบจะเหลือความอดกลั้นก็ตาม

ฝ่ายโป่ชุกเมืองตีได้เมืองลำพูนแล้ว ก็เลยยกกองทัพไปตีเมืองลำปาง ซึ่งขณะนั้นท้าวลิ้นก่านครองเมืองอยู่ ในกองทัพพม่าที่ยกมาคราวนี้ มีคนสำคัญที่สมควรกล่าวนามในที่นี้คือ เจ้าฟ้าชายแก้ว (หรือเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว) ราชบุตรของพญาสุละวะฤๅชัยสงคราม (ทิพช้าง) ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และเชื้อ(เจ้า)เจ็ดตนในทุกวันนี้ ร่วมมาด้วย

เจ้าฟ้าชายแก้วได้หลบหนีเจ้าลิ้นก่านเจ้าเมืองลำปางเก่า ซึ่งยกมาตีเอาเมืองลำปางคืนจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ในปี พ.ศ. ๒๓๐๕ เจ้าฟ้าชายแก้วพ่ายเสียเมืองแก่ท้าวลิ้นก่าน จึงหลบหนีไปสวามิภักดิ์กับพม่า ซึ่งพม่าเห็นว่าเจ้าฟ้าชายแก้วจะได้เป็นกำลังสำคัญ ในการปกครองแว่นแคว้นลานนาไทยได้อยู่ จึงอุปถัมภ์เลี้ยงดูเป็นอันดี และเมื่อพม่าให้โป่ชุกยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เจ้าฟ้าชายแก้วก็ได้ร่วมเข้ามาในกองทัพด้วย และเมื่อพม่าตีเมืองลำปางแตก ก็ให้เจ้าฟ้าชายแก้วกับท้าวลิ้นก่านแข่งขันดำน้ำพิสูจน์ ว่าใครเป็นผู้มีสิทธิ์ครองเมืองลำปาง ท้าวลิ้นก่านแพ้จึงถูกจับประหารชีวิตเสีย แล้วพม่าก็สถาปนาให้เจ้าฟ้าชายแก้วเป็นที่ เจ้าฟ้าชายแก้ว ปกครองเมืองนครลำปาง ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ นั้นเอง แต่พม่าไม่มีความไว้วางใจเจ้าฟ้าชายแก้ว เกรงว่าจะคิดกู้อิสรภาพอีก จึงให้ขุนนางพม่าผู้หนึ่งคุมไพร่พลคอยควบคุมเป็นการคุมเชิงไว้

ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้น โป่ชุกได้ตั้งให้โป่อภัยคามินีเป็นเจ้าเมืองคุมทหารรักษาเมืองอยู่ แม้นว่าลานนาไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าก็ตาม แต่ทว่าจิตใจของชาวลานนาไทยยังคงเป็นไทยอยู่เสมอ ชนชาวลานนาไทยลางกลุ่มได้รวมกำลังกันขึ้นแข็งข้อสู้นบกับพม่าบ่อยๆ แต่ก็ถูกพม่าปราบปรามเสียทุกครั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเราต่างคนต่างแบ่งกันเป็นพวกเป็นเหล่าไม่มีความสามัคคีกัน ทั้งๆที่ทุกพวกมีจุดหมายอย่างเดียวกันคือ กู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นจากแอกการปกครองของพม่า แต่ก็หาพยายามรวมกำลังส่วนใหญ่ให้เป็นกลุ่มก้อนไม่ ซึ่งเพราะกำลังกระจัดกระจายกันอยู่นี้เอง ทำให้พม่าปราบเสียจนชาวลานนาไทยไม่กล้าลุกฮือขึ้นอีก และนับแต่นั้นมาพวกพม่าก็กดขี่ข่มเหงบังคับพวกราษฎรชาวลานนาไทยหนักขึ้น เพื่อให้ชาวลานนาไทยเกรงกลัว โดยหาคิดไม่ว่าการกระทำเช่นนั้น ทำให้ชาวลานนาไทยพากันเคียดแค้นชิงชังพวกพม่าเป็นอันมาก ซึ่งต่างก็พากันจะคิดบัญชีแก้ลำพม่า และมีชาวลานนาไทยผู้รักชาติลางกลุ่มคุมสมัครพรรคพวกเป็นกองโจรทำการรังควานพม่าอยู่เสมอ

