กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ศึกหินดาดลาดหญ้า

ศึกพม่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพมา ๕ ทาง
ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘




ว่าด้วยเรื่องเบื้องต้นแห่งการสงคราม


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พอทรงระงับดับยุคเข็ญในกรุงธนบุรีราบคาบ และโปรดให้มีสารตราให้หากองทัพกลับมาจากกรุงกัมพูชาแล้ว ก็ให้เริ่มการย้ายเข้าพระนครข้ามฟากจากเมืองมาสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ทางข้างฝั่งตะวันออก

มูลเหตุซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจะฬาโลก ทรงรังเกียจที่พระราชวังเดิม(๑)ด้วยอยู่ใกล้ชิดติดอุปจารวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดล้อมอยู่ทั้ง ๒ ด้าน ดังนี้ ชวนให้เข้าใจผิดไป เป็นเหมือนหนึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างวังที่ประทับใหม่ จึงให้ย้ายพระนคครมาสร้างทางฝั่งตะวันออกแต่ฝั่งเดียว

เหตุที่จริงนั้นเป็นอย่างอื่นและเป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าจะสร้างวังมาก ด้วยทรงพระราชดำริว่า พม่าคงจะมาตีเมืองไทย กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง ๒ ฝั่ง เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมืองเมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การสู้รบรักษาเมืองคนข้างในจะถ่ายเทช่วยกันรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามน้ำ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไดเคยทรงรักษาเมืองพิษณุโลกสู้ศึกอะแซหวุ่นกี้ เมืองพิษณุโลกลำน้ำแคบและตื้นพอทำสะพานได้ ยังลำบาก ทรงพระราชดำริเห็นว่าที่กรุงธนบุรีแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งกว้างทั้งลึก จะทำสะพานข้ามไม่ได้ ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนคร จะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้

ข้างฝั่งตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิเพราะเป็นหัวแหลม ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่น้ำใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตกและด้านใต้ ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถึงข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตะวันออกแต่ฝั่งเดียว

น่าจะได้เคยเป็นปัญหาในรัฐบาล แต่ครั้งกรุงธนบุรีเมื่อแรกเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้และบางทีจะถึงได้ตรวจแผนที่เสร็จแล้ว แต่จะเป็นด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นชอบด้วยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือมิฉะนั้นจะติดราชการศึกสงครามอยู่จึงค้างมา

ข้อนี้พึงสังเกตได้ด้วย พอเสด็จปราบดาภิเษกแล้วก็ให้ลงมือสร้างพระนครใหม่ทันที ไม่ตรวจตราภูมิลำเนาให้รู้แน่ชัด และคิดประมาณการทั้งกำลังซึ่งจะสร้างให้ตลอดก่อนนั้น ใช่วิสัยที่จะเป็นได้ จึงเห็นว่าการย้ายพระนครมาสร้างฝั่งตะวันออกเป็นการที่ได้มีความคิดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว

การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอันยุติว่าจะตั้งราชธานีอยู่ที่บางกอกนี้ต่อไป ไม่คิดกลับคืนขึ้นไปตั้งที่กรุงศรีอยุธยาอย่างโบราณ จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปรื้อกำแพงกรุงเก่าเอาอิฐลงมาสร้างป้อมปราการกรุงเทพฯ และจะมิให้กรุงเก่าเป็นที่อาศัยของข้าศึกด้วยอีกประการหนึ่ง สร้างพระนครอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จ เมื่อในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๓๒๘ พอสมโภชพระนครแล้วไม่ช้า ในปีนั้นเองพม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย

ในตอนนี้ จะต้องขอย้อนไปเล่าเรื่องพงศาวดารพม่าเสียก่อน คือเมื่อพระเจ้าอลองพญาผู้เป็นต้นราชวงศ์สิ้นพระชนม์ มังลอกราชบุตรองค์ใหญ่ได้ครองแผ่นดินพม่าต่อมา พระเจ้ามังลอกมีราชบุตรกับพระมเหสีองค์หนึ่ง ชื่อว่า มังหม่อง

เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ มังหม่องยังเป็นทารกอยู่ ราชสมบัติจึงได้แก่มังระราชอนุชา ครั้นมังหม่องเติมใหญ่ขึ้นพระเจ้ามังระมีความรังเกียจเกรงจะชิงราชสมบัติ คิดจะประหารมังหม่องเสีย แต่นางราชชนนีผู้เป็นย่าของมังหม่องขอชีวิตไว้ รับว่าจะให้ไปศึกษาบวชเรียนอยู่ในวัดจนตลอดชีวิต มิให้มาเกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดิน พระเจ้ามังระจึงมิได้ทำอันตรายแก่มังหม่อง

พระเจ้ามังระเสวยราชย์มา มีราชบุตร ๒ องค์ องค์ใหญ่เรียกกันว่าจิงกูจา แปลว่าผู้กินส่วยเมืองจิงกู เป็นลูกมเหสี องค์น้อยเรียกกันว่าแชลงจาเป็นลูกพระสนม จิงกูจาพอโตขึ้นก็ชอบคบคนพาล ชักชวนให้ประพฤติเสเพลมาเนืองๆ พระเจ้ามังระมิใคร่เต็มพระทัยจะให้เป็นรัชทายาท

ครั้นปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ามังระประชวรหนักจวนจะสิ้นพระชนม์ จะมอบราชสมบัติให้ผู้อื่นเกรงจะเกิดจลาจล จึงมอบราชสมบัติให้แก่จิงกูจาราชบุตรใหญ่ พระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้ว สงสัยว่ามีผู้จะคิดร้าย จึงให้จับแชลงจาราชอนุชาสำเร็จโทษเสีย แล้วให้หาอะแซหวุ่นกี้กลับไปจากเมืองพิษณุโลก ไปถึงก็พาลหาเหตุถอยยศอะแซหวุ่นกี้เสียจากบรรดาศักดิ์ แล้วจับพระเจ้าอาองค์ใหญ่ชื่อมังโป ซึ่งเรียกกันว่า ตแคงอะเมียง ตามตำแหน่งยศเป็นเจ้าเมืองอะเมียง สำเร็จโทศเสียองค์หนึ่ง และให้เนรเทศพระเจ้าอาอีก ๓ องค์ คือ มังเวงตะแคงปดุง มังจูตะแคงพุกาม และมังโพเมียงตะแคงตะแล ไปเสียจากเมืองอังวะ เอาไปคุมไว้ในหัวเมือง

พระเจ้าจิงกูจามีพระมเหสีแต่ไม่มีราชบุตร แล้วได้ธิดาของอำมาตย์อะตวนหวุ่นมาเป็นนางสนม แต่แรกมีความเสน่หาแก่นางนั้นมาก ถึงยกขึ้นเป็นสนมเอก รองแต่มเหสีลงมา บิดาของนางก็เอามายกย่องให้มียศเป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่พระเจ้าจิงกูจานั้นมักเสวยสุราเมา และประพฤติทารุณร้ายกาจต่างๆ

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าจิงกูจากำลังเมา เกิดพิโรธให้เอานางสนมเอกนั้นไปถ่วงน้ำเสีย แล้วถอดบิดาของนางลงเป็นไพร่ อะตวนหวุ่นโกรธแค้นจึงไปคบคิดกับตะแคงปดุงซึ่งเป็นพระเจ้าอาองค์ใหญ่ และอะแซหวุ่นกี้ซึ่งถูกถอดนั้น(๒) ปรึกษากันจะกำจัดพระเจ้าจิงกูจาเสียจากราชสมบัติ ทำนองตะแคงปดุงจะเกรงพระเจ้าน้องอีก ๒ องค์จะไม่ยอมให้ราชสมบัติ ในขั้นแรกจึงอุดหนุนมังหม่อม ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ให้คิดชิงราชสมบัติ เพราะมังหม่อมเป็นลูกมเหสีของพระเจ้ามังลอก อันอยู่ในที่ควรจะได้ราชสมบัติมาแต่ก่อนแล้ว

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พระเจ้าจิงกูจาออกไปประพาสหัวเมือง ทางนี้มังหม่องจึงสึกจากสามเณร คุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นได้เมืองอังวะโดยง่าย มังหม่องจะมอบราชสมบัติถวายพระเจ้าอา ๓ องค์ แต่พระเจ้าอาไม่รับ มังหม่องจึงขึ้นว่าราชการ แต่พอมังหม่องขึ้นนั่งเมือง ก็ปรากฏว่าไม่สามารถจะปกครองแผ่นดินได้ ด้วยปล่อยให้เหล่าโจรที่เป็นพรรคพวกช่วยปล้นเมืองอังวะ ไปเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติของพวกชาวเมืองตามอำเภอใจ มังหม่องควบคุมไว้ไม่อยู่ เกิดวุ่นวายขึ้นทั้งเมืองอังวะ พวกข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมกันไปเชิญตะแคงปดุงครองราชสมบัติ ด้วยเป็นราชบุตรคนที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญา มังหม่องนั่งเมืองอยู่ได้ ๑๑ วัน พระเจ้าปดุงก็จับสำเร็จโทษเสีย

ฝ่ายพระเจ้าจิงกูจา ซึ่งออกไปประพาสอยู่หัวเมือง เมื่อข่าวปรากฏไปถึงว่า มังหม่องชิงได้เมืองอังวะ พวกไพร่พลที่ติดตามไปด้วยก็พากันหลบหนีทิ้งไปเสียเป็นอันมาก เหลือขุนนทางคนสนิทติดพระองค์ไม่กี่คน แต่แรกพระเจ้าจิงกูจาคิดจะหนีไปอาศัยอยู่เมืองกะแซ แต่เป็นห่วงนางราชชนนี จึงลอบลงมาใกล้เมืองอังวะ แล้วมีหนังสือเข้าไปทูลให้ทราบว่าจะหนีไปเมืองกะแซ นางราชชนีให้มาห้ามปราบว่า เกิดมาเป็นกษัตริย์ถึงจะตายก็ชอบแต่จะตายอยู่ในเมืองของตัว ที่จะหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเป็นข้าหาควรไม่

พระเจ้าจิงกูจาก็เกิดมานะ พาพวกบริวารที่มีอยู่ตรงเข้าไปในเมืองอังวะ ทำองอาจเหมือนกันเสด็จไปประพาสแล้วกลับคืนมายังพระนคร พวกพลไพร่ที่รักษาประตูเมืองเห็นพระเจ้าจิงกูจาก็พากันเกรงกลัวไม่มีใครกล้าจะต่อสู้ พระเจ้าจิงกูจาเข้าไปได้จนในเมือง พออะตวนหวุ่นพ่อนางสนมเอกที่พระเจ้าจิงกูจาให้ฆ่าเสีย ทราบความจึงคุมพลมาล้อมจับพระเจ้าจิงกูจา อะตวนหวุ่นเองฟันพระเจ้าจิงกูจาสิ้นพระชนม์ที่ในเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงทราบความว่าอะตวนหวุ่นฆ่าพระเจ้าจิงกูจา ก็ทรงพระพิโรธว่าควรจะจับมาถวายโดยละม่อม ไม่ควรจะฆ่าฟันเจ้านายโดยพลการ ให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตเสีย

ตรงนี้ผู้ที่แต่งหนังสือในพระราชพงศาวดารเข้าใจผิดไปว่าประหารชีวิตอะแซหวุ่นกี้ มี่จริงอะแซหวุ่นกี้นั้น เมื่อพระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้ว เอากลับมายกย่องแต่งตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้เป็นอุปราชสำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาะตะมะจนตายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ และว่าได้เป็นแม่ทัพมารบไทยอีกคราวหนึ่ง คราวไทยยกไปตีเมืองทวายเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ (แต่ความข้อหลังข้าพเจ้าสงสัยอยู่)

ขณะเมื่อเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันวุ่นวายในเมืองพม่าครั้งนั้น เหล่าหัวเมืองขึ้นของพม่าก็พากันกระด้างกระเดื่อง ถึงบังอาจคุมกำลังไปปล้นเมืองอังวะซึ่งเป็นราชธานีก็มี พระเจ้าปดุงต้องทำสงครามปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินอยู่หลายปี แต่พระเจ้าปดุงนั้นเข้มแข็งในการศึกยิ่งกว่าบรรดาราชวงศ์ของพระเจ้าอลองพญาองค์อื่นๆ เมื่อปราบปรามพวกที่คิดร้ายราบคาบทั่วทั้งเขตพม่ารามัญและไทยใหญ่แล้ว จึงสร้างเมืองอมระบุระขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แล้วยกกองทัพไปตีประเทศมณีบุระทางฝ่ายเหนือ และประเทศยะไข่ทางตะวันตกได้ทั้ง ๒ ประเทศ แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวางยิ่งกว่ารัชกาลก่อนๆโดยมาก

พระเจ้าปดุงเสวยราชย์มาได้ ๓ ปี จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศเป็นมหาราชเหมือนเช่นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ด้วยในขณะนั้นพระเจ้าปดุงก็ได้ประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอาณาเขตมีรี้พลบริบูรณ์ และทำสงครามมีชัยชนะมาทุกแห่ง พลทหารกำลังร่าเริงทำนองเดียวกัน

ครั้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงให้เตรียมกองทัพที่จะยกเข้ามาตีเมืองไทย เกณฑ์คนในเมืองหลวงและหัวเมืองขึ้น ตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติหลายภาษา รวมจำนวนพล ๑๔๔,๐๐๐ จัดเป็นกระบวนทัพ ๙ ทัพ คือ


ทัพที่ ๑ ให้เเมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบกทัพเรือจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาทางเมืองมะริดให้ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนเมืองสงขลา ส่วนทัพเรือนั้นให้ตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกัวป่าไปจนเมืองถลาง

ในพงศาวดารพม่าว่า แมงยี แมงข่องกยอ ยกลงมาแต่เดือน ๘ ปีมะเส็ง ด้วยพระเจ้าปดุงให้เป็นพนักงานรวบรวมเสบียงอาหาร ไว้สำหรับกองทัพหลวงที่จะยกลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะด้วย ครั้นเมื่อกองทัพหลวงยกลงมาไม่ได้เสบียงอาหารไว้พอการ พระเจ้าปดุงทรงพิโรธให้ประหารชีวิตแมงยี แม่งข่องกยอเสีย แล้วตั้งเกงหวุ่นแมงยีหมาสีหะสุระอัครมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพที่หนึ่งแทน

ทัพที่ ๒ ให้อนอกแผกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้ามาด่านบ้องตี้ มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ลงไปประจบกองทัพเมืองชุมพร

ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคยีสะโดะสิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้ลงมาตีเมืองลำปางและหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่และน้ำยมตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ

ทัพที่ ๔ ให้เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๕ ให้เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ(๓) เป็นทัพหนุนทัพที่ ๔

ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่าศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามากรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุ ราชบุตรที่ ๓ (พม่าเรียกว่าสะโดะมันซอ) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง

ทัพที่ ๘ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ พระเจ้าปดุงเป็นจอมพล เสด็จลงมาเมืองเมาะตะมะเมื่อเดือน ๑๒ ปีมะเส็ง

ทัพที่ ๙ ให้จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ (เข้าใจว่าตั้งที่เมืองเมาะตะมะเหมือนกัน) ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก มาตีหัวเมืองทางริมแม่น้ำพิง ตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร ลงมาประจบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ


กองทัพ ๙ ทัพที่กล่าวมานี้ กำหนดให้ยกเข้ามาตีเมืองไทยในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง พร้อมกันทุกทัพ คือจะตรงมาตีกรุงเทพฯ ๕ ทัพเป็นจำนวนพล ๘๙,๐๐๐ ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒ ทัพเป็นจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ๒ ทัพจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ จำนวนพลของข่าศึกที่ยกมาตีเมืองไทยครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๑๔๔,๐๐๐๐ ด้วยกัน

กระบวนทัพที่พระเจ้าปดุงให้ยกมาครั้งนี้ ผิดกับกระบวนทัพที่พม่าเคยยกมาตีเมืองไทยแต่ก่อน กองทัพพม่ายกมาตีเมืองไทยแต่ก่อนแม้เป็นทัพใหญ่ทัพกษัตริย์ เช่นครั้งพระเจ้าหงสาวดีก็ดีและครั้งพระเจ้าอลองพญาก็ดี ก็ยกมาแต่ทางเดียว บางทีก็ยกมาเป็นสองทาง เช่นเมืองคราวให้พระยาพสิมยกมากับพระเจ้าเชียงใหม่ในครั้งสมเด็จพระนเรศวร และครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวหลังนั้น

แต่คราวนี้ยกมาถึง ๕ ทาง คือทางใดที่พม่าเคยยกกองทัพเข้ามาเมืองไทยแต่ก่อน ก็ให้กองทัพยกเข้ามาในคราวนี้พร้อมกันหมดทุกทาง ประสงค์จะเอากำลังใหญ่หลวงเข้ามาทุ่มเทตีให้พร้อมกันหมดทุกด้าน มิให้ไทยมีประตูที่จะสู้ได้

แต่ที่แท้พระเจ้าปดุงปรีชาญาณในยุทธวิธีไม่เหมือนพระเจ้าหงสาวดีแต่ปางก่อน กะการประมาณพลาดในข้อสำคัญ ด้วยไพร่พลมากมายย้ายแยกกันเป็นหลายทัพหลายกอง และยกมาหลายทิศหลายทางเช่นนั้น ไม่คิดเห็นว่ายากที่จะเดินทัพเข้ามาถึงที่มุ่งหมายให้พร้อมกันได้ อีกประการหนึ่งซึ่งยิ่งสำคัญกว่านั้นคือ มิได้คิดถึงความยากในเรื่องที่จะหาและลำเลียงเสบียงอาหารให้พอเลี้ยงกองทัพได้หมดทุกทาง ความพลาดพลั้งของพระเจ้าปดุงทั้งสองข้อนี้ ที่ไทยเอาเป็นประโยชน์ในการต่อสู้พม่าครั้งนั้นได้เป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้ในรายการที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า


ที่นี้จะกล่าวถึงฝ่ายข้างไทยต่อไป ขณะพม่าลงมือประชุมพลในฤดูฝนปีมะเส็งนั้น พวกกองมอญไปลาดตระเวนสืบทราบความ ว่าพม่าเตรียมทัพที่เมืองเมาะตะมะจะมาตีเมืองไทย เมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ ต่อนั้นมาหัวเมืองเหนือใต้ทั้งปวงก็บอกข่าวศึกพม่าเข้ามาโดยลำดับ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับทั้งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันหน้าพระที่นั่ง ทรงปรึกษาการที่จะต่อสู้พม่าข้าศึก ข้อปรึกษาและมติที่ตกลงกันในครั้งนั้นจะเป็นอย่างไรยังหาพบจดหมายเหตุไม่ จึงได้แต่พิเคราะห์ดูโดยลักษณาการที่ได้ต่อมา เข้าใจว่าคงเห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่า

ศึกพม่าที่พระเจ้าปดุงยกมาครั้งนั้นใหญ่หลวง ผิดกับศึกพม่าที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยรี้พลมากมายและจะยกมาทุกทิศทุกทาง กำลังข้างฝ่ายไทยมีจำนวนพลสำรวจได้เพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ น้อยกว่าข้าศึกมากนัก ถ้าจะแต่งกองทัพไปต่อสู้รักษาเขตแดนทุกทางที่ข้าศึกยกเข้ามา เห็นว่าเสียเปรียบข้าศึก เพราะเหตุที่ต้องแบ่งกำลังแยกย้ายไปหลายแห่ง กำลังกองทัพไทยก็จะอ่อนแอด้วยกันทุกทาง เพราะฉะนั้นควรจะรวบรวมกำลังไปต่อสู้ข้าศึกแต่ในทางที่สำคัญก่อน ทางไหนไม่เห็นสำคัญปล่อยให้ข้าศึกทำตามใจชอบไปพลาง เมื่อเอาชัยชนะข้าศึกเป็นทัพสำคัญได้แล้ว จึงปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป

เนื้อความที่ปรึกษาคงจะลงมติเป็นอย่างนี้ ก็เลานั้นสืบได้ความว่ากองทัพใหญ่ของข้าศึกยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และพระเจ้าปดุงเป็นจอมพลมาเองในทางนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯให้จัดกองทัพสำหรับที่จะต่อสู้เป็น ๔ ทัพ

ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลัง (เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี) เป็นแม่ทัพถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันอย่าให้กองทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือ ล่วงเลยมาถึงกรุงเทพฯได้ ในเวลากำลังต่อสู้ข้าศึกเมืองกาญจนบุรี

ทัพที่ ๒ เป็นกองทัพใหญ่กว่าทุกทัพ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเป็นจอมพลไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี(เก่า) คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปดุง ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา(บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราชถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ ๒ และคอยต่อสู้พม่าซึ่งจะยกมาแต่ทางข้างใต้หรือทางเมืองทวาย

ทัพที่ ๔ กองทัพหลวงจัดเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นกองหนุน ถ้ากำลังศึกหนักทางด้านไหนจะได้ยกไปช่วยให้ทันที



ตอนที่ ๑ รบพม่าที่ลาดหญ้า

กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง ทรงจัดให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรเป็นกองหน้าเป็นกองหน้า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตรทัพ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเป็นเกียกกาย พระยามณเฑียรบาลเป็นกองหลัง ยกไปถึงเมืองกาญจนบุรี(เก่า) ให้ตั้งค่ายมั่นในทุ่งลาดหญ้าที่เชิงเขาบรรทัดเป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันสกัดทางที่พม่าจะยกเข้ามา แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา(เจ่ง) คุมกองมอญจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมแม่น้ำแควใหญ่ในทางที่ข้าศึกจะยกมานั้นอีกแห่งหนึ่ง

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพเมียวหวุ่นที่ ๔ ยกเข้ามาก่อน เดินผ่านแขวงเมืองไทรโยค ตัดมาลงทางริมแม่น้ำแควใหญ่ที่เมืองท่ากระดาน เดินทางริมน้ำต่อลงมาถึงด่านกรามช้าง พม่ามากกว่าก็ระดมตีกองมอญซึ่งตั้งรักษาด่านกรามช้างแตก แล้วยกทัพเข้ามาถึงชายทุ่งลาดหญ้าที่กองทัพกรมพระราชวังบวรฯตั้งรับอยู่ ทัพพม่าที่ ๔ ก็ตั้งค่ายลงตรงนั้น ครั้นทัพเมหวุ่นที่ ๕ ตามเข้ามาถึงก็ตั้งค่ายเป็นแนวรบต่อกันไป จำนวนพลพม่าทั้ง ๒ ทัพรวม ๑๕,๐๐๐

ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่ายกเข้ามาได้สู้รบกับกองมอญที่รักษาด่านกรามช้าง กองมอญล่าถอย พม่าติดตามมาถึงที่ค่ายไทยที่ลาดหญ้า พม่าก็ตรงเข้าตีค่ายไทย ได้รบกันเป็นสามารถ พม่ารบถลำเข้ามาให้ไทยล้อมจับได้กองหนึ่ง นายทัพพม่าเห็นว่าไทยมีกำลังมากเกรงจะเสียที จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงหวังจะรบพุ่งขับเคี่ยวกับทัพไทยต่อไป

กระบวนยุทธวิธีที่ไทยไปตั้งระบพม่าข้าศึกที่ลาดหญ้า คราวนี้ผิดกับวิธีที่ไทยได้เคยต่อสู้พม่ามาแต่ก่อน พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฏมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ดี ครั้งสมเด็จพระนเรศวรก็ดี ถ้าพม่ายกมาเป็นศึกใหญ่เหลือกำลัง ไทยมักต่อสู้ที่พระนคร ถ้าคราวไหนไทยเห็นว่ากำลังพอจะต่อสู้ข้าศึกที่ยกมา ก็ยกกองทัพมาดักตีข้าศึกให้แตกในกลางทางเมื่อก่อนจะเข้ามาถึงชานพระนคร มักรบกันในแขวงเมืองสุพรรณบุรีโดยมาก ถ้าทางเหนือก็รบกันที่เมืองอ่างทอง

วิธีที่เอากองทัพใหญ่ออกไปตั้งสกัดกองทัพใหญ่ของข้าศึกถึงชายแดน เพิ่งมีขึ้นคราวนี้เป็นครั้งแรก เป็นวิธีที่คิดขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๑ คงเป็นเพราะพิจารณาเห็นว่า ที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่ต่อเชิงเขาบรรทัด ทางที่พม่าต้องเดินทัพเข้ามา ถ้าไทยรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้ กองทัพพม่าที่ยกมาต้องตั้งอยู่บนภูเขาอันเป็นที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพเข้ามาและจะเดินกระบวนทัพก็ยาก เปรียบเหมือนข้าศึกต้องอยู่ในตรอกไทยสกัดคอยอยู่ปากตรอก(๔) ถึงกำลังน้อยกว่าก็พอจะสู้ได้ด้วยอาศัยชัยภูมิดังกล่าวมา

