กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)


เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
(เจิม แสง-ชูโต)



เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นามเดิม เจิม เป็นบุตรพระยาสรุศักดิ์มนตรี(แสง) เดิมในรัชกาลที่ ๕ เป็นหลวงศัลยุทธวิธีกรร ในการทหารมหาดเล็ก แล้วเป็นจมื่นสฤษดิการ แล้วเป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๙ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยา มีสำเนาประกาศ ดังนี้


ทรงพระราชดำริว่า พระยาสุรศักดิ์ ได้รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กและเป็นราชองครักษ์แต่เดิมมา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ช่วยราชทูตวิเศษออกไปประเทศยุโรปด้วยราชการสำคัญ ในครั้งนั้นก็ได้ช่วยราชการจนเป็นการสำเร็จตลอดโดยสะดวกดี ภายหลังมาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก มีหน้าที่เป็นผู้ตกแต่งและรักษาพระราชมณเฑียร ตั้งกรมเด็กชาขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นผู้บังคับการกรมทหารม้า ได้จัดการทหารแข็งแรงขึ้นเป็นอันมาก แล้วได้เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ บังคับบัญชาราชการทหารทั่วไป และได้เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบปรามพวกฮ่อปลายพระราชอาณาเขตถึง ๒ คราว ได้รับราชการฝ่ายทหารในหน้าที่ทั้งหลายดังพรรณามานี้โดยความกล้าหาญองอาจ และมีสติปัญญาสามารถประกอบไปด้วยความอุตสาหะ วิริยภาพ คงทนแก่ความยากลำบากต่างๆ มิได้ย่อท้อต่อราชการ บัดนี้ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชย์การ ก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่หน้าที่ มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงตรงยั่งยืนอยู่ในความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยิ่งนัก สมควรที่จะดำรงในตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ใหญ่ รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณผู้หนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระยาสุรศักดิ์มนตรี ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นฤบดีมหาสวามิภักดิ์ สัตยรักษ์เมตยาชวาศรัย ยุทธสมัยสมันตโกศล อณิกมณฑลธุชสุปรีย์ เสนานีอุดมเดช พิเศษสาธุคุณสุนทรพจน์ อดุลยยศเสนาบดี ศรีรัตนตรัยวุฒิธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ อัชนาม ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวาร สมบูรณ์ทุกประการ เทอญฯ


เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ไม่มีบุตรธิดา ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๗๔


....................................................................................................................................................


ลำดับวงศ์ตั้งแต่กำเนิด ตลอดเวลาเล่าเรียน
ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง ในรัชกาลที่ ๔


จอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นบุตรชายที่ ๔ ของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) จางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ กับคุณหญิงเดิม บุนนาค พระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง)เป็นบุตรชายที่ ๒ ของพระยาสุรเสนา(สวัสดิ์ ชูโต) กับคุณหญิงเปี่ยม บุนนาค พระยาสุรเสนา(สวัสดิ์) เป็นบุตรชายที่ ๔ ของพระยาสมบัติยาธิบาล(เสือ)กับคุณม่วง ชูโต คุณม่วง ชูโต เป็นบุตรีเจ้าคุณพระอัยยกา ชูโต ซึ่งเป็นบุตรชายที่ ๓ ของพระอัยยกีสมเด็จพระศิริโสภาคมหานาคนารี คุณเปี่ยมมารดาพระยาสุรศักดิ์(แสง)เป็นบุตรีคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิส บุนนาค)กับหม่อมปาน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา(บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล ฝ่ายคุณเดิมมารดาเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม)เป็นบุตรีคนใหญ่ของพระสุริยภักดี(สนิท บุนนาค) กับท่านเอี่ยมมารดา พระยาสุริยภักดี(สนิท บุนนาค)เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัด บุนนาค) กับท่านผู้หญิงน้อย สมเด็จพระบรมมหาพิชัยญาติ(ทัด บุญนาค)เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา(บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล ท่านผู้หญิงน้อยเป็นบุตรีคนใหญ่ของพระยาสมบัติยาธิบาล(เสือ) กับคุณม่วง ชูโต

สรุปความว่า สายโลหิตเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สืบเนื่องมาแต่ตระกูลบุนนาค และ ชูโต ร่วมกัน อันนับเนื่องอยู่ในราชินิกูลแห่งสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ โดยเจ้าคุณนวลเป็นกนิษฐาในสมเด็จพระอมริทร์ และเจ้าคุณชูโตนั้น

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เกิดที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัด) จังหวัดธนบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ เวลา ๑ ยามกับ ๘ บาท เวลานั้นบิดายังเป็นนายพิจารณ์สรรพกิจ หุ้มแพรมหาดเล็กเวรเดช มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๑ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่เล็ก ๗ คน เหลือแต่นายจัน แสง-ชูโต ผู้เป็นพี่คนที่ ๓ ได้เป็นพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี กับน้องหญิงอีก ๒ คน คือคุณสังวาลย์ และคุณหญิง (แสง-ชูโต)

เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯเกิดนั้น มีปานดำที่หน้าอกดุจรอยเจิมด้วยเขม่าไฟ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติจึงให้นามว่า เจิม ด้วยเหตุว่า บิดามารดาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯมีบุตรชายคนแรก อายุยังไม่ทันถึงขวบก็ถึงแก่กรรม ภายหลังเกิดบุตรีอีกคน ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติให้นามว่าเหลน เพราะเป็นเหลนคนโตของท่าน มีอายุได้ ๓ ขวบถึงแก่กรรมอีก ท่านเอี่ยมผู้เป็นยายมีความเศร้าโศกเสียใจยิ่งนัก ในเวลาที่จะยกศพลงบรรจุหีบ ท่านเอี่ยมเอาเขม่าหม้อป้ายลงที่หน้าอกศพ ร้องไห้คร่ำครวญสั่งว่า หลานจงกลับมาเกิดใหม่อีก ถ้ากลับมาเกิดให้มีรอยเขม่าหม้อหมายที่หน้าอกเป็นสำคัญ อยู่มาบิดามารดาเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯมีบุตรชายอีกคน ๑ คือพระยาสุนทรสงคราม แต่หาได้มีปานดำเป็นสำคัญไม่ ต่อมาจึงมีบุตรชายอีกคน ๑ คือเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯมีตำหนิปานดำที่หน้าอก จึงได้ให้นามตามนิมิตนั้น

เมื่อนายเจิมอายุประมาณ ๕ - ๖ ขวบ ได้เล่าเรียนวิชาชั้นต้นที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยผู้เป็นทวด เมื่ออายุ ๘ - ๙ ขวบ มีอุปนิสัยอารีอารอบชอบคบเพื่อนมาก ชอบเล่นอย่างวิธีนักรบและชอบตกแต่งประดับประดาที่อยู่ให้สะอาดเรียบร้อย ชอบทำการช่างต่างๆ ส่อให้เห็นอุปนิสัยมาแต่เล็ก พออายุได้ ๑๑ ขวบมารดาถึงแก่กรรม ต่อมาบิดาได้ย้ายมาอยู่บ้านเดิมที่บ้านพระยาสุรเสนา(สวัสดิ์ ชูโต)ผู้เป็นปู่ ไปฝากให้ศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นในสำนักพระวิเชียรมุนี วัดพิชัยญาติ เมื่ออายุ ๑๓ ปี โกนจุกแล้วอุปสมบทเป็นสามเณร ๑ พรรษา ลาสิกขาแล้วบิดานำไปมอบให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง) แต่เมื่อยังเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ให้ใช้สอยและฝึกหัดราชการ นอกจากนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังให้ฝึกหัดวิชาขี่ม้ารำทวน และยิงปืนกับวิชาอื่นๆซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น แล้วนำถวายตัวเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นมหาดเล็กวิเศษ สังกัดเวรฤทธิ์ ครั้งเสด็จสวรรคตแล้วก็อยู่กับสมเด็จพระเจ้ายาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อไป


แต่งงาน ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕
ได้เป็นหลวงศัลยุทธสรกรร นายกัมปนีที่ ๖


เมื่อนายเจิมอายุได้ ๑๘ ปี เป็นหลวงศัลยุทธสรกรรแล้ว แต่งงานกับขีด บุตรีนายเขียน สวัสดิ์-ชูโต อยู่ด้วยกันได้ประมาณ ๒ ปีก็แตกกัน(๑) แต่ก็ไม่มีภรรยาใหม่ มาจนกว่า ๑๐ ปี เมื่อขีดถึงแก่กรรมแล้ว เวลานั้นเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กผู้บังคับการทหารหน้า ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯขอ ไร บุตรีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไวยวัฒน์(วอน บุนนาค) พระราชทานให้เป็นภรรยา อยู่มาถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ ไรถึงแก่กรรม เมื่อเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรีแล้วจึงขอเลี่ยมน้องสาวไรมาเป็นภรรยา อยู่ด้วยกันมาจนได้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และเลี่ยมก็ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ และเครื่องยศท่านผู้หญิงตามประเพณี(๒)

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯให้เพิ่มหน้าที่พระยาสุรศักดิ์มนตรีผู้บิดาเป็นกงสีซื้อจ่ายของใช้ในราชการทั่วไป และเป็นผู้เร่งรัดเงินภาษีอากรที่ค้างแก่เจ้าภาษี ได้ให้ยนายเจิมผู้บุตรเป็นผู้ช่วยราชการในแผนกนี้ด้วย เพราะผู้ทำภาษีไม่นำเงินมาส่งหลวงได้ตามเวลา เงินหลวงสูญเสียมาก พระยาสุรศักดิ์ฯใช้ความผ่อนผันให้เจ้าภาษีทำการส่งของต่อกงสี เมื่อถึงคราวจ่ายเงินก็หักผ่อนใช้หนี้หลวง เมื่อทำเช่นนี้ไม่ช้าก็หักเงินที่ค้างภาษีได้ครบ

ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ มีพระราชประสงค์ให้คัดเลือกลูกหมู่มหาดเล็กมาเป็นบอดิการ์ด(รักษาพระองค์) มีจำนวนคน ๔ โหล แทนทหารรักษาพระองค์(๓) แต่ไม่พอใช้ราชการ จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรศักดิ์ฯคิดจัดตั้งกองทหารมหาดเล็ก ร.อ. ขึ้น เอาพวกมหาดเล็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชการเข้ามาเป็นทหาร เมื่อรับพระราชโองการฯแล้วก็หวาดหวั่นว่าจะมีผู้เข้าใจผิดคิดเห็นว่าเป็นการเดือดร้อน เพราะผู้ที่เป็นบิดามารดาแห่งกุลบุตรในสมัยนั้นยังไม่มีความนิยมจะให้บุตรหลานเข้าเป็นทหาร(๔) เกรงจะไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์ จึงไปหารือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ว่าจะขอนายเจิมที่มอบให้ใช้อยู่นั้นไปเป็นตัวอย่างทหารสมัครคนแรก เพื่อให้ข้าราชการเกิดความนิยมนำบุตรหลานเข้าสมัครเป็นทหาร สมเด็จเจ้าพระยาฯเห็นชอบด้วย(๕) จึงได้นำนายเจิมเข้าไปถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กก่อนผู้อื่น ก็เกิดความนิยมในการเป็นทหารกันทั่วไป

เมื่อการจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็ก ร.อ. เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว โปรดเกล้าฯให้นายเจิมเป็นหลวงศัลยุทธสรกรร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ นายกัมปนีที่ ๖ (ผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์)


โดยเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์กับชวา(ครั้งแรก)
เป็นอุปทูตไปเมืองสิงคโปร์ เมืองปัตตาเวีย และอินเดีย


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และชวา(ครั้งแรก)ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดฯให้หลวงศัลยุทธสรกรรโดยเสด็จด้วย เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงโปรดฯให้พระยาสมุทรบุรานุรักษ์(เนตร)เป็นราชทูต หลวงศัลยุทธสรกรรเป็นอุปทูต คุมช้างหล่อด้วยทองเหลือ ๒ ช้าง กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทานผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๒ นั้น(๖)

ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อเสด็จอินเดีย หลวงศัลยุทธสรกรรก็ได้โดยเสด็จในเรือพระที่นั่งไปประพาสหัวเมืองต่างๆในประเทศอินเดียด้วย


พระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง)บิดา ถึงแก่กรรม

เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง) บิดาป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โปรดเกล้าฯให้นายแพทย์หลวงมาพยาบาล เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมอาการป่วย และส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาพระราชทานในวันเดียวกันนั้นด้วย ได้ประกอบการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่(๗) อาการไข้มีแต่ทรงกับทรุด ถึงแก่กรรมวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๑๖ เสด็จพระราชทานเพลิงที่วัดประยุรวงศ์


รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก

เมื่อพระยาสุรศักดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว โปรดฯให้พระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) เป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็กฯ หลวงศัลยุทธฯคงรับราชการเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ อยู่ และได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามชั้นที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นความชอบในการที่เป็นอุปทูตไปเมืองสิงคโปร์และปัตตาเวีย เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นสราภัยสฤษดิการ ในปีนี้ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆละ ๖๐ บาท ต่อมาเป็นราชองครักษ์ ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๘๐ บาท


อุปสมบทเป็นนาคหลวง

เมื่ออายุ ๒๑ ติดราชการไม่ได้อุปสมบท ต่อมาจนอายุได้ ๒๕ โปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯเป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธวิริยากรณ์(นิ่ม)วัดเคลือวัลย์เป็นกรรมวาจา พระวิเชียรมุนี วัดพิชัยญาติเป็นอนุสาวนาจารย์ ทำขวัญนาคในพระที่นั่งอัมรินทร์ อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดพิชัยญาติพรรษา ๑(๘)


รับราชการเมื่อลาอุปสมบทแล้ว

จมื่นสราภัยฯลาอุปสมบทแล้ว กลับเข้ารับราชการในหน้าที่ราชองครักษ์ต่อมา โปรดเกล้าฯให้ไปรับราชการพิเศษเป็นนายช่างทำเครื่องประดับพระที่นั่งบางปะอิน และให้ช่วยนายอาลบาร์สเตอร์ จัดการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่พระราชวัง (คือที่ศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้)

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ โผปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับและจัดการทหารมหาดเล็กฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการด้วยพระองค์เอง และตั้งตำแหน่งผู้รับพระราชโองการขึ้นใหม่ โปรดฯให้พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนทรงรับตำแหน่งนั้น(๙) ระหว่างเมื่อพระองค์เจ้ากาพกนกรัตนไปราชการประเทศอินเดีย ได้โปรดให้จมื่นสราภัยฯ เป็นผู้รับราชโองการแทน เมื่อพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนเสด็จกลับมาแล้วได้ทรงรับตำแหน่งเดิม จึงโปรดฯให้จมื่นสราภัยฯเป็นที่ปรึกษาราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ช่วยพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนต่อไป


เป็นอุปทูตไปราชการพิเศษ ณ ทวีปยุโรป

คราวหนึ่งโปรรดเกล้าฯให้จมื่นสราภัยฯไปทำแผนที่เมืองลพบุรี และเมื่อยังทำการอยู่นั้นมีราชการเกี่ยวกับต่างประเทศ จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)เป็นราชทูต จมื่นสราภัยฯเป็นอุปทูตออกไปประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ และให้ดูการทหารบกทหารเรือ กับทั้งวิธีทำเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาด้วย(๑๐)

ลำดับนี้รัฐบาลโปรตุเกสส่งตราโปรตุเกสมาให้จมื่นสราภัยฯ ในการไปประจำอยู่กับข้าราชการของโปรตุเกสเมื่อเข้ามาเฝ้า และโปรดฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เป็นบำเหน็จด้วย


รับราชการทหารหน้า

ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ โปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นกงสีศิลา แต่ไม่รับค่าสิบลด ขอพระราชทานแต่เงินเดือนในหน้าที่ทหารตามเดิม แล้วโปรดฯให้พระยานรรัตนราชมานิต(โต)เป็นผู้บังคับการที่ ๑ เจ้าหมื่นไวยฯเป็นผู้บังคับการที่ ๒ ไปช่วยกันจัดการกรมทหารหน้า(๑๑) การที่จัดนั้นได้สั่งให้สำรวจเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์และเครื่องครุภัณฑ์ต่างๆ ให้รู้ว่ามีอยู่มากน้อยเท่าใดและทำบัญชีไว้ให้เรียบร้อย แล้วชำระสะสางคัดเลือกพวกนายทหารในกรมทหารนี้ให้อยู่รับราชการแต่ผู้ที่สมควร ทั้งจัดทำกฎข้อบังคับของกรมทหารขึ้นใหม่ กับขอพระบรมราชานุญาตซ่อมแซมโรงทหารทุกๆโรง จัดการโรงครัวไว้เลี้ยงทหารด้วย


เกลี้ยกล่อมทหารสมัคร

เจ้าหมื่นไวยวรนารถบังคับการที่ ๒ สำรวจจำนวนพลทหารหน้าทราบว่ามีอยู่ประมาณ ๓๐๐ เศษไม่พอใช้ราชการ ทั้งความเป็นอยู่ของทหารก็ไม่เรียบร้อย เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ก็ขาดตกบกพร่อง จึงกราบบังคมทูลรายงาน โปรดฯให้กรมสัสดีเร่งเรียกลูกหมู่แขนขาวเข้ามารับราชการก็ได้ผลน้อย จึงจัดคนออกเที่ยวสืบสวนเกลี้ยกล่อมพลเมืองที่เป็นคนแขนขาว ก็ยินดีจะยอมสมัครเป็นทหารหน้า และทรงพระกรุณาโปรดฯให้นำประกาศไปแจกทั่วทุกจังหวัด และชี้แจงแก่ประชาชนให้เข้าใจตามประกาศนั้นด้วย มิช้าก็มีคนแขนขาวเข้ามาสมัครเป็นทหารกว่า ๕,๐๐๐ คน โรงทหารเก่าไม่พอจะอาศัย จึงโปรดฯให้ผู้บังคับการที่ ๒ สร้างที่พักทหารขึ้นใหม่ที่สระปทุมวัน เมื่อจัดการสร้างโรงทหารนั้นแล้ว ได้ให้ปลูกต้นประดู่ไว้สองฟากถนนสระปทุมด้วย ยังมีอยู่จนทุกวันนี้


จัดเครื่องแบบทหารหน้า

เครื่องแต่งตัวทหารหน้านั้น แต่เดิมเป็นสักหลาดสีดำ สำรับ ๑ ราคาอยู่ในราว ๓๒ บาท ผู้บังคับการที่ ๒ คิดให้เป็นผ้าลายสอง ราคาสำรับหนึ่ง ๔ บาท เครื่องแต่งกายพลทหารตามแบบใหม่นั้นใช้กางเกงผ้าลายสองเขียวคราม เสื้อตัดด้วยผ้าลายสองสีขาว มีเครื่องหมายทหารเป็นยันต์ที่ข้อมือ กางเกงตัดอย่างแบบทหาร คือปลายขากว้าง ส่วนพวกนายทหารนั้นให้กางเกงขาว เสื้อขาว เมื่อแต่งเต็มยศกางเกงสักหลาดสีดำแถบทอง ใช้ปลอกหมายยศสวมที่ข้อมือและคอกับบ่าตามชั้นยศ

และโปรดฯให้วางระเบียบอัตราเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงนายทหารและพลทหารหน้า จัดตั้งทำเนียบยศและตำแหน่งหน้าที่ด้วย


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
กราบบังคมทูลขอจัดลูกหมู่หัวเมืองปักต์ใต้เป็นทหารเรือ