ครั้นลุถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๘ เจ้าเมืองไชยเจ้าเมืองลำพูนซึ่งมีความเจ็บแค้นพวกพม่า ที่กดขี่ข่มเหงราษฎรชาวลานนาไทย ให้ได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้านั้น จนสุดที่จะอดรนทนดูอีกต่อไปได้ จึงคิดอ่านหาหนทางที่จะกู้อิสรภาพจากพม่า เจ้าเมืองไชยจึงส้องสุมผู้คนไพร่พลแลแสบียงอาหารไว้ จนเห็นว่ามีกำลังเข้มแข็งพอที่จะสู้กับพวกพม่าแล้ว เจ้าเมืองไชยก็ประกาศตนเป็นศัตรูอันเปิดเผยต่อพม่าทันที ด้วยการแข็งเมืองไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพม่าอีกต่อไป และจับพม่าที่กดขี่ข่มเหงราษฎรชาวลานนาไทยฆ่าตายเสียเป็นอันมาก เมื่อกวาดพวกพม่าในเมืองลำพูนเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าเมืองไชยก็แยกไพร่พลออกจากเมืองลำพูนมุ่งจะกวาดล้างพม่าที่อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ โดยมีโป่อภัยคามิณีเป็นหัวหน้า

โป่อภัยคามิณีเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท คิดว่าชาวลานนาไทยคงไม่กล้าที่จะกำแหงหาญลุกฮือขึ้นต่อสู้กับพม่าอีก ก็มัวนอนซดสุราและกกนารีรุ่นกระเตาะอยู่ในคุ้ม กองทัพเมืองลำพูนซึ่งเคลื่อนพลมากลางดึก ก็ยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่ในคืนนั้น พวกพม่าไม่ทันรู้ตัวก็ถูกชาวลำพูนฆ่าตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็รบยันไว้ แต่พวกพม่านั้นจะว่ากล้าหาญนักก็ไม่เชิง ด้วยประดาบกับนักรบชาวลำพูนไม่กี่เพลงยังไม่ทันรุ่งเช้าก็เปิดหนีหมด โป่อภัยคามิณีหัวหน้ารีบเผ่นขึ้นหลังม้าหนีไปอย่างหวุดหวิด กองทัพเมืองลำพูนก็ยึดเมืองเชียงใหม่ได้ในคืนนั้นเอง

เจ้าเมืองไชยจึงขึ้นครองเมือง ซึ่งขณะนั้นมีสภาพร่วงโรยจนแทบจะกลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว เพราะเกิดสู้รบกันกลางเมืองบ่อยๆ พวกราษฎรไม่กล้าอยู่อาศัย จึงอพยพครอบครัวไปอยู่ตามป่าดงเป็นซ่องโจรอยู่เป็นก๊ก ซึ่งเป็นผลร้ายในการบั่นทอนกำลังของตนเอง ฉะนั้นแม้ว่าเจ้าเมืองไชยจะทำการขับไล่พวกพม่าออกไปได้ แต่ทว่าเจ้าเมืองไชยก็หาสามารถรวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นได้ไม่ เพราะบ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นปกติสุข แต่เจ้าเมืองไชยก็คงคุมทหารรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างเข้มแข็ง ทั้งๆที่เจ้าเมืองไชยเองก็คิดว่าอย่างไรเสียพวกพม่าคงจะมาตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน จึงให้พวกไพร่พลฝึกปรือวิชาเพลงอาวุธไว้เสมอมิได้ขาด