การก็เป็นจริงเช่นนั้น เมื่อกองทัพหน้าของพม่ายกเข้ามาปะทะกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า ก็ต้องหยุดอยู่เพียงเชิงภูเขา เมื่อกองหน้าหยุดอยู่บนเขา กองทัพที่ยกตามมาข้างหลังก็ต้องหยุดอยู่บนภูเขาเป็นระยะกันไป ปรากฏว่าทัพตะแคงกามะราชบุตรทัพที่ ๖ ตั้งอยู่ที่สามสบ(๕) ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงทัพที่ ๘ ต้องตั้งอยู่ที่ปลายลำน้ำลอนซี พ้นพระเจดีย์สามองค์เข้ามาเพียง ๒ ระยะ กองทัพพม่าตั้งอยู่บนภูเขา จะหาเสบียงอาหารในแดนไทยไม่ได้ ก็ต้องหาบขนเสบียงจากแดนเมืองพม่าเข้ามาส่งกันทุกทัพ พม่าจึงเสียเปรียบไทยตั้งแต่แรกยกข้ามแดนไทยเข้ามาด้วยประการฉะนี้

รายการที่รบกันที่ลาดหญ้า ปรากฏว่าพอกองทัพพม่าตั้งค่ายลงที่เชิงเขาบรรทัด กรมพระราชวังบวรฯก็ให้ตีค่ายพม่า แต่พม่าสู้รบแข็งแรง ไทยตีเอาค่ายพม่ายังไม่ได้ ก็ตั้งรบพุ่งติดพันกัยอยู่ พม่าให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายไทย กรมพระราชวังบวรฯจึงให้เอาปืนใหญ่และปืนปากกว้างอย่างยิงด้วยท่อนไม้ใช้เป็นกระสุน ไปตั้งรายยิงหอรบพม่าหักพังลงและถูกผู้คนล้มตายจนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาตีค่ายไทย

กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ กับพระยาเพชรบุรี คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้วไปเกียจคร้านอ่อนแอ ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วให้พระองค์เจ้าขุนเณร(๖) ถือพล ๑,๘๐๐ ไปเป็นกองโจรซุ่มอยู่ที่พุตะไคร้ทางลำน้ำแควไทรโยค ซึ่งใกล้กับทางที่พม่าจะส่งลำเลียงมานั้น

ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่าที่ยกมาด่านพระเจดีย์สามองค์คราวนั้น ขัดสนเสบียงอาหารมาแต่แรกทุกๆทัพ พระเจ้าปดุงทรงทราบว่า กองทัพหน้ามาตั้งประชิดอยู่กับไทย ให้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้า ก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งให้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงคุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยที่ไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้

ในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ที่ลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระปริวิตกเกรงกำลังจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่าย จึงเสด็จยกกองทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จไปจนถึงค่ายกรมพระราชวังบวรฯทรงปรึกษาราชการสงคราม

กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่า พม่าอดอยากมากอยู่แล้ว อย่าให้ทรงพระวิตกถึงทางลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกไปในไม่ช้า ขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะได้อุดหนุนกันทันท่วงที ทรงพระดำริเห็นชอบด้วย ก็เสด็จยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร

ต่อมากรมพระรวังบวรฯ ทรงทำกลอุบาย เวลากลางคืนแบ่งกองทัพให้ลอบกลับมาจนพ้นสายตาพม่า ครั้นเวลาเช้าให้กองทัพนั้นถือธงทิวเดินเป็นกระบวนทัพกลับไปเนืองๆ พม่าอยู่บนที่สูงแลเห็นว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมไปเสมอ พม่าก็ยิ่งครั่นคร้ามเข้าทุกที

กรมพระราชวังบวรฯทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยาก(๗)ครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ก็ตรัสสั่งให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน พม่าก็แตกฉานทั้งกองทัพที่ ๔ และที่ ๕ ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย ฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายแตกหนีกลับไป กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรพบเข้าก็ตีซ้ำเติม ฆ่าฟันพม่าและจับส่งมาถวายอีกก็มาก

ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อไทยตีค่ายพม่าได้ครั้งนั้น พม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายเสียบ้างจับได้บ้าง เสียทั้งนายไพร่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน

ครั้นพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกกลับไป ก็เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ด้วยกองทัพพม่าที่ยกมากับพระเจ้าปดุงทางด่านพระเจดีย์สามองค์ขัดสนเสบียงอาหาร และผู้คนเจ็บไข้ล้มตายลงด้วยกันทุกๆทัพ จึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวายนั้น เมื่อรวบรวมรี้พลได้พร้อมแล้ว จึงจัดให้พระยาทวายเป็นกองหน้าถือพล ๓,๐๐๐ ตัวอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นกองหลวงถือพล ๔,๐๐๐ ให้จิกสิบโบ่เป็นกองหลังถือพล ๓,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แต่ทางที่ข้ามภูเขาเข้ามาเป็นทางกันดารกว่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ช้างม้าพาหนะเดินยากต้องรั้งรอกันมาทุกระยะจึงเข้ามาช้า ที่สุดพระยาทวายกองทัพหน้ามาตั้งค่ายที่ (ราวหนองบัว) นอกเขางู อนอกแฝกคิดหวุ่นแทพตั้งที่ท้องที่ชาตรี จิกสิบโบ่ทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าขว้าวริมลำน้ำภาชี ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าทางลาดหญ้าแตกไปแล้ว

แต่เจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราชซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีก็ประมาท ไม่ได้ให้กองตระเวนออกไปสืบ หาทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาถึงลำน้ำภาชีและหลังเขางูไม่ จนกรงพระราชวังบวรฯมีชัยชนะที่ลาดหญ้า เสร็จแล้วก็มีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากรคุมกองทัพกลับมาทางบก มาทราบว่าพม่ามาตั้งค่ายที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าไปตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน พม่าทานกำลังไม่ได้ก็แตกหนีทั้งกองหน้าและกองหลวง ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันไปจนปะทะทัพหลวง ทัพหลวงก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับพม่าและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าพาหนะได้เป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันหนีกลับไปเมืองทวาย


ตอนที่ ๒ รบพม่าที่ปากพิง

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งเจ้าเมืองตองอูเป็นแม่ทัพนั้น ครั้นมาตั้งประชุมพลที่เมืองเชียงแสนพร้อมแล้ว จึงให้เนมะโยสีหะปติถือพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางแจ้ห่มกองหนึ่งให้ลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก แล้วให้โปมะยุง่วนถือพล ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า ตัวเจ้าเมืองตองอูเป็นกองหลวง ถือพล ๑๕,๐๐๐ ยกลงมาทางเมืองเชียงใหม่อีกทางหนึ่ง เวลานั้นเมืองเชียงใหม่ร้างมาตั้งแต่พม่ายกมาตีในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙

พระเจ้าตองอูจึงยกเลยลงมาตีเมืองนครลำปาง พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางเป็นคนเข้มแข็งในการสงครามตั้งต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าจะตีหักเอาไม่ได้ เจ้าเมืองตองอูก็ตั้งล้อมเมืองนครลำปางตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะเส็ง แต่ทางเมืองสวรรคโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือไพร่บ้านพลเมืองยับเยินเสียเมื่อครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้พม่าได้ ผู้รักษาเมืองก็อพยพผู้คนหนีเข้าป่า กองทัพเนมะโยสีหะปติที่แยกมาทางแจ้ห่มจึงได้หัวเมืองเหนือทั้งปวง ตลอดลงมาจนเมืองพิษณุโลก

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๘ ซึ่งจอข่องนรทาถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมานั้น ก็เดินเข้ามาโดยสะดวก ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้ ในพงศาวดารพม่าว่า เมืองตากยอมอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าส่งตัวเจ้าเมืองตากกับครอบครัวพลเมือง ๕๐๐ ไปยังเมืองพม่า จอข่องนรทาจึงเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก

ขณะเมื่อกรมพระราชวังหลังยกกองทัพขึ้นไป กองทัพพม่ายกล่วงแดนไทยเข้ามาแล้วทั้งสองทาง จึงทรงจัดกองทัพเป็นสามกอง ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้า ยกขึ้นไปตั้งรักษาเมืองพิจิตรแห่งหนึ่ง กองหลวงกรมพระราชวังหลังตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แห่งหนึ่ง และให้พระยาพระคลังกับพระยาอุทัยธรรมคุมกองหลังตั้งรักษาเมืองชัยนาท คอยป้องกันพม่าที่จะมาทางเมืองอุทัยธานีแห่งหนึ่ง

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือครั้นพบกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ เนมะโยสีหะปติที่ยกมาทางเมืองสวรรคโลกจึงตั้งค่ายอยู่ที่ปากพิงใต้เมืองพิษณุโลก ด้วยเป็นที่สำคัญ ทางน้ำร่วมไปมาถึงกันในระหว่างลำน้ำยมกับแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนกองทัพจอข่องนรทาที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาก็ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านระแหง ทำนองจะคอยให้เจ้าเมืองตองอูยกหนุนมาก่อน จึงจะยกมาตีกองทัพไทยที่เมืองพิจิตร และที่เมืองนครสวรรค์พร้อมกันทั้ง ๒ ทาง

ฝ่ายข้างกองกรมพระราชวังหลังยกขึ้นไปคราวนั้น ความมุ่งหมายอันเป็นข้อสำคัญในเบื้องต้นอยู่ที่จะป้องกันมิให้กองทัพพม่าล่วงเลยมาถึงกรุงเทพฯได้ ในเวลาที่ไทยกำลังรบกับพม่าอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี กรมพระราชวังหลังไม่ทรงทราบว่า ข้าศึกจะมีกำลังหนุนกันมาอีกสักเท่าใด จึงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ ไม่ยกไปรบพุ่งข้าศึกซึ่งมาตั้งอยู่ที่ปากพิงและบ้านระแหง กองทัพทั้งสองฝ่ายจึงตั้งรอกันอยู่

ก็การที่จะปราบปรามพม่าซึ่งยกมาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเวลาเมื่อเสด็จออกไปที่ลาดหญ้า กระแสพระราชดำริตกลงกันว่า ถ้าตีทัพพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ถอยไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปปราบปรามพม่าข้าศึกทางหัวเมืองเหนือ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯจะเสด็งลงไปปราบปรามพม่าข้าศึกทางหัวเมืองปักษ์ใต้

ครั้นกองทัพพม่าที่ลาดหญ้าแตกไปได้สัก ๗ วัน พอกรมพระราชวังบวรฯทรงทราบว่า กองทัพใหญ่ของพม่าถอยกลับไปทุกทัพแล้ว ก็ดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร(๘) คุมกองทัพหน้าออกจากลาดหญ้า เดินบกตรงลงไปเมืองชุมพร พระยาทั้งสองยกลงมาทางเมืองราชบุรี จึงมาพบกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาจากเมืองทวายดังกล่าวมาแล้ว ส่วนกรมพระราชวังบวรฯเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพฯ ประทับอยู่ในกรุงไม่ถึง ๗ วัน พอจัดกองทัพหลวงพร้อมแล้วก็เสด็จโดยกระบวนเรือตามลงไปยังเมืองชุมพร เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ

พอกรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกกองทัพเรือไปได้ ๖ วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ออกจากรุงเทพฯเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เสด็จโดยชลมารคไปประทับที่เมืองอินทบุรี มีรับสั่งขึ้นไปยังกรมพระราชวังหลัง ให้รีบยกกองทัพขึ้นไปสมทบกับเจ้าพระยามหาเสนาตีทัพพม่าที่ปากพิง และให้กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กับพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองชัยนาท ยกขึ้นไปตีทัพพม่าที่ตั้งอยู่บ้านระแหง ส่วนกองทัพหลวงตามขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ก่อน แล้วยกหนุนกรมพระราชวังหลังขึ้นไปประทับที่บางข้าวตอก แขวงเมืองพิจิตร

กรมพระราชวังหลังกับเจ้าพระยามหาเสนา ยกเข้าตีค่ายพม่าที่ปากพิง เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ได้สู้รบกันเป็นสามารถ รบกันตั้งแต่เช้าจนเวลาค่ำ กองทัพพม่าก็แตกพ่าย ไทยตีได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย แล้วไล่ติดตามต่อไป พม่ามาตั้งค่ายที่ปากพิงคราวนั้นมีความประมาท ตั้งล้ำเลยมาจากที่ชัยภูมิ ครั้นแตกหนีแตกหนีต้องข้ามน้ำ ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าจนน้ำตายเสียสัก ๘๐๐ เวลาศพลอยเต็มแม่น้ำจนน้ำกินไม่ได้

ครั้นได้ค่ายพม่าที่ปากพิงแล้ว จึงโปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาคุมกำลังแยกจากกองทัพหลวง เพิ่มเติมไปสมทบกับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา ให้รีบยกติดตามพม่าที่แตกหนี เลยขึ้นไปตีกองทัพพม่าที่ตั้งล้อมนครลำปางทีเดียว ครั้นกองทัพยกไปแล้ว จึงเสด็จถอยทัพหลวงกลับลงมาตั้งที่เมืองนครสวรรค์ โปรดให้กรมพระราชวังหลังและเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรนเรศตามเสด็จกลับมาด้วย

ฝ่ายจอข่องนรทานายทัพพม่าที่ ๘ ที่ตั้งอยู่บ้านระแหง ได้ยินข่าวว่ากองทัพพม่าที่ปากพิงแตกหนีไทยไปแล้ว และทำนองจะได้ข่าวเข้ามาว่าพระเจ้าปดุงถอยทัพแล้วด้วย ครั้นทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชรก็ไม่รออยู่ต่อสู้ รีบถอยทัพกลับไปทางด่านแม่ละเมา กองทัพที่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรมยกขึ้นไป จึงหาได้รบกับพม่าไม่

แต่กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎายกขึ้นไปเมืองนครลำปาง ทันทัพพม่ากำลังล้อมเมืองนครลำปางอยู่ กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่า กองทัพพระยากาวิละซึ่งรักษาเมืองนครลำปางก็ตีกระหนาบออกมา รบกันแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพเจ้าเมืองตองอูก็แตกพ่ายหนีกลับไปเมืองเชียงแสน ในเดือน ๕ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙


ตอนที่ ๓ รบพม่าทางแหลมมลายู

ฝ่างเกงหวุ่นแมงยีอัครมหาเสนาบดี ซึ่งคุมกองทัพพม่าที่ ๑ มาตีหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ตะวันตกนั้น ลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองมะริดพร้อมแล้ว ครั้นถึงเดือนอ้าย จึงให้ยี่หวุ่นคุมกองทัพเรือจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกลงมาตีเมืองถลาง (คือเกาะเมืองภูเก็ตทุกวันนี้) ให้เนมโยคงนะรัดถือพล ๒,๕๐๐ เป็นกองหน้า ตัวเกงหวุ่นแมยีแม่ทัพถือพล ๔,๕๐๐ เป็นกองทัพบก จำนวนพลรวม ๗,๐๐๐ ยกลงมาทางบกจากเมืองมะริด ตีเมืองกระบุรี เมืองระนอง (ในสมัยนั้นเป็นเมืองขึ้นเมืองชุมพรทั้ง ๒ เมือง)

ครั้นได้แล้วก็ยกข้ามแหลมมลายูทางปากจั่นเข้ามาตีเมืองชุมพร ผู้รั้งราชการไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ ก็อพยพผู้คนหนีเข้าป่า พม่าเก็บริบทรัพย์สมบัติแล้วเผาเมืองชุมพรเสีย แล้วยกลงไปตีเมืองไชยาก็ได้โดยอาการอย่างเดียวกัน

ฝ่ายเจ้าพระยานคร(พัฒน์)ทราบว่า กองทัพพม่ามาตีได้เมืองชุมพร เมืองไชยา ก็ตระเตรียมต่อสู้รักษาเมืองนครศรีธรรมราช จัดกองทัพกองหนึ่งจำนวนพล ๑,๐๐๐ ให้มาตั้งขัดตาทัพที่ท่าข้าม(๙) กองทัพพม่ายกไปถึง เห็นกองทัพไทยตั้งอยู่ นายทัพพม่าจึงอุบายเอาไทยที่จับได้ที่เมืองไชยา คุมไปให้ร้องบอกพวกชาวนครศรีธรรมราชว่าบางกอกก็เสียแล้ว จะมาตั้งอยู่เช่นนั้นจะสู้ได้แล้วหรือ ให้ไปบอกนายให้อ่อนน้อมเสียโดยดี ถ้าขืนต่อสู้จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง ถึงทารกก็จะไม่เหลือไว้

พวกกองทัพเมืองนครฯเอาเนื้อความที่พม่าว่าไปแจ้งแก่เจ้าพระยานครพัฒน์ เจ้าพระยานครพัฒน์พิเคราะห์ดูเห็นสมคำพม่า ด้วยได้บอกเข้ามายังกรุงเทพฯตั้งแต่แรกได้ข่าวว่าพม่าจะยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ รอมาก็ไม่มีกองทัพกรุงฯยกออกไปช่วย และไม่ได้ข่าวทางในกรุงฯว่าจะร้ายดีอย่างไรหลายเดือน จึงสำคัญว่าเห็นจะเสียกรุงเทพฯแก่พม่าข้าศึกเสียแล้ว เจ้าพระยานครฯเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็อพยพหลบหนีข้ามเขาบรรทัดไปซุ่มซ่อนอยู่นอกเขาที่เขตอำเภอฉวาง

พม่าก็ได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย พม่าพากันเก็บริบทรัพย์สมบัติและจับผู้คนที่หลบหนีไม่ทัน ผู้ชายมักพาลหาเรื่องหาเหตุฆ่าเสีย เอาแต่เด็กกับผู้หญิงไปเป็นเชลยเป็นอันมาก แต่ทรัพย์สมบัติที่พม่าได้ไปจากเมืองนครศรีธรรมราชคราวนั้น ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่าเรืองที่บรรทุกไปแตกล่มในทะเลจมน้ำหมด หาได้ไปถึงเมืองพม่าไม่(๑๐)

ฝ่ายกองทัพเรือของพม่าที่ยี่หวุ่นยกไปตีเมืองถลาง เมื่อตีเมืองตะกั่วทุ่งที่อยู่ในระยะทางได้แล้ว จึงข้ามไปตีเมืองถลาง ในสมัยนั้นเมืองถลางตั้งอยู่ฟากเกาะข้างหน้านอก (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองถลางเก่า) พม่ายกรี้พลขึ้นค่ายล้อมเมืองถลางไว้ เวลานั้นประจวบกับพระยาถลางถึงอนิจกรรมเมื่อก่อนทัพพม่ามาถึง ยังไม่ได้ทรงตั้งพระยาถลางใหม่ คุณหญิงจันทร์ ภรรยาพระยาถลางคนที่ถึงอนิจกรรม เป็นเชื้อแถวเจ้าเมืองถลางมาแต่ก่อน กับนางมุกน้องสาว จึงคิออ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่ ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และคุณหญิงจันทร์กับนางมุกนั้นองอาจกล้าหาญมิได้ย่อท้อต่อข้าศึก กรมการและชาวเมืองก็มีใจช่วยกันรบพุ่งต่อสู้ข้าศึกทั้งผู้ชายผู้หญิง พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษจะตีเอาเมืองถลางไม่ได้ หมดเสบียงก็ต้องเลิกทัพกลับไป

ฝ่ายกองทัพกรมพระราชวังบวรฯที่ยกไปจากข้างเหนือทั้งทัพบกทัพเรือ ล้วนแต่คนสังกัดพระราชวังบวรฯ รวมจำนวน ๒๐,๐๐๐ ไปถึงเมืองชุมพรพร้อมกันในปลายเดือน ๔ ปีมะเส็ง จึงดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร ยกกองทัพบกลงไปตั้งที่เมืองไชยา เพราะในเวลานั้นกองทัพพม่าลงไปรวมกันอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเกงหวุ่นแมงยีประสงค์จะไปตีเมืองพัทลุงและเมืองสงขลาต่อลงไป

ที่เมืองพัทลุง พระยาแก้วโกรพผู้ว่าราชการเมือง และกรมการ รู้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่ข้าศึกก็หลบหนีเอาตัวรอด ครั้งนั้นมีพระภิกษุองค์หนึ่งเป็นอธิการอยู่ในวัดเมืองพัทลุง ชื่อพระมหาช่วย พวกชาวเมืองนับถือว่าเป็นผู้มีวิชาอาคม พระมหาช่วยชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ข้าศึกรักษาหัวเมือง ทำตะกรุดและผ้าประเจียดมงคลแจกจ่ายเป็นอันมาก กรมการและพวกนายบ้านจึงพาราษฎรมาสมัครเป็นศิษย์หาพระมหาช่วยมากขึ้นทุกที จนรวบรวมกันได้สัก ๑,๐๐๐ เศษ หาเครื่องศัสตราวุธได้ครบมือกันแล้ว ก็เชิญพระมหาช่วยผู้อาจารย์ขึ้นคานหามยกเป็นกระบวนทัพมาจากเมืองพัทลุง แล้วเลือกหาที่ชัยภูมิตั้งค่ายสกัดอยู่ในทางที่พม่าจะยกลงไปจากเมืองนครศรีธรรมราช

ฝ่ายพม่ายังไม่ทันจะยกไปเมืองพัทลุง ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพฯยกลงไปจากทางข้างเหนือ เกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพพม่าจึงให้เนมโยคงนะรัดนายทัพหน้า คุมพลยกกลับขึ้นมาตีกองทัพกรุงฯ เกงหวุ่นแมงยียกตามมาข้างหลัง กองทัพพม่ามาปะทะทัพไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา พม่ายังไม่ทันตั้งค่าย ไทยก็ยกเข้าล้อมพม่าไว้ พม่าขุดสนามเพลาะบังตัวต่อสู้รบกันอยู่จนเวลาค่ำ

เผอิญค่ำวันนั้นฝนตกห่าใหญ่ ยิงปืนด้วยกันไม่ได้ทั้งสองข้าง พม่าจึงหักออกที่ล้อมได้แล้วพากันหนีไป กองทัพไทยก็ไล่ติดตามไปในเวลากลางคืน ฆ่าตองพยุงโบนายทัพพม่าคนหนึ่ง และฆ่าฟันพวกพม่ารี้พลล้มตายอีกเป็นอันมาก พม่าแตกหนีกระจัดพลัดพรายคุมกันไม่ติด ไทยจับเป็นได้ก็มาก

ส่วนกองทัพเกงหวุ่นแมงยียกหนุนมาจากเมืองนครศรีธรรมราช รู้ว่ากองหน้าแตกยับเยินแล้ว ก็มิได้คิดจะต่อสู้ รีบยกหนีข้ามแหลมมลายูไปทางเมืองกระบี่ แล้วกลับไปยังเมืองพม่า เป็นเสร็จการรบพม่าคราวทัพใหญ่ ๕ ทางเพียงเท่านี้

เมื่อเสร็จการปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกแล้ว กรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระราชดำริว่ากองทัพก็มีพร้อมอยู่ที่นั่นแล้ว เป็นโอกาสที่จะปราบปรามหัวเมืองมลายูประเทศราช ที่ตั้งแข็งเมืองมาแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ให้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอย่างเดิมได้

จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงถือหนังสือไปถึงพระยาปัตตานี และพระยาไทรบุรี ให้แต่งทูตนำต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายเหมือนแต่ก่อน พระยาปัตตานีขัดแข็งเสียหามาอ่อนน้อมไม่

กรมพระราชวังบวรฯจึงดำรัสสั่งให้พระยากลาโหม กับพระยาจ่าแสนยากร ยกทัพหน้าลงไปตีเมืองปัตตานี แล้วเสด็จยกทัพหลวงตามลงไปยังเมืองสงขลา กองทัพไทยยกลงไปตีเมืองปัตตานี ได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมืองซึ่งเรียกว่า พระยาตานี กับครอบครัวและทรัพย์สมบัติมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก

พระยาไทรได้ทราบว่าไทยตีได้เมืองปัตตานีก็มีความเกรงกลัวรีบแต่งทูตให้คุมต้นไม่ทองเงินเข้ามาถวาย ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนแต่ก่อน ฝ่ายพระยาตรังกานู และพระยากลันตันซึ่งขึ้นอยู่แก่เมืองตรังกานู เขตแดนอยู่ต่อเมืองปัตตานีลงไปข้างใต้ ทั้งสองเมืองนี้แต่ก่อนหาเคยได้ขึ้นแก่ไทยไม่ ครั้นทราบว่าไทยตีได้เมืองปัตตานี เกรงจะเลยลงไปตีเมืองกลันตันตรังกานูด้วย ก็แต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินขึ้นมาถวายกรมพระราชวังบวรฯ ขอสามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯด้วยทั้งสองเมือง

เมื่อเสร็จราชการเมืองมลายูแล้ว กรมพระราชวังบวรฯจึงโปรดให้เจ้าพระยานครพัฒน์ และพระยาพัทลุง กรมการคงตำแหน่งอยู่ตามเดิม ด้วยทรงพระราชดำริว่าข้าศึกเหลือกำลัง และไม่ได้ข่าวคราวจากกรุงเทพฯ ที่ทิ้งเมืองจะเอาความผิดหาควรไม่(๑๑) ส่วนผู้มีความชอบในการสงครามครั้งนั้นก็ทูลเสนอความชอบ คือคุณหญิงจันทร์ ภรรยาพระยาถลาง นางมุกน้องสาว ซึ่งเป็นหัวหน้ารักษาเมืองถลางไว้ได้นั้น ทรงตั้งคุณหญิงจันทร์เป็นท้าวเทพสตรี ตั้งนางมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ส่วนพระมหาช่วยที่เมืองพัทลุงนั้นสมัครลาสิกขาบทออกรับราชการ ก็ทรงตั้งเป็นพระยทุกขราษฎร์ ตำแหน่งในกรมการเมืองพัทลุง

แล้วกรมพระราชวังบวรฯก็เสด็จกลับคืนพระนคร เป็นสิ้นเรื่องสงครามครั้งที่หนึ่งที่รบพม่าในครั้งกรุงเทพฯ เพียงเท่านี้


....................................................................................................................................................

