กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ตำนานการที่ไทยเรียนภาษาอังกฤษ


Jodie Foster ในบท Anna Leonowens
จากภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King



ตำนานการที่ไทยเรียนภาษาอังกฤษ

ความจริงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พึ่งมีไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาไม่ช้านัก เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีแต่พวกฝรั่งก็ดีจีนซึ่งเป็นเชื้อสายโปรตุเกตศครั้งกรุงเก่า เรียนรู้ภาษาโปรตุเกศอยู่บ้าง คนพวกนี้ที่รับราชการในตำแหน่งเรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” ในกรมท่า ที่มีอัตราในบัญชีเบี้ยหวัด ๕ คน ที่เป็นหัวหน้าล่ามเป็นที่ขุนเทพวาจารับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง พวกล่ามฝรั่งเหล่านี้จะมีความรู้ตื้นลึกสักเพียงไรทราบไม่ได้ แต่รู้ภาษาโปรตุเกศเท่านั้น หน้าที่ก็ไม่สู้มีอันใดนัก เพราะราชการที่เกี่ยวข้องกับโปรตุเกศมีแต่การค้าขายทางเมืองหมาเก่ นานๆ เจ้าเมืองหมาเก๊าจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง

ส่วนภาษาอังกฤษ ถึงแม้ว่ามีเรือกำปั่นอังกฤษไปมาค้าขายอยู่ในสมัยนั้นบ้าง นายเรือรู้ว่าไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองนี้ ก็หาแขกมลายูเข้ามาเป็นล่าม เพราะฉะนั้นการที่ไทยพูดจากับอังกฤษที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี หรือพูดจาทางราชการที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษที่เมืองเกาะหมากและสิงคโปร์ก็ดี ใช้พูดกันแต่ด้วยภาษามลายู แม้จนเมื่อผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้ Dr.ยอน ครอเฟิด เป็นทูตเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๑ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องพูดจาราชการกับไทยทางภาษามลายู ความปรากฏในจดหมายเหตุที่ครอเฟิดแต่งไว้ ว่าการที่พูดจากับรัฐบาลไทยครั้งนั้น ทูตต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่เอามาด้วย ล่ามต้องแปลเป็นภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก หลวงโกชาอิศหากแปลเป็นภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังตอบว่ากระไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเป็นต่อๆ อย่างเดียวกัน

ครั้นต่อมาเมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว ได้ไปเป็นเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมืองปลายรัชกาลที่ ๒ ครอเฟิดจะบอกข่าวการสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกศเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ครั้นต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๓ ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้ เฮนรี เบอนี เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๕ การที่พูดจากับไทยสะดวกขึ้นกว่าครั้งครอเฟิดหน่อยหนึ่ง ด้วยเบอนีพูดภาษามลายูได้ ถึงกระนั้นหนังสือที่ทำก็ต้องใช้ภาษาต่างๆ กำกับกันถึง ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกศ และภาษามลายู เพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ในรัชกาลที่ ๓ นั้น เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ ตรงกับคริสตศก ๑๘๒๘ พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ เป็นที่แรก อันนี้เป็นต้นเหตุที่ไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นเดิมมา ด้วยลัทธิของพวกมิชชันนารีอเมริกันไม่ได้ตั้งตัวเป็นสมณะเหมือนพวกบาทหลวง วางตนเป็นแต่เพียงมิตรสหาย ใช้การสงเคราะห์เป็นต้นว่าช่วยรักษาโรค และช่วยบอกกล่าวสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้แก่ผู้อื่นเป็นเบื้อต้นของการสอยศาสนา เพราะฉะนั้นเมื่อคนทั้งหลายรู้จักคุ้นเคยจึงชอบสมาคมคบหากับพวกมิชชันนารีอเมริกันมาแต่แรก

สมัยนั้นผู้มีสติปัญญาที่เป็นชั้นสูงอยู่ในประเทศนี้ แลเห็นอยู่แล้วว่าการสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศคงจะต้องมียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสำคัญทางประเทศตะวันออกนี้ มีเจ้านายบางพระองค์และข้าราชการบางคนปรารถนาจะศึกษาวิชาการและขนบธรรมเนียมของฝรั่ง และจะเล่าเรียนให้รู้ภาษาอังกฤษ จึงพยายามเล่าเรียนศึกษากับพวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลานั้นยังทรงผนวชเป็นพระราชาคณะอยู่พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหลวงนายสิทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถอีกองค์ ๑ แต่สมเด็จเจ้าพระยาทางภาษารู้แต่พอพูดอังกฤษได้บ้าง ไม่เชี่ยวชาญเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

และทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ ศึกษาได้ความรู้การฝรั่งต่างประเทศทันได้ใช้วิชาช่วยราชการ มาแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ตรงกับคริสตศก ๑๘๕๐ รัฐบาลอังกฤษให้เซอเชมสะบรุกเป็นทูตมาด้วยเรือรบ ๒ ลำ จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่เบอนีได้ทำไว้ เซอเชมสะบรุกเข้ามาครั้งนั้นไม่เหมือนกับครอเฟิด และเบอนีที่มาแต่ก่อน ด้วยเป็นทูตตรงมาจากประเทศอังกฤษ การที่มาพูดจาและหนังสือที่มีมาถึงรัฐบาลไทยใช่ภาษาอังกฤษ กิริยาอาการที่มาก็ทะนงองอาจผิดกับทูตแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริหาผู้ที่สันทัดอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ให้พอที่จะรับรองโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกได้ ความปรากฏในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอเชมสะบรุก (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓) ว่า

“ ทรงพระราชดำริ_____เห็นว่าผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ (ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาออำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างทำแก่เมืองจีน จึงให้ตระเตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง) จมื่นไวยวรนาถก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลังลงไปสักเลกอยู่ที่เมืองชุมพรในเวลานั้น) แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริลงไปปรึกษา”

และการที่มีหนังสือโต้ตอบกันเซอเชมสะบรุกครั้งนั้นปรากฏว่า หนังสือที่มีมาเป็นภาษาอังกฤษ ให้ Dr.ยอน(คือ Dr.ยอนเตเลอ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกัน) แปลเป็นภาษาไทย กับล่ามของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีก ๒ คน เรียกว่า โยเซฟ เป็นฝรั่งยุเรนเซียนคน ๑ เรียกว่า เสมียนยิ้ม (คือ เชมส์ เฮ) อังกฤษอีกคน ๑ ส่วนหนังสือไทยมีตอบเซอเชมสะบรุกนั้น ร่างในภาษาไทยถวายทรงแก้ไขก่อน แล้วให้ Dr. ยอนกับล่ามช่วยกันแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปถวาย “ทูลกระหม่อมพระ” คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะในทางภาษาอังกฤษทรงทราบดีกว่าผู้อื่นที่เล่าเรียนด้วยกันในครั้งนั้น

ไทยศึกษาวิชาความรู้กับมิชชันนารีในรัชกาลที่ ๓ ยังมีอีก แต่ไปเรียนทางวิชาอื่น เช่นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น ทรงศึกษาทางวิชาแพทย์ฝรั่งจนได้ประกาศนียบัตร ถวายเป็นพระเกียรติยศมาจากมหาวิทยาลัยแห่ง ๑ ในประเทศอเมริกา กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ อีกพระองค์ ๑ ว่าทรงศึกษาการช่างฝรั่ง แต่จะทรงศึกษากับใคร และทรงสามารถเพียงใดหาทราบไม่ ยังนายโหมด อมาตยกุลที่ได้เป็นพระยากระสาปนกิจโกศลเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกคน ๑ ได้ศึกษาเรื่องเครื่องจักรและวิชาผสมธาตุจากพวกมิชชันนารีอเมริกัน และหักชักรูปจากบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศสแต่เมื่อยังถ่ายด้วยแผ่นเงิน เป็นผู้เรียนรู้วิชาฝรั่งมีชื่อเสียงมาจนรัชกาลที่ ๕ แต่ผู้ที่เล่าเรียนแต่ทางวิชาช่างไม่สู้จะเอาใจใส่ในทางภาษา จึงไม่ใคร่รู้ภาษา ถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เพราะเอาใจใส่ในวิชาต่อเรือกำปันเสียมาก จึงไม่สันทัดทางภาษาอังกฤษ

ผู้ที่เล่าเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีปรากฏอีกแต่ ๒ คน คือหม่อมราโชไทย ผู้ที่แต่งหนังสือนิราศลอนดอนคน ๑ เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒ เดิมเป็นแต่หม่อมราชวงศ์ กระต่าย บุตรหม่อมเจ้าชอุ่มในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียรเรียนตามเสด็จจนรู้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าชอุ่มได้เป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้เป็นหม่อมราโชไทยแล้ว จึงได้เป็นตำแหน่งล่ามไปเมืองอังกฤษ กับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เมื่อทูตไทยไปคราวแรก ครั้นกลับจากราชทูต ทราบว่าได้พระราชทานพานทองเล็ก แล้วได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ อยู่มาจนอายุได้ ๔๙ ปี ถึงอนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐

อีกคน ๑ ชื่อนายดิส เป็นมหาดเล็กเดิมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฝึกหัดวิชาเดินเรือและเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเรียกกันว่า “กัปตันดิก” มีชื่ออยู่ในหนังสือเซอยอนเบาริง แต่งเรื่องเมืองไทย คนนี้ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นขุนปรีชาชาญสมัทร เป็นล่ามของจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตไปเมืองอังกฤษด้วย ต่อมาได้เป็นที่หลวงสุรวิเศษ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทบทุกพระองค์ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕ ไทยที่เรียนรู้ภาษาในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีปรากฏแต่ ๔ ด้วยกันดังกล่าวมานี้

ยังมีไทยที่ได้ออกไปเล่าเรียนถึงยุโรปเมื่อรัชกาลที่ ๓ อีกคน ๑ ชื่อนายฉุน เป็นคนที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เลี้ยงมา เห็นว่าฉลาดเฉลียวจึงฝากกัปตันเรืออังกฤษออกไปฝึกหัดวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ในเมืองอังกฤษจนได้ประกาศนียบัตรเดินเรือทะเลได้แล้วจึงกลับมา (เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔) ได้เป็นที่ขุนจรเจนทะเล และได้เป็นล่ามของพระยามนตรีสุริยวงศ์เมื่อไปเป็นราชทูตด้วย ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นหลวงชลธารพินิจจัยตำแหน่งเจ้ากรมคลอง แล้วเลื่อนเป็นพระยาชลธารพินิจจัย


Jodie Foster ในบท Anna Leonowens
จากภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King


ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุดหนุนการเล่าเรียนภาษาอังกฤษมาก ถึงโปรดฯ ให้หญิงมิชชันนารีเข้าไปสอนข้างในพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่เล่าเรียนครั้งนั้นเรียนรู้ภาษาอังกฤษพอพูดได้บ้าง ยังมีตัวอยู่ในเวลานี้ คือเจ้าจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดากรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต่อมาโปรดฯ ให้หาผู้หญิงอังกฤษมาเป็นครู แล้วตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ให้บรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งชายหญิงที่พระชันษาพอจะเล่าเรียนได้ เข้าเล่าเรียนทุกพระองค์ ส่วนบุตรหลานข้าราชการถ้าผู้ใดอุตส่าห์เรียนรู้ภาษาฝรั่ง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งให้มียศและบรรดาศักดิ์ ดังสมเด็จฯกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสเป็นภาษิตในสมัยต่อมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ใครแข็งแรงทัพศึกก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครมีใจศรัทธาสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๔ ถ้าผู้ใดรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด ดังนี้


แอนนา ลีโอโนเวนส์


แต่ผู้ที่ได้เล่าเรียนรู้ทันรับราชการเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทั้งเจ้านายและขุนนางมีปรากฏแต่ ๕ ด้วยกัน คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ ได้ทรงศึกษาเป็นพื้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ แต่ที่มาทรงทราบได้ดีทีเดียวนั้นด้วยทรงพระอุตสาหะศึกษาต่อมาโดยลำพังพระองค์เอง เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พวกฝรั่งกล่าวว่าตรัสภาษาอังกฤษได้ แต่ข้าพเจ้าเคยได้พบแปลคำนำหนังสือพิมพ์ข่าวจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เป็นของแปลถวายกรมพระราชวังฯ จึงเข้าใจว่าไม่ทรงทราบภาษาอังกฤษแตกฉานทีเดียวนัก แต่ในทางข้างวิชาช่างทรงเชี่ยวชาญมาก

พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) บุตรพระยาอภัยสงครามคน ๑ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ฝากนายเรือรบอเมริกันไปฝึกหัดวิชาทหารเรือ เรียนรู้แต่ภาษา กลับมาได้รับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการกรมท่า เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระศรีธรรมสาส์น แล้วเป็นพระยาจันทบุรี ได้พระราชทานพานทอง เมื่อชราโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอัครราชวราทรในกรมท่า อีกคน ๑ คือ พระยาอัครราชวราทร(เนตร) เป็นบุตรพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ออกไปเล่าเรียนที่เมืองสิงคโปร์เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดี กลับมาถวายตัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา พระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วเลื่อนเป็นหลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ แล้วจึงเลื่อนมาป็นพระยาอัครราชวราทร อีกคน ๑ คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาฯ ส่งเป็นนักเรียนออกไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษ เรียนอยู่ ๓ ปี ครั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส เรียกมาใช้เป็นล่าม แล้วเลยพากลับเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา พระราชทานสัญญาบัตรเป็นตำแหน่งนายราชาณัตยนุหาร หุ้มแพรวิเศษในกรมพระอาลักษณ์ พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทรงใช้สอยในหน้าที่เลขานุการถาษาอังกฤษมาจนตลอดรัชกาล ผู้ที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้รับราชการในรัชกาลที่ ๔ มีจำนวนที่ทราบด้วยกันดังแสดงมา

นอกจากนี้มีผู้ที่เรียนในกรุงเทพฯ บ้าง ไปเรียนเมืองสิงคโปร์บ้าง รู้แต่พอพูดได้บ้างเล็กน้อยมีหลายคน ไม่ได้นับในจำนวนที่กล่าวมานี้ ที่เรียนเฉพาะวิชาจนมีชื่อเสียง มีนายจิตร อยู่กะดีจีนคน ๑ ได้หัดชักรูปกับบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศส และฝึกหัดต่อมากับทอมสันอังกฤษ ที่เข้ามาชักรูปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จนตั้งห้างชักรูปได้เป็นที่แรก และได้เป็นขุนฉายาสาทิสลักษณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๔ แล้วเลื่อนเป็นที่หลวงอัคนีนฤมิตรเจ้ากรมโรงแก๊สหลวง


หลวงอัคนีนฤมิตร (ฟรานซิส จิตร) เจ้ากรมโรงแก๊สหลวง


มีนักเรียนส่งไปเรียนยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีก ๓ คน คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์คน ๑ นายสุดใจ บุนนาค ที่ได้เป็นพระยาราชานุประพันธ์ บุตรเจ้าพระยาภานุวงศ์คน ๑ ทั้ง ๒ คนนี้ไปเรียนที่เมืองอังกฤษ หลวงดำรงสุรินทรฤทธิ์(บิ๋น) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ส่งไปเรียนที่เมืองฝรั่งเศสคน ๑ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ กำลังเล่าเรียนอยู่ทั้ง ๓ คน ได้กลับมารับราชการต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๕

ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีอเมริกันเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เสร็จการเล่าเรียนมาได้รับราชการในรัชกาลที่ ๕ ที่ทราบมี ๖ คน คือ

นายเทียนฮี้ เรียนกับมิชชันนารีรู้ภาษาแล้วออกไปเรียนถึงอเมริกา ได้ประกาศนียบัตรเป็นแพทย์ กลับมารับราชการในกรมมหาดเล็ก ได้เป็นที่หลวงดำรงแพทยาคุณ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยได้เป็นที่พระมนตรีพจนกิจ ในรัชกาลปัจจุบันได้เป็นพระยาสารสินสวามิภักดิ คน ๑

นายสิน เรียนรู้ภาษาพูดได้คล่องแคล่ว แต่หนังสือไม่สู้ชำนาญ ได้เป็นที่หลวงอินทรมนตรีฯ ในกระทรวงพระคลัง แล้วเป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ คน ๑

นายสุด รับราชการเป็นตำแหน่งล่ามในกระทรวงกลาโหม และกรมแผนที่ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นหลวงนรภารพิทักษ์ มหาดไทยมณฑลพิษณุโลก แล้วเลื่อนเป็นพระ ต่อมาเป็นพระยาอุตรกิจพิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วได้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ แกหลายแห่ง อีกคน ๑

นายเปลี่ยน เป็นล่ามทูตไปประจำอยู่กรุงลอนดอนคราว ๑ กลับมาได้รับราชการในกรมทหารน้าเป็นนายร้อยเอก แล้วไปรับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล เป็นที่หลวงวิสูตรบริหาร และไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นพระเสนีพิทักษ์ มาในรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นพระยาชนินทรภักดีในกระทรวงมุรธาธร คน ๑

นายปุ่น รับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล ได้เป็นหลวงอนุมัติมนูกิจ มาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นพระธรณีนฤเบศร คน ๑

นายอยู่ รับราชการเป็นล่ามทูตไปยุโรปคราว ๑ กลับมาได้เป็นล่ามในกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมทหารม้า แล้วมาอยู่กรมราชโลหกิจได้เป็นที่ขุนสกลโลหการ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงสกลโลหการ คน ๑

ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงบำรุงการเล่าเรียนภาษาอังกฤษยิ่งกว่าในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงทหารมหาดเล็ก เรียกครูอังกฤษมาสอน แล้วส่งบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอเข้าโรงเรียนนั้น มีเว้นแต่น้อยพระองค์ที่สมัครไปเรียนในโรงเรียนภาษาไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กับบรรดาเจ้านายที่ได้รับราชการเป็นตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนนี้เป็นเดิมมาแทบทุกพระองค์ และยังโปรดให้เลือกสรรหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ส่งไปเล่าเรียนที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง ในพวกนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊กในกรมหมื่นมเหศวรศิวลาศ และพระไชยสุรินทร์ มร.ว.เทวหนึ่งได้เลือกส่งไปเรียนที่เมืองอังกฤษ เป็นนักเรียนชุดแรกที่ส่งไปยุโรปในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาการเล่าเรียนภาษาและวิชาการของฝรั่งเจริญแพร่หลายอย่างไร เป็นการชั้นหลังขอยุติไว้


ผลงานของมิชชันนารีอเมริกันด้านการศึกษา



.........................................................................................................................................................



(คัดจากจดหมายเหตุและนิราศลอนดอน)




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 16:33:58 น.   
Counter : 4754 Pageviews.  


ลักษณะการศึกษาของเจ้านายแต่โบราณ


พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



ลักษณะการศึกษาของเจ้านายแต่โบราณ

ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ การศึกษาของเจ้านายซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดากวดขันยิ่งกว่าบุคคลจำพวกอื่น จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ในพระราชวัง พอรู้ความก็ต้องเริ่มทรงศึกษาสำหรับเจ้านาย จึงเรียนในสำนักเจ้านายพระองค์หญิง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นอาจารย์ (เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้หม่อมเจ้าและราชินิกุลที่เข้ามารับราชการฝ่ายใน เล่าเรียนอักขรสมัยจนถึงขั้นสูง ท่านเหล่านี้ได้เป็นอาจารย์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีบ้าง) เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ทรงศึกษาเบื้องต้นไปจนได้ความรู้ชั้นอ่านเขียน หรือถ้าจะเรียกอย่างปัจจุบันนี้ก็คือ จนสำเร็จชั้นประถมศึกษา ก่อนพระชันษาได้ ๑๐ ปี ต่อนั้นถึงเวลาเรียนชั้นมัธยม คือ เรียนภาษาไทยชั้นสูงขึ้นไป และเริ่มเรียนภาษามคธ เรียนในสำนักอาจารย์เดิมบ้าง ไปเรียนต่ออาลักษณ์หรือราชบัณฑิตย์เป็นอาจารย์บ้าง จนพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ คือพระราชกุมารเมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี พระราชกุมารีเมื่อพระชันษาได้ ๑๑ ปี

ตั้งแต่นี้ไปการศึกษาจึงได้แยกกัน ฝ่ายพระราชกุมารเมื่อไปทรงผนวชเป็นสามเณร เล่าเรียนศีลธรรมและพระศาสนาในสำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ตามสมควรแก่พระชันษา แล้วลาผนวชมาประทับอยู่ฝ่ายหน้า แต่นี้ไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะอย่างตามพระอัธยาศัย คือศิลปะศาสตร์ เช่นหัดทรงม้าและใช้เครื่องศัสตราวุธก็ดี หัตถกรรมทำการช่างต่างๆ ก็ดี นิติศาสตร์ราชประเพณีและวรรณคดีก็ดี ชั้นนี้ทรงศึกษาในสำนักเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญในการนั้น ๆ ไปจนพระชันษาได้ ๒๑ ปี ออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เทียบตรงกับเข้ามหาวิทยาลัย ทรงศึกษากิจในพระศาสนาชั้นสูงขึ้นไปจนถึงสมถภาวนาและวิชาวรรณคดีถึงชั้นสูงสุด หรือวิชาอื่นอันไม่ขัดแก่สมณรูป จนสำเร็จการศึกษาลาผนวชก็เข้ารับราชการได้ตามคุณวิชา

ฝ่ายพระราชกุมารีนั้น เมื่อทรงพระเจริญขึ้นย่อมคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังตลอดไป ทั้งเป็นสตรีภาพไม่มีกิจซึ่งทรงศึกษาวิชาชาย การที่ทรงศึกษาต่อจากชั้นประถมขึ้นไปก็มีศีลธรรมและพระศาสนาเป็นต้น นอกจากนั้นก็อยู่ในวิชาวรรณคดี กับหัตถกรรมกระบวนช่างเป็นพื้น บางพระองค์จึงทรงศึกษาต่อขึ้นไปถึงวิชาอื่นอันพึงจะเรียนได้ด้วยการอ่านตำรับตำรา คือ วิชาเลข วิชาโหรศาสตร์และโบราณคดีเป็นต้น ตามพระอัธยาศัย ถึงกระนั้นบรรดาพระราชกุมารีย่อมได้ทรงศึกษามากทุกพระองค์ จึงได้มีเจ้านายพระองค์หญิงสามารถเป็นองอาจารย์สั่งสอนเจ้านายซึ่งทรงพระเยาว์ สืบต่อกันมาไม่ขาดทุกรัชกาล

การแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน นิยมมาแต่ก่อนว่าเป็นองค์สำคัญอันหนึ่งของความรอบรู้วรรณคดี บรรดาพระราชกุมารี แม้ทรงศึกษาวิชาอื่นตามพระอัธยาศัย แต่ส่วนวิชาวรรณคดีนั้นทรงแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนได้แทบทุกพระองค์ ผิดกันแต่สามารถยิ่งและหย่อนหรือพระหฤทัยโปรดมากและน้อยกว่ากัน แต่มีพระราชกุมารีบางพระองค์ ซึ่งทรงสามารถโดยมีพระอุปนิสัยในทางวรรณคดีถึงได้รับยกย่องของคนทั้งหลาย ว่าอาจแต่งโตลงฉันท์กาพย์กลอนดีถึงกวีที่เป็นชาย

พระราชกุมารีซึ่งทรงพระเกียรติดังนี้มีน้อยพระองค์ ในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏพระนามสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงแต่งบทละครเรื่องอิเหนาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากุณฑลซึ่งทรงแต่งบทละครเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) พระองค์ ๑ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระองค์เจ้ามณฑาพระองค์ ๑ กับพระองค์เจ้าอุบลพระองค์ ๑ ได้ทรงแต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง ที่ควรชมว่าเป็นอย่างดียิ่งนั้น คือ กุมารคำฉันท์ ซึ่งช่วยกันแต่งทั้ง ๒ พระองค์ยังปรากฏอยู่ ในรัชกาลที่ ๓ ก็มีพระพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงวรเสรษฐสุดาเมื่อรัชกาลที่ ๕ พระองค์ ๑ ซึ่งนับถือกันว่าทรงสามารถแต่บทกลอนสู้กวีชายได้ ถึงได้ทรงรับเชิญให้แต่งโคลงเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับจารึกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ ห้องที่ ๒๐ ตอนพระรามเข้าสวนพิราม ปรากฏอยู่ ต่อนั้นมาถึงพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ซึ่งได้รับความนิยมยอมทั่วกันหมด ว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดีและเป็นกวีแต่ดีสู้ชายได้



สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี



.........................................................................................................................................................


(จากคำนำหนังสือสุขุมาลนิพนธ์)




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 16:14:19 น.   
Counter : 3900 Pageviews.  


คำให้การชาวอังวะ

คำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔

หนังสือซึ่งเรียกว่า “คำให้การ” เหล่านี้ เป็นจดหมายเหตุประเภท ๑ ซึ่งรัฐบาลให้ถามเรื่องราวไว้จากผู้ที่รู้เห็น ด้วยประเพณีแต่ก่อนมา ถ้ารัฐบาลใดได้ชาวต่างประเทศที่รู้การงานบ้านเมืองมาก็ดี หรือแม้ชนชาวประเทศของตนเอง ได้ไปรู้เห็นการงานบ้านเมืองต่างประเทศมาก็ดี ถ้าและการงานบ้านเมืองต่างประเทศนั้นเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลต้องการจะรู้ ก็เอาตัวชาวต่างประเทศหรือชาวเมืองของตนที่ได้ไปรู้เห็นการงานมา ให้เจ้าพนักงานซักไซ้ไต่ถามข้อความที่อยากจะรู้ และจดเป็นคำให้การขึ้นเสนอต่อรัฐบาล

ประเพณีอันนี้เห็นจะมีเหมือนกันทุกประเทศ ด้วยมีหนังสือทำนองคำให้การอย่างว่านี้ในจำพวกหนังสือไทยเก่าๆ หลายเรื่อง เช่นเรื่องขุนสิงหลได้หนังราชสิงห์ และเรื่องขุนการเวกไปบูชาพระเมาฬีเจดีย์ ณ เมืองหงสา อันติดอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือนั้นเป็นต้น ต่อมาในสมัยเมื่อไทยกับพม่าเป็นข้าศึกทำสงครามขับเคี่ยวกัน วิธีที่ถามคำให้การเช่นกล่าวมานี้ยิ่งเป็นการสำคัญขึ้น เพราะเป็นทางที่จะได้ความรู้ภูมิประเทศและรู้กำลัง ตลอดจนพงศาวดารและขนบธรรมเนียมข้าศึก พม่าจับไทยไปได้ก็เอาไปถามคำให้การ ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้สำเนาฉบับหลวงมาแต่เมืองพม่า ได้ให้แปลและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ส่วนข้างไทยเราเมื่อจับพม่าข้าศึกมาได้ หรือได้คนซึ่งไปรู้เห็นการงานเมืองพม่ามา ก็เอาตัวถามคำให้การเรื่องเมืองพม่าเหมือนกัน หนังสือคำให้การว่าด้วยเรื่องราวและกิจการในประเทศต่างๆ มีสำเนาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายเรื่อง กรมการได้รวบรวมพิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคอื่นแล้วก็มี

ส่วนคำให้การ ๒ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คำให้การมะยิหวุ่น เป็นคำให้การของแม้ทัพพม่าที่ไทยจับมาได้จากเมืองเชียงราย เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพนักงานถามคำให้การขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

มะยิหวุ่นคนนี้ ในหนังสือเก่าเรียกชื่อหลายอย่าง บางแห่งเรียกว่า อาระปะกามะนี บางแห่งเรียกว่า มะยิหวุ่น บ้าง โปมะยุง่วน บ้าง สอบสวนได้ความว่าที่เรียก อาปะระกามะนีนั้นตามบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่ามะยิหวุ่นนั้นตามยศที่เป็นเจ้าเมือง คำว่าโปแปลว่านายพล เพราะฉะนั้นที่เรียกว่า โปมะยุง่วน คือ โปมะยิหวุ่น หมายความว่าเจ้าเมืองผู้เป็นนายพล คำข้างหลังทั้ง ๒ นี้เห็นจะเป็นคำคนพื้นเมืองเรียก อย่างไทยเราเรียกว่า “เจ้าคุณ” หรือ “เจ้าคุณแม่ทัพ” ชื่อที่พม่าเข้าเรียกในพงศาวดารเรียกว่า อาปะระกามะนี ตามบรรดาศักดิ์

ประวัติของอาปะระกามะนีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้น เดิมเป็นขุนนางอยู่เมืองอังวะ ครั้นเมื่อปะมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๒๔ พ.ศ. ๒๓๐๕ สมัยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ครองกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอังวะมังลอกผู้เป็นราชโอรส ได้ครองราชย์สมบัติสืบวงศ์พระเจ้าอลองพญา ให้ติงจาแมงข่อง และมังมหานอรธา กับอาปะระกามะนีคนนี้ คุมกองทัพพม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นดูเหมือนจะเป็นอิสระอยู่ เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าอังวะจึงตั้งให้อาปะระกามะนีเป็นมะยิหวุ่น ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ต่อมา ตั้งแต่นั้นเมื่อพม่ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยคราวใด อาปะระกามะนีก็ได้เป็นนายพลคุมพวกเมืองเชียงใหม่มาช่วยรบไทยด้วยทุกคราว

ตลอดมาจนถึงครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพหน้า ครั้งนั้นพม่าแต่งให้พระยาจ่าบ้าน กับพระยากาวิละ ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกชาวเชียงใหม่ คุมพลลงมาต่อสู้กองทัพกรุงธนบุรี พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละกลับมาสามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เข้ามาสมทบกองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ อาปะระกามะนีกับพวกพม่าเสียเมืองแล้วก็พากันถอยหนีขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองเชียงแสน แล้วลงมรบกวนหัวเมืองข้างฝ่ายเหนืออีกหลายคราว

จนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระเจ้าอังวะปะดุงจัดกองทัพพม่ามาเพิ่มเติมเข้ามาสมทบกองทัพอาปะระกามะนี ให้ยกกองทัพลงมาตีเมืองฝางในมณฑลพายัพ ในเวลานั้นพวกชาวมณฑลพายัพเอาใจมาเข้าข้างไทยเสียหมดแล้ว อาปะระกามะนีเกณฑ์กองทัพ ผู้คนพลเมืองก็พากันหลบเลื่อมระส่ำระสาย ครั้นกองทัพพม่าที่มาจากเมืองอังวะไปตั้งอยู่เมืองฝาง ทางเมืองเชียงแสน พวกชาวเมืองมีพระยาแพร่(มังไชย) พระยายอง และพระยาเชียงรายเป็นหัวหน้า เห็นได้ทีจึงระดมตีพวกพม่าที่ยังเหลืออยู่ จับได้ตัวอาปะระกามะนีส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ กรุงเทพมหานครฯ จึงได้โปรดให้ถามคำให้การที่พิมพ์นี้

คำให้การของอาปะระกามะนี เมื่อถามจะเป็นกี่ตอนกี่เรื่องยังทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับไว้แต่ตอนที่เล่าถึงพงศาวดารพม่าตอนเดียว สำนวนภาษาไทยที่เรียบเรียงคำให้การอาปะระกามะนี ผู้ใดจะเรียบเรียงไม่ทราบ แต่มีลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมไว้ในต้นฉบับดังนี้ว่า

“สมุดนี้เป็นสมุดเก่า สำนวนเก่า เรียงแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใครเรียงไม่รู้เลย แต่เห็นว่าถูกต้องที่ใช้ แก่ กับ ถึงจะมีคำที่ไม่ควรใช้ บุตรสาว พระสาว ลูกเจ้า อยู่บ้างก็ดี คำว่า กับ กับ กับ กับ ถี่ไป อย่างหนังสือทุกวันนี้ไม่เห็นมีเลย ใช้กับและแก่ถูกทุกแห่ง ให้อาลักษณ์คัดไว้เป็นตัวอย่างแล้วส่งสมุดคืนมา สมุดนี้ก็มิใช่สมุดเดิม เป็นฉบับเขาลอกเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดอก”

ตามพระราชหัตถ์เลขาที่ปรากฏมาดังนี้ ควรนับถือว่าหนังสือเรื่องคำให้การมะยิหวุ่นนี้ เป็นหนังสือแต่งดีด้วยอีกสถาน ๑ หนังสือเรื่องนี้ หม่อมเจ้าธานีนิวัติ กับหม่อมเจ้าชายหญิงในพระบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้เคยพิมพ์แจกในงานทำศพสนองคุณหม่อมเอมมารดาครั้ง ๑ แล้ว เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ แต่พิมพ์เป็นเรื่องต่างหาก ข้าพเจ้าได้เรียกชื่อเรื่องเมื่อพิมพ์ครั้งนั้นว่า “คำให้การชาวอังวะ” ยังหาได้รวมไว้ในประชุมพงศาวดารไม่ จึงพิมพ์รวมไว้เสียงในครั้งนี้ เพื่อจะให้เป็นการสะดวกแก่ผู้ศึกษาโบราณคดี

คำให้การมหาโค มหากฤชนั้น มหาโคเป็นไทยชาวกรุงเก่า พม่าจับเอาไปกับพระเจ้าอุทุมพร คือขุนหลวงหาวัด (ในคำให้การเรียกว่าเจ้าวัดประดู่) ไปพลัดกันที่เมืองแปร มหาโคตกค้างอยู่ที่นั่น ได้โอกาสจึงบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายพรรษา แล้วสึกออกมาได้ภรรยามีลูกชาย คือ มหากฤช ทั้งพ่อลูกพึ่งบุญในพระมเหสีของพระเจ้ามังระ ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าจิงกูจา อยู่มาจนเจ้านายสิ้นบุญแล้ว ค่อยหลบเลี่ยงจากราชธานีของพม่ามาโดยลำดับ แล้วบวชเป็นพระพากันหนีมาเมืองไทยทางเมืองเชียงใหม่ มาถึงกรุงเทพฯในรัชการที่ ๒ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๕๓ เจ้าพนักงานจึงถามคำให้การในเรื่องประวัติของพระมหาโค มหากฤช ตลอดจนเรื่องราวเหตุการณ์ในเมืองพม่า ในเวลามหาโค มหากฤชอยู่ที่นั่น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มูลเหตุของคำให้การทั้ง ๒ เรื่องมีดังกล่าวมานี้

คำที่เรียกว่า มหาโค มหากฤช บางทีจะชวนให้ผู้อ่านสงสัยว่าเป็นเปรียญหรืออย่างไร จึงเรียกว่า “มหา” ข้อนี้ได้ทราบมาว่า แต่ก่อนคำว่า มหา ไม่ได้เรียกเฉพาะแต่เปรียญ พระภิกษุองค์ใดซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปการแล้ว ถ้าเป็นอนุจรก็เรียกว่ามหาทั้งนั้น จะยกตัวอย่าง เช่นสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ท่านไม่ได้เข้าแปลหนังสือ แต่ว่าเทศน์เพราะมาแต่เป็นสามเณร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระเมตตา โปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เรียกกันว่ามหาโตแต่นั้นมา มหาโค มหากฤชนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เห็นจะทรงอุปการด้วยพากเพียรหนีข้าศึกกลับมาบ้านเมือง จึงได้เรียกว่ามหาทั้ง ๒ องค์ ใช่วิสัยที่จะแปลหนังเป็นเปรียญได้ในทันที

.................................................................................................................................


คำให้การชาวอังวะ

ข้าพระพุทธเจ้า มะยุหวุ่น ขอพระราชทานทำกฎหมายเหตุ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจำได้ ทูลเกล้าฯ ถวาย
แต่ครั้งบุตรเจ้าอาทิตย์ได้เสวยราชสมบัติเมืองรัตนบุรอังวะ แต่ก่อนเมืองหงสาวดีขึ้นแก่เมืองอังวะ เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๙ ปี เจ้าเมืองรัตนบุรอังวะจึงตั้งสาอ่องไปเป็นเจ้าเมือง ให้นายแซงหมู่กรมช้างเป็นปลัดเกียกกายเมืองหงสาวดี ราษฎรทั้งปวงเป็นใจรักใคร่ นางแซงหมู่คิดกบฏจับเอาตัวนายสาอ่องฆ่าเสีย นายแซงหมู่จึงขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าเมืองหงสาวดี ตั้งให้น้องชายคนหนึ่งเป็นพระยาอุปราชา เป็นแม่ทัพเรือขึ้นไปตีเมืองรัตนบุรอังวะ น้องชายคนหนึ่งตั้งให้เป็นพระยาทะละ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองรัตนบุรอังวะในปีนั้น ล้อมเมืองรัตนบุรอังวะ ๓ ปี จนถึงศักราชได้ ๑๑๑๔ ปี จึงได้เมืองอังวะ

แล้วพระยาอุปราชาจึงเอาตัวเจ้าเมืองอังวะและญาติวงศ์ลงไปเมืองหงสาวดี แต่พระยาทะละกับตละป้านอยู่ในเมืองอังวะ ชำระกิจการบ้านเมืองได้ความว่าอ่องเจยะมังลอง ซ่อมสุมผู้คนสิบสี่บ้านประมาณคนสี่พัน ห้าพัน เอาต้นตาลตั้งค่ายที่มุกโซโบ พระยาทะละกับตละป้านใช้ให้นายกองคุมไพร่พันห้าร้อยไปสืบข่าว พบคนมังลองนั่งทางอยู่ที่บ้านบอกสอด ใกล้กันกับมุกโซโบทาง ๘๐๐ ได้รบกัน รามัญแตกกลับไปเมืองอังวะ พระยาทละเกณฑ์ให้ตละป้านเป็นแม่ทัพ กับกะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบประมาณคนรามัญห้าพัน พม่าหมื่นห้าพัน เป็นคนสองหมื่น ยกไปล้อมมุกโซโบสิบห้าวัน

ฝ่ายกองทัพรามัญขาดเสบียงอาหารฆ่ากระบือวัวกิน อดอยากเป็นอันมาก มังลองยกกองทัพออกตีทัพรามัญแตกหนีไปเมืองอังวะ มังลองจึงเกณฑ์ให้ตามไปแต่เช้าจนตะวันเที่ยง ได้เครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก แล้วพระยาทะละเกณฑ์ให้ตละปัน อำมาจย์กะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบ กับรามัญห้าพัน พม่าห้าพัน ให้รักษาเมืองรัตยบุรอังวะ พระยาทะละเก็บเอาเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อย ครอบครัวไพร่พลลงไปเมืองหงสาวดีทางเรือ ไกลกันกับเมืองอังวะสิบวัน มังลองจึงให้แมงละแมงฆ้อง ไพร่พันห้าร้อยยกไปกองหนึ่ง เสนัดหวุ่นกับไพร่พันห้าร้อยยกไปกองหนึ่ง เป็นคนสามพัน ไปกวาดต้อนได้ไพร่พลเมืองสิบสี่เมืองอยู่ในแขวงอังวะแต่เมืองหนึ่งๆ ประมาณคนพันหนึ่ง สองพัน สามพัน สี่พัน ห้าพันบ้าง เข้ากันแต่พลเมืองเป็นคนสองหมื่น ได้บ้านในแขวงเมืองอังวะทางใกล้กันกับมุกโซโบทางวันหนึ่งสองวันสามวันบ้าง ยี่สิบบ้าน บ้านหนึ่งได้คนร้อยหนึ่ง สองร้อย สามร้อย สี่ร้อย ห้าร้อย พันหนึ่งบ้าง แต่บ้านได้ไพร่หมื่นหนึ่ง เข้ากันทั้งเมืองและบ้านแต่กวาดต้อนเกณฑ์มาได้เป็นคนสามหมื่น ช้าอยู่สิบห้าวัน ครั้นกองทัพกวาดคนมาถึงมุกโซโบสามวัน ให้เร่งยกกองทัพไปล้อมเมืองอังวะ มังลองจึงให้เสนาบดีแมงละแมงฆ้องเป็นแม่ทัพหน้า กับแซงแนงโบ ไพร่หมื่นหนึ่ง แมงมหาเสนาบดี เสนัดหวุ่นเป็นโปชุกแม่ทัพหลวง มองระบุตรมังลองกับคนสองหมื่นบังคับทัพทั้งปวง ยกไปล้อมเมืองอังวะ รบกันห้าวัน ตละป้านแตกหนีออกจากเมืองอังวะ ไปตั้งมั่นรับอยู่เมืองเปรใต้เมืองอังวะลงมาทางเจ็ดคืน มังลองจึงให้มองระผู้บุตรนั่งเมืองอังวะอยู่

ครั้นศักราชได้ ๑๑๑๕ ปี เดือน ๕ เจ้าเมืองหงสาวดี จึงให้พระยาอุปราชาน้องชายเป็นแม่ทัพ กับตละป้าน กะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบ เป็นกองหน้ายกทางบกทางเรือขึ้นมาล้อมเมืองอังวะ มองระใช้ให้คนถือหนังสือไปถึงมังลองผู้เป็นบิดา ว่ารามัญยกกองทัพพลทหารขึ้นมาล้อมเมืองอังวะเป็นอันมาก อ่องเจยะมังลองจึงเกณฑ์ให้ยกกองทัพมาช่วยรบรามัญซึ่งล้อมเมืองไว้นั้น เป็นสามทาง ทางตะวันออกให้แมงละแงกับไพร่สองพันเป็นกองหน้า ให้เจ้าตองอูน้องมังลองกับไพร่พันหนึ่ง เป็นแม่ทัพยกมาทางบกทางหนึ่ง แต่มุกโซโบไปเมืองอังวะไกลกันทางสองคืนสามวัน ทางน้ำเป็นเรือใหญ่น้อยร้อยห้าสิบลำ พร้อมไปด้วยปืนใหญ่ปืนน้อย เครื่องศัสตราวุธลูกกระสุนดินประสิว จึงให้มะโยลาวุทมัตราโปกับไพร่สองพันห้าร้อยกับเรือแปดสิบลำเป็นกองหน้า อัครมหาเสนาบดีเสนัดหวุ่น กับไพร่พันห้าร้อยกับเรือเจ็ดสิบลำเป็นแม่ทัพ ยกลงมาครั้งนั้นทางบกทางเรือตะวันตกตะวันออกเป็นเรือร้อยห้าสิบลำ คนหมื่นหนึ่ง จากมุกโซโบทางแปดร้อย

ถึงตำบลบ้านจอกยอง กองทัพเรือรามัญประมาณร้อยเศษ นายทัพนายกองสมิงรามัญไพร่พลทหารประมาณหมื่นเศษ ได้รบกันกับกองทัพพม่าทั้งบกทั้งเรือช้าอยู่ที่นั่นสิบห้าวัน กองทัพตละป้านอำมาตย์ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือแตกหนี ถอยทัพลงไปที่ล้อมเมืองอังวะ กองทัพพม่าติดตามลงไปตีเมื่อศักราชได้ ๑๑๖ ปี เดือนหกขึ้นสิบค่ำ พระยาอุปราชา สมิงรามัญ นายทัพนายกองซึ่งล้อมเมืองอังวะนั้นแตกถอยทัพไปตั้งมั่นรับอยู่ ณ เมืองแปร

เมื่อศักราชได้ ๑๑๑๖ ปี เดือนหกแรมสิบค่ำ เวลาบ่าย เกิดพายุฝนห่าใหญ่ตก ฟ้าผ่าลงมาในวันเดียวนั้น ๑๖ หน ผ่าลงที่เสาติดกระดานแผ่นทองเขียนเป็นอักษรชื่อนามเมืองในประตูเมืองที่ ๑ ผ่าเสาเบญจพาศข้างต้นที่ ๒ ผ่าซุ้มประตูปราสาทที่ ๓ ผ่าต้นแคในวังที่ ๔ ผ่าลงมุขปราสาทที่ ๕ ผ่าลงหอกลางที่ ๖ ผ่าเสากุฎีที่ ๗ ผ่าพระเจดีย์ที่ ๘ ผ่าเพนียดช้างที่ประตูหอจันที่ ๙ ผ่าลงซุ้มประตูเมืองที่ ๑๐ ผ่าลงที่สระในวังที่ ๑๑ ผ่าลงที่เรือนไพร่ในเมืองที่ ๑๒ ผ่าต้นตาลในเมืองที่ ๑๓ ผ่าต้นโพธิในเมืองที่ ๑๔ ผ่าต้นมะขามป้อมในเมืองที่ ๑๕ ผ่าลงที่กระดานแผ่นทองที่จารึกปิดไว้ตรงหน้าประตูวังแต่ครั้งมังลองได้เป็นเจ้า สร้างปราสาท ตั้งกำแพงเมืองปีเดือนวันคืนที่จารึก ศักราช ๑๑๑๕ ปี เดือนสิบสองขึ้นค่ำหนึ่งนั้นที่ ๑๖

มังลองจึงหาเสนาบดีพราหมณ์ปโรหิตโหราพฤฒามาตย์มา มังลองจึงถามว่า ฟ้าผ่าลงที่เมืองมุกโซโบวันเดียวแต่ตะวันบ่ายไปจนเย็น ๑๖ หนดังนี้ ผู้ใดใครได้พบเห็นเหตุเป็นประการใดบ้าง โหราพราหมณ์ปโรหิตทำนายว่า มังลองจะมีบุญญาธิการ จะได้ปราบยุคเข็ญ ซึ่งเป็นเสี้ยนศัตรูอยู่แก่เมืองอังวะจะพ่ายแพ้เป็นมั่นคง มังลองจึงว่าถ้าดังนั้น ศักราชได้ ๑๑๑๖ ปี เดือน ๗ ขึ้น ๓ ค่ำ มังลองจะยกทัพทั้งบกทั้งเรือกับเสนาบดีและนายไพร่ซึ่งอยู่ในเมืองมุกโซโบ และเมืองอังวะ เป็นคนสามหมื่น ให้มองระผู้บุตรเป็นทัพหน้า มังลองเป็นทัพหลวง ยกลงไปรบเมืองหงสาวดี ณ เดือนเจ็ดแรมสิบสองค่ำ

มองระบุตรมังลองซึ่งเป็นกองทัพหน้ายกไปก่อนได้รบกันกับกองทัพรามัญ พระยาอุปราชาน้องเจ้าเมืองหงสาวดีที่เมืองแปร แต่เดือนเจ็ดแรมสองค่ำปีหนึ่ง กองทัพพระยาอุปราชาสมิงรามัญทั้งปวงแตกหนีถอยหลังลงไปตั้งรับอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง แต่ทัพมังลองตั้งยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแปร มองระซึ่งเป็นทัพหน้าติดพันตามกันลงไปรบที่เมืองย่างกุ้ง แต่ ณ เดือน ๑๑ ข้างแรมในปีนั้น

ครั้นเมืองศักราชได้ ๑๑๑๗ ปี เดือนหกแรม ๕ ค่ำ พระยาอุปราชาสมิงรามัญแตกจากเมืองย่างกุ้ง ไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองเสี้ยง มังลองยกลงอยู่ ณ เมืองย่างกุ้งปีหนึ่ง ให้กองทัพหน้ามองระผู้บุตร เป็นโปชุกแม่ทัพหลวง กับเสนาบดีเสนัดหวุ่น แมงละแมงฆ้อง แม่ทัพนายกองทั้งปวงยกไปตีเมืองเสี้ยงแต่เดือนเจ็ดข้างแรมได้ ๑๑ เดือน ได้เมืองเสี้ยง แล้วพร้อมทัพกับมังลองที่เมืองเสี้ยงนั้น แล้วมังลองกับมองระบุตร กับเสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวงยกไป มังลองให้ตั้งเมืองที่ตำบลบ้านเจตุวะดี ทางไกลกันกับเมืองหงสาวดี ๕๐ วัน

พระยาหงสาวดีให้อำมาตย์ผู้ใหญ่เอาเครื่องบรรณาการออกมาให้แก่มังลอง แล้วเจรจาความเมืองกันว่า พระยาหงสาวดีจะเอาบุตรีมาให้แก่มังลอง มังลองจึงสั่งว่าอย่าเพ่อให้กองทัพทั้งปวงล่วงเข้าไปตีเมืองปะโก้ก่อน ครั้นถึงศักราชได้ ๑๑๑๘ ปี เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เจ้าเมืองหงสาวดีเอาบุตรีอายุ ๑๗ ปีมาให้แก่มังลอง แล้วพระยาอุปราชา พระยาทะละผู้น้องตละป้านผู้หลายพระยาหงสาวดี ติเตียนพระยาหงสาวดีว่า ทำไมจึงเอาลูกสาวไปยกให้แก่มังลอง พระยาพี่จะออกไปเป็นข้ามังลองก็ออกไปเถิด แต่ข้าพเจ้ากับเสนาบดีทั้งปวงจะสู้กว่าจะตายในเมือง พระยาหงสาวดีจึงว่า เมื่อและพระยาอุปราชา พระยาทะละ ตละป้าน มิยอมให้เมืองเป็นข้ามังลอง เสียลูกสาวคนหนึ่งก็แล้วไปเถิด พระยาหงสาวดีจะทำสงครามรบกับมังลอง

มังลองจึงสั่งแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า พระยาหงสาวดีเสียสัตย์แล้ว กลับจะทำสงครามรบกันกับเราอีกเล่า จึงสั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวง เร่งเข้าล้อมเมืองหงสาวดีประมาณ ๑๕ วัน ไพร่พลเมืองทั้งปวงซึ่งอยู่หน้าที่เชิงเทินเมืองหงสาวดีก็เป็นใจด้วยมังลอง จุดเพลิงทิ้งเชือกลงมารับกองทัพพม่าเข้าไปในเมือง จับได้พระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา พระทะละ และเสนาบดีได้ในเวลากลางคืนวันนั้น ศักราชได้ ๑๑๑๙ ปี เดือน ๘ มังลองจึงพาเอาพระยาหงสาวดีและญาติวงศ์ ทั้งเครื่องบริวารกลับขึ้นไปเมืองมุกโซโบ ครั้นถึงเมืองมักโซโบแล้ว มังลองจึงเลี้ยงพระยาหงสาวดีทั้งบุตรภรรยาเสนาอำมาตย์ไว้ให้อยู่เป็นสุข

ครั้นศักราช ๑๑๒๑ ปี เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ มังลองจึงเกณฑ์มองระผู้บุตร กับอำมาตย์ชื่อแมงละราชา แมงละแมงฆ้อง กับไพร่สองหมื่นเป็นกองหน้า มังลองเป็นแม่ทัพ กับไพร่สามหมื่น ทั้งทัพหน้าทัพหลวงเป็นคนห้าหมื่นยกเข้าไปกรุงทวารวดีศรีอยุธยา ถึง ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ มาถึงเมืองเปร เป็นฤดูฝน มังลองหยุดทัพอยู่ที่เมืองเปร มังลองจึงยกเอามองระผู้บุตรมาไว้ในกองหลวงด้วย มังลองจึงเกณฑ์ให้แต่แมงละราชา แมงละแมงฆ้อง กับไพร่สองหมื่นลงไปแรมทัพอยู่เมืองร่างกุ้ง ครั้นสิ้นเทศกาลฝนถึง ณ เดือน ๑๑ มังลองมองระยกทัพออกจากเมืองเปร มาถึงเมืองย่างกุ้ง ณ เดือน ๑๒ มังลองสั่งให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกับไพร่สองหมื่น เป็นกองหน้าไปตีเมืองทวาย มังลองแต่งกำปั่น ๔ ลำ กับเรือรบทะเล ๕๐ ลำ บรรทุกเสบียงอาหารกับคนหมื่นหนึ่ง ตั้งให้อากาโบหมู่เป็นนายทัพบกนายทัพเรือไปตีเมืองทวาย

ครั้นได้เมืองทวายแล้ว มังลองเข้าอยู่ ณ เมืองทวาย มังลองจึงสั่งให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกองหน้า ยกไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทางเรือ มังลองสั่งจึงสั่งให้อากาโบหมู่กับไพร่ในสำเภาหมื่นหนึ่ง ยกไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทางบก มังลองยกทัพติดไปทีเดียว กองทัพไปทางบกยังไม่ถึง แมงละราชา แมงละแมงฆ้อง ทัพเรือตีเมืองมะริด เมืองตะนาวได้ก่อน ครั้นมังลองถึงเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ยับยั้งรี้พลไว้ที่เมืองตะนาวศรี มังลองจึงให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกับไพร่สองหมื่น มังลองจึงตั้งให้มองระผู้บุตรเป็นแม่ทัพหน้า ได้บังคับแมงละราชา แมงละแมงฆ้อง ยกเข้ามากรุงทวาราวดีศรีอยุธยา มังลองยกเป็นทัพหลวงเข้ามา ครั้นถึงกรุงศรีอยุธยา มังลองบังเกิดเป็นวัณโรคสำหรับบุรุษป่วยหนักลง มังลองจึงสั่งให้แมงละแมงฆ้องเป็นกองรั้งหลัง กับไพร่พลหมื่นหนึ่ง มังลองถึงถอยทัพกลับไปทางระแหง แต่จากบ้านระแหงไปทาง ๙๐๐ ถึงปลายด่านต่อแดน มังลองถึงอนิจกรรมตาย มองระผู้บุตรเอาศพมังลองผู้บิดาใส่วอหามไปถึงเมืองมุกโซโบแต่ ณ เดือน ๖ ข้างขึ้น แล้วให้เอาจันทน์แดงจันทน์ขาวทำฟืนเผาด้วยสูบเอาน้ำกุหลาบดับเพลิง แล้วเก็บอัฐิมังลองใส่หม้อใหม่ปิดทอง เอาไปทิ้งเสียกลางน้ำ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๒ ปี เดือน ๔ บุตรมังลองผู้ชื่อมังลอกลูกชายใหญ่ได้ราชสมบัติในปีนั้น และแมงละแมงฆ้องอำมาตย์ กับคนหมื่นหนึ่ง ซึ่งเป็นกองรั้งหลังมาแต่เมืองอังวะ ณ เดือน ๖ แมงละแมงฆ้อง กับคนหมื่นหนึ่ง ก็ไล่กวาดต้อนผู้คนครอบครัวในแขวงเมืองอังวะ เข้ามาซ่องสุมไว้ในเมืองอังวะ คิดกบฏ ไม่ยอมเป็นข้าเข้าด้วยมังลอก ซึ่งเป็นเจ้าอยู่เมืองมุกโซโบหามิได้ มังลอกผู้เป็นบุตรมังลองซึ่งได้ราชสมบัติ จึงรู้ว่าแมงละแมงฆ้องคิดการกบฏไม่เข้าด้วย จึงแต่งให้จิตะราชสแซงแนงโบแมงแง ปะละสับกุงโบ กับคนสองหมื่นเป็นกองหน้า ยกลงมาล้อมเมืองอังวะไว้ มังลอกจึงยกลงมากับคนสามหมื่นตั้งอยู่เมืองจะแกงคนละฟากน้ำ แต่รบกันอยู่ถึงเจ็ดเดือนจึงได้เมืองอังวะ แมงละแมงฆ้องหนีออกจากเมือง กองทัพไล่ติดตามไป ยิงแมงละแมงฆ้องตาย มังลอกจึงเลิกทัพกลับไปเมืองมุกโซโบ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๓ ปี เดือน ๔ บังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวได้ยินเสียงกึกก้องดุจดังเสียงปืนทั่วไปทั้ง ๔ ทิศ บังเกิดเป็นสูรย์และลำพูกันขาว ในปีนั้นน้องชายมังลอกผู้ชื่อสะโดะอุจจะหน่าซึ่งได้นั่งเมืองตองอู คิดกบฏต่อมังลอกผู้หลาน ซึ่งได้ราชสมบัติอยู่ ณ เมืองมุกโซโบ แต่งให้บะละแมงแตงสันละกี ผู้เป็นอำมาตย์คุมพลห้าพันยกขึ้นมากวาดต้อนเอาคนที่เมืองเปรไปเมืองตองอู มังลอกรู้ว่าสะโดะอุจจะหน่าเจ้าเมืองตองอูคิดกบฏ จึงแต่งให้แมงแงพะละคุมพลสามพันเป็นทัพหน้า ตั้งให้โยลัดหวุ่นคุมคนเจ็ดพันเป็นกองหนุน ให้ยกไปรบเอาเมืองตองอู

ศักราช ๑๑๒๔ ปี มังลอกจึงเกณฑ์ให้อากาจอแทงคุมพลหมื่นหนึ่งยกเป็นกองหน้า มังลอกกับพลสองหมื่นเป็นทัพหลวงยกไปเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ถึงเมืองตองอู เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ได้เมืองตองอู จับได้สะโดะอุจจะหน่าทั้งบุตรภรรยาเสนาอำมาตย์ กวาดต้อนเอาขึ้นไป ณ เมืองมุกโซโบ ครั้นถึงแล้วจะได้ทำอันตรายเสีย หามิได้ มังลอกเลี้ยงไว้คุ้งเท่าบัดนี้

และตละป้านพระยาต่อพระยา ซึ่งพาบุตรภรรยาอพยพหนีไปเมื่อครั้งเมืองหงสาวดีแตกครั้งนั้น ไปอยู่เกาะปิ้นแขวงเมืองมัตตมะ มังลอกจึงสั่งให้ละเมิงหวุ่นคุมพล ๓๐๐๐ ให้ไปเกลี้ยกล่อมตละป้านพระยาต่อพระยา ละเมิงหวุ่นยกมาถึงเมืองมัตตมะ เกลี้ยกล่อมตละป้านพระยาต่อพระยาก็เข้าด้วย ตละป้านจึงว่าแกละเมิงหวุ่นว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นข้าเจ้าอังวะข้าพเจ้าก็เป็นคนโง่ และเจ้าอังวะได้ข้าพเจ้าแล้ว เลี้ยงข้าพเจ้าไว้ไม่ฆ่าข้าพเจ้าเสีย เจ้าอังวะก็เป็นคนโง่ แต่ว่าจับมารดาข้าพเจ้าได้ครั้งหงสาเสียนั้นแล้ว ถึงชีวิตจะตายจะขอเห็นหน้ามารดาหน่อยหนึ่งเถิด แล้วส่งไปเมืองมุกโซโบ มังลอกก็เลี้ยงตละป้านพระยาต่อพระยาไว้

อนึ่ง เมืองเชียงใหม่กับเมืองออกห้าสิบเจ็ดหัวเมืองนั้น เคยขึ้นแก่เมืองรัตนบุรอังวะ บัดนี้ละอย่างประเวณีเสีย หาได้ไปมาเอาเครื่องบรรณาการมาถวายตามอย่างตามธรรมเนียมแต่ก่อนไม่ ศักราชได้ ๑๑๒๕ ปี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ มังลอกจึงเกณฑ์ให้ติงจาแมงฆ้องคุมคน ๓๐๐๐ เป็นกองหน้า จึงตั้งให้ธาปะระกามะนีคนเจ็ดพันเป็นกองหนุนยกไปตีเมืองเชียงใหม่ เดือนอ้ายถึงเมืองเชียงใหม่ รบกันได้ ๔ เดือนได้เมืองเชียงใหม่ จับเจ้าจันผู้เป็นเจ้าเมืองได้ทั้งบุตรภรรยา กองทัพยังมิได้กลับคืนไป มังลอกถึงอนิจกรรมเดือน ๔ นั้น ก็ปลงศพอย่างธรรมเนียม

ศักราช ๑๑๒๕ ปี เดือนสี่นั้น มองระผู้บุตรมังลอง เป็นน้องมังลอกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ และธาปะระกามะนี ซึ่งเป็นนายทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ จึงเกณฑ์ให้มหานะระทากับคนเจ็ดพัน คุมเอาเจ้าจันทั้งบุตรภรรยาไปถวายมองระ แต่ธาปะระกามะนีกับคน ๓๐๐๐ อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ มองระจึงมีนามปรากฏชื่อว่าเจ้าช้างงเผือก จึงเลี้ยงเจ้าจันและบุตรภรรยาเจ้าจันไว้คุ้งเท่าบัดนี้

ณ เดือน ๑๑ ในปีนั้น มองระจึงสั่งให้โยลัดหวุ่นลงมาทำเมืองสร้างปราสาทเมืองอังวะ ตละป้านจึงคิดประทุษร้าย ให้นายทุยบ่าวตละป้านจุดไฟขึ้นในเมืองมุกโซโบ พิจารณาได้ความว่าตละป้านให้จุดไฟขึ้นทั้งนี้ จะคิดการทำร้ายเจ้าอังวะ มองระจึงสั่งให้ประหารชีวิตตละป้านเสีย

ศักราชได้ ๑๑๒๖ ปี เดือน ๑๒ มองระจึงสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ติงจาโบ คุมไพร่พลหมื่นหนึ่งเป็นกองหน้า มองระคุมไพร่สองหมื่นเป็นทัพหลวง ยกไปตีเมืองกะแซ ในปีนั้นเดือนยี่ข้างขึ้นได้เมือง กวาดเอาเชื้อวงศ์และเจ้ากะแซมาถึงเมืองมุกโซโบแต่ ณ เดือนสาม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๗ ปี เดือนหก มองระลงมาจากเมืองมุกโซโบเสวยราชย์เมืองอังวะ จึงเลี้ยงเจ้ากะแซและบุตรภรรยาเจ้ากะแซไว้คุ้งเท่าบัดนี้ ถึง ณ เดือนเจ็ดแรมห้าค่ำ ในวันเดียวนั้นบังเกิดพายุใหญ่ฝนตก ฟ้าผ่าลงที่หอกลองที ๑ ผ่าลงที่ยอดปราสาทเป็นไฟติดขึ้นเท่าวงกระด้ง ยอดปราสาทหักสะบั้นลงมา ดับไฟได้ พายุและลมก็บันดาลหาย มองระจึงถามโหราพฤฒาจารย์พราหมณ์ปโรหิต และพระราชาคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้มีปัญญา จึงทำนายว่าพระราชวงศาและอาณาประชาราษฎร์ในขอบขัณฑสีมาจะอยู่เป็นสุข ดับยุคเข็ญและศัตรูทั้งปวง ให้ชำระสระเกศให้ปล่อยนักโทษ และสรรพสัตว์ทั้งปวงซึ่งต้องทนทุกข์เวทนาขังไว้นั้น

เมื่อครั้งศักราช ๑๑๒๗ ปี เดือน ๑๒ มองระจึงสั่งให้ฉับพะกงโบยานกวนจอโบ คุมไพร่ห้าพันยกเป็นทัพหน้า ทัพหนุนนั้นให้เมียนหวุ่นเนเมียวมหาเสนาบดี คุมไพร่ห้าพันยกมาทางเหนือ ค้างเทศการฝนอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ทางทวายนั้นให้เมคราโบคุมไพร่หมื่นหนึ่งยกมายังกรุงศรีอยุธยา ค้างเทศกาลฝนอยู่ ณ เมืองทวาย ออกพระวัสสาแล้วยกทั้งทางเหนือทางใต้เข้าไปตีได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว กลับทัพไปเมืองรัตนบุรอังวะ


การเสียกรุงศรีอยุธยา โดย ครูเหม เวชกร
สีน้ำมันและปากกาคอแร้ง หมึกดำ บนกระดาษ 17.50 x 16.50 ซม.


เมื่อศักราชได้ ๑๑๒๙ ปี ในศักราชได้ ๑๑๒๘ ปีนั้น ฮ่อยกเข้ามาถึงเมืองแซงหวี ไกลกันกับเมืองอังวะทางสิบวัน มองระจึงสั่งให้ติงจาโบกับไพร่ห้าพันเป็นกองหน้า อะแซหวุ่นกี้กับไพร่หมื่นหนึ่งเป็นทัพหนุน ยกไปตีฮ่อแตกไป

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๙ ปี ฮ่อยกกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง มาถึงตำบลบ้านยองนี้ใกล้กันกับอังวะทางคืนหนึ่ง มองระจึงสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ โยลัดหวุ่น เมียนหวุ่น สามนายเป็นแม่ทัพคุมทหารเป็นอันมากได้รบกันกับฮ่อสามวัน กองทัพฮ่อแตก จับได้นายทัพฮ่อแอซูแห กุนตาแย เมียนกุนแย ปะระซูแย ๔ นาย กับทหารนายและไพร่เป็นคนหกพัน มองระจึงสั่งให้เลี้ยงไว้คุ้งเท่าบัดนี้

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๑ ปี ฮ่อยกทัพกลับมาอีกเป็นสามครั้ง ครั้งหลังกวยชวยโบเป็นแม่ทัพฮ่อ กับรี้พลเป็นอันมาก มาถึงเมืองกองตุงปะมอ ไกลกันกับเมืองอังวะทางสิบห้าวัน มองระจึงสั่งให้ติงจาโบตะเรียงรามะกับไพร่ห้าพันเป็นกองหน้า ตั้งให้อะแซหวุ่นกี้คุมไพร่หมื่นหนึ่ง ทั้งทัพหน้าทัพหลวงเป็นคนหมื่นห้าพัน เป็นแม่ทัพยกไปทางบก ทางเรือนั้นให้งาจุหวุ่น เลต่อหวุ่น กับพลห้าพันเป็นกองหน้า อำมะลอกหวุ่นเป็นนายกองปืนใหญ่ คุมพลหมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพทั้งทางบกทางเรือ ไปถึงพร้อมกัน ณ เมืองกองตุงปะมอ ทัพทั้งสองฝ่ายก็รอรั้งตั้งมั่นเจรจาความเมืองกัน กวยชวยโบแม่ทัพฮ่อจึงให้อำมาตย์มาหาอะแซหวุ่นกี้ ว่าจะขอให้แม่ทัพฮ่อกับแม่ทัพพม่าเจรจาความเมืองกัน อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งให้ปลูกโรงในท่ามกลาง แล้วแม่ทัพทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกัน ณ โรง เจรจาว่าตั้งแต่วันนี้ไป ขอให้ขาดสงครามกัน จะเป็นมิตรสันถวะแก่กัน อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองจะได้ไปมาซื้อขายถึงกัน อะแซหวุ่นกี้ก็ยอมพร้อมด้วยนายทัพนายกองทั้งปวง เลิกกองทัพกลับลงมา ณ เมืองอังวะ ในศักราชได้ ๑๑๓๑ ปี ณ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ ฟ้าผ่าลงที่เสาติดกระดานแผ่นทองที่จารึกนามประตูเมืองไว้นั้น ครั้น ณ เดือนแปด เจ้าเมืองจันทบุรี นำเอาบุตรสาวมาถวายคนหนึ่ง

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๓ ปี เจ้าวงศ์ผู้เป็นเจ้าเมืองหลวงพระบางยกลงมาตีเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีบอกขึ้นไป ณ เมืองอังวะ มองระเจ้าเมืองอังวะจึงสั่งให้ชิกชิงโบคุมไพร่สองพันเป็นกองหน้า ให้เนมะโยมหาเสนาบดี คือ โปสุพลา คุมไพร่สามพันเป็นแม่ทัพหลวง ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้แล้ว โปสุพรากลับขึ้นไปพร้อมทัพกัน ณ เมืองจันทบุรี ค้างเทศกาลฝนอยู่ที่นั้น

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๔ ปี สิ้นเทศกาลฝนโปสุพลาจึงยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลเมืองพิชัย รบกันกับกองทัพกรุง กองทัพโปสุพลาแตกหนีถอยทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ค้างเทศกาลฝนอยู่


พระยากาวิละ


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๕ ปี ในปีนั้นกระแซก็คิดกบฏที่อังวะ ด้วยอำมาตย์จันตะรอซุยกีเลโบกับไพร่กระแซสามพันคิดกบฏ ใช้ให้โยคีกระแซเอาเพลิงจุดขึ้นที่มุมเมือง โยคีจุดเพลิงศาลาวัดซุยจี่กุง จุดขึ้นริมวัดติดแห่งหนึ่ง พอจับตัวกระแซโยคีไต่ถามให้การว่า จันตะรออำมาตย์ซุยกีเลโบใช้ให้โยคีจุดเพลิงขึ้นสี่ทิศ แล้วจะยกคนสามพันเข้าตีเอาเมือง จะฆ่าเจ้าเมืองอังวะเสีย พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ สั่งให้ฆ่ากระแสนายและไพร่สามพันเสีย ออดพระวัสสาแล้วจึงเกณฑ์ให้พระยาจ่าบ้าน กับแสนท้าวไพร่ลาวพันหนึ่งยกเป็นกองหน้า ให้เนมะโยกามะนีเฝ้าเมืองเชียงใหม่อยู่ โปสุพลากับไพร่ลาวพม่าเก้าพัน เป็นแม่ทัพยกลงมาตีกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ยกออกจากเมืองเชียงใหม่คืนหนึ่ง ประมาณทางห้าร้อย โปสุพลารู้ว่าพระยาจ่าบ้านคิดการประทุษร้ายเข้าด้วยกองทัพไทย กลับจะไปรบโปสุพลา โปสุพลาจึงกลับทัพเข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่ พอกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา ทั้งกองทัพกาวิละ พระยาละคร พระยาจ่าบ้าน บรรจบกันเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ โปสุพลาเนมะโยกามะนีแตกหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ ไปอยู่เมืองหน่าย ฝ่ายภรรยาโปสุพลาซึ่งอยู่ ณ เมืองอังวะนั้น เจ้าอังวะจำไว้ ภรรยาโปสุพลาให้คนมาบอกโปสุพลาว่า อย่าให้ไปเมืองอังวะเป็นอันขาดทีเดียว โปสุพลาจึงหลบหลีกอยู่ ณ บ้ายซุยเกียน ใกล้กันกับเมืองตองอูทางห้าวัน


สมรภูมิเชียงใหม่


เมื่อศักราชได้ ๑๑๓๕ ปี มีตราลงมาแต่เมืองอังวะ ให้ปะกันหวุ่นเกณฑ์เอารามัญหมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ปะกันหวุ่นจึงเกณฑ์ให้พระยาเจ่งตละเซ่ง พระยาอูเป็นกองหน้า กับไพร่สามพัน ให้แพ่กิจาเป็นแม่ทัพยกก่อน ไปตั้งฉางอัศมีฉางปาศัก ลำเลียงเอาเสบียงอาหารเข้าไว้ให้ได้เต็มฉาง ออกพระวัสสาแล้ว ปะกันหวุ่นกับไพร่เจ็ดพันจึงจะยกไปตาม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๖ ปี จะให้ยกกองทัพลงมาแต่เมืองอังวะ ไปตีเอากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ปะกันหวุ่นผู้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เก็บเอาเงินทองแก่ภรรยานายทัพนายกอง และไพร่สมิงรามัญซึ่งยกไปทำฉางนั้น ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อนนัก ตละเกิ้งจึงมีหนังสือไปถึงพระยาเจ่ง ละเซ่ง สมิงรามัญทั้งปวง ว่าปะกันหวุ่นทำให้ได้ความร้อนเข็ญสุดที่จะทนแล้ว ให้พระยาเจ่ง ตละเซ่ง สมิงรามัญ เร่งคิดยกทัพกลับมา ณ เมืองมัตตมะเป็นการเร็ว พระยาเจ่ง ตละเซ่ง สมิงรามัญทั้งปวงพร้อมกันจับแพ่กิจาแม่ทัพฆ่าเสียแล้วกลับทัพมา ณ เมืองมัตตมะ ปะกันหวุ่นเมืองเมืองมัตตมะ อะคุงหวุ่น รู้ว่าพระยาเจ่ง ตละเซ่ง ฆ่าแพ่กิจาเสีย ยกทัพกลับมาเมืองมัตตมะ ปะกันหวุ่น อะคุงหวุ่น ลงเรือหนีไปเมืองย่างกุ้ง พระยาเจ่ง ตละเซ่ง นายทัพนายกองสมิงรามัญยกติดขึ้นไปตีได้ค่ายตักกะเลริม

พอกองทัพหน้าอะแซหวุ่นกี้ยกลงมาแต่เมืองอังวะ ได้รบกันกับกองทัพรามัญที่เมืองย่างกุ้ง พระยาเจ่ง ตละเซ่ง นายทัพนายกองสมิงรามัญ แตกหนีลงมาเมืองมัตตมะ พาครอบครัวอพยพเข้ามากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา กองทัพพม่ายกตามมา จับได้ตละเกิ้งทั้งบุตรภรรยา ณ แขวงเมืองมัตตมะ ส่งขึ้นไปถวาย ครั้งนั้นมองระกับเสนาบดีลงมายกฉัตรอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง มองระจึงให้ถามตละเกิ้งว่าตัวคิดประทุษร้ายในครั้งนี้ ใครรู้เห็นเป็นใจด้วยตัวบ้าง ตละเกิ้งว่าพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชาผู้น้อง มีหนังสือถือให้คนถือมาถึงข้าพเจ้ากับพระยาเจ่ง ให้ชักชวนกันแต่บรรดาสมิงรามัญทั้งปวง จับเอาบรรดาพม่านายไพร่ซึ่งอยู่ในเมืองมัตตมะฆ่าเสีย แล้วให้ยกกองทัพตีเอาเมืองย่างกุ้งขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ ถามสอบพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา รับเป็นสัตย์ มองระจึงสั่งให้เอาพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา กับทั้งตละเกิ้ง ไปประหารชีวิตเสีย


เจ้าพระยามหาโยธา (พระยาเจ่ง)


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๖ ปี อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุง กองทัพหน้าก็ยกเข้ามาถึงเมืองราชบุรี กองทัพไทยจึงล้อมไว้ อะแซหวุ่นกี้จึงบอกขึ้นไปถึงมองระเจ้าอังวะ เจ้าอังวะจึงให้อะคุงหวุ่นมงโยะ กับไพร่สามพันรับอาสาจะมาตีแหกเอาคนสามพันในค่ายล้อมเขานางแก้วให้ได้ ครั้นเข้าตีกองทัพไทยซึ่งล้อมพม่าไว้นั้น ไพร่พลพม่ากองทัพป่วยล้มตายเป็นอันมาก อะแซหวุ่นกี้จึงบอกหนังสือไปถึงมองระเจ้าอังวะ ว่าถ้าจะเอาคนสามพันให้ได้จะเสียคนกว่าสามหมื่น ด้วยจวนเทศกาลฝน ไพร่พลอดเสบียงอาหาร จะขอถอนทัพมาแรมค้างอยู่ ณ เมืองมัตตมะ ต่อรุ่งขึ้นปีหน้าข้าพเจ้าจึงจะยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งพม่าสามพันทั้งนายทัพนายกองเอามาถวายให้จงได้ มองระเจ้าอังวะจึงตอบไปว่า ซึ่งอะแซหวุ่นกี้บอกมานั้นชอบด้วยราชการอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็สุดแต่อะแซหวุ่นกี้จะคิดผ่อนเอากรุงศรีอยุธยาให้จงได้


สมรภูมิบางแก้ว ราชบุรี


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๗ ปี มองระกลับขึ้นไป ณ เมืองอังวะ ครั้น ณ เดือน ๑๑ ในปีนั้น อะแซหวุ่นกี้ให้แมงยางูกับนายกองผู้น้อย กับปันยิแยฆองจอ ปันยิตะจอง ๓ นาย กับไพร่สองหมื่น ให้ยกไปทางระแหง อะแซหวุ่นกี้กับไพร่หมื่นห้าพันเป็นแม่ทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้จึงแยกกองทัพลงมารับกองทัพกรุงศรีอยุธยาซึ่งขึ้นไปช่วยปากพิง ครั้นเมืองพิษณุโลกเสียแก่พม่าแล้ว อะแซหวุ่นกี้บอกหนังสือขึ้นไปถึงมองระเจ้าอังวะ พอมองระถึงอนิจกรรมตาย จิงกูจาบุตรมองระขึ้นเป็นเจ้า จึงให้ข้าหลวงลงมาให้เลิกกองทัพ ทั้งทัพเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี อะแซหวุ่นกี้ซึ่งไปตีเมืองกรุงกลับขึ้นไปเมืองอังวะ จิงกูจาปลงศพมองระผู้เป็นบิดาตามอย่างธรรมเนียม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๘ ปี จิงกูจาผู้เป็นบุตรมองระขึ้นเสวยราชสมบัติ ชะแลงจาผู้น้องจิงกูจา เมืองมองระยังอยู่นั้น ตั้งให้ชะแลงจาเป็นเจ้าเมืองชะแลง ในปีนั้นชะแลงจา กับอะตวนหวุ่นอำมาตย์ คิดการกบฏต่อจิงกูจาผู้พี่ซึ่งได้รับราชสมบัติ จิงกูจาจึงให้เอาชะแลงจา กับอะตวนหวุ่นอำมาตย์ฆ่าเสีย แล้วจิงกูจาทำนุบำรุงพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ วัดวาอาราม อันชำรุดทรุดพังนั้นให้ลงรักปิดทอง

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๒ ปี จิงกูจาเจ้าอังวะสั่งให้ถอดอะแซหวุ่นกี้ออกจากราชการ แล้วจิงกูจาสั่งให้เอาอะเมียงสะแข่งผู้เป็นลูกมังลองเป็นน้องมองระเป็นอาจิงกูจาสั่งให้ไปฆ่าเสีย แต่ปะดุงแยกไปไว้ฟากจักเกิง ปะคานสะแข่งแยกไปไว้เมืองแปงยะ แปงตะแลแยกไปไว้ ณ บ้านชิกกี สามคนนี้เป็นลูกมังลอง เป็นน้องมองระ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๓ ปี พระเจดีย์ ณ เมืองแปงยะใกล้กันกับเมืองอังวะทางสามร้อย มีนามชื่อว่าซุยชีกุง พังลงที่หนึ่ง อนึ่งพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองจะเกิ้งคนละฟากน้ำเมืองอังวะ ให้เป็นน้ำพระเนตรไหลออกมาครั้งหนึ่ง จองกูจาให้แต่งเครื่องนมัสการไปนมัสการพระตำบลชื่อสีหะ ต่อกับเมืองอังวะไกลกันทางห้าคืน จิงกูจายกไปทางเรือได้สามคืน มองหม่องเป็นบุตรมองลอก กับพวกเพื่อนเป็นอันมาก เข้าปล้นชิงเอาสมบัติขึ้นเป็นเจ้า มองหม่องจึงให้หาปะดุงสะแข่ง ปะคานสะแข่ง แปตะแลสะแข่ง ผู้อาสามคนมาพร้อมกัน ณ เมืองอังวะ มองหม่องจึงว่าสมบัตินี้อาเอาเถิด ปะดุง ปะคาน แปงตะแล จึงว่าสมบัติทั้งนี้ได้ด้วยบุญของเจ้า เจ้าจงเอาเถิด จึงตั้งอะแซหวุ่นกี้คงที่อะแซหวุ่นกี้

พรรคพวกมองหม่องซึ่งตั้งเป็นเสนาบดีขึ้นใหม่ข่มเหงเอาบุตรสาว เก็บริบเอาพัสดุทองเงินของอาณาประชาราษฎรซึ่งหาความผิดมิได้ และชาวบ้านไพร่พลเมืองได้ความเข็ญแค้นเคืองเดือดร้อนนัก ปะดุงจึงปรึกษาด้วยญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์คนเก่าว่ามองหม่องได้เป็นเจ้า ๕ – ๖ วัน ข่มเหงอาณาประชาราษฎรร้อนเข็ญดังนี้ หาควรที่จะให้เสวยราชสมบัติไม่ เสนาบดีไพร่พลเมืองเป็นใจด้วยปะดุงเข้าล้อมวัง รบกันกับมองหม่องแต่เช้าจนเที่ยง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จับตัวมองหม่องได้แล้วฆ่าเสีย ปะดุงได้เสวยราชสมบัติ แล้วสั่งให้เอาเกวียนบรรทุกศพซึ่งรบกันนั้นไปทิ้งเสียนอกเมือง

ในปีนั้นปะดุงใช้ให้มะหาสีละวะอำมาตย์ ๑ จอกตะลุงโบ ๑ กับเรือรบ ๕๐ ลำ คนประมาณพันหนึ่งให้ขึ้นไปรับตัวจิงกู ครั้นยกไปถึงบ้านสันโผไกลกันกับอังวะทางหกคืน จิงกูกับไพร่เหลือหนีอยู่สามสิบคน กับมเหสีนางห้าม จิงกูกับไพร่ก็พาเข้ามาหามะหาสีละวะอำมาตย์ ว่าปะดุงผู้ได้ราชสมบัติแล้วเห็นเราหาตายไม่ มะหาสีละวะอำมาตย์เอาตัวจิงกูกับบุตรภรรยาจำลงมาถวายแก่ปะดุง ปะดุงสั่งให้ฆ่าจิงกูทั้งบุตรภรรยาเสียให้สิ้น

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๔ ปี เดือนเจ็ด เพลาสองยามเศษ งะพุง พม่าเป็นคนท่องเที่ยวอยู่ในเมืองอังวะ กับพวกเพื่อนประมาณสามร้อยเศษ เข้าปล้นชิงเอาสมบัติรบกันกับปะดุง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ปะดุงจับตัวงะพุงได้ทั้งพวกเพื่อนสิ้น ปะดุงให้ฆ่าเสีย ในปีนั้นเดือนสิบสอง ปะดุงสั่งให้ทำเมืองใหม่ ตำบลที่ผ่องกากับเมืองอังวะทางสามร้อยทิศตะวันออก

ศักราชได้ ๑๑๔๕ ปี เดือนเจ็ด ปะดุงยกไปอยู่ ณ เมืองอำมะระบุระสร้างใหม่ ในปีนั้นเดือนสิบสองปะดุงจึงสั่งให้แอกกบันหวุ่นกับเสนาบดีคุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า จึงตั้งให้จะกูสะแข่งผู้บุตรคุมไพร่หมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพ ยกไปทางเมืองสันตวยแขวงเมืองยะไข่ทางหนึ่ง ให้แมงคุงหวุ่นกับเสนาบดีคุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า ตั้งให้กามะสะแข่งผู้บุตรคุมไพร่หมื่นหนึ่ง เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองมะอิละมูแขวงเมืองยะไข่ทางหนึ่ง ตั้งให้สิริตะเรียงแยฆองเดชะแจกเรจ่อโบ คุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า ตั้งให้บุตรชายใหญ่คุมไพรหมื่นหกพันเป็นแม่ทัพ ยกไปทางเมืองตองก๊กขึ้นยะไข่ ให้ยกไปตีเมืองติญะวดี คือเมืองยะไข่ แต่ทัพบุตรใหญ่ยกไปถึงปะดุงจึงตั้งให้มหาจ่อแทงตะละยาแย จ่ออากาแข จ่อตะมุทแย ฆองเดชะ คุมไพร่ห้าพัน เรือรบทะเลห้าร้อยลำยกไปทางทะเล

ณ เดือนอ้ายถึงเมืองตองก๊ก แล้วยกไปตีเมืองตันลอย เจ้าเมืองตันลอยผู้ชื่อว่าจ่อตีแตกหนีออกจากเมืองข้ามทะเลไป กองทัพพม่าทั้งทัพยกทัพเรือลงเรือตามไป ณ เดือนยี่ ถึงเมืองยะไข่พร้อมทัพกันทั้งสามทาง ณ เมืองเลมีชุงใกล้กันกับเมืองยะไข่ทางประมาณร้อยหนึ่ง เจ้าเมืองยะไข่ยกพลทหารเสนาบดีออกมารบ เจ้าเมืองยะไข่แตกหนีกลับเข้าเมือง กองทัพพม่าไล่ติดตามเข้าไปได้เมือง เจ้าเมืองยะไข่หนีออกจากเมือง กองทัพพม่าติดตามจับตัวได้ ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ กวาดต้อนเอาเชื้อวงศ์บุตรภรรยาศฤงคารบริวารเสนาบดี เจ้าติญะวดีเจ้าเมืองยะไข่ แม่ทัพจึงตั้งให้จอกซูคุมไพร่หมื่นหนึ่งให้อยู่รักษาเมืองติญะวดี และนายทัพนายกองก็กลับมายังเมืองอำมะระบุระ ณ เดือนห้า ปะดุงสั่งให้เลี้ยงเจ้าเมืองติญะวดีทั้งบุตรภรรยาเสนาบดีไว้ เจ้าเมืองติญะวดีป่วยถึงอนิจกรรม และเสนาบดีทั้งปวงกับไพร่ห้าหมื่นของเจ้าเมืองยะไข่นั้น ปะดุงให้ภูมิฐานไร่นาเป็นที่ทำกินคุ้งบัดนี้

ศักราชได้ ๑๑๔๗ ปี แปงตะแลผู้น้องปะดุง เจ้าเมืองอำมะระบุระคิดกบฏ มีผู้เอาความมาว่า พิจารณาเป็นสัตย์ ปะดุงสั่งให้เอาแปงตะแลงผู้น้องไปฆ่าเสียทั้งพวกเพื่อนประมาณห้าสิบเศษ

ในปีนั้น ณ เดือนเก้า ปะดุงจึงสั่งให้นัดมีแลง ปะแลงโบ แปดองจา นะจักกีโบ ตองพยุงโบ ให้เนมะโยคุงนะรัต กับไพร่สองพันห้าร้อยเป็นกองหน้ายกไปทางบก สะทิงลางเคียงยกทางเรือ กับบาวาเชียงแองยิงเตจะอุตินยอ ให้ยีวุ่นเป็นแม่ทัพเรือกับไพร่สามพันไปตีเมืองถลาง ให้แกงวุ่นกับไพร่สี่พันห้าร้อย เป็นโปชุกบังคับกองทัพบกเรือไปตีเมืองนคร ชุมพร ไชยา ทางทวายนั้นให้จิกแกทวาย มะนีจอคอง สีหะแยจ่อแต่ง เปยะโบทวายหวุ่น กับไพร่สามพันเป็นกองนาย ตะแรงยามซู มะนิสินตะ สุรินจอคอง กับไพร่สามพัน ให้จิกสินโบเป็นกองหนุน ให้อนอกแผกติกหวุ่นกับไพร่สี่พัน เป็นโปชุกแม่ทัพยกมาทางเมืองราชบุรี ทางมัตตมะนั้นให้กลาวุ่น ปิลงยิง สูเลยี ปัญญาอู อากาจอแทง ลานซานโบ อคุงหวุ่น ปันยีตะซอง ละโมวุ่น ซุยฆองอากา กับไพร่หมื่นหนึ่ง ให้เมียวหวุ่นบังคับนานยทัพทั้งปวงเป็นกองหน้าที่ ๑ กองหนุนนั้นยอกแลกยาแยฆอง จอกาโบ ตะแรงปันยี ตุกแยโบ กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้เมียนเมวุ่นเป็นกองที่ ๒ ยังทัพหนุนอีกกองหนึ่งยวนจุวุน จิดกอง สิริยะแกงวุน แยเลวุน กับไพร่หมื่นหนึ่ง กามะสะแข่งบุตรชายน้องเจ้าอังวะเป็นแม่ทัพที่ ๓ อีกทัพหนึ่ง แมคราโบ อติตออากาปันยี มะโยลัดวุ่น กับไพร่หมื่นหนึ่ง ให้จักกุสะแข่งบุตรชายกลางเจ้าอังวะเป็นแม่ทัพที่ ๔

กองทัพเจ้าอังวะ ทัพหน้า จาวาโบ ยะไข่โบ ปะกันวุ่น ลอกาซุงถ่องวุ่น เมจุนวุ่น กับไพร่ห้าพัน อะแซวังมูเป็นแม่กอง ปีกขาวเจ้าอังวะ อำมะลอกวุ่น ตอนแซงวุ่น เลจอพวา ยัดจอกโบ งาจุวุ่นกับไพร่ห้าพัน ตั้งให้มะยอกวังมูเป็นแม่กอง ปีกซ้ายเจ้าอังวะ แลกะโรยะกิมู เลแซงวุ่น ยวนจุวุ่น ยะกีวุ่น สิบอจอพวา กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้ตองแวหมู่เป็นแม่กอง ปีกขาวทัพหลวงเจ้าอังวะ ระวาลัตวุ่น ออกมาวุ่น โมกองจอพวา โมมิกจอพวา โมเยียงจอพวา กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้อะนอกแวงหมู่เป็นแม่กอง กองทัพปะดุงเจ้าอังวะไพร่สองหมื่น ให้อินแซะสะแข่งบุตรชายใหญ่ ให้อินแซะวุ่นอำมาตย์อยู่ว่าราชการเฝ้าเมืองอังวะ ทางระแหงนั้นให้ซุยตองนอระทา ซุยตองสิริจอพวา กับไพร่สามพัน ตั้งให้ซุยตองเวระจอแทงเป็นแม่กองทัพหน้า ตั้งให้จอฆองนอรธาคุมไพร่สองพันเป็นกองหนุน ทางเชียงใหม่นั้น ให้สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าเป็นแม่ทัพคุมนายทัพและไพร่สองหมื่นเศษ


สมรภูมิลาดหญ้า ในสงครามเก้าทัพ


ครั้นยกมาถึงเชียงแสน สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าจึงบังคับให้ปันยีตะจองโบ จุยลันตองโบ แยจอนอรธา ปลันโบ นัดซูมะลำโบ มุกอุโบ สาระจอซู กับไพร่ห้าพัน ให้เนมะโยสิหะซุยะเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองพิษณุโลก ครั้นได้เมืองพิษณุโลกแล้วลงมาตั้งทัพอยู่ปากพิง ทางแจ้หุ่มนั้นให้เมือยยอง เชียงกะเล พระยาไชยะ น้อยอันทะ กับไพร่สามพัน ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นแม่ทัพยกมาทางแจ้หุ่ม เป็นกองหน้ายกขึ้นไปล้อมเมืองลคร แจกแกโบ พระยาแพร่ อยุนวุ่น อุติงแจก กะโบ แนมะโยยันตะมิต กับไพร่หมื่นห้าพัน สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปล้อมเมืองลคร

ครั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปช่วยเมืองลคร ปะทะกันกับกองทัพพม่ารบกันที่ปากพิง กองทัพพม่าแตกหนีกระจัดกระจายล้มตายเสียม้าและไพร่พลที่นั้นเป็นอันมาก กองทัพพม่าซึ่งแตกไปแต่ปากพิง ขึ้นไปที่เมืองลครค่ายล้อม บอกแก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นธาปะระกามะนี กับสะโดะสิริอุจจะหน่า ซึ่งเป็นโปชุกแม่ทัพซึ่งล้อมเมืองลครว่า กองทัพศรีอยุธยาไล่ติดตามขึ้นมาแล้ว ธาปะระกามะนี สะโดะสิริอุจจะหน่าซึ่งเป็นโปชุกแม่ทัพได้รบกันกับทัพกรุงแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองลครนั้น แตกหนีไปพร้อมทัพกัน ณ เมืองเชียงแสน พอมีตราให้ข้าหลวงถือหนังสือขึ้นมาว่า เจ้าอังวะนายทัพนายกองทั้งปวง ถอยทัพกลับมาเมืองอังวะแล้ว ให้เร่งสะโดะมหาสิริอุจจะหน่านายทัพนายกองและไพร่พล อย่าให้ล่วงเทศกาลฝน ให้ถึงเมืองอังวะตามกำหนด แต่ธาปะระกามะนีให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน กับไพร่พม่าสามพัน

ครั้นเมื่อศักราชได้ ๑๑๔๘ ปี เจ้าอังวะให้ปันยีเวซอ ซุยตอง เวยะจอแทง กับไพร่สองพัน จอฆองนอรธา กับไพร่พันห้าร้อย เป็นโปชุกแม่ทัพ ธาปะระกามะนีกับไพร่สามพัน เฝ้าเมืองเชียงแสนอยู่ ครั้งนั้นมีตราขึ้นไปให้เข้ากองทัพจอฆองนอรธาโปชุก ได้คนมาเข้ากองทัพแต่ห้าร้อย หนีไปก่อนสองพันห้าร้อย ยกไปตีเมืองฝางได้แล้วให้ตั้งทำไร่นาอยู่ที่นั่น แต่ธาปะระกามะนีกับไพร่ห้าสิบคน โปชุกนอรธาให้กลับไปจัดแจงบ้านเมืองไร่นาอยู่ ณ เมืองเชียงแสนประมาณหมื่นหนึ่ง พระยาแพร่ พระยายอง ยกกองทัพมา ณ เมืองเชียงแสน ข้าพเจ้าผู้เป็นธาปะระกามะนีหนีไปหาพระยาเชียงราย พระยาเชียงรายจับข้าพเจ้าได้ ส่งมาเมืองลคร เจ้าเมืองลครส่งมากรุงศรีอยุธยาคุ้นเท่าบัดนี้


สมรภูมิเชียงแสน


แต่ข้าพเจ้าธาปะระกามะนีรู้ว่า รามัญข้าราชการคนเก่าในเมืองหงสาวดี บุตรชันลุนอำมาตย์ บุตรจอกะตุกวุ่น เป็นกองหน้า ละเมิงหวุ่นเป็นโปชุก ยกมาทางเมืองมัตตมะจะมากรุงศรีอยุธยา ตั้งรวมเสบียงอาหารอยู่ท่าดินแดง กองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตีกองทัพพม่าแตกหนีล้มตายเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้ทราบเกล้าฯ จำได้แต่เท่านี้ ก่อนมังลอกยังไม่ได้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าธาปะระกามะนีได้รู้มา มีนามชื่อว่า เจ้าอาทิตย์ได้สมบัติยี่สิบปี มีบุตรคนหนึ่งได้สมบัติสิบห้าปี ตั้งให้สาอ่องนั่งเมืองหงสาวดีสามเดือน แซงหมู่คิดประทุษร้ายฆ่าสาอ่องเสีย แซงหมู่ขึ้นเป็นเจ้าได้เจ็ดปี มังลอกไปตีเอาเมืองหงสาวดีได้ มังลอกได้ราชสมบัติเมืองอังวะเจ็ดปี มังลองมีพี่ชายคนหนึ่งน้องชายตนหนึ่ง ก่อนยังไม่ได้เป็นเจ้านั้นพี่ชายตาย น้องชื่อสะโดะอุจจะหน่ายังอยู่คุ้งเท่ายัดนี้ มังลองมีบุตรชาย ๖ มีบุตรหญิง ๓ รวม ๙ คน

ครั้นมังลองถึงอนิจกรรม มังลอกได้ราชสมบัติ มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อมองหม่อง ได้นั่งเมืองสามปี มองระได้ร่าชสมบัติ มีบุตรชายชื่อจิงกูคนหนึ่ง ชะแลงคนหนึ่ง มีบุตรหญิงสองคน แต่ได้นั่งเมืองอยู่ ๑๓ ปี มองระเป็นโรคสำหรับบุรุษถึงอนิจกรรม จิงกูได้ราชสมบัติอยู่ห้าปี จิงกูถึงอนิจกรรม มองหม่องได้ราชสมบัติหกวันครึ่งถึงอนิจกรรม ปะดุงได้เสวยราชสมบัติ ฆ่าแปงตะแลงน้องชายสุดท้องเสีย ยังอยู่แต่ปะคานสะแข่งบุตร แต่บุตรมังลองยังคงอยู่เท่าทุกวันนี้แต่สองคน มีบุตรชาย ๓ หญิง ๓ อินแซะสะแข่ง ๑ จักกุสะแข่ง ๑ กามะสะแข่ง ๑ รวม ๖ คน ขอเดชะ ฯ


....................................................................................................................................................

คัดจาก
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔ เรื่องคำให้การชาวอังวะ


ไทยรบพม่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- ศึกหินดาดลาดหญ้า
- ศึกพม่าที่ท่าดินแดง
- ศึกพม่าที่นครลำปางและป่าซาง
- ศึกเมืองทวาย
- ศึกตีเมืองพม่า




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 5 กรกฎาคม 2550 8:21:19 น.   
Counter : 11245 Pageviews.  


แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช



....สยามราชกาลที่ ๑๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๓๖ จนพุทธศักราช ๒๑๔๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานพระหัดถ์ทั้งสองถวายพระเนตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติเรียงพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก....


.........................................................................................................................................................



แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ

สอบศักราช

ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ได้ความว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเสวยราชย์เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ พ.ศ. ๒๑๓๖ ครองราชย์สมบัติอยู่ ๘ ปี สวรรคปีฉลู จุลศักราช ๙๖๓ พ.ศ. ๒๑๔๔

ในฉบับหลวงประเสริฐว่า เสวยราชย์ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ (ช้ากว่า ๑๒ ปี) ครองราชย์สมบัติอยู่กี่ปีและสวรรคตปีไรไม่ปรากฏ ด้วยหมดฉบับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเสีย ถ้ายุติว่าปีรัชกาล ๘ ปี ควรลงศักราชปีสวรรคตปีฉลู จุลศักราช ๙๗๕ พ.ศ. ๒๑๕๖ (ช้ากว่า ๑๒ ปี)


ประวัติสมเด็จพระเอกาทศรถ

ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่มีหลักอันใดที่จะสอบให้รู้ได้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถสมภพเมื่อปีไร เรื่องพระชันษาหาที่สอบไม่ได้ทีเดียว ถ้าจะเดาตามสังเกตเนื้อเรื่อง ที่ได้เสด็จไปรบพุ่งด้วยกัน สมเด็จพระเอกาทศรถเห็นจะอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรราวสัก ๖ ปี คือเมื่อเริ่มรบเอาอิสรภาพกับหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๙ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถพระชันษาได้ ๒๓ เห็นกำลังพอจะรบพุ่งด้วยกันได้

ตามความที่ปรากฏในที่ทั้งปวง ทั้งในพงศาวดารไทยพงศาวดารรามัญ เชื่อได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถชอบชิดสนิทเสน่หากันมาก เสด็จไปรบพุ่งคราวใดก็เสด็จด้วยกันตั้งแต่แรกจนตลอด มีพระรากฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะกบฏศึกบท ๑ ว่าด้วยยกเงินหลวงที่ติดค้างพระราชทานแก่บุตรภรรยาข้าราชการซึ่งไปตายในการศึกสมเด็จพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา พระราชกฤษฎีกานี้ เกี่ยวข้องแก่พงศาวดารชอบกล ควรจะเอาลงมาไว้ตรงนี้ได้

“ศุภมัสดุ ศักราช ๙๕๕ พยัคฆสังวัจฉรมาฆมาสกาฬปักษ์ เอกาทศมีดิถีครุวารกาลบริเฉทกำหนด พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งมงกุฎพิมานสถานพิมุขไพชยนต์ปราสาทมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสแก่พระยาศรีธรรมาว่า พระหลวงเมืองขุนหมื่นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ฝ่ายทหารพลเรือนเกณฑ์เข้ากระบวนทัพ ได้รบพุ่งด้วยสมเด็จบรมบาทบงกชลักษณอัครปุริโสดม บรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศวรเชษฐาธิบดี มีชัยชำนะแก่มหาอุปราชหน่อพระเจ้าไชยทศทิศเมืองหงสาวดีนั้น ฝ่ายทหารพลเรือนล้มตายในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก และรอดชีวิตเข้ามาได้เป็นอันมากนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพูนบำเหน็จแล้ว และซึ่งขุนหมื่นนายอากรภาษีและนายหมวดค่าส่วยขึ้น ณ พระคลังหลวง และส่วยสาอากรนั้น เข้าการณรงค์รบพุ่งล้มตายในที่รบเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาตรัสประภาษว่า มันทำการรณรงค์สงครามมีบำเหน็จความชอบอยู่นั้น ถ้าและหนี้สินส่วยสาอากรขึ้นแก่พระคลังหลวงติดค้างอยู่มากน้อยเท่าใดให้ยกไว้ มีลูกหลานให้รับราชการแทนเลี้ยงไว้สืบไป ถ้าและขุนหมื่นนายอากรภาษีนายค่าส่วยซึ่งขึ้นพระคลังติดค้างอยู่ ก็ให้ยกเป็นบำเหน็จผู้ตายในการรณรงค์ผู้เป็นเจ้าแล้วอย่างให้บุตรภรรยาใช้หนี้เลย ถ้าและมีพี่น้องลูกหลานให้เลี้ยงเป็นข้าเฝ้าและเลี้ยงไว้ในที่ทหารใช้ราชการสืบไป อนึ่ง ผู้ใดมีน้ำใจจัดแต่งลูกหลานพี่น้องอาสาเข้ากองทัพได้รบพุ่งล้มตายในที่รบ ถ้าหาหนี้สิน ณ พระคลังหลวงติดค้างมิได้ ให้พระราชทานบุตรภรรยาโดยพระราชกฤษฎีกา ถ้าหนี้สินพระคลังหลวงติดค้าง ก็ให้ยกพระราชทานให้แก่บุตรภรรยามิได้เอาเลย และรอดคืนมาหาหนี้สินหลวงติดค้างมิได้นั้น ให้พระราชทานโดยพระราชกฤษฎีกา เลี้ยงไว้ในที่ทหาร” ดังนี้

จุลศักราช ๙๕๕ ที่ลงในพระราชกฤษฎีกานี้เป็นปีมะเส็ง (มิใช่ปีขาล ปีขาลไม่มีในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ) สอบได้ความว่า ปีขาลนั้น ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทำยุทธหัตถีปี ๑ แต่อยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร พระนเรศวรสวรรคตต่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ เพราะฉะนั้นพระราชกฤษฎีกานี้เข้าใจว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาวังหน้า ยกเงินพระราชทานแก่ผู้ที่เป็นข้าวังหน้า ที่ว่าพระราชกฤษฎีกานี้เกี่ยวข้องแก่พงศาวดารนั้น ด้วยหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ ผิดอยู่รอบ ๑ ศักราชที่แก่ผิดไปรอบ ๑ นี้ พึ่งมาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ (ซึ่งกล่าวในตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร) แต่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับเก่ากว่านั้นขึ้นไป คือ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ และฉบับหลวงประเสริฐ ศักราชยังไม่เคลื่อนคลาด ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าเมื่อชำระพระราชพงศาวดารในครั้งกรุงธนบุรี จะได้เห็นพระราชกฤษฎีกาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถบทนี้ เห็นลงศักราช ๙๕๕ ผู้แต่งว่าเป็นพระราชกฤษฎีในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ และสอบได้เป็นปีมะเส็งตรงกับปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวร จึงเป็นเหตุให้แก้ศักราชในพงศาวดารเร็วขึ้นไปรอบ ๑ ศักราชในหนังสือพระราชพงศาวดารเคลื่อนคลาด จะเป็นได้ด้วยเหตุนี้ดอกกระมัง


กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ

เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นเวลาปรากฏเกียรติยศและอำนาจกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ยำเกรงแก่บรรดาประเทศที่ใกล้เคียงโดยรอบ สมเด็จพระเอกาทศรถเองก็เข้มแข็งในการศึกสงคราม ได้รบพุ่งข้าศึกมากับสมเด็จพระนเรศวรในการศึกสงครามที่สำคัญทุกๆ คราว จนเป็นคำเรียกของคนทั้งหลายตลอดจนเมืองรามัญว่า “เจ้าสองพี่น้อง” บ้าง ว่า “พระองค์ดำพระองค์ขาว” บ้าง เพราะเหตุที่ได้รบพุ่งกล้าหาญมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้นถึงสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไปแล้ว พระเกียรติยศและอานุภาพของสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศทั้งปวง ไม่มีประเทศใดที่จะคิดมาเป็นข้าศึกศัตรู แต่ถ้าพิเคราะห์ดูตามเรื่องในพระราชพงศาวดารจะแลเห็นได้ว่า ในเวลาเมื่อสมเด็จเอกาทศรถขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น จะต้องเป็นเวลาที่กำลังบ้านเมืองจับทรุดโทรม ด้วยต้องทำสงครามติดต่อกันเรื่อยมาหลายคราวหลายปี ถึงจะชนะผู้เป็นแม่ทัพนายกองตลอดจนไพร่พลย่อมเปลืองไป ด้วยล้มตายในการศึกสงครามเป็นเหตุให้กำลังลดลง อุปมาเหมือนผู้ที่วิ่งแข่งผู้อื่น เมื่อวิ่งถึงหลักชนะแล้วลงนั่งเหนื่อยหอบอยู่ฉันใด กำลังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถก็เช่นนั้น อาศัยด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยผู้อื่นยำเกรงไม่กล้าจะตั้งตัวเป็นข้าศึกประการ ๑ ด้วยไทยกำลังบอบช้ำประการ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถจึงไม่มีศึกสงครามตลอดรัชกาล


เรื่องพระทุลอง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถเชิญพระบรมศพเลิกกองทัพกลับมาเมืองเชียงใหม่ แล้วเสด็จบกต่อลงมาทางเมืองสุโขทัย มาลงเรือพระที่นั่งที่เมืองกำแพงเพชร และว่า “ครั้งนั้นทรงกรุณาเอาพระทุลองลูกพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาโดยเสด็จ พระราชทานนามกรว่า พระสีหสุ(ร)มหาธรรมราชา” เรื่องพระทุลองนี้ในหนังสือพงศาวดารพม่าว่าได้เป็นราชบุตรเขยพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และลงมาทำราชการอยู่ที่กรุง จนพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อผู้บิดาพิราลัย ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่บอกขอพระทุลองขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ (เห็นจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ) พระทุลองขึ้นไปถึงยังไม่ทันได้ครองเมืองก็ไปป่วยเจ็บถึงพิราลัย พระไชยทิปน้องที่ ๒ จึงได้ครองเมืองเชียงใหม่ จะครองอยู่กี่ปีไม่ปรากฏ (แต่เห็นจะถึงพระเจ้าทรงธรรม) ในที่สุดเกิดวิวาทขึ้นกับท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่บังคับให้พระไชยทิปออกบวชเสีย น้องคนเล็กจึงได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา


เรื่องเมืองตองอู

เรื่องเมืองตองอู ตอนนักสร้าง (นัตจิหน่อง) ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี ที่หนังสือพระราชพงศาวดารวางเรื่องไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ที่จริงเป็นเรื่องเกิดแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังข้าพเจ้าได้อธิบายมาแล้ว เรื่องเมืองตองอูในตอนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ในสมัยนั้นหัวเมืองใหญ่ในอาณาจักรหงสาวดีที่ยังมิได้ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาต่างเป็นอิสระแก่กัน พระเจ้าตองอูตั้งตัวเป็นพระเจ้าหงสาวดีในพระนามว่า พระมหาธรรมราชา และตั้งนัตจินหน่องเป็นพระมหาอุปราชา แต่เสวยราชย์อยู่ที่เมืองตองอูไม่ลงมาอยู่เมืองหงสาวดี เพราะเมืองหงสาวดีตั้งแต่ถูกพวกยะไข่เผายังทรุดโทรมนัก พระเจ้าตองอูชอบชิดสนิทสนมกับพระเจ้ายะไข่ (พระเจ้ายะไข่องค์นี้นับถือศาสนาอิสลาม) เมืองตองอูกับเมืองยะไข่ต่างแต่งทูตและส่งบรรณการไปถึงกันเนืองๆ

ในสมัยนั้นโจรผู้ร้ายในระหว่างทางชุกชุม เพราะเหตุที่อาณาจักรหงสาวดีแยกกันอยู่ในหลายอำนาจ ราชทูตที่ไปมาระหว่างเมืองยะไข่กับเมืองตองอูถูปผู้ร้ายปล้นหลายหน พระเจ้ายะไข่จึงตั้งโปจุเกตคน ๑ ชื่อว่าฟิลิปเดอบริโต มาเป็นเจ้าเมืองเสรียมซึ่งเป็นเมืองปากน้ำใกล้ทะเล ให้มีเรือกำปั่นรบมาไว้ด้วย ๓ ลำ สำหรับคอยตรวจตระเวนโจรผู้ร้าย ฟิลิปเดอบริโตโปจุเกต แต่แรกก็ทำการโดยซื่อตรง ให้ก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ จนเมืองเสรียมมั่นคง คอยเอาใจใส่ปราบปรามโจรผู้ร้ายจนราบคาบ และหมั่นส่งบรรณาการไปถวายพระเจ้ายะไข่พระเจ้าตองอูเนืองๆ อยู่มาฟิลิปเดอบริโตไปเป็นไมตรีกับพระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะ ซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุธยา จนที่สุดได้ให้ลูกสาวไปเป็นภรรยาบุตรพระยาทละคน ๑ ฟิลิปเดอบริโตประกอบการค้าขายได้ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ขึ้น เห็นว่าจะอาศัยพระยามละเป็นกำลังได้ (บางทีจะได้มาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา แล่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) จึงตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นทั้งเมืองยะไข่และเมืองตองอู

พระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่ขัดเคือง จึงนัดกันแต่งกองทัพให้พระมหาอุปราชาทั้ง ๒ พระนครยกไปตีเมืองเสรียม เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๙๖๕ พ.ศ. ๒๑๔๖ ฟิลิปเดอบริโตเห็นกองทัพพระมหาอุปราชายกมาทั้ง ๒ ทัพ เหลือกำลังที่จะต่อสู้จึงลงเรือกำปั่นจะหนีไป กองทัพเรือเมืองยะไข่เข้าล้อม ฟิลิปเดอบริโตยิงกองทัพเรือเมืองยะไข่แตกจับได้พระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ไว้เป็นตัวจำนำ ฟิลิปเดอบริโตจึงกลับเข้าไปตั้งมั่นอยู่เมืองเสรียมอีก กองทัพพระมหาอุปราชาเมืองตองอูยกลงไปยังไม่ถึง เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพเมืองยะไข่เสียทีก็รออยู่ ฝ่ายพระเจ้ายะไข่เมื่อทราบว่าข้าศึกจับพระมหาอุปราชาไปได้ ก็ยกกองทัพมาเอง นัดกองทัพเมืองตองอูพร้อมกันเข้าล้อมเมืองเสรียมไว้ ให้เข้าตีเมืองเสรียมเป็นสามารถก็ตีไม่ได้ พระเจ้ายะไข่มีความวิตกด้วยพระมหาอุปราชาตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก จึงให้เข้าไปบอกฟิลิปเดอบริโตว่า ถ้าส่งพระมหาอุปราชาออกมาถวายโดยดีจะยอมเป็นไมตรี ฝ่ายฟิลิปเดอบริโตให้ตอบมาว่า ถ้าพระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูยอมให้ฟิลิปเดอบริโตครองเมืองเสรียมอย่างประเทศราช จึงจะยอมส่งพระมหาอุปราชาให้ พระเจ้ายะไข่จำเป็นต้องยอม เมื่อได้พระมหาอุปราชาคืนแล้วก็เลิกทัพกลับไป ตั้งแต่นั้นมาฟิลิปเดอบริโตได้เป็นใหญ่ก็มีใจกำเริบด้วยโลภเจตนา ให้เที่ยวขุดพระเจดีย์และโบสถ์พระวิหารเอาแก้วแหวนเงินทองของพุทธบูชาไปเป็นอาณาประโยชน์ตนเสียเป็นอันมาก

ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อปราบปรามเมืองไทยใหญ่ไว้ได้ในอำนาจ (และได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว) ก็เกณฑ์กองทัพไทยใหญ่ สมทบกับกองทัพพม่าลงมาตีเมืองแปร เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๗๐ พ.ศ. ๒๑๕๑ ตีได้เมืองแปรแล้ว จึงตั้งให้มังเรสิงหสุรผู้เป็นอนุชาเป็นเจ้าเมืองแปร

ถึงปีระกา จุลศักราช ๙๗๑ พ.ศ. ๒๑๕๒ พระเจ้าตองอูพิราลัย นัตจินหน่องผู้เป็นพระมหาอุปราชาขึ้นครองราชย์สมบัติ ขนานนามว่า พระเจ้าสุรสีห รุ่งขึ้นปีจอ จุลศักราช ๙๗๒ พ.ศ. ๒๑๕๓ พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองตองอู ตั้งล้อมอยู่หลายเดือน พระเจ้าตองอูเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ต้องยอมอ่อนน้อมขึ้นแก่พระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึงให้พระเจ้าตองอูครองเมืองเป็นประเทศราชขึ้นเมืองอังวะต่อไป แต่กวาดต้อนผู้คนเมืองตองอูแบ่งกำลังเอาไปเมืองอังวะเสียด้วยเป็นอันมาก

หนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าตองอูมาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น คือเข้ามาขอขึ้นในตอนนี้เมื่อกำลังแค้นพระเจ้าอังวะที่มาตีเมือง

ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อมา ว่าเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๗๔ พ.ศ. ๒๑๕๕ พระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะกับฟิลิฟเดอบริโตเจ้าเมืองเสรียม สมทบกันยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองตองอู (เห็นจะเป็นด้วยมีรับสั่งออกไปจากกรุงศรีอยุธยาให้ไปช่วย หรือไปตีเอาเมืองตองอูให้พ้นจากอำนาจพระเจ้าอังวะ) หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เวลานั้นเมืองตองอูไม่มีกำลังจะต่อสู้ พระยาทละและฟิลิปเดอบริโตได้เมืองตองอูแล้ว ก็เก็บทรัพย์สมบัติและกวาดผู้คนเอาลงไปในเมืองเสรียมเสียเป็นอันมาก ตัวพระเจ้าตองอูเองฟิลิปเดอบริโตก็เอาไปไว้เมืองเสรียมด้วย และว่าขณะเมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปตีเมืองตองอูนั้น พระเจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพลงมารักษาเมืองตองอู แต่ลงมาไม่ทันเมืองตองอูเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงให้เรียกกองทัพกลับไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปถึงเมืองตองอูแล้ว ได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะให้กองทัพใหญ่ยกลงมา เห็นว่าจะต่อสู้รักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน และพาพระเจ้าตองอูมา

ในปีนั้น พระเจ้าอังวะเกณฑ์กองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองเสรียม รบพุ่งกันอยู่หลายเดือน จึงได้เมืองเสรียม จับฟิลิปเดอบริโตได้ พระเจ้าอังวะให้ฆ่าเสีย แต่พระเจ้าตองอูนัตจินหน่องนั้น พงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าอังวะได้ตัวที่เมืองเสรียมก็ให้สำเร็จโทษเสียด้วย ด้วยแค้นว่ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าอังวะได้เมืองเสรียมแล้ว ก็มีอำนาจตลอดอาณาจักรหงสาวดี ที่มิได้ขึ้นแก่ไทยทุกหัวเมือง จึงกลับตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นเป็นราชธานี


เรื่องเมืองล้านช้างขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองล้านช้างคือกรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งราชทูตเข้ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา ในคราวเดียวกับเมืองตองอูนั้น สอบพงศาวดารล้านช้างได้ความว่า พระหน่อแก้ว เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตครองราชย์สมบัติอยู่ได้ ๖ ปี พิราลัย ลูกน้าของพระหน่อแก้วได้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่เมืองเวียงจันทน์ ชื่อ พระธรรมิกราช มีลูกชื่อพระอุปยุวราช พ่อลูกเกิดรบกันขึ้น อาจจะเป็นพ่อหรือลูกที่เข้ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น


ตำนานกฎหมายเมืองไทย

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ตั้ง “พระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ” ดังนี้ จะหมายความว่ากระไรเข้าใจยากอยู่ แต่ไม่ใช่พึ่งตั้งกฎหมายขึ้นในครั้งนั้น นั้นเป็นแน่เพราะกฎหมายเป็นของคู่กับประชุมชน ประชุมชนมีมาแต่เมื่อใดกฎหมายก็ต้องมีมาแต่เมื่อนั้น เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้จักใช้หนังสือ การรักษากฎหมายก็ใช้ท่องให้ขึ้นปากเจนใจ เอาไปป่าวร้องแล้วมีเจ้าพนักงานจำไว้บอกเล่าสืบต่อกันมา เมื่อรู้จักหนังสือก็ใช้จดกฎหมายลงมาเป็นตัวหนังสือ แล้วคัดลอกบอกหมายส่งกันไปให้ป่าวร้อง และเขียนลงในสิ่งใดๆ มีใบลานหรือกระดาษเป็นต้น เก็บรักษากฎหมายไว้ ประเพณีเป็นดังนี้มาทั่วทุกประเทศ

ในสยามประเทศนี้ เมื่อก่อนพุทธศักราช ๑๘๒๖ ยังไม่มีหนังสือไทยใช้กันแต่หนังสือคฤนถ์ ซึ่งพวกพราหมณ์พามาแต่อินเดีย หนังสือคฤนถ์นั้นตามที่เคยเห็นศิลาจารึกเห็นใช้เขียนแต่ภาษามคธ ภาษาสันสกฤต และภาษาขอม ไม่เคยพบจารึกอักษรคฤนถ์เป็นภาษาไทยเลย แต่บางทีจะเขียนภาษาไทย อย่างหนังสือขอมเขียนแปลร้อยได้ในครั้งนั้นแล้ว เข้าใจว่ากฎหมายไทยที่ตั้งขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตอนก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ เห็นจะต้องให้แปลกลับเป็นภาษาขอมหรือภาษาสันสกฤต หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวคฤนถ์แปลร้อยได้ แต่การจดลงเป็นหนังสือไม่ว่าภาษาใดคงเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ เพราะผู้ที่รู้หนังสือและเจ้าตำรับกฎหมายในเวลานั้น มีอยู่แต่ในพวกพระพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้พราหมณ์จึงเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่าตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงที่สูงศักดิ์ชื่อเป็นพราหมณ์ทั้งนั้น

สมเด็จพระร่วงเจ้า พระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่นมีหนังสือชันกาลมาลินีเป็นต้นว่า พระยารามราช เป็นผู้คิดหนังสือไทยขึ้น เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖ (ตัวอย่างหนังสือไทยของสมเด็จพระร่วง จารึกหลักศิลามีอยู่ในหอสมุดวชิรญาณทุกวันนี้) เมื่อมีหนังสือไทยแล้ว กฎหมายที่ตั้งขึ้นต่อมาหรือกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้เริ่มจดลงและรักษามาในหนังสือไทยแพร่หลายเร็วมาก ข้อนี้มีพยานเห็นได้ด้วยศิลาจารึกภาษาไทยรุ่นเก่า ใช้ตัวหนังสือไทยตามแบบของพระเจ้าขุนรามคำแหงทั่วทุกเมืองในอาณาจักรลานนาไทย ตลอดขึ้นไปจนกรุงศรีสัตนาคนหุต เพราะความต้องการหนังสือสำหรับเขียนภาษาไทยมีอยู่ด้วยกันทุกประเทศที่ชาติไทยได้เป็นใหญ่ เมื่อเกิดแบบตัวหนังสือมีขึ้น ทุกประเทศก็ยอมรับใช้หนังสือนั้น โดยเห็นประโยชน์มิต้องมีผู้ใดบังคับบัญชา

ขณะเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา แม้หนังสือไทยเพิ่งมีขึ้นได้เพียง ๖๗ ปี ก็เชื่อได้ว่าคงได้ใช้ตลอดลงมาถึงเมืองอู่ทองแล้ว บรรดากฎหมายที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาเข้าใจว่าเขียนเป็นหนังสือไทยทั้งนั้น แต่ประหลาดอยู่หน่อยที่ข้าพเจ้ายังได้พบพระราชกฤษฎีกาเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา และแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศที่เมืองพัทลุงเขียนเส้นดินสอดำในกระดาษ ยังใช้อักษรและภาษาเขมรหลายฉบับ จะเป็นด้วยเหตุใดข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็นจนทุกวันนี้ ได้ให้ต้นหนังสือนั้นไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ ผู้ใดจะตรวจดูก็ได้


วิธีตั้งกฎหมาย

กฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เรารู้ได้ในเวลานี้ อยู่ในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่ม ซึ่งต้นฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระเรียบเรียงไว้ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ และหมอบรัดเลได้พิมพ์จำหน่ายในครั้งแรก เมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ ยังมีกฎหมายครั้งกรุงเก่าที่ไม่ได้พบหรือไม่เอาเข้าเรื่องเมื่อชำระกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ อยู่อีกบ้าง หอพระสมุดได้ไว้สัก ๒-๓ เล่ม ลักษณะทำกฎหมายแต่โบราณมา คงจะทำเป็นชั้นๆ ดังนี้คือ

ชั้นที่ ๑ เมื่อแรกตั้งกฎหมาย ตั้งด้วยประการพระราชกฤษฎีกา บอกวันคืนเหตุผลและพระราชนิยม อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ยังแลเห็นได้ในพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่และกฎหมายพระสงฆ์เหล่านี้ ล้วนเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นหมายที่แรกตั้งอย่างนั้น

ชั้นที่ ๒ เมื่อพระราชกฤษฎีกามีมากๆ เข้า จะสอบค้นยาก จึงตัดทอนพระราชกฤษฎีกาเก่าคงไว้แต่ใจความเป็นย่ออย่างกลาง ดังจะเห็นได้ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ และกฎหมายหมวดพระราชบัญญัติ

ชั้นที่ ๓ เพื่อจะจัดระเบียบกฎหมายเก่าให้สะดวกแก่สุภาตุลาการให้ค้นได้โดยง่าย นานๆ จึงมีการชำระกฎหมายครั้ง ๑ อย่างเราเรียกทุกวันนี้ว่า ทำประมวลกฎหมาย คือรวบรวมกฎหมายเก่าจัดเป็นหมวดๆ ตามลักษณะความ ตัดเหตุผลวันคืนที่ตั้งกฎหมายออกเสีย คงไว้แต่ใจความซึ่งเป็นพระราชนิยม เรียงเข้าลำดับเป็นมาตราๆ ในลักษณะนั้นๆ

วิธีชำระกฎหมายดังกล่าวมานี้ สำหรับทำแต่กฎหมายเก่าที่ตั้งมานานๆ แล้ว แต่กฎหมายที่ออกใหม่ ก็ยังคงออกอย่างพระราชกฤษฎีกาตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นวิธีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังสุดการชำระกฎหมาย ได้ทำเมื่อปีชวดฉศก จุลศักราช ๒๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้นหนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเป็นอันตรายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงฯฌป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอน ทำเป็นกฎหมายฉบับหลวงขึ้นใหม่ คือฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้น

มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในนั้น ๔ ลักษณะ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณะนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณะโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อได้ว่าคงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า และเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่ากฎหมายตอนปลายกรุงเก่า ที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จเจ้าบรมโกศ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือกฎหมาย ๓๖ ข้อ และมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกา ยังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าอีกหลายสิบบท


ศักราชที่ใช้ในกฎหมาย

วันคืนที่ใช้ในกฎหมายครั้งกรุงเก่า วิธีนับรอบปีตามนักษัตรคือ ชวด ฉลู เป็นต้น รู้ได้แน่ว่าใช้มาแต่ครั้งสุโขทัยแล้ว ด้วยมีปรากฏในศิลาจารึกตั้งแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหง วิธีนับสัปตวารคือวันอาทิตย์ วันจันทร์ เป็นต้น และนับเดือนตามจันทรคติก็ใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยปรากฏในศิลาจารึกเหมือนกัน แต่ศักราชครั้งสุโขทัยใช้มหาศักราช ถึงศิลาจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาชั้นต้นเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ใช้มหาศักราช แต่ศักราชที่ปรากฏอยู่ในบานแพนกกฎหมายดูใช้ศักราชหลายอย่างปะปนกัน แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ใช้พุทธศักราช ต่อๆ มาใช้พุทธศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง จุลศักราชบ้าง และยังมีศักราชอีกอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้ายังทราบไม่ได้ว่าศักราชอะไร โหรเรียกว่าศักราชจุฬามณี แต่สืบเอาเรื่องเอาเกณฑ์จากโหรยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเรียกไว้ว่า “ศักราชกฎหมาย”

ศักราชทั้ง ๔ อย่างนี้ จะสอบในหนังสือกฎหมายได้ความว่าแผ่นดินไหนใช้ศักราชอะไรรู้ไม่ได้ ด้วยบานแพนกกฎหมายในแผ่นดินเดียวกัน ใช้ศักราชต่างกันก็มี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ศักราชในบานแพนกกฎหมายสับสนกันไป จะเป็นเพราะเมื่อเวลาชำระหรือคัดเขียนหนังสือกฎหมายในชั้นหลังๆ ผู้คัดอยากจะให้เข้าใจง่าย เลยคิดคำนวณบวกทอนศักราช ซึ่งผิดกันกับอย่างที่ใช้อยู่ในเวลานั้นเปลี่ยนให้เป็นอย่างเดียวกัน จับผิดได้ที่ปีนักษัตรควรเป็นคู่ ลงศกและศักราชเป็นคี่มีอยู่หลายแห่ง ยังเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลบศักราช เอาปีกุนเป็นสัมฤทธิศก ก็ทำให้ศักราชเคลื่อนไป ๒ ปี ศักราชที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายทั้ง ๔ อย่างสอบได้ดังนี้ คือ (๑) พระพุทธศักราชใช้กฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข ๑๑๘๒ ลบ เป็นจุลศักราช (๒) มหาศักราชในกฎหมายต้องใช้เกณฑ์ ๕๕๘ ลบ เป็นจุลศักราช (๓) ศักราชกฎหมาย (ปรากฏในบานแพนกแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ข้าพเจ้าได้ลองสอบดู น้อยกว่ามหาศักราช ๓๐๐ ปีถ้วน) ลบด้วยเกณฑ์เลข ๒๕๘ เป็นจุลศักราช (๔) จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้นในเมืองพม่าก่อน น่าจะพึ่งเอาเข้ามาใช้ในราชการเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ตั้งแต่เกี่ยวข้องกับเมืองหงสาวดี


กฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ตั้งเป็นอิสระ ณ กรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องแบบแผนพระราชประเพณี และพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับพระนคร กฎหมายที่ตั้งครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จะมีอะไรบ้าง รู้ไม่ได้หมดอยู่เอง แต่ตรวจดูตามบานแพนกกฎหมาย ๒ เล่ม ได้ความว่า กฎหมายเหล่านี้มีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือ
- ลักษณะพยาน ตั้งเมื่อปีขาลโทศก พ.ศ. ๑๘๙๔ (จุลศักราช ๗๑๒)
- ลักษณะอาญาหลวง กำหนดโทษ ๑๐ สถาน ตั้งเมื่อปีเถาะตรีศก พ.ศ. ๑๘๙๕ (จุลศักราช ๗๑๓)
- ลักษณะรับฟ้อง ตั้งเมื่อปีมะแมสัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)
- ลักษณะลักพา ตั้งเมื่อปีมะแมสัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)
- ลักษณะอาญาราษฎร์ ตั้งเมื่อปีระกานพศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๙
- ลักษณะโจร ตั้งเมื่อปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)
- ลักษณะเบ็ดเสร็จ ว่าด้วยที่ดิน ตั้งเมื่อปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)
- ลักษณะผัวเมีย ตั้งเมื่อปีชวดโทศก พ.ศ. ๑๙๐๔ (จุลศักราช ๗๒๒)
- ลักษณะผัวเมียอีกตอน ๑ ตั้งเมื่อปีฉลูตรีศก พ.ศ. ๑๙๐๕ (จุลศักราช ๗๒๓)
- ลักษณะโจร ว่าด้วยสมโจร ตั้งเมื่อปีมะเมียอัฐศก พ.ศ. ๑๙๑๐ (จุลศักราช ๗๒๙)

กฎหมายรัชกาลอื่นๆ ครั้งกรุงเก่า ที่มีบานแพนกและศักราชบอกไว้ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ๒ เล่ม ดังนี้

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
- กฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ (สงสัยว่าจะเป็นปีขาล จุลศักราช ๘๕๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ด้วยกล่าวถึงศักดินาในกฎหมายนั้น)

แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- ทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ตั้งเมื่อปีจอ พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)
- ทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตั้งเมื่อปีจอฉศก พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)
- ลักษณะกบฏ (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีฉลู มหาศักราช ๑๓๗๕ จุลศักราช ๘๑๙
- เพิ่มเติมลักษณะและอาญาหลวง ไม่ปรากฏวัน
- กฎมณเฑียรบาล ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๒๐

แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
- เพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๐๕๕ (จุลศักราช ๘๗๔)

แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช
- ลักษณะพิสูจน์ ตั้งเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๘๙๗ (ที่พระเทียรราชาเสี่ยงเทียน เห็นจะเป็นเวลากำลังนิยมกันด้วยเรื่องพิสูจน์เสี่ยงเทียน อยู่ในวิธีพิสูจน์อย่าง ๑)

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- เพิ่มเติมลักษณะอาญาหลวง เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๐๙๓ (จุลศักราช ๙๑๒)

สมเด็จพระเอกาทศรถ (ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร)
- พระราชกฤษฎีกาบำเหน็จศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
- พระธรรมนูญกระทรวงศาล ตั้งเมื่อปีชวด ศักราชกฎหมาย ๑๕๔๔ (จุลศักราช ๙๘๖)

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง
- พิกัดเกษียณอายุ ตั้งเมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๙๕
- ลักษณะอุทรณ์ ตั้งเมื่อปีกุน มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)
- พระธรรมนูญตรากระทรวง ตั้งเมื่อปีกุนสัปตศก มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)
- ลักษณะทาส ตั้งเมื่อปีฉลูนพศก มหาศักราช ๑๕๕๗ (จุลศักราช ๙๙๙)
- เพิ่มเติมลักษณะทาส เมื่อปีกุนเบญจศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๖๓ (จุลศักราช ๑๐๐๕ ควรเป็นปีมะแม)
- ในพระราชกำหนดเก่าบท ๑ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๐๐๕
- เพิ่มในลักษณะอาญาหลวง ห้ามไม่ให้ยกลูกสาวให้ชาวต่างชาติ เมื่อปีกุนนพศก ศักราชกฎหมาย ๑๕๖๗ (จุลศักราช ๑๐๐๙)
- ลักษณะกู้หนี้ ตั้งเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๘๖ (จุลศักราช ๑๐๑๐)
- พระราชกำหนดเก่าบท ๑ ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๐๑๑
- กฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๐๑๒

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- เพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง เมื่อปีกุนตรีศก มหาศักราช ๑๕๙๑ (จุลศักราช ๑๐๓๓)
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๒ บท ระหว่างปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๒๖ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๔๙
- พระราชกำหนดเก่า ๔ บท ระหว่างปีจอ จุลศักราช ๑๐๓๒ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๓๕

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
- มูลคดีวิวาท ว่าด้วยตัดสินปันหมู่ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๒
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๕๔
- ลักษณะตุลาการ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๘

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๘ บท ระหว่าปีฉลู จุลศักราช ๑๐๗๑ จนปีมะแม จุลศักราช ๑๐๘๙
- เพิ่มเติมลักษณะตุลาการ เมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๐๙๐
- เพิ่มเติมมูลคดีวิวาท ว่าด้วยปันสมรส ตั้งเมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓
- พระราชกำหนดเก่า ๒๕ บท ระหว่างปีกุน จุลศักราช ๑๐๖๙ จนปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- เพิ่มเติมคดีวิวาท ว่าด้วยจำหน่ายเลก เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕
- ลักษณะวิวาท ตั้งเมื่อปีมะเส็งเอกศก ศักราชกฎหมาย ๑๓๖๙ (จุลศักราช ๑๑๑๑)
- เพิ่มเติมลักษณะทาส เมื่อปีกุนสัปตศก ศักราชกฎหมาย (เข้าใจว่า ๑๓๗๕ จุลศักราช ๑๑๑๗)
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๕ บท ระหว่างปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕ จนปีจอ จุลศักราช ๑๑๑๖
- พระราชกำหนด ๓๖ ข้อ ๕ บท ระหว่างปีฉลู จุลศักราช ๑๑๑๙ จนปีขาล จุลศักราช ๑๑๒๐

สารบาญกฎหมายเก่าที่กล่าวมานี้ ตามที่ตรวจดู เท่าที่รู้ได้ในกฎหมาย ๒ เล่ม ยังมีบานแพนกบางแห่งที่ศักราชและปีวิปลาส ไม่แน่ใจว่าจะเป็นแผ่นดินไหน จึงไม่ได้เอามาลงไว้ ผู้อ่านสารบาญนี้ควรสังเกตแต่เค้าความ ว่ากฎหมายกรุงเก่าที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้ตั้งในแผ่นดินใดๆ บ้าง แต่จะเข้าใจไปว่า แผ่นดินนั้นๆ จะได้ตั้งแต่งกฎหมายซึ่งกล่าวในสารบาญนี้เท่านั้นก็ดี หรือว่ากฎหมายลักษณะใดที่กล่าวไว้ในสารบาญ ว่าตั้งในแผ่นดินใดจะพึ่งมีแต่แผ่นดินนั้นก็ดีนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เราได้เห็นพิมพ์ไว้ในกฎหมาย ๒ เล่ม เป็นของที่ได้ตัดทอนแก้ไข เรียกรวมโดยนามว่า “ชำระ” มาหลายครั้งหลายคราว


วิธีจัดหมวดกฎหมายครั้งกรุงเก่า

ลักษณะจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายและเนื้อความที่ปรากฏในหมวดพระธรรมศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิมประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรไม่รู้ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้งหนึ่งน่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย และมีผู้แปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องพระราชพงศาวดาร ก็น่าจะยุติว่า คงแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล

ที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ของพระมโนสารหรือมนูนี้ เป็นต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเป็นภาษาสันสกฤต มีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียเป็นอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเป็นภาษารามัญ ได้วานพระเทวโลก แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญแปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมติราชตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตเป็นหนังสือในศาสนาพราหมณ์ และเป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่ เมื่อพระเอามาแปลที่เมืองรามัญจะเลือกแปลแต่บางแห่ง และแปลงเนื้อความที่แปลนั้นให้เป็นหนังสือฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วย ไทยเราได้พระธรรมศาสตร์มาจากมอญดังปรากฏอยู่ในคาถาคานมัสการข้างต้น เห็นจะได้มาเมื่อกฎหมายไทยเรามีเป็นแบบแผน และจัดหมวดหมู่อยู่อย่างอื่นแล้ว มาจัดเอาเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์เมื่อทีหลัง จึงเข้าไม่ได้สนิท ข้อนี้จะแลเห็นได้ถนัดในกฎหมาย แม้สังเกตแต่มาติกามูลคดี มาติกามูลคดีรามัญว่ามี ๑๘ เท่าธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ แต่มูลคดีในพระธรรมศาสตร์ไทยขยายออกไปเป็น ๒๙ เห็นผิดกันมากอยู่ดังนี้ จึงเข้าใจว่าเมื่อจะจัดกฎหมายไทยให้เป็นหมวดตามพระธรรมศาสตร์ จะเอาเข้าไม่ได้สนิท จึงทำอย่างขอไปที จะยกตัวอย่างมาไว้ให้ดูได้ ดังนี้

คาถาพระธรรมศาสตร์รามัญ

ตตฺถ อฏฺฎา ทวิธา วตฺตา มูลสาขปฺปเภทโต
มูลฏฺฐารสธา สาขา ติทินฺนาทิเนกธา
อิณํ ธนํ สนฺนิธานํ อสกํ ปริกีณิตํ
อธมฺมธนวิภาคํ ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คณฺเห
ภติกสฺส ปลิโพโธ พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข
ยํ วจนํ กเถตฺวาน ปจฺฉา ปุน กเถนฺติ ตํ
กีณิตฺวา ปุน อิจฺฉติ วิกีณิตฺวา วิวตฺตติ
ทฺวิปทา จตุปฺปทา สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา
ปฐวีวิภตฺติวาจา อญฺญํ โทสปโรหิตํ
ปรมาตํ ฆรํ คจฺเฉ อิตฺถีปุริสวิกฺกเต
วิภตฺติธนเหตุ อกฺขวตฺตปริภาโค
เอเต มูลา อฏฺฐารส ธมฺมสตฺเถ ปกาสิตา

แปลเป็นมูลคดี ๑๘ อย่าง สอบกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศของอาจารย์แมกสมุเลอ ได้คำแปลดังนี้
๑. อิณํธนํ หนี้สิน Non payment of debts.
๒. สนฺนิธานํ ของฝาก Deposit and pledge.
๓. อสกํ มิใช่ของตน Sale without ownership.
๔. ปริกีณิตํ หุ้นส่วน Concerns among partner.
๕. อธมฺมธนวิภาคํ แบ่งสินมิเป็นธรรม Partition of inheritance.
๖. ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คณฺเห ให้สินแก่เขาแล้วเอาคืนเล่า Resumption of gife.
๗. ภติกสฺส ปลิโพโธ ไม่ให้เงินค่าจ้าง Non payment of wages.
๘. พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข ยํ วจนํ กเถตฺวาน ปจฺฉา ปุน กเถนฺติ ตํ ไม่ทำตามสัญญา Non performance of agreement.
๙. กีณิตฺวา ปุน อิจฺฉติ ซื้อแล้วคืนเล่า Recission of sale and purchase.
๑๐. วิกีณิตฺวา วิวตฺตติ ขายแล้วอยากได้คืน Recission of sale and purchase.
๑๑. ทฺวิปฺทา วา จตุปฺปทา สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา วิวาทเหตุวิญญาณกทรัพย์ Dispute between owner of cattle and his servants.
๑๒. ปฐวีวิภตฺติวาจา แบ่งที่ดินเรือกสวนไร่นา Dispute regarding boundaries.
๑๓. อญฺญํโทสปโรหิตํ ใส่ความท่าน Defamation.
๑๔. ปริฆาตํ ฆ่าฟันท่าน Assualt, robbery and violence.
๑๕. ฆรํคจฺเฉ ลักทำชู้ Theft and adultery.
๑๖. อิตฺถีปุริสวิกเต ลักษณะผัวเมีย Duties of man and wife.
๑๗. วิภตฺติธนเหตุ ลักษณะแบ่งสิน Partition of inheritance.
๑๘. อกฺขวตฺตปริภาโค ลักษณะเล่นการพนัน Gambling and detting.

คาถาพระธรรมศาสตร์ไทย

แสดงมูลแห่งตุลาการ ๑๐ ประการ
อินฺทภาโส ธมฺมานุญฺโญ สกฺขิ จ สกฺขิเฉทโก
อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส ปฏิภาณญฺจ เฉทโก
อฏฺฏคาโห อฏฺฏกูโฏ ทณฺโฑ โจทกเฉทโก
อกฺขทสฺสาทสญฺเจว เอเต มูลา ปกิตฺติตา

มูลคดีแห่งตุลาการ ๑๐ ปรการ ที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยหมวดกฎหมายกรุงเก่า ดังนี้
๑. อินฺทภาโส อินฺทภาษ ได้แก่ลักษณะอินทภาษ และลักษณะตุลาการ
๒. ธมฺมานุญฺโญ พระธรรมนูญ ไดแก่พระธรรมนูญ
๓. สกฺขี พยาน ได้แก่ลักษณะพยาน
๔. สกฺขิเฉทโก ตัดพยาน เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๕. อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส แก้ต่างว่าต่าง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๖. ปฏิภาณญฺจ เฉทโก ตัดสำนวน เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๗. อฏฺฏคาโห รับฟ้อง ได้แก่ลักษณะรับฟ้อง
๘. อฏฺฏกูโก ประวิง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๙. ทณฺโฑ พรหมทัณฑ์ เอาไว้ในกรมศักดิ์
๑๐. โจทกเฉทโก ตัดฟ้อง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง

คาถาแสดงมูลคดีวิวาท ๒๙ ประการ
อิณญฺจ รญฺโญ ธนโจรหารํ อธฺมมทายชฺชวิภตฺตภาคํ
ปรสฺส ทานํ คหณํ ปุเนว ภติกอกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา
ภณฺฑญฺจ เกยฺยาวิกยาวหารํ เขตฺตาทิอารามวนาทิฐานํ
ทาสึ จ ทาสํ ปหรญฺจ ขํ สา ชายมฺปตีสฺส วิปตฺติเภทา
สงฺคามโทสาปิ จ ราชทุฏโฐ ราชาณสุงฺกาทิวิวาทปตฺโต
ปรมฺปสยฺโหปิ จ อตฺตอาณํ อีติยกาโร วิวิโธ ปเรสํ
ฐานาวิติกฺกมฺมพรากเรน ปุตฺตาทิอาทาคมนาสเหว
เหตุ ปฏิจฺจมฺมธิการณํ วา อคฺฆาปํนายู จ ธนูปนิกฺขา
อาถพฺพนีกาปิ จ ภณฺฑเทยฺยํ เตตาวกาลีกคณีวิภาคํ
ปจฺจุทฺธรนฺตํ ตุ วิวาทมูลา เอกูนตึสาทิวิธาปิ วุตฺตา
โปรากวีนา วรธมฺมสตเถติ

มูลคดีวิวาท ๒๙ ประการ ที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยกฎหมายกรุงเก่า เป็นดังนี้
๑. อิณํธนํ กู้หนี้ ได้แก่ลักษณะกู้หนี้
๒. รญฺโญ ธนโจรหารํ ฉ้อพระราชทรัพย์ เอาไว้ในลักษณะอาญาหลวง
๓. อธมฺมทายชฺชวิภตฺตภาคํ มรดก ได้แก่ลักษณะมรดก
๔. ปรสฺส ทานํ คหณํ ปุเนว ให้ปัน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๕. ภติกา จ้างวาน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๖. อกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา เล่นพนัน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๗. ภณฺฑญจเกยฺยาวิกยํ ซื้อขาย เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๘. อวหารํ โจรกรรม ได้แก่ลักษณะโจร
๙. เขคฺตาทิฐานํ ที่นา เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๑๐. อารามวนาทิฐานํ ที่สวน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๑๑. ทาสึทาสํ ทาส ได้แก่ลํกษณะทาส
๑๒. ปหรญฺจ ขุ สา ตบตีด่าว่า ได้แก่ลักษณะวิวาท
๑๓. ชายมฺปติกสฺสสวิปตฺตเภทา ผัวเมีย ได้แก่ลักษณะผัวเมีย
๑๔. สงฺคามโทสา สงคราม ได้แก่ลักษณะอาญาศึก อยู่ในลักษระกบฏศึก
๑๕. ราชทุฏโฐ กบฏ ได้แก่ลักษณะกบฏ อยู่ในลักษณะกบฏศึก
๑๖. ราชาณํ ละเมิดพระราชบัญญัติ ได้แก่ลักษณะอาญาหลวง
๑๗. สุงฺกาทิวิวาทปตฺโต อากรขนอนตลาด เอาไว้ในลักษณะอาญาหลวง
๑๘. ปรมฺปสยฺโห ข่มเหงท่าน ได้แก่ลักษณะอาญาราษฎร์
๑๙. อีติยกาโร ที่กระหนาบคาบเกี่ยว เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๐. ฐานาวิติกฺกมฺมพลากร บุกรุก เอาไว้ในลักษณะอาญาราษฎร์
๒๑. ปุตฺตาทิอาทาคมนาสเหว ลักพา ได้แก่ลักษณะลักพา
๒๒. เหตุ ปฏิจฺจอธิกรณํ สาเหตุ เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๓. อคฺฆปนายู เกษียณอายุ ได้แก่กรมศักดิ์
๒๔. ธนูปนิกฺขา ฝากทรัพย์ เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๕. อาถพฺพนิกา กระทำด้วยกฤตยาคม เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๖. ภณฺฑเทยฺยํ เช่า เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๗. ตาวกาลิกํ ยืม เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๘. คณีวิภาคํ ปันหมู่ชา ได้แก่มูลคดีวิวาท
๒๙. ปจฺจุทธรนฺตํ อุทธรณ์ ได้แก่ลักษณะอุทธรณ์

กฎหมายกรุงเก่าอยู่นอกมาติกานี้ มีพระธรรมศาสตร์ เพราะเป็นต้นมาติกา ๑ กฎมณเฑียรบาล ๑

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ น่าจะเข้าใจว่าจะจัดประมวลกฎหมายเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์อย่างว่ามานี้เอง แต่เมื่อข้าพเจ้าไปกราบทูลหารือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีรับสั่งว่าคาถาที่ปรากฏในกฎหมายไทย ตั้งแต่คำนมัสการจนพระธรรมศาสตร์สำนวนมคธวิปลาสไม่เรียบร้อย คล้ายกับคาถาคำนมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เกือบจะสันนิษฐานว่า ผู้แต่งเป็นคนเดียวกันได้ ดังนี้

ทางภาษาในหนังสือเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยเวลา ปละประเภทที่แต่งหนังสืออยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะไม่นำพาไม่ได้ เมื่อปรากฏว่ามีคาถาแต่งครั้งกรุงสุโขทัย (คือคาถานมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง) แห่งหนึ่ง และคาถาในพระธรรมศาสตร์กฎหมายไทยอีกแห่งหนึ่ง เป็นสำนวนเดียวกัน ถ้าเชื่อว่าคาถาไตรภูมิพระร่วงแต่งครั้งกรุงสุโขทัย ก็จะเชื่อว่าคาถาพระธรรมศาสตร์ไทยแต่งครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถไม่ได้อยู่เอง เพราะห่างกันหลายร้อยปีนัก จะว่าได้พระธรรมศาสตร์ฉบับรามัญเข้ามาแต่ครั้งสุโขทัย แต่งคาถาพระธรรมศาสตร์ไทยขึ้นคราวๆเดียวกันจัดกฎหมายเข้าเป็นหมวดหมู่ ตามพระธรรมศาสตร์อย่างกล่าวมาแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ส่วนข้างภาษาไทยในกฎหมายที่เห็นได้ว่า โดยมากเป็นของแต่งใหม่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นข้อขัดข้องแก่การที่จะตัดสินอยู่ มีทางที่จะสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง คือคาถานมัสการเรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ของเดิมภาษามคธไม่มี จะพึ่งมาแต่งขึ้นในครั้งกรุงเก่า ถ้าเช่นนั้นความสันนิษฐานที่ว่าพึ่งจัดกฎหมายเข้าหมวดพระธรรมศาสตร์ เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถพอจะเป็นได้ การสอบกฎหมายทางที่เนื่องด้วยพงศาวดารดังอธิบายมานี้ แสดงโดยอัตโนมัติของข้าพเจ้า อาจจะผิดพลาดได้ ถ้าผิดพลาดไปข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่านผู้อ่าน




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2550   
Last Update : 14 มิถุนายน 2550 13:33:06 น.   
Counter : 6737 Pageviews.  


"กรมสมเด็จ" กับ "สมเด็จกรม"


ทูลกระหม่อมแก้ว
(ไฟล์ภาพ จากคุณ NickyNick ขอบคุณครับ)



.........................................................................................................................................................



วินิจฉัยพระยศเจ้านายที่เรียกว่า
“กรมสมเด็จ” หรือ “สมเด็จกรม”



จะต้องตั้งวินิจฉัยคำที่ว่า “สมเด็จ” คำว่า “เจ้าฟ้า” และคำว่า “กรม” ๓ คำนี้ก่อน คำทั้ง ๓ นี้มีหลักฐานพอจะชี้ได้ว่าเกิดแต่แหล่งต่างกัน ไทยเราเอามาใช้เป็นยศเจ้านายในสมัยต่างกัน

คำว่า “สมเด็จ” ดูใช้ในที่หมายความว่า “เป็นอย่างยอด” ใช้ประกอบกับยศบุคคลชั้นสูงสุดหลายชนิด เช่นว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระเจ้าพี่นาง (และน้องสาว) เธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จเจ้าพระยา และสมเด็จพระราชาคณะ ล้วนหมายความว่าเป็นยอดในบุคคลชนิดนั้น คำ “สมเด็จ” มิใช่ภาษาไทย และไม่ปรากฏว่าไทยพวกอื่นใช้นอกจากไทยกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าได้คำสมเด็จมาจากเขมร ปรากฏใช้นำหน้าพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกฎหมายมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง

คำว่า “เจ้าฟ้า” ความหมายว่า “เทวดาจุติลงมาเกิด” เป็นคำภาษาไทย และชนชาติไทยใช้มาตั้งแต่ยังอยู่บ้านเมืองเดิมอันอยู่ในแดนจีนบัดนี้ เดิมเรียกแต่เจ้าครองเมืองว่า “เจ้าฟ้า” เมื่อพวกไทยใหญ่อพยพไปตั้งบ้านเมืองต่อแผ่นดินพม่า ก็เรียกเจ้าครองเมืองของตนว่า “เจ้าฟ้า” เมื่อตกเป็นประเทศราชขึ้นพม่า พม่าก็เรียกว่า “เจ้าฟ้า” สืบมาอย่างเดิม แต่ประหลาดอยู่ที่พวกไทยน้อยซึ่งลงมาตั้งบ้านเมืองต่างอาณาเขตเช่น ประเทศล้านช้างก็ดี ลานนาก็ดี กรุงสุโขทัยก็ดี กรุงศรีอยุธยาก็ดี ไม่ใช้คำ “เจ้าฟ้า” มาแต่เดิมเหมือนพวกไทยใหญ่

อาณาเขตไทยน้อยพวกอื่นจะยกไว้ กล่าวแต่เฉพาะกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมมาในกฎมณเฑียรบาลเป็นต้น ก็หามียศเจ้าฟ้าปรากฏไม่ แรกปรากฏไปพบในหนังสือพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองตั้งพระมหาธรรมราชาซึ่งครองเมืองพิษณุโลก (พระชนกของสมเด็จพระนเรศวร) เมื่อยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้เป็น “เจ้าฟ้าสองแคว” (สองแควเป็นชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก) อย่างเดียวกับเจ้าฟ้าประเทศราชไทยใหญ่ เป็นแรกที่จะใช้ยศ “เจ้าฟ้า” ในไทยกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้มีหลักฐานทางฝ่ายไทยรับรองอยู่ในกฎหมายลักษณะกบฏศึกบท ๑ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้ง ในบายแพนกเรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า “สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณอัครบิริโสดม บรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศ เชษฐาธิบดี” ดังนี้ คงเป็นเพราะเคยมีคำ “เจ้าฟ้า” อยู่ในพระสุพรรณบัฏ ตามสร้อยพระนามสมเด็จพระบรมชนกนารถ และยังปรากฏต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเลิกคำว่าเจ้าฟ้า ไม่ใช่ในสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดินต่อมา เอาคำเจ้าฟ้าลดลงมาใช้เป็นยศเจ้านายชั้นสูง ด้วยทรงตั้งพระราชโอรสผู้จะรับรัชทายาทให้เป็นเจ้าฟ้าทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าสุทัศน์” เป็นพระองค์แรก แต่นั้นคำ “เจ้าฟ้า” ก็ใช้เป็นยศของพระเจ้าลูกเธอที่พระมารดาเป็นเจ้า ถ้าเป็นลูกเธอพระมเหสีเรียกว่า “สมเด็จเจ้าฟ้า” ถ้ามิใช่ลูกพระมเหสีเรียกแต่ว่า “เจ้าฟ้า” และขยายต่อลงไปอีกชั้นหนึ่งถึงหลานเธอที่พระบิดามารดาเป็นเจ้าฟ้าด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็เป็นเจ้าฟ้า

คำว่า “กรม” นั้น เป็นแต่ชื่อสังกัดคนพวกหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นพนักงานทำราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีชื่อกรมต่างๆ ปรากฏอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาเป็นอันมาก ถ้าสังเกตในทำเนียบนั้นจะเห็นได้ว่าชื่อกรมกับชื่อเจ้ากรมต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นกรมชื่อ “สรรพากรนอก” เจ้ากรมชื่อ “หลวงอินทรมนตรี” ดังนี้ ถึงตัวเจ้ากรมจะได้เลื่อยศเป็นพระหรือเป็นพระยา ชื่อกรมก็คงเรียกว่ากรมสรรพากรอยู่เป็นนิจ

การตั้งกรมเจ้านายแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มูลเหตุที่จะตั้งกรมพบในหนังสือฝรั่งแต่งในสมัยนั้นเองเรื่อง ๑ (จะเรียกเรื่องอะไร เวลาที่เขียนนี้นึกไม่ออก) กล่าวว่าเมื่อพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์ทิวงคต โปรดให้แบ่งพวกข้าคนของพระอัครมเหสีเป็น ๒ ภาค พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ (เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ) ภาค ๑ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี) ภาค ๑ พิเคราะห์ดูสมกับความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเป็นกรมหลวงโยธาทิพ และทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นกรมหลวงโยธาเทพ แต่พึงเห็นได้ว่ากรมทั้ง ๒ นี้ไม่มีชื่อกรมเช่นว่ากรมสรรพากร มีแต่ชื่อเจ้ากรม คือหลวงโยธาทิพและหลวงโยธาเทพ เช่นชื่อหลวงอินทรมนตรีเจ้ากรมสรรพากร เพราะกรมทั้ง ๒ เป็น “ขอเฝ้า” สำหรับเจ้านาย ๒ พระองค์ทรงใช้สอยชั่วพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์เจ้านายเมื่อใดกรมนั้นก็เลิก คือเป็นกรมชั่วคราว มิใช่กรมประจำราชการ อันนี้เป็นมูลเหตุที่เรียกชื่อเจ้ากรมเป็นชื่อกรมด้วย เพราะไม่มีชื่ออื่นจะเรียก กรมทั้ง ๒ นั้น แล้วเลยออกนามกรมเรียกเจ้านายผู้เป็นเจ้าของกรมว่า “เจ้าฟ้า(ของ)กรมหลวงโยธาทิพ” และ “เจ้าฟ้า(ของ)กรมหลวงโยธาเทพ” เป็นการเฉลิมพระยศว่าวิเศษกว่าเจ้านายที่ไม่มีกรม เช่น เจ้าฟ้าอภัยทศเป็นต้น มูลเดิมของการตั้งกรมเจ้านายมีมาอย่างนี้ หาได้ตั้งนามกรมเป็นพระนามของเจ้านายไม่

กรมเจ้านายชั้นแรกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีแต่ “กรมหลวง” ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชามี “กรมพระ” กับ “กรมขุน” เพิ่มขึ้น ถึงรัชกาลพระเจ้าบรมโกศมี “กรมหมื่น” เพิ่มขึ้น กรมของเจ้านายจึงยุติเป็น ๔ ขั้น
กรมพระ สำหรับแต่ พระมหาอุปราช กรมพระราชวังหลัง และสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง
กรมหลวง สำหรับ พระมเหสี พระบัณฑูรน้อย สมเด็จพระเจ้าน้องเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
กรมขุน สำหรับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ
กรมหมื่น สำหรับ พระองค์เจ้าลูกเธอ และเจ้าพระญาติตั้งเป็นพิเศษ
แบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยามีมาดังนี้

ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้งยศศักดิ์เจ้านายอนุโลมตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่แก้ไขบ้างตามพฤติการณ์ จะว่าแต่พระยศชั้นกรมพระอันเป็นท้องเรื่องวินิจฉัยนี้

ชั้นกรมพระ ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขตรงตามแบบเดิม แต่ครั้งนั้นไม่มีองค์สมเด็จพระชนนี และตามแบบเดิมก็ไม่เคยมีสมเด็จพระพี่นาง จึงทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ พระองค์เป็นกรมพระ เทียบเสมอศักดิ์สมเด็จกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีตามตำรา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์พระองค์ ๑ เรียกโดยย่อว่า สมเด็จกรมพระเทพสุดาววดี และสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ คำสมเด็จหมายความว่าเจ้าฟ้า มิได้เกี่ยวกับนามกรม

มีความในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ แห่งหนึ่งว่า เมื่อศึกพม่าครั้งปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ “พระยาเทพสุดาวดี” เจ้ากรมของสมเด็จพระพี่นางองค์ใหญ่ เป็นผู้เชิญพระกระแสรับสั่งขึ้นไปเร่งกรมพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระพี่นางพระองค์นั้น ให้รีบตีทัพพม่าที่ยกเข้ามาในมณฑลนครสวรรค์ ชื่อพระยาเทพสุดาวดีที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารนั้นเป็นมูลเหตุที่พาให้คนภายหลังเข้าใจไปว่า สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นกรมชั้นสูงกว่าสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เพราะเจ้ากรมเป็นพระยาถึงเกิดเรียกพระนามกันสมัยนี้ว่า “สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี” เป็นการเข้าใจผิด เพราะรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลอื่นต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ พระยศเจ้านายต่างกรม “กรมพระ” ยังเป็นชั้นสูงสุดเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เจ้ากรมเป็นพระยาเป็นส่วนตัวบุคคลต่างหาก เช่นว่านาย “ก” ผู้เป็นที่พระเทพสุดาวดีเจ้ากรมมีความชอบพิเศษ อาจจะโปรดให้เลื่อนยศเป็นพระยา แต่เมื่อสิ้นตัวนาย “ก” แล้ว นาย “ข” ได้เป็นเจ้ากรมก็ต้องเป็นพระเทพสุดาวดี การที่เจ้ากรมได้เป็นพระยาหาได้เลื่อนชั้นกรมด้วยไม่ ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือราชการแต่ก่อน เรียกพระนามว่า “สมเด็จกรมพระ” พระยศเสมอกันทั้ง ๒ พระองค์

การตั้งกรมเจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ผิดกับครั้งกรุงศรีอยุธยาอย่าง ๑ ที่ไม่ได้ทรงตั้งพระมเหสีเป็นกรมหลวงเหมือนแต่ก่อน จึงเลยเป็นเยี่ยงอย่างมาในรัชกาลภายหลัง แต่ก็คงเรียกพระนามว่า สมเด็จพระพันวัสสา เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา


ถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้านายที่เป็นกรมพระในรัชกาลที่ ๑ ล่วงลับไปแล้วทั้ง ๔ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาสมเด็จพระชนนีเป็นกรมพระอมรินทรามาตย์ เทียบกับกรมพระเทพามาตย์แต่ปางก่อน แต่เห็นจะเรียกกันในรัชกาลที่ ๒ แต่โดยย่อว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” เพราะเรียกสมเด็จพระอัครมเหสีว่า “สมเด็จพระพันวัสสา”

ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อย เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ในรัชกาลที่ ๒ มีกรมพระ ๒ พระองค์ด้วยกัน


ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาสมเด็จพระชนนีเป็นกรมพระศรีสุราลัย เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์พระองค์ ๑ เมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จขัตติยนารี ๓ พระองค์ เห็นจะเรียกว่าสมเด็จพระอัมรินทรฯ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพันปีพระองค์ ๑ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่มีพระมเหสี สมเด็จพระพันวัสสาในรัชกาลที่ ๒ จึงคงดำรงพระยศเรียกกันว่าสมเด็จพระพันวัสสาตามเดิมมาตลอดรัชกาลที่ ๓ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๓ พระราชวงศ์มีเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ (ถึงรัชกาลที่ ๓) ฐานะเป็นพระเจ้าอาว์ ซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน แต่เจ้านายชั้นพระเจ้าอาว์เธอพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยมาก มีแก่กว่าไม่กี่พระองค์ ถึงที่แก่กว่าก็เป็นอย่างรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงไม่ทรงบัญญัติคำนำพระนามเจ้านายชั้นพระเจ้าอาว์เธอขึ้นใหม่ ให้คงใช้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอเหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๒ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓

ทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ (ชั้นพระเจ้าอาว์) กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๓ จึงมีกรมพระ ๒ พระองค์เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๒


ถึงรัชกาลที่ ๔ มีกรณีย์หลายอย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงจัดระเบียบศักดิ์เจ้านาย เป็นต้นแต่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งอยู่ในฐานะจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีดวงพระชะตาต้องตำราว่า “จะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” และองค์สมเด็จพระชนนีนาถซึ่งเป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ แต่เสด็จสวรรคตเมื่อรัชกาลที่ ๓ คนทั้งหลายยังเรียกพระนามว่าสมเด็จพระพันวัสสาอยู่อย่างเดิม นอกจากนั้นเจ้านายชั้นพระเจ้าอาว์มีหลายพระองค์ ล้วนพระชันษาแก่กว่าพระองค์มาก ไม่เหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้ชั้นพระเจ้าพี่เธออันไม่เคยมีทั้งในรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ ก็มีหลายพระองค์ ยังเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชภาคิไนยก็มีขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุเหล่านี้เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติแก้ไขระเบียบพระยศเจ้านายหลายอย่าง คือ

พระราชทานบวรราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ แทนที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นพิเศษเฉพาะพระองค์เดียวอย่าง ๑ ทรงบัญญัตินามชั้นต่างๆ ในพระญาติวงศ์ เช่นชั้นพระเจ้าอาว์ให้เรียกว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” และพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระเจ้าราชวงศ์เธอ” เป็นต้น และยังมีชั้นอื่นๆ อีก อย่าง ๑ ทรงบัญญัติพระนามสำหรับเรียกพระอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสถาน รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และพระนามเรียกพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนี ทั้งพระนามเรียกพระนามพระอัฐิพระบรมวงศ์ซึ่งยังไม่มีบัญญัติในขัติยยศมาแต่ก่อน เช่นพระชนนีของสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีเป็นต้น บางพระองค์ก็ถวายพระนามอย่างต่างกรม เช่นพระองค์เจ้าหญิงกุพระเจ้าน้องนางเธอเมื่อรัชกาลที่ ๑ ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าครอกวัดโพธิ์ ถวายพระนามว่า กรมหลวงนรินทรเทวี ดังนี้เป็นต้น การตั้งกรมพระอัฐิมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา อย่าง ๑

พระยศเจ้านายต่างกรมอันกรมพระเป็นชั้นสูงสุดมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติยศกรมพระพิเศษขึ้นอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “กรมสมเด็จพระ” (มีพระบรมราชาธิบายทรงนิพนธ์ไว้ว่า ถ้าเอาคำสมเด็จนำหน้าจะไปเหมือนพระราชาคณะ จึงเพิ่มคำสมเด็จลงข้างหลังคำกรม) ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเจ้านายเป็นกรมสมเด็จพระ ๓ พระองค์ คือ

ถวายพระนามพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็น “กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์” พระองค์ ๑ ถวายมหาสมณุตมาภิเษกเลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ซึ่งทรงผนวชอยู่เป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” พระองค์ ๑ เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร เป็น “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร” พระองค์ ๑ มีในประกาศเลื่อนกรมเฉพาะพระองค