ขณะนั้น ทางพม่าซึ่งกำลังคอยจ้องตะครุบเมืองไทยอยู่นั้น เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลงมากแล้ว เพราะกษัตริย์อ่อนแอ หาได้เอาใจใส่ราชการงานเมืองไม่ ปล่อยให้พวกอำมาตย์และขุนนางทุจริตคนโกงกอบโกยเอาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า ขุนนางคนดีๆถูกกำจักเสียมิใช่น้อย และที่ไม่สามารถทนดูภาวะที่แสนจะทนทานได้นั้น ก็หลีกเลี่ยงเอาตัวรอกไปเสีย บ้านเมืองจึงยุ่งอีหลุกขลุกเขลก พวกพม่าซึ่งคอยจ้องตะครุบเมืองไทยอยู่แล้ว เห็นทีได้โอกาสก็เตรียมรี้พลจะบุกกรุงศรีอยุธยาให้ราบเป็นหน้ากอง ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาก็เสียทีสิ้นอิสรภาพ บ้านแตกสาแหรกขาดยับเยินไปตามๆกัน หากไม่มีพระเจ้าตากสินกูอิสรภาพไว้ก็เห็นจะอับอายขายหน้าพม่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ฝ่ายทางแคว้นลานนาไทยนั้นเล่า เจ้าเมืองไชยยอดนักสู้ชาวลำพูน ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่นั้น อาสน์บัลลังก์เจ้าเมืองก็ร้อนเป็นไฟ เพราะพม่าให้อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพผู้เฒ่า ผู้เจนศึกเกณฑ์ไพร่พลมาเป็นอันมาก ราวจะเหยียบผืนธรณีลานนาไทยให้ถล่มทลายไปฉะนั้น ก็เพื่อกวาดล้างกำลังของพวกเจ้าเมืองเก่าๆ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามของพม่าให้หมดสิ้นไปจริงๆ เพราะเมื่อพม่าตีได้เมืองใดก็ให้พม่าคุมพลครองเมืองอยู่ คอยทำการกวาดล้างชาวลานนาผู้ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ด้วย ในครั้งนี้ชาวลานนาไทยถูกพวกพม่าฆ่าตายเสียมิใช่น้อย อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพตะลุยแคว้นลานนาไทยอย่างดุเดือด และที่สุดก็ยกเข้าล้อมนครเวียงพิงค์ไว้ เจ้าเมืองไชยมนุษย์ใจสิงห์ชาวลำพูนคุมทหารต่อสู้อย่างทรหด การสู้รบระหว่างเจ้าเมืองไชยกับกองทัพพม่าเป็นไปอย่างดุเดือดยิ่ง กองทัพชาวลำพูนน้อยตัวกว่า ที่สุกก็ถูกพวกพม่าฆ่าฟันล้มตายลงเกือบหมดสิ้น ที่เหลือตายก็ถูกพม่าจับเป็นเชลย

ส่วนเจ้าเมืองไชยผู้เป็นหัวหน้านั้น ไม่ยอมเป็นเชลย เขาจึงถูกพม่าประหารเสีย และนับแต่นั้นมาเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าโดยสิ้นเชิง จวบจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๗ เจ้ากาวิละและน้องทั้งหก กับพระยาจ่าบ้านจึงร่วมกันกู้อิสรภาพ และเข้าร่วมกับไทยกลางมาจนทุกวันนี้

เขาตายแล้ว...เจ้าเมืองไชย เขาตายอย่างลูกผู้ชายชาติทหารที่รักเกียรติศักดิ์ของตนเอง ยอมเอาเลือดทาแผ่นดิน ดีกว่าที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจของศัตรู และแม้ว่าเขาจะสิ้นชีวิตไปแล้วกว่า ๒๐๖ ปีก็ตาม แต่เกียรติประวัติอันเป็นวีรกรรมของเขานี้ คงทำให้ชาวลานนาไทยทุกคนระลึกถึงเขาเสมอว่า เขา...เจ้าเมืองไชยยอดนักสู้ชาวลำพูนผู้นี้ เป็นจอมอัศวินใจสิงห์แห่งยุคผู้หนึ่งในอดีตกาลของลานนาไทย


...................................................................................................................................................................................