(๑) อยู่ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ใช้เป็นโรงเรียนนายเรืออยู่บัดนี้

(๒) เรื่องอะแซหวุ่นกี้ตรงนี้ หนังสือบางฉบับว่าเป็นพ่อของนางสนมที่ถูกถ่วงน้ำ ข้าพเจ้ากล่าวตามจกหมายเหตุของนายพันตรีไมแคล ไชม์ ทูตอังกฤษที่ได้ไปเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ เพราะเห็นว่าแต่งใกล้กับเวลาที่เกิดเหตุ

(๓) รายการเรื่องสงครามคราวนี้ พงศาวดารพม่ายุติต้องกันกับหนังสือพระราชพงศาวดารแทบทุกข้อ แต่ทัพที่ ๕ นี้ไม่มีในพงศาวดารพม่า จะเป็นเพราะเขียนฉบับเดิมก็เป็นได้

(๔) หมายถึงจะยกมามากเท่าไรก็ตาม เวลาออกจากช่องเขาก็ต้องออกมาทีละน้อยคนอยู่ดี - กัมม์

(๕) คือที่ตรงลำน้ำบีคี ลำน้ำลอนซี ร่วมกับลำน้ำไทรโยค

(๖) พระองค์เจ้าขุนเณรองค์นี้ว่าเป็นน้องกรมพระราชวังหลัง ร่วมแต่บิดา

(๗) ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพที่มาตั้งสู้รบอยู่กับไทยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก ต้องเที่ยวขุดหาเผือกมันและรากไม้กินก็ไม่ได้พอ ต้องฆ่าสัตว์พาหนะในกองทัพกินเสียมาก จนผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงเพราะความอดอยากก็มี ข้าพเจ้าเห็นว่ากล่าวเกินไป ความจริงจะเพียงขัดสนเสบียงอาหารพอรวนเรเท่านั้น ถ้าถึงอดอยากสาหัสดังว่า พม่าก็คงถอยไปเพราะมิได้ถูกไทยล้อมไว้

(๘) ทั้งสองท่านนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า ....ตรัสเอาพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษุณโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยาจ่าแสนยากร...

ส่วนข้าราชการที่ต้องพระราชอาชญาในคราวศึกลาดหญ้า ล้วนเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหลวง
- พระยาสีหราชเดโชชัย คือ หลวงสุระ ซึ่งเป็นต้นคิดร่วมกับนายบุนนาค บ้านแม่ลา หลวงชนะ ปราบจลาจลกรุงธนบุรี
- พระยาท้ายน้ำ คือ หลวงพิเรนทร์ ข้าหลวงเดิม ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง
- เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ คือนายบุญรอด บุตรพระยามณเฑียรบาลกรุงเก่า ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง
- พระยายมราช คือ หลวงอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ได้ทำราชการสงครามหลายครั้ง

ดูเหมือน "วังหลวง" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นจอมทัพเอง ข้าราชการวังหลวงก็ไม่ค่อยจะเอาใจลงในการพระราชสงครามสักเท่าใดนักนะครับ - กัมม์

(๙) ตรงที่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำตาปีทุกวันนี้

(๑๐) เห็นจะบรรทุกเรือทางทะเลอ่าวไทย เวลานั้นกำลังเป็นฤดูมรสุม เรือจึงล่มหมด

(๑๑) ทรงมีสมญาตามที่พม่าข้าศึกถวายให้ว่า "พระยาเสือ" เนื่องจากทรงห้าวหาญ องอาจ และดุร้าย จากความตรงนี้จะเห็นได้ว่าน้ำพระทัยของพระองค์มิใช่แต่ดุร้ายโดยปราศจากเหตุผล และมีความเด็ดเดียว เด็ดขาดในราชการ หากมีความชอบในแผ่นดินถึงเป็นหญิง(ในสมัยนั้น)ก็ทรงยกย่องน้ำใจนักสู้ และหากได้อ่านพระประวัติจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นต่อราชการสงครามเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ - กัมม์




 

Create Date : 16 มีนาคม 2550   
Last Update : 16 มีนาคม 2550 14:14:16 น.   
Counter : 2318 Pageviews.  


ค้นเมืองโบราณ

นิทานโบราณคดี นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



ฉันเคยค้นพบเมื่อโบราณ โดยต้องพยายามอย่างแปลกประหลาด ๒ เมือง คือเมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองมีเรื่องในพงศาวดาร แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนเมืองหนึ่ง กับเมืองโบราณซึ่งตัวเมืองยังมีอยู่ แต่ไม่มีใครรู้จัดชื่อ เผอิญฉันนึกแปลศัพท์ออก จึงรู้ว่าชื่อเมืองอู่ทองเมืองหนึ่ง จะเล่าเรื่องค้นเมืองทั้งสองนั้นในนิทานเรื่องนี้ แล้วจะเลยเล่าแถมถึงเรื่องพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาหงสาวดีด้วย เพราะลูกหญิงพูนพิศมัยกับลูกหญิงพัฒนายุ(เหลือ)เธออยากฟัง ด้วยเธอเคยทนลำบากขี่ม้าแรมทางตามฉันไปจนถึงทั้ง ๓ แห่ง

เรื่องเมืองเชลียง

มูลเหตุที่ฉันค้นหาเมืองเชลียง เกิดแต่ฉันสอบเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องตอนหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) โปรดให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต พระราเมศวรราชโอรสได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ให้เจ้าเมืองเหนือต่างครองเมืองเป็นอิสระแก่กัน เจ้าเมืองเชลียง (ในหนังสือลิลิตยวนพ่ายว่าชื่อพระยายุทธิษฐิระ แต่พงศาวดารเชียงใหม่เรียกเพี้ยนไปเป็น ยุทธิษเจี่ยง)เป็นกบฏโจทก์เจ้า เอาบ้านเมืองไปยอมขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ แล้วนำกองทัพเมืองเชียงใหม่มาตีเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก รบพุ่งกับพระเจ้าติโลกราชหลายปี จึงได้เมืองเหนือกลับคืนมาหมด

ฉันอยากรู้ว่า "เมืองเชลียง" ที่เจ้าเมืองเป็นกบฏนั้นอยู่ที่ไหน พิจารณาในแผนที่เห็นว่าสมจะเป็นเมืองสวรรคโลก เพราะอยู่ต่อแดนอาณาเขตพระเจ้าเชียงใหม่ และในเรื่องพงศาวดารว่า พระยาเชลียงพากองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วเลยไปตีเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก แต่ไม่กล่าวว่าตีเมืองสวรรคโลกด้วย คงเป็นเพราะเป็นเมืองต้นเหตุ แต่เหตุไฉนในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงเรียกว่าเมืองเชลียง ไม่เรียกว่าเมืองสวรรคโลก หรือเมืองศรีสัชนาลัย ตามชื่อซึ่งเรียกเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย ข้อนี้ทำให้ฉันสงสัยอยู่ดูในทำเนียบหัวเมืองครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีชื่อเมืองเชลียง ถามผู้อื่นก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหน ฉันจึงไปค้นดูในหนังสือเก่าเรื่องอื่น พบในหนังสือพงศาวดารโยนกมีกล่าวถึงเมืองเชลียง ๒ แห่ง แห่งหนึ่งว่าเมื่อ พ.ศ. ๙๑๙ ไทยในลานนาแข็งเมืองต่อขอม พวกขอมยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม แต่พระเจ้าพรหมหัวหน้าพวกไทยตีกองทัพขอมแตกพ่ายไป แล้วไล่พวกขอมลงมาจนถึง "แดนเมืองเชลียง" แต่พระอินทร์เนรมิตกำแพงกั้นไว้ พระเจ้าพรหมจึงหยุดอยู่เพียงนั้น อีกแห่งว่าเมื่อพระเจ้าพรหมสิ้นพระชนม์แล้วราชบุตรทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยสิริ ได้รับรัชทายาทครองเมืองชัยปราการมาจน พ.ศ. ๙๕๖ พระยามอญเมืองสเทิม ยกกองทัพเข้าตีเมืองชัยปราการ พระเจ้าชัยสิริเห็นข้าศึกมีกำลังมากนัก เหลือที่จะสู้ กลัวชาวเมืองชัยปราการต้องเป็นเชลย จึงให้รื้อทำลายเมืองชัยปราการเสีย แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีลงมาข้างใต้ มาถึงแดน "เมืองเชลียง" ซึ่งพระเจ้าพรหมเคยไล่พวกขอมลงมาถึงแต่ก่อนนั้น เห็นเมืองแปบร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงค์ทางฟากตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ที่นั่น แล้วสร้างเมืองให้กลับคืนดีดังเก่า ขนานนามว่า "เมืองไตรตรึงส์" ตรงกับนิทานเรื่องนายแสนปม ข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พงศาวดารโยนกชวนให้ฉันคิดว่าเมืองเชลียง เห็นจะเป็นเมืองเดิมที่มีมาแต่ก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัย แค่ก็คงอยู่ที่เมืองสวรรคโลกนั่นเอง เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงองค์ใดองค์หนึ่งบูรณะเมืองเชลียง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองศรีสัชนาลัย

ฉันจึงไปตรวจดูในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เห็นหลักอื่นออกชื่อแต่เมืองศรีสัชนาลัยทั้งนั้น ไม่มีชื่อเมืองเชลียงเลย มีแต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักเดียว ที่ออกชื่อทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัย ดูประหลาดอยู่ ฉันจึงมาพิจารณาดูความที่กล่าวถึง ๒ เมืองนั้น เห็นชอบใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของพระเจ้ารามคำแหง เช่นบางแห่งออกพระนามว่า "พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย" บางแห่งว่า "พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย" ดังนี้ แต่ชื่อเมืองเชลียงนั้นมีเเห่งเดียวในตอนว่าด้วยศิลาจารึกว่า "เอาศิลาจารึกอันหนึ่งในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนมหาธาตุ" ดังนี้

ฉันตีความว่าพระเจ้ารามคำแหง เอาศิลาจารึกของเก่าอันมีอยู่ ณ เมืองเชลียง มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองศรีสัชนาลัย (คือ พระปรางค์ใหญ่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า) ในคำจารึกแสดงว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัย เป็นต่างเมืองกันและอยู่ต่างแห่งกัน มิใช่แปลงเมืองเชลียงเป็นเมืองศรีสัชนาลัยอย่างฉันเข้าใจมาแต่ก่อน ก็กลับไม่รู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหนอีก

อยู่มาวันหนึ่ง ฉันค้นหนังสือกฎหมายเก่าเห็นในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าอู่ทองตั้งในปีมะเเม พ.ศ. ๑๘๙๙ เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาได้ ๕ ปี มีชื่อเมืองเหนืออยู่ในนั้น ๘ เมือง เรียกเป็นคู่ๆกันดังนี้

เมืองเชลียง - สุโขทัย
เมืองทุ่งยั้ง - บางยม
เมืองสองแคว - สระหลวง
เมืองชากังราว - กำแพงเพชร

เมืองทั้ง ๘ นั้น ฉันรู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ๖ เมือง คือ เมืองสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองกำแพงเพชร ๓ เมืองนี้ยังเรียกชื่ออยู่อย่างเดิม เมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก เมืองสระหลวงเปลี่ยนชื่อเมืองพิจิตรในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมืองชากังราวนั้นอยู่ที่ปากคลองสวนหมาก ตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเคยเปลี่ยนชื่อว่า"เมืองนครชุม" แต่ภายหลังมารวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองชากังราวก็สูญไป ฉันยังไม่รู้แห่งแต่เมืองเชลียงกับเมืองบางยม ๒ เมืองเท่านั้น

แต่สังเกตชื่อเมืองทั้ง ๘ ที่มีในบานแผนก ฉันประหลาดใจที่ขาดชื่อเมืองศรีสัชนาลัย และเอาชื่อเมืองเชลียงเข้าคู่กับเมืองสุโขทัย กลับหวนคิดว่า หรือเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยจะเป็นเมืองเดียวกัน แต่มีข้อขัดข้องด้วยพระเจ้ารามคำแหงได้ตรัสไว้ในศิลาจารึก ว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยเป็น ๒ เมืองต่างกัน จะลบล้างพระราชดำรัสเสียอย่างไรได้

แต่ถึงสมัยนี้ฉันออกจะเกิดมานะ ว่าจะค้นเมืองเชลียงให้พบให้จงได้ จึงถามพวกชาวเมืองสวรรคโลกว่านอกจากเมืองศรีสัชนาลัย ยังมีเมืองโบราณอยู่ที่ไหนในเขตเมืองสวรรคโลกอีกบ้างหรือไม่ เขาบอกว่ายังมีอีกเมืองหนึ่งอยู่ในป่าริมแม่น้ำยมเก่า ฉันขึ้นไปเมืองสวรรคโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงให้เขาพาเดินบกไปทางนั้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ก็พบเมืองโบราณอยู่ริมลำน้ำยมเก่าดังเขาว่า มีเจดีย์วัดร้างอยู่ในเมืองนั้นหลายแห่ง แต่สังเกตดูเป็นเมืองขนาดย่อม ไม่สมเรื่องของเมืองเชลียง แต่ก็นึกขึ้นได้ในขณะนั้นว่า คือเมืองบางยม ที่ยังไม่รู้แห่งอยู่อีกเมืองหนึ่งนั้นนั่นเอง เพราะอยู่ในระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองศรีสัชนาลัย และตัวเมืองก็ตั้งอยู่ริมลำน้ำยม เป็นอันรู้แห่งเมืองทั้ง ๘ เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ยังขาดแต่เมืองเชลียงเมืองเดียว แต่ก็หมดสิ้นที่จะค้นหาต่อไป ต้องจำนนอีกครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมาไม่ช้านัก ฉันขึ้นไปเที่ยวมณฑลพายัพเมื่อพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ บ่ายวันหนึ่งฉันไปเดินเที่ยวเล่น เมื่อผ่านคุ้มหลวงที่เจ้าเชียงใหม่แก้วเนาวรัตน์อยู่ เห็นผู้หญิงยืนอยู่ที่ประตูคุ้มคนหนึ่ง มันเห็นฉันก็นั่งลงด้วยความเคารพ ฉันจึงทักถามว่า "เจ้าหลวงอยู่ไหม" มันประนมมือไหว้ตอบว่า "มีเจ้า" ฉันนึกขึ้นในขณะนั้นว่าได้ความรู้อย่างหนึ่ง ว่าภาษาไทยเหนือเขาใช้คำ "มี" หมายความเหมือนอย่างไทยใต้ว่า "อยู่"

ครั้นกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ วันหนึ่งฉันรื้อคิดขึ้นถึงเรื่องค้นหาเมืองเชลียง นึกว่าในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า "ศิลาจารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง" คำ "มี" จะใช้หมายความอย่างไทยเหนือดอกกระมัง จึงเอาสำเนาจารึกมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนฉันเคยตรวจแต่ตรงว่าด้วยศิลาจารึกหลักที่เมืองเชลียง ครั้งนี้ตรวจต่อไปอีก เห็นกล่าวถึงศิลาจารึกอีก ๒ หลักแล้วจึงหมดวรรคว่าด้วยศิลาจารึก รวมสำเนาทั้งวรรคเป็นดังนี้ และเอามา จารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำพระรามอยู่ฝั่งล้ำลำพาย จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร" ดังนี้

เผอิญศิลาจารึกในถ้ำพระรามนั้น พระยารามราชภักดี(ใหญ่) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยไปพบแล้ว ยังอยู่ในถ้ำพระรามนั้นเองไม่ได้ย้ายเอาไปไว้ที่อื่น ในคำจารึกที่ว่า "มีในถ้ำพระราม" และ "มีในถ้ำรัตนธาร" ก็ว่าอย่างเดียวกันกับ "มีในเมืองเชลียง" ฉันนึกว่าถ้าคำ "มี" ทั้ง ๓ แห่งนั้นใช้หมายความ "อยู่" ความก็กลายไปว่าหลักศิลาจารึก "อยู ณ เมืองเชลียง" และอยู่ ณ ถ้ำพระราม" กับ "อยู่ ณ ถ้ำรัตนธาร" เหมือนกันทั้ง ๓ หลัก ที่ออกนามพระศรีรัตนธาตุเป็นแต่บอกว่าอยู่ตรงไหนในเมืองเชลียง เพราะเป็นเมืองที่กว้างใหญ่ แต่อีก ๒ หลักเป็นแต่ปักไว้ในถ้ำ ใครไปถึงก็แลเห็นไม่ต้องบอกว่าเอาไว้ที่ตรงไหน ได้หลักฐานดังนี้ ฉันจึงตีความใหม่ว่า พระเจ้ารามคำแหง ได้เอาศิลาจารึกประดิษฐานไว้ ๓ แห่ง อยู่ที่เมืองเชลียง ณ วัดพระศรีรัตนธาตุแห่งหนึ่ง อยู่ในถ้ำพระรามแห่งหนึ่ง และอยู่ในถ้ำรัตนธารแห่งหนึ่ง ตีความอย่างนี้ คิดต่อไปก็แลเห็นหลักฐานเรื่องเมืองเชลียงแจ่มแจ้งเขากันได้หมด คือ

เมืองเชลียง เป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า ตรงที่พระปรางค์ใหญ่ปรากฏอยู่บัดนี้ คำที่พระเจ้ารามคำแหงเรียกพระปรางค์องค์นั้นว่า "พระศรีรัตนธาตุ" ความก็หมายว่า "พระมหาธาตุ"ที่เป็นหลักเมือง แสดงว่าที่ตรงนั้นต้องเป็นเมือง จึงมีพระศรีรัตนธาตุ ใช่แต่เท่านั้น ที่วัดเจ้าจันท์ไม่ห่างกับวัดพระศรีรัตนธาตุนัก ยังมีเทวสถานศิลาที่พวกขอมสร้างไว้ปรากฏอยู่แห่งหนึ่ง ก็แสดงว่าตรงนั้นต้องเป็นเมืองอยู่ก่อน

เรื่องประวัติของเมืองเชลียงต่อมาก็พอคิดเห็นได้ คือ เมื่อถึงสมัยกรุงสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จะเป็นพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นต้นราชวงศ์ หรือพระเจ้าบาลเมืองราชโอรสซึ่งรับรัชทายาท หรือแม้พระเจ้ารามคำแหงก็เป็นได้ ให้สร้างเมืองใหม่มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคง สำหรับเป็นราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองเชลียง ห่างกันราวสัก ๒๐ เส้น (ขนาดพระราชวังดุสิต ห่างกับพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ) ขนานนามเมืองใหม่นั้นว่า "เมืองศรีสัชนาลัย" บางทีจะได้รื้อปราการเมืองเชลียงไปใช้สร้างเมืองใหม่ แต่เจดียสถานของเดิมที่ในเมืองเชลียง เช่น ปรางค์ศรีรัตนธาตุ เป็นต้น เห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีมาแต่ดั้งเดิมจึงให้คงรักษาไว้อย่างเดิมไม่รื้อแย้ง ทิ้งซากเมืองเชลียงให้คงอยู่ แต่เมื่อสร้างเมืองขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย ข้อนี้เป็นเหตุให้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยแทนเมืองเชลียงในทางราชการ ศิลาจารึกของเมืองสุโขทัยจึงมีแต่ชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ไม่มีชื่อเมืองเชลียง แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงต้องออกชื่อเมืองเชลียง เพราะพระเจ้ารามคำแหงเอาศิลาจารึกไปประดิษฐานไว้ ณ พระศรีรัตนธาตุที่เมืองเชลียง มิได้เอาไปไว้ ณ เมืองศรีสัชนาลัย จึงต้องเรียกชื่อเมืองเชลียง

ในเรื่องเมืองเชลียงก็มีประหลาดอีกอย่างหนึ่ง เมื่อฉันค้นศิลาจารึกและหนังสือเก่า สังเกตเห็นเรียกชื่อเมืองศรีสัชนาลัย แต่ในหนังสือหรือจารึกซึ่งแต่งในกรุงสุโขทัย ถ้าเป็นหนังสือแต่งในประเทศอื่น เช่น กรุงศรีอยุธยาก็ดี หรือเมืองเชลียงใหม่ก็ดี ที่จะเรียกว่าเมืองศรีสัชนาลัยหามีไม่ เรียกว่าเมืองเชลียงทั้งนั้น จนอาจจะอ้างได้ว่าหนังสือเรื่องใดมีชื่อเมืองเชลียงเป็นไม่มีชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ถ้ามีชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นไม่มีชื่อเมืองเชลียง เว้นแต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวมาแล้วแห่งเดียวเท่านั้น จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะต่างประเทศไม่รู้ว่าสร้างเมืองศรีสัชนาลัยก็ใช่เหตุ คิดดูเห็นว่าต่างประเทศคงเห็นว่าเมืองใหม่ อยู่ใกล้ๆกันกับเมืองเดิม สร้างขึ้นแต่สำหรับเฉลิมพระเกียรติคล้ายกับพระราชวัง จึงคงเรียกว่าเมืองเชลียงตามเคย เรียกมาจนชินแล้ว ไม่เปลี่ยนไปเรียกชื่อใหม่อย่างชาวสุโขทัย เห็นจะเป็นเช่นนั้นมาจนตั้งชื่อใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้เรียกชื่อรวมกันทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัยว่า "เมืองสวรรคโลก" แต่เมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยก็ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ทั้งสองเมือง



เรื่องเมืองอู่ทอง


ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับแรก พิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีนิทานเล่าถึงเรื่องต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองอยู่ข้างต้น ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งครองเชียงรายอยู่ในแดนลานนา อยู่มาพวกมอญเมืองสเทิมยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย พระเจ้าเชียงรายเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากมายใหญ่หลวงนัก จะสู้ไม่ไหวก็ทิ้งเมืองเชียงราย พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพหนีข้าศึกมาทางแม่น้ำพิงค์ มาเห็นเมืองแปบร้างอยู่ทางฝั่งตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ ณ ที่นั่น และสร้างเมืองขึ้นเป็นราชธานี ให้ชื่อว่า "เมืองไตรตรึงส์" (อยู่ที่ตำบลวังธาตุ) แล้วเสวยราชย์สืบวงศ์มา ๓ ชั่ว

ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่ ๓ มีชายทุคตะเข็ญใจคนหนึ่งรูปร่างวิกล เป็นปมเปาไปทั่วทั้งตัวจนเรียกว่า "แสนปม" ตั้งทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่เกาะอันหนึ่ง ข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ ก็นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือในไร่ของตนเนืองๆ ครั้นมะเขือออกลูก เผอิญมีผู้ได้ไปส่งทำเครื่องเสวยที่ในวัง ราชธิดาองค์หนึ่งเสวยมะเขือนั้น ทรงครรภ์ขึ้นมาโดยมิได้มีวี่แววว่าเคยคบชู้สู่ชาย แล้วคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ใคร่จะรู้ว่าใครเป็นบิดาของบุตรนั้น พอกุมารเจริญถึงขนาดรู้ความก็ประกาศสั่งให้บรรดาชายชาวเมืองไตรตรึงส์หาของมาถวายกุมารราชนัดดา และทรงอธิฐานว่า ถ้ากุมารเป็นบุตรของผู้ใดขอให้ชอบของของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วย ไม่มีอะไรจะถวาย ได้แต่ข้าวสุกก้อนหนึ่งถือไป แต่กุมารเฉพาะชอบข้าวสุกของนายแสนปม เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้รับความอัปยศอดสู ก็ให้เอากุมารหลานชายกับนางราชธิดาที่เป็นมารดา ลงแพปล่อยลอยน้ำไปเสียด้วยกันกับนายแสนปม

แต่เมื่อแพลอยไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์จำแลงเป็นลิงเอากลองสารพัดนึกลงมาให้นายแสนปมใบหนึ่ง บอกว่าจะปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองนั้น จะสำเร็จได้ดังปรารถนา ๓ ครั้ง นายแสนปมตีกลองครั้งแรก ปรารถนาจะให้ปมเปาที่ตัวหายไป ก็หายหมดกลับมีรูปโฉมเป็นสง่างาม ตีครั้งที่ ๒ ปรารถนาจะมีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดเมืองขึ้นที่ใกล้บ้านโคนข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ฝั่งตะวันออก ตีครั้งที่ ๓ ปรารถนาเปลทองคำสำหรับให้กุมารนอน ก็เกิดเปลทองคำขึ้นดังปรารถนา เพราะกุมารมีบุญได้นอนเปลทองคำของนฤมิต ผิดกับคนอื่นจึงได้นามว่า "เจ้าอู่ทอง" ส่วนนายแสนปมก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ทรงนามว่า "พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน" ครองเมืองที่นฤมิตนั้น ขนานนามว่า "เมืองเทพนคร" เมื่อพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนสิ้นชีพ เจ้าอู่ทองได้รับรัชทายาทครองเมืองเทพนครมาได้ ๖ ปี พระเจ้าอู่ทองปรารภหาที่สร้างราชธานีใหม่ ให้บริบูรณ์พูนสุกกว่าเมืองเทพนคร ให้ข้าหลวงเที่ยวตรวจตราหาที่ เห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนครลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ราชาภิเษกทรงพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดี" เรื่องพระราชพงศาวดารตั้งต้นต่อนิทานนี้ เริ่มความแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๑๘๙๓