ระวางเมื่อกรมทหารหน้ารับทหารสมัครนั้น สมเด็จเพระยาฯไปตรวจราชการอยู่หัวเมืองฝ่ายตะวันตก ไม่ทราบว่าทางกรุงเทพฯเรียกทหารสมัคร และคนแขนขาวจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี เข้ามาสมัครเป็นทหารบกมาก สั่งให้สำรวจชายฉกรรจ์ลูกหมู่แขนขาวในหัวเมืองนั้นๆจะส่งเข้ามาเป็นทหารเรือ จึงกราบทูลฯขอเข้ามา ทรงปรึกษาความข้อนี้กับเจ้าหมื่นไวยฯ กราบบังคมทูลว่าควรพระราชทานให้ท่านจัดตามประสงค์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯกลับเข้ามาได้กราบบังคมทูลว่า เลขเมืองราชบุรี เพชรบุรีเข้ามาสมัครเป็นทหารบกมาก ไม่มีคนที่จะรักษาราชวังเขามไหศวรรย์ ขอรับพระราชทานให้มีเลขคงเมืองอยู่ตามเดิม จึงโปรดฯ ให้ผู้บังคับการที่ ๒ ผ่อนผันส่งพ่อหมู่เด็กชายคืนให้ สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงขอให้พระอมรวิไสย(โต บุนนาค)เป็นแม่กองสักเลขลูกหมู่ที่สมสักแล้ว ขึ้นทะเบียนรับราชการต่อไป


แต่พระที่นั่งและจัดการแสดงพิพิธภัณฑ์
เมื่อกรุงเทพฯมหานครตั้งมาครบรอบ ๑๐๐ ปี ณ ท้องสนามหลวง


เมื่อกำหนดการสมโภชกรุงเทพมหานครครอบรอบ ๑๐๐ ปีนั้น พระที่นั่งจักรีฯยังทำไม่เรียบร้อย ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถทำต่อไปให้ทันงานสมโภช เจ้าหมื่นไวยฯจึงให้ทำแผนที่พระที่นั่งทุกๆห้อง และกำหนดเครื่องที่จะใช้ตบแต่งพระที่นั่งนั้นแล้ว ส่งออกไปให้พระยาสยามธุระพาหนะ กงสุลสยามที่ลอนดอน เรียกช่างต่างๆมารับเหมาทำเครื่องตบแต่งพระที่นั่งซึ่งกะมาทุกๆอย่าง เมื่อช่างทำเสร็จแล้วกงสุลสยามจึงส่งของนั้นเข้ามา เจ้าหมื่นไวยฯก็ตบแต่งพระที่นั่งจักรีสำเร็จทันพระราชประสงค์ ระวางที่จัดพระที่นั่งจักรีฯอยู่นั้นโปรดฯให้เป็นผู้ตบแต่งพระตำหนักและเก็บรักษาเครื่องแต่งพระองค์ และพระราชทรัพย์สมเด็จพระนางเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ และตบแต่งพระตำหนักทูลกระหม่อมแก้ว(กรมพระยาสุดารัตน์ฯ)ด้วย ได้พระราชทานสิ่งของเป็นที่ระลึกในการตบแต่งพระที่นั่งนั้นหลายสิ่ง แล้วโปรดฯให้เป็นผู้บังคับการทหารหน้าแต่ผู้เดียว และเป็นผู้เบิกจ่ายเงินในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ด้วย


ให้กองทหารนคราภิบาล มีตุลาการชำระคดีชั้นต้น
และถวายพระพิพัฒน์สัตยาเป็นส่วนพิเศษ


อนึ่ง โปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยฯจัดการซ่อมแซมรอบพระนคร ให้กองทหารนคราภิบาลพักอาศัย เพื่อสะดวกแก่การออกเที่ยวลาดตระเวนรักษาท้องที่ จึงจัดตั้งศาลโปลิสภาสำหรับไต่สวนมูลคดีชั้นต้นขึ้นที่โรงพิมพ์ของหม่อมเจ้าโสภณ อยู่ในระวางที่ซึ่งตั้งศาลาว่าการนครบาล(กระทรวงมหาดไทย)บัดนี้ ขอพระยามหานิเวศน์(กระจ่าง บุรณศิริ)เมื่อยังเป็นหลวงนายฤทธินายเวรมาเป็นอธิบดี ขอขุนศรีอาญาคดีมาเป็นผู้ช่วย

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระชนม์ได้ประมาณ ๒ - ๓ พรรษา เวลานั้นยังมีข้ออุปสรรคขัดขวางอีกหลายอย่าง ทรงว้าเหว่ด้วยราชการในอนาคต เจ้านายและข้าราชการซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยทำหนังสือปฏิญาณถวายพระพิพัฒน์สัตยาเป็นส่วนพิเศษ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ เจ้าหมื่นไวยฯก็ได้มีส่วนลงชื่อในหนังสือฉบับที่ทูลเกล้าฯถวายนั้นด้วย


ความเห็นเรื่องให้ทหารขึ้นไปรักษาการบนบรมบรรพต

เนื่องในการรักษาพระนครให้มั่นคง เจ้าหมื่นไวยฯกราบบังคมทูลความเห็นเป็น ๒ ข้อ คือ

๑. จะสร้างป้อมเหล็ก เอาปืนใหญ่อย่างหนักขึ้นไว้บนพระบรมบรรพต
๒. ถ้าจะไม่โปรดฯให้สร้างป้อม ก็ขอทำแต่เพิงพลรอบองค์พระเจดีย์ มีเสาธรและเครื่องโทรศัพท์เป็นอาณัติสัญญาณด้วย

ทรงเห็นชอบตามความข้อ ๒ จึงสร้างเพิงพลขึ้นรอบพระเจดีย์บรมบรรพต จัดทหารรักษาการ ๔ โหล ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นให้บอกไปที่กรมทหารหน้า


จัดตั้งโรงเรียนนายร้อย และแต่งพระราชอุทยานสราญรมย์
เป็นผู้มีหน้าที่ในการแสดงพิพิธภัณฑ์ในงานฉลอง ๑๐๐ ปี


เจ้าหมื่นไวยฯกราบบังคมทูลขอมหาดเล็กวิเศษมาเป็นนักเรียนนายร้อย มีนักเรียนประมาณ ๔๐ เศษ และทูลขอวังสราญรมย์เป็นโรงเรียนด้วย ก็โปรดฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อจัดตั้งโรงเรียนนั้น เปิดรับบุตรหลานนายทหารและข้าราชการพลเรือนให้เรียน มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ เศษ

ระวางเมื่อจัดโรงเรียนนายร้อยขึ้นที่วังสราญรมย์ โปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยฯจัดการตบแต่งวังนั้น กราบบังคมทูลขอให้นายอาลบาร์สเตอร์เป็นเจ้าพนักงานดูแลปลูกต้นไม้ และตบแต่งวังสราญรมย์ด้วย

ส่วนการแสดงพิพิธภัณฑ์สำหรับชาติคราวนี้ จัดตั้งที่ท้องสนามหลวง มีกรรมการจัดการ ๕ นาย โปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยฯเป็นกรรมการด้วยผู้ ๑ และมีหน้าที่ตบแต่งประดับประดาสถานที่ทั้งรักษาเหตุการณ์ต่างๆในงานนั้น นอกจากตำแหน่งราชการที่มีประจำอยู่หลายหน้าที่แล้ว ยังโปรดฯให้เป็นผู้บังคับการทหารดับเพลิงแทนพระยานรรัตน์ฯ รักษาการในงานนี้อีกด้วย


ตั้งกรมเด็กชา

เจ้าหมื่นไวยฯมีหน้าที่ทำราชการหลายอย่างนัก จึงขอพระราชทานตั้งกรมเด็กชาขึ้น ก็โปรดฯให้เก็บพวกลูกหมู่ลาวสีไม้ที่เป็นพวกเด็กชาประจำพระราชวังเพชรบุรี ๑ ลูกหมู่พวกชาวที่ ๑ กับลูกหมู่พวกมหาดเล็กและทหารหน้าทุกๆกรม ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๔ ถึง ๑๖ ปี เข้ามารับราชการเป็นพวกเด็กชา มีเครื่องแบบสำหรับแต่งกาย คือเสื้อตัดอย่างเสื้อของพวกลาวโซ่ง มีผ้าโพกศีรษะเป็นเกลียว ให้รัดปะคดคาดรอบเอว มีหน้าที่ยืนยามรักษาพระทวารพระที่นั่งจักรีฯเวลามีงาน และรักษาความสะอาดบนพระที่นั่งทุดองค์ กับสำหรับใช้งานโยธาในพระราชวังทุกอย่างด้วย


ซ่อมถนนหลวงและใช้รถจักรบดถนนเป็นครั้งแรก

การทำถนนหลวงแต่ก่อน ทำด้วยอิฐหักกากปูน เจ้าหมื่นไวยฯเห็นว่า ต่อไปถ้ามียวดยานไปมามากขึ้นจะไม่ทนทาน จึงสั่งรถบดถนนเข้ามาพร้อมทั้งเครื่องย่อยหินสำหรับโรย และมีตระแกรงร่อนหินที่ย่อยแล้วแบ่งออกได้เป็นก้อนเล็กก้อนใหญ่ เจ้าหมื่นไวยฯได้ทดลองซ่อมถนนด้วยรถจักรดังกล่าว ถวายทอดพระเนตรในขณะเมื่อกำลังเปิดแสดงพิพิธภัณฑ์สำหรับชาติอยู่นั้น ก็ได้ผลดีเป็นที่พระพระราชหฤทัย


ซื้อม้าสำหรับทหารและต้องอุบัติเหตุตกม้า

เจ้าหมื่นไวยฯเห็นว่าม้าที่จะใช้ราชการในกรมทหารหน้ามีไม่พอ จึงขออนุญาตให้นายหลุย เลียวโนแวนซ์ ซึ่งโปรดฯให้มารับราชการอยู่ในกรมหทารหน้านั้น ไปซื้อม้ายังเกาะออสเตรเลีย ได้ม้าเข้ามาทั้งที่ได้เคยฝึกหัดแล้วและยังไม่เคยก็มี ได้สั่งครูฝึกหัดม้าเข้ามาจากต่างประเทศพร้อมกับม้าด้วย ภายหลังนายหลุย เลียวโนแวนซ์ได้รับยศเป็นกัปตัน

ครั้น ณ วันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลาเช้า กัปตันหลุย เลียวโนแวนซ์นำลูกม้าเทศ ซึ่งได้ฝึกหัดพอจะขี่ได้แล้วมาให้เจ้าหมื่นไวยฯลองขี่ ก็ได้ขี่ไปตรวจการฝึกซ้อมทหาร มาก็พาห้อวิ่งไปไม่หยุด ถึงหน้าโรงเอ๊กสฮิบิชั่นจึงรั้งบังเหียนไว้โดยแรง ทันใดนั้นม้าก็สะบัดหน้ายื่นคอ เจ้าหมื่นไวยฯยั้งตั้งตัวไม่ทันก็คะมำไปข้างหน้า แต่กอดคอม้าไว้ทัน ส่วนเท้านั้นไปปัดเท้าม้าเข้า จึงเลยล้มทั้งม้าและคน ขาหลังม้าฉีกทั้งสองข้าง ส่วนคนสลบไม่ได้สติมีบาดแผลที่สำคัญหลายแห่ง หมอเทียนฮี้เป็นผู้พยาบาล เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาการป่วยถึงบ้าน และมีเจ้านายข้าราชการไปเยี่ยมเป็นอันมาก เมื่อหายป่วยแล้วประสาทจมูกเสีย ดมอะไรไม่รู้จักกลิ่น(๑๒)


จัดตั้งโรงเรียนหลวงทมี่พระราชวังสวนอนันต์

เมื่อโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งโปรดฯให้ตั้งขึ้นสำหรับเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเล่าเรียนภาษาอังกฤษนั้น จัดการยังไม่มั่นคงและเป็นระเบียบเรียบร้อยดังที่ควร ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจัดตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นให้เป็นหลักฐาน จึงโปรดฯพระราชทานวังสวนอนันต์ให้เป็นโรงเรียน จ้างหมอแมคหาแลนด์เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ มีกรรมการจัดการเพื่อจะให้การเรียบร้อยตลอดไป แต่ต่อมาการงานก็ทรุดโทรมลงที่สุดจนเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของครูและนักเรียนก็ไม่ใคร่จะได้เบิกมาจ่ายให้

จึงโปรดฯให้กรรมการรีบจัดการให้สำเร็จ ปรึกษาการยังไม่ตกลงกัน เจ้าหมื่นไวยฯเห็นจะเสียราชการ จึงขอรับจัดการแต่ผู้เดียว กรรมการก็เห็นชอบตามความคิดเจ้าหมื่นไวยฯ การที่จัดนั้นคือให้เบิกเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนและครู เปลี่ยนแปลงระเบียบการให้หมอแมคฟาแลนด์จัดหาสารวัตรตรวจการและรับผิดชอบในการที่จะรักษาเด็กด้วย ให้เรียกบัญชีจีนทำงานที่พระอินทรเทพ ตั้งบัญชีเบิกขอทำโรงหัดกายกรรม เมื่อจัดการและทำสถานที่สำหรับโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว ต่อมากรมหมื่นดำรงราชานุภาพ(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) ทรงเป็นผู้จัดการกรมศึกษาธิการจึงมอบหน้าที่การรับผิดชอบเรื่องโรงเรียนนั้นถวายให้ทรงจัดการต่อไป


ไปปราบผู้ร้ายเมืองสุพรรณบุรี

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ เมืองสุพรรณบุรีมีบอกเข้ามาว่าเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบปล้นระดม และเหกิดเหตุอุกฉกรรจ์ฆ่ากันตายหลายราย ในเวลานี้ผู้ว่าราชการเมืองไม่มี พระศรีราชรักษาปลัดรักษาราชการแทน ราษฎรได้ความเดือดร้อนเป็นอันมาก ระวางนั้นทรงตั้งหลวงอังคนิศรพลารักษ์(จัน)พี่ชายเจ้าหมื่นไวยฯเป็นที่พระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณฯขึ้นใหม่ แต่ยังอยู่กรุงเทพฯ เมื่อเจ้าหมื่นเสมอใจราช(จู โชติกเสถียร)ซึ่งเป็นข้าหลวงออกไปผูกปี้จีนที่เมืองสุพรรณฯกลับมาเฝ้าฯ ทรงทราบว่าในการที่ทรงเลือกให้พี่ชายเจ้าหมื่นไวยฯเป็นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณฯนั้น กรมการราษฎรเกรงกลัว จึงโปรดฯให้เจ้าหมื่นไวยฯเป็นข้าหลวงออกไปปราบปรามโจรผู้ร้ายให้สงบ และจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยด้วย

เจ้าหมื่นไวยฯออกจากกรุงเทพฯโดยทางเรือเมื่อวันพุธ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ หาตรงไปวางท้องตราทีเดียวไม่ ลัดเข้าคลองสองพี่น้องขึ้นไปจนถึงเขตปลายน้ำเมืองสุพรรณ ลอบไปสืบข่าวโจรผู้ร้ายตามวัดวาอารามและพวกราษฎรทั้งทางบกทางเรือได้ความตลอดแล้วว่าหัวหน้าผู้ร้ายชื่อนั้นๆ ตั้งเคหสถานชุมนุมอยู่ตำบลนั้นๆ และระวางทางที่ไปนั้นจับหัวหน้าผู้ร้ายที่เป็นตัวสำคัญๆกับพรรกพวกได้ประมาณ ๕๐ คนเศษ แล้วจึงล่องเรือลงมาจอดพักที่หน้าวัดประตูศาล วางตราแล้วสั่งให้ปลัดเมืองจัดทำที่คุมขังผู้ร้าบบนศาลาวัด และลงมือชำระความที่ค้างเก่าและใหม่พร้อมด้วยพวกขุนศาลตุลาการโดยเร่งรัด ก่อนที่จะลงมือชำระความนั้น ได้ประกาศให้คู่ความทราบว่าในคดีพิพาทกันนั้น ได้ค้นคว้าสืบสวนหลักฐานมีพยานไว้แน่นอนแล้ว ต้องให้เป็นความสัตย์ความจริงทั้งโจทก์และจำเลย ถ้าจับได้ว่าเป็นความเท็จจะต้องได้รับโทษโบย ๓๐ ทึ แล้วเบิกตัวคู่พิพาทในคดีเรื่อง ๑ มาชำระเป็นตัวอย่าง ก็จับได้ว่าเป็นความเท็จสั่งให้โบย ๓๐ ที แล้วงดพิจารณาไว้ ๒ วัน หวังว่าจะให้กิตติศัพท์เล่าลือไปถึงคู้ความทั้งหลาย เมื่อได้จัดการชำระผู้ร้ายตามวิธีนี้สำเร็จได้ง่ายขึ้น วันหนึ่งชำระเสร็จไปราว ๓๐ เรื่องทุกๆวัน จำนวนผู้ร้ายที่จับมาได้คราวนี้ประมาณ ๒๐๐ เศษ ที่เป็นหัวหน้าผู้ร้ายตัวสำคัญและนักเลงโตซึ่งก่อให้เกิดเหตุอุกฉกรรจ์เหลืออยู่ ๑๓๐ เศษ จะได้คุมตัวลงมากรุงเทพฯด้วย ครั้นเสร็จราชการก็รับกลับเข้ามาเฝ้าถวายรายงานตามที่ได้จัดทำไปให้ทรงทราบทุกประการ

อยู่มาได้รับใบบอกหัวเมืองต่างๆรวม ๙ เมือง ว่าโจรผู้ร้ายสงบเงียบแล้ว และได้ทรงทราบจากผู้ที่ไม่ชอบอัธยาศัยกับเจ้าหมื่นไวยฯ มาชมเชยว่าดีอยู่ จึงโปรดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ เป็นบำเหน็จความชอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕

เมื่อผู้ร้ายสงบแล้ว โปรดฯให้พระยาสุนทรสงครามออกไปว่าราชการเมืองสุพรรณฯ และทรงมอบเมืองสุพรรณฯให้อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหมื่นไวยฯ ต่อมากรมการและนายอากรค่าน้ำเมืองสพรรณฯเที่ยวข่มขู่กรรโชกเอาเงินแก่ราษฎรได้ความเดือดร้อน ร้องทุกข์ต่อเจ้าหมื่นไวยฯในเวลาที่ออกไปเยี่ยมพี่ชายที่เมืองสุพรรณฯ ไต่สวนได้ความจริง สั่งให้โบยกรมการและนายอากรค่น้ำ ๓๐ ที สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบฯ ทูลฟ้องเจ้าหมื่นไวยฯว่าทำอุกอาจ แต่เมื่อได้ทรงทราบความจริงตามรายงานของเจ้าหมื่นไวยฯแล้วก็หายกริ้ว(๑๓)


เกิดอหิวาตกโรค ทหารสมัครแตกหนี
และสักตราจักรที่แขนทหารหน้า


เมื่อเสร็จการฉลองพระนคร และการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ฯแลล้ว เรียกทหารระดมเข้ามาจากเมืองราชบุรี เพชรบุรี อีก ๕,๐๐ คน ไม่มีที่พอจะให้อาศัย จึงโปรดฯให้ทำที่พักทหารขึ้นใหม่ชั่วคราว และแบ่งไปไว้ในวังสวนกุหลาบ ๑,๐๐๐ คน เจ้าหมื่นไวยฯไปเยี่ยมทหารนอนอยู่ด้วยคืน ๑ ทหารเป็นอหิวาตกโรคแต่ได้รักษาหาย อยู่มาไม่ถึง ๑๐ วัน ทหารที่พักในวังสวนกุหลาบก็เกิดเป็นอหิวาตกโรคลุกลามไปตามกองทหารหน้าและพวกพลเรือนตายลงหลายร้อยคน ที่เหลือก็ตื่นตกใจพากันหลบหนีไปหลายพันคน(๑๔)

