กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส



..........................................................................................................................................................


พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ )



๑. คราวประสูติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๔ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระบรมชนกนาถของเรา เจ้าจอมมารดาแพพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมมารดาของเรา ฯ เราประสูติที่ตำหนักหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ที่เรียกว่าท้องพระโรงหลังถัดโรงละครออกไป ในพระบรมมหาราชวังบฃ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมเจ็ดค่ำ ปีวอกยังเป็นเอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราชที่ใช้ตามธรรมเนียมบัดนี้ ๒๔๐๓ เวลาบ่าย ๑ โมง ๓๖ ลิบดา ตามโหราศาสตร์สยาม พระอาทิตย์สถิตราศีเมษ องศา ๑ เป็นวันเนาวหลังวันมหาสงกราต์ หน้าวันเถลิงศกที่ขึ้นจุลศักราชใหม่ ฯ


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ได้ฟังคำผู้ใหญ่เล่าว่า พอเราประสูติแล้วอากศที่กำลังสว่าง มีเมฆตั้ง ฝนตกใหญ่ จนน้ำฝนขังนองชาลาตำหนัก ทูลกระหม่อมของเราทรงถือเอานิมิตนั้น ว่าแม้นกับคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ ควงไม้ราชายตนพฤกษ์ฝนตกพรำสิ้นเจ็ดวัน มุจลินทนาคราชเอาขนดกายเวียนพระองค์ และแผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อมิให้ฝนตกถูกพระองค์ ครั้นฝนหายแล้ว จึงคลายขนดจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่มเข้ามายืนเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ จึงพระราชทานนามเราว่า พระองค์เจ้า "มนุษยนาคมานพ" แต่เราได้พบในภายหลังเมื่ออ่านบาลีเข้าใจแล้ว ในบาลีมหาวรรคพระวินัยเล่ม ๑ ตอนทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล คำว่า "มนุสฺสนาโค" หรือ "มนุษยนาค" นั้น เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า คู่กับคำว่า "อหินาโค" หรือ "อหินาค" เป็นคำเรียกพญานาคที่เป็นชาติงู เช่นนี้ คำว่า มนุษยนาค ก็เหมือนคำว่า บุรุษรัตน์ หรือ มหาบุรุษ ที่ใช้เรียกท่านผู้สูงสุดในหมู่มนุษย์คือ พระพุทธเจ้า และพระเจ้าแผ่นดิน ฯ


สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว)


เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว(สา)) ครั้งนั้นยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แน่ะคนชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสำรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน ฯ แปลชื่อมนุษยนาคมานพ ตามวิกัปต้นว่าหนุ่มน้อยนาคจำแลงเป็นคน ฯ แต่ศัพท์มคธที่แปลว่าคนหนุ่มนั้นสอบสวนได้แน่ในบัดนี้ว่า "มาณโว" คือมาณพ แต่ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานนั้นเป็น "มานพ" ที่ตรงศัพท์มคธว่า "มานโว" และแปลว่า "คน" หรือ "เชื้อสายของท่านมนุ" ศัพท์สันสกฤตก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ครั้งนั้นหนังสือและภาษาอันเป็นเครื่องสอบสวนยังหามีแพร่หลายเหมือนในกาลบัดนี้ไม่ ฯ แปลตามวิกัปหลังว่า "คนผู้เป็นมุษย์นาค" หรือ "คนผู้เป็นนาคในมนุษย์" ศัพท์ว่านาคในวิกัปนี้ หมายความว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ ฯ เราเป็นพระเจ้าลูกเธอที่ ๔๗ ของทูลกระหม่อม และเป็นองค์ที่ ๔ ของเจ้าจอมมารดาของเรา ผู้มีพระองค์เจ้า ๕ พระองค์ ฯ


จากซ้ายไปขวา
พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา , พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ,
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ , พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ , พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์



รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือพระพุทธศักราช ๒๔๐๔ เจ้าจอมมารดาของเราถึงแก่กรรม เราจึงจำเจ้าจอมมารดาของเราหาได้ไม่ ฯ


..........................................................................


๒. คราวเป็นพระทารก

เริ่มแรกเราจำความได้ อายุเท่าไรบอกไม่ได้ เราอยู่ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงกรม ทรงพระนามพระองค์เจ้าบุตรี เจ้าจอมมารดาของท่านกับของเราเป็นญาติกัน เราเรียกท่านว่า เจ้าครอกป้า ภายหลังเมื่อคำว่าเจ้าครอกล่วงสมัยแล้ว เปลี่ยนเรียกว่า เสด็จป้า เรียกคุณยายท้าวสมศักดิ์คือเจ้าจอมมารดาอึ่ง เจ้าจอมมารดาของท่านว่า คุณยายแม่ ที่แปลว่าแม่เฒ่า ที่เจ้านายในรัชกาลที่ ๕ ผู้เป็นพระญาติข้างเจ้าจอมมารดาเรียกอย่างนั้นตรงๆ ฯ


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นที่ ๓ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี


เวลานั้นเรากำลังเจ็บ แต่รู้ในภายหลังว่าเป็นซางขโมย เจ็บมากน่ากลัวไม่รอด เมื่อเราจำได้นั้นกำลังฟื้น จำขุนทารกรักษา(นาค) ผู้รักษาได้ แกเป็นคนแก่ดูเหมือนตกกระแล้ว แต่ผมยังดำ ไว้ผมเปีย น้ำใจดี พูดอ่อนหวาน เราเป็นทารกและกำลังเจ็บเข้าหาและนั่งตักแกได้ด้วยไม่กลัวแกจะให้กินยา แกคงมีอุบายปลอบให้กินยา แต่ได้ยินว่าเรากินยาง่าย บางทีเป็นเพราะเจ้าครอกป้าของเราฝึกให้เจนมาก็ได้ ท่านทรงเล่าให้ฟังว่าท่านจ้างให้กินยาถ้วยละ ๑ บาท เงินที่รับจ้างได้นั้นกองไว้ข้างตัว พอลืมก็กลับมาเป็นค่าจ้างใหม่ เมื่อเขื่องขึ้นหน่อย ไม่ต้องมีใครจ้าง เป็นแต่ได้รับคำยอว่า เสวยยาง่ายดีกว่าท่านพระองค์ชายใหญ่ คือกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เท่านั้นก็พอ ฯ

เหตุไฉนเราจึงไปอยู่ตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดานั้นมีคำเล่าว่า ในวันเผาศพเจ้าจอมมารดาของเราที่วัดราชาธิวาส พอกลับมาถึงตำหนักของเรา ยังไม่ทันขึ้น เราร้องไห้ดิ้นรนไม่ยอมขึ้น ชี้มือไปทางตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาที่อยู่ไม่ไกล ถนนสายเดียวกันแต่ข้างละฟาก ครั้นเขาพาไปถึงนั่น หยุดร้องไห้ ท่านรับเลี้ยงไว้ตั้นแต่วันนั้น ฯ แต่อย่างไร เราจึงไม่ได้อยู่ที่นั่นจนโต หารู้แน่ไม่ มีคำเล่าว่า ท่านระแวงว่า เลี้ยงเด็กผู้ชายไม่ขึ้น กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้เคยเสด็จไปอยู่ที่นั่น ก็ประชวรออดแอด เราอยู่ที่นั่นก็เจ็บใหญ่ ฯ

เมื่อเรามาอยู่ที่ตำหนักของเรา ได้อยู่ในความดูแลของคุณยายท้าวทรงกันดาร (ศรี) ยายตัวของเรา ในเวลาเจ้าจอมมารดาของเราถึงแก่กรรม ยายเราต้องดูแลเจ้าหลาน ๔ พระองค์ ส่วนน้องหญิงบัญจบเบญจมานั้น เสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาทรงรับเอาไปเลี้ยงตั้งแต่วันประสูติ อยู่ตำหนักท่านตลอดมา จนเธอสิ้นพระชนม์จากท่านไป เมื่อพระชันษาของเธอได้ ๓๒ ปี ฯ นึกดูถึงใจยาย เห็นหลานกำพร้าแม่แต่ยังเล็กๆ จักมีความสงสารสักเพียงไร และจักรู้สึกว่าตกเป็นภาระของท่านสักเพียงไร เป็นเดชะบุญของพวกเรา เรามียายดี มีสามารถในกิจการ รู้จักหาทรัพย์และเก็บหอมรอมริบ สมบัติของพวกเราจึงปราศจากอันตราย และพวกเราก็ได้รับทำนุบำรุงมาเป็นอันดี ฯ เป็นธรรมดาของผู้ใหญ่ย่อมเอ็นดูเด็กคนน้อยมากกว่า น้องหญิงของเราไม่ได้อยู่ด้วยยายถัดมาก็ถึงเรา ยายจึงรักเรามากกว่าหลานอื่น เป็นเช่นนี้ตลอดมาจนท่านถึงแก่กรรม เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ในสงฆ์แล้ว นอกจากธรรมดาเสกสรรยังเป็นโชคของเราอีก ที่ท่านผู้ใหญ่อื่นชอบเรามากเหมือนกัน ฯ

เมื่อยังเล็กเราพอใจเล่นเป็นพระ ครองผ้า บิณฑบาต ฉัน อนุโมทนา เทศนา เพียงเท่านี้จะว่าเป็นนิมิตก็ไม่เชิง เพราะนี้เป็นการเล่นสนุกของเจ้านายอื่นด้วย แต่เรามีตาลปัตรแฉกสำหรับพระราชาคณะ พระนิกรมมุนี (เบญจวรรณ) เจ้าวัดพระยาทำ ผู้เป็นญาตินับเป็นชั้นตา ทำให้ ใบพัดเอาอะไรทำและทำอย่างไร บอกไม่ได้ เป็นอย่างหักทองขวางด้ามงาหรือกระดูก นี้จะถือว่าเป็นนิมิตก็เข้าที ฯ

นอกจากได้ความสังเกตจากผู้ใหญ่โดยธรรมดาของเด็ก เราได้รับความศึกษาเป็นครั้งแรกที่นกพนักงาน ซึ่งเราเรียกว่า คุณยายนก อายุเท่าไรไม่แน่ แต่ยังเด็กมาก ยายของเราฝากให้เรียนหนังสือไทย ไปเรียนเป็นเวลา แล้วกลับมาตำหนัก ฯ ขอบคุณคุณครูนกของเรา แกเป็นผู้มีใจดี มีอัชฌาสัยเยือกเย็นไม่ดุ น่ารักน่านับถือ เป็นผู้มีสัตย์ไม่กลับคำให้เสียความวางใจ แรกแกสอนให้อ่านและจำตัว ก ข เพียง ก ถึง ง และว่าถ้าจำได้แล้ว วันนั้นจักให้หยุดและให้เล่น เราเชื่อแก อ่านครู่เดียวจำได้ แกให้หยุดจริงๆ แต่ในวันหลังๆ แกเห็นว่าเรียนวันละตอนคล่องแล้ว แกก็เพิ่มเป็นสองตอนขึ้น แจกลูกวันละไม่ถึงแม่หนึ่งขึ้นไปโดยลำดับ เราเชื่อคุณครู เราสมัครทำตามด้วยไม่พักเดือดร้อน เรียนแต่อ่าน ไม่ได้หัดเขียน ความรู้หนังสือที่เราได้จากแกครั้งนั้น ไม่เท่าไรนัก แต่เราได้คุณสมบัติสำคัญจากแก คือ รู้จักสมัครทำตามคำของครู เป็นเหตุให้ไม่ต้องถูกเคี่ยวเข็ญถูกดุถูกตีเพราะการเล่าเรียนเลย เรียนในสำนักครูผู้ใด ครูผู้นั้นรักทุกคราวมา ครั้นเราเป็นครูเขาขึ้นเอง เราก็ไม่ชอบดุ แม้ปกติของเรามีโทษะเป็นเจ้าเรือน ฯ

เมื่ออายุได้ ๗ หรือ ๘ ปี ได้เริ่มเรียนหนังสือขอมกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ครั้งยังเป็นหลวงราชาภิรมย์ ปลัดกรมราชบัณฑิต ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พร้อมด้วยเจ้าพี่หลายพระองค์ อันที่จริงเรียนมคธภาษา แต่ต้องเรียนตั้งแต่อ่านหนังสือขอมที่เป็นเครื่องใช้เขียนและจารตำรับเรียน เรียกอย่างหมิ่นเหม่แต่บุพภาคว่า เรียนหนังสือขอม ฯ ใครชักนำให้ไปเรียนหารู้ไม่ ฯ ในเวลานี้เราก็หลากใจว่า อายุเท่านั้นเริ่มเรียนมคธภาษาแล้ว เราเป็นเด็กที่สุดในหมู่เจ้านายผู้เรียนอยู่ ฯ ตั้งแต่หัดอ่านหนังสือขอม ตลอดถึงเรียนบทมาลาที่เรียกไวยากรณ์ในบัดนี้ อาจารย์ลำบากมาก ต้องเขียนลงในสมุดดำให้ศิษย์ทุกพระองค์ ต่อขึ้นคัมภีร์ คืออรรถกถาธรรมบท จึงค่อยสะดวก ไม่ต้องเขียน ฯ อาจารย์ของเราแกมีใจดีเยือกเย็น แต่แกเป็นข้าราชการฝ่ายหน้า แกไม่อาจตั้งตัวเป็นอาจารย์ แกถ่อมตัว แกไหว้พวกเรา พูดอย่างอ่อนน้อม เราหาได้ความรักใคร่สนิทสนมฉันครูกับศิษย์ไม่ ออกจะเห็นเป็นครูชั้นเลว แต่ก็ยังคมคือยกมือไหว้แก ฯ

เราเรียนต่อมากับท่านอาจารย์นี้ จนถึงรัชกาลที่ ๕ แต่ย้ายสถานมาเรียนที่เก๋งกรงนกหรือสกุณวัน เรียกชื่ออย่างนั้น เพราะเดิมมีกรงนกใหญ่ทำเขาและป่าไว้ในนั้น เลี้ยงนกและสัตว์จตุบทเล็กๆ เราจำได้ว่ามีกระจง มีเก๋งอยู่สี่ทิศของกรงนก แต่ในเวลาที่มาเรียนนั้นกรงนกรื้อเสียแล้ว ทำเป็นศาลาใหญ่ ชื่อเก๋งวรสภาภิรมย์ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครั้นยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่งว่าราชการ เก๋งหลังที่เราเรียนหนังสือนั้นชื่อราชานุอาสน์ อยู่หน้าพระทวารเทเวศร์รักษาแห่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีทางเดินคั่นในระวางเท่านั้น แต่เรียนอยู่ไม่นานก็เลิก ฯ เราเรียนถึงแปลอรรถกถาธรรมบทบั้นปลายผูกสอง พอเข้าใจความท้องเรื่องได้เมื่ออาจารย์สอนให้แปลแล้ว แต่ยังผสมเอาความเองไม่ได้ ฯ ความรู้ที่ได้ในการเรียนนี้ คืออ่านหนังสือขอมออก รู้จักศัพท์มคธขึ้นบ้าง นำให้เข้าใจภาษาไทยกว้างออกไป ฯ

เราจำได้ว่าการเล่นตุ๊กตา ก็ให้ความรู้ได้เหมือนกัน ฯ เล่นตุ๊กตาตัวใหญ่ เรารักตุ๊กตาเป็นลูก เราได้ความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ของเราท่านรักเราอย่างไร นี้เป็นกตัญญู เราเอาอย่างผู้ใหญ่ทำให้แก่ตุ๊กตา หรือจักทำแก่คนภายหน้า นี้เป็นบุพการี และยังรู้จักเย็บผ้า ผสมสีย้อมผ้า เครื่องแต่งตุ๊กตาและอื่นๆอีก เล่นตุ๊กตาเล็กๆ นำให้เราสังเกต วิธีจัดเหย้าเรือ และจัดการงานของผู้ใหญ่ เพื่อจำเอามาเล่นตุ๊กตา ฯ การเล่นหุงข้างต้มแกง ห็ให้ความรู้ในทางปรุงอาหาร แต่เสียดายว่าไม่สนใจจึงไม่สันทัด ฯ

แม้เราเป็นผู้กำพร้าแม่ แต่เราได้อัสสาสะคือความอุ่นใจในทูลกระหม่อมของเรา ท่านทรงกับพวกเราโดยฉันพ่อกับลูก ไม่ทรงทำพระยศพระอย่างโดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ห่างเหินจากพระเจ้าลูกเธอชั้นพระองค์เจ้า หรือพูดตามคำสามัญว่าลูกเมียน้อย ฯ เวลาเสวยพวกเรานั่งล้อมอยู่ใกล้โต๊ะเสวย คอยเลื่อนเครื่อง ไม่ทันใจทูลขอกำลังเสวยก็มี เสด็จไปทางไหนก็พรูตามเสด็จ ถ้าเสด็จโดยพระราชยาน ก็ทรงรับขึ้นพระราชยาน ที่ยังเล็กโปรดให้นั่งบนพระเพลาบ้าง ซอกพระปรัศว์บ้าง ที่เขื่องโปรดให้นั่งหน้าพระเพลา เราจำได้ว่าเมื่อครั้งโสกันต์พี่พักตร์พิมลพรรณที่เมืองเพชรบุรี วันหนึ่งเราตามเสด็จลงจากเขามไหศวรรย์ไปรับกระบวนแห่ไม่ทัน แม่นมอุ้มไปดักกลางทาง สอนให้เราทูลขอให้ทรงรับ ท่านให้หยุดพระราชยานรับเราขึ้นด้วย ประทับที่ไหนพวกเราก็นั่งล้อมเบื้องพระปฤษฎางค์ ฯ

เรามีความอิ่มใจว่าแม้เรายังเล็ก เราก็พอเป็นประโยชน์แด่ทูลกระหม่อมของเราได้บ้าง ท่านทรงใช้เราหยิบพระศรี (คือหมากเสวย) ก็มี พระสุพรรณศรี (คือบ้วนพระโอษฐ์องค์น้อย) ก็มี โปรดให้เชิญพระแสงบ้าง เชิญธารพระกรบ้าง บางคราวถูกเชิญพร้อมกันทั้งสองอย่าง หนักก็หนัก มือเล็กกำไม่ค่อยรอบ แต่อิ่มว่าเป็นผู้แข็งแรง ทรงใช้การหนักได้ ฯ

เมื่อกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์จะทรงผนวชเป็นสามเณร ทูลกระหม่อมทรงพระอนุญาตให้เรามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วยเจ้าพี่ เราดีใจนี่กระไร เมื่อออกมาอยู่ได้พบและคุ้นเคยกับพวกผู้ชายทั้งพระเณรทั้งคฤหัสถ์ ได้เรียนรู้อัชฌาสัย มีทั้งดีทั้งเลว และมีช่องที่ได้ตามเสด็จเจ้าพี่ไปข้างไหนๆ บ่อยๆ กว่าอยู่ในวัง ติดวัดเหมือนปลาเคยอยู่ในน้ำตื้นได้ออกมาน้ำลึก มีธุระที่จะต้องเข้าไปค้างคืนในวัง ช่างไม่สมัครเสียจริงๆ อยู่ก็ไม่สนุก ฟังผู้หญิงพูดก็ไม่คมคาย เมื่ออยู่วัดได้เรียนปริยัติกับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) ครั้งยังเป็นหลวงศรีวรโวหาร นายด่านกรมราชบัณฑิต ผู้บอกภิกษุสามเณรวัดนั้นอยู่บ้าง ฯ การอยู่วัดมีประโยชน์ทำให้ใจและอาการเป็นผู้ชายเร็ว แปลกกว่ามาอยู่ต่อเมื่อบวชเณรทีเดียว ที่มักจะมีอาการผู้หญิงติดมาไม่องอาจ แต่อีกทางหนึ่ง ได้ยินคำที่ยังไม่ควรจะได้ยินเร็วเกินไป ฯ

ทูลกระหม่อมของเราเสด็จประพาสหัวเมืองเนืองๆ พวกเราอยากตามเสด็จเสียนี่กระไร ผู้ใดได้ไป เป็นโชคของผู้นั้น แต่เรามักจะแคล้วคลาด จำได้ว่าได้ไปพระปฐมเจดีย์ กรุงเก่า เมืองเพชรบุรี เกาะจาน แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ (คือเมืองกุย) คราวมีสูรย์เท่านั้น แม้อย่างนั้น สองคราวหลังหาได้ไปในเรือพระที่นั่งไม่ คราวไปเมืองเพชรบุรีไปเรือลำเดียวกับเสด็จป้า กรมหลวงวรเสรฐสุดา คราวไปเกาะจานไปเรือลำเดียวกับกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ซึ่งยังเป็นสามเณร และตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จพระอุปัชฌายะของเราไป ฯ

พอเสด็จกลับจากเกาะจาน ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรไข้ป่า ประมาณว่าเดือนเศษไม่ถึงครึ่ง สวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ตรงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๑ ยามเศษ ฯ เวลานั้นเรามีอายุได้ ๘ ขวบครึ่ง รู้สึกเศร้าโศกเสียดายบ้างแล้ว แต่ยังรัวเต็มที ฯ สมเด็จของพวกเรา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติ แต่พระชันษายังพระเยาว์เพียง ๑๖ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อเมื่อพระชันษาได้ ๒๑ ปี ทรงอุปสมบทแล้ว จึงได้ทรงราชการเต็มที่ ฯ

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราเป็นครั้งแรก คนผู้เคยนับถือและฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรงก็ต้องเกรง ส่วนลาภก็น่าจะเป็นตามกัน แต่เรายังเด็กไม่ได้รู้ไปถึง แต่ยังเป็นโชคของพวกเรามาก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ถ้าการณ์กลับกลายเป็นอย่างอื่นไป จะซ้ำร้ายกว่านี่เสียอีก ครั้งนั้นเรายังเด็กนักไม่รู้คิด มารู้เมื่อโตขึ้น คิดถึงครั้งนั้นน่าใจหาย ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กำลังทรงพระประชวร พระอาการมากเหมือนกัน เราได้เห็นเองเมื่อเวลาเขาเชิญเสด็จขึ้นไปถวายน้ำสรงพระบรมศพ บนพระที่นั่งภานุมาศจำรูญองค์เดิม เรายังรู้ว่าทรงพระประชวรมากอยู่ ถ้าพลาดพลั้งลงในเวลานั้น การภายหน้าจักเป็นอย่างไร ไม่พักต้องหาโหรพยากรณ์ก็อาจรู้ ฯ

แต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราตามสมัยนี้ ไม่เป็นเปล่าประโยชน์เสียทีเดียว กลับให้ประโยชน์แก่เราในภายหลังอีก ทำให้พวกเราสังเวชคิดถึงตัว ไม่มีทางกำเริบหรือแม้เพียงทอดธุระจากการแสวงหาความรู้ ได้เปรียบเจ้านายในรัชกาลที่ ๓ ที่โดยมากกลับพระองค์ไม่ทันเพราะเวลาล่วงไปเสียมากแล้ว พวกเรายังมีช่องพอจะทำตนให้เป็นดุจภาชนะสำหรับรองรับราชการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรวงวางลงไป ฯ สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้นช่างเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร แต่พวกเรายังเล็กนัก ก็ไม่รู้ลึกซึ้งกี่มากน้อย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระเจริญกว่า คงจะรู้สึกฝังในพระราชหฤทัยเป็นหนักหนา จึงทรงทำนุบำรุงพวกเรามาตั้งแต่ยังเยาว์ ให้ได้รับศึกษาและฝึกหัดในทางที่สมควรแก่สมัย และทรงชุบเลี้ยงเมื่อเติบโตขึ้น ให้มีช่องได้รับราชการหน้าที่ใหญ่ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงก็หลายพระองค์ มีพระเดชพระคุณอยู่แก่พวกเราเป็นล้นพ้น ฯ อาศัยเหตุสองประการ คือ พวกเราทำตนให้เป็นดุจภาชนะที่ควรรองรับราชการและพระมหากรุณาแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยง พวกเราจึงกลับมีผู้นับถือยำเกรงขึ้นอีก ฯ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



..........................................................................