นิทานเรื่องนายแสนปมนี้ ที่เป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายเข้าใจกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามเดิมว่า "อู่ทอง" เพราะมีบุญญาภินิหาร ได้บรรทมแปลทองของนฤมิตเมื่อยังทรงพระเยาว์ คำที่เรียกกันในหนังสือต่างๆว่า "พระเจ้าอู่ทอง" จึงถือกันว่าเป็นพระนามส่วนพระองค์ ทำนองเดียวกับ "พระสังข์" ในนิทานที่ชอบเล่นละครกัน

แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองยังมีในหนังสืออื่นอีก ในหนังสือพงศาสวดารเหนือ อธิบายความไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเมื่อพระยาแกรกผู้มีบุญสิ้นพระชนม์แล้ว ราชวงศ์ได้ครองเมือง(ชื่อไรไม่กล่าว)สืบมา ๓ ชั่ว ถึงชั่วที่ ๓ มีแต่ราชธิดา ไม่มีราชวงศ์ที่เป็นชายจะครองเมือง โชดกเศรษฐีกับกาลเศรษฐี(ทำนองจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่)จึงปรึกษากันให้ลูกชายของโชดกเศรษฐีชื่อว่า "อู่ทอง" อภิเษกกับราชธิดาแล้วครองเมืองนั้น อยู่มาได้ ๖ ปีเกิดห่า(โรคระบาด)ลงกินเมือง ผู้คนล้มตายมากนัก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนพลเมืองหนีห่า มาสร้างกรุงศรีอยุธยา แม้ในเรื่องนี้คำ "อู่ทอง" ก็ว่าเป็น ชื่อคน

ยังมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทรงแต่พระราชทานดอกเตอร์ดีน มิชชันนารีอเมริกัน ส่งไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ "ไชนิสริปอสิตอรี่" ในเมืองจีน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่พระบรมราชาธิบายมีเพียงว่า พระเจ้าอู่ทองซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองเมือง(ชื่อไรมิได้มีในพระราชนิพนธ์)อยู่ได้ ๖ ปี เกิดห่าลงกินเมือง จึงย้ายมาตั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่พบในหนังสือเก่ามิได้กล่าวว่าคำ "อู่ทอง" เป็นชื่อเมืองแต่สักเรื่องหนึ่ง แม้ตัวฉันก็ไม่เคยคิดว่ามีเมืองชื่อ "อู่ทอง"

มูลเหตุที่จะพบ "เมืองอู่ทอง" นั้น เกิดแต่เมื่อปีแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี เป็นครั้งแรกที่เจ้านายเสด็จไปเมืองนั้นดังเล่าในนิทานเรื่องอื่นแล้ว ฉันถามชาวเมืองสุพรรณฯถึงของโบราณต่างๆที่มีในเขตเมืองนั้น เขาบอกว่ามีเมืองโบราณร้างอยู่ในป่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า พระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์อยู่ที่เมืองนั้นก่อน อยู่มาห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่าย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองหนีห่าครั้งนั้น พาผู้คนข้ามแม่น้ำสุพรรณฯตรงที่แห่งหนึ่ง ยังเรียกกันว่า "ท่าท้าวอู่ทอง" อยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้ฟังก็เกิดอยากไปดูเมืองท้าวอู่ทอง แต่เขาว่าอยู่ไกลนัก ถ้าจะเดินบกไปจากเมืองสุพรรณฯจะต้องแรมทางสัก ๒ คืนจึงจะถึง ทางที่จะไปได้สะดวกนั้นต้องไปเรือ เข้าคลองสองพี่น้องที่ใกล้กับแดนเมืองนครชัยศรี ไปทางคลองจนถึงบ้านสองพี่น้องที่อยู่ชายป่าแล้วขึ้นเดินบกต่อไปวันเดียวก็ถึง ฉันจึงไม่สามารถจะไปดูเมืองท้าวอู่ทองได้ในคราวนั้น แต่ผูกใจไว้ว่าจะไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีกสักสองสามปี จะเป็นปีใดฉันจำไม่ได้ ฉันจะไปตรวจเมืองสุพรรณบุรีอีก ครั้งนี้จะไปอำเภอสองพี่น้องอันเป็นอำเภอใหญ่ อยู่ข้างใต้เมืองสุพรรณบุรี ฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง จึงสั่งให้เขาเตรียมพาหนะสำหรับเดินบก กับหาที่พักแรมไว้ที่เมืองท้าวอู่ทองด้วย เมื่อตรวจราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้ว ฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป ทางที่ไปเป็นป่าเปลี่ยว แต่มีไม้แก่นชนิดต่างๆมาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่านั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่นๆ เพราะหาไม้ต่างๆสำหรับทำเกวียนได้ง่าย ฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพันอันเป็นที่พักแรม อยู่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก ๗๐๐ เส้น

วันรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจระเข้สามพัน ดูเป็นเมืองเก่าแก่ใหญ่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยศิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่งกับป้อมปราการ ต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอน ดูเป็นตระพักสูงราว ๖ ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่ำต่อไปสัก ๕ เส้น ถึงริมน้ำจระเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่า เรียกว่า "ท่าพระยาจักร" พิเคราะห์ดูลำน้ำจระเข้สามพัน เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่สูงซึ่งสร้างปราการเห็นจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยทีสระขุดขนาดใหญ่ สัญฐานเป็นสี่เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดห่า (เช่น อหิวาตกโรค เป็นต้น)ลงกินเมืองเนืองๆ มิใช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ข้างในเมืองท้าวอู่ทองเมื่อฉันไปดู เป็นแต่ที่อาศัยของสัตว์ป่า ได้เห็นอีเก้งวิ่งผ่านหน้าม้าไปใกล้ๆ แต่สังเกตดูพื้นที่เป็นโคกน้อยใหญ่ต่อๆกันไปทุกทาง และตามโคกมีก้อนหินและอิฐหักปนอยู่กับดินแทบทั้งนั้น เพราะเคยมีปูชนียสถาน เช่น พระเจดีย์วิหาร เมื่อบ้านเมืองยังดีเห็นจะมีมาก

ฉันดูเมืองแล้วให้คนแยกย้ายกันไปเที่ยวค้นหาของโบราณ ที่ยังมีทิ้งอยู่ในเมืองท้าวอู่ทอง พบของหลายอย่าง เช่น พระเศียรพระพุทธรูป เป็นต้น แบบเดียวกันกับพบที่พระปฐมเจดีย์ แม้เงินเหรียญตราสังข์ของโบราณซึ่งเคยพบแต่ที่พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านก็ขุดได้ที่เมืองท้าวอู่ทอง ดูประหลาดนักหนา ใช่แต่เท่านั้น แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎอยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่าศักดิสิทธิ์ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ซากของชั้นหลัง เช่นพระเจดีย์แบบสมัยกรุงสุโขทัยก็มี เมื่อฉันได้เห็นเมืองท้าวอู่ทองเป็นดังว่ามา คิดว่าน่าจะเป็นเมืองตั้งมาแต่ในสมัยเมื่อเมืองที่พระปฐมเจดีย์เป็นราชธานีของประเทศ (ที่นักปราชญ์เขาค้นได้ในจดหมายเหตุจีนว่าชื่อ "ทวาราวดี") จึงใช้สั่งของแบบเดียวกันมาก ใจฉันก็เริ่มผูกพันกับเมืองท้าวอู่ทองมาตั้งแต่ไปเห็นเมื่อครั้งแรก

ครั้งนี้ถึงสมัยเมื่อสร้างเมืองนครปฐมขึ้นที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ ฉันออกไปตรวจการบ่อยๆ สังเกตเห็นที่พระปฐมเจดีย์มีรอยลำน้ำเก่า ๒ สาย สายหนึ่งวกวนขึ้นไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งวกวนไปทางทิศตะวันตก ฉันอยากรู้ว่าลำน้ำสายไปข้างเหนือนั้น จะขึ้นไปถึงเมืองท้าวอู่ทองหรือไม่ จึงวานพระยานครพระราม (ม.ร.ว. เจ๊ก) เมื่อยังเป็นนายอำเภอพระปฐมเจดีย์ ให้ตรวจแนวลำน้ำนั้นว่าจะขึ้นไปถึงไหน ด้วยแกเคยอยู่ในกรมแผนที่ ทำแผนที่เป็น พระยานครพระรามตรวจได้ความว่า แนวลำน้ำนั้นขึ้นไปผ่านหน้าเมืองกำแพงเเสน ซึ่งเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง แล้วมีร่องรอยต่อขึ้นไปข้างเหนือจนไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองท้าวอู่ทอง ใช่แต่เท่านั้น สืบถามที่เมืองสุพรรณบุรียังได้ความต่อไป ว่าลำน้ำจระเข้สามพันนั้นยืดยาว ต่อขึ้นไปทางเหนืออีกไกลมาก และมีของโบราณ เช่น สระน้ำ ๔ สระสำหรับราชาภิเษก เป็นต้น อยู่ริมลำน้ำนั้นหลายแห่ง แต่ลำน้ำเดิมตื้นเขินยังมีน้ำขังแต่เป็นตอนๆ คนจึงเอาชื่อตำบลที่ยังมีน้ำเรียกเป็นชื่อ ลำน้ำนั้นกลายเป็นหลายชื่อ

ส่วนลำน้ำที่พระปฐมเจดีย์อีกสายหนึ่ง ซึ่งไปทางตะวันตกนั้น ตรวจเมื่อภายหลังก็ได้ความรู้อย่างแปลกประหลาดว่า ไปต่อกับแม่น้ำราชบุรีที่ตำบลท่าผา และมีวัดพุทธาวาส พวกอินเดียที่มาตั้งเมือง ณ พระปฐมเจดีย์ ก่อสร้างด้วยศิลา ปรากฏอยู่ที่พงตึกทางฟากตะวันตกเหนือปากน้ำนั้น เป็นอันพบหลักฐานแน่นอนว่า เมืองโบราณที่พระปฐมเจดีย์นั้น ตั้งอยู่แม่น้ำสองสายประสบกัน และอยู่ใกล้ปากน้ำที่ออกทะเลด้วย เพราะเคยขุดพบสายโซ่และสมอเรือทะเลที่ตำบลธรรมศาลา อยู่ห่างพระปฐมเจดีย์มาทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก เพราะเป็นเมืองมีทางคมนาคมค้าขาย ทั้งทางบกทางทะเลและทางแม่น้ำบริบูรณ์ เมืองเดิมที่พระปฐมเจดีย์จึงได้เป็นราชธานีของประเทศทวาราวดี

ฉันคิดวินิจฉัยเรื่องเมืองท้าวอู่ทอง เห็นว่าเมื่อแรกตั้งคงเป็นเมืองในอาณาเขตของประเทศทวาราวดี มีมาก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายร้อยปี และคงมีชื่อเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันอยากรู้ชื่อเดิมของเมืองท้าวอู่ทอง คิดหาที่ค้น นึกขึ้นได้ว่าในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนข้างท้ายมีขื่อเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงบอกไว้ทุกทิศ จึงไปตรวจดูชื่อเมืองขึ้นทางทิศใต้ในศิลาจารึกนั้นมีว่า "เบื้องหัวนอนรอด(ทิศใต้ถึงเมือง)โคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว" ดังนี้ ก็เมืองเหล่านั้นฉันเคยไปมาแล้ว ทั้ง ๗ เมือง รู้ได้ในศิลาจารึกเรียกเรียงเป็นลำดับกันลงมา ตั้งแต่ต่อเมืองกำแพงเพชร คือ เมืองโคนที อยู่ที่ใกล้บ้านโคนทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำพิงค์ ยังเป็นเมืองร้างที่มีวัดวาของโบราณปรากฏอยู่ ตรงที่อ้างในนิทานเรื่องนายแสนปมว่าเป็นเมือง "เทพนคร" ที่พระบิดาของพระเจ้าอู่ทองนฤมิต ก็แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมีมาก่อนนิทานเรื่องนายแสนปมตั้ง ๑๐๐ ปี ก็เป็นอันลบล้างข้อที่อ้างว่าเป็นเมืองเทพนคร และลบล้างต่อไปจนข้อความที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองครองเมืองเทพนครนั้นอยู่ก่อนลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อเมืองโคนทีลงมาออกชื่อ "เมืองพระบาง" เมืองนั้นก็ยังเป็นเมืองร้าง ปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพิงค์ ข้างหลังตลาดปากน้ำโพบัดนี้ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชก็มีว่า เมื่อเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง "เมืองแพรก" คือ เมืองสรรค ก็ยังมีเมืองโบราณอยู่จนบัดนี้ ในกฏหมายและพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่า "เมืองแพรก" เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งแยกจากแม่น้ำพิงค์ไปทางทิศตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองสรรค" เมื่อภายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง "เมืองสุพรรณภูมิ" พิเคราะห์ตามแผนที่ตรงกับ "เมืองท้าวอู่ทอง" มิใช่ เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งสร้างเมื่อภายหลัง ต่อเมืองสุพรรณถูมิไปในจารึกก็ออกชื่อเมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบราณที่พระปฐมเสีย หากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าจารึกแต่ชื่อเมืองอันเป็นที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่

ฉันนึกว่าเหตุไฉนในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง จึงเรียกชื่อ "เมืองท้าวอู่ทอง" ว่า เมืองสุพรรณภูมิ" ก็ศัพท์ ๒ ศัพท์นั้นเป็นภาษามคธ คำ "สุพรรณ" แปลว่า "ทองคำ" และคำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" รวมกันหมายความว่า "แผ่นดินอันมีทองคำมาก" ถ้าใช้เป็นชื่อเมืองก็ตรงกับว่าเป็น "เมืองอันมีทองคำมาก" พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่าชื่อ "สุพรรณภูมิ" นั้นตรงกับชื่อ "อู่ทอง" ในภาษาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า "อู่" หมายความว่า ที่เกิด หรือ ที่มี ก็ได้ เช่นพูดกันว่า อู่ข้าวอู่น้ำ มิได้หมายความแต่ว่า "เปล" สำหรับเด็กนอนอย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่าท้าวอู่ทองก็ดี พระเจ้าอู่ทองก็ดี น่าจะหมายความว่า "เจ้าเมืองอู่ทอง" ใครได้เป็นเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่า ท้าวอู่ทอง หรือพระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้าเชียงใหม่ และพระเจ้าน่าน มิใช่ชื่อตัวบุคคล

คิดต่อไปว่าเหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เป็น เมืองอู่ทอง เห็นว่าเมืองนั้นเดิมพวกพราหมณ์คงตั้งชื่อว่า "สุพรรณภูมิ" ในสมัยเดียวกันกับตั้งชื่อ "เมืองราชบุรี และ เมืองเพชรบุรี" ต่อมานั้นน่าจะร้างเสียสักคราวหนึ่ง เนื่องจากเหตุที่พระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกาม(๒)มาตีเมืองราชธานีที่พระปฐมเจดีย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๐๐ ต่อมาพวกไทยลงมาจากข้างเหนือ อาจจะเป็นพวกพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนก็ได้ มาตั้งเมืองสุพรรณภูมิขึ้นอีก เรียกชื่อกันเป็นภาษาไทยจึงได้นามว่า "เมืองอู่ทอง" แต่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงใช้ชื่อตามธรรมเนียมเดิมจึงเรียกว่า "เมืองสุพรรณภูมิ"

พอฉันโฆษณาความที่คิดเรื่องเมืองอู่ทองให้ปรากฏ พวกนักเรียนโบราณคดีก็เห็นชอบด้วยหมด เมืองนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันว่า "เมืองอู่ทอง" แต่นั้นมา ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย ในแขวงเมืองสุพรรณฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะเสด็จเดินป่าจากพระปฐมเจดีย์ ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์นั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เสด็จแวะทอดพระเนตรเมืองอู่ทองในระหว่างทาง ประทับแรมอยู่ที่ในเมืองคืนหนึ่ง ทรงพระราชดำริเห็นว่าวินิจฉัยเรื่องเมืองอู่ทองมีหลักฐานมั่นคง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม จึงพระราชทานพระนามกรมว่า เจ้าฟ้า "กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี" ชื่อเมืองอู่ทองก็เพิ่มขึ้นในทำเนียบหัวเมืองอีกเมืองหนึ่งด้วยประการฉะนี้




เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี


การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวฉันอยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็อยู่ข้างประหลาด จึงจะเล่าไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงทำยุทธหัตถี คือขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างมีชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรฯ สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หาปรากฏว่ามีใครได้เคยเห็นหรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นอยู่ที่ตรงไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า "พระเจดีย์ยุทธหัตถี" หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีแต่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯทรงชนะยุทธหัตถีแล้ว "ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถานสวมศพพระมหาอุปราชไว้ ณ ตำบลตระพังตรุ" เพียงเท่านี้

ตัวฉันรักรู้โบราณคดี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นึกอยากเห็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯมานานแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปค้นหาได้ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงได้สืบถามตำบลตระพังกรุว่าอยู่ที่ไหน ได้ความว่าเดิมอยู่ในเขตเมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกในรัชกาลที่ ๓ โอนตำบลตระพังกรุไปอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรี แต่ในเวลานั้นเมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ไม่กล้าไปค้นต้องรอมาอีก ๓ ปี จนโปรดให้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นกระทรวงกลาโหมและกรมท่า มาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี

ฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี(นุช) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ใกล้ชิดกับฉัน เมื่อยังเป็นที่หลวงจินดารักษ์ ให้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงสร้างมีอยู่ในตำบลนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ ก็ให้พระยากาญจนบุรีเที่ยวตรวจดูเอง ว่ามีพระเจดีย์โบราณที่ขนาดหรือรูปสัณฐานสมกับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงสร้าง มีอยู่ในตำบลตระพังกรุหรือไม่

พระยากาญจนบุรีไปตรวจอยู่นานแล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณเรียกว่า "ตระพังกรุ" อยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงเรื่องพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้าง แม้คนแก่คนเฒ่าก็ว่าไม่เห็นมีในตำบลนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวจดูเอง ก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็กๆ อย่างที่ชาวบ้านสร้างกันตามวัด ดูเป็นของใหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควรจะเห็นว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ฉันได้รายงานอย่างนั้นก็จนใจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีต่อไปอย่างไรจนตลอดรัชกาลที่ ๕

แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯมิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระอุปราชา อย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะในหนังสือพงศาวดารพม่า ซึ่งพระไพรสนฑ์สารารักษ์(อองเทียน)กรมป่าไม้แปลจากภาษาพม่าให้ฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพม่าเชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารก็เห็นสมอย่างที่พม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็จพระนเรศวรฯตั้งขบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าศึก ครั้นทรงทราบว่ากองทัพหน้าของข้าศึก ไล่กองพระยาศรีไสยณรงค์ ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เป็นขบวน

ทรงพระราชดำริเห็นได้ที ก็ตรัสสั่งให้แปรขบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าศึกในทันที แล้วทรงช้างชนนำพลออกไล่ข้าศึกด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ มีแต่กองทัพตั้งอยู่ใกล้ๆตามเสด็จไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งอยู่ห่างได้รู้กระแสรับสั่งช้าไปบ้าง หรือบางทีที่ยังไม่ได้เข้าใจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯไล่กองทัพหน้าข้าศึกที่แตกพ่ายไปนั้น เผอิญเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิใคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรฯ กับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นช้างชนกำลังบ่มมันต่างไล่ข้าศึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามเสด็จล้าหลัง มีแต่พวกองครักษ์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลง สมเด็จพระนเรศวรฯจึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาทะลวงเข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนา ขี่ช้างยืนพักอยู่ด้วยกันในร่มไม้ ณ ที่นั้น

ความมหัศจรรย์ในพระอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรฯเกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ทรงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการณ์ คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะสู้ข้าศึกได้เหลืออยู่อย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบให้เป็นทำยุทธหัตถี จอมพลชนช้างกันตัวต่อตัว อันนับถือกันว่าเป็นวิธีรบของกษัตริย์ซึ่งแกล้วกล้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็เป็นกษัตริย์มีขัตติยะมานะ จะไม่รับก็ละอาย จึงได้ชนช้างกัน

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ในที่ล้อม พระองค์สมเด็จพระนเรศวรฯก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัตถ์ นายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีศวรกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถก็ถูกปืนตายในเวลาทรงชนช้างชนะมังจาชะโร ต้องทรงเสี่ยงภัยอยู่ในที่ล้อม ๒ พระองค์ แต่ไม่ช้านักกองทัพพวกที่ตามเสด็จก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ ส่วนกองทัพหงสาวดีกำลังตกใจกันอลม่านด้วยพระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นชีพ ก็รีบรวบรวมกันเลิกทัพ เชิญศพพระมหาอุปราชาสกลับไปเมืองหงสาวดีในวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก ๒ วัน กองทัพสมเด็จพระนเรศวรฯให้ไปตามตีข้าศึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าศัสตราวุธมาดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าศึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเป็นอย่างนี้ สมเด็จพระนเรศวรฯจึงทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรี เป็นต้น ที่ไม่ยกไปตามรับสั่ง ถึงวางบทให้ประหารชีวิตตามกฎอัยการศึก เพราะพวกนั้นเป็นเหตุให้ข้าศึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ

แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุทธหัตถีมิได้สร้างสวมศพพระมหาอุปราชาหงสาวดี ดังว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นทำไม ข้อนี้มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร พอจะเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จกลับมาถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา พาพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูป เข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิตต้องจำอยู่ในวัง สมเด็จพระพนรัตน์ทูลถามสมเด็จพระนเรศวรฯว่าเสด็จไปทำสงครามจนมีชัยชนะข้าศึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวรฯทรงเล่าเรื่องที่รบกันให้สมเด็จพระพนรัตน์ฟัง แล้วตรัสว่า ข้าราชการเหล่านี้ "มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชามีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว"

สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นจะเหล่าข้าศึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เป็นได้ ที่เกิดเหตุบันดาลในเสด็จเข้าไปมีชัยชนะโดยลำพังพระองค์ในท่ามกลางข้าศึกนั้น น่าจะเป็นเพราะพระบารมีบันดาล นะให้พระเกียรติปรากฏไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณนั้น เทวดาก็มาเฝ้าอยู่เป็นอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจญ ถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารให้พ่ายแพ้ได้ไป ก็จะไม่สู้อัศจรรย์นัก เผอิญเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทรงสามารถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลให้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่า "สมเด็จพระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์ดาญาณ" เป็นมหัศจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาล ที่พระองค์ทรงชนะสงครามครั้งนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศก็จะไม่มหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยชนะด้วยทรงทำยุทธหัตถี โดยลำพังพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่าหากพระบารมีบันดาลเฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย สมเด็จพระนเรศวรฯได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตน์ถวายวิสัชนา ก็ทรงพระปิติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็จพระพนรัตน์จึงทูลขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด

แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารขาดความอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุและหลักฐานปรากฏอยู่ว่า สมเด็จพระพนรัตน์ได้ทูลแนะนำให้สมเด็จพระนเรศวรฯเฉลิมพระเกียรติที่มีชัยชนะครั้งนั้น ด้วยบำเพ็ญพระราชกุศลตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณี ที่ชาวศรีลังกานับถือว่าเป็นวีรมหาราช อันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์ คล้ายกันมาก เรื่องนั้นว่า เมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พระยาเอฬารทมิฬมิจฉาทิฏฐิ ยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกา แล้วครอบครองอยู่ถึง ๔๐ ปี ในเวลาเมืองลังกาตกอยู่ในอำนาจมิจฉาทิฏฐินั้น มีเชื้อวงศ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระยากากะวรรณดิษฐ์ ได้ครองเมืองอันหนึ่งอยู่ในโรหนะประเทศ ตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรณดิษฐ์มีราชโอรส ๒ องค์ องค์ใหญ่ทรงนามว่า ทุฏฐคามณี องค์น้อยทรงนามว่า ดิสกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรณดิษฐ์ถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุฏฐคามณีกุมารได้เป็นพระยาแทนบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราธบุรีราชธานี ฟันพระยาเอฬารทมิฬสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเป็นของราชวงศ์ที่ถือพระพุทธศาสนา ในการฉลองชัยมงคลครั้งนั้น พระเจ้าทุฏฐคามณีให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงที่ชนช้าง แล้วสร้างสถูปอีกองค์หนึ่งเรียกว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นในเมืองอนุราธบุรี เป็นที่คนทั้งหลายสักการบูชาเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุฏฐคามณีสืบมา

สมเด็จพระนเรศวรฯจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นตรงที่ชนช้างองค์หนึ่ง แล้วสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่งขนานนามว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" ขึ้นที่วัดเจ้าพระยาไทย อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า "วัดป่าแก้ว" ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลก็ยังปรากฏอยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟ เห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่สร้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นดังเล่ามา เป็นแต่ยังไม่รู้ว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหนเท่านั้น

เหตุที่จะพบพระเจดีย์นั้น ก็อยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเป็นในปีแรกรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่า อันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่งกำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุ ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯขออ่านดูหนังสือในสมุกเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่เอามาส่งให้ฉันที่หอพระสมุดฯ ฉันเห็นเป็นสมุดของเก่าเขียนตัวบรรจงด้วยเส้นรง (มิใช่หรดานที่ชอบใช่กันในชั้นหลัง) พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดใจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแผนกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนั้น เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) แปลกกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆที่มีในหอพระสมุดฯ ฉันจึงให้เรียกว่า "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ" เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา

ต่อมา ฉันอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เทียบกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม สังเกตได้ว่าฉบับหลวงประเสริฐแต่งก่อน ผู้แต่งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม คัดเอาความไปลงตรงๆคำก็มี เอาความไปแต่งเพิ่มเติมให้พิสดารขึ้นก็มี แก้ศักราชเคลื่อนคลาดไปก็มี แต่งแทรกลงใหม่ก็มี บางแห่งเรื่องที่กล่าวในฉบับหลวงประเสริฐ แตกต่างกันกับที่กล่าวในในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มก็มี

เมื่อฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรฯชนช้าง เห็นในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) พอเห็นอย่างนั้น ฉันก็นึกขึ้นว่าได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุทธหัตถีอีกแล้ว รอพอพระยาสุพรรณฯ(อี๋ กรรณสูต) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เข้ามากรุงเทพฯ ฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีให้ฟัง แล้วสั่งให้ไปสืบดูว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณฯยังมีหรือไม่ ถ้ามีให้พระยาสุพรรณฯออกไปเองถึงตำบลนั้น สืบถามดูว่ามีพระเจดีย์โบราณอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดบ้าง

พระยาสุพรรณฯออกไปสืบอยู่ไม่ถึงเดือนก็มีรายงานบอกมา ว่าตำบลหนองสาหร่ายนั้นยังมีอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าคอย ทางทิศตะวันตกเมืองสุพรรณฯ (คือลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั่นเอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรณฯได้ออกไปที่ตำบลนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกกันว่า "ดอนพระเจดีย์" องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณฯถามต่อไปว่าของใครสร้างรู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า "พระนเรศวรฯกับพระมหาอุปราชาชนช้างกันที่ตรงนั้น" ก็เป็นอันได้เรื่องที่สั่งให้ไปสืบ

พระยาสุพรรณฯจึงให้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึงไม่เห็นมีพระเจดีย์อยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเป็นช่องให้มองดู จึงแลเห็นที่ก่อฐานรู้ว่าพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงใครจะเดินผ่านไปใกล้ๆก็เห็นจะไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ฉันนึกว่าคงเป็นเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้กันว่ามีพระเจดีย์ยุทธหัตถียังมีอยู่ เลยหายไปกว่า ๑๐๐ ปี พระยาสุพรรณฯ ระดมคนให้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมพระเจดีย์ออกหมดแล้ว ให้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาให้ฉันด้วยกันกับรายงาน

สังเกตดูเป็นพระเจดีย์มีฐานทักษิณเป็น ๔ เหลี่ยม ๓ ชั้น ขนาดฐานทักษิณชั้นล่างกว้างยาวราว ๘ วา แต่องพระเจดีย์เหนือฐานทักษิณชั้นที่ ๓ ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ประมาณขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่าๆกับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณฯส่งมา ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปิติโสมนัสตรัสว่า พระเจดีย์ยุทธหัตถี เป็นอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ถึงอยู่ไกลไปลำบากก็จะเสด็จไปสักการบูชา จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ด้วยประการฉะนี้.