จึงโปรดฯให้คุมทหารพวกที่เหลือนั้นย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร จังหวัดสมุทรปราการ ทรงหารือเจ้าหมื่นไวยฯ ว่าทำไฉนจึงจะได้ทหารที่หลบหนีไปกลับคืนมา เจ้าหมื่นไวยฯทูลรับจะออกไปจัดการให้ทหารกลับคืนเข้ามารับราชการให้จงได้ แต่ไม่โปรดฯให้ออกไป โปรดฯให้จมื่นศรีสรรักษ์(ม.ร.ว.เล็กศิริวงศ์) กับนายจ่ายวด(พระยาฤทธิรงค์รณเฉท(สุข ชูโต))เป็นข้าหลวงออกไปติดตามทหารที่เมืองราชบุรี เพชรบุรี แทน ข้าหลวง ๒ นายก็รีบออกไปกวาดต้อนทหารสมัครเข้ามารับราชการ แต่ได้รับความลำบากด้วยทหารสมัครที่หนีไปไม่มีเครื่องหมายในตัวแต่อย่างใด นอกจากทราบตำหนิรูปพรรณในทะเบียนเก่าเท่านั้น ต้องใช้วิธีเรียกตัวหัวหน้าผู้นำทหารเข้ามาสมัครให้ส่งตัวทหารให้แก่ข้าหลวงอีกชั้นหนึ่ง

จึงเกิดความหนักใจขึ้นแก่ผู้บังคับการทหารหน้า ด้วยประกาศพระบรมราชโองการรับทหารสมัครเดิมมีอยู่แล้วว่า จะไม่สักท้องแขนและหน้าแขนตามหมวดหมู่เดิม ผู้บังคับการทหารหน้าเห็นว่า ถ้ามีเครื่องหมายตามตัวดังเลขที่มีมาแต่ก่อนแล้ว หนีไปอยู่ที่ใดก็ติดตามได้ง่าย จึงหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้นายทหารผู้ใหญ่ทำเครื่องหมายเพื่อให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันเป็นตัวอย่างขึ้นก่อน เจ้าหมื่นไวยจึงทำตราจักรกว้าง ๑ นิ้ว กลางมีที่ว่างไว้สำหรับจะได้ลงเมืองของทหาร หมายอักษรตั้งแต่ ก.(ก. หมายว่ากรุงเทพฯ)เป็นต้นไป เมื่อทำตราจักรเสร็จแล้วให้ช่างสักลงบนแขนขวาเจ้าหมื่นไวยฯเป็นคนแรก และให้ประกาศแก่นายพลและพลทหารว่า การที่สักเครื่องหมายลงบนแขนเช่นนี้ หมายความว่าเป็นพวกเดียวกัน ถ้าผู้ใดอยากสักให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันก็จะสักให้ ในไม่ช้าก็มีนายแลพพลทหารทุกกรมกองมาขอสัก แต่นั้นมาการหนีหายก็น้อยลง ต่อมาเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นแล้ว จึงได้ให้สักตราจักรใหญ่ที่แขน มีตัวเลขจามลำดับหมวด และมีอักษรเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นทหารบกด้วย

อนึ่ง เจ้าหมื่นไวยฯได้คิดตั้งโรงพยาบาลขึ้นรักษาทหารในคราวที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคหลายแห่ง ได้รับพระราชทานเหรียญเงินเป็นที่ระลึกในการนั้นด้วย(๑๕)


สร้างโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหม)

เมื่อทหารสมัครกลับเข้ามามีจำนวนมาก ไม่มีที่จะให้อาศัยรวมกันเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ เจ้าหมื่นไวยฯจึงเที่ยวสำรวจหาที่จะสร้างโรงทหาร เห็นที่ฉางหลวงเก่า(๑๖)และที่วังเจ้านายซึ่งทรุดโทรมมีบริเวณกว้างใหญ่ เหมาะสำหรับที่จะตั้งเป็นโรงทหารหน้าได้ จึงกะสเก็ตซ์และถ่ายรูปที่นั้นแล้วให้นายกราชีทำแปลตึกเป็น ๒ ชนิด แปลน ๑ เป็นตึก ๒ ชั้น อีกแปลน ๑ เป็นตึก ๓ ชั้น และให้กะงบประมาณการก่อสร้างด้วย เจ้าหมื่นไวยฯนำแปลนตึก ๒ ชั้น กับรูปถ่ายพร้อมทั้งรายการก่อสร้างประมาณสี่แสนบาทขึ้นทูลเกล้าฯถวาย กราบบังทูลความจำเป็นทุกๆอย่าง ทรงรับว่าจะปรึกษาความคิดนั้นต่อกรมสมเด็จฯดูก่อน ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯนำแปลนตึก ๓ ชั้นเข้าไปถวายอีก กราบทูลว่าจะหาที่ในพระนครกว้างใหญ่เท่าที่กะมานี้ยาก ต่อไปที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นจึงให้ช่างเขียนแปลนเป็นแบบตึก ๓ ชั้น หวังจะบรรจุทหารให้มากตั้งกองพลน้อยๆอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เงินที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่มากเท่าใด เห็นว่าทำเป็นตึก ๓ ชั้นเสียทีเดียวดีกว่า ก็ทรงเห็นชอบด้วย ตกลงทำตามความคิดนั้น

ที่ซึ่งสร้างเป็นโรงทหารนี้ กว้าง ๓ เส้น ๑๐ วา ยาว ๕ เส้น (มีรายการส่วนต่างๆของตัวตึกโดยพิสดารอยู่ในหนังสือเล่มใหญ่ ที่ได้ย่อมานี้พร้อมด้วยแบบแปลนแล้ว) เมื่อโรงทหารหน้านี้ยังสร้างไม่แล้ว ที่ว่ากรมทหารหน้าเดิมตั้งอยู่ที่หอบิลเลียด ณ วังสราญรมย์ โรงครัวเลี้ยงทหารอยู่ที่ริมถนนเฟื่องนคร เมื่อกรมทหารหน้ายกมาอยู่ที่ซึ่งสร้างขึ้นใหม่นั้นแล้ว ก็ยังใช้โรงครัวเก่าเลี้ยงทหารอยู่ เห็นว่าทหารเดินไปรับประทานอาหารไกลนักจะตัดทางให้สั้นลง จึงให้ทำสะพานหกข้ามมาจากกรมยุทธนาธิการจนถึงโรงครัว สะพานนี้ใช้ในเวลาเจ้าหมื่นไวยฯเป็นผู้บังคับการทหารหน้าเท่านั้น


เข้าสมัครอั้งยี่

พวกจีนทั้งในกรุงและหัวเมืองเกิดเป็นอั้งยี่กำเริบขึ้น ทรงปรึกษาการที่จะปราบอั้งยี่กับเจ้าหมื่นไวยฯ จึงกราบทูลฯว่า เมื่อไฟป่าลุกก็ต้องจุดๆไฟป่ารับ คือจะขอเข้าเป็นอั้งยี่ เพราะอั้งยี่ที่เกิดขึ้นเวลานั้นมีเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งอยู่ตลาดพลู เป็นจีนไหหลำมีประมาณเจ็ดพันเศษ อีกพวกหนึ่งตั้งอยู่ที่แม่น้ำราชบุรีและนครชัยศรี เป็นจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนโดยมาก ถ้ารับเอาพวกอั้งยี่ตลาดพลูเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหมื่นไวยฯ แล้วพวกอื่นๆก็หาอาจจะกำเริบขึ้นได้ไม่ ก็โปรดฯอนุญาตให้จัดการตามความคิดนั้น

เจ้าหมื่นไวยฯจึงนัดพวกหัวหน้าอั้งยี่ว่าจะขอเข้าไปตรวจดูการที่จัดทำกันที่กงสีนั้นเป็นอย่างไร เมื่อตกลงกันแล้ว เวลายามหนึ่ง เจ้าหมื่นไวยฯกับหลวงทวยหาญ(กิ่ม) จ่ายวด(สุข ชูโต)ลงเรือไปถึงคลองภาษีเจริญขึ้นเดินบกต่อไปถึงศาลเจ้าที่เรียกว่ากงสี พบคนที่มาทำพิธีเข้าเป็นอั้งยี่ด้วยประมาณ ๒๐๐ เศษ จึงให้หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้ทราบว่า ได้เชิญเจ้าหมื่นไวยฯ กับหลวงทวยหาญ และจ่ายวดมาเพื่อจะยกขึ้นให้เป็นนายปกครองต่อไป ให้เจ้าหมื่นไวยฯเป็นหัวหน้าที่ ๑ หลวงทวยหาญที่ ๒ จ่ายวดที่ ๓ แล้วพวกอั้งยี่ก็พร้อมกันเลี่ยงโต๊ะกระทำสัตย์สาบานว่าจะนับถือคนทั้ง ๓ นั้นเป็นนายปกครองต่อไป จีนหัวหน้าได้มอบตราอาญาสิทธิ์กับธงหัวหน้า พร้อมด้วยบัญชีนามอั้งยี่ทั้งหมดให้ และบอกอาณัติสัญญาให้ทราบไว้ด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าหมื่นไวยฯก็นำตราและธงทั้งบัญชีอั้งยี่มาทูลเกล้าฯถวาย แต่นั้นมาอั้งยี่ทุกพวกทุกเหล่าก็สงบลง ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯก็เปลื้องภาระอันหนักเรื่องอั้งยี่ถวายกรมหมื่นภูธเรศฯ เสนาบดีนครบาลจัดการต่อไป


ถูกหาว่าเป็นกบฏ

เมื่อคิดจัดการรับทหารสมัคร และจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและยุทธวิธีขึ้นที่วังสราญรมย์นั้น มีนายทหารอิตาเลียนเข้ามาสมัครทำงาน ๒ คน คือ นาย ยี.อี.เยรินี (พระสารสาสน์พลขันธ์) คน ๑ กับนายโยเซฟ ฟารันโด คน ๑ เจ้าหมื่นไวยฯรับไว้ นายเยรินีนั้ให้เป็นครูสอนยุทธวิธีการทหารที่โรงเรียนนายร้อย ตั้งใจสอนให้ตามความรู้ของตนทุกอย่าง และที่โรงเรียนนั้นได้จัดหาตัวอย่างของต่างๆในวิชาการทหารไว้ให้ดูเพื่อประกอบการเรียนด้วย นายเยรินี ขออนุญาตจะทำดินไดนาไมต์ขึ้นให้นักเรียนทราบวิธีใช้ เจ้าหมื่นไวยฯจึงขอพระบรมราชานุญาต ก็โปรดฯให้จัดทำได้ นายเยรินีได้จัดทำดินไดนาไมต์อยู่หลายปีไม่สำเร็จ

ต่อมานายฟารันโดป่วยขออนุญาตให้ไปรักษาตัวที่สิงคโปร์ นายเยรินีขอลาไปเป็นเพื่อนด้วย เมื่อเดินทางกลับเข้ามาได้นำดินไดนาไมต์เข้ามาด้วยหนัก ๕๐ ปอนด์ พนักงานศุลกากรยึดไว้ ผู้บังคับการทหารหน้าก็เล่าความจริงให้ฟัง และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบด้วย นายเยรินีรู้ว่าตัวผิดก็ลาออกจากหน้าที่ครูไปทำเหมือนแร่ และช่วยหมอสมิตแต่งหนังสือพิมพ์ ได้ลงพิมพ์พูดเหน็บแนมก้าวร้าวในทางอักษรศาสตร์ ต่อมาได้กลับเข้ารับราชการเป็นล่ามอยู่ในกระทรวงมหาดไทยอีก

การที่นายเยรินีหาดินไดนาไมต์กลับมาจากสิงคโปร์นั้น เป็นเหตุให้มีผู้ทำให้เกิดเลื่องลือไปว่า เจ้าหมื่นไวยฯจะคิดกบฏ ครั้นเมื่อเดือน ๓ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท โปรดเกล้าฯให้เจ้าหมื่นไวยฯอยู่รักษาการในกรุงเทพฯ ให้จัดกองทหารหน้า ให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์กับนายจ่ายวดเป็นผู้คุมไปในกระบวนพระราชดำเนิน ระวางที่ประทับอยู่ที่พระพุทธบาทนั้น มีผู้ร้ายขึ้นไปบนยอดเขา เอาก้อนหินขว้างลงมายังค่ายหลวง ทหารขึ้นไปก็เกิดต่อสู้กันขึ้น เจ้าหมื่นศรีฯสั่งให้ยิงผู้ร้ายตาย ลูกปืนถูกหน้าผากระเด็นลงมาตกในค่ายหลวง ก็เกิดโกลาหลกันว่าทหารหน้าจะกบฏตามข่าวลือ จึงทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระบำราบฯเป็นตุลาการพิจารณาคดีนั้น แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่บางปะอิน ตุลาการได้ชำระตัดสินลงโทษนายทหารที่สั่งยิงและพลทหารผู้ยิงด้วย

ในเรื่องที่ถูกหาว่าคิดกบฏนี้ ในที่สุดเจ้าหมื่นไวยฯได้รับพระราชทานพระราชหัตถ์เลขาว่า "ที่พระนายไวยฯพูดมานั้นเพราะกลัวตาย คงแน่ใจว่าเราเชื่อว่าตัวเป็นกบฏ แต่เรามิได้นึกเลย คนทั้งหลายไม่รู้ความจริงว่าผูกพันกันอยู่ ตามข่าวลือกันนั้นเป็นด้วยความอิจฉาพยาบาทอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะพระนายไวยจะพูดการอันใดหาพูดให้คนอื่นเห็นว่าเป็นคำกลางไม่ โดยถือว่าเพราะจำเป็นต้องช่วยกัน จึงเป็นพยานให้เขายกมาพูดได้ แต่จะหาเหตุไปเปล่าๆก็จืด ถ้าจะว่าในเหตุที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องดินไดนาไมต์และเรื่องนี้ต้องเห็นว่าความผิดมีอยู่ในการนั้น แต่มิได้เป็นความผิดของพระนายไวย จะเสียก็เสียเพราะผู้บังคับการสั่งการไม่รอบคอบ"

"การเรื่องดินไดนาไมต์ อ้ายเยรินีไม่บอกให้รู้ว่าจะเอาเข้ามา อ้ายเยรินีเป็นผู้ผิด ที่เขาแกล้งให้เป็นถ้อยความมากขึ้นนั้นต้องยกว่าเป็นการแกล้งกันส่วนหนึ่ง ความผิดจริงส่วนหนึ่ง ถ้าพูดอย่าให้ยกแต่ความแกล้งจนลืมคิดว่ารับผิดแล้วเป็นการถูก"

เรื่องความครั้งนี้เหมือนกัน คือการสิ่งใดที่ผิด การสิ่งนั้นมีอะไรเสียอยู่จึงว่าผิด ที่ทำถูกหมดจะกลับว่าให้ผิดไป เพราะคนอิจฉาหรือเพราะสงสัยนั้นจะทำไปอย่างไรได้ จึงนับว่าการเสียตลอดจนราชการ การที่ทำโทษทหารครั้งนี้จะกันไม่ให้คนทหารหลวงแกล้งฆ่าคนตายไม่มีโทษ และยิงปืนกระสุนตกในค่ายหลวงเพราะการรักษาได้ไม่มีโทษ ซึ่งจะเป็นช่องเสียดังว่ามา"

"ที่คิดจะขอให้ใครเป็นผู้บังคับการทหารกันวุ่นวายนั้นดูเป็นการแตกร้าวกัน ถ้าแก้หรือเพิ่มอันใดเล็กน้อยก็จะเรียบร้อยไปได้ จะรอไว้คิดจัดที่กรุงเทพฯ" ดังนี้


ทหารหน้ายกไปอยู่โรงที่สร้างขึ้นใหม่

เมื่อสร้างโรงทหารหน้าเสร็จแล้ว เจ้าหมื่นไวยฯทูลขอพระราชทานนามโรงทหารหน้า ก็โปรดให้เรียกนามโรงทหารหน้าและให้มีศักราชที่สร้างขึ้นไว้ด้วย ครั้นต่อมาให้เรียกว่า กระทรวงกลาโหม จนทุกวันนี้ ขณะเมื่อทหารหน้าจะยกมาอยู่โรงสร้างใหม่นี้โปรดฯให้สมเด็จพระสังฆราช(สา)ผูกคาถาว่า "วิเชตฺวา พลาตา ภูปํรชฺชสา เทจวุตโย" สำหรับให้ใช้เป็นตราทหารหน้ายังมีอยู่ในยอดธงจุฑาธุชนั้น เมื่อจัดการตบแต่งโรงทหารเรียบร้อยแล้ว อัญเชิญเสด็จให้ทรงเปิดโรงทหารที่สร้างใหม่ กลิ่นไอที่เขาหาเหตุว่าจะเป็นกบฏยังไม่หมดซาก เจ้าหมื่นไวยฯจึงให้ทหารแต่งตัวเครื่องแบบไม่มีอาวุธตั้งแถวรับเสด็จที่หน้าโรงทหารนั้น เมื่อเสด็จทรงเปิดเสร็จแล้ว จัดการประลองยุทธตามแบบใหม่ถวายทอดพระเนตรก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ต่อมาได้เปลี่ยนคำบอกแถวทหารจากภาษาอังกฤษ ซึ่งครูหัดทหารเป็นชาวอิตาเลียน ให้กลับเป็นภาษาไทย ก็โปรดในการที่จัดนั้น

เจ้าหมื่นไวยฯเกิดความเบื่อหน่ายในราชการ ด้วยเรื่องคนริษยาพยาบาล จึงทูลเกบล้าฯถวายหนังสือว่า ซึ่งทรงตั้งให้เป็นผู้บังคับการทหารหน้าจัดการโดยเด็ดขาดนั้น เกรงจะทำการไปไม่สำเร็จ ขอพระราชทานหลวงสิทธินายเวร(บุตร) บุตรเจ้าพระยามหินทรฯมาเป็นผู้ช่วย และทรงตั้งเจ้าพระยามหินทรฯมาเป็นผู้กำกับตรวจตราราชการทหารหน้าด้วย ก็พระราชทานตามประสงค์ และโปรดฯให้ถอนทหารล้อมวังจากกรมทหารไปขึ้นกระทรวงวัง ให้ทหารรักษาพระองค์แยกออกไปตั้งเป็นกรมหนึ่งต่างหาก ระวางนั้นเจ้าพระยามหินทรฯก็จัดข้าราชการในกรมพระสุรัสวดีมากำกับการทหารหน้าสืบไป ส่วนตัวเจ้าหมื่นไวยฯนั้น เมื่อจะไปตรวจราชการหรือจัดการสิ่งไรในหน้าที่ ก็ให้หลวงสิทธินายเวรตามไปดูการนั้นๆทุกครั้ง เพื่อจะให้ชำนาญเอาไว้แทนที่ตัวต่อไป

ขุดคลอง

ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯกราบถวายบังคมลาป่วย ออกไปพักเปลี่ยนอากาศอยู่ที่นาคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลศีรษะจรเข้ จังหวัดพระประแดง ตรวจเห็นลำคลองประเวศบุรีรมย์จดคลองพระโขนงจนออกปากน้ำบางปะกงตื้นมาก ไม่สะดวกแก่เรือแพจะขึ้นล่อง จึงป่าวร้องชักชวนราษฎรในเขตนั้นให้มาช่วยกันซ่อมคลองตามระยะทางที่ตื้นเชขิน โดยใช้วิธีเอาควายลุยย่ำโคลนให้ออกแม่น้ำ และจัดการเลี้ยงดูราษฎรที่ระดมกันมาทำการนั้นด้วย ทำอยู่ ๓ วันการก็สำเร็จ ถวายพระราชกุศลที่ทำการสาธารณะนั้นเข้ามาด้วย


ทำการไฟฟ้า

เจ้าหมื่นไวยฯ เห็นว่าระย้าแก้บนพระที่นั่งจักรีใช้จุดด้วยเทียนไขและน้ำมันก๊าดมีความลำบาก ถ้าเปลี่ยนเป็นจุดด้วยไฟฟ้าจะสะดวกและสว่างดี ได้กราบทูลความเห็นเรื่องนี้เมื่อกลับมาจากยุโรปแล้ว แต่ไม่ทรงเห็นด้วย เจ้าหมื่นไวยฯมีความกระหายที่จะทำการไฟฟ้าในเมืองไทยให้สำเร็จเป็นตัวอย่าง จึงเอาที่ดินตำบลวัดละมุดบางวัว(๑๗) ซึ่งได้รับมรดกจากบิดาไปทูลขอให้กรมหมื่นเทวะวงศ์ฯช่วนให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ(สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า)ทรงซื้อไว้เป็นราคา ๑๘๐ ชั่ง จัดให้นายมาโยลาชาวอิตาลีซึ่งรับราขชการอยู่ในกรมทหารหน้าออกไปจัดการซื้อเครื่องไฟฟ้าที่เมืองอังกฤษ และให้เรียนวิชานั้นเข้ามาด้วย

เมื่อนายมาโยลากลับเข้ามา เจ้าหมื่นไวยฯจึงให้นายเลียวนาดีเป็นช่างทำเครื่องไฟฟ้าจุดขึ้นที่โรงทหารก่อน เมื่อเกิดความนิยมทั่วไปแล้ว ก็กราบทูลให้ใช้ไฟฟ้าที่ระย้าแก้วในพระที่นั่งจักรีต่อไป ส่วนเงินที่ได้ทดรองไปในการทำไฟฟ้านั้น ภายหลังก็เบิกกลับคืนได้ ขณะเมื่อจะขยายการจุดไฟฟ้าให้แพร่หลายนั้น มีราชการไปปราบฮ่อเสีย ครั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น ได้มอบเครื่องไฟฟ้าให้ทหารเรือใช้ต่อไป ระวางที่เจ้าหมื่นไวยฯไปทัพฮ่อนั้น ลูกจ้างคนหนึ่งยักเอาแปลนและตำราการไฟฟ้านี้ ไปแนะนำให้ผู้อื่นจัดตั้งขึ้นที่วัดราชบูรณะ แต่ทำอยู่ไม่นานก็เลิก นายเวสเซนโฮล์มชาติเดนมาร์กคิดจัดทำต่อมา เรียกว่าบริษัทไฟฟ้าสยามทุกวันนี้





Create Date : 18 มีนาคม 2550
Last Update : 3 กันยายน 2550 15:04:58 น. 9 comments
Counter : 9844 Pageviews.  
 
