กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
วินิจฉัยประเพณีแต่งงานอย่างโบราณ


ภาพประกอบเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน แต่งงานพระไวย
ฝีมือครูเหม เวชกร สีน้ำและดินสอดำบนกระดาษ 17 x 24 ซม.



วินิจฉัยประเพณีแต่งงานอย่างโบราณ

ในบทเสภา (ฉบับหอสมุดพิมพ์) มีเรื่องแต่งงานบ่าวสาวอยู่ในเล่ม ๑ (หน้า ๑๐๕) เมื่อพลายแก้วแต่งงานกับนางพิมพ์ตอน ๑ เมื่อขุนช้างแต่งงานกับนางวันทอง (หน้า ๒๕๓) ตอน ๑ กับในเล่ม ๓ เมื่อแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา (หน้า ๒๐๙) อีกตอน ๑ พรรณนาถึงกระบวนพิธีแต่งงานบ่าวสาวอย่างโบราณอยู่ข้างถ้วนถี่ ตรงกับที่ได้เคยเห็นแต่ก่อนบ้าง เคยได้ยินเล่ากันมาบ้าง จึงเก็บเนื้อความมาแต่งวินิจฉัยต่อไปนี้ ยกเอากระบวนในตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิมพ์ตั้งเป็นหลัก เอาความในตอนอื่นประกอบ

๑) เมื่อนางทองประสี (แม่เจ้าบ่าว) ไปขอนางพิมพ์ต่อนางศรีประจันต์ (แม่เจ้าสาว) หาผู้ใหญ่สูงอายุในตำบลนั้นชื่อตาสน ตาเสา ยามเม้า ยายมิ่ง อันเป็นที่นับถือด้วยกันทั้งสองฝ่าย (จึงเรียกว่าเถ้าแก่) ไปด้วย ๔ คน เมื่อนางทองประสีขอลูกสาว นางศรีประจันต์ว่า “ตูจะขอถามความท่านยาย ลูกชายนั้นดีหรืออย่างไร ไม่เล่นเบี้ยกินเหล้าเมากัญชา ฝิ่นฝามันสูบบ้างหรือไม่ จะสูงต่ำดำขาวคราวใคร ตูยังไม่เห็นแก่ตาว่าตามจริงฯ ครานั้นตาสนกับตาเสา กับทั้งยายเม้าและยายมิ่ง ว่านานไปท่านจะได้พึ่งพิง ลูกทองประสีดีจริงนะคนนี้” ฯลฯ บทตรงนี้ส่อว่าผู้ปกครองนั้นเป็นผู้ขอ เถ้าแก่เป็นแต่ผู้รับประกัน

๒) เมื่อแม่ยอมยกลูกสาวให้แล้ว ผู้ปกครองทั้ง ๒ ฝ่าย ปรึกษากันต่อไปถึงกำหนดทุนสิน และหาฤกษ์กำหนดวันงาน แต่นั้นทางฝ่ายเจ้าบ่าวก็แต่ตัวไม้เรือนหอแล้วขนเอาไปเตรียมไว้ที่บ้านเจ้าสาว ฝ่ายข้างเจ้าสาวก็เตรียมทำของเลี้ยง

๓) ครั้นถึงวันฤกษ์แรก เจ้าบ่าวบอกแขกขอแรงพวกพ้องกันไปยังบ้านเจ้าสาวแต่ดึก พอได้แสงอรุณก็ตั้งพิธีทำขวัญเสา แล้วยกเสาปลูกเรือนหอจนแล้วเสร็จในวันนั้น ข้างฝ่ายเจ้าสาวเลี้ยงอาหารพวกปลูกเรือน

เรื่องปลูกเรือนหอไม้แล้วในวันเดียวนี้ เคยทราบว่าทำกันเป็นสามัญมาแต่ก่อน บางตระกูลถือแปลกออกไป ถึงให้ใช้แต่ไม้หมากทำเสาเรือนหอก็มี ส่วนเครื่องแต่งเรือนเป็นของฝ่ายเจ้าสาวจะต้องหา เป็นประเพณีทั่วไป สันนิษฐานว่าเรือนหอแต่งงานนั้นทำสำหรับให้อยู่เพียงชั่วคราว พอผู้ปกครองฝ่ายหญิงวางใจ เช่นมีลูกด้วยกันแล้วก็ดี หรือเห็นว่ารักใคร่คุ้นเคยกันสนิทสนมแล้วก็ดี ก็ยอมให้พากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นอิสระต่างหาก หรือไปอยู่บ้านของเจ้าบ่าว อันเป็นผู้มีถิ่นฐานของตนเองอยู่แล้ว เพราะเหตุนั้นจึงไม่ทำเรือนหออย่างมั่นคงแต่แรก แต่โดยปกติต้องปลูกเรือนหออยู่ด้วยกันที่บ้านเจ้าสาวก่อนทั้งนั้น ประเพณีที่ยอมให้เจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวแต่แรกแต่งงาน น่าจะมีแต่ในตระกูลสูง เช่นเจ้าบ่าวต้องปกครองบ้านเมือง หรือสูงศักดิ์ไม่สมควรจะไปอยู่บ้านตระกูลเจ้าสาวซึ่งต่ำศักดิ์กว่า

