กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาลักษณ์ขี้เมา

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาลักษณ์ขี้เมา



.........................................................................................................................................................


ประวัติ พระสุนทรโวหาร(ภู่)
๑. ตอนก่อนรับราชการ


พระสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญว่า "สุนทรภู่" นั้น เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาเช้า ๒ โมง (ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙) มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาของสุนทรภู่ไว้ดังนี้



จะต้องอธิบายความนอกเรื่องประวัติ เผื่อผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องดวงชาตาแทรกลงตรงนี้ก่อน อันการทำดวงชาตานั้น คือ จดจำจักรราศีที่สถิตของดวงอาทิตย์และดาวพระเคราะห์ต่างๆในขณะที่เกิด เป็นวิธีมีมาเก่าแก่แต่ดึกดำบรรพ์ ดวงชาตามีที่ใช้ในกิจการหลายอย่าง คือ อย่างหนึ่ง ถ้าจะกำหนดเวลาฤกษ์ยามทำการให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ใด โหรย่อมเอาดวงชาตาของผู้นั้นมาสอบสวนเลือกเวลาอันพระเคราะห์โคจรสู่จักรราศี ซึ่งต้องตำราว่าเป็นสิริมงคลแก่ชาตาของผู้นั้น กำหนดเป็นเวลามงคลฤกษ์ เป็นต้นว่าฤกษ์ยกทัพก็ต้องหาเวลาที่เป็นสิริแก่แม่ทัพ ฤกษ์ปลูกเรือนก็ต้องหาเวลาที่เป็นสิริแก่เจ้าของเรือน ฤกษ์โกนจุกก็ต้องหาเวลาให้เป็นสิริแก่เด็กที่จะโกนจุก ฉะนี้เป็นตัวอย่าง

อีกอย่างหนึ่ง ดวงชาตามีที่ใช้ในการพยากรณ์ดีร้ายอันจะพึงมีแก่ตัวบุคคล เพราะเชื่อถือกันมาว่า เมื่อพระเคราะห์โคจรเข้าสู่จักรราศีเช่นนั้นๆ มักเกิดความดีหรือความชั่วแก่ผู้มีชาตาเช่นนั้นๆ เป็นต้นว่า พระเคราะห์ราหูเข้าสู่ราศีอันเป็นลัคนาของผู้ใด ว่าผู้นั้นมักจะไม่มีความสุข จนกว่าพระเคราะห์ราหูจะพ้นจักรราศีนั้นไปดังนี้เป็นตัวอย่าง อาศัยความเชื่อในข้อนี้จึงมีวิธีขับสอบดวงชาตาหาความรู้ว่าเคราะห์ดีและเคราะห์ร้ายประการใด

ยังมีความเชื่อกันมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่งว่า ดวงชาตาของผู้ใดอาจจะส่อให้รู้ได้ว่า บุคคลผู้นั้นจะดีหรือชั่ว และที่สุดจะมีอายุยืนหรืออายุสั้น ความเชื่ออย่างที่ว่านี้เกิดแต่เอาดวงชาตาของผู้ที่มีเรื่องประวัติอันปรากฏว่าเป็นคนดีหรือคนชั่วในอดีตกาลมาเป็นหลักสำหรับเทียบเคียงกับดวงชาตาที่จะพยากรณ์ ถ้าเห็นคล้ายคลึงกับดวงชาตาข้างฝ่ายคนดี ก็พยากรณ์ว่าจะดี ถ้าไปคล้ายคลึงกับดวงชาตาของข้างฝ่ายพวกชั่ว ก็พยากรณ์ว่าจะชั่วเป็นเค้าความ ผู้ที่นิยมพยากรณ์อย่างว่านี้ เมื่อเห็นใครเป็นคนทรงคุณหรือให้โทษอย่างวิสามัญ มักสืบวันและเวลาเกิดของผู้นั้น ผูกดวงชาตาลงตำราไว้เป็นตัวอย่าง สำหรับใช้เปรียบเทียบในการพยากรณ์ดวงชาตาของบุคคลต่างๆทั้งข้างดีและข้างชั่ว จึงมีอยู่ในตำราเป็นอันมามาก และมักมีคำจดบอกไว้ว่า เป็นผู้มีคุณหรือมีโทษอย่างนั้นๆด้วย

ที่ดวงชาตาของสุนทรภู่มีอยู่ในตำราดวงชาตานั้น คงเป็นเพราะผู้พยากรณ์แต่ก่อนเห็นว่า สุนทรภู่ทรงคุณสมบัติในกระบวนแต่งกลอนเป็นอย่างวิเศษ นับว่าเป็นวิสามัญบุรุษผู้หนึ่ง แต่จดจำคำอธิบายแถมไว้ข้างใต้ดวงชาตาว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา" ดังนี้ ด้วยหมายความว่า เป็นผู้ทรงทั้งความดีและความชั่วระคนปนกัน อันเป็นความจริงตามเรื่องประวัติของสุนทรภู่

สกุลวงศ์ของสุนทรภู่ บิดามารดาจะชื่อใดไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ในเขตอำเภอเมืองแกลง แขวงจังหวัดระยอง ฝ่ายมารดาเป็นชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วได้ ๔ ปี แล้วบิดากับมารดาหย่ากัน บิดากลับออกไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่มีลูกหญิงอีก ๒ คน ชื่อฉิมคนหนึ่ง ชื่อนิ่มคนหนึ่ง แล้วได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าจงกล) เพราะฉะนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก

การศึกษาของสุนทรภู่ ความที่กล่าวในนิราศเมืองสุพรรณมีเค้าเงื่อน ดูเหมือนจะได้เล่าเรียนในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๔ ว่า วัดศรีสุดาราม) ที่ริมคลองบางกอกน้อย รู้หนังสือทำการเสมียนได้ ได้เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน แต่อุปนิสัยไม่ชอบทำการงานอย่างอื่น นอกจากแต่งบทกลอน สันทัดถึงบอกดอกสร้อยสักวาได้แต่รุ่นหนุ่ม แล้วกลับมาอยู่ที่พระราชวังหลังอย่างเดิม เห็นจะเป็นเพราะที่เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนนั่นเอง ชวนให้คะนองจนทำความเกิดขึ้น ด้วยไปลอบลักรักใคร่กับผู้หญิงข้างในคนหนึ่งชื่อจัน ถูกกริ้วต้องเวรจำทั้งชายหญิง แต่เวลานั้นกรมพระราชวังหลังใกล้จะทิวงคตอยู่แล้ว ติดเวรจำอยู่ไม่ช้านัก ทำนองจะพ้นโทษเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคต ในพ.ศ. ๒๓๔๙ สุนทรภู่จึงออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่เมื่อไปคราวนี้

พิเคราะห์เรื่องราวที่ปรากฏในนิราศ ประกอบกับศักราชปีเกิดของสุนทรภู่ ดูเหมือนเมื่อแต่งนิราศเมืองแกลงอายุจะราวสัก ๒๑ ปี กล่าวในนิราศว่า มีศิษย์ติดจามไปด้วย ๒ คน ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ในเวลานั้นสุนทรภู่ ทำนองจะมีชื่อเสียงในการแต่งบทกลอนอยู่แล้วจึงมีผู้ฝากตัวเป็นศิษย์ น่าจะมีหนังสือเรื่องอื่นที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ก่อนนิราศเมืองแกลง ลองพิเคราะห์ดูหนังสือกลอนของสุนทรภู่ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ เห็นมีเค้าเงื่อนในทางสำนวนว่าจะแต่ก่อนนิราศเมืองแกลง แต่เรื่องโคบุตรเรื่องเดียว มีคำขึ้นต้นว่า


ดังนี้

สำนวนดูเหมือนจะแต่งถวายเจ้าวังหลังองค์ใดองค์หนึ่ง เป็นหนังสือ ๘ เล่มสมุดไทย จะแต่งในคราวเดียวกันทั้งนั้น หรือแต่งเป็นหลายครั้งหลายคราว ข้อนี้ทราบไม่ได้ แต่ว่าแต่งค้างอยู่ไม่หมดเรื่อง กลอนเรื่องอื่นของสุนทรภู่ดูสำนวนเป็นชั้นหลังเรื่องโคบุตรทั้งนั้น

สุนทรภู่ไปเมืองแกลงคราวนั้น ออกจากกรุงเทพฯในเดือน ๗ ไปเรือประทุน ศิษย์แจวไป ๒ คน กับมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางช่วยแจวอีกคนหนึ่ง ไปทางคลองสำโรงและคลองศีรษะจระเข้ ออกปากน้ำบางมังกง(๑) ไปขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี แล้วเดินบกต่อไป