หมายเหตุ - หนังสือพงศาวดารเมืองน่าน ฉบับของ แสนหลวงราชสมภาร ว่าเจ้าเมืองไชย เจ้าเมืองลำพูนหนีออกไปอยู่เมืองฮ่อจนสิ้นชีวิต ไม่ได้ตายในที่รบตามตำนานโยนก


..........................................................................





Create Date : 07 พฤษภาคม 2550
Last Update : 7 พฤษภาคม 2550 8:48:30 น. 3 comments
Counter : 2804 Pageviews.  
 
 
 
 
ท้าวมหายักษ์


หากจะพูดถึงความเก่งกล้าสามารถของอัศวินแห่งยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แล้ว แม่ธรณีลานนาไทยก็ได้ให้กำเนิดยอดนักรบผู้หนึ่ง ซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถเป็นยอดเยี่ยม สามารถตีหักฝ่าวงล้อมของทัพพม่าซึ่งตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ทั้ง ๔ ทิศนั้นออกไปโดยลำพัง ไปขอทัพไทยกลางมาช่วยตีขนาบข้าศึกจนแตกพ่ายยับเยิน พฤติการณ์อันเป็นเกียรติประวัติของขุนพลแก้วผู้นี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นแบบฉบับแก่อนุชนรุ่นหลัง เขาคือ

ท้าวมหายักษ์ จอมอัศวินของพระเจ้าบรมราชาธิบดี(กาวิละ) พระเจ้าขัญฑสีมานครเชียงใหม่ที่ ๑

นับตั้งแต่พม่าได้ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูนแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ ในแผ่นดินพระเจ้าธนบุรี เหล่าประชาราษฎรต่างกระจัดกระจายแตกหนีไปอาศัยอยู่ตามป่าดง ลี้ภัยจากพม่าข้าศึก บ้านเมืองก็เลยกลายเป็นเมืองร้างแต่นั้นมา นครลำปางซึ่งเป็นเมืองที่กำลังรบเข้มแข็งในแคว้นลานนาไทยในขณะนั้น ก็ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า ๆ จึงแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วผู้เป็นราชบุตรของพระสุละวะฤาชัยสงคราม (เจ้าหนานทิพย์ช้าง) เป็น "เจ้าฟ้า" ครองเมือง

ในสมัยนั้นพม่ามีอำนาจปกครองเมืองแผ่นดินลานนาไทย มีนครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย เชียงแสน หัวเมืองฝ่ายเหนือตกอยู่ในอำนาจเงื้อมมือของพม่าทั้งสิ้น ในกาลต่อมา เจ้ากาวิละผู้เป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมคิดกับพญาจ่าบ้านผู้เป็นน้า เอาใจออกหากจากพม่า โดยหันหน้าเข้าร่วมมือกับฝ่ายไทยกลาง ในรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งในรัชกาลนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ โป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงให้พญาจ่าบ้านลงไปแผ้วถางทางน้ำ เพื่อยกกองทัพไปตรีกรุงศรีอยุธยา แต่พญาจ่าบ้านกลับไปนำกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นมา ส่วนพระเจ้ากาวิละนั้นในขณะนั้นครองเมืองนครลำปาง เมื่อทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นมา ก็นำเอาเสบียงอาหารออกไปต้อนรับ และนำกองทัพขึ้นมาตีนครเชียงใหม่ โป่มะยุง่วนสู้รบไม่ไหว ก็แตกหนีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน

เมื่อตีเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็นที่พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้เจ้ากาวิละครองเมืองนครลำปางตามเดิม ในสมัยนั้นนครเชียงใหม่ได้ถูกรบกวนโจมตีจากพม่าเสมอ เพราะพม่าตั้งใจที่จะยึดเอาเมืองเชียงใหม่ไว้เช่นเดิม ต่อมาเมื่อพระยาวิเชียรปราการ(พญาจ่าบ้าน)ถึงแก่กรรม เจ้ากาวิละก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ "พระยาวิเชียรปราการ" ครองเมืองเชียงใหม่สืบมา พระยากาวิละเห็นว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ แต่มีไพร่พลน้อยเห็นที่จะรักษาเมืองไว้ได้ยาก เพราะพม่ามักจะยกมารบกวนอยู่เสมอ จึงย้ายไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) แต่พม่าก็ยกไปตีถึงเวียงป่าซาง พระยากาวิละต้องขอทัพกรุงมาช่วยสู้รบพม่าจนพม่าแตกไป แม้กระนั้นพม่าก็ยังยกมารบกวนอีกหลายครั้ง ทำความเดือดร้อนให้แก่พลเมืองและสมณะชีพราหมณ์อย่างยิ่ง

