กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. ๑๐๘


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช


ประกาศเรื่อง เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ. ๑๐๘


มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเสด็จพระราชดำเนิรประพาสครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปนประธานในที่ประชุมเสนาบดี บัญชาการทั้งปวงสิทธิ์ขาดทั่วไป พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ว่าการกรมพระนครบาล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักรศิลปาคม เสนาบดีว่าการกรมวัง พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ว่าการทหาร เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ที่สมุหนายก เจ้าพระยาพลเทพ ที่สมุหพระกลาโหม พระยาภาสกรวงศ์ ที่เกษตราธิบดี เปนผู้รักษาพระนคร(๑) ซึ่งได้ประชุมกันในพระบรมมหาราชวังเปนนิตย์ทุกวันไป การอันใดเกิดขึ้นที่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาก่อน ก็ให้มีหนังสือไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ถ้าการอันใดร้อนเร็ว หรือเปนการไม่สำคัญ ก็ให้พร้อมกันบังคับบัญชาไปให้ตลอดทุกประการ อย่าให้คนทั้งปวงมีความวิตกหวาดหวั่นตื่นเต้นประการใดเลย

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘


........................................................................................................


(๑) ผู้ซึ่งมีตำแหน่งในที่ประชุมเสนาบดีไปตามเสด็จครั้งนั้น คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ กระทรวงมุรธาธร กับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กระทรวงธรรมการ



...............................................................................................................................................



สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ



พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๑



เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘



ถึง ท่านกลางแลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยระยะที่ฉันออกมาครั้งนี้ ไม่ตรงกันกับโปรแกรมที่กะไว้เดิม ต้องยักเยื้องไปตามเวลาที่ได้ช่องลมจัดไม่จัด แลตามความประสงค์ที่จะเที่ยวไปมา ไม่จำเปนที่จะต้องเอาเปนแน่ จึ่งขอเล่าเรื่องพอให้ทราบตามระยะที่ได้มาแล้ว

ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เวลาบ่าย ๔ โมงหย่อนเล็กน้อย ออกจากเมืองสมุทรปราการ เวลาหัวค่ำมีลมจัดคลื่นไม่สู้มากนัก แต่ฉันเมาเสียตั้งแต่พอเยี่ยมปากอ่าวออกมา ด้วยเวลาเย็นนั้นถึงอยู่บนบกก็ออกเมาๆ อยู่ทุกวัน เปนเวลาไม่สบาย กระทบคลื่นเข้าก็ยิ่งเมามาก ต้องนอนอยู่กับที่ลุกขึ้นไม่ได้ ถ้านอนอยู่ก็สบายเหมือนปรกติ(๑)

วันที่ ๑๒ เวลาเช้าโมงเศษ ทอดที่อ่าวเกาะหลัก ห่างฝั่งประมาณ ๕๐ เส้น อ่าวนี้กว้างประมาณ ๓ ไมล์ แลดูฝั่งข้างในเห็นเขาติดเปนเทือกยาวเหมือนเมืองปราณ ที่ริมหาดมีเขาหัวแหลมทั้งข้างเหนือข้างใต้ ที่ตรงเขาเลาหมวกปลายแหลมข้างใต้ออกมามีเกาะอยู่ใกล้ๆ กันสามเกาะ ในสามเกาะนั้น เกาะหนึ่งที่เรียกว่าเกาะหลัก เปนชื่อของอ่าวนี้ ที่ริมฝั่งกลางอ่าวมีเขาลูกหนึ่งเปนช่องเขาทลุโต

เวลาเช้า ๒ โมงขึ้นบกเปนเวลาน้ำลง มีหาดทรายมูลเป็ดยื่นออกมาในน้ำยาว ต้องลงเรือเล็กเข็นขึ้นไปถึงบนฝั่ง มีบ้านเรือนคนประมาณร้อยหลัง มีวัดวัดหนึ่ง คนอยู่ที่นี้ตัดฝางตัดไม้ขายเปนพื้น ทำนาแต่เข้าไม่พอกิน ต้องไปซื้อเมืองประจวบคิรีขันธ์บ้าง(๒) เพ็ชรบุรีบ้าง การทำปาณาติบาตก็ทำอยู่แต่พอกิน ไม่เปนท่าซื้อขายมากเหมือนเมืองปราณ มีโป๊ะอยู่ลูกหนึ่ง ได้พบบุตรหญิงพระยาสุรเสนา คง เปนที่พระอนุรักษ์โยธา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่คนหนึ่ง กับคนค้าขายมาจากเมืองเพ็ชรบุรีคนหนึ่ง มาแต่เมืองกำเนิดนพคุณคนหนึ่ง

ถามได้ความหลายอย่าง ในคำแจ้งความทั้งปวงนั้นว่าผู้ร้ายชุมนัก มาทั้งทางน้ำทางบก ผู้ร้ายนั้นเปนไทยพูดเสียงชาวนอกเปนพื้น การที่จะรักษาบ้านของชาวบ้านพวกนี้ ถ้ารู้ว่าผู้ร้ายมาแล้วก็หลบหลีกไปซุ่มซ่อนนอนเสียในป่า ถ้าผู้ร้ายไม่ได้ตัวเจ้าของบ้านแล้วก็ไม่กล้าเข้าปล้น ด้วยกลัวชาวบ้านจะคิดอุบายซุ่มซ่อนคอยนั่งรายสกัดทาง ถ้าได้ตัวเจ้าบ้านแล้วก็ทุบตีเร่งเอาทรัพย์ ถ้าได้ทรัพย์แล้วใช้ให้เจข้าของบ้านนำไปส่งถึงในป่าหรือในเรือที่มา ให้ร้องประกาศว่าเต็มใจให้โดยดี ผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์สมบัติเช่นนี่มีหลายครั้งมาแล้ว ชุมจัดอยู่ในระหว่างตั้งแต่เมืองเพ็ชรบุรีไปจนถึงเมืองกำเนิดนพคุณ ราษฎรพากันกลัวครั่นคร้ามไปด้วยอุบาย เห็นว่าจะต้องกันกับใบบอกพระยาเพ็ชรบุรี(๓) ที่มีเข้าไปบอกก่อนน่าจะออกมานี้ ขอให้เตือนเจ้าพระยาพลเทพ(๔) ให้คิดจัดการปราบปรามผู้ร้ายเหล่านี้ ตามที่ได้สั่งไว้นั้น

ขึ้นไปอยู่บนบกประมาณชั่วโมงหนึ่งกลับมาลงเรือ เวลาบ่ายมีลมมีคลื่นด้วยฝนตกบนฝั่ง ฉันหายเมาเปนปรกติแล้ว เวลาเย็นดูคลื่นค่อยสงบลง แต่เห็นว่าลมยังจัดนัก จะออกไปกลัวจะถูกคลื่นมากจึงได้จอดนอนอยู่ที่นั้น จันทรุปราคาจับเวลา ๘ ทุ่ม ๒๑ มินิต ต่อสามยามจึ่งได้ยินชาวบ้านยิงปืนแลที่วัดตีกลอง ออกเรือเวลา ๑๐ ทุ่ม

วันที่ ๑๓ เช้ามีลมจัดแต่ไม่มีคลื่น ต่อกลางวันจึงมีคลื่นอยู่ข้างจะเมากันยับเยิน แต่ฉันอยู่ตัวแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงถึงเมืองชุมพร ฝนมัวครึ้มไปยังค่ำ ๕ โมงเศษลงเรือไปขึ้นบกที่น่าตึกปากน้ำ พระยาชุมพรกับพระยาไชยา(๕)มาคอบรับ ตกแต่งลบปิกเชอที่ผนัง(๖) หุ้มผ้าแดงเสา ปูเสื่อเรียบร้อยขึ้น แต่ลมพัดจากหมู่บ้านมาที่ตึก เหม็นเหลือกำลังที่จะทนได้ พอเดิรขึ้นดูบนตึกแล้วก็กลับมาลงเรือ ฝนตกพรำไปเสมอไม่ใคร่มีเวลาเว้น ถามพระยาชุมพรแจ้งว่าคนที่หนีนั้นกลับมามาก(๗) แต่นาทำยังไม่ได้ผลบริบูรณ์ด้วยฝนแล้ง ได้แต่เข้าไร่ และไข้เจ็บยังมีชุกชุมอยู่ เวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ มีคลื่นแต่ลมสงบ

วันที่ ๑๔ เวลาเช้าโมงเศษถึงเกาะง่าม ทอดใกล้เกาะน่าตวันออกแลเห็นปากถ้ำเป็นโพรงๆ ที่เขานั้นมีต้นไม้น้อยแลเห็นศิลามาก ที่เกาะนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าได้ประทับถอดพระเนตรรังนกแต่ก่อน ฉันจำได้ว่าได้ตามเสด็จ แต่ครั้นเมื่อตีกระเชียงเข้าไปใกล้ ปากถ้ำที่ลงถึงน้ำเรือเข้าได้แต่ก่อนนั้น มีก้อนศิลาตกลงมาขวางเสียเรือเข้าไม่ได้ จะขึ้นก็ยากเพราะมีคลื่น ด้วยเกาะนี้เมื่อถูกปลายใต้ฝุ่นครั้งก่อนพังลงมามาก ตีกระเชียงอ้อมไปรอบเกาะ เห็นทับเล็กๆ ซึ่งปลูกไว้ตามก้อนศิลา สำหรับคนรักษาเกาะอาศรัยเฝ้ายามหลายหลัง ที่ย่านกลางเกาะเปนที่ประชุมคน มีทับอย่างเขื่องๆ หลายหลัง แลศาลเจ้าก่ออิฐหลังเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขา ที่ริมน้ำตรงนั้นลงมามีถ้ำรังนกถ้ำหนึ่ง มีรังนกอยู่ประมาณสักสามสิบสี่สิบรัง ต้องขึ้นไปดูแก้กระหายไปพลาง แต่ไม่มีเครื่องมือจะแซะ จีนผู้รักษาเอาไม้ไผ่กระทุ้งลงมาให้ดูเปนตัวอย่างสัก ๑๑ – ๑๒ รัง แต่เห็นมีตัวจับอยู่มาก จึงได้ห้ามเสียไม่ให้กระทุ้งต่อไป เวลา ๓ โมงเช้าออกเรือ ฝนตกแลมืดครึ้มไม่มีแดดเลย

เวลาเข้า ๕ โมงเศษ ถึงเกาะลังกาจิ๋วซึ่งพระยาไชยาจัดไว้รับ รูปร่างเกาะก็คล้ายกันกับเกาะง่าม แต่ที่นี่มีหาดทรายยาวท่วงทีดีกว่ามาก ลงเรือไปที่ด้านเหนือมีถ้ำสองช่องเหมือนภูเขาหลังโรงละคอน ช่องข้างตวันตกเรือสิบสองกระเชียงเข้าไปได้พอหมดลำ แล้วมีซอกพอเรือเล็กๆ ออกไปตกทเลข้างนอกได้อีกช่องหนึ่ง มีรังนกจับอยู่บ้างเล็กน้อย แต่อยู่สูงสอยไม่ถึง ออกจากถ้ำนั้นมาเข้าถ้ำข้างตวันออก เรือกระเชียงก็เข้าไปได้เหมือนกัน แต่ระยะทางยาวต้องใช้เรือทอดเปนตะพานเข้าไปอีกลำหนึ่ง ถ้ำนี้ใหญ่กว้างพื้นชันขึ้นไปสูง เต็มไปด้วยมูลนก มีปล่องแสงสว่างสองปล่องนกจับมาก ที่นี่เขาลงตะแกรงให้ดูตามวิธีที่เก็บรังนก ครั้นจะพรรณาให้ฟังละเอียดก็จะยืดยาวนักไป น่าดูมากเพราะเปนการประหลาดไม่เคยเห็น แต่น่าสงสารนกมากเหมือนกัน ด้วยลูกเล็กๆ ที่ยังบินไปไม่ไหวต้องตกจากรังมาก


สพานทางไปถ้ำน้ำที่มีรังนก เกาะลังกาจิ๋ว (รูปทรงถ่าย)

ออกจากถ้ำนี้อ้อมไปน่าตวันตก ขึ้นที่หาดแต่เปนหาดมีกะรังขึ้นยาก เขาทำปะรำไว้รับ มีถ้ำเล็กๆ เรียงกันไปสามถ้ำ ถ้ำกลางเรียกถ้ำคลองควาย มีรังนกที่ขาวบริสุทธิดีประมาณสักร้อยรัง ไม่มีตัวนกเลย ที่นี่ฉันได้แซะสอยเองลองดู แต่ยังพบไข่ทีเห็นจะฟักไม่เปนแล้วประมาณสักสามสี่ใบเหลืออยู่ในรัง ต่อไปเปนถ้ำใหญ่หน่อยหนึ่งเรียกว่าถ้ำน้ำ คือเวลาน้ำขึ้นถึงพื้นถ้ำ น่าถ้ำเปิดแสงสว่างเข้าได้ตลอด ในนั้นมีรังนกหลายพันติดกันไปทั้งนั้นดูงามมาก ดูเขาแซะสอยอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมงจึงได้กลับมาลงเรือ ออกเรือจากเกาะลังกาจิ๋วเวลาบ่าย ๕ โมง ฝนตกประปรายคลื่นราบ เวลาย่ำค่ำครึ่งทอดที่อ่าวหาดรี


นกทำรังในถ้ำน้ำ เกาะลังกาจิ๋ว (รูปทรงถ่าย)

วันที่ ๑๕ เช้าโมงครึ่งขึ้นบ้านหาดรี มีเรือนโรงสักหกเจ็ดหลัง หากินในการทำปาณาติบาต ตัดไม้ ตัดหวาย ทำไต้ เหม็นเต็มทีทนไม่ไหว ที่น่าอ่าวมีเกาะรายไปหลายเกาะล้วนแต่เกาะรังนกทั้งนั้น มีลำธารน้ำจืดไหลลงมาจนถึงหาดทรายแห่งหนึ่ง เดิรอยู่บนหาดหน่อยหนึ่งกลับลงเรือมา จะขึ้นหาดอื่น พอฝนตก ได้ออกเรือเช้า ๔ โมง มีลมพัดหนาว แต่ออกเรือมาจนเที่ยงฝนไม่ตก บ่ายสามโมงครึ่งถึงเกาะช่องอ่าวทอง ทอดใกล้เกาะงัวตาหลับ เวลาเย็นลงเรือขึ้นไปหาดเกาะงัวตาหลับ แล้วไปขึ้นหาดเกาะงัวตาหลำ ซึ่งเปนที่พวกรังนกอยู่เฝ้าถ้ำ รังนกที่เกาะงัวตาหลำนี้เปนมากกว่าทุกตำบล แต่ไม่เปนรังนกอย่างดีทีเดียวนัก ทางที่จะขึ้นไปปากถ้ำต้องขึ้นเขาถึงสองชั่วโมงสามชั่วโมง แล้วต้องลงทางปากปล่องบันไดถึง ๙๐ คั่น เวลาค่ำกลับมาเรือ ที่เกาะนี้มีน้ำจืดแต่ที่บ่อหาดเกาะงัวตาหลับแห่งเดียว เวลานี้น้ำขัดลงจึงได้คิดไปตักน้ำที่เกาะพงัน แล้วจึงจะกลับมาที่นี้ต่อไป ได้ออกเรือเวลา ๑๑ ทุ่ม

วันที่ ๑๖ เวลา ๓ โมงเช้าทอดสมอที่อ่าวเสด็จ ขึ้นบกเดิรตามลำธารไปถึงที่จารึกครั้งก่อน(๘) จารึกศักราช ๑๒๕๑ เติมลงอีกบรรทัดหนึ่ง แล้วเดิรต่อไปเปนธารทรายราบๆ บ้าง เปนก่อนศิลาบ้าง มีน้ำตกที่งามๆ อีกสี่แห่ง ขึ้นไปจนหมดก้อนศิลาถึงหลังเขา เปนธารพื้นทราบราบๆ ไม่มีศิลา ทางไปตามลำธารประมาณสักสอยร้อยเส้น จึงได้จารึกก้อนศิลาที่สุดด้วยอักษร จ.ป.ร. แลศักราช ๑๐๘ ไว้ แล้วเดิรต่อไปอีกสักสามสิบวาหรือสองเส้น ขึ้นถึงหลังเขาเปนที่ราบ พบไร่พริกมะเขือกล้วยซึ่งพวกบ้านใต้ขึ้นมาทำ เรียกว่าท้องชะนาง อยู่ในระหว่างยอดเขาสูงล้อม พื้นที่นี้สูงกว่าทเล ๕๕๐ ฟิต จึงได้ให้จารึกก้อนศิลาที่ปลายธารนั้นไว้อีกว่าต่อไปมีไร่ ได้ตัวขุนจ่าเมืองหัวเมืองพะงันให้มานำทางกลับ ลัดมาในหมู่ต้นไม้ ข้ามไหล่เขาสูงๆ ต่ำๆ ลงมาทางประมาณสักร้อยยี่สิบเส้นถึงปากธารข้างล่าง เวลาบ่าย ๔ โมงอาบน้ำแล้วกลับลงมาเรือ เวลานี้หยุดตักน้ำอยู่ที่นี้จนดึก

วันที่ ๑๗ พอสว่างออกเรือจะไปดูบ้านใต้ ซึ่งเปนบ้านใหญ่ในเกาะพะงัน มีเรือนประมาณสามร้อยหลัง ลมจัดทอดไม่ได้ ต้องเลยไปเกาะสมุย ทอดที่อ่าวแม่น้ำด้านตวันออกถึงเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงเช้าขึ้นบก มีโรงจีนท่าทางคล้ายกันกับอ่าวน่าค่าย แต่ที่นี่มีมะพร้าวน้อยกว่า เดิรไปตามในสวนถึงวัดเล (คือทเล) ทางประมาณ ๓๐ เส้น วัดนี้ไม่มีโบสถ์ ไปทำอุโบสถวัดเขา มีพระสงฆ์ ๖ รูป ออกจากวัดเลไปวัดเขาทางประมาณ ๒๐ เส้น เปนเนินสูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง มีโรงอุโบสถเสาไม้จริง หลังคามุงกระเบื้องสามห้อง เฉลียงรอบหลังหนึ่ง พระประธานใหญ่ลงรักไว้จะปิดทอง วัดนี้ก็ว่าเปนของขรัวพุดสอนสร้างเหมือนกัน แต่ทิ้งร้างไปพึ่งจะมีพระสงฆ์มาอยู่ในสองเดือนนี้ มีแต่กุฎีเปนที่พักเล็กๆ หลังเดียว

กลับมาลงเรือที่เก่า แล้วออกเรือจากเกาะสมุยกลับมาที่เกาะช่องอ่างทอง ทอดที่น่าเกาะงัวตาหลับตามเดิม เวลาบ่าย ๔ โมง ๒๐ มินิต ลงเรือไปดูเกาะที่เปนหมู่อยู่ที่นั้น มีสักสิบเอ็ดสิบสองเกาะ ดูไม่สู้งามเหมือนที่ชมกันฤๅที่คเนดูในแผนที่ว่าจะงาม ถ้าจะว่าตามความเห็นของช่างก่อเขาแล้ว ต้องร้องว่าก่อไม่เปนเลยทั้งนั้น เขาแลเห็นศิลามากสีเหมือนผนังโบสถ์ร้าง ต้นไม้ขึ้นก็เล็กๆ ให้นึกเห็นเปนวัดร้างในกรุงเก่ามากกว่าอย่างอื่น ที่สูงก็คล้ายพระปรางค์ยอดพัง ที่โตก็คล้ายผนังโบสถไม่มีหลังคา ถ้าจะว่าเปนเขาในอ่าวแก้วก็เรียงเปนแถวกันมากไป ไม่สลับซับซ้อนไปเหมือนอยู่แต่ที่ริมน้ำเปนรอยเซาะลึกๆ เข้าไป เหมือนกับภูเขาตั้งอยู่บนร้านตะกั่วที่ในอ่างแก้ว นอนอยู่ที่นี้จนเวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ

วันที่ ๑๘ ล่องจะไปทอดที่ในช่องสมุยอีก ลมจัดทอดไม่ได้ ฉันชอบใจลำธารที่อ่าวเสด็จ จึ่งให้กลับมาทอดที่นั้น ขึ้นไปอาบน้ำอีกวันหนึ่ง ให้จารึกที่น้ำตกแรกน่าต้นกร่างซึ่งเปนที่พัก บอกชื่อไว้ว่า “ธารเสด็จ” แลจะให้พระยาไชยาทำศาลาไวในที่นั้นด้วย แล้วกลับลงมาเรือ ได้ออกเรือเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ มาทอดที่อ่าวแม่น้ำเกาะสมุยอีก เวลาเย็นขึ้นบกไปที่ข้างแหลมเรียกว่าน่าพระลาน เปรที่ทราบยาวประมาณสัก ๔ เส้น กว้างสัก ๒ เส้น ไม่มีต้นไม้แลหญ้าขึ้นในที่นั้นเลย มีพระเจดีย์เปนซุ้มคูหาสี่ด้านซ้อนสามชั้นสูงประมาณสามวาอยู่ในกลางที่นั้นองค์หนึ่ง ว่าเปนที่บรรจุกระดูกขรัวพุดสอน ราษฎรนับถือกัน ถึงปีมาก่อพระทราย ถ้าเจ็บไข้ก็มาตั้งน้ำมนต์ ที่เตียนนั้นว่าผีมาคอยกวาด แต่แต่จืดเต็มทีไม่สนุกอะไรเลย ลงเรือตีกระเชียงอ้อมไปหาดด้านเหนือก็มีแต่โรงไร่โกไรโกเต ขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็กลับมาเรือ เวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ


พระบรมรูปสรงน้ำที่ธารเสด็จ เกาะพงัน

วันที่ ๑๙ วันนี้เปนวันคลื่นลมอยู่ข้างเรียบกว่าทุกวันตั้งแต่มา เปนแต่เวลาเช้ามีเล็กน้อย เวลาบ่าย ๒ โมงตรงแหลมตลุมพุก หยุดขึ้นดูแหลมตลุมพุกเปนหาดทรายแคบนิดเดียว มีเรือนประมาณ ๗๐ หลัง ปลูกต้นมะพร้าวมาก คนอยู่ที่นี้หากินด้วยทำปาณาติบาตเปนพื้น พวกสงขลาขึ้นมาทำมาก มีของที่เปนสินค้าขายออก คือปลาเค้า ปลากระบอก เคย แตง เปนมาก ซื้อเข้ากินที่ปากพนัง อยู่ข้างจะเหม็นจัดทั้งบ้าน บ่าย ๔ โมงกลับมาลงเรือแล้วออกเรือต่อมา คลื่นลมเงียบสบาย เวลา ๘ ทุ่มถึงเมืองสงขลา แต่ยังไม่ได้เข้าทอดที่ พักอยู่ข้างนอกก่อน

วันที่ ๒๐ พอรุ่งสว่างเลื่อนเรือไปทอดที่ พระยาสุนทรานุรักษ์(๙)นำแผนที่ทเลสาบลงมาคิดกะการที่จะไปเมืองพัทลุง เวลาบ่ายขึ้นบก เขาทำพลับพลารับที่น่าจวน กรมการแลภริยากรมการมาหา แล้วไปเที่ยวตลาด ตลอดจนถึงวัดมัชฌิมามาวาส การที่เมืองสงขลาจัดตกแต่งบ้านเมืองเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เขื่อนน่าเมืองที่ชำรุดก็ซ่อมใหม่ตลอด ถนนดาดปูนใหม่กว้างขวางหมดจด ที่วัดมัชฌิมาวาสตั้งแต่พระภัทรธรรมธาดาออกไปอยู่(๑๐) ก็ตกแต่งปักกวาดสอาดสอ้านขึ้นพอสมควรแก่เวลาที่ได้ออกมาอยู่น้อยวัน มีสัปรุษถวายของประมาณห้าสิบหกสิบคน มีนักเรียนร้องเพลงสรรเสริญบารมีกว่ายี่สิบคน ได้ถวายเงินเลี้ยงพระสงฆ์สามชั่ง แลเงินข้างในเข้าเรี่ยรายกันทำถนนในวัดสี่ชั่งหย่อน แลแจกเงินสัปรุษนักเรียน แล้วจึงได้กลับมาลงเรือ ผ้าพื้นในตลาดสงขลาปีนี่มีมากอย่างยิ่ง ด้วยรู้อยู่แต่ก่อนว่าจะมา ลงมือทอกันเสียตั้งแต่เดือนอ้ายเดือนยี่ก็มี ซื้อไม่พร่องเหมือนอย่างแต่ก่อน เมื่อผ่านไปแล้วกลับมาก็เต็มบริบูรณ์อย่างเก่า แต่ผลไม้สู้ครั้งก่อนไม่ได้ ส้มก็ยังมีน้อยไม่หวาน มีแต่มม่วง จำปาดะก็หายาก

ซึ่งกำหนดว่าจะไปเมืองพัทลุงแต่สองคืนแต่ก่อนนั้น เปนอันไม่พอทีเดียว ด้วยระยะทางตั้งแต่เมืองสงขลาไปถึงเกาะห้าเต็มวัน ไม่มีเวลาพอที่จะเที่ยวในหมู่เกาะเหล่านั้นได้เลย ระยะทางตั้งแต่เกาะห้าไปจนถึงเมืองพัทลุงก็ไกลเต็มวัน จะกลับไปกลับมาไม่ได้ จึงต้องคิดไปค้างที่เมืองพัทลุง เห็นว่าบางที่จะต้องค้างที่เกาะห้าสองคืน เมืองพัทลุงสองคืน ฤๅถ้ากระไรจะต้องค้างเกาะห้าอีกคืนหนึ่ง เมื่อขากลับคงจะต้องผ่อนผันตามเวลาที่จะพอควร กำหนดจะได้ออกจากเมืองสงขลาไปโดยทางทเลสาบเวลาพรุ่งนี้

ตัวฉันแลบันดาผู้ที่มา มีลูกโต(๑๑)เจ็บไข้วันหนึ่ง ด้วยไม่สบายรวนมาแต่กรุงเทพฯ แล้ว สองวันก็หายเปนปรกติ ฉันก็ค่อยมีกำลังแขงแรงมากขึ้นตั้งแต่ล่วงมาได้สี่วันห้าวัน เว้นแต่ท้องแลนอนนั้นยังไม่เปนปรกติทีเดียวนัก แต่เชื่อว่าคงจะสบายได้ในเร็วๆ นี้เปนแน่ คนอื่นก็มีความสบายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ให้เธอแจ้งความแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในให้ทราบทั่วกัน อย่าให้มีความวิตกถึงฉันเลย


สยามินทร์




........................................................................................................


