กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. ๑๐๘


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช


ประกาศเรื่อง เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ. ๑๐๘


มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเสด็จพระราชดำเนิรประพาสครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปนประธานในที่ประชุมเสนาบดี บัญชาการทั้งปวงสิทธิ์ขาดทั่วไป พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ว่าการกรมพระนครบาล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักรศิลปาคม เสนาบดีว่าการกรมวัง พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ว่าการทหาร เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ที่สมุหนายก เจ้าพระยาพลเทพ ที่สมุหพระกลาโหม พระยาภาสกรวงศ์ ที่เกษตราธิบดี เปนผู้รักษาพระนคร(๑) ซึ่งได้ประชุมกันในพระบรมมหาราชวังเปนนิตย์ทุกวันไป การอันใดเกิดขึ้นที่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาก่อน ก็ให้มีหนังสือไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ถ้าการอันใดร้อนเร็ว หรือเปนการไม่สำคัญ ก็ให้พร้อมกันบังคับบัญชาไปให้ตลอดทุกประการ อย่าให้คนทั้งปวงมีความวิตกหวาดหวั่นตื่นเต้นประการใดเลย

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘


........................................................................................................


(๑) ผู้ซึ่งมีตำแหน่งในที่ประชุมเสนาบดีไปตามเสด็จครั้งนั้น คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ กระทรวงมุรธาธร กับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กระทรวงธรรมการ



...............................................................................................................................................



สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ



พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๑



เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘



ถึง ท่านกลางแลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยระยะที่ฉันออกมาครั้งนี้ ไม่ตรงกันกับโปรแกรมที่กะไว้เดิม ต้องยักเยื้องไปตามเวลาที่ได้ช่องลมจัดไม่จัด แลตามความประสงค์ที่จะเที่ยวไปมา ไม่จำเปนที่จะต้องเอาเปนแน่ จึ่งขอเล่าเรื่องพอให้ทราบตามระยะที่ได้มาแล้ว

ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เวลาบ่าย ๔ โมงหย่อนเล็กน้อย ออกจากเมืองสมุทรปราการ เวลาหัวค่ำมีลมจัดคลื่นไม่สู้มากนัก แต่ฉันเมาเสียตั้งแต่พอเยี่ยมปากอ่าวออกมา ด้วยเวลาเย็นนั้นถึงอยู่บนบกก็ออกเมาๆ อยู่ทุกวัน เปนเวลาไม่สบาย กระทบคลื่นเข้าก็ยิ่งเมามาก ต้องนอนอยู่กับที่ลุกขึ้นไม่ได้ ถ้านอนอยู่ก็สบายเหมือนปรกติ(๑)

วันที่ ๑๒ เวลาเช้าโมงเศษ ทอดที่อ่าวเกาะหลัก ห่างฝั่งประมาณ ๕๐ เส้น อ่าวนี้กว้างประมาณ ๓ ไมล์ แลดูฝั่งข้างในเห็นเขาติดเปนเทือกยาวเหมือนเมืองปราณ ที่ริมหาดมีเขาหัวแหลมทั้งข้างเหนือข้างใต้ ที่ตรงเขาเลาหมวกปลายแหลมข้างใต้ออกมามีเกาะอยู่ใกล้ๆ กันสามเกาะ ในสามเกาะนั้น เกาะหนึ่งที่เรียกว่าเกาะหลัก เปนชื่อของอ่าวนี้ ที่ริมฝั่งกลางอ่าวมีเขาลูกหนึ่งเปนช่องเขาทลุโต

เวลาเช้า ๒ โมงขึ้นบกเปนเวลาน้ำลง มีหาดทรายมูลเป็ดยื่นออกมาในน้ำยาว ต้องลงเรือเล็กเข็นขึ้นไปถึงบนฝั่ง มีบ้านเรือนคนประมาณร้อยหลัง มีวัดวัดหนึ่ง คนอยู่ที่นี้ตัดฝางตัดไม้ขายเปนพื้น ทำนาแต่เข้าไม่พอกิน ต้องไปซื้อเมืองประจวบคิรีขันธ์บ้าง(๒) เพ็ชรบุรีบ้าง การทำปาณาติบาตก็ทำอยู่แต่พอกิน ไม่เปนท่าซื้อขายมากเหมือนเมืองปราณ มีโป๊ะอยู่ลูกหนึ่ง ได้พบบุตรหญิงพระยาสุรเสนา คง เปนที่พระอนุรักษ์โยธา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่คนหนึ่ง กับคนค้าขายมาจากเมืองเพ็ชรบุรีคนหนึ่ง มาแต่เมืองกำเนิดนพคุณคนหนึ่ง

ถามได้ความหลายอย่าง ในคำแจ้งความทั้งปวงนั้นว่าผู้ร้ายชุมนัก มาทั้งทางน้ำทางบก ผู้ร้ายนั้นเปนไทยพูดเสียงชาวนอกเปนพื้น การที่จะรักษาบ้านของชาวบ้านพวกนี้ ถ้ารู้ว่าผู้ร้ายมาแล้วก็หลบหลีกไปซุ่มซ่อนนอนเสียในป่า ถ้าผู้ร้ายไม่ได้ตัวเจ้าของบ้านแล้วก็ไม่กล้าเข้าปล้น ด้วยกลัวชาวบ้านจะคิดอุบายซุ่มซ่อนคอยนั่งรายสกัดทาง ถ้าได้ตัวเจ้าบ้านแล้วก็ทุบตีเร่งเอาทรัพย์ ถ้าได้ทรัพย์แล้วใช้ให้เจข้าของบ้านนำไปส่งถึงในป่าหรือในเรือที่มา ให้ร้องประกาศว่าเต็มใจให้โดยดี ผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์สมบัติเช่นนี่มีหลายครั้งมาแล้ว ชุมจัดอยู่ในระหว่างตั้งแต่เมืองเพ็ชรบุรีไปจนถึงเมืองกำเนิดนพคุณ ราษฎรพากันกลัวครั่นคร้ามไปด้วยอุบาย เห็นว่าจะต้องกันกับใบบอกพระยาเพ็ชรบุรี(๓) ที่มีเข้าไปบอกก่อนน่าจะออกมานี้ ขอให้เตือนเจ้าพระยาพลเทพ(๔) ให้คิดจัดการปราบปรามผู้ร้ายเหล่านี้ ตามที่ได้สั่งไว้นั้น

ขึ้นไปอยู่บนบกประมาณชั่วโมงหนึ่งกลับมาลงเรือ เวลาบ่ายมีลมมีคลื่นด้วยฝนตกบนฝั่ง ฉันหายเมาเปนปรกติแล้ว เวลาเย็นดูคลื่นค่อยสงบลง แต่เห็นว่าลมยังจัดนัก จะออกไปกลัวจะถูกคลื่นมากจึงได้จอดนอนอยู่ที่นั้น จันทรุปราคาจับเวลา ๘ ทุ่ม ๒๑ มินิต ต่อสามยามจึ่งได้ยินชาวบ้านยิงปืนแลที่วัดตีกลอง ออกเรือเวลา ๑๐ ทุ่ม

วันที่ ๑๓ เช้ามีลมจัดแต่ไม่มีคลื่น ต่อกลางวันจึงมีคลื่นอยู่ข้างจะเมากันยับเยิน แต่ฉันอยู่ตัวแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงถึงเมืองชุมพร ฝนมัวครึ้มไปยังค่ำ ๕ โมงเศษลงเรือไปขึ้นบกที่น่าตึกปากน้ำ พระยาชุมพรกับพระยาไชยา(๕)มาคอบรับ ตกแต่งลบปิกเชอที่ผนัง(๖) หุ้มผ้าแดงเสา ปูเสื่อเรียบร้อยขึ้น แต่ลมพัดจากหมู่บ้านมาที่ตึก เหม็นเหลือกำลังที่จะทนได้ พอเดิรขึ้นดูบนตึกแล้วก็กลับมาลงเรือ ฝนตกพรำไปเสมอไม่ใคร่มีเวลาเว้น ถามพระยาชุมพรแจ้งว่าคนที่หนีนั้นกลับมามาก(๗) แต่นาทำยังไม่ได้ผลบริบูรณ์ด้วยฝนแล้ง ได้แต่เข้าไร่ และไข้เจ็บยังมีชุกชุมอยู่ เวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ มีคลื่นแต่ลมสงบ

วันที่ ๑๔ เวลาเช้าโมงเศษถึงเกาะง่าม ทอดใกล้เกาะน่าตวันออกแลเห็นปากถ้ำเป็นโพรงๆ ที่เขานั้นมีต้นไม้น้อยแลเห็นศิลามาก ที่เกาะนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าได้ประทับถอดพระเนตรรังนกแต่ก่อน ฉันจำได้ว่าได้ตามเสด็จ แต่ครั้นเมื่อตีกระเชียงเข้าไปใกล้ ปากถ้ำที่ลงถึงน้ำเรือเข้าได้แต่ก่อนนั้น มีก้อนศิลาตกลงมาขวางเสียเรือเข้าไม่ได้ จะขึ้นก็ยากเพราะมีคลื่น ด้วยเกาะนี้เมื่อถูกปลายใต้ฝุ่นครั้งก่อนพังลงมามาก ตีกระเชียงอ้อมไปรอบเกาะ เห็นทับเล็กๆ ซึ่งปลูกไว้ตามก้อนศิลา สำหรับคนรักษาเกาะอาศรัยเฝ้ายามหลายหลัง ที่ย่านกลางเกาะเปนที่ประชุมคน มีทับอย่างเขื่องๆ หลายหลัง แลศาลเจ้าก่ออิฐหลังเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขา ที่ริมน้ำตรงนั้นลงมามีถ้ำรังนกถ้ำหนึ่ง มีรังนกอยู่ประมาณสักสามสิบสี่สิบรัง ต้องขึ้นไปดูแก้กระหายไปพลาง แต่ไม่มีเครื่องมือจะแซะ จีนผู้รักษาเอาไม้ไผ่กระทุ้งลงมาให้ดูเปนตัวอย่างสัก ๑๑ – ๑๒ รัง แต่เห็นมีตัวจับอยู่มาก จึงได้ห้ามเสียไม่ให้กระทุ้งต่อไป เวลา ๓ โมงเช้าออกเรือ ฝนตกแลมืดครึ้มไม่มีแดดเลย

เวลาเข้า ๕ โมงเศษ ถึงเกาะลังกาจิ๋วซึ่งพระยาไชยาจัดไว้รับ รูปร่างเกาะก็คล้ายกันกับเกาะง่าม แต่ที่นี่มีหาดทรายยาวท่วงทีดีกว่ามาก ลงเรือไปที่ด้านเหนือมีถ้ำสองช่องเหมือนภูเขาหลังโรงละคอน ช่องข้างตวันตกเรือสิบสองกระเชียงเข้าไปได้พอหมดลำ แล้วมีซอกพอเรือเล็กๆ ออกไปตกทเลข้างนอกได้อีกช่องหนึ่ง มีรังนกจับอยู่บ้างเล็กน้อย แต่อยู่สูงสอยไม่ถึง ออกจากถ้ำนั้นมาเข้าถ้ำข้างตวันออก เรือกระเชียงก็เข้าไปได้เหมือนกัน แต่ระยะทางยาวต้องใช้เรือทอดเปนตะพานเข้าไปอีกลำหนึ่ง ถ้ำนี้ใหญ่กว้างพื้นชันขึ้นไปสูง เต็มไปด้วยมูลนก มีปล่องแสงสว่างสองปล่องนกจับมาก ที่นี่เขาลงตะแกรงให้ดูตามวิธีที่เก็บรังนก ครั้นจะพรรณาให้ฟังละเอียดก็จะยืดยาวนักไป น่าดูมากเพราะเปนการประหลาดไม่เคยเห็น แต่น่าสงสารนกมากเหมือนกัน ด้วยลูกเล็กๆ ที่ยังบินไปไม่ไหวต้องตกจากรังมาก


สพานทางไปถ้ำน้ำที่มีรังนก เกาะลังกาจิ๋ว (รูปทรงถ่าย)

ออกจากถ้ำนี้อ้อมไปน่าตวันตก ขึ้นที่หาดแต่เปนหาดมีกะรังขึ้นยาก เขาทำปะรำไว้รับ มีถ้ำเล็กๆ เรียงกันไปสามถ้ำ ถ้ำกลางเรียกถ้ำคลองควาย มีรังนกที่ขาวบริสุทธิดีประมาณสักร้อยรัง ไม่มีตัวนกเลย ที่นี่ฉันได้แซะสอยเองลองดู แต่ยังพบไข่ทีเห็นจะฟักไม่เปนแล้วประมาณสักสามสี่ใบเหลืออยู่ในรัง ต่อไปเปนถ้ำใหญ่หน่อยหนึ่งเรียกว่าถ้ำน้ำ คือเวลาน้ำขึ้นถึงพื้นถ้ำ น่าถ้ำเปิดแสงสว่างเข้าได้ตลอด ในนั้นมีรังนกหลายพันติดกันไปทั้งนั้นดูงามมาก ดูเขาแซะสอยอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมงจึงได้กลับมาลงเรือ ออกเรือจากเกาะลังกาจิ๋วเวลาบ่าย ๕ โมง ฝนตกประปรายคลื่นราบ เวลาย่ำค่ำครึ่งทอดที่อ่าวหาดรี


นกทำรังในถ้ำน้ำ เกาะลังกาจิ๋ว (รูปทรงถ่าย)

วันที่ ๑๕ เช้าโมงครึ่งขึ้นบ้านหาดรี มีเรือนโรงสักหกเจ็ดหลัง หากินในการทำปาณาติบาต ตัดไม้ ตัดหวาย ทำไต้ เหม็นเต็มทีทนไม่ไหว ที่น่าอ่าวมีเกาะรายไปหลายเกาะล้วนแต่เกาะรังนกทั้งนั้น มีลำธารน้ำจืดไหลลงมาจนถึงหาดทรายแห่งหนึ่ง เดิรอยู่บนหาดหน่อยหนึ่งกลับลงเรือมา จะขึ้นหาดอื่น พอฝนตก ได้ออกเรือเช้า ๔ โมง มีลมพัดหนาว แต่ออกเรือมาจนเที่ยงฝนไม่ตก บ่ายสามโมงครึ่งถึงเกาะช่องอ่าวทอง ทอดใกล้เกาะงัวตาหลับ เวลาเย็นลงเรือขึ้นไปหาดเกาะงัวตาหลับ แล้วไปขึ้นหาดเกาะงัวตาหลำ ซึ่งเปนที่พวกรังนกอยู่เฝ้าถ้ำ รังนกที่เกาะงัวตาหลำนี้เปนมากกว่าทุกตำบล แต่ไม่เปนรังนกอย่างดีทีเดียวนัก ทางที่จะขึ้นไปปากถ้ำต้องขึ้นเขาถึงสองชั่วโมงสามชั่วโมง แล้วต้องลงทางปากปล่องบันไดถึง ๙๐ คั่น เวลาค่ำกลับมาเรือ ที่เกาะนี้มีน้ำจืดแต่ที่บ่อหาดเกาะงัวตาหลับแห่งเดียว เวลานี้น้ำขัดลงจึงได้คิดไปตักน้ำที่เกาะพงัน แล้วจึงจะกลับมาที่นี้ต่อไป ได้ออกเรือเวลา ๑๑ ทุ่ม

วันที่ ๑๖ เวลา ๓ โมงเช้าทอดสมอที่อ่าวเสด็จ ขึ้นบกเดิรตามลำธารไปถึงที่จารึกครั้งก่อน(๘) จารึกศักราช ๑๒๕๑ เติมลงอีกบรรทัดหนึ่ง แล้วเดิรต่อไปเปนธารทรายราบๆ บ้าง เปนก่อนศิลาบ้าง มีน้ำตกที่งามๆ อีกสี่แห่ง ขึ้นไปจนหมดก้อนศิลาถึงหลังเขา เปนธารพื้นทราบราบๆ ไม่มีศิลา ทางไปตามลำธารประมาณสักสอยร้อยเส้น จึงได้จารึกก้อนศิลาที่สุดด้วยอักษร จ.ป.ร. แลศักราช ๑๐๘ ไว้ แล้วเดิรต่อไปอีกสักสามสิบวาหรือสองเส้น ขึ้นถึงหลังเขาเปนที่ราบ พบไร่พริกมะเขือกล้วยซึ่งพวกบ้านใต้ขึ้นมาทำ เรียกว่าท้องชะนาง อยู่ในระหว่างยอดเขาสูงล้อม พื้นที่นี้สูงกว่าทเล ๕๕๐ ฟิต จึงได้ให้จารึกก้อนศิลาที่ปลายธารนั้นไว้อีกว่าต่อไปมีไร่ ได้ตัวขุนจ่าเมืองหัวเมืองพะงันให้มานำทางกลับ ลัดมาในหมู่ต้นไม้ ข้ามไหล่เขาสูงๆ ต่ำๆ ลงมาทางประมาณสักร้อยยี่สิบเส้นถึงปากธารข้างล่าง เวลาบ่าย ๔ โมงอาบน้ำแล้วกลับลงมาเรือ เวลานี้หยุดตักน้ำอยู่ที่นี้จนดึก

วันที่ ๑๗ พอสว่างออกเรือจะไปดูบ้านใต้ ซึ่งเปนบ้านใหญ่ในเกาะพะงัน มีเรือนประมาณสามร้อยหลัง ลมจัดทอดไม่ได้ ต้องเลยไปเกาะสมุย ทอดที่อ่าวแม่น้ำด้านตวันออกถึงเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงเช้าขึ้นบก มีโรงจีนท่าทางคล้ายกันกับอ่าวน่าค่าย แต่ที่นี่มีมะพร้าวน้อยกว่า เดิรไปตามในสวนถึงวัดเล (คือทเล) ทางประมาณ ๓๐ เส้น วัดนี้ไม่มีโบสถ์ ไปทำอุโบสถวัดเขา มีพระสงฆ์ ๖ รูป ออกจากวัดเลไปวัดเขาทางประมาณ ๒๐ เส้น เปนเนินสูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง มีโรงอุโบสถเสาไม้จริง หลังคามุงกระเบื้องสามห้อง เฉลียงรอบหลังหนึ่ง พระประธานใหญ่ลงรักไว้จะปิดทอง วัดนี้ก็ว่าเปนของขรัวพุดสอนสร้างเหมือนกัน แต่ทิ้งร้างไปพึ่งจะมีพระสงฆ์มาอยู่ในสองเดือนนี้ มีแต่กุฎีเปนที่พักเล็กๆ หลังเดียว

กลับมาลงเรือที่เก่า แล้วออกเรือจากเกาะสมุยกลับมาที่เกาะช่องอ่างทอง ทอดที่น่าเกาะงัวตาหลับตามเดิม เวลาบ่าย ๔ โมง ๒๐ มินิต ลงเรือไปดูเกาะที่เปนหมู่อยู่ที่นั้น มีสักสิบเอ็ดสิบสองเกาะ ดูไม่สู้งามเหมือนที่ชมกันฤๅที่คเนดูในแผนที่ว่าจะงาม ถ้าจะว่าตามความเห็นของช่างก่อเขาแล้ว ต้องร้องว่าก่อไม่เปนเลยทั้งนั้น เขาแลเห็นศิลามากสีเหมือนผนังโบสถ์ร้าง ต้นไม้ขึ้นก็เล็กๆ ให้นึกเห็นเปนวัดร้างในกรุงเก่ามากกว่าอย่างอื่น ที่สูงก็คล้ายพระปรางค์ยอดพัง ที่โตก็คล้ายผนังโบสถไม่มีหลังคา ถ้าจะว่าเปนเขาในอ่าวแก้วก็เรียงเปนแถวกันมากไป ไม่สลับซับซ้อนไปเหมือนอยู่แต่ที่ริมน้ำเปนรอยเซาะลึกๆ เข้าไป เหมือนกับภูเขาตั้งอยู่บนร้านตะกั่วที่ในอ่างแก้ว นอนอยู่ที่นี้จนเวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ

วันที่ ๑๘ ล่องจะไปทอดที่ในช่องสมุยอีก ลมจัดทอดไม่ได้ ฉันชอบใจลำธารที่อ่าวเสด็จ จึ่งให้กลับมาทอดที่นั้น ขึ้นไปอาบน้ำอีกวันหนึ่ง ให้จารึกที่น้ำตกแรกน่าต้นกร่างซึ่งเปนที่พัก บอกชื่อไว้ว่า “ธารเสด็จ” แลจะให้พระยาไชยาทำศาลาไวในที่นั้นด้วย แล้วกลับลงมาเรือ ได้ออกเรือเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ มาทอดที่อ่าวแม่น้ำเกาะสมุยอีก เวลาเย็นขึ้นบกไปที่ข้างแหลมเรียกว่าน่าพระลาน เปรที่ทราบยาวประมาณสัก ๔ เส้น กว้างสัก ๒ เส้น ไม่มีต้นไม้แลหญ้าขึ้นในที่นั้นเลย มีพระเจดีย์เปนซุ้มคูหาสี่ด้านซ้อนสามชั้นสูงประมาณสามวาอยู่ในกลางที่นั้นองค์หนึ่ง ว่าเปนที่บรรจุกระดูกขรัวพุดสอน ราษฎรนับถือกัน ถึงปีมาก่อพระทราย ถ้าเจ็บไข้ก็มาตั้งน้ำมนต์ ที่เตียนนั้นว่าผีมาคอยกวาด แต่แต่จืดเต็มทีไม่สนุกอะไรเลย ลงเรือตีกระเชียงอ้อมไปหาดด้านเหนือก็มีแต่โรงไร่โกไรโกเต ขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็กลับมาเรือ เวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือ


พระบรมรูปสรงน้ำที่ธารเสด็จ เกาะพงัน

วันที่ ๑๙ วันนี้เปนวันคลื่นลมอยู่ข้างเรียบกว่าทุกวันตั้งแต่มา เปนแต่เวลาเช้ามีเล็กน้อย เวลาบ่าย ๒ โมงตรงแหลมตลุมพุก หยุดขึ้นดูแหลมตลุมพุกเปนหาดทรายแคบนิดเดียว มีเรือนประมาณ ๗๐ หลัง ปลูกต้นมะพร้าวมาก คนอยู่ที่นี้หากินด้วยทำปาณาติบาตเปนพื้น พวกสงขลาขึ้นมาทำมาก มีของที่เปนสินค้าขายออก คือปลาเค้า ปลากระบอก เคย แตง เปนมาก ซื้อเข้ากินที่ปากพนัง อยู่ข้างจะเหม็นจัดทั้งบ้าน บ่าย ๔ โมงกลับมาลงเรือแล้วออกเรือต่อมา คลื่นลมเงียบสบาย เวลา ๘ ทุ่มถึงเมืองสงขลา แต่ยังไม่ได้เข้าทอดที่ พักอยู่ข้างนอกก่อน

วันที่ ๒๐ พอรุ่งสว่างเลื่อนเรือไปทอดที่ พระยาสุนทรานุรักษ์(๙)นำแผนที่ทเลสาบลงมาคิดกะการที่จะไปเมืองพัทลุง เวลาบ่ายขึ้นบก เขาทำพลับพลารับที่น่าจวน กรมการแลภริยากรมการมาหา แล้วไปเที่ยวตลาด ตลอดจนถึงวัดมัชฌิมามาวาส การที่เมืองสงขลาจัดตกแต่งบ้านเมืองเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เขื่อนน่าเมืองที่ชำรุดก็ซ่อมใหม่ตลอด ถนนดาดปูนใหม่กว้างขวางหมดจด ที่วัดมัชฌิมาวาสตั้งแต่พระภัทรธรรมธาดาออกไปอยู่(๑๐) ก็ตกแต่งปักกวาดสอาดสอ้านขึ้นพอสมควรแก่เวลาที่ได้ออกมาอยู่น้อยวัน มีสัปรุษถวายของประมาณห้าสิบหกสิบคน มีนักเรียนร้องเพลงสรรเสริญบารมีกว่ายี่สิบคน ได้ถวายเงินเลี้ยงพระสงฆ์สามชั่ง แลเงินข้างในเข้าเรี่ยรายกันทำถนนในวัดสี่ชั่งหย่อน แลแจกเงินสัปรุษนักเรียน แล้วจึงได้กลับมาลงเรือ ผ้าพื้นในตลาดสงขลาปีนี่มีมากอย่างยิ่ง ด้วยรู้อยู่แต่ก่อนว่าจะมา ลงมือทอกันเสียตั้งแต่เดือนอ้ายเดือนยี่ก็มี ซื้อไม่พร่องเหมือนอย่างแต่ก่อน เมื่อผ่านไปแล้วกลับมาก็เต็มบริบูรณ์อย่างเก่า แต่ผลไม้สู้ครั้งก่อนไม่ได้ ส้มก็ยังมีน้อยไม่หวาน มีแต่มม่วง จำปาดะก็หายาก

ซึ่งกำหนดว่าจะไปเมืองพัทลุงแต่สองคืนแต่ก่อนนั้น เปนอันไม่พอทีเดียว ด้วยระยะทางตั้งแต่เมืองสงขลาไปถึงเกาะห้าเต็มวัน ไม่มีเวลาพอที่จะเที่ยวในหมู่เกาะเหล่านั้นได้เลย ระยะทางตั้งแต่เกาะห้าไปจนถึงเมืองพัทลุงก็ไกลเต็มวัน จะกลับไปกลับมาไม่ได้ จึงต้องคิดไปค้างที่เมืองพัทลุง เห็นว่าบางที่จะต้องค้างที่เกาะห้าสองคืน เมืองพัทลุงสองคืน ฤๅถ้ากระไรจะต้องค้างเกาะห้าอีกคืนหนึ่ง เมื่อขากลับคงจะต้องผ่อนผันตามเวลาที่จะพอควร กำหนดจะได้ออกจากเมืองสงขลาไปโดยทางทเลสาบเวลาพรุ่งนี้

ตัวฉันแลบันดาผู้ที่มา มีลูกโต(๑๑)เจ็บไข้วันหนึ่ง ด้วยไม่สบายรวนมาแต่กรุงเทพฯ แล้ว สองวันก็หายเปนปรกติ ฉันก็ค่อยมีกำลังแขงแรงมากขึ้นตั้งแต่ล่วงมาได้สี่วันห้าวัน เว้นแต่ท้องแลนอนนั้นยังไม่เปนปรกติทีเดียวนัก แต่เชื่อว่าคงจะสบายได้ในเร็วๆ นี้เปนแน่ คนอื่นก็มีความสบายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ให้เธอแจ้งความแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในให้ทราบทั่วกัน อย่าให้มีความวิตกถึงฉันเลย


สยามินทร์




........................................................................................................


(๑) เหตุที่จะเสด็จประพาสคราวนี้ เพราะทรงประชวร พอพระอาการคลายขึ้นจึงเสด็จไปเปลี่ยนอากาศตามคำแนะนำของแพทย์

(๒) ชื่อเมืองประจวบคิรีขันธ์มีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานเปนนามเมืองใหม่ซึ่งตั้งครั้งรัชกาลที่ ๒ เมืองเดิมอยู่ที่ใกล้ปากคลองบางนางรมในอ่าวเกาะหลักนั้นเอง แต่ต่อมาผู้ว่าราชการเมืองประจวบฯ ย้ายไปตั้งที่เมืองกุยอยู่ข้างเหนือขึ้นมา เพราะไร่นาบริบูรณ์กว่าที่บางนางรม

(๓) พระยาสุรินทรฦๅไชย (เทศ บุนนาค) ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาสุรพันธุพิสุทธ

(๔) เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม) ที่สมุหกระลาโหม ต่อมาได้เปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร เวลานั้นหัวเมืองปักษใต้ฝ่ายตวันตกยังขึ้นกระทรวงกลาโหม

(๕) พระยาชุมพร (ยัง) พระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาวจีสัตยารักษ์

(๖) คือรูปเด็กๆ เขียนเล่น เพราะตึกนั้นทิ้งอยู่ไม่มีผู้ดูแล

(๗) ก่อนนั้นเกิดไข้รบาด ราษฎรพากันอพยบหนีความไข้ไปอยู่ที่อื่น

(๘) เสด็จประพาสคราวแรกก่อนคราวนี้ปีหนึ่ง

(๙) พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม ณ สงขลา) ต่อมาได้เปนพระวิเชียรคิรี

(๑๐) เดิมอยู่วัดโสมนัสวิหาร ได้เปนพระครูอยู่วัดส้มเกลี้ยงในกรุงเทพฯ แล้วจึงเปนพระราชาคณะออกไปอยู่เมืองสงขลา

(๑๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖ - กัมม์)



...............................................................................................................................................




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2550   
Last Update : 19 ตุลาคม 2550 13:06:31 น.   
Counter : 7639 Pageviews.  


พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนเสวยราชย์


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช


...............................................................................................................................................



พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๔๑๑ พรรษา ถ้าเทียบประดิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม คริสตศักราช ๑๘๖๘ นับวันนี้เป็นต้นรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ประดิษฐานดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราโยธยา เป็นราชธานีแห่งสยามประเทศได้ ๘๗ ปีโดยนิยม


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรพระโรคไข้ป่า(๑) เพราะเหตุเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพได้ ๕ วัน ก็เกิดพระอาการประชวรไข้ เมื่อ ณ วัน พุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ตั้งแต่จับประชวรได้ไม่ช้า พระองค์ก็ทรงทราบโดยพระอาการว่า ประชวรครั้งนั้นเห็นจะเป็นที่สุดพระชนมายุสังขาร ได้ตรัสแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถให้ทรงทราบ ทั้งมีพระราชดำรัสสั่งพระราชประสงค์ แลพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ แล้วจึงมีรับสั่งแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพอธิบดีกรมหมอ ว่าพระอาการประชวรครั้งนี้มากอยู่ ให้ประชุมแพทย์ปรึกษากันตั้งพระโอสถ และมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เสด็จเข้าไปประจำกำกับหมอที่ในพระบรมมหาราชวัง


กรมขุนวรจักรธรานุภาพ

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรเสด็จออกไม่ได้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถก็เสด็จเข้าพยาบาลอยู่ข้างที่ ทรงพยาบาลสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่ได้ ๑ วัน พระองค์เองก็จับมีพระอาการไข้ไม่ทรงสบาย แต่ถึงเวลาก็ยังอุตส่าห์เสด็จเข้าไปเฝ้าพยาบาลอยู่ข้างที่ตามเคย ต่อมาวันที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกพระหัตถ์ลูบพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เห็นร้อนผิดปกติก็ทรงทราบว่าประชวรไข้ด้วย จึงตรัสสั่งให้เสด็จกลับไปพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ อย่าให้ทรงเป็นกังวลถึงการที่จะเข้าไปเฝ้ารักษาพยาบาลเลย ให้เร่งรักษาพระองค์ให้หาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จกลับออกมาถึงพระตำหนัก พระโรคไข้ป่าก็กำเริบมากขึ้น ประชวรไข้อยู่หลายวัน มีพระอาการค่อยคลายก็เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอ พระอาการกลับทรุดลงไปอีก จนถึงประชวรเพียบหนักอยู่เป็นหลายเวลาพระอาการจึงค่อยคลายขึ้น แต่พระกำลังยังอ่อนเพลียมากนัก จึงต้องปกปิดมิให้ทรงทราบพระอาการของสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดมา จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรพระอาการทรุดลงโดยลำดับ(๒) ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระราชพิธีศรีสัจปานการเสด็จออกไม่ได้ ข้าราชกาลประชุมถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วจึงพร้อมกันมาถวายบังคมที่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นท้องพระโรงอภิเนานิเวศ(๓) และในที่นั้นพระราชวงศานุวงศ์ประชุมถือน้ำตามประเพณีที่ไม่เสด็จออกวัด

ในเวลาเมื่อพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น(๔) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในข้าราชการทั้งปวงกล่าวในที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระอาการมากอยู่ ทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ก็ประชวรอยู่ด้วยไม่ควรจะประมาท แล้วจึงสั่งให้จัดการรักษาพระบรมมหาราชวังกวดขันขึ้นกว่าปกติ และให้ตั้งกองล้อมวงพระตำหนักสวนกุหลาบ อันเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอด้วย ตั้งแต่วันนั้นมาเจ้านายและเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ ก็เข้ามาอยู่ประจำที่ในพระบรมมหาราชวัง

ถึง ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่โดยเจริญพระชนมายุกว่าพระองค์อื่นๆพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในรัชกาลพระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในราชการทั้งปวงคน ๑ เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน แล้วมีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจในการปกครองพระราชอาณาจักร ให้ท่านทั้ง ๓ ปรึกษาหารือกันบังคับบัญชาการ ต่างพระองค์ในเวลาทรงพระประชวร อย่าให้ราชการบ้านเมืองติดขัดผันแปร เป็นเหตุให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน


กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์


กรมหลวงวงศาธิราชสนิท


เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ นั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวาย ทรงเลือกพระประคำทองสาย ๑ อันเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(๕) กับพระธำมรงค์เพชรองค์ ๑ ให้พระราชโกษา(๖) เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และบอกเจ้าพระยาศรีวสุริยวงศ์ ซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ทราบตามกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย เวลานั้นปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงทราบ ว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรพระอาการมาก

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอว่าของ ๒ สิ่งนั้น พระราชทานเป็นของขวัญ โดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระอาการที่ประชวรค่อยคลายขึ้น เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอดำรัสถามว่า ของขวัญ เหตุใดจึงพระราชทานประคำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้วต่างก็กลับมา ในเวลานั้นเห็นจะเป็นด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าพระองค์เจ้าโสมาวดีได้เสด็จออกไปทอดพระเนตร เห็นการที่จัดตั้งกองล้อมวงแล้วก็กลับเข้าไปข้างใน ก็คงจะกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ

ครั้นเมื่อกลับมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยาวงศ์กับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทปรึกษากันว่า ควรจะกราบทูลพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบถึงการที่จัดไว้ จึงสั่งพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเข้าไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านายผู้ใหญ่กับเสนาบดีปรึกษากันเห็นว่า พระอาการที่ทรงพระประชวรมากอยู่ ไม่ควรจะประมาทแก่เหตุการณ์ ได้สั่งจัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระบรมมหาราชวังให้กวดขันขึ้น และได้ตั้งกองล้อมวงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วย(๗)

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี กราบทูลความให้ทรงทราบ มีรับสั่งถามว่า ได้เห็นผู้คนล้อมวงที่สวนกุหลาบจริงหรือและมีผู้หลักผู้ใหญ่ใครดูแลการล้อมวงอยู่ที่นั้น เมื่อได้ทรงทราบแล้ว จึงดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกลับออกไปทูลกรมหลวงวงศาฯ และแจ้งแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าการที่จะสืบพระวงศ์สนองพระองค์นั้น ขอให้คิดมุ่งหมายเอาแต่ความเรียบร้อยมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักรเป็นประมาณ พระองค์ไม่ได้ตั้งพระราชหฤทัยมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไรดอก ผู้ที่จะรับราชสมบัติจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ หลานเธอก็ได้ ขอแต่ให้ได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระชันษายังทรงพระเยาว์นัก จะทรงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองได้ละหรือ ขอให้คิดกันดูให้ดี

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ทั้งสองท่านจึงเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์มาปรึกษาอีกพระองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้เข้าไปกราบบังคมทูลว่าได้ปรึกษาเห็นพร้อมกัน ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอสมควรจะได้รับรัชทายาทสืบสนองพระองค์ ราชการบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ ข้อซึ่งทรงปริวิตกว่ายังพระเยาว์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์รับจะสนองพระเดชพระคุณ ช่วยดูแลประคับประคองในส่วนพระองค์ มิให้เสื่อมเสียได้


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีนำความเข้าไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระปริวิตกว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีจะเชิญกระแสรับสั่งออกไปแจ้งไม่ถูกถ้วนตามพระราชประสงค์ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ จึงดำรัสสั่งให้พระยาศรีสุนทรโวหาร(๘) เขียนกระแสรับสั่งพระราชทานให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี เชิญออกไปยังที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี ว่าผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระราชวงศ์ต่อไปนั้น ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากัน แล้วแต่จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดี พระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานเธอก็ดี สมควรจะเป็นใหญ่ เมื่อพร้อมกันเห็นว่าพระองค์ใดจะปกครองรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้น สืบสนองพระองค์ต่อไป กระแสรับสั่งซึ่งโปรดฯให้เขียนออกไปอ่านในทีประชุมเสนาบดีนี้ หาปรากฏว่ามีคำที่ประชุมทูลสนองอย่างใดไม่

ในระหว่างนั้น เห็นจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอประชวรพระอาการมากอยู่นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลฯให้ทรงทราบ เพราะเกรงกันว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็จะทรงพระปริวิตกวุ่นวาย พระอาการจะทรุดหนักไป จึงปิดความเสีย

ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงโปรดฯให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีถวายปฏิญาณก่อนแล้วจึงดำรัสถามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งรับสั่งเรียกว่า "พ่อใหญ่" นั้น สิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังทรงพระชนม์อยู่ ขอให้กราบทูลโดยสัตย์จริง ถ้าจะสิ้นพระชนม์เสียแล้วก็จะได้สิ้นห่วง(๙) พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบทูลฯว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เดือนประชวรไข้ ครั้นไข้ค่อยคลาย พระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอพระอาการมากอยู่ครู่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ค่อยคลายขึ้นแล้ว เป็นความสัตย์จริงดังนี้ มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้นให้ไปทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ว่าถ้าพระอาการค่อยคลายพอจะมาเฝ้าได้ ให้เสด็จมาเสียก่อนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ถ้ารอไปจนถึงวันแรมค่ำ ๑ ก็จะได้แต่สรงพระบรมศพไม่ทันสั่งเสียอันใด

พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญกระแสรับสั่งออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านทั้งสองปรึกษากันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระกำลังยังอ่อนนัก ถ้าเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าในเวลานั้น คงทรงพระโศกาดูรแรงกล้า น่ากลัวพระโรคจะกลับกำเริบขึ้น เห็นควรระวังรักษาอย่างให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมีภัยอันตรายจะดีกว่า จึงพร้อมกันห้ามมิให้ไปทูลให้ทราบพระราชประสงค์ และให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระอาการค่อยคลายแล้ว แต่พระกำลังยังอ่อนเพลียนัก เสนาบดีปรึกษากันเห็นว่ายังจะเชิญเสด็จมาเฝ้าไม่ได้

ในวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น จึงมีรับสั่งให้หาพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์(๑๐) จางวางมหาดเล็ก เข้าไปเฝ้าพร้อมกับพระยาบุรุษฯ ตรัสถามพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ว่า พระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่าพระอาการค่อยคลายขึ้นแล้ว ตรัสถามต่อไปว่า การแผ่นดินเดี๋ยวนี้จัดกันอย่างไร พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้บิดาเห็นว่าอาการที่ทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษากับพระราชวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ เห็นพร้อมกันว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ควรจะรับสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์ต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงได้สั่งเจ้าพนักลานตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบหลายเวลามาแล้ว


พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค)

มีพระราชดำรัสว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังเยาว์จะทรงบังคับบัญชาราชการแผ่นดินอย่างใด เกรงจะทำการไปไม่ตลอด เจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงพระสติปัญญาก็มีอยู่หลายพระองค์ พระองค์ใดสามารถจะว่าราชการแผ่นดินได้ จะเลือกพระองค์นั้นก็ควร อย่าให้เกิดภัยอันตรายแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นครองราชสมบัติ น่ากลัวจะมีเหตุร้ายไปภายหน้า ด้วยคนทั้งหลายตลอดจนชาวนานาประเทศก็นิยมนับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถว่าเป็นรัชทายาท แม้สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เอมปเรอฝรั่งเศส ก็ได้มีพระราชสาส์นทรงยินดีประทานพระแสงมีจารึกยกย่องพระเกียรติเป็นรัชทายาทมาเป็นสำคัญ ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การภายหน้าเห็นจะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้ มีพระราชดำรัสว่า เมื่อเห็นพร้อมกันเช่นนั้นก็ตามใจ

แล้วทรงชี้แจงต่อไปถึงครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีรับสั่งหาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เข้าไปทรงฝากฝังสั่งเสียราชการแผ่นดิน รับสั่งให้หาแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แต่ยังเป็นจางวางมหาดเล็กเข้าไปทรงสั่ง ครั้งนี้พระองค์ทรงประพฤติแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิได้มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้ามาสั่งเสีย ให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เป็นผู้รับสั่ง เมื่อจะขัดขวางอย่างใดก็จงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นบิดาเถิด ไหนๆสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็ได้เป็นเขย การที่ได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอครองราชสมบัติต่อไปนั้น ขอทรงฝากฝังให้ช่วยกันทำนุบำรุงให้ดีอย่าให้มีเหตุเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงแผ่นดินใหม่ ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจจะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกัน ต้องระวังอย่าให้มีเหตุเช่นพระเสน่หามนตรี(๑๑) ถ้าเกิดเหตุขึ้นเช่นนั้นจะอายเขา เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลฯ รับว่าจะไปคิดอ่านกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้บิดา สนองพระเดชพระคุณมิให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้

ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก เข้าไปเฝ้าถึงข้างพระแท่นบรรทม มีพระราชดำรัสว่าเห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง ๓ จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด


พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล)


กรมหลวงวงศาธิราชสนิท


เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม


เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก

ท่านทั้ง ๓ ได้ฟังก็พากันร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันไปที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้เมื่อกาละมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระราชประสงค์จะตรัสสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้วตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลาย เห็นว่าสติสัมปชัญญะยังปกติดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน

เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา จนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งปวงจงอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้เอาเป็นธุระรับฎีการาษฎรอันมีทุกข์ร้อน ให้ร้องได้โดยสะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน อนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศ์ไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็จงยกพระองค์นั้นขึ้น จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาโดยเห็นว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด มีพระราชดำรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสสั่งถึงราชการแผ่นดินอีกต่อไป

เวลาเย็นวันนั้นมีรับสั่งให้พระศรีสุนทรโวหารเขียนพระราชดำรัสทรงขมาและลาพระสงฆ์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษามคธ แล้วให้พระศรีสุนทรโวหารเชิญไปพร้อมด้วยเครื่องสักการ ไปอ่านในที่ประชุมพระสงฆ์ มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นประธาน ที่ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ เมื่อเวลาค่ำก่อนพระสงฆ์ทำพิธีปวารณา พอถึงเวลา ๙ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ

จดหมายเหตุทรงประชวร ยังมีความข้ออื่นอีกปรากฏอยู่ในท้ายพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ คัดเนื้อความมากล่าวไว้ในที่นี้ เฉพาะแต่ข้อความอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2550   
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 8:56:45 น.   
Counter : 9389 Pageviews.  


พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสวยราชย์



...............................................................................................................................................


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งปรากฏพระนามโดยพระเกียรติยศต่อมาว่า สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระองค์เสด็จสมภพเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก(๑) จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ เทียบปฏิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน คริสตศักราช ๑๘๕๓ พระองค์มีพระกนิษฐาร่วมสมเด็จพระบรมราชินี ๓ พระองค์ คือ




พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี


๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ประสูติเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน) ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุนเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ พ.ศ. ๒๔๐๖ ในมารัชกาลที่ ๕ เฉลิมพระนามพระอัฐิเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์ พระองค์หนึ่ง



๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ประสูติเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๔ มกราคม) ปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๕ เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง แล้วเลื่อนเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๑ เมษายน) ปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๒๖๒ พ.ศ. ๒๔๔๓ พระองค์หนึ่ง



๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ประสูติเมื่อ ณ วันพุธ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ(ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม) ปีมะแมเอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ พ.ศ. ๒๔๐๒ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงภาณุพันธูวงศ์วรเดช แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน(๒) ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จทิวงคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระองค์หนึ่ง (๓)



พระตำหนักเดิมอันเป็นมงคลสถานที่พระบรมราชสมภพ และที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ฝ่ายใน อยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และท้องพระโรงกลางข้างหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ พระตำหนักนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นสมเด็จพระศรีสุลาลัยสวรรคตแล้ว จึงพระราชทานแด่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม(๔) อันเป็นพระขนิษฐาภคินีร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์


พระองค์เจ้าหญิงลม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร


เจ้าจอมมารดาเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ได้ทรงบำรุงเลี้ยงพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้นมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์(๕)สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้รับบรรดาพระโอรสธิดา ซึ่งล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้น เข้าไปทรงทำนุบำรุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่พระตำหนักเดิม อันเรียกกันในเวลานั้นว่า พระตำหนักตึก กับพระองค์เจ้าลม่อมโดยมาก

แต่พระบรมราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี(๖) ทรงรับทำนุบำรุงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยพระองค์เจ้าบุตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์น้อย ได้รับหน้าที่ราชูปัฏฐากในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้เสด็จขึ้นไปช่วยรับหน้าที่ทำการอุปัฏฐากสนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยยิกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้รับพระราชทานนามว่า "รำเพย" เพราะถวายอยู่งานพัดถูกพระราชอัธยาศัย พระองค์ทรงปฏิบัติสมเด็จพระอัยกาธิราชมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อได้เป็นพระนางเธอ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักตึก และต่อมาโปรด ให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ เป็นที่เสด็จไปประทับในบริเวณพระตำหนักนั้น(๗)องค์ ๑


พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา


สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปิโยรสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระเยาว์ โปรด ให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ ถึงแม้เวลาเสด็จประพาสหัวเมือง จะเป็นทางใกล้หรือไกลก็โปรดให้ไปโดยเสด็จทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เวลานั้นพระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๕ ปี สมเด็จพระบรมชนกนาถพาไปทรงรถ เกิดเหตุรถพระที่นั่งล่มถึงต้องบาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล่าเรื่องในพระราชหัตถเลขาถึงทูตไทยที่ไปประเทศอังกฤษ ดังนี้

เมื่อ ณ วันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ (ปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙) เวลาเย็นมีเหตุบังเกิดขึ้นเป็นที่ตกใจมากในพระบรมมหาราชวังนี้ เวลาบ่ายวันนั้นข้าออกไปดูนาที่ท้องสนามหลวง ตัวข้าขี่ม้าออกไป แต่ลูกข้า ๔ คน ยิ่งเยาวลักษณ์ ทักษิณชา โสมาวดี ชายจุฬาลงกรณ์ ไปบนรถที่ข้าเคยขี่(๘) ครั้นไปถึงที่ท้องสนามหลวง ลงดูนาดูสวนที่นั้นแล้ว เมื่อกลับมาตัวข้าไปขึ้นรถกับลูก ๔ คนด้วยกัน ขับรถกลับเข้ามาแล้วหาได้เข้าประตูวิเศษไชยศรีไม่ เลยลงไปดูการที่โรงทานนอก(๙) และดูการที่ป้อมอินทรังสรรค์จะก่อแท่นเป็นที่ยิงปืน ไปหยุดอยู่ที่โน่นนานจนเย็นจวนค่ำ




พระองค์เจ้าทักษิณชา - พระองค์เจ้าโสมาวดี


ข้าขับรถกลับมา ลูกข้า ๔ คนนั่งบนที่นั่งเต็มหมดจนไม่มีที่นั่ง ตัวข้าเอาข้างหลังยันเบาะ เท้าทั้งสองยันพนักหน้ารถ นั่งลอยมาเพราะข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ลูก ๔ คนหาประทุกมาเต็มชานหน้ารถ ไม่มีที่นั่งที่ยืน และทางที่ไปนั้นมีแต่จะชักรถเลี้ยวข้างขวาอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะชักรถเลี้ยวข้างซ้าย เพราะฉะนั้นสายถือข้างซ้ายชำรุดอยู่ด้วยด้ายที่เย็บหนังแถบสายถือ ที่คล้องเหนี่ยวประวินที่ปากบังเหียนม้าข้างซ้ายนั้น เปื่อยผุมานักแล้ว หามีใครสังเกตไม่ ตัวข้าก็ไม่รู้เลย

เมื่อรถตรงเข้ามาตามถนนประตูวิเศษไชยศรี ม้าก็เร็วเข้ามาตามตรง ข้าก็ถือสายถือรวบเข้าทั้งสองสายมือเดียวหน่วงไว้เบาๆ ครั้นกระบวนมาถึงที่เลี้ยวจะไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พวกทหารแห่เลี้ยวเข้าไปข้างนั้น แล้วยืนอยู่ตามเคย ครั้นรถมาถึงมุมทิมสงฆ์ก็เป่าแตรตีกลองตามเคย ม้าก็กระโชกวิ่งหนักเข้า ข้าเห็นกระโชกหนักกลัวลูกนั่งบนรถจะคะมำลง จึงรั้งสายถือพร้อมกันทั้งสองสายรวบอยู่ในมือเดียวกันนั้นหนักเข้ามา ม้าก็เดินเลี่ยงเฉไปข้างซ้ายไม่รอช้าดังประสงค์ เพราะสายถือหนักไปข้างซ้ายข้างเดียว ข้างขวาขาดเสียแล้ว ข้าหาเห็นไม่ ด้วยหนังยังเกี่ยวอยู่

ข้าเห็นม้าเดินเชือนไปผิดทางข้างซ้าย จึงแก้บังเหียนข้างขวาชักหนักมาสายเดียว ปลายสายแถบก็หลุดออกมา ข้าเห็นแล้วก็ร้องให้คนช่วย ก็ไม่มีใครช่วยทัน ข้างรถก็กระทบกับแท่นปากกลางตันชัยพฤกษ์ และรั้วล้อมกงข้างซ้ายก็ปีนขึ้นไปบนแท่นก่อด้วยอิฐ หลังคาประทุนรถกระทบปลายรั้วล้มเทมาข้างซ้าย ข้าก็สิ้นที่พึ่งเพราะสายถือขาดเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ตัวข้าก็นั่งลอยนัก แก้ตัวไม่ทัน พลัดตกหกตะแคงลงมากับทั้งลูก ๔ คน ตัวข้ากลัวรถจะทับตาย เอามือขวาดันไว้ รถจึงทับได้ที่ตะคาก(๑๐)ข้างขวา แต่แขนซ้ายนั้นตัวทับลงไปยกขึ้นไม่ได้ รถทับข้างขวากดลงไปกลับอิฐเสือกไป แขนซ้ายและตะคากก็ถลอกช้ำชอกเป็นแผลเจ็บหลายแห่ง แต่ตะคากข้างขวาช้ำบวมห้อโลหิต กับชายโครงขวานั้น โสมาวดีพลัดตกทับลงจึงเจ็บช้ำยอกเสียดไป

แต่ลูก ๔ คนที่ตกลงมาด้วยกันนั้น ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่เล็กน้อย ลางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ด ห้อยยืนในเวลานั้นไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็มีแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง แต่ทักษิณชาป่วยมาก จะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยิน โลหิตตกมากทีเดียว ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง ๔ คน แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป คนวิ่งตามช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้ ข้าก็ลุกวิ่งมาได้ในขณะนั้น ลูก ๔ คนก็มีคนมาอุ้มขึ้นได้

แต่ทักษิณชานั้นอาการน่ากลัวมาก โลหิตไหลไม่หยุดสักชั่วทุ่มหนึ่ง ต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตก เป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้นให้ชักให้กระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ยิ่งเยาวลักษณ์นั้นเอาน้ำมันนวดก็หายแล้ว โสมาวดีอาเจียนออกมาในเวลากลางคืนเป็นแต่เสมหะ ไม่มีโลหิต ให้กินยาก็หายเป็นปกติแล้ว ชายจุฬาลงกรณ์เป็นแต่หัวแตกสามแห่งแผลเล็กๆ แต่ตัวข้านั้นป่วยบ้าง ที่ตะคากขวาบวมช้ำห้อโลหิตแห่งหนึ่ง ชายโครงขวายอกเสียดช้ำไปแห่งหนึ่ง แต่แขนซ้ายชายสะบักซ้ายข้างลงดิน เป็นแผลช้ำบ้าง ถลอกบ้างหลายแห่ง แต่มีแผลใหญ่สองแผล ช้ำมาก เดี๋ยวนี้เป็นบุพโพขาวข้นไหล แต่ค่อยยังชั่วแล้วไม่เป็นอะไร

ในเหตุอันนี้ข้ากลัวคนจะตื่นไปต่างๆ ก็ไม่ได้บอกป่วย ออกมาตามเวลาเสมอทุกวัน และให้มีงายทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ หล่อพระพุทธรูป มีละคร ข้าก็ฟังสวดมนต์ ไปเลี้ยงพระ และดูละครตามปกติ ไม่ได้บอกป่วย แผลหลายแผลก็ใส่เสื้อซ่อนเสีย หน้าตาและหัวดีอยู่แล้ว และเดินได้อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นอะไรดอก



พอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญขึ้น ก็ได้รับหน้าที่เป็นราชูปฐาก และทรงใช้สอยการงานต่างพระเนตรพระกรรณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ ส่วนการศึกษาวิชาทั้งปวงนั้น เมื่อทรงพระเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษาอักขรสมัย ได้ทรงเล่าเรียนในสำนักพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี อันเป็นขัติยราชนารี ทรงรอบรู้ทั้งอักขรสมัยและโบราณราชประเพณีเป็นปฐมาจารีย์ และทรงศึกษาวิชาการต่างๆซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่า สมควรแก่พระราชกุมารทุกอย่าง เป็นต้นว่า ภาษาบาลี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หลวงราชาภิรมย์ (เปี่ยม เมื่อบวชเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในพระองค์)(๑๑) กรมราชบัณฑิตย์เป็นพระอาจารย์ เสด็จออกไปทรงศึกษาที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลา

การยิงปืนไฟทรงศึกษาในสำนักพระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง ทรงศึกษาต่อหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) วิชาอัศวกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครอบพระราชทาน แล้วโปรดเกล้า ให้ทรงศึกษาในสำนักหม่อมเจ้าสิงหนาถ(๑๒)ในกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ต่อมา คชกรรม ทรงศึกษา (เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว) ในสำนักสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ แต่ส่วนวิชารัฐประศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีทั้งปวงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนเองตลอดมา


สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์


ถึงปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ พ.ศ. ๒๔๐๔ สมเด็จพระชนนีทรงประชวร สวรรคตเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลานั้นสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุได้ ๙ พรรษา แต่นั้นพระองค์เจ้าลม่อมก็ทรงอุปการะทำนุบำรุงแทนสมเด็จพระชนนีสืบมา ตลอดจนถึงเวลาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปประทับข้างฝ่ายหน้า พระองค์เสด็จออกไปอยู่ด้วย



ในปีระกาตรีศกนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงกำหนดรับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามตามจารีตเจ้าฟ้าในโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔แรม ๕ ค่ำ มีกระบวนแห่อย่างโสกันต์กระบวนใหญ่ ตั้งแต่พระราชมณเฑียรข้างในออกประตูราชสำราญ เดินกระบวนตามถนนริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง มาจนประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรี ไปยังพระมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระปริต(๑๓) กระบวนแห่ครั้งนั้นปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งไว้ว่า บรรดาข้าผู้ซึ่งเป็นคู่เคียง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสรรข้าราชการผู้ใหญ่ในตระกูลซึ่งบรรพบุรุษได้เคยเป็นคู่เคียง ครั้งพระองค์ทรงรับพระสุพรรณบัฏเมื่อในรัชกาลที่ ๒ โดยมาก คือ



คู่ที่ ๑
๑. เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค ซึ่งภายหลังพระราชทานนามเปลี่ยนเป็น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง เมื่อยังเป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก
๒. เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก) เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง เมื่อยังเป็นเจ้าพระยายมราช


เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)


คู่ที่ ๒
๓. เจ้าพระยาพลเทพ (หลง)
๔. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์)

คู่ที่ ๓
๕. พระยาราชภักดี (ช้าง เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
๖. พระยามหาอำมาตย์ (บุญศรี ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี)

คู่ที่ ๔
๗. พระอมรินทรฦๅชัย (กุ้ง วงศาโรจน์) ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี บุตรเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง
๘. พระราชพงศานุรักษ์ (กุญ ณ บางช้าง) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคาม บุตรพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง

คู่ที่ ๕
๙. พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง เมื่อเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก
๑๐. พระยาประชาชีพ บุตรเจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง


พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)


คู่ที่ ๗
๑๑. พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (ผึ้ง ภมรสูตร) ราชินิกุล
๑๒. พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม ณ นคร) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง

ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า แห่เสด็จมายังพระมหาปราสาท ครั้นได้พระฤกษ์เสด็จสู่ที่สรง ทรงเครื่องแล้วเสด็จประทับบัลลังก์ในที่มณฑลพิธี จึงพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโอการ มีคำประกาศดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๔ พรรษา ลุศักราช ๑๒๒๓ ปัตยุบันกาลกุกุฏสังวัจฉรผคุณมาศ กาลปักษ์ ฉัฐยดิถี ศุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ เมื่อเวลาประสูติใหม่ ท่านเสนาบดีทั้งปวงได้พร้อมกันกราบทูล ขอยกย่องให้เป็นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เพื่อรักษาแบบอย่างบุราณราชประเพณีไว้ ไม่ให้เสื่อมสูญ(๑๔) แต่ยังหาได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามไม่ ครั้งนี้จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่นั้น ให้เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร และให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ ได้ทรงศักดินา ๔๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ขออาราธนาเทพยดา ผู้มีมเหศวรศักดิ์อันประเสริฐ ซึ่งสถิตดำรงอยู่ในภูมิพฤกษอากาศ กาญจนรัตนพิมานทั่วทุกแหล่งหล้าเป็นอาทิ คือเทพยอันทรงนามสยามเทวาธิราช ซึ่งเป็นอธิบดีได้บริรักษ์บำรุงกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ และเทพยเจ้าผู้อภิบาลรักษานพปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตนราชราไชสวริย และเทพยอันรักษารัตนบัลลังก์พระที่นั่งบรมอาสน์ใหญ่น้อย ในพระราชนิเวศน์บรมมหาสถานทุกตำบล ทั้งเทพยเจ้าอื่นๆ ผู้มีทิพยานุภาพมหิทธิฤทธิ์ สิงสถิตในภูมิลำเนาแนวพฤกษบรรพตากาศพิมาน ทุกสถานทั่วพระราชอาณาจักร บรรดาซึ่งมีไมตรีจิตได้ผดุงบริรักษ์พระบรมราชวงศ์นี้สืบมาจนกาลบัดนี้ จงได้ทำนุบำรุงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้ทรงเจริญพระทฤฆชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเกียรติยศอิสริยศักดิเดชานุภาพทุกประการ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยสมควรแก่ความเป็นในพระราชตระกูลอันสูงศักดิ์ในบรมราชวงศ์นี้ ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยยศปรากฏไปสิ้นกาลนานเทอญ.

อนึ่งเมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้มีอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมพระองค์นึ่งแล้ว ดังนี้
ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็นหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นวรราชบุตรารักษ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้งสมุหบัญชี เป็นหมื่นอนุรักษาพลสังขยา ถือศักดินา ๓๐๐
ให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ๓ นี้ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยผาสุกสวัสดิ์ทุกประการเทอญ




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2550   
Last Update : 4 ตุลาคม 2550 15:55:49 น.   
Counter : 16376 Pageviews.  


ว่าด้วยประเทศสยามในจดหมายเหตุจีน


คัดจาก หนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔ (ภาค ๔ ตอนปลาย และภาค ๕)
องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถ.ราชดำเนิน
พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ๓,๐๐๐ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๖ ปกอ่อนราคา ๑๐ บาท


...............................................................................................................................................


ว่าด้วยสยามประเทศในจดหมายเหตุจีน
คัดจากหนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕
คำนำภาคที่ ๕ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้

หนังสือจดหมายเหตุจีนว่าด้วยสยามประเทศ ได้ตรวจสอบในหนังสือจีนมี ๕ เรื่อง คือ
๑. หนังสือฮ่วงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า
๒. หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่
๓. หนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วน
๔. หนังสือคิมเตี้ยซกทงเตี้ยน
๕. หนังสือกึงตังทงจี่

จดหมายเหตุจีนเหล่านี้ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดฯ ได้แปลเป็นภาษาไทยเฉพาะตอนที่กล่าวด้วยประเทศสยาม เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีระกาเอกศก พ.ศ. ๒๔๕๓ เจ้าพระยายมราชได้พิมพ์ช่วยในงานศพพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เป็นครั้งแรก เมื่อปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖

ผู้ที่ได้อ่านพากันชอบ ด้วยได้ความรู้เรื่องพงศาวดารตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงสุโขทัย และครั้งกรุงเก่าแปลกๆ อีกหลายอย่าง แต่หนังสือเรื่องนี้เมื่อพิมพ์ครั้งแรกไปแจกไว้ตามหัวเมืองมาก เพราะทำศพพระยารัษฎรนุประดิษฐที่เมืองระนอง ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่จะมีใครได้อ่าน มีผู้มาสืบหาที่หอพระสมุดฯ อยู่เนืองๆ ไม่ขาด อีกประการ ๑ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกนั้น ยังไม่ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าได้แน่นอน จดหมายเหตุจีนมักเรียกพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ว่า “เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง” รู้ไม่ใคร่ได้ว่าความที่กล่าวตรงไหนจะเป็นในแผ่นดินไหนแน่

บัดนี้ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่ารู้ได้เกือบจะไม่ผิดแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้บอกรัชกาลและได้ทำคำอธิบายเพิ่มเติมลงไว้ในฉบับที่พิมพ์เล่มนี้ เชื่อว่าทำให้ดีขึ้นกว่าที่พิมพ์ครั้งแรกเป็นอันมาก ถึงผู้ที่มีฉบับพิมพ์ครั้งแรกอยู่แล้ว ก็คงจะพอใจอ่านฉบับนี้อีก

........................................................................................................



อธิบายเบื้องต้น
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หนังสือเรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยามนี้ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดวชิรญาณ แปลถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แปลจากหนังสือจีน ๓ เรื่อง คือ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เรื่อง ๑ หนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้าเรื่อง ๑ หนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วนเรื่อง ๑ เป็นจดหมายเหตุกล่าวถึงทางพระราชไมตรีที่กรุงสยามได้มีมากับกรุงจีน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงตั้งราชธานีอยู่ที่นครสุโขทัย ตลอดเวลากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ลงมาจนครั้งกรุงธนบุรี

หนังสือจีนทั้ง ๓ เรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นหนังสือหลวงซึ่งพระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ไต้เชง แผ่นดินเขียนหลง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุของเก่าในเมืองจีนมาเรียบเรียง (ตรงกับเมื่อครั้งธนบุรี) ว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรีกับกรุงจีน หนังสือเหล่านี้จึงมีเนื้อเรื่องเมืองไทยด้วย

ได้ตรวจดูเรื่องที่แปลนี้ เห็นว่าจดหมายเหตุจีนมีหลักฐานหลายอย่าง ควรเป็นเรื่องประกอบพงศาวดารของเมืองไทยได้เรื่อง ๑ แต่ผู้อ่านจำต้องอ่านด้วยไม่ลืมความจริง ๓ ข้อ

ข้อที่ ๑. คือ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อจีนมีอำนาจแผ่อาณาเขตออกมาถึงเมืองต่างประเทศทางตะวันตก เช่นในครั้งพระเจ้ากรุงจีนวงศ์หงวนเป็นต้น อันพงศาวดารปรากฏว่า ได้เคยรบพุ่งชนะเมืองพม่า เมืองญวน กรุงจีนไม่เคยชนะและไม่เคยรบพุ่งกับกรุงสยาม เพราะเหตุที่ราชธานีทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างไกลกันมาก เขตแดนก็ไม่ต่อติดกันยืดยาวเหมือนเช่นเมืองพม่าและเมืองญวน เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้องในระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยามแต่โบราณมา เคยมีแต่เป็นมิตรไมตรีอย่างบ้านพี่เมืองน้อง ไทยไม่ได้เคยยอมเป็นเมืองขึ้นจีน

ข้อที่ ๒. นั้นต้องไม่ลืมว่าวิสัยพระเจ้าแผ่นดินจีนชอบยกย่องเกียรติยศของตนเองแต่ไรๆ มา บรรดาเมืองต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือแต่งราชทูตไปเมืองจีน จีนจดหมายเหตุตีขลุมเอาว่าไปอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงจีน ไม่เลือกหน้าว่าประเทศไหนๆ พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศไม่ว่ายุโรปหรือเอเชีย จดหมายเหตุจีนไม่ยอมยกเกียรติยศให้ใครเป็น “ฮ่องเต้” ให้เป็นเพียง “อ๋อง” ทุกประเทศ ต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือเกี่ยวข้องกับจีน เมื่อยังไม่รู้หนังสือและภาษาจีน ก็ไม่รู้เท่าจีน การเป็นดังนี้มาหลายร้อยปี จนที่สุดเมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามชนะจีน ฝรั่งเล่ากันว่าเมื่อจะเดินทัพเข้าเมืองปักกิ่ง จีนยังทำธงเขียนตัวหนังสือจีนนำหน้า ว่าฝรั่งจะเข้าไปคำนับอ่อนน้อม ฝรั่งพึ่งมารู้ตัวว่าถูกจีนหลอกในเรื่องเหล่านี้ เมื่อฝรั่งมาเรียนรู้หนังสือและภาษาจีน จนต้องมีในข้อหนังสือสัญญาให้จีนยอมรับว่า พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเป็นฮ่องเต้เหมือนกับจีน การเป็นมาดังนี้ บรรดาจดหมายตุของจีนในชั้นเก่าๆ จึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศว่าอ๋อง และเหมาเอาการที่ทูตไปเมืองจีนว่าไปยอมเป็นเมืองขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าฝรั่ง หรือแขก หรือไทย

ข้อที่ ๓. เหตุที่เมืองไทยจะเป็นไมตรีกับกรุงจีนนั้น เกิดแต่ด้วยเรื่องไปมาค้าขายถึงกันทางทะเล เมืองไทยมีสินค้าหลายอย่าง ซึ่งเป็นของต้องการในเมืองจีนแต่โบราณมาเหมือนกันทุกวันนี้ และเมืองจีนก็มีสินค้าหลายอย่างที่ไทยต้องการเหมือนกัน การไปมาค้าขายกับเมืองจีน ไทยได้ผลประโยชน์มาก แต่ประเพณีจีนในครั้งนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปค้าขาย ต้องมีเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายโดยสะดวก เพราะเหตุนี้จึงมีประเพณีที่ถวายบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงจีน ไม่แต่ประเทศไทยเรา ถึงประเทศอื่นก็อย่างเดียวกัน

ผู้อ่านจะต้องเข้าใจความจริงทั้ง ๓ ข้อนี้ จึงจะไม่ประหลาดใจและไม่เข้าใจผิด เมื่อเวลาอ่านจดหมายเหตุของจีน ซึ่งกล่าวเป็นโวหารดุจว่ากรุงสยามเป็นเมืองขึ้นของกรุงจีน การที่แต่งหนังสือใช้โวหารเช่นนั้น จะโทษแต่จีนก็ไม่ได้ ถึงไทยเราก็เอาบ้าง ท่านผู้ใดได้อ่านหนังสือพงศาวดารเหนือ คงจะได้พบในเรื่องหนังสือนั้น ๒ แห่ง แห่ง ๑ ว่าเมื่อสมเด็จพระร่วงจะลบศักราช พระเจ้ากรุงจีนไม่มาช่วย สมเด็จพระร่วงขัดเคืองยกออกไปเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนต้องถวายพระราชธิดา และได้พวกจีนบริวารเข้ามาคราวนั้น จึงได้มาทำถ้วยชามสังคโลกขึ้นเป็นปฐม อีกแห่ง ๑ เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งครองเมืองอโยธยา ก็ว่าได้ราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนชื่อนางสร้อยดอกหมากมาเป็นพระมเหสี ถ้าเทียบเรื่องที่ไทยเราแต่งไว้แต่ก่อน ก็จะไม่พอกระไรกับที่จีนเขาแต่งนัก

ความจริงบุคคลต่างชาติกัน จะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวมายิ่งกว่าไทยกับจีนนี้ไม่เห็นมี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน เคยแต่ไปมาค้าขายและประโยชน์ต่อกันมาได้หลายร้อยปี ความรู้สึกทั้งสองชาติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งควรจะหวังว่าจะเป็นอย่างเดียวกันต่อไปในวันหน้า

การไปมาค้าขายในระหว่างจีนกับไทยในครั้งกรุงเก่า ไม่ใช่แต่เป็นประโยชน์เฉพาะแต่แก่จีนและไทยเท่านั้น ฝรั่งก็ต้องมาอาศัยค้าขายกับจีนทางเมืองไทย ความปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เมื่อฝรั่งรู้ทางเรือที่จะมาจากยุโรปถึงประเทศทางตะวันออกได้ พวกโปรตุเกตเป็นผู้มาค้าขายก่อน พวกโปรตุเกตเป็นคนใจร้ายถือว่ามีปืนไฟ ใช้เรือรบเที่ยวปล้นสะดมขู่กรรโชกตามเมืองที่ไปค้าขาย เป็นเหตุให้จีนเกลียดฝรั่งขึ้น ครั้นต่อมามีพวกฝรั่ง วิลันดา อังกฤษ ออกมาค้าขายทางประเทศนี้ จะไปเมืองจีนไม่ได้สะดวก ต้องมาอาศัยเมืองไทยเป็นที่พักสินค้า ทำการค้าขายกับเมืองจีนและเมืองญี่ปุ่นอยู่นาน ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การค้าขายไปมาในระหว่างเมืองจีนกับเมืองไทยก็ยิ่งเจริญขึ้นโดยลำดับสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

........................................................................................................



พรรณนาว่าด้วยกรุงสยาม

หนังสือเรื่องกรุงสยามได้เป็นพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้าขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือ หวงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า เล่ม ๓๔ หน้า ๔๐ หน้า ๔๑ หนังสือหวงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า นี้เป็นหนังสือหลวง ขุนนาง ๖๖ นายเป็นเจ้าพนักงานเรียบเรียงในราชวงศ์ไต้เชง เมื่อแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๔๒ เตงอีว (ตรงปีระกา จุลศักราช ๑๑๓๙ ปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ในครั้งกรุงธนบุรี)

เสี้ยมหลอก๊ก

เสี้ยมหลอก๊กอยู่ฝ่ายตะวันออกเมืองก้วงหลำ เฉียงหัวนอน(เฉียงใต้) มืองกั้งพู้จ้าย(กัมพูชา) ครั้งโบราณมี ๒ ก๊ก เสี้ยม(สยาม คือ สุโขทัย)ก๊กหนึ่ง หลอฮก(ละโว้)ก๊กหนึ่ง อาณาเขตพันลี้เศษ (นับก้าวเท้าแต่ ๑ ถึง ๒๖๐ กว้าเท้าจึงเรียกว่า ลี้) ปลายแดนมีภูเขาล้อมตลอด ในอาณาเขตแบ่งเป็นกุ๋น(เมือง) กุ้ย(อำเภอ) กุ้ยขึ้นฮู้(ขึ้นเมือง) ฮู้ขึ้นต๋าคูสือ (แปลว่าเจ้าพนักงานคลังมณฑล คือ เมืองที่มีข้าหลวงคลังกำกับ คงจะหมายความเป็นเมืองที่ตั้งมณฑล ด้วยแบบราชการวงศ์เชงมีข้าหลวงคลังกำกับแต่เมืองที่ตั้งมณฑล

ต๋าคูสือมี ๙
(๑) เสี้ยมหลอ (จะหมายความว่ากรุงศรีอยุธยา)
(๒) ค้อเล้าสี้ม้า (นครราชสีมา)
(๓) จุกเช่าปั้น
(๔) พี่สี่ลก (พิษณุโลก)
(๕) สกก๊อตท้าย (สุโขทัย)
(๖) โกวผินพี้ (กำแพงเพชร)
(๗) ต๋าวน้าวสี้ (ตะนาวศรี)
(๘) ท้าวพี้
(๙) ลกบี๊

ฮู้มี ๑๔
(๑) ไช้นะ (ชัยนาท)
(๒) บู้เล้า
(๓) บี๊ไช้ (พิชัย)
(๔) ตงปั๊น (เข้าใจว่าชุมพร)
(๕) ลูโซ่ง (เข้าใจว่าหลังสวน)
(๖) พีพี่ (พริบพรี คือ เพชรบุรี)
(๗) พีลี้ (น่าจะเป็นราดพรี คือ ราชบุรี)
(๘) ไช้เอี้ย (ไชยา)
(๙) โตเอี้ยว
(๑๐) กันบู้ลี้ (กาญจนบุรี)
(๑๑) สี้หลวงอ๊วด (ศรีสวัสดิ์)
(๑๒) ไช้ย็อก (ไทรโยค)
(๑๓) ฟั้นสี้วัน (นครสวรรค์)
(๑๔) เจี่ยมปันคอซัง

กุ้ยมี ๗๒ พื้นแผ่นดินข้างฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงปลายตีนหรือเฉียงเหนือมีหินกรวด ด้วยเป็นอาณาเขตเสี้ยมก๊ก อาณาเขตหลอฮกก๊กอยู่ฝ่ายทิศตะวันออกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ พื้นแผ่นดินราบและชุมชื้น

เมืองหลวงมีแปดประตู กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ เลียบรอบกำแพงเมืองประมาณสิบลี้เศษ ในเมืองมีคลองน้ำเล็กเรือไปมาได้ นอกเมืองข้างทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ราษฎรอยู่หนาแน่น

ก๊กอ๋อง (พระเจ้าแผ่นดิน) อยู่ในเมืองข้างฝ่ายทิศตะวันตก ที่อยู่สร้างเป็นเมืองเลียบรอบกำแพงประมาณสามลี้เศษ เต้ย(พระที่นั่ง)เขียนถาพลายทอง หลังคาเต้ยมุงกระเบื้องทองเหลือง ซิด(ตำหนักและเรือน)มุงกระเบื้องตะกั่ว เกย(ฐานบัตร)เอาตะกั่วหุ้มอิฐ ลูกกรงเอาทองเหลืองหุ้มไม้

ก๊กอ๋องชุดเสงกิมจึงไช้เกีย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จตำบลใดก็ทรงราชยาน) บางครั้งก็ทรงช้างที่มีกูบ สั่ว(พระกลดและร่ม)ที่กั้นทำด้วยผ้าแดง

ก๊กอ๋องหมวยต่างเตงเต้ย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกท้องพระโรงทุกเวลาเช้า) พวกขุนนางอยู่ที่พื้นปูพรม นั่งพับเข่าตามลพดับ แล้วยกมือประนมขึ้นถึงศีรษะ ถวายดอกไม้สดคนละหลายช่อ มีกิจก็เอาบุ๋นจือ (หนังสือ) อ่านขึ้นถวายด้วยเสียงอันดัง คอยก๊กอ๋องวินิจฉัยแล้วจึงกลับ

เสี้ยมหลอก๊กมีขุนนาง ๙ ตำแหน่ง
(๑) อกอาอว้าง (ออกญา)
(๒) อกบู้ล้า (ออกพระ)
(๓) อกหมัง (ออกเมือง)
(๔) อกควน (ออกขุน)
(๕) อกมู้น (ออกหมื่น)
(๖) อกบุ่น
(๗) อกปั้ง (ออกพัน)
(๘) อกล้ง (ออกหลวง)
(๙) อกคิว

การตั้งแต่งขุนนาง ให้เจ้าพนักงานไปเลือกเอาราษฎรตามหมู่บ้านมอบให้ต๋าคูสือ ต๋าคูสือให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางนำหนังสือมาถวายอ๋อง อ๋องก็สอบตามวิธีที่เคย และสอบไล่ข้อปกครองราษฎรด้วย แม้ผู้ที่มาสอบไล่ตอบถูกต้อง อ๋องก็ตั้งให้เป็นขุนนางเข้ารับราชการตามตำแหน่ง ที่ตอบไม่ถูกต้องก็ไม่ได้เป็นขุนนาง วิธีสอบไล่นั้นสามปีครั้งหนึ่ง แต่หนังสือชาวเสี้ยมหลอก๊กเขียนไปทางข้าง ด้วยไม่ได้เล่าเรียนห่างยี่ (หนังสือจีน)

แต่ก๊กอ๋องนั้นหลีวฮวด (ไว้พระเกศายาว) ฮกเซก(เครื่องแต่งพระองค์) มงกุฎทำด้วยทองคำประดับป๊อเจียะ(เพชรนิลจินดาที่เกิดจากหิน) รูปคล้ายต๋าวหมง(หมวกยอดแหลมสำหรับนายทหารใส่เมื่อเวลาออกรบศึก) เสี่ยงอี(ภูษาเฉียง)ยาวสามเชียะ(นับนิ้ว ๑ ถึง ๑๐ เรียกว่าเชียะ) ใช้แพรตึ้งห้าสี เหียอี้(ภูษาทรง)ทำด้วยด้ายห้าสี เอ๋ย,บ๋วย(ฉลองพระบาท ถุงพระบาท)ทำด้วยแพรตึ้งสีแดง

ขุนนางและราษฎรไว้ผมยาวเกล้ามวย ใช้ปิ่นปักและใช้ผ้าขาวพันศีรษะ ขุนนางตำแหน่งที่ ๑ ถึงที่ ๔ ใช้หมวกทองคำประดับป๊อเจิยะ (พลอย) ตำแหน่งที่ ๕ ถึง ๙ ใช้หมวกทำด้วยแพรตึ้งและทำด้วยกำมะหยี่ นุ่งห่มใช้ผ้าสองผืน รองเท้าทำด้วยหนังโค ผู้หญิงใส่ก่วย (รัดเกล้า) ค่อนไปข้างหลัง เครื่องปักผมใช้เข็มเงินเข็มทอง หน้าปักแป้ง นิ้วมือนั้นใส่แหวน รัดเกล้าและแหวนของคนจนทำด้วยทองเหลือง ผ้าห่มทำด้วยด้ายห้าสียกดอก ผ้านุ่งก็ทำด้วยด้ายห้าสีแต่เอาไหมทองยกดอก นุ่งผ้าสูงพ้นดินสองสามนิ้ว ใส่รองเท้าคีบทำด้วยหนังสีดำสีแดง

ฤดูปีเดือนในเสี้ยมหลอก๊กไม่เที่ยง พื้นแผ่นดินก็เปียกแฉะ ชาวชนต้องอยู่เรือนหอสูง (เรือนโบราณที่มีชั้นบนชั้นล่าง ชั้นบนเรียกว่าหอ) หลังคามุงด้วยไม้หมากเอาหวายผูก ทีมุงด้วยกระเบื้องก็มี เครื่องใช้ไม่มีโต๊ะ , เก้าอี้ และม้านั่ง ใช้แต่พรมกับเสื่อหวายปูพื้น ประชาชนนับถือเซกก่า (พุทธศาสนา) ผู้ชายบวชเป็นเจง (พระภิกษุ) ผู้หญิงบวชเป็นหนี (ชี) ไปอยู่ตามวัด ผู้ที่มียศศักดิ์และมั่งมีนั้นเคารพหุด (นับถือพระภิกษุที่สำเร็จ) มีเงินทองถึงร้อยก็ทำทานกึ่งหนึ่งด้วยไม่มีความเสียดาย

แม้ชาวชนถึงแก่ความตาย ก็เอาน้ำปรอทกรอกปากแล้วจึงเอาไปฝัง ศพคนจนเอาไปทิ้งไว้ที่ฝั่งทะเล ในทันใดก็มีกาหมู่หนึ่งมาจิกกิน บัดเดี๋ยวหนึ่งก็สูญสิ้น ญาติพี่น้องของผู้ตายร้องไห้เอากระดูกทิ้งลงในทะเล เรียกว่า เนี้ยวจึ่ง(ฝังศพกับกา) การซื้อขายใช้เบี้ยแทนตั้งจี๋(กะแปะทองเหลือง) ปีใดไม่ใช้เบี้ยแล้วความไข้ก็เกิดชุกชุม

ขุนนางและราษฎรที่มีเงิน จะใช้จ่ายแต่ลำพังนั้นไม่ได้ ต้องเอาเงินส่งไปเมืองหลวงให้เจ้าพนักงานหลอมหล่อเป็นเมล็ด เอาตราเหล็กตีอักษรอยู่ข้างบนแล้วจึงใช้จ่ายได้ เงินร้อยตำลึงต้องเสียค่าภาษีให้หลวงหกสลึง ถ้าเงินที่ใช้จ่ายไม่มีอักษรตราก็จับผู้เจ้าของเงินลงโทษว่าทำเงินปลอม จับได้ครั้งแรกตัดนิ้วมือขวา ครั้งสองงตัดนิ้วมือซ้าย ครั้งสามโทษถึงตาย การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง

ชาวชนเสี้ยมหลอก๊กมีชื่อไม่มีแซ่ ถ้าเป็นขุนนางเรียกว่าอกม้ง (ม้งแปลว่านั้น หมายความว่าออกนั้น) ผู้ที่มั่งมีเรียกว่านายม้ง ยากจนเรียกว่าอ้ายม้ง ขนบธรรมเนียมของชาวชนนั้นแข็งกระด้าง การรบศึกสงครามชำนาญทางเรือ ไต๊เจี่ยง(นายทหารใหญ่)เอาเซ่งทิ(เครื่องราง)พันกาย สำหรับป้องกันหอกดาบและจี่(จี่แปลว่าลูกธนู) เซ่งทินั้นกระดูกศีรษะผี ว่ายิงแทงไม่เป็นอันตราย

สิ่งของที่มีในประเทศ อำพันทองที่หอม ไม้หอมสีทอง ไม้หอมสีเงิน เนื้อไม้ ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ งาช้าง หอกระดาน กระวาน พริกไทย ไต๊ปึงจื่อ(ผลไม้) เฉียงหมุยโล่ว(น้ำลูกไม้กลั่น) ไซรเอี๋ยเซี้ยม(แพรมาจากเมืองพุทเกด) แพรลายทอง สิ่งของงที่กล่าวนี้เคยเอามาถวายเป็นเครื่องยรรณาการ

ทองคำและหินสีต่างๆ ที่มีในประเทศ ทองคำก้อน ทองคำทราย ป๊อเจียะ(พลอยหินต่างๆ) ตะกั่วแข็ง

สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า สัตว์มีเกล็ด ที่มีในประเทศ แรด ช้าง นกยูง นกแก้วห้าสี ลกจูกกู (เต่าหกเท้า)

ผลไม้และต้นไม้ที่มีในประเทศ ไม้ไผ่ใหญ่ ไม่ไผ่สีสุก ไม้ไผ่เลี้ยง ผลทับทิม แตง ฟัก

สิ่งของที่มีกลิ่นหอม กฤษณา ไม้หอม กานพลู หลอฮก(เครื่องยา) แต่หลอฮกนั้นกลิ่นหอมคล้ายกฤษณา นามประเทศคงจะตั้งตามชื่อของสิ่งนี้ (๑)


........................................................................................................

(๑) ตอนพรรณนาว่าด้วยสยามประเทศนี้ จีนเห็นจะเอาจดหมายเหตุบรรดามีจดไว้เรื่องเมืองไทย ตั้งแต่เก่าที่สุดลงมาจนถึงเวลาที่แต่งหนังสือนี้ มาเก็บเนื้อความรวบรวมลงในที่อันเดียวกัน ไม่ได้แก้ไขตัดทอนการที่เปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เช่นพรรณาว่าไทยไว้ผมยาวเกล้ามวยเป็นต้น

........................................................................................................



ว่าด้วยทางพระราชไมตรี

หนังสือเรื่องเสี้ยมก๊ก หลอฮกก๊ก เป็นพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือ คิมเตี้ยซกทงจี่เล่ม ๕ หน้า ๓๔ หน้า ๓๕ หน้า ๓๖ หน้า ๓๗ หน้า ๓๙ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่นี้เป็นหนังสือหลวง ด้วยขุนนาง ๖๖ นาย เป็นเจ้าพนักงานเรียงหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่ เมื่อแผ่นดินเขียนหลง ปีที่ ๓๒ เตงหาย (ตรงกับปีกุจุลศักราช ๑๑๒๙ ปี) ในราชวงศ์เชงนี้ ต่อมาถึงแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๕๐ อิจจี๋ (ตรงกับปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ปี ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) ขุนนางจ๋อโตวหงือซื้อ ชื่อกีก๊ก (เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายขวา) กับขุนนางต๋ายลี้ยี่เคง ชื่อเล็กเซียะหิม (ต๋ายลี้ยี่เคงเป็นกรมขึ้นอยู่ในกระทรวงเมือง) ได้ชำระหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่นี้อีกครั้งหนึ่ง


ครั้งสมเด็จพระร่วงรามคำแหงครองนครสุโขทัย

พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ (ครั้งนั้นเป็นปงโกลได้ราชสมบัติในกรุงจีน เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงหงวน นามแผ่นดินเรียกว่า จี่หงวน) แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๑๙ หยิบโหงวลักหง้วย (ตรงกับ ณ เดือนแปด ปีมะเมีย จุลศักราช ๖๔๔ ปี) พระเจ้าหงวนสีจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อหอจือจี่เป็นราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก(๑)

แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๒๖ กี๊ทิ้วจับหง้วย (ตรงกับ ณ เดือน ๑๒ ปีฉลู จุลศักราช ๖๕๑ ปี) หลอฮกก๊กให้ราชทูตนำเครื่องบรรณาการมาถวาย(๒)

แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๒๘ ซินเบ๊าจับหง้วย (ตรงกับ ณ เดือน ๑๒ ปีเถาะจุลศักราช ๖๕๓ ปี) หลอฮกก๊กอ๋องให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยน้ำทอง กับเครื่องบรรณาการ คือทองคำ งาช้าง นกกระเรียน นกแก้วห้าสี ขนนกกระเต็น นอระมาด อำพันทอง มาถวาย

แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๐ กุ๋ยจี๋สี่หง้วย (ตรงกับ ณ เดือนหก ปีมะเส็ง จุลศักราช ๖๕๕ ปี) พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสี้ยมก๊ก(๓)

แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๑ กะโหงวชิดหง้วย (ตรงกับ ณ วันเดือนเก้า ปีมะเมีย จุลศักราช ๖๕๖ ปี) ในปีนั้นพระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามแผ่นดิน สี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งมาเฝ้า(๔) พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้รับสั่งกับเสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งว่า แม้ท่านคิดว่าเป็นไมตรีกันแล้ว ก็ควรให้ลูกชายหรือขุนนางมาเป็นจำนำไว้บ้าง

แผ่นดินไต๋เต็ก (นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวยเสงจงฮ่องเต้) ปีที่ ๔ แกจื๊อลักหง้วย (ตรงกับ ณ เดือนแปดปีชวด จุลศักราช ๖๖๒ ปี) เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า(๕)

เรื่องเสี้ยมก๊กเป็นไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เล่ม ๔๐ หน้า๕๕ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เป็นหนังสือหลวง ขุนนางวงศ์ไต้เชง ๖๖ คน เป็นเจ้าพนักงานเรียบเรียง เมื่อแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๓๒ เตงหาย (ตรงกับปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙) (๖)

เสี้ยมก๊ก

เมื่อครั้งวงศ์หงวน (ตรั้งนั้นมงโกลได้ราชสมบัติในกรุงจีน) ในแผ่นดินพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ (พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้กษัตริย์ที่ ๒ วงศ์หงวนขึ้นครองราชสมบัติปีอิดบี๊ ตรงกับปีมะแม จุลศักราช ๖๕๗ ขนานนามแผ่นดินว่าเจงหงวน) เสี้ยมก๊กให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยย้ำทองมาถวาย ด้วยเสี้ยมก๊กกับม่าลี้อี๋เอ้อก๊ก(๗) ทำสงครามโดยสาเหตุความอาฆาตกัน เฉียงเถง(รัฐบาล)แต่งให้ราชทูตนำหนังสือตอบราชสาส์นไปถึงเสี้ยมก๊ก ว่ากล่าวประนีประนอมให้เลิกสงครามกันเสียทั้งสองฝ่าย

ในแผ่นดินไต๊เต็ก (นามแผ่นดินที่เรียกเจงหงวนนั้นยกเลิกเมื่อปีเปียซิน ตรงกับปีวอก จุลศักราช ๖๕๘ นามแผ่นดินที่เรียกไต๊เต๊กนี้ ขนานขึ้นเมื่อปีเต็กอิ๊ว ตรงวกับปีระกา จุลศักราช ๖๕๙ แผ่นดินไต๊เต็กมี ๑๑ ปี) เสี้ยมก๊กให้ราชทูตมาขอม้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ประทานเสื้อกิมหลูอี(เสื้อยศลายทอง)ให้ไป


........................................................................................................

(๑) เมื่อครั้งราชวงศ์หงวนเป็นใหญ่ในเมืองจีน ยกกองทัพมาปราบปรามตีได้ทั้งเมืองญวนและเมืองพม่า ส่วนเมืองไทยจีนคงจะได้ความว่า พระเจ้าขุนรามคำแหงเข้มแข็งในการศึกสงคราม ทั้งภูมิประเทศก็อยู่ห่าง จึงแต่งทูตมาเกลี้ยกล่อมให้เป็นไมตรี

(๒) ควรจะสังเกตว่า ครั้งพระเจ้ารามคำแหงครองกรุงสุโขทัยนั้น เสี้ยมก๊กกับหลอฮกก๊กยังแยกกันอยู่ ข้อนี้มีเนื้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหงประกอบ ด้วยในจารึกนั้นชื่อเมืองขึ้นนครสุโขทัย ไม่มีชื่อเมืองอโยธยาเมืองละโว้และเมืองอื่นๆ ซึ่งต่อไปทางตะวันออก จนนครราชสีมา อาจจะยังมีผู้ปกครองเมืองละโว้เป็นอาณาจักร ๑ ต่างหาก ซึ่งเรียกในที่นี้ว่า “หลอฮกก๊ก” แต่เป็นไมตรีกับจีนมาก่อนแล้ว

(๓) ตรงนี้ทำให้เข้าใจว่า ทูตจีนมาครั้งแรกเป็นแต่มาฟังลาดเลา พึ่งมาทำไมตรีกันในคราวนี้

(๔) ที่จีนเรียกพระนามเสียก๊กอ๋องว่ากังมกติ๋ง จะมาแต่อะไรยังคิดไม่เห็น แต่ศักราชนั้นตรงกับแผ่นดินพระเจ้ารามคำแหง
(“กังมกติ๋ง” ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้ ท่านว่าคือ “กมรเต็ญ(อัญ) - กัมม์)

(๕) พระเจ้ารามคำแหงเสด็จไปเมืองจีน ๒ ครั้งนี้ ที่ไปเอาจีนเข้ามาทำเครื่องถ้วยสังคโลก
(ผมคิดว่าคงไม่ได้เสด็จไปถึงเมืองหลวงหรอกครับ คงเสด็จประพาสที่ใกล้ๆ มากกว่า ที่เข้าเฝ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ก็คงเป็นราชทูต - กัมม์)

(๖) ความตอนนี้ศักราชก็อยู่ในแผ่นดินพระเจ้ารามคำแหง เป็นแต่คัดมาจากหนังสือเรื่องอื่น

(๗) ม่าลี้อี๋เอ้อก๊ก นี้ เข้าใจว่า มลายู

.........................................................................................................





 

Create Date : 28 กันยายน 2550   
Last Update : 28 กันยายน 2550 11:29:56 น.   
Counter : 8413 Pageviews.  


ว่าด้วยหน้าที่และพระอัธยาศัยในกรมพระราชวังบวรฯ กรุงรัตนโกสินทร์


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
(สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรร)



ว่าด้วยหน้าที่ของพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการศึกตรงกับคำที่เรียกว่า "ฝ่ายหน้า" เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น พึงเห็นอธิบายได้แม้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระมหาอุปราชก็ต้องทำศึก ทั้งที่โดยเสด็จและเสด็จไปโดยลำพังพระองค์มาจนตลอดพระชนมายุ ถึงรัชกาลที่ ๒ พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ถึงรัชกาลที่ ๓ เกิดกบฏเวียงจันทน์ พระมหาอุปราชก็เสด็จไปบัญชาการศึกทั้ง ๒ คราว แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ จะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระมหาอุปราชทรงศักดิ์อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดฯให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จไปบัญชาการศึกต่างพระมหาอุปราช(๑)เป็นตัวอย่างมาดังนี้

นอกจากทำศึก พระมหาอุปราชยังมีหน้าที่ตลอดไปถึงการป้องกันพระราชอาณาเขต ข้อนี้มีมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นในการสร้างป้อมปราการที่เมืองพระประแดงและเมืองสมุทรปราการ พระมหาอุปราชก็ทรงบัญชาการทั้งในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ ที่โปรดฯให้พระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดทหารบกทหารเรือขึ้นทางฝ่ายวังหน้า ก็เนื่องมาแต่หน้าที่ของพระมหาอุปราชในการป้องกันพระราชอาณาเขตนั่นเอง เมื่อว่าโดยย่อหน้าที่ของพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายทหาร เนื่องด้วยการทำสงคารมมาแต่โบราณ จึงมีผู้คนทั้งนายและไพร่ขึ้นอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากกว่ากรมอื่นๆ เพื่อเกิดสงครามเมื่อใดพระมหาอุปราชจะได้เรียกรี้พลได้ทันที ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่มีขุนนางวังหน้า เรียกว่า "ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร" ขึ้นเป็นจำนวนมากอีกแผนก ๑

แต่ในเวลาว่างศึกสงครามพระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการปกครองพระราชอาณาเขตอย่างใดไม่ คำซึ่งกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า "พระมหาอุปราชเสวยราชย์กึ่งพระนคร" นั้น มีมูลมาแต่การแบ่งเขตรักษาท้องที่ในบริเวณพระนคร อันเป็นแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ในกรุงเทพฯ นี้ปันเขต (ว่าตามแผนที่ในปัจจุบันนี้) ตามแนวถนนพระจันทร์ ตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ถนนบำรุงเมือง) ท้องที่ข้างใต้เป็นอำเภอวังหลวง กรมนครบาลวังหลวงรักษา ท้องที่ข้างเหนือเป็นอำเภอวังหน้า กรมนครบาลวังหน้ารักษา แต่ปันเขตเพียงถึงคูพระนครเท่านั้น ท้องที่นอกออกไปเป็นอำเภอวังหลวงทั้งนั้น

ที่ไม่ให้พระมหาอุปราชเกี่ยวข้องในการปกครองบ้านเมือง น่าจะมีเหตุทำให้เห็นจำเป็นมาแต่โบราณ ด้วยพิเคราะห์ตามเรื่องพงศาวดาร แม้พระมหาอุปราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พ้นมีเหตุร้ายได้ทุกรัชกาล ยิ่งพระมหาอุปราชมิได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว มักเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่าที่จะเรียบร้อย มีตัวอย่างมาหลายคราว ฐานะของพระมหาอุปราชจึงมาความลำบากอยู่ไม่น้อย(๒)

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาพระมหาอุปราชจะทรงประพฤติอย่างไรหาทราบไม่ แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ประพฤติผิดกันทุกพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นพระมหาอุปราช พระอัธยาศัยอยู่ข้างจะมีทิฐิมานะ เกิดบาดหมางกับพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลายครั้ง แทบถึงจะรบกันก็มี จนที่สุดเมื่อสวรรคตพวกวังหน้าที่เป็นคนใกล้ชิดก็กำเริบ ถึงต้องปราบปรามกัน บางทีเหตุที่มีในรัชกาลที่ ๑ นั้น จะเป็นตัวอย่างให้พระมหาอุปราชระวังพระองค์ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เป็นพระมหาอุปราชในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่ปรากฏว่าประพฤติพระองค์ให้ผิดกับเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างใด เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ พระมหาอุปราชทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาแต่เดิม ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้ทรงช่วยว่าราชการ ก็เสด็จลงมาประทับที่โรงละครหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรวจตราข้อราชการต่างๆ ก่อนเสด็จเข้าเฝ้าในท้องพระโรงเป็นนิจจนตลอดพระชนมายุ

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ปรากฏว่าถ่อมพระองค์มาก เป็นต้นว่าประทับอยู่เพียงที่มุขไม่เสด็จประทับบนพระพิมานวังหน้า พระราชยานก็ไม่ทรงเสลี่ยงอย่างเป็นต่างกรม(๓) เรือพระที่นั่งก็ทรงเรือกราบกันยาหลังคากระแซงอย่างพระองค์เจ้า(๔)ไม่ดาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า และไม่เข้าเกี่ยวข้องในราชการบ้านเมืองเหมือนพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในฐานะที่พระมหาอุปราชให้มีพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน(๕) พระราชทานเครื่องราชูปโภคต่างๆ กับทั้งตำแหน่งข้าราชการวังหน้าเพิ่มขึ้นให้เป็นทำนองเดียวกับวังหลวง เป็นแต่ลดลงบ้างเล็กน้อย ถึงกระนั้นพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถ่อมพระองค์ ไม่โปรดในการแสดงยศศักดิ์ เป็นต้นว่าไม่เสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงนอกจากเวลามีงานพิธี โดยปกติเสด็จออกให้เฝ้าที่โรงรถ การที่เสด็จไปไหนด้วยกระบวนแห่เสด็จก็เฉพาะแต่ในงานพิธี หรือเสด็จลงมาเฝ้าตามตำแหน่ง ถ้าโดยปกติเสด็จไปตามวังเจ้านายที่ชอบชิด ก็ทรงม้ามีคนตามเสด็จคนหนึ่งหรือสองคน(๖) และยังทรงโปรดดำเนินเที่ยวเตร่ตามบ้าน เหมือนเมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จอยู่วังหน้าโดยปกติโปรดทรงฝึกซ้อมหัดทหาร หรือมิฉะนั้นก็นัดคนไปขี่ม้า ถ้ากลางวันเล่นคลีกลางคืนเล่นซ่อนหา แต่ส่วนการบ้านเมืองนั้นไม่ทรงเอาเป็นพระราชธุระทีเดียว แม้เมื่อฝรั่งต่างชาติเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ก็ไม่ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาหารือ

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นมหาอุปราช เป็นเวลาว่างการทัพศึก แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประสงค์จะรักษาหน้าที่ของพระมหาอุปราชตามประเพณีเดิมไว้ จึงจัดให้เสด็จไปตรวจตราป้อมที่เมืองสมุทรปราการและเมืองจันทบุรี และต่อมาให้ทรงบัญชาการซ่อมแซมป้อมเสือซ่อนเล็บ ที่เมืองสมุทรปราการด้วย แต่ส่วนพระองค์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญนั้น โดยปกติก็ถ่อมพระองค์ทรงพยายามที่จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่าเสด็จลงมาเฝ้าในเวลาเสด็จออกขุนนางและในงานพระราชพิธีเสมอเป็นนิจ แต่ไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เวลาเสด็จประทับอยู่ในพระราชวังบวร ก็ไม่โปรดเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง คงออกขุนนางที่โรงรถเหมือพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เลิกการเล่นกีฬาและไม่เสด็จไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเจ้านาย แม้การฝึกหัดทหารก็เพียงรักษาแบบแผนให้คงอยู่.


...............................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำนงว่า ถ้าตีเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ จะทรงสถาปนากรมหลวงวงศาฯ เป็น กรมพระราชวังหลัง

(๒) เจ้าฝรั่งองค์หนึ่งเคยตรัสกับข้าพเจ้าถึง เรื่องเจ้ารัชทายาทในประเทศยุโรป เธอชี้แจงว่าเจ้ารัชทายาทนั้นอยู่ในที่ยาก เพราะถ้าไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมืองเลย คนทั้งหลายก็ดูหมิ่นว่าโง่เขลาหรือเกียจคร้าน ถ้าเอาใจใส่เกินไปก็เป็นแข่งบารมีพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นต้องระวังวางพระองค์แต่พอเหมาะอยู่เสมอ

(๓) พระเสลี่ยงของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เดิมแก้เป็นธรรมาสน์ไว้ที่วัดบวรนิเวศ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร

(๔) กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทอดกฐิน ก็ทรงเรืออย่างเดียวกันในบางวัน แต่บางวันทรงเรือสีตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๕) เรียกตามภาษาอังกฤษว่า Second King พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ฝรั่งเลยเรียกพระมหาอุปราชว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ มาจนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

(๖) พระองค์ประดิษฐวรการ อธิบดีช่างหล่อ (อยู่ข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงที่สร้างสวนสราญรมย์เดี๋ยวนี้) เคยตรัสเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้ามีมหาดเล็กตามเสด็จคนหนึ่ง ไปเคาะประตูเรียก พระองค์ประดิษฐฯออกมารับเชิญเสด็จไปประทับที่ท้องพระโรง เป็นเวลาค่ำมีแต่ไต้จุดอยู่ดวงหนึ่ง พระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับสนทนา และทรงเขี่ยไต้ไปพลางจนเสด็จกลับ

...............................................................................................................................................

พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 19 กันยายน 2550   
Last Update : 27 ธันวาคม 2550 18:17:04 น.   
Counter : 3179 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com