ในขณะนั้น ไทยมีอำนาจปกครองเพียงเมืองลำพูน เชียงใหม่ นครลำปางเท่านั้น เชียงรายและเชียงแสนยังตกอยู่ในอำนาจของพม่าอยู่ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ พม่าได้ให้จีนฮ่อผู้หนึ่งมาตั้งอยู่ที่เมืองสาด ประกาศตนเป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดินลานนาไทย ๕๗ หัวเมือง พระยากาวิละเจ้านครเชียงใหม่จึงยกทัพไปตีเมืองสาด ซึ่งเป็นหัวเมืองไทยใหญ่และขึ้นต่อพม่า จับตัวราชาจอมหงเจ้าเมืองกับไหมขัตติยะบุตร พร้อมกับต้อนครัวชาวเมืองสาด ๕,๐๐๐ คนมาด้วย และจับได้ตัวซวยหลิงมณีทูตของพระเจ้าอังวะ ให้ถือสาส์นไปยังเมืองญวน และหนังสือญวนตังเกี๋ยถึงพระเจ้าอังวะ ส่งลงไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพพระมหานคร

การกระทำของพระยากาวิละครั้งนี้ ยังความโกรธเคืองให้แก่พระเจ้าอังวะเป็นอันมาก จึงได้แต่งตั้งให้อินแซะหวุ่นเป็นแม่ทัพ คุมพลยกมาตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่พระยากาวิละได้ยกเข้ามาตั้งอยู่นครเชียงใหม่แล้ว กองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นทัพใหญ่ และตั้งล้อมเมืองไว้เป็นเวลานาน แต่ก็หาตีเมืองแตกไม่ พระยากาวิละตั้งรักษาเมืองอย่างแข็งแรง พม่าจึงตั้งค่ายล้อมไว้ทั้ง ๔ ทิศ ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า

"อินแซะหวุ่นแม่ทัพ จึงแบ่งไพร่พลออกเป็น ๗ สกอง ให้ปะไลโอนามิแล ชิดชิงโบ่ มะเดมะโย กงคอรัต ตองแพกะเมียหวุ่น มะยอกแพกะเมียหวุ่น เป็นแม่ทัพแต่ลพกองตามลำดับ ให้ปักเสาไม้ล้อมเมืองไว้ เสานั้นใหญ่ ๓ กำ ยาว ๘ วา ลงดิน ๑ วา มีเอ็นร้อยถึงกันทั้ง ๓ ชั้น มีกรอบกันปืน แผงบังตา มีสนามเพลาะสูง ๓ ศอก กว้าง ๑ วา มีช่องปืนเรียงรายรอบด้าน"

พม่าตั้งค่ายล้อมอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็หาตีหักเอาเมืองได้ไม่ พระยากาวิละได้รักษาเมืองอย่างแข็งแรงคอยทัพหลวงจากกรุงเทพฯซึ่งขอไปช่วย ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระอนุชาธิราชเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพมาช่วยแล้ว แต่เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองเถิน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระประชวรเป็นโรคนิ่ว มีพระอาการเป็นที่น่าวิตกมาก ไม่สามารถจะเดินทัพต่อมาด้วยพระองค์เองได้ ครั้นความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้กรมพระราชวังหลังยกทัพตามขึ้นมาที่เมืองเถิน แต่กรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้ยกกองทัพขึ้นมารออยู่ที่เมืองเชียงใหม่ก่อน และมีรับสั่งให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯยกไปบรรจบกัน แล้วให้เข้าโจมตีพม่าพร้อมกัน