(๑) เหตุที่จะเสด็จประพาสคราวนี้ เพราะทรงประชวร พอพระอาการคลายขึ้นจึงเสด็จไปเปลี่ยนอากาศตามคำแนะนำของแพทย์

(๒) ชื่อเมืองประจวบคิรีขันธ์มีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานเปนนามเมืองใหม่ซึ่งตั้งครั้งรัชกาลที่ ๒ เมืองเดิมอยู่ที่ใกล้ปากคลองบางนางรมในอ่าวเกาะหลักนั้นเอง แต่ต่อมาผู้ว่าราชการเมืองประจวบฯ ย้ายไปตั้งที่เมืองกุยอยู่ข้างเหนือขึ้นมา เพราะไร่นาบริบูรณ์กว่าที่บางนางรม

(๓) พระยาสุรินทรฦๅไชย (เทศ บุนนาค) ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาสุรพันธุพิสุทธ

(๔) เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม) ที่สมุหกระลาโหม ต่อมาได้เปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร เวลานั้นหัวเมืองปักษใต้ฝ่ายตวันตกยังขึ้นกระทรวงกลาโหม

(๕) พระยาชุมพร (ยัง) พระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาวจีสัตยารักษ์

(๖) คือรูปเด็กๆ เขียนเล่น เพราะตึกนั้นทิ้งอยู่ไม่มีผู้ดูแล

(๗) ก่อนนั้นเกิดไข้รบาด ราษฎรพากันอพยบหนีความไข้ไปอยู่ที่อื่น

(๘) เสด็จประพาสคราวแรกก่อนคราวนี้ปีหนึ่ง

(๙) พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม ณ สงขลา) ต่อมาได้เปนพระวิเชียรคิรี

(๑๐) เดิมอยู่วัดโสมนัสวิหาร ได้เปนพระครูอยู่วัดส้มเกลี้ยงในกรุงเทพฯ แล้วจึงเปนพระราชาคณะออกไปอยู่เมืองสงขลา

(๑๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖ - กัมม์)



...............................................................................................................................................




Create Date : 19 ตุลาคม 2550
Last Update : 19 ตุลาคม 2550 13:06:31 น. 9 comments
Counter : 7640 Pageviews.  
 
 
 
 
...............................................................................................................................................



พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๒



เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘



ถึง ท่านกลางแลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยแต่ก่อนได้บอกข่าวคราวเข้ามาเพียงวันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม จะขอบอกข่าวต่อไปตามลำดับ

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ได้รับหนังสือกรุงเทพฯ เขียนหนังสืออยู่ในเรือ จนบ่าย ๓ โมงจึงได้ขึ้นบก ฝนตกมาแต่เที่ยงเปนคราวๆ เมื่อเวลาขึ้นบกฝนสงบ แต่ครั้นเมื่อตีกระเชียงไปถึงกลางทางฝนกลับตกอีก พร่ำเพรื่อไปไม่หยุด ขึ้นพักอยู่บนพลับพลารับพวกกรมการและภรรยา กับทั้งราษฎรชาวร้านมาหา จนพลบกลับลงเรือ ตำบลที่หมายว่าจะไปเที่ยวแห่งใดไม่ได้ไป ป่วยการทั้งวัน

วันที่ ๒๒ เกือบโมงเช้าจึงได้ออกเรือ เพราะต้องกาหลกันในการที่จะพ่วงเรือไป เรือกลไฟน้ำตื้นที่จะไปในทเลสาปได้มีสามลำ คือเรือทอนิครอฟต์ลากเรือที่นั่งทรงที่นั่งรองผ้านุ่งห่มรวม ๔ ลำ เรือเซนต์ยอชลากเรือเจ้านายและเรือผ้านุ่งห่ม เรือครัวรวม ๕ ลำ เรือยาโรลากจูงเรือเครื่องเปนเรือหัวเมืองลำใหญ่ๆ ๓ ลำ ต้องเดิรตามร่องน้ำลึกไปจนถึงน่ามะระหุ่ม จึงเลี้ยวกลับเข้าปากช่องแหลมทรายเสียเวลาชั่วโมงหนึ่ง ได้เห็นป้อมเขาแดงและป้อมค่ายม่วงที่เขาแหลมสน ซึ่งเขาถางไว้ทั้งสองตำบล

ป้อมเขาแดงเปนป้อมสี่เหลี่ยมเล็กๆ แต่ป้อมค่ายม่วงเปนป้อมยาวตามริมฝั่งน้ำ เรือมาออกช่องเขาเขียวกับเกาะยอ แลเห็นแนวเขาและทิวไม้รอบ ไปค่อนข้างฝั่งเหนือแลเห็นต้นไมเสนัด มีต้นตาลมาก ตาลเหล่านี้ที่ทำ “ผึ้งฮบ”(๑) ลงมาขายตลาด มีต้นไม้อื่นๆ บ้างไม่หนานัก แลเห็นทุ่งหลังหมู่ไม้เปนที่แผ่นดินราบๆ ตลอดไป บ้านเรือมีรายเปนหมู่ๆ ไม่สู้เปลี่ยวนัก ตั้งแต่น่าบ้านป่าจากไปน้ำน้อย จักรเรือคุ้ยดินขึ้นมาสีแดงๆ จนเกือบจะถึงคลองปากรอ ซึ่งเปนที่กิ่วแห่งหนึ่งในทเลสาปน้ำจึงได้ลึก แต่คลองปากรอนั้นมิใช่เล็ก ถ้าจะเรียกว่าแม่น้ำก็ได้ กว้างกว่าคลองเกร็จมาก

พักร้อนที่หว่างบ้านปากบางกับบ้านแหลมจากต่อกัน ปักเตนต์ใหญ่ของพระยาสุนทรา พระยาจางวาง (เมืองพัทลุง) ยกรบัตรและหม่อมราชวงศ์หรั่ง เมืองพัทลุงมารับ(๒) ออกจากที่พักร้อนมาตามทาง เห็นบ้านปากจ่า มีบ้านเรือนมากเปนสามหมู่ ไปในระหว่างฝั่งกับเกาะญวนเรียกว่าคลองหลวง น้ำตื้นบ้างลึกบ้าง จนถึงบ้านปากพยูนซึ่งเปนช่องจะออกที่กว้าง มีบ้านเรือหลายสิบหลัง ต้นไม้และภูมที่งามนัก ฝั่งขวาเปนเกาะหมาก ฝั่งซ้ายเปนแหลมเขาปากพยูน ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนถึงปากพยูน มีเสารั้วโพงพางและยกยอตลอดระทางไป ไม่ได้ขาดเลย เพราะในตอนนี้ปลาชุม

พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบ บ่ายหัวเรือขึ้นเหนือจะไปตามน่าเกาะรังนก ลมพัดโต้น่าจัด น้ำก็ตื้น เรือไปได้เพียงน่าเกาะยิโส ซึ่งเปนเกาะที่สองหมู่เกาะสี่เกาะห้า ต้องปล่อยเรือกลไฟตีกระเชียงไปจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้ที่เกาะมวย เข้าทางช่องหว่างเกาะมวยกับเกาะพระต่อกัน เวลาค่ำจึงได้ถึง หลวงอุดมภักดี(๓)เจ้าภาษีรังนกมาคอยรับตั้งเลี้ยงอยู่ในที่นี้ ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้เรียกว่า น่าเทวดา คือเปนศาลสำหรับพวกรังนกไหว้ก่อนที่จะลงมือทำรังนก พระมหาอรรคนิกรเปนผู้มาปลูก มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่อยู่หลังหนึ่ง ที่เจ้านายข้าราชการอยู่อาศรัยโรงของเจ้าภาษีรังนกสองหลัง พื้นที่ที่ทำพลับพลาเปนที่เลนขึ้นตัดหญ้าถมทรายโรย เมื่อมาตามทางไม่ถูกฝน แต่ที่พลับพลาฝนตกอยู่ข้างจะเปรอะเปื้อน มีกลิ่นเหม็นตมเหม็นหญ้า เคยอยู่ในทเลกว้างๆ ขึ้นมาอยู่บนบกออกร้อน และฝนยังตกประปรายอยู่เปนคราวๆ มาเกือบสิบสองชั่วโมงออกเหนื่อย แต่ก่อนๆ ที่มากับเขา พักปากพยูนเปนเวลาพอดีอยู่ในสี่โมงเย็น แต่คำสั่งให้มาปลูกพลับพลาที่เกาะ เขาก็ทำตามคำสั่ง ก็นับว่าดีอย่างหนึ่งที่เที่ยวเสดวกไม่ต้องไปทางไกล

วันที่ ๒๓ ฝนตกแต่เช้ามืดพร่ำเพรือไปจนเกือบ ๕ โมงจึงหายสนิท ไปเที่ยวที่ตรงน่าพลับพลาซึ่งเปนศาลเจ้านั้น เปนเพิงเข้าไปตามเชิงเขา เพดานราบก่อแท่นไว้เปนที่ตั้งเครื่องสังเวยกว้างขวาง ในนั้นเปนที่ตำรวจและกรมวังอาศรัย ต่อไปข้างซ้ายเขาก่อสอบศิลาก้อนสูงขึ้นไปเปนที่ก่อพระเจดีย์ทราย เมื่อเวลาเลิกทำรังนกแล้ว มีชาตรีประชันกันเปนการฉลองทุกปี ในซอกเขากับที่ก่อพระทรายต่อกันปลูกร้านมุงกระแชง กระแชงเป็นที่ผึ่งรังนก ต่อนั้นไปเปนโรงครัวหลวงอุดมซึ่งมาตั้งเลี้ยง ข้างขวามือเปนเพิงเขาคล้ายกันกับที่ศาลเทวดาแต่กว้างกว่า เปนที่อาศรัยของพวกทำรังนก เดิมกั้นมาแต่เดี๋ยวนี้เปิดไว้ให้เปนที่ข้าราชการอาศรัย เพดานเพิงนั้นเปนควันดำรอยหุงเข้าตลอดไป ที่ตรงน่าเพิงมาข้างมุมพลับพลา หรือจะเรียกว่าค่ายหลวงอย่างย่อๆ เพราะกั้นด้วยหญ้าและผ้าฉนวนทั้งนั้น

มีบ่อน้ำร้อนแห่งหนึ่งก่อขอบไว้แล้ว มีเปนธารสั้นๆ ออกไปหน่อยหนึ่ง น้ำนั้นถ้าจะร้อนก็คงเปนด้วยหินปูนอย่างที่ท้องช้าง แต่เมื่อไปลองดูก็ไม่เห็นร้อน เปนแต่ไม่เย็นตามที่ควรจะเย็นเท่านั้น เดิรเลียบไปตามข้างเขาหนทางกว้าง แต่อยู่ข้างจะเปื้อนเปรอะด้วยน้ำฝน มีศิลาที่ท่วงทีงามๆ เปนช่องเหมือนปากถ้ำบ้าง เปนหลืบเปนโพรงพรุนไปทั้งนั้น มีต้นไม้ใหญ่เล็กและกล้วยไม้ประดับงดงาม ถ้าช่างก่อเขาเห็นก็จะไม่สู้ติว่า “ไม่เปน” นัก ไปทางประมาณห้าเส้นถึงที่จะขึ้นถ้ำ เรียกว่าถ้ำใหญ่ จ้องขึ้นเขาอยู่ข้างจะชัน ต้องมีบันไดสองตอน ถึงปากถ้ำ แล้วลงไปตามศิลาชันๆ ต้องผูกเชือกเปนราวไต่ลงไปถึงพื้นถ้ำ ในถ้ำกว้างกว่าสิบห้าวาสูงมาก ที่พื้นเปนมอสูงๆ ต่ำๆ มีหลืบซอกไปได้บ้าง อยู่ข้างจะมืด แต่ไม่ถึงต้องอาศรัยแสงเทียนมากนัก นกทำรังอยู่เสียในโพรงในซอกศิลาบนเพดานถ้ำมาก ไม่ใคร่แลเห็นรัง ต่อจุดไต้ผูกปลายไม้ขึ้นไปส่องจึงได้เห็น

การทำรังนกที่นี่ไม่ใช่ลงตะแกรงเหมือนอย่างที่ชุมพร ใช้พะองไม้ลำเดียวพากขึ้นไปสอย ที่สูงนักก็มีขาทรายรับ ไม้ถ่อที่สอยก็ใช้ลำเดียวไม่ต่อได้เปนท่อนๆ เหล็กปลายถ่อไม่ใช้เปนวงเดือน ทำเปนแบนๆ เหมือนปากสิ่ว เมื่อสอย หรือเรียกว่าแทงตามคำเขาเรียก ตกลงมาแล้วไม่ร้อง “ออย” อยู่ข้างจะถือลัทธิสุปัสติเชียสต่างๆ มีพิธีรีตองกันมาก แต่ดีอย่างหนึ่งที่เก็บรังนกแต่ปีละสองครั้งเท่านั้น แต่เดิมมาก็ว่าเก็บสามครั้ง แต่นกน้อยไปทุกๆ ปี จึงได้เปลี่ยนเปนเก็บสองครั้ง แต่นั้นมานกก็มากขึ้น รังก็หนากว่ารังนกที่ชุมพร ฉันเห็นว่ารังนกที่ชุมพรควรจะบังคับให้เก็บแต่สองครั้งได้เหมือนกันจึงจะดี ถ้าคงเก็บอยู่สามคราวเช่นนี้ นกคงจะหมดลงไปเสมอ ที่สงขลามีนกน้อยจึงได้รู้สึกได้เร็ว ที่ชุมพรมีนกมากก็ไม่รู้สึก แลเปนภาษีผูกขาดแท้ เจ้าภาษีคิดแต่จะหาประโยชน์ชั่วเวลาที่ตัวทำ ไม่ได้คิดบำรุงรักษาเผื่อกาลภายน่า ถ้าไม่จัดการตรวจตรามีข้องบังคับเสียให้ดี รังนกคงจะตกลงไปทุกปี ครั้นจะพูดให้ละเอียดในที่นี้ ก็จะยืดยาวนักไป ขอตัดตามเรื่องระยะทาง

กลับจากถ้ำใหญ่ ลงเรือข้ามไปถ้ำยู่หลีที่หัวเกาะพระตรงเกาะมวยข้าม เดิรเลียบเขาไป ศิลาตามเชิงเขาเปนโพรงพรุนรอยน้ำกัดไปทั้งนั้น ที่มีรังนกนั้นเปนโพรงลึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง มีรังนกบ้างเล็กน้อย อกจากถ้ำยู่หลีไปถ้ำแรงวัวที่เกาะดำ ถัดเกาะพระไป ก็คล้ายคลึงกันกับถ้ำยู่หลี กลับจากถ้ำแรงวัวมาขึ้นถ้ำลูซิมที่ในเกาะดำนั้นเอง ถ้ำนี้ปากช่องแคบเพราะมีเงื้อศิลาบัง เมื่อเข้าไปถึงปากถ้ำลอดศีร์ษะเข้าในที่บังแล้ว จึงปีนศิลาขึ้นไปหน่อยหนึ่งก็ถึงในถ้ำ เปนถ้ำใหญ่เหมือนฉนวนตรงลิ่วเข้าไปยาว แล้วจึงถึงที่กว้างแยกเปนขาไปอีกขาหนึ่ง เพดานถ้ำสูงกว่าถ้ำใหญ่ มีรังนกที่แลเห็นมาก แต่ยังไม่แน่นเต็มไปเหมือนถ้ำน้ำที่เกาะรังกาจิ๋ว ในถ้ำนี้มืดต้องจุดไฟ มีปล่องแต่สูงนัก แสงสว่างลงมาไม่พอถึงพื้น มีปล่องที่เปนช่องน่าต่างแลเห็นอยู่ภายนอก ไม่สู้สูงนัก แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในถ้ำเห็นปล่องนั้นสูงมาก พื้นถ้ำคงจะต่ำลงไปกว่าหลังน้ำบ้าง

กลับจากถ้ำลูซิม ผ่านน่าพลับพลาลงไปถ้ำเสือที่ท้ายเกาะมวยนี้เอง ขึ้นบกไปหน่อยหนึ่งถึงถ้ำแรด ย่อมกว่าถ้ำหลัง ออกเดิรจากถ้ำแรดนี้ไปนี้ไปไม่มากก็ถึงถ้ำใหญ่ ถ้ำทั้งสองนี้เปนโพรงเดิรได้ตลอดทั่วทั้งถ้ำ เหมือนกับเอาก้อนศิลาตั้งไว้บนเสาหลายๆ สิบเสา ไม่มีผนังโปร่งปรุเดิรลัดรอดไปได้ทั่วทั้งถ้ำ เขาในเกาะรังนกเช่นนี้เปนศิลาปูน เหมือนกันกับเขาข้างแควแม่น้ำน้อยไทรโยค และแควป่าสัก มักจะโปร่งปรุไปตามเชิงเขาแลมีถ้ำมากๆ เวลาน้ำท่วม ท่วมได้ถึงในถ้ำ พื้นถ้ำเปนรอยดินน้ำท่วมคล้ายๆ กันทั้งนั้น ศิลาที่น้ำท่วมจึงเป็นสีนวลๆ มีคราบน้ำจับเขียวๆ น้อยๆ พอสังเกตได้ ที่พื้นน้ำท่วมขึ้นไปก็เปนสีเทาแห้งๆ เหมือนปูนผนังโบราณ

เกาะรังนกแถบนี้ทรวดทรงสัณฐานก็ทำนองเดียวกันกับที่น่าเมืองชุมพร แต่มีท่วงทีงามๆ กว่า ไม่เปนเข้าไปเที่ยวในกรุงเก่าเหมือนเกาะอ่างทอง มีต้นไม้ใหญ่ๆ และต้นกล้วยไม้ใบเขียวสด ช่วยประดับประดาให้หายร้างขึ้นได้มาก นกพวกนี้ข้างชอบที่ชื้นๆ สังเกตดูที่ตรงไหนมีคราบน้ำเปนทาง นกมักทำรังตรงนั้นมาก ศิลาปูนเช่นนี้มักเปนซอกเปนแซกเปนแอ่งที่ขังน้ำ ฝนตกเวลาวานนี้แลวันนี้ทำให้มีน้ำหยัดน้ำซึมได้หลายแห่ง

กลับออกจากถ้ำเสืออ้อมเข้าไปดูเกาะเข็มข้างใน เกาะนี้เห็นข้างนอกเปนก้อนศิลาโตๆ รูปรีๆ ตั้งเกะกะอยู่สามก้อน แต่ครั้นเมื่อไปข้างในเห็นเปนรูปเขามอเช่นก่อลงไว้ในกระถาง ประดับด้วยต้นไม่ใหญ่เล็ก และมีหญ้าดาดลงไปจนถึงริมน้ำน่าดูอยู่ ในท้องทเลนี้น้ำยังกร่อยแต่มีบัวสายมีสันตะวาสาหร่ายตามริมๆ เกาะ ถ้าหันหน้าเข้ามาข้างเกาะแลดูคล้ายๆ ทุ่งที่น้ำท่วม ต่อเมื่อแลออกไปข้างฝั่งไม่แลเห็นฝั่งจึงเห็นเปนทเล เวลาบ่ายกลับมา วันนี้ฝนตกแต่เช้า บ่ายมีแดดพื้นแห้งดูค่อยสบายขึ้น เวลาเย็นก็มีลมพัดจนตลอดค่ำ

วันที่ ๒๔ เดิมคิดว่าจะไปเมืองพัทลุงในวันนี้ แต่ครั้นเมื่อเวลาวานซืนนี้ได้ความว่า ที่เมืองพัทลุงทำไว้แต่พลับพลาประทับร้อน เมื่อวานนี้จึงได้ให้พระมหาอรรคนิกรคุมเตนต์ขึ้นไปตั้ง จึงพักอยู่ที่นี่พอได้ทำการเวลาหนึ่ง ครั้นเวลาสายพระยาพัทลุง(๔)ลงมาแจ้งว่าได้ทำพลับพลาไว้ใหญ่โตพร้อมแล้ว เปนแต่สงสัยเล็กน้อยนำแผนที่มาให้แก้ไข

ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. และศักราช ๑๐๘ ไว้ที่น่าเพิงศาลเทวดาแห่งหนึ่งเปนศิลาปูนเราะง่าย แล้วลงเรือไปที่เขาชันเปนเกาะใหญ่ของเมืองพัทลุง อยู่หลังเกาะสี่เกาะห้า ระยะทางชั่วโมงหนึ่ง ตั้งข่ายไล่กระจง ในที่ที่ไล่นั้นเปนป่าคอแหลมกว้างสักสี่สิบวาเท่านั้น ขึงข่ายสกัดได้เกือบตลอด ข้างหนึ่งเปนทุ่ง ข้างหนึ่งเปนทเล ใช้คนประมาณ ๕๐ คน เข้าไปต้อนตีป่าใกล้ๆ ในป่านี้ไม่มีสัตว์อื่นเลยนอกจากกระจง เพราะเปนป่าโปร่งเดิรง่าย และกระจงที่นี่ตัวเล็กๆ เล็กกว่ากระจงที่เคยเห็นๆ กันอยู่สักครึ่งหนึ่ง สีตัวเหลืองท้องขาว ไม่โตกว่ากระต่าย ดูน่ารักมาก ต้อนมาเข้าข่ายแล้วก็ตะครุบจับเอาได้ง่ายๆ กิริยาที่จะมาไม่เหมือนเนื้อ ไม่หนีคนไกล วิ่งวิ่งหยุดๆ ไม่ใคร่จะเข้าที่รก วิ่งก็ช้าไม่เหมือนกระต่าย กิริยาที่วิ่งคล้ายหนูมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่มาได้เห็นหลายสิบตัว วิ่งหักหลังไปเสียมาก ไล่สี่เที่ยวจับได้สิบสี่ตัว คราวหนึ่งคงจะได้เห็นอยู่ในในสิบตัวขึ้นไปหาสิบห้าตัว การที่ไล่ได้น้อยเปนเพราะคนเราไปนั่งน่าข่ายมาก ล้วนแต่เสื้อสีสรรพ์ต่างๆ เกือบจะเปนหีบน้ำยาเครื่องเขียน ถ้ากระจงไม่ไล่ง่าย ที่สุดเกือบมานั่งตักได้ก็เห็นจะไม่ได้ตัว แต่เท่านี้ก็นับว่าเปนได้มากอยู่แล้ว คิดว่าจะพาเข้าไปเลี้ยงในกรุงเทพฯ ให้ได้ กระจงใหญ่มีบ้างแต่น้อย แต่ดูอยู่ข้างจะเขื่องกว่าที่เคยเห็นไปเสียสักหน่อยอีก เวลาเย็นกลับมาพลับพลา

วันที่ ๒๕ เวลาเช้าโมงหนึ่งออกเรือไปพัทลุง น้ำลงขอดเรือไฟ ต้องเข็นออกจากช่อเกาะ พอพ้นแล้วไปได้สดวก น้ำในทเลตอนเมืองพัทลุงลึกกว่าข้างนี้ พอพ้นแหลมจองถนนออกไปแลเห็นแต่ฝั่งข้างใต้และฝั่งตวันตก ตรงเมืองพัทลุงข้างเหนือไม่แลเห็นฝั่ง ในทเลนอกนี้ไม่มีเกาะ ถ้าแล่นตัดตรงไปได้ก็จะไม่ช้าเลย แต่ต้องอ้อมหาร่อง ๕ ชั่วโมงเต็มจึงได้ถึง พลับพลาตั้งอยู่ที่แหลมหากทรายปากคลองลำปำข้างเหนือ ต้องทำตพานยาวประมาณ ๓๐ วา ลงมาจนถึงที่น้ำลึกแล้วเดิรไปตามหาดจนพ้นที่น้ำกัดเปนชะวากจึงถึงพลับพลา

พลับพลานั้นทำเปนตรีมุขหลังเดียว แต่มีเรือนที่ข้าราชการอาศรัยตามสมควร เมืองนี้ใช้ปูนจัดเต็มที อัฒจันท์โครงไม้ก็ถือปูน แต่ของเขาทำพออยู่ได้สบาย เวลาที่ทำนั้นก็น้อยอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความอุตสาหมาก แต่ต้องอยู่ที่แจ้งกลางวันอายแดดร้อยจัด เวลาบ่ายลงไปดูจรเข้ที่เขาวางตะกางได้ในท้องทเล เปนจรเข้ย่อมๆ ยาวเจ็ดศอก แต่ยังทำฤทธิเดชได้บ้างหง่อยๆ ลากขึ้นมาดูบนหาดได้

แล้วเข้าไปดูเมืองพัทลุงตามทางบก เปนทางตัดใหม่ไปตามท้องทุ่งข้างวัดอนุราชธาราม ซึ่งเปนของพระยาจางวางสร้าง แล้วไปร่วมทางเดิรถึงที่ตลาด ตลาดมีของขายกร่อยๆ มีร้านผ้าอยู่สักสองสามร้าน นอกนั้นก็ขายของสด คนสัดสี่สิบห้าสิบคน มีของคนละกระจาดบ้าง ไม่ถึงคนละกระจาดบ้าง แต่ปลาสดแล้วเปนที่น่าสังเวชอย่างยิ่ง อย่างโตอยู่ขนาดปลากระดี่ อย่างเล็กจนถึงปลาซิว ร้อยเปนพวงๆ ขาย เพราะปลาในทเลตอนนี้ไม่มี ที่มาขายนี้เปนปลาในลำคลอง ที่ได้เห็นต่อไปอีกสองเวลา ได้ยินฉันบ่นถึงปลาอุตส่าห์สู้ไปหาได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่งฤๅสองตัววางขาย กุ้งก็มีแต่กุ้งต้มปลาย่างแห้งมาแต่ปากพยูนทั้งนั้น ผลไม้มีมม่วงมปริง แต่ผักอยู่ข้างจะมีมากหน่อยหนึ่ง

ไปแวะที่บ้านพระยาจางวาง แล้วไปวัดวังซึ่งเปนวัดถือน้ำ กลับจากวัดวังสั่งให้เอาเรือมารับที่บ้านพระยาจางวางเพราะอยากดูทางลำน้ำ (ลำปำ) เรือสิบสองกระเชียงล่องลงมาก็ไม่ขัดข้องอันใด ชั่วแต่ท้องเรือครือทรายครั้งหนึ่งเท่านั้น ลำน้ำตอนล่างนี้กว้างประมาณ ๘ – ๙ วา ถึง ๑๐ วา แต่ที่ปากช่องออกทเลมีทรายตื้นต้องเข็น น้ำในคลองจืดสนิทเพราะเปนลำธารมาแต่เขา แต่ตอนล่างมีสาหร่ายในทเลเข้ามาลอยรุงรังอยู่มาก น้ำในทเลก็จืดพอไพร่ๆ กินไม่รู้สึก จืดกว่าน้ำกร่อยในกรุงเทพฯ

ตามริมคลองบ้านเรือนกรมการ และคนที่พอมีอันจะกิน ตั้งอยู่ฝั่งข้างเหนือตลอดไป แต่เปนเรือนอย่างฝากระดานตามธรรมเนียม ขัดแตะถือปูนทั้งนั้น ไม่มีฝากระดานเลยนอกจากบ้านพระยาจางวาง ลดจากขัดแตะถือปูนก็เปนฝาสานทีเดียว ข้างทางบกที่มาก็มีบ้านเรือนมาก แต่เปนบ้านตีรั้วรอบ ไม่มีที่เปนโรงติดๆ กันเลย ถึงตลาดก็เปนร้านชำเท่านั้น จีนน้อยไม่ใคร่จะแลเห็นเลย เปนแปลกกว่าที่อื่นหมด เพราะไม่มีท่าค้าขายมาขึ้นที่ข้างค่ายหลวง เวลาเย็นร้อนเพราะดาดปะรำกันร้อนแดดไว้มาก เลยบังลมเสียไม่ใคร่เข้าไปได้ ต้องลงไปนั่งเล่นริมชายทเลสบายดี

วันที่ ๒๖ เกือบโมงเช้า ออกจากพลับพลาไปทางบกเหมือนวานนี้ เดิรทางไปข้างวัดวังผ่านวัดเบิกไปอีกวัดหนึ่ง แล้วต้องข้ามคลองเรียกว่าคลอง “พานสะล้า” ดูหน้าตาเป็นพานหมากเต็มที ต่อไล่เลียงจึงได้ความว่า เดิมตะพานนั้นมีศาลาคร่อมอยู่กลางน้ำจึงเรียกว่าตะพานศาลา แต่ชำรุดหนัก เขารื้อลงเสียทำตะพานให้กว้างออก ตะพานเดิมกว้างเพียงสามแผ่นกระดานเล็กๆ ศาลานั้นจึงใช้ไม่ได้

เมื่อมาในทเลแลเห็นเขาบนฝั่งเปนสามหย่อม คือข้างเหนือเขาแดง กลางเขาเมืองกับเขาอกทลุเห็นติดกันเปนหมู่เดียว ข้างใต้เห็นเขาหัวแตก เขาสามหย่อมนี้เปนที่หมายเมืองพัทลุงอยู่ตรงตวันตก เยื่องลงไปข้างใต้มีเขาไชยสนอีกเขาหนึ่ง แต่เมื่อครั้นเมื่อออกเดิรบกมาวันนี้ ตอนแรกแลเห็นแต่เขาแดง เขาเมืองกับเขาอกทลุแยกออกไปเปนสองเขา ไม่แลเห็นเขาหัวแตก ต่อเกือบไปถึงหัวเขาอกทลุจึงเห็นเขาหัวแตก เขาเมืองนั้นนัยหนึ่งเรียกว่าชัยบุรี มีเขาคอกอยู่ในนั้นแห่งหนึ่ง ก่อกำแพงสกัดหน้ายาวประมาณสามสิบวา ว่าเปนเมืองเก่าตั้งอยู่ในที่นั้น เปนความคิดเดียวกันกับเขาคอกไม่แปลกเลย กำแพงนั้นก็ยังอยู่

เขาอกทลุนั้นที่ยอดเขามีเปนยอดสูงโพกขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง มีช่องเปนปากถ้ำกว้าง ปล่องไปทลุข้างเขาอีกด้านหนึ่งตรงกันเป็นลำกล้องตะแคง แลเห็นฟ้าและต้นไม้ทางช่องนั้นได้ ว่าที่ในนั้นกว้างเท่าอันนาหนึ่ง แต่เห็นจะมากเกินไป เขาหัวแตกนั้นข้างเหนือเปนตัวเขา ที่เรียกว่าหัวแตก คือทีก้อนศิลาก้อนใหญ่แยกออกจากเทือกเขา สัณฐานเหมือนดอกเข้าโภช แลเห็นไปตั้งแต่พอออกจากเกาะสี่เกาะห้า น่าเขาข้างตวันออกตอนข้างใต้เรียกว่า คูหาสวรรค์ เปนที่ถ้ำซึ่งจะไปเดี๋ยวนี้ แลเห็นพระเจดีย์ที่วัดแต่ไกล เยื้อเขาหัวแตกลูกนี้ลงไปข้างใต้หน่อยหนึ่งเห็นเขาเจียกอีกเขาหนึ่ง ว่าระยะทางหกสิบเส้น มีถ้ำเหมือนกัน

ตามระยะทางที่ไป บันดาที่พื้นราบแล้วเปนนาทั่วไปหมดไม่มีที่ว่างเลย เว้นไว้ที่เปน “ควน” คือ เนิน จึงเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ ผ่านหมู่บ้านไปหลายตำบล ๆ หนึ่งมี ๒๐ – ๓๐ เรือน แต่ในหมู่เหล่านี้บ้านควนพร้าวเปนบ้านใหญ่กว่าทั้งปวง มีเรือนประมาณร้อยหลัง มีวัดสี่วัด หยุดพักที่วัดควนพร้าวหน่อยหนึ่ง จึงไปต่ออีก ที่ในกลางบ้านมีคนขายของขนมผลไม้ต่างๆ สัก ๖๐ – ๗๐ คน พบคนเดิรทางที่ไปซื้อของมาแต่บวนเมาสองพวก ที่บวนเมานี้เปนตลาดนัดของชาวบ้านป่า เว้นวันหนึ่งออกวันหนึ่ง ระยะทางอยู่ใน ๗ – ๘ ชั่วโมง มีผลไม้และผักต่างๆ มาขายมาก พวกชาวตลาดขึ้นไปรับลงมาขายในเมืองเสมอไม่ขาด

เดิรทางไปต้องข้ามน้ำลำปำบ่อยๆ เพราะแม่น้ำนั้นคดไปคดมา บางแห่งก็แคบเรียวลงไปจนสามวาสี่วา บางแห่งก็กว้างถึง ๖ – ๗ วา ราษฎรกั้นทำนบขังน้ำไว้ทำนาเปนตอนๆ ตลอดไป แม่น้ำนี้เองทำให้เมืองพัทลุงมีไร่นาบริบูรณ์มาก เลี้ยงเมืองสงขลาได้ทั้งเมือง คนในเมืองพัทลุงที่จะไม่ทำนาไม่มีเลย เกือบจะเปนหากินอย่างเดียวด้วยเรื่องทำนาทั้งนั้น ที่แผ่นดินก็อุดมดี ถ้าไม่มีน้ำลำปำนี้แล้วเมืองพัทลุงเห็นจะตั้งอยู่ไม่ได้ ดูสารพัดจะกันดารหมดทุกอย่าง ลงมาบริบูรณ์อยู่ข้างทเลสาบแถบปากพยูนทั้งนั้น แต่คนในพื้นเมืองอยู่ข้างมักน้อยสันโดษ เปนแบบเหมือนๆ กันไปเสียหมด ไม่สนัดการซื้อขาย ทำนาแต่พอไปแลกกับเข้าเมืองสงขลาขึ้นมากิน ผ้านุ่งก็ทอนุ่งเองเพียงปีหนึ่งคนละสองผืน ไม่ซื้อขายกัน แล้วก็อยู่เปล่าๆ สบายแล้ว การซื้อขายจึงเกือบจะเรียกว่าไม่มีอันใดได้ นอกจากของป่าเล็กน้อย

ในเดือนห้าปีนี้มีไข้ทรพิษมาก คนตายประมาณสักสามร้อยคน พระองค์หนึ่งมาปลูกฝีก็สับปลับไปคนไม่นับถือ ขยับจะหาเอาว่าฉ้อ ฉันจึงได้สั่งพระยาพัทลุงให้ส่งคนเข้าไปฝึกหัดที่โรงพยาบาล แล้วให้รับหนองโคออกมาปลูกฝีทุกปี แต่คนซึ่งตายที่อย่างในกรุงเทพฯควรฝังนั้น ถ้าเปนคนจนก็นำไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ถ้าเปนคนที่พอมีอันจะกินก็ปลูกแคร่เอาศพลงหีบไปตั้งไว้ที่วัด สุดแต่ไม่ให้ถูกดิน เมื่อขากลับฉันไปที่วัดพระยาขันใกล้กับวัดควนพร้าว พบหีบศพตั้งอยู่บนร้านมุงกระแชง หีบนั้นสูงกว่าหีบศพในบางกอกสองเท่า จนแรกเห็นนึกว่าหีบบรรจุของมาแต่นอก ตามหมู่ต้นรังเขาว่าแขวนกันเกลื่อนกลาดไปทั้งนั้น แต่ฉันไม่ได้ไปเห็น

เขาคูหาสวรรค์ที่ไปนั้น เมื่อจะเข้าเขตวัดมีสระๆ หนึ่ง ทางที่เข้าไปมีลูกเขาบังต้องเดิรเฉียงไป พื้นแผ่นดินแดงเหมือนเขาจันทบุรีตลอด ที่ตรงน่าวัดมีบ่อๆ หนึ่งว่าน้ำจืดสนิท แต่เวลานี้น้ำแห้ง มีถ้ำอยู่ที่ลูกเขาข้างน่าเป็นโพรงเล็กๆ มีพระพุทธรูปขึ้นไปบนชานชั้นบนอีกชั้นหนึ่งสูงสัก ๗ -๘ ศอก เปนพื้นราบกว้างสักสามสิบวา มีต้นไม้ใหญ่ปลูกรายรอบร่มรื่นดี ที่กลางลานนั้นยกพื้นอีกชั้นหนึ่งสูงสักศอกหนึ่ง มีโบสถ์สามห้องไม่มีผนังอย่างโบสถ์บ้านนอกข้างหัวเมืองตวันตกทั้งปวง มีพระประธนใหญ่ที่ลานชั้นกลางมีการเปรียญและกุฏิสงฆ์ ลูกพลับพลาประทับร้อนบนนั้น ว่าข้างภูมที่ท่วงทีเขาดีอย่างยิ่ง เหมือนอย่างเรานึกทำเล่น ถ้าจะทำเปนวัดหลวงจะงามกว่าวัดมหาสมณารามมาก

ขึ้นเนินลาดๆ ไปอีกหน่อยหนึ่งจึงถึงปากถ้ำ ที่ปากถ้ำนั้นก็มีเทือกเขาบัง ต้องเดิรเฉียงเข้าไปเหมือนกัน ถ้ำยาวสักสิบห้าวา ข้างแคบๆ กว่าหน่อยหนึ่ง แสงสว่างเข้าได้เต็มน่าเพราะปากช่องใหญ่ ถ้ำนี้เรียกว่าถ้ำน้ำเงิน เพราะน้ำซึมตะไคร่จับเขียวไปทั้งถ้ำ มีพระพุทธรูปนอนใหญ่องค์หนึ่ง นั่งใหญ่องค์หนึ่ง ย่อมๆ ลงมาอีกยี่สิบหกองค์ พระพุทธรูปนั้นก็น้ำเงินไปด้วยกันโยมาก ข้างหลังพระมีปล่องลงไปได้จนถึงพื้นล่างมีน้ำ ในนั้นทำนองถ้ำหมีแควป่าสัก แต่มืดต้องจุดเทียน ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. ไว้ที่เพิงน่าถ้ำอีกแห่งหนึ่ง แล้วเดิรกลับลงมาเลี้ยวไปตามทางข้างเขาอีกหน่อยหนึ่งถึงถ้ำนางคลอด ปากถ้ำสูงประมาณสี่วา เปนเวิ้งเข้าไปตื้นๆ ไม่อัศจรรย์อันใด

กลับมาถึงพลับพลาเวลาบ่ายห้าโมงครึ่ง เวลากลางวันลูกมีโนห์รา เวลาค่ำมีหนังตลุง ได้ให้คนไปดูที่ทเลน้อยแขวงเมืองนครศรีธรรมราช ระยะทางสองชั่วโมง น้ำตื้นเรือไปเข้าไม่ได้ ต้องลงเรือเล็กเข้าคลองนางเรียงไปอีกยี่สิบห้ามินิต ถึงในนั้นเปนที่มีดอกบัวหลวงสีขาว แต่น้ำตื้นจนราษฎรทำนาได้ในทเล ที่เมืองพัทลุงนี้จะหาของประหลาดฤๅที่ทำในบ้านเมือง ไม่มีอันใดเลยสักอย่างเดียว มีแต่หม้อดินขาว ซึ่งทำที่บ้านาระแนะในคลองปากประพรมแดนเมืองนครศรีธรรมราช ดินขาวดีกว่าคนโทลาวมาก แต่ชาวบ้านนั้นทำมาขายเมืองพัทลุงได้เล็กน้อยไม่ใคร่มีผู้ซื้อ เพราะปกติไม่ใคร่ซื้อขายกัน ไม่ออกจากเมืองได้ จึงมีภาชนะแต่สักสามสี่อย่าง รูปไม่เปนเรื่องทั้งนั้น ถ้ารู้จักทำรูปดีๆ จะดีกว่าดินสงขลามาก

วันที่ ๒๗ เวลาเช้าสองโมง ๔๕ ออกจากเมืองพัทลุง มาที่พลับพลาเกาะมวยเร็วกว่าเมื่อขาไป ๑๕ มินิต พอมาถึงก็มีพายุจัด ภายหลังเปนฝนตกพรำไปจนค่ำ ไม่ได้ไปไหนและไม่ได้ทำอะไร จึงจะพูดถึงทเลสาบหน่อยหนึ่ง ทเลสาปนี้มีที่กว้างเปนสองลอน ลอนต้นอยู่ในกลางเมืองสงขลา มีคลองหลายคลอง แต่คลองอู่สำเภาเปนคลองใหญ่ มีเกาะสองเกาะ ช่องที่จะออกไปลอนที่สอง เรียกว่าคลองปากรอ เปนแขวงสงขลาทั้งสองข้าง ข้างทิศใต้คลองบางไมเปนพรมแดนกับเมืองพัทลุง แต่ที่ของสงขลาเข้าไปแซกอยู่ในหว่างเมืองพัทลุงล้อมรอบตำบลหนึ่งเรียกว่าพะเกิด นอกนั้นเปนแขวงพัทลุงทั้งสิ้น ฝั่งข้างเหนือเปนแขวงสงขลา เกาะในทเลลอนที่สองนี้ บันดาเกาะใหญ่ๆ ตั้งแต่ปากช่องคลองปากรอออกไปเจ็ดเกาะ ๆ เล็กสามเกาะ ไม่มีประโยชน์อันใด ตกเปนของเมืองพัทลุง

แต่เกาะเล็กๆ ที่มีรังนกเรียกว่าเกาะสี่เกาะห้า รายอยู่ตามน่าเกาะใหญ่ของพัทลุงสิบเอ็ดเกาะ มีรังนกอยู่หกเกาะ กับเกาะหว่างช่องที่จะออกไปทเลลอนที่สาม ซึ่งน่าจะเปนของเมืองพัทลุงด้วยนั้น กลับเปนของเมืองสงขลา ยังเกาะเล็กๆข้างเหนืออีกห้าเกาะ จะเปนของสงขลาก็ดูจะควรอยู่ แต่เหตุที่เปนเช่นนี้ ก็เห็นจะด้วยเรื่องเมืองสงขลาผูกอากรรังนก จึงได้ยกมาให้ขึ้นเมืองสงขลาเท่านั้น ดูก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ที่พะเกิดนั้นเกือบจะแปลไม่ออก เห็นจะเปนด้วยเรื่องไม่เคี่ยมในที่นั้นจะมีมากแต่เดิมอย่างไร เมืองสงขลาสบเสียอยู่ก็ขอตัดเอาแต่ฉเพาะต้องการ แต่ในเวลานี้ก็ว่าไม่มีอันใด ดูน่ากลัวที่จะเปนซ่องโจรผู้ร้ายหลบหนีข้ามแขวงข้ามแดนได้ง่าย
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:13:08:48 น.  

