กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

สำเภาเจดีย์ที่วัดยานนาวา


สำเภาพระเจดีย์ วัดยานนาวา



.......................................................................................................................................................



ประวัติวัดยานนาวา

วัดยานนาวานี้เป็นวัดโบราณ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกกันว่า วัดคอกควาย ครั้นถึงสมัยตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี นับเป็นพระอารามหลวงที่สถิตของพระราชาคณะแห่งหนึ่ง เรียกนามในทางราชการว่า วัดคอกกระบือ ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชศรัทธาสร้างพระอุโบสถ ซึ่งยังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ นอกจากพระอุโบสถเมื่อรัชกาลที่ ๑ จะสร้างสิ่งใดอีกบ้างหาทราบไม่ สำเภาที่หลังพระอุโบสถนั้นมาสร้างต่อในรัชกาลที่ ๓

อันมูลเหตุที่จะสร้างสำเภาที่วัดยานนาวานั้น เล่ากันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ วัดคอกกระบือทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ แล้วใคร่จะทรงสร้างพระเจดีย์เพิ่มขึ้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า จะสร้างเป็นพระสถูปหรือพระปรางค์ก็มีอยู่ที่อื่นมากแล้ว ทรงปรารภว่าแต่ก่อนมาเรือที่ใช้ไปมาค้าขายกับต่างประเทศใช้เรือสำเภาเป็นพื้น ในเวลานั้นเกิดต่อเรือกำปั้นใช้กันขึ้น ด้วยเห็นว่าดีกว่าเรือสำเภาจีน ต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันมากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่าเรือสำเภาคงจะสูญไป อาศัยเหตุนี้ เมื่อทรงพระราชดำริหาแบบอย่างพระเจดีย์ที่จะสร้างที่วัดคอกกระบือ ทรงระลึกขึ้นถึงพระธรรมทั้งหลาย ซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์อุปมาเหมือนสำเภายานนาวา ในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริงขึ้นไว้ที่วัดคอกกระบือ มีพระราชดำรัสว่า “คนภายหน้าอยากเห็นสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู” ดังนี้ เมื่อสร้างสำเภาพระเจดีย์แล้ว จึงโปรดให้ขนานนามพระอารามเปลี่ยนใหม่เรียกว่า วัดยานนาวา ซึ่งเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ในวัดยานนาวา ซึ่งควรชมและควรรักษาไว้ให้มั่นคงยังมีอยู่หลายอย่าง คือ

ที่ในพระอุโบสถ หลังบานประตูเขียนรูปกระทงใหญ่ ตามแบบซึ่งทำในพิธีลอยพระประทีปเมื่อรัชกาลที่ ๓ หลังบานหน้าต่างเขียนรูปโถยาคู ตามแบบอย่างซึ่งทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทครั้งรัชกาลที่ ๓

ที่สำเภายานนาวา มีรูปพระเวสสันดรโพธิสัตว์ กับรูปกัณหาชาลีหล่อ ประดิษฐานไว้ที่ห้องท้ายบาลี และศิลาจารึกภาษาไทยแผ่น ๑ ภาษาจีนแผ่น ๑ ได้คัดสำเนาภาษาไทยพิมพ์ไว้ด้วย


....................................................................................



จารึกสำเภาวัดยานนาวา
จารึกผนังข้างขวารูปพระเวสสันดร

รูปขัติยดาบสพระองค์นี้ ทรงพระนามพระเวสสันดร เป็นพระบรมโพธิสัตว์อันประเสริฐ ยังชาติเดียวจะได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชบิดาทรงพระนามพระเจ้าสญไชยราชครองกรุงเชตุอุดร พระผุสดีเป็นพระมารดา เมื่อพระมหาสัตว์ประสูติจากครรภ์พระราชมารดานั้น ออกพระวาจาขอทรัพย์พันกหาปะณะให้ทาน แล้วได้เปลื้องเครื่องประดับพระกายประทานให้พระนมถึง ๙ ครั้ง เมื่อทรงคิดจะบำเพ็ญอัชฌัติทางกายในอันยิ่งภริยา และมังษโสหิตชีวิตร์ของพระองค์เป็นทาน แผ่นดินไหวถึงพรหมโลกย์ ครั้นทรงพระเจริญได้นางกษัตริเมืองมัทราสฐ ทรงพระนามพระมัทรีเป็นอรรคมะเหษี มีพระราชโอรสชื่อพระชาลี พระราชบุตรีชื่อพระกัณหา แล้วพระองค์ตั้งโรงทาน ๖ ตำบล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสนกหาปะณะ จนได้พระราชทานพญาช้างเผือกผู้ชื่อปัจจัยนาคแก่พราหมณ์ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นชาวเมืองเชตุอุดรกล่าวโทษพระโพธิสัตว์ ว่าให้ทานพญาช้างของคู่พระนคร ผิดเยี่ยงกระษัตรแต่ก่อน พระเจ้าสญไชยราชบิดาก็บัพพาชนิยกำม์พระเองค์เสียจากพระนคร พระโพธิสัตว์ก็ให้สัตะสดกะมหาทาน คือให้สิ่งละเจ็ดร้อยๆ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง ให้ทานเสร็จแล้วพระองค์ก็พาพระมัทรีกับพระชาลีและกัณหาทรงรถเทียมด้วยม้าทั้ง ๔ จะออกจากพระนคร พระองค์กลับพระพักตร์มาทอดพระเนตรพระราชนิเวศ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง เพลานั้นมีพราหมณ์ ๔ คนตามไปขอม้าเทียมรถ พระองค์ก็ประทานให้ ยังเทพยดาทั้ง ๔ จำแลงกายเป็นละมั่งเข้ารับแอกรถพาไป มีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งมาขอรถ พระองค์ก็ประทานให้ ละมั่งทั้ง ๔ ก็อันตรธารหาย สี่กระษัตรก็เสด็จด้วยพระบาทไปในระหว่างทาง ขณะนั้นมีพรานป่านำเนื้อย่างกับน้ำผึ้งมาถวาย พระองค์ก็ให้ปิ่นทองแก่พรานนั้น จึงเสด็จล่วงแดนเจตราษฐไปสู่เขาวงกฏ อยู่ในอาศรมพระอินทร์นิมิตรถวาย ทรงเพศเป็นดาบสทั้ง ๔ พระองค์

กาละวันหนึ่ง ชูชกพราหมณ์ชาวเมืองกะลึงคราษฐตามไปขอพระชาลีพระกัณหา พระองค์ก็ยกพระชาลีพระกัณหาให้แก่พราหมณ์ชูชก สองกุมารรู้ก็แล่นหนีลงสู่สระ พระโพธิสัตว์ก็ตามเรียกพระราชบุตรทั้ง ๒ กล่าวเป็นคาถา ยกพระบารมีทานเปรียบยานนาวา คืออุปมาความด้วยสำเภาอันจะพึงขนข้ามซึ่งพานิช คือสัตว์โลกย์กับทั้งเทวโลกย์ให้พ้นสาครคือโอฆสงสารสู่ฝั่งพระนิพพาน เมื่อพระองค์ตรัสเรียกดังนี้แล้ว สองกุมารก็ขึ้นจากสระพามาให้แก่ชูชกพราหมณ์ ทรงหลั่งลงซึ่งทักษิโณทก ปรารถนาพระโพธิญาณ ก็บังเกิดมะหัศจรรย์แผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นพระอินท์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาขอมัทรีอันเป็นพระมเหษี พระองค์ก็ประทานให้ แผ่นดินก็ไหวถึงพรหมโลกย์อีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายพราหมณ์ชูชกที่พาสองกุมารไปถึงทางแยก เทพยดาดลใจให้ไปทางกรุงเชตุอุดร ถึงสำนักนิพระสญไชยราชผู้เป็นพระบรมไอยกา พระองค์ทรงเห็นพระหลานไต่ถามทราบความ แล้วไถ่พระชาลีด้วยทองพันกหาปะณะ ไถ่พระกัณหาด้วยเงินทองและสรรพสิ่งทั้งปวงสิ่งละร้อยๆ ให้แก่พราหมณ์ชูชก แล้วพระเจ้าสญไชยราชกับพระผุสดีอรรคมเหษีและพระชาลีพระกัณหาเสด็จด้วยพล ๑๒ อะโชภีนี ไปรับพระเวศสันดรถึงเขาวงกฏ เมื่อพร้อมหกกระษัตรบังเกิดอัศจรรย์ห่าฝนโบกขรพัษก็ตกลงในที่ประชุมชน แผผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง จึงราชาภิเษกพระเสสสันดรกับพระมัทรี ให้เสวยศิริราชสมบัติในกรุงศีสิราษฐ ณะที่นั้น แล้วก็รับพระโพธิสัตว์คืนเข้าพระนคร ห่าฝนแก้วเจ็ดประการตกลงทั่วทั้งเมือง พระเวศสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานสืบมาเป็นอันมาก เสด็จเสวยถวัลราชสมบัติเป็นบรมศุขตราบเท่าถึงสิ้นพระชนม์ ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตสวรรค์ ทรงพระนามสันดุสิตเทวราช

เมื่อพระบารมีบริบูรณ์ครบ ๔ อสงไขยแสนกัลป์แล้ว พระอินท์และเทพยดาทั้งหมื่นจักระวาฬไปทูลขออาราธนา พระมหาสัตว์ก็จุติจากเทวพิภพลงมาปัติสนธิในพระครรภ์พระศิริมหามายา อรรคมเหษีแห่งพระเจ้าศิริสุโทธน อันครองกรุงกระบิลพัดถุ์ เมื่อประสูตินั้นก็ออกพระวาจาเป็นปถมสีหนาทว่า หาผู้จะเลิศเสมอพระองค์หามิได้ พระราชบิดาถวายพระนามชื่อพระสิธัดถราชกุมาร ครั้นทรงพระเจริญได้นางสากยราชชื่อพระพิมพามาเป็นพระมเหษี มีพระราชโอรสชื่อพระราหุลกุมาร

เมื่อพระมหาสัตว์มีพระชนมายุศมได้ ๒๙ พรรษา ได้ทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง ๔ คือชนชราพยาธิคนตาย และเพศบรรพชิต มรพระไทยหน่ายในฆราวาศเสด็จออกบรรพชา กระทำทุกรกิริยาอยู่หกพรรษา ครั้นถึงบุณมีวันพุฒเดือนหก ปีวอก เสด็จทรงนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ใต้ไม้พระมหาโพธิ ทรมานเสียซึ่งพญามารวัศวดีมารกับพลมารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ แล้วพระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า เที่ยวโปรดเทพยดาอินท์พรหมแลมนุษย์ทุกๆประเทศทั่วชมพูทวีป ได้มรรคและผลสำเร็จแก่พระนิพพาน แลสวรรค์สมบัติ มนุษยสมบัติ เป็นอันมากเหลือจะนับจะประมาณ จึงพวกมหาชนที่เป็นสำมาทฤฐิได้กระทำสักการบูชาคาราวะนับถือพระเวศสันดร และพระชาลีพระกัณหาสืบๆ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้



....................................................................................



คำแปลคาถาพระเวสสันดรเรียกพระชาลีกัณหา
ที่ผนังหลังรูปพระเวสสันดร มีจารึกคำแปลคาถาพระเวสสันดรเรียกพระชาลีกัณหา
แต่ศิลาจารึกนั้นแผ่นที่ ๑ หายไปเสีย ได้แปลขึ้นใหม่สำหรับพิมพ์ในหนังสือนี้
ส่วนแผ่นที่ ๒ เป็นของเดิม

ตาต ดูกรพ่อ ปิยปุตฺต เป็นบุตรเป็นที่รัก ตฺวํ อันว่าท่าน เอหิ จงมา ตุมฺเห อันว่าท่าน ปารมี ยังบารมี มม แห่งเรา ปูเรถ จงให้เต็ม ตุมฺเห อันว่าท่าน อภิญฺสิเจถ จงโสรจสรง หทยํ ซึ่งหทัย เม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน กโรถ จงกระทำตาม วจนํ ซึ่งถ้อยคำ มม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน ยานนาวาว ดุจดังว่าสำเภาอันเป็นยาน อจลา มิได้หวั่นไหว โหถ จงมี เม แก่เรา อหํ อันว่าเรา ภวสาครา ตริสฺสามิ จักออกจากสาครคือพิภพข้ามโพ้น ชาติปารํ ซึ่งฝั่งคือชาติ อหํ อันว่าเรา โลกํ ยังสัตวโลก สเทวกํ กับทั้งเทวโลก สนฺตาเรสฺสํ จักให้ข้ามโพ้น

อมฺม ดูกรแม่ ปิยา ธีดา เป็นธิดาเป็นที่รัก ตฺวํ อันว่าท่าน เอหิ จงมา ทานปารมี อันว่าทานบารมี ปิยา เป็นที่รัก เม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน อภิสิญฺเจถ จงโสรจสรง หทยํ ซึ่งหไทย เม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน กโรก จงกระทำตามตาม วจนํ ซึ่งถ้อยคำ มม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน ยานนาวาว ดุจดังว่าสำเภาอันเป็นยาน อจลา มิได้หวั่นไหว โหถ จงมี เม แก่เรา อหํ อันว่าเรา ภวสาครา ตริสฺสามิ จักออกจากสาครคือพิภพข้ามโพ้น ชาติปารํ ซึ่งฝั่งคือชาติ อหํ อันว่าเรา โลกํ ยังสัตวโลก สเทวกํ กับทั้งเทวโลก


.......................................................................................................................................................


คัดจาก ชุมนุมพระนิพนธ์
พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2550   
Last Update : 17 สิงหาคม 2550 14:06:17 น.   
Counter : 6696 Pageviews.  


กรุงศรีอยุธยา ครั้งบ้านเมืองดี


View of 'Iudea' (Ayutthaya), the former capital of Siam. Anqnymous, Dutch school, c. 1650


คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

คำนำ


คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายอยู่เสมอมาที่จะจัดพิมพ์เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นมรดกของชาติไทยออกเผยแพร่เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการไทยศึกษาโดยทั่วไป การจัดพิมพ์ “เอกสารจากหอหลวง” เรื่อง คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ในครั้งนี้ ก็นับเป็นความพยายามที่จะตอบสนองจุดประสงค์ดังกล่าว

เอกสารที่มาเรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม นั้น ได้เคยตีพิมพ์ลงในวารสาร แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เป็นตอนย่อยๆ ติดต่อกัน ๖ ฉบับ เริ่มตั้งแต่ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ เดือนมกราคม ๒๕๑๒ จนถึงฉบับปีที่ ๕ เล่ม ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ ครั้นล่วงมาถึงปัจจุบันนี้ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ก็ยังเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับปลายอยุธยา ซึ่งนักปราชญ์และผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยจำเป็นต้องใช้ศึกษาอ้างอิงอยู่มาก ติดอยู่เพียงว่าหาอ่านยากขึ้นและใช้เอกสารกระจายอยู่ในแถลงงานประวัติศาสตร์ฯ เล่มต่างๆ ไม่สะดวก การจัดพิมพ์เนื้อความทั้งหมดเป็นเล่มเดียวจึงจะช่วยเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้ออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น

สำหรับที่มาของ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม นั้น นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เขียนเล่าไว้ในคำนำใน แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ เดือนมกราคม ๒๕๑๒ มีความตอนหนึ่งว่า

.....สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ กรมราชเลขาธิการในพระองค์ซึ่งมีกรมขึ้นอยู่ ๓ กรม ได้แก่ กรมบัญชาการ กรมราชเลขานุการในพระองค์ กรมอาลักษณ์ มีเอกสารหลายหลากชนิดเก็บรักษาไว้มากมาย และเก็บรักษามาตั้งแต่ต้นทุกๆ รัชกาล เอกสารลางเรื่องเก่าถึงสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ประกาศยุบกรมราชเลขานุการในพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ งานในหน้าที่กรมราชเลขาธิการในพระองค์ จึงโอนมาเป็นของกรมเลขาธิราชคณะรัฐมนตรี กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับมอบเอกสารมาเก็บรักษาไว้เฉพาะสมุดไทย (ข่อย) ประมาณ ๑๒๙๖๙ สมุดไทย ใบลาน ๒๘๔ ผูก แฟ้ม ๔๔๐ แฟ้ม ฯลฯ ต่อมากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้กรมศิลปากรเก็บรักษา จึงได้พบ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” รวมมาในกลุ่มเอกสารที่ส่งมาให้กรมศิลปากรนั้นด้วย กรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง คือ คุณปรีดา ศรีชลาลัย อดีตข้าราชการกรมศิลปากรได้อ่านพบ จึงได้เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ ที่ประชุมลงมติให้พิมพ์ได้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติภูมิศาสตร์กรุงพระนครศรีอยุธยาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยอนุมัติให้นำลางตอนที่ยังไม่เคยพิมพ์มาลงพิมพ์....

ถ้า คำให้การ มีความหมายว่า “บันทึกเรื่องจากความทรงจำ” อย่างเช่นที่ใช้กับกรณี คำให้การชาวกรุงเก่า หรือ คำให้การขุนหลวงหาวัด แล้ว คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมคงจะมิได้มีลักษณะการเล่าเรื่องจากความทรงจำเสียทั้งหมด และการเรียกชื่อเอกสารชุดนี้โดยชื่อดังกล่าว ก็อาจมีผลทำให้เกิดเข้าใจผิดได้ เป็นต้นว่า ทำให้ผู้ที่มิได้อ่านอรรถความคิดว่าเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพร ทั้งๆ ที่เอกสานนี้น่าจะได้รับการคัดลอกและเรียบเรียงมาจากต้นฉบับในหอหลวง

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์มองว่าเป็น “ครั้งบ้านเมืองดี” เมื่อพิจารณาลักษณะโครงสร้างแล้ว คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

ส่วนที่ ๑ เป็นคำพรรณนาภูมิสัณฐานของพระนครศรีอยุธยาซึ่งจบลงด้วยหัวข้อ “ว่าด้วยเรื่องพระราชวังน่า” ข้อความโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับเอกสารเรื่อง “ว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เล่มที่ ๓๗ (ฉบับคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๑๒) เพียงแต่ คำให้การฯ มีความละเอียดลออมากกว่า และลักษณะภาษาที่ใช้เรียบเรียงก็ดูใหม่กว่า อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้งสองชิ้นนี้น่าจะมีที่มาจากต้นฉบับเดียวกัน และเป็น ตำราโบราณ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) ได้ใช้ในการแต่ง ตำนานกรุงศรีอยุธยา ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีรัชมงคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๕๐

ส่วนที่ ๒ เป็นบันทึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อ กรมจัดการพระศาสนาและพระราชพิธี การเล่าเรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าและพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร อาจเป็นที่มาของการเรียกเอกสารชุดนี้ว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีแสดงว่าน่าจะได้คัดลอกมาจากจดหมายเหตุโบราณมากกว่าจะมีที่มาจากการบอกเล่า

ส่วนที่ ๓ เป็นตำราสอนข้าราชการชั้นสูง เรียกในที่นี้ว่า “เรื่องพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ” เรื่องส่วนนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจ สิ่งที่เป็นแนวทาง จิตวิทยาการปกครอง และข้อพุงปฏิบัติในระบบราชการแบบเดิมของไทยและสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาอยู่มิใช่น้อยในมาตราต่างๆ

ส่วนที่ ๔ เป็นเหตุการณ์สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา อาจแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนต้นเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้รวมตำนานศรีปราชญ์ไว้ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือด้วย จัดว่าอยู่ในประเภท “คำให้การ” ตอนหลังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จนถึงช่วยต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ข้อความนำตอนนี้ที่ว่า “พงศาวดารทอดหลัง นับตั้งแต่พระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติไปจนถึงเมืองสิ้นกรุงสิ้นเรื่อง” แสดงว่า เอกสารที่ตกทอดมาถึงชั้นตีพิมพ์นี้ไม่สมบูรณ์ เหตุที่ทราบว่าตอนต้นและตอนหลังมีที่มาแตกต่างกันและเป็นเอกสารคนละฉบับ เพราะในท้ายตอนต้นบอกวันเวลาสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไว้อย่างหนึ่ง แต่ถัดมาเพียงสองบันทัดเมื่อเริ่มตอนที่สอง บอกวันเวลาสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปอีกอย่างหนึ่ง

ในการตีพิมพ์ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ครั้งนี้ กระผมใคร่เรียนชี้แจงว่า ได้คงลักษณะอักขรวิธีของต้นฉบับไว้ทั้งหมด แต่ได้จัดทำหัวข้อเรื่องแทรกไว้และจัดแบ่งย่อหน้า ให้อ่านและค้นคว้าได้สะดวกยิ่งขึ้น คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักวิชาการไทยศึกษาในด้านต่างๆ คงจะได้ประโยชน์จากเอกสารนี้สมเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้


นายวินัย พงศ์ศรีเพียร
บรรณาธิการ





แผนที่ Villede Siam Ou Juthia ของนิโคลาส แบลแลง



ภูมิสัณฐาน

จะกล่าวถึงภูมิลำเนากรุงเทพมหานคร บวรทวาระวดีศรีอยุธยาราชธานี พระนครตั้งอยู่บนเกาะหนองโสนในประเทศสยาม มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะ เกาะนั้นมีสัณฐานคล้ายสำเภานาวา พระนครนั้นมีนามปรากฏว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธย่ มหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสฐ้าน มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จดำรงราชสมบัติในพระมหานคร เปนพระบรมราชาธิราชใหญ่ในสยามประเทศ มีพระราชอาณาเขตรกว้างขวาง ทิศเหนือถึงแดนลาว ทิศใต้ถึงแดนมลายู ทิศตะวันออกถึงแดนเมืองเขมร ทิศตะวันตกถึงแดนมอญ มีเจ้าประเทศราชลาวพุงขาว ลาวพุงดำ เขมร แขกมลายู มาถวายดอกไม้ทองเงินเสมอมิได้ขาด มีพระราชอภินิหารเดชานุภาพล้ำเลิศประเสริฐยิ่งนักหนา ทรงรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยทางทศพิตรราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา และสมณพราหมณจาริยแลไพร่ฟ้าประชากร ให้อยู่เย็นเป็นสุขสโมสรหาสิ่งเสมอมิได้ พวกพานิชนานาประเทศทราบเหตุว่ากรุงศรีอยุทธยาผาศุกสมบูรณด้วยสินค้าอุดมดี พวกพานิชก็แตกตื่นกันเข้ามาถวายบรรณาการ ขอพระราชทานพึ่งพระบรมโภธิสมภาร ค้าขายในพระมหานครเปนอันมากจะนับคณะนามิได้ กรุงศรีก็ไพศาลสมบูรณเป็นรัตนธานี ศรีสวัสดิ พิพัฒมงคลแก่ชนชาวสยามความเจริญทั่วพระนคร

อนึ่งกรุงศรีอยุธยา มีด่านขนอนคอยเหตุการต่างๆ ตั้งอู่ตามลำแม่น้ำรอบกรุงทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเปนทางแม่น้ำใหญ่จะเข้ามาในพระนครนั้น ทิศตะวันออกตั้งด่านที่ตำบลบ้านเข้าเม่าด่าน ๑ ทิศใต้ตั้งด่านที่ตำบลบ้านบางตะนาวศรีด่าน ๑ ทิศตะวันตกตั้งด่านที่ตำบลบ้านปากคูด่าน ๑ ทิศเหนือตั้งด่านที่ตำบลบ้านบางหลวงด่าน ๑ รวมเปนด่าน ๔ ตำบล เรียกว่าขนอนหลวง ๔ ทิศ รอบกรุงมีขุนด่านหมื่นขนอน แลไพร่หลวงรักษาด่าน นาย ๒ ไพร่ ๒๐ ในเดือน ๑ ผลัดเปลี่ยนเวียเวรละ ๑๕ วัน สำหรับตรวจตราของต้องห้ามตามกฎหมายแลเครื่องงสาตราวุธที่แปลกปลาด แลผู้คนที่แปลกปลอมเข้าออก ต้องทักท้วงไต่ถามตามเหตุการ ที่ด่านทั้ง ๔ ตำบลนั้นมีม้าใช้ เรือเร็วไว้สำหรับคอบบอกเหตุการมาในกรุง

ว่าด้วยเรือจ้างรอบกรุง

อนึ่งกรุงศรีอยุทธยานั้นมีแม่น้ำล้อมรอบกำแพงพระมหานคร มีทำนบรอฃ้ามแม่น้ำมาแต่ฝั่งฟากตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาที่ชานกำแพงพระนครตรงพระราชวังจันทน์บวร ริมป้อมมหาไชยใกล้ฉางวังน่า ทำนบรอนั้นกว้างสามวา มีช่องกลางแม่น้ำสำหรับเรือใหญ่น้อยไปมาได้ในระหว่างนั้น บนทำนบรอทั้งสองฝั่งมีกระดานปูเป็นพื้น มีลูกฟูกไม้ห่างศอกหนึ่งเป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฟาก ที่กลางนั้นปูกระดารเปนเหมือนตะพานช้าง ทำนบรอนี้สำหรับสมณพราหมณจาริยอณาประชาราษฎร และช้างม้าเกวียนต่างเดินเข้าออกในพระนครแต่ทางเดียว เรียกกันว่าหัวรอ ที่เชิงลาดตะพานทำนบนั้นมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามไม้ให้ช้างม้าเกวียนกระบือต่างโคเดินเลยเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินได้ แต่มีบาดหมายมาบอกก่อน

ทำนบรอนี้มีขึ้นเมืองจุลศักราช ๙๑๘ ปีมะโรงอัฐศก ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินที่ ๑๖ ในกรุงศรีอยุทธยา เพราะครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงษาวดียกกองทัพมาทำสงครามล้อมกรุง แล้วมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเปนทำนบรอถมดินทำตะพานเรือ ฃ้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้ ภายหลังต่อมาก็ไม่ได้รื้อทำลาย เอาไว้ใช้เปนตะพานใหญ่ฃ้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้โดยสดวก เมื่อทำนบรอเก่าของพวกมอญพุพังไป ไทยก็ทำซ่อมแปลงผลัดเปลี่ยนต่อมาเนืองๆ เปนตะพานใหญ่

กรุงศรีอยุทธยาด้านกว้างตะวันออก มท่าเรือจ้างข้ามรับส่งคนไปมาเข้าออก ๕ ตำบล คือตั้งแต่หัวรอมาถึงวัดตะพานเกลือ มีเรืองจ้างฃ้ามเข้ากรุงที่ท่า ๘ ตำรวจท้ายวังน่าตำบล ๑ เรือจ้างฃ้ามเข้ากรุงที่ท่าช่างวังน่าแลมาท่าวิลันดา ๑ เรื่องจ้างฃ้ามออกจากกรุงไปวัดนางชี ๑ เรืองจ้างฃ้ามออกจากกรุงไปวัดพิไชย ๑ เรือจ้างฃ้ามออกจากกรุงไปวัดเกาะแก้ว ๑ เรือจ้างฃ้ามรับส่งคนเข้าออกกรุงด้านตะวันออก ๕ ตำบล

กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศใต้นั้น มีท่าเรือจ้างฃ้ามรับส่งคนเข้าออกที่กรุงหกตำบล คือเรืองจ้างท่าประตูช่องกุตหัวตลาดโรงเหล็ก ฃ้ามออกจากกรุงไปน่าวัดเจ้าพระนางเชิง ๑ เรือจ้างท่าหอยฃ้ามออกจากรุงไปวัดป่าจาก ๑ เรือจ้างท่าพระยาราชวังสันฃ้ามออกจากกรุงไปขึ้นวัดขุนพรม ๑ เรือจ้างท่าด่านชีฃ้ามออกไปวัดสุรินทราราม ๑ เรือจ้างท่าฉะไกรน้อยข้ามออกจากกรุงไปวัดทาราม ๑ เรือจ้างท่าว้งไชยฃ้ามออกไปจากกรุงไปวัดนาดปากคลองลคอนไชย ๑ รวมท่าเรือจ้างด้านยาวกรุงทิศใต้ ๖ ตำบล

กรุงศรีอยุทธยาด้านกว้างตะวันตกนั้น มีท่าเรือจ้าง ๔ ตำบล คือเรือจ้างท่าบ้านชีฃ้ามออกจากกรุงไปวัดไชยาราม ๑ เรือจ้างท่าพระราชวังหลังฃ้ามออกจากกรุงไปวัดลอดช่อง ๑ เรือจ้างท่าด่านลมฃ้ามออกจากกรุงไปวัดกระษัตรา ๑ เรือจ้างท่าบ้านเจ้าพระยาพลเทพฃ้ามออกจากกรุงไปวัดธรมา ๑ รวมท่าเรือจ้างด้านกว้างกรุงทิศตะวันตก ๔ ตำบล

กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศเหนือนั้น มีท่าเรือจ้างเจดตำบล คือเรือจ้างท่าปตูสัตกปฃ้ามออกจากกรุงไปวัดฃุนญวน ๑ เรือจ้างท่าม้าอาบน้ำฃ้ามออกจากกรุงไปวัดตินท่า ๑ เรือคอยราชการประจำทั้งกลางวันแลกลางคืนที่ท่าขุนนางพระราชวังหลวง ฃ้ามออกจากกรุงไปขึ้นท่าศาลากระเวรฟากสระบัวหลวง ๑ เรือจ้างท่าช้างวังหลวง คือท่าสิบเบี้ยนั้น ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดสีโพ ๑ เรือจ้างท่าทราบฃ้ามออกจากกรุงไปวัดโรงฆ้อง ฃ้างบ้านเจ้าพระยาจักรีที่ท่าทรายนั้น มีศาลาคู่อยู่สองหลังสำหรับคนไปมาภักอาไศรยเปนศาลาฉ้อทาน ๑ เรือจ้างท่าวัดชรองตรงภนนโรงช้างพระราชวังน่านั้น ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดป่าคนที ตรงถนนปั้นม่อ ๑ เรือคอยราชการประจำทั้งกลางวันกลางคืนที่ท่าขุนนางวังน่า ริมป้อมมหาไชยน่าพระราชวังจันทน์บวร ฃ้ามออกจากกรุงไปขึ้นที่วัดนางปลื้มแลท่าโขลน ๑ รวมท่าเรือจ้างด้านยาวกรุงทิศเหนือ เปนเรือจ้างแท้ ๕ ตำบล เรือคอยราชการ ๒ ตำบล รวมเปนเจดตำบล

แม่น้ำล้อมรอบกรุงทั้ง ๔ ด้าน มีตะพานใหญ่ทำนบรอตำบล ๑ มีท่าเรือคอยราชการ ๒ ตำบล มีท่าเรือจ้างยี่สิบตำบล รวมทางคนฃ้ามแม่น้ำเข้าออกในกรุง ๒๓ ตำบล


มีตลาดเรือที่แม่น้ำรอบกรุงเปนตลาดท้องน้ำ เปนตลาดใหญ่ในท้องน้ำ ๔ ตลาด คือตลาดน้ำวนบางกะจะน่าวัดเจ้าพระนางเชิง ๑ ตลาดปากคลองคูจามท้ายสู่เราแขก ๑ ตลาดปากคลองคูไม้ร้อง ๑ ตลาดปากคลองวัดเดิมใต้ศาลเจ้าปูนเท่าก๋ง ๑ เปนตลาดเอกในท้องน้ำ ๔ ตลาดเท่านี้

มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนคร ตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดแต่ในรอบบริเวณในขนอนใหญ่ทั้ง ๔ ทิศรอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตรงกรุง และชานกำแพงกรุงนั้นด้วยรวมเปน ๓๐ ตลาด คือตลาดน่าวัดน่าพระธาตุหลังขนอนบางหลวง ๑ ตลาดชาวลาวเหนือวัดคูหาสวรรค์ ๑ ตลาดริมคลองน้ำยา ๑ ตลาดป่าปลาเชิงทำนบรอ ๑ ตลาดน่าวัดแคลงแลวัดตะพานเกลือ ๑ ตลาดท่าเรือจ้างวัดนางชีน่าบ้านโปรตุเกต ๑ ตลาดบ้านบาตร์วัดพิไชย ๑ ตลาดวัดจันทนารามหลังวัดกล้วย ๑ ตลาดหลังตึกห้างวิลันดาแถววัดหมู ๑ ตลาดวัดสิงหน่าตึกญี่ปุ่น ๑ ตลาดวัดทองถนนลายสอง ๑ ตลาดวัดท่าราบน่าบ้านเจ้าสัวซีมีตึกแถวยาว ๑๖ ห้องสองชั้นๆล่างตั้งร้านฃายของ ชั้นบนคนอยู่ หัวตลาดนี้มีโรงตีเหล็กแลโรงเยบรองท้าว ทำยาแดงสูบกล้องฃายตลาด ๑ ตลาดบ้านปูนวัดเขียนลายสอง ๑ ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เปนตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ฃายของงจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด ๑ ตลาดบ้านกวนลอดฉ้อง ๑ ตลาดท่าเรือจ้างวัดธรมา ๑ ตลาดบ้านป้อมตรงขนอนปากคู ๑ ตลาดแหลมคลองมหานาคถนนบัณฑิตย์ ๑ ตลาดวัดขุนญวนศาลาปูน ๑ ตลาดคูไม้ร้องหลังโรงเรือพระที่นั่ง ๑ ตลาดน่าวัดตะไกรลงมาน่าวัดพระเมรุ ๑ ตลาดฃ้างวัดควายวัดวัวถนนบ้านทำม่อ ๑ ตลาดป่าเหลกหลังบ้านเฃมรโยมพระ ๑ ตลาดวัดครุธ ๑ ตลาดคลองผ้าลายริมวัดป่าแดงหลังวังฟักเจ้าลาว ๑ ตลาดริมบ้านโรงกูบน่าวัดกุฎีทอง ๑ ตลาดวัดโรงฆ้อง ๑ ตลาดน่าวัดป่าคนที ๑ ตลาดบ้านป่าเหลกท่าโขลง ๑ ตลาดวัดมะพร้าวริมบ้านญวนทะเล ๑ รวมตลาดบกนอกกำแพงพระนคร ๓๐ ตลาดเปนตลาดใหญ่

ว่าด้วยการค้าขายนอกกรุง

อนึ่ง ริมแม่น้ำทั้งสองฝั่งฟากรอบกรุงศรีอยุทธยานั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแลราษฎรทำของต่างๆ ขายแลประกอบการค้าขายต่างๆ กัน เปนหมู่เปนย่านเปนตำบลมากมาย ย่านสำพนีตีสกัดน้ำมันงาน้ำมันลูกกะเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่วขาย ๑ บ้านหมู่หนึ่งทำฝาเรือนอยู่แลเรือนหอด้วยไม้ไผ่กรุกระแซงบ้าง กรุแผงกำบ้าง ทำไว้ฃายแลรับจ้างบ้าง ๑ บ้านหมู่หนึ่งทำการหล่อเหลกเปนครกสากเหลกฃาย แลตั้งเตาตีมีดพร้าแลรูปพรรณต่างๆ รับจ้างแลทำไว้ฃาย ๑ บ้านทั้งสามพวกนี้อยู่ย่านสัมพนี

บ้านม่อ ปั้นม่อเข้าม่อแกงใหญ่เลก แลกะทะเตาขนมครกขนมเบื้อง เตาไปตะเกียง ใต้ตะคันเชิงไฟ พานภู่มสีผึ้งถวายพระเข้าวษา บาตร์ดินกระโถนดิน ๑ บ้านกระเบื้องทำกระเบื้องผู้เมีย แลกระเบื้องเกล็ดเต่ากระเบื้องขอกระเบื้องลูกฟูกฃาย ๑ บ้านศาลาปูนตั้งเตาทำปูนแดงฃาย ๑ บ้านเขาหลวงพวกจีนตั้งโรงต้มสุราฃาย ๑ บ้านห้าตำบลนี้อยู่ในแขวงเกาะทุ่งขวัญ

บ้านเกาะขาดหล่อผอบยาเต้าปูนทองเหลือง แลเท้าพานไม้ควักปูนลนหงษฃาย ๑ บ้านวัดครุธปั้นนางเลิ้งสำหรับใส่น้ำฃาย ๑ บ้านริมวัดธรณีเลื่อยกระดานไม้งิ้วไม้อุโลกฃาย ๑ บ้านริมวัดพร้าวพวกกราหมณ์แลไทยทำแป้งหอมน้ำมันหอม กระแจะน้ำอบ ธูปกระแจะ ธูปกระดาษและเครื่องหอมทาฃาย ๑ บ้านท่าโขลงตั้งเตาตีเหลกตะปูตะปลิงใหญ่น้อยฃาย ๑ บ้านคนทีปั้นกระโถนดินกระถางดินปลูกต้นไม้ แลตะคันเชิงไฟเตาไฟ แลปั้นรูปช้างรูปม้าตุกตาต่างๆ ฃาย ๑ บ้านริมโรงฆ้องแถวถนนน่าบ้านเจ้าพระยาจักรีนั้น พวกหมู่นั้นเปนแม่ค้าซื้อกล้วยดิบมาบ่มแลต้มฃาย ๑ บ้านเจดตำบลนี้อยู่ในเกาะทุ่งแก้ว

บ้านนางเลิง บ้านหอแปลพระราชสาสนนั้น ทำกระดาษข่อยแลสมุดดำฃาวฃาย ๑ บ้านคลองธนูเอกพะเนียด ชาวบ้านนั้นตั้งโรงร้านเรือนแพฃายไม้ไผ่ป่าไม้ไผ่สีสุกไม้รวกฃาย เสาใหญ่น้อยเป็นไม้แก่น แลไม้พรึงรอด ๑ บ้านรามเซาระบุบาตรเหลกน้อยใหญ่ฃาย ๑ บ้านริมวัดพอไชยต่อหุ่นตลุ่มพานแว่นฟ้าสองชั้นฃาย ๑ บ้านนางเอียนฝั่งกำแพงกรุงเลื่อยไม้สักทำฝาเรือนปรุงเรือน ฝากระดานและเครื่องสับฝาสำรวดฃาย ๑ บ้านวัดน้ำวนพวกจีนตั้งโรงตีเหลก ทำขวานหับเหลกป้านแลขวานมะลูฃาย ๑

อนึ่ง เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพระพิศณุโลกยฝ่ายเหนือ บันทุกน้ำอ้อยยาสูบขี่ผึ้งน้ำผึ้งสินค้าต่างๆ ฝ่ายเหนือล่องเรือลงมาจอดฃาย ตั้งแต่น่าวัดกล้วยลงมาจนปากคลองเกาะแก้ว ที่ใต้ปากคลองเกาะแก้วลงมาหน่อยหนึ่งนั้น เรือมอญใหญ่ปากกว้าง ๖ – ๗ ศอก พวกมอญบันทุกมะพร้าวห้าว แลไม้แสมทเลแลเกลือฃาวมาจอดฃาย ๑

อนึ่งที่บ้านศาลาเกวียนนั้นมีศาลาใหญ่ห้าห้องสองหลัง สำหรับเกวียนเมืองนครราชสีหมาแลเมืองพระตะบองมาจอดที่ศาลานั้น ในระดูเดือนสามเดือนสี่ ต่างแลเกวียนเมืองนครราชสีหมาบันทุกสินค้าต่างๆ คือน้ำรักขี้ผึ้งปีกนก ผ้าตรางผ่าสายบัวสี่คืบน่าเกบทอง แลผ้าตาบัวปอกตาเลดงา แลหนังเนื้อ เอนเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่งไหม กำยาน ดีบุก หน่องาของป่าต่างๆ เกวียนเมืองพระตะบองพวกเขมรบันทุกลูกเร่วกระวานไหมกำยาน ครั่งดิบุกหน่องาแลผ้าปูมแพรญวนทองพรายพลอยแดง แลสินค้าต่างๆ ตามอย่างเมืองเขมร พวกโคราชและพวกเขมรเอาสินค้ามาฃายที่ศาลาเกวียน ถ้ามามากศาลาไม่พออยู่ต้องปลูกกระท่อมอยู่ตามแถบนั้น ศาลานั้นเปนของเรี่ยไร พวกลูกค้าเกวียนแลลูกค้ารับรวมกันทำขึ้นแลซร้อมแซรมต่อๆ มา ในระดูลูกค้าต่างแลเกวียนมานั้น ชาวบ้านนั้นทำฃองกินต่างๆ ออกนั่งร้านขายเปนตลาดคราวหนึ่ง

แถวน่าวัดสมอวัดขนุนวัดขนาน สามวัดนั้น ชาวเมืองอ่างทองแลเมืองลพบุรี เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห เมืองสรรค เมืองสุพรรณ เอาข้าวเปลือกบันทุกเรือใหญ่น้อยมาจอดฃายที่นั้น ๑ แลชาวบ้านแถวน่าวัดทั้งสามนั้นตั้งโรงสีโรงกระเดือ่งสีเข้าซ้อมเข้าฃาวชาวพระนคร แลขายพวกโรงต้มสุรา ถึงระดูสำเถาเข้าทำเข้าสารฃายจีนในสำเภาเป็นเสบียง ๑ บ้านปากเข้าสารพวกจีนตั้งโรงต้มสุรา แลเลี้ยงสุกรฃาย ๑

อนึ่ง เรือระแหงแขวงเมืองตาก แลเรือหางเหยี่ยวเมืองเพชรบูรณ์นายม บันทุกครั่งกำยานเหลกหางกุ้ง เหลกล่มเลยเหลกน้ำภี้ ใต้หวายชันน้ำมันยางยาสูบ เขาหนัง หน่องาสรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมือง มาจอดฃายตามแถวปากคลองสวนพลู ตลอดมาจนน่าวัดเจ้าพระนางเชิง ๑ บ้านในคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุราเลี้ยงสุกรฃาย แลทำเส้นหมี่แห้งฃาย ๑ บ้านขนมตาล ชาวบ้านนั้นรับเรือเถาเรือพ่วงไว้ฃาย ๑ บ้านสกัดน้ำมันหุงขี้ผึ้งแดงแดงแลขี้ผึ้งขาว เชยน้ำมันงาฃาย ๑ บ้านคลองเกลือ ชาวบ้านนั้นตั้งโรงสีเข้า ซ้อมเข้าฃายพวกโรงสุราแลสำเภาจีน ๑ บ้านยี่ปุ่น ชาวบ้านนั้นเปนชาวไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่หลังตึกยี่ปุ่น ชาวบ้านนั้นรับกงเรือน้อยใหญ่แลกงสำเภาไว้ฃาย แลรับไม้กงกางไว้ขายพวกทำฟันสีเข้า ๑ บ้านข้างกำแพงนอกกรุงตรงหัวเลี้ยวตำบลสารพานั้น จีนตั้งโรงย้อมครามผ้าแลด้ายแลผ้าฃาย ๑

บ้านน้ำวนบางกะจะมีเรือปากใต้ปากกว้างสามวาสิบศอก พวกลูกค้าจีนแลแขกจามทอดสมอขายน้ำตาลขายน้ำตาลกรวด สาคูเมดใหญ่เลก กำมถันจันทน์แดง หวายตะค้ากระแซงเตยแลสินค้าต่างๆ ข้างปากใต้ ๑ แลแถวนั้นมีแพลอย พวกลูกค้าไทยจีนแขกเทศแขกจาม นั่งร้านแพฃายสรรพสิ่งของต่างๆ กันทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดาราราม ตลอดลงมาจนน่าพระราชวังหลัง แถวนี้เปนฝั่งพระนคร แต่ฝั่งตรงพระนครนั้นแพจอดตั้งแต่ท้ายวัดเจ้าพระนางเชิง ตลอดมาจนท้ายวัดพุทไธยสวรรค์แลเลยไปจอดเปนระยะจนน่าวัดไชยวัฒนาราม แลแม่น้ำตรงตลอดมีแพลูกค้าพานิชจอกฝั่งตระวันตก ตั้งแต่ปากคลองตะเคียนเรี่ยรายขึ้นมาถึงน่าวัดแขกตะเกียมีชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้าววัดกุฎบางกะจะ ตรงวัดเจ้าพระนางเชิงฝั่งตะวันออกตั้งแต่ท้ายเกาะเรียนมีแพรจอดเรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้าม มีแพชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดเจ้าพระนางเชิง ประมาณแพแต่บริเวณกรุงศรีอยุทธยารอบพระนครนั้น ราวสักสองหมื่นเสศพันปลายเปนแน่ ทั้งแพอยู่แลแพค้าขายในแขวงจังหวัดรอบกรุง ไม่น้อยตำลงมาจากสองหมื่นเสศพันเลยเป็นแน่

ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เปนมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีนแลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช และพวกลูกค้าแขกสุรัดแขกชวามาลายูแขกเทศฝรั่งเศสฝรั่งโลสงโปรตุเกศวิลันดาอิศปันยอนอังกฤษ แลฝรั่งดำฝรั่งเมืองลังกุนีแขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอกสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่างๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา ๑

อนึ่ง ที่น่าท่าประตูหอยนั้นมีเรือลูกค้าชาวทเล มาจอดฃายหอยแมงพู่หอยตะพงปูทเลแมงดาปลาทเลย่างแลสดบ้าง ๑ ย่านป่าจากฃายเชือกกระแซงหวายใต้ชันน้ำมันยางหมันเรือตามเรือเรือนแพ แลมีเรือปากกว้างแปดศอกสิบศอกบันทุกจากมาจอกฃาย ๑ ย่านบ้านริมวัดขุนพรม ชาวบ้านย่านนั้นเอาผ้าฃาวเทศมาเขียนพิมพ์ตีพิมพ์เปนดอกผ้าลายน้ำจืดฃาย บ้างต่อโลงไม้อุโลกสำหรับใส่สพไว้ฃายก็หลายบ้าน ๑ ย่านบ้านท่ากายีนอกกำแพงกรุง เปนบ้านแขกเก่า พวกแขกนั้นฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเปนสายสมอ ยาวเส้นหนึ่งบ้าง ยาวสามสิบวาบ้าง ลางทีทำยาวถึงห้าสิบวา ฃายแก่นายกำปั่นสลุปสำเภา แลฟั่นชุดจุดบุหรี่ด้วยเปลือกมะพร้าวฃายขุนนางแลราษฎร ที่ต้องการใช้แลทำบุญ ๑ บ้านท้ายคูพวกแขกจามสานเสื่อลันไตผืนใหญ่น้อยฃายแลสมุกฃาย ๑

อนึ่งเรือปากใต้ปากกว้าง ๖ ศอก ๗ ศอก ชาวบ้านยี่สารบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี แลบ้านตะบูนบ้านบางทะลุบันทุกกะปิน้ำปลาปูเคมปลากุเราปลากะพงปลาทูปลากะเบนย่าง มาจอดเรือฃายแถววัดเจ้าพระนางเชิง ๑ บ้านปูนริมวัดเขียนทำปูนแดงฃาย ๑ บ้านพระกราน ชาวบ้านนั้นจับปลาหมอเกราะหามมาเร่ฃายบ้าง ใส่เรือมาเร่ฃายบ้าง ในระดูกรุตน์สงกรานต์ ชาวกรุงซื้อปล่อยทำบุญ ๑ บ้านริมวัดลอกช่อง พวกแขกตานีทอผ้าไหมผ้าด้ายเป็นผ้าพื้นม่วงเกลี้ยงม่วงดอกฃาย ๑ บ้านน่าวัดราชพรีวัดธรมานอกนั้น ทำโลงไม้ศักไม้อุโลกและเครื่องศพสำหรับศพต่างๆ ไว้ฃาย ๑ บ้านป้อมหัวแหลมพวกแขกเก่าแลลาวเก่า จับนกอันชังแลนกกระจายฆ่าตายเที่ยวเร่ฃาย ๑ แลจับนกสีชมภูนกปากตะกั่ว นกแดงอิฐ นกกระทินกกระจาบเปน ใส่กรงเที่ยวเร่ฃาย ให้ชาวพระนครซื้อปล่อย เมื่อระดูเทศกาลกรุศน์สงกรานต์ที่แม่น้ำหัวแหลมน่าวัดภูเขาทอง ใต้ศาลเจ้านางหินลอยนั้น พวกจีนตั้งโรงต้มสุราแลเลี้ยงสุกรฃาย ๑

อนึ่ง เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองสวรรคโลกย์ แลหัวเมืองฝ่ายเหนือ บันทุกสินค้าต่างๆ ฝ่ายเหนือมาจอดฃายริมแม่น้ำแลในคลองใหญ่วัดมหาธาตุในเทศกาลน่าน้ำ ๑ รวมที่ค้าฃายนอกกำแพงกรุง ๕๒ ตำบล

ว่าด้วยเรือต่างๆ ในโรง

อนึ่ง กรุงศรีอยุทธยานั้นมีโรงเรือต่างๆ อยู่นอกกำแพงพระนครเป็นอันมาก อนึ่ง ที่ย่านบ้านวัดท่าการ้องนั้น ตั้งโรงเรือรบน้ำจืดแถวหนึ่งสามสิบหลัง เสาไม้มะค่าหลังคากระเบื้องลูกฟูก หลังหนึ่งไว้เรือรบได้ ๑๐ ลำบ้าง ๖ ลำบ้าง ตามเรือใหญ่เรือเล็กมีขุนหมื่นแลไพร่หลวงรักษาทุกเดือน ถ้ามีราชการสงครามก็ยาแลเขนออกจากอู่ในโรง ไปใช้ราชการได้พร้อมเพรียง ๒๐๐ ลำ อนึ่ง ใต้ปากคลองตะเคียนนั้นมีโรงเรือรบทเลใหญ่น้อยต่างๆ ไว้ในโรงในอู่เรียงกันตามแม่น้ำใหญ่ ท้ายเรืออยู่ปากอู่ลำเรือขวางแม่น้ำทุกลำใส่โรงละลำบ้าง โรงละสองลำบ้าง มีเรือใหญ่ท้ายสำเภา เปนเรือรบทเลสามสิบลำ เรือเล็กท้ายปลา เรือรบทะเลร้อยลำทำด้วยไม้ตะเคียนทั้งสิ้น โรงนั้นปักเสาไม้มะค่าหลังคามุงกระเบื้องลูกฟูก มีฝาแลประตูมีผู้รักษาทั้งนายแลไพร่ พระยาราชวังสันได้ว่ากล่าวดูแลเปนแม่กอง แต่เรือรบน้ำจืดนั้น พระยามมหาอำมาตย์ได้ว่ากล่าวดูแลรักษา ที่ท้ายบ้านท่าเสือข้ามนั้น มีอู่สำหรับต่อกำปั่นแลสำเภาหลวงเรียงกันสิบแปดอู่ แลสำเภาที่อยู่ริมกำแพงพระนครมีอยู่ ๔ อู่ ที่ใต้ประตูไชยสองอู่ ที่ป่าตองสองอู่ เปนอู่หลวงเก่ามาแต่เดิม

อนึ่ง โรงเรือนพระที่นั่งซ้ายโรง ๑ ขวาโรง ๑ แต่ละโรงนั้นยาวเส้นหนึ่งก็มี ยาวห้าเส้นก็มี ยาวเส้น ๑๐ วาก็มี โรงนั้นเสาไม้มะค่าแปดเหลี่ยมหลังคามีพไลสองข้างซ้ายขวา มีช่อฟ้าหางหงษทุกโรง ฝาก่อเปนผนังอิฐโบกปูนมีช่องลม โรงเรือขวาเรียงมาตามน้ำถึงน่าวัดตินท่า ไว้เรือรูปสัตว์แลเรือต้นเรือไชย ทั้งสิ้นถึงยี่สิบโรงๆ ละห้าลำบ้างสิบลำบ้าง แต่โรงเรือที่อยู่บนบกริมศาลากระเวนนั้น เสาก่ออิฐฝาอิฐหลังคามุงกระเบื้องมีฉ้อฟ้าโรง ๑ ใส่เรือศีศะพระครุธพาหนะพระที่นั่งกำปาง ๑ ใส่เรือศีศะรูปยักษ์มีปีกเรียกว่าพระที่นั่งงอสุราวายุภักษลำ ๑ โรงเรือซ้ายอยู่บนบกที่คูไม้ร้องเรียงกันมาจนถึงวัดตินท่า ใส่เรือพระที่นั่งศีศะหงษพาหนะ พระที่นั่งกำปางลำ ๑ เริอพระครุธพาหนะสองลำ ๑ สำหรับทรงเสด็จไปประพาษทรงเบดปลาฉนากฉลามตามชายทเล

อนึ่ง เรือพระที่นั่งกิ่งใหญ่ชื่อแก้วจักรมณีขวาลำ ๑ ชื่อสุวรรณจักรรัตนซ้ายลำ ๑ เรือพระที่นั่งกิ่งรองทรงชื่อสุวรรณพิมานไชยขวาลำ ๑ ชื่อสุมมุติพิมานไชยซ้ายลำ ๑ เรือแก้วตอกกรองขวาลำหนึ่ง ๑ เรือสาลิกาล่องลมซ้ายลำ ๑ เรือทองแผ่นฟ้าซ้ายลำ ๑ เรือทองแผ่นขวาลำ ๑ เรือเอกไชยซ้าย ๔ ลำ ชื่อสีเทพพายกรลำ ๑ ชื่ออำมรรัตนาศนลำ ๑ ชื่อปราสาทอำมรินทรลำ ๑ ชื่อสินธุประเวศลำ ๑ เรือเอกไชยขวา ๔ ลำ ชื่อรัตนพิมานอำมเรศลำ ๑ ชื่อพิเศศบันลังก์ลำ ๑ ชื่ออาศนภุชฌงลำ ๑ ชื่อบันยงนาเวศลำ ๑ แลเรือพระที่นั่งศีศะนาคเจดเศียร ๒ ลำ ชือพิมานวาสุกรีลำ ๑ อีกลำ ๑ ชื่อศรีมงคลนาคินทรลำ ๑ มีบุษบกอยู่กลางลำทุกลำเปนพระแท่นบันลังก์พระที่นั่งทรง ลางลำก็มีจตุมุขแลยอกมณฑป ลางลำก็มีแต่มณฑปบุษบกเปล่าไม่มีมุข แลเรือเหราลอยล่องสมุทลำ ๑ มีหลังคาบัญลังก์สีมุขฉ้อฟ้า แลเรือรูปสัตว์ต่างๆ มากมายเหลือที่จะพรรรณา

เรือเหล่านี้อยู่ในโรงฉ้อฟ้าทั้งสิ้น ในโรงเรือนั้นขุดอู่ทุกโรงมีทำนบน่าโรงสำหรับปิดน้ำใน โรงนั้นมีเสาเตาม่อทุกโรง ถ้าจะเอาเรือขึ้นคานก็เปิดทำนบน่าโรงเสีย ให้น้ำไหลเข้าไปในอู่เตมแล้ว เอาคานพาดเสาเตาม่อไว้ ครั้นน้ำลงแห้ง ท้องเรือก็ตั้งอยู่อยู่บนคาน แล้วปิดทำนบไว้ไขน้ำออกให้หมดในอู่ แต่เรือพระนั่งสักลาดแลเรือพระที่นั่.กราบซ้ายขวาทั้งปวงนั้นอยู่ตามโรงแถววัดติท่าเรียงต่อมา แลเรือดั้งเรือกั้น เรือกระบวนต่างๆ ก็อยู่ในโรงแถวขวาแลซ้ายเปนอันมาก

ฝีพายเรือพระที่นั่งนั้น คือพวกบ้านโพเรียงบ้านพุทเลาเป็นพนักงานพาย มีเจ้ากรม ปลัดกรม ปลัดกองนายหมู่นายหมวด แต่พระอินทรเทพได้ว่าพวกฝีพายซ้าย พระพิเรนทรเทพได้ว่าพวกฝีพายขวา ตามตำราในโบราณราชประเพณีสืบมา พวกฝีพายนั้นได้พระราชทานตราภูมคุ้มห้าม ด่านขนอนอากรตลอดไม่ต้องเสีย โปรดพระราชทานให้เปนกำลังราชการ ปีหนึ่งใช้ราชการสามเดือน แต่ฝีพายลำทรงทุกหมู่

ว่าด้วยในพระนครกรุงศรีอยุธยา

จะกล่าวถึงภูมลำเนาพระนคร ตั้งอยู่บนเกาะหนองโสนในประเทศสยาม มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะ เกาะนั้นมีสันถานคล้ายรูปสำเภานาวา ด้านยาวอยู่ทิศเหนือแลทิศใต้ ด้านกว้างข้างรูปศีศะสำเภานั้นอยู่ทิศตะวันออก ด้านกว้างข้างท้ายสำเภาอยู่ทิศตะวันตก มีกำแพงก่อด้วยอิฐบ้างศิลาแลงบ้าง ก่อด้วยอิฐแดงบ้างล้อมรอบเปนพระนคร พระนามกรปรากฏว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา กำแพงตั้งแต่พื้นดินสูงสุดใบเสมาสามว่า มีชานเชิงเทินช่องเนินบันพทโดยสูง ๘ ศอก มีป้อมค่ายคูประตูใหญ่น้อยเรียงรายล้อมรอบพระนคร พระนครด้านยาวร้อยเส้นเสศ ด้านกว้างห้าสิบเส้นเสศ

พรรณาตามมีในฉบับพระตำหรับหอหลวงท่านกล่าวว่า กรุงศรีอยุทธยานั้นตั้งต้นทิศตะวันออกเวียนขวาตั้งแต่ป้อมมหาไชยท้ายทำนบรอมาถึงประตูใหญ่ ชื่อประตูท่าช้างวังจันทนบวร คือท่าช้างวังน่า ๑ แลจึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูฉนวนน้ำ ประจำท่าพระราชวังจันทนบวร คือประตูฉนวนวังน่า ๑ จึ่งมาถึงประตูช่องกุฎสามช่อง แล้วจึงมาถึงป้อมวัดฝาง ๑ แล้วจึงมาถึงประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูหอรัตนไชย ๑ แล้วจึ่งมาถึงประตูช่องกุฎสามช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ ห้ามไม่ให้เอาศพออกชื่อประตูเจ้าจันทน ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงป้อมปืนตรงเกาะแก้ว ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงมุมกรุงศรีอยุทธยาด้านตะวันออกเฉียงใต้นั้น โลกยสมมุติเรียกว่า หัวสาระพา ที่ตำบลตรงนั้นคล้ายกับที่ถอกสมอสำเภา สุดท้ายด้านตระวันออกเพียงนี้

กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศใต้ ตั้งแต่มุมกรุงที่ตำบลหัวสาระพามานั้น มีประตูช่องกุฎหนึ่ง จึ่งมาถึงป้อมปืนใหญ่ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่นคงแข็งแรงสูง ๓ วาสองศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุง ๒ ศอก มีชานชาลารอบป้อมกว้างสามวา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีปืนแซกตามช่องแปดกระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบันจุทุกช่อง ๑๖ กระบอก ป้อมใหญ่นี้มีชื่อป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกระจะป้อม ๑ แล้วจึ่งมาถึงประตูคลองน้ำชื่อในไก่ ๑ แล้วประตูช่องกุฎ ๕ ช่อง จึ่งมาถึงป้อมอกไก่ ๑ แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูจีน ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อปะตุเทศมี ๑ จึ่งมาถึงท่าด่านชีมีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงป้อมปืนตรงปากคลองคูจาม แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ อยู่ในด่านท่าชี แล้วถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูไชย ๑ แล้วมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูชะไกรใหญ่ ๑ แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึงมาถึงป้อมปืนตรงปากคลองลครไชย ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎช่อง ๑ สุดด้านยาวทิศใต้เพียงนี้

กรุงศรีอยุทธยาด้านกว้างทิศตะวันตก ตั้งแต่เลี้ยววังไชยมาบ้านชี มีประตูช่องกุฎ ๓ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูคลองน้ำแกลบ ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูท่าพระราชวังหลัง ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูคลองฉางมหาไชย ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๓ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูคลองฝาง ๑ แล้วมาถึงป้อมปืนตรงแม่น้ำหัวแหลม

กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวฝ่ายทิศเหนือนั้น ตั้งแต่ป้อมสัดกบนั้นมาตามด้านเหนือมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ออกไปตลาดขายปลาสดชื่อประตูสัดกบ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงป้อมปืนใหญ่ก่อใหม่ชื่อป้อมสุพรัตน ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูห่าน ๑ แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อหมูทะลวง ๑ ประตูนี้สำหรับเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ แลพระเจ้าหลานเธอลงเรือขบวนแห่ไปถวายพระเพลิงที่ในพระเมรุวัดไชยวัฒนาราม แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ แล้วจึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำอยู่ตรงมุมกำแพงพระราชวังหลวงนั้นชื่อประตูปากท่อ แต่มุมกำแพงพระราชฐานด้านตะวันตกไปจนมุมกำแพงพระราชฐานด้านตวันออกนั้น มีประตูใหญ่ชื่อประตูท่าขันธ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูท่าชัก ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎสามช่อง จึงมาถึงประตูใหญ่ช้างลงอาบน้ำชื่อประตูท่าสิบเบี้ย ๑ ที่ริมท่าสิบเบี้ยนั้น มีโรงช้างระหว่างค่ายนอกกำแพงกรุงริมน้ำโรงสี่ห้องใส่ช้างพลายห้องละช้างสี่ช้าง แล้วถัดมามีประตูช่องกุฎ ๑ ริมกำแพงออกไปทุ่ง จึ่งมาถึงประตูช่องกุฎมหาเถรไม้แซ ๑ ที่ตรงนั้นเขาคิดอ่านแบ่งน้ำให้ไหลเข้ามาใต้ถนนหลวง น้ำนั้นไหลทลุเลยมาตามลำคูปากสระ คิดฝังท่อดินเผามุดมาใต้ถนน ตะพานนาด กระแสน้ำไหลเข้าในท่อที่ฝังนั้นโดยแรง น้ำในท่อไหลออกมาบันจบคลองประตูเขาสมี ถัดนั้นมามีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูท่ากระลาโหม แล้วมีประตูช่องกุฎอีกสองช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูเข้าเปลือก ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงป้อมปืนชื่อป้อมจำปาพล ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึงมาถึงป้อมปืนใหญ่ชื่อป้อมมหาไชย ๑ อยู่ตรงมุมกำแพงพระนครด้านเหนือ สุดด้ายยาวทิศเหนือเท่านี้

ตามกำแพงรอบกรุงศรีอยุทธยานั้น มีป้อมปืนใหญ่น้อยยี่สิบสามป้อม มีประตูใหญ่มียอดทาแดงยี่สิบสามประตู มีประตูช่องกุฎหกสิบเอดประตู

ว่าด้วยในกำแพงพระนคร ตั้งค่ายผนบบ้านหล่อรักษาพระนคร

ภายในกำแพงพระนครศรีอยุทธยา มีถนนหลวงชื่อมหารัฐยา อยู่กลางพระนคร กว้างหกวาปูศิลาแลงเรียบร้อยสำหรับมีการใหญ่ ได้ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตรา และสะฃนานช้างม้าพระที่นั่งต่างๆ แลแห่กระบวนกฐินบกเปนการแห่ด้วยช้างบ้างแห่ด้วยคานหามบ้าง เปนพระราชกฐินหลวงประจำปีแห่ผ้าไตรยแล้วเจดวัน จึ่งได้เสดจพระราชทานพระกฐินตามพระอารามหลวงทั้งทางบกทางเรือ ถนนหลวงนี้เป็นที่แห่นาคหลวง แลแห่พระบรมศพแลพระศพต่างๆ ตั้งต้นกระบวนแต่ประตูไชยทิศใต้พระนคร

อนึ่ง ค่ายผนบนั้นตั้งแต่ถนนน่าวังตรา ๑ มาปลายถนนวังตราตั้งค่ายผนบบ้านหล่อตรงตรงประตูท่าสิบเบี้ย ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งสุดหัวถนนป่าตะกั่ว ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งที่หัวเลี้ยวถนนป่าโทน ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั่งหัวถนนป่าเกรียบท่าพระประเทียบ ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งท้านถนนป่าเกรียบ ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนป่าชมภู ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนบ้านขันเงิน ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งท้ายถนนป่ายา ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนป่าฟูก ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งกลางถนนผ้าเขียว ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนตะแลงแกง ๑ ท้ายถนนตะแลงแกง ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนป่าตองตรงจวนเจ้าพระยาพระคลัง ๑ ตั้งท้ายถนนป่าตองตรงท่าฉางประตูไชย ๑

ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งรอบพระราชวังหลวงนั้นคือ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนโรงม้าไชยฤกษ ตรงประตูจักรมหิมา ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งมุมวัดธรรมิกราช ตรงกำแพงคั่นท้องสนามน่าจักรวัติ ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งหัวถนนตลาดเจ้าพรม ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งตรงศาลาสารบาญชีริมโรงสัก ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งตรงป้อมกลางตรงวัดสีเชียง ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งตรงมุมจะเลี้ยวมาน่าวัดระฆัง ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งตรงมุมป้อมจะเข้ามาท้ายสระแก้วในพระราชสถาน ๑ ค่ายผนบบ้านหล่อตั้งมุมป้อมปากท่อ จะเลี้ยวมาถนนประตูดินมาหยุดจนพระฉนวนน้ำประท่า ๑ ตั้งค่ายผนบบ้านหล่อล้อมพระราชวังหลวงแปดตำบล ตามถนนหลวงในกำแพงพระนครสิบหกตำบล รวมทั้งสินเป็นยี่สิบสี่ตำบลค่ายผนบบ้านหล่อ

ว่าด้วยตะพานในพระนคร

ภายในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยา มีตะพานฃ้ามคลองใหญ่ทำด้วยอิฐสิบห้าตำบล ทำด้วยไม้สิบห้าตำบล รวมด้วยกันเป็นสามสิบตำบล แต่ถนนหลวงนั้นตะพานไม้ฃ้ามคลองหอรัตนไชย ๑ ตะพานอิฐฃ้ามคลองประตูในไก่ จะเลี้ยวมาหอรัตนไชย ๑ ตะพานไม้ชื่อตะพานสี่แสก ๑ แล้วมาถึงตะพานใหญ่ชื่อตะพานหัวจะกา ๑ มาถึงตะพานอิฐตรงประตูในไก่ชื่อตะพานในไก่ ๑ คลองประตูเข้าเปลือกตะลอดตรงประตูจีนมีตะพานฃ้ามคลองนั้นก่อด้วยศิลาแลงชื่อตะพานช้าง ๑ จึ่งมาถึงตะพานอิฐชื่อตะพานถนนป่าภาน ๑ จึ่งมาถึงตะพนไม้ชื่อตะพานวัดลาด ๑ จึ่งมาถึงตะพานอิฐชื่อตะพานชีกุน ๑ จึ่งมาถึงตะพานวัดขุนเมืองใจ ๑ จึ่งมาถึงตะพานอิฐชื่อตะพานตลาดจีน ๑

มีคลองน้อยลัดมาแต่คลองในไก่มาออกคลองประตูจีน มีตะพานอิฐฃ้ามคลองน้อยนั้นชื่อตะพานบ้านดอกไม้เพลิง ๑ คลองประตูเทศสมีเข้ามาจนลำคูปากสมุท คิดแบ่งน้ำในคลองกลางพระนครให้ไหลออกทางคลองตะพานนาค บันจบกับคลองประตูเทศสมี มีตะพานอิฐตรงถนนบ้านแขกใหญ่ ฃ้ามมาถนนบ้านแหชื่อตะพานวานร ๑ มีคลองน้อยลัดมาจากคลองใหญ่ประตูจีนมาทลุออกประตูเทศ มีตะพานอิฐเดินมาถนนบ้านแขกใหญ่ ฃ้ามมาศาลาอาไศรยที่ถนนป่าหญ้าชื่อตะพานป่าหญ้า ๑ แล้วมีตะพานอิฐเดินมาแต่น่าวัดอำแม่ท้ายบ้านแขกใหญ่เจ้าเซน ตรงมาออกถนนหลวงตรงน่าวัดฉัตรทันตชื่อตะพานวัดฉัตรทันต ๑ คลองประตูไชยตรงเฃ้ามาถนนตะแลงแกงมุมวัดป่าใน มีตะพานไม้ฃ้ามคลองริมพระคลังสินค้าไกล(ใกล้)ป่าตอง แลเดินฃ้ามเข้าไผปวัดบรมจักรวัติชื่อตะพานบ้านดินสอ ๑ มีตะพานไม้ฃ้ามคลองบ้านช่างเงินฃ้ามไปวัดป่าในชื่อตะพานบ้านช่างเงิน ๑

ลำคลองประตูไชยเลี้ยวไปทางตะวันออก มีตะพานไม้ฃ้ามคลองตรงถนนป่าผ้าเขียว ฃ้ามไปบ้านพราหมณ์น่าวัดป่าใน แลใกล้โบสถพราหมณ์ชื่อตะพานบ้านโบสถ์พราหณ์ ๑ มีตะพานไม้ตรงหัวถนนป่าฟูกข้ามไปถนนน่าวัดสักชื่อสะพานนาค ๑ ลำคลองประตูไชยมีคลองน้อยเลี้ยวทางตะวันตกไปออกคลองชะไกรใหญ่ มีตะพานไม้ฃ้ามเข้ามาถนนป่าตองชื่อตะพานงู ๑ มีตะพานไม้ตรงชะไกรน้อยข้ามมาถนนวัดทองบ้านม่อชื่อตะพานบ้านม่อ ๑ คลองประตูปากท่อตรงออกประตูชะไกรใหญ่ มีตะพานไม้ชื่อตะพานขุนโลกย ๑ มีตะพานไม้ตรงถนนวัดขวิด ข้ามคลองไปวัดกุฎีสลักชื่อตะพานนางหงษ ๑ มีตะพานอิฐตรงถนนตะแลงแกง ฃ้ามคลองไปถนนลาวชื่อตะพานลำเหย ๑ มีตะพานอิฐตรงมหาโภคราชที่ขุนนางเข้าเฝ้ายังพระที่นั่งทรงปืนนั้น ตรงข้ามถนนน่าโรงไหมชื่อตะพานสายโซ่ ๑

ลำคลองปากท่อมีคลองน้อยเลี้ยวเข้ามาท้องสระแก้วพระคลังใน มีตะพานไม้ตรงถนนน่าวัดระฆัง ข้ามคลองน้อยเข้ามาสวนอาหงุ่นในพระราชสถานชื่อตะพานไตรลาศ ๑ มีตะพานอิฐตรงถนนหลังวัดระฆัง ข้ามคฃลองน้อยแยกเข้ามาทางท้ายสระ ชื่อตะพานพระอุทยาน ลางทีเรียกว่าตะพานสวนอาหงุ่น ๑ ลำคลองปากท่อมีคลองน้อยเลี้ยวไปตระวันตก ออกไปประตูใหญ่ฉางมหาไชย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ มีตะพานอิฐเดินตามริมคลองหัวไผ่ชื่อตะพานแก้ว ๑ คลองท่อนั้นมีตะพานข้ามปากคลองเข้ามาในชานพระราชสถานตรงศาลาคู่ท้ายประตูคูหาช่องลม ข้ามไปถนนหลวงน่าศาลาฉ้อทานกลางย่านตะพานนี้ชื่อตะพานทอง ห้ามไม่ให้คนเดิน ต่อมีพระราชพิธีแห่จึ่งเดินได้ทางตะพานทองนั้น มีประตูหูช้างปิดต้นตะพานทั้งสองข้าง ๑ รวมเปนตะพานอิฐ ๑๕ ตำบล ตะพานไม้ ๑๕ ตำบล รวมตะพานข้ามคลองเปนถนนหลวงในพระนครทั้งอิฐทั้งไม้สามสิบตะพาน มีชื่อทั้งสิ้น

ว่าด้วยตลาดในพระนครศรีอยุธยา

........(ความขาดไป)......ชื่อตลาดผ้าเหลือง ๑ ถนนป่าโทนมีร้านขายทับโทนเรไรปีแก้วจังหน่อง เพลี้ยขลุ่ยแลหีบไม้อุโลกไม้ตะแบกไม้ขนุนใส่ผ้า แลช้างม้ากระดาษอู่เปลศาลพระภูมจะเวจเขียนเทวรูป เสื่อลำแพนปลาตะเพียนใบลานจิงโจ้ ชื่อตลาดป่าโทน ๑ ถนนย่านป่าขนม ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย แลนั่งร้านขายขนมชะมดกงเกวียนสามเกลอหินฝนทอง ขนมกรุบขนมพิมพ์ถั่วขนมสำปะนีแลขนมแห้งต่างๆ ชื่อตลาดป่าขนม ๑ ถนนย่านป่าเตรียบมีร้านขายตะลุ่มมุก ตะลุ่มกระจก แลมุกแกมเบื้อตะลุมเขียนทอง ภานกำมะลอภานเลวภานหมากชื่อตลาดป่าเตรียบ ๑ ถนนย่านป่าถ่าน มีร้านตลาดของสรรพผลไม้ส้มกล้วยของสวนในแลสวนนอกต่างต่าง แลมีร้านฃายของสดเช้าเยน ชื่อตลาดป่าถ่าน ๑

ตลาดน่าวัดพระมหาธาตุ มีร้านตลาดขายเสื่อตะนาวสี แลเสื่อแขก เครื่องอัฐมุรีขานเครื่องบวชนาค เครื่องทอกกระถิน คือฝาบาตรเชิงบาตร กราด ตาลิปัต ตะลุ่มโอ ชื่อตลาดบริขาน ๑ ถนนย่านป่าขันเงินมีร้าฃายขันฃายผอบตลับ ซิงเครื่องเงินแลถทยาดำ กำไลมือแลท้าวปิ่นซ่นปิ่นเขม กระจับปิ้งพริกเทศขุนเพ็ด สายสอิ้งสังวาลทองคำขี้รักแลสายลวด ชื่อตลาดขันเงิน ๑ ถนนย่านป่าทองมีร้านายทองคำเปลวคำเปลวเงินคำเปลวนาค มีของสดฃายเช้าเยน ชื่อตลาดตีทอง ๑ ถนนย่านป่าหญ้า มีร้านฃายเครื่องเทศเครื่องไทยสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อตลาดป่ายา ๑

ที่เชิงตะภานชีกุนตระวันตก พวกแขกนั่งร้านฃายกำไลมือกำไลท้าวปิ่นปักผมแหวนหัวมะกล่ำ แหวนลูกแก้วลูกปัตเครื่องประดีบประดาล้วนแต่เครื่องทองเหลืองตะกั่วทั้งสิ้น ชื่อตลาดชีกุน ๑ ถนนย่านป่าชุมภูมีร้านฃายผ้าชุมภู คาตราตคตหนั่งไก่ย่นหนั่งไก่ไกเอ้งปักเถา ผ้าชุมภูเลวตีพิมพ์เลว ชื่อตลาดป่าชุมภู ๑ ถนนย่านป่าไหมกับย่านป่าเหล็กต่อกัน อยู่ข้างละฟากถนน ซีกหนึ่งมีร้านฃายไหมครุยฟั่นไหมเบญจพรรณ ไหมลาว ไหมเขมร ไหมโคราช ฟากถนนซีกหนึ่งมีร้านฃายมีดพร้า ขวานจอบเสียมพร้าโต้พร้าหวดศีศะตัด ตะปูตะปลิงบิดหล่าสว่าน เครื่องเหล็กมีคมต่างๆ แล้วมีร้านฃายฟูกเบาะเมาะหมอน มุ่งผ้ามุ้งป่านผ้าตาโถงผ้าไส้ปลาไหมผ้าฃาววา ชื่อตลาดป่าฟูก ๑

ย่านป่าผ้าเขียวหลังคุก มีร้านฃายเสื้อเขียวเสื้อขาวเสื้อแดงชมภู เสื้อยี่ปุ่นเสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอกเสื้อสรวมศีศะ กังเกงสีต่างๆ ล่วมสักลาดล่วมแพรล่วมผ้าลายใช้ในราชการใส่หมากกินแต่ผู้ชาย ถุงหมากสักลาดลายปักทองประดับกระจก ถุงหมากเลวด้วย มีถุงยาสูปปักทองประดับกระจก ถุงยาสูปเลวซองพลูศรีต่างๆ แล้วลูกค้าที่นั้น รับเอาผ้าแขกจามวัดแก้วฟ้า วัดลอดช่อง มาใส่ร้านวางขายในตลาด ชื่อตลาดถุงหมากก็เรียก ตลาดป่าผ้าเขียวก็เรียก เปนสองอย่าง เปนตลาด ๑

ถนนย่านตะแลงแกงมีร้านฃายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดน่าคุก ๑ ถนนย่านน่าศาลพระกาฬมีร้านชำฃายศีศะในโครงในที่ปั่นฝ้ายชื่อตลาดศาลพระกาฬ ๑ ถนนย่านบ้านช่างทำเงิน มีร้านชำฃายหีบฝ้าย น้ำรักสิลาปากนกสำหรับตีไฟ มีร้านฃายของสดเช้าเยนน่าพระคลังสินค้า ชื่อตลาดข้างต้นหัวถนน น่าตลาดบ้านช่างเงิน ปลายตลาดชื่อว่าตลาดคลังสินค้า แต่ว่าเปนตลาดอันเดียวกัน ๑ ถนนย่านป่าดินสอริมวัดพระงาม มีร้านฃายดินสอศิลาอ่อนแก่แลดินสอฃาวเหลื่องดินสอดำ ชื่อตลาดบ้านดินสอ ๑ ถนนย่านบ้านแห มีร้านฃายแหแลเปลป่านด้ายตะกอแลลวด มีตลาดฃายของสดเช้าเยนอยู่ในบ้านแขกใหญ่ ใกล้วัดอำแมชื่อตลาดจีน ๑ ถนนย่านบ้านพราหมณ์น่าวัดช้าง มีตลาดต้นฃายกะบุงตะกร้ากะโล่ครุเชือกเสื่อลวดเครื่องสารครบ ชื่อตลาดบ้านพราหมณ์ ๑

ถนนย่านชีกุนมีร้านฃายดอกไม้เพลิงต่างต่าง ฃายสุราเข้มสุรากะแช่ ที่ศาลาริมเสาชิงช้ามีร้านตลาดฃายของสดเช้าเยนเปนตลาดใหญ่ ชื่อตลาดเสาชิงช้าน่าโบดพราหมณ์เก่าตลาด ๑ ถนนย่านบ้านกระชีมีช่างธรรมพระพุทธรูปทองเงินนาค แลหล่อด้วยหองเหลื่องทองสำฤทธิ ชื่อตลาดทำพระ ๑ ถนนย่านขนมจีนมีโรงจีนทำขนมเปียขนมโก๋เครื่องจังอับขนมจีนแห้งฃายเปนร้านชำชื่อตลาดขนมจีน ๑ ถนนย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ฃายเครื่องทองเหลื่องเคลือบแลปรอท ชื่อตลาดประตูจีน ๑

ถนนย่านในไก่เชิงตะภานประตูจีนไปถึงเชิงตะภานประตูในไก่ เปนตลาดใหญ่ มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีนไทยนั่งร้านฃายของสรรพสิ่งของ เครื่องสำเภาเครื่องทองเหลื่องทองขาว กระเบื้องถ้วยโถชามแพรสีต่างอย่างจีน แลไหมศรีต่างๆ เครื่องมือเหลกแลสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ มีของรัปทานเปนอาหารแลผลไม้มาแต่เมืองจีนวางรายในร้านฃายที่ท้องตลาด มีฃองสดฃายเช้าเยนสุกรเปดไก่ ปลาทเลแลปลาน้ำจืดปูหอยต่างๆ หลายอย่างพันเป็นตลาดใหญ่ยิ่งยวดในกรุง ชื่อตลาดใหญ่ท้ายพระนครอยู่ย่านในไก่ ๑

ถนนย่านสามม้าตั้งแต่เชิงตะภานในไก่กระวันออกไป จดถึงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจังอับแลขนมแห้งจีนต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะเตียงตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างต่างฃายต่อไป ช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้แลปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดฃาย ชาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างนางเลิ้ง แลทำสรรพเครื่องเหล็กต่างต่างฃาย แลรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณ์ตามใจเชาเมืองมาจ้าง แลมีตลาดฃายของสดเช้าเย็น ในท้ายตลาดตั้งแต่หัวโรงเหลกต่อไป จนถึงประตูช่องกุตท่าเรือจ้างฃ้ามไปวัดเจ้าพระนางเชิง ชื่อตลาดน้อยอยู่ในย่านบ้านสามม้า ตลาดน้อยนี้ต่อเนื่องกับตลาดใหญ่ในย่านในไก่ เปนตลาดจีนชื่อตลาดน้อย ๑

ถนนย่านป่าทุ่งวัดโควัดกระบือต่อกัน แต่ก่อนโบราณมีพวกมอญแลพม่าแขก ฆ่าเปดไก่ฃายในตลาดชุกชุม ครั้นสมเดจพระบรมราชาธิราชเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่หัวบรมโกษเสดจเถลิงถวัลราชสมบัติ ปราบดาภิเศกเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ ในกรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แก่สัตวโลกยที่ถึงที่ตายให้จำเปนดำรัสสั่งให้ตั้งพิกัด ห้ามปรามมิให้ฆ่าเปดไก่ฃายแก่ฝ่ายคนที่นับถือพุทธสาศนา แต่พวกมิจฉาทิฏฐิจะฆ่าก็ตามยะถากำมแห่งสัตว ตลาดนี้ชื่อตลาดวัดงัวควาย ๑ ถนนย่านประตูเจ้าจันทนมีตลาดฃายของสดเช้าเยนชื่อตลาดเจ้าจันทน ๑ ย่านหอรัตนไชยมีฃองสดฃายเช้าเยนชื่อตลาดหอรัตนไชย ๑ ย่านโรงเกรียงท้ายหอรัตนไชย จีนทำโต๊ะเตียงเก้าอี้ถักหวายฃาย ชื่อตลาดย่านเตรียง ๑

ย่านถนนวัดฝางใกล้พระราชวังจันทนบวรฯ มีร้านโรงทำหัวในโครงในหีบฝ้ายฃาย มีฃองสดเช้าเยน ชื่อตลาดย่านวัดฝาง ๑ ถนนย่านประตูดินพระราชวังจันทนบวรฯ นั้นมีฃองสดฃายเช้าเยน ชื่อตลาดประตูดินวังน่า ๑ ถนนย่านประตูท่าช้างพระราชวังจันทนบวรฯ มีของสดฃายเช้าเยน ชื่อตลาดท่าช้างวังน่า ถนนย่านวัดซรองมีร้านฃายของสดเช้าเยน ชื่อตลาดวัดซรอง ๑ ย่านท่าทรายมีร้านชำฃายผ้าสมผักเชิงปูม ผ้าไหมผ้าลายกรุษราชยำมะหวาด สมปักเชิงสมปักล่องจวนสมปักริ้ว แลผ้ากราบใหญ่น้อย เมือฃ้าราชการหาย ไม่ทันจะหามาเปลี่ยน ก็ต้องซื้อนุ่งเข้าเฝ้า แลมีของสดฃายเช้าเยน ชื่อตลาดขุนนาง ๑

ย่านถนนเชิงตะภานช้าง ด้านตระวันออกมีร้านฃายของสดเช้าเยนที่น่าวัดคลอง ชื่อตลาดฃ้างวัดคลอง ๑ ย่านเชิงตะภานช้างด้านตระวันตก มีร้านฃายฃองสดเช้าเยน ชื่อตลาดเชิงตะภานช้าง ๑ มาย่านหลังวัดนกน่าวัดโพง มีร้านชำไทยมอญฃายขันถาดภานน้อยใหญ่ เครื่องทองเหลืองครบ มีฃองสดฃายเช้าเยน ชื่อตลาดมอญ ๑ น่าวัดพระมหาธาตุมีศาลาห้าห้องมีแม่ค้า มานั่งคอยซื้อมีดพร้าฃวานชำรุดแลเหลกเลกน้อยด้วย มีจีนนั่งต่อศาลานั้นไปเปนแถวคอยเอาเข้าพองตังเมมาแลกของต่างๆ ในที่น่าวัดพระมหาธาตุเปนตลาด ชื่อตลาดแลกน่าวัด ๑ ย่านสาระภากรในแลนอกมีร้านฃายฃองสดเช้าเยน ชื่อตลาดเจ้าพรม ๑


.......................................................................................................................................................




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2550   
Last Update : 10 สิงหาคม 2550 13:29:45 น.   
Counter : 4030 Pageviews.  


ร.ศ. ๑๑๒

คงได้เคยอ่านและเคยซาบซึ้งกับบทพระราชนิพนธ์นี้


ก่อนจะถึงจุดนี้ ต้องเท้าความกันยาว เล่าสังเขปได้ความว่า

เกิดขบถในเวียดนาม องเชียงสือหนีมาอยู่ที่ไซ่ง่อน ชาวไซ่ง่อนนับถือยกย่องให้ครองเมือง แต่ก็รักษาเมืองต่อสู้ไม่ไหว จำต้องหนีมาอยู่ที่เกาะกระบือในแดนเขมร และได้อาศัยเรือพระยาชลบุรี ซึ่งลาดตระเวนอยู่บริเวณนั้น พาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

อยู่ได้ ๔ ปี องเชียงสือได้สัญญาจากฝรั่งเศสว่าจะช่วยกอบกู้บ้านเมืองให้ องเชียงสือเขียนหนังสือทูลลาวางไว้บนที่บูชา เนื้อความในหนังสือนั้นว่า "ตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำนุบำรุงเป็นอเนกประการ ถึงให้กองทัพไทยไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนพระราชทานก็ครั้ง ๑ แต่การยังไม่สำเร็จ เพราะกรุงเทพฯ ติดทำสงครามอยู่กับพม่า จะรอต่อไปก็เกรงว่าพรรคพวกทางเมืองญวนจะรวนเรไปเสีย ครั้นจะกราบถวายบังคมลาโดยเปิดเผยก็เกรงจะมีเหตุขัดข้องจึงหนีไป เพื่อจะไปคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน ถ้าขัดข้องประการใดขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงอุดหนุนด้วย เมื่อได้เมืองแล้วจะมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป" (จากประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ตำนานรำโคม) แล้วหนีไป ตั้งแต่นั้นมาฝรั่งเศสก็มีอำนาจในญวน

ฝ่ายไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบ ก็ทรงไม่อยากให้เกิดศึกขึ้นอีกทาง ในขณะที่เตรียมรับศึกพม่าอยู่ทางนี้นั้น จึงทรงพระกรุณาองเชียงสือต่อไป สนับสนุนเสบียงอาหารและศัสตราวุธตามสมควร พวกญวนที่ตามองเชียงสือเข้ามาครั้งนั้นโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางโพ และสืบเชื้อสายกันมาจนบัดนี้ แต่การหนีขององเชียงสือยังให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระพิโรธ แล้วทรงพยากรณ์ไว้ว่า ต่อไปญวนจะทำความเดือดร้อนให้กับลูกหลานเป็นแน่

ก็เป็นจริงดังพระพยากรณ์ในกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ เกิดศึกอนุเวียงจันทน์ เจ้าอนุแพ้ก็หนีไปพึ่งญวน พระเจ้าแผ่นดินญวนมีพระราชสาส์นเข้ามาทูลขอโทษเจ้าอนุ และพาเจ้าอนุมาส่งยังเมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายแม่ทัพนายกองซึ่งรักษาเวียงจันทน์มิได้มีความระวังสงสัย พอตกค่ำเจ้าอนุและพวกก็ระดมยิงและฆ่าฟันทหารไทย หนีข้ามน้ำมาได้สักสี่สิบห้าสิบคน ทหารไทยอีกฟากหนึ่งต้องยืนดูพวกเพื่อนถูกไล่ฆ่าอยู่ชายหาดหน้าเมือง จนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)ยกทัพมารบชนะได้เมืองเวียงจันทน์ แต่เจ้าอนุหนีเข้าแดนเมืองพวนไปได้อีก แล้วเจ้าน้อยเมืองพวนก็จับตัวได้ มีหนังสือบอกส่งตัวเจ้าอนุลงมากรุงเทพฯ

พระเจ้าญวนก็ให้ญวนถือหนังสือเข้ามาอีกครั้ง ว่าจะเข้ามาขอโทษเจ้าอนุ พระยาวิชิตสงครามซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคายจับญวนผู้ถือหนังสือ จึงมีหนังสือบอกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบไปว่า ครั้งก่อนซึ่งเสียท่วงทีแก่อนุ ก็เพราะญวนเข้ามาเป็นนายหน้า ครั้งนี้จะล่อลวงอีกประการใดก็ไม่รู้ ให้จับฆ่าเสียให้สิ้น พระวิชิตสงครามจึงให้จับญวนมาฆ่าเสีย (พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ฝ่ายพระเจ้าญวนเมื่อทราบเหตุก็ให้หาตัวเจ้าน้อยเมืองพวนไปเมืองญวน และรับสั่งประหารชีวิตเสีย แต่นั้นมาก็เกิดศึกญวนขึ้นเกือบตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งชาติตะวันตกออกหน้าเรื่องอิทธิพลอำนาจเหนือแผ่นดินแถบนี้ ตั้งใจจะครอบงำประเทศต่างๆ ในทางตะวันออกนี้ และเริ่มต้นรุกรานด้วยอุบายต่างๆ ทุกทิศทุกทาง แต่พระปรีชาสามารถในองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงนำพาประเทศชาติได้จนตลอดรอดฝั่ง ฝรั่งต่างชาติไม่สามารถอ้างเหตุที่จะรุกรานไทยได้เลย ก็สงบอยู่

จนกระทั่งเกิดศึกฮ่อขึ้นในหัวพันห้าทั้งหก ไทยได้ส่งกองทหารขึ้นไปปราบหลายครั้ง เมื่อฮ่อแตกหนีไปก็ซุ่มซ่อนอยู่ในป่าบ้าง เข้าแดนญวนไปบ้าง พอกองทัพไทยกลับลงมา พวกฮ่อก็พากันยกกลับเข้ามาปล้นฆ่าก่อกวนอีก เป็นอย่างนี้เรื่อยไป จะกระทั่งฝรั่งเศสอ้างเหตุว่าไทยไม่สามารถปราบปรามฮ่อได้ และพวกฮ่อก็เข้าไปก่อกวนในแดนญวนประเทศในอาณัติฝรั่งเศสด้วย ด้วยเหตุนี้จึงยกกองทัพรุกล้ำเข้าในพระราชอาณาเขต อ้างว่าจะช่วยปราบปรามฮ่อ แล้วไม่ยอมถอนทหารกลับออกไปจากพระราชอาณาเขต จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ขึ้น

Blog นี้ให้ชื่อว่า "ร.ศ. ๑๑๒" คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ “เหตุสงครามระหว่างฝรั่งเศส” เป็นเหตุการณ์ที่ช่วยชาวไทยทุกคนได้ร่วมกันต่อสู้กับผู้รุกรานอธิปไตย ถึงแม้อาวุธยุทโธปกรณ์จะสู้กับผู้รุกรานไม่ได้ แต่ก็มีความกล้าหาญ ความอดทนเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองของตนก็พอจะทดแทนส่วนที่บกพร่องได้บ้าง บ่อยครั้งในการศึกแต่ละสนามที่ผู้รุกรานซึ่งมีอาวุธทันสมัยกว่าเพลี่ยงพล้ำให้แก่ฝ่ายเรา แต่อย่างไรก็ตามด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าฝ่ายเราจะเสียเปรียบมาโดยตลอด จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะจอมทัพไทย ก็ทรงนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระสติปัญญาความสุขุมคัมภีรภาพ และกลยุทธที่ทุกคนต้องยกย่องพระองค์ท่าน

ในภาวะของความขัดแย้งในบ้านเมืองอย่างทุกวันนี้ เราลองหันไปดูความสามัคคีของคนไทยสมัยนั้นดูบ้างนะครับ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



.......................................................................................................................................................



เหตุสงครามระหว่างฝรั่งเศส

วันที่ ๓๑ มีนาคม รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้เรสิดองปัสตา เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ และนายร้อยตรีโมโซ และมิงซิเออร์ปรุโซ คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน ๒๐๐ คน และกำลังเมืองเขมรพนมเปญเป็นอันมากลงเรือ ๓๓ ลำ พร้อมด้วยศัสตราวุธ ยกเป็นกระบวนทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้ามาในพระราชอาณาเขต ขับไล่ทหารซึ่งรักษาด่านบงขลา แขวงเมืองเชียงแตง และด่านเสียมโบก ยึดเอาด่านทั้ง ๒ ตำบลได้แล้ว

ครั้นลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ วันที่ ๒ เมษายน ฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) และนายร้อยโทคร้าม ข้าหลวงกับทหาร ๑๒ คนซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตง ให้ข้ามไปอยู่เมืองธาราบริวัตรฝั่งโขงตะวันตก โดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวน ซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส

เวลานั้นข้าหลวงและผู้รักษาเมืองกรมการ ราษฎรเมืองเชียงแตงมิทันรู้ตัว ก็พากันแตกตื่นควบคุมกันมิติด เพราะมิได้คิดเห็นว่าฝรั่งเศสอันเป็นพระราชไมตรีกับประเทศสยามจะเป็นอมิตรขึ้น ในก่อนที่จะประกาศแสดงขาดทางพระราชไมตรี ฝ่ายข้าหลวงกับพลทหาร ๑๒ คน ก็จำต้องออกจากเมืองเชียงแตง ข้ามมาอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ครั้นฝรั่งเศสได้เมืองเชียงแตงแล้ว ก็แต่งนายทัพนายกองคุมทหารแยกย้ายกัน ยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาตั้งอยู่ตามเกาะดอนต่างๆ ณ แก่งลีผี และเดินกระบวนทัพเข้ามาโดยทางบก ตลอดฝั่งโขงตะวันออกจนถึงเมืองหลวงพระบาง

เวลานั้นพระประชาคดีกิจ (แช่ม) ซึ่งเป็นข้าหลวงหน้าที่หัวเมืองลาวฝ่ายใต้ พักอยู่ ณ เมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสประพฤติผิดสัญญาทางพระราชไมตรี จึงได้แต่งให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาคุมกำลังแยกย้ายไปตั้งป้องกันกองทัพฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนกองทัพกลีบออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตโดยดี ฝ่ายฝรั่งเศสก็หาฟังไม่ กลับยกกองทัพรุดล่วงเข้ามาเป็นอันดับ และกองทัพฝรั่งเศสกองหนึ่ง มีกำลังทหารพร้อมด้วยศัสตราวุธประมาณ ๔๐๐ คนเศษ ยกมาโดยกระบวนเรือ ๒๖ ลำ เข้าจอด ณ ดอนละงา ขึ้นเดินบกเป็นกระบวนมาบนดอน ขณะนั้นหลวงเทเพนทรเทพ ซึ่งคุมกำลังยกไปตั้งกันอยู่ ณ ดอนนั้น จึงได้ออกไปทักถามนายทหารฝรั่งเศส และได้บอกให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม ฝรั่งเศสกลับว่าที่ตำบลเหล่านั้นเป็นของฝรั่งเศส ให้หลวงเทเพนทร์ยกกำลังไปเสีย ถ้าไม่ไปจะรบ แล้วฝรั่งเศสก็เป่าแตรเรียกทหารเข้าแถวเตรียมรบ ฝ่ายหลวงเทเพนทร์เห็นว่าห้ามปรามทหารฝรั่งเศสมิฟัง จึงได้ถอนมาตั้งอยู่ ณ ดอนสม และแจ้งข้อราชการยังพระประชา

พระประชาจึงได้เขียนคำโปรเตสสำหรับยื่นกับฝรั่งเศส ลงเรือน้อยไปหาฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาร ถามได้ความว่า นายทหารฝรั่งซึ่งเป็นแม่ทัพในกองนี้นั้นชื่อ เรสิดองโปลิติก ๑ กอมมันดิงมิลิแตร์ ๑ พระประชาจึงได้แจ้งต่อนายทัพฝรั่งเศสว่า ที่ตำบลเหล่านี้เป็นพระราชอาณาเขตสยาม การซึ่งฝรั่งเศสยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาดังนี้ ผิดด้วยสัญญาทางพระราชไมตรี ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขต ฝ่ายนายทัพฝรั่งเศสตอบว่าราชทูตไทยที่ปารีสกับรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ได้ยอมยกที่ตำบลเหล่านี้และตามลำแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว พระประชาจึงตอบว่า จะตอมเชื่อตามถ้อยคำของฝรั่งเศสที่กล่าวนี้มิได้ เพราะยังมิได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสยาม ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารถอยออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตก่อน ฝ่ายฝรั่งเศสก็หายอมเลิกถอนไปไม่ พระประชาจึงยื่นคำโปรเตสไว้ต่อนายทัพฝรั่งเศส แล้วลากลับมา

ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพรุดล่วงเข้ามาเป็นอันดับ และซ้ำระดมยิงเอากองรักษาฝ่ายสยามซึ่งไปตั้งรักษาขึ้นก่อน ถึงกระนั้นกองรักษาฝ่ายสยามก็หาได้ยิงโต้ตอบต่อสู้ไม่ โดยถือว่ากรุงฝรั่งเศสกับประเทศสยาม ยังมิได้ขาดจากสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เพราะรัฐบาลสยามยังหาได้มีคำสั่งไปให้ต่อสู้กับฝรั่งเศสประการใดไม่ จึงได้จัดการแต่เพียงให้ตั้งรักษามั่นอยู่ และได้พยายามทุกอย่างที่จะมิให้มีคงวามบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี และทั้งได้มีหนังสือห้ามปรามซ้ำไปอีก ข้างฝรั่งเศสก็กลับรบรุกระดมยิงปืนใหญ่น้อยมายังกองรักษาฝ่ายสยามเป็นสามารถ ฝ่ายสยามจึงได้ยิงโต้ตอบไปบ้างแต่เล็กน้อย โดยมิได้เจตนาที่จะทำลายชีวิตผู้คนอย่างใด เป็นแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยก็มีปืนบ้างเหมือนกันเท่านั้น

แต่ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็ยิ่งหนุนเนื่องรุกรบเข้ามาทุกที จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังที่จะห้ามปราม และปฏิบัติจัดการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้ว จึงจำเป็นต้องจัดการออกระดมยิงต่อสู้บ้าง เพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพ และทั้งป้องกันชีวิตของประชาชนชายหญิง อันอยู่ในความปกครองไว้ และทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาวุธป่วยตาย และตั้งประชันหน้ากันอยู่

เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิติปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองอุบล เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสแสดงเป็นอมิตรขึ้นดังนั้นแล้ว จึงได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสะเกษ เมืองขุนันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน และเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก ๕๐๐ คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา โปรดให้พลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์ อยู่เมืองขุขันธ์


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร


และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท(กอน) นาร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร ๑๐๐ คน และกำลัง ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชา ณ เมืองสีทันดร และโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาว เรียกคนพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง เมืองละ ๑๐๐๐ คน แล้วให้ท้าววรกิติกา(ทุย) เพี้ยเมืองซ้าย(เถื่อน) กรมการเมืองอุบล คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธไปสมบทกองนายสุจินดา

วันที่ ๒๐ เมษายน ฝรั่งเศสชื่อกองซือ กับทหารญวน ๑๙ คน อาวุธครบมือ มาที่เมืองอัตปือ บังคับว่ากล่าวมิให้ผู้ว่าราชการ กรมการ และราษฎรเมืองอัตปือ เชื่อฟังบังคับบัญชาไทย เวลานั้นราชบุตร และนายร้อยพุ่ม ซึ่งรักษาราชการอยู่ ณ เมืองอัตปือจึงขับไล่ฝรั่งเศสและมหาญวนล่องเรือไปจากเมืองอัตปือ

วันที่ ๒๘ เมษายน ฝรั่งเศสคุมทหารประมาณ ๘๐๐ คนยกมาเมืองตะโปน ขับไล่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยาม ถอยมาอยู่ ณ เมืองพิน

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงโปรดให้นายร้อยโทเล็ก ๑ ท้าวบุตรวงศา(พั่ว) กรมการเมืองอุบล ๑ คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน และคนเมืองสองคอนดอนดง ๕๐๐ เมืองพลาน ๒๐๐ เมืองลำเนาหนองปรือ ๘๐๐ รวมเป็น ๒๐๐๐ คน ไปตั้งรักษาอยู่บ้านตังหวายห้วยค้นแทะใหญ่ ปากดงกระเพาะภูกะไดแก้ว และให้ขุนอาสาสงคราม(สวน)ข้าหลวง ราชบุตรเมืองมหาสาคาม พระพิทักษ์นรากร(อุ่น)ผู้ว่าราชการเมืองวาปีปทุม คุมคน ๑๐๐ คน ไปตั้งรักษาอยู่ ณ ภูด่านแดนด่านแขวงฆ้อง

วันที่ ๒๙ เมษายน โปรดให้ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองยโสธร คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ และให้อุปฮาด(บัว)เมืองกมลาสัย คุมคนเมืองศรีสะเกษ ๕๐๐ รวมเป็น ๑๐๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธ ยกไปสมทบกองทัพพระประชา นายสุจินดา ณ เมืองสีทันดร และให้พระไชยภักดี ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกษ คุมคนเมืองศรีสะเกษ ๕๐๐ พร้อมด้วยศัตราวุธยกไปตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องโพย และด่านพระประสบแขวงเมืองขุขันธ์

ฝ่ายทางพระประชา ได้จัดให้หลวงพิพิธสุนทร(อิน) ซึ่งมาแต่เมืองธาราบริวัตร คุมคนไปตั้งรักษาอยู่ท้ายดอนเดช ให้นายสุจินดา และนายร้อยโทพุ่ม ซึ่งมาแต่เมืองอัตปือ คุมคน ๔๐๐ ไปตั้งรับอยู่ ณ ดอนสาคร ให้หลวงเทเพนทรเทพ ขุนศุภมาตรา นายร้อยตรีถมยา คุมคน ๔๐๐ คนไปรักษาท้ายดอนสะดำ และท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจำปาศักดิ์ คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม และหัวดอนเดช

ครั้นวันที่ ๕ พฤษภาคม นายสุจินดาล่องเรือถึงหัวดอนสาคร ฝรั่งเศสซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ดอนสาครแลเห็น ให้ทหารระดมปืนใหญ่น้อยออกมาตั้งแต่บ่ายโมง จนถึงบ่าย ๒ โมง

ฝ่ายหลวงเทเพนทรเทพได้ยินเสียงปืนหนาแน่น จึงแบ่งให้ขุนศุภมาตราไปท้ายดอนสะดำ ส่วนหลวงเทพเนทรเทพกับนายร้อยตรีถมยา แยกเข้าท้ายดอนนางชมด้านตะวันออกดอนสาคร ขึ้นตั้งค่ายประชิดค่ายฝรั่งเศสประมาณ ๑๖ – ๑๗ วา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ระดมยิงกราดมาเป็นอันมาก กองทัพไทยเข้าตั้งในวัดบ้านดอนเป็นที่มั่นได้ จึงได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศสบ้าง ก็สงบไป

วันที่ ๖ พฤษภาคม พระประชาไปตรวจค่ายที่ดอนสาคร ขณะนั้นกองทัพฝรั่งเศสยิงปืนมาเป็นอันมา ถูกนายสีพลทหารตายคนหนึ่ง ฝ่ายทัพสยามได้ยิงตอบถูกทหารฝรั่งที่ส่องกล้องอยู่บนหอรบคน ๑ และทหารแตรคน ๑ พลัดตกลงมา ฝรั่งเศสก็สงบยิง

พระประชาจึงได้มีหนังสือห้ามทัพมิให้ยิงปืน และให้ฝรั่งเศสยกกองทัพแกไปให้พ้นพระราชอาณาเขต ให้หญิงชาวบ้านถือไปให้แม่ทัพฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาคร ฝรั่งเศสก็หาตอบหนังสือไม่ แต่ต่างก็สงบยิงทั้งสองฝ่ายอยู่จนบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสก็กลับระดมยิงทัพสยามมาอีก ทัพสยามได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศส ถูกทหารฝรั่งเศสพลัดตกจากหอรบอีกคนหนึ่ง ฝรั่งเศสก็ยิ่งระดมยิงกองทัพสยามเป็นอันมาก แต่ฝ่ายสยามหาได้ยิงตอบสักนัดไม่

ในวันนี้ เรือลาดระเวนฝ่ายสยาม ซึ่งอยู่ในบังคับขุนศุภมาตรา จับนายสิง นายสุทาชาวบ้านดอนสาคร ซึ่งฝรั่งเศสใช้ให้ถือหนังสือจะไปส่งให้ฝรั่งเศส ณ เมืองเชียงแตง เพื่อให้ส่งกองทัพเพิ่มเติมมานั้น ได้ถามให้การรับ พระประชาได้พร้อมด้วยนายทัพนายกองปรึกษาโทษ เอาตัวนายสิง นายสุทา ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก

และในวันนั้น กัปตันโทเรอนายทหารฝรั่งเศส คุมเรื่องเสบียงอาหารจะมาส่งยังกองทัพฝรั่งเศส ณ แก่งลีผี พอมาถึงหางดอนสะดำ พบเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ฝ่ายสยามได้ห้ามปรามให้หยุด เรือกัปตันโทเรอหาหยุดไม่ มิหนำซ้ำกลับยิงเอาเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ฝ่ายสยามได้ออกสกัดยิงตอบเรือกัปตันโทเรอถอยกลับลงไป ขุนศุภมาตราจึงได้ให้เรือลาดตระเวนไล่ตามไป ฝ่ายกองทัพราชวงศ์ ราชบุตรเมืองสพังภูผา และกองพระภักดีภุมเรศ พระวิเศษรักษา ซึ่งตั้งรักษาอยู่ ณ บ้านพละคัน ก็ลงเรือช่วยกันตามจับ ได้กัปตันโทเรอ และนายตี๋ล่าม ๑ ทหารญวน ๓ คน ลาวเมืองเชียงแตง ๑๓ คน ส่งไปยังพระประชา พระประชาได้ส่งมายังเมืองอุบล ส่วนกองทัพสยามและฝรั่งเศสก็ตั้งประชิดกันอยู่โดยกำลังสามารถ ณ ดอนสาคร

ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศส ณ เมืองตะโปน ก็ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองนอง จับหลวงบริรักษ์รัษฎากร นายบรรหารภูมิสถิต และหลวงสำแดงฤทธิ์เจ้าหน้าที่รักษาฝ่ายสยามอันมิได้ต่อรบนั้นได้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุเทพ(รอด) ท้าวไชยกุมาร(กุคำ) คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ ไปตั้งอยู่ ณ เมืองเขมราษฎร์ และให้จัดนายกองคุมคนไปช่วยนายร้อยโทเล็ก

ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสเมืองนองก็ยกกองทัพรีบรุดล่วงเข้ามาทางเมืองพิน เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองสองคอนดอนดง ส่วนกองนายร้อยโทโทเล็ก และท้าวบุตรวงศา ราชบุตรวาปี ต้องล่าหนีข้ามโขมมา ฝรั่งเศสก็เดินกองทัพมาจนถึงฝั่งโขงโดยรวดเร็ว แล้วก็เลิกทัพกลับไป แล้วฝรั่งเศสได้ปล่อยหลวงบริรักษ์รัษฎากร มาพร้อมกับหลวงมลโยธานุโยค ข้าหลวงเมืองเชียงฮม ซึ่งฝรั่งเศสจับได้ไว้ทางมณฑลลาวพวน แต่ส่วนนายบรรหารภูมิสถิตย์นั้น ฝรั่งเศสส่งไปเมืองกวางตี้ แต่ภายหลังก็ได้ปล่อยกลับมา


กองทหารไทยในศึกฝรั่งเศส


วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้อุปฮาด(อำคา)เมืองสุวรรณภูมิ ๑ พระศรีเกษตราธิชัย(ศิลา)ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิสัย ๑ คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ และให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม ๑ หลวงจำนงวิชัย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด ๑ คุมคนมหาสารคาม และร้อยเอ็ด ๓๐๐ รวม ๘๐๐ ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชา ณ ค่ายดอนสาคร

และให้นายร้อยตรีหุ่น ๑ คุมคนเมืองจตุรพักตร ๑๐๕ เมืองร้อยเอ็ด ๒๑๐ เมืองมหาสารคาม ๒๑๐ รวม ๕๒๕ คน ยกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และธาราบริวัตร และด่านลำจาก เปลี่ยนเอาพระศรีพิทักษ์(หว่าง) กลับมาตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องโพย และให้นายร้อยตรีวาด ไปเรียกคนเมืองขุขันธ์อีก ๕๐๐ คน สำหรับส่งไปเพิ่มเติมยังกองพระศรีพิทักษ์(หว่าง) และให้ขุนไผทไทยพิทักษ์(เกลื่อน) ข้าหลวงเมืองศรีสะเกษ เป็นหน้าที่ส่งเสบียงไปยังกองพระศรีพิทักษ์

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม หลวงเสนานนท์ ๑ หลวงอนุรักภักดี(พุด) ๑ หลวงวิจารณ์ภักดี ๑ พระสิทธิศักดิ์สมุทรเขต(บุษย์) ๑ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) ๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุมเครื่องศัสตราวุธ ไดไปถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึงบ้านพละคันอีกประมาณพันเศษ พระประชาเห็นศึกเหลือกำลังกล้า จึงให้เลิกค่ายท้ายดอนไปรวมตั้งรับที่ดอนสะดำ และเลิกค่ายหัวดอนคอนไปรวมตั้งรับ ณ ค่ายดอนเดช ดอนสม และในวันนี้เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ กองทัพฝรั่งเศสยกขึ้นมาตั้งที่บ้านเวินยางฝั่งตะวันตก ตรงค่ายกองทัพสยามที่ดอนสะดำ และฝรั่งเศสระดมปืนใหญ่น้อย และกระสุนแตกมาที่ค่ายสยาม ณ ดอนสะดำเป็นอันมาก หลวงเทเพนทรเทพ นายร้อยตรีถมยา เห็นจะตั้งรับอยู่ที่ดอนสะดำมิได้ จึงได้ล่าถอยมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ ดอนโสม

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพมาขึ้นท่าสนามท้ายดอนคอน ครั้นบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสยกมาตีค่ายสยามหัวดอนคอน หลวงอภัยเมืองสีทันดร และท้าววรกิติกา(ทุย)กรมการเมืองอุบล ซึ่งพระณรงค์วิชิต(เลื่อน)ให้เป็นนายกองอยู่ ณ ค่ายหัวดอนคอน ต้านทานกองทัพฝรั่งเศสมิหยุด จึงยกล่าถอยข้ามมาดอนเดช ฝรั่งเศสตามจับหลวงอภัยได้ ฝ่ายค่ายสยามที่ดอนเดชได้ยิงต่อสู้กองทัพฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ระดมยิงมาที่ค่ายดอนเดชเป็นสามารถ พลสยามที่ดอนเดชทานกำลังลูกแตกมิได้ ก็ล่าถอยมาตั้งรับอยู่ ณ ค่ายดอนสม พอเวลาพลบค่ำ กองทัพฝรั่งเศสก็เลิกไปค่าย

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พระณรงค์วิชิต(เลื่อน)ได้ให้กำลังไปรักษาค่ายที่ดอนเดชไว้ตามเดิม และแต่งกองซุ่มไปอยู่ดอนตาล ดอนสะดำ คอยตีตัดมิให้ฝรั่งเศสเวียนเดินเรือเข้ามาในช่องได้ และเพี้ยศรีมหาเทพนครจำปาศักดิ์พาพล ๑๙ คนหนี อุปฮาด(บัว)เมืองกมลาสัย ซึ่งตั้งค่ายอยู่ตำบลชลเวียงจับได้ พระประชา(แช่ม)ได้ปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก ฝ่ายนายทัพนายกองได้ขอชีวิตไว้ พระประชา(แช่ม)จึงได้ให้ทำโทษเฆี่ยนเพี้ยศรีมหาเทพ ๙๐ ที พวกพลคนละ ๓๐ ที

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพขึ้นตั้งดอนเดชประชิดค่ายสยาม แล้วระดมยิงกระสุนแตกมาที่ค่ายสยามเป็นอันมาก ฝ่ายกองทัพสยามมิได้ยิงตอบ ครั้นฝรั่งเศสยกกองทหารรุกเข้ามาใกล้ ฝ่ายสยามจึงได้ระดมยิงกองทัพฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสถูกกระสุนปืนล้มตายหลายคน แตกถอยกลับไป ฝ่ายสยามถูกกระสุนปืนเจ็บป่วย ๓ คน ในวันนี้พระประชา(แช่ม)ได้จัดให้นายทัพนายกองคุมกำลังไปตั้งค่ายรับที่ดอนสมอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างนี้ฝ่ายฝรั่งเศส และสยามต่างก็ตั้งมั่นรักษาอยู่


กองทหารไทยเข้าสู่สมรภูมิในสมัยศึกฝรั่งเศสคงไม่ต่างจากภาพนี้เท่าไร
ในภาพเป็นการซ้อมรบกับปืน ร.ศ. ครั้งแรก


ในเดือนนี้ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส และสยามได้ปรึกษาตกลงกันเลิกสงคราม และฝ่ายสยามได้เรียกให้กองทัพทุกๆ กองกลับ และได้ตกลงสัญญากันเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม

(เหตุตามรายวัน) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอราชวงศ์สีทันดร และท้าวสิทธิสารเมืองมูลปาโมกข์ ซึ่งคุมช้างเผือกลงมา ณ กรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าราชการเมืองสีทันดร และเมืองมูลปาโมกข์

วันที่ ๕ เมษายน ๑๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ราชวงศ์เมืองสีทันดร เป็นพระอภัยราชวงศา ผู้ว่าราชการเมืองสีทัน พระราชทานครอบเงินกลีบบัวถมดำเครื่องในพร้อมสำรับ ๑ ลูกประคำร้อยแปดเม็ดสาย ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แพรขวาห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ และพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสิทธิสาร เป็นพระวงศาสุรเดช ผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์ ขึ้นเมืองสีทันดร พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์

วันที่ ๒๓ เมษายน พระยาราชเสนา(ทัด) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระยาศรีสิงหเทพ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า และพานทองคำเครื่องพร้อม ๑ คนโททองคำ ๑

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระศรีพิทักษ์(หว่าง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระราชวรินทร์

วันที่ ๑ มิถุนายน นายสุจินดา(เลื่อน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระณรงค์วิชิต

วันที่ ๒ มิถุนายน กรมหลวงวิชิตปรีชากรโปรดให้พระสิทธิศักดิ์สมุทรเขต(บุษย์) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองกมลาสัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์ ให้พระสุจริตรัฐการี(ทำมา) กรมการเมืองอุบล ไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองร้อยเอ็ด ให้พระดุษฎีตุลกิจ(สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วยพระสิทธิศักดิ์อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้โปรดให้นายร้อยตรีพึ่ง กับพลทหาร ๑๒ คน คุมกัปตันโทเรอ นายตี๋ล่าม และทหารญวน ๓ คน ออกจากอุบลมาส่งกรุงเทพฯ และได้ทรงจ่ายเงิน ๓๒๕ บาท ๕๐ อัฐ ให้เป็นเงินเดือนแก่กัปตันโทเรอ และล่าม และทหารญวนด้วย พวกนี้ปล่อยที่ชายแดน ไม่ได้ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ

ในระหว่างเดือนนี้ พระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองธาราบริวัตได้อพยพครอบครัวหนีไปอยู่ ณ ดอนสาย

มิสเตอร์วิลเลี่ยม ซึ่งกรมไปรษณีย์ได้ให้ไปจัดการไปรษณีย์มณฑลลาวกาวได้ไปเปิดการส่งไปรษณีย์ ณ เมืองอุบลในเดือนนี้

วันที่ ๒ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ ๑ และเหรียญดุษฎีมาลา ๑ พระยาภักดีณรงค์(สิน) และพระราชวรินทร์(หว่าง) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พระภักดีณรงค์(สิน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาภักดีณรงค์ พระประชาคดีกิจ(แช่ม) เป็นพระยาประชากิจกรจักร

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายร้อยตรีเกิด ไปเป็นข้าหลวงช่วยหลวงธนสารสุทธารักษ์(หว่าง) ณ เมืองสุรินทร์

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม โปรดให้จ่าการประกอบกิจ ไปเป็นข้าหลวงช่วยหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) อยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์

วันที่ ๗ สิงหาคม โปรดให้พระยาศรีสหเทพ(ทัด) ออกจากอุบล นำข้อราชการไปทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ณ เมืองนครราชสีมา และโปรดให้หลวงธนะผลพิทักษ์(ดิศ) ๑ ขุนชาญรณฤทธิ์(ชม) ๑ ข้าหลวงนครราชสีมามารับราชการมณฑลลาวกาว

วันที่ ๑๔ สิงหาคม โปรดให้นายเพิ่มพนักงานแผนที่ไปตรวจทำแผนที่ตั้งแต่เมืองชานุมานมณฑล ไปโขงเจียงปากมูล และตามสันเขาบรรทัด จนถึงช่องโพยแขวงเมืองขุขันธ์

วันที่ ๓ กันยายน นายร้อยโทพุ่มได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกขุนโหมหักปัจนึก นายร้อยตรีถมยา เป็นนายร้อยเอกขุนอธึกยุทธกรรม

วันที่ ๑๔ ตุลาคม นายร้อยตรีเชิด เป็นลมชิวหาสดมภ์ถึงแก่กรรม หลวงจักรพาฬภูมิพินิจ(ใหญ่) พนักงานแผนที่มณฑลลาวกลาง มารับราชการมณฑลลาวกาว

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระณรงวิชิต(เลื่อน) เป็นข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาสัย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม และให้หลวงธนะผลพิทักษ์(ดิศ) ขุนชาญรณฤทธิ์(ชม) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยจ่าการประกอบกิจ หมื่นวิชิตเสนา ถอนหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) ไปเป็นข้าหลวงอยู่ ณ เมืองสุรินทร์

วันที่ ๔ พฤศจิกายน โปรดให้ขุนอาสาสงคราม(สวน) ไปเป็นข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พระชาตสุเรนทร์ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ จ่าแล่นประจญผลาญ ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน มองซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว มองซิเออร์ลูเย นำเรือกลไฟจักรท้าย ๒ สกรู ชื่อมาซี ปากกว้าง ๖ ศอกเศษ ยาว ๑๑ วาเศษ กินน้ำลึกศอกเศษลำหนึ่ง และเรือกลไฟชื่อฮำรอง ปากกว้างวาเศษ ยาว ๘ วาลำหนึ่ง มาที่บ้านด่านปากมูล และเรือชื่อมาซีมาเที่ยวที่แก่งตนะลำน้ำมูล แล้วกลับไป

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน จ่าฤทธิพิไชย ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ ในเดือนนี้นายฉัตรซึ่งกรมโทรเลขให้ออกไปจัดการโทรเลข ได้ไปถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒ ธันวาคม มิงซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว นำเรือกลไฟมาซี และฮำรอง ไปแวะที่นครจำปาศักดิ์ ขึ้นหาขุนวิชิตชลหาร(ต่อ) ภายหลังเป็นหลวงพลอาศัย ข้าหลวงแจ้งว่าจะมาเยี่ยมเจ้านครจำปาศักดิ์ ครั้นรุ่งขึ้นวันหลัง มองซิเออร์มองและมองซิเออร์ลูเว ได้ไปหาเจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ พูดจาโดยอ่อนหวานต่างๆ และว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะยอมให้เจ้านครจำปาศักดิ์ มีอำนาจบังคับบัญชาตลอดถึงฝั่งโขงตะวันออก เจ้านครจำปาศักดิ์ตอบว่า ฝั่งโขงตะวันออกตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนเจ้านครจำปาศักดิ์เป็นข้าสยาม จะยอมรับบังคับมิได้ แล้วมองซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว ก็ลากลับไป

วันที่ ๓ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้ข้าหลวงภักดีนุชิต เป็นพระสุนทรบริรักษ์ ว่าที่ผู้ช่วยเมืองสุรินทร์ และให้ขุนจงราชกิจ ไปเป็นข้าหลวงเมืองร้อยเอ็ด วันนี้ พระไชยณรงค์ภักดี(จัน) ปลัดผู้รักษาเมืองสุรินทร์เป็นไข้พิษถึงแก่กรรม

วันที่ ๙ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกลาง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว เปลี่ยนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้น พร้อมด้วยพระอนุรักษ์โยธา(นุช) ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ หม่อมราชวงศ์ปฐมเลขา ๑ ขุนเวชวิสิฐ(นิ่ม)แพทย์ ๑ ขุนพิไชยชาญยุทธ ๑ นายร้อยโทสอนทำการพลเรือน ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร้าย ๑ นายร้อยโทพลัด ๑ ไปถึงเมืองอุบล


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์


วันที่ ๑๐ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ประชุมข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ฟังกระแสตราพระราชสีห์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มอบหน้าที่ราชการมณฑลลาวกาว ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ และได้ทรงมอบหน้าที่ราชการถวายกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ในวันนั้น

วันที่ ๑๑ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จออกจากเมืองอุบล พร้อมด้วยพระราชวรินทร์(หว่าง) ๑ จมื่นศักดิบริบาล ๑ นายร้อยเอกหลวงพิทักษ์นรินทร์(กอน) ๑ นายร้อยเอกขุนโหมหักปัจนึก(พุ่ม) ๑ นายร้อยเอกขุนอธึกยุทธกรรม(ถมยา) ๑ นายร้อยตรีโชติ ๑ นายร้อนตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีผล ๑ กลับกรุงเทพฯ โดยทางช่องตะโก และมณฑลปราจีน

วันที่ ๑๙ ธันวาคม นายร้อยตรีเราซิง ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ จาสสรวิชิต ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พระณรงวิชิต(เลื่อน) ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ

อนึ่ง เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จกลับกรุงเทพฯ ถึงบ้านเพี้ยราม แขวงเมืองสุรินทร์นั้น ได้โปรดให้พระพิไชยนครบวรวุฒิ(จรัญ) ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ เป็นผู้ครองเมืองสุรินทร์

วันที่ ๑๑ มกราคม เป็นวันแรกที่สายโทรเลขเมืองอุบลและระหว่างเมืองขุขันธ์ ใช้การได้จนตลอดถึงกรุงเทพฯ

วันที่ ๒๒ มกราคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ๑ และช้างเผือกสยามชั้นที่ ๑ มหาวราภรณ์ ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้นายร้อยโทสอนไปเป็นข้าหลวงอยู่เมืองยโสธร และให้อุปฮาดรับราชการตำแหน่งผู้รักษาเมือง ให้ราชบุตรรับราชการตำแหน่งอุปฮาด ให้หลวงศรีวรราชผู้ช่วยพิเศษ รับราชการตำแหน่งราชบุตรเมืองยโสธร

ในปีนี้ ขุนเทพคชกิรินีหมอ นายเอาะควาญ บ้านดงมันเมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ช้างพังสำคัญสูง ๓ ศอก ๖ นิ้วช้าง ๑ ได้โปรดให้ส่งมาเลี้ยงรักษาไว้ ณ เมืองอุบล เพื่อได้ส่งกรุงเทพฯ ต่อไป ช้างนี้เป็นช้างเผือกโทส่งมาถึงเมืองนครราชสีมาแล้วเอาขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ สมโภชโรงในขึ้นระวางเป็น พระศรีเศวตวรรณิกา


เรื่อง "เหตุสงครามระหว่างฝรั่งเศส" หมดฉบับเพียงเท่านี้ครับ






 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 9:02:51 น.   
Counter : 5447 Pageviews.  


อธิบายเรื่องพระบาท


เมืองพระพุทธบาท



อธิบายเรื่องพระบาท

การที่นับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถานดูเหมือนมูลเหตุจะเกิดขึ้นแต่ ๒ คติต่างกัน เป้นคติของชาวมัชฌิมประเทศอย่าง ๑ เป็นคติชาวลังกาทวีปอย่าง ๑ คติของชาวมัชฌิมประเทศนั้นเดิมถือกันตั้งแต่พุทธกาลว่าไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้เซ่นสรวงสักการบูชา และคตินั้นถือกันมาจนพุทธกาลล่วงร้อยปีจึงได้เลิก เพราะฉะนั้นพระเจดีย์ที่พวกพุทธศาสนิกชนสร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ จึงทำแต่พระสถูปหรือวัตถุต่างๆ เป็นเครื่องหมายสำหรับบูชาแทนพระองค์พระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทเป็นวัตถุอย่าง ๑ ซึ่งชอบทำกันในสมัยนั้น ทำเป็นรอยพระพุทธบาททั้งซ้ายขวาบ้าง ทำเป็นรอยพระพุทธบาทแต่เบื้องขวาบ้าง

แต่ฝ่ายพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์นั้น ชอบอ้างภูเขาหรือสิ่งอื่นที่เป็นเอง แต่รูปสัณฐานแปลกประหลาด ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้บันดาลให้เป็น โดยมีเรื่องตำนานอย่างนั้นๆ เช่นที่เมืองคยามีตำบลหนึ่งไม่ห่างจากตำบลพุทธคยาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นัก เรียกว่าตำบลคยาศิระ บนเนินเขาตรงนั้นเป็นศิลาดำคล้ายรูปคนนอน และบนศิลานั้นมีรอยเหมือนรอยเท้าคนอยู่รอย ๑ เขาอธิบายเรื่องตำนานว่า เดิมมียักษ์ร้ายตนหนึ่ง พระวิษณุเทพเจ้าเสด็จลงมาปราบ เมื่อจะฆ่ายักษ์นั้นทรงเหยียบตัวไว้แล้วตัดศีรษะเสีย แล้วบันดาลให้ตัวยักษ์และรอยพระบาทกลายเป็นศิลาปรากฏอยู่ รอยนั้นเรียกกันว่า “วิษณุบาท” นับถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนไปบูชาเนืองนิตย์จนบัดนี้ ที่ว่าเป็นส่วนคติที่นับถือกันมาในมัชฌิมประเทศ แม้ในบาลีก็หามีปรากฏอ้างว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดไม่

ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เป็นการเกิดขึ้นชั้นหลัง อ้างว่าพระพุทธองค์ได้เหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สาธุชนสักการบูชา ๕ แห่ง คือที่เขาสุวรรณมาลิกแห่ง ๑ ที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง ๑ ที่เขาสุมนกูฏแห่ง ๑ ที่เมืองโยนกบุรีแห่ง ๑ ที่หาดในลำน้ำนัมทานทีแห่ง ๑ มีคาถาคำนมัสการแต่งไว้ สำหรับสวดท้ายสวดมนต์อย่างเก่าดังนี้

สุวณฺณมาลิเก สุวณฺณปพฺพเต
สุมนกูเฏ โยนกปุเร
นมฺมทาย นทิยา ปญฺจปาทวรํ
อหํ วนทามิ ทรูโต.

รอยพระพุทธบาท ๕ รอยที่กล่าวนี้ เดิมชาวเรารู้แห่งแต่รอยที่เขาสุมนกูฏ (เขาที่อังกฤษเรียกว่า อะดัมสปิก) อันอยู่ในลังกาทวีปแห่งเดียว พวกลังกาอธิบายตำนานมีอยู่ในเรื่องมหาวงศ์ ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเหาะไปลังกาทวีป ทรงสั่งสอนพวกชาวเกาะนั้นให้เกิดความเลื่อมใส แล้วจะเสด็จกลับคืนไปยังมัชฌิมประเทศ จึงทำปาฏิหาริย์เหยียบรอยพระพุทธบาท (ใหญ่ยาวราวสักวา ๑) ประดิษฐานไว้บนยอดเขา สำหรับให้ชาวลังกาบูชาต่างพระองค์ แต่ฝ่ายพวกทมิฬที่ถือศาสนาพราหมณ์อ้างว่ารอยนั้นเป็นรอยวิษณุบาท ต่างพวกต่างบูชาด้วยความเชื่อต่างกันมาจนทุกวันนี้ ส่อให้เห็นว่า น่าจะเป็นเพราะพวกลังกาเอาคติของพวกที่ถือศาสนาในมัชฌิมประเทศ กับคติของพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์มาระคลปนกัน จึงเกิดคติที่อ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ ฝ่ายพวกที่นับถือพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์ เช่นไทยเรา และพม่า มอญ แต่ก่อนย่อมเชื่อถือคติตามชาวลังกา ก็พากันศรัทธาพยายามไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ

จนถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) มีพระภิกษุสงฆ์ไทยพวกหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีป จะไปบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกาถามว่ารอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ ๕ รอยนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในสยามประเทศไทย ไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาท ณ ที่นั้นดอกหรือ จึงต้องไปบูชาถึงลังกาทวีป พระภิกษุพวกนั้นนำมาทูลพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งหัวเมืองให้เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ แห่งใดหรือไม่ ครั้งนั้นผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้จากพรานบุณว่า ครั้งหนึ่งไปไล่เนื้อในป่าที่ริมเชิงเขา ยิงถูกเนื้อเจ็บลำบากหนีขึ้นบนไหล่เขาเข้าเซิงไม้ไป พอบัดเดี๋ยวเห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากเซิงไม้ไปเป็นปกติดังเก่า พรานบุณนึกแปลกใจจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้าคนขนาดยาวสักศอกเศษ และมีน้ำขังอยู่ในนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดแผลเพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองทาตัวดู กลากเกลื้อนที่เป็นอยู่ช้านานก็หายหมด ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีไปตรวจเห็นมีรอยจริงดังพรานบุณว่าจึงบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าทรงธรรมเสด็จออกไปทอดพระเนตร ทรงพระราชดำริว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาทตรงตามที่ลังกาบอกมาเป็นแน่แท้ ก็ทรงโสมนัสศรัทธาด้วยเห็นว่าเป็นบริโภคเจดีย์เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธองค์ ประเสริฐกว่าอุเทสิกเจดีย์เช่นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นของสร้างขึ้นโดยสมมติ จึงโปรดฯให้สร้างเป็นมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์บริบาล และสร้างบริเวณพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาทแห่ง ๑ ที่ท่าเจ้าสนุกริมลำน้ำสักแห่ง ๑ สำหรับประทับเวลาเสด็จไปบูชา แล้วโปรดฯ ให้ช่างฝรั่ง (ฮอลันดา) ส่องกล้องทำถนนแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงสุวรรณบรรพต เพื่อให้เป็นทางมหาชนไปมาได้โดยสะดวก และทรงพระราชอุทิศที่โยชน์ ๑ โดยรอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา กัลปนาผลซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท และโปรดฯ ให้บรรดาชายฉกรรจ์อันตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ทรงพระราชอุทิศนั้นพ้นจากหน้าที่ราชการอื่น จัดให้เป็นพวกขุนโขลนข้าพระปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว ที่บริเวณซึ่งทรงพระราชอุทิศนั้นก็ได้นามว่าเมืองปรันตปะ เรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท และเกิดเทศกาลมหาชนขึ้นไปบูชาพระพุทธบาทกลางเดือน ๓ ครั้ง ๑ กลางเดือน ๔ ครั้ง ๑ แต่นั้นมา

แท้จริงรอยพระพุทธบาทอันเป็นที่มหาชนบูชาในประเทศนี้ มีมาก่อนพระเจ้าทรงธรรมแล้วช้านาน และมีอยู่หลายแห่ง ทำเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดต่างกัน ๔ รอย อุทิศต่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ เช่นที่เขาในแขวงเมืองเชียงใหม่ก็มี ทำเป็นรอยพระบาททั้งซ้ายขวา เช่นศิลาแผ่นใหญ่ซึ่งเดิมอยู่ในเมืองชัยนาท เดี๋ยวนี้อยู่ในวัดบวรนิเวศฯ และที่เรียกว่า “พระยืน” อยู่ในมณฑปใกล้พระแท่นศิลาอาสน์ก็มี ทำแต่รอบพระพุทธบาทข้างขวาข้างเดียวนั้นมาก จะกล่าวถึงแต่แห่งสำคัญ คือ ที่พระเจ้าลิไทกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงสร้างไว้บนเขานางทองในแขวงจังหวัดกำแพงเพชร มีอักษรจารึกเป็นรอยสำคัญรอยหนึ่ง อีกรอยหนึ่งจะเป็นผู้ใดสร้างหาปรากฏไม่ เดี๋ยวนี้อยู่ที่วัดพระรูปตรงศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีข้าม พระบาทรอยนี้จำหลักบนแผ่นกระดานไม้แก่น ด้านหลังจำหลักรูปภาพเรื่องมารวิชัย แต่ตรงที่พระพุทธรูปทำเป็นพระพุทธอาสน์ หาทำพระพุทธรูปไม่ เป็นเค้าเงื่อนข้อสำคัญแสดงว่ารอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในประเทศนี้ ชั้นเดิมถือตามคติชาวมัชฌิมประเทศ คือสร้างขึ้นเป็นวัตถุที่บูชาแทนพระพุทธรูป มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้

เพราะฉะนั้นการที่พบรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมจึงเป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายโดยมากเกิดเลื่อมใสศรัทธา โดยเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาถึงประเทศนี้ ต่อมาก็เกิดเจดียสถานที่เชื่อถือกันว่าเป็นพระพุทธบริโภคขึ้นอีกหลายแห่ง คือพระพุทธฉายและพระแท่นดงรังเป็นต้น แต่มหาชนเลื่อมใสศรัทธาที่พระพุทธบาทยิ่งกว่าเจดียสถานแห่งอื่นๆ ทั้งนั้น แม้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้เสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาต่อรัชการพระเจ้าทรงธรรมมาก็เสด็จไปทรงสักการบูชาและสมโภชเป็นนิจ บางพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติม มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) โปรดฯ ให้แต่งธารทองแดงเป็นที่ประพาส และสร้างตำหนักที่ปีระทับเวลาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทขึ้นที่ธารทองแดงนั้น ขนานนามว่าตำหนักธารเกษมแห่ง ๑ ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุก (แปลงเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน) แห่ง ๑ และให้ขุดบ่อน้ำทำศาลารายตามริมถนนหลวงทางขึ้นพระบาท สำหรับให้มหาชนไปมาได้อาศัยทุกระยะ และยังมีของโบราณซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณพระพุทธบาท มีเค้าเงื่อนว่าจะเป็นของสร้างครั้งพระเจ้าปราสาททอง แต่มิได้ลงในหนังสือพระราชพงศาวดารก็อีกหลายสิ่ง คือพระวิหารหลวง และกำแพงแก้วทำด้วยเครื่องศิลาอ่อน รอบชั้นทักษิณพระพุทธบาทเป็นต้น

ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ปรากฏว่าโปรดฯ ให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตั้งแต่เมืองลพบุรีไปจนถึงเขาสุวรรณบรรพตสาย ๑ ให้สร้างอ่างแก้วและกำแพงกันน้ำตามไหล่เขา ชักน้ำฝนให้ไหลไปลงอ่างแก้วขังน้ำไว้ให้มหาชนบริโภคอย่าง ๑ ในรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑) ปรากฏว่าทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป (พระมณฑปซึ่งสร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมทำเป็นยอดเดียว สร้างมาได้ ๗๐ ปีเศษ เห็นจะชำรุดทรุดโทรม) โปรดฯ ให้เปลี่ยนเครื่องบนแปลงเป็นพระมณฑป ๕ ยอด สิ่งอื่นทำนองก็จะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม เพราะความกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราช (ชื่อแตงโม เป็นชาวเมืองเพชรบุรี ที่เป็นผู้สร้างวัดใหญ่ ณ เมืองเพชรบุรีนั้น) ขึ้นไปช่วยปฏิสังขรณ์ จึงทรงมอบงานทั้งปวงให้สมเด็จพระสังฆราชบเป็นผู้อำนวยการดังนี้ แต่การปฏิสังขรณ์พระมณฑปครั้งนั้นค้างวอยู่ถึงรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราธิบดี (พระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๕๑ – ๒๒๗๕) ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความดังนี้

(เรื่องฝามณฑปพระพุทธบาทนี้ เมื่อพระมงคลทิพมุนี มุ่ย วัดจักรวรรดิราชาวาสเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระพุทธบาท ซ่อมฝาผนังข้างในพระมณฑปในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าฯ ได้กะเทาะปูนที่โบกฝาผนังออกโบกใหม่ เห็นอิฐที่ก่อผนังเป็นโค้งและมีรอยก่ออิฐอุดโค้งนั้นเสียทุกด้าน ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าพระมณฑปที่สร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมเห็นจะเป็นมณฑปโถง จะมาก่อแปลงเป็นโค้งเมื่อครั้งทำเครื่องบนใหม่ในรัชกาลพระเจ้าเสือ และมาก่ออุดเป็นฝาขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา จึงให้ประดับด้วยกระจกเงา)

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่าทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททุกปี และว่าครั้งหนึ่งจำเริญงาช้างต้นพระบรมจักรพาฬถึงไส้งาเกรงช้างจะเป็นอันตราย จึงโปรดฯ ให้ทำเครื่องสดผูกช้างนั้นปล่อยถวายเป็นพระพุทธบูชาที่พระพุทธบาทดังนี้ แต่สถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ ณ พระพุทธบาทส่อให้เห็นว่าจะได้ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศอีกครั้งหนึ่ง มีสิ่งที่สร้างใหม่เล่ากันมาเป็นแน่นั้น คือบานประตูพระมณฑป ว่าสร้างเป็นบานมุกในครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้ง ๘ บาน ความที่แต่งพรรณนาในฉันท์บุณโณวาท (ที่หอพระสมุดฯ พิมพ์) ก็พรรณนาสิ่งซึ่งมีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้งนั้น

ถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พ.ศ. ๒๓๐๑ – ๒๓๑๐) เมื่อพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เดิมพวกจีนที่อยู่ในกรุงฯ อาสาต่อสู้ข้าศึก จึงจัดให้กองจีนตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลคลองสวนพูล ต่อมาจีนพวกนั้นคบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คน คุมกันขึ้นไปยังพระพุทธบาท ไปเลิกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยอันทรงรอยพระพุทธบาท และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑป เอามาเป็นอาณาประโยชน์แล้วเลยเผาพระมณฑปเสีย เพื่อจะให้ความสูญ พระมณฑปพระพุทธบาทก็เป็นอันตรายยับเยิน ถึงครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีติดการศึก ก็ไม่มีเวลาที่จะได้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาทให้คืนดีดังแต่ก่อน

มาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เสด็จขึ้นไปทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ให้พระยาราชสงครามเป็นนายช่างปรุงเครื่องบนพระมณฑปขนขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชศรัทธารับแบกตัวลำยองเครื่องบนตัว ๑ ทรงพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไป จนถึงพระพุทธบาท ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการทั้งนายไพร่ที่ขึ้นไปทำการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น บานมุข ๘ บาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างที่พระเจ้าบรมโกศได้ทรงสร้างไว้ ยังปรากฏอยู่จนทุกบัดนี้ แต่ฝาผนังข้างใน (พระมงคลทิพมุนีว่าเมื่อกะเทาะปูนฝาผนังออก เห็นรอยถือปูนผนังเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกถือปูนแล้วทาสีแดง ชั้นที่ ๒ ปิดทองทึบ ชั้นที่ ๓ เขียนลายทอง เขียนลายทองนั้นทราบได้แน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ ๕ เนื่องต่อการที่เสด็จไปสักการบูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๓๔๑๔ จึงสันนิษฐานว่าครั้งปฏิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นจะ) เป็นแต่ล่องชาดไม่ได้คาดแผ่นกระจกเงาดังแต่ก่อนอีกต่อมา นกจากพระมณฑปสิ่งอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมก็ได้โปรดฯให้ซ่อมแซมในรัชกาลที่ ๑ ทั่วไป เพราะฉะนั้นในรัชกาลที่ ๒ ของที่ทรงบูรณะในรัชกาลที่ ๑ ยังบริบูรณ์อยู่จึงไม่ปรากฏว่าได้มีปรากฏว่าได้มีการปฏิสังขรณ์อย่างใดอีก(๑)

ในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์เครื่องพระมณฑปใหญ่ และมีเหตุไฟเทียนบูชาไหม้ม่านแล้วเลยไหม้พระมณฑปน้อยที่สวมรอยพระพุทธบาท ต้องทำใหม่ และบางทีจะปิดทองฝาผนังในคราวนี้ นอกจากนี้หาได้ทรงสร้างสิ่งใดไม่ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลื่อมใส ดำรัสว่าพระพุทธเจ้าได้ประทานพระธรรมเทศนาในหัตถิปโทปมสูตร สํยุตตนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๕๔) ว่าขนาดรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าช้างฉันใด เหมือนกับธรรมทั้งหลายก็ย่อมอยู่ในอัปมาทธรรมดังนี้ ถ้าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้จริงไซร้ ก็จะทรงอุปมาว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าของพระตถาคต เพราะรอยพระพุทธบาทใหญ่โตกว่า ๒ เท่ารอยเท้าช้าง เล่ากันมาดังนี้ แต่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงเลื่อมใสพระพุทธบาทมาก เมื่อเสด็จกลับจากปราบขบถเวียงจันทน์ ทรงอุทิศถวายเครื่องสูงที่แห่เสด็จในการสงครามคราวนั้นไว้เป็นพุทธบูชา และทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้ด้วยองค์ ๑

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องตำนานพระพุทธบาทจะเป็นอย่างไรก็ตาม พระพุทธบาทเป็นมหาเจดียสถานอันประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากมาแต่โบราณ แม้เป็นอุเทสิกเจดีย์ก็ควรทำนุบำรุง จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งที่ทรงสร้างใหม่ก็มีหลายสิ่ง คือพระมงกุฎภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์ ๑ และโปรดฯ ให้สร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่และสร้างพระมณฑปน้อย เปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน แลทรงสร้างเทวรูปศิลาที่เขาตกด้วย ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท และทรงยกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุที่พระมงกุฎภัณฑเจดีย์ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ๔ ครั้ง เสด็จชั้นก่อนมีรถไฟเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ครั้ง ๑ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ครั้ง ๑ เมื่อทำทางรถไฟแล้วเสด็จพระราชดำเนินอีก ๒ ครั้ง ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑปให้เขียนเป็นลายทอง และบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปนั้นเดิมเป็นบันได ๒ สาย โปรดฯ ให้สร้างเติมอีกสาย ๑ เป็น ๓ สาย และหล่อศีรษะนาคด้วยทองสัมฤทธิ์ที่เชิงบันได เติมของครั้งรัชกาลที่ ๑ ด้วย ต่อมาถึงปลายรัชกาล เครื่องพระมณฑปชำรุดมาก โปรดฯ ให้หล่อใหม่ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนี ตำแหน่งผู้รักษาพระพุทธบาท เป็นนายงานทำการจนสำเร็จ ยังแต่จะยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์พระมณฑป สิ้นรัชกาลเสียก่อน ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปยกยอดพระมณฑปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ และโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ เรื่องตำนานพระพุทธบาทมีดังแสดงมา.


.........................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า พระมณฑปน้อยไฟไหม้ ได้ทรงสร้างใหม่ในรัชกลที่ ๒ นั้นผิดไป มาได้หลักฐานภายหลังว่าไฟไหม้พระมณฑปน้อยต่อรัชกาลที่ ๓


.........................................................................................................................................................


คัดจาก ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 11:20:13 น.   
Counter : 2604 Pageviews.  


อธิบายตำนานรำโคม


การแสดงรำโคม
ไฟล์ภาพจากพิพิธภัณฑ์บ้านแฮริส



อธิบายตำนานรำโคม

รำโคมเป็นการฟ้อนรำอย่างหนึ่งทำนองเดียวกับระบำ สำหรับเล่นที่หน้าพลับพลา เวลาเสด็จออกทอดพระเนตรงานมหรสพตอนค่ำคู่กับเต้นสิงโต ซึ่งสำหรับเล่นถวายทอดพระเนตรเวลาเสด็จออกพลับพลาตอนบ่าย การเล่นทั้ง ๒ อย่างนี้เดิมพวกญวนที่เข้ามาสวามิภักดิ์พึ่งพระบารมีคิดฝึกหัดกันขึ้นเล่นถวายทอดพระเนตร สนองพระเดชพระคุณในงานมหรสพของหลวงก่อน แล้วจึงได้เลยเป็นเครื่องมหรสพสำหรับไทยเล่นงานหลวงต่อมา

ต้นเดิมของการเล่นเต้นสิงโตและรำโคม ๒ อย่างนี้สืบได้ความว่า การเล่นสิงโตญวนเอาตำรามาแต่จีน ในเมืองจีนนั้นพวกชายฉกรรจ์ที่ใจคอกล้าหาญมักชวนกันฝึกวิชาสำหรับรบสู้ป้องกันตัว คือหัดวิธีบำรุงกำลัง (ยิมแนสติก) และมวยปล้ำเป็นต้น ถึงเวลานักขัตฤกษ์เช่นตรุษจีน มักคุมกันไปเที่ยวเล่นประลองกำลัง คือที่เราเรียกว่า “พะบู๊” ให้คนดู ทำเป็นรูปสิงโตใส่ตัวเต้นนำกระบวนไปเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นการเต้นสิงโตจึงเป็นเครื่องหมายของพวกที่ได้ฝึกหัดมีกำลังวังชากล้าหาญ พวกจีนที่เล่นสิงโตวงใหญ่เมืองเราเวลาตรุษจีน ก็สมมติว่าเป็นคนชนิดนั้น ถึงพวกที่อังกฤษเรียกว่า “บ๊อกเซอร์” (แปลว่านักมวย) ซึ่งได้เคยก่อการกำเริบใหญ่โตในเมืองจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ก็กล่าวกันว่าเป็นพวกที่เล่นเต้นสิงโตนั้นเอง การเล่นเต้นสิงโตคงเป็นประเพณีมาในเมืองจีนแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินญวนเอาอย่างไปฝึกหัดพวกทหารญวนให้เล่นประลองกำลังอย่างจีน การเล่นเต้นสิงโตจึงติดไปเป็นประเพณีในราชสำนักของญวนด้วย ส่วนการเล่นรำโคมหรือที่เราเรียกกันแต่ก่อนว่า “ญวนรำกระถาง” นั้น พวกญวนเขาว่าเป็นของคิดขึ้นในเมืองญวนเอง สำหรับเล่นถวายพระเจ้าแผ่นดินในงานมงคล เช่นงานเฉลิมพระชันษาเป็นต้น ที่เมืองจีนหามีไม่ เรื่องต้นเดิมของการเล่นสิงโตกับเล่นรำโคมสืบได้ความดังกล่าวมานี้

เหตุที่พวกญวนจะนำตำราเล่นสิงโตและเล่นรำโคมเข้ามาฝึกหัดไว้ในเมืองไทยนั้น ได้ความว่าเมื่อครั้งเมืองตังเกี๋ยกับเมืองเว้ต่างมีเจ้าครองเป็นอิสระแก่กัน ที่เมืองเว้เกิดขบถ พวกขบถชิงได้เมืองแล้วฆ่าฟันเจ้านายเสียเป็นอันมาก พวกเชื้อพระวงศ์เมืองเว้ที่รอดอยู่ได้ พากันหนีพวกขบถลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์ องเชียงชุนบุตรที่ ๔ ของเจ้าเมืองเว้มาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียนซึ่งต่อแดนเขมร เขมรเรียกว่าเมืองบันทายมาศ พวกขบถยกกองทัพมาติดตาม เจ้าเมืองฮาเตียนเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็อพยพครอบครัวพาองเชียงซุนเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้รับไว้ แล้วพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงซุนตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระนครฝั่งตะวันออก คือแถวถนนพาหุรัดทุกวันนี้ จึงเรียกกันว่าบ้านญวนมาจนสร้างถนนพาหุรัด อยู่มาองเชียงซุนพยายามจะหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสีย(๑) พวกองเชียงซุนเป็นญวนพวกแรกที่อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ เมื่อภายหลังเสียงกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก

ต่อมาถึงชันกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๑ มีนัดดาเจ้าเมืองเว้อีกองค์ ๑ ชื่อองเชียงสือ เดิมหนีพวกขบถมาอาศัยอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนนับถือยกย่องให้ครองเมือง แต่รักษาเมืองต่อสู้ศัตรูไม่ไหว จึงหนีมาอาสัญอยู่ที่เกาะกระบือในแดนเขมร พระชาชลบุรีคุมเรือรบไทยไปลาดตระเวนทางทะเล ไปพบองเชียงสือ องเชียงสือจึงพาครอบครัวโดยสารเรือพระยาชลบุรีเข้ามาขอพึ่งพระบารมีอยู่ ณ กรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณารับทำนุบำรุง และพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงสือตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกที่ตำบลคอกกระบือ คือตรงที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกศทุกวันนี้ พวกญวนที่นับถือองเชียงสือมีมาก ครั้นรู้ว่าองชียงสือได้มาพึ่งพระบารมีเป็นหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็พากันอพยพครอบครัวติดตามเข้ามาอีกเนืองๆ จำนวนญวนที่เข้ามาในคราวองเชียงสือเห็นจะมากด้วยกัน จึงปรากฏว่าองเชียงสือได้ควบคุมพวกญวนไปตามเสด็จในการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง

องเชียงสืออยู่ในกรุงเทพฯ ๔ ปี ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ องเชียงสือเขียนหนังสือทูลลาวางไว้ที่ที่บูชา แล้วลอบลงเรือหนีไปกับคนสนิท เนื้อความในหนังสือนั้นว่า ตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำนุบำรุงเป็นอเนกประการ ถึงให้กองทัพไทยไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนพระราชทานก็ครั้ง ๑ แต่การยังไม่สำเร็จ เพราะกรุงเทพฯ ติดทำสงครามอยู่กับพม่า จะรอต่อไปก็เกรงว่าพรรคพวกทางเมืองญวนจะรวนเรไปเสีย ครั้นจะกราบถวายบังคมลาโดยเปิดเผยก็เกรงจะมีเหตุขัดข้องจึงหนีไป เพื่อจะไปคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน ถ้าขัดข้องประการใดขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงอุดหนุนด้วย เมื่อได้เมืองแล้วจะมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป องเชียงสือหนีไปพักอยู่ที่เกาะกูด เมื่อข่าวที่องเชียงสือหนีทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงถือโทษ แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืององเชียงสือ ในครั้งนั้นจึงโปรดฯ ให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายขึ้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่เสียที่บางโพธิ์ ยังมีเชื้อสายสืบมาจนทุกวันนี้

มีคำเล่ากันสืบมาว่า เมื่อองเชียงสือเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ได้คิดฝึกหัดให้พวกญวนเล่นเต้นสิงโตอย่าง ๑ ญวนหก(พะบู๊)อย่าง ๑ สำหรับเล่นกลางวัน และญวนรำกระถางอย่าง ๑ สิงโตไฟคาบแก้อย่าง ๑ สำหรับเล่นกลางคืน แล้วนำมาเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทอดพระเนตร เป็นการสนองพระเดชพระคุณ โปรดฯ ให้เล่นที่หน้าพลับพลาและโปรดฯ ให้ทำมังกรไฟคาบแก้วขึ้นเป็นคู่กัน จึงเลยเล่นเป็นประเพรีมีสืบมาจนรัชกาลหลังๆ

ความที่กล่าวมานี้มีเค้าเงื่อนเห็นสมจริง ด้วยองเชียงสือเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ จนปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ ในระหว่างนั้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสมโภชพระนคร มีมหรสพเป็นการใหญ่ องเชียงสือเห็นจะฝึกหัดจัดการเล่นอย่างญวน ให้พวกของตนเล่นสนองพระเดชพระคุณในงานมหรสพคราวนั้น แต่องเชียงสือจะได้หัดการเล่นในครั้งนั้นทั้ง ๔ อย่างที่กล่าวมา หรือแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ข้อนี้ได้สอบดูในโคลงซึ่งกรมหมื่นศรีสุเรนทรทรงแต่ง ว่าด้วยงานพระเมรุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งทำในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ เครื่องมหรสพซึ่งพรรณนาไว้ในหนังสือนั้น มีปรากฏแต่การเล่นเต้นสิงโต กล่าวไว้ในโคลงว่า

แต่การเล่นรำโคมและสิงโตคาบแก้วในเวลาค่ำมิได้กล่าวถึงในหนังสือนั้นเลย จึงได้เที่ยวสืบถามตัวพวกญวนสูงอายุ ได้ความว่ารำโคมนั้นเป็นของมีขึ้นทีหลัง ญวนพวกที่เข้ามาชั้นหลังต่อมาอีกเป็นผู้นำแบบแผนเข้ามา องเชียงสือได้มาฝึกหัดให้พวกญวนเล่นครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่เต้นสิงโตกับพะบู๊เท่านั้น

พวกญวนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยภายหลังองเชียงสือ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีก ๓ คราว คือคราวแรกนั้น เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงหเสนี) ไปตีเมืองญวน ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ ครัวญวนที่เข้ามาคราวนี้เป็น ๒ พวก คือเป็นพวกถือพระพุทธศาสนาพวก ๑ เป็นพวกถือศาสนาคริสตังพวก ๑ พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนานั้นโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ ซึ่งทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก แต่พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังนั้น โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามเสน ให้ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่

ญวน ๒ พวกที่กล่าวมานี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พวกคริสตังย้ายสังกัดไปเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวร (คือญวนพวกพระยาบรรฦๅสิงหนาท) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าพวกญวนที่อยู่เมืองกาญจนบุรีโดยมากอยากจะมาอยู่กรุงเทพฯ เหมือนกับญวนพวกอื่น จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้โปรดฯ ให้ขุดใหม่นั้น แล้วให้จัดเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา ที่เมืองกาญจนบุรียังมีวัดญวนและมีชื่อตำบลเช่นเรียกว่า “ชุกยายญวน” ปรากฏอยู่ เชื้อสายพวกญวนที่ไม่สมัครเข้ามากรุงเทพฯก็ยังคงอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีจนทุกวันนี้

ต่อมาจะเป็นปีไหนไม่ทราบแน่ แต่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖ จน พ.ศ. ๒๓๘๑ มีญวนเข้ารีตคริสตังอีกพวก ๑ ถูกพระเจ้ามิงมางบังคับมิให้ถือศาสนาคริสตัง จึงพากันอพยพหนีมาอาศัยเมืองไทยเป็นคราวที่ ๒ มาอยู่ที่เมืองจันทบุรี จึงมีพวกญวนอยู่ที่นั่นมาจนบัดนี้

ครัวญวนที่อพยพเข้ามาคราวหลังในรัชกาลที่ ๓ นั้น มาเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๘๓ มีเรื่องปรากฏว่าเวลานั้นกองทัพไทยกับเขมรกำลังรบพุ่งขับไล่กองทัพญวน ที่เข้ามาตั้งอยู่ในแดนเขมร กองทัพญวนถูกล้อมอยู่หลายแห่ง เผอิญเกิดความไข้ขึ้นในค่ายญวน พวกญวนหนีความไข้ออกมาหาเขมรประมาณ ๑๐๐๐ เศษ เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ อีกพวก ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ญวนพวกนี้ไปอยู่บางโพธิ์กับเชื้อสายญวนพวกองเชียงสือ เพราะถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน และให้สังกัดเป็นกรมอาสา ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เข้าใจว่าญวนพวกหลังนี้เป็นผู้นำตำรารำโคมเข้ามา ด้วยมีคำของญวนที่สูงอายุเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถามถึงการเล่นของพวกญวน (ทำนองจะดำรัสถามถึงเค้ามูลเรื่องเต้นสิงโต) พวกญวนกราบทูลว่า ประเพณีในเมืองญวนนั้น ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกเวลากลางวัน พวกทหารเล่นเต้นสิงโตถวายทอดพระเนตร ถ้าเสด็จออกกลางคืนมีพวกระบำแต่งเป็นเทพยดามารำโคมถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้หัดพวกญวนรำโคมขึ้นพวก ๑ แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ หาได้เล่นถวายตัวเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไม่ ตามคำเล่าว่าได้เล่นถวายตัวเป็นครั้งแรกเมื่องานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้พวกกรมญวนหก ซึ่งเป็นพนักงานเล่นเต้นสิงโตมาแต่ก่อนนั้น หักเล่นรำโคมในเวลาค่ำด้วยสืบมา สืบได้ความในเรื่องตำนานรำโคมตอนที่เล่นอย่างญวนดังกล่าวมานี้ แต่สิงโตคาบแก้วที่เล่นหน้าพลับพลาเวลากลางคืน จะมีขึ้นครั้งใดสืบไม่ได้ความ ปรากฏแต่ว่ามังกรคาบแก้วนั้นมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว


เชิงอรรถ

(๑) กล่าวกันอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาส เกิดอุปทานว่ามีแก้วอยู่ในท้ององเชียงซุน จึงให้ประหารชีวิตเพื่อจะค้นหาแก้ว

.........................................................................................................................................................


คัดจาก ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 11:15:14 น.   
Counter : 11687 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com