ความในนิราศตอนไปในคลอง สุนทรภู่อธิบายคำเก่าไว้แห่งหนึ่งว่า


คำนี้เองเป็นมูลที่ด่ากันว่า "จองหองพองขน" คือเปรียบเอาลงเป็นลิง ยังหาเคยพบใครอธิบายไว้ในที่อื่นไม่

เมื่อสุนทรภู่ลงไปถึงเมืองระยอง คนขี้ยาที่ทำหน้าที่นำทางไปถึงบ้านก็หลบเสีย แต่นั้นสุนทรภู่ต้องพยายามถามหนทางตามพวกชาวบ้าน เดินต่อไปจนถึงวัดที่บิดาบวชอยู่ ณ เมืองแกลง กล่าวในนิราศว่า เวลานั้นบิดาบวชมาได้ ๒๐ พรรษา ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าบิดากับมารดาเห็นจะพรากกันตั้งแต่สุนทรภู่ยังเป็นเด็กเล็กทีเดียว และน้องสาว ๒ คนนั้นต่างบิดากับสุนทรภู่ ในนิราศกล่าวความอีกข้อหนึ่งว่า บิดาที่บวชอยู่ "เป็นฐานานุประเทศอธิบดี จอมกษัตริย์โปรดปรานประทานนาม เจ้าอารามอรัญธรรมรังสี" ดังนี้ สันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นฐานานุกรมของพระครูธรรมรังสี เจ้าคณะเมืองแกลง มิใช่ได้เป็นตำแหน่งพระครูเอง ที่สุนทรภู่ออกไปหาบิดาบางทีจะคิดออกไปบวช ด้วยเวลานั้นอายุครบอุปสมบท และจะล้างอัปมงคลที่ต้องถูกจำจองด้วยก็เป็นได้ แต่หาได้บวชไม่ เพราะไปอยู่ได้หน่อยหนึ่งก็ป่วยเป็นไข้ป่า อาการแทบถึงประดาตาย รักษาพยาบาลกันอยู่กว่าเดือนจึงหาย พอหายก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือน ๙ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปเมืองแกลงคราวนั้นราว ๓ เดือน

เรื่องประวัติของสุนทรภู่เมื่อกลับจากเมืองแกลงแล้ว มีอยู่ในเรื่องนิราศพระบาทว่า มาเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์(๒) พระโอรสพระองค์น้อยของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดระฆัง แต่ตัวสุนทรภู่อยู่ที่พระราชวังหลังและได้หญิงชื่อจันที่เคยเกิดความนั้นเป็นภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างใน(ทองอยู่) ซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังจะยกประทาน ด้วยปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า เมื่อสุนทรภู่มีบุตร เจ้าครอกข้างในรับเข้าไปทรงเลี้ยงดู แต่เมื่อได้นางจันเป็นภรรยาแล้ว อยู่ด้วยกันเป็นปรกติไม่เท่าใด เห็นจะเป็นเพราะสุนทรภู่จับเป็นคนขี้เมาในตอนนี้ ถึงปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๕๐) ภรรยาก็โกรธ สุนทรภู่ได้แสดงความไว้ข้างต้นนิราศพระบาทว่า


ดังนี้

เมื่อสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระพุทธบาทคราวที่แต่งนิราศ ไม่ได้ลงเรือลำทรง อาศัยไปในเรือมหาดเล็กที่ตามเสด็จ ต้องพายไปเอง กล่าวความอันนี้ไว้ในนิราศเมื่อถึงท่าเรือว่า


ครั้นขึ้นบก จะเป็นด้วนสุนทรภู่ไปเมาเหล้าหรืออย่างไร ถูกเขาแกล้งให้ขึ้นคอช้างตัวบ่มมัน ที่ต้องนำไปข้างหน้า กว่าไว้ในนิราศว่า


เมื่อไปพักอยู่ที่ริมบริเวณวัดพระพุทธบาท สุนทรภู่กล่าวในนิราศว่าไปเที่ยวทางเขาขาด พบ(พระองค์)เจ้าสามเณรองค์ ๑ กั้นพระกลดหักทองขวาง เสด็จมาทางนั้น พิเคราะห์ตามศักราชเห็นว่าจะเป็น สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพราะเวลานั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่แล้ว กล่าวความอีกแห่งหนึ่งว่า


คือพระยาพระคลัง(กุน) ซึ่งได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ หานายบุญยังนางโรงละครนอกที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้สร้างวัดละครทำในจังหวัดธนบุรีนั้น ไปเล่นฉลองศาลาที่ท่านสร้างขึ้นใหม่ในลานพระพุทธบาท อาศัยเค้าเงื่อนที่มีดังกล่าวมา สันนิษฐานว่าหนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ที่ปรากฏอยู่ เป็นของแต่งในรัชกาลที่ ๑ เมื่อก่อนสุนทรภู่เข้ารับราชการ ๓ เรื่อง คือเรื่องโคบุตรเรื่อง ๑ นิราศเมืองแกลงเรื่อง ๑ นิราศพระบาทเรื่อง ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสุนทรภู่เข้ารับราชการแล้วเห็นจะไม่มีโอกาสไปทางไกล จึงไม่ปรากฏว่าแต่งนิราศเรื่องใดอีกจนตลอดรัชกาล


๒. ตอนรับราชการ

เรื่องประวัติสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีคำเล่ากันมาว่า เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมืองยังเป็นหนุ่มคะนองว่า ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง

และบางทีพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวนหาตัวผู้ทิ้งหนังสือคราวนั้นเอง จึงเลยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เอาตัวมารับราชการเป็นอาลักษณ์ มูลเหตุที่สุนทรภู่จะเข้ารับราชการหาปรากฏเรื่องเป็นอย่างอื่นไม่

เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว มีเรื่องเล่ากันมาถึงที่สุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ว่า สมัยนั้นกำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละครกันมา กล่าวบทนางสีดาเมื่อตอนจะผูกคอตายว่า


ต่อนี้ถึงบทหนุมานว่า


พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติว่า บทเก่าตรงนี้กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขได้นานนัก นางสีดาจะต้องตายเสียแล้ว บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ จึงคิดจะให้หนุมานเข้าแก้ได้โดยรวดเร็ว แต่งบทนางสีดาว่า


ต่อไปนี้เกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษา ไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงทรงลองดำรัสสั่งให้สุนทรแต่งต่อไปว่า


ดังนี้ ก็ชอบพระราชหฤทัย ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่คราวนี้ครั้งหนึ่ง ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ ๒ นั้น เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นแล้วให้เอาบทไปซ้อมละครเสียก่อน ถ้าบทยังขัดกับกระบวนเล่นละครก็ต้องแก้ไขบทไปจนกว่าละครจะเล่นได้สะดวก จึงเอาไปใช้ได้ บทที่สุนทรภู่แต่งถวายครั้งนั้นเข้ากับกระบวนเล่นได้สะดวกดีด้วยจึงได้โปรด

อีกครั้งหนึ่ง เล่ากันมาว่า เมื่อแต่งบทเรื่องรามเกียรติ์ต่อมาถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า


ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ นึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับเป็นรถใหญ่โตถึงปานนั้นยังไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ต่อ สุนทรภู่ต่อว่า


เล่ากันว่าโปรดนัก แต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ทรงปรึกษาด้วยอักคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ที่ใต้ท่าช้าง(๓) และมีตำแหน่งเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯให้ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน(๔)

แต่การที่สุนทรภู่ได้เป็นขุนนางและได้มีตำแหน่งรับราชการใกล้ชิดติดพระองค์เช่นนั้น ไม่สามารถจะคุ้มครองความทุกข์ได้ทีเดียว เหตุด้วยสุนทรภู่ยังเสพสุราไม่ทิ้งได้ เมื่อเป็นขุนสุนทรโวหารแล้วครั้งหนึ่งกำลังเมาสุรา ไปหามารดา มารดาว่ากล่าว กลับขู่เข็ญมารดา ขณะนั้นมีญาติผู้ใหญ่จะเป็นลุงหรือน้าคนหนึ่ง เข้าไปห้ามปราม สุนทรภู่ทุบตีเอาบาดเจ็บถึงสาหัส เขาทูลเกล้าฯถวายฎีกาก็ถูกกริ้ว มีรับสั่งให้เอาตัวไปจำไว้ ณ คุก เรื่องสุนทรภู่ติดคุก มีเค้าเงื่อนปรากฏแต่งไว้ในเสภา พรรณนาถึงลักษณะติดคุกตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผนว่า


มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งหนังสือพระอภัยมณี เมื่ออยู่ในคุกคราวนั้น ข้อนี้เห็นจะจริง(๕) มีเค้าเงื่อนอยู่ในเสภา ตอนที่สุนทรภู่แต่งว่าถึงขุนแผนติดคุกนั้นว่า


สุนทรภู่คงคิดแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น ขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่ อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี(ภู่) ยังแต่งเพลงยาวขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ บอกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติที่คุณพุ่มแต่ง

สุนทรภู่จะติดคุกอยู่ช้านานเท่าใดมิได้ปรากฏ เล่ากันแต่ถึงเหตุที่จะพ้นโทษว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดติดขัด ไม่มีผู้ใดจะต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับสั่งให้ไปเบิกตัวสุนทรภู่มาจากคุก สุนทรภู่ต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯให้พ้นโทษ กลับมารับราชการตามเดิม มาถึงตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ขึ้นต้นว่า


แลกล่าวในกลอนตอนปลายเมื่อก่อนจบว่า


ดังนี้

ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน(๗) มีสำนวนสุนทรภู่แต่งตอนหนึ่งตั้งแต่พลายงามเกิดไปจนพลายงามถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สำนวนตั้งใดประจงแต่งดีหนักหนา บทเสภาตอนนี้สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยกล่าวความตอนพลายงามอยู่กับจมื่นศรีว่า


ต่อมาอีกแห่งหนึ่งกล่าวถึงบทสมเด็จพระพันวสา


เรื่องประวัติตอนเมื่อสุนทรภู่เป็นกวีที่ทรงปรึกษา ยังมีเกร็ดเล่ากันมาอีกหลายอย่าง เรื่องหนึ่งว่า สุนทรภู่คุยว่า สำนวนกลอนที่จะแต่งให้เป็นคำปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่เช่นตัวถึงจะแต่งได้ บ่งความว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็แต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไกรทอง เพื่อพิสูจน์ให้ปรากฏว่า ถึงเจ้านายจะทรงแต่งกลอนให้เป็นคำปากตลาดก็อาจทรงได้

อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ทรงแบ่งตอนนางบุษบาเล่นธารเมื่อท้าวดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่ง เมื่อทรงแต่งแล้วถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งวานให้สุนทรภู่อ่านตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า


สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น


โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งรับสั่งให้ พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า


ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า "ลูกปรารถนาอะไร" พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงแก้ว่า


ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งปรามาสอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒

ในระยะเวลาที่สุนทรภู่รับราชการอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้น มีบุตร ๒ คน บุตรชายคนใหญ่ชื่อพัด ดูเหมือนภรรยาคนที่ชื่อจันจะเป็นมารดา ต่อมาสุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่มเป็นชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ(๙) จะเป็นด้วยเหตุที่ได้ภรรยาใหม่หรือด้วยเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ภรรยาที่ชื่อจันนั้นลงท้ายหย่ากันกับสุนทรภู่ แล้วไปมีสามีใหม่ ความข้อนี้สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณเป็นโคลง ๒ บทว่า


ส่วนภรรยาคนที่ชื่อนิ่มนั้น พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย เจ้าครอกข้างในจึงรับบุตรบุตรของสุนทรภู่ไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังหลังทั้ง ๒ คน นอกจากภรรยาชื่อจันกับชื่อนิ่ม ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว สุนทรภู่ยังมีคู่รักระบุชื่อไว้ในนิราศอีกหลายคน ว่าเป็นภรรยาบ้าง เป็นชู้บ้าง แต่มิได้ปรากฏว่าอยู่กับใครยืดยาวสักคนเดียว


๓. ตอนออกบวช

สุนทรภู่ตั้งแต่เยาว์มา ยังไม่ได้บวชจนตลอดรัชกาลที่ ๒ พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ออกบวช เหตุที่จะบวชนั้นเล่ากันมาว่า เพราะหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญา ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองแต่รัชกาลก่อน แต่ข้อนี้เมื่อพิเคราะห์ดูตามคำที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า


คำของสุนทรภู่ที่กล่าวตรงนี้ ดูประหนึ่งว่าถึงรัชกาลที่ ๓ ถูกถอดจากที่ขุนสุนทรโวหาร น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง คนทั้งหลายจึงได้เรียกกันว่า "สุนทรภู่" เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้ต้องถูกถอดจากบรรดาศักดิ์แล้วจึงออกบวช ถ้าเวลาบวชยังเป็นขุนนางคงจะได้รับพระราชูปถัมภ์ ไหนจะอนาถาดังปรากฏในเรื่องประวัติ

อีกประการหนึ่งในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวแต่งจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีแต่งกลอนเพลงยาวกลบทเป็นต้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสาะหากวีที่ชำนาญกลอน แม้จนมหาดเล็กเลวก็ได้มีชื่อแต่งถวาย สุนทรภู่เป็นกวีสำคัญมาแต่ก่อน เหตุใดจึงมิได้ปรากฏชื่อว่าแต่งจารึกอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวนั้น ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่า คงเป็นผู้ต้องตำหนิติโทษ ทรงรังเกียจในรัชกาลที่ ๓ เห็นสมกับความที่กล่าวในกลอน จึงเข้าใจว่าถูกถอด

ความจริงในเรื่องที่สุนทรภู่ออกบวช เห็นจะเป็นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือเพราะยังไม่ได้บวชตามประเพณีนิยมประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสุนทรภู่วิวาทกับญาติ เข้ากับใครไม่ติด มีภรรยาก็อยู่ด้วยกันไม่ยืด เป็นคนตัวคนเดียวอยู่แต่กับบุตรมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ข้อนี้สังเกตได้ด้วยในนิราศของสุนทรภู่ เมื่อกล่าวถึงญาติเมื่อใดคงเป็นคำโกรธแค้นว่าพึ่งพาไม่ได้ กล่าวถึงภรรยาและคู่รักก็มักปรากฏว่าอยู่ด้วยกันไม่ยืด

ครั้นเมื่อมาถูกถอดในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดและท่านผู้ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง สุนทรภู่ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาว(๑๐)ว่า


ดังนี้

สุนทรภู่ตกยากสิ้นคิดจึงออกบวช ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพพระสงฆ์มาก ถ้าบวชเป็นพระใครจะอุปถัมภ์ก็เห็นจะไม่ทรงติเตียน ความที่สุนทรภู่คาดนี้ก็มีมูล ด้วยปรากฏในเพลงยาวนั้นว่าเมื่อสุนทรภู่บวชแล้ว พอถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง (คือสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสพระองค์น้อย เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๑ ปีพระองค์หนึ่ง ๘ ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสพระองค์ใหญ่ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลก่อน แล้วทรงส่งเสียอุปการะต่อมาในชั้นนั้น มีคำสุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในเพลงยาวว่า


ดังนี้

สุนทรภู่เห็นจะบวชเมื่อราวปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙(๑๑) เวลานั้นอายุได้ ๔๑ ปี แรกบวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ อยู่ได้ ๓ พรรษามีอธิกรณ์เกิดขึ้น (กล่าวกันเป็นความสงสัยว่าจะเป็นด้วยสุนทรภู่ต้องหาว่าเสพสุรา เพราะวิสัยของสุนทรภู่นั้นเวลาจะแต่งกลอน ถ้ามีฤทธิ์สุราเป็นเชื้ออยู่แล้วแต่งคล่องนัก นัยว่าถ้ามีสุราพอเหมาะแล้ว อาจจะคิดกลอนทันบอกให้เสมียนเขียนต่อกันถึงสองคน ดังนี้) เพราะอธิกรณ์เกิดขึ้นครั้งนั้น สุนทรภู่ถูกบัพพาชนีกรรมขับไล่ให้ไปเสียจากวัดราชบูรณะ เดิมคิดจะไปอยู่เสียตามหัวเมือง จึงแต่งเพลงยาวทูลลาเจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว ในเพลงยาวนั้นมีคำคร่ำครวญและถวายโอวาท แต่งเพราะดีหลายแห่ง แห่งหนึ่งว่า