๔) ในวันต่อมาจากวันปลูกหอมา ในบทเสภาว่า “ครั้นรุ่งเช้าขึ้นพลันเป็นวันดี ทองประสีจัดเรือกันยาใหญ่ เอาขันหมากลงบรรทุกขลุกขลุ่ยไป หามโหรีใส่ท้ายกันยา (คนยก)ขันหมากเลือกเอา(หญิง)ที่รูปสวย นุ่งยกห่มผวยจับผิวหน้า ก็ออกเรือด้วยพลันทันเวลา ครู่หนึ่งถึงท่าศรีประจันต์” การแห่ขันหมากอย่างว่านี้ได้เคยเห็นมาหลายครั้ง แต่เสียดายอยู่ที่ไม่เคยเห็นสิ่งซึ่งเรียกว่าขันหมาก และยังไม่รู้ว่าขันหมากนั้นเอาไปทำอะไร (ถ้าพระองค์ท่านประทานอธิบายไม่ได้ ขอให้ลองทรงสืบดู บางทีจะยังมีตัวผู้รู้ ถึงกระนั้นขันหมากในชั้นหลังก็น่าจะไม่เหมือนอย่างโบราณเช่นว่าในเสภา) จะลองสันนิษฐานดู

คำที่เรียกว่า “ขัน” นั้นแปลกอยู่ ไทยข้างใต้เช่นชาวกรุงเทพฯ หมายความว่าภาชนะอย่างรูปคล้ายมะพร้าวครึ่งซีก แต่ไทยข้างเหนือเช่นชาวเชียงใหม่เขาหมายความว่า ภาชนะอย่างมีเชิงเช่นที่ไทยใต้เรียกว่า “พาน” นั้น ที่จริงเมื่อคิดดูก็เห็นว่าจะมาแต่มูลอันเดียวกันนั้น คือแต่เดิมมนุษย์ให้กะลามะพร้าวเป็นภาชนะใช้สอย ต่อมาเมื่อรู้จักหล่อโลหะใช้ก็ทำภาชนะนั้นด้วยโลหะ เรียกกันว่า “ขัน” ทั้งไทยใต้และไทยเหนือ ต่อมาอีกมีผู้คิดทำเชิงต่อขันให้สูงขึ้น ไทยเหนือเรียกคงอยู่ว่า “ขัน” ตามเดิม ไทยใต้เดิมเรียกว่า “ขันเชิง” ต่อมาเมื่อมีขันเชิงชนิดที่ใช้สำหรับวางของแห้งจึงเรียกกันว่า “พาน” ที่ว่านี้โดยเดา แต่ประหลาดอยู่ที่มีเครื่องราชูปโภคสิ่งหนึ่งซึ่งใช้ทั้ง ๒ คำนั้นรวมกันเรียกเป็นชื่อว่า “พานพระขันหมาก” ข้อนี้ส่อให้สันนิษฐานดังกล่าวมา

ถ้าว่าเฉพาะในบทเสภา ที่เรียกกันว่าขันหมากเห็นว่าจะเป็นขันหมากสำหรับเลี้ยงแขกที่เชิญมาในวันแต่งงานนั้นเอง จะใส่หมากด้วยขันหรือด้วยพานก็ได้ ขันหมากเอกสำหรับแขกที่ศักดิ์สูง งานไหนมีขันหมากเอกมากก็ยิ่งมีหน้ามีตา เพราะจะมีคนสูงศักดิ์มาช่วยมาก จึงได้ตกแต่งขันหมากเอกให้หรูหรา ผิดกับขันหมากสามัญ หญิงสาวที่ถือขันหมากไปตอนเช้า ก็เห็นจะเป็นสาวใช้ที่ตั้งพานหมากเลี้ยงแขกในตอนเย็นนั่นเอง