๓. คราวเป็นพระกุมาร

ล้นเกล้าล้นกระหม่อมไม่มีพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเจริญ ท่านทรงใช้พวกเราทั้งชายทั้งหญิง และทรงสนิทสนมเหมือนเดิม เพราะเหตุนี้กระมัง เราจึงได้เลิกเรียนมคธภาษาและไม่ได้อยู่วัดต่อไป ฯ ในพวกผู้ชาย ท่านทรงใช้เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นมาก เมื่อกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระเจริญและเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังแล้ว เราสองคนได้ช่องตามเสด็จหัวเมืองเนืองๆ มา ราชการเป็นหน้าที่ประจำตัวเราคือเชิญหีบพระมหาสังข์ตามเสด็จ ในวันสมโภชสามวันและสมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่ที่ตำหนักข้างใน เราได้ทำเป็นครั้งที่สุด เมื่อสมโภชเดือนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ฯ

เราในครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นเด็กไม่ซนทีเดียวดูเหมือนเกินไป แต่เราเคราะห์ดี ในคราวพี่น้องเกิดความออกช่องต่างๆ เผอิญเราติดราชการที่ต้องอยู่ประจำพระองค์บ้าง ไปไม่ทันบ้าง กำลังถูกพี่น้องโกรธไม่เล่นด้วยบ้าง รอดตัวทุกทีไป นี้เพิ่มคะแนนแห่งความดีของเราขึ้นทุกที กรมพระสมมตอมรพันธุ์พื้นของเธอเป็นผู้ไม่ซน แต่เคราะห์ร้ายมักพลอยถูกด้วย ฯ อีกอย่างหนึ่งเรารู้จักระวังตัว การอย่างใดยังไม่เห็นมีผู้ทำ หรือผู้ทำยังไม่เป็นที่วางใจได้ว่าจะไม่เกิดความ เราไม่ทำการอย่างนั้น ฯ ครั้งแรกแต่งตัวใช้เสื้ออย่างฝรั่งขึ้นใหม่ พวกผู้ชาย เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องแต่งตัวก่อน ฯ

ในคราวเสด็จประพาสเมืองต่างประเทศ เราไม่ได้ตามเสด็จ ได้กลับไปอยู่ตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาเป็นคราวๆ เรียนหนังสือไทย หัดอ่านโคลงและกลบทต่างๆบ้าง เรียนเลขอย่างไทยบ้าง เรียนดูดาวบ้าง ฯ แปลกอยู่ เสด็จป้าของเราได้รับความฝึกหัดในวิชาของผู้ชายเป็นพื้น ศิลปะของผู้หญิงเช่นเย็บ ปัก ถัก ร้อย ทำอาหาร ที่สุดจนเจียนหมากจีบพลู เรายังไม่เคยเห็นท่านทำเองเลย เขาว่าท่านทำไม่เป็นด้วย ถึงคราวสมโภชพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปีใหม่ ท่านทรงรับทำตาข่ายดอกไม้สดแขวนบุษบกพระครั้งนั้น ๕ ที่ คนร้อยดอกไม้เต็มหอกลางตำหนัก เราก็ได้เข้าหัดร้อยแต่จำไม่ได้ว่าท่านได้ร้อยด้วย และความนิยมของท่าน ก็ไม่เป็นไปในสิ่งที่ผู้หญิงชอบ มีดอกไม้เป็นต้น ทรงนิยมในทางทรงหนังสือธรรม ตำนาน และเรื่องของจินตกวี ฯ

ท่านประพฤติพระองค์เป็นหลักไม่หยุมหยิม ที่เราดูหมิ่นท่านไม่ได้ แต่คนอื่นเขาว่าท่านดุ เราเห็นท่านเพียงเฉียบขาด แปลกอีกอย่างหนึ่ง ไม่เคยเห็นท่านทรงพระสรวลจนเอาไว้ไม่ไอยู่ หรือแสดงเสียพระหฤทัยจนวิการ เขาเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ ผู้ทรงเมตตาท่านมากสวรรคต ท่านมิได้ทรงกันแสง เราได้เห็นเมื่อครั้งคุณยายสมศักดิ์ถึงอสัญกรรม ท่านไม่ได้ทรงกันแสง แต่คุณยายสมศักดิ์แก่แล้วอายุถึง ๗๕ ก็พอจะกลั้นอยู่ เมื่อน้องหญิงบันจบเบญจมาสิ้นพระชนม์ เธอเป็นผู้ที่ท่านเลี้ยงมาจนสิ้นพระชนม์จากไป ท่านก็กลั้นได้ไม่ทรงกันแสง แต่พระอาการเศร้าโศกปรากฏมี เห็นอะไรของน้อง ไม่สบายพระหฤทัยเป็นต้น ดูท่านสมสมกับคุณยายสมศักดิ์เจ้าจอมมารดาของท่านจริงๆ เขาสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างๆ บางทีท่านจะได้อย่างมาไม่มากก็น้อย ได้รับเลี้ยงดูและฝึกหัดในสำนักอาจารย์เช่นนี้ เป็นลาภเป็นเกียรติของเราฯ

เริ่มที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้ความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานไชยศรีด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานสิสยอช แปตเตอสันเป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ครั้งยังเป็นนายราชาณัตยานุหารว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เช้าสอนเจ้านายพวกเรากับหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราได้เข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเราอายุราว ๑๒ ปี ฯ ครูพูดไทยไม่ได้ สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนของเมืองไทยเราเอง หัดพูดหัดอ่านแนะให้เข้าใจความเอาเอง ไม่ได้หัดให้แปล แต่พวกเราก็พยายามเข้าใจความได้ถึงพงศาวดารอังกฤษ สิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้คือไวยากรณ์ คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ แต่เราทำเลขไทยเป็นมาแล้ว เราคงรู้จักมาตราไทยมาก่อน แต่ผู้อื่นที่รู้จักมาตราอังกฤษก่อนมีบ้างกระมัง ฯ

แต่ความรู้เหล่านี้มาช่วยเราเมื่อโตแล้ว ให้รู้จักเอามาใช้ในทางข้างไทยเรา ด้วยไม่พักต้องเรียนใหม่ เราได้รู้นิสัยของฝรั่งจากหนังสือเรียน ดีกว่าเรียนแบบที่เขาจัดสำหรับคนไทยในภายหลัง เป็นการเหมาะแก่เราผู้ไม่มีช่องจะได้ไปเรียนที่เมืองฝรั่ง ถ้าเวลานั้นเป็นโอกาสเหมือนในชั้นหลัง เราคงจะได้รับพระมหากรุณาโปรดให้ออกไปเรียนด้วยผู้หนึ่ง เป็นลาภของกรมหลวงสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ พระองค์แรกผู้ได้สบโอกาสนี้ ฯ นอกจากนี้เรายังได้รับคำแนะนำในการบ้านเมืองอีกที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ทางเมืองฝรั่ง และเป็นเวลาเกิดเหตุการณ์เนืองๆ เป็นต้นว่าเยอรมันตีเมืองฝรั่งเศสได้ ราชาธิปไตยฝรั่งเศสล่มกลายเป็นประชาธิปไตย เรากระหยิ่มใจว่าเราได้ความรู้ดีกว่านักเรียนชั้นหลัง ที่เรียนเฉพาะในเมืองไทยที่เราได้เคยพบ ฯ

ครูของเราแกเป็นฝรั่ง แกตั้งตัวแกเป็นครูเต็มที่ พวกเราต้องรู้จักฟังบังคับ ได้คุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง แต่เฉพาะเรา คุณครูนกทำพื้นมาดีแล้ว ไม่พักลำบาก เรากับกรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ที่ครูชอบใจ เอาไว้กินอาหารกลางวันด้วยกัน แล้วให้เรียนเวลาบ่ายอีกด้วย ครูชักนำให้รู้จักฝรั่งอื่นผู้เป็นเพื่อน ฯ ผลที่ได้จากการเรียนภาษาอังกฤษนอกจากกล่าวแล้ว เขียนหนังสือและแต่งหนังสือเป็น ในการเรียนต้องหัดลายมือและเขียนตามคำบอก พวกเราที่ร่านเอามาใช้ในภาษาไทย เขียนจดหมายถึงกันและกันบ้าง แปลเรื่องฝรั่งบ้าง จดบันทึกเรื่องอย่างอื่นบ้าง เขยิบขึ้นไปตามอายุ จนถึงแต่งจดหมายเหตุราชการ ที่ได้รับพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำในทางราชการโดยลำดับมา ฯ

นิสัยของพวกเรา เห็นใครเขาทำอะไร พอใจจะทำบ้าง นี้เป็นเหตุให้ได้ความรู้จิปาถะ แม้ไม่ได้เรียนเป็นล่ำสัน ความรู้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน เมื่อโตขึ้น ฯ สิ่งที่ขัน ในพระวินัยกล่าวถึงเรื่องชนิดแห่งดอกไม่ร้อยที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ พระอรรถกถาจารย์ไม่เข้าใจเสียเลีย แก้ถลากไถลไป เจ้าคุณอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส ผู้รจนาบุพพสิกขาวัณณนาก็อีกแล ไม่เข้าใจเหมือนกัน เราพบก็เข้าใจ เช่นดอกไม้ร้อยชนิดที่เรียกว่า "ปูริมํ" แปลตามพยัญชนะว่า "ของที่ทำให้เต็ม" โดยความว่า "ของที่ทำให้เป็นวง" พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า เอาตาข่ายวงธรรมาสน์ให้รอบเป็นอาบัติ วงไม่ทันรอบส่งให้ภิกษุอื่นทำต่อได้ อันที่จริง "ปูริมํ" นั้นได้แก่พวงมาลัย ที่ร้อยสวมดอกไม่ก็ตาม แทงก้านก็ตาม แล้วเอาปลายเงื่อนทั้งสองผูกบรรจบเข้าเป็นวง นั่นเองที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ ฯ

เมื่อเราอายุได้ ๑๓ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดให้ตั้งพิธีโสกันต์เรากับเจ้าน้องอีก ๔ พระองค์ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฯ เราเป็นต้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นที่ ๒ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นที่ ๓ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาเป็นที่ ๔ น้องหญิงนงคราญอุดมดีเป็นสุดท้าย ฯ ๔ ข้างต้นอายุ ๑๓ ที่สุด ๑๑ ฯ ฟังสวด ๓ วัน โสกันต์วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ฯ

เป็นประเพณีที่ถือกันมาในวงศ์ของทูลกระหม่อม ตามพระดำรัสห้ามของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัยยิกาของเรา ว่าพระชันษายังไม่ถึง ๓๐ ห้ามไม่ให้ตัดจุก ฯ นี้มาสมเข้ากับธรรมเนียมในพระวินัยว่า มีพรรษายังไม่ครบ ๑๐ (ที่นับอายุว่า ๓๐) ห้ามมิให้เป็นอุปัชฌายะ และธรรมเนียมข้างวัดอังกฤษว่า ผู้จะเป็นบิชอบคือเจ้าคณะ ต้องมีอายุได้ ๓๐ แล้ว ฯ ตามธรรมเนียมนี้ คงถือว่าคนที่จัดว่าเป็นผู้ใหญ่แท้ อายุถึง ๓๐ แล้ว ฯ ล้นเกล้าฯ พระชนม์ยังไม่ถึง ๓๐ จึงยังไม่ทรงตัดจุก เป็นแต่พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วโปรดให้เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เราจำได้ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงตัด ฯ


สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด)
พระฉายาสาทิสลักษณ์ที่จิตรกรวาดขึ้นจากเค้าพระพักตร์ พระราชโอรสธิดา ผสมผสานจินตนาการ


คราวเราโสกันต์ ฤกษ์เช้าย่ำรุ่งแล้ว เสด็จอาผู้เคยทรงตัดเสด็จมาไม่ทันสักพระองค์ โปรดให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์พระเจ้าบวรวงศ์เธอครั้งนั้น ที่เปลี่ยนมาเป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอครั้งนี้ ชั้นที่ ๒ ทรงตัดพระองค์เดียว ท่านตัดเรา กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงเสด็จมา ทันตัดกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาและน้องหญิงนงคราญอุดมดี ฯ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ทรงตัดเจ็บมาก บางทีจะเป็นเพราะกรรไกรดื้อ แต่ความรู้สึกว่าไม่เทียมหน้าพี่น้องผู้โสกันต์ไปแล้ว นำให้โทษว่าท่านทรงตัดไม่เป็น เราไม่เคยเห็นท่านทรงตัดที่ในวัง เราก็สำคัญว่าท่านไม่เคย แต่โดยที่แท้ท่านคงเคยในที่อื่นมามากแล้ว ฯ

ครั้งนั้นมีแห่กระบวนน้อยทางข้างใน มีรายการแจ้งในโคลงวิวิธมาลีโสกันต์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ นั้นแล้ว แต่รายการที่กล่าวถึงในโคลงนั้น โสกันต์คราวปีมะแม ก่อนนี้ปีหนึ่ง ฯ แห่อย่างนี้จัดขึ้นคราวแรกเมื่อปีมะเมีย ครั้งโสกันต์เจ้าพี่กาพย์กระนกรัตน์ และกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ เปรียบกับแห่โสกันต์ทางนอกครั้งรัชกาลที่ ๔ แปลกกันมาก แต่หากจะโปรดให้มีแห่เหมือนอย่างนั้น ก็คงไม่ครึกครื้นเหมือน เพราะผิดเวลาใครเขาจะมาเอาใจใส่จอดอยู่ด้วย ทั้งท่านผู้ออกงานก็จะหานางสะและข้าหลวงหญิงชายตามไม่ได้ง่าย และการโสกันต์ยังจะมีติดกันไปทุกปีอย่างไรก็ต้องกร่อย จะให้ลำบากแก่คนมากและเปลืองเงินมากเพื่ออะไร ล้นเกล้าฯ ทรงเลิกแห่นอกเสียนั้นสมควรแท้ ได้รู้มาว่า ครั้งรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าน้องเธอ พระเจ้าลูกเธอ โสกันต์ในพิธีตรุษเป็นพื้น มีแห่เฉพาะบางครั้ง พระเจ้าลูกเธอดูเหมือนไม่ได้แห่เลย เทียบกับครั้งนั้นก็ยังได้ออกหน้ากว่า ต่อมาถึงคราวพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ โปรดให้แห่ทางในโดยมาก เห็นพระราชนิยมชัด ฯ เป็นธรรมเนียมของเจ้านายผู้ชายจะออกจากพระบรมมหาราชวังชั้นใน ต่อเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร เราโสกันต์แล้วจึงยังอยู่ในวังต่อมา ฯ

อายุเราได้ ๑๔ ปี ถึงกาลกำหนดบรรพชา แต่ปีนั้นเดือนเจ็ดต่อกับเดือนแปดเกิดโรคป่วงชุกชุม ที่ห่างมานานตั้งแต่ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ พรือ พ.ศ. ๒๓๙๓ มีพระราชดำรัสสั่งให้เลื่อนไปบวชต่อเมื่อเดือนเก้า ฯ ในเวลานั้นยังว่าขาดนาคเป็นทำนอง ต้องหัดกันแต่เนิ่นลำบากไม่ใช่น้อย พระราชครูมหินธร (ชู) ครั้งยังเป็นหลวงญาณภิรมย์นายด่านกรมราชบัณฑิต มีหน้าที่เป็นผู้หัด แกเห็นจะเป็นนักร้องดีกระมัง แต่เราทนแกไม่ไหว ว่าอย่างไรแกก็ติตะบึงไปว่าไม่ถูกๆ จนไม่รู้จะว่าอย่างไร เลยร้องไห้ฉุนแกขึ้นมาบ้าง ไม่ยอมหัดกับแกอีก นิสัยของแกคงชอบยั่วให้ศิษย์เจ็บใจและมีอุตสาหะทำให้ได้ ส่วนนิสัยของเราชอบปลอบชอบพูดเอาใจ ต่างกันเช่นนี้ อาจารย์เปี่ยมของเราเคยสอนมคธภาษามาก่อน แกคงรู้ดี แกรับหัดสำเร็จ ฯ มีการทรงผนวชสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันหนึ่ง ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนเก้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ตรงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ พร้อมด้วยกรมพระสมมตอมรพันธุ์ และกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งยังเป็นกรมมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดาเป็นผู้ประทานสรณะและศีลแก่เรา เป็นคราวแรกที่เราได้เข้าในที่ประชุมสงฆ์ ทั้งขานนาคมีบทที่ยืนว่า คืออุกาสะด้วย ประหม่าเป็นอย่างใหญ่ จนถึงตัวสั่นเสียงสั่น ฯ พวกเราผนวชเณรแปลกจากธรรมเนียมสามัญ ครองผ้ามีสังฆาฏิและขอนิสัยด้วย ฯ การทรงผนวชพวกเรา ไม่มีแห่เหมือนครั้งแผ่นดินทูลกระหม่อม ขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดเท่านั้น พวกผู้หญิงไม่ค่อยรู้สึกเหมือนโสกันต์ ฯ

บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารทั้งสามองค์ ล้นเกล้าฯ เสด็จส่งด้วยหรือไม่ จำไม่ได้ ถ้าไม่ได้เสด็จก็มีรถหลวงส่ง ฯ ที่วัดมีกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ และกรมขุนสิริธัชสังกาศ ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ รวมพวกเราเข้าด้วย ในพรรษานั้นจึงมีพระองค์เจ้าสามเณร ๕ พระองค์ เกือบเท่าครั้งปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ทีถึงเจ็ดพระองคืเจ้า ฯ เราอยู่ตำหนักเดียวกับกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ หลังที่เรียกว่าโรงพิมพ์ ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเมื่อครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวชเป็นที่ตีพิมพ์หนังสืออริยกะ ทูลกระหม่อมได้เคยประทับกลางวันครั้งรื้อท้องพระโรงสร้างตำหนักเดิมเดี๋ยวนี้ ฯ เวลาหัวค่ำขึ้นฟังสั่งสอนที่เสด็จพระอุปัชฌายะ ท่านทรงสั่งสอนด้วยศีลและวัตรของสามเณร ฟังเข้าใจได้ ฯ ครั้งนั้นยังมีบิณฑบาตเวร คือจัดพระสงฆ์ในพระอารามหลวงให้ผลัดกันเข้าไปรับบัณฑบาตในพระบรมมหาราชวังชั้นใน วันพฤหัสบดีเป็นเวรของพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารและวัดธรรมยุตอื่น ถึงกำหนดเราเข้าไปบิณฑบาต ใช้เสลี่ยงไปจากวัด ลงเดินที่ในวัง พวกเณรธรรมยุตก็ใช้ห่มดองคาดประคตอกสะพายบาตร เหมือนเณรมหานิกาย แต่ในที่อื่นแม้เมื่อเข้าไปหรือกลับออกมาแล้ว ก็ห่มคลุม เข้าทางประตูดุสิตศาสดา ที่เป็นทางข้างในออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์เจ้าออกทางประตูสนามราชกิจ ที่เรียกว่าประตูย่ำค่ำ หม่อมเจ้าได้ยินว่าออกประตูอนงค์ลีลา หรืออะไรที่ออกฉนวชตำหนักน้ำท่าราชวรดิฐ พระสามัญออกประตูยาตราสัตรี ที่เรียกว่าประตูดิน ฯ

ประโยชน์ที่ได้จากการบวชเณร หัดประพฤติตัวกวดขันกว่าก่อน เริ่มรู้จักเพื่อจะทรงตัวเอง และรู้จักเพื่อจะอ่อนน้อมผู้อื่นตามภาวะของเขา ฯ เราแม้ไม่ใช่เด็กซุกซนจัด แม้ได้รับฝึกหัดในทางมรรยาทมาบ้างแล้ว แต่ไม่กวดขันเหมือนในเวลาบวช หรือได้รับฝึกหัดไปทีละอย่างโดยไม่รู้ตัว มาบวชได้รับสั่งสอนประดังกันวันละหลายอย่าง ทั้งเป็นมรรยาทที่แปลกออกไปก็มี จึงรู้สึกว่ากวดขัน ฯ เราเป็นเด็กที่ร่านอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นยังต้องอาศัยผู้ใหญ่ทำให้หลายประการ ตั้งแต่แต่งตัวเป็นต้นไป มาบวชเป็นเณรจะต้องทำสำหรับตัวเองเป็นพื้น ตั้งแต่ครองผ้าเป็นต้นไป ฯ คฤหัสผู้ใหญ่ ที่มิใช่เจ้าเขาอ่อนน้อมแก่พวกเรา ที่สุดอาจารย์เปี่ยมของเรา แกก็ทำอย่างนั้น แต่พวกพระที่สุดสามเณรด้วยกัน ผู้บวชก่อน ท่านไม่ลงให้เราอย่างนั้น ท่านลงพอเป็นทีตามความนิยมของบ้านเมืองเท่านั้น เราก็ต้องลงบางประการ ฯ

เมื่อจวนออกพรรษา ล้นเกล้าฯ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม เสด็จพระอุปัชฌายะเสด็จเข้าไปอยู่เป็นเพื่อน พระเถรานุเถระอื่นผลัดกันเข้าไปอยู่ ฯ พวกเรา ๕ องค์ได้เข้าไปสมทบทำวัตรสวดมนต์และบิณฑบาต แต่ไม่ได้อยู่รับใช้ คงเป็นเพราะพระภิกษุใหม่มีสามเณรไว้อุปถากไม่ควร ฯ บิณฑบาตห่มคลุม อุ้มบาตร เหมือนอย่างนอกวัง ในบริเวณพระที่นั่งภานุมาสจำรูญองค์เดิม ที่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์เข้าไปรับครั้งทูลกระหม่อม ฯ ยังไม่ได้บวชก็ร่านจะบวช จะได้ออกจากวัง ดูค่อยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้น ครั้นบวชแล้วจวนออกพรรษาก็อยากสึก จะได้เที่ยวไปไหนๆ เหมือนปลาต้องการออกไปหาน้ำลึก แต่ไม่รู้ว่าอันตรายมีอย่างไร นอกจากนี้ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์จะทรงลาผนวชเมื่อคราวออกพรรษานั้นด้วย ชวนให้เราอยากสึกขึ้นอีกมาก ฯ

เป็นประเพณีของเจ้านายผู้ทรงผนวชจะหัดเทศน์มหาชาติ เพื่อถวายในฤดู แต่เราเข็ดพระราชครูมหิธรมาแล้วครั้งหัดขานนาค จึงไม่ขอหัด และไม่ได้ถวาย รีบชิงสึกเสียก่อน เพื่อมิใช่ออกช่อง ฯ เราบวชเป็นสามเณรอยู่ ๗๘ วัน สึกเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ ปีนั้น ตรงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ไม่มีพิธีหลวง จัดเอาเอง สึกแล้วไปอยู่วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ตามลำพัง ยายออกมาอยู่ที่นั่น อยู่เรือนเดียวกับยาย แต่คนละห้อง ภายหลังจึงออกมาอยู่ที่ปั้นหยาริมประตูวัง เมื่อกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์เสด็จขึ้นอยู่บนตำหนักใหญ่แล้ว ฯ


..........................................................................