 
 
 
ไปปราบฮ่อ

การปราบฮ่อครั้งนี้ เป็นเรื่องเนื่องมาแต่การปราบฮ่อครั้งที่ ๒ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้พระยาราชวรานุกุล(เวก บุณยรัตพันธุ์) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศง ๒๔๒๖ นั้น

ครั้นถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ข่าวมาถึงกรุงเทพฯว่า พระยาราชวรานุกูลแม่ทัพไปถูกอาวุธข้าศึก กองทัพไทยได้ตั้งล้อมค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ แขวงเมืองพวน และในขณะนั้นได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบางว่ามีทัพฮ่อยกมาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ทางกรุงเทพฯไม่ทราบว่าจะเป็นฮ่อพวกเดียวกับที่ทุ่งเชียงคำหรือไม่ ทรงพระราชดำริว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูลคงทำการไม่สำเร็จ ด้วยเป็นแต่เกณฑ์พลเรือนไปรบตามแบบโบราณ ในเวลานั้นกรมทหารที่ได้ฝึกหัดจัดขึ้นตามแบบใหม่ก็มีหลายกรมควรจะใช้ให้ทหารไปปราบปรามฮ่อให้ชำนาญการศึกเสียบ้าง จึงจัดทหารบกในกรุงเทพฯเข้าเป็นกองทัพ ๒ ทัพ ให้นายพันเอกกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวนทัพ ๑ ให้นายพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ผู้บังคับการเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ยกไปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหกทัพ ๑

ส่วนกองทัพฝ่ายเหนือ ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพนั้น ยกออกจากกรุงเทพฯโดยทางเรือเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ขึ้นไปถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิชัยนั้น ได้โปรดฯให้พระยาศรีสหเทพ(อ่วม)ขึ้นไปเป็นพนักงานจัดเสบียงพาหนะส่งกองทัพ ได้จัดการเดินทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบางเป็น ๓ ทาง คือ

ทางที่ ๑ กองทัพใหญ่จะยกจากเมืองพิชัยมา ๓ วันถึงเมืองฝาง ต่อนั้นไป ๔ วันถึงท่าแฝกเข้าเขจเมืองน่าน ต่อไปอีก ๖ วันถึงบ้านนาแล แต่บ้านนาแล ๖ วัน รวม ๑๓ วันถึงเมืองหลวงพระบาง

ทางที่ ๒ นั้น จะได้จัดแบ่งเครื่องยุทธภัณฑ์สำหรับกองทัพ แต่งให้พระศรีพิชัยสงครามปลัดซ้ายกรมการเมืองพิชัย กับนายทหารกรุงเทพฯให้คุมไปทางเมืองน้ำปาด ตรงไปตำบลปากลายลงบรรทุกเรือขึ้นไปทางลำน้ำโขง ขึ้นบกที่เมืองหลวงพระบาง

ทางที่ ๓ เมื่อกองทัพใหญ่ยกไปถึงเมืองน่านแล้ว จะแต่งให้พระพลสงครามเมืองสวรรคโลก กับนายทหารปืนใหญ่คุมปืนใหญ่และกระสุนดินดำแยกทางไปลงท่านุ่นริมแม่น้ำโขง จัดลงบรรทุกเรือส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง

อนึ่งเสบียงอาหารที่จะจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพตั้งแต่เมืองพิชัย เป็นระยะตลอดไปกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบางนั้น พระยาศรีสหเทพรับจัดส่งขึ้นไปรวบรวมไว้เป็นระยะทุกๆตำบล ที่พักให้พอจ่ายกับจำนวนพลในกองทัพมิให้เป็นที่ขัดขวางได้

กองทัพตั้งพักรอพาหนะอยู่ ณ เมืองพิชัย ประมาณ ๒๐ วัน ก็ยังหามาพรักพร้อมกับจำนวนที่เกณฑ์ไม่ ได้ช้าง ๑๐๘ เชือก โคต่าง ๓๑๐ ตัว ม้า ๑๑ ม้าเท่านั้น แต่จะให้รอชักช้าไปก็จะเสียราชการ จึงได้จัดเสบียงแบ่งไปแต่พอควรส่วนหนึ่งก่อน อีกส่วนหนึ่งได้มอบให้กรมการเมืองพิชัยรักษาไว้ให้ส่งไปกับกองลำเลียง

ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๑๑ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพออกขากเมืองพิชัย ให้นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ(อิ่ม) คุมทหารกรุงเทพฯ ๑๐๐ คนเป็นทัพหน้า ให้นายจ่ายวด(สุข ชูโต)เป็นผู้ตรวจตรา ให้พระอินทรแสนแสง ปลัดเมืองกำแพงเพชรคุมไพร่พลหัวเมือง ๑๐๐ คน เป็นผู้ช่วยกองหน้า สำหรับแผ้วถางหนทางที่รกเรี้ยวกีดขวางให้กองทัพเดินได้สะดวกด้วย ให้นายร้อยเอกหลวงอาจหาญณรงค์ กับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ เป็นปีกซ้ายและขวา นายร้อยเอกหลวงวิชิตเป็นกองหลัง พระพลเมืองสวรรคโลกเป็นกองลำเลียงเสบียงอาหาร และกองอื่นๆนอกจากที่กล่าวมานี้ให้ยกเป็นลำดับไปทุกๆกอง

ครั้น ณ วันพุธ เดือนยี่ แรมค่ำ ๑ ปีระกา กองทัพได้ยกไปถึงสบสมุนใกล้เมื่องน่าน ระยะทางราว ๒๐๐ เส้นเศษ พักจัดกองทัพอยู่ใกล้เมือง เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านแต่งให้พระยาวังซ้ายและเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยา คุมช้างพลายสูง ๕ ศอก ผู้กเครื่องจำลองเขียนทอง ๓ เชือก กับดอกไม้ธูปเทียนออกมารับ แม่ทัพจึงให้รอกองทัพพักอยู่นอกเมืองคืนหนึ่ง

ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ เจ้านครน่านจึงแต่งให้ท้าวพระยาคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทอง ออกมารับ ๓ เชือก และจัดให้เจ้าวังซ้ายผู้หลานคุมกระบวนออกมารับกองทัพด้วย เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เดินช้างนำทัพเข้าในเมืองพร้อมด้วยกระบวนแห่ที่มารับ ตั้งแต่กองทัพฝ่ายเหนือออกจากเมืองพิชัยไปจนถึงเมืองน่าน รวมวันเดินกองทัพ ๑๗ วัน หยุดพัดอยู่เมืองฝางและท่าแฝก ๔ วัน รวมเป็น ๒๑ วัน

เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เจ้านครน่านพร้อมด้วยอุปราชตราชวงศ์เจ้านายบุตรหลานแต่ตัวเต็มยศตามแบบบ้านเมืองมายังททำเนียบที่พักกองทัพนั้น ฝ่ายกองทัพก็ได้จัดทหารกองเกียรติยศ ๑๒ คน มีแตรเดี่ยว ๒ คนคอยรับอยู่ที่ทำเนียบ เมื่อเจ้านครน่านมาถึงแล้ว สนทนาปราศรัยไต่ถามด้วยข้อราชการ และอวยชัยให้พรในการที่จะปราบศัตรูให้สำเร็จ โดยพระบรมราชปีสงค์ทุกประการและจัดพระพุทธรูปศิลาศรีพลีองค์ ๑ พระบรมธาตุองค์ ๑ ให้แม่ทัพ เพื่อเป็นพิชัยมงคลป้องกันอันตรายในการที่จะไปราชการทัพนั้น กับให้ของทักถามแก่กองทัพสำหรับบริโภคด้วยหลายสิ่ง ครั้นรุ่งขึ้น แม่ทัพนายกองได้ไปเยี่ยมตอบเจ้านครน่าน กับเจ้าอุปราชราชวงศ์และเจ้านายเมืองน่าน

ต่อมาพระยาศรีสหเทพข้าหลวงเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ ซึ่งโปรดฯพระราชทานแก่เจ้านครน่านขึ้นไปถึงแม่ทัพ ได้จัดพิธีรับพระราชทานตามธรรมเนียม

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ เจ้านครน่านได้ส่งช้างมาเข้ากองทัพ ๑๐๐ เชือก แม่ทัพจึงให้เปลี่ยนช้างหัวเมืองชั้นในที่ได้บรรทุกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารมาในกองทัพ ๕๘ เชือก มอบให้พระพิชัยชุมพลมหาดไทยเมืองพิชัย คุมกลับไปยังเมืองพิชัย เพื่อจะได้บรรทุกเสบียงลำเลียงเข้าจากเมืองเมืองพิชัยขึ้นมาส่งยังฉางเมืองท่าแฝก ซึ่งพระยาสวรรคโลกได้มาตั้งฉางพักเสบียงไว้ สำหรับเมืองน่านจะมารับลำเลียงส่งไปถึงท่าปากเงย และเมืองหลวงพระบางจะได้จัดเรือมารับแต่ปากเงยส่งต่อไปถึงเมืองงอย

ถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีระกา เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยฯก็ยกกองทัพออกจากเมืองน่าน เดินทางบกข้ามห้วยธารและเทือกเขาไป ๑๐ วัน ถึงเมืองชัยบุรีศรีน้ำฮุงเป็นเขตของเมืองหลวงพระบาง เจ้าราชภาคิไนย(บุญคง)เมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ และจ่ายเสบียงสำหรับที่จะเดินทางต่อไป ตำบลนี้มีบ้านเรือนประมาณ ๓๐๐ หลังเศษ เป็นที่บริบูรณ์ด้วยการทำนา หาเสบียงอาหารได้ง่าย พักกองทัพอยู่ที่นี้คืน ๑ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งยกจากเมืองพิชัยบุรีศรีน้ำฮุงไปถึงบ้านท่าเดื่อริมแม่น้ำโขง เวลาบ่าย ๓ โมงตั้งพักนอนคืน ๑

รุ่งขึ้นวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ยกจากบ้านท่าเดื่อเลียบไปตามลำน้ำโขง เวลาบ่าย ๓ โมงถึงที่พักเมืองน่าน(น้อย)หยุดพักกองทัพ ๒ คืน ด้วยตามประเพณีของเมืองหลวงพระบางมีมาแต่โบราณ ถ้าเจ้านายเมืองหลวงพระบางจะลงไปกรุงเทพฯหรือข้าหลวงขึ้นมาจะเข้าไปในเมืองหลวงพระบางแล้ว ต้องพักที่เมืองน่าน(น้อย)บวงสรวงเทพารักษ์ก่อนจึงยกเลยไป เมื่อกองถึงเมื่อน่าน(น้อย)คราวนี้ เจ้ามหินทรเทพนิภาธรเจ้านครหลวงพระบางแต่งให้ท้าวพระยาลาวนำเครื่องสังเวยเทพารักษ์มาเชิญให้กองทัพบวงสรวง เพื่อจะได้คุ้มครองป้องกันภยันตรายตามประเพณีบ้านเมือง

แล้วกองทัพเดินเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วเดินตัดไปทางป่าห่างฝั่งแม่น้ำแม่น้ำโขงบ้าง ๒ วันถึงท่าเลื่อนเมื่อวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ แต่ที่นี้แม่ทัพสั่งให้ผ่อนสิ่งขิงที่มีน้ำหนักมากลงบรรทุกเรือขึ้นไปยังเมืองหลวงพระบาง เพราะช้างที่บรรทุกของบอบช้ำอิดโรยมาก จึงผ่อนให้เดินไปแต่ลำลอง และทางเรือแต่ท่าเลื่อนจสนถึงเมืองหลวงพระบางนั้น ไปได้สะดวกและถึงเร็วกว่าทางบกด้วย เมื่อจัดการเสร็จแล้ว รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งยกจากท่าเลื่อน เดินเป็นทางเรียบและทุ่งนาตลอดไป จนเวลาเช้า ๒ โมงเศษ พบเจ้าราชวงศ์และเจ้าสัมพันธวงศ์นำดอกไม่ธูปเทียนและปี่พาทย์ฆ้องกลองมาคอยรับ แจ้งความว่าเจ้านครหลวงพระบางแต่งให้มารับกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง กองทัพได้ยกไปพร้อมกับกระบวนที่มารับนั้น ถึงทำเนียบที่พักบ้านเชียงแมน ตั้งอยู ณ ฟากแม่น้ำโขงตะวันตกตรงหน้าเมืองหลวงพระบางข้าม ครั้นเวลาเที่ยงวันแล้ว เจ้าอุปราชและเจ้านายบุตรหลานกับพระยาสุโขทัย(ครุฑ)ผู้แทนข้าหลวงกำกับเมืองหลวงพระบาง พร้อมกันจัดเรือมาคอยรับ แต่แม่ทัพขอให้รอคืน ๑ ต่อรุ่งขึ้นจึงจะยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง

รุ่งขึ้นวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าอุปราชกับเจ้าราชวงศ์ พร้อมด้วยพระยาสุโขทัยข้าหลวง จัดเรือเก๋งลำ ๑ กับเรือที่จะบรรทุกไพร่พลทหารข้ามไปยังเมืองหลวงพระบางนั้น ๔๐ ลำ มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเป็นกระบวนแห่มารับกองทัพข้ามแม่น้ำโขงไปถึงฟากตะวันออกแล้ว แม่ทัพให้ทหารกรุงเทพฯและทหารหัวเมืองเดินเป็นกระบวนทัพเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ในระวางสองข้างทางที่เดินกองทัพไปนั้น มีราษฎรชายหญิงมาดูเนืองแน่นตลอดไปจนถึงหน้าทำเนียบที่พัก ซึ่งอยู่ใกล้กับลำน้ำคายฝ่ายทิศตะวันออกของเมืองหลวงพระบางนั้น เมื่อแม่ทัพนายกองไปถึงทำเนียบพร้อมกันแล้ว เจ้านครหลวงพระบางพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานมาเยี่ยมเยียนตามประเพณี แม่ทัพให้จัดทหารเป็นกองเกียรติยศรับ ๒๔ คน ทหารแตรเดี่ยว ๒ คน ครั้นรุ่งขึ้นแม่ทัพและนายกองพร้อมกันไปเยี่ยมตอบเจ้านครหลวงพระบางและพวกเจ้านายในเมืองหลวงพระบางนั้นด้วย

เมื่อกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางแล้ว แม่ทัพสอบสวนเรื่องราวข่าวทัพฮ่อ ได้ทราบข้อความตามที่เมืองหลวงพระบางบอกลงมายังกรุงเทพฯโดยเพียงแต่รู้จากคำพวกราษฎรบอกเล่า เพราะหนทางจากเมืองหลวงพระบางไปยังเมืองหัวพันห้าทั้งหก ต้องเดินข้ามห้วยเขาป่าดงเป็นทางกันดาร การที่แต่งคนไปสืบข้อราชการ ถ้าแต่งคนไปมากก็ติดขัดด้วยเรื่องเสบียงอาหาร ถ้าแต่งไปน้อยพอหาเสบียงอาหารได้ ก็ไม่กล้าไปไกลด้วยเกรงอันตราย จึงได้แต่ไถ่ถามพวกราษฎรในท้องที่ใกล้ๆมารายงาน จะเชื่อฟังเอาเป็นจริงทีเดียวไม่ได้ คงฟังได้เป็นหลักฐานแต่ว่ามีพวกฮ่อเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในแดนเมืองหัวพันห้าทั้งหกหลายตำบล และหัวเมืองเหล่านั้นท้าวขุนต่างเมืองรักษาประโยชน์ของตนหาได้รวมกันไม่ แม่ทัพเห็นว่าซึ่งจะตั้งอำนวยการปราบฮ่ออยู่ที่เมืองหลวงพระบางนั้นห่างนัก ตรวจดูตามแผนที่อันที่พอจะรู้ได้ในเวลานั้นประกอบกับคำชี้แจงที่เมืองหลวงพระบาง เห็นว่ากองทัพจะต้องขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนในเขตเมืองหัวพันห้าทั้งหก จึงจะปราบปรามพวกฮ่อตลอดไปได้ทุกเมือง และกำหนดที่จะยกกองทัพขึ้นไปให้ถึงเมืองซ่อนในเดือน ๔ ปีระกานั้น ให้ได้ทำการปราบฮ่อก่อนถึงฤดูฝน

ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีระกา เจ้าหมื่นไวยฯยกกองทัพจำนวนพล ๒,๕๐๐ คน ออกจากเมืองหลวงพระบางเดินทางบกไป ๑๐ วัน ข้ามลำน้ำอูไปพัก ณ เมืองงอยเห็นทางเดินทัพกันดาร จึงปรึกษากับพระยาสุโขทัยและเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบาง เห็นพร้อมกันว่าจะรีบยกกองทัพขึ้นไปเมืองซ่อนทั้งหมด เสบียงอาหารคงส่งไม่ทัน จะตั้งอยู่เมืองงอยคอยให้เสบียงอาหารพรักพร้อมเสียก่อนก็จะชักช้าการไป แม่ทัพจึงแบ่งทหารหัวเมืองให้พระยาสุโขทัย กับนายพันตรี พระพหล(กิ่ม)คุมอยู่ที่เมืองงอยกอง ๑ เพื่อจะได้ลำเลียงเสบียงอาหารส่งไปโดยเร็ว เมื่อได้เสบียงพอแล้ว แม่ทัพจะมีหนังสือลงมายังเมืองงอยให้พระยาสุโขทัยและพระพหลตามขึ้นไป แต่งให้เจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบางคุมไพร่พลยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ตำบลสบซาง คอยรับเสบียงอาหารส่งไปถึงเมืองซ่อนอีกกอง ๑ ส่วนแม่ทัพกับลนายจ่ายวดจะคุมกองทัพกรุงเทพฯรีบยกขึ้นไปเมืองซ่อนทีเดียว

ถึงวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ กองทัพใหญ่ก็ได้ยกออกจากเมืองงอย เดินในทางทุรัศกันดารข้ามห้วยธารและเทือกเขาไปประมาณ ๑๕ วัน ถึงเมืองซ่อนเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ ให้ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองซ่อนนั้น

ทำเลเมืองซ่อนนั้นมีทางที่จะแยกไปยังเมืองอื่น ๔ ทาง ทางที่ ๑ จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปเมืองสบแอดระยะทาง ๘ วัน ทางที่ ๒ จากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปเมืองแวน และเมืองลำพูนระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๓ ไปทุ่งเชียงคำระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๔ คือทางมาเมืองงอยที่กองทัพยกขึ้นไป แม่ทัพจึงให้ตั้งค่ายรักษาด่านให้มั่นคง เมื่อกองทัพไปถึงเมืองซ่อนสืบได้ความว่ามีฮ่อตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านได แขวงเมืองสบแอดหลายค่าย และยังมีครอบครัวของพวกฮ่อนั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ในค่ายบ้านได ทั้งในค่ายบ้านนาปา แขวงเมืองสบแอด ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่น ระยะทางแต่สบแอดถึงค่ายฮ่อที่เมืองพูนอีกแห่งหนึ่งประมาณ ๔๐ เส้น มีฮ่อและผู้ไทยทู้อยู่ในค่ายทั้ง ๓ นั้นประมาณ ๘๐๐ เศษ เมื่อได้ความมั่นคงดังกล่าวแล้ว แม่ทัพจึงแต่งให้นายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศ(อยู่) กับเจ้าราชภาคิไนย คุมทหารกรุงเทพฯกับทหารหัวเมืองนายไพร่ ๓๐๐ คน ยกไปทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมายไปตีค่ายบ้านไดและบ้านนาปผา แขวงเมืองสบแอดกอง ๑ ให้นายร้อยเอก หลวงจำนง(อิ่ม) กับเจ้าราชวงศ์ คุมทหารกรุงเทพฯกับทหารหัวเมืองรวม ๔๐๐ คน ยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ หมายไปตีค่ายฮ่อที่ตั้งอยู่ ณ เมืองพูนอีกกอง ๑ ให้ฮ่อพะว้าพะวังต้องต่อสู้เป็น ๒ ทาง อย่าให้รวมกำลังกันได้

ในระวางทัพตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนนั้น ได้มีพวกพลเมืองทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในเมืองพูน ๑ เมืองโสย ๑ เมืองสบเเอด ๑ พากันอพยพหลบหนีพวกฮ่อเข้ามาหากองทัพ รวม ๓ เมืองเป็นครอบครัว ๙๕ ครัว จำนวนคน ๑,๑๐๑ คน แม่ทัพต้องรับไว้ที่เมืองซ่อนทั้งหมด เสบียงอาหารที่จะแจกจ่ายเจือจานก็อัตคัด และเวลาก็จวนฤดูฝน พวกครัวซึ่งมารวบรวมกันอยู่ยังหามีถิ่นที่ไร่นาจะทำกินพอเลี้ยงชีวิตต่อไปไม่ แม่ทัพจึงให้เจ้าราชวงศ์ขอยืมที่นาของราษฎรในเมืองซ่อนที่ยังรกร้างมีอยู่บ้าง กับพื้นที่ว่างเปล่าอันมีอยู่แบ่งปันให้แก่พวกครัวพอจะได้ทำมาหากิน โคซึ่งมีไปสำหรับเป็นเสบียงอาหารในกองทัพอันมิใช่โคพาหนะ แม่ทัพก็ให้ยืมพอที่พวกครัวจะได้ใช้ในการทำนานั้น และได้แจ้งความลงไปยังเจ้านครหลวงพระบาง ขอให้จัดหากระบือพร้อมทั้งเครื่องมือสำหรับการเพาะปลูกส่งขึ้นไปให้ จะได้เป็นกำลังตามสมควร แต่พวกครัวทั้ง ๓ เมืองที่เป็นชายฉกรรจ์นั้น แม่ทัพเกณฑ์ให้ขนลำเลียงอาหารแต่เมืองซ่อนขึ้นไปส่งกองทัพที่ได้ยกขึ้นไปตีค่ายพวกฮ่อนั้น

ฝ่ายกองหลวงดัษกรปลาศและเจ้าราชภาคิไนย ซึ่งยกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงไปตีค่ายฮ่อบ้านได บ้านนาปา แขวงเมืองสบแอดนั้น ยกเข้าตีค่ายฮ่อเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ ฮ่อยกออกต่อสู้นอกค่าย เอาปืนใหญ่กระสุนเท่าผลส้มเกลี้ยงลากออกมาตั้งยิงที่หน้าค่าย พอยิงปืนปืนนั้นแตก ฮ่อหนีกลับเข้าค่าย กองทหารไทยได้ทีก็รุกไล่เข้าไปในค่าย ร้อยโทดวงคุมทหารหมวดหนึ่งเข้าพังประตูค่ายด้านใต้ นายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนย นายร้อยโทเจ๊ก นายร้อยโทเอื้อน คุมทหารหมวดหนึ่งเข้าพังประตูทางทิศตะวันตก พระพิพิธณรงค์ กรมการเมืองลัแล กับพระเจริญจตุรงค์ กรมการเมืองพิชัย คุมทหารหัวเมืองเป็นกองหนุน ทหารหมวดนายร้อยโทดวงพังประตูด้านใต้ตีหักเข้าไปได้ก่อนด้านอื่น ฮ่อแตกกระจัดกระจายพ่านหนีออกหลังค่ายทิศตะวันออก ทหารก็หักเข้าไปได้ทั้ง ๒ ทาง ฮ่อก็มิได้ต่อสู้ทิ้งค่ายหนีไป กระสุนปืนถูกฮ่อตายในที่รบ ๒๓ คน และถูกอาวุธป่วยเจ็บเป็นอันมาก

ในเวลาที่สู้รบกันอยู่นั้น กระสุนปืนถูกฮ่อกอยี่ซึ่งเป็นนายรักษาด่านบ้านไดที่ขาซ้ายป่วยลำบากอยู่ จ่านายสิบธูปคุมทหาร ๔ คนตรงไปจับคุมตัว กอยี่ชักปืนสั้นออกยิงตัวเองขาดใจตาย ทหารจับได้ครอบครัวฮ่อ คือภรรยากวานหลวงฮ่อกับบุตรคน ๑ ภรรยากวานยี่ฮ่อคน ๑ กับครอบครัวพวกฮ่อรวม ๓๒ คน เก็บได้เครื่องศัสตราวุธและเสบียงอาหารเป็นอันมาก กองทหารก็เข้าตั้งมั่นอยู่ในค่ายบ้านไดแต่ในขณะนั้น

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พวกชาวเมืองสบแอดที่เข้ายอมทู้ฮ่อประมาณ ๔๐๐ เศษ นำครอบครัวมาหากองทัพทั้งสิ้น แจ้งความว่าเกรงกลัวฮ่อจึงได้ยอมเข้าทู้ หาได้คิดจะเป็นกำลังช่วยฮ่อต่อสู้กองทัพไม่ กับแจ้งให้ทราบว่าที่ค่ายบ้านนาปานั้นมีฮ่อแท้ ๕๐ คน นอกนั้นเป็นแต่พวกผู้ไทยทู้ เมื่อกลางคืนเวลา ๒ ยาม ได้ข่าวว่ากองทหารตีค่ายบ้านไดแตกแล้ว คนที่เข้าทู้ก็เอาใจออกหากพากันหลบหนีไปสิ้น ฮ่อเห็นว่าจะต่อสู้มิได้ ทิ้งค่ายบ้านนาปาหนีเข้าป่าดงไปแล้ว แต่เสบียงอาหารยังอยู่เต็มฉาง หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยจึงคุมทหารไปยังค่ายบ้านนาปา เกณฑ์คนพลเมืองให้ขนข้าวในฉางนั้นมารวมไว้ในฉางค่ายบ้านไดทั้งสิ้น รวมเข้า(ข้าว)ที่ได้ทั้งสองค่ายทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร ๕,๘๒๐ ถัง

เมื่อทหารตีค่ายฮ่อที่เมืองสบแอดได้หมดแล้ว แม่ทัพจึงมีคำสั่งให้ประกาศแก่บรรดาพลเมืองทุกๆตำบลให้ทราบว่า "ทรงพระกรุณาโปรดฯให้กองทัพใหญ่ขึ้นมาปราบปรามฮ่อที่เที่ยวย่ำยีตีปล้นเขตแขวงหัวพันห้าทั้งหกในพระราชอาณาจักร ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้วไป ครั้นกองทัพยกขึ้นมาปราบปราม ฮ่อต่อต้านทานกำลังมิได้ก็แตกฉานเข้าป่าดงไป เวลานี้ฮ่อก็ยังคุมขึ้นเป็นหมู่เป็นกองหาได้ไม่ ขอให้พลเมืองมีความเจ็บร้อนช่วยกันสืบเสาะจับตัวพวกฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิง จะได้มีความสุขทั่วกันต่อไปภายหน้า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจับตัวฮ่อมาส่งได้คน ๑ จะให้รางวัล ๒๐ รูเปีย ส่วนคนที่เข้าทู้ฮ่อโดยความยินดีที่จะกระทำการโจรกรรมกับพวกฮ่อ แล้วยอมเข้ารับทำการงานเป็นกำลังนั้นยังเป็นผู้มีความผิดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ตัวให้พ้นผิดก็จงจับฮ่อมาส่ง ถ้าได้แต่คน ๑ ขึ้นไปก็จะยกโทษให้ทั้งครอบครัว ถ้าผู้ใดสืบได้ความว่าฮ่อแอบแฝงอยู่แห่งใด เมื่อยังเกรงกลัวอยู่ก็ให้มาแจ้งยังกองทัพ จะได้ให้ทหารไปจับตัวมาจงได้ ถ้าผู้ใดจงใจให้ฮ่อสำนักอาศัยหรือให้กำลังเสบียงอาหารอุกหนุนฮ่อแต่อย่างหนึ่งอย่างใด จะเอาโทษผู้นั้นเสมอกับโทษฮ่อ ให้พลเมืองทั่วไปมีความเจ็บร้อน ช่วยกันสืบเสาะเอาตัวฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิงจงได้"

ฝ่ายกองทัพนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศ์ ซึ่งแต่งให้ยกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้ยกออกจากเมืองแวนแต่เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำปีจอ เดินทางต่อไปอีก ๒ วันถึงเมืองจาดซึ่งขึ้นเมืองโสย พบฮ่อกับพวกม้อยที่เข้าต่อสู้ตั้งอยู่ที่นั้น มีคนประมาณ ๔๐ เศษ นายร้อยตรีเพ็ชร์กับท้าวอ่อนกรมการเมืองไซซึ่งเป็นกองหน้า เข้าระดมตีฮ่อและพวกม้อยแตกหนีทิ้งค่ายไป ทหารเข้าไปในค่ายได้ข้าวเปลือกในฉางประมาณ ๔๐๐ ถังเศษ กองหน้าตั้งพักอยู่ที่เมืองจาดนั้นคืนหนึ่ง

ครั้นรุ่งขึ้นนายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศ์ไปถึงพร้อมกันแล้วก็ยกตามพวกฮ่อต่อไป ฝ่ายฮ่อที่แตกไปนั้นไปตั้งอยู่บ้านหอ แขวงเมืองโสย เมื่อกองทัพไปถึงที่นั่น ฮ่อได้กำลังมากขึ้นก็ออกต่อรบ ยิงปืนโต้ตอบกันอีกพัก ๑ ฮ่อถูกกระสุนปืนตายในที่รบ ๔ คน ที่เหลืออยู่ก็แตกหนีไปเมืองโสย กองทัพจะยกไล่ติดตามไปก็เห็นว่าเป็นเวลาพลบค่ำ จึงถอยกลับมาตั้งอยู่ที่ค่ายเมืองจาด แล้วมีรายงานแจ้งข้อราชการมายังกองทัพใหญ่ ณ เมืองซ่อน แม่ทัพดำริเห็นว่า ทางที่จะเดินต่อไปนังเมืองโสยนั้นเป็นทางกันดาร ในเวลานันก็เข้าฤดูฝนตกชุกอยู่แล้วจะให้กองทหารยกเร่งติดตามฮ่อต่อไป ฮ่อก็จะถอยร่นต่อไปอีกจนถึงเมืองพูนซึ่งเป็นที่มั่นของมัน ฝ่ายเราจะลำเลียงเสบียงอาหารส่งจะเป็นการยากขึ้นทุกที ด้วยเป็นฤดูฝนผู้คนก็จะเจ็บป่วย เป็นการขัดขวางอยู่ดังนี้ แม่ทัพจึงประชุมนายทัพนายกองพร้อมด้วยพระยาสุโขทัยเห็นพร้อมกันว่า เวลานี้ก็ถึงฤดูฝนตกชุกแล้ว ควรต้องงดรอการรบพุ่ง ตั้งมั่นพักบำรุงกำลังไพร่พลไว้ก่อน ต่อถึงเดือน ๑๑ ปีจอ สิ้นฤดูฝนแล้วจึงจะปราบปรามฮ่อต่อไป ปรึกษาตกลงกันดังนี้แล้ว แม่ทัพจึงมีคำสั่งให้กองเจ้าราชวงศ์ถอยมาตั้งมั่นบำรุงไพร่พลอยู่ที่เมืองแวน

ฝ่ายกองนายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศ กับเจ้าราชวงศ์ ซึ่งยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายบ้านไดนั้น แจ้งข้อราชการมายังแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองซ่อนว่า เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ท้าวฉิมนายบ้านห้วยสารนายม ลงมาแจ้งความแก่นายร้อยโทดวง ซึ่งคุมกองทหารขึ้นไปรักษาหมู่บ้านราษฎรเมืองสบแอด ฮ่อประมาณ ๗๐ คนไปตั้งรวบรวมกันอยู่ที่บ้านห้วยสารนายม แขวงเมืองสบแอด กับสืบได้ความว่ารุ่งขึ้นฮ่อจะไปตั้งอยู่ยังเมืองฮุง แขวงสิบสองจุไทย ระยะทาง ๑๐ ชั่วโมงเศษ ทางที่มันจะเดินนั้นตัดลงทางห้วยแหลก

ครั้นนายร้อยโทดวงได้ทราบความแล้วจึงพร้อมด้วยนายร้อยตรีพลอย ๑ พระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย ๑ ทหาร ๒๔ คน รีบยกไปคอยสกัดทางที่ห้วยแหลก ระยะทางแต่เมืองสบแอดถึงห้วยแหลก ๓ ชั่วโมง ครั้นถึงกลางห้วยแหลกก็พอประจวบกับฮ่อเดินสวนทางมาในลำห้วย กองทหารยิงพวกฮ่อ พวกฮ่อก็แตกถอยกลับไป ทหารก็ไล่ยิงฮ่อถูกกระสุนปืนตาย ๘ คน ที่ป่วยเจ็บไปหลายคน ฮ่อก็แตกกระจัดกระจายทิ้งเสบียงอาหารหนีเข้าป่าดงไป ในเวลาเมื่อทห่รไล่ฮ่อไปนั้น พลทหารอ่อนถูกกระสุนปืนฮ่อที่ไหล่ซ้าย แต่หาเป็นอันตรายไม่ ครั้นจะไล่ติดตามไปก็เป็นเวลาพลบค่ำ จึงถอยกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองสบแอด

ฝ่ายกองทัพเจ้าราชวงศ์ กับนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ เมื่อได้รับคำสั่งแม่ทัพให้ถอยจากเมืองจาดมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองแวนนั้น คาดว่ากองทหารถอยมาจากเมืองจาดแล้วพวกฮ่อคงจะกลับมาตั้งอยู่อีก จึงคิดอุบายแกล้งทิ้งค่ายฮ่อไว้ไม่รื้อเสีย เอากระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุดินดำเป็นลูกแตกมีแก๊ปชนวนอยู่ในกระสุนฝังไว้ริมทางเข้าออก ผูกสายใยเหนี่ยวรั้งดักให้กระทบสายชนวนนั้น ทั้งห้อยและแขวนไว้บ้างก็มี แล้วแต่คนด้อมมองคอยสืบราชการอยู่เสมอ เมืองกองทหารถอยมาได้สัก ๗ วัน ผู้ซึ่งคอยสืบราชการกลับมายังเมืองเมืองแวนรายงานว่า เมื่อกองทัพถอยมาแล้วมีฮ่อกับพวกผู้ไทยทู้ประมาณ ๕๐ คนพากันกลับเข้ามายังค่ายที่เมืองจาดนั้น ฮ่อและผู้ไทยถูกจั่นห้าวที่ดักไว้ก็ลั่นแตกออกถูกฮ่อตาย ๓ คน ผู้ไทย ๒ คน ที่ป่วยไปหลายคน ฮ่อมิอาจอยู่ในค่ายนั้นก็พากันกลับไปยังเมืองพูนทั้งสิ้น แล้วเก็บเอากระสุนแตกซึ่งแขวนไว้ที่ตอไม้ไปด้วยกระสุน ๑

ครั้นรุ่งขึ้นท้าวทิพย์ กรมการเมืองแวนซึ่งขึ้นไปสืบราชการยังเมืองโสย เมืองพูน รวมนายไพร่ ๓ คน กลับมาแจ้งข้อราชการยังค่ายเมืองแวนว่า ฮ่อได้กระสุนปืนไปจากค่ายเมืองจาดกระสุน ๑ เอาเข้าไปในค่ายของมันที่เมืองพูน มันเรียกกันว่า "ลูกหมากไม้" ฮ่อเอาขวานทุบต่อยกระสุนปืนนั้นก็ยังหาแตกไม่ มันจึงเอาเชือกร้อยห่วงแก๊ปแล้วดึงดู ก็ระเบิดขึ้นถูกฮ่อตาย ๒ คน เจ็บป่วยหลายคน บัดนี้มีความครั่นคร้ามกองทัพและกระสุนแตกนั้นเป็นอันมาก เพราะไม่ทราบว่าจะฝังไว้ที่ใดบ้าง แต่แยกย้ายพากันอพยพไปเป็นพวกเป็นหมู่ๆ ๓๐ - ๔๐ คน หาได้รวบรวมกันไม่ สืบได้ความว่าจะพากันไปอยู่ตำบลท่าขวา แขวงสิบสองจุไทยริมฝั่งน้ำแท้ ยังมีฮ่ออยู่ที่ค่ายเมืองพูนอีกประมาณ ๓๐ คน ที่เมืองโสยมีพวกผู้ไทยทู้รักษาอยู่ประมาณ ๓๐ คน รวมฮ่อและผู้ไทยทู้ ๒ ค่ายมีประมาณ ๖๐ คน แต่ยังเที่ยวย่ำยีตีปล้นราษฎรพลเมืองอยู่เนื่องๆ

เจ้าราชวงศ์กับนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ บอกข้อราชการให้แม่ทัพใหญ่ทราบความ ณ เมืองซ่อน แม่ทัพเห็นว่าพวกฮ่อย่อย่นระส่ำระสายอยู่แล้ว จำจะต้องรีบปราบปรามเสียทีเดียว จึงมีคำสั่งให้นายร้อยเอกหลวงจำนงฯ แต่งนายทหารที่สามารถคุมพลทหารพอสมควร เร่งยกขึ้นไปปราบปรามฮ่อที่เมืองโสยเมืองพูนเสียอย่าให้ตั้งมั่นอยู่ได้ เจ้าราชวงศ์ ได้แต่ให้ให้นายร้อยโทแขก ๑ ท้าวอ่อนกรมการเมืองไซ ๑ คุมพลทหารกรุงเทพฯแลพหัวเมืองรวม ๑๓๐ คน ยกขึ้นไปเมืองโสยเมืองพูนตามคำสั่งของแม่ทัพ


.................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:17:56:55 น.  