๕) เมื่อเรือขันหมากถึงบ้านเจ้าสาวบทเสภาว่า “จึงจอดเข้าหน้าสะพานใหญ่ ตาผลวิ่งไปเอาไม้กั้น เสียเงินทองให้ขึ้นไปพลัน จนขันหมากนั้นขึ้นบนบันได(เรือน)” ความตรงนี้วินิจฉัยข้อต้นส่อถึงเหตุที่มีเครื่องดนตรีประโคมไปในเรือขันหมาก ข้อหลังส่อถึงที่ตาผลเอาไม้กั้น อันประเพณีงานของพวกชาวบ้านที่ประโคมไปในเรือขันหมาก โดยปกติมักเป็นการบอกบุญ เหมือนเช่นแห่กฐินหรือผ้าป่า ประสงค์จะชักชวนพวกชาวบ้านให้มาช่วยกันทำบุญ แต่แห่ขันหมากไม่มีกิจเช่นนั้น จึงเห็นว่าเครื่องดนตรีนั้นน่าจะสำหรับประโคมบอกให้ยินดีเมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว ไม่เช่นนั้นก็จะต้องไปตะโกนเรียกให้เปิดประตูบ้านรับ ข้อที่มีผู้มากีดกั้นก็มิใช่ผู้อื่น คือผู้เป็นโทวาริกรักษาประตู ต้องดูแลให้รู้ว่าใครมาและไต่ถามให้ทราบกิจเสียก่อน แล้วจึงเปิดประตู พิธีส่วนนี้คงมาแต่มูลเหตุเช่นว่ามา

๖) เมื่อพวกนำขันหมากขึ้นเรือนเจ้าสาวแล้ว มีในบทเสภาต่อไป (แต่ในตอนขุนช้างแต่งงานกับนางวันทอง ความตรงนี้ชัดเจนดีกว่า จึงคัดเอาลง) ว่า “ขันหมากตั้งเรียงเคียงกันมา เถ้าแก่นำหน้าขึ้นนั่งพรม เถ้าแก่ที่เรือก็ต้อนรับ จังนับโต๊ะเตียบใหญ่ใส่ขนม ทั้งหมูไก่เหล้าเข็มเต็มขวดกลม กล้วยส้มร้อยสิ่งตามสัญญา ทุนสินเงินตราผ้าไหว้ เอาออกนับรับใส่โต๊ะสามขา เถ้าแก่สองข้างต่างสนทนา ขนของเข้าเคหาด้วยทันใด แถมพกยกให้ตามทำนอง เอาข้าวของคาวหวานมาตั้งให้ เลี้ยงดูอิ่มหนำสำราญใจ เถ้าแก่กลับไปด้วยฉับพลัน” ความตอนนี้ส่อว่าเถ้าแก่ (ทั้ง ๔ คนที่ไปเมื่อวันขอ) เป็นผู้นำขันหมากไป ทางฝ่ายเจ้าสาวก็หาเถ้าแก่ไว้รับ เถ้าแก่คนกลางทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นพนักงานตรวจตราสิ่งของที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องให้ให้ถูกตามสัญญา และสิ่งของที่ให้นั้นเป็นของกินสำหรับเลี้ยงแขกประเภท ๑ เงิน “ทุน” (ซึ่งผู้ปกครองให้ฝ่ายละครึ่ง) สำหรับคู่บ่าวสาวจะได้ใช้ในการตังตัวประเภท ๑ “สินสอด” ของเจ้าบ่าวให้แก่ตัวเจ้าสาวประเภท ๑ “ผ้าไหว้” คือผ้านุ่งกับผ้าห่มจัดเป็นสำรับ สำหรับคู่บ่าวสาวให้ผู้ใหญ่ในสกุลทั้ง ๒ ฝ่าย เวลาไปไหว้เมื่อแต่งงานกันแล้ว เมื่อฝ่ายเจ้าสาวรับเครื่องขันหมากเสร็จแล้วเลี้ยงอาหาร และแจกของแถมพกแก่พวกที่ไปรับขันหมากทั่วกัน