....................................................................................................................................................




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:45:22 น.   
Counter : 2593 Pageviews.  


ว่าด้วยตำนานสามก๊ก





คำนำ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จประทับอยู่ด้วยสมเด็จพระโอรส ณ วังบางขุนพรหม มาแต่รัชกาลที่ ๖ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้เชิญพระศพเข้าไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แล้วดำรัสสั่งให้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง กำหนดจะพระราชทานเพลิงพระศพในต้น พ.ศ. ๒๔๗๑

สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯ ทรงปรารภการพระกุศลอันจะทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนี ดำรัสปรึกษาข้าพเจ้าถึงเรื่องหนังสือซึ่งจะทรงพิมพ์เป็นมิตรพลี สำหรับประทานในงานพระเมรุ โปรดเรื่องสามก๊ก ด้วยทรงพระดำริว่าเป็นหนังสือซึ่งนับถือกันมาว่าแต่งดีทั้งตัวเรื่องเเละสำนวนที่แปลเป็นภาษาไทย ถึงได้ใช้เป็นตำราเรียนอยู่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกวันนี้จะหาฉบับดีไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเป็นแต่พิมพ์ต่อๆกันมามิได้ชำระต้นฉบับที่พิมพ์ในชั้นหลัง ดำรัสว่าหากราชบัญฑิตยสภารับชำระต้นฉบับ และจัดการพิมพ์ใหม่ให้ทันได้ทั้งเรื่อง ก็จะทรงรับบริจาคทรัพย์พิมพ์เรื่องสามก๊กเป็นหนังสือสำหรับประทานเรื่องหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระชนนี ข้าพเจ้าได้ฟังมีความยินดี รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะต้องรับพระประสงค์ ด้วยเรื่องสามก๊กเป็นหนังสือสำคัญ และเป็นหนังสือเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ จะหาผู้อื่นมารับพิมพ์ทั้งเรื่องยากยิ่งนัก ถ้าพ้นโอกาสนี้แล้ว ก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อใดจะได้ชำระและพิมพ์หนื่อสือเรื่องสามก๊กให้กลับคืนดีดังเก่า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลรับจะถวายให้ทันตามพระประสงค์

เมื่อกราบทูลรับแล้วพิเคราะห์ดู เห็นว่าการที่จะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ มีข้อสำคัญควรคำนึงอยู่ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งคือนักเรียนทุกวันนี้การเรียนและความรู้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน หนังสือสามก๊กฉบับพิมพ์ใหม่จนต้องให้ผู้ได้ความรู้ยิ่งขึ้นกว่าอ่านฉบับที่พิมพ์ไว้แต่เดิม จึงจะนับว่าเป็นฉบับดี สมกับที่พิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ความข้อนี้เห็นทางที่จะทำได้มีอยู่ ด้วยอาจตรวจสอบหนังสือต่างๆ หาความรู้อันเป็นเครื่องประกอบหนังสือสามก๊กมาแสดงเพิ่มเติม และการส่วนนี้เผอิญมีผู้สามารถอยู่ในราชบัณฑิตยสภา คือ อำมาตย์โทพระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนและได้เคยอ่านหนีงสือจีนเรื่องต่างๆมาก รับเป็นผู้เสาะหาความรู้ทางฝ่ายจีน และมีศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อีกคนหนึ่งรับช่วยเสาะหาทางประเทศอื่น ตัวข้าพเจ้าเสาะหาทางฝ่ายไทย ช่วยกันค้นคว้าหาความรู้เนื่องด้วยเรื่องหนังสือสามก๊ก อันยังมิได้ปรากฏแพร่หลายมาแต่ก่อนได้อีกหลายอย่าง

ถ้าว่าตามแบบที่เคยทำมา ความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเช่นนี้มักแสดงไว้ใน "คำนำ" หรือ "คำอธิบาย" ข้างหน้าเรื่อง แต่ความอันจะพึงกล่าวด้วยเรื่องสามก๊ก ถ้าเรียบเรียงให้สิ้นกระแสซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางความรู้ เห็นจะเป็นหนังสือมากเกินขนาดที่เคยลงในคำนำหรือคำอธิบาย เมื่อคิดใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดี ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงครั้งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงบไพญพระกุศลฉลอิงพระชันษาครบ ๖๐ ปี เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ โปรดให้พิมพ์หนังสือบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประทานเป็นมิตรพลี ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้แต่งเรื่องตำนานอิเหนาพิมพ์เพิ่มเป็นภาคผนวชถวายอีกเล่มหนึ่ง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯโปรด งานพระเมรุครั้งนี้ข้าพเจ้าก็นึกปรารถนาอยู่ว่าจะรับหน้าที่การทำอย่างใดอย่างหนึ่ง พอสนองพระคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯซึ่งได้มีมาแก่ตัวข้าพเจ้าตลอดจนเหล่าธิดาหาที่จะเปรียบปานได้โดยยาก ก็นึกขึ้นได้ว่าถ้าลงแรงแต่งตำนานหนังสือสามก๊กพิมพ์เพิ่มเป็นภาคผนวชถวายบูชาพระศพ เหมือนอย่างเคยแต่งเรื่องตำนานละครอิเหนาถวายเมื่อพระองค์ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ เห็นจะสมควรยิ่งกว่าอย่างอื่น อันนี้แลเป็นมูลเหตุให้ข้าพเจ้าแต่งตำนานหนังสือสามก๊กซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ความสำคัญอีกข้อหนึ่งนั้น คือการที่จะชำระต้นฉบับและพิมพ์เรื่องสามก๊กฉบับงานพระเมรุครั้งนี้ ด้วยหนังสือสามก๊กเป็นเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ และจะต้องพิมพ์ให้แล้วภายในเวลามีกำหนด ตัวพนักงานการพิมพ์หนังสือซึ่งมีประจำอยู่ในราชบัณฑิตยสภาไม่พอการ ต้องหาบุคคลภายนอกช่วย เผอิญได้มหาเสวกโทพระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว. สำเริง อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นนักเรียนมีเกียรติมาแต่ก่อน มีแก่ใจรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ด้วยเห็นว่าการพิมพ์หนังสือสามก๊กจะเป็นสาธารณประโยชน์อย่างสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงได้มอบการให้พระยาพจนปรีชาทำตั้งแต่ชำระต้นฉบับตลอดจนตรวจฉบับพิมพ์ และให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษ์วิจิตร (เชย ชุมากร(เปรียญ)) รองบรรณรักษ์ในหอสมุดวชิราวุธเป็นผู้ช่วยในการนั้น(๑)

หนังสือซึ่งใช้เป็นต้นฉบับชำระ ใช้หนังสือสามก๊กฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกฉบับ ๑ หนังสือนี้ที่ในหอพระสมุดฯมีไม่บริบูรณ์ ต้องเที่ยวหาตามบรรดาท่านผู้ที่สะสมหนังสือ ทั้งฝ่ายในพระบรมมหาราชวังและฝ่ายหน้า ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณด้วยไม่ว่าท่านผู้ใด เมื่อได้ทราบว่าต้องการฉบับเพื่อจะพิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ก็ยินดีให้ยืมตามประสงค์ทุกราย ที่ยอมยกหนังสือนั้นให้เป็นสิทธิ์แก่หอพระสมุดฯทีเดียวก็มี อาศัยเหตุนี้จึงได้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลมาครบครัน นอกจากนั้นให้เอาหนังสือฉบับเขียนของเก่าสอบด้วยอีกฉบับ ๑ บรรดาฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ ฉบับของกรมหลวงวรเสรฐสุดา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสประทานไว้ในหอพระสมุดฯเป็นบริบูรณ์ดีกว่าเพื่อน ได้ใช้ฉบับนี้สอบกับฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลเป็น ๒ ฉบับด้วยกัน และยังได้อาศัยฉบับพิมพ์ภาษาจีนด้วยอีกฉบับ ๑ สำหรับสอบในเมื่อมีความบางแห่งเป็นที่สงสัย หรือต้นฉบับภาษาไทยแย้งกัน แต่ชี้ไม่ได้ว่าฉบับไหนถูก

เนื่องในการชำระต้นฉบับนั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าสิ่งวซึ่งควรจะเพิ่มเติมเข้าในฉบับพิมพ์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้นด้วย ไม่ต้องแก้หนังสือฉบับเดิมมีอยู่บ้างอย่าง เป็นต้นว่า ศักราชซึ่งอ้างถึงในฉบับเดิม บอกเป็นปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินตามประเพณีนับศักราชอย่างจีน ไทยเราเข้าใจได้ยาก จึงให้คำนวนเป็นพุทธศักราชพิมพ์แทรกลงไว้ให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งในฉบับเดิมความบางแห่งกล่าวเข้าใจยาก ได้ให้ลงอธิบายหมายเลขให้พอเข้าใจความง่ายขึ้น อนึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าหนังสือไทยเรื่องต่างๆซึ่งพิมพ์กันในปัจจุบันนี้ ที่นับว่าดีมักมีรูปภาพ และรูปภาพเรื่องสามก๊กจีนก็ชอบเขียนไว้ พอจะหาแบบอย่างได้ไม่ยาก จึงได้เลือกรูปภาพให้หนังสือสามก๊กจีนจำลองมาพิมพ์รูปภาพตัวบุคคลไว้ในสมุดตำนานนี้ และพิมพ์รูปภาพแสดงเรื่องไว้ในหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุให้เป็นฉบับมีรูปภาพ ผิดกับฉบับอื่นซึ่งเคยพิมพ์มาแต่ก่อนด้วย

การพิมพ์นั้นได้ตกลงให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ เพราะฝีมือดีและทำเร็ว ฝ่ายรองเสวกเอก พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ เมื่อทราบว่าสข้าพเจ้าแต่งตำนานเป็นภาคผนวชจะพิมพ์อีกเรื่อง ๑ มาขอพิมพ์เป็นส่วนของตนถวายในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯครั้งนี้ ส่วนการทำรูปภาพนายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก รับทำแม่พิมพ์ตลอดจนรับพิมพ์แผนที่ประเทศจีนสมัยสามก๊ก สำหรับหนังสือตำนานเล่มนี้ด้วย

นอกจากที่ได้พรรณนามา ยังมีท่านผู้อื่นได้ช่วยเมื่อแต่งหนังสือนี้ ขอแสดความขอบคุณ คือท่านกุยชิโร ฮายาชี อัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ช่วยสืบเรื่องแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาญี่ปุ่น พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) ได้ช่วยเขียนอักษรไทยเทียมจีน และรองอำมาตย์ตรี สมบุญ โชติจิตร นายเวรมหาดวิเศษราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้เขียนและพิมพ์ดีดหนังสือให้ข้าพเจ้าด้วย

ราชบัณฑิตยสภามั่นใจว่า ท่านทั้งหลายบรรดาที่ได้รับประทานหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ตลอดจนผู้ซึ่งได้อ่านด้วยประการอย่างอื่น คงจะถวายอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรวรพินิตฯ ได้โปรดให้พิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งเนื่องในการกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนีครั้งนี้ทั่วกัน


(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๓๑ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐


....................................................................................................................................................

(๑) เดิมให้อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล(เปรียญ)) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้ตรวจฉบับพิมพ์ แต่พระพินิจฯทำงานเหลือกำลังจนอาการป่วย จึงผ่อนงานนี้ให้ทำเพียงแต่สารบารพ์



ตำนานหนังสือสามก๊ก


๑. ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก



หนังสือสามก๊กไม่ใช่พงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี่" แปลว่าจดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น โดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองและการสงคราม และแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน และตลอดไปจนถึงประเทศอื่นๆ

ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้น ทราบว่าของเดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมาในสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเป็นเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเป็นหนังสือ(๑) จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่ง ชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือ ๑๒๐ ตอน ต่อมามีนักปราชญ์จีนอีกสองคน คนหนึ่งชื่อเม่าจงกังคิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊ก จึงแต่งคำอธิบายและพังโพย(๒)เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคน ๑ ชื่อกิมเสี่ยถ่างอ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือเรื่องสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเป็นทำนองคำนำ(๓) มอบให้เม่าจงกังๆไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉบับต่อไปถึงประเศอื่นๆ



๒. ว่าด้วยแปลหนังสือสามก๊ก

ได้ลองสืบสวนดูเมื่อจะแต่งตำนานนี้ ได้ความว่าหนังสือสามก๊กได้แปลเป็นภาษาต่างๆถึง ๑๐ ภาษา(๔) คือ

๑. แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕
๒. แปลเป็นภาษาเกาหลี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒
๓. แปลเป็นภาษาญวน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
๔. แปลเป็นภาษาเขมร แปลเมื่อใดหาทราบไม่ ยังไม่ได้พิมพ์
๕. แปลเป็นภาษาไทย เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๔๕
๖. แปลเป็นภาษามาลายู พิมพ์(๕)
๗. แปลเป็นภาษาละติน มีฉบับอยู่ในรอยัลอาเซียติคโซไซเอตี แต่จะแปลเมื่อใดไม่ปรากฏ
๘. แปลเป็นภาษาสเปญ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓
๙. แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘
๑๐. แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์(๖) เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙

ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย มีคำบอกเลฃ่าสืบกันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้ แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ๒ เรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่นเรื่อง ๑ กับเรื่องสามก๊กเรื่อง ๑ โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน)อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ ไม่มีในจกหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดู เห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่างๆขึ้นเพื่อประโยนช์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับตำราในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทั้งรวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉบับหลวงมักมีบาจนแผนกแสดงว่าโปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับสามก๊ก ๒ เรื่องนี้ ต้นฉบับที่ยังปรากฏอยู่มีแต่ฉบับเชลยศักดิ์ ขาดบานแผนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญว่าแปลเมื่อใด

ถึงกระนั้นก็ดี มีเค้าเงื่อนส่อให้เห็นชัดว่า นังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ เรื่อง เป็นต้นว่า สังเกตเห็นได้ในเรื่องวพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญการเป่าปี่ ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดู คำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าถ่ายมาจากกันเป็นแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๑ สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง

ส่วนเรื่องสามก๊กนั้นเค้าเงื่อนก็มีอยู่เป็นสำคัญในบทละครนอกเรื่องคาวี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บนหนึ่ง ว่า

เมื่อนั้น
ไวตทัตหุนหันไม่ทันตรึก
อวดรู้อวกหลักฮักฮึก
ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน
เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก
ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ยายกลับไปทูลพระเจ้าป้า
ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด
จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา

พึงเห็นได้ในบทละครนี้ ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ หนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยได้อ่านกันจนนับถืออยู่แล้ว สมกับอ้างว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ ใช่แต่เท่านั้น มีเค้าเงื่อนที่พอจะสันนิษฐานต่อไปอีก ความนับถือเรื่องสามก๊กดังในพระราชนิพนธ์นั้น เป็นมูลเหตุให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่นๆในรัชกาลภายหลังต่อมา ข้อนี้มีจดหมายเหตุเป็นหลักฐานอยู่ในบานแผนก ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้แปลเรื่องเลียดก๊กอีกเรื่อง ๑ แลปรากฏนามผู้รับสั่งให้เป็ยพนักงานการแปล ล้วนผู้มีศักดิ์สูงแลทรงความสามารถถึง ๑๒ คน คือ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ พระทองสื่อ ๑ จมื่นวัยวรนาถ ๑ นายจ่าเรศ ๑ นายเล่ห์อาวุธ ๑ หลวงลิขิตปรีชา ๑ หลวงวิเชียรปรีชา ๑ หลวงญาณปรีชา ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ พึงวสันนิษฐานว่าเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมือง เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้แปลเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ยังมีหนังสือเรื่องห้องสินกับเรื่องตั้งฮั่นอีก ๒ เรื่อง ฉบับพิมพ์มี่ปรากฏอยู่ไม่มีบานแผนกบอกว่าเมื่อใด แต่สำนวนแต่งเป็นสำนวนเก่า อาจแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นได้ ด้วยเรื่องห้องสินอยู่ข้างหน้าต่อเรื่องเลียดก๊ก แลเรื่องตั้งฮั่นอยู่ในระวางเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊ก

แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ปรากฏว่าได้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในรัชกาลที่ ๓ น่าจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ ว่าในรัชกาลแต่ก่อนมาได้สร้างหนังสือเพื่อประโยชน์ในทางคดีโลกมากแล้ว หนังสือคดีธรรมยังบกพร่องอยู่ เปลี่ยนไปทรงอุกหนุนการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย จึงมีหนังสือเรื่องต่างๆซึ่งแปลจากภาษาบาลีเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นอันมาก แต่อย่างไรก็ดีบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ นอกจาก ๔ เรื่องที่ออกชื่อมาแล้ว เป็นหนังสือแปลตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทั้งนั้นได้ลองสำรวจเมื่อแต่งตำนานนี้ มีจำนวนหนังสือพงศาวดารจีนที่ได้แปลและพิมพ์เป็นภาษาไทยถึง ๓๔ เรื่อง คือ

แปลในรัชกาลที่ ๑

๑. เรื่องไซ่ฮั่น แปลเมื่อก่อน(๗) พ.ศ. ๒๓๔๙ เป็นหนังสือ ๓๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒. เรื่องสามก๊ก แปลเมื่อก่อน(๘) พ.ศ. ๒๓๔๘ เป็นหนังสือ ๙๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นสมุด ๔ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๒

๓. เรื่องเลียดก๊ก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ เป็นหนังสือ ๑๕๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นสมุด ๕ เล่ม

๔. เรื่องห้องสิน สันนิษฐานว่าแปลเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นหนังสือ ๔๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัขชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๕. เรื่องตั้งฮั่น สันนิษฐานว่าแปลในรัชกาลที่ ๒ เป็นหนังสือ ๓๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นสมุด ๑ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๔
๖. เรื่องไซ่จิ้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นหนังสือ ๓๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบระดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๗. เรื่องตั้งจิ้น สันนิษฐานว่าจะแปลเนื่องกันกับเรื่องไซ่จิ้น เป็นหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๘. เรื่องน่ำซ้อง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเป็นหนังสือ ๕๔ เล่มสมุดไทย รงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๙. เรื่องซุยถัง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้จีนบั้นกิมกับจีนเพงแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ กล่าวกันว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(จี่) วัดประยูรวงศาวาสเป็นผู้แต่งภาษาไทย เป็นหนังสือ ๖๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอสมิธพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลื้ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๑๐. เรื่องน่ำปักซ้อง หลวงพิศาลศุภผลให้จีนบั้นกิมแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๑.เรื่องหงอโต้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๒. เรื่องบ้วนฮวยเหลา สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระบาบรมหมาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เป็นหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๓. เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๔. เรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๕. เรื่องซวยงัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตกับจีนบั้นอั๋นแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๑๖. เรื่องซ้องกั๋ง สมเเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นหนังสือ ๘๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๕ เล่ม

๑๗. เรื่องเม่งเฉียว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (เมื่อปีใดไม่ปรากฏ) เป็นหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๕

๑๘. เรื่องไคเภ็ก เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯให้หลวงพิพิธภัณฑวิจารย์(๙) แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๙. เรื่องซ่วยถัง ใครแปลหาทราบไม่ เป็นหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์ศิริเจริญพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๖เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๐. เรื่องเสาปัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๒๑. เรื่องซิยินกุ้ยเจงตัง สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (ในคราวเดียวกับเรื่องซิเตงซันเจงไซ) เป็นหนังสือ ๑๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๒. เรื่องซิเตงซันเจงไซ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๓. เรื่องเองเลียดต้วน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๔. เรื่องอิวกังหนำ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๕. เรื่องไต้อั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นหนังสือ ๒๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๖. เรื่องเซียวอั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์อุดมกิจเจริญพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๗. เรื่องเนียหนำอิดซือ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เป็นหนังสือ ๒๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๘. เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๙. เรื่องไซอิ๋ว พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) ให้นายตีนแปล และนายเทียนวรรณาโภเรียบเรียง เป็นหนังสือ ๖๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นสมุด ๔ เล่ม

๓๐. เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น นายหยอง อยู่ในกรมทหารปืนใหญ่แปล นายเทียนวรรณาโภเรียบเรียง เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๖

๓๑. เรื่องเชงเฉียว พระโสภณอักษรกิจ(เล็ก สมิตศิริ) ให้จีนภาคบริวัตร(โซวคือจือ)แปล พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์(ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา)เรียบเรียง (ประมาณขนาด ๑๒ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๓๒. เรื่องง่วนเฉียว นายซุ่ยเทียม ตันเวชกุลแปล (ประมาณขนาด ๔๖ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์เดลิเมล์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๓๓. เรื่องบูเซ็กเทียน คณะหนังสือพิมพ์สยามแปล (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๓๔. เรื่องโหวงโฮ้วเพ็งปัก แปลพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลคณะหนังสือพิมพ์ศรีกรุงรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นสมุด ๒ เล่ม (๑๐)

หนังสือเรื่องต่างๆ ที่แปลจากพงศาวดารจีนดังพรรณนามา ถ้าลำดับเทียบกับสมัยในพงศาวดารจีน ตรงกันดังแสดงต่อไป

๑. พระเจ้าอึ่งตี่ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี แต่ก่อนพุทธกาล ๓๒๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๒. พระเจ้ากิมเต๊กอ๋องฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๘๔ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๒๐๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๓. พระเจ้าจวนยกตี่ฮองเต้ ครองราชสมบัติ ๗๔ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๙๗๐ ปี เรื่องไคเภ็ก

๔. พระเจ้าตี่คอกฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๗๐ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๙๒ ปี เรื่องไคเภ็ก

๕. พระเจ้าจี่เต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๙ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๒๒ ปี เรื่องไคเภ็ก

๖. พระเจ้าเงี้ยวเต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๑๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๗. พระเจ้าสุ้นเต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๔๘ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๗๑๒ ปี เรื่องไคเภ็ก


๑. ราชวงศ์แฮ่

พระเจ้าอู๋เต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกียด รวม ๑๗ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๔๒๓ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๑๖๖๒ ถึง ๑๒๔๐ เรื่องไคเภ็ก