๔. คราวเป็นพระดรุณ

พอสึกจากเณร เจ้าพี่ใหญ่ประทานเงิน ๔๐๐ บาทแก่เรา เพื่อจะได้ซื้อเครื่องแต่งตัว เครื่องใช้และเครื่องแต่งเรือน เป็นของไม่เคยรับอยู่ข้างตื่นเต้นมาก ฯ ครั้งยังเด็กได้รับพระราชทานเงินแจกตามคราวนั้นๆ เช่นคราวจันทรคราสได้ ๔ บาท ผู้ใหญ่เก็บเสีย ปล่อยให้จ่ายซื้ออะไรๆ ได้ตามลำพังแต่เงินสลึงที่ได้รับพระราชทานในคราวทำบุญพระบรมอัฐิ คราวนี้ถึง ๔๐๐ บาท ยายก็ปล่อยไม่เก็บเอาไปเสีย จ่ายอะไรต่างๆ เพลิดเพลิน ฯ เรานึกว่าเราเป็นหนุ่มขึ้น ควรแท้จริงจะจ่ายเอง แต่โดยที่แท้ในการจับจ่ายก็ยังเด็กอยู่นั่นเอง ไม่รู้จักของจำเป็นหรือไม่ เมื่อจะซื้อไม่รู้จักราคาพอดี ไม่รู้จักสิ้นยัง เอาความอยากได้เป็นเกณฑ์ เงิน ๔๐๐ บาทนี้เป็นปัจจัยยังเราให้สุรุ่ยสุร่ายต่อไปข้างหน้าอีก ฯ

ครั้งยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ล้นเกล้าฯ โปรดให้พวกเราหัดขี่ม้าบ้าง บางคราวออกมาอยู่ข้างนอก ใช้ม้าเป็นพาหนะไปไหนๆ เป็นต้นว่าเข้าวัง ไม่ช้าเท่าไรเราก็ขี่ชำนาญ พอขึ้นหลังม้าเป็นวิ่งหรือห้อเที่ยวเสียสนุก รู้สึกเป็นอิสระด้วยตัวเองเหมือนพระเป็นนิสัยมุตตกะ ถนนบางรัก ถนนสีลม เป็นแดนเที่ยวของเราเพราะเป็นทางไกลที่หาได้ในครั้งนั้น จะได้ห้อม้า ทั้งเป็นทางไปห้างเพื่อซื้อของด้วย ฯ ต่อมาเกิดใช้รถกันขึ้น เป็นรถโถงสองล้อชนิดที่เรียกว่าดอกก๊ากบ้าง เป็นรถประทุนสองล้อก็มี สี่ล้อก็มี ผู้นั่งขับเอง ใช้รถมีสารถีขับเฉพาะเวลาออกงาน เราก็พลอยใช้รถกับเขาด้วย ขับเองเหมือนกัน สนุกสู้ขี่ม้าไม่ได้ ฯ

เราตกม้าตั้ง ๙ ครั้งหรือ ๑๐ ครั้ง ไม่เคยมีบาดเจ็บหรือฟอกช้ำสักคราวหนึ่ง ม้าดำที่เราขี่มันเชื่อง พอเราตก มันก็หยุดรอเรา ฯ พูดถึงม้าดำตัวนี้ เราอดสงสารมันไม่ได้ คนเลี้ยงดุร้าย คราวหนึ่งเอาบังเหียนฟาดมันถูกตาข้างหนึ่งเสีย ฯ เราตกรถครั้งเดียว มีบาดเจ็บเดินไม่ได้หลายวัน เกือบพาเสด็จกรมพระเทวะวงศ์วโรปการเสด็จมาด้วยกันตกด้วย ฯ เที่ยวนี้เราใช้ม้าแซมเทียม ม้าตัวนี้ขนาดสูงลั่ง แต่พยศใช้ขี่ไม่ได้จึงใช้เทียมรถ ตั้งแต่มันพาเราตกรถแล้ว อย่างไรไม่รู้ พอหายเจ็บใช้มันอีก เห็นมันกลายเป็นสัตว์เชื่องไป ถายหลังใช้ขี่ได้ ใช้มันมาจนถึงเวลาเราบวชพระ ฯ

ตั้งแต่เกิดธรรมเนียมเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง ธรรมเนียมดื่มมัชชะก็พลอยเกิดตามขึ้นด้วย แต่ในครั้งนั้นใช้มัชชะเพียงชนิเป็นเมรัย ยังไม่ถึงชนิดสุรา ฯ เราตื่นธรรมเนียมฝรั่งปรารถนาจะได้ชื่อในทางดื่มมัชชะทน พยายามหัดเท่าไรไม่สำเร็จ รสชาติก็ไม่อร่อย ดื่มเข้าไปมากก็เมาไม่สบาย เพราะเหตุเช่นนี้เราจึงรอดจากติดมัชชะมาได้ ฯ คนติดมัชชะไม่เป็นอิสระกับตัว ไม่มีกินเดือดร้อนไม่น้อย เมาแล้วปราศจากสติคุมใจ ทำอะไรมักเกินพอดี ที่สุดหน้าตาและกิริยาก็ผิดปรกติ กินเล็กน้อยหรือบางครั้ง ท่านไม่ว่าก็จริง แต่ถ้าเมาแล้วทำเกินพอดี ท่านไม่อภัย ถ้าติดจนอาการปรากฎ ท่านไม่เลี้ยง ศิษย์ของเราผู้แก่วัดสึกออกไป ยังไม่รู้รสจงประหยัดให้มาก เพราะยากที่จะกำหนดความพอดี ฯ

ธรรมเนียมปล่อยให้เล่นการพนัน ในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ทำให้เราเคยมากับการพนัน โตขึ้นก็ทวีตามส่วยแห่งทุนที่ใช้เล่น เราเคยเล่นมากอยู่ก็ไพ่ต่างชนิด น่าประหลาดความเพลิน เล่นหามรุ่งหามค่ำก็ได้ ไม่เป็นอันกินอันนอน ถ้าเพลินในกิจการหรือในกุศลกรรมเหมือนเช่นนี้ก็จะดี อารมณ์ก็จอดอยู่ที่การเล่น อาจเรียกดว่ามิจฉาสมาธิเกือบได้กระมัง ฯ อะไรเป็นเดหตุเพลินถึงอย่างนั้น? ความได้ความเสียนี้เอง ฯ เล่นเสมอตัวคือไม่ได้ไม่เสีย แทบกล่าวได้ว่าไม่มีเลย เล่นได้ ก็มุ่งอยากให้ได้มากขึ้นไป เล่นเสียยังน้อย ต้องการแก้ตัวเอากำไร เสียมาเข้าเห็นกำไรไม่ได้แล้ว ต้องการเอาทุนคิน เช่นนี้แลถึงเพลินอยู่ได้ ฯ เล่นอย่างเราเสียทรัพย์ไม่ถึงฉิบหาย แต่เสียเวลาอันหาค่าไม่ได้ของคนหนุ่ม ฯ โปหรือหวยไม่เคยเล่น เพราะเป็นการเล่นของคนชั้นเลว ฯ ศิษย์ของเราผู้แก่วัด สึกออกไป ยังไม่เคยเล่น อย่าริเล่นเลย ตกหล่มการพนันแล้วถอนตัวออกยาก เพราะเหตุความเพลินนั้นเอง เราเคยพบคนเล่นการพนันถึงฉิบหายย่อยยับ แม้อย่างนั้นยังเว้นไม่ได้ คนมีทรัพย์เล่นไม่ถึงฉิบหาย แต่เสียเวลา ฯ

ฝ่ายเราได้โอกาสถอนตัวออกได้สะดวก ฯเราตื่นเอาอย่างฝรั่งหนักเข้า ฝรั่งครั้งนั้นที่เรารู้จักเข้าไม่ฝักใฝ่การพนัน เล่นจะไม่เหมือนฝรั่งจึงจืดจางเลิกไปเอง ภายหลังเมื่อตั้งหลักได้แล้ว จึงรู้ว่าการพนันเป็นหล่มอบายมุขที่ฝรั่งตกเหมือนกัน ตกตายก็มี กล่าวคือเล่นจนฉิบหายหมดตัวเเล้วเสียใจฆ่าตัวตาย ไพ่เป็นอบายมุขซึ่งขึ้นชื่อของฝรั่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฯ

เราไม่มีนิสัยในทางคบสตรี แม้ถูกชวน ก็ยังมีชาตาดีเผอิญให้คลาดแคล้ว รอดตัวจากอบายมุขอย่างนี้ ฯ แต่เราได้เห็นผู้อื่นมีโรคติดตัวมาเพราะเหตุนี้ ทอนชีวิตสังขารและได้ความลำบาก ฯ แม้แต่ตามประเพณีสตรีถวายตัวเป็นหม่อม แต่เรายังไม่มีความรักดำกฤษณาในวตรีเลย สุดแต่จะว่า เป็นผู้กระดากผู้หญิง หรือเป็นชนิดที่เขาเรียกว่าพรหมมาเกิด หรือเป็นผู้เกิดมาเพื่อบวชอย่างไรก็ได้ เราเห็นอยู่เป็นชายโสดสะดวกสบายกว่ามีคู่ ฯ ศิษย์ของเราผู้แก่วัดสึกออกไป ไม่เคยในทางนี้จงประหยัดให้มากจากหญิงเสเพล แม้จะหาคู่จงอย่าด่วน จงค่อยเลือกให้ได้คนดี ถูกนักเลงเข้า อาจพาฉิบหายตั้งตัวไม่ติด ฯ

ครั้งนั้นยิงนกตกปลาเป็นการเล่นนที่นิยมของคนหนุ่ม เช่นเราผู้ชอบเอาอย่างฝรั่ง แต่เราเป็นผู้ฝึกไม่ขึ้น หรือที่เขาเรียกว่าทำบาปไม่ขึ้น ฯ เรายิงนกไม่ฉมังพอที่ถูกแล้วตายทันทีทุกคราวไป บางคราวนกพิราบอันถูกยิงตกลงมา แต่ยังหาตายไม่ เราเห็นตามันปริบๆ ออกสงสาร ดังจะแปลความในใจของมันว่า "ไม่ได้ทำอะไรให้สักหน่อย ยิงเอาได้" ตั้งแต่นั้นมาต้องเลิก แต่เรายังชอบการยิงปืนไม่หาย ต่อมาใช้หัดยิงเป้าเล่น ฯ เราตกเบ็ดไม่เคยได้ปลาจนตัวเดียว จะว่าวัดหรือกระตุกไม่เป็นยังไม่ได้ ปลายังไม่เคยมากินเหยื่อที่เบ็ดของเราเลย ฯ

การอันทำให้เรายับเยินมากกว่าอย่างอื่น คือความสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ มีเงิน ๔๐๐ บาทนั้นเป็นมูล ฯ เราไม่ได้เก็บเงินเองที่จะได้รู้สิ้นยัง และยังไม่รู้จักหาเงินที่จะได้นึกเสียดาย สำคัญว่ายายมั่งมีจึงซื้อของไม่ประหยัด ฯ จะตัดเสื้อตามร้านเจ๊ก ก็เป็นของที่เรียกว่าไม่ได้แก่ตัว ผ้าก็เป็นของมีดื่น สวมอายเขา ตัดที่ห้างฝรั่งเสียเงินมากกว่า จึงเป็นการที่ปรารถนาก่อนโดยความเต็มใจ ฯ เครื่องใช้เครื่องแต่งเรือนตามร้านแขกมีศรีสู้ของห้างไม่ได้ ทั้งไม่พอใจเข้าร้านแขก เห็นเสียศรี ทั้งเขาเรียกเงินสดด้วย ฯ ซื้อของห้างไปเองก็ได้ เขาต้อนรับขับสู้ เขาไว้หน้าไม่ต้องซื้อเงินสด เป็นแต่จดบัญชีและให้ลงชื่อไว้ก็พอ ต่อเมื่อมากเข้าจึงส่งใบเสร็จมาเก็บเงินเป็นคราวๆ ของที่ขายนั้นเป็นของปราณีตออกหน้าได้ ที่มีของร้านแขกเหมือน ก็ยังมีศรีว่าเป็นของห้าง ด้วยการณ์ดังนี้ ห้างจึงเป็นที่โคจรของเรา เห็นอะไรเข้าช่างอยากได้ไปทั้งนั้น ซื้อเชื่อเหมือนได้เปล่า จะต่อราคาก็เห็นเสียภูมิฐาน ดูเป็นปอนไป ฯ

ถึงคราวเขาตั้งใบเสร็จมาเก็บเงิน ใหเสร็จใบหนึ่งมีจำนวนเงินนับเป็นร้อยๆ ยังเป็นบุญที่ไม่ถึงเป็นพันๆ นั่นแลจึงรู้สึกความสิ้นหรอคราวหนึ่ง แต่ไม่อะไรนัก ขอเงินยายมาใช้เสียก็แล้วกัน ถ้าห้างนั้นๆ ส่งใบเสร็จมาเก็บเงินระยะห่างๆ กันก็ไม่พอเป็นอะไร แต่ห้างเจ้ากรรมพอรายหนึ่งได้เงินไปแล้ว ไม่กี่วันรายที่สองรายที่สามก็ยื่นใบเสร็จเข้ามาขอเก็บเงิน ยายรักเรามากขอคราวใดก็ได้คราวนั้น แม้แต่จะปริปากบ่นก็ไม่มี ฝ่ายเราก็รักยายมากเหมือนกัน เห็นเช่นนั้นยิ่งเกรงใจยาย ไม่อยากใหเท่านนึกรำคาญใจ จึงขอผัดเขาไว้พอได้ระยะจึงใช้ นี่แลเป็นเครื่องเดือดร้อนของเรา แต่ไม่ถึงเป็นเหตุประหยัดซื้อของ ความลำบากใจนั้นจึงยังไม่วาย คราวหนึ่ง ห้างหนึ่งทนผัดไม่ไหวถึงยื่นฟ้องศาลคดีต่างประเทศขอให้ใช้หนี้ แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี บอกมาให้รู้ตัวและขอให้ใช้เสีย เราได้ทำตาม โจทก์เขาก็ถอนฟ้อง ครั้งนั้นอยู่ข้างตกใจ กลัวเสียชื่อเพราะถูกขึ้นศาลเป็นที่ไม่มีเงินจะใช้หนี้ แต่อย่างนั้นยังไม่เข็ด เป็นแต่โกรธและสาปห้างนั้น ไม่ซื้อของเขาอีกต่อไป ฯ

เป็นหนี้เขาได้ความเดือดร้อนเช่นนี้ เรายังมีทรัพย์สมบัติของตนเอง มีญาติสนิทผู้มีกำลังทรัพย์อาจช่วยใช้หนี้ให้เรา หนี้ของเราไม่ใช่สินล้นพ้นตัว เป็นแต่เราไม่ปรารถนาจะรบกวนยายให้ได้ความรำคาญเพราะถูกขอเงินบ่อยๆ เท่านั้น คนไร้ทรัพย์และหาคนสนับสนุนมิได้ เป็นหนี้เขาถูกเจ้าหนี้ทวง ไม่มีใช้เขา จะเดือดร้อนสักปานไร ถูกเขาฟ้องต้องขึ้นศาล ถูกเร่งถูกเอาทรัพย์ขายทอดตลาดหรือถูกสั่งให้ล้มละลาย จะได้ความอับอายขายหน้าเขาสักปานไร ความเป็นหนี้เป็นดุจหล่มอันลึก ตกลงแล้วถอนตัวยากนัก ขอพวกศิษย์เราจงระวังให้มาก ฯ

เรายังพอเอาตัวรอด ไม่ปู้ยี่ปู้ยำในเวลาลำพอง เพราะไม่กล้าทำการที่ยังไม่มีผู้ชั้นเดียวกันทำ หรือมีผู้ทำแต่ยังไว้ใจไม่ได้ เช่นเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ฯ

สึกจากเณรแล้ว เรายังได้เรียนภาษาอังกฤษต่อมากับครูแปตเตอสัน แต่เรียนส่วนตัว ณ ที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พร้อมกับพระองค์ท่านและกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ แต่กำลังลำพอง ทนเรียนอยู่ไม่ได้ต้องเลิก ฯ กำลังนี้เราได้เคยหัดในการประโคมอยู่บ้าง แต่เป็นผู้ไม่มีอุปนิสัยในทางนี้ เรียนไม่เป็น ครั้งยังอยู่ในโรงเรียนฝรั่ง หัดหีบเพลง ดีดสองมือไม่ได้ ดูบทเพลงที่เรียกว่าโน้ตไม่เข้าใจ หัดตีระนาด แก้เชือกผูกไม่ตีเสีย ตีสองมือไม่ได้อีก แต่จำเพลงบางอย่างได้ ฯ

ในเวลานี้ เราไม่มีราชการประจำตัว ล้นเกล้าฯ ไม่ได้ทรงใช้เหมือนเมื่อเป็นเด็ก แต่ได้เข้าเฝ้าเวลาค่ำประจำวัน และในการพระราชกุศลนั้นๆ เสมอมาไม่ห่าง ฯ

เป็นความอาภัพของเราผู้ไม่เคยได้เป็นทหารสมแก่ชาติขัตติยะกับเขาบ้าง เมื่อยังเยาว์ พวกเจ้าพี่ของเราที่จำได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ท่านเคยเป็นนายทหารเล็กๆ แรกจัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังชั้นใน บางทีจะอนุโลมมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓ กระมัง ครั้นท่านทรงพระเจริญเสด็จออกนอกวังไปแล้ว ทหารชุดนั้นก็เลิกเสียด้วย จัดทหารมหาดเล็กหนุ่มๆ ขึ้นข้างหน้า เรายังเป็นเด็กอยู่ในปูนนี้ ก็ไม่มีทางจะเข้า ได้เคยเข้าแถวหัดเป็นทหารสมัครอยู่พักหนึ่งที่วังสราญรมย์ ในคราวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเสด็จประทับ ไม่ทันถึงไหนก็เลิกเสีย หากว่าเราได้เคยเป็นทหารมาบ้าง จักรู้สึกมาหน้ามีตาขึ้นกว่านี้ ฯ


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช


นึกถึงยายในเวลานั้น เห็นหลานกำลังลำพอง ยังไม่เป็นหลักเป็นฐานคงวิตกสักปานไร แต่ไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไรกระมัง หรือท่านปลงใจว่าความละเลิงของคนรุ่นหนุ่มคงเป็นไปชั่วเเล่น แล้วก็ลงรอยเอง ฯ


..........................................................................





Create Date : 27 เมษายน 2550
Last Update : 27 เมษายน 2550 18:58:09 น. 5 comments
Counter : 9305 Pageviews.  
 
 
 
 
๕. คราวทรงพระเจริญ

แต่เป็นบุญของเราที่กลับตัวได้เร็ว ตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ฯ ทางที่กลับตัวได้ ก็เป็นอย่างภาษิตว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” นั้นเอง ฯ เราเข้าเฝ้าในวังทุกวัน ได้รู้จักกับหมอปีเตอร์เคาวันชาวสกอตช์ เป็นแพทย์หลวง เวลานั้นอายุแกพ้นยี่สิบห้าแล้ว แต่ยังไม่ถึงสามสิบ แกเป็นฝรั่งสันโดษอย่างที่คนหนุ่มเรียกว่าฤๅษี ไม่รักสนุกในทางเป็นนักเลง เรานิยมแกว่าเป็นฝรั่ง เราก็ผูกความคุ้นเคยกับแก ได้เห็นอัธยาศัยและจรรยาของแก และได้รับคำตักเตือนของเเกเข้าด้วย เกิดนิยมตาม เห็นความละเลิงที่หมอเคาวันไม่ชอบเป็นพล่านไป น้อมใจมาเพื่อเอาอย่างหมอเคาวัน จึงหายละเลิงลงทุกที จนกลายเป็นฤๅษีไปตามหมอเคาวันที่สุด แกว่ายังเด็กและห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ แกเองไม่สูบเหมือนกัน เราก็สมัครทำตาม และไม่ได้สูบบุหรี่จนทุกวันนี้ เราเห็นอานิสงส์ เราเป็นผู้มีกายไม่แข็งแรง เป็นผลแห่งความเจ็บใหญ่เมื่อยังเล็ก ถ้าสูบบุหรี่ แม้มีอายุยืนมาถึงบัดนี้ ก็คงมีโรคภายในประจำตัว หมอเคาวันเป็นทางกลับตัวของเราเช่นนี้ เมื่อภายหลังเราจึงนับถือแกฉันอาจารย์ ในครั้งนั้นและต่อมา แกก็ได้แนะเราในภาษาอังกฤษบ้าง ในวิชาแพทย์บ้างเหมือนกัน ฯ

ส่วนความสุรุ่ยสุร่ายนั้น เราได้นิมิตและงดได้ตามลำพังตนเอง ฯ วันหนึ่ง เวลาบ่ายจวนเย็น ที่เคยขึ้นม้าหรือขึ้นรถเที่ยวเล่นหรือไปข้างไหน เผอิญฝนตกไปไม่ได้ ที่คนหนุ่มรู้สึกเหงาสักเพียงไร เรานอนเล่นอยู่บนเก้าอี้นอนในเรือน ตาส่ายแลดูนั่นดูนี่ สิ่งที่ตาเราจับอยู่ที่คราวแรกคือโต๊ะขนาดกลาง ตั้งอยู่ข้างเก้าอีที่เรานอน เป็นชนิดที่ตั้งกลางห้องสำหรับวางของต่างๆ โต๊ะตัวนั้นเราเห็นที่ห้างช่างงามน่ารักจริงๆ ทั้งรูปพรรณทั้งฝีมือ ในวันนั้นไม้พื้นโต๊ะที่เคยเห็นเป็นแผ่นเดียว ก็แลเห็นเป็นไม้เพลาะปากไม้ห่างออกโร่ ลวดที่ราวกับคัดขึ้นจากเนื้อไม้นั่นเอง ก็ปรากฏเป็นไม้หรือเส้นหวายฝ่าซีกติดเข้า ผิวที่เห็นขัดเป็นเงาโง้ง ก็ปรากฏว่าเป็นแต่ทาน้ำมันให้ขึ้นผิว คราวนี้นึกถึงราคาของโต๊ะนั้นแรกซื้อกับราคาในวันนั้น อันจะพึงผิดกันมาก แต่หาได้นึกถึงประโยชน์ที่ได้ใช้โต๊ะนั้นมาโดยกาลด้วยไม่ เห็นไกลกันมาก เห็นซื้อมาเสียเปล่า

คราวนี้จับปรารภถึงของอื่นบรรดามีในเรือนก็เห็นเป็นเช่นนั้น แต่นั้นนึกถึงของที่ซื้อมาแล้วไม่ชอบใจ ให้คนอื่นเสีย ยิ่งเห็นน่าเสียดายมาก ตั้งแต่นั้นสงบความเห็นอะไรอยากได้เสียได้ ไม่ค่อยไปเที่ยวห้าง ไม่ค่อยได้ซื้ออะไร ใบเสร็จของห้างที่ส่งมาเก็บเงินใบหลังที่สุดเรายังจำได้ มีราคาบาทเดียว ค่ากระดุมทองเหลืองชุบทองสำรับหนึ่ง ที่ใช้ติดเสื้อเครื่องแต่งตัวอย่างแปลกๆ ที่เรียกว่าแฟนซีเดรส ในการขึ้นปีใหม่ เขาเห็นเราเคยซื้ออะไรบ่อยๆ เขาก็รอไว้ ต่อจวนขึ้นปีใหม่ของเขา เขาจึงส่งใบเสร็จมาเก็บเงิน หลายเดือนล่วงมาจนลืมแล้ว ฯ

ตกมาถึงเวลานี้ ขี่ม้าที่เคยวิ่งหรือห้อ ก็เป็นแต่เดิน รีบก็เพียงวิ่งเหยาะ ขี่รถที่เคยแล่นปรื๋อ ก็เป็นแต่เพียงวิ่งอย่างปรกติ สวมเสื้อตัดร้านเจ๊ก ก็ไม่เห็นเป็นเร่อร่า กลับเห็นเป็นเก๋ รู้จักเปลือง รู้จักสังวรณ์ไม่เห่อ ของร้านแขกที่เขาไปซื้อมาให้ ก็ใช้ได้เหมือนของห้าง ศรีไม่ได้อยู่ที่ของ อยู่ที่ราคาถูก ฯ ในเวลานั้นเรายังไม่รู้จักหาเงิน แต่รู้จักประหยัดทรัพย์ลงได้แล้ว ลดรายจ่ายลงได้ ก็เหมือนค่อยหาเงินได้บ้าง ฯ แม้หาเงินได้คล่อง แต่ไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ ก็ไม่เป็นการไม่พ้นขาดแคลน หาได้น้อย แต่รู้จักประหยัด ยังพอเอาตัวรอด ฯ