ทางฝ่ายเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถูกล้อมอยู่นั้น เมื่อเห็นว่าทางกองทัพกรุงล่าช้า เกรงว่าจะรักษาเมืองไว้ให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกไม่ได้ และผู้คนพลเมืองก็อดอยากเสบียงอาหารที่มีอยู่ก็ร้อยหรอลงทุกวันๆ จะออกไปหาเสบียงก็ไม่ได้เพราะพม่าล้อมเมืองแข็งแรงนัก และหากพม่าเห็นว่าชาวเมืองอ่อนกำลังลงก็จะยกเข้าตีหักเอาเมือง ก็คงจะต้องเสียเมืองแก่ข้าศึกอย่างแน่นอน พระยากาวิละและน้องทั้งหกขัดใจขึ้นมาก็ยกทหารออกตีค่ายพม่าที่ตั้งล้อมอยู่ แต่ก็ถูกพม่าตีกลับเข้ามาเพราะมีไพร่พลน้อยกว่า กล่าวกันว่าเพราะความอดอยากที่ถูกล้อมอยู่เป็นเวลานานวัน ทำให้ไพร่พลของพระยากาวิละถึงกับจับพม่าที่ปีนเข้ามาจะตีหักเอาเมืองทางแจ่งศรีภูมิ์ ๗ คนฆ่ากินเป็นอาหาร

ครั้นพม่าทราบว่า กรมพระราชวังบวรฯทรงพระประชวรอยู่เมืองเถิน จึงให้ท้าวมหายักษ์ทหารเอกแกไปเฝ้าทูลแจ้งข้อราชการให้ทรงทราบ

ท้าวมหายักษ์ผู้นี้ เป็นผู้มีฝีมือเข้มแข็งและกล้าหาญมาก เป็นผู้คงกระพันชาตรีและมีกำลังแข็งแรงมาก สามารถสู้รบข้าศึกได้หลายสิบคนในเวลาเดียวกัน ทั้งๆที่พม่าได้ตั้งล้อมเมืองไว้อย่างแข็งแรงดังกล่าวแล้ว แต่ท้าวมหายักษ์ก็ตีหักฝ่าออกไปจนได้ มอหนำซ้ำยังกล่าวท้าไว้เสียด้วยว่า จะกลับมาทางประตูนี้ ให้พม่าคอยจับเอาเถิด และก็ได้กลับเข้ามาทางประตูนั้นจริงๆ พม่าคอยจับก็จับไม่ได้ ความเก่งกล้าของท้าวมหายักษ์นี้ กล่าวไว้ในหนังสือบันทึกหลักฐานและเหตุการณ์สมัยกรุงเทพ เล่ม ๑ ว่า

"คืนนั้น ท้าวมหายักษ์ออกมาทางประตูน้ำ (ประตูสำหรับระบายน้ำ) ด้านที่พม่าได้ตั้งกองล้อมไว้ แล้วเขียนหนังสือปักไว้ว่า กูชื่อท้าวมหายักษ์ พระยากาวิละให้ออกไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเพื่อแจ้งข้อราชการ เสร็จเรื่องแล้วกูจะกลับเข้ามาทางประตูนี้อีก มืงคอยจับกูเถิด ทั้งไปและกลับท้าวมหายักษ์ก็ผ่านทางนั้น พม่าพยายามจะจับก็จับไม่ได้"

เมื่อท้าวมหายักษ์หลบหนีจากวงล้อมของพม่าออกไปได้แล้ว ก็มุ่งตรงไปเมืองเถินเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทฯ ทรงมีรับสั่งให้ท้าวมหายักษ์กลับมาแจ้งแก่พระยากาวิละว่า ได้จดให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯยกกองทัพมาช่วยแล้ว ขอให้พระยากาวิละรักษาเมืองไว้คอยท่าทัพกรุงให่จงได้ และเมื่อทัพกรุงยกไปถึงเข้าตีทัพพม่า ก็ให้กองทัพพระยากาวิละตีกระหนาบออกมา พม่าจะได้แตกหนีไป