๒. ราชวงศ์เซียง

พระเจ้าเซียงทางปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าติวอ๋อง รวม ๒๘ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๖๕๐ ปี แต่ก่อนพุทธกาล ๑๒๔๐ ถึง ๕๙๐ ปี เรื่องไคเภ็กตอนปลาย เรื่องห้องสินตอนต้น


๓. ราชวงศ์จิว

พระเจ้าจิวบูอ๋องปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจิวหมั้นอ๋อง รวม ๓๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๘๘๘ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๕๙๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๙๗ เรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก


๔. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซาซีฮ่องเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๐ ปี ตั้ง พ.ศ. ๒๙๘ ถึง ๓๓๗ เรื่องไซ่ฮั่นตอนต้น


๕. (๑) ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้าฮั่นโกโจปฐมกษัคตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจูเอ๋ง รวม ๑๓ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๒๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๓๓๗ ถึง ๕๕๑ เรื่องไซ่ฮั่นตอนปลาย


แทรก

อองมั้งครองราชสมบัติ ๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๒๒ ถึง ๕๖๖ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น

วายเอียงอ๋องครองราชสมบัติ ๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๖ ถึง ๕๖๗ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น


๕. (๒) ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้ากองบู๊สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ รวม ๑๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๙๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๘ ถึง ๗๖๓ เรื่องตั้งฮั่นตอนปลาย เรื่องสามก๊กตอนต้น


๖. ราชวงศ์วุย

พระเจ้าโจผีปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าโจฮวน รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๖๓ ถึง ๘๐๗ เรื่องสามก๊กตอนกลาง


๗. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ากองเต้ รวม ๑๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๕๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๘๐๗ ถึง ๙๖๒ เรื่องสามก๊กตอนปลาย เรื่องไซ่จิ้น เรื่องตั้งจิ้น เรื่องน่ำซ้อง


เอกราชภาคเหนือและภาคใต้


๘. ราชวงศ์ซอง

พระเจ้าซองเกาโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าสุนเต้ รวม ๗ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๙ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๖๓ ถึง ๑๐๒๑ เรื่องน่ำซ้อง


๙. ราชวงศ์ชี

พระเจ้าชีเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าฮัวเต้ รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๒๒ ถึง ๑๐๔๔ เรื่องน่ำซ้อง


๑๐. ราชวงศ์เหลียง

พระเจ้าเหลียงบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้ รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๔๕ ถึง ๑๑๐๐ เรื่องน่ำซ้อง


๑๑. ราชวงศ์ตั้น

พระเจ้าตั้นบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเอ๋าจู๊ รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๐ ถึง ๑๑๓๒ เรื่องน่ำซ้อง


๑๒. ราชวงศ์ซุย

พระเจ้าอ๋องบุนเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้ รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๓๒ ถึง ๑๑๖๑ เรื่องส้วยถัง เรื่องซุยถัง


๑๓. ราชวงศ์ถัง

พระเจ้าถังตี้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าถังเจียวจง รวม ๒๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๙๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๖๑ ถึง ๑๔๕๐ เรื่องซุยถังตอนปลาย เรื่องเสาปัก เรื่องซิยินกุ้ย เรื่องซิเตงซัน เรื่องไซอิ๋ว เรื่องบูเซ็กเทียน


๑๔. ราชวงศ์เหลียง

พระเจ้าเหลียงไทโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ามะเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๕๐ ถึง ๑๔๖๖ เรื่องหงอโต้ว


๑๕. ราชวงศ์ถัง

พระเจ้าจังจงฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าฮุยเต้ รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๖๖ ถึง ๑๔๗๘ เรื่องหงอโต้


๑๖. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าเกาโจ๊ฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชุดเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๗๘ ถึง ๑๔๙๐ เรื่องหงอโต้ว


๑๗. ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้าเคี้ยนอิ้วปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าอึนเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๐ ถึง ๑๔๙๔ เรื่องหงอโต้


๑๘. ราชวงศ์จิว

พระเจ้าไทโจ๊วเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าตรองเต้ รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๔ ถึง ๑๕๐๓


๑๙. ราชวงศ์ซ้อง

พระเจ้าไทโจ๊วฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซองกงจงฮองเต้ รวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๑๗ ปี ตะงแต่ พ.ศ. ๑๕๐๓ ถึง ๑๘๑๙ เรื่องน่ำปักซ้อง เรื่องบ้วนฮวยเหลา เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ เพงหนำ เพงปัก เรื่องซวยงัก เรื่องซ้องกั๋ง เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น


๒๐. ราชวงศ์หงวน

พระเจ้าง่วนสีโจ๊วฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าง่วนซุนเต้ รวม ๘ องค์ จำนวนรัชกาล ๙๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๒๐ ถึง ๑๙๑๑ เรื่องง่วนเฉียว


๒๑. ราชวงศ์เหม็ง

พระเจ้าฮ่องบู๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชงเจง รวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๗๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๑ ถึง ๒๑๘๖ เรื่องเม่งเฉียว เรื่องเองเลียดต้วน เรื่องเจงเต๊กอิ้วกังหนำ เรื่องไต้อั้งเผ่า เรื่องเซียวอั้งเผ่า เรื่องเนียหนำอิดซือ


๒๒. ราชวงศ์เชง

พระเจ้าไทโจเกาฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซุงทุง รวม ๑๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๗ ถึง ๒๔๕๔ เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ เรื่องเชงเฉียว


เรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลภาษาไทยนั้น ไม่ใช่แต่แปลเป็นหนังสืออ่านอย่างเดียว บางเรื่องถึงมีผู้เอาไปแต่งเป็นกลอนและเป็นบทละคอน ได้ลองสำรวจดูที่มีฉบับอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครขณะเมื่อแต่งตำนานนี้ มีทั้งพิมพ์แล้วและยังไม่ได้พิมพ์หลายเรื่องหลายตอน คือ


บทละคอนรำ

๑. เรื่องห้องสิน ตอนพระเจ้าติวอ๋องไปไหว้เทพารักษ์ที่เขาอิสาน จนถึงพระเจ้าบู๊อ๋องตีได้เมืองอิวโก๋ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี(ทิม สุขยางค์) แต่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๔ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๒. เรื่องไต้ฮั่น ตอนพระเจ้าบู๊ฮองเต้ให้นางเต๊กเอี๋ยงกงจู๊เลือกคู่ จนถึงเตียวเห่าไปล่าเนื้อในป่า หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๓. เรื่องสามก๊ก
(ก) ตอนพระเจ้าเลนเต้ประพาสสวน จนถึงตั๋งโต๊ะเข้าไปขู่พระเจ้าเหี้ยนเต้ หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๑๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ข) ตอนอองอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ค) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ฆ) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หมื่นเสนานุชิต(เจต) แต่งลงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

(ง) ตอนจิวยี่รากเลือด หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

(จ) ตอนนางซุนฮูหยินหนีกลับไปเมืองกังตั๋ง หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๔. เรื่องซุยถัง ตอนเซงจือเกณฑ์ทัพ จนถึงนางย่งอั่นกงจู๊จับนางปักลันกับทิก๊กเอี๋ยนได้ หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๕. เรื่องหงอโต้ว ตอนฮองเฉาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากวางเผ็ง หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์เล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๖. เรื่องบ้วนฮวยเหลา ตอนพวกฮวนตีด่านเมืองหลวง จนถึงนางโปยเหลงจะทำร้ายเพ็งไซอ๋อง หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๗. เรื่องซวยงัก ตอนกิมงิดตุดตีเมืองลูอันจิ๋ว กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงพระนิพนธ์ (สันนิษฐานว่าเพื่อให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมเล่นละคอน) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒


บทละคอนร้อง
(เล่นบนเวทีอย่างละคอนปราโมไทย)

๑. เรื่องสามก๊ก
(ก) ตอนนางเตี้ยวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า นายสะอาด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ข) ตอนตั๋งโต๊ะหลงนางเตี้ยวเสี้ยน ผู้แต่งใช้นามว่า เหม็งกุ่ยปุ้น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ค) ตอนเล่าปี่แต่งงาน จนจิวยี่ราดเลือก ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า ทิดโข่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑


กอนสุภาพ
(แต่งตามแบบสุนทรภู่)

๑. เรื่องห้องสิน ขุนเสนานุชิต(เจต) แต่งค้างอยู่ เป็นหนังสือ ๓ เล่มสมุดไทย

๒. เรื่องสามก๊ก ตอนนางเตี้ยวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ หลวงธรรมาภิมณฑ์(ถึง จิตรกถึก)แต่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 26 ธันวาคม 2550 13:19:45 น.   
Counter : 3470 Pageviews.  


ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม


พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเมื่อ วันเสาร์เดือนห้าแรมสิบค่ำปีขาลสัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๔๐ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลที่ ๕


จะว่าด้วยธรรมเนียมในราชตระกูลกรุงสยามนี้แปลกกว่าประเทศทั้งปวงหลายอย่าง ด้วยราชตระกูลนั้นมีมาก หลายกิ่งหลายสายนัก แต่มีเวลาที่เปลี่ยนลงเป็นขุนนางได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เจ้านายจึงไม่สู้มากเหลือเกินเหมือนเมืองลาว ซึ่งแลเห็นอยู่ทุกวันนี้ เมืองเชียงใหม่ก็ดี เมืองหลวงพระบางก็ดี ไม่ได้นับชั้นว่าเป็นเจ้าอย่างไรชั้นใด สุดแต่เป็นเชื้อสายในราชตระกูลก็เรียกว่าเจ้าทั้งสิ้น จนเจ้าอย่างนี้ได้มาเป็นนายหมวดคุมคน ๙ คน ๑๐ คน อยู่ในเมืองเราก็มี

ธรรมเนียมเจ้าเมืองเรานี้ผิดกันกับลาว แต่ถ้าจะคิดดู ธรรมเนียมราชตระกูล ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ตั้งแต่จุลศักราช ๗๑๒ ปี มาจนบัดนี้ ธรรมเนียมที่เรียกชื่อเสียง แลยศศักดิ์นั้น ก็เปลี่ยนแปลงกันไปเป็นหลายครั้งหลายครา แต่ไม่ได้เปลี่ยนต้นเปลี่ยนรากที่เดียว เป็นแต่เปลี่ยนเล็กน้อย ตามปัญญาของผู้ครองแผ่นดินที่จะรักษาราชตระกูลให้เรียบร้อย ในเวลาบ้านเมืองกำลังเป็นป่าอยู่มาก ในตอนตั้งแต่กรุงเก่าลงมา จนถึงศักราช ๙๐๐ เศษ อยู่ในระหว่างสองร้อยปีนั้น ธรรมเนียมราชตระกูลคล้ายคลึงกันตลอดมา ตั้งแต่นั้นต่อมาภายหลัง ก็เปลี่ยนแปลงมา เกือบจะเหมือนกับในปัจจุบันนี้ ไม่ใคร่จะมียักย้ายไปอย่างอื่น

ในตำแหน่งยศเจ้านาย ที่จะให้ได้พยานว่าเป็นแบบโบราณนั้น เห็นมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุง ในจุลศักราช ๗๒๐ ทีหลังสร้างกรุงแล้ว ๘ ปี ชื่อกฎมณเฑียรบาลนี้แปลว่าสำหรับรักษาเรือนเจ้าแผ่นดิน ในกฎหมายนั้นได้พรรณนากำหนดพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน แลพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้อบังคับ สำหรับข้าราชการที่จะประพฤติให้ถูกต้อง ไม่มีความผิดในพระเจ้าแผ่นดิน แต่กฎหมายนั้นถ้อยคำเป็นคำโบราณ คนไทยเองถ้าไม่ได้เป็นคนเรียน แลเป็นคยคิดอยู่บ้าง จะอ่านไม่ใคร่จะเข้าใจเลย เพราะอย่างนั้นคนไทยทุกคนรู้จักกฎหมายนี้ แต่ไม่ใคร่จะทราบว่าเนื้อความในกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร เพราะขี้เกียจอ่านขี้เกียจคิด ในกฎหมายนั้นได้แบ่งเจ้าออกเป็น ๔ ชั้น

๑. ชั้นที่ ๑ พระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยพระอัครมเหสี เรียกว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้า มียศใหญ่กว่าเจ้านายทั้งปวง ต้องอยู่ในเมืองหลวง
๒. อีกชั้น ๑ เรียกว่าลูกหลวงเอก เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่มารดานั้นต้องเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน จึงเรียกว่าเป็นลูกหลวงเอก พระเจ้าลูกเธอชั้นนี้ มียศได้กินเมืองเอก คือ เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองนครราชสีมา เป็นต้น เรียกว่าลูกเธอกินเมืองเอกก็เรียก
๓. รองลงมาอีกชั้น ๑ พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระมารดาเป็นหลานหลวง คือ หลานของพระเจ้าแผ่นดินตรงๆ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า แครนด์ดอเตอ เจ้าที่เกิดด้วยหลานหลวงดังนี้ ก็นับว่าเป็นลูกหลวงเหมือนกัน แต่มียศกินเมืองโท เหมือนเมืองสวรรคโลก เมืองสุพรรณ เป็นต้น (เพราะหลานหลวงที่เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ก็มีตำแหน่งกินเมืองเหมือนกัน คือ เมืองอินทร เมืองพรหม)
๔. ยังอีกชั้น ๑ ที่เกิดด้วยพระสนม เรียกว่า พระเยาวราช คือเจ้าผู้น้อย ไม่ได้กินเมือง

เจ้าทั้ง ๔ ชั้นนี้ ว่าแต่ด้วยลูกหลวงพระเยาวราชต้องถวายบังคมพระเจ้าลูกเธอทั้งสามชั้นซึ่งว่ามาก่อน พระเจ้าลูกเธอทั้งสามชั้นนั้น ก็ถวายบังคมกันเป็นลำดับไปตามยศ ถึงจะแก่อ่อนกว่ากันอย่างไร ไม่ได้กำหนดด้วยอายุ กำหนดเอายศเป็นประมาณ ถ้าลูกเธอมียศมาก จะเป็นผู้น้อยเด็กทีเดียว ที่มียศน้อยจะเป็นผู้ใหญ่แก่กว่ากันมาก ถึงจะเป็น พี่ ป้า น้า อา ประการใดก็ต้องไหว้ ต้องเดินตามหลังผู้มียศมาก

แต่ยศเจ้าลูกเธอ กินเมืองเอกเมืองโท ๒ ชั้นนี้ เจ้านั้นไปกินเมืองจริง เหมือนหนึ่งเป็นเจ้าประเทศราช อยู่ในบังคับเจ้าแผ่นดินใหญ่ เพราะเป็นผู้ไปครองเมืองอย่างนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกเจ้าฟ้า เจ้าฟ้านั้นคือเจ้าแผ่นดิน ฤาเจ้าเมือง ตามคำกล่าวถึงเดี๋ยวนี้ เจ้าฟ้าข้างเมืองลาวยังมีมากนัก คือเจ้าฟ้าแสนหวี เจ้าฟ้าเมืองหลึก เจ้าฟ้าเมืองมืด เป็นต้น จนครั้งนี้เมื่อรบกับฮ่อ ในหนังสือที่มีไปมา แลคำให้การยังเรียกว่าเจ้าฟ้าเมืองไทย เจ้าฟ้าเมืองญวน เจ้าฟ้านั้นแปลว่า เจ้าเมืองตรงที่เดียว แต่เป็นวิสัยอยากจะพูดให้สูง จึงเรียกว่าเจ้าฟ้าเมืองหนึ่งเป็นเจ้าลงมาจากฟ้า คือว่าเป็นเชื้อวงศ์ของเทวดา เพราะธรรมเนียมข้างอินเดียนี้ถือกันว่าเจ้าแผ่นดินเป็นสมมุติเทวดา

แต่เจ้าฟ้ามีอยู่ ๓ ชั้นเท่านั้น ลูกพระอัครมเหสีไม่เป็นเจ้าฟ้า ลูกพระสนมไม่เป็นเจ้าฟ้า เป็นแต่ลูกเธอที่เกิดด้วยลูกหลวงหลานหลวงจึงเป็นเจ้าฟ้า ธรรมเนียมแต่ตั้งกรุงแล้ว จนถึง ๒๐๐ ปีนั้น เป็นแบบอยู่ดังนี้

ภายหลังมา พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าใน ๒๐๐ ปีก่อน ที่ให้เจ้านายไปครองเมือง มีเหตุแย่งชิงราชสมบัติกันหลายครั้งหลายคราว บางทีก็ไปเข้าด้วยพวกข้าศึก กลับมาทำร้ายกรุงซึ่งเป็นพี่น้องไม่สู้สนิทกัน จึงได้เลิกธรรมเนียมนี้เสียโดยเงียบๆ ไม่ได้ประกาศว่าจะไม่ตั้งต่อไป แต่ไม่ได้มีไปครองเมืองอีกเลย

ยศของเจ้าฟ้าคือเจ้าเมืองนั้น จึงยังคงติดอยู่กับเจ้านาย ซึ่งเป็นลูกหลวง หลานหลวง ถึงไม่ได้กินเมืองแล้วก็ยังเรียกเจ้าฟ้าอยู่เสมอ อยู่มาพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใคร่จะมีพระอัครมเหสีที่ยกย่องเหลือเกินกว่ากัน ที่จะให้เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า จึงได้คงมีอยู่แต่เจ้าฟ้า ต่อมายศสมเด็จหน่อพุทธเจ้านั้น ก็หายไปทีเดียว ถึงเป็นลูกพระมเหสี ก็เรียกเพียงเจ้าฟ้า เหมือนลูกเธอที่เกิดด้วยลูกหลวงแลหลานหลวง ยศเจ้าฟ้าเป็นยศของหัวหน้าเจ้านายทีเดียว เป็นแต่ในเจ้าฟ้าบางองค์ ซึ่งเป็นลูกเธอด้วยกัน เจ้าแผ่นดินเห็นสมควรยกขึ้นเป็นวังหน้า มีอยู่บ้างเป็นบางคราวๆไม่เสมอไป แต่เจ้าฟ้ายังมีอำนาจที่จะแห่หอกได้เหมือนเจ้าแผ่นดิน อย่างเช่นตัวได้ครองเมืองอยู่ เมื่อเวลาไปทางเรือ ก็มีเรือดั้งกระทุ้งส้าวเหมือนเจ้าแผ่นดินได้ แลเดินหน้าเจ้านาย ซึ่งมียศต่ำกว่าดังเช่นว่ามาแล้ว

แลยังมียศของเจ้าฟ้า ซึ่งวิเศษกว่าเจ้านายตามธรรมเนียมอีกหลายอย่าง คือ

รดน้ำในพระเต้าเบญจครรภ ซึ่งเป็นเต้าสำหรับภวายอภิเษกแก่พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเวลาบรมราชาภิเษก เต้านั้นได้ถือกันเป็นธรรมเนียมแผ่นดินมาว่า มารดาไม่ได้อยู่ในราชตระกูลเดียวกัน รดน้ำด้วยหม้อนั้นเป็นจันไร พราหมณ์ไม่ยอมรดให้ จะรดได้ก็ที่เป็นเจ้าฟ้า

อนึ่งเมื่อทำพิธีตรียัมพวาย บูชาพระอิศวรโล้ชิงช้า ช้าหงส์เสร็จแล้ว พราหมณ์นำเอาของบูชาพระอิศวรมาให้ ถ้าเป็นเจ้าฟ้า พราหมณ์นั้นว่าคาถาของพราหมณ์ ด้วยเสียงดังมีทำนองเหมือยหนึ่งถวายพระอิศวร และถวายพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าจะไปถวายแก่เจ้านายอื่นๆก็เป็นจันไรเหมือนกัน

หนึ่งเมื่อเวลาประสูติเจ้าฟ้านั้น ครบเดือนเข้าแล้ว พราหมณ์จะยกขึ้นอู่ ต้องว่าคาถาสรรเสริญไกรลาส เหมือนหนึ่งเอาหงส์ขึ้นบนเปลแล้วกล่อมด้วยคาถาของพราหมณ์ แลมีเครื่องมโหรีอย่างหนึ่ง เฉพาะทำได้แต่การหลวง แลการของเจ้าฟ้า คือมีซอคัน ๑ มีบัณเฑาะว์ ๒ อัน มีคนขับคน ๑ เรียกว่า ขับไม้

ตั้งแต่ขึ้นพระอู่แล้ว มีข้าหลวงสำหรับร้องเพลงเห่ในเวลาประทม เรียกว่าช้าลูกหลวง ทำนองแลถ้อยคำไม่เหมือนกันกับที่เห่เจ้านายตามธรรมเนียม เป็นคำสูงๆเป็นต้นว่า อย่างเช่น พระเสด็จมาผ่านพิภพปกป้องพระวงศานุวงศ์แลราษฎร ดังนี้

พี่เลี้ยงนางนมนั้น เติมยศพระข้างหน้าเรียกเป็น พระพี่เลี้ยงพระนม ข้าในกรมมีตำแหน่ง ตั้งนายเวร ๔ ปลัดเวร ๔ อย่างละ ๖ บ้างตามที่นายเวรตำรวจ นายเวรมหาดเล็ก นายเวรฝีพาย มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่เจ้าของจะตั้ง วิเศษกว่าเจ้านายตามธรรมเนียม

แลเมื่อพระชนมพรรษาครบ ๙ ขวบ มีการแห่ลงสรงในแม่น้ำ ภายใต้มณฑปตั้งอยู่บนแพในน้ำ เมื่อพระชนมพรรษาครบกำหนดโสกันต์ก็มีเขาไกรลาส การแห่โสกันต์นั้น เป็น ๖ วัน ๗ วัน ทั้งลอยพระเกศา แลเมื่อโสกันต์เจ้าฟ้าต้องนั่งอยู่บนหนังราชสีห์ ฤารูปราชสีห์ปัก อย่างเช่นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นพระภัทรบิฐ แลจุกที่แบ่งผมเวลาจะตัดตามธรรมเนียมเจ้านายทั้งปวงแบ่งเป็นสามแหยม แต่เจ้าฟ้าต้องแบ่ง ๕ แหยม เรียกว่า เบญจสิงขร คือเอาอย่างเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นคนดีดพิณของพระอิศวรได้ทำผมเป็นห้าแหยม แลสรงน้ำด้วยปากสัตว์ทั้ง ๔ ดังเช่นการโสกันต์ที่เคยมีมาแล้ว

แลเจ้าฟ้านั้นไม่มียศที่สมควรจะเป็นกรมหมื่น ถ้าจะได้เป็นกรม ต้องเป็นตั้งแต่กรมขุนขึ้นไป แลมีศักดินาแปลกกว่าเจ้านายตามธรรมเนียมหลายเท่า คือถ้าเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า ทรงศักดินา ๒๐,๐๐๐ ถ้าเป็นต่างกรม ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ถ้าเป็นต่างกรม ๔๐,๐๐๐ เจ้าทั้งสองชั้นนี้ถ้าเป็นอุปราชทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ พระองค์เจ้าตามธรรมเนียม ถ้าเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงศักดินาแต่ ๗,๐๐๐ ลูกยาเธอ ๖,๐๐๐ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า ทรงศักดินา ๖,๐๐๐ ถ้าเป็นต่างกรมทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ เท่ากันทั้งสามชั้น แต่ถ้าเป็นพระเจ้าหลานเธอเหมือนหนึ่งเจ้านายวังหน้า ศักดินา ๔,๐๐๐ ถ้าเป็นต่างกรม ศักดินาจึงขึ้นเป็น ๑๑,๐๐๐ ตำแหน่งมานี้เป็นของโบราณ ตั้งมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงราชสมบัติในจุลศักราช ๗๙๖ ปี ยังอยู่ในตอน ๒๐๐ ปีข้างต้น เมื่อดูตำแหน่งศักดินานี้แล้วก็จะเห็นว่า เจ้าฟ้ายศมากกว่าพระองค์เจ้าเท่าใด

อนึ่งเจ้าฟ้าเป็นต่างกรม จะเป็นกรมขุน กรมหลวง กรมพระ อย่างไรก็ดี ไม่ได้เรียกพระนามตามกรม เปลี่ยนพระนามเดิม เหมือนเจ้าต่างกรมทั้งปวง เพราะเจ้าฟ้านั้น เมื่อจะได้รับพระนามกำหนดต่อพระชนมพรรษาได้ ๘ ปีเศษ ฤา ๙ ปี พระนามนั้นจาฤกในสุพรรณบัฏนี้ สร้อยยาวดังเช่นตัวเราเอง ได้รับสุพรรณบัฏจาฤกชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุดพงศบริพัต ศิริวัฒนราชกุมาร ฤาศิริวัฒนราชวโรรส ตามเวลาเด็กเวลาหนุ่ม

แต่ในสร้อยชื่อเจ้าฟ้า ได้รับทุกองค์นั้น คงจะมีว่าเป็นลูกคนนั้น คือออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระราชบิดาทุกๆพระองค์เหมือนหนึ่งพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีว่า พงศาอิศวร กระษัตริย์ พระนามสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลามีว่า มหิศราธิราชรวิวงศ์ คือเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงพระนามว่า อิศรสุนทร แลตัวเราเองมีว่า บดินทรเทพยมหามกุฎบุรุษรัตนราชรวิวงศ์ ท่านกลางมีว่า มกุฎราชวรางกูร คือเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระนามว่า มหามงกุฎ แต่เจ้าฟ้าหญิงนั้น มีสร้อยพระนามสั้นๆ ไม่มีพระนามพระราชบิดา

แลตั้งเจ้ากรมปลัดกรมสมุหบัญชีเป็นหมื่นได้เหมือนเจ้าต่างกรม เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนกรมหลวง ฤากรมพระ นามเดิมที่ได้รับพระสุพรรณบัฏแต่ทรงพระเยาว์นั้นไม่เลิกถอน พระนามซึ่งตั้งเป็นกรมนั้นไม่เป็นพระนามของเจ้า เป็นชื่อของเจ้ากรม ถาจะเรียกพระนาม ต้องเรีกพระนามเดิม ตลอดถึงชื่อเจ้ากรมด้วย เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ เจ้ากรมเป็นพระบำราบปรปักษ์ ปลัดกรมเป็นหลวง สมุหบัญชีเป็นขุนตามลำดับยศ

อนึ่งเครื่องพานหมากเสวย พระเต้าบ้วนพระโอษฐ์ ใช้เครื่องลงยาราชาวดี ผิดกับเจ้านายทั้งปวง ถ้าเจ้านายทั้งปวงถึงจะมียศใหญ่เป็นต่างกรมอย่างสูง ถึงกรมสมเด็จพระ ก็จะใช้เครื่องลงยาไม่ได้ ต้องใช้ทองเปล่า เว้นแต่ทำใช้เองในเวลานอกจากหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯพระราชทานเครื่องในพานนั้นลงยา พานทองเปล่า แก่ท่านผู้ที่ได้ช่วยราชการแผ่นดินบ้าง น้อยคนที่เดียว

ถ้าเจ้าฟ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ใช้สร้อยพระนาม อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี ซึ่งเป็นคำนับถือของพวกนักปราญช์ชาวสยามว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ คำว่าอุภโตสุชาตินั้นว่ามีความเกิดดีแต่ฝักฝ่ายทั้งสอง สังสุทธเคราหณีว่ามีครรภเป็นที่ถือเอาปฏิสนธิบริสุทธิ์พร้อม คือถ้าจะรวมความตามเข้าใจ ว่ามีครรภ์ที่เกิดปฏิสนธิบริสุทธิ์เป็นอันดีพร้อมทั้งสองฝ่าย

อนึ่งถ้ามีช้าลูกหลวงเมื่อเวลาประสูติแล้ว เวลาสิ้นพระชนม์ก็ต้องมีนางร้องไห้ แลทำพระเมรุกลางเมือง ใหญ่บ้างย่อมบ้างตามกาลเวลา

อนึ่งยังมีคำของคนทั้งปวงที่เรียกยกยอนอกจากยศที่พระเจ้าแผ่นดินให้ เคยเรียกอยู่ในเจ้าฟ้าซึ่งเป็นลูกเธอว่า ทูลกระหม่อม คำซึ่งเรียกว่าทูลกระหม่อมนี้ไม่เป๋นยศในตำแหน่ง เป็นแต่เรียกกันขึ้นลอยๆ เหมือนดังขุนนางเป็นพระยา แล้วบ่าวไพร่ฤาใครๆที่มียศต่ำกว่า ฤาขุนนางด้วยกันเองที่มียศเสมอกัน เคยเรียกว่าเจ้าคุณ แต่คำที่เรียกเจ้าคุณนี้ ถ้าจะกราบทูลในราชการ ก็ใช้ไม่ได้ต้องเรียกชื่อพระยาอันนั้นตามที่ตั้ง ฉันใดคำที่เรียกว่า ทูลกระหม่อม นี้ก็เหมือนกันอย่างนั้น แต่บางทีถ้าไม่เป็นที่ใช้ในหนังสือราชการ แลคำกราบทูลที่ไม่เป็นราชการแท้ ก็กราบทูลว่า ทูลกระหม่อม ได้บ้างเป็นแต่ไปรเวต

คำว่าทูลกระหม่อมนี้ บางทีคนที่ฟังจะสงสัยไปว่าเรียกไม่ทั่วกันเป็นเฉพาะแห่ง แต่ที่จริงนั้นถ้าเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก แล้วเรียกทูลกระหม่อมได้ทั้งสิ้น ถึงโดยผู้อื่นจะเรียกบ้างไม่เรียกบ้าง ข้าไทคนใช้นั้นคงเรียกว่า ทูลกระหม่อม

อนึ่งพระเจ้าลูกเธอ เรียกพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระราชบิดา ว่าทูลกระหม่อมบ้าง ลูกเจ้าฟ้าเหล่านี้ก็เรียกเจ้าฟ้าผู้เป็นพระบิดาว่า ทูลกระหม่อม เหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งว่าอย่างนี้ เป็นการถูกธรรมเนียมแล้ว แต่ยศนี้เจ้าแผ่นดินไม่ต้องตั้ง คนทั้งปวงเรียกเองได้ ก็เป็นยศของเจ้าฟ้าผิดกับพระองค์เจ้าด้วยอย่างหนึ่ง

ธรรมเนียมยศอย่างนี้ เป็นของมีมาแต่กรุงเก่าแต่ในตอน ๒๐๐ ปีข้างต้นบ้าง มาเกิดขึ้นภายหลัง ๒๐๐ ปีบ้าง ยศอย่างนี้ เจ้าฟ้ายังได้รับอยู่เสมอจนถึงปัจจุบันนี้ เว้นแต่การโสกันต์แลการลงสรงที่เป็นการใหญ่ๆ ต้องใช้ผู้คนมาก เวลามีราชการบ้านเมืองขัดขวางก็ไม่ได้ทำ ถ้าว่างเปล่าสมควรจะทำได้ก็ได้ทำ


ตำแหน่งยศแลอำนาจของเจ้าฟ้า ซึ่งว่ามานี้เป็นแต่เจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ถ้าเจ้าฟ้าอื่นๆกมียศศักดิ์น้อยกว่าพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพระองค์เจ้า จะมีเครื่องยศแลการโสกันต์ทรงผนวชสิ่งใดก็เท่าๆกับเจ้านายตามธรรมเนียม ฤาต่ำลงไปกว่าพระองค์เจ้าบ้าง ตามลำดับยศซึ่งพรรณนามาข้างต้น ต้องเข้าใจว่าเป็นแต่เจ้าฟ้าที่เป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินใหญ่พวกเดียวเท่านั้น ธรรมเนียมยศเจ้าฟ้าลูกเจ้าแผ่นดิน ดังเช่นว่ามานั้นมีมาแต่โบราณ ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

แต่ที่มีในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งเป็นของโบราณว่าได้ด้วยกระบวนแห่แหน แลเครื่องยศต่างๆ เครื่องสูงต่างๆของเจ้าฟ้าเป็นชั้นๆ จะเก็บมาเรียงในที่นี้ก็จะยืดยาวนัก ด้วยเป็นของเลิกทิ้งเสียแล้ว ที่ยังเหลือติดมาบ้างก็เป็นแต่ของหลวงพระราชทาน เหมือนหนึ่งเครื่องสูงกลองชนะแห่โสกันต์เป็นต้น จะพรรณนาให้ละเอียดก็เห็นจะไม่จบ

จะขอว่าด้วยผู้ซึ่งมียศสมควรเป็นเจ้าฟ้าตามธรรมเนียมภายหลัง ๒๐๐ ปีมาแล้วต่อไป เจ้าฟ้าซึ่งเข้าใจกันในชั้นหลังๆตั้งแต่กรุงเก่ามาจนถึงกรุงเทพฯในระหว่าง ๓๐๐ ปีเศษ ว่าเจ้าอย่างไรสมควรจะเป็นเจ้าฟ้า อย่างไรไม่สมควรจะเป็น ตามตัวอย่างมีอ้างอิงให้เห็นชัดได้สมเป็นแบบแผน ให้พึงทราบไว้ก่อนว่า ในราชตระกูลนั้นนับถือข้างฝ่ายมารดามาก ถ้าจะนับผู้ที่สมควรเป็นเจ้าฟ้าได้นั้น เป็นได้เพราะ

๑. เจ้าแผ่นดินปราบดาภิเษกใหม่เปลี่ยนพระวงศ์แรกจะตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นมีอำนาจที่จะตั้งเจ้าฟ้าได้ตามชอบพระทัย แต่คงไม่ผิดจากหนทางที่เป็นแบบมาแล้ว แล้ววิเศษกว่าพระเจ้าแผ่นดิน ที่บรมราชาภิเษกสืบพระวงศ์บ้างเล็กน้อย คือเหมือนหนึ่งพระพี่ยาเธอ พระพี่นาง พระน้องนาง ที่ร่วมพระครรภ์กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้าได้ พระราชโอรสอค์ใดองค์หนึ่ง จะยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้าก็ได้ (๑) เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงยกสมเด็จพระพี่นางเธอ ๒ พระองค์ และพระเจ้าลูกเธอซึ่งเป็นพระโอรสพระธิดากรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ แต่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นพระมารดานั้น ก็ไม่ได้ยกขึ้นเป็นอัครมเหสี มีการตั้งแต่งอย่างไรอย่างหนึ่ง เป็นแต่โปรดฯให้เป็นเจ้า จะได้สมกับที่เป็นพระมารดาเจ้าฟ้า นี่เป็นเจ้าฟ้าตั้งขึ้นยกขึ้นอย่างหนึ่ง แต่พระเจ้าน้องยาเธอของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งบรมราชาภิเษกสืบพระบรมราชวงศ์โดยการเรียบร้อย เหมือนพระบาทสมเด็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาร่วมพระมารดาไม่เห็นยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้า (๒) จะเป็นด้วยสิ้นพระชนม์ไปเสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ฤามีธรรมเนียมห้ามปรามกันอย่างไรก็ไม่ทราบ

๒. พระเจ้าลูกเธอซึ่งเกิดด้วยลูกหลวง คือ พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าฟ้าตรงตำแหน่ง เหมือนหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้ากุณฑล เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชบิดา ถ้าจะว่าตามภาษาอังกฤษก็นับว่าเป็น เจ้าฟ้าไบไรต์ (By rigth)

๓. เจ้าฟ้าซึ่งเกิดด้วยพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ถ้าจะว่าโดยตรงก็ควรเป็นเจ้าฟ้าได้ตามกฎหมาย แต่พระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไม่ใคร่จะมีพระบิดามารดาเป็นเจ้าฟ้า ฤาเป็นพระองค์เจ้าทั้งสองฝ่าย จึงตกลงเป็นหม่อมเจ้าเสียโดยมาก เมื่อเป็นหม่อมเจ้าอยู่ดังนี้ ก็ไม่สมควที่จะเป็นพระมารดาเจ้าฟ้า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เป็นเจ้าฟ้าจึงต้องยกขึ้นให้เป็นพระองค์เจ้า เหมือนแบบในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๆ ยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าไว้แต่ก่อนแล้ว ครั้นมาเป็นพระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้า แลหม่อมเจ้ารำเพยเป็นพระราชธิดาในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นพระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ได้เป็นพระราชมารดาเจ้าฟ้าถึง ๔ พระองค์ เจ้าฟ้าอย่างนี้เป็น เจ้าฟ้าไบไรต์(By rigth) เหมือนกัน แต่ซึ่งต้องยกเป็นพระองคืเจ้า เพราะจะให้สมกับพระเกียรติยศเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นพระโอรสแต่ที่พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน เกิดด้วยหลานเธออย่างนี้ พระเจ้าแผ่นดินไม่โรปดฯให้เป็นเจ้าฟ้าก็ได้ ธรรมเนียมที่ว่าพระราชโอรสเกิดด้วยหลานหลวงเป็นเจ้าฟ้านั้น ถ้าเป็นพระองค์เจ้าเป็นเจ้าฟ้า ถ้าเป็นหม่อมเจ้าไม่แน่ พระเจ้าแผ่นดินยังขัดขวางได้

๔. พระราชโอรสเกิดด้วยเจ้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นเมืองเอกราชในครั้งนั้น เป็น เจ้าฟ้าไบไรต์ ฤาเมืองซึ่งเป็นเอกราชอยู่เดิม ภายหลังมาเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ พระเจ้าแผ่นดินนั้นยังคงศักดิ์อยู่ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดฯให้หลานเจ้าคนนั้นซึ่งเป็นพระราชโอรส พระราชธิดาของพระองค์เป็นเจ้าฟ้าก็เป็นได้ เหมือนดังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยกพระองค์เจ้าหญิงในเจ้าจอมมารดา ซึ่งเป็นลูกเจ้าเวียงจันทน์ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกุญฑลทิพยวดี เจ้าฟ้าดังนี้ก็ยังนับว่าเป็นไบไรต์ แต่คนไม่สู้จะนับถือเหมือนพระมารดา ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์เดียวกัน แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเยี่ยมซึ่งเป็นบุตรสมเด็จพระเจ้านโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งโปรดฯให้เป็นพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง แลตนกูสุเบีย ซึ่งเป็นน้องสาวสุลต่านมหมุดเมืองลิงงา เป็นพระสนมอยู่ทั้งสองคน ก็ได้ปรารภเป็นการดังทราบทั่วกัน ถ้าพระราชบุตรเกิดด้วยเจ้า ๒ คนนี้ ก็ต้องเป็นเจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนกัน แต่ก็มีคนรังเกียจอยู่ในการที่จะต้องเป็นดังนั้นมาก

๕. เจ้าฟ้าหญิงซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฤาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ดี มีพระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฤาเป็นเจ้าฟ้า ฤาเป็นเจ้าต่างกรมพระองค์เจ้าอย่างใดๆก็ดี เมื่อเจ้าฟ้าหญิงองค์นั้นมีพระโอรสพระธิดา ก็คงเป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาลดลงไปตามบรรดาศักดิ์เจ้าซึ่งเป็นพระบิดา ได้แต่ชื่อว่าเป็นเจ้าฟ้าเหมือนสมเด็จพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมั้งสองพระองค์ มีพระสวามีแต่ยังไม่ได้เป็นเจ้า มีพระโอรสพระธิดาองค์ละหลายองค์ พระโอรสพระธิดานั้นต้องนับเป็นเจ้าฟ้าทั้งสิ้น ตามพระมารดา ครั้นถายหลังมาเจ้าฟ้าหยิงซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยได้เป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธออยู่ มีพระโอรสสามพระองค์ เป็นเจ้าฟ้าทั้งสามพระองค์ เป็นตัวอย่างดังนี้ แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจว่าเจ้าฟ้าหญิงซึ่งจะได้เป็นเมียพระองค์เจ้า แลพระองค์เจ้าจะเป็นเมียหม่อมเจ้า ฤาเป็นเมียยขุนนาง ฤาเจ้าต่างประเทศ แลเจ้าในตระกูลแต่มิใช่พี่น้องสนิทกันนั้น ธรรมเนียมห้าม มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้าจะมีสวามีต้องมีได้แต่ที่เป็นพี่น้องกันสนิทแลมียศเสมอกัน ฤาที่ชายสูงกว่าหญิง เพราะเหตุนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า จึงเป็นธรรมเนียมไม่ได้มีพระสวามีแทบทั้งนั้น ถ้าจะมีก็เป็นแต่พระราชเทวีของพระเจ้าแผ่นดินบ้าง ซึ่งจะมีพระสวามีอื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินนั้นน้อยนัก เพราะมักจะเป็นที่รังเกียจกันไป จึงไม่มีเจ้าฟ้าซึ่งสืบตระกูลพระมารดาดังเช่นว่ามาแล้ว ซึ่งจะชี้เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้ มีมากอยู่ก็แต่เมื่อแรกตั้งบรมราชวงศ์เป็นเจ้าขึ้นใหม่ๆ เจ้าฟ้าโดยพระมารดาดังนี้ก็นับว่าเป็น ไบคอกเตสซี(BY-courtesy)

๖. ลูกวังหน้าเดิมพระเจ้าเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้เป็นพระองค์เจ้าไว้ แต่ครั้งกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเจ้าองค์นั้น โดยเป็นลูกใหญ่ของวังหน้าบ้าง ได้รับราชการบ้าง มีเชื้อวงศ์ข้างมารดาอยู่พอจะยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้า ก็โปรดฯยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้าพอเป็นเกียรติยศ มีตัวอย่างมาสององค์ คือ เจ้าหญิงพิกุลทอง ซึ่งเป็นพระราชธิดากรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มารดาเป็นลูกเจ้าลาวเมืองเชียงใหม่ โปรดฯตั้งให้เป็นเจ้าฟ้า แต่ที่มารดาเป็นลูกเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีก็มีมารดาเป็นพระองคืเจ้า พระธิดาเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่โปรดฯให้เป็นเจ้าฟ้า ก็ต้องเป็นอยู่แต่พระองคืเจ้า ครั้นอยู่มาถึงกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า มีพระราชบยุตรเกิดด้วยพระองค์เจ้าดารา ซึ่งเป็นพระธิดากรมพระราชวังที่ ๑ ก็ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า เป็นแต่พระองค์เจ้าอิศราพงษ์ อยู่จนเป็นผู้ใหญ่อายุจนถึง ๓๐ ปีเศษ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับราชการเรียบร้อยแข็งแรงมาก ก็โปรดฯให้เป็น เจ้าฟ้า โดยโปรโมชั่น(Promotion) แต่เจ้าฟ้าอย่างนี้ไม่ได้ใช้คำนำพระนามว่าสมเด็จ ใช้แต่พระบรมวงศ์เธอเหมือนพระองค์เจ้า เจ้าฟ้าอย่างนี้เป็นได้แต่เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้เป็น พอเป็นที่ยิรดี เป็นเจ้าฟ้านอกแบบ ลูกวังหน้าจะเป็นเจ้าฟ้าได้จริง ก็แต่ที่พระมารดาเป็นเจ้าฟ้าเหมือนอธิบายไว้แล้วข้างบน

๗.ยังมีเจ้าฟ้าอีกอย่างหนึ่ง เป็นธรรมเนียมปรากฏมาแต่ครั้งเดียว แต่แผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีพระราชบุตรด้วยเจ้ากรุงธนบุรีองค์หนึ่ง แล้วพระมารดาก็สิ้นชีพไป ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬ่โลกได้รับตำแหน่งใหญ่เรียกว่ามหากษัตริย์ศึก มีอำนาจบังคับบัญชาในการศึกได้เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อการทัพศึกในครั้งนั้นมีมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีนับถือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเหมือนเป็นเจ้าในการศึกองค์หนึ่ง แลโดยเจ้ากรุงธนบุรีได้ปราบดาภิเษก มีอำนาจที่จะตั้งเจ้าฟ้าได้ดังเช่นว่าไว้ในข้อ ๑. จึงได้ตั้งพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้น เป็นเจ้าฟ้าวิเศษมิใช่โดยไรต์องค์หนึ่ง เจ้าฟ้านอกนั้นก็เกิดด้วยเชื้อวงศ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก ๒ องค์ แต่เจ้าฟ้าทั้งสององค์นั้นตั้งโดยไรต์ ไม่เหมือนเจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้ แต่ครั้นภายหลังมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ปราดาภิเษก เจ้ฟ้าพระองค์นี้ก็เป็นเจ้าฟ้าไบไรต์ เพราะเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระอมรินทรามารตย์ ก็คงเป็นเจ้าฟ้าเหมือนกับพระโอรสซึ่งเป็นเจ้าฟ้า

ผู้ที่สมควรเป็นเจ้าฟ้า ซึ่งได้เป็นมาแล้วในระหว่าง ๓๐๐ ปี ได้เป็นเจ้าทั้ง๗ หมู่นี้เท่านั้น นอกจากนั้นพระเจ้าแผ่นดิน จะมีพระราชโอรสด้วยพระสนมใดๆ เป็นเจ้าฟ้าไม่ได้เด็ดขาด ถ้าจะแบ่งยศในจำพวกเจ้าฟ้าเหล่านี้ตามกฎหมายศักดินา ก็เห็นว่าเจ้าฟ้าซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยเธอเป็นที่หนึ่ง แต่เจ้าฟ้าซึ่งเป็นพี่ป้าน้าอาของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไม่มีกำหนดในศักดินา แต่ดูเหมือนจะมียศใหญ่กว่าเจ้าฟ้าที่เป็นน้องยาเธอ เพราะธรรมเนียมที่นับในกฎหมายนั้นนับตามผู้ใหญ่เด็ก ไม่ได้นับตามชิดแลห่าง เว้นแต่ศักดินาที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้แก้กฎหมายเก่าเลย

เมื่อในกฎหมายไม่มีกำหนด ก็คงใช้ใช้อยู่เท่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า จึงต้องนับรวมไว้เป็นชั้นหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามีศักดินาลดลงมาหน่อยหนึ่ง จึงนับเป็นชั้นรอง เจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนหนึ่งเจ้าฟ้าหลานเธอนับเป็นชั้นต่ำ ด้วยถึงเป็นกรมแล้ว ก็มียศอยู่เพียงเสมอพระองค์เจ้าต่างกรม

แต่ความนิยมนับถือของคนทั้งปวงนั้นเป็นตามกาลตามเวลาตามผู้ชิดผู้ห่าง แลพระมารดาบริสุทธิ์น้อยในราชตระกูล จึงปรากฏเป็นเจ้าฟ้าสืบมา ไม่ได้ขาดระหว่างเลยจนถึงบัดนี้ เรื่องเจ้าฟ้าที่กล่าวมานี้ มีตัวอย่างชี้ให้เห็นได้ทุกๆอย่าง แลต้องกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียบเรียงเรื่องโสกันต์

ประกาศเรื่องโสกันนี้ เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลูสัปตศก จ.ศ. ๑๒๒๗ เป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๘
ลงพิมพ์ในหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอ์ เล่ม ๑ หน้า ๒๐๙ ลงวันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลูสัปตศก ๑๒๒๙ วันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๖ หน้า ๒๒๑ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันที่ ๓๑ มกราคม กับเล่ม ๒ หน้า ๑ วันแรม ๑ เดือน ๔ วันที่ ๑ มีนาคม
ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจออัฐศก จ.ศ.๑๒๔๘ เล่ม ๒ หน้า ๓๘,๔๖,๕๔,๖๒,๗๑,๗๘,๘๑,๙๓,จน ๑๐๓ วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่ ลงพิมพ์หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบัดเล เมื่อศักราช ๑๒๒๗

สิ้นเรื่องเจ้าฟ้า


ที่นี่จะว่าด้วยพระราชบุตร พระราชบุตรี ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า พระเยาวราช และเจ้านายซึ่งมียศต่ำๆลงไปอีกโดยลำดับ

๑. พระราชบุตรีของพระเจ้าแผ่นดินที่เกิดด้วยพระสนม ฤาที่เรียกกันว่าเจ้าจอมมารดานั้น มียศอย่างเดียวกันหมด เรียกว่า พระองค์เจ้า อย่างหนึ่ง

๒. พระบุตร พระบุตรี ของกรมพระราชวัง แต่เดิมเมื่อครั้งกรุงเก่า เป็นพระองค์เจ้าบ้าง เป็นหม่อมเจ้าบ้าง ไม่เสมอกัน แต่ต่อมาถึงแผ่นดินกรุงเทพฯ พระเจ้าแผ่นดินใหญ่ทรงเห็นว่ากรมพระราชวังได้ทำศึกมาก จึงได้โปรดฯให้เป็นพระองค์เจ้าทั้งสิ้น ภายหลังก็เป็นพระองค์เจ้าตามๆกันมาอีกพวกหนึ่ง

๓. พระโอรสพระธิดากรมพระราชวังหลังที่เกิดด้วยบริจา ก็เป็นพระองค์เจ้าอีกพวกหนึ่ง

๔. พระบุตร พระบุตรี ของเจ้าฟ้าก็ดี เจ้าต่างกรมก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามารดาเป็นพระองค์เจ้าลูกก็เป็นพระองค์เจ้า ดังเช่นเจ้าฟ้าหญิงมีลูกต้องเป็นเจ้าฟ้าเสมอมารดาฉะนั้น นี่ก็เป็นพระองค์เจ้าอีกจำพวกหนึ่ง

๕. หม่อมเจ้าซึ่งเป็นพระบุตร พระบุตรีของเจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นองค์ใหญ่ฤารับราชการมาก ฤาเป็นที่คุ้นเคยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าได้ไม่มีกำหนดว่าเท่าใด เหมือนกับยกลูกวังหน้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้า แต่ลูกต่างกรมฤาพระองค์เจ้าวังหน้าไม่เคยยกขึ้น ยกขึ้นแต่ลูกเจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้าวังหลวงซึ่งเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน

รวมพระองค์เจ้าจึงเป็น ๕ อย่างด้วยกันดังนี้ แต่พระองค์เจ้าทั้ง ๕ อย่างนี้ ใช่ว่าจะมียศเสมอกันก็หาไม่ มียศแปลกๆกันมากทีเดียว ยศซึ่งจะกำหนดแปลกกันนั้น ด้วยคำนำพระนามข้างหน้า คำนำพระนามนั้นมีมากหลายอย่างนัก ศักดินาก็ขึ้นลงตามคำนำพระนามนั้นด้วย แลเป็นเนื้อความให้รู้ชั้นของพระองค์เจ้านั้นด้วย

๑. พระเจ้าบรมอัยกาเธอชาย พระเจ้าบรมอัยยิกาเธอหญิง คือเป็นปู่น้อยย่าน้อยของพระเจ้าแผ่นดิน คำที่ว่าเธอนั้น แปลว่าท่าน คือพระเจ้าปู่ท่าน พระเจ้าย่าท่าน แปลดังนี้ตลอดไป ท่านนั้นคือ เจ้าแผ่นดินองค์ใหญ่องค์เดียว

๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ คือท่านที่เป็นลุงเป็นอาเป็นป้าของพระเจ้าแผ่นดินทั้งชายแลหญิง

๓. พระเจ้าพี่ยาเธอชาย พระเจ้าพี่ยาเธอหญิง พระเจ้าน้องยาเธอชาย พระเจ้าน้องยาเธอหญิง

ท่านทั้งสามชันนี้ทรงศักดินาเสมอกัน เมื่อเวลายังไม่ได้เป็นกรม ๗,๐๐๐ ถ้าเป็นกรมทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐

๔. พระเจ้าลูกยาเธอชาย พระเจ้าลูกยาเธอหญิง

๕.พระเจ้าราชวงศ์เธอทั้งชายแลหญิงนี้ เป็นตำแหน่งตั้งขึ้นใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชบุตร พระราชบุตรีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอมาก่อนแล้ว ครั้นพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็จะต้องลดลงเป็นพระเจ้าหลานเธอ ศักดินาเสมอพระองค์เจ้าวังหน้า เห็นไม่สมควร จึงโปรดฯให้เป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอ คงศักดินาเสมอพระเจ้าลูกเธอ เมื่อยังไม่ได้เป็นกรมศักดินา ๖,๐๐๐ เมื่อเป็นต่างกรมขึ้นก็ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ เท่าชั้นสามข้างบนทั้งพระเจ้าลูกเธอ แลพระราชวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าทั้งห้าชั้นนี้ เป็นพระองค์เจ้าซึ่งเป็นพระราชบุตรแลพระราชบุตรี พระเจ้าแผ่นดิน แบ่งยกขึ้นเป็นตอนหนึ่งต่างหาก นับเป็นพระองค์เจ้าอย่างเอกทั้ง ๕ ชั้น

๑. ตอนนี้ไป พระบุตร พระบุตรี ในกรมพระราชวังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๑

๒. พระบุตร พระบุตรี ในกรมพระราชวังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๒

๓. พระบุตร พระบุตรี กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๓

๔. พระบุตร พระบุตรี สมเด็จพระปิ่นเกล้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุแก่กว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๔

๕. พระบุตร พระบุตรี สมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่อ่อนพระชนมายุกว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ เป็นพระเจ้าบวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๑

๖. พระบุตร พระบุตรี กรมพระราชวังในปัจจุบันนี้ เป็นพระเจ้าบวรวงศ์ ชั้นที่ ๒

๗. พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าเพราะมารดาก็ดี ฤาเป็นหม่อมเจ้ายกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าก็ดี เป็นพระเจ้าหลานเธอทั้งสองอย่าง

ในพระองค์เจ้า ๗ พวกนี้ เมื่อยังไม่เป็นต่างกรม ทรงศักดินา ๔,๐๐ เมื่อเป็นต่างกรมแล้วทรงศักดินา ๑๑,๐๐๐ เสมอกัน

๑. พระองค์เจ้าซึ่งเป็นพระบุตร พระบุตรี กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระอัยยกา ฝ่ายพระบรมชนนีของพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ เป็นพระประพันธวงศ์เธอ เพราะเป็นพระวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่าย

๒. พระองค์เจ้าซึ่งเป็นหลานเธอเก่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพระอัยกาล่วงไปแล้ว โดยพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าก็ดี หม่อมเจ้ายกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าก็ดี เป็นพระวงศ์เธอทั้งสิ้น

๓. พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังหลัง แลในเจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ทั้งสองพระองค์เหล่านี้ เป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ

พระองค์เจ้า ๓ ชั้นนี้ เมื่อเวลายังเป็นหม่อมเจ้า มีศักดินาเพียง ๑,๕๐๐ แต่ครั้นเมื่อเป็นพระองค์เจ้าขึ้น ก็ไม่มีตำแหน่งมาในกฎหมายว่าจะเป็นศักดินาเท่าไรแน่ ดูเหมือนของเก่าจะใช้อย่างเช่นหลานเธอเสมอมา แต่ที่เคยใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นพระองค์เจ้าศักดินาคงอยู่ ๑,๕๐๐ ฤาไม่ใคร่จะพูดถึงศักดินาทีเดียว เรื่องที่ให้ศักดินา ๑,๕๐๐ นี้เห็นว่าไม่ถูก แต่เมื่อเป็นต่างกรมแล้วคงใช้ศักดินา ๑๑,๐๐ เท่าเจ้านายวังหน้า แลหลานเธอซึ่งว่ามาแล้วทั้ง ๗ ชั้น จึงเป็นการถูกทีเดียว พระองค์เจ้าชั้นนี้ ถ้าจะแยกออกจากวังหน้าก็เป็นชั้นที่ ๓ แต่เมื่อเป็นต่างกรมขึ้นแล้ว จะนับรวมกันเข้ากับเจ้านายวังหน้าก็ได้

รวมคำนำพระนาม พระองค์เจ้าทั้ง ๓ ชั้นนี้ถึง ๑๕ อย่าง แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าต่อไปภายหน้าพระเจ้าแผ่นดินสืบบรมราชวงศ์ลงไปอีกกี่ชั้นกี่ชั่ว ก็คงเกิดคำนำพระนามนี้ขึ้น แผ่นดินละอย่างสองอย่างทุกชั้น แต่เจ้าฟ้านั้นก็คงใช้ตามลำดับพระวงศ์เหมือนพระองค์เจ้า เติมแต่สมเด็จข้างหน้า เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมอัยยกาเธอ เจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า เป็นต้น ใช้คังนี้ตลอดไป

คำซึ่งใช้เป็นคำนำพระนามนี้ ที่ใช้เป็นคำตรงดังเช่นอัยยกาเธอ พี่ยาเธอ น้องยาเธอ ลูกยาเธอ หลานเธอ ดังนั้นก็มีเป็นของเก่า เรียกเป็นพี่เป็นน้องของในหลวงตามที่เป็นจริง แต่ที่เป็นบรมวงศ์เธอ ราชวงศ์เธอ วรวงศ์เธอ บวรวงศ์เธอ ประพันธวงศ์เธอ สัมพันธวงศ์เธอ ดังนี้ไม่ได้เป็นคำเรียกตรงว่าเป็นอะไรชัด เป็นแต่คำยกย่องว่าเป็นสายใหญ่บ้าง กลางบ้าง เกี่ยวพันบ้าง เป็นของเกิดขึ้นใหม่ เพราะใช่คำตรงๆไม่ เพราะเหมือนหนึ่งจะใช้ว่าเจ้าป้าเธอ พระเจ้าลุงเธอ จึ่งได้ยักเสียเป็น บรมวงศ์เธอ

ข้างฝ่ายราชวงศ์เธอนั้นเล่า ถ้าจะว่าหลานเธอก็ผิด ด้วยศักดินาสูงกว่าหลานเธอ จะเรียกว่า อะไรเธอ ก็เรียกตรงยาก จึงได้ยักเรียกไปอย่างนั้น

จะว่าโดยพวกวรวงศ์เธอ บวรวงศ์เธอ นั้นเล่า ยศบรรดาศักด์ก็เหมือนหลานเธอ แต่ถ้าจะเรียดหลายเธอก็ไม่ได้ เพราะพระวรวงศ์เธอทั้ง ๔ ชั้นก็เป็นพระวงศ์ผู้ใหญ่ ครั้นจะไปเรียกรวมกันเข้ากับเจ้านายวังหน้า ยศก็ผิกกันไป ต่างหมู่ต่างพวกไม่สมควร จึงได้ยกขึ้นเป็นชื่อเสียอย่างหนึ่ง ถึงประพันธวงศ์เธอ สัมพันธวงศ์เธอ ก็เหมือนกัน

คำซึ่งเรียกต่างๆเหล่านี้ ก็เป็นแต่เลือกหาคำที่เพราะที่สูงให้เป็นลำดับกัน แต่ต้องเข้าใจว่าที่เรียกพระอะไรเธอนั้น เป็นพระอะไรของพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว เหมือนหนึ่งพระบุตร พระบุตรีวังหน้า จะเรียกพระเจ้าลูกเธอวังหน้าก็ไม่ได้ ผู้ซึ่งเรียกดังนี้ แต่ก่อนมาก็ทราบว่า มีความผิดทุกครั้ง ภายหลังมาเมื่อเราเป็นผู้รับฎีกา ได้เห็นมีผู้มาร้องฎีกา เรียกว่าพระเจ้าลูกเธอวังหน้า ก็ต้องรับพระราชอาญาเป็น ๒ คน ๓ คน การเรื่องนี้ตรงกันกับธรรมเนียมใช้เลขทับศก ต้องใช้ปีราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเหมือนกัน

ยังมีคำนำพระนามวิเศษอีกอย่างหนึ่ง พึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ คือ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งเป็นพระภคนีของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระอัยกาฝ่ายพระมารดาของเรา ก็นับว่าเป็นพระอัยยิกาน้องข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอ แต่พระองค์ท่านเป็นผู้ทำนุบำรุงเรามาแต่เล็กจนโต เหมือนเป็นพระชนนี จึงได้ย่อมให้เรียกเป็นพระอัยยิกาเธอตามทางพระมารดาของเราองค์หนึ่ง กับกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถ้าจะนับก็เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้นที่ ๒ แต่ท่านได้อุปัชฌาย์สั่งสอนเรามาก จึงได้ยอมยกให้เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เหมือนหนึ่งกับอาของเรา มีแปลกอยู่ ๒ แห่งเท่านี้

ถัดจากชั้นพระองค์เจ้าลงไปอีก คือ พระบุตร พระบุตรี กรมพระราชวังหลัง ซึ่งไม่ได้เกิดด้วยบริจา แลพระบุตร พระบุตรี เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า ซึ่มารดาไม่ได้เป็นพระองค์เจ้าทุกๆชั้น ต้องเป็นหม่อมเจ้า มีศักดินา ๑,๕๐๐

ลูกของหม่อมเจ้าเป็นหม่อมราชวงศ์ มีศักดินา ๕๐๐ ลูกของหม่อมราชวงศ์ลงไป เป็นหม่อมหลวงมีศักดินา ๔๐๐ ต่อนั้นเป็นนายตามธรรมเนียม

แต่หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวงนี้ ถ้าจะมียศติดเนื่องกับเจ้านายเรียกว่า ราชินิกุล ก็มีชื่อตามตำแหน่งโบราณ ที่เป็นเจ้าพนักงานขี่ช้างค่าย ๔ ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ขี่ช้างค้ำปลายเชือก ขี่ม้า โขลงกระบือ เหล่านี้ถือศักดินา ๘๐๐ ธรรมเนียมโบราณเต็มที สำหรับไปทัพใกล้พระองค์พระเจ้าแผ่นดิน แต่มาภายหลังตั้งไม่ใคร่จะเต็ม มีแต่คนหนึ่งสองคนไม่ได้เรียกว่าเจ้าในราชการ เปลี่ยนเป็นหม่อม เหมือนหม่อมกระต่ายราโชไทย หม่อมเทวาธิราชซึ่งยังอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ข้างนอกเขาเรียกกันว่า เจ้าต่าย เจ้าเทวหนึ่ง แต่ที่ไปเป็นขุนนางเสียทีเดียวก็มีบ้าง

ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ลงมา เวลาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก่อนต้องนุ่งสมปักเหมือนขุนนาง แต่คนละอย่าง คาดผ้าขาว ไม่ใช่แพรสี แลนุ่งผ้ามีลายต่างๆสีต่างๆไม่ได้ เหมือนหนึ่งเจ้าที่ยังมียศเป็นเจ้าแท้ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปในเจ้านาย ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปจะแต่งตัวอย่างไรๆมาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีความผิด

นับราชระกูลเป็นสิ้นเพียงเท่านี้


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 15 มีนาคม 2550 17:11:02 น.   
Counter : 6273 Pageviews.  


พระราชกรัณยานุสรณ์

คำนำ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาล โดยพระราชประสงค์จะให้มีตำราราชประเพณีไว้สำหรับพระนคร ตั้งพระราชหฤไทยว่าจะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ในเวลาว่างราชการไปทุกๆวันจนกว่าจะสำเร็จตลอดเรื่อง ด้วยในสมัยนั้นพระราชธุระในราชกาลต่างๆ อันมีประจำวันยังไม่สู้หนาแน่นทีเดียว ก็มีเวลาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้มาตามพระราชประสงค์ตลอดระยะเวลากาลอันหนึ่ง ครั้นต่อมาเมื่อทรงพระราชดำริห์จัดการบ้านเมืองมากขึ้น พระราชกิจต่างๆซึ่งจำจะต้องทรงตรวจตราแลกระทำด้วยพระองค์เองก็มากขึ้น เวลาว่างสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้ก็มีน้อยลงทุกที จนที่สุดต้องหยุดทรงพระราชนิพนธ์ด้วยความจำเปน หนังสือเรื่องนี้จึงไม่จบตลอดเรื่อง

ผู้ใดอ่านพระราชนิพนธ์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คงจะมีความเห็นพ้องกันหมดว่า ถ้าหนังสือเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จตลอดเรื่องได้ดังพระราชประสงค์เดิม จะเปนหนังสืออย่างสำคัญที่สุดเรื่อง ๑ น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะทรงให้สำเร็จได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูโดยรูปเรื่องหนังสือก็จะแลเห็นว่า หนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้กว่าจะจบจะเปนหนังสือมากตั้งร้อยเล่มสมุดไทย ดูพ้นวิไสยจริงๆที่จะทรงพระราชนิพนธ์ให้สำเร็จตลอดได้ ในเวลาที่ต้องทรงเปนกังวลด้วยพระราชกิจต่างๆอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ได้เคยอ่านมาแต่ก่อนก็ไม่วายเสียดาย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทรงบัญชาการหอพระสมุดวชิรญาณแทนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้ขอแรงพวกสมาชิกผู้มีความสามารถช่วยกันแต่งหนังสือส่งให้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แลทรงรับว่าในส่วนพระองค์ก็จะแต่งประทานด้วยเหมือนกัน มีรับสั่งถามความประสงค์ของสมาชิกว่าจะให้ทรงเรื่องอย่างไร พวกสมาชิกซึ่งได้เคยอ่านหนังสือพระราชกรัณยานุสรจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระราชนิพนธ์กรัณยานุสรนี้อย่างย่อๆ พอเปนประโยชน์ทางความรู้แก่สมาชิกทั้งปวง

เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องพระราชกรัณยานุสรนี้ คือต้นเค้าของพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนนั้นเอง แต่มีความที่แปลกแลความพิศดารกว่าเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ควรอ่านเปนเรื่องหนึ่งต่างหากได้ แลโดยทางวรรณคดีก็น่าอ่านเพราะพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไม่ว่าจะทรงบรรยายเรื่องใดๆ อ่านจับใจไม่รู้จักเบื่อทุกเรื่อง



................................................................................................


..... ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงสร้างพระเท่าพระชนมพรรษา แลมีการสมโภชเนื่องเข้าในเดือน ๕ นี้ด้วย คือเมื่อครั้งนั้นทรงพระราชดำริห์ปรารภด้วยพระปางต่างๆ โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อันทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อยังเปนกรมหมื่นนิชิตชิโนรส เก็บรวบรวมแบบอย่างไว้ได้ถึง ๓๗ ปาง แล้วให้ช่างหล่อด้วยทองแดง น่าตักกว้าง ๔ นิ้ว ปางละองค์ รวมเปนพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์ แล้วตั้งไว้ที่หอพระปริต ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตวันออก

ครั้งภายหลังมา พระพุทธรูปปางต่างๆ ๓๔ พระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกถวายพระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา และกรุงธนบุรี ตามพระนามต่างๆ แลปางต่างๆดังนี้


สยามราชกาลที่ ๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๘๙๓ จนถึงพุทธศักราช ๑๙๑๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งกวักพระหัดถ์เรียกเอหิภิกขุพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครเฉลียงได้ ๖ ปี แล้วย้านมาทรงสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๓๑ ปีรกาเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๑๓ จนพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด พระเจ้าพฤฒิเดช ไนยหนึ่งว่ามหาเดช เนื่องในพระวงษ์ได้ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๓๒ ปีจอโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๒ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓ แต่เพียง ๗ วัน ในพุทธศักราช ๑๙๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งมีนาคปรกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้าทองจันทร์ ไนยหนึ่งว่าเจ้าท้องลั่น เปนพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้รับราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครแต่เพียง ๗ วัน เมื่อพระชนกนารถสวรรคตแล้ว ในจุลศักราช ๗๘๘ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๒๕ จนพุทธศักราช ๑๙๓๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาเสยพระเกษพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระราเมศวรที่ ๑ ซึ่งได้ปราดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เพราะพระองค์เปรพระอรรคราโชรสแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๓๐ จนพุทธศักราช ๑๙๔๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งโบกพระหัดถ์ขับพระวักกลีพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระเจ้าราม ซึ่งได้ราชาภิเศกสืบพระวงษ์ เพราะเปนพระราชโอรสแห่งพระราเมศวรที่ ๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๗๔๙ ปีเถาะนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี ออกจากราชสมบัติไปครองเมืองปทาคูจาม เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๔๕ จนพุทธศักราช ๑๙๖๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วงพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหานครินทราธิราช เปนพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เปลี่ยนแทนสมเด็จพระเจ้ารามเนื่องพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๖๔ ปีมโรงจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๖๑ จนพุทธศักราช ๑๙๗๗ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งทำภัตรกิจพระองค์นี้ ทรงสภาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเจ้าสามพระยา พระราชโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร สืบพระวงษ์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๗๘๐ ปีจอสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก

สยามราชกาลที่ ๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๗๗ จนพุทธศักราช ๑๙๙๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งชี้พระหัดถ์เดียว แสดงเอตทัคฐานพระอัคสาวกาพระอัคสาวิกาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปีขานฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๑๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๙๒ จนพุทธศักราช ๒๐๑๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งยกพระหัดถ์ขวาอธิฐานบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระอินทราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๑๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๑ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขาลโทศก

สยามราชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๑๓ จนพุทธศักราช ๒๐๕๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาห้ามมารพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๓๒ ปีขายโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๓๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๑๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๒ จนพุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๑ ปีมเสงเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๒ แต่เพียง ๕ เดือน พุทธศักราช ๒๐๕๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระราษฎาธิราชกุมาร พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๘๗๕ ปีรกาเบญจศก อยู่ในราชสมบัติ ๕ เดือน

สยามราชกาลที่ ๑๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๕๗ จนพุทธศักราช ๒๐๗๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งฉันผลสมอพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๘๗๖ ปีจอฉศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๐ จนพุทธศักราช ๒๐๗๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ขวาปลงพระชนม์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉพาะต่อ พระยอดฟ้า พระราชโอรสสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้ครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานค เมื่อจุลศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติแต่ปีกึ่ง เพียงจุลศักราช ๘๙๐ ปีชวดสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๑๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๗๒ จนพุทธศักราช ๒๐๙๘ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งยกพระหัดถ์ซ้ายสำแดงโอฬาริกนิมิตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศกัราช ๘๙๑ ปีฉลูเอกศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๑๗ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๑๖ ตั้งพุทธศักราช ๒๐๙๘ จนพุทธศักราช ๒๐๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งสนเข็มพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทอศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระมหินทราธิราช ซึ่งได้ครองราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๗ ปีเถาะสัปตศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๑๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๐๙๙ จนพุทธศักราช ๒๑๒๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนผันพระองค์ ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลกพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๒๑ จนพุทธศักราช ๒๑๓๖ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองห้ามสมุทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๔๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก

สยามราชกาลที่ ๑๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๓๖ จนพุทธศักราช ๒๑๔๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานพระหัดถ์ทั้งสองถวายพระเนตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติเรียงพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก

สยามราชกาลที่ ๒๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๔ จนพุทธศักราช ๒๑๔๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ซ้ายห้ามพระแก่นจันทร์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรวสสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ เพียงจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๔๕ จนพุทธศักราช ๒๑๗๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท ณ เรือขนานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๖๔ ปีขานจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๒ ตั้งพุทธศักราช ๒๑๗๐ จนพุทธศักราช ๒๑๗๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ขวารับช้างปาเลไลย์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระเชษฐาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้รับครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ปี ๑ กับ ๗ เดือน เพียงจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๒๓ แต่เพียง ๖ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๗๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัดถ์ทั้งสองรับมธุปายาศพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระอาทิตย์วงษ์อนุชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงธรรม ซึ่งได้ครอบครองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธมหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ ปีมเสงเอกศก อยู่ในราชสมบัติเพียง ๖ เดือน

สยามราชกาลที่ ๒๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๗๓ จนพุทธศักราช ๒๑๙๘ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งลอยถาดพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ผลัดตั้งพระวงษ์ใหม่ เมื่อจุลศักราช ๙๙๒ ปีมเมียโทศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๑๗ ปีมแมสัปตศก

สยามราชกาลที่ ๒๕ แต่เพียง ๙ เดือน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยื่นพระหัดถ์ขวารับกำหญ้าคาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีศรีอยุทธยามหานครได้ ๙ เดือน เพียงจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๒๖ แต่เพียงเดือนหนึ่งกับ ๒๐ วัน ในพุทธศักราช ๒๑๙๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระรำพึงธรรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระศรีสุธรรมราชา พระราชอนุชาสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร ได้เพียงเดือน ๑ กับ ๒๐ วัน ในจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก

สยามราชกาลที่ ๒๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๙๙ จนพุทธศักราช ๒๒๒๕ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัดถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรมพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามมหานคร สืบพระวงษ์สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง เมื่อจุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอกอัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๒๘ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๒๕ จนพุทธศักราช ๒๒๔๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนห้อยพระหัดถ์ขวาทับพระหัดถ์ซ้าย ถือธารพระกรปลงพระกรรมฐานพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ พระธาดาธิเบศร์ ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร แทรกพระวงษ์เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ ปีจอจัตวาศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก

สยามราชกาลที่ ๒๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๐ จนพุทธศักราช ๒๒๔๙ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนยกพระหัดถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์สมเด็จพระนารายน์มหาเอกาทศรฐราช เมื่อจุลศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก

สยามราชกาลที่ ๓๐ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๔๙ จนพุทธศักราช ๑๑๗๕ พระพุทธปฏิมากรมีพระอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัดถ์ทั้งสองพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๘ ปีจออัฐศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก

สยามราชกาลที่ ๓๑ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๒๗๖ จนพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาทพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระมหาบรมราชาธิราชที่ ๓ ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครเรียงพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลูเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๒ แต่เพียง ๑๐ วันในพุทธศักราช ๒๓๐๑ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนกางพระหัดถ์ทั้งสองข้างเปิดโลกย์พระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษ์ ๑๐ วัน แล้วละสมบัติออกทรงผนวชในจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก

สยามราชกาลที่ ๓๓ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๐๑ จนพุทธศักราช ๒๓๑๐ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงยืนลีลาห้อยพระหัดถ์ซ้ายยกพระบาทซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อพระบรมเอกทัศอนุรักษมนตรีราช ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครสืบพระวงษฺ เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขานสัมเรทธิศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๙ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก

สยามราชกาลที่ ๓๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๔๑๐ จนพุทธศักราช ๒๓๒๔ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งพระหัดถ์ทั้งสองประทับพระอุระทำทุกรกิริยาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนาทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลเฉภาะต่อ เจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติตั้งกรุงที่แขวงเมืองธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๔ ปี เพียงจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก


แลพระพุทธรูปอิกสามปาง ซึ่งเหมือนกับพระพุทธรูปพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงอมรรัตนโกสินทร์ ทั้งสามพระองค์นั้น มีขนาดเท่ากันกับพระพุทธรูปสำหรับพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดี แปลกแต่มีฉัตรกั้นทั้งสามพระองค์ จารึกถวายเฉภาะพระองค์ว่า

สยามราชกาลที่ ๓๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๒๕ จนพุทธศักราช ๒๓๕๒ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งขัดสมาธิเพชรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรกรีบรมนารถนเรศรราชวิวัฒนวงษ์ ปฐมพงษาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดม บรมบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา เปนปฐม เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปีกับ ๕ เดือน เสด็จสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

สยามราชกาลที่ ๓๖ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๕๒ จนพุทธศักราช ๒๓๖๗ พระพุทธปฏิมากรมีอาการนั่งมารวิไชยพระหัดถ์ขวาปกพระเพลาพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๑๑ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก

สยามราชกาลที่ ๓๗ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๖๗ จนพุทธศักราช ๒๓๙๓ พระพุทธปฏิมากรมีอาการทรงนั่งขัดสมาธิ์พระหัดถ์ขวาซ้อนพระหัดถ์ซ้ายพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทโรดม บรมธรรมิกราชมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา สืบพระวงษ์เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปีกับ ๘ เดือน สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๒ ปีกุนยังเป็นโทศก .......


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 15 มีนาคม 2550 18:58:05 น.   
Counter : 3015 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com