ในคำถวายโอวาทแห่งหนึ่งว่า


อีกแห่งหนึ่งว่า


อีกแห่งหนึ่งว่า


สุนทรภู่ออกจากวัดราชบูรณะไปคราวนี้ กลับแต่งนิราศอีกคือ นิราศภูเขาทอง เห็นจะแต่งเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓ เมื่ออกเรือไป กล่าวความถึงเรื่องที่ต้องไปจากวัดราชบูรณะว่า


ในนิราศนี้กล่าความตอนเมื่อผ่านพระบรมมหาราชวัง ครวญถึงพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าดีนักน่าสงสาร ผู้ที่ได้อ่านมักจำกันได้โดยมาก ว่า


เมื่อถึงเมืองปทุมธานี ครวญอีกแห่งหนึ่งว่า


ตอนผ่านหน้าโรงเหล้า สุนทรภู่กล่าวถึงเรื่องเสพสุราก็ว่าดี ว่า


สุนทรภู่ไปพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ บุตรชายคนที่ชื่อพัดยังเป็นเด็กไปด้วย แต่ภรรยาเห็นจะร้างกันเสียแต่เมื่อก่อนบวชหมดแล้ว เมื่อสุนทรภู่กล่าวกลอนชมทุ่งในตอนเรือลัดไปทางเชียงรากน้อยว่า


เมื่อขึ้นไปถึงกรุงฯ เวลานั้นพระยาไชยวิชิต(เผือก)ซึ่งเคยเป็นพระนายไวยอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นผู้รักษากรุงฯ แต่สุนทรภู่กระดากไม่แวะไปหา กล่าวในนิราศว่า


จึงเลยขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง แล้วจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ สุนทรภู่ไปกลับใจไม่อยู่หัวเมืองดังความคิดเดิม หวนกลับมากรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดอรุณฯ แต่จะมามีเหตุอันใดเกิดขึ้นหรืออย่างไร สุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯไม่ช้าก็ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดา

เมื่อสุนทรภู่ไปอยู่วัดเทพธิดานั้น พระยาธรรมปรีชา(บุญ)บวชอยู่วัดเทพธิดา พระยาธรรมปรีชาเล่าว่า สุนทรภู่แต่งคำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา (ที่พิมพ์ในหนังสือมูลบทบรรพกิจ) เมื่ออยู่ที่วัดเทพธิดาคราวนั้น และมีหนังสือนิราศเมืองสุพรรณอีกเรื่องหนึ่ง สุนทรภู่แต่งเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา นิราศเมืองสุพรรณแปลกที่สุนทรภู่แต่งเป็นโคลง โคลงของสุนทรภู่มีปรากฏอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น ทำนองเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา จะถูกปรามาสว่าแต่งเป็นแต่กลอนเพลงยาว (หรือที่เรียกกันภายหลังมาว่ากลอนสุภาพ) จึงแต่งกาพย์คำเทียบเรื่องพระไชยสุริยาและแต่งโคลงนิราศเมืองสุพรรณ พิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่า ถ้าจะแต่งโคลงกาพย์ก็แต่งได้ แต่ที่แท้นั้นสุนทรภู่รู้ตัวดีทีเดียวว่า ถึงแต่งได้ก็ไม่ถนัดเหมือนกลอนเพลงยาว ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า


สุนทรภู่จึงไม่แต่งโคลงกาพย์เรื่องอื่นอีก ข้อนี้ไม่แต่สุนทรภู่เท่านั้น ถึงสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็รู้พระองค์ว่า ทรงถนัดแต่ลิลิตและโคลงฉันท์ จึงไม่ทรงแต่งหนังสือเป็นกลอนสุภาพเลยสักเรื่องเดียว มีพระนิพนธ์กลอนสุภาพแต่เป็นของทรงแต่งเล่น เช่น เพลงยาวอันปรากฏอยู่ในเรื่องเพลงยาวเจ้าพระนั้น เป็นต้น

เหตุที่สุนทรภู่ไปเมืองสุพรรณคราวที่แต่งนิราศนั้น ความปรากฏในเรื่องนิราศว่าไปหาแร่ ทำนองจะเล่นแร่แปรธาตุเองหรือมิฉะนั้นก็ไปหาแร่ให้ผู้อื่นที่เล่นแร่แปรธาตุ เพราะเชื่อกันว่าที่ในแขวงจังหวัดสุพรรณมีแร่อย่างใดอย่างหนึ่งทรงคุณวิเศษสำหรับใช้แปรธาตุ พวกเล่นแร่แปรธาตุยังเชื่อกันมาจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ไปครั้งนั้นพาบุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน และมีศิษย์ไปด้วยก็หลายคน ลงเรือที่หน้าวัดเทพธิดาผ่านมาทางคลองมหานาค มาถึงวัดสระเกศกล่าวความว่า ในเวลานั้นมารดาเพิ่งตาย ศพยังอยู่ที่วัดสระเกศนั้น แล้วล่องเรือไปออกปากคลองโอ่งแอ่ง เมื่อไปถึงเมืองสุพรรณ ได้ขึ้นไปทางลำน้ำข้างเหนือเมืองไปขึ้นเดินบกไปขึ้นเดินบกที่วังหิน เที่ยวหาแร่แล้วกลับลงเรือที่บ้านทึง ความที่พรรณนาในนิราศ ดูในเขตแขวงเมืองสุพรรณในสมัยนั้นยังเปลี่ยวมาก ทั้งข้างใต้และฝ่ายเหนือเมือง ถึงไปปะเสือใกล้ลำแม่น้ำ แต่แร่ที่ไปหาจะได้หรือไม่ได้ หาได้กล่าวถึงไม่

เรื่องเมื่อสุนทรภู่บวช เล่ากันมาเป็นเรื่องเกร็ดเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ไปจอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกนั้นว่าคำถวายภัตทานไม่เป็น อาราธนาสุนทรภู่ให้ช่วยสอนให้ว่า เวลานั้นทายกนั่งอยู่บนตลิ่งกับสิ่งของที่เอามาถวาย สุนทรภู่จึงสอนให้ว่าคำถวายภัตทานเป็นกลอนว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้างสุกค่อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ" ดังนี้

เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่รับประกัน แต่ได้ฟังเล่ามาถึงสองแห่งจึงจดไว้ด้วย

เมื่อสุนทรภู่กลับจากเมืองสุพรรณแล้ว ย้ายมาอยู่วัดพระเชตุพน เหตุที่ย้ายนั้นเล่ากันมาเป็นสองนัย นัยหนึ่งว่ามาพึ่งบารมีอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้วยทรงปรานีว่าเป็นกวี อีกนัยหนึ่งว่าเพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานนัก ทรงพระปราณีชักชวนให้มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ คิดดูบางทีก็จะเป็นความจริงทั้งสองนัย ด้วยพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงผนวชพระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ เวลานั้นสุนทรภู่บวชอยู่ได้ราวสัก ๖ พรรษา เจ้านายสมัยนั้นมักโปรดทรงศึกษาการแต่งกลอน อาจจะรับสั่งชวนสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯในเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสประทานอนุญาต โดยทรงพระปรานีสุนทรภู่ก็ได้

เมื่อสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ บุตรคนใหญ่ที่ชื่อพัดบวชเป็นสามเณร เห็นจะบวชมาแต่บิดายังอยู่วัดเทพธิดา สุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯแล้ว พาเณรพัดกับบุตรคนเล็กที่ชื่อตาบไปพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่อไปคราวนี้ แต่แกล้งแต่งให้เป็นสำนวนเณรพัดว่า


เมื่อเรือถึงวัดระฆังกล่าวว่า


ความตรงนี้ (และยังมีในนิราศพระประธมประกอบอีกแห่ง ๑) บ่งว่า เจ้าครอกข้างในซึ่งเป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังสิ้นชีพก่อนนั้นไม่ช้านัก และได้พระราชทานเพลิงที่วัดระฆัง

เหตุที่สุนทรภู่จะไปกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ ว่าได้ลายแทงมาแต่เมืองเหนือ ว่ามียาอายุวัฒนะฝังไว้ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ จึงพยายามไปหายาอายุวัฒนะนั้น เมื่อขึ้นไปกรุงฯไปขึ้นบกที่วัดใหญ่ ได้อธิษฐาน ณ ที่นั้น กล่าวคำในคำอธิษฐานแห่งหนึ่งว่า