เมื่อกองทัพกรุง ซึ่งมีพระเจ้าหลวงเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพยกมาสมทบ กับทัพของเจ้าบำเรอภูธร (เป็นบุตรจีนแสชาวเมืองชลบุรี ได้ร่วมสาบานเป็นภารดากับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ๆ มีอุปการะแก่น เมื่อเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจลเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงโปรดให้สถาปนาเป็นกรมขุนสุนทรภูเบศร ยกขึ้นเป็นเจ้าตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้นตระกูล สุนทรกุล ณ ชลบุรี) ที่เมืองลำพูน และยกเข้าตีทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่เมืองลำพูน ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอน พม่าจึงแตกหนีไป ทางเมืองเชียงใหม่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ฯ และเจ้าบำเรอภูธรจึงยกทัพออกติดตามไป และตั้งค่ายล้อมทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองไว้อีกชั้นหนึ่ง และพร้อมกันกรมพระราชวังหลังซึ่งยกมาคอยอยู่ก่อนแล้วนั้น ต่างก็ยกเข้าตีพม่าพร้อมกันทุกด้าน และทัพพระยากาวิละก็ตีกระหนาบออกมาจากในเมือง ตั้งแต่ตีสามของคืนนั้น

การสู้รบได้เป็นไปอย่างดุเดือด พม่าจัดไพร่พลออกมาเรียงรายตามสนามเพลาะนอกค่าย แล้วใช้ปืนยิง ขึ้นกราดไว้ ส่วนทหารไทยต้องแอบอาศัยคันนากำบังกาย ยิงตอบโต้กันจนรุ่งสว่าง กองทัพไทยจึงบุกเข้าไปในค่ายของพม่าได้ และไล่บุกฟันบั่นแทงเข้าไปทุกค่าย พม่าต้านทานไว้ไม่ไหวก็แตกหนีไปอย่างไม่เป็นกระบวน พระยากาวิละจัดทัพชาวเชียงใหม่ไล่ติดตามไปจนถึงเมืองเชียงแสน

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าขัณฑสีมา มีพระนามตามสุพรรณบัฏว่า "พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุริยศักดิ์ สมญามหาขัตติราช ชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี ให้เป็นใหญ่ในลานนา ๕๗ หัวเมือง" เพราะมีความชอบที่รักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ได้จากเงื้อมมือพม่าข้าศึก และจัดทัพไล่ตีพม่าถึงเมืองเชียงแสน

ถึงแม้ว่าในพงศาวดารตอนหลัง จะไม่ได้กล่าวถึงท้าวมหายักษ์จอมอัศวินผู้กล้าหาญนี้เลย แต่ท้าวมหายักษ์ก็เป็นยอดอัศวินชาวลานนาไทยคนเดียว ที่ได้รับเกียรติจากนักประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ บันทึกนามของเขาไว้ในพงศาวดารเพื่อเป็นแบบฉบับและเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังว่า ในกาลครั้งหนึ่งนักรบชาวลานนาของเรามีความเก่งกล้าสามารถ ไม่แพ้นักรบในถิ่นอื่นเหมือนกันคลัง


........................................................................................................................................................



คัดจาก "คนดีเมืองเหนือ" สงวน โชติสุขรัตน์
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 7 พฤษภาคม 2550 เวลา:8:52:13 น.  

 
 
 


ชอบอ่านมากๆเลยค่ะ ขอบพระคุณนะคะที่กรุณานำมาแบ่ง
อ่านแล้วอิ่มเลยล่ะค่ะ
 
 

โดย: รอยคำ วันที่: 7 พฤษภาคม 2550 เวลา:19:43:02 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ รอยคำ
ไม่ได้ทักทายกันเสียนานเลย
ตอนนี้กำลังปั่นกระทู้อยู่ครับ
เสร็จแล้วก็เอาเข้ามาไว้ใน Blog เหมือนเดิม
ตอนนี้กระทู้นี้กำลังสนุกครับ "บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ"
เรียนเชิญไปสนุกด้วยกันครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 8 พฤษภาคม 2550 เวลา:11:57:33 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com