หมอเคาวันกล่อมเกลาเราให้เรียบเข้าได้อย่างนี้แล้ว ถ้ามีปัจจัยชักนำ เราก็คงเข้าวัดโดยง่าย ฯ ปัจจัยนั้นได้มีจริงด้วย ฯ ตั้งแต่เราสึกจากเณรแล้ว ไม่ใช่เทศกาลเช่นเข้าพรรษาหรือมีงาน เราหาได้ไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะไม่ ยิ่งกำลังลำพองยิ่งหันหลังให้วัดทีเดียว เหตุนั้นเราจึงห่างจากท่าน แม้ในเวลานั้นก็ยังไม่ได้คิดจะเข้าวัด ฯ คืนหนึ่งนอนหลับฝันว่าได้ไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะ ได้รับปฏิสันถารของท่านอันจับใจ โดยปรกติท่านช่างตรัสอยู่ด้วย อาจจะทรงทำปฏิสันถารเช่นนั้น ตื่นขึ้นปฏิสันถารของท่านได้จับใจยังไม่หาย ปรารถนาจะได้รับอย่างนั้นจริงๆ คิดจะไปเฝ้า แต่หายมาเสียนาน เกรงจะเข้ารอยไม่ถูก จะเก้อ เห็นทางอยู่อย่างนึ่ง จึงเอาโคมนาฬิกาใบหนึ่งตามด้วยน้ำมันมะพร้าว มีเครื่องจักรอยู่ใต้ถ้วยแก้วนำมัน มีเข็มชี้โมงลิบดาขึ้นมาจากเครื่องจักรนั้น ถึงโป๊ะครอบที่เขียนเลขบอกโมงและลิบดา เป็นของสำหรับตั้งในห้องนอน พึ่งมีเข้ามา ตามความเห็นของเรา เป็นของแปลกไปถวาย เป็นทีว่าได้พบของแปลกนึกถึงท่าน ได้รับปฏิสันถารของท่านจับใจเหมือนในฝัน ตั้งแต่นั้น หาช่องไปเฝ้าอีก ค่อยง่ายเข้า ค่อยสนิทเข้าโดยลำดับ จนไม่ต้องหาช่อง ในที่สุดท่านทรงคุ้นเคยเป็นคนโปรดของท่าน ได้รับประทานพระทนต์ตั้งแต่ครั้งกระนั้น ฯ ในเวลาไปเฝ้าได้รับพระดำรัสในทางคดีโลกบ้าง ในทางคดีธรรมบ้าง โดยที่สุดแบบแผนในทางพระ ได้รับประทานสมุดเรื่องต่างๆ ของท่านไปลอกไว้เป็นฉบับเป็นอันมาก ฯ


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์)


การเข้าถึงเสด็จพระอุปัชฌายะ นำให้สนใจในโคลง เรียนโหราศาสตร์ อ่านหนังสือธรรม ตามเสด็จท่าน ฯ

โคลงเคยเล่นมาบ้างแล้ว ไม่ต้องหาครู เป็นแต่หมั่นอ่านเรื่องต่างๆ สนใจในพากย์ต่างๆ หัดแต่งเรื่องต่างๆ เท่านั้น ฯ เรายังไม่เคยแต่งเรื่องยาวจนบวชเป็นพระแล้ว จึงได้แต่งเรื่องทรงผนวชของล้นเกล้าฯ แต่เสียดายว่าในตอนทรงผนวชที่เราไม่ได้เห็นเอง และบางอย่างไม่ได้รับพระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าฯ และของเสด็จพระอุปัชฌายะ ยังไม่ถูกก็มี คิดจะแก้แต่ไม่มีโอกาสเสียแล้ว ฯ

เหตุนำให้เเต่งหนังสือเรื่องนี้ เมื่อครั้งเราเข้ารับราชการแล้ว ล้นเกล้าฯ ทรงทราบว่าเราเป็นคนโปรดของเสด็จพระอุปัชฌายะ จึงตรัสใช้ให้ไปเฝ้าด้วยพระราชธุระเนืองๆ คราวหนึ่งตรัสใช้ให้เชิญพระราชหัตถเลขาคำโคลงทรงอาราธนาเพื่อทรงแต่งเรื่องทรงผนวช ในพระราชหัตถเลขานั้นทูลว่าถ้าเสด็จพระอุปัชฌายะมีพระประสงค์จะทรงทราบการนั้นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง จงตรัสสั่งเราไปกราบทูลถาม จะทรงเล่ามาถวาย เหตุนั้นเราจึงได้รับพระกระแสของล้นเกล้าฯ ในเรื่องนี้มาก พระนิพนธ์ของเสด็จอุปัชฌายะย่อไป ไม่พอพระราชประสงค์ เราปรารภถึงเรื่องนี้ ในคราวฟื้นจากไข้ สามเดือนยังทำอะไรอันเป็นการไม่ได้ จึงได้แต่งเรื่องนั้นๆ ในครั้งนั้น ฯ

แม้ไม่ได้แต่งเรื่องเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ยังได้ออกหน้าในทางโคลงอยู่บ้าง ครั้งทรงพระราชนิพนธ์โคลงนิทราชาคริตตอนอาบูหะซัน เมื่อกำลังพิมพ์โปรดให้ส่งใบแก้หน้าแท่นไปให้ท่านจินตกวี ๗ หรือ ๑๐ ท่าน ท่านละใบ ตรวจแก้แล้วส่งถวาย ทรงพระวินิจฉัยลงในใบแก้อีกใบหนึ่งแล้วส่งไปแก้พิมพ์ พวกเราผู้เข้าในจำนวนนั้นยังมีอีก ที่จำได้ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการและกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้มีธุระเสมอกับท่านจินตกวีชั้นสูงเช่น เสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดา กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ก็น่าจะรู้สึกว่ามีเกียรติยศอยู่ เราได้ชื่อในทางตาไวจับคำผิดลักษณะโคลงได้บ่อยๆ ผู้ตรวจเหล่านี้มีรายชื่อแจ้งในท้ายพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว ฯ

เมื่อบวชพระแล้ว ทรงขอแรงแต่งโคลงพงศาวดารบ้าง โคลงยอพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์บ้าง เป็นบทๆ ใช้ในงานพระเมรุ ฯ นี้นับว่าออกหน้าในทางโคลง ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่และมีการทางพระศาสนาแล้ว ไม่ได้สนใจอีก ใฝ่ใจไปในทางเรียงเรื่องร้อยแก้ว เพราะได้ใช้มากในธุระ ฯ ครั้งนั้นเราแต่งฉันท์ไม่เป็นเลย ข้อขัดข้องคือรู้จักศัพท์ไม่พอ มาแต่งเป็นต่อเมื่อรู้ภาษามคธและแต่คาถาเป็นแล้ว ไม่เคยเรียงเรื่องยาว ท่อนที่ออกหน้า คือคำฉันท์แปลศราทธพรตคาถาในพระราชกุศลสตมาหสมัย ที่พระศพสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และคำร้องถวายชัยมงคลของนักเรียนมหามงกุฎราชวิทยาลัย ฯ กลอนแปดไม่เคยทำเลย จะลองบ้าง พ้นเวลามาแล้วให้นึกกระดาก ฯ เราไม่พอใจลึกซึ้งในการแต่งคำประพันธ์ จึงไม่ตั้งใจหาดีในทางนี้ เป็นแต่สำเหนียกพอเป็นกับเขาบ้างเท่านั้น ฯ

เราเริ่มเรียนโหราศาสตร์กับขุนเทพยากรณ์ ทัด) ตั้งต้นหัดทำปฏิทินก่อน เข้าใจยากจริงๆ เพราะเอาโหราศาสตร์กับพยากรณ์ศาสตร์รวมเข้าเป็นศาสตร์อันเดียวกัน นำให้เข้าใจว่าเรียนโหราศาสตร์ ก็เพื่อมีวิชารู้จักทำนายเหตุการณ์ต่างๆ จึงมุ่งไปเสียในทางนั้น และเพราะวิธีสอนบกพร่องด้วย ไม่ได้อธิบายให้เข้าใจรสคือกิจของโหราศาสตร์ว่าเป็นเช่นไร ปฏิทินคืออะไร ชื่อต่างๆ คือศักราช มาสเกณฑ์ อวมาน หรคุณและอื่นๆ หมายเอาอะไร เหตุไฉนจึงตั้งศักราชแล้วกระจายออกเป็นองค์เหล่านั้น ราศี องศา ลิบดา กำหนดหมายอะไร ความเดินของพระอาทิตย์พระจันทร์และดาวพระเคราะห์ ที่เรียกว่ามัธยมก็ดี สมผุสก็ดี ต่างกันอย่างไร เป็นอาทิ ในตำราบอกว่า ถ้าจะทำองค์ชื่อนั้นให้ตั้งเกณฑ์อย่างนั้น เเล้วทำเลขอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับโหราศาสตร์เลย แต่เกี่ยวกับพยากรณ์ศาสตร์ กว่าจะคลำเข้าใจได้แต่ละอย่างช่างยากเสียจริงๆ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าโหรจะอธิบายได้ทุกคน โหรไม่รู้จักดาวฤกษ์หรือแม้ดาวพระเคราะห์ เป็นมีแน่

ขุนเทพยากรณ์ (ทัด) ถึงแก่กรรมในระหว่างเรียน ได้ไปขอเรียนกับครูเปียครั้งยังบวช และเป็นครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ที่วัดราชประดิษฐ์ ตั้งใจจะทำปฏิทินให้จบปี ทำร่วมมาได้มากแล้วถึงสมผุสพระเคราะห์ เห็นจะกว่าครึ่งแล้ว จับเล่นธรรมะจัดเข้า เห็นเหลวไหลเลยเลิก เราจึงไม่รู้มาก พยากรณ์ศาสตร์ยิ่งรู้น้อย เป็นแต่เสด็จพระอุปัชฌายะทรงแนะประทานบ้าง ไม่ได้เรียนจริงๆ จังๆ แต่เรายังได้ใช้ความรู้โหราศาสตร์อยู่บ้าง ได้ช่วยชำระปูมเก่าถวายเสด็จพระอุปัชฌายะ ฯ

เราเรียนธรรมด้วยอ่านหนังสือเป็นพื้น ได้ฟังเสด็จพระอุปัชฌายะตรัสด้วย คราวนั้นสบเวลาที่สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เริ่มเรียงหนังสือธรรมลงพิมพ์แจก หนังสือนั้นใช้สำนวนดาดเป็นคำสอนคนสามัญเข้าใจง่าย ช่วยเกื้อกูลความเรียนธรรมของเราให้กว้างขวางออกไป เมื่อสนใจอยู่ ความเบื่อย่อมไม่มี ธรรมที่เป็นเพียงปฏิบัติกายวาจาใจเรียบร้อย อันตรงกันข้ามต่อความลำพองที่เคยมาแล้ว ยังเห็นเป็นละเอียดพอแล้ว ครั้นได้เรียนธรรมที่เป็นปรมัตถ์แจกเบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ อริยสัจสี่ และปฏิจจสมุปบาท ยิ่งตื่นใหญ่

แต่นิสัยของเราเป็นผู้เชื่อไม่ลงทุกอย่างไป และธรรมกถานั้นๆ มักมีข้อความอันไม่น่าเชื่อปกคลุมหุ้มห่ออยู่มากบ้างน้อยบ้าง นี้แหละเป็นเครื่องสะดุดของเราให้ชะงัก แต่เมื่อนิยมในธรรมมีแล้ว ทั้งได้ยินท่านผู้ใหญ่ค้านบางเรื่องไว้ก็มี ก็ปลงใจเลือกข้อที่เรารับรองได้ และสลัดข้อที่เรารับรองไม่ได้ออกเสีย เช่นคำเปรียบว่าร่อนทองจากทราย เรื่องที่ถูกอารมณ์ของเราคือกาลามสูตร ที่สอนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ให้ใช้ความดำริของตนเป็นที่ตั้ง ความรู้ความเข้าใจของเราในครั้งนั้นเป็นอย่างนักธรรมใหม่คือไม่เชื่อหัวดายไป เลือกเชื่อบางอย่าง อย่างที่ไม่เชื่อ เข้าใจว่าผู้หนึ่งซึ่งหาความละอายมิได้ แทรกเข้าไว้ ไม่คำนึงถึงที่เรียกว่า ช่างเถิด แต่ยังไม่เคยได้ความรู้ในเชิงอักษรวิทยาว่าเป็นปริศนาธรรมก็มี เช่นเรื่องมารวิชัย เหมาเสียว่าไม่จริง ไม่เคยนึกว่าเป็นเรื่องแต่งเปรียบน้ำพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า คิดหวนกลับหลังด้วยอำนาจความอาลัย อันพระองค์หักเสียได้ด้วยเอาความมุ่งดีมาข่ม แต่เราไม่ใช่ชนิดคนอวดรู้ในทางนี้ ที่เขาตั้งชื่อว่า "ทำโมห์" ฯ

เราลงสันนิษฐานว่า จะรู้ธรรมเป็นหลักและกว้างขวาง ต้องรู้ภาษามคธ จะได้อ่านพระไตรปิฎกได้เอง ไม่เช่นนั้นจะอ่านได้แต่เรื่องแปลเรื่องแต่ง ที่มักเป็นไปตามใจของผู้แปลผู้แต่ง ในเวลานั้นพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) อาจารย์เดิมของเรา ย้ายบ้านจากหน้าวัดชนะสงครามไปอยู่บางบำหรุ คลองบางกอกน้อย เหลือจะเรียนกับแกได้ พระปริยัติธรรมธาดา (ชั่ง) อยู่บ้านหน้าวัดรังษีสุทธาวาสไม่ไกล ทั้งได้เคยเป็นครูสอนมาบ้างแล้ว จึงขอให้แกมาสอน ฯ ได้ยินเขาพูดกันว่า จะรู้ภาษามคธกว้างขวาง ต้องเรียนมูลคือกัจจายนปกรณ์ บทมาลาแคบไป ไม่พอจะให้รู้กว้างขวาง เรียนทั้งทีปรารถนาจะรู้ดีที่สุดตามจะเป็นได้ ทั้งบทมาลาก็ได้เคยเรียนมาแล้ว รู้ทางอยู่ จึงตกลงเป็นเรียนมูล ฯ ชั้นแรกมีสูตรคือ หัวข้อสำหรับท่องจำให้ได้ก่อน ผูกโตอยู่ เราเล่าพลางเรียนแปลคำอธิบายใจความของสูตรนั้น ที่เขาเรียกว่าพฤตินัยปกรณ์ไปพลาง ครูของเราดูเหมือนไม่ชำนาญมูล แต่พอสอนให้แปลไปได้ แต่ไม่ถนัดแนะให้เข้าใจความที่กล่าว ตกเป็นหน้าที่ของเราจะเข้าใจเอาเอง ลงปลายแกหาหนังสือที่แปลสำเร็จตลอดถึงคำอธิบายในภาษาไทย ซึ่งเรียกว่านิสัยมูลมาให้อ่านเอาเอง ฯ

การเรียนของเรา อาจารย์มูลเขาคงกล่าวว่าเรียนอย่างลวก ไม่ละเอียดลออ เรากล่าวเอง เรียนแต่พอจับเค้าได้ แม้อย่างนั้นกว่าจะจบถึง ๑๐ เดือน นี้เป็นอย่างเรียนเร็ว เขาเรียนกันตั้งปีสองปี ฯ เราอาจสังเกตเห็นว่า ระเบียบที่จัดในมูลยังไม่ดี มีก้าวก่ายกล่าวความยืดยาวฟั่นเฝือเหลือความสามารถของผู้แรกเรียนจะทรงไว้อยู่ ฯ ครั้นขึ้นคัมภีร์คือจับเรียนเรื่องนิทานในอรรถกถาธรรมบท เป็นเรื่องดาดของเราในเวลานี้แล้ว แต่เราเลือกเอาหนังสือที่ครูถนัดว่าเป็นดี จึงตกลงใจเรียนอรรถกถาธรรมบท ฯ ทั้งเรียนมูลมาแล้ว และแปลพฤติของมูลได้เองแล้ว เริ่มเรียนอรรถกถาธรรมบทยังงง กว่าจะเอาความรู้ในมูลมาใช้เป็นเครื่องกำหนดได้ ก็เปลืองเวลาอยู่ ฯ เรียนคราวนี้ รู้จักใช้ความสังเกต เอาความเข้าใจได้อาจแปลเองได้บ้างตามลำพัง ฯ เมื่อเรียนในทางนี้เราเลือกสร้างพระไตรปิฎกขึ้น วานกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ อธิบดีกรมราชบัณฑิตเป็นธุระ หนังสือบาลีพระวินัยไม่ยากนัก อ่านเข้าใจความได้ติดต่อกันเป็นเรื่อง ช่างสนุกจริงๆ ฯ

ตั้งแต่เข้าวัดมา และจับเรียนธรรมมา เราปลูกความพอใจในความเป็นสมณะขึ้นโดยลำดับ นึกว่าบวชก็ได้ แต่ยังไม่ได้น้อมในไปส่วนเดียว เคยเข็ดเมื่อครั้งยังรุ่น เรามักจืดจางเร็ว ที่สุดห้องเรือนที่แต่งไว้อย่างหนึ่ง ครั้นชินตาจืดไป ต้องยักย้ายแต่งใหม่ มาถึงเวลานี้จึงยังไม่ไว้ใจตัวเองเกรงจะไม่ตลอดไปได้ บวชอยู่นานแล้วสึก ไม่ได้การเสียเวลาในทางฆราวาส ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๗ ปี กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ทรงผนวชพระ ในเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงจรัสโฉม พระบุตรีใหญ่ของท่านยังอยู่ในครรภ์ ท่านทรงฝากเราให้เป็นธุระ เธอคลอดในเวลาท่านยังทรงผนวช เราได้เอาเป็นธุระขวนขวายตลอดการเป็นผู้รับเธอเป็นลูก ในเวลาที่เขาทำพิธีมอบให้เป็นผู้รับ เราพึ่งได้เห็นเป็นครั้งแรก ทั้งเป็นครั้งแรกที่ทำการเกี่ยวกับผู้อื่นในหน้าที่ของผู้ใหญ่ เราเอาธุระมาโดยเรียบร้อยจนถึงท่านลาผนวช ฯ


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์


อนึ่ง กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ทรงรับราชการว่าช่างสนะ คือช่างเย็บผู้ชาย ในเวลานั้น กำลังท่านยังทรงผนวช เตรียมการเฉลิมพระที่นั่งวโรภาสพิมานที่พระราชวังบางปะอิน ล้นเกล้าฯ รับสั่งให้เราดูการแทนกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ มีหน้าที่ในการเย็บเสี้ยวอันเป็นของผู้ชาย มีทำธงต่างๆ มีธงช้างเป็นต้น สำหรับใช้ตกแต่งในงาน ครั้งนั้นธงยังไม่มีที่ซื้อ ต้องทำเอาเองทั้งนั้น เรายังไม่เคยงานออกวิตกว่าจะไม่แล้วทันราชการ แต่ก็ทำจนทัน รับสั่งว่าจ่ายสิ้นเท่าไรให้ตั้งเบิก เราไม่รู้ว่าผ้าต่างๆ ที่จัดซื้อมาใช้นั้นราคาอย่างไร ฉวยว่าซื้อแพงไปจะเป็นที่ระแวงผิดว่าหาเศษ ไม่กล้าเบิก แต่ราชการสำเร็จเป็นที่พอใจแล้ว ฯ

ต่อมาถึงงานฉัตรมงคล เราได้รับพระราชทานพานทอง คือ พานหมากใหญ่มีเครื่องในพร้อม ๑ เต้าน้ำ ๑ กระโถนเล็ก ๑ เป็นเครื่องยศ กับดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมกับกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ ที่ยังทำตามจันทรคติกาลที่พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม และได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี มีตราพระมหามงกุฎหมายรัชกาลอยู่บนหลัง เมื่อคราวงานพระราชพิธีตรุษ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคม ปีเดียวกัน ฯ

การได้รับพระราชทานพานทองนี้ ไม่ดีใจเท่าไรนัก ถ้าทูลกระหม่อมยังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงได้รับพระราชทานมาแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ตามอย่างพระเจ้าลูกยาเธออื่น และได้ยินเขาพูดว่า เราอยู่ในจำนวนแห่งพระเจ้าลูกเธอ ผู้จะได้รับพระราชทานในคราวอันจะมาถึง ครั้นตกมาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พานทองจึงเลื่อนออกไปตามภาวะตามอายุ ทั้งในเวลานั้นเราเข้าวัดอยู่แล้วด้วย ความรู้สึกมีหน้ามีตาก็พอทุเลา เป็นแต่เห็นว่าได้ดีกว่าไม่ได้ ไม่ได้ออกจะเสีย ดูเป็นคนเหลวไหลหรือไม่ได้ราชการ ส่วนตราทุติยจุลจอมเกล้าเล่า เป็นตราสกุลเห็นจืด ครั้งนั้นเขานิยมตราความชอบมากกว่า เพราะในประกาศนียบัตรระบุความชอบลงไว้ด้วย คล้ายประกาศตั้งกรมอย่างเตี้ยๆ ส่วนตราสกุลในประกาศนียบัตรแสดงแต่เพียงว่าทรงเห็นสมควรจะได้รับ เรายังไม่มีราชการเป็นหลักฐาน สิ้นหวังตราความชอบ ในพวกเราที่ได้เป็นอย่างสูง ก็กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เพียงมัณฑนาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เท่านั้น แม้ตราสกุลถ้าได้รับพระราชทานในเวลาชอบแต่งตัวก็คงไม่จืดทีเดียว ได้รับพระราชทานแล้ว ไม่ได้เคยแต่งถ่ายรูปสักคราวหนึ่ง ต่อเมื่อเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้ว จึงรู้ว่า เวลาที่ไม่อยากได้นั้นแหละเป็นเวลาที่สมควรแท้ที่ตะได้รับพระราชทาน เราเองจักยกย่องใครๆ ก็เลือกผู้ที่เขาไม่อยาก และจักไม่ตื่นเต้น ฯ

แม้เราเป็นคนเข้าวัดแล้ว ก็ยังต้องออกหน้าเป็นคราวๆ เพราะเป็นคนเคยคบฝรั่ง รู้จักวัตรของฝรั่ง เช่นมีเจ้าฝรั่งเข้ามาเป็นครั้งแรก ก็ได้ออกแขกได้รับเชิญในงานเลี้ยงเวลาค่ำและในการสโมสร ล้นเกล้าฯ ยังไม่ทรงทราบว่าเราเข้าวัด ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๘ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการประจำในกรมราชเลขา มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานสารบบฎีกา หรือกล่าวอีกโวหารหนึ่ง เป็นราชเลขานุการในทางอรรถคดี ฯ ในครั้งนั้นศาลที่พิจารณาอรรถคดียังแยกกันอยู่ตามกรมนั้นๆ (ยังไม่ได้จัดกระทรวง) ต่างทูลเกล้าฯถวายสารบบประจำเดือน มารวมอยู่ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และความฏีกาในครั้งนั้น ศาลฏีกาเรียงพระราชวินิจฉัยในท้ายฎีกาทูลเกล้าฯถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธยแล้ว จึงจะบังคับได้ตามนั้น ถ้าไม่โปรดตามที่เรียงมาก็ทรงแก้ใหม่ ฯ มีพระราชประสงค์จะรวมราชการทางนี้เป็นแผนกหนึ่ง มีเจ้าพนักงานรักษาการ จึงโปรดเกล้าฯให้เรารับราชการในหน้าที่นี้ เราได้รับราชการตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๘ อุตราษาฒ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๒๐ ฯ ราชการที่เราทำนั้น เมื่อกรมนั้นๆ อันมีหน้าที่พิจารณาอรรถคดี ทูลเกล้าฯถวายสารบบประจำเดือนแล้ว พระราชทานแก่เรา เรารวบรวมยอดฎีกาถวายอีกใบหนึ่ง เพื่อทรงทราบว่าในเดือนหนึ่งๆคดีทุกกรมเกิดใหม่เท่านั้นๆ ตัดสินเสร็จไปแล้วเท่านั้นๆ ยังคงค้างพิจารณาเท่านั้นๆ ฯ