ความที่อธิษฐานนี้ แสดงว่าเวลานั้นสุนทรภู่กำลังหมายจะพึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณดังได้กล่าวมาแล้ว(๑๒) ครั้นออกตากวัดใหญ่เดินบกต่อไปทางทิศตะวันออกคืนหนึ่งถึงวัดเจ้าฟ้า ว่าไปทำพิธีจะขุด ก็เกิดกัมปนาทหวาดไหวด้วยฤทธิ์ปีศาจ ไม่อาจขุดได้ ต้องพากันกลับมา แต่เมื่อขากลับคราวนี้ได้แวะหาพระยาไชยวิชิต(เผือก) กล่าวในนิราศว่า


ความที่กล่าวตอนนี้แสดงว่า สุนทรภู่เมื่อบวชได้ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง กระดากพระยาไชยวิชิต(เผือก)แต่เมื่อไปครั้งแรกครั้งเดียว ถึงครั้งหลังๆต่อมาแวะไปหาพระยาไชยวิชิตก็ต้อนรับ ฉันได้ชอบพอคุ้นเคยกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๒

มีคำเล่ากันมาว่า สุนทรภู่เมื่อบวชนั้น ได้ไปอยู่วัดมหาธาตุอีกวัดหนึ่ง ข้อนี้เห็นจะเป็นความจริง คงไปอยู่เมื่อกลับลงมาจากพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ เพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวช เห็นจะทรงชวนให้ไปอยู่ใกล้วังท่าพระอันเป็นที่ประทับ เพื่อจะได้สะดวกแก่การที่ทรงอุปถัมภ์ คือ ส่งสำรับอาหารเป็นต้น เล่ากันว่าในสมัยนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณโปรดทรงสักวา เวลาไปทรงสักวาที่ใดให้นิมนต์สุนทรภู่ลงเรือสักวาไปด้วยเสมอ ให้ไปเป็นผู้บอกสักวาทั้งยังเป็นพระ แต่สุนทรภู่คงสึกกลับออกเป็นคฤหัสถ์ในตอนนี้ รวมเวลาที่สุนทรภู่บวชอยู่เห็นจะราว ๗ หรือ ๘ พรรษา


.........................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "บางปะกง" สันนิษฐานชื่อเดิมเห็นจะเรียกว่า บางมังกง เช่นสุนทรภู่เรียก ด้วยคำว่า "มังกง" เป็นชื่อปลาอย่างหนึ่ง แต่คำว่า ปะกง นั้นแปลไม่ได้ความอย่างไร บางทีจะย่อสั้นมาแต่ บางปลา(มัง)กง ก็เป็นได้

(๒) กล่าวกันมาว่า เพราะเป็นพระองค์เจ้าองค์แรกที่ประสูติแต่ประดิษฐานพระราชวงศ์นี้ จึงได้พระนามว่าปฐมวงศ์ แต่ทรงผนวชอยู่ตลอดพระชนมายุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓

(๓) ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณ
"....ท่าช้างหว่างค่ายล้อม..............แหล่งสถาน
ครั้งพระโกฎโปรฐประทาน.............ที่ให้
เคยอยู่คู่สำราน...........................ร่วมเย่า เจ้าเอย
เหนแต่ที่หมีได้...........................ภับน้องครองสงวน ฯ"

(๔) ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง
"ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง..................คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย...............แล้วลงในเรื่อที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ.............เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง................มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ..........ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา......................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ ฯ"

(๕) ตรงนี้มีเชิงอรรถของ ธนิต อยู่โพธิ์ ว่า "เข้าใจว่า คงจะได้แต่งหนีงสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นขายเป็นอาชีพจริง แต่คงไม่ใช่เรื่องพระอภัยมณี เพราะเรื่องพระอภัยมณีนั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งในรัชกาลที่ ๓ โปรดดูเรื่อง "ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี" ในกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี เล่ม ๔"

(๖) เรื่องสวัสดิรักษาคำกลอน เป็นคำสอนดีๆแต่โบราณ จะขอคัดไว้ตอนท้ายกระทู้นะครับ

(๗) ฉบับหอพระสมุดฯ เล่ม ๒ ตอนที่ ๒๔

(๘) ความวรรคหลังมักกล่าวกันว่า "ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว" ข้าพเจ้า(สมเด็จกรมพระยา)เห็นว่าคงเป็นคำ "ปลา" มิใช่ "ว่าย"

(๙) นายพัดกับนายตาบอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ทั้งสองคน นายตาบเป็นกวีตามบิดา มีสำนวนแต่งเพลงยาวปรากฏอยู่

(๑๐) คือเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว

(๑๑) เชิงอรรถของ ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่า สุนทรภู่บวชแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ อายุ ๓๘ ปี เพราะบอกไว้ในรำพันพิลาปว่า "แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา"

(๑๒) ตรงนี้มีเชิงอรรถของ ธนิต อยู่โพธิ์ ว่า เข้าใจว่าคำกลอนนี้หมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เพราะปีที่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้น่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์แล้วราวปีเศษ ดูคำนำนิราศวัดเจ้าฟ้า ฉบับตรวจสอบชำระใหม่ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕



Create Date : 29 มิถุนายน 2550
Last Update : 29 มิถุนายน 2550 12:12:10 น. 7 comments
Counter : 29602 Pageviews.  
 
 
 
 
๔. ตอนตกยาก

เมื่อสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่นั้น นอกจากเป็นผู้บอกสักวา คงจะได้แต่งหนังสือบทกลอนถวายอีก ได้ยินว่า แต่งเป็นกลอนเฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าลัขณานุคุณเรื่องหนึ่ง ผู้ที่ได้เคยอ่านยังมีตัวอยู่ แต่หนังสือนั้นหาต้นฉบับยังไม่พบ นอกจากนั้นจะได้แต่งเรื่องใดอีกบ้างหาปรากฏไม่ พิเคราะห์ดูโดยสำนวนกลอน เข้าใจว่าเรื่องนิราศอิเหนา สุนทรภู่เห็นจะแต่งในตอนนี้เรื่องหนึ่ง

อนึ่งเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่ได้เริ่มแต่งแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น สังเกตเห็นถ้อยคำมีบางแห่งรู้ได้แน่ว่ามาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ จะยกตัวอย่างดังคำนางสุวรรณมาลีว่ากับพระอภัยมณี เมื่อแรกดีกันที่เมืองลังกาว่า "ด้วยปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ" อยู่ในสมุดไทยเล่ม ๓๕ ตรงนี้เห็นได้ว่าต้องแต่งในรัชกาลที่ ๓ ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๗๔ การที่สุนทรภู่แต่งหนังสือพระอภัยมณีเห็นจะแต่งทีละเล่มสองเล่มต่อเรื่อยมาด้วยเป็นหนังสือเรื่องยาว ทำนองพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือเรื่องพระอภัยมณีเมื่อสุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมี และมีรับสั่งให้แต่งถวายอีก สุนทรภู่จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีอีกตอนหนึ่ง แต่จะไปค้างอยู่เพียงใดหาปรากฏไม่ เพราะสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่ได้ไม่ช้า พอถึง พ.ศ. ๒๓๗๘ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์

เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ลง เห็นจะไม่มีใครกล้ารับอุปการะสุนทรภู่อีก เวลานั้นเจ้าฟ้ากุณฑลฯก็ยังมีพระชนม์อยู่ ชะรอยจะทรงขัดเคือง ด้วยสุนทรภู่โจทเจ้าไปพึ่งบุญพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงทรงเฉยเสีย แต่เล่ากันมาว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์นั้นยังทรงสงสารสุนทรภู่ ถ้าไปเฝ้าเมื่อใดก็มักประทานเงินเกื้อหนุน แต่สุนทรภู่ออกจะกระดากเองด้วย จึงไม่กล้าไปพึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้องตกยากอีกครั้งหนึ่ง กลับอนาถายิ่งกว่าคราวก่อน นัยว่าถึงไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย ต้องลงลอยเรือเที่ยวจอดอยู่ตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยรับจ้างเขาแต่งกลอนกับทำการค้าขายประกอบกัน

หนังสือที่สุนทรภู่แต่งในตอนเมื่อตกยากครั้งนี้ก็มีหลายเรื่อง คือ นิราศพระแท่นดงรังเรื่องหนึ่ง กล่าวในกลอนข้างตอนต้นนิราศว่า