๗) ถึงเวลาเย็น (วันขันหมากไปนั้น) ทำพิธีสงฆ์นิมนต์พระสวดมนต์ ตัวเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวต่างมีเพื่อนบ่าวและเพื่อนสาวรวมฝ่ายละ ๑๐ คน ตัวหน้าหน้าเรียกว่า “บ่าวนำ” และ “สาวนำ” ห้อมล้อมพาตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปนั่งตั้งวงแยกกันอยู่ข้างหน้าพระสงฆ์ (กระบวนพิธีตรงนี้เหมือนกันทั้งบทตอนแต่งงานพลายแก้วและแต่งงานพระไวย แต่บทเสภาตอนแต่งงานพระไวยพรรณนาชัดเจนกว่า จึงคัดมาลง) “ครั้นถึงน้อมนั่งฟังพระธรรม พระสดัมภ์(ปลัดสังฆราช)จับมงคลคู่ใส่ สายสิญจน์โยงศรีมาลามาพระไวย พอฆ้องใหญ่หึ่งดังตั้งชยันโต หนุ่มสาวเคียงข้างเข้านั่งอัด พระสงฆ์เปิดตาลปัตรซัดน้ำโร่ พรำลงข้างสีกาห้าหกโอ ท่านยายโพสาวนำน้ำเข้าตา อึดอัดยัดเยียดเบียดกันกลุ้ม เอาหนามซุ่มแทงท้องร้องอุยห่า ที่ไม่ถูกเท้ายันดันเข้ามา ท่านยายสาออกมานั่งบังกันไว้ มหาดเล็กโลนโลนโดนกระแทก โอยพ่อขี้แตกทนไม่ได้ ท่านยายสาเต็มที่ลุกหนีไป จนพระไวยศรีมาลามาชิดกัน” บทตอนนี้แสดงประเพรีแต่งงานอย่างโบราณที่ผิดกับที่ทำกันชั้นหลังเป็นข้อสำคัญคือ
ก. พระสวมมงคลคู่ให้บ่าวสาว
ข. การรดน้ำแต่งงานพระเป็นผู้รด
ค. รดน้ำด้วยเอาโอตักน้ำ “ซัด” เปียกทั้งตัว จนถึงต้องผลัดผ้าแต่งตัวใหม่ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว
ฆ. การที่พวกเพื่อนบ่าวสาวเข้ารับน้ำมนต์เป็นอุบายที่จะแกล้งเบียดตัวเจ้าบ่าวกับตัวเจ้าสาวให้เข้าไปชิดติดกัน
รดน้ำอย่างว่ามาในบทเสภาเรียกว่า “ซัดน้ำ” (เห็นจะเป็นภาษาไทยคำเดียวกับ “สาดน้ำ” นั่นเอง) แต่น่าสันนิษฐานว่าจะเป็นประเพณีเดิมของไทยชั้นพลเมือง จึงประพฤติกันแพร่หลาย การที่ให้ผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว น่าจะเป็นประเพณีที่พวกพราหมณาจารย์พามาแต่อินเดียอนุโลมต่อพิธีอภิเษก เห็นจะใช้แต่ในมณฑลบุคคลชั้นสูงเช่นเจ้านายเป็นต้น

เมื่อเสร็จพิธีซัดน้ำ ถวายไทยธรรมพระสงฆ์แล้ว เวลาค่ำมีการเลี้ยงแขก จัดเลี้ยงเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ตัวนายลงไปจนบ่าวไพร่

๘) รุ่งเช้าเลี้ยงพระที่ได้สวดมนต์เมื่อวันก่อน ตัวเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวต้องตักบาตรด้วยกัน เลี้ยงพระเป็นเสร็จการพิธี แต่การที่ส่งตัวเจ้าสาวรอหาอีกฤกษ์หนึ่งภายหลังวันทำพิธี ดูราวกับเพื่อจะเกลี้ยกล่อมให้เจ้าสาวยอมไปสู่ชายหายอดสูเสียก่อน ในระหว่านั้นเจ้าบ่าวต้องนอนคอยอยู่ที่เรือนหอ สองสามวันผู้ปกครองจึงพาตัวเจ้าสาวลอบไปส่งให้เจ้าบ่าวในเวลาค่ำวันหนึ่ง เรียกกันว่า “ส่งตัวเข้าหอ” ไม่บอกให้ใครแม้จนตัวเจ้าบ่าวรู้ล่วงหน้าก่อน

เมื่อเขียนวินิจฉัยประเพณีแต่งงานอย่างโบราณที่ปรากฏในบทเสภาแล้ว นึกขึ้นถึงเรื่องที่ได้ยินเล่ากันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ผู้มีศักดิ์สูงเช่นเจ้านาย ถ้าอยากได้ลูกสาวใครสามารถจะพาพรรคพวกไปฉุดเอาตัวหญิงนั้นไปเป็นเมียตามอำเภอใจ และเล่ากันพิสดารต่อไปว่า ครั้งหนึ่งลูกเธอไปฉุดลูกสาวเขา ผู้ปกครองผู้หญิง (ทำนองจะเป็นข้าราชการ) ถวายฎีกา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “ทำไมลูกของข้าไม่สมกับลูกของเจ้าหรือ” ผู้ถวายฎีกาก็ต้องนิ่งไป คำเล่านี้ไม่น่าเชื่อ ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบ หรือแม้เพิกเฉยในการที่พระเจ้าลูกเธอเที่ยวข่มเหงผู้อื่นเช่นนั้น