 
 
 
(ต่อ)

นายร้อยโทแขกกับท้าวอ่อนกรมการเมืองไซ คุมทหารขึ้นไปถึงเมืองโสยเข้าตีค่ายฮ่อ ณ เมืองโสย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ พวกฮ่อและผู้ไทยทู้ซึ่งรักษาค่ายอยู่ประมาณ ๑๕๐ คน ออกต่อสู้เป็นสามารถ ทหารยิงถูกฮ่อตาย ๑๕ คน เจ็บป่วยไปหลายคน ฮ่อก็ทิ้งค่ายหนีไปรวบรวมอยู่ที่ค่ายเมืองพูน ระยะทางจากค่ายเมืองโสย ๒ วัน ทหารเข้าในค่ายจับฮ่อชายฉกรรจ์ได้ ๒ คน หญิงภรรยาฮ่อคน ๑ บุตรฮ่อคน ๑ รวม ๔ คน และได้ข้าวเปลือกฉาง ๑ มีประมาณ ๓๐๐ ถัง แต่ครอบครัวฮ่อและสิ่งของในค่ายหามีไม่ นายร้อยโทแขกกับท้าวอ่อนได้รวบรวมไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในค่ายเมืองโสยนั้น ๒ วัน

ครั้นวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ จึงยกติดตามฮ่อต่อไปยังค่ายเมืองพูน แต่เมื่อกองทหารยกไปยังไม่ทันจะเข้าตีค่าย พวกฮ่อก็เอาเพลิงจุดเผาฉางข้าวในค่าย แล้วพากันอพยพออกทางหลังค่ายหนีไปสิ้น กองทหารพร้อมกันเข้าดับเพลิง ได้ข้าวที่เหลือไฟไหม้ประมาณ ๒๐๐ ถัง กองทหารที่ยกเข้าตั้งมั่นรักษาค่ายเมืองพูน คอยฟังราชการต่อไป

ณ เดือน ๗ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ ถึงฤดูฝน กองทัพฝ่ายเหนือตั้งพักอยู่ในแดนหัวพันห้าทั้งหก ๔ แห่ง คือเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนกอง ๑ นายร้อยเอกดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยตั้งอยู่ที่ค่ายบ้านได ซึ่งตีได้จากฮ่อในแขวงเมืองสบแอดกอง ๑ นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศ์ตั้งอยู่ที่ค่ายเมืองแวนกอง ๑ กองพยาบาลสำหรับทหารที่เจ็บป่วยทุพพลภาพ ซึ่งส่งมาจากกองทัพตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางแห่ง ๑ มีท้าวขุนและราษฎรพลเมืองหัวพันห้าทั้งหกที่ได้ยอมทู้ฮ่ออยู่แต่ก่อนแล้ว พากันกลับเข้ามาสารภาพรับผิดหลายราย ที่เป็นรายสำคัญนั้นคือ องพ้องจะลอ เจ้าเมืองปุง และท้าวเพี้ยเมืองโสย เดิมได้พาสมัครพรรคพวกไปเข้ากับฮ่อ เมื่อฮ่อแตกหนีไป พวกไพร่พลพากันกลับมาหากองทัพโดยมาก ส่วนองพ้องจะลอเจ้าเมืองปุงและท้าวเพี้ยเมืองโสยยังหลบหนีอยู่ด้วยเกรงความผิด ถึงตอนนี้ก็เข้ามาลุแก่โทษต่อเจ้าราชวงศ์โดยดีราย ๑ อีกราย ๑ ท้าวบา ท้าวเมือง ท้าวโดย เพี้ยบัวเงินกับพรรคพวกและครอบครัวรวม ๔๐๐ คนเศษ พากันเข้ามาอ่อนน้อมยอมรับผิดต่อนายร้อยโทแขก การที่เป็นจลาจลในหัวพันห้าทั้งหกก็ราบคาบลงโดยลำดับ

แม่ทัพปรึกษากับนายกองเห็นพร้อมกันว่า เมืองหัวพันห้าทั้งหกติดต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกฮ่อที่แตกหนีไปจากเมืองหัวพันห้าทั้งหก คงไปตั้งประชุมกันอยู่ในแดนสิบสองจุไทย เมื่อกองทัพกลับลงมาแล้ว พวกฮ่อก็คงจะกลับเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองหัวพันห้าทั้งหกอย่างเดิมอีก เพราะฉะนั้นถ้าไม่คิดอ่านปราบปรามฮ่อที่ยังอยู่ในแดนสิบสองจุไทยให้ราบคาบ การที่กองทัพยกขึ้นไปก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงตกลงกันว่าพอถึงฤดูแล้งจะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถงในแดนสิบสองจุไทย ด้วยกายตงเจ้าเมืองแถงเข้ามาสามิภักดิ์รับราชการอยู่ในกองทัพ ได้เป็นที่พระสวามิภักดิ์สยามเขต รับจะนำกองทัพไป

พระสวามิภักดิ์สยามเขตผู้นี้เดิมก็เป็นจีนกวางตุ้ง ชาวเมืองกวางไซเหมือนกัน มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองแถงช้านานจนพูดภาษาไทยได้ ได้ช่วยเจ้าเมืองไลรบฮ่อธงเหลือง และได้ช่วยญวนปราบฮ่อธงเหลืองมีความชอบ ญวนจึงตั้งให้เป็นที่กายตงเจ้าเมืองแถง ภายหลังมากายตงเกิดเป็นอริขึ้นกับเจ้าเมืองไลอันอยู่ใกล้และมีกำลังมากกว่าเมืองแถง เกรงเจ้าเมืองไลจะฆ่าเสีย จึงพาพรรคพวกอพยพเข้ามาอยู่ในแดนหัวพันห้าทั้งหก มาพบพระวิภาคภูวดลขึ้นไปทำแผนที่ กายตงเข้าอ่อนน้อมขอทำราชการขึ้นต่อกรุงสยาม และได้นำพระวิภาคภูวดลเที่ยวทำแผนที่มีความชอบ จึงได้รับประทวนตั้งให้เป็นพระสวามิภักดิ์สยามเขต

ครั้นกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถยกขึ้นไป พระสวามิภักดิ์ฯจึงเข้ารับราชการอยู่ในกองทัพ ด้วยเป็นผู้ชำนาญรู้การในท้องที่ตลอดไปจนแดนสิบสองจุไทย แม่ทัพได้ทราบจากพระสวามิภักดิ์ฯว่ามีฮ่อพวกหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าขวา ริมลำน้ำแท้แขวงเมืองสิบสองจุไทย หัวหน้าฮ่อยกตัวขึ้นเป็นที่องบาพวกฮ่อธงดำ มีพรรคพวก ๑,๐๐๐ คนเศษแต่ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นปรกติ ยังหาได้เข้ากับพวกฮ่อที่ยกมาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหกไม่ แม่ทัพจึงทำหนังสือให้พระสวามิภักดิ์ฯถือไปเกลี้ยกล่อมองบา ว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้กองทัพยกขึ้นไปปราบปรามพวกโจรฮ่อซึ่งเข้ามาย่ำยีไพร่บ้านพลเมืองในพระราชอาณาจักรให้ได้ความเดือดร้อน พวกฮ่อซึ่งซื่อตรงมิได้ประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายในพระราชอาณาจักรนั้น กองทัพไม่มีประสงค์จะเบียดเบียนอย่างใด หัวเมืองในแดนสิบสองจุไทยก็อยู่ในพระราชอาณาจักร ถ้าองบาประสงค์จะตั้งอยู่ต่อไปเป็นปรกติอย่างข้าขอบขัณฑสีมา ก็ให้แต่งคนต่างตัวมาพูดจากับกองทัพให้เข้าใจกันเสีย จะได้บอกเข้าไปกราบบังคมทูลฯ ก็คงจะทรงพระกรุณาโปรดฯชุบเลี้ยงให้มีความสุขสืบไป พระสวามิภักดิ์ได้ออกจากค่ายเมืองซ่อนไปเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ ปีจอ

ฝ่ายกองทัพตั้งแต่เดือน ๖ ปีจอ พอฝนตกชุกก็เกิดความไข้ในกองทหารที่ไปตั้งอยู่ทั้ง ๔ แห่ง อาการป่วยเป็นไข้ป่าทั้งนั้นจะรักษาให้หายเร็วได้แต่ด้วยยาควินินเท่านั้น เมื่อกองทัพยกไปจากเมืองพิชัยพาหนะไม่พอ ต้องแบ่งสิ่งของสำหรับกองทัพไว้ที่เมืองพิชัยให้ส่งตามขึ้นไป ยาสำหรับรักษาโรคที่เตรียมไปก็ต้องแบ่งเช่นเดียวกับของอื่น กองทัพได้ยาควินินติดขึ้นไปประมาณ ๓๕๐ ขวด ครั้นเกิดความไข้ขึ้นในกองทัพใช้ยาควินินเปลืองไปเกือบจะหมด เร่งเรียกยาที่แบ่งไว้ ณ เมืองพิชัยก็หาได้รับตอบและส่งยาควินินขึ้นมาถึงกองทัพไม่ ต้องบอกขอลงมาถึงกรุงเทพฯ ทางกองทัพพอยาควินินหมดความไข้ก็ยิ่งกำเริบ มีจำนวนคนป่วยในกองทัพที่ไปตั้งอยู่ ณ เมืองต่างๆเกือบจะเท่าที่ปกติ

ฝ่ายพวกฮ่อที่แตกหนีไปจากค่ายบ้านได และค่ายบานนาปาไปรวบรวมกันแล้วจ้างพวกฮ่อธงดำขององบา ได้กำลังเพิ่มเติมยกกลับลงมาตั้งค่ายที่เมืองฮุง ต่อกับแขวงเมืองสบแอดเมื่อเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ เมื่อได้ข่าวว่าทหารในกองทัพป่วยไข้ลงมากต่อมาอีก ๓ วัน ฮ่อก็ยกมาเมืองสบแอด ตีปล้นบ้านเรือนราษฎรในระยะทางเข้ามา พวกชาวเมืองสบแอดพากันหนีฮ่อเข้ามาอาศัยเจ้าราชภาคิไนยกับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ ที่ตั้งค่ายอยู่บ้านไดประมาณ ๔๐๐ คน ฝ่ายพระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย ซึ่งคุมทหารหัวเมืองรักษาด่านอยู่ที่เมืองสบแอด ห่างกับค่ายบ้านไดระยะทางเดินประมาณ ๖ ชั่วโมง ทราบว่าพวกฮ่อยกมามีกำลังมากนักก็ถอยลงมา พวกฮ่อตามมาทันที่ห้วยก๊วง พระเจริญฯต่อสู้ยิงกันกับพวกฮ่ออยู่

ขณะนั้นนายร้อยโทเอื้อน ชูโต กับทหาร ๖ คน ซึ่งหลวงดัษกรปลาศให้ขึ้นไปตรวจการที่เมืองสบแอด เดินทางไปได้ยินเสียงปืนก็รีบขึ้นไปถึงที่ห้วยก๊วง เห็นพระเจริญฯกำลังต่อสู้พวกฮ่อติดพันอยู่ นายร้อยโทเอื้อนกับทหารก็เข้าสมทบช่วยรบฮ่อ ต่อสู้กันอยู่ประมาณ ๔ ชั่วโมง พวกไทยยิงถูกตาเล่าแย้นายฮ่อตายคน ๑ พวกพลฮ่อตายประมาณ ๒๐ คน พวกฮ่อกองหนุนตามมาถึงก็ล้อมพวกไทยไว้ ฮ่อยิงพระเจริญฯกับพวกไทยตาย ๔ คน นายร้อยโทเอื้อนเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ต่อไป จึงนำพวกไทยที่เหลืออยู่ตีหักแนวล้อมของพวกฮ่อออกมาได้ นายร้อยโทเอื้อนได้ยิงหัวหน้าฮ่อตาย ๓ คน แล้วก็ถูกฮ่อเอาดายฟันตายในที่รบ นอกนั้นรอดกลับมายังค่ายบ้านไดได้

พวกฮ่อก็เลยตามมาถึงค่ายบ้านได แต่ไม่กล้าเข้าตีค่ายคงเป็นเพราะเกรงจะถูกลูกระเบิด จึงเป็นแต่เที่ยวแอบซุ่มบนที่สูงเอาปืนยิงกราดเข้ามาในค่ายไทย ฝ่ายข้างไทยเป็นเวลากำลังทหารป่วยเจ็บอยู่มาก ไม่มีกำลังพอจะยกออกจากค่ายไปรบรุกฮ่อได้ดังแต่ก่อน ก็ได้แต่ยิงปืนตอบฮ่ออยู่แต่ในค่ายรบกันอยู่จนเวลาเย็น พวกฮ่อก็ถอยกลับไปตั้งค่ายอยู่ในวัด ห่างจากค่ายไทยที่บ้านไดระยะทางประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงดัษกรปลาศจึงรีบบอกข่าวลงมายังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองซ่อน

ขณะนั้นพระสวามิภักดิ์ฯถือหนังสือของแม่ทัพไปเกลี้ยกล่อมองบา ไปถึงที่บ้านไดรู้ว่าฮ่อกลับลงมารบกับไทย พระสวามิภักดิ์ฯจึงแต่งให้พรรคพวกถือหนังสือไปยังองบา ส่วนตัวเองอยู่กับหลวงดัษกรปลาศที่ค่ายบ้านได ครั้นถึงเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ พวกฮ่อได้กำลังเพิ่มเติมมาอีก จึงยกลงมาตั้งค่ายประชิดค่ายไทยห่างกันประมาณ ๓๐ วา แต่พวกฮ่อก็ยังหาอาจเข้าตีค่ายไม่ เป็นแต่จัดกำลังไปเที่ยวตั้งดักทางมิให้ไทยที่ในค่ายไปมาหาพวกข้างนอกได้ ประสงค์จะล้อมไว้ให้สิ้นเสบียงอาหารต้องแพ้ฮ่อด้วยอดอยาก ส่วนหลวงดัษกรปลาศเห็นว่ากำลังไม่พอจะตีฮ่อให้แตกไปได้ ก็ตั้งรอกำลังกองทัพใหญ่ที่จะยกขึ้นไปช่วยจากเมืองซ่อน ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นแต่ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา

เมื่อแม่ทัพได้ทราบว่าพวกฮ่อมีกำลังยกกลับมาล้อมค่ายหลวงดัษกรปลาศไว้ จึงรีบจัดให้นายร้อยเอกหลวงหัตถสารศุภกิจ(ภู่) กับนายร้อยโทแจ คุมทหาร ๒๐๐ คน มีทั้งทหารปืนใหญ่ยกขึ้นไปช่วยหลวงดัษกรปลาศที่บ้านได แต่เมื่อก่อนทหารกองนี้ยกขึ้นไปถึง มีพวกฮ่อธงขาวเข้ามาที่หน้าค่ายไทยเมื่อเดอน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ บอกว่าเป็นตำแหน่งกวานเล่าแย้ นายฮ่อที่ท่าขาว องบาให้ถือหนังสือตอบมาถึงพระสวามิภักดิ์ฯ จึงรับหนังสือนั้นมาแปลได้ความว่า องบามีความยินดีที่ได้ทราบความประสงค์ของแม่ทัพไทย ด้วยทุกวันนี้องบาก็ไม่มีที่แผ่นดินแห่งอื่นจะอาศัยอยู่ จะขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯต่อไป แต่เมื่อก่อนจะได้หนังสือพระสวามิภักดิ์นั้น พวกฮ่อกวานกอยี่(ที่ล้อมค่ายบ้านได)ได้ไปขอกำลังมาช่วย บัดนี้องบาได้สั่งพรรคพวกที่มาช่วยฮ่อกวานกอยี่นั้นมิให้รบพุ่งกับไทน จะเรียกกลับคืนไป ขอให้พระสวามิภักดิ์ช่วยนำความขึ้นเรียนต่อท่านแม่ทัพไทยด้วย

อนึ่ง ฮ่อกวานกอยี่ที่ยกทัพกลับลงมาครังนี้นั้น บอกว่าด้วยเป็นห่วงบุตรภรรยาที่ไทยจับไว้ ถ้าคืนบุตรภรรยาให้ได้อยู่กินด้วยกันต่อไป องบาจะยอมรับว่ากล่าวให้สามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วยอีกพวก ๑ แล้วแต่ท่านแม่ทัพจะให้ไปตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพ ณ ตำบลใด และจะใช้สอยอย่างไรก็คงจะกระทำตาม เห็นจะไม่ประพฤติเป็รโจรผู้ร้ายต่อไป

ครั้นทราบความตามจดหมายนั้น หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยจึงให้พระสวามิภักดิ์ฯจัดการพิธีอย่างจีน ให้กวานเล่าแย้กับพวกกระทำสัตย์สัญญาว่าจะเป็นข้าขอบขัณฑสีมา มิได้คิดเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอีกต่อไป แล้วให้รับตัวเข้าไปในค่ายไต่ถามเรื่องราวได้ความตลอดแล้ว จึงทำหนังสือสำคัญให้กวานเล่าแย้ถือไปยังองบา ว่าจะบอกส่งหนังสือสามิภักดิ์ขององบาไปยังแมทัพใหกญ่ คงจะรับความสามิภักดิ์ให้มีความสุขสืบไป

เมื่อกวานเล่าแย้กลับไปจากค่ายแล้ว ต่อมาถึงเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ กวานกอยี่นายทัพฮ่อที่มาตั้งประชิดค่ายไทยอยู่ที่บ้านได ร้องบอกออกมาจากที่ซุ่มอยู่ในป่าว่า "อย่าให้ไทยยิงปืนออกไป จะขอให้คนเข้าไปหานายทัพ เพื่อจะยอมเข้าทู้ด้วยกันทั้งสิ้น" นายทหารที่ในค่ายจึงให้ร้องตอบออกไปว่า "ให้มาเถิดจะไม่ทำอันตราย" กวานกอยี่จึงให้ฮ่อสองคนถือหนังสือเข้ามาส่ง แปลหนังสือนั้นได้ความว่า กวานกอยี่กับพรรคพวกจะยอมสามิภักดิ์ ขออย่าให้กองทัพทำอันตราย จะขอแต่เพียงให้ได้บุตรภรรยาคืนและจะยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขต จะโปรดให้ไปอยู่ที่ใดและจะให้รับราชการอย่างใด จะยอมประพฤติตามคำสั่งแม่ทัพต่อไป

หลวงดัษกรปลาศ เจ้าราชภาคิไนยปรึกษากับพระสวามิภักดิ์ฯแล้วสั่งให้ไปบอกกวานกอยี่ ว่าซึ่งจะยอมสามิภักดิ์นั้นก็ดีแล้ว ถ้าสามิภักดิ์จริงก็จะยอมคืนบุตรภรรยาให้ แต่การที่พูดด้วยปากยังจะไว้ใจไม่ได้ ให้กวานกอยี่วางอาวุธ เข้ามาอ่อนน้อมยอมกระทำสัตย์สัญญา ให้ถูกต้องตามอย่างธรรมเนียมก่อน จึงจะเชื่อว่าสามิภักดิ์จริง

ในเวลานั้นเวลาบ่ายโมงเศษ กวานกอยี่กับนายฮ่อ ๔ คน ก็วางอาวุธออกมายังยังค่ายไทยแต่ตัว หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยให้กวานกอยี่กับพวกกระทำสัตย์สาบาน แล้วปล่อยตัวและคืนบุตรภรรยาให้กลับไปยังค่าย แต่นั้นฮ่อกับไทยก็เลิกรบกัน กวานกอยี่ขออนุญาตไปอยู่ที่เมืองฮุง รอแม่ทัพใหญ่ที่จะยกขึ้นไปในฤดูแล้ง แม่ทัพได้ถามคำให้การกวานกอยี่หัวหน้าฮ่อใหญ่ที่ยอมสามิภักดิ์ได้ความว่า


.................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:18:00:06 น.  