ปีวอกอัฐศกนั้น พ.ศ. ๒๓๗๙ ภายหลังพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ได้ปีหนึ่ง สุนทรภู่ไปคราวนี้อาศัยผู้อื่นไป แต่ตัวมิได้ไปโดยลำพังเหมือนครั้งยังบวชเป็นพระ เรื่องนิราศที่แต่งก็ว่าอย่างดาดๆดูไม่มีอกมีใจ มีเรื่องประวัติบอกไว้แต่ว่า ในตอนที่สึกแล้วได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อม่วง แต่เมื่อแต่งนิราศนั้นยังไม่ได้เป็นสิทธิ์ขาดทีเดียว เป็นแต่ไปมาหากันและบอกความไว้อีกข้อหนึ่งว่า เวลานั้นอดเหล้าได้กล่าวไว้ในกลอนว่า


ดังนี้

เมื่อถึงท้ายเรื่องนิราศ ได้กล่าวกลอนบอกเจตนาในการที่แต่งนิราศไว้ว่า


ยังหนังสือกลอนสุภาษิตสอนหญิงอีกเรื่องหนึ่ง ก็ดูเหมือนจะแต่งในตอนนี้ เมื่อก่อนจบกล่าวกลอนไว้ข้างท้ายว่า


ยังมีหนังสือกลอนของสุนทรภู่อีกเรื่องหนึ่ง บางทีจะแต่งในตอนนี้ คือ เรื่องลักษณวงศ์ พิเคราะห์ดูเห็นเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่แต่งแต่ ๙ เล่มสมุดไทย (เพียงม้าตามไปเห็นศพนางเกสร) ต่อนั้นดูเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งตามกลอนสุภาพอีก ๗ เล่ม แล้วแต่งเป็นบทละครต่อไปอีก ๒๓ เล่ม รวมเป็นหนังสือ ๓๙ เล่มสมุดไทย ในฉบับที่พิมพ์ขายมีกลอนนำหน้าว่าเป็นของแต่งถวายเจ้านาย แต่กลอนนั้นเห็นได้ว่าตัดเอากลอนที่มีอยู่ข้างต้นเรื่องโคบุตรมาดัดแปลง น่าสงสัยว่าจะเป็นของผู้อื่นเอามาเติมเข้าต่อชั้นหลัง เพียงจะให้มีชื่อสุนทรภู่ปรากฏในหนังสือ

อนึ่ง มีคำกล่าวกันมาว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องพระสมุทกับเรื่องจันทโครบ กับเรื่องนครกายอีก ๓ เรื่อง และว่าเรื่องพระสมุทนั้นสุนทรภู่แต่งเมื่อกำลังลงอยู่เรือลอย จึงให้ชื่อวีรบุรุษในเรื่องนั้นว่า "พระสมุท" พิเคราะห์ดูสำนวนกลอนในฉบับที่พิมพ์ขาย เห็นว่ามิใช่กลอนของสุนทรภู่ น่าจะกล่าวกันโดยเข้าใจผิด เกิดแต่ในหนังสือมีกลอนข้างตอนต้นว่า


ความที่กล่าวในกลอนนี้ผิดวิสัยสุนทรภู่ ซึ่งไม่ค่อยยอมถ่อมตัวว่าความรู้อ่อน มีคัวอย่างสุนทรภู่ในข้อนี้ กล่าวไว้ในนิราศพระประธมตอนอธิษฐานว่า


เรื่องพระสมุทนั้นกล่าวกันอีกนัยหนึ่งว่า มีคนชื่อภู่อีกคนหนึ่งแต่งเอาอย่างสุนทรภู่ในเวลาชั้นชั้นหลังมา เลียนสุนทรภู่ด้วยความนับถือ จึงถ่อมตัวว่าเป็นผู้ยังรู้น้อย ความจริงก็เห็นจะเป็นเช่นว่านี้ ส่วนเรื่องจันทโครบนั้นได้พิเคราะห์ดู ไม่พบกลอนตอนใดที่จะเชื่อได้ว่าเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่สักแห่งเดียว คำที่กล่าวกันก็กล่าวแต่ว่าสุนทรภู่แต่งกับผู้อื่นอีกหลายคน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งตามอย่างสุนทรภู่ หากว่าจะเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ก็เพียงแต่งแล้วบางทีจะเอาไปให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไข จึงขึ้นชื่อสุนทรภู่ว่าได้เกี่ยวข้อง แต่ที่แท้หาได้แต่งไม่ ส่วนเรื่องนครกายนั้น มีกลอนบอกข้างต้นหนังสือนั้นว่า "นายภู่อยู่นาวาเที่ยวค้าขาย" เห็นจะเป็นนายภู่คนที่แต่งเรื่องพระสมุท หาใช่สุนทรภู่ไม่


๕. ตอนสิ้นเคราะห์

สุนทรภู่จะตกยากอยู่สักกี่ปี ข้อนี้ไม่ทราบชัด ปรากฏแต่ว่าพ้นทุกข์ยากด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรานีโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิม ซึ่งเป็นที่เสด็จประทับในสมัยนั้น และต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอที่พระพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามากอีกพระองค์หนึ่ง ทรงอุปการะด้วย

เหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจะทรงอุปการะสุนทรภู่นั้น กล่าวกันว่าเดิมได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี (ชะรอยจะได้หนังสือมรดกของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โดยเป็นอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากัน) ชอบพระหฤทัย ทรงเห็นว่าเรื่องที่แต่งไว้ยังค้างอยู่ จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงต่อไป สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีมาได้ ๔๙ เล่มสมุดไทยหมายจะจบเพียงพระอภัยมณีออกบวช (ความตั้งใจของสุนทรภู่เห็นได้ชัดในหนังสือที่แต่งนั้น) แต่กรมหมื่นอัปสรฯมีรับสั่งให้แต่งต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้สุนทรภู่จึงต้องคิดเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องออกไปจนจบเล่มที่ ๙๔

แต่พิเคราะห์ดูเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง สำนวนไม่ใช่ของสุนทรภู่คนเดียว เล่ากันว่ากรมหมื่นอัปสรฯมีรับสั่งให้แต่งถวายเดือนละเล่ม ถ้าเช่นนั้นจริงก็เป็นด้วยสุนทรภู่เบื่อ หรือถูกเวลามีกิจติดขัดแต่งเองไม่ทันจึงวานศิษย์หาให้ช่วยแต่งก็จะเป็นได้

นอกจากเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่แต่งเรื่องสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรฯอีกเรื่องหนึ่ง หนังสือนั้นจึงขึ้นต้นว่า "ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง" ดังนี้ แต่แต่งค้างเพียง ๑๕ เล่มสมุดไทย ชะรอยจะหยุดเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘

ในระยะเวลาเมื่อสุนทรภู่อยู่ในอุปการะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหมื่นอัปสรฯนั้น ได้ไปพระปฐมเจดีย์ จึงแต่งนิราศพระประธมอีกเรื่องหนึ่ง ไปคราวนี้บุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน สังเกตสำนวนในนิราศเห็นได้ว่า แต่งโดยใจคอชื่นบานกว่าเมื่อแต่งนิราศพระแท่นดงรัง กล่าวถึงประวัติในเรื่องนิราศพระประธมนี้ว่า แตกกับภรรยาคนที่ชื่อม่วง และกล่าวกลอนตอนแผ่ส่วนกุศลท้ายนิราศ มีครวญถึงพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า


ต่อนี้กล่าวถวายพระพรถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ว่า


ต่อมาเห็นจะเป็นเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สุนทรภู่ทูลรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของต้องพระประสงค์ที่เมืองเพชรบุรี แต่จะเป็นสิ่งใดหาปรากฏไม่ ได้แต่งนิราศเมืองเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่ง เป็นนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่ นับถือกันว่าแต่งดีถึงนิราศภูเขาทอง อันเป็นอย่างยอดเยี่ยมในนิราศของสุนทรภู่ กล่าวความไว้ในกลอนข้างตอนต้นว่า


เรื่องประวัติของสุนทรภู่ที่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ ว่ามีบุตรน้อยไปด้วยคนหนึ่งชื่อนิล ชะรอยจะเป็นลูกมีกับภรรยาที่ชื่อม่วง บุตรคนใหญ่ที่พัดนั้นก็ไปด้วย ถึงตอนนี้เป็นหนุ่มแล้ว แต่บุตรที่ชื่อตาบไม่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ อนึ่ง ในเวลาเมื่อสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีคราวนี้ เป็นเวลาอยู่ตัวคนเดียวไม่มีภรรยา ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในนิราศหลายแห่ง มักจะว่าน่าฟัง จะคัดมาพอเป็นตัวอย่าง