ดูเพียงสารบบก็พอรู้ได้ว่า การพิจารณาคดียังหละหลวมมาก กรมหนึ่งพิจารณาเดือนหนึ่งไม่ได้กี่เรื่อง กรมนครบาลมีหน้าที่พิจารณาความอาชญาเดือนหนึ่งแล้วเพียง ๒ เรื่องก็มี ที่สุดจนรวมยอดคดีก็ไม่ถูกกับรายคดี จะฟังเอาว่ารายคดีเป็นถูก จำนวนเดือนต่อมา อาจยกรายเก่ามาผิดอีก บางทีตุลาการเองจะรู้ไม่ได้ทีเดียวว่าคดีมีเท่าไรแน่ เป็นความยากแก่เราผู้จะรวมยอด ถึงต้องต่อว่าต่อขานกันไม่รู้จบ ผลที่ได้ก็เพียงให้จำนวนในสารบบหลังกับหน้าตรงกันเท่านั้น ฯ อีกอย่างหนึ่งเราเป็นผู้รับฎีกาที่เรียงพระราชวินิจฉัยแล้ว จากกรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีศาลฎีกา ไว้แล้วอ่านถวายในเวลาทรงพระราชธุระในทางนี้ โปรดตามนั้น ทรงลงพระนามาภิไธยข้างท้าย ไม่โปรดทรงแก้ใหม่บอกให้เราเขียน แล้วทรงลงพระนาม คัดสำเนาไว้แล้วส่งต้นถวายกรมหลวงพิชิตไป ฯ

กรมพระนเรศวรฤทธิ์อธิบดีกรมราชหัตถเลขาในครั้งนั้น ทรงจ่ายเสมียนประทานเราสองคน คือพระยาศรีสุนทรโวหาร ครั้งยังเป็นนายกลม ๑ นายเจิมน้องเขา ๑ ยังเป็นเสมียนฝึกหัดทั้งสองคน เขียนหนังสือช้าทั้งตกมากด้วย ตกได้ตั้งบรรทัด เราได้ความหนักใจมาก ควรใช้ต้นสารบบเองก็ต้องใช้ ฯ น่าประหลาดว่าภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหารมีความรู้ทางหนังสือเจริญขึ้นโดยลำดับ เขียนได้เร็วไม่ตก ฟังความที่พูดในที่ประชุมแล้วจำไว้ได้แม่น จนได้เป็นเลขานุการในเสนาบดีสภา ยังมีข้อน่าประหลาดอีก เขามีลูกชายคนหนึ่งชื่อนายผัน เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๕๘) เป็นหลวงประเสริฐ เมื่อยังเด็กเขียนหนังสือตกตั้งบรรทัดเหมือนพ่อ เขาเอามาฝากเราบวชเป็นสามเณร เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้ว หัดเขียนหนังสือไปหายตก จนถึงได้เป็นเลขานุการของเรา ในเวลานี้ได้ชื่อว่าเป็นจินตกวี ฯ อันคนมีนิสัยดี ได้รับคำแนะนำเข้าบ้าง อาจขยายออกได้ตามลำพังของตน พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นคนปูนเดียวกับเรา ดูเหมือนเขาได้ความรู้ความเข้าใจจากเราไม่เท่าไรนัก แต่เขานับถือเราเป็นฉันอาจารย์ จนเอาลูกมาฝากอีกต่อหนึ่ง ส่วนหลวงประเสริฐเราจักถือว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณของเขา แม้ตัวเองก็ต้องยอมรับ ฯ

เราได้เรียนทางอรรถคดีเมื่อครั้งเข้ารับราชการในทางนี้ รู้เพียงฟังคำพยานแล้วสันนิษฐานเอาความจริง และตามยุติธรรมควรจะเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจถึงวางบท เพราะในครั้งนั้นกรมต่างๆพิจารณาแล้วส่งสำนวนให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงชี้ขาด คือชี้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจึงเป็นหน้าที่ของขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาบดี เป็นผู้ปรับสัตย์คือวางบทลงโทษผู้ผิดหรือยกฟ้อง ครั้นมาถึงฎีกาทรงตัดสินเองไม่ได้อ้างบท ยืนตามคำชี้ขาดและปรับสัตย์ก็เป็นแล้วไป ทรงแก้ก็ไปตามยุติธรรมเป็นเค้าเงื่อน และการรู้กฎหมายก็ยังไม่เป็นที่น่าปรารถนา เพราะหนังสือกฎหมายเก่าก็อ่านเข้าใจยาก และมีพระราชบัญญัติและประกาศออกซับซ้อนกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ กระจัดกระจายกันอยู่ยากที่จะรวบรวมไว้ได้ ทั้งอาการของผู้ทรงกฎหมายในครั้งนั้น ไม่นำให้เกิดความเลื่อมใส ชั้นใหม่มีแต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรพระองค์เดียวไม่พอจะแก้ผู้อื่นเป็นอันมาก ให้เป็นผู้น่าเลื่อมใสไปทั้งนั้น ถ้าเราสนใจก็คงรู้ดีขึ้นกว่านี้อีก ฯ ตำแหน่งเราทำนี้แล ครั้งเมื่อตั้งศาลสถิตยุติธรรม ยกคดีในกรมทั้งหลายมารวมพิจารณาในใต้บัญชาของเจ้ากระทรวงเดียวกันแล้ว ก็ยังคงมีสืบมา เจ้าพนักงานในตำแหน่งนี้ ได้ไปเป็นกรรมการศาลฎีกาก็มี กรรมการศาลฎีกาได้เข้ามารับตำแหน่งนี้ก็มี ในบัดนี้เป็นอธิบดีกรมพระสมุหนิติศาสตร์ ในกระทรวงวังด้วย ฯ


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์




..........................................................................................................................................................


 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:19:04:07 น.  

 
 
 
(ต่อตอนที่ ๕ )

ครั้งนั้นเริ่มพระราชทานเงินเดือนแก่ผู้ทำราชการประจำวันแล้ว ข้าราชการในกรมราชเลขาได้รับพระราชทานทั่วกัน กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นอธิบดี กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เข้ามาก่อนเรา เมื่อเราเข้าไปเป็นที่ ๔ ไม่มีเจ้านายอื่นเข้าอีกจนเราออกมาบวช นอกจากนี้ ข้าราชการในกรมอาลักษณ์ชั้นหลวง ชั้นขุน และเสมียน เรารับราชการอยู่ ๒ ขวบเต็ม หาได้รับพระราชทานเงินเดือนไม่ จะเป็นเพราะไม่ได้ทรงนึกถึงหรืออย่างไรหาทราบไม่ เสด็จอธิบดีของเราก็หาได้ทรงขวนขวายไม่ เป็นแต่ได้รับพระราชทานเงินปีขึ้นกว่าเดิมอีก ๕ ชั่ง เป็นปีละ ๓๕ ชั่ง ตามตัวอย่างเจ้านายรับราชการ ท่านผู้ใดรับพระราชทานเงินเดือน ก็ได้รับพระราชทานเงินปีเพิ่มเหมือนกัน เราหาได้กระสับกระสายเพราะเหตุนี้ไม่ เหตุว่าเคยทำราชการมาด้วยความภักดี ยังไม่เคยได้รับพระราชทานเงินเดือน ทำไปด้วยน้ำใจเช่นนั้น มีราชการไม่อยู่เปล่า และทรงสนิทสนมด้วยเป็นพอแล้ว ทั้งในเวลานั้นเราไม่ได้จับจ่ายเลี้ยงตัวเอง ยายยังเป็นธุระอยู่ ไม่รู้จักสิ้นยัง และเหตุต้องการเงินใช้ กล่าวคือสุรุ่ยสุร่ายเราก็งดได้แล้ว เสียแต่มามีราชการในเวลาที่เราเข้าวัดอยู่แล้ว ฯ


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์


ตั้งแต่เข้ารับราชการแล้ว เราปลงใจว่าจักหาได้บวชเลยไปไม่ ถ้าทำอย่างนั้น ดูเป็นทิ้งราชการ เห็นแก่ประโยชน์ตัวมากเกินไป ในเวลานั้น เสียงพวกสยามหนุ่มค่อนว่าพระสงฆ์ว่า บวชอยู่ไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ขี้เกียจ กินแล้วก็นอน รับบำรุงของแผ่นดินเสียเปล่า ฝ่ายเราไม่เห็นถึงอย่างนั้น เห็นว่าพระสงฆ์ยังตั้งใจจะทำดีแต่เป็นเฉพาะตัว เพราะไม่มีการอย่างอื่นเช่นตัวเรา เท่านั้นก็จัดว่าเป็นดี จึงไม่อาจปฏิเสธคำที่ว่าไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ยังไม่มีญาณพอจะเห็นกว้างขวางไปว่า พระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินมากเหมือนกัน มีสั่งสอนคนให้ประพฤติดี เอาธุระในการเล่าเรียนของเด็กบุตรหลานราษฎรเป็นอาทิ ข้อสำคัญคือเป็นทางเชื่อมให้สนิทในระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ในครั้งก่อน พระสงฆ์ยิ่งเป็นกำลังของแผ่นดินมากกว่าเดี๋ยวนี้ ญาณเช่นนี้ยังไม่ผุด จึงกระดากเพื่อจะละราชการไปบวชเสีย ฯ แต่ยังคงเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะและเรียนภาษามคธอยู่ตามเดิม ฯ

แต่ชาตาของเราเป็นคนบวชกระมัง วันหนึ่งเผอิญกรมพระเทวะวงศ์วโรปการทรงล้อเราว่า เป็นผู้เข้าวัดต่อหน้าพระที่นั่ง แต่ล้นเกล้าฯ หาได้ทรงพระสำรวลตามไม่ ทรงถือเอาเป็นการ ทรงเกลี้ยกล่อมจะให้เราสมัครบวช เรากราบทูลตามความเห็นเกรงจะเป็นทิ้งราชการ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสอธิบายว่า ถ้าเราบวชจักได้ราชการเพียงไร ไม่เป็นอันทิ้ง จนเราหายกระดากใจเพื่อจะบวช ตรัสปลอบอย่าให้เราห่วงถึงยาย เพราะท่ายชราแล้วก็คงตายมื้อหนึ่ง ตรัสขอปฏิญญาของเราว่าจะบวช เราเกรงจะไปไม่ตลอด เพราะยังไม่ไว้ใจของตัวอันเปลี่ยนเร็วเมื่อครั้งยังรุ่นหนุ่ม จึงไม่กล้าถวายปฏิญญา เป็นแต่กราบทูลว่า ถ้าจะสึกจะสึกเมื่อพ้นพรรษาแรก พ้นจากนั้นเป็นอันจะไม่สึก พระราชทานปฏิญญาไว้ว่า บวชได้ ๓ พรรษาแล้ว จักทรงตั้งเป็นต่างกรม ทรงอ้างสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นตัวอย่าง ครั้งนั้นเจ้านายพวกเราได้เป็นต่างกรมแล้วเพียง ๔ พระองค์ เป็นชั้นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ทั้งนั้น และเราจะมาเป็นที่ ๕ เหลือที่จะเอื้อมคิดไปถึง จึงไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์เสียเลย จนวันพระราชดำรัสสั่งให้เตรียมรับกรม ดังจะกล่าวข้างหน้า ฯ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ


ตั้งแต่ทรงทราบว่าเราเป็นผู้เข้าวัด ดูทรงพระกรุณามากขึ้น และมีราชการในทางวัดเพิ่มขึ้น เมื่อมีพระราชธุระถึงเสด็จพระอุปัชฌายะ รับสั่งใช้เราเชิญพระกระแสรับสั่งมากราบทูลบ้าง เชิญพระราชหัตถเลขามาถวายบ้าง เมื่อคราวจะฉลองวัดนิเวศธรรมประวัติเกาะบางปะอินที่ทรงสร้างใหม่ โปรดเกล้าฯให้เรามีหน้าที่เป็นผู้ดูการจารึกอักษรต่างๆในแผ่นศิลา และติดศิลาจารึกนั้นตามที่ เรียกช่างเขียนหนังสือขอมมาจากกรมราชบัณฑิต ช่างเขียนหนังสือไทยจากกรมพระอาลักษณ์ ช่างแกะจากกรมกษาปณสิทธิการ และกรมช่างสิบหมู่ มาตั้งกองทำแล้วนำขึ้นไปติด เร่งรัดทำแล้วเสร็จทันงานฉลอง ฯ ทรงใช้สอยเราในราชกิจนั้นๆ สนิทสนม จนถึงเวลากราบถวายบังคมลาออกมาบวช ฯ


..........................................................................



๖. สมัยทรงผนวชพระ

ธรรมเนียมเก่า ชายผู้เกิดต้นปีไปหากลางปี มรอายุนับโดยปีได้ ๒๑ อุปสมบทได้ ผู้เกิดพ้นกลางปีไปแล้ว ให้อุปสมทบต่อเมื่ออายุได้ ๒๒ โดยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ธรรมเนียมในราชการพออายุ ๒๑ ก็อุปสมบทได้ ต่อมาพระมหาเถระในธรรมยุติกนิกายเห็นว่า คนเกิดต้นปีอาจอุปสมบทได้ในปีที่ ๒๐ ที่ทอนเข้ารอบแล้ว ได้ ๑๙ ปี มีเศษเดือน พอจะประจบเข้ากับเดือนที่อยู่ในครรภ์เป็น ๑ ปี และได้อุปสมบทแก่คนมีอายุเพียงเท่านี้มาเป็นบางครั้ง เฉพาะบุรุษพิเศษ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ก็ได้ทรงอุปสมบทเมื่อพระชนมายุเท่านี้ ฯ

เมื่อมีตัวอย่างมาแล้ว เราจึงกราบทูลเสด็จอุปัชฌายะ ขอประทานพระมติในการบวช ท่านทรงอำนวยให้อุปสมบทในปีที่ ๒๐ จึงนำความกราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ ทรงพระอนุมัติ เป็นอันตกลงว่าจักอุปสมบทในปีที่ ๒๐ นี้ ฯ เดิมกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ จักทรงผนวชในปีนี้ แต่มีราชการต้องงดไป คงบวชแต่เราผู้เดียว ฯ สมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันหนึ่ง รุ่งขึ้นอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๒ เสร็จอุปสมบทกรรมเวลาบ่าย ๑ โมง ๔๑ ลิบดา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌายะ พระจันทรโคจรคุณ (จันทรรังสี) วัดมกุฎกษัตริย์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สวดองค์เดียวตามแบบพระวินัยธรรมเนียมที่ใช้กันมา สวดคู่ท่านผู้อยู่ข้างขวาเรียกกรรมวาจาจารย์ ท่านผู้อยู่ข้างซ้ายเรียกอนุสาวนาจารย์ เรียกอย่างเขินๆ เพราะอนุสาวนาเป็นเอกเทศของกรรมวาจา จะหมายกรรมวาจาเป็นญัตติ ก็แยกกันสวดไม่ได้ อย่างไรจึงสวดคู่ เราเห็นว่า คงเกิดขึ้นในหมู่ที่ไม่เข้าใจบาลีสวด สวดเข้าคู่กันเป็นอันทานกันเอง รูปหนึ่งสวดผิด การสวดย่อมล่มรู้ได้ง่าย เป็นวิธีชอบกลอยู่ แต่ท่านผู้รู้มักรังเกียจว่าสวดไม่สะดวก ว่าอักษรไม่ตระหนัก แต่บวชออกแขก ยังคงใช้กันมา เว้นแต่ในคราวทำทัฬหิกรรมคือบวชซ้ำ สวดแต่รูปเดียว ครั้งล้นเกล้าฯ ทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าน้องยาเธอทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียวตามอย่าง แต่หม่อมเจ้าคงสวดคู้ คราวนี้กลายเป็นจัดชั้นเอกสวดรูปเดียว ชั้นโทสวดคู่ แต่ตามวัดก็ใช้สวดรูปเดียวตามขึ้นบ้าง นึกดูก็ขัน อย่างไรจึงกลายเป็นยศ คนสามัญทีสุดคนของหม่อมเจ้า พอใจจะมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ก็มีได้ ส่วนหม่อมเจ้าเองมีไม่ได้ ฯ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เหตุไฉนเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ผู้เป็นเพียงพระราชคณะยก จึงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของเรา ฯ มีเป็นธรรมเนียมในราชการ พระอุปัชฌายะหลวงเลือก พระกรรมวาจาจารย์เจ้าตัวผู้บวชเลือก เราเลื่อมใสอยู่มากในเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ เห็นอาการของท่านเคร่งครัดและเป็นสมณะดี มีฉายาอันเย็น เช่นพระราหุลครั้งยังเป็นพระทารก กล่าวชมสมเด็จพระบรมศาสดา ฉะนั้นทำทางรู้จักกับท่านไว้ก่อนแล้ว ครั้นถึงเวลาบวชจึงเลือกท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ไม่ต้องการท่านผู้มียศสูงกว่า เราพอใจว่าได้ท่านเป็นพระกรรมวาจารย์ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนทุกวันนี้ ฯ

ในคราวที่เราบวชนี้ เห็นได้ว่าล้นเกล้าฯ ทรงกังวลอยู่ พอเที่ยงแล้วก็เสด็จออก ไม่ต้องคอยนาน ฯ บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ ล้นเกล้าฯ หาได้เสด็จส่งไม่ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสด็จมาส่งโดยรถหลวง เสด็จพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่คณะกุฎีที่เป็นคณะร้าง ไม่มีพระอยู่ในเวลานั้น นี้เป็นเหตุให้เราเสียใจเพราะได้เคยอยู่โรงพิมพ์ที่ประทับทูลกระหม่อมมาแล้ว ทั้งอยู่ห่างจากท่านออกไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงตั้งตนเป็นคนห่างบ้าง แต่พระประสงค์ของท่านว่า เราอยู่ที่นั่นคณะกุฎีจะไม่เปลี่ยว แต่เราก็อยู่สองคนกับตาจุ้ยอายุ ๗๐ แล้ว ที่ยายจัดให้มาอยู่เป็นเพื่อเท่านั้น แต่อยู่ก็สบาย เงียบเชียบ มีคนหลายคนก็แต่เวลาในเพลที่เขาเชิญเครื่องมาส่ง ฯ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์


ถึงหน้าพรรษา ล้นเกล้าฯ เสด็จถวายพุ่มที่วัดนี้ เคยเสด็จทรงประเคนพุ่มพระเจ้าน้องยาเธอผู้ทรงผนวชใหม่ถึงตำหนัก เป็นการเยือนด้วย เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระ แปลกจากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคองอัญชลี เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชษฐะของเรา โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา เห็นท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหัตต่างหาก ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเห็นเราผู้ที่ท่านทรงกราบแล้วถือเพศเป็นคฤหัตถ์อีก ตรงคำที่เขาพูดกันว่ากลัวจัณไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น แต่หาได้ทูลไม่ ฯ

คราวนี้ เสด็จพระอุปัชฌายะหาค่อยได้ทรงสั่งสอนเหมือนครั้งเป็นสามเณรไม่ เป็นเพราะท่านเลิกเป็นพระอุปัชฌายะเสีย ทรงรับเป็นเฉพาะบางคน พระใหม่ของท่านจึงมีไม่กี่รูป ท่านทรงสอนพระอื่น กลับทรงสอบถามเราด้วยซ้ำ ฯ ในพรรษาต้น อยู่ข้างได้ความสุขเพราะความเป็นไปลงระเบียบและเงียบเชียบ เช้าบางวันไปบิณฑบาต เช้า ๒ โมงครึ่งลงนมัสการพระที่พระอุโบสถ กลับขึ้นมาแล้วจึงฉันเช้า แต่นั้นว่าง สุดแล้วแต่จะน้อมเวลาไป กลางวันพัก บ่ายดูหนังสือเรียน พอแดดร่มไปกวาดลานพระเจดีย์ กลับจวนค่ำ หัวค่ำเรียนมคธภาษากับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) เหมือนอย่างเคยเรียนที่วัง ยังเรียนอรรถกถาธรรมบทอยู่นั่นเอง แต่กำลังเคร่ง เงินทองไม่เกี่ยวข้อง อาจารย์พลอยขาดผลที่เคยได้เป็นรายเดือนด้วย ๒ ทุ่มครึ่งลงนมัสการพระสวดมนต์ฟังสิกขาที่พระอุโบสถ เสด็จอุปัชฌายะมักประทับตรัสอยู่จนเวลาราว ๔ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น พระไม่อยู่รอ ต่างรูปต่างไป เว้นแต่ผู้ที่ท่านตรัสอยู่ด้วย ฝ่ายเราเคนมาในราชการทั้งท่านตรัสกับเราเองโดยมากด้วย รออยู่กว่าจะเสด็จขึ้นจึงได้กลับ แต่นั้นเป็นเวลาสาธยายและเจริญสมณธรรม กว่าจะถึงเวลานอนราว ๒ ยาม สวดมนต์ที่เป็นพระสูตรต่างๆบรรดามีในสมุดพิมพ์แบบธรรมยุต ครั้งรัชกาลที่ ๔ เราเล่าจำได้มาแต่ก่อนอุปสมบทแทบทั้งนั้น ไม่พักลำบากด้วยการนี้ ต้องเล่าเติมบางอย่างที่ไม่มีในนั้น เราเล่าที่วัดนี้ ปาติโมกข์ทั้งสอง และองค์นิสสยมุตตกะ เป็นต้น ที่สำหรับเป็นความรู้ไม่ได้ใช้เป็นสวดมนต์ ฯ

ศึกษาธรรมและวินัยหนักเข้า ออกจะเห็นเสด็จพระอุปัชฌายะทรงในทางโลกเกินไปเสียแล้ว นี้เป็นอาการของผู้แลเห็นแคบดิ่งไปในทางเดียว ต่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเองจึงเห็นว่ารู้ทางโลกก็เป็นสำคัญ อุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง พระศาสดาของเราก็ได้ความรู้ทางโลกเป็นกำลังช่วย จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี ในเวลานี้ คนเช่นนั้นเขาคงเห็นเราทรงในทางโลกเกินไปเหมือนกัน ครั้งนั้น ใคร่จะไปอยู่ในสำนักเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ ซึ่งครั้งนั้นเรียกวัดพระนามบัญญัติ เพื่อสำเหนียกความปฏิบัติของท่าน พอออกพรรษาแล้ว พูดแก่ท่าน ทูลขออนุญาตของล้นเกล้าฯ ทูลลาเสด็จพระอุปัชฌายะ โปรดให้สมปรารถนา เป็นคราวแรกที่เจ้านายพวกเราไปอยู่วัดอื่นนอกจากวัดบวรนิเวศวิหารนี้และวัดราชประดิษฐ์ ได้ไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง ฯ แต่แรกท่านให้อยู่คณะด้านตะวันออก ที่กุฎีตรงสระด้านเหนือเราสร้างเอง แต่บัดนี้ชำรุดและรื้อเสียแล้ว ภายหลังขออนุญาตอยู่ในคณะของท่านทางคณะตะวันตก ท่านให้อยู่ที่หอไตรหลังกุฎีใหญ่ของท่าน ฯ ท่านฝากเราให้เรียนมคธภาษาต่อเจ้าคุณพระพรหมมุนี (กิตติสาระ) ครั้งยังเป็นเปรียญ เรียนมังคลัตถทีปนี พอค่ำอาจารย์มาสอนที่กุฎี ฯ

เราไปอยู่วัดนั้นเป็นครั้งแรก ได้พบว่าความปฏิบัติวินัยของพวกพระธรรมยุตแผกกันโดยวิธี เช่นถือวิกัปอติเรกจีวรภายในสิบวันเหมือนกัน แต่ที่วัดนิเวศวิหารวิกัปหนเดียว ฝ่ายวัดมกุฎกษัตริย์เมื่อถอนแล้วต้องวิกัปใหม่ทุกสิบวัน เป็นอย่างนี้ ได้ความว่าในครั้งนั้นคณะธรรมยุตมีหัววัดเป็นเจ้าสำนักอยู่สอง วัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นเจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัสวิหาร ๑ สองสำนักนี้ปฏิบัติวินัยก็ดี แผกกันบ้างโดยวิธี แม้อัธยาศัยก็แผกกัน วัดอื่นที่ออกจากสองวันนั้นหรือเนื่องด้วยสองวัดนั้น ย่อมทำตามหัววัดของตน เหตุแผกกันของสองวัดนั้น เราควรจะถามเจ้าคุณพระกรรมวาจาจารย์ของเราได้ทีเดียว แต่พลาดมาเสียแล้ว ไม่ได้ถาม เข้าใจตามความสังเกตและพบเห็นว่า เมื่อครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวช ครั้นเมืองเสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) ครองคณะวัดราชาธิวาสอยู่ข้างโน้น ทูลกระหม่อมทรงเปลี่ยนแปลง หรือตั้งแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นข้างนี้ สมเด็จพระวันรัตอยู่ข้างโน้น บางทีจะไม่รู้ คงทำตามแบบที่ใช้ครั้งเสด็จอยู่วัดราชาธิวาส ข้างเสด็จพระอุปัชฌายะเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารกับทูลกระหม่อม ไม่ได้เคยเสด็จอยู่วัดราชาธิวาส คงทรงตามแบบที่ใช้ในวัดนี้สืบมา


..........................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:19:08:50 น.  