แต่เรื่องฉุดลูกสาวเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้นมีแน่ ยายผ่องมารดาของหม่อมเฉื่อย แกเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อแกเป็นสาว พระยาเพชรปาณีบิดาของแกกลัวเจ้านายจะฉุด ให้พาไปฝากไว้ในที่พระราชวัง จนเมื่อจะแต่งจึงให้ไปรับออกมา แกเคยไปเห็นที่วังฝึกหัดเด็กดี เมื่อแกทีลูกสาวจึงส่งเข้าไปไว้ในวังแต่เล็กทุกคน เพื่อระงับการฉุดลูกสาว เป็นเหตุอันหนึ่งซึ่งทูลกระหม่อมทรงตั้งประเพณีเสด็จออกรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองทุกสัปดาหะ จึงสงบแต่รัชกาลที่ ๔ มา

เมื่อหม่อมฉันอ่านหนังสือเรื่องประเทศต่างๆ ไปพบกล่าวถึงประเพณีแต่งงานของมนุษย์พวกที่อยู่ตามทะเลทราย ว่าเจ้าบ่าวขี่ม้าคุมพรรคพวกไปรับตัวเจ้าสาวขึ้นหลังม้าไป เหมือนอย่างว่าสามารถชิงเอาไปเป็นเมียได้ด้วยมีฤทธิเดชมาก แล้วนึกไปถึงพระอินทร์ชิงลูกสาวท้าวเวปจิตติในนิทานธรรมบท (มีรูปเขียนไว้ ในพระอุโบสถวัดราชบูรณะ) และเรื่องอิเหนา ท้าวกะหมังกุหนิงยกกองทัพไปตีเมืองดาหา เพราะเหตุท้าวดาหาไม่ยอมยกนางบุษบาให้

ส่อให้เห็นว่าแต่โบราณนิยมกันว่า ถ้าใครสามารถอาจจะหาเมียได้ด้วยพลการนับว่าเป็นวิเศษ มูลของการฉุดลูกสาวน่าจะมาแต่ประเพณีซึ่งนิยมกันแต่ดึกดำบรรพ์ดังกล่าวมา พวกพราหมณาจารย์เอาเข้ามาแถลงจึงมาเกิดขึ้นในประเทศนี้ แต่ว่าชั้นเดิมเห็นจะประพฤติแต่ในระหว่างตระกูลอันยศศักดิ์สมกัน และพาไปเป็นเมียหลวง และเฉพาะแต่ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่ยอมยกให้โดยดีเท่านั้น ครั้นนานมาเมื่อความรู้และความเลื่อมใสในจารีตโบราณเสื่อมคลาย ก็กลายเป็นวิธีสำหรับผู้มีอำนาจเที่ยวฉุดคร่าหาเมียน้อยเล่นตามชอบใจ


.........................................................................................................................................................


(คัดจากสาส์นสมเด็จ)



Create Date : 13 กรกฎาคม 2550
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 8:43:35 น. 2 comments
Counter : 4544 Pageviews.  
 
 
 
 

สมัยนี้ถึงฉุดเขามา..เขาก็คงไม่ทนอยู่เหมือนสาวสมัยก่อนที่ถูกสอนมาว่า"ผัวเดียวเมียเดียว"หรอกนะคะคุณกัมม์
 
 

โดย: Tante-Marz วันที่: 17 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:11:34 น.  

 
 
 
เห็นด้วยครับ ป้าปุ้ม
สมัยก่อนรู้จักกันหมดบ้านหมดตำบล ลูกตานั่นลูกตานี่
หญิงที่โดนฉุดไป ก็คงต้องทนอยู่อย่างนั้น เพราะเขารู้กันทั่ว
ถึงจะหนีไปก็คงอาย และอีกอย่างเดินทางก็ลำบาก ตัวก็เป็นหญิง จะหนีไปทางไหน

พูดถึงเรื่องฉุดสาว นึกถึงบรรยากาศในนิยายของไม้เมืองเดิมนะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 กรกฎาคม 2550 เวลา:12:40:27 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com