 
 
 
กำเนิดฮ่อ

"พวกฮ่อที่มารบกับไทยนั้น ที่จริงเป็นจีนแท้ทีเดียว เดิมจีนพวกนั้นเป็นกบฏเรียกพวกของตนว่า "ไต้เผง" หมายจะชิงเมืองจีนจากอำนาจพวกเม่งจู เกิดรบพุ่งกันในเมืองจีนเป็นการใหญ่ ในที่สุดพวกไต้เผงสู้ไม่ได้ ต้องหลบหนีแยกย้ายกันไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าและภูเขาในมณฑลต่างๆ ทั้งในมณฑลฮกเกี้ยน กวางไซ กวางตุ้ง และเสฉวน มีจีนไต้เผงพวก ๑ หัวหน้าชื่อง่ออาจง พากันอพยพหนีเข้ามาในแดนญวนทางเมืองตังเกี๋ย จีนพวกนี้ที่เป็นพวกฮ่อ ชั้นเดิมมาตั้งอยู่ที่เมืองฮานอย ญวนเกรงพวกฮ่อจะมาก่อการกำเริบขึ้น จึงบอกไปขอกำลังจีนที่เมืองฮุนหนำ จีนให้กองทัพมาสมทบกับกองทัพญวนยกไปตีพวกฮ่อ พวกฮ่อสู้ไม่ไหว ง่ออาจงตายในที่รบ พรรคพวกที่เหลือก็พากันแตกหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองซันเทียน อันเป็นเมืองของพวกแม้ว ตั้งเป็นอิสระอยู่บนภูเขาที่ชายแดนจีนต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกไพร่พลพร้อมกันยกน้องชายของง่ออาจงชื่อ ปวงนันซี ขึ้นเป็นหัวหน้า ตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ที่เมืองซันเทียนนั้น

ปวงนันซีได้กำลังมากขึ้น ก็ยกกองทัพฮ่อไปตีเมืองเลากายในแดนญวนเขตตังเกี๋ย พวกจีนกับญวนยกทัพมารบสู้พวกฮ่อไม่ได้ปวงนันซีตีได้เมืองเลากาย แล้วก็เกิดอริกับนายทัพคนสำคัญในพวกฮ่อคน ๑ ชื่อ ลิวตายัน พวกฮ่อเกิดรบกันขึ้นเอง ปวงนันซีสู้ไม่ได้ก็พาพรรคพวกรี้พลของตนแยกมาตั้งซ่องที่เมืองฮายางในแดนสิบสองจุไทย พวกฮ่อลิวตายันใช้ธงดำ พวกฮ่อของปวงนันซีใช้ธงเหลือง จึงได้นามว่าฮ่อธงดำพวก ๑ ฮ่อธงเหลืองพวก ๑ แต่นั้นมา อยู่มาญวนเกลี้ยกล่อมยอมให้พวกฮ่อธงดำปกครองเมืองเลากายขึ้นต่อญวน

ฝ่ายฮ่อธงเหลืองไม่มีบ้านเมืองอยู่เป็นหลักแหล่ง จึงประพฤติเป็นโจรคุมกำลังเที่ยวตีปล้นบ้านเมืองในแดนสิบสองจุไทยและเมืองพวน แห่งใดต่อสู่แพ้ฮ่อ ฮ่อก็จับตัวนายที่เป็นหัวหน้าฆ่าเสีย แล้วเก็บริบเอาทรัพย์สินและจับลูกหลานบ่าวไพร่เป็นเชลย ใครมีทรัพย์ยอมค่าไถ่ตัวฮ่อก็ปล่อยตัวไป ที่ไม่สามารถจะไถ่ตัวได้ก็เอาไปแปลงเป็นฮ่อไว้ใช้สอยเป็นกำลัง ถ้าแห่งใดยอมทู้ไม่ต่อสู้ ก็เป็นแต่กะเกณฑ์ใช้เป็นกำลังพาหนะ พวกฮ่อธงเหลืองเที่ยวตีบ้านเมืองโดยอาการดังกล่าวมานี้ได้หัวเมืองสิบสองจุไทย และแดนเมืองญวนหลายเมือง

ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ฮ่อยกลงมาตีเมืองพวน ท้าวขันตีเจ้าเมืองเชียงขวางอันเป็นเมืองหลวงในแดนพวน ให้ไปขอกำลังญวนมาช่วย(๑๘) ญวนให้คนเข้ามาก็พ่ายแพ้ฮ่อ ฮ่อได้เมืองเชียงขวางแล้วปราบปรามแดนพวนไว้ได้ในอำนาจทั้งหมด แล้วจึงมาตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ อันเป็นต้นทางที่จะลงมาทางหัวเมืองริมลำน้ำโขง และจะไปตีเมืองหลวงพระบางต่อไป" ดังนี้

อนึ่งตั้งแต่เกิดศึกฮ่อคราวนี้ พวกข่าแจะซึ่งพวกเมืองหลวงพระบางเคยใช้สอยในกิจการต่างๆ เป็นประเพณีบ้านเมืองมาช้านานนั้น พากันเป็น "เจือง" ขึ้นหลายตำบล ข่าแจะพวก ๑ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยตะบวนแขวงเมืองหัวเมือง หัวหน้าชื่อพระยาพระคน ๑ พระยาว่านคน ๑ ครั้นถึงเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ ปีจอ พระยาว่านคุมพรรคพวกประมาณ ๑๕ คนมาตั้งค่ายอยู่ที่ห้วยห้อมแขวงเมืองซ่อน ซึ่งกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถตั้งอยู่ เที่ยวแย่งชิงเสบียงอาหารและทรัพย์สมบัติของราษฎร แม่ทัพทราบความแล้วจึงจัดให้เจ้าก่ำบุตรเจ้าอุปราชกับนายร้อยโทแจ คุมทหารกับกำลังหัวเมืองรวมกันเป็นจำนวนคนประมาณ ๑๐๐ เศษ มีปืนใหญ่ด้วยกระบอก ๑ ยกไปปราบปรามพวกข่าแจะ

เมื่อกองทหารยกขึ้นไปถึงห้วยห้อม พวกข่าแจะต่อสู้ ครั้นเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ กองทหารยิงปืนใหญ่กระสุนแตกเข้าไปในค่ายพวกข่าแจะ ๓ กระสุน ระเบิดถูกพวกข่าตายหลายคน จับได้ตัวพระยาว่านหัวหน้ากับนายรองชื่อคำเพ็ชร์คน ๑ เพี้ยชัยคน ๑ เพี้ยเมืองคน ๑ กับพรรคพวกอีก ๓๖ คน และเครื่องศัสตราวุธทั้งหมด กองทหารเผาค่ายเสียแล้วยกกลับไปยังเมืองซ่อน แต่นั้นพวกข่าที่ตั้งเป็นเจืองอยู่ ณ ที่อื่นก็พากันครั่นคร้าม ที่เข้ามาขอลุแก่โทษ คือ ท้าวยี่น้อย ท้าวยี่ใหญ่ เพี้ยเถ้า เพี้ยไซ พระยาน้อยคำฟั่น แสนเมืองเคียวกา แสนขันอาสา พระยาแก้ว พระยาลิ้นทอง พระยาราช แสนสุวรรณ ล้วนเป็นพวกข่าแจะที่ตั้งเป็นเจืองอยู่ ณ ตำบลแกวหมากเฟือง ผาลอย เพียงโค้ง ห้วยคี้ แขวงเมืองซำเหนือซำใต้ แล้วพาพรรคพวกเข้ามาลุแก่โทษด้วยทั้งสิ้น พระยาพระซึ่งเป็นหัวหน้าพวกข่าแจะ ณ ตำบลห้วยตะบวนก็เข้ามาลุแก่โทษอย่างเดียวกัน


ประวัติข่าแจะ

ที่เรียกว่าข่าแจะนี้มีหลายพวก เช่นข่าขัด ๑ ข่าฮอก ๑ ข่าละเมด ๑ พูดภาษาต่างกัน มีภูมิลำเนาอยู่บนภูเขาในเขตเมืองหลวงพระบาง ชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่าข่าแจะ เป็นส่วยขึ้นแก่เจ้านายเมืองหลวงพระบางและท้าวเพี้ย ชาวเมืองหลวงพระบางได้อาศัยเสบียงอาหารของพวกข่าที่มาส่งส่วยทั้งนั้น

อยู่มาเมื่อพระยาราชวรานุกูล(เวก บุณยรัตพันธุ์)เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปปราบฮ่อทุ่งเชียงคำ ข่าพวกนั้นก็ก่อการกำเริบขึ้นต่อเจ้านายเมืองหลวงพระบาง คือมีข่าแจะฉลาดคน ๑ ทำพิธีที่โอ่งศิลาอันมีมาแต่โบราณ(๑๙) โอ่งนั้นเจาะหินซึ่งติดอยู่อยู่บนภูเขาให้เป็นรูปโอ่งเรียงรายกันไปตามเชิงเขาเมืองพวง เรียกโอ่งนั้นว่า "เจือง" กล่าวกันว่าถ้าเอาน้ำใส่ลงไปในเจืองนี้แล้วกลายเป็นสุราได้ ทั้งลาวและข่าจึงนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ข่าแจะผู้นี้ไปได้พริกขี้หนูจืดไม่มีรสเผ็ดร้อนนำมาตำที่โอ่งเจืองแล้วประกาศแก่พวกข่าทั้งหลายว่า "บัดนี้ผีฟ้าได้บันดาลยกให้เขาขึ้นเป็นหัวหน้านำไปต่อสู้กับพวกลาวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นนายใช้สอยพวกเรามาช้านานนั้นให้กลับเป็นไทยต่อไป" เมื่อประกาศตนแล้วก็เอาน้ำเทลงในพริกขี้หนูซึ่งตำไว้ที่โอ่งเจืองนั้น แล้วตักมาล้างหน้าตาชโลมทั่วตัว พวกข่าทั้งหลายเชื่อว่าผีฟ้ามาเข้าทรงจริงจึงพากันเข้าเป็นสมัครพรรคพวก ตั้งให้ผู้ฉลาดเป็นหัวหน้าเรียกชื่อว่า พระยาพระ พระยาว่าน พระยาโคตะมะ และพระยาราช กับชื่ออื่นๆอีก แยกย้ายกันอยู่เป็นพวกๆในนามว่า "เจือง" (เอามาโอ่งหินนั้นเอง) ต่างพวกต่างก็ยกเข้าตีปล้นบ้านเรือนพวกลาว ใช้ธนูหน้าไม้ยางน่องอาบยาพิษเป็นอาวุธ ลาวไม่รู้จักวิธีแก้ไข้ล้มตายเสียเป็นอันมาก ระวางนั้นมีข่าคน ๑ เกิดความสงสารจึงเล็ดลอดมาบอกแม่ทัพลาวให้ทราบว่า การที่จะแก้พิษยางน่องนี้ได้มีอย่างเดียวคือ ปูนา เท่านั้น ครั้นพวกข่ายิงยางน่องมาถูกอีก พวกลาวก็เอาปูนาตำพอกดูดพิษก็รอดจากความตาย แต่นั้นมากองทัพพวกข่าแจะก็พ่ายแพ้พวกลาวหนีเข้าป่าดง ไปรับจ้างทำป่าไม้อยู่ตามมณฑลพายัพก็มี เรียว่า "ขมุ"

ถึงเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ องทั่งนายฮ่อธงเหลืองซึ่งหนีกองทัพไปตั้งอยู่ตำบลพ้องจะลงและเมืองลาดนั้น ก็เข้ามายอมสามิภักดิ์ถือน้ำกระทำสัตย์อีกพวก ๑ จึงเป็นอันเสร็จราชการปราบฮ่อ และพวกข่าเจืองในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหกในฤดูฝนปีนี้ เมื่อถึงฤดูแล้งจึงจะยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปตรวจจัดราชการในแดนสิบสองจุไทยต่อไป

เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ ได้ยาควินินขึ้นไปจากกรุงเทพฯแล้ว ทหารที่เจ็บป่วยก็ค่อยคลายหายขึ้นโดยลำดับ เจ้าหมื่นไวยฯแม่ทัพจัดการทำนุบำรุงกำลังกองทัพจนเดือน ๑๐ ถึงงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯจึงเรียกแม่ทัพนายกองกับทั้งเจ้านายท้าวพระยาเมืองหลวงพระบาง ที่ขึ้นไปกับกองทัพมาประชุมกันที่เมืองซ่อน และเรียกบรรดาท้าวขุนอันเป็นหัวหน้าในเมืองหัวพันห้าทั้งหก ทั้งพวกหัวหน้าฮ่อที่ได้ยอมสามิภักดิ์ มาประชุมด้วยพร้อมกันทำพิธีสมโภชและถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ ปีจอ แล้วถือน้ำกระทำสัตย์ถวายต่อไป เมื่อเสร็จงานแล้วก็ตระเตรียมการที่จะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถงในแดนสิบสองจุไทย และมีใบบอกข้อราชการที่กองทัพได้จัดทำสำเร็จไปแล้ว ลงมายังกรุงเทพฯด้วย

ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ ปีจอ เจ้าหมื่นไวยฯยกกองทัพออกจากเมืองซ่อน เดินทางบกขึ้นไปยังเมืองแถง เมื่อกองทัพยกไปถึงตำบลห้วยน้ำแปน ระวางทางได้รับรายงานของกองล่าวหน้าบอกมาแต่เมืองแถงว่า เจ้าเมืองไลให้บุตร ๓ คน ชื่อคำล่าคน ๑ คำสามคน ๑ บางเบียนคน ๑ คุมพวกฮ่อและผู้ไทยประมาณ ๑๕๐ คน มีเครื่องศัสตราวุธครบมือ เข้ามาตั้งค่ายที่ตำบลเชียงจันในแขวงเมืองแถง ห่างจากบ้านห้องขัวลายที่ตั้งทำเนียบรับกองทัพ ระยะทางเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง ได้ให้ไปถาม พวกเมืองไลบอกว่าจะมารับท่านแม่ทัพ แต่ลักษณะที่พวกเมืองไลตั้งค่ายนั้น เห็นปลูกหอรบขุดคูทำเป็นค่ายมั่น และวางผู้คนประจำหน้าที่เป็นกระบวนรบผิดสังเกตอยู่

เจ้าหมื่นไวยฯจึงให้กองทัพหน้ารีบยกขึ้นไปก่อน ให้ไปบอกพวกเมืองไลว่า ถ้ามารับแม่ทัพโดยดีก็ให้รื้อค่ายและเลิกกระบวนรบเสีย ถ้าว่าไม่ฟังให้กองทัพหน้าหน่วงเหนี่ยวตัวหัวหน้าพวกเมืองไลไว้ให้จงได้ กองทัพหน้ายกขึ้นไปถึงเมืองแถงไปว่ากล่าวพวกเมืองไลหายอมรื้อค่ายไม่ เจ้าหมื่นไวยฯยกขึ้นไปถึงเมืองแถงเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ สั่งให้จับตัวคำล่า คำสาม และบางเบียนบุตรเจ้าเมืองไลไว้ทั้ง ๓ คน แล้วให้เก็บรวบรวมเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และอย่างอื่นได้อีกเป็นอันมาก ส่วนพวกรี้พลเมื่อเห็นตัวนายถูกจับแล้วก็พากันแตกหนีไปมิได้ต่อสู้

แต่พวกท้าวขุนและราษฎรชาวเมืองแถงนั้นสงบเงียบอยู่ ต่างพากันมาร้องทุกต่อแม่ทัพว่า เดิมเมืองแถงก็มิได้ขึ้นต่อเมืองไล เจ้าเมืองไลถือว่ามีกำลังมากกว่า เอิบเอื้อมเข้ามาบังคับบัญชากดขี่เอาพวกชาวเมืองแถงไปใช้สอย และเที่ยวกะเกณฑ์ลงเอาเงินทองของต่างๆได้ความเดือดร้อนกันทั่วไป จนราษฎรพลเมืองไม่เป็นอันทำมาหากิน ที่ต้องหลบหนีไปอยู่ในป่าดงและอยู่เสียต่างเมืองก็มาก ขอให้กองทัพช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

แม่ทัพปรึกษานายทัพนายกองและเจ้านายเมืองหลวงพระบางเห็นว่า เมืองแถงเป็นเมืองหนึ่งต่างหากมาแต่เดิม พระสวามิภักดิ์ที่เป็นตัวเจ้าเมืองก็ยังอยู่ เจ้าเมืองไลมาบุกรุกเอาไปเป็นแดนของตน ครั้นกองทัพยกขึ้นไปก็ไม่มาอ่อนน้อมโดยดี กลับให้เข้ามาตั้งค่ายเป็นเชิงจะต่อสู้ และที่สุดพวกพลเมืองก็มิได้สมัครจะอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าเมืองไล จะยอมให้เจ้าเมืองไลมีอำนาจเหนือเมืองแถงนั้นไม่ได้ ครั้นจะยกกองทัพขึ้นไปว่ากล่าวถึงเมืองไล เมืองไลก็ตั้งอยู่เหนือลำน้ำแท้หรือลำน้ำดำนอกพระราชอาณาจักร ถ้ากองทัพกลับมาแล้วบางทีเจ้าเมืองไลจะเอิบเอื้อมเข้ามาอีก จะต้องเอาบุตรเจ้าเมืองไลทั้ง ๓ คนไว้เป็นตัวจำนำก่อน เมื่อเจ้าเมืองไลมาว่ากล่าวยอมตกลงโดยดีจึงค่อยปล่อยตัวบุตรไป แม่ทัพจัดวางการปกครองเมืองแถง ตั้งให้พระสวามิภักดิ์เป็นเจ้าเมืองตามเดิม แล้วให้แต่งค่ายเก่าที่ตำบลเชียงแลใกล้กับลำน้ำยม อันเป็นเมืองเดิมเป็นที่มั่น และสั่งให้เมืองหลวงพระบางเกณฑ์คนสับเปลี่ยนกันไปเป็นกำลังรักษาค่ายนั้นกว่าบ้านเมืองจะเป็นปกติเรียบร้อย

เมื่อกองทัพตั้งอยู่ที่เมืองแถงนั้น มีฮ่อพวก ๑ หัวหน้าเป็นจีนชาวเมืองกังไซชื่อ เล่าเต๊กเชง เดิมมีพรรคพวกประมาณ ๖๐๐ คน เที่ยวรับจ้างรบพุ่งอยู่ในแขวงเมืองสิบสองจุไทย ภายหลังมากำลังน้อยลง ฮ่อพวกนี้จึงไปตั้งอยู่ที่เมืองม่วยบ้าง เมืองลาบ้าง ระยะทางห่างจากเมืองแถง ๑๒ วัน ฮ่อพวกนั้นเกรงกองทัพจะยกไปปราบปราม ครั้ย ณ วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ เล่าเต๊กเชงตัวนายจึงพาพรรคพวกมาหาแม่ทัพที่เมืองแถง ขอสามิภักดิ์ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาต่อกรุงเทพฯ แม่ทัพก็ให้กระทำสัตย์สาบานแล้วยอมรับสามิภักดิ์เหมือนกับฮ่อพวกอื่น

เมื่อกองทัพตั้งจัดการด่านทางและวางการปกครองหัวเมืองอยู่ที่เมืองแถง ได้รับท้องตราพระราชสีห์ให้หากองทัพกลับกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๓ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ เจ้าหมื่นไวยฯแม่ทัพจึงสั่งให้ทำลายค่ายฮ่อที่บ้านไดและที่อื่นๆซึ่งตีไว้ได้ แล้วนายพันตรีจ่ายวดกับเจ้าราชวงศ์ ล่วงหน้าลงมายังเมืองหลวงพระบาง บอกให้เจ้านครหลวงพระบางจัดท้าวพระยาที่มีสติปัญญา ออกไปประจำรักษาการตามเมืองหัวพันห้าทั้งหก เจ้าหมื่นไวยฯยกกองทัพออกจากเมืองแถงเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พาหัวหน้าพวกท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหกและหัวหน้าพวกฮ่อที่สามิภักดิ์ กลับลงมาเมืองหลวงพระบาง มาพักฉลองพระเจดีย์ที่กองทัพได้สร้างไว้ที่เมืองงอย ๒ วัน แล้วเดินทางต่อมาถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรมค่ำ ๑ จัดผ่อนสิ่งขิงในกองทัพส่งลงมา และรอเจ้านายเมืองหลวงพระบาง มีเจ้าราชวงศ์กับเจ้าราชภาคิไนยเป็นต้น ซึ่งจะคุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้าฯถวาย อนึ่ง แม่ทัพดำริว่า ถ้าให้ท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองจุไทย ทั้งหัวหน้าพวกฮ่อได้มาเห็นราชธานีเสียสักครั้ง ๑ การปกครองต่อไปภายหน้าจะสะดวกขึ้น จึงได้คัดเลือกพวกท้าวขุนได้ ๑๕๐ คน กับพวกฮ่อทั้งนายไพร่ ๙๐ คน ลงมากรุงเทพฯด้วย

ถึงเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เจ้าหมื่นไวยฯยกกองทัพออกจากเมืองหลวงพระบางโดยทางเรือ ล่องแม่น้ำโขงลงมาถึงบ้านปากลายเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ แล้วเดินทางบกต่อมาถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ลงเรือล่องจากเมืองพิชัยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ขึ้นเป็นนายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการกรมยุทธภัณฑ์ในกรมยุทธนาธิการ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ กับตราสำหรับตระกูลทุติยจุลจอมเกล้าด้วย ส่วนนายทัพนายกองซึ่งมีความชอบในราชการปราบฮ่อครั้งนั้น ก็ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลตามคุณานุรูปทั้วกัน สิ้นเนื้อความเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เพียงเท่านี้


.................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:18:01:06 น.  