 
 
 
(ต่อพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒)

ในทเลตอนที่สาม ตั้งแต่ทิศใต้โอบไปจนทิศตวันตกครึ่งทเล เปนแขวงเมืองพัทลุง ตั้งแต่ทิศตวันตกครึ่งทเลโอบไปจนทิศเหนือเปนแขวงเมืองนครศรีธรรมราช ทิศตวันออกเปนแขวงเมืองสงขลา ในที่ทเลต่อแดนกันนี้ ว่าผู้ร้ายชุมอย่างยิ่ง ฟังเสียงทั้งพัทลุงทั้งสงขลา กล่าวโทษว่าแถบทเลน้อยในแขวงเมืองนครมีคนตั้งบ้านเรือนมาก แต่เกือบจะไม่มีคนดีเลย ในหมู่นั้นเปนผู้ร้ายทั้งสิ้น ด้วยเปนปลายแดนห่างจากเมืองนครศรีธรรมราชมาก การติดตามผู้ร้ายยากลำบากอย่างยิ่ง การอันนี้ก็เห็นจะเปนจริง ด้วยหัวเมืองที่มีเขตแขวงติดต่อกันถี่ๆ หรือที่ขนาบคาบเกี่ยวกันและก็ ติดตามผู้ร้ายยากอยู่ด้วยกันทุกเมือง

วันที่ ๒๘ เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที ออกจากเกาะห้า ฝนตกพรำมืดคลุ้มมาแต่กลางคืนจนออกหนาว เวลาเที่ยงแล้วค่อยสงบฝน เวลาบ่ายก็ตกอีกจนตลอดถึงเรือ ขากลับเร็วกว่าเมื่อไปมาก เมื่อไปนั้น ๑๒ ชั่วโมงเต็ม ขากลับ ๙ ชั่วโมงเศษเท่านั้น เมื่อถึงเรือแล้ว เวลาเย็นมีพยุพักหนึ่งพอพลบก็สงบ

เมื่อก่อนที่จะขึ้นไปเมืองพัทลุง เห็นว่าเรือจะหยุดอยู่เปล่า จึงได้ให้พระยาไชยาลงไปเยี่ยมเยียนฟังราชการดู ที่เมืองกลัยตันเมืองตรังกานู พระยาไชยากลับมาถึงสงขลา แล้วตามขึ้นไปที่เกาะห้าแจ้งว่า พระยากลัยตันพระยาตรังกานูต้อนรับตามสมควร การทั้งสองเมืองนั้นก็เปนปรกติดีอยู่

กำหนดเดิมว่ากลับจากเมืองพัทลุง แล้วรุ่งขึ้นจะไปเมืองหนองจิก เห็นว่ากลับลงมาถึงเวลาเย็นผู้คนเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำ แลจะตั้งผู้ช่วยเมืองพัทลุง ได้สั่งให้เขาตามลงมา จึงได้ทอดนอนอยู่ที่สงขลาอีกคืนหนึ่ง

วันที่ ๒๙ เวลาบ่าย ขึ้นไปดูที่ปั้นหม้อตำบลบ่อพลับเหนือเมืองสงขลา เปนที่ปั้นหม้ออย่างบาง แล้วกลับออกไปดูที่เมรุพระยาสงขลา (๕) ซึ่งปลูกไว้ที่สนามหลังเมือง แล้วเข้าไปดูบ้านพระยาอนันตสมบัติ(๖) บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ เวลาบ่ายเปนพยุฝน ต้องรออยู่จนบ่าย ๕ โมงเศษ จึงได้กลับมาลงเรือ กำหนดว่าเวลาวันนี้แปดทุ่มจะออกเรือไปเมืองหนองจิก เมืองสายเปนที่สุด แล้วจะกลับขึ้นมาแวะเมืองเทพา เมืองกาญจนดิฐ เมืองไชยา เมืองหลังสวน ตามที่กะไว้แต่เดิม แต่วันคงจะเคลื่อนออกไปมาก ด้วยการที่มาเที่ยวครั้งนี้อยู่ข้างจะหาความสบายมาก ไม่รีบร้อนเหมือนครั้งก่อน ตั้งแต่มาถึงเมืองสงขลาแล้ว อาการที่เจ็บของฉันก็นับว่าเปนหาย ในระยะที่ไปเมืองพัทลุงครั้งนี้ ได้มีความสบายอ้วนขึ้นเสมอกับปรกติแต่ก่อนได้ แต่ยังไม่นับว่ามีกำไร บรรดาคนที่มาไม่สบายบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงนับว่าได้ พอจะบอกได้ว่าเปนสุขสบายอยู่ทั้งสิ้น


สยามินทร์





........................................................................................................


(๑) ชาวนครเรียกน้ำตาลงบว่า (น้ำ) ผึ้งฮบ เพราะใช้สำเนียง ฮ แทน ง

(๒) พระยาวรวุฒิไชย น้อย ท.จ. จางวางเมืองพัทลุง หม่อมราชวงศ์หรั่ง สุทัศน ณ อยุธยา บุตรหม่อมเจ้าจินดาในกรมหมื่นไกรสรวิชิตเปนญาติกับพระยาพัทลุง ทับ

(๓) หลวงอุดมภักดี พ่วง ณ สงขลา เดี๋ยวนี้เปนพระยาหนองจิก

(๔) พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) บุตร์พระยาจางวาง

(๕) พระยาวิเชียรคิรี (สังข์ ณ สงขลา)

(๖) พระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) น้องพระยาสุนทรานุรักษ์




...............................................................................................................................................



พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๓



เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ
วันที่ ๔ สิงหาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘



ถึง ท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยจดหมายระยะทางฉบับที่ ๒ บอกแจ้งความมาเพียงวันที่ ๒๙ บัดนี้จะขอบอกรายวันระยะทางต่อไป

ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคมนั้นได้ออกเรือจากเมืองสงขลา วันที่ ๓๐ มาถึงเมืองหนองจิกเวลาเช้าโมงหนึ่ง ที่ทอกสมอไม่มีอ่าวเกาะอันใดบังลม เหมือนกันกับหัวเมืองตอนล่างๆ ทั้งปวง แลไม่มีสิ่งที่จะเปนสำคัญสำหรับจำแน่นอนเปนเครื่องหมายอย่างไร นอกจากอาศรัยแผนที่ ด้วยมีเขาใหญ่ลูกหนึ่งก็ดูเหมือนๆ กับเขาทั้งปวง ไม่แปลกประหลาดอันใด เรียกชื่อว่าเขาใหญ่

พระยาหนองจิก(๑)ลงมาหาในเรือ ได้ไต่ถามด้วยเรื่องเขตแดนแลการต่างๆ แจ้งว่าข้างเหนือต่อแขวงเมืองเทพา ระยะทางเดิรวันหนึ่ง ข้างตวันตกต่อเมืองจะนะ ตวันตกกึ่งใต้ต่อจะแหน ทางไปสองวันทั้งสองตำบล ตวันตกเฉียงใต้ต่อเมืองยะลาทางวันหนึ่ง ทิศใต้ต่อเมืองตานี เดิรตามชายทเลชั่วโมงหนึ่ง แขกราษฎรมีประมาณสามพันหลังเรือน คนไทยประมาณสองร้อยคน เก็บเงินต้นไม้ทองเงินแต่พวกแขก พระยาหนองจิกคนนี้ได้ว่าการบ้านเมืองลดลงเก็บแต่คนละสองเหรียญ ว่าได้อยู่ในปีละสี่พันเหรียญ เห็นผิดกันกับจำนวนเรือนมากนัก ที่เปนดังนี้ ด้วยถามถึงคนมากคนน้อย กำลังบอกการบ้านเมืองเจริญอยู่ จำนวนเรือนจึงได้มาก จำนวนเงินน้อยไปนั้นก็เพราะเปนเงินคนไทยที่ว่าสองร้อยคน เก็บเงินส่งสงขลาคนหนึ่งปีละสองเหรียญ ได้เงินปีละสี่ร้อยเหรียญ แบ่งไว้เปนค่าเก็บ ๕๐ เหรียญ ส่งปีละ ๑๕๐ เหรียญ แต่เมื่อฉันพบพระครูวิบุลยสมณวัตร แจ้งว่าพระสงฆ์มีถึง ๑๖๐ ฤๅ ๑๘๐ คนสองร้อยเท่านั้น เลี้ยงพระสงฆ์ถึงเท่านี้ทุกวัน แล้วแต่จะโปรด เห็นจะเปนครั่นคร้ามพวกสงขลามาก ด้วยตัวพระยาหนองจิกก็สงขลาอยู่เอง ได้ความเช่นนี้จึงมิรู้ที่จะบอกแน่อย่างไรได้ในเรื่องคน

การทำมาหากินในเมืองนี้ มีแต่ทำนาอย่างเดียว บางปีเข้าได้ออกจากเมืองบ้าง แต่ไม่มากนัก สินค้าขาออกอาศรัยของมาแต่เมืองยะลา ที่เมืองนี้คอยแต่เก็บค่าด่าน ที่ว่าสินค้าออกนั้นก็ออกไปเมืองตานีทั้งนั้น สินค้าเข้าก็มาทางเมืองตานีนั้น ไม่มีจีนเลยสักคนเดียว เพราะไม่มีการค้าขายอันใดเช่นนี้ ตลาดก็มีแต่ร้านชำสองร้านสามร้าน ถ้าจะกินของสดหมูเปดไก่ก็ไปซื้อที่ตลาดเมืองตานี แต่ปลามีราษฎรทำอยู่มาก เปนคนเมืองกลันตันบ้าง เมืองอื่นบ้างขึ้นมาทำ

ที่หาดทรายปากอ่าวทั้งสองฟากมีเรือนกว่าร้อยหลัง ลำน้ำมีหาดทรายขวางน่า เวลาน้ำลงแห้งต้องเข็นเรือประมาณสักยี่สิบวา ต่อเข้าไปข้างในลึกน้ำจืดสนิท เพราะแม่น้ำไหลมาแต่ที่ยะรมเมืองรามัน ผ่านเมืองยะลาลงมา เวลาจวน ๕ โมงเช้าขึ้นบก เขาทำพลับพลารับที่ปากน้ำ พระยาตานีมาคอยอยู่สี่วันแล้วพึ่งกลับไป พระยาหนองจิกให้ไปบอกก็ขึ้นมาพร้อมด้วยพระศรีบุรีรัฐพินิจ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ ทราบว่าศาลาการเปรียญที่วัดเมืองตานีซึ่งฉันสร้างไว้นั้นเกือบจะแล้วเสร็จ จึงคิดว่าเปนโอกาศดีพอที่จะฉลองได้ จึงปล่อยให้พวกเมืองตานีกลับไปจัดการรับที่เมืองตานี แลให้นัดเมืองยิหริ่งซึ่งได้ไต่ถามดูลู่ทางเห็นพอจะไปได้อีกเมืองหนึ่ง ให้ปักกรุยร่องน้ำไว้คอยรับ แต่ตัวพระยายิหริ่งและพระโยธานุประดิษฐว่าขึ้นไปต้องคดีอยู่ในเมืองสงขลา

ได้สั่งห้ามปรามไปทั้งเมืองตานีแลเมืองยิหริ่ง ไม่ให้ต้องทำพลับพลาเพราะว่าจะขึ้นไปเที่ยวเวลาเดียวกลับ แล้วลงเรือกระเชียงเข้าไปในลำน้ำ มีบ้านเรือนรายๆ ไปไม่ขาด เห็นปลูกแต่หมากกล้วยอ้อยแลไร่ยาสูบเปนแห่งๆ นอกนั้นเปนทุ่งนาตลอด ลำน้ำก็คล้ายๆ กันกับลำน้ำเมืองตานี เปนแต่ย่อมลง ขึ้นไปประมาณครึ่งชั่วโมงเศษถึงบ้านตุยงซึ่งเจ้าเมืองอยู่ เดิมตามถนนซึ่งเปนถนนแคบ แต่งใหม่ให้ใหญ่กว้างขึ้นไปสักสามสี่เส้นถึงบ้านเจ้าเมืองอยู่ข้างถนน มีบ้านกรมการแลราษฎรเล็กน้อยห่างๆ เปนทางผ่านไปในท้องนาสิบสี่เส้น ถึงวัดตุยงมีพลับพลา ขนาดพลับพลายกอีกหลังหนึ่ง ปลูกอยู่ในกลางลานวัด พระอุโบสถหลังคาจากสามห้องไม่มีฝา ผูกพัทธสีมาแล้ว มีก้อนหินวางไว้เปนที่กำหนดเขต มีศาลาการเปรียญหลังคาจากหลังหนึ่ง กุฎีแฝดฝากระดารหลังหนึ่ง ฝากระแชงอ่อนซุดโซมอยู่หลายหลัง ว่าเปนวัดของพระยาหนองจิก เกลี้ยง พระเรียกว่าพระยาแก้มดำเปนผู้สร้าง เปนวัดถือน้ำพิพัฒสัจจา ฉันเห็นว่าดูเปนที่น่าสังเวชนัก จึ่งได้มอบเงินให้พระยาหนองจิกไว้ยี่สิบชัง ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นพอได้เปนที่ถือน้ำ เมื่อทำแล้วเงินขาดเท่าใดจึงให้เบิกต่อไป แลให้ชื่อวัดด้วยว่า วัดมุจลินทวาปีวิการ พระครูเจ้าวัดอยู่ข้างเปนคนแขงแรง ที่กุฎีก็ตกแต่งวาดเขียนกาววาวสนุกอยู่ มีประหลาดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธรูปยืนในนั้นสององค์นุ่งสโหร่งทั้งคู่

เมื่อมาตามทางในเรือฝนตกพักหนึ่ง ครั้นเมื่อนั่งอยู่บนพลับพลาที่วัดฝนตกอีก จนพลับพลาคุมไม่ได้ ต้องไปอยู่บนกุฎีพระครู พอฝนซาออกเดิรกลับมาได้ครึ่งทางฝนตกลงมาอีกมาก จึงได้แวะเข้าไปดูบ้านพระยาหนองจิก เปนเรือนจากสองหลังพื้นไม้หมาก มีโรงอีกสองหลังอยู่ข้างจะเก่ากรอบแกรบเต็มที เรือนพระขลุงและพระพิไชยชลธีเมืองประจันตคิรีเขตดีกว่ามาก เปนการผิดคาดผิดหมายที่ขึ้นชื่อว่าเปนเมืองประเทศราช แลมีจำนวนเรือนถึงสามพันหลัง ไม่คิดเห็นว่าจะเปนเช่นนี้ ถ้าดูตำบลตุยงแล้วพอตีรั้งกันกับเมืองขลุงทีเดียว

บ่ายสามโมงกลับลงมาเรือ ต้องเข็นบ้าง ให้ตราภัทราภรณ์พระยาหนองจิกดวงหนึ่ง กับเงิน ๔๐๐ บาทให้แจกคน ๒๐๐ คนซึ่งเกณฑ์มาใช้ แลให้รางวัลผู้ซึ่งถวายของตามสมควร รอรับฟืนอยู่จนเวลาดึก ด้วยเขาได้ตัดตระเตรียมไว้มาก เวลาค่ำเขาตั้งล้อมวงบนบก กองเพลิงแลมีกลองแขกอยู่จนดึก ได้ให้ใบอนุญาตวิสุงคามสีมาด้วยสองวัด เพราะเปนการยากลำบากที่จะเข้าไปขอถึงกรุงเทพฯ ของหัวเมืองเหล่านี้ยิ่งนัก

วันที่ ๓๑ ออกเรือมาแต่ ๘ ทุ่ม ๑๕ มินิต ทอดสมอน่าเมืองสาย เช้าโมงครึ่งทอดได้ใกล้ฝั่ง เปนหาดทรายยาว แลเห็นเขาโตๆ อยู่ไกลๆ ที่อยู่ใกล้สองเขาคือบุเกะสิโลบายู บุเกะบาตา ซึ่งอยู่ในตำบลบ้านสิลินองบายูที่เปนเมืองสายใหม่นี้ พอเปนที่สังเกตจำได้ถนัด พระยาสาย(๒)พาศรีตวันกรมการและเรือแขกลงมารับ ๗๐ ลำ คนลำหนึ่ง ๑๕ – ๑๖ คน ที่เปนลำย่อมๆ จน ๔ – ๕ คนเปนที่สุด คนกว่า ๕๐๐ มีเครื่องแห่ฆ้องประจำเรือ และพิณพาทย์จีนด้วยลำหนึ่ง พระยากลันตันมาด้วยเรือยอตช์ใหญ่สองลำ ทอดอยู่ที่น่าเมือง แต่ตัวพระยากลันตัน พระยาสายรับเข้าไปให้อยู่ในลำน้ำ จัดเรือกำปั่นให้อยู่หมดลำหนึ่ง พวกเมืองกลันตันก็ลงเรือมาลอยรับอยู่พร้อมด้วยพวกเมืองสาย ได้ออกแขกเมืองอย่างครึ่งยศในเรืออุบลบุรทิศ รับพระยากลันตัน ๑ พระโยธีประดิยุทธรายามุดา ๑ พระรัษฎาธฺบดีบุตร ๑ เมืองสาย พระยาสาย ๑ พระรัตนมนตรี ๑ พระวิเศษวังศา ๑ พระยากลันตันแจ้งความว่า พระยาเดชานุชิตได้ลงมาถึงปากน้ำแล้วไม่สบาย (ทำนองเมาคลื่น) ต้องกลับขึ้นไปพูดจาแสดงความชื่นชมยินดีต่างๆ พระยาสายได้จัดสะเบียงอาหารและฟืนลงมาส่งเรือทุกลำเปนอันมาก

เวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง แต่งตัวเครื่องยศขึ้นบก มีเรือแขกนำสองลำ นอกนั้นตามไปภายหลัง ตั้งแต่เรือไปจนถึงปากช่องลำน้ำประมาณครึ่งไมล์เปนหาดทรายสลับบังกัน คล้ายอย่างปากช่องเมืองกลันตัน เปนแต่ย่อมกว่าเหมือนแหลมตลุมพุกเมืองนครศรีธรรมราช กับแหลมเมืองตานี ที่คอหาดสองข้างเป็นหมู่ต้นสน ต่อนั้นไปเปนสวนมะพร้าวแลเห็นไปโดยรอบ ที่ปลูกใหม่ออกมาตามหาดทรายก็มี ดูเปนเมืองที่กำลังปลูกสร้างอยู่ไม่ถอยหลัง ลำน้ำกว้างใหญ่ มีคลองเล็กน้อยแยกไปหลายทาง ล้วนแต่เปนสวนมะพร้าว และหมู่ต้นตาลและเรือนโรงที่คนอาศรัยรักษาสวน เปนระยะกันไปมิได้ขาด ที่กลางน้ำมีทรายมูลเปนเกาะ ร่องน้ำอ้อมไปตามท้องคุ้ง ท่วงทีโรงเรือนและลำแม่น้ำต้นไม้ก็คล้ายเมืองตรังกานู บางแห่งมีไร่ยาไร่อ้อย ที่เปนบ้านหมู่ใหญ่ก็มี คนมานั่งดูหลายๆ ร้อยคน เห็นจีนมีเนืองๆ แต่ราษฎรที่มาดูผู้หญิงคุมหัวน้อยคน ไม่เหมือนกลันตัน และเมืองตรังกานู ดูงาม

ที่หัวคุ้งสุดถนนบ้านจีนมีตึกจีนก่อกำแพงสกัดน่าหลังหนึ่ง มีเรือค้าขายเปนเรือทเล จอดอยู่สักสิบเอ็ดสิบสองลำ เรือศีร์ษะแบนๆ รูปร่างคล้ายเรือเหนือบันทุกเพียบๆ สี่ห้าลำ พอแลเห็นสังเกตได้ว่าเปนเรือเหนือจอดอยู่ตามริมฝั่ง ไปประมาณสัก ๕๐ มินิตเศษถึงท่าน่าพลับพลา ฉนวนน้ำแลแต่ไกลนึกว่าเปนตะพานน้ำ น่าสุเหร่าใช้โครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว แลดูแต่ไกลเหมือนก่ออิฐถือปูน ท่วงทีเปนอย่างแขก มีปะรำตั้งแต่ตะพานขึ้นไปจนถึงพลับพลา มีร้านดาดปะรำพระสงฆ์นั่งข้างหนึ่ง ๗ รูป ข้างหนึ่ง ๖ รูป นั่งชยันโตคอยประน้ำมนต์ พระครูเจ้าคณะมานั่งอยู่ด้วย วัดที่พระครูอยู่แขกเรียกว่ากรากี แต่พระครูบอกเองว่าวัดกรักขีเปนวัดโบราณ อยู่ไกลออกไป

ที่พลับพลานั้นทำเปนสี่มุข ยกพื้นกลางสูง มีพนักรอบเหมือนอย่างจะตั้งพระเจดีย์หรือฐานสุกชีพุทธปรางค์ปราสาท ตั้งโต๊ะเก้าอี้เปนที่ประทับบนนั้น มุขและเฉลียงด้านหลังกั้นม่านแพรสีต่างๆ เปนข้างใน ที่ช่องม่านจะขึ้นไปบนยกพื้นกลางตัดผ้าปะเปนซุ้ม มีรูปช้างสามเศียรและตราเกี้ยวยอดแบนๆ มุขซ้ายขวายกพื้นไว้เปนที่เจ้านายนั่ง มุขน่าพื้นลดเสมอเฉลียง สำหรับหัวเมืองเฝ้า มีรั้วไม้ไผ่ขึงผ้าขาวเปนกำแพงรอบ ซุ้มประตูเหมือนกระบังหน้ามีจอนหู การที่ทำและที่ตกแต่งพลับพลาทั้งปวง เห็นชัดว่าเปนฝีมือแขก อยู่ข้างคล้ายสุเหร่ามากกว่าพลับพลา

พวกเมืองกลันตันและเมืองสายขึ้นมาหา พระยาเดชานุชิตฝากหีบหมากทองสัมฤทธิ์เลี่ยมทอง เครื่องในนาก เปนอย่างหีบหมากแขกเช่นเลี้ยงอยู่ที่บ้าน เมื่อเวลาไปเมืองกลันตันมาให้ใบหนึ่ง กับหอกคอทองสลักสองเล่ม หอกคอทองตามธรรมเนียมและผ้าส้าโหร่งรายา ปรำปวนซึ่งเปนภรรยาพระยาเดชานุชิต มารดาพระยากลันตัน และตนกูปัตรีบุตรพระยาเดชานุชิตพี่พระยากลันตัน ซึ่งเปนภรรยาพระยาตานีคนก่อน ฝากผ้าส้าโหร่งไหมมาให้แม่กลางคนละสองผืน ผ้านั้นเนื้อหนาละเอียดเหมือนอย่างแพรฝรั่ง เปนของทอในวังเมืองกลันตัน ควรนับว่าเปนฝีมืออย่างเอกได้ พระยาสายและญาติพี่น้องสีตวันกรมการก็ให้ของต่างๆ มีอาวุธเปนต้น ได้แจกของตอบแทนตามสมควร ข้างในภรรยาและญาติพี่น้องพระยาสาย สวมเสื้อแพรประดับลายทองคำสลักเปนเพ็ชรโสร่งแทนลายปัก เหมือนอย่างเสื้อปักดิ้นหลายคนมาต้อนรับ

ได้ถามการต่างๆ ในเมืองสายได้ความว่า ลำน้ำนี้มีทางแยกไปได้สามทาง คือทางยี่งอไปเมื่อเก่า ซึ่งอยู่สูงขึ้นไประยะทางวันหนึ่ง พระยาสายเห็นว่าระดูแล้งน้ำแห้วเรือเดิรไม่ตลอด จึงได้เลื่อนลงมาตั้งเสียที่เมืองใหม่นี้ ได้สิบแปดปีมาแล้ว แต่เมืองเก่ายังมีคนมากกว่า แม่น้ำอีกแยกหนึ่งไปที่กะลาพอ อีกแยกหนึ่งไปเมืองระแงะ ปลายคลองจดเมืองรามัน คนในเมืองได้ตรวจดูบาญชีครั้งก่อนมีห้าพันหลังเรือน แต่เดี๋ยวนี้คนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหาได้ตรวจดูไม่ จีนมีประมาณสัก ๗๐ – ๘๐ หลังเรือน แต่ไม่ต้องเสียอะเสค่าต้นไม้เงินทองเหมือนพวกแขก ผิดกันกับที่เมืองกลันตัน เข้าเก็บเสมอหน้ากัน