อีกแห่งหนึ่งว่า


ตรงเมื่อถึงอ่าวยี่สาน ว่าด้วยหอยจุ๊บแจง เอาคำเห่เด็กของเก่ามาแต่งเป็นกลอน ก็ว่าดี


ถึงรัชกาลที่ ๔ พอพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งสุนทรภู่ให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร คงใช้ราชทินนามตามที่ได้พระราชทานเมื่อรัชกาลที่ ๒ เวลานั้นสุนทรภู่อายุได้ ๖๖ ปี

หนังสือสุนทรภู่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีปรากฏ ๒ เรื่อง คือบทละครเรื่องอภัยนุราชแต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ เรื่องหนึ่ง กับเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้แต่งอีกเรื่องหนึ่ง เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย

นอกจากนี้ยังมีบทเห่สำหรับกล่อมเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ กล่าวกันว่าบทเห่เรื่องจับระบำกับบทเห่เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตรเป็นของสุนทรภู่แต่ง บทเห่เหล่านี้จะแต่งเมื่อใด ดูโอกาสที่สุนทรภู่จะแต่งมีอยู่ ๓ คราว คือแต่งสำหรับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณคราวหนึ่ง หรือสำหรับกล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คราวหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็แต่งถวายสำหรับกล่อมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อในรัชกาลที่ ๔ บทเห่กล่อมของสุนทรภู่ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั่วทั้งพระราชวังจนตลอดรัชกาล

ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เป็นที่พระสุนทรโวหาร รับราชการอยู่ ๕ ปี ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีอายุได้ ๗๐ ปี(๓)


....................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) นิราศพระแท่นดงรัง ธนิต อยู่โพธิ์ สันนิษฐานว่าเป็นของเสมียนมี โดยเทียบสำนวนกลอนกับ นิราศสุพรรณคำกลอน

(๒) วัดอรุณฯ ริมพระราชวังเดิม

(๓) มีบางท่านบอกว่าผู้สืบสกุลของสุนทรภู่ต่อมา ใช้นามสกุลว่า "ภู่เรือหงษ์" - ธนิต อยู่โพธิ์
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 29 มิถุนายน 2550 เวลา:12:07:02 น.  

 
 
 
๖. ว่าด้วยหนังสือที่สุนทรภู่แต่ง

หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งมีมาก ที่ได้ยินแต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเสียแล้ว ไม่ได้ยินชื่อเรื่องมาถึงชั้นนี้ทีเดียวก็เห็นจะมี จะกล่าวถึงแต่เฉพาะเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒๔ เรื่อง คือ


นิราศ ๙ เรื่อง
๑. นิราศเมืองแกลง
๒. นิราศพระบาท
๓. นิราศภูเขาทอง
๔. นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง)
๕. นิราศวัดเจ้าฟ้า
๖. นิราศอิเหนา
๗. นิราศพระแท่นดงรัง(๑)
๘. นิราศพระประธม
๙. นิราศเมืองเพชรบุรี
นิราศทั้งปวงนี้แต่งจบในสมุดไทยเล่มเดียวทุกเรื่อง

นิทาน ๕ เรื่อง
๑๐. เรื่องโคบุตร ๘ เล่มสมุดไทย
๑๑. เรื่องพระอภัยมณี ๙๔ เล่มสมุดไทย
๑๒. เรื่องพระไชยสุริยา (แต่งเป็นกาพย์คำเทียบสอนอ่าน) ราวเล่มสมุดไทย ๑
๑๓. เรื่องลักษณวงศ์ ๙ เล่มสมุดไทย (เป็นสำนวนผู้อื่นแต่งต่ออีก ๓๐ เล่ม)
๑๔. เรื่องสิงหไตรภพ ๑๕ เล่มสมุดไทย

สุภาษิต ๓ เรื่อง
๑๕. สวัสดิรักษา รวมเล่มสมุดไทย ๑
๑๖. เพลงยาวถวายโอวาท ราวหน้าสมุดไทย ๑
๑๗. สุภาษิตสอนหญิง เล่มสมุดไทย ๑

บทละครเรื่อง ๑
๑๘. เรื่องอภัยนุราช เล่มสมุดไทย ๑

บทเสภา ๒ เรื่อง
๑๙. เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เล่มสมุดไทย ๑
๒๐. เรื่องพระราชพงศาวดาร ๒ เล่มสมุดไทย

บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง
๒๑. เห่เรื่องจับระบำ
๒๒. เห่เรื่องกากี
๒๓. เห่เรื่องพระอภัยมณี
๒๔. เห่เรื่องโคบุตร
บทเห่เป็นบทสั้นๆ รวมกันทั้ง ๔ เรื่อง สักเล่มสมุดไทย ๑

หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๑ หมอสมิทเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม พิมพ์เรื่องพระอภัยมณีก่อนเรื่องอื่น พิมพ์ขายคราวละเล่มสมุดไทย เรียกราคาเล่มละสลึง(๒๕ สตางค์) คนตื่นซื้อ หมอสมิทได้กำไรมาก นัยว่าสร้างตึกได้หลังหนึ่ง จนหมอสมิทคิดถึงสุนทรภู่ เที่ยวสืบถามเชื้อสายหวังจะให้บำเหน็จ เวลานั้นนายพัดกับนายตาบบุตรสุนทรภู่ยังอยู่ แต่จะได้บำเหน็จเท่าใดหาปรากฏไม่

ตั้งแต่หมอสมิทรวยด้วยพิมพ์หนังพระอภัยมณี ต่อมาทั้งหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่นๆก็ค้นคว้าหาหนังสือบทกลอนของสุนทรภู่พิมพ์ขึ้นขายเป็นลำดับมา บางเรื่องได้พิมพ์ถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้พิมพ์เมื่อในรัชกาลที่ ๕ หมดทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องเสภาพระราชพงศาวดาร หอพระสมุดฯก็ได้พิมพ์แต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่พิมพ์เพียงเท่าที่จำกันไว้ได้ เพราะฉบับสูญหาย เพิ่งหาได้ฉบับบริบูรณ์ จึงมาพิมพ์ตลอดเรื่องต่อในรัชกาลที่ ๖ เพลงยาวถวายโอวาทก็เพิ่งหาฉบับได้และได้พิมพ์ต่อในรัชกาลที่ ๖ นี้เหมือนกัน



๗. ว่าด้วยเกียรติคุณของสุนทรภู่

บรรดาผู้ที่ชอบอ่านบทกลอนไทย ดูเหมือนจะเห็นพ้องกันโดยมากว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่วิเศษสุดคนหนึ่ง ถ้าและจะลองให้เลือกกวีไทย บรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏมาในพงศาวดารคัดเอาแต่ที่วิเศษสุดเพียง ๕ คน ใครๆเลือกก็เห็นจะเอาชื่อสุนทรภู่ไว้ในกวี ๕ คนนั้นด้วย ข้อวิเศษของสุนทรภู่ที่แปลกกับกวีคนอื่นนั้น คือ ใยนกระบวนกลอนอย่างหนึ่ง กับกระบวนกล่าวความอย่างปากตลาดอีกอย่างหนึ่ง ในกระบวนเหล่านี้จะหาตัวสู้สุนทรภู่แทบไม่มี

แต่บทกลอนของสุนทรภู่นั้น ถ้าว่าโดยหลักฐานในทางอักษรศาสตร์ มีที่ติได้หลายอย่าง เช่นมักใช้ศัพท์ผิดและชอบเขียนแก้ศัพท์ไปตามใจสุดแต่ให้ได้สัมผัสกลอน แม้แต่งโคลง(นิราศสุพรรณ)ก็มิใคร่เอาใจใส่ในข้อบังคับเอกโท จะเปรียบกับบทกลอนของกวีที่เป็นบุคคลชั้นสูง เช่นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น เปรียบกันไม่ได้ ทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาด้วยการที่ได้ศึกษาผิดกัน บุคคลชั้นสูงเมื่อเรียนเขียนอ่านหนังสือแล้ว ได้เรียนแบบแผนกระบวนภาษาและตำราอักษรศาสตร์แล้วจึงหัดแต่งหนังสือ ฝ่ายบุคคลชั้นต่ำเช่นสุนทรภู่ ได้ศึกษาเพียงแต่หัดอ่านและเขียนหนังสือไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนตำรับตำราอันใด มีอุปนิสัยชอบแต่งบทกลอนก็เริ่มหัดแต่งด้วยการช่วยเขาบอกบทดอกสร้อยสักวา อันต้องคิดกลอนเป็นสำคัญ ฝึกหัดมาในทางนี้ ความคุ้นเคยก็ชักจูงใจให้รักและให้ชำนาญในทางกลอน เลยถือกลอนเป็นสำคัญยิ่งกว่าที่จะใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามแบบแผน

จะยกตัวอย่างพอให้เห็น ดังเช่นคำขุนแผนในบทเสภาที่ได้คัดมาลงไว้แล้วนั้น สุนทรภู่แต่งว่า "แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช" เช่นนี้ กวีที่เป็นคนชั้นสูง เช่นพระราชนิพนธ์เป็นไม่ทรงเป็นอันขาด เพราะคำว่าเจ้ากรมนั้นผิดกับตำแหน่งของพระยายมราช แต่ฝ่ายสุนทรภู่รักคำนั้นด้วยได้กลอนสัมผัสใน ถือว่าความก็แปลว่า นายเหมือนกันจึงใช้คำเจ้ากรมดังนี้

ความที่กล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยในทางวรรณคดี มิใช่ประสงค์จะลดหย่อนคุณวิเศษของสุนทรภู่ ถึงความบกพร่องมีเช่นว่า บทกลอนของสุนทรภู่ยังต้องนับว่าดีอย่างเอกอยู่นั่นเอง แต่ดีเฉพาะแต่กลอนเพลงยาว หรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่ากลอนสุภาพ กับดีในทางสำนวนกระบวนว่าเป็นปากตลาด ข้อนี้สุนทรภู่คุยอวดจนเลยเป็นเหตุให้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไกรทองดังกล่าวมาแล้ว แต่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นชั้นบุคคลพลเมืองจึงชอบกลอนสุนทรภู่ยิ่งกว่าของผู้อื่น

คุณวิเศษของสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่งนั้น นับว่าเป็นผู้ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นชอบเอาอย่าง แต่งกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ เดิมกระบวนแต่งบทกลอนในสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี หนังสือบทกลอนที่แต่งเรื่อง มักแต่งเป็นลิลิต โคลง ฉันท์ หรือกาพย์ ส่วนกลอนสุภาพเดิมใช้แต่งแต่คำขับลำนำ เช่นร้องเพลงหรือร้องดอกสร้อยสักวา และแต่งบทมโหรี บทเสภา และบทละคร เพิ่งมาเกิดใช้กลอนสุภาพแต่งเป็นเพลงยาวสังวาส เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

ถึงนิราศ ในชั้นเดิม เหมือนเช่นนิราศหม่อมพิมเสนครั้งกรุงศรีอยุธยา และนิราศพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น ก็นับอยู่ในเพลงยาว สุนทรภู่เป็นผู้ริเริ่มเอากลอนเพลงยาวมาแต่งเรื่องนิทานเรื่องโคบุตรขึ้น เมื่อในรัชกาลที่ ๑ สันนิษฐานว่าแต่งเช่นนั้นก่อนผู้อื่นทั้งสิ้น แล้วตัวสุนทรภู่และผู้อื่นจึงแต่งนิทานเรื่องอื่นเป็นกลอนสุภาพ เอาอย่างเรื่องโคบุตรต่อมา(๒)

อีกประการหนึ่ง ในกระบวนแต่งกลอนสุภาพนั้น แต่ก่อนมาไม่ได้ถือเอาสัมผัสในสำคัญ สุนทรภู่เป็นผู้เริ่มเล่นสัมผัสในขึ้นเป็นสำคัญในกระบวนกลอน เลยถือเป็นแบบอย่างกันมาจนทุกวันนี้ นับว่าสุนทรภู่เป็นผู้ชักนำให้กลอนสุภาพเพราะพริ้งยิ่งขึ้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ปรากฏแพร่หลาย บรรดาผู้ที่แต่งกลอนสุภาพในชั้นหลังมา ก็หันเข้าแต่งตามแบบกลอนสุนทรภู่แทบทั้งนั้น มีที่สามารถจะแต่งดีได้ใกล้สุนทรภู่ ๒ คน คือนายมี เดิมบวชอยู่วัดพระเชตุพนฯที่แต่งนิราศเดือน และนิราศเมืองถลางคนหนึ่ง กับหม่อมราโชไทย(ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา)ที่แต่งนิราศลอนดอนคนหนึ่ง กล่าวกันมาว่าเป็นศิษย์ศึกษาที่สุนทรภู่ทั้ง ๒ คน แต่ไม่ปรากฏว่าแต่งหนังสือบทกลอนเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุนั้น

ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนเป็นดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะเห็นยุติต้องกันโดยมากว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นดีที่สุด เพราะเป็นหนังสือเรื่องยาว แต่งดีทั้งกลอน ทั้งความคิดที่ผูกเรื่อง เรื่องอื่นเช่นเสภาตอนพลายงามถวายตัวก็ดี นิราศภูเขาทองก็ดี นิราศเมืองเพชรบุรีก็ดี แต่ดีเป็นอย่างเอกก็จริง แต่งเป็นเรื่องสั้นๆ จะเปรียบกับเรื่องพระอภัยมณีไม่ได้

ถ้าจะลองตัดสินอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบทกลอนของสุนทรภู่เรื่องไหนจะเลวกว่าเพื่อน ก็ดูเหมือนจะเห็นยุติต้องกันว่า บทละครเรื่องอภัยนุราชเป็นเลวกว่าเรื่องอื่น เห็นได้ชัดว่าเพราะสุนทรภู่ไม่สันทัดแต่งบทละคร ไปแต่งเข้าก็ไม่ดีฉันใด ก็เหมือนกับที่สุนทรภู่ไปแต่งนิราศเมืองสุพรรณเป็นโคลง ถ้าจะเอาไปเปรียบกับโคลงนิราศเรื่องที่นับถือกันว่าแต่งดี เช่นนิราศนรินทร์อิน สุนทรภู่ก็สู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงควรยกย่องสุนทรภู่แต่ว่าเป็นกวีวิเศษในการแต่งกลอนเพลงยาว หรือที่เรียกกันว่ากลอนสุภาพนั้นอย่างเดียว.



....................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) นิราศพระแท่นดงรัง มีสองสำนวน สำนวนหนึ่งเป็นของสามเณรกลั่น อีกสำนวนหนึ่งเป็นของนายมี มิใช่สุนทรภู่แต่ - ธนิต อยู่โพธิ์

(๒) ได้พิจารณาหาหนังสือ ซึ่งแต่งนิทานเป็นกลอนสุภาพ บรรดามีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เรื่องโคบุตรเป็นเก่าก่อนเรื่องอื่นๆ นิทานที่แต่งเป็นกลอนครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งเป็นกลอนกาพย์ทั้งนั้น - สมเด็จกรมพระยาฯ

....................................................................................................................................................


คัดจาก
"ประวัติสุนทรภู่" พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือนิราศ สุนทรภู่


งานบางเรื่องของพระสุนทรโวหาร (ภู่)
- สวัสดิรักษาคำกลอน
- เพลงยาวถวายโอวาท
- นิราศภูเขาทอง
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 29 มิถุนายน 2550 เวลา:12:08:51 น.  

 
 
 
ดีใจด้วยนะจ๊ะ สำเร็จอย่างใจแล้ว อิอิ
 
 

โดย: NickyNick วันที่: 29 มิถุนายน 2550 เวลา:13:43:26 น.  

 
 
 
มาอ่านค่า....
....ลึกล้ำเหลือกำหนดจริงๆ....

ขอบพระคุณมากๆๆค่ะ
 
 

โดย: โตมิโต กูโชว์ดะ วันที่: 29 มิถุนายน 2550 เวลา:18:55:54 น.  

 
 
 
สวสัดีครับ พี่นิค
สวัสดีครับ คุณ โตมิโต กูโชว์ดะ

เห่อ Blog ใหม่
เลยไปรบกวนทั้ง ๒ ท่านมา Comment
ขอบพระคุณมากครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 30 มิถุนายน 2550 เวลา:10:27:39 น.  

 
 
 
ตามมาอ่านขอรับ
 
 

โดย: นอกราชการ วันที่: 1 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:28:12 น.  

 
 
 
สวัสดีที่นี่อีกครั้งครับ คุณ นอกราชการ
บล๊อกนี่สำเร็จได้ ต้องขอบคุณระบบออโต้ดีลีทแท้เชียว
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 2 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:51:13 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com