 
 
 
เชิงอรรถ

(๑) เหตุที่แต่งงานกับ ขีด เนื่องจากคุณเปี่ยม บุนนาค ได้อุปถัมถ์เลี้ยงดู ขีด มาแต่เล็กและมีความเมตตาปราณีห่วงใยเป็นอันมาก เมื่อขีดมีอายุเจริญวัยขึ้นแล้ว คุณเปี่ยม บุนนาคผู้เป็นย่ามีอาการหนักจึงเรียก พระยาสุรศักดิ์ทนตรี(แสง)ผู้เป็นบุตรเข้าไปพูดปรารภห่วงใยว่า "ขีดหลานสาวได้มีอายุเจริญขึ้นทุกวัน เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วขอให้จัดการให้ขีดได้อยู่กินกับนายเจิมเถิด"

(๒) โปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องยศท่านผู้หญิงแก่เลี่ยม คือ ผ้าห่มกรองไหมทองปักดอกลายทอง หีบหมาก กระโถน กาน้ำทองคำ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า สำหรับข้าราชการฝ่ายใน

(๓) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยามนตรีสุริวงศ์(ชื่น บุนนาค) สร้างหอกด้ามเงินขึ้นสำหรับพวกบอดีการ์ดถือประจำราชการ หอกด้ามเงินนั้น ภายหลังเมื่อตั้งขึ้นเป็นเป็นกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แล้ว ได้โยกเอาไปใช้ราชการให้ข้าราชการในกรมพระตำรวจหลวงถือแห่นำเสด็จในเวลาแห่เต็มยศ

(๔) ขณะนั้นมักจะฝังใจกันว่า ผู้ใดเป็นทหารแล้วมักเป็นคนเลวทราม ขี้เหล้าเมายา เกะกะเกเรสร้างความเดือดร้อน

(๕) สมเด็จเจ้าพระยามีพระประสาท "ตามความคิดของเจ้านั้นดีแล้ว ถ้าจะรื้อหลังคาผู้อื่นก็ต้องรื้อหลังคาของตนลงก่อน..." และในเวลานั้น เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม บุนนาค) เสนาบดีการต่างประเทศ เจ้าพระยาภูธาภัยที่สมุหนายก ก็มีความเห็นพ้องกันด้วย เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯได้ถวายตัวนายทุ้ย ผู้บุตร(ต่อมาได้เป็นหลวงสาตราธิกรฤทธิ์ กัมปนีที่ ๑) เจ้าพระยาภูธราภัย ถวายตัวนายบุตรหรือบุษย์ ผู้บุตร(ต่อมาได้เป็นหลวงวิทยาธิกรศักดิ์ กัมปนีที่ ๒)

(๖) ช้างหล่อด้วยทองเหลืองนั้น ยังประดิษฐานเป็นอนุสรณ์อยู่ที่หน้าศาลเมืองสิงคโปร์ และที่หน้าเมืองปัตตาเวีย)

วันหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับประพาสอยู่ที่เมืองลักเนาว์ ได้ทอดพระเนตรเห็นชื่อหลวงศัลยุทธสรกรรเขียนไว้ที่หีบเสื้อผ้า จึงมีพระบรมราชโองการพระบรมราชกระแสว่า "ชื่อหลวงศัลยุทธสรกรรนั้นเป็นสำเนียงที่ซ้ำกันไป เพราะฉะนั้นให้เปลี่ยนเป็นหลวงศัลยุทธวิธีกรร" ตั้งแต่โปรดเกล้าฯดังนั้นแล้ว หลวงศัลยุทธสรกรรก็ได้เปลี่ยนชื่อใช้เป็น หลวงศัลยุทธวิธีกรร ตั้งแต่นั้นมา

(๗) วันหนึ่งหมอกาแวนได้นำยาฝรั่งขนานหนึ่งมาบอกว่า "อยากให้พระยาสุรศักดิ์ฯ(แสง)ทายาขนานนี้ลองดูที่ตรงปอด แต่ยานั้นเมื่อทาแล้วจะชักให้ผิวหนังพองดูดเป็นน้ำเหลืองออกมาบางทีก็จะสบายขึ้นได้ แต่เจ้าไข้จะทนได้หรือไม่" หมอเทียนฮี้จึงให้ความเห็นว่า "อย่าลองเห็นจะดีกว่า ด้วยเจ้าไข้จะทนไม่ได้ก็จะเกิดเวทนาขึ้น" หลวงศัลยุทธวิธีกรรจึงว่า "ถ้าเช่นนั้นก็จะลองทาด้วยตนเองเสียก่อน ว่าพิษของยานั้นจะแรงสักเพียงไรก็คงจะรู้ได้" หมอกาแวนจึงให้หลวงศัลยุทธวิธีกรรทายานั้นดูที่แขน พิษของยานั้นปวดแสบปวดร้อนพองจนเป็นแผลเป็นที่แขน จึงเชื่อว่าถ้าแม้จะให้บิดาทายานั้นก็คงจะเกิดเวทนา เมื่อพระยาสุรศักดิ์ฯ(แสง)แจ้งเหตุแล้วจึงว่า ที่เจ้าได้แสดงความรักพ่อ และทดลองทายานั้นแทนพ่อจนเป็นรอยแผลที่แขนฉะนี้ จัดว่าเจ้าเป็นลูกที่ดี เหมือนกับได้ประทับตราความกตัญญูต่อพ่อไว้ที่แขนของเจ้า ดีกว่าที่เจ้าจะสักสิ่งไรไว้ให้เป็นรอยในตัวเจ้าทั้งหมด....

(๘) เมื่อเวลาจะบวชนั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ(ช่วง) จะอุปสมบทหลวงจักรยานานุพิจารณ์(เหมา บุนนาค) หลานชาย ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์(วอน บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาจึงให้อุปสมบทพร้อมกัน จมื่นสราภัยฯ(เจิม)แก่กว่าหลวงจักรยาฯหลายปี เวลาจะเดินเข้าไปทำขวัญนาคและอุปสมบท จะให้เดินหลังก็รู้สึกตะขิดตะขวงในใจ ครั้นจะเดินหน้าหลวงจักรยาฯ ๆก็เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยา จะไม่พ้นความติเตียนว่าอาศัยเขาบวช จมื่นสราภัยฯจึงปฏิเสธไม่ยอมอุปสมบท ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุขัดข้องดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หาตัวจมื่นสราภัยฯเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสว่า "เวลานี้เจ้าก็มีอายุสมควรที่จะบวชแล้ว ข้าจะบวชให้เจ้าเอง เพื่อที่จะได้แทนคุณบิดาของเจ้าซึ่งข้ายังระลึกถึงอยู่"

(๙) ในระหว่างนี้พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ได้ทรงลองเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงอาหารทหาร โดยให้พระยาโชฎึกรัตนราชเศรษฐี(เสถียร โชติกเสถียร)ออกจากหน้าที่แม่ครัว ทรงจัดให้มิเตอร์น๊อคนายโฮเต็ลมารับทำกับข้าวฝรั่งเลี้ยงนายทหารและพลทหารทั่วไป คงไม่ถูกลิ้นถูกคอคนไทย ทหารรับประทานไม่ได้ ไม่นานก็ร้องขึ้น จึงจัดให้จีนจิ๋ว(หลวงราชโภคากร)มาทำอาหารแทน เมื่อพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ออกไปราชการประเทศอินเดีย จมื่นสราภัยฯรับหน้าที่แทน ได้ตรวจดูการประกอบเลี้ยงของทหารเห็นว่าเสื่อมทรามลงมาก ทั้งยังสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มากกว่าเดิมมาก จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกรัตนราชเศรษฐี(เสถียร โชติกเสถียร)กลับมารับหน้าที่เหมือนแต่ก่อน

(๑๐) เหตุที่เป็นราชทูตออกไปอังกฤษ เกิดเนื่องจาก ..."ในการที่นายน๊อกซ์ได้มาสำแดงอาการอาละวาดเกี่ยวกับการแผ่นดินเช่นนี้ ควรต้องจัดราชทูตพิเศษให้ออกไปเจรจาการเมืองยังประเทศอังกฤษ"... เกิดจากเมื่อทำการฉลองพระราชวังบางปะอินอยู่นั้น พระปรีชากลการได้แต่งงานกับนางแฟนนี น๊อกซ์ และได้พากันไปเสพมธุรจันทร์รสโดยเรือย๊อชซึ่งพระปรีชาได้สร้างขึ้นที่เมืองปราจีน เมื่อเสร็จการฉลองที่วังบางปะอินแล้ว ราษฎรจังหวัดปราจีนได้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯกล่าวโทษพระปรีชาฯหลายฉบับ ด้วยความอุกฉกรรจ์หลายฉบับ มีคำสั่งให้จำตรวนและเอาตัวมาคุมขังไว้ที่หลังทิมดาบกระทรวงวัง นายน๊อกซ์โกรธที่ทำโทษลูกเขย(พระปรีชาฯ) จึงเข้ามาข่มขู่ให้ปล่อยตัวลูกเขย มิฉะนั้นจะเรียกเรือรบเข้ามาบอมบาร์ต

(๑๑) ทั้ง ๒ ท่านได้รับหน้าที่ในกรมทหารหน้า หลังเกิดอุปปัติพลวะเหตุเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารัรัตน์กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระยามหามนตรี ผู้บังคับการกรมทหารหน้าต้องโทษ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิโยคโศกเศร้าเป็นอันมาก รับสั่งให้ปิดพระทวารกั้นมิให้ข้าราชฝ่ายหน้าฝ่ายในรบกวนได้ ทรงได้ยินเสียงกลองชนะประโคมพระศพยามใด ก็ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำรำพันไปต่างๆนานา จนทรงพระประชวรพระวาโยไป มีแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถเข้านวดฟั้นพระบาท และถวายพระโอสถทรงดมแก้อาการ และทหารมหาดเล็กตั้งเครื่องอานรับใช้อยู่เพียงหกเจ็ดคนเท่านั้น...

(๑๒) เมื่อเจ้าหมื่นไวยฯตกม้าคราวนี้ เป็นที่เลื่องลือกันมากที่ว่าตายแล้วบ้างเป็นบ้าไปแล้วบ้างก็มี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ถามอาการและข่าวคราวอยู่เสมอ (มีธรรมเนียมว่า จะได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมข้าราชการที่กำลังป่วยหนักอยู่) ครั้นทุเลา วันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมียจัตวาศก จ.ศ. ๑๒๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี(สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า) กับคุณจอมมารดาแพ(พระประยูรวงศ์) คุณจอมมารดาโหมด กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ ได้เสด็จมาเยี่ยมเจ้าหมื่นไวยฯจนถึงบ้าน ในครั้งนี้มีกระแสรับสั่งว่า "ขอให้เจ้ารีบรักษาตัวเสียให้หายเร็วๆเถิด ข้าจะให้เจ้ามีเมีย เพราะเวลานี้สมเด็จเจ้าพระยาก็ถึงพิราลัยแล้ว ไม่มีผู้กีดขวาง ข้าจะพูดให้คุณสุรวงศ์ตกลงยอมให้บุตรสาว"

(๑๓) ในตอนนี้ขอขยายความแต่เรื่อง กรมสมเด็จทรงกริ้ว นะครับ

"พระนายไวยทำการอุกอาจเช่นนี้ ก็ให้เข้ามาเป็นกรมมหาดไทยเสียเองซิ" สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์จึงทรงทำเรื่องราวลายพระหัตถ์กล่าวโทษเจ้าหมื่นไวยวรนารถ นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ขณะนั้นเจ้าหมื่ไวยฯได้กลับลงมาถึงกรุงเทพฯแล้ว จึงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ได้พบกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ มีรับสั่งถามว่า "แกไปสุพรรณ ไปทำเหตุอะไรมาอีกละ เห็นกรมสมเด็จท่านทำหนังสือเข้ามาถวายกล่าวโทษต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแน่ะ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีลายพระหัตถ์ตอบไปที่กรมสมเด็จแล้วละ ทรงอนุญาตให้ กรมสมเด็จลงพระอาชญาพระนายไวยได้ตามความพอพระทัยของท่าน"

เมื่อเจ้าหมื่นไวยฯทราบความตามเรื่องกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการทรงเล่าให้ฟังดังนั้นแล้ว ก็กราบทูลชี้แจงเหตุผลและเรื่องราวซึ่งได้กระทำไปให้ทรงทราบทุกประการ กรมหมื่นเทววงศ์จึงทรงแนะนำว่า "ให้ทำรายงานกราบทูลชี้แจงเหตุผลตามความที่เป็นจริง นำไปทูลถวายกรมสมเด็จให้ทรงทราบความจริงเสีย" เจ้าหมื่นไวยฯจึงกลับมาทำรายงานชี้แจงเหตุผลเล่าความจริงแต่ต้นตามคำแนะนำของกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ นำไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมสมเด็จฯให้ทรงทราบความจริง เมื่อกรมสมเด็จทรงรับรายงานของเจ้าหมื่นไวยฯมาทอดพระเนตรตลอดแล้ว ก็มีรับสั่งว่า "ฉันไม่รู้เรื่องราวตลอดเช่นนี้เลย อากรค่ำน้ำทำเรื่องราวเข้ามาฟ้องฉัน ฉันจึงนำเรื่องราวขึ้นกราบบังคมทูล ถ้าทราบเรื่องเสียเช่นนี้แล้ว พระนายไวยฯจัเฆี่ยนเจ้าเมืองเองก็ได้ ฉันคงจะไม่โกรธเธอเลยจนนิดเดียว"

(๑๔) ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุทหารหน้าแตกหนีอหิวาตกโรคนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระแสรับสั่งเล้าให้เจ้าหมื่นไวยฯฟังว่า "เมื่อคืนนี้ข้าฝันเห็นลูกปืนปัสตันที่บรรจุอยู่ในหีบได้เกิดระเบิดขึ้น ลูกปัสตันออกไปหมดหีบ" และทรงพระราชปรารภว่า "การที่ข้าฝันไปทั้งนี้ไม่รู้ว่าจะได้กับเหตุอันใด" อีก ๑๐ วันต่อมาก็เกิดเรื่องทหารหนี

(๑๕) เป็นเหรียญเงินมีรูปเทพดาถือพวงมาลัย จารึกชื่อและบอกเหตุการณ์

(๑๖) หลวงหลวงนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๗ ฉาง ไว้สำหรับเก็บข้าวเมื่อขณะเกิดเกิดทัพศึก อยู่บริเวณที่เรียกว่า สะพานช้างโรงสี เหตุที่เรียกว่าสะพานช้างโรงสี เพราะตรงนั้นมีโรงสีหลวงสำหรับสีข้าวเพื่อเก็บในฉางหลวงด้วย

(๑๗) ต้นฉบับว่า วัดละมุดบางอ้อ

(๑๘) เมื่อฮ่อมารุกรานบ้านเมืองขณะนั้น จะส่งข่าวบอกมาขอกำลังจากกรุงเทพฯ ทางก็ไกล จึงได้ไปขอกำลังญวนซึ่งอยู่ใกล้กว่า ในคราวหลังฝรั่งเศสยกเข้ามาในพระราชอาณาเขตอ้างว่าจะมาช่วยปราบปรามฮ่อ เมื่อไทยปราบฮ่อได้ราบคาบแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมยกกลับไป ตั้งค่ายอยู่ในพระราชอาณาเขต และยุยงให้ชาวพื้นเมืองในร่มธงฝรั่งเศสก่อการขึ้น ตัวสำคัญคืออ้ายบางเบียน จนเกิดเหตุขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ เชียงมวน และคดีพระยอดเมืองขวาง จนกระทั่งเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสอ้างเอาแผ่นดินไปเป็นกรรมสิทธิ์

(๑๙) ผมเข้าใจว่า ที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า "ไหหิน"
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:18:01:57 น.  

 
 
 
ใครมีตราสกุล แสง-ชูโตบ้างช่วยโพสลงด้วย
ขอบพระคุณอย่างสูง
 
 

โดย: ลักษณ์ แสง-ชูโต IP: 202.41.167.246 วันที่: 8 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:21:29 น.  

 
 
 
ชอบเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมาก
 
 

โดย: ปูน IP: 61.19.35.196 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:24:41 น.  

 
 
 
ภูมิใจมากที่ได้เป็นลูกท่าน


ผู้ซึ่งมีคุณูประการอย่างใหญ่หลวงต่อแผ่นดินนี้
 
 

โดย: ลูกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ส.ศ.ม.32 IP: 61.90.104.208 วันที่: 25 ธันวาคม 2552 เวลา:23:16:28 น.  

 
 
 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
 
 

โดย: da IP: 124.120.5.122 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:6:21:12 น.  

 
 
 
เนื่องจาก แม่เล่าให้ฟัง
เรื่องเวียงจันทน์ ถูกจีนฮ่อบุก ร.๕ ได้ส่งทหารไปช่วยแล้วเดินทางกลับมาทางแปดริ้ว พร้อมด้วยลูกสาวเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ชื่อบุญมี ต่อมาได้มีลูกด้วยกัน คือนายซ่วน นางเหรียญ นางเลี้ยง
นายซ่วน ได้เดินทางไปสอนหนังสือ ในวัง และไม่ได้ติดต่อกลับมา
ฉันสับสนระหว่าง หมื่นไวย และขุนไกร เพราะนานเต็มที แต่เมื่อทำบุญตรวจน้ำแม่จะบอกให้กรวดน้ำให้ ชวดและนายทหารผู้นี้ ตลอดมา ฉันไม่เคยพบเหตุการณ์นั้นใน เวบเลยแต่ประวัติศาสตรอื่น ๆ ก็ดูละเอียดดี
 
 

โดย: vassa IP: 76.167.255.238 วันที่: 8 เมษายน 2555 เวลา:9:39:44 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com