 
 
 
(ต่อตอนที่ ๖ )

การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยมีประกาศให้รู้ทั่วกันหรือบังคับนัดหมายให้เป็นตามกัน จนถึงเราเป็นผู้ครองคณะ พึ่งจะมีขึ้นบ้างเมื่อมีหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ขึ้นแล้ว ครั้นทูลกระหม่อมทรงลาผนวชไปเสวยราชย์แล้ว เสด็จพระอุปัชฌายะเป็นเจ้าคณะ แต่ท่านไม่ได้เป็นบาเรียน และท่านทรงถ่อมพระองค์อยู่ด้วย ฝ่ายสมเด็จพระวันรัตเป็นผู้ใหญ่แก่พรรษากว่าท่าน ต่อมาเป็นสังฆเถระในคณะด้วย เป็นบาเรียนเอกมีความรู้พระคัมภีร์เชี่ยวชาญ ทั้งเอาใจใส่ในการปฏิบัติจริงๆ ด้วย แต่ไม่สันทัดในทางคดีโลกเลย ข้างเสด็จพระอุปัชาฌายะโปรดถือตามแบบเดิม ข้างสมเด็จพระวันรัตชอบเปลี่ยนแปลงอัธยาศัยเป็นธรรมยุตแท้ สององค์นั้นไม่ได้หารือและตกลงกันก่อน เมื่อฝ่ายหนึ่งจะแก้ไขธรรมเนียมเดิม ใครจะแก้ไปอย่างไรก็ได้ มุ่งในที่แคบคือเฉพาะวัดที่ปกครอง ไม่คิดว่าจะทำความเพี้ยนกันในทางนิกายเดียวกัน เหตุอันหนุนให้แก้นั้น คือมุ่งจะทำการที่เห็นว่าถูก ไม่ถือความปรองดองเป็นสำคัญ

ในเวลานั้นวัดบวรนิเวศวิหารกำลังโทรม มีพระหลักแหลมในวัดน้อยลง ถูกจ่ายออกไปครองวัดต่าง ก็หาเป็นกำลังของวัดเดิมไม่ กลับเป็นเครื่องทอนกำลังวัดเดิม พระอริยมุนี (เอม) ได้ออกไปวัดเทพศิรินทร์ เมื่อก่อนหน้าเราอุปสมบทปีหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนตลอดเวลาของสมเด็จพระอุปัชฌายะ ไม่มีพระออกวัดอีกเลย ในวัดเพียงเทศนาอ่านหนังสือได้เป็นจังหวะถูกต้อง สวดปาติโมกข์ได้ก็เป็นดี ฝ่ายวัดโสมนัสกำลังเจริญ มีพระบาเรียนเป็นนักเทศน์และบอกปริยัติธรรมได้หลายรูป ทั้งเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา จ่ายออกไปวัดต่างไป ย่อมเป็นกำลังของวัดเดิม ช่วยแผ่ลัทธิให้กว้างขวาง สมเด็จพระวันรัตไม่มีอำนาจในทางคณะเลย แต่มีกำลังอาจแผ่ลัทธิกว้างขวางออกไป เพราะมีผู้นับถือนิยมตาม ความปฏิบัติเพี้ยนกันมีขึ้นด้วยประการฉะนี้

เจ้าคุณอาจารย์ของเรา ได้เคยเป็นพระปลัดของสมเด็จพระวันรัต อยู่วัดราชาธิวาสแล้วย้ายมาอยู่วัดโสมนัสวิหารพร้อมกับท่าน ต่อมาทูลกระหม่อมทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ โปรดให้มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังโปรดให้ไปอยู่ครองวัดมกุฎกษัตริย์ ท่านเคยพบความเพี้ยนกันมาแล้ว ท่านจึงเลือกใช้ตามความชอบใจ ความปฏิบัติธรรมและวินัย ตลอดจนอัธยาศัย เป็นไปตามคติวัดโสมนัสวิหาร แบบธรรมเนียมเป็นไปตามคติวัดบวรนิเวศวิหาร ปนกันอยู่ ฯ ความแผกผันนี้เป็นเหตุพระต่างวัดไปมาไม่ถึงกัน พระต่างเมืองไปมาพักอาศัยอยู่ต่างวัดกระดากเพื่อเข้านมัสการพระด้วยกัน คราวหนึ่งเมื่อรับสมณศักดิ์แล้ว เราไปพักอยู่วัดสัตตนาถปริวัตรเมืองราชบุรี เข้านมัสการพระกับพวกพระวัดนั้น ปรารถนาจะดูธรรมเนียม จึงให้พระสมุทรมุนี (หน่าย) เจ้าอาวาสนำนมัสการพระและชักสวดมนต์ ธรรมเนียมแปลกมากเล่าไม่ถูก วัดนั้นออกจากวัดโสมนัสวิหาร บางทีธรรมเนียมวัดโสมนัสวิหารจักเป็นเช่นนั้นกระมัง ฯ

นอกจากนี้ ยังได้พบความเป็นไปของวัดที่ขึ้นวัดอื่นว่าเป็นเช่นไร พระผู้ใหญ่วัดตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา ต้องไปมาหาสู้วัดเจ้าคณะและวัดใหญ่ ได้ความคุ้นเคยกับต่างวัด ได้คติของต่างวัด แต่เป็นวัดไม่มีเจ้านายเสด็จอยู่ พระในพื้นวัดย่อมเซอะอยู่เองแต่ว่าง่าย หัวไม่สูง ฯ

ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เป็นที่สิ้นสงสัย ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมคามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพังจึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่าทำทัฬหิกรรม ฯ สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร หยุดมานานแล้ว พระเถระในสำนักนี้ไม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทวะ) ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้าฯทรงผนวชพระ เสด็จพระอุปัชฌายะตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะไม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดาผู้ไม่ได้ทำอีกองค์หนึ่ง ฯ ฝ่ายสำนักวัดโสมนัสวิหารยังทำกันเรื่องมา ไม่เฉพาะรูปจะยั่งยืนในหลักพระศาสนา พระนวกะสามัญก็ทำเหมือนกัน ฯ

คราวนี้เกิดปันกันขึ้นเองในหมู่พระ เป็นพระน้ำก็มี เป็นพระบกก็มี คราวนี้พวกอุบาสิกาสำนักนั้น ก็พูกระพือเชิดชูพระน้ำ หมิ่นพระบก จนเกิดความขึ้นคราวหนึ่ง ก่อนหน้าเราบวช ล้นเกล้าฯ ทรงออกรับในฝ่ายพระบก ตั้งนั้นมา เสียงว่าพระน้ำพระบกก็สงบมา ถึงยังทำกันก็ปิดเงียบ ไม่ทำจนเฝือเหมือนอย่างก่อน ฯ ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราจักเป็นผู้ยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเป็นหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี

เราจึงเรียนความปรารถนานี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ ขอท่านเป็นธุระจัดการให้ ท่านเห็นด้วย และรับจะเอาเป็นธุระ สั่งให้เรามากราบทูลเชิญเสด็จฯ พระอุปัชฌายะ ท่านตรัสว่าจะเสด็จก็เกรงจะเป็นการอื้ออึง ตรัสสั่งให้เอาพระนามไปสวด ทรงเทียบว่าไม่มีอุปัชฌายะ ยังอุปสมบทขึ้น แต่เจ้าคุณอาจารย์ เจ้าคุณพรหมมุนี กับเรา ปรึกษากันเห็นร่วมกันว่า มีความข้อหนึ่งในกัมมากัมมวินิจฉัยว่า “กรรมอันจะพึงทำในที่ต่อหน้า ทำเสียในที่ลับหลัง เป็นวัตถุวิบัติ หาเป็นกรรมที่ได้ทำโดยธรรมไม่” ถ้าอุปสัมปทากรรมจะต้องทำต้องหน้าอุปัชฌายะ เมื่ออุปัชฌายะไม่อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นแต่เอาชื่อมาสวดก็จักเป็นกรรมวิบัติ ข้อที่ว่าไม่มีอุปัชฌายะก็อุปสมบทขึ้นนั้น อยู่ข้างหมิ่นเหม่จะฟังเอาเป็นประมาณมิได้ จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพศิรินทร์ ครั้งยั้งเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ

พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่ริมน้ำตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ จบกรรมวาจาแรกเวลา ๕ ทุ่ม .........ลิบดา เสร็จทำทัฬหิกรรมแล้วเจ้าคุณท่านสั่งให้ถือนิสัยอาจารย์ไปตามเดิม เราจึงเรียกเจ้าคุณอาจารย์ตลอดมา ฯ

ในเวลาจำพรรษาที่ ๒ เราขออนุญาตเจ้าคุณอาจารย์เข้าไปอยู่อุปัฏฐากท่านในกุฎีเดียวกัน ด้วยปรารถนาจะได้คุ้นเคยสนิทและจะได้เห็นความปฏิบัติของท่านในเวลาอยู่ตามลำพังด้วย ฯ ท่านไม่ได้เป็นเจ้า และเป็นเพียงพระราชาคณะสามัญ เราเป็นเจ้าชั้นลูกหลวง ห่างกันมาก แม้เป็นศิษย์ก็ยากที่จะเข้าสนิท จึงปรารถนาจะหาช่องผูกความคุ้นเคย เข้ายากแต่ในชั้นแรก พอข้าสนิทได้แล้วเป็นกันเองดี เรากลับเข้าได้สนิทกว้าเสด็จพระอุปัชฌายะผู้เป็นเจ้าด้วยกัน และเป็นชั้นเดียวกับอาด้วย ปกติของเสด็จพระอุปัชฌายะ แม่เข้าได้สนิทแล้ว แต่ไม่ได้เฝ้านานวัน กลับห่างออกไปอีก ต้องคอยเข้าอยู่เสมอ ยากที่จะรักษาความสนิทให้ยืนที่ แม้สัทธิวิหาริกผู้มิใช่เจ้า ที่ท่านเคยทรงใช้สอยมาสนิท มีฐานันดรเป็นพระราชาคณะขึ้น ห่างออกไปได้ ด้วยท่านทรงเลิกใช้เสีย พระนั้นเลยเข้ารอยไม่ถูก ฝ่ายเจ้าคุณอาจารย์เข้าสนิทได้คราวหนึ่งแล้ว แม้อยู่ห่างจากกัน คงสนิทอยู่ตามเดิม เมื่อเรากลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารและเป็นต่างกรมมีสมณศักดิ์ในพระแล้ว ท่านก็ยังคุ้นเคยสนิทสนมด้วยตามเดิม ฯ

ตั้งแต่เรามาอยู่กับท่านยังเห็นจรรยาของท่านน่าเลื่อมใสอยู่เสมอ เมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ชิดเห็นว่าเป็นปกติของท่านอย่างนั้นจริง ยิ่งเลื่อมใสขึ้น ปกติของท่าน รักษาไตรทวารให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษ นี้เป็นลักษณะสมณะแท้ คุณสมบัติของท่านที่ควรระบุ เราไปอยู่ในสำนักของท่าน ๒ ปี ๒ เดือน อยู่อุปัฏฐากเกือบปีเต็ม ในระหว่างนี้ไม่ปรากฏว่าได้แสดงความโกรธแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีใจเย็นไม่เคยได้ยินคำพูดของท่านอันเป็นสัมผัปลาป การณ์ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจไม่พูดถึงเสียเลย จึงไม่แสดงความเข้าใจเขวให้ปรากฏเลย ความถือเขาถือเราของท่านไม่ปรากฏเลย เป็นผู้มีสติมาก สมตามคำสอนของท่านว่า จะทำอะไรหรือพูดอะไรจงยั้งนึกก่อน ข้อที่แปลกผู้ใหญ่อื่นโดยมาก ไม่ดูหมิ่นคนเกิดที่หลังว่าเด็กและตื้น แม้ผู้เป็นเด็กพูดฟังโดยฐานะเป็นผู้มีเมตตาอารี หาใช่ผู้มีใจคับแคบตามวิสัยของพระผู้ตั้งตัวเป็นผู้เคร่งไม่ เช่นเราเข้าไปขออยู่ในสำนัก ท่านมีอัธยาศัยเผื่อแผ่พอที่จะรับไว้และอนุเคราะห์ให้ได้รับประโยชน์จริงๆ ฯ

อุบายดำเนินการของท่าน ปกครองบริษัทด้วยผูกใจให้รักและนับถือ แม้เราเป็นเจ้านายก็ปกครองอยู่ ตลอดถึงในน้ำใจสอนคนด้วย ทำตัวอย่างให้เห็นมากกว่าจะพูด เมื่อพูดสั่งสอนอย่างใด เห็นว่าท่านปฏิบัติมาอย่างนั้นด้วย เมื่ออธิกรณ์เกิดขึ้นควรจะนิคหะ ก็รีบทำแต่ชี้โทษให้ผู้ผิดเห็นเอง ทำอย่างที่เรียกว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น รักษาความสม่ำเสมอในบริษัท จะแจกของแจกทั่วกัน เช่นหน้าเข้าพรรษา ท่านแจกเครื่องนมัสการ เพื่อพระสามัญผู้ไม่ได้รับของจากใครเลย จะได้ใช้ทำวัตร เรามีผู้ถวายแล้ว ท่านก็แจกมาถึงด้วยเหมือนกัน ชอบผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่แสดงให้ปรากฏ มีศิษย์เป็นเจ้านายเฉพาะบางพระองค์ ที่มาอยู่ด้วยมีแต่เรา ไม่มีเฝือดุจเสด็จพระอุปัชฌายะ น่าจะตื่น อีกอย่างหนึ่งท่านเป็นอันเตวาสิกของทูลกระหม่อม ได้พระเจ้าลูกเธอของท่านเรียกตามโวหารสามัญว่า ลูกครู มาไว้เป็นศิษย์น่าจะยินดีเท่าไร แต่ท่าระวังจริงๆ เพื่อไม่ให้ความพอใจรั่วไหลออกภายนอก แต่ก็ไม่ฟังอยู่ดี ท่านประพฤติแก่เราโดยฐานมีเมตตาอารีเอื้อเฟื้อระวังไม่ตีสนิทกับเราเกินพอดี ที่จะพึงเห็นว่าประจบหรือเอาใจเราเกินไป ฯ

ข้อบกพร่องของท่านตามที่เรานึกเห็น เป็นผู้พูดน้อยเกินไป ที่เรียกว่าพูดไม่เป็น ทูลกระหม่อมทรงตำหนิว่าพระไม่พูด แต่อันที่จริงคุ้มกันแล้ว ท่านพูดพูดไม่ถนัดเฉพาะท่านผู้ที่จะพึงเคารพยำเกรง และคนแปลกหน้า อีกอย่างหนึ่งเรานึกติท่านในครั้งนั้นว่า เก็บพัสดุปริกขารไว้มากเป็นตระหนี่ เพราะเวลานั้นเรายังไม่มีศิษย์บริวารจะพึงสงเคราะห์ นอกจากตาดีอุปัฏฐากแทนตาจุ้ยผู้ตายไปเสีย และยังมียายเป็นผู้บำรุงอยู่ จึงเห็นว่าพระไม่ควรมีอะไรมากนัก ต่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นด้วยตัวเอง จึงรู้ว่าพระผู้ใหญ่ผู้ครองวัดและหาผู้บำรุงมั่นคั่งเป็นหลักฐานมิได้เช่นเจ้าคุณอาจารย์ จำต้องมีพัสดุปริกขารไว้ใช้การวัดและเจือจานแก่บริษัทผู้ขัดสน ยิ่งวัดมกุฎกษัตริย์ที่ตั้งใหม่ ไม่มีของใช้บริบูรณ์เหมือนวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จพระอุปัชฌายะเคยตรัสต่อว่าทางเราว่า แต่ก่อนจะรับกฐินเคยขอยืมเครื่องบูชาที่วัดบวรนิเวศวิหารไปตั้ง อย่างไรเดี๋ยวนั้นหายไป เจ้าคุณอาจารย์ท่านแก้ว่า พอมีขึ้นบ้างแล้ว จึงไม่ได้ไปทูลรบกวน และการสงเคราะห์บริษัทเล่า ทางดีที่ควรทำ รูปใดต้องการสิ่งใดจึงให้ แต่เป็นผู้ใหญ่ย่อมห่างจากผู้น้อย ภิกษุสามเณรมักกระดาก เพื่อจะเข้ามาขอของที่ต้องการ ได้แก่ตัวเราเองเมื่อภายหลัง ข้อนี้เราขอขมาท่านในที่นี้

เวลาอยู่อุปัฏฐากเจ้าคุณอาจารย์ในพรรษานั้น เราหยุดเรียนหนังสือ แต่ได้ศึกษาวินัยกับท่านตลอดถึงสังฆกรรม และหัดสวดกรรมวาจาอุปสมบททั้งทำนองมคธ ทั้งทำนองรามัญ แม้ท่านไม่ได้เรียนบาเรียน แต่ได้เคยเรียนบาลี อ่านเข้าใจ ได้ยินว่าพระราชาคณะยกในฝ่ายธรรมยุติกนิกายในครั้งนั้น รู้บาลีแทบทั้งนั้น เว้นเฉพาะบางรูป ฐานันดรว่า พระราชาคณะยก นั้น น่าจะเพ่งเอาท่านผู้รู้บาลี แต่ไม่ได้สอบได้ประโยคเป็นบาเรียน ทรงยกย่องเป็นบาเรียนยก ฯ เราเห็นท่านแม่นยำในทางวินัยมาก สังฆกรรมที่ไม่ชินอย่างอุปสมบท เมื่อถามขึ้นโดยไม่รู้ตัว ท่านอธิบายได้ แต่การปฏิบัติวินัยยังเป็นไปตามอักษร และมักจะเกรงผิด ถูกตามแบบที่นิยมไว้ว่า “เป็นผู้มีปกติ ละอายใจ มักรำคาญ ใคร่ศึกษา” แต่ไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนี้ เหมือนอย่างพระผู้ตั้งตนว่าเคร่ง ฯ ในการสวดกรรมวาจาอุปสมบท ท่านได้ชื่ออยู่ในเวลานั้น ทั้งเป็นที่นับถือในทางปฏิบัติด้วย ครั้งสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทวะ) ทำทัฬหิกรรม ท่านก็สวด หัดผู้อื่นไม่สันทัดในอันแนะ แต่ยันหลักมั่น ยังไม่ถูก ไม่ผ่อนตาม ฯ

ธรรมสนใจในบางประกากร เฉพาะที่ถูกอารมณ์ และรู้จักอรรถรส ไม่พูดพร่ำเพรื่อ ถึงคราวจะเทศนา ใช้อ่านหนังสือ ท่านพอใดอย่างนั้นมากกว่าพุ้ยเทศน์ปากเปล่าเหลิงเจิ้ง ที่ในปกรณ์เรียกผู้เทศน์อย่างนั้นว่า ธรรมกถึกย่านไทร สอนผู้บวชใช้ปากเปล่า แต่มีแบบพอสมควรแก่สมัยฟังได้ ฯ ท่านไม่ได้บาเรียนก็จริง ถึงอย่างนั้นท่านที่เป็นบาเรียนมีชื่อเสียงตลอดมาทุกยุค ถึงเราเองในบัดนี้ นับถือท่านแทบทั้งนั้น เราไม่เคยเสียใจว่ามีอาจารย์วาสนาต่ำเลย ยังเป็นที่พอใจของเราอยู่จนทุกวันนี้ ฯ

เดิมนึกว่าจะอยู่อุปัฏฐากเพียงพรรษาหนึ่ง ออกพรรษาแล้วจักลาออกเรียนหนังสือต่อไป แต่ยังเลื่อมใสอยู่ จึงทำค่อมาอีกบรรจบเป็น ๑๑ เดือน แต่เรียนหนังสือไปด้วย จนถึงเวลาเรียนปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย อันเป็นหลักสูตรแห่งประโยค ๗ ที่ต้องดูหนังสืออื่นแก้อีกสองสามคัมภีร์ ต้องใช้เวลามาก และประจวบคราวเสด็จพระอุปัชฌายะประชวรไข้พิษมีพระอาการมาก เราลาท่านกลับมาอยู่พยาบาลที่วัดบวรนิเวศวิหาร กว่าจะหายประชวร เมื่อกลับไปจึงเลยออกจากหน้าที่อุปัฏฐากด้วยทีเดียว ตั้งหน้าเรียนหนังสือต่อไป ฯ

เดิมเราตั้งใจเรียนพออ่านบาลีอรรถกถาฎีกาเข้าใจความ อย่างเสด็จพระอุปัชฌายะและเจ้าคุณอาจารย์เท่านั้น ไม่ปรารถนาเป็นบาเรียน ครั้นทราบจากเจ้าคุณพรหมมุนีว่าล้นเกล้าฯ ตรัสถามถึงว่าจะแปลได้หรือมิได้ และเจ้าคุณพรหมมุนีถวายพระพรทูลรับเข้าไว้ด้วย เกรงว่าจะถูกจับแปล การแปลมีวิธีอย่างหนึ่ง นอกจากความเข้าใจ เราไม่ได้เตรียมตัวไว้ ถูกจับแปลเข้าจักอายเขา เป็นเจ้า พอไปได้ก็เชื่อว่าไม่ตก ยกเสียแต่ไม่มีพื้นมาเลย เช่นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์เมื่อครั้งบวชเป็นสามเณร แต่ เขาคงว่าได้อย่างเจ้า พวกเจ้าผู้แปลหนังสือเป็นบาเรียนได้รับความชม ได้ยินเพียงทูลกระหม่อมของเรา กับหม่อมเจ้าเนตรในพระองค์เจ้าเสือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๒ ผู้อยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ นอกจากนี้ถูกติก็มี เงียบอยู่ก็มี คราวนี้ต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าแปลหนังสือด้วย ฯ

เมื่อตกลงใจอย่างนี้แล้ว พลอยเห็นอำนาจประโยชน์ไปด้วยว่า อาจารย์ผู้บอกหนังสือ ไม่ได้รับตอบแทนอันคุ้มกัน เมื่อเราแปลได้ประโยคเป็นบาเรียน จักได้ชื่อได้หน้า จักได้เห็นผลแห่งการงานของท่าน ฯ เรากล่าวถึงพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์แปลหนังสือตกไว้ในที่นี้ หากท่านยังอยู่ท่านคงไม่โกรธ บางทีกลับจักเห็นเป็นชื่อเสียอีก มีผู้รู้กันขึ้นว่า ท่านก็เป็นนักเรียนบาลีเหมือนกัน ดีกว่าไม่ได้เป็นทีเดียว ฯ

เมื่อเราได้สองพรรษาล่วงไปแล้ว จักเข้าสามพรรษา เจ้าคุณอาจารย์ให้สวดกรรมวาจาอุปสมบท ครั้งนั้นที่วัดไม่มีผู้สวด เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหลุดสวดไม่สวด พระจันโทปมคุณ (หัตถิปาละ) ครั้งยังเป็นพระปลัด ไม่รู้มคธภาษาและไม่สันทัดว่าอักขระ สวดไม่ได้ ต้องนิมนต์ผู้สวดจากวัดอื่น และผู้สวดกรรมวาจานั้น ในพระบาลีไม่ได้ยกย่องเป็นครูบาของผู้อุปสมบท ยกย่องเพียงอุปัชฌายะและอาจารย์ผู้ให้นิสัย พึ่งยกย่องในอรรถกถา พระธรรมยุตจึงไม่ถือเป็นสำคัญนัก ทูลกระหม่อมและเสด็จพระอุปัชฌายะท่านก็ได้สวดมาพรรษายังน้อย เจ้าคุณท่านให้เราสวดอนุวัตรตามอย่างนั้น ฯ

เราเองพอใจในทางหนึ่งว่า ได้เปิดคราวแรกต่อหน้าอาจารย์ของเราเอง และได้ยกชื่ออาจารย์ของเราเองขึ้นสวดเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นมงคลแก่กรณียะนี้อันจะพึงกระทำต่อไปข้างหน้า แต่เสียดายว่าภิกษุรูปแรกที่เราสวดกรรมวาจาอุปสมบทให้นั้น แม้เลือกเอาคนบวชต่อแก่แล้ว ก็หายั่งยืนอยู่หรือตายในพรหมจรรย์ไม่ ฯ

เราอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ได้รับเมตตาและอุปการะของเราคุณอาจารย์อันจับใจ ท่านได้ทำกรณียะของอาจารย์แก่เรา ฝากเราให้เรียนหนังสือในสำนักเจ้าคุณพรหมมุนี จัดการทำทัฬหิกรรมอุปสมบทให้แก่เรา ยังเราให้ได้รับฝึกหัดในกิจพระศาสนาเป็นอันดี ยกย่องให้ปรากฏในหมู่ลูกศิษย์ ตลอดถึงเป็นทางเข้ากับสำนักวัดโสมนัสได้ ให้กำลังเราในภายหน้ามากเพราะข้อนี้ แสดงความวิสาสะฉันอาจารย์กับศิษย์ เปิดช่องให้เราเข้าสนิท ไม่กระเจิ่น นับว่าได้เจริญในสำนักอาจารย์เอาใส่ใจเอื้อเฟื้อในเราเป็นอย่างยิ่ง สุขทุกข์ของเราเป็นดุจสุขทุกข์ของท่าน และอยู่ข้างเกรงใจเรามาก แผนยาย เมื่อเรายังไม่ได้อุปสมบท เรามีหน้าที่เป็นผู้รับอาบัติของท่าน และได้รับในหนที่สุดเมื่อจวนจะถึงในมรณภาพ เราถือว่าเป็นเกียรติของเรา ฯ

ฝ่ายเจ้าคุณพรหมมุนีเล่า ได้ตั้งใจจะบอกปริยัติธรรมแก่เราโดยเอื้อเฟื้อ ประโยคที่เราจะเรียนในวันๆ ท่านอ่านและตริตรองมาก่อน เป็นผู้มีความรู้ในทางแปลหนังสือแตกฉาน เราได้รับแนะนำในการแปลหนังสืออย่างละเอียดลออ ได้ความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากในครั้งนั้น ท่านยังเป็นบาเรียน ยังหาได้เข้าประชุมในการสอบความรู้ไม่ จึงไม่แน่ใจในวิธีแปลที่ใช้ในสนามหลวงนัก จึงต้องสนใจหาความเข้าใจไว้หลายทาง ถ้าจะมีทางแปล กลับได้ความคิดแตกฉานขึ้นอีก ฯ

ในพรรษที่ ๓ นั้น พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน เราเข้าไปฉันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการเฉลิมพระชนมพรรษา พอสรงมุรธาภิเษกแล้ว ล้นเกล้าฯ เสด็จมาตรัสแก่เสด็จพระอุปัชฌายะว่า เมื่อก่อนหน้าเราบวช ได้ทรงปฏิญญาไว้ว่า บวชได้สามพรรษาแล้ว จักทรงตั้งเป็นต่างกรม บัดนี้เราบวชเข้าพรรษาที่สามแล้ว ทั้งจะต้องออกงานในการฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ขวบปี ทรงกะไว้จะให้ถวายเทศนากระจาดใหญ่ กัณฑ์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายทูลกระหม่อม ทรงขอตั้งเราเป็นพระราชาคณะและเป็นต่างกรมในปีนั้น เสด็จพระอุปัชฌายะทรงพระอนุมัติฯจรองอยู่ ล้นเกล้าฯได้ตรัสไว้แก่เราอย่างนั้น แต่เราหาได้ถือเป็นพระปฏิญญาไม่ และยังไม่นึกถึงการเป็นต่างกรมเลย เพราะยังเห็นว่าเป็นยศที่ยังอยู่สูงกว่าตัวลิบลับ ด้วยในครั้งนั้น พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงกรมไปก่อนแล้ว มีแต่ชั้นใหญ่ ๔ พระองค์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พึ่งทรงกรมเมื่อต้นศกนั้น ชั้นกลางมีแต่กรมพระเทวะวงศ์วโรปการพระองค์เดียว พึ่งเป็นเมื่อต้นศกเหมือนกัน เราเป็นชั้นรองลงมา ในชั้นเรายังไม่มีใครได้เป็น ยกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าเสีย ในทางสมณศักดิ์ เข้าใจว่าต้องรับยศเป็นเปรียญไปก่อนเหมือนทูลกระหม่อม แล้วจึงขึ้นเป็นพระราชาคณะในลำดับ เราได้ยินตรัสอย่างนั้น ตกตะลึงหรืองงดุจฝัน เพราะได้ตกลงใจและเตรียมตัวมาแล้วว่าจักเข้าแปลหนังสือ เรายังมุ่งอยู่ในทางนั้น จึงทูลถามขึ้น ตรัสว่าแปลได้ด้วยยิ่งดี ทรงจัดว่า เดือนยี่แปลหนังสือ เดือน ๔ รับกรม โปรดให้รับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ฯ

เราบวชไมได้มุ่งยศศักดิ์ก็จริง เมื่อจะโปรดให้เป็น หาได้คิดบ่ายเบี่ยงไม่ เราเคยได้ปรารภว่าผู้ตั้งใจบวชจริงๆ ดูไม่น่าจะรับยศศักดิ์ แต่น่าประหลาดใจว่า พระผู้ไม่ได้อยู่ในยศศักดิ์ หรือยิ่งพูดว่าไม่ไยดีในยศศักดิ์ เรายังไม่แลเห็นเป็นหลักในพระศาสนาจนรูปเดียว จะหาเพียงปฏิบัตินำให้เกิดเลื่อมใส เช่นเจ้าคุณอาจารย์ของเราให้ได้ก่อนเถิด พระผู้ที่เราเลื่อมใสและนับถือว่าเป็นหลักในพระศาสนาเป็นเครื่องอุ่นใจได้ เป็นผู้รับยศศักดิ์ทั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร ที่แลเห็นว่าไม่มุ่งในทางโลกีย์แล้วยังยอมอยู่ในยศศักดิ์ เหตุให้เป็นอย่างนี้ น่าจะมี

ภายหลังเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเองแล้วจึงรู้ว่า พระที่เราเลื่อมใส และนับถือว่าเป็นหลักในพระศาสนานั้น ย่อมเอาภารธุระพระพุทธศาสนา เว้นจากการเห็นแก่ตัวเกินส่วน อันจะทำนุบำรุงพระศาสนาที่สุดเพียงครองวัดหนึ่ง ไม่ได้กำลังแผ่นดินอุดหนุนทำไปไม่สะดวก ฝ่ายแผ่นดินเล่า ย่อมคอยสอดส่องอยู่เสมอ มีพระดีเป็นที่เลื่อมใส และนับถือของมหาชนปรากฏขึ้น ณ ที่ไหน ย่อมเอามาตั้งไว้ในยศศักดิ์ ให้กำลังทำการพระศาสนา ลักษณะพระที่ดีจริง ย่อมไม่อยากร่านเป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อถึงคราวจะต้องเป็นเข้าจริง ไม่แสดงพยศและบ่ายเบี่ยง พระผิดจากลักษณะนี้ เราก็ไม่เลื่อมใส และไม่เห็นเป็นหลักในพระศาสนา จึงหาพระประกอบด้วยลักษณะนั้น นอกยศศักดิ์ไม่ได้ ฯ

ถ้าจักเป็นพระราชาคณะและเป็นกรมในคราวหนึ่งแล้ว เป็นในเวลานี้ก็ดี ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ได้ทำนุบำรุงมา ทั้งฝ่ายพระทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ยังอยู่พร้อมหน้า ต่างจักได้ชื่นบาน ได้เห็นอุปการของท่านจับเผล็ดผล นี้ก็เป็นจริงอย่างนั้นตั้งแต่ปีหน้า ท่านก็จักล่วงลับไปตามกัน ฯ

ในปีนั้น เราได้เกียรติยศ โปรดให้ถวายเทศนาทานมัยในการพระราชกุศลออกพรรษาประจำปี ที่ประจวบกับพระราชกุศลในวันแประสูติของทูลกระหม่อม เป็นเทศนาบรรดาศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นผู้ถวาย


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อพระชันษา ๒๓ ปี


ในเวลาที่เรากำลังเรียนปริยัติธรรมอยู่นั้น คุณยายแม่บอกให้พระไตรปิฎกสำรับใหญ่จบหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนเท่าหนังสือหลวงในหอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันท่านสร้างไว้เมื่อครั้งรัชกาลที่สาม ครั้งเป็นเจ้าจอมมารดาตัวโปรด ได้อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมราชบัณฑิตจัดสร้าง ท่านเป็นผู้ออกทรัพย์ ฯ หนังสือนี้สร้างเสร็จแล้ว ฝากไว้ที่หอมนเทียรธรรมจนตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ย้ายเอาไปฝากไว้ ณ วัดกัลยาณมิตร สำหรับพระยืมไปเล่าเรียน ถวายขาดก็มีบ้าง ฯ ได้ยินว่าพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เทียบที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ปาน) ผู้ที่ท่านอุปการให้ได้อุปสมบท ครั้งยังเป็นพระพินิตพินัย อยู่วัดมหรรณพาราม แนะนำท่านเพื่อยกให้เราเสีย จะได้เป็นเครื่องมือแห่งการเล่าเรียนและหนังสือจะได้ไม่กระจัดกระจาย ท่านเห็นชอบตามคำพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จึงบอกยกให้เรา และให้ไปรับเอาจากวัดกัลยาณมิตร ฯ



..........................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:19:13:15 น.  

 
 
 
..........................................................................................................................................................


(ต่อตอนที่ ๖ )

นี้เป็นโชคของเราในอันที่จะรู้ปริยัติธรรมกว้างขวาง พระผู้เรียนแม้แปลได้อ่านเข้าใจแล้ว ผู้มีหนังสือน้อย ย่อมติดขัดในการสอบคำที่ชักเอามากล่าวจากคัมภีร์อื่น ถ้าไม่มีเลย เรียนแต่หนังสืออันเป็นหลักสูตรเท่านั้นแล้ว ถึงคำที่อ้างมาจากคัมภีร์อื่น รู้ได้เท่าที่กล่าว ไม่รู้ด้วยตนเอง ต้องจำคำอาจารย์บอกเปรียบเหมือนแลเห็นรูปถ่ายสถานที่ที่เราไม่เคยไป เท่าที่เงาจะติด จะนึกกว้างขวางออกไปอย่างไรไม่ถูกเลย ได้เคยพบที่มาเดิมแล้ว หรือค้นที่หลัง อาจเข้าใจได้ชัดเจน เหมือนแลเห็นรูปถ่ายแห่งสถานที่เราเคยไปมาแล้ว และเห็นปรุโปร่งและนึกติดต่อไปตลอดไปด้วยเหตุนี้แหละ พระบาเรียนโดยมาก จึงมีความรู้ไม่กว้างขวาง ยิ่งเรียนกรอกหม้อพอได้ประโยคเป็นบาเรียนเท่านั้นแล้ว ยิ่งรู้แคบเต็มประดา เจ้าคุณพรหมมุนี แม้ได้ชื่อว่าแปลหนังสือดี ก็ยังขัดด้วยหนังสือเป็นเครื่องมือสอบโดยมาก ได้พระไตรปิฎกจบใหญ่มา ท่านพลอยยินดีด้วยเรา ฯ

เราขอขอบคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เทียบที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ปาน) ไว้ในที่นี้ด้วย ฯ ท่านผู้นี้เป็นพระมีอัธยาศัยเย็น ไม่ถือเขาถือเรา ไม่มีริษยา แต่ได้รับอบรมมาในอย่างเก่า จึงมีความรู้ความเข้าใจแคบ อย่างไรก็ยังเป็นที่น่านับถืออยู่ เราเคยได้พบพระดีเช่นนี้มีอยู่ในมหานิกาย เราจึงไม่ดูหมิ่นมหานิกายเสียทั้งนั้น เหมือนพระธรรมยุตโดยมาก ฯ พระไตรปิฎกสำรับนี้ ตรวจตามบัญชีของหอพระมนเทียรธรรมขาดบ้าง คงเป็นเพราะกระจัดกระจายดุจพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ปรารภ ฯ

ในการที่เราจะเข้าแปลหนังสือ สอบความรู้ปริยัติธรรมนั้น จัดไว้แต่ต้นว่า จะแปล ๕ ประโยคเท่าทูลกระหม่อม ท่านทรงแปลอรรถกถาธรรมบทประโยคเดียว นับเป็น ๓ ประโยค เราเป็นแต่พระองค์เจ้าให้แปล ๒ ประโยค บั้นต้นประโยค ๑ บั้นปลายประโยค ๑ แล้ว จึงแปลมังคลัตถทีปนีบั้นต้นเป็นประโยคที่ ๔ สารัตถสังคหะเป็นประโยคที่ ๕ และโปรดให้แปลเป็นพิเศษหน้าพระที่นั่ง เหมือนครั้งทูลกระหม่อมทรงแปลในรัชกาลที่ ๓ ฯ

เราได้ยินว่า ทูลกระหม่อมทรงแปลอรรถกถาธรรมบทวันหนึ่งแล้ว ทรงแปลมังคลัตทีปนีอีกวันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ครั้งยังเป็นพระราชาคณะชื่อนั้น รีดนาทาเร้นจะให้ตกเสียจงได้ จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดพระราชหฤทัย มีพระราชดำรัสสั่งให้หยุดไว้เพียงเท่านั้น พึ่งได้ยินในคราวนี้เองว่าทูลกระหม่อมทรงแปลประโยคที่ ๕ ด้วย ฯ เหตุไฉนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จึงกล้าทำอย่างนั้นต่อหน้าพระที่นั่ง และไม่ปรานีแก่ทูลกระหม่อมฟ้าบ้างเลย แม้จะไม่ช่วย ก็พอให้ได้รับยุติธรรม ตรงไปตรงมาก็แล้วกัน ฯ ปัญหานี้ไม่ใช่ที่จะแก้ ขอยกไว้ให้นักตำนานแก้ ในที่นี้ขอกล่าวยืนยันไว้เพียงว่า เป็นจริงอย่างนั้นเท่านั้น ฯ

เริ่มแปลหนังสือเมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ เวลาเช้าไปจับประโยคที่วัดราชประดิษฐ์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้เปิด ฯ ธรรมเนียมเปิดประโยคเดิมพระราชาคณะบาเรียนผลัดเวรกันเปิดวันละรูป เปิดเกินจำนวนผู้แปลไว้ ๑ ประโยค โดยปกติแปลวันละ ๔ รูป ประโยคเปิดวันละ ๕ กะแล้วว่าจะให้แปลอะไร ปิดหนังสือวางคว่ำไว้ไม่ให้เห็นว่าผูกอะไร ให้ผู้แปลเข้าไปจับเอาทีละรูป จับได้ประโยคใด แปลประโยคนั้น ฯ ตามหน้าที่ท่านผู้เปิดอาจเปิดได้ตามใจ แต่จะเปิดให้ง่ายเกินไปก็ไม่ได้อยู่เอง คงถูกติเตียน หรือถูกอธิบดีคัดค้าน เมื่อเปิดประโยคที่งามหรือยาก อาจารย์ของผู้แปลย่อมดักถูก ถึงตั้งเกณฑ์ลงเป็นประโยคซ้อมได้ เมื่อไม่มีทางจะเปิดให้ลอดไป ตกลงเป็นประโยคใดเคยออกมาแล้ว ท่านผู้เปิดก็เปิดประโยคนั้นออกอีก แต่ประโยคชั้นต่ำก็มีมากพอว่า ซ้อมเพียงเท่าจำนวนที่ออกกพอจะเป็นผู้รู้หนังสือเพียงชั้นนั้นได้ นอกจากนี้ ได้ยินว่ายังมีทางที่ท่านผู้เปิดจะช่วยหรือจะแกล้งก็ได้ ถ้าจะช่วยก็เปิดประโยคที่เพลา และทำสัญญาให้เห็นในเวลาวาง ถ้าจะแกล้งก็เปิดประโยคที่ยุ่งหรือที่ยาก ฯ

ครั้นมาถึงยุคเสด็จพระอุปัชฌายะทรงเป็นอธิบดี ทรงจัดประโยคที่จะออกให้แปลเขียนเป็นฉลากเข้าซองผนึกไว้ครบจำนวนที่จะออกได้ จัดลงในหีบตามชั้นให้ผู้แปลจับเอา มอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้อำนวยการจับ พระราชาคณะบาเรียนผู้เคยออกประโยคกลายมาเป็นผู้เปิดหนังสือมอบให้ผู้แปลไป ธรรมเนียมนี้ยังใช้มาจนถึงยุคเราเป็นอธิบดี ฯ ธรรมเนียมเดิมให้แปล ๓ ลาน ยุคเสด็จพระอุปัชฌายะลดลงเพียง ๒ ลาน ฯ

ครั้งเราแปลสมเด็จพระสังฆราชเปิดประโยคไว้ ๕ โดยธรรมเนียมเก่า วันแรกเราจับได้ธัมมปทัฏฐกถาบั้นต้น ผูก ๒๐ “อตฺตาหเวติฯ เปฯ ยญฺเจวสฺสสตํ หุตนฺติ” ที่ว่าด้วยชำนะตนดีกว่าชำนะคนอื่น ฯ ประโยคนี้ค่อนข้างยาก แปลได้เป็นชื่อเสียง แต่มียุ่งบางแห่ง เพราะท่านผู้รจนาเขียนพลั้งไว้ อยากถูกประโยคที่ยากแต่ไม่ยุ่ง เมื่อถูกแล้วจำต้องแปล ฯ รับหนังสือแล้ว เข้าไปพักดูอยู่ที่ทิมดาบกรมวัง เวลาบ่ายเสด็จออกแล้วจึงเจข้าไปแปลที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ห้องเขียว ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๐ รูป มีเสด็จพระอุปัชฌายะเป็นประธาน ท่านผู้เกี่ยวข้องกับเราเจ้านายในรัชกาลเดียวกัน ทั้งฝ่ายหน้าทั้งฝ่ายในและข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้เป็นข้าหลวงเดิมของทูลกระหม่อม สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้สอบที่เรียกว่าผู้ทัก คือทักพากษ์หรือศัพท์ที่แปลผิด สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) ช่วยทักบ้าง ไปวุ่นอยู่ตรงคำเกินนั้นเอง เพราะท่านไม่ได้สนใจไว้ตามคาด แต่วิสัยคนเข้าใจความ ก็คาดได้ว่าท่านจะต้องการให้แปลอย่างไร ผลอย่างสูงที่ได้เพราะการเรียนโดยวิธีอย่างนี้ คือหัดรู้จัดคาดน้ำใจอาจารย์และผู้สอบ ฯ

ธรรมเนียมเดิมกำหนดเวลาให้แปลอย่างหลวม แปลวันละ ๔ รูป เริ่มบ่าย ๒ โมงหรือเมื่อไรไม่แน่ พอค่ำมือไม่แลเห็นหนังสือ จุดเทียนที่มีกำหนดน้ำหนักขี้ผึ้งว่าเล่มละ ๑ บาทหรือเท่าไร ผู้แปลผลัดกันแปล ติดออกแก้ เทียนดับ ยังแปลไม่จบประโยคเป็นตก รูปที่แปลจบไปก่อนเป็นได้ ยุคเสด็จพระอุปัชฌายะเป็นอธิบดี ใช้เวลานาฬิกาคราวก่อนหน้าเราแปล ประโยคธัมมปทัฏฐกถาให้เวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ประโยคตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปให้เวลา ๒ ชั่วโมง ใช้ต่อมาจนถึงยุคเราเป็นอธิบดี เป็นแต่ย่นเวลาประโยคสูงลงเสมอกับประโยคธัมมปทัฏฐกถา และพึ่งเลิกใช้เวลาไม่สู้ช้า เพราะแก้วิธีแปลไม่ให้ออกแก้ ให้แปลไปจนตลอดประโยค ถูกผิดช่าง ใช้ตัดสินกันเอา จะให้เป็นได้หรือตก ฯ

ในคราวเราแปลไม่ได้กำหนดเวลาให้แปล วันแรกแปลจบประโยคเวลาเท่าไรหารู้ไม่ รู้อย่างนั้น จึงขอเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ครั้งยังเป็นพระวุฒิการบดี เจ้ากรมสังฆการีและธรรมการ หรือผู้อื่นจำไม่ได้แน่ ให้ช่วยสังเกตเวลาไว้ให้ด้วย ฯ ครั้งก่อนหน้าเราแปล ธัมมปทัฏฐกถา ต้องแปลให้ได้ ๓ ประโยค(๑)จึงเป็นอันได้ ตกประโยคเหนือ แม้ประโยคล่างได้แล้วก็พลอยตกไปตามกัน พึ่งยอมให้พักประโยคได้เมื่อจัดให้มีการสอบทุกปีแทน ๓ ปีต่อหน ครั้นเราเป็นแม่กองแล้ว ฝ่ายเราก็เห็นจะต้องได้ทั้ง ๒ ประโยค จึงเป็นอันได้ ฯ

วันที่ จับได้ประโยคธัมมปทัฏฐกถาบั้นปลาย ผูก ๑๐ “กายปฺปโกปนฺติฯ เปฯ หราหิ นนฺติ” ที่แก้ด้วยให้ระวังความกำเริบแห่งไตรทวาร แปลจบประโยค เวลาล่วง ๒๙ นาที ฯ ต่อนี้พัก ๓ วัน เพราะวันพระเหลื่อมและวันหน้าพระ หรือเพราะเหตุอื่น หาได้จดไว้ไม่ แปลต่อเป็นวันที่ ๓ เมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จับได้ประโยคมังคลัตถทีปนีบั้นต้น ผูก ๕ “อิติ พหุสฺสุต์ส พาหุสจฺจํฯ เปฯ ทฏฺฐพฺพตํ” ที่แก้ด้วยบุคคลผู้เป็นพสุสุตรู้รักษาตนให้บริสุทธิ์ เวลาล่วง ๔๐ นาที ฯ วันที่ ๔ จับได้ประโยคสารัตถสังคหะ ผูก ๙ “ทายกา ปนฯ เปฯ วินยฏีกายํ วุตฺตํ” ที่แก้ด้วยทายกจำพวกเป็นเจ้าแห่งทานก็มี เป็นสหายแห่งทานก็มี เป็นทาสแห่งทานก็มี เวลาล่วง ๓๕ นาที ฯ

ประโยคที่จับได้ ๓ วันหลังง่ายเกินไป แปลได้ก็เห็นไม่เป็นเกียรติไม่ต้องการเหมือนกัน ตกลงว่าจับได้ประโยคไม่เป็นที่พอใจเลยสักวัน ฯ ถ้าเราเป็นผู้เปิดประโยคให้ผู้อื่นเช่นเราแปล วันแรกเราจักเปิดประโยคง่าย ฟังความรู้ผู้แปลดูที ถ้ามีความรู้อ่อน จักเปิดเสมอนั้นต่อไป ถ้าความรู้แข็ง จักเปิดประโยคแข็งขึ้นไป พอสมแก่ความรู้ เพื่อจะได้เป็นชื่อเสียงของผู้แปล แต่เราจับได้ประโยคตรงกันข้าม ท่านยังไม่ทราบความรู้ของเรา จับได้ประโยคยาก ครั้นท่านทราบความรู้ของเราแล้ว กลับจับได้ประโยคง่ายดาย ฯ แม้อย่างนั้นก็ยังได้รับสรรเสริญของพระราชาคณะผู้สอบผู้ฟังว่าแปลหนังสือแข็ง และนับถือความรู้เราต่อมา เหตุอย่างไรท่านจึงชม คงเพราะท่านเห็นรู้จักวิธีแปลและขบวนแก้ ไม่ถลากไถลดุจเราได้พบในภายหลังโดยมาก กระมัง แต่พื้นประโยคไม่น่าได้ชมเลย ฯ

ในวันที่สุด ได้รับพระราชทานรางวันส่วนตัว พระราชหัตถเลขาทรงปวารณาด้วย กัปปิยภัณฑ์ราคา ๘๐๐ บาท ไตรแพรอย่างดี ๑ สำรับ ย่ามเยียรบับ ๑ ใบ กับตรัสสั่งเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงให้รื้อโรงพิมพ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างกุฎีขึ้นใหม่ เป็นที่อยู่ของเรา ส่วนเจ้าคุณพรหมมุนี ไตรแพรสามัญ ๑ สำรับ ย่ามโหมดเทศ ๑ ใบ ทรงมอบเรามาพระราชทาน ในกาลติดต่อมาทรงตั้งเป็นพระราชาคณะโดยนามว่า พระกิตติสารมุนี แต่จะว่าเพราะเราแปลหนังสือได้เป็นบาเรียนก็ไม่เชิง เพราะทรงตั้งพร้อมกับรูปอื่นผู้มีประโยคต่ำกว่าท่าน พระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) ควรจะได้รับพระราชทานบำเหน็จด้วย แต่ไม่ทรงทราบว่าแกก็สอนด้วยกระมัง หรือจะเข้าพระราชหฤทัยว่าขาดตอนไปแล้ว เหมือนพระปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ก็เป็นได้ ฯ าแปลหนังสือได้เป็นบาเรียนครั้งนั้น อาจารย์ผู้สอนยังมีตัวอยู่ ได้อนุโมทนาทุกท่าน ฯ

ครั้งนั้นในประเทศเรามีการสอบความรู้เฉพาะปริยัติธรรมอย่างเดียว และมีมาหลายชั่วอายุ ครั้งกรุงเก่ายังตั้งเป็นพระนครหลวง บาเรียนได้มีมาแล้ว ฯ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มา เจ้านายแปลปริยัติธรรมได้เป็นบาเรียนก่อนหน้าเรา ตามที่นับได้ ทูลกระหม่อมเป็นที่ ๑ หม่อมเจ้าอีก ๘ องค์ ไม่ได้จัดลำดับไว้เรียงตามคะเน หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ ๘ ประโยค หม่อมเจ้าโศภณในสมเด็จพระประพันธวงเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ๓ ประโยค หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ในพระวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ ๗ ประโยค ๓ องค์นี้แปลในรัชกาลที่ ๓ หม่อมเจ้าเนตรในพระเจ้าราชวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าเสือ ๕ ประโยคหรือ ๗ ประโยคจำไม่ถนัด หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา (สีขเรศ) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ๔ ประโยค กรมมื่นนฤบาลมุขมาตย์ในสมเด็จพระเจ้าปัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ๘ ประโยค พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ๕ ประโยค ๔ องนี้แปลในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ๕ ประโยค องค์นี้ในรัชกาลที่ ๕ เราเป็นที่ ๑๐ ในจำนวนนี้มีชั้นลูกหลวงเพียงทูลกระหม่อมกับเราเท่านั้น ท่านพระองค์อื่นหาได้ทรงแปลไม่ ฯ

เสร็จการแปลหนังสือแล้ว กราบลาเจ้าคุณอาจารย์กลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเตรียมการรับกรม กลับมาในมกราคมนั้นเอง เวลาลากลับ เราปรารถนาจะแสดงความคิดถึงอุปการของเจ้าคุณอาจารย์ที่ท่านได้มีแก่เราอย่างไร แต่เห็นท่านจ๋อยมากสักหน่อย จะเพิ่มความกำสรดเข้าอีก แต่เราบางที่จะทนไม่ได้เหมือนกัน จึงมิได้รำพันถึง ฯ ในระหว่างเราแปลหนังสือ เจ้าคุณอาจารย์จับอาพาธเป็นบุราณโรค เรานึกหนักใจอยู่ แต่ยังไปไหนได้ และยังมาส่งเราที่วัดบวรนิเวศวิหารได้ จึงไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ต่อไปและผัดกากรรับกรมไปข่างหน้า ทั้งจะต้องรับก่อนการฉลองพระนคร อันจะมีในพฤษภาคมด้วย ฯ คราวนี้เสด็จพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่ที่พระปั้นหย่า พระตำหนักที่บรรทมของทูลกระหม่อม เจ้านายที่ได้อยู่พระปั้นหย่านั้น ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้ามีมาก่อน แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรพระองค์เดียว ได้ยินว่าทูลกระหม่อมทรงขอให้ได้เสด็จอยู่ เมื่อทรงผนวชพระก็หาได้เสด็จอยู่ไม่ ฯ กุฎีที่ตรัสสั่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงสร้างท่านแฉะเสีย เราก็ไม่เตือน อยู่พระปั้นหย่าก็ดีแล้ว ทั้งต่อมาเรายังเที่ยวไปวัดมกุฎกษัตริย์อยู่อีก ภายหลังมีธุระมากขึ้น จึงเข้าจองโรงพิมพ์เป็นสำนักงานอีกหลังหนึ่ง เหมือนครั้งทูลกระหม่อม ฯ

สรุปประโยชน์ที่ได้รับเพราะไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ดังนี้
๑. ได้ความรู้เป็นไปของคณะธรรมยุตกว้างขวางออกไป ฯ
๒. ได้รับอุปถัมภ์ของเจ้าคุณอาจารย์เป็นทางตั้งตัวเป็นหลักต่อไปข้างหน้า ฯ
๓. ได้ความรู้มคธภาษาดีขึ้น ฯ
๔. ได้ช่องเพื่อจะเข้าสนิทกับสำนักวัดโสมนัสวิหาร ฯ
๕. บรรเทาความตื่นเต้นในธรรมลงได้ หรือพูดอีกโวหารหนึ่งว่า ทำตนให้เข้าทางที่ควรจะเป็นได้ ฯ

อนึ่ง ที่วัดมกุฎกษัตริย์มีสำนักพูดธรรมะ พระจันโทปมคุณเป็นเจ้าสำนัก ได้รู้นิสัยของพวกนี้ ว่าเป็นอย่างไร ฯ

ถ้าเราจักไม่ได้ไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์แล้วไซร้ เราจักบกพร่องมากทีเดียว หากจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าของคณะ ก็คงเป็นหัวหน้าผู้ไม่แข็งแรง เป็นวาสนาของเราอยู่ที่น้อมเลื่อมใสไปในเจ้าคุณอาจารย์แล้ว และไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ฯ


..........................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:19:18:28 น.  

 
 
 
๗. สมัยทรงรับสมณศักดิ์

พระองค์เจ้าเช่นเรา แรกทรงกรมเป็นกรมหมื่นก่อน เว้นบางพระองค์ ผู้รับเมื่อพระชนมายุมากแล้ว เป็นกรมหลวงบ้าง เป็นกรมขุนบ้างทีเดียว ฯ เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าแรกรับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ทรงถือพักยศเป็นพิเศษ ทรงตำแหน่งต่างๆ ตามคราวมา ฯ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดูเหมือนทรงรับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพน แทนสมเด็จพระวันรัตพระอาจารย์มาก่อนแล้ว จึงทรงกรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงถือพัดยศอย่างไรหาทราบไม่ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงบัญชาการคณะกลาง ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นประธานยแห่งสังฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ทรงถือพัดแฉกตาดเหลืองสลับขาว ฯ

ทูลกระหม่อมไม่ได้ทรงกรม เป็นแต่พระราชาคณะ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงถือพักแฉกพื้นตาด เราเห็นเมื่อเสด็จพระอุปัชณายะทรงถือ ต่อมาดูเหมือนตาดเหลืองเดิมไม่ได้ครองวัด ภายหลังครองวัดบวรนิเวศวิหาร ตามเสด็จพระอุปัชฌายะทรงเล่า เดิมดูเหมือนไม่ได้เทียบชั้น ภายหลังทรงขอพระราชทานตั้งฐานานุกรมชั้นนั้นบ้างชั้นนี้บ้าง เป็นอันเทียบชั้นเข้าได้ ตั้งแต่ชั้นธรรมขึ้นมา เมื่อครั้งลาผนวชเทียบชั้นเจ้าคณะรอง ฯ พระองค์เจ้าอำไพ ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้ทรงกรม เป็นแต่พระราชาคณะ ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จพระอุปัชฌายะทรงเล่าว่าทรงถือพัดงาใบอย่างพัดด้ามจิ้ว เป็นฝ่ายพระสมถะครองวัดอรุณราชวราราม ฯ เสด็จพระอุปัชณายะ ครั้งรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นพระราชาคณะ ทรงถือพัดแฉกถมปัด ไม่ได้ทรงครองวัด ครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงกรม เป็นกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ ทรงถือพัดแฉกพื้นตาด ที่ทูลกระหม่อมทรงมาเดิม และทรงถือพักแฉกงาเป็นพิเศษ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อครั้งเรารับกรมและสมณศักดิ์ ยังไม่ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก เป็นแต่เลื่อนกรมเป็นกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ฯพระองค์เจ้าประถมวงศ์ ในกรมพระราชวังหลัง หาได้ทรงสมณศักดิ์ไม่ ฯ

หม่อมเจ้าแรกเป็นพระราชาคณะ ถือพัดสุดแต่จะพระราชทาน แฉกถมปัดบ้างก็มี แฉกพื้นแพรปักบ้างก็มี แฉกโหมดสลับตาดบ้างก็มี แฉกพื้นตาดสีก็มี พัดงาใบพัดด้ามจิ้วก็มี ในเวลาเรารับสมณศักดิ์ หม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีตำแหน่งเพียงชั้นเจ้าอาวาสยังไม่ได้เป็นพระราชาคณะ ฯ ท่านผู้เป็นพระราชาคณะก่อนเรา ๖ องค์ คือ หม่อมเจ้าพระศีลวราลังการ (สอน) ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ครองวัดชนะสงคราม ถึงชีพิตักษัยก่อนเราบวช ๑ หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง) ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ ครองวัดบพิตรพิมุข ถึงชีพิตักษัยก่อนเราบวช ๑ หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (เล็ก) ในกรมหมื่นนราเทเวศ วังหลัง ครองวัดอมรินทราราม ๑ หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ วังหลัง ครั้งนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุบบาทปิลันธน์ ครองวัดระฆังโฆษิตาราม ๑ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา (สีขเรศ) ในกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคคุณากร ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าสมญานั้น ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ครองวัดราชบพิธ ๑ ฯ เราโปรดให้เป็นกรมหมื่น มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองแห่งคณะธรรมยุติกนิกาย ฯ อนึ่งในคราวเราจะรับกรมและสมณศักดิ์นั้น จะทรงตั้งหม่อมเจ้าพระประภากรบาเรียน ๕ ประโยค ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชาคณะด้วย ฯ

วันเวลารับกรมในครั้งนั้น เป็นธุระของเจ้างานจะกำหนดถวาย ทรงอนุมัติแล้วเป็นใช้ได้ ฯ ส่วนวันเวลาที่เราจะรับกรม เสด็จพระอุปัชฌายะน่าจะทรงกำหนดประทาน แต่ตรัสสั่งเราไปทูลขอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ท่านทรงกำหนดพ้องวันแต่เหลื่อมเวลากับฤกษ์จุดเทียนชัยพระราชพิธีตรุษ ตกในวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงวันที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ เวลาเช้า ๔ โมง เศษอะไรจำไม่ได้ บางทีเสด็จพระอุปัชฌายะจะทรงต้องการวันนั้น แต่พ้องพระราชพิธีตรุษ ไม่อาจทรงกำหนดลง จึงตรัสให้ไปทูลขอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ฝ่ายท่านข้างโน้นจะกำหนดวันอื่นก็จะเสียภูมินักรู้ในทางพยากรณ์ศาสตร์ จึงกำหนดลงในวันนั้นกระมัง เมื่อท่านทรงจัดมาในทางราชการเช่นนั้น ก็จำต้องรับในวันนั้น แต่เราไม่พอใจเลย เราไม่ถือฤกษ์ชอบแต่ความสะดวก ทำงานออกหน้าทั้งที มาพ้องกับพระราชพิธีหลวงเข้าเช่นนี้ จะนิมนต์พระก็ไม่ได้ตามปรารถนา ผู้มีแก่ใจจะมาช่วยก็ไม่ถนัด ตกลงต้องจัดงานให้เข้ารูปนั้น


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์


วันสวดมนต์จะนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ ก็คงให้พระมาแทนทั้งนั้น พอเหมาะที่เสด็จพระอุปัชฌายะประทานผ้าไตรและเครื่องบริขาร ๑๐ สำรับ เพื่อถวายสวดมนต์ ยายเตรียมไว้ให้เราแล้ว จึงจัดพระสวดมนต์ขึ้นอีกสำรับหนึ่ง นิมนต์ตามชอบใจ เลือกเอาพระศิษย์หลวงเดิมของทูลกระหม่อมที่เป็นชั้นผู้น้อย รุ่งขึ้นเลี้ยงแต่เช้า ถวายบริขารแล้ว เปิดให้กลับไป นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่นั่งเฉพาะเวลารับกรมอีก ๑๐ รูป แล้วเลี้ยงเพล ฯ ก่อนหน้าวันรับกรม มีทำบุญที่พระปั้นหย่า โดยฐานขึ้นตำหนัก วันหนึ่ง ฯ ในวันรับกรม ตั้งพระแท่นมณฑลในพระอุโบสถหน้าที่บูชาสำหรับวัดออกมา หาได้ผูกพระแสงต่างๆ ที่เสาไม่ ประดิษฐานพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๔ เชิญพระสุพรรณบัฏที่จารึกไว้ก่อนแล้วมาตั้งบนนั้นด้วย

วันสวดมนต์ล้นเกล้าฯ เสด็จมาช่วยเป็นส่วนพระองค์ด้วย วันสรงและรับพระสุพรรณบัฏ พอจุดเทียนชัยข้างพระราชพิธีตรุษแล้ว โปรดให้เอารถหลวงรับพระราชาคณะผู้ใหญ่มาส่งที่วัดล่วงหน้า แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาวัด ทรงเครื่องนมัสการและทรงประเคนไตรแพร ตามแบบควรจะเป็นไตรพิเศษ เราก็เคยได้รับพระราชทานเมื่อครั้งแปลหนังสือเป็นบาเรียน แต่ครั้งนี้เป็นไตรเกณฑ์จ่าย ออกมาผลัดผ้าครองสบงและอังสะ ขึ้นพระแท่นสรงแต่เราองค์เดียว เราสรงก่อน มีประโคม แล้วล้นเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยพระเต้าและพระมหาสังข์ทักษิณษวรรต ทรงรดเพียงที่ไหล่ ต่อนั้น พระสงฆ์ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีรดหรือถวายน้ำโดยลำดับ ฝ่ายพระ เสด็จพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าคุณพรหมมุนีแทนเจ้าคุณอาจารย์ผู้กำลังอาพาธ พระบรมวงศ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จอา และเจ้าพี่ฝ่ายหน้าทุกพระองค์ บรรดาที่เสด็จมาในเวลานั้น เสนาบดีทุกท่านบรรดามา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่ที่เมืองเพชรบุรี หาได้มาไม่ แต่เมื่อบวชได้ไปถวายบริขารที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เราสรงแล้วครองไตรใหม่มานั่งบนอาสนสงฆ์ในพระอุโบสถ หม่อมเจ้าประภากรก็เหมือนกัน ชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท

โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ อ่านประกาศดำเนินพระกระแสบรมราชโองการ ทรงสถาปนาเราเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เท้าความถึงเราได้รับราชการมาอย่างไร ทรงเห็นความดีและความสามารถของเราอย่างไร ถ้าอยู่ทำราชการจะเป็นเหตุไว้วางพระราชหฤทัยได้ ปรารภถึงพระราชปฏิญญาที่พระราชทานไว้แก่เรา ว่าบวชได้สามพรรษาจะทรงตั้งเป็นต่างกรม บัดนี้ก็ถึงกำหนด ได้ทรงเห็นปรีชาสามารถประกอบกับความรู้ทางโลก ทรงหวังพระราชหฤทัยว่า จะเป็นหลักในพระพุทธศาสนาต่อไปข้างหน้าได้ จึงทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมยกย่องขึ้นไว้ในบัดนี้

ครั้นอ่านประกาศจบแล้ว มีประโคม ล้นเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ สัญญาบัตรตั้งเตจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บัญชีใบ ๑ สัญญาบัตรตั้งฐานานุกรม ๘ รูป ๑ สัญญาบัตรพระครูปลัด ๑ พัดแฉกพื้นตาดขาวสลับเหลือง มีตราพระมหามงกุฎเป็นใจกลางหมายรัชกาล เทียบหีบหมากเสวยลงยาราชาวดีเครื่องยศเจ้านาย ยอดเห็นพระเกี้ยวยอด พัดรองตราพระเกี้ยวยอดด้ามงา สำหรับพระราชาคณะ ๑ บาตรถุงเข้มขาบฝาเชิงประดับมุก ๑ ย่ามหักทองขวาง ๑ ย่ามเยียรบับ ๑ เครื่องยศถมปัดสำรับใหญ่ ๑ สำรับ

พระราชทานสัญญาบัตรทรงตั้งหม่อมเจ้าพระประภากร เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะมีสมญาขึ้นต้นอย่างนั้น แต่มีสร้อยว่า หม่อมเจ้าประภากรบวรวิสุทธิวงศ์ ได้รับพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดสีมีตราครุฑประจำรัชกาลที่ ๒ เป็นใจกลาง เครื่องยศสำหรับพระราชาคณะ ต่างกรมใหญ่ผู้เป็นคฤหัสถ์ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินแด่ในหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่เจ้านายผู้เจริญพระชนมายุกว่า แต่ต่างกรมพระไม่ได้ถวายอย่างนั้น เรายักถวายเป็นชิ้นสำหรับประดับดอกไม้ตั้งกลางโต๊ะ ที่ถวายล้นเกล้าฯ ทรงจบพระหัตถ์บูชาพระพุทธชินสีห์ เจ้านายถวายแต่ของแจก ครั้งนั้นยังแจกของมีราคามาก แจกตามชั้น พอเสร็จพิธีรับกรมก็พอเพล ล้นเกล้าฯ ทรงประเคนสำรับเจ้าภาพ และเสด็จประทับอยู่ตลอดเวลาพระฉันและอนุโมทนา ธรรมเนียมรับกรมที่อื่นเลี้ยงพระเสียก่อนเป็นแต่อนุโมทนาหน้าพระที่นั่ง เสด็จกลับแล้ว มีเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัฏแล้วเป็นเสร็จการ ฯ

เราพอใจจะบ่นถึงฤกษ์รับกรมเพิ่มอีก นอกจากไม่สะดวกดังกล่าวแล้ว เผอิญเมื่อวันสวดมนต์ เจ้าคุณอาจารย์ผู้อาพาธเสาะแสะมานั้น อาพาธเป็นธาตุเสียท้องร่วงมาในงานไม่ได้ ไม่ได้รดน้ำในเวลาสรง และไม่ได้อยู่ในเวลาตั้ง ขาดท่านผู้สำคัญไปรูปหนึ่ง เมื่อวันรับกรม ยายผู้มาดูการโรงครัวอยู่หน้าวัด เจ็บเป็นลม แต่เดชะบุญ เป็นเมื่อรับเสร็จและเสด็จกลับแล้ว ถ้าเลือกวันรุกเข้ามาจากนั้น แม้ดีไม่ถึงวันนั้น เจ้าคุณอาจารย์คงจักมาได้ ได้อาจารย์มาเข้าในพิธี เราถือว่าเป็นมงคลกว่าในวันฤกษ์งาม แต่ขาดท่านผู้สำคัญไปอย่างนี้ ฝ่ายยายนั้นเป็นลมเพราะทำธุระมากกระมัง เลื่อนวันเข้ามาจักคุ้มได้หรือไม่ หารู้ไม่ ฯ

เราเป็นกรมในครั้งนั้น เป็นที่ถูกใจของคนทุกเหล่า ในฝ่ายพระวงศ์ตั้งแต่ล้นเกล้าฯ ลงมา ในฝ่ายพระสงฆ์ตั้งแต่เสด็จพระอุปัชฌายะลงมา และพวกข้าราชการตลอดถึงคนสามัญ ต่างเรียกเรา ด้วยไม่ได้นัดหมาย แต่มาร่วมกันเข้าว่า “กรมหมื่น” หาออกชื่อไม่ เจ้าพี่เป็นกรมหมื่นก็มีแต่หาได้เรียกอย่างนี้ไม่ ภายหลังรู้ว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เขาก็เรียกว่ากรมหมื่น ในเวลาแรกตั้งแผ่นดินใหม่ ต่างกรมเป็นกรมหมื่น มีแต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์องค์เดียว เขาจึงเรียกว่ากรมหมื่น ไม่ออกพระนามกระมัง ฯ

ในฝ่ายพระ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้เป็นศิษย์หลวงเดิมของทูลกระหม่อม มีความนิยมยินดีในเราโดยมาก สมปรารถนาที่ได้เราไว้สืบพระศาสนา ฯ ในพวกท่านผู้นิยมยินดีในเรานอกจากเสด็จพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) เป็นผู้เอาใจใส่ในเรา และเป็นธุระแก่เราเป็นอันมาก ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นต่างกรมมาแล้ว เวลาเราอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ มีการพระราชกุศลในวังที่ได้รับนิมนต์ เรามักเดินเข้าไป ท่านไปเรือ เวลากลับ ท่านเรียกเราลงเรือของท่าน ให้พายขึ้นน้ำเข้าคลองผดุงกรุงเกษม ไปส่งเราที่วัดมกุฎกษัตริย์ก่อน แล้วจึงเลยไปวัดโสมนัสวิหาร โดยปรกติท่านเข้าคลองรอบพระนครและคลองเล็ก ตรงไปถึงวัดโสมนัสวิหารทีเดียว เป็นอย่างนี้เสมอมา ไปพบกันในกิจนิมนต์ทั้งการหลวงการราษฎร์ เวลาอยู่ด้วยกันสองรูป ท่านพร่ำสอนการพระศาสนาเนืองๆ พอมีพระรูปอื่นเข้าไปอยู่เป็นที่สาม ท่านเลิกเสียเช่นนั้น เพื่อไว้หน้าเรา ถ้าท่ารู้ว่าเราไม่ผาสุกเมื่อใด เห็นหายาส่งมาให้เมื่อนั้น


สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ)


คราวหนึ่งเราเป็นผู้ใหญ่ในคณะแล้ว ท่านอาพาธเป็นอัมพาตปลายลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ถึงลงนอน เราไปเยี่ยมท่านแล้วกลับออกมาอยู่ที่เฉลียงหน้ากุฎี พูดกับพระวัดนั้นผู้ชอบกันถึงความยอกขัดของเราเกิดขึ้นเพราะหมอนวดไม่เป็น ชะรอยเสียงจะดัง ท่านได้ยินเข้า ทั้งเจ็บมากกว่าเราอย่างนั้น ขวนขวายสั่งพระให้เอาน้ำไพลกับการบูรมาทาให้ รู้สึกความเอื้อเฟื้อของท่านก็จริง แต่รู้สึกอายแก่ใจเหมือนกัน ว่าไปเยี่ยมไข้ท่านกลับทำให้ท่านกังวลถึงเรา ท่านถนอมเราเป็นอย่างยิ่งคล้ายเจ้าคุณอาจารย์ โดยที่สุดบางเวลาเราขุ่น รู้เข้า เลือกธรรมเขียนส่งมาปลอบ เราได้รับเมตตาและอุปการะของท่านอย่างนี้ ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ ถ้าเราจักได้อยู่ในสำนักของท่านสักพรรษาหนึ่ง จักอาจเชื่อมสองสำนักได้ดีกว่านี้อีก ฯ


..........................................................................................................................................................



พระประวัติตรัสเล่า หมดฉบับเพียงเท่านี้ครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 เมษายน 2550 เวลา:19:19:05 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com