คนในพื้นเมืองทำนาทำน้ำตาลตโนดปลูกมะพร้าว พวกจีนทำสวนมะพร้าว ปลูกเผือกปลูกมันและซื้อขายในตลาด มะพร้าวเปนสินค้าตรงเข้าไปขายกรุงเทพฯ น้ำตาลตโนดไปขายเมืองสิงคโปร์ เข้าไปขายเมืองกลัยตันเมืองตรังกานู เรือเหนือบันทุกฝิ่นยาสูบยาแดงปลา ขึ้นไปขายถึงบ่อทองเมืองระแงะและเมืองรามัน ขาล่องบันทุกดีบุกบ้าง ข้าสารบ้าง เก็บภาษีเข้าสารร้อยคันตังเป็นครึ่งเหรียญ ปีหนึ่งเข้าออกอยู่ในแสนคันตัง (๒๐๐ เกวียน) คนไทยจีนแขกอยู่ปะปนกันไม่ได้แบ่งแผนกเหมือนเมืองตานี

ทางเดิรตั้งแต่น่าพลับพลาไปจนถึงบ้านพระยาสาย ที่ริมเขาสิโลบายูกว่าสิบเส้น เปนทางกว้างทำไว้แต่สร้างเมือง ตกแต่งบ้าง ข้างทางมีร้านขายผ้าอยู่สองสามร้าน มีบ้านเรือนล้อมรั้วหันๆ รีๆ เกะกะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็ทำนองเมืองตรังกานู ที่น่าบ้านพระยาวสายทำพลับพลายกไว้หลังหนึ่ง ในที่ซึ่งถางกว้างเปนสนาม ไม่มีต้นไม้เลย รั้วบ้านกว้างประมาณสักสองเส้นเศษ ทำตึกขึ้นใหม่เปนสองหลังเคียงกันมีหลังหนึ่งชักกลางถึงกัน เปนความคิดและฝีมือจีนเปนแขกบ้างตามความปรารถนาของเจ้าของ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ที่อยู่เดี๋ยวนี้ข้างหลังตึกนั้น เปนเรือนแฝดฝาสานหลังหนึ่ง เรือนหลังเดียวล้อมสี่ห้าหลัง ชายแล่นถึงกันปูด้วยไม้หมาก ทำเปนมุขยื่นออกมาตรงกลาง และที่ตรงเรือนแถวที่จะเปนหอนั่งยังไม่แล้ว แต่ในบ้านนั้นไม่มีต้นไม้เลย แดดร้อยจัด ถามดูว่าทำไมจึงไม่ปลูกต้นไม้ ก็ว่าจะคอยหาต้นไม้ในกรุงเทพฯ ออกมาปลูก

แล้วจัดการเลี้ยงที่เรือนเก่า ของหวานนั้นเลี้ยงเสียแต่ที่พลับพลาล่าง ใช้จานช้อนโต๊ะหนึ่งห้าสิบกว่าใบ แต่ขนมข้างล่างนั้นเปนฉาบๆ ข้างบนเปนชุบๆ คล้ายๆ กับที่ทำกันอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่สู้แปลกนัก ที่น้ำเย็นและที่น้ำชาใช้เหมือนเมืองกลันตัน มาเลี้ยงที่บ้านนี้เลี้ยงแต่ของคาวอย่างเดียว ไม่มีของหวาน สำรับเลวๆ ใช้โต๊ะทองเหลืองซ้อนกับเข้าสี่ชั้น แต่ที่ตั้งเครื่องใช้ถาดเงินเยอรมันโถฝรั่งเหมือนสำรับไทย แปลกแต่กับเข้าเปนสีเหลืองๆ ดำๆ ไม่มีแดง เทือกแกงการีอย่างเหลืองเปนอาหารแขกทั้งนั้น การที่จัดรับรองทั้งปวงนั้นดูเปนที่ชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง ทำจนสุดกำลังที่จะทำได้ ภรรยาและญาติพี่น้องยกสำรับเองทั้งสิ้น

เมื่อกลับมาแวะไปดูตลาดจีน ซึ่งเลี้ยวไปตามลำน้ำประมาณสักห้าหกเส้น มีร้านขายผ้าและร้านขายของมาก เมืองที่สิลินังบายูนี้ แลเห็นได้ว่าเปนเมืองใหม่ยังไม่บริบูรณ์เต็มที่ เพราะเมื่อก่อนสิบแปดปีนี้เปนป่าทีเดียว จนเดี๋ยวนี้ที่หลังเขาสองยอดที่กล่าวมาแล้วยังมีเสือมีเนื้ออยู่ พระยาสายคนนี้ไม่แต่พูดภาษาไทยได้ รู้หนังสือไทยดีทีเดียว ได้ทดลองให้อ่านแล้ว เมื่อครั้งก่อนชวนให้พูดก็งกเงิ่นไป ครั้นมาครั้งนี้แต่แรกก็ไม่ใคร่จะพูด ต่อภายหลังคุ้นเคยและปลื้มมากเข้า ลงกราบทูลเป็นภาษาไทยหน่องแหน่งเปนเสียชาวนอก เพราะได้เรียนหนังสือที่เมืองสงขลา อยู่ข้างจะเปนคนแขงแรง ถึงพวกสงขลาก็สรรเสริญ ว่าในทางราชการอยู่ข้างเข้าใจดีมาก แต่เปนไทยอย่างเก่าแท้

เดิมคิดว่าจะใคร่ออกเรือไปเมืองตานีเสียในเย็นวันนี้ แต่เห็นว่าต้อนรับแขงแรง และพวกกลันตันก็กระหายเฝ้าไม่ใคร่คลาศอยู่วันยังค่ำ จนบ่าย ๔ โมงจึงได้กลับลงมา พระยากลันตันยังไม่มาลอยเรือเฝ้าอยู่ข้างเรือ ยิ้มย่องอยู่ไม่กลับไปจนจวนพลบ เห็นว่าจะบอบนัก ด้วยมาคอยอยู่ถึงสี่วันแล้ว จึงบอกให้กลับไปเรือ และอนุญาตให้กลับไปเมืองก่อนเวลาที่เรือที่นั่งออก ในเวลาค่ำที่เรือยังทอดอยู่นั้น บนบกก็ตั้งกองไฟล้อมวงกองไฟ ตีฆ้องกันขานไป และมีกลองแขกลงเรือมาตีอยู่ห่างๆ จนดึกเวลา ๘ ทุ่มออกเรือจากเมืองสาย

วันที่ ๑ เดือนสิงหาคม เวลาเช้าโมงเศษทอดที่น่าเมืองตานี พระยาตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร พระศรีบุรีรัฐพินิจ พระพิพิธภักดี ลงมาหา รับเปนไปรเวตในเรืออุบลบุรทิศ เปลี่ยนตราพระยาตานีเป็น จ.ม. พระยาพิทักษ์เปน ม.ม. พระศรีให้ ภ.ม. พระพิพิธให้ ท.ช. เห็นว่ามาจอดอยู่ในกลางทเลแดดร้อนนักสั่งให้เขาขึ้นไปคอยรับเสียที่วัดก่อน

เวลา ๔ โมงเช้าแต่งตัวเต็มยศ เพราะจะมีงารเปนการฉลองวัด ขึ้นไปชั่วโมงหนึ่ง ถึงฉนวนน่าวัดตานีบางน้ำจืด ขึ้นไปเลี้ยงพระบนตึกการเปรียญที่ทำขึ้นใหม่ พระสงฆ์ฉัน ๘ รูป หลวงจีนคณานุรักษ์จัดสำรับแลมีของตักบาตรขึ้นไปจากในเรือด้วย พระสงฆ์ฉันแล้วถวายไตรองค์ละไตร พระยาตานีจัดของไทยทานมาช่วยในการทำบุญ ผ้าขาวพับหมากพลูธูปเทียนดอกไม้ใบชาไม้ขีดไฟ เข้าสารทำเหมือนขันตักบาตรมีทัพพีมาให้ตักบาตร ดูอยู่ข้างเข้าใจอย่างทำบุญไทยมาก เวลาบ่ายสวดมนต์ พระสงฆ์ในวัดเพิ่มขึ้นอีก ถวายเงินแทนเครื่องไทยทาน พระครูพิพัฒนสมณกิจ และพระสมุหวัดใหม่ องค์ละสิบสองเหรียญ พระอันดับในวัดตานีองค์ละ ๖ เหรียญ ๑๒ รูป พระอันดับวัดใหม่องค์ละ ๓ เหรียญ ๗ รูป


หลวงจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย)
ขอบพระคุณ คุณ CVT บ้านโป่ง สำหรับไฟล์ภาพประกอบ

มีงารฉลอง โนห์ราสองโรง มายงโรงหนึ่ง หนังแขกโรงหนึ่ง หนังไทย (คือหนังตลุง) โรงหนึ่ง รำกฤชวงหนึ่ง เล่นตั้งแต่เช้าจนเย็น ราษฎรมาประชุมกันกว่าสามพันคนเต็มไปทั้งลานวัด ได้ให้พระยาไชยาล่วงน่าขึ้นมาแต่วานนี้ ให้จัดซื้อขนมผลไม้และของกินต่างๆ บันดามีในตลาดทั้งสิ้น จะเลี้ยงราษฎร พระยาไชยาซื้อมาได้เพียง ๑๘ เหรียญหมดตลาด ต้องว่าให้ทำและให้หามาขายอีก จึงได้ของมาต่อบ่าย จำหน่ายเงิน ๘๙ เหรียญหมดสิ่งของ แล้วแจกให้ราษฎรเปนการครึกครื้นสนุกสนานกันมาก เวลาเย็นได้ทิ้งทานเงินเฟื้องเงินสลึง ๗ ชั่ง ปันไม่ให้ผู้หญิงผู้ชายปนกัน แย่งทานเสียงร้องกิ๊วๆ เหมือนเร่งพายเรือ กึกก้องกาหลกันยิ่งใหญ่ แล้วมีแกะชน ท่านผู้ช่วยสองคนลงไปเต้นอยู่กลางสนาม จนถึงพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร พระยาตานีเองก็อดดีดมือไม่ได้ ดูเปนการสนุกสนานครึกครื้นรื่นเริง ตั้งแต่เจ้าเมืองกรมการตลอดลงไปจนราษฎร มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ไม่ขาด พวกบุตรภรรยาเจ้าเมืองกรมการก็พากันไปนั่งน่าพลับพลาอยู่วันยังค่ำ พลับพลาที่ห้ามไม่ให้ทำก็ขืนทำจนได้ แล้วได้ติดศิลาจารึกเรื่องที่ปรารภสร้างศาลาและเพิ่มชื่อวัดว่า วัดตานีนรสโมสร หลวงจีนคณานุรักษลงทุนเลี้ยงข้าราชการแลทหารทั่วไป ได้ให้ตรา ว.ม. ดวงหนึ่งกับสิ่งของอื่นๆ ตามสมควร คนซึ่งพระยาตานีเกณฑ์มาใช้สี่ร้อยคนก็ได้ให้เงินแจกสิบชั่ง


พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงฉายหน้าพลับพลาเมืองปัตตานี ในวโรกาสพระราชทานขนม ผลไม้ และของกินต่างๆ
เลี้ยงฉลองราษฎรในวันทำบุญฉลองศาลาการเปรียญ วัดตานีนรสโมสร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2432

(ขอบพระคุณ คุณ CVT บ้านโป่ง)

เวลาเย็นลงเรือขึ้นไปดูที่เตาหม้อ ทำอิฐโอ่งอ่างที่ตำบลเกาะเหนือตลาดขึ้นไปหน่อยหนึ่ง แล้วกลับลงมาขึ้นบกที่ถนนตลาด เดิรในเวลาที่ไม่ทันรู้ตัว ดูร้านตลาดขายผ้าผ่อนครึกครื้นแน่นหนาขึ้นมาก เมืองตานีเปนเมืองกำลังเจริญ เข้าเกลือบริบูรณ์ สินค้าเข้าออกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นับว่าเปนที่สองเมืองสงขลาได้ ที่ตลาดจีนข้างริมปากน้ำก็มีตึกแลโรงขึ้นอีก ตั้งแต่ตลาดจีนไปจนกระทั่งถึงตลาดแขกมีหนทางริมแม่น้ำอยู่แต่เดิมนั้น เดี๋ยวนี้หมดจดเรียบร้อยกว่าแต่ก่อน บ้านเรือนก็เกือบจะติดต่อกัน มีรั้วตลาดหลายสิบเส้น


พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พร้อมข้าราชบริพาร หน้าศาลาว่าการมณฑลปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2432
มีหลวงจีนคณานุรักษ์ร่วมรับเสด็จด้วย (คนด้านขวามือของภาพ)

(ขอบพระคุณ คุณ CVT บ้านโป่ง)

เดิรไปจนถึงที่บ้านพระยาตานี ในรั้วรเนียดชั้นนอกมีโรงงารมโหรศพแลร้านขายของ ทำนองหลังรทารุงรังเต็มไป ที่หอนั่งมีโต๊ะยาวตั้ง ตรงโต๊ะขึ้นไปติดรูปฉัน บนโต๊ะตั้งต้นไม้เงินทองสำหรับการพิธีของเขา ใหญ่สองต้นเล็กสองต้น มีเทียนใหญ่คู่หนึ่ง เทียนเล็กสองคู่จุดอยู่ ตั้งสัญญาบัตรแลเครื่องยศพระยาตานีรายามุดาผู้ช่วย โต๊ะอันนี้ตั้งไว้สองเดือนเศษเกือบสามเดือนมาแล้ว ด้วยทำการฉลองตรา พระสงฆ์ไทยสวดมนต์สามวัน สวดภาณวารด้วย แล้วทำบุญแขกอีกห้าวัน ต่อไปนั้นไปมีงารสำหรับที่เอาไปเล่นที่วัด เล่นเปรอะไปทุกวัน มีการเลี้ยงกันเล่นเบี้ยบ้าง ติดต่อกันกับแต่งงารบุตรสาว ซึ่งยกให้เปนภรรยาพระศรีบุรีรัฐพินิจ

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:13:10:49 น.  

 
 
 
...............................................................................................................................................


(ต่อพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓)

การที่มาเมืองตานีครั้งนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนหมด พวกพี่น้องผู้หญิงแลผู้ชายซึ่งนั่งแตกกันอยู่เปนสองพวก ต่างคนต่างนินทากันนั้น กลับเข้ากลมเกลียวรักใคร่เปนอันหนึ่งอันเดียว ด้วยพระศรีผู้ซึ่งเปนคู่แข่งขันนั้น กลับมาเปนลูกเขยเสียแล้ว พวกที่เคยนินทาอยู่แต่ก่อนกลับสรรเสริญพระยาตานี ว่าเปนคนโอบอ้อมอารีรักใคร่พระศรีมาก ภริยาพระยาตานีที่ตายก็แจกนาให้ทำกินทุกคน บ้านใหญ่ซึ่งเปนที่สำหรับเจ้าเมืองนั้นก็ไม่เข้าไปอยู่ ยอมให้พระศรีอยู่ พวกพี่น้องผู้หญิงของพระยาตานีที่ตาย ที่มีผัวแยกบ้านเรือนไปก็พากันกลับเข้ามาอยู่ในบ้านนั้นรวบรวมกันทั้งสิ้น ตัวพระยาตานีเองอยู่บ้านเดิมซึ่งเปนบ้านเล็ก


รูปกระบวรเรือแห่เสด็จที่เมืองปัตตานี

การปราบปรามโจรผู้ร้ายในบ้านเมืองก็แขงแรง ราษฎรพากันนิยมยินดีนับถือมาก เมืองสงขลาซึ่งเปนผู้บังคับที่ออกระหองระแหงอยู่แต่ก่อน ก็กลบสรรเสริญยกย่องว่าเปนคนดี ดูหยอดกันมาก พระยาตานีคนนี้อยู่ข้างจะเปนคนที่ควรนับว่ามีสติปัญญาแลอัธยาศัยเรียบร้อยแท้ ถึงแม้นว่าจะมีความคิดที่พอจะเดาถึงอยู่บ้าง ก็ว่อนเงือนมิดชิดดีนัก ฉันสังเกตได้อย่างหนึ่ง ว่าแต่ก่อนเมืองตัวพระยาตานีเปนพระศรี ในสัญญาบัตรว่าเปนผู้ช่วย แต่เรียกกันในพื้นเมืองว่ารายามุดา ชื่ออยู่น่าพระพิพิธ แต่ครั้นเมืองยื่นบาญชีชื่อทูลเบิกครั้งนี้ ชื่อพระยาพิพิธ(๓)อยู่น่า พระศรีอยู่หลัง เรียกว่าผู้ช่วยทั้งสองคน ก็ยังคิดเห็นอยู่ว่า บางทีจะเปนพระสุรินทรามาตย์ไขว้เขวไปเอง แต่ครั้นเมื่อผู้หญิงไปพูดกับพวกผู้หญิงชาวเมืองนั้น เรียกพระศรีว่ารายามุดา ไม่มีใครรู้จักเลย รู้แต่ว่าเปนผู้ช่วย ทั้งสัญญาบัตรครั้งนี้เรียกว่ารายามุดาด้วย เพราะฉันจะแก้การบาดหมางด้วยซ้ำไป เขามาทำกันเสียเงียบๆ ได้สบายดีไม่มีใครสดุ้งสเทือนเลย เห็นว่าความมุ่งหมายภายน่าคงยังมีอยู่ ที่แท้พระพิพิธดูมีแววมากกว่าพระศรี มีเงาแตกร้าวอยู่อีกเรื่องหนึ่ง คือตาพี่ชายที่เปนพระเปนเถรเรียกกันว่า กูหะยี คราวนี้มาหาฉันที่เมืองหนองจิก บอกว่าย้ายไปอยู่ที่นั่น ถามถึงความเดือดร้อนอันใดก็ไม่พูดเลยทั้งผัวทั้งเมีย เปนแต่ยายเมียยิ้มๆ อยู่บ้าง แต่คนทั้งปวงนั้นดูลืม ไม่นึกถึงตาคนนี้เลยแต่เดิมมา

การคุ้นเคยของพระยาตานีกับฉันดูสนิทสนมมากขึ้น เมื่อมาครั้งก่อนพูดไทยไม่เข้าใจ แต่ไม่พูดออกมาเลยเปนอันขาด คนอื่นยังล่อได้บ้าง แต่ครั้งนี้ตกบ่ายลงพูดไทยกับฉันจ้อทีเดียว ที่ไม่พูดนั้นจะเปนด้วยรู้ศัพท์ไม่พออย่างหนึ่ง พูดไม่ชัดคือไม่ดังเชื้อช้าวเช่นชาวนอก เสียงกราวๆ ไปเช่นแขกฤๅฝรั่งพูดไทยนั้นอย่างหนึ่ง ประหม่าสะทกสะท้านนั้นอย่างหนึ่ง พอได้พูดไทยเสียก็ดูสบายใจขึ้นมาก ทำอาการกิริยาเกือบจะเปนข้าราชการไทยๆ เดิมคิดว่าจะแวะตลาดจีน แต่เวลาค่ำเสียไม่ได้แวะ กลับลงมาเรือติดเข็นอยู่จนสองทุ่มได้มาถึงเรือ


รูปริมฝั่งน้ำเมืองปัตตานี เวลาเสด็จประพาส

วันที่ ๒ เวลาย่ำรุ่งครึ่ง ลงเรือกันเชียงพวกเมืองตานีนำทาง พระยาตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร รายามุดา ผู้ช่วย และเรือพวกเมืองตานีตามไปด้วยหลายลำ ไปในอ่าวตามฝั่งแลเห็นมีเรือนพวกหาปลารายเปนหมู่ๆ ไปเกือบจะตลอดฝั่ง มีต้นตาลเปนอันมาก เรือเล็กๆ ตกเบ็ดอยู่ตามน่าหาดเปนหมู่ๆ เปนพวกหาปลาทั้งสิ้น ไปได้ครึ่งทางเรือกรมการเมืองยิหริ่งออกมารับห้าลำ คลลำละ ๑๑ – ๑๒ คน มีเรือค้าขายทางทเลจอดรายไปตามทางหลายลำ ปากช่องลำน้ำเปนป่าไม้โกงกางที่แหลมเลนยื่นออกมา มีนกจับขาวไปเหมือนเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ที่ทอดสมอเมืองตานีไปจนถึงปากอ่าวสองชั่วโมงเศษ ลำน้ำนั้นแรกเข้าไปคล้ายเมืองนครศรีธรรมราช แต่ครั้นเมื่อเข้าไปลึกก็กว้างขึ้น มีร้านทำปลาหลายแห่ง ต่อเข้าไปในตลิ่งสูงหน่อยหนึ่ง ไม่มีบ้านเรือนคนจนเกือบจะถึงที่ตลาด จึงได้พบบ้านหมู่หนึ่งประมาณ ๒๐ – ๓๐ เรือน มีต้นมะพร้าวต่ออกไปเปนท้องนา ครึ่งชั่วโมงถึงท่าเมืองยิหริ่ง

เขาแต่งโรงหลังหนึ่งคล้ายโรงเลื่อยไม้เปนพลับพลาที่รับริมท่า ขึ้นนั่งรอพอพรักพร้อมกัน นิโซ๊ะ(๔)บุตรพระยายิหริ่ง พาสีตวันกรมการมาคอยรับอยู่ที่นั่น แล้วออกเดิรตามหนทางที่เรียกว่าเปนถนนไม่ได้ เพราะเปนพื้นทรายปรกติทั่วไป ทรายลึกเดิรลำบาก ผ่าน่าบ้านพระยายิหริ่งเก่า มีหอนั่งเปนโรงหลังคามุงกระเบื้อง เรือนฝากระดานหลังคามุงกระเบื้องหลายหลังแต่ชำรุดทรุดโทรม ต้นไม้ขึ้นรกเปนที่ร้าง ต่อนั้นไปสุเหร่ามีโรงสวดหลังย่อมๆ หลังคามุงกระเบื้องหลังหนึ่ง มีหอระฆังหอหนึ่ง ที่วัดนั้นก็อยู่ข้างจะโทรมแต่ไม่ถึงร้าง อีกฟากถนนหนึ่งถึงก็เปนบ้านเรือน มีบ้านนิโซ๊ะอยู่ต้นทาง แต่รั้วและเรือนเกือบๆ จะพังอยู่แล้วทั้งนั้น

ถนนเลี้ยวไปทางริมน้ำเปนตลาดปลูกต้นประดู่กลางถนนร่ม ในใต้ต้นประดู่นั้น มีร้านเล็กๆ เรียงเปนสี่แถวหันหน้าเข้าหากัน เดินเปนสองทางคล้ายตลาดเมืองกลันตัน แต่ขายผ้าและของกินคละปะปนกัน ประมาณสัก ๕๐ – ๖๐ ร้าน ดูก็มีผ้าผ่อนมาก แต่ราคาผ้าที่ซื้อขายกันแพงกว่าเมืองตานี เปนผ้าทอในเมืองยิหริ่งบ้าง ผ้าดอกมาแต่สิงคโปร์บ้าง มีหีบและกลักเหล็กวิลาศอย่างหนึ่ง ซึ่งเปนของทำซื้อขายในเมืองยิหริ่งเอง

ได้ไต่ถามในการเมืองยิหริ่งจากนิโซ๊ะก็ทราบบ้างไม่ทราบบ้าง กูไม่สู้เปนคนคุ้นเคยในราชการนัก ในเมืองยิหริ่งนี้เสียเปรียบเมืองสายเมืองตานีมาก ด้วยลำน้ำขึ้นไปด้วน น้ำเค็มตลอดจนปลายคลอง เรือค้าขายก็มีแต่เรือเล็กๆ บันทุกเข้าสารเกลือน้ำตาลตโหนด ซึ่งเปนของเกิดในเมืองยิหริ่งเองขึ้นล่อง น้ำตาลตโหนดเปนอย่างมีมากที่ได้ซื้อขายออกต่างเมือง บ้านเรือนที่ริมตลาดนี้ แลต่อออกไปหน่อยหนึ่งจนถึงคลองแยก เปนบ้านจีนบ้านไทยมาก จีนมีประมาณสิบห้าหลังเรือน เปนแต่คนซื้อขายไม่ได้ทำมาหากินด้วยที่แผ่นดิน เข้าออกจากเมืองยิหริ่งบ้าง เมื่อเวลากลับมาก็ได้เห็นกำลังบันทุกอยู่ ว่าอยู่ในประมาณสองหมื่นคันตังเปนอย่างน้อยคนในเมืองนี้ว่าประมาณสามพันเรือน คนไทยมีมาก วัดถึงสิบห้าวัด ตามตลาดพบคนไทยฤๅแขกที่พูดไทยได้มากกว่าเมืองอื่นๆ หมด ปลาที่กินในเมืองเปนปลาน้ำเค็มเปนพื้น ปลาทูก็มี แต่ปลามีน้อยพอกินในเมือง ไม่ได้จำหน่าย

เดิรกลับจากตลาดแล้วตรงไปตามทางที่ขึ้นจากท่า หน่อยหนึ่งถึงบ้านพระยายิหริ่ง อยู่เยื้องกันกับบ้านพระโยธานุประดิษฐหน่อยหนึ่ง รั้วเปนไม้ไผ่ตีแตะลายสี่ อยู่ข้างจะทรุดโทรม ประตูไม้สามช่องเปนแบบวังแขก มีรั้วชั้นเดียวก็เข้าไปถึงหอนั่ง ที่หอนั่งเปนโรงจากยกพื้นสูง แต่ดาดสีผูกม่าน ปูพรมและเสื่อเปนพลับพลา ตั้งโต๊ะเก้าอี้ มีจนเตียงนอน มารดาและภรรยาพระยายิหริ่ง กับทั้งพี่สาวซึ่งเปนภรรยารายามุดาเมืองกลันตันคนก่อน ภรรยาพระโยธานุประดิษฐ ภรรยานิโซ๊ะกับญาติพี่น้องผู้หญิงออกมารับจัดกับเข้าของเลี้ยงมาเลี้ยง เปนสำรับอย่างไทยรองถาดตามธรรมเนียม แต่กับเข้านั้นเปนกับเข้าแขกเปนพื้น มีกับเข้าไทยเจือสองสามสิ่ง ของหวานเปนอย่างไทย ภรรยายิหริ่งผู้นี้เรียกกันว่าแม่บ๋า เปนลูกตนกูโนชาวเมืองตานีอยู่ในกรุงเทพฯ พูดภาษาไทยได้ จัดการรับรองอันใดก็อยู่ข้างจะเปนไทย แต่เปนเวลาที่จะรีบร้อนออกเรือ จึงได้ให้เงินเปนค่าเบี้ยเลี้ยงห้าสิบเหรียญ และให้แจกคนที่เกณฑ์ไปรับและใช้การงาร ๒๐๐ เหรียญ แล้วกลับมาลงเรือ ออกจากเมืองยิหริ่งมาถึงเรืออุบลบุรทิศเกือบบ่าย ๓ โมง พอคนพร้อมก็ออกจากเมืองตานีเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง

เวลาบ่าย ๕ โมง ๔๐ มินิต ถึงเมืองเทพา ที่ฝั่งแลเห็นมีเขาลูกหนึ่งหลังทรายยาว แลเห็นแหลมที่ต่อแดนกับบเมืองจะนะเปนภูเขาติดต่อกันเทือกยาว เวลาที่มาถึงเปนหมอกกลุ้มไปตามฝั่งเหมือนอย่างฝนตก มีลมพัดหนาวออกมาจนถึงเรือ พระยาสุนทรานุรักษ์ พระดำรงเทวะฤทธิ์เจ้าเมืองเทพา(๕) พระยาหนองจิกตามขึ้นมาหาที่ในเรือด้วย เวลาเย็นค่ำเสียแล้วจึงไม่ได้ขึ้นบก วันนี้เปนวันได้รับหนังสือเมล์ซึ่งมาด้วยเรือนฤเบนทรบุตรี จึงได้หยุดทำหนังสืออยู่จนดึก

วันที่ ๓ เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐ มินิต ลงเรือกระเชียงขึ้นไปตามลำน้ำเมืองเทพา ที่หาดทรายปากช่องมีกองฟืนมาก เพราะใช้ทั้งการที่เตรียมรับเสด็จด้วย สงขลาก็ใช้ฟืนเมืองเทพาด้วย มีเรือนโรงสองฝั่งประมาณ ๔๐ หลัง มีต้นมะพร้าวต้นตาลเล็กน้อย เปนบ้านคนทำปลา คนพวกนี้ว่าเปนแขกเมืองกลันตันมาก ต่อนั้นเข้าไปเปนป่าไม้โกงกาง ไม้เสม็ด ลำน้ำเข้าไปข้างในยิ่งกว้างขึ้น มีบ้านอีกหมู่หนึ่งประมาณ ๑๑ – ๑๒ หลังเรือนอยู่ฝั่งข้างขวา ฝั่งข้างซ้ายมีไร่ยาหลายไร่ มีคลองแยกแต่ลงเฝือกทำปลา

พ้นจากนั้นขึ้นไปเลี้ยวหนึ่ง ถึงเกาะกลางแม่น้ำเปนเกาะใหญ่อยู่ อยู่ตรงน่าบ้านพระเทพา แม่น้ำตรงนั้นกว้างใหญ่ทั้งสองทาง ที่เกาะนี้เปนที่นกชันมีชุม นกชันนั้นรูปพรรณสัณฐานคล้ายนกคุ่ม แต่ขายาวสีแดงตลอดจนถึงนิ้วเท้า สีที่คอเปนสีน้ำตาลเจือแดง แต่สีขนปีกเหมือนนกกระทานกคุ่ม ดวงตาแดงเปนสีทับทิม นกพวกนี้สันดานเปนคั้งคาว กลางคืนตื่นขึ้นหากิน กลางวันนอน ถ้าฤดู ๖ – ๗ เปนเวลากำลังที่มีเนื้อ มีชุมมาก นัยว่าดักได้ถึงวันละ ๓๐๐ – ๔๐๐

วิธีที่จะดักนั้น กลางคืนไปนั่งอยู่ที่เกาะ ไม่ว่าคนมากน้อยเท่าใด ไม่เปนเหตุทำให้ตื้นเต้นหลบหนี ห้ามอย่างเดียวแต่ไม่ให้สูบบุหรี่ มีหมอที่สำหรับร้องเลียนเสียง พระยาสุนทราบอกว่าร้องแกร้กๆ แกร้กๆ ดูเสียงไม่น่านกลงเลย แต่ครั้นเมื่อได้ฟังร้องวันนี้ ดูเสียงฉ่ำเฉื่อยเยือกเย็นเปนเสียงนก เวลาร้องนั้นร้องสองคนประสานกันไป คนหนึ่งร้องเสียงนางนก ก๊อกๆๆๆๆ ฯลฯ คนหนึ่งร้องเสียงนกผู้ กิ๊ว ปรื้อ-- แต่ปรื้อนั้นลมออกริมฝีปากลากยาวไป แล้วมีรื้อขึ้นมานิดๆ ลากต่อไปอีกสองคราว จึงหมดโน๊ตครั้งหนึ่ง นัยว่าถ้าไปเรียกเช่นนี้นกพวกนี้ที่บินอยู่ในอากาศก็ลงมาถึงพื้นแผ่นดินใกล้ๆ ตัวคนบ้าง นัยว่าถึงจับศีร์ษะคน ต้องร้องล่อไว้จนสว่าง พอแสงสว่างขึ้นแล้วก็เปนบินไปไหนไม่ได้ด้วยตาฟางมืด หรือเปนเวลานอน แต่ถ้าทิ้งไว้จน ๕ โมงเศษหรือเที่ยงเปนเวลาตื่นก็ไปได้ วิธีที่จะจับนั้นเมื่อเรียกลงมาไว้ได้จนรุ่งเช้าแล้ว จึงไล่ต้อนให้เข้าไซเหมือนอย่างดักปลา ไม่ต้องยิงต้องจับอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เห็นเปนการที่น่าดูอยู่เช่นนี้

จึงให้พระยาสุนทราลงมาคอยอยู่ที่เมืองเทพา ครั้นเวลาคืนนี้มาถึง ได้ถามพระยาสุนทรา พระยาหนองจิก พระยาเทพาซึ่งรับรองสมคำกันมาแต่เดิมนั้น แจ้งว่าในฤดูนี้ตกมาถึงเดือนเก้านกเหล่านี้น้อยไป ไม่ชุมเหมือนเดือน ๖ เดือน ๗ เปนเวลาตกฟองใหม่ๆ กำลังผอม พระยาสุนทราได้ลองไปเรียกดูสองคืน แยกเรียกหลายแห่งด้วยกัน ได้แต่เพียงแห่งละเก้านกสิบนก ไม่ตั้งร้อยดังเช่นว่า แต่คงจะมีตัวนกที่ทดลองได้ เดิมฉันคิดว่าจะขึ้นไปในเวลาค่ำ ดูเมื่อนกลง จึงได้รีบมาให้ถึงเมืองเทพาแต่วานนี้ ครั้นเมื่อทราบว่านกไม่ลงมากเหมือนอย่างเช่นว่าแต่ก่อน และไม่เกลื่อนกลุ้มถึงจับหัวดังเช่นว่า จึงให้เขาเรียกเสียเวลาเช้าวันนี้จึงขึ้นมาดู

ที่ซึ่งต้อนให้นกเข้าไซนั้น เอาไม้ทำเปนคร่าวสระใบไม้เปนปีกกา เอาไซวางดักไว้ที่ปากช่อง เวลาที่จะไล่นกก็ร้องเสียงเบาๆ เอาใบไม้ไล่ฟาดๆ นกนั้นก็วิ่งเข้ามาประสงค์แต่ที่จะหลบเข้าซุกรกอย่างเดียว ตะครุบจับก็ได้ง่ายๆ เมื่อไล่ให้เข้าไซก็วิ่งก็วิ่งไปถึงน่าไซ เห็นใบไม้ที่สระรกๆ ก็ลอดเข้าไปอยู่ในไซ แต่ที่ต้อนวันนี้ได้ห้าตัวเท่านั้น ตะครุบจับเอาตัวหนึ่งมาพิเคราะห์ดูก็อยู่ข้างผอมจริง และง่วงงุยงายไม่สู้ดิ้นรนนัก ถ้าจับไว้ในมือนิ่งๆ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หลับตา ท่าทางอยู่ข้างครึมครำ นกที่พระยาสุนทราดักไว้ได้แต่ก่อนนั้นก็ได้เรียกเอาไว้แล้ว ฉันคิดจะเลี้ยงเข้าไปให้ถึงกรุงเทพฯ เห็นว่าคงจะเลี้ยงรอดได้ ด้วยดูไม่เปรียวเลย อาหารก็อย่างนกกระทาหรือลูกไก่นั้นเอง นกเช่นนี้ว่าถ้าเปนฤดูที่มีชุม ขายในท้องตลาดเมืองสงขลาตัวละไพ เราฟังดูไม่สู้น่าเชื่อ แต่ไปเอ่ยขึ้นกับคนที่สงขลาดูรู้กันซึมทราบไม่เปนการอัศจรรย์อันใด

ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาน่าหมู่บ้านที่เปนเมืองเทพานั้น มีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณสัก ๓๐ หลัง ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนากว่ามาก มีวัดอยู่วัดหนึ่งเปนของเก่า แต่พระเทพาเรือง คนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสิมา ได้ให้ใบอนุญาตแลเติมท้าย ชื่อเดิมซึ่งชื่อว่าวัดเทพา ให้มี เรือง อีกคำ ชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินช่วยในการวัดสองชั่ง

เมืองเทพานี้อยู่ข้างเปนที่ขัดสนกันดารมาก เพราะพื้นที่ไม่ดีเอง ลำคลองเทพาปลายขึ้นไปถึงเหมืองดีบุกแขวงเมืองยะลา ตวันออกเฉียงเหนือต่อเมืองจะนะ ตวันตกเฉียงเหนือต่ออำเภอจะแหนขึ้นสงขลา ตวันตกต่อเมืองไทร ตวันตกเฉียงใต้ตอเมืองยะลา ทิศใต้ต่อเมืองหนองจิก มีคนอยู่เรี่ยรายกันไปประมาณสักพันเรือน เปนแขกมากไทยก็มีจีนมีน้อย สิ่งซึ่งเปนที่เสียของเมืองเทพานั้น คือพื้นแผ่นดินลุ่ม น้ำเหนือท่วมอยู่นานๆ น้ำทเลขึ้นถึง แผ่นดินเค็มอยู่เสมอทำนาไม่ได้ ทำได้แต่เข้าไร่ที่ใกล้ๆ เขา แต่ไม้มีมาก หวายต่างๆ แลชันก็มี แต่ไม่มีผู้ใดทำ ไม่ได้เปนสินค้าออกจากเมือง เพราะราษฎรในเมืองไม่มีเข้าพอกิน คนที่อยู่ในเมืองนี้ต้องเสียแต่ค่าเข้า ที่เรียกว่าค่าน้ำมันดิน เห็นจะเปนค่าน้ำมันดิน แต่น้ำเสียงชาวนอก เมื่อเรียกติดกับคำอื่นน่าจะมีมะขึ้นได้ แล้วจึงกลายเป็นมันไป เสียสิบลดหนึ่งหรือลดสอง กับเกณฑ์ให้ตัดฟืน คนหนึ่งปีละร้อยดุ้น เฉลี่ยเกณฑ์พอให้ได้ครบห้าหมื่นดุ้น นอกนั้นไม่ต้องเกณฑ์อันใด ฉันได้ว่ากับพระยาสุนทราว่า ถ้าคิดซื้อเครื่องจักรเลื่อยไม้มาตั้ง จ้างราษฎรตัดไม้พอมีทางหากิน คนเห็นจะติดมาก เข้าก็เห็นด้วย แต่ยังครางออดแอดจะต้องหาหุ้นส่วนต่อไป
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:13:12:06 น.  

 
 
 
(ต่อพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓)

อนึ่งหลวงประชาภิบาลผู้ช่วยราชการเมืองยิหริ่ง กับยิควน ซึ่งเปนบุตรพระยายิหริ่งแตง กับราษฎรอีกสามรายมาร้องฎีกากล่าวโทษพระยายิหริ่ง ว่ากระทำการคุมเหงตัวและราษฎรต่างๆ ฉันเห็นว่าควรจะยื่นเรื่องราวที่ผู้รักษาเมืองสงขลาก่อน จึงได้คืนเรื่องราวไป แต่ความเรื่องพระยายิหริ่งนี้ ว่ามีโจทมาร้องต่อพระยาวิเชียรคิรีชมถึง ๔๐ – ๕๐ คน ร้องที่พระสุนทราก็มี ได้มีใบบอกเข้าไปที่กลาโหมสั่งให้หาตัวพระยายิหริ่งมาชำระ พระยายิหริ่งบิดพลิ้วเสียไม่มา เปนช้านานจึงได้ได้ตัว ข้อความที่หานั้นว่าฆ่าคนไม่มีความผิดบ้าง เก็บริบทรัพย์สมบัติตามชอบใจบ้าง แต่ในเรื่องราวหลวงประชาภิบาลนั้น หลวงประชาบาลก็เปนหลานพระยายิหริ่ง ได้เปนผู้ให้ยืมเงินเข้าไปเสียค่ารับตำแหน่งในกรุงเทพฯ ถึงสามพันสามร้อยเหรียญ

ยิควนนั้นก็เปนหลานและเปนบุตรเขยพระยายิหริ่ง หาว่าพระยายิหริ่งคุมเหงต่างๆ จึงต้องแตกร้าวกัน พระยายิหริ่งให้การรับตามที่หา แต่อ้างว่าผู้ที่ฆ่าเสียนั้นมีความผิด และที่เก็บทรัพย์สมบัติมานั้นก็มีความผิด แต่จะเรียกสำนวนคำตัดสิน ก็ว่าไม่ได้เขียนไว้สักเรื่องเดียว เดี๋ยวนี้ความก็ยังพิจารณาอยู่ แต่พระยายิหริ่งไม่เข้าใจทางความเลย บิดพลิ้วหลีกเลี่ยงไปไม่ใคร่ไปศาลจึงได้ช้าอยู่ ฉันก็ตักเตือนพระยาสุนทราให้เร่งว่ากล่าวเสียให้เห็นผิดแลชอบ ถ้ามีความผิดจริงก็ลงโทษได้ อย่าให้เปนที่ติเตียนว่าหนักหน่วงความไว้ด้วยการที่แกล้ง ให้เปนที่หวาดของเมืองแขกทั้งปวง

อนึ่งพระยาสุนทรานุรักษ์แจ้งความว่า พระยาไทรบุรีกับพระยาสุรพลพิพิธมาถึงเมืองสงขลา ไม่ทันเวลาที่ฉันอยู่ ทราบว่าพระยาสุนทรานุรักษ์มาคอยรับฉันจะแวะที่เมืองเทพา จึงได้ขอเรือมาดเก๋งที่เมืองสงขลาพายมาคืนยังรุ่ง ถึงหาดทรายน่าเมืองเทพาเวลาเช้าวันนี้ ให้คนเดิรบกขึ้นไปบอกพระยาสุนทราที่พลับพลา พระยาสุนทราได้สั่งให้ตามขึ้นไปหาฉันที่พลับพลา จึงได้คอยอยู่จนเช้า ๔ โมงเศษก็หายไป เห็นว่าจะเปนด้วยพระยาสุรพลมาเรือคนละลำยังไม่ถึงรอคอยกันอยู่ ฉันยังไม่ได้กินเข้าเช้าขึ้นไปจึงได้กลับลงมาเรือ จัดเรือกระเชียงให้ไปรับมาหาในเรืออุบลบุรทิศ

พระยาสุรพลพิพิธนั้นดูชราไปมาก ผมหงอกขาว ได้ถามถึงวันที่มา เดิรทางบกอยู่ ๔ วัน พักที่สงขลาวันหนึ่งลงเรือมาวันหนึ่ง เปน ๖ วันด้วยกันแล้ว ฉันเห็นว่าเวลาจะกลับไปเมืองสงขลาต้องทวนลม กว่าจะไปถึงเมืองสงขลาก็จะช้า จึงชวนให้ลงเรือเวสาตรีจะไปส่งที่สงขลา ก็ไม่ยอม ว่าจะต้องขนเข้าของเปนความลำบาก ด้วยเรือกลไฟทอดอยู่ห่างฝั่งมาก มีคลื่นลม เปนเวลามีคลื่นอยู่บ้าง จะขอไปเรือเล็กเลียบฝั่งไปเหมือนเมื่อมา ได้พูดกันถึงราชการบ้าง เรื่องการทำรังนกบ้างประมาณค่อนชั่วโมง จึงได้ให้เรือกระเชียงใหญ่ (เรือเหว) ไปส่งที่เรือ และจัดสะเบียงอาหารที่ในเรือไปส่งให้ ด้วยในเมืองเทพานี้นอกจากเข้ากับปลาแล้วไม่มีอันใด การซึ่งเขาอุตส่าหข้ามแหลมมา แล้วติดตามลงมาจนถึงเมืองเทพานี้ ก็เปนความแสดงความจงรักภักดีเปนอันมาก ขอบใจเขาอยู่ กว่าจะขึ้นไปถึงเมืองสงขลาได้เห็นจะถึงคืนกับวันหนึ่ง บ่ายโมงเศษได้ออกเรือจากเมืองเทพา มาพบเรือเวสตาซึ่งรับหนังสือเมล์ออกมาก่อนน่าเรือนฤเบนทรบุตรี มาขัดฟืนตามทาง ทอดอยู่น่าเมืองสงขลาหยุดรับหนังสือเมล์และสิ่งของ แล้วจึงได้ออกเรือต่อมา

ในเวลานี้น้ำจะใช้ในเรืออยู่ข้างขัดสน จึงได้คิดจะไปแวะที่อ่าวเสด็จเกาะพงันอีกคราวหนึ่ง แลจะได้พระยาไชยาซึ่งลาไปตรวจการที่เมืองไชยาด้วยเรือแคลดิศ จะได้ทราบเวลาน้ำ ซึ่งจะข้ามกระเส็ดเข้าไปเมืองไชยาด้วย เพราะฉะนั้นจะบอกกำหนดเวลาข้างน่าเปนแน่ทีเดียวยังไม่ได้

หนังสือฉันฉบับนี้มีข้อความคลุกคละปะปนกันอยู่หลายอย่าง ด้วยเวลาไม่พอที่จะแยกออกเปนฉบับๆ ตั้งใจว่าจะให้ทราบในที่ประชุมเสนาบดีเต็มข้อความนี้ได้ แต่เมื่อจะส่งให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทราบ ขอให้กรมหลวงเทวะวงศ์ตัดข้อความซึ่งไม่ควรจะพูดถึง เช่นว่าด้วยความคิดพระยาตานีในเรื่องรายามุดา ซึ่งเปนแต่ความคาดคะเนของฉันเองเปนต้นออกเสีย แล้วจึงบอกกล่าวให้ทราบทั่วกันแต่ข้อที่สมควร

ตัวฉันเองตั้งแต่มีหนังสือฉบับก่อนมาแล้ว ก็มีความสบายมากขึ้นและอ้วนขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เว้นแต่เมื่อขึ้นเมืองสายเมืองตานีเมืองยิหริ่ง ๓ วันติดๆกันนี้ อยู่ข้างจะเหนื่อยเกินไปหน่อยหนึ่ง เพราะต้องนั่งมาก ชักให้เมื่อยไม่เหมือนเดิร ถึงไต่ลำธารหลายร้อยเส้นเหน็ดเหนื่อยก็กลับทำให้แก้โรคภัยได้ แต่นั่งมากนั้นกลับให้โทษได้มาก แต่ก็ไม่เจ็บไข้อันใดสบายดี บันดาคนที่มาก็มีแต่ไชยันต์(๖)ขึ้นไปถูกแดดที่เมืองสายกลับมาจับไข้ ไม่ได้ขึ้นเมืองตานีและเมืองยิหริ่ง ครั้นมาถึงเมืองเทพานี้ก็ขึ้นบกได้หายเปนปรกติ นอกนั้นมีความสุขสบายอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

อนึ่งหนังสือของเธอ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บอกรับหนังสือและข่าวที่กรุงเทพฯ กับส่งคำร้องเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมานั้นได้รับแล้ว

สยามินทร์


........................................................................................................


(๑) พระยาเพ็ชราภิบาล (ทัด ณ สงขลา) บุตรเจ้าพระยาสงขลา (สังข์)

(๒) เปนที่พระยาสุริยสุนทร

(๓) พระพิพิธภักดีคนนี้ ชื่ออับดุลกาเด เปนบุตรพระยาตานี ต่อมาเมื่อบิดาถึงอนิจกรรมได้เปนพระยาตานี แล้วมีความผิดถูกถอด

(๔) เดี๋ยวนี้เปนพระยายิหริ่ง ว่าราชการเมืองสายบุรี

(๕) พระดำรงเทวฤทธิ์ ชื่อเรือง ข้าหลวงเดิมแล้วได้เลื่อนเปนพระยา

(๖) คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย




...............................................................................................................................................



พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๔



เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดที่ปากน้ำเมืองหลังสวน
วันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘



ถึง ท่านกลาง แลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยจดหมายมาแต่ก่อน แจ้งความมาจนถึงวันที่ ๕ เจือวันที่ ๖ เวลาเช้า ที่เรือเข้าไปทอดอยู่ในกระเส็ดน่าเมืองไชยา เตรียมจะขึ้นบก รอสายมากไปเพราะเขียนหนังสือเมล์ ซึ่งมาด้วยเรือมุรธาวสิตสวัสดี เวลาย่ำเที่ยงตรงจึงได้ลงเรือกระเชียง เรือจักรนารายณ์ลาก เข้าไปในอ่าวเมืองไชยา ที่ปลายแหลมปากช่องขวามือ มีศาลามุงกระเบื้องเฉลียงรอบหลังหนึ่ง เขาทำปะรำแลตะพานฉนวนไว้แต่ไม่ได้ขึ้น ต่อขึ้นไปหน่อยหนึ่งถึงปากคลองพุมเรียง พบเรือศีร์ษะช้างพระยาสวัสดิวามดิฐ(๑)ออกมาทอดอยู่ในที่นั้น หยุดปล่อยเรือกลไฟ ตั้งแต่ที่เรือจอดเข้าถึงปลากคลองไป ๔๐ มินิต ตีกระเชียงเข้าไปอีก ๑๐ มินิตพอถึงตะพานน้ำ ตามสองข้างทางเปนป่าสแกไม่มีบ้านเรือน เวลาที่ขึ้นนั้นถูกคราวน้ำลงมีที่ตื้นสองแห่ง เขาจัดคนให้มาคอยอยู่ในน้ำประมาณแห่งละ ๖๐ - ๗๐ คน น้ำอยู่เพียงเข่าก็ตีกระเชียงเข้าไปได้ ไม่ต้องเข็น

ลำคลองไชยาแคบเพราะเปนคลองด้วย ตะพานขึ้นนั้นอยู่ตรงบ้านพระยาไชยา ริมคลองเปนที่ลุ่มน้ำทเลท่วม ถนนต้องถมสูงขึ้นประมาณสองศอกตีกระดานกันไว้ ฟากถนนข้างซ้ายมือเปนสวนมพร้าวของพระยาไชยาปลูก ดูยอดใบก็งามดี มีมพร้าวมากทำอย่างเกาะสมุย ที่ดอนริมตะพานมีบ้างก็ปลูกโรงเรือโรงงาร ขึ้นไปประมาณสักสองเส้นเศษฤๅสามเส้นถึงสนามหญ้าน่าบ้านพระยาไชยา ถมดินสูงพ้นน้ำทเลท่วม กว้างขวางปลูกต้นมลิฉัตรขนาดใหญ่ ต้นสายหยุด ต้นกระดังงารายรอบ มีดอกดกเต็มต้นทั้งสามอย่าง จนส่งกลิ่นหอมในที่บริเวณเหล่านั้นได้ ฟากสนามข้างริมคลองมีเรือนห้าห้อง เฉลียงรอบใหญ่หลังหนึ่ง เรือนสามห้องสกัดหัวท้ายข้างละหลัง ชานกว้างปูกระดานเปนที่ซึ่งพระยาไชยาเรียกเองว่าสเตชั่น สำหรับรับเจ้านายแลขุนนางผู้ใหญ่ไปมา ในเรือนหลังใหญ่มีห้องนอนสองห้อง ตั้งเตียงมีมุ้งม่านพร้อม ครั้งนี้จัดเปนที่รับเจ้านาย มีโต๊ะยาวตั้งเครื่องกับเข้าของฝรั่งอย่างเลี้ยงโต๊ะ เครื่องประดับห้องมีฟอรนิเชออย่างฝรั่ง คือเก้าอี้นั่นเก้าอี้นอนแลเครื่องประดับฝา ดูพรักพร้อมบริบูรณ์ตามสมควรแก่ตัวเรือน เปนที่พออยู่สบายได้

ที่ตรงสเตชั่นข้ามเปนบ้านพระยาไชยา ตีรเนียดไม้กระดาน เรือนข้างในเปนเรือนฝากระดานอย่างฝรั่งบ้าง เรือนฝากระแชงอ่อนบ้าง ที่ปลายสนามอีกด้านหนึ่งปลูกพลับพลาสามห้อง เฉลียงรอบ ตกแต่งปูลาดดาดหุ้มด้วยผ้าแดงผ้าขาวผ้าลายหมดจดเรียบร้อย มีเครื่องประดับอย่างฝรั่งโต๊ะเก้าอี้เครื่องติดเสาพอสมควรแก่ที่ ดาดปะรำกระแชงกว้างตลอดด้านน่า กั้นรั้วทางมะพร้าว มีกล้วยไม้ต่างๆ ห้อยตามชายปะรำ ปูพื้นกระดานตั้งเก้าอี้ไม้ไม่มีที่พิงอย่างจีน เปนที่ข้าราชการเฝ้า เที่ยวดูในที่ต่างๆ เหล่านี้ แล้วพักอยู่ที่พลับพลาจนบ่าย ๒ โมง

จึงได้ออกเดิรไปตามถนนน่าบ้านพระยาไชยา ผ่านน่าศาลากลาง ไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิตร(๒) แวะเข้าดูวัด พระสงฆ์ทั้งในวัดนั้นแลวัดอื่นมานั่งรับอยู่ในศาลาเต็มๆ ทุกศาลา ได้ถวายเงินองค์ละกึ่งตำลึงบ้าง องค์ละบาทบ้างทั่วกัน แล้วออกเดิรต่อไปตามถนนท้องตลาด ตลาดเมืองไชยาไม่เปนโรงแถวปลูกติดๆ กันเหมือนเช่นเมืองสงขลา ซึ่งมีจีนแห่งใดมักจะเปนโรงแถวติดๆ กันเช่นนั้น แต่ที่ตลาดเมืองไชยานี้เปนตลาดไทย ขายของน่าเรือนหรือริมประตูบ้านระยะห่างๆ กัน มีผ้าพื้นบ้าง ขาวม้าราชวัดบ้าง ยกไหมยกทองก็มี เปนของทอในเมืองไชยา แต่ผ้าพื้นไม่มีมากเหมือนอย่างเมืองสงขลา ขนมมีขายมาก ชื่อเสียงเรียกเพี้ยนๆ กันไปกับที่เมืองสงขลา

บ้านเรือนดูแน่นหนา มีเรือนฝากระดานบ้าง แต่ตีรั้วน่าบ้านโดยมาก ที่เกือบจะสุดปลายตลาดมีวัดโพธาราม เปนวัดโบราณซึ่งพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ยังอยู่แต่ผนัง มุงจากไว้ พระครูกาแก้วอายุ ๘๐ ปีตาไม่เห็น หูตึง แต่รูปร่างยังอ้วนพีเปล่งปลั่ง จำการแก่ๆ ได้มาก ปากคำอยู่ข้างแขงแรงเรียบร้อย เปนคนช่างเก็บของเก่าแก่ อย่างเช่นผ้าไตรฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผ้ากราบปักเปนต้น ก็ยังรักษาไว้ได้ แลเล่าเรื่องราวในการงารที่มีที่กรุงเทพฯ ประกอบสิ่งของได้ด้วย เรียกชื่อคนทั้งชั้นเก่าชั้นใหม่เต็มชื่อเสียงแม่นยำ ได้สนทนากันก็ออกชอบใจ จึงได้รับจะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งพระครูได้ตระเตรียมไว้บ้างแล้วนั้นให้สำเร็จ ได้มอบการให้พระยาไชยาเปนผู้ทำ เพราะอิฐแลกระเบื้องเขามีอยู่แล้ว แลได้ถวายเงินพระครูชั่งห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง ข้างในเรี่ยรายกันเข้าในการปฏิสังขรณ์บ้าง เจ้าสาย(๓)มาทำบุญวันเกิดที่วัดนี้ ได้เงินถวายในการปฏิสังขรณ์สองชั่ง รวมเงินประมาณสี่ชั่ง ออกจากวัดเดิรไปจนสุดตลาด ยังมีทางต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง จึงจะถึงทุ่งไชยา ทางตั้งแต่บ้านพระยาไชยาไปจนถึงทุ่งไชยาประมาณ ๓๐ เส้น กลับโดยทางเดิมมาพักที่พลับพลา พระยาสวัสดิวามดิศเปนผู้ช่วยพระยาไชยาจัดการเลี้ยงทั่วไป อยู่ข้างดีกว่าทุกแห่ง เวลา ๕ โมงครึ่งกลับมาเรือ

ที่เมืองไชยานี้ เขตติดต่อกันกับเมืองหลังสวนที่บางตำรุริมทเล ตวันตกต่อเมืองคิรีรัฐนิคมที่คลองยัน ด้านใต้ต่อเมืองกาญจนดิฐที่ปากคลองพันธูหา ลำน้ำใหญ่ซึ่งเรียกคลองพุมเรียงเหมือนกัน ปลายคลองไปทลุออกทเลเปนคลองน้ำเค็ม คลองพุมเรียงเล็กซึ่งเข้าไปถึงเมืองนั้นก็เปนคลองด้วนดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ใช้ค้าขายในลำคลองไม่มีอันใด น้ำก็กินไม่ได้ ต้องใช้น้ำบ่อทั้งสิ้น จำนวนคนที่ได้ทำสำมโนครัวแปดปีเก้าปีมาแล้วนั้น ประมาณสี่หมื่นเจ็ดพันคนเศษ เปนจีนอยู่สองร้อย แขกประมาณห้าร้อย แต่ในคนเหล่านี้ที่อยู่ในบังคับเมืองไชยาแท้เพียง ๗๐๐๐ – ๘๐๐๐ คน นอกนั้นเปนคนต่างเมืองมาอยู่

การทำมาหากินของราษฎร ทำนาเปนพื้น เมื่อโคกระบือยังไม่ (เปนโรคระบาทว์) ล้ม มีเข้าจำหน่ายออกจากเมืองบ้าง ตั้งแต่เกิดโคกระบือล้มมาแล้ว ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเต็มที่ได้ ต้องซื้อเข้าต่างเมืองกิน ต้นตาลในเมืองไชยามีมาก แต่ราษฎรไม่ใคร่พอใจทำ พระยาไชยาแจ้งว่าเมื่อเข้าแพงได้คิดชัดนำให้ทำตาล ก็ทำได้น้ำตาลดีกว่าน้ำตาลเมืองยิหริ่ง แต่สู้น้ำตาลเมืองเพ็ชรบุรีไม่ได้ ครั้นพอมีเข้ากินแล้วก็พากันทิ้งการทำตาลเสียมาก ราษฎรอยู่ข้างจะสันโดษ หากินแต่พอเลี้ยงชีวิตคล้ายเมืองพัทลุง สินค้าที่ออกจากเมืองไชยานั้น อยู่ข้างจะไล่เลียงได้ความมาก เพราะพระยาไชยาสันทัดในการค้าขาย มาดไม้เคี่ยมสำหรับทำเรือพลูที่เข้าไปกรุงเทพฯ ปีปีหนึ่งถึง ๓๐๐ – ๔๐๐ ลำ ดูก็ขันอยู่ คนช่างใช้เรือในกรุงเทพฯ มากเสียจริงๆ แต่เมืองไชยาเมืองเดียวยังเท่านี้ ปีหนึ่งจะเกิดเรือขึ้นใหม่สักกี่ร้อยลำ พระยาไชยาเองก็ตั้งโรงต่อเรือเอี้ยมจุ๊นขาย ฉันได้ดูที่โรงที่ทำงารนั้น ว่าลงทุนเบ็ดเสร็จอยู่ใน ๒๘๐ บาท ขายได้ลำหนึ่งสี่ร้อยแปดสิบบ้าง ห้าร้อยบ้าง กระดานไม้เคี่ยมเกิดขายกันขึ้นในหมู่เข้าแพง เพราะพระยาไชยาแนะนำ แต่ราษฎรยังชอบใจทำติดต่อมาเดี๋ยวนี้ ได้ออกจากเมืองอยู่ในปีละ ๒๐๐๐ แผ่น

สินค้าที่เปนพื้นอยู่อีกนอกนั้น คือหวายไต้กระแชงเปนอย่างมาก น้ำตาลมพร้าวสุกรเปนออกน้อย สินค้าทั้งปวงนั้นเข้าไปกรุงเทพฯ โดยมาก แต่น้ำตาลจำหน่ายอยู่ในแถบนี้ สุกรและเขาหนังเมื่อคราวมี ออกไปจำหน่ายเมืองสิงคโปร์ และพระยาไชยาแจ้งว่าได้พบดีบุกในแขวงเมืองไชยาต่อแขวงเมืองหลังสวนแห่งหนึ่ง ได้มีใบบอกเข้าไปกรุงเทพฯ แล้ว เขาคิดจะทำในระดูแล้งนี้ อนึ่งในหมู่ของถวายทั้งปวงมีขอนดอกด้วย ถามได้ความว่าราษฎรไปตัดป่าพบเข้า ในแขวงเมืองไชยานี้เอง ดูก็ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ถ้าค้นจริงๆ ก็เห็นจะได้เหมือนข้างเหนือบ้าง ตัวพระยาไชยาเองเปนคนคล่องแคล่ว และมีความคิดอยากจะจัดการบ้านเมืองให้ดีอยู่ เห็นว่าคงจะจัดการผลประโยชน์ในบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้บ้าง

วันที่ ๗ เวลาย่ำรุ่งตรง ลงเรือกระเชียง เรือจักรนารายณ์ลากไปเมืองกาญจนดิฐทางในกระเส็ด แต่เปนเวลาน้ำน้อยไปได้สัก ๔๐ มินิตเรือกลไฟติด ต้องรอเรียกเรือทอนิครอฟต์มาลากต่อไป เรือทอนิครอฟต์ไปได้สดวก จนถึงดอนน่าปากน้ำบ้านดอน ท้องครือต้องเอาคนลงช่วยพยุง ตอนนี้ช้ามาก ครั้นจะพาเรือกลไฟเขาไปให้ได้กลัวว่าเมื่อเวลาเข้าไปถึงในแม่น้ำ จะไปตีกระเชียงทวนน้ำเชี่ยวจะยิ่งช้าหนักไป ตั้งแต่มาจน ๕ โมงเช้าจึงได้เข้าถึงปากน้ำ เรือไฟเดิรได้สดวกแต่น้ำเชี่ยวจัด ไปอีกสองชั่วโมงครึ่งเศษ เปนเวลาบ่ายโมงครึ่งกว่า จึงได้ถึงพลับพลา พอถึงก็ฝนตก ลมพยุมีบ้างมืดมัวไปไม่มีแสงแดดเลย การที่คิดกะระยะกันแต่เดิมว่าอยู่ใน ๔ ชั่วโมง มิใช่แต่คำพระยาไชยาว่า ท่านเล็ก(๔)เปนผู้ได้เคยไปแต่ก่อน ก็กะว่าอยู่ในราวนั้น จึงได้คิดไม่ไปค้าง หมายจะไปอย่างเมืองยิหริ่ง แต่การที่กะผิดไป เพราะคิดเพิ่มกำลังเรือไฟให้เร็วกว่าเรือกระเชียง แต่ครั้นเมื่อไปจริงในท้องทเล เรือไปกลับช้ากว่าเรือกระเชียง ด้วยน้ำตื้น ต้องเดิรอ้อมร่องที่ลึก วนเวียนมากไป ไม่ตัดทางใกล้ได้เหมือนเรือกระเชียง

พลับพลาที่ปลูกไว้นั้นเปนที่ซึ่งเจ้าพระยานครทำพระราชยาน ถมแล้วทำทำเนียบรับสมเด็จเจ้าพระยาที่นั่น อยู่เหนือตลาดไปมาก เมื่อขึ้นไปตามลำน้ำ ได้แลเห็นแต่หลังเรือนที่หันน่าเข้าถนนข้างใน และในกระบวรลำน้ำ บ้านเรือนบนบกไม่ได้เห็นเลย ถ้าจะกลับต้องกลับในเวลาที่ไปถึงนั้นเอง จึงจะมาถึงเรือพอพลบค่ำ เปนอันเหนื่อยเปล่าไม่ได้เห็นอันใดทั่วถึง เรือที่ตีกระเชียงไปไม่ได้ลากเรือไฟ คนจะต้องตีกระเชียง ๑๒ชั่วโมงเต็ม ฝนก็ตกในทเล คงจะมีพยุไม่มีท่าทางที่จะกลับมาได้ เปนตกลงต้องค้าง

โดยว่าถ้าเขาทำพลับพลาไว้เปนที่ประทับร้อนเล็กๆ ก็คงจะต้องค้าง ดีกว่าที่จะให้คนมาทนลำบากเหลือเกิน ต้องตีกระเชียงวันยังค่ำ และไม่แน่ว่าจะต้องไปติดค้างอยู่แห่งใดจนรุ่งสว่างก็ได้ เพราะเปนเวลามืดค่ำลำบาก แต่นี่รอดตัวที่พลับพลาเขาทำไว้ใหญ่โต เปนที่ประทับแรมมีท้องพระโงตรีมุข ดาดสีช่อฟ้าใบรกาหลังหนึ่ง เปนที่อยู่หลังหนึ่ง มีเรือนข้างในสองหลังชานแล่นกลาง หลังยาวขวางข้างหลังอีกหลังหนึ่งเปนที่เลี้ยงโต๊ะ ตกแต่งเรียบร้อย มีดาดเพดานไม่ได้หย่อนเลยสัดนิดหนึ่งเปนต้น ตามแบบชาวนอก มีเตียงศิลาจีนเปนที่นอนโต๊ะเก้าอี้มีจนผ้านุ่งอาบน้ำ ผ้าเช็ดหน้ารองพานทองก้าไหล่พรักพร้อม พอจะอยู่ได้สบาย แต่ความขัดข้องของผู้อื่นมีเรื่องผ้านุ่งห่มที่จะผลัด และที่นอนไม่มีมาด้วยกันทั้งสิ้น ต้องให้ไปจัดซื้อผ้าพื้นมาแจกกันนุ่ง

แต่ผ้าพื้นเมืองนี้ก็หาซื้อยาก ได้สักห้าหกผืนเท่านั้น เพราะต่างคนต่างทอแต่เพียงพอนุ่งห่มเหมือนเมืองพัทลุง เมื่อเอะอะหาซื้อกันอยู่ช้านาน มารดาและภรรยาหลวงพิพิธสุวรรณภูมิทราบเข้า จึงได้ไปจัดผ้าพื้นซึ่งเขาซื้อมาแต่เมืองไชยา เตรียมทำของถวายเข้ามาให้ ได้แจกกันคนละผืนทั่วไปตลอดจนทหาร เพราะฝนตกไม่ได้ขาดเปียกอยู่ด้วยกันโดยมาก ผู้หญิงขัดผ้าห่ม จะหาซื้อผ้าขาวมาตามตลาดก็ไม่มี ได้แต่ผ้าสีน้ำตาลสำหรับใช้หุ้มอะไรอะไร กับผ้าดอกมีแป้งมาฉีกแจกกันห่ม จะหาผ้าซับอาบแจกกันให้พอก็ไม่พอ ต้องซื้อผ้าขาวมามาฉีกแจกสำหรับปูนอนคนละผืน

ครัวของฉันก็ไม่มีมา ต้องหาเตาหม้อและของสดมาทำกินเอง อยู่ข้างกาหลขลุกขลักกันสนุกมาก(๕) บุหรี่ที่มีไปเปนทรัพย์ที่จะพึงสงวนอย่างวิเศษ การเลี้ยงดูเขาก็ตั้งเลี้ยงข้าราชการทั่วถึงกัน ตามความคาดคะเนของฉันแต่เดิม ไม่คิดเห็นเลยว่าหลวงพิพิธสุวรรณภูมิจะจัดการรับรองได้ถึงเพียงนี้ ดูจัดการได้เกินกำลังและวาสนา ความคิดอ่านที่วางการงารก็ดูพอใช้ ผิดกับกิริยาตัวที่เห็นอยู่ได้พูดจาไต่ถามการงาร ก็เห็นว่าพอจะรับราชการแทนบิดาต่อไปได้(๖) พระเสนานุวงศ์ภักดี ซึ่งให้ทำภาษีและกำกับดูแลการ(๗)ก็ไม่ได้มาที่เมืองกาญจนดิฐเลย เดี๋ยวนี้ทราบว่าเปนลมอำมพาตเห็นจะไม่หาย หลวงพิพิธสุวรรณภูมิเห็นจะพอรับราชการรักษาบ้านเมืองต่อไป จึงได้คิดจะให้สัญญาบัตรเปนพระกาญจนดิฐบดีไปก่อน

ลำน้ำเมืองกาญจนดิฐเปนแม่น้ำกว้างใหญ่ น้ำจืดสนิทเหมือนแม่น้ำกรุงเทพฯ ปลายน้ำขึ้นไปเปนสองแยก แยกข้างขวาเรียกคลองพุมดวง แล้วขึ้นไปแนกอีกสองแยก แยกล่างเปนคลองยัน แยกบนเปนคลองพะแสง ปลายคลองพุมดวงพ้นคลองพะแสงขึ้นไป เรียกคลองพนม น้ำตกมาแต่เขาในเมืองตะกั่วป่า น้ำบ้านดอนแยกข้างฤดู ผลไม้มีมากลางสาดเป็นอย่างดี แต่ในเวลาที่มานี้ ผะเอิญถูกคราวไม่มีผลไม้ เวลาค่ำเขาจัดหนังตะลุงและโนห์รามาเล่น แต่พื้นดินเปรอะเปื้อนนัก เวลาเย็นจะไปเที่ยวข้างไหนก็ไม่ได้ ฝนตกตั้งแต่กลางวันจนตลอดรุ่งไม่ขาดเม็ดเลย

อนึ่งหลวงพิพิธนำช้างพังสีประหลาดช้างหนึ่งมาให้ดู เห็นเปนช้างสีประหลาดตามธรรมเนียม รูปร่างสูง ๔ ศอกเศษ พอสู้พังพรรณพิเศษได้ อีกช้างหนึ่งเปนช้างใหญ่รูปงาม สูง ๕ ศอก งากางสมควรจะเปนช้างยืนโรงได้ ได้สั่งให้เขาเดิรเข้าไปกรุงเทพฯ

วันที่ ๘ เวลาเช้าทำกับเข้าเสร็จแล้ว และรับพวกจีนพ่อค้ามาหาแจกจ่ายเข้าของ และให้เงินหลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์สำหรับแจกคนที่ใช้สิบชั่งแล้วเสร็จ เวลา ๒ โมงเช้าลงเรือล่องไปขึ้นที่ตะพานน่าทำเนียบข้าหลวงใต้พลับพลาลงไป ขึ้นเดิรตามถนนริมน้ำเปนถนนเก่า ถนนใหม่เขาตัดลึกเข้าไปข้างใน ด้วยถนนเก่านี้น้ำกัดตลิ่งพังใกล้เข้ามามาก เข้าคิดจะย้ายไปใหม่ แต่ฝนตกเปนโคลนเปรอะเปื้อนอย่างยิ่ง ต้องเอากระดานทอดเดิรไปจนพ้นวัดสามม่าย จึงได้ถึงท้องตลาดถนนค่อนเปนดินแขง ราษฎรพากันเอาเสื่อมาปูให้เดินเกือบตลอดทาง ตลาดเปนที่มีจีนมาก จึงได้ปลูกติดต่อกัน ที่ตลาดมีผ้าขายน้อย มีแต่ของซึ่งใช้สอยมาแต่กรุงเทพฯ บ้าง มาจากสิงคโปร์บ้าง มาจากเมืองจีนบ้าง ซื้อของเมืองนี้ได้แต่ผ้าตาเจ็ดแปดผืน ตลาดก็เปนตลาดใหญ่ยืดยาว แต่ไม่สู้บริบูรณ์นัก

ไปลงเรือที่ปลายตลาดริมวัดกลาง พระครูสุวรรณรังษีลงไปรับอยู่ที่ในเรือริมน้ำน่าวัดเมื่อขึ้นมา วันนี้มาคอยรับอยู่ที่ในวัด ได้ถวายเงินพระสงฆ์ทั้งวัดกลางวัดสามม่ายที่ผ่านมา ได้ออกเรือจากท่าเวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง เรือทอนิครอฟต์ลาก พบจรเข้นอนอยู่บนหาดสองตัว ออกมาถึงที่ดอนเรือไปติด ต้องตีกระเชียงออกไปถึงเกาะปราบ พ่วงเรือจักรนารายณ์ลากมาทางนอก เพราะน้ำในกระเส็ดเปนเวลาแห้ง มาจนเวลาบ่าย ๒ โมง มีพยุฝนตกหนักมืดไปทุกทิศ ต้องขึ้นเรือไป เปียกฝนหมดทั้งตัว แต่เรือเจ้านายที่มาภายหลังถึงต้องทอดสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทางใด บ่าย ๓ โมงสามเสี้ยวมาถึงเรืออุบลบุรทิศ เรือเหว(๘)มาถึงเกือบบ่าย ๕ โมง บ่าย ๕ โมงได้ออกเรือ เวลา ๒ ทุ่มถึงแหลมกันทุรี ทอดนอนอยู่ในที่นั้น เวลา ๑๐ ทุ่มออกเรือ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:13:13:29 น.  

 
 
 
(ต่อพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔)

วันที่ ๙ เวลาเช้า ๒ โมง ทอดสมอที่น่าเมืองหลังสวน แลเห็นแหลมประจำเหียงข้างเหนือ แหลมบังมันเขาพะสงข้างใต้ เปนแหลมขอบเหมือนหนึ่งอ่าวกว้างๆ ที่ตรงกลางที่เปนเมืองหลังสวนมีเขาซับซ้อนกันมาก บางเขาล้มไม้ เหลืออยู่บ้างโปร่งๆ ทำไร่เข้า ดูเปนพื้นเขียวสดงาม น้ำแม่น้ำหลากแดงลงมาในทเลจนถึงที่เรือจอด พระยารัตนเศรษฐี พระจรูญราชโภคากร พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา(๙) ลงมาหาในเรือ ได้ลงมาคอยอยู่ที่ปากน้ำสี่คืนมาแล้ว เวลาเที่ยวง ๒๕ มินิตขึ้นบก เรือทอนิครอฟต์ลากตามร่อง ขึ้นข้างเหนือสิบแปดมินิตถึงปากช่องลำน้ำ เขาปลูกพลับพลาไว้สองหลัง หลังนอกมีช่อฟ้าใบรกา แต่ไม่ได้แวะขึ้น เรือที่ลงมารับบันทุกเข้าของแลนำร่อง มีเรือโขนอย่างบ้านนอกสองลำ โขนทาสีเขียนลายมีผ้าน่าและภู่ด้ายดิบ ผูกธงแดงเล็กๆ ตรงกับภู่ขึ้นมาข้างน่าท้ายข้างละสองคัน ลำหนึ่งอยู่ใน ๒๕ – ๒๖ พาย เห็นจะเปนเรือแข่ง

ที่ปากน้ำมีบ้านเรือนคนหลายสิบหลัง ปลูกมะพร้าวในหมู่บ้านมาก ระยะทางตอนนี้มีที่ว่างเปนป่าโกงกางเข้าไป จนถึงเขาตกน้ำมีศาลเจ้า ต่อนั้นไปเมื่อถึงน่าเขาแห่งใด ก็มีบ้านเรือนเปนหย่อมๆ มีต้นมะพร้าวเปนระยะ ขึ้นไปไม่สู้ห่างกัน ประมาณสัก ๔๐ มินิต ตั้งแต่นั้นไปก็มีสวนทุเรียนลางสาดหมากมะพร้าวรายไปตลอดจนถึงพลับพลาไม่ใคร่จะเว้นว่าง ดูต้นผลไม้งามตลอดทาง บ้านเรือนก็ไม่ใคร่จะมีเว้นว่าง แน่นหนากว่าทุกเมือง เดิมคิดว่าจะขึ้นเดิรที่บางยี่โร แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในลำน้ำได้หน่อยหนึ่งฝนก็ตกไม่หยุด รื้อแล้วรื้อเล่าจนถึงซ่าก็มี

ไปสองชั่วโมงกับ ๒๕ มินิตถึงบางยี่โร มีบ้านเรือนปลูกติดต่อกัน ไปตามริมน้ำเปนตลาดยาว ต้องเลยไปทางเรือ มีวัดตามระยะทางขึ้นมาห้าวัด บ่าย ๓ โมง ๔๕ มินิตถึงพลับพลาบางขันเงิน อยู่ในสามชั่วโมงกับ ๒๐ มินิต ที่ซึ่งทำพลับพลานี้เปนที่สวนราษฎร พระหลังสวนซื้อตกแต่งขึ้นเปนพลับพลา อยู่ใต้บ้านพระหลังสวนลงมาทางบกเดิรประมาณ ๒๐ เส้น พื้นที่ข้างด้านน่าเปนที่แจ้ง หญ้าขึ้นแน่นเหมือนสนามที่ช่วยปลูกกว้างใหญ่ ตัดทางเดิรตกแต่งเข้าเปนสนามหญ้า ปลูกเปนที่พักเจ้านายข้าราชการสี่หลัง โรงเลี้ยงสองหลัง ตะพานที่ฉนวนทำเปนสามทาง อย่างกระไดทองกระไดเงินกระไดนาก ตลิ่งสูงสักสิบศอก พลับพลาหลังน่าทำเปนจตุรมุขโถง ดาดสีมีช่อฟ้าใบรกา หลังในเปนจตุรมุขกั้นผากระแชง มีมุขกระสันชักติดกับหลังนอก มีหลังเล็กๆ แซกตามรักแร้อีกสี่หลัง ตกแต่งหุ้มดาดลาดปูผ้าขาวผ้าแดงผ้าดอก มีเครื่องเฟอรนิเช่อต่างๆ คือเตียงนอนตู้โต๊ะเก้าอี้ตามสมควร

ข้างหลังพลับพลาลงไปมีสวนทุเรียนและลางสาดเปนพื้น ต้นไม้อื่นมีบ้าง ตัดทางบันจบให้ลดเลี้ยวเปนชั้นเชิง ที่หญ้าหนาก็ไว้เปนที่หญ้า ตัดวงประจบเข้าเปนรูปกลมรูปรี เปนแฉกดาวตามที่สมควรจะเปนได้ ที่เปนโคกเนินสูง ก็แต่งให้เปนรูปกลมบ้างเปนลอนบ้าง ปูหญ้าเพิ่มเติมให้เขียวเต็มที่หว่างลายหญ้าปลูกต้นโกรตน ต้นหมากเล็กๆ ต้นกล้วยเปนหมู่ๆ มีเรือนข้างในหลังย่อมๆ อยู่ในสวนสี่หลัง มีเครื่องใช่สอยคือน้ำโคมกระโถนทุกหลัง แต่เรือนเหล่านี้ไม่มีคนจะอยู่

ที่กลางสวนทำเปนโรงแปดเหลี่ยม ปูหญ้าเปนขอบ กลางเปนพื้นดินทุบเรียบเหมือนพื้นเรือนแขกในเมืองยะวา ตั้งโต๊ะเก้าอี้เปนที่นั่งเล่น ตามโคนต้นไม้ใหญ่ก็ทำเก้าอี้ไม้ไผ่รอบ บางต้นก็ทำเปนกรงปล่อยนก มีนกยุง นกหว้า นกเงือก นกเปล้า ไก่ฟ้า ตามต้นไม่มีชนี ลิง กัง ผูกไว้ แขวนและติดกล้วยไม้ต่างๆ ทั่วไปทุกแห่ง รอบบริเวณพลับพลากั้นรั้วใบตาลยาวประมาณสักสามเส้น การที่ตกแต่งทั้งปวง เปนทำตามอย่างพลับพลาเมื่อครั้งไปไทรโยค ซึ่งพระอัษฏงค์ไปได้ฟังคำเล่ามา แต่ที่นี่ได้เปรียบที่เปนสวนเดิม มีต้นผลไม้กำลังเปนผล ทุเรียนเต็มทุกๆ ต้น ลางสาดก็มีแต่ยังอ่อน ดูเปนที่สนุกสนานเหมือนกับจะให้อยู่หลายๆวัน แต่ฝนตกพรำอยู่เสมอไม่ขาด พื้นแผ่นดินเปนโคลนเดิรได้แต่เฉพาะที่โรยทรายเปนทาง

เวลาเย็นออกจากพลับพลาไปตามทางถนน ซึ่งเขาตัดตั้งแต่บางยี่โรขึ้นมาจนถึงบ้าน ประมาณ ๖๕ เส้น ทางกว้าง ๘ วาโรงทรายเม็ดใหญ่ แต่ฝนตกมากนักไม่วายเปนโคลน ตามสองข้างทางมีเรือนโรงติดๆ กันประมาณ ๑๔ – ๑๕ หลัง แต่ดูโรเรไม่สู้เปนที่ค้าท่าขายอันใด เจ้าของว่าได้ล่อนักแล้วก็ไม่ติด เพราะราษฎรสันโดษเสียเหมือนอย่างเมืองพัทลุง ปลายถนนเปนบ้านพระหลังสวน ภูมที่กว้างใหญ่มีกำแพงล้อมรอบมีตึกใหญ่ยาว ๘๐ ฟิตเปนสี่มุขหลังหนึ่ง ตึกสำหรับทำครัวข้างหลังยาวใหญ่อีกหลังหนึ่ง เนื่องเปนหมู่เดียวกัน ตึกกงสีสองชั้นอยู่ข้างซ้ายตึกใหญ่อีกหลังหนึ่ง ตึกแปดห้องเปนที่ว่าความและเล่นบิลเลียด สองชั้นอยู่ริมประตูบ้านหลังหนึ่ง หลังตึกมีกำแพงรอบเปนสวนไม่ดอกไม้ผล ดูเปนที่สบายดีทั้งบ้าน กลับมาพลับพลาเวลาพลบ

เมืองหลังสวนนี้ ฉันไม่คิดคเนใจว่าจะมีผู้คนเรือกสวนแน่นหนามากถึงเพียงนี้เลย ดูแปลกกับเมืองอื่นๆ ถามดูจำนวนคนก็ว่ามีถึงหมื่นหกพันเศษ ที่ทำสำมโนครัว คนชุมพรที่แตกมาเกลี้ยกล่อมไว้ได้ถึงห้าสิบครัว แต่จีนมีสองร้อยเศษ ลำน้ำขึ้นไปสองวันถึงพะโต๊ะปากทรงซึ่งเปนที่ทำแร่ดีบุก เปนท่าขึ้นที่จะเดิรข้ามไปเมืองระนองทางคืนหนึ่งถึงปลายน้ำตกจากเขา ที่นาในพื้นเมืองได้เข้าไม่พอกิน ต้องซื้อเข้ากรุงเทพฯ ที่สวนเปนการทำง่ายอย่างยิ่ง ทุเรียนนั้นจะเรียกว่าสวนฤๅจะเรียกว่าป่าก็เกือบจะได้ เพราะเจ้าของไม่ต้องทำนุบำรุงอันใด ปลูกทิ้งไว้กับพื้นราบๆ ไม่ต้องยกร่อง เพราะน้ำไม่มีท่วม และขุดลงไปที่ไหนมีน้ำในแผ่นดินทั่วทุกแห่ง ว่าเมื่อปีกลายนี้เปนอย่างน้ำมาก ก็ท่วมเพียงแปดชั่วโมงเท่านั้น เจ้าของสวนต้องเปนธุระแต่เวลาที่ทุเรียนมีผลต้องไปเฝ้า เมื่อแก่เก็บขายได้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไป

เดิรไปข้างไหนคงจะเห็นต้นทุเรียนและได้กลิ่นทุเรียนอยู่เสมอๆ จำหน่ายออกจากเมืองขายไปจนถึงบ้านแหลมเมืองเพ็ชรบุรี ทุเรียนที่เนื้อหนาว่ามีน้อย ที่เนื้อบางอย่างทุเรียนเมืองนครมีมาก ดูลูกย่อมๆ แต่นักเลงกินเขาชมกันว่ารสดีมันมาก หมากมะพร้าวเปนสินค้าไปจำหน่ายกรุงเทพฯ นอกนั้นก็มีไต้หวายกระแชงเหมือนเมืองอื่นๆ แต่มาดเรือและไม้กระดานไม่มี เพราะไม่ใคร่จะมีที่ป่า ลูกค้าที่หาบของไปขายทางเมืองระนอง มีทุเรียนกวนเปนต้น ขากลับรับด้ายผ้าของต่างประเทศเข้ามาจากเมืองระนองก็มีอยู่มาก

ฉันเห็นว่าที่จริงก็ดูเปนเมืองมั่งคั่งผู้คนมาก เจ้าเมืองสมควรจะเปรพระยาได้ จึงให้สัญญาบัตรเปนพระยาจรูญราชโภคากร และตั้งหลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์เปนพระกาญจนดิฐบดีด้วย

วันที่ ๑๐ ก่อนกินเข้าไปที่สวนพระยาจรูญ อยู่ใต้บ้านลงมาหน่อยหนึ่ง ปลูกมะพร้าว หมาก พลู กาแฟ มังคุด มะไฟ เงาะ และต้นผลไม้เมืองจีนต่างๆ ทั้งกานพลู จันทน์เทศ ทุเรียนลางสาดนั้นเปนพื้นสวน เวลาบ่ายลงเรือขึ้นไปตามลำน้ำ น้ำเชี่ยวหนักขึ้นไปทุกที จนพอที่จะเรียกว่าเรี่ยวว่าแก่งได้ แต่แปลกันกับข้างไทรโยค แม่น้ำนั้นดูค่อยๆ สูงขึ้นไป มีที่น้ำเชี่ยวน้ำอับ แต่ในแม่น้ำนี้ไม่มีที่น้ำอับ มีแต่เชี่ยวมากเชี่ยวน้อย แลเห็นน้ำสูงได้ในระยะใกล้ๆ

เรือไฟทอนิครอฟต์ลากขึ้นไปสองชั่วโมงกับ ๔๕ มินิตถึงน่าถ้ำเขาเอ็น เปนถ้ำเสมอพื้นตลิ่ง ที่ต้องขึ้นนั้นขึ้นตลิ่งมิใช่ขึ้นเขา แต่ศิลาน่าผาชันสูงใหญ่ดูงามดี ทีสามถ้ำด้วยกัน ถ้ำกลางตรงน่าไม่สู้กว้างใหญ่ ปากถ้ำเปิดสว่าง มีพระพุทธรูปโตบ้างย่อมบ้าง ปิดทองใหม่ๆ หกองค์ พระศิลาพม่าของพระยาระนองและพระยาหลังสวนมาตั้งไว้ ๒ องค์ ได้จารึกอักษร(๑๐)ตามที่เคยจารึกไว้ที่ผนังถ้ำ และให้สร้างพระเจดีย์ซึ่งทำค้างอยู่ที่ชง่อนศิลาน่าถ้ำองค์หนึ่ง ถ้ำอีกสองถ้ำนั้นอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นไป ถ้ำหนึ่งฉันไม่ได้ไปดู เขาว่ากว้างเท่าๆ กันกับถ้ำล่าง เปนแต่ลึกเข้าไป อีกถ้ำหนึ่งต้องเดิรเลียบเขาห่างตลิ่งเข้าไปหน่อยหนึ่ง ปากถ้ำแคบในนั้นมืด ได้ไปมองดูที่ปากช่องจะไม่โตกว่าถ้ำกลางมากนัก แต่เปนคั้งค้าวจอกแจกไปทั้งถ้ำ เวลาเย็นเสียแล้วจึงได้รีบกลับมา

ขาล่อง ๕๐ มินิตเท่านั้นถึงพลับพลา ขึ้นเดิรบกจากพลับพลามาตามถนน อยู่ข้างเปนหล่มเปนโคลนมาก ฟากถนนข้างรอมน้ำเปนสวน มีเรือนเปนระยะห่างๆ ฟากข้างในเปนทุ่งนา ผ่านวัดด่านมาวัดหนึ่ง แล้วจึงถึงวัด(ตะ)โหนด ซึ่งพระครูธรรมวิจิตรอยู่ ได้แวะถวายเงินพระสงฆ์ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วลงมาบาง(ยี่)โร มีซุ้มทำด้วยไม้หมากทั้งต้น ปลายเสายังมียอดอยู่ ไขว่ไม้เปนตาชะลอมประดับด้วยกล้วยไม้ พวกจีนที่ตลาดจุดประทัดตีม้าล่อรับ ตลาดเปนโรงสองแถวไปตามลำน้ำ ทางแคบยิ่งกว่าสำเพ็ง และเปนโคลนเลอะเทอะไม่ได้เข้าไปเห็น แต่เขาว่าเวลาเช้าตลาดออกเวลาเดียว มีคนขายของสดอยู่ในวันละ ๗๐ – ๘๐ คน พวกที่อยู่บางขันเงินก็ลงมาจ่ายตลาดบางยี่โร เดิรตั้งแต่พลับพลามาจนถึงตะพานน้ำครึ่งชั่วโมงตรงๆ เปนอย่างเดิรช้าเพราะติดโคลน แต่กระนั้นยังต้องมารอเรืออยู่อีกเจ็ดมินิตจึงได้มาถึง ล่องลงมาชั่วโมงเศษเล็กน้อย เวลาทุ่ม ๒๕ มินิตถึงเรืออุบลบุรทิศ

กำหนดออกจากเมืองหลังสวนเวลาพรุ่งนี้ แวะเกาะพิทักษ์ แหลมกรวด สามร้อยยอด เพราะต้องพักผ่อนให้เรือเล็กได้รับฟืนที่เมืองชุมพร กำหนดจะถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม


พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ในถ้ำหลวงเขาสามร้อยยอด

ตัวฉันและบันดาคนที่มาเปนสุขสบาย แต่ตอนหลังนี้ถูกฝนชุกนักไม่มีวันเว้นเลย

อนึ่งหนังสือของเธอลงวันที่ ๘ สิงหาคมนั้น ได้รับแล้ว



สยามินทร์




........................................................................................................


(๑) พระยาสวัสดิวามดิฐ (ฟัก) ต่อมาได้เปนพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เวลานั้นเข้าหุ้นกับพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ทำอากรรังนก

(๒) วัดสมุหนิมิตรนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังฯ ที่สมุหพระกลาโหมสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๓ เพราะได้เปนแม่กองลงไปตั้งสักเลขอยู่ในหัวเมืองเหล่านั้นคราวหนึ่ง เมื่อตอนปลายรัชกาล

(๓) พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ

(๔) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

(๕) การที่ต้องทำเครื่องเองครั้งนี้ เปนต้นเค้าของการเสด็จประพาสต้น ซึ่งโปรดทำเครื่องเสวยเองในชั้นหลังต่อมา

(๖) หลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์ ยกรบัตร์ (เจริญ ณ นคร) ภายหลังได้เปนพระกาญจนดิฐบดี เปนบุตรพระยากาญจนดิฐบดี (พุ่ม ณ นคร) พระยากาญจนดิฐบดีเปนบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย)

(๗) พระเสนานุวงศ์ภักดี (ขาว ณ นคร) ผู้ว่าราชการเมืองคิรีรัฐนิคม ขึ้นเมืองตะกั่วป่า เขตแดนอยู่ต่อติดกับเมืองกาญจนดิฐทางตวันตกเฉียงเหนือ พระเสนานุวงศ์ภักดีเปนบุตรพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเปนบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) อีกคน ๑

(๘) ที่เรียกว่าเรือเหวนั้น พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) ต่อ เปนเรือพระที่นั่งกระเชียงขนาดใหญ่ สำหรับพ่วงเรือไฟไปตามเสด็จ เมื่อยังว่าทหารมรินและเรือรบอยู่แพนกหนึ่งต่างหากจากทหารเรือเวสาตรี ซึ่งยกไปจากกรมแสง เวลาพ่วงตามเสด็จไปแห่งใด ใครชมเรือลำนั้นก็เปนที่ชอบใจของพระยาประภากรวงศ์ เจ้านายจึงทรงกระซิบเรียกกันว่า “เรือเหว” เลยเปนชื่อเรียกเรือลำนั้นตลอดมา

(๙) พระยารัตนเศรษฐี (คิอซิมก๊อง ณ ระนอง) ต่อมาได้เป็นพระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี
พระจรูญโภคากร (คอซิมเต๊ก ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน ต่อมาได้เปนพระยา
พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมขิม ณ ระนอง) ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมาได้เปนพระยาอัษฎงคตทิศรักษา
พระอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ต่อมาได้เปนพระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี
เปนพี่น้องกันทั้งสี่คน

(๑๐) คืออักษรพระนาม จ.ป.ร. ไขว้ กับศักราชปีที่เสด็จประพาส



...............................................................................................................................................

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:13:14:25 น.  

 
 
 
 
 

โดย: โสมรัศมี วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:14:18:07 น.  

 
 
 
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:14:28:11 น.  

 
 
 
เข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: รักดี วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:18:33:34 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ รักดี
เห็นบ้านคุณ รัดดี แล้วแว่วเสียงร้องคุณกุ้งขึ้นมาในหู
รังรักในจิตนาการ ..ห้องนอนสีฟ้า ติดม่านชมพู...
*** มุมหนึ่งในบ้านของรักดี ที่ชอบมาก ***

ขอบพระคุณเช่นกันครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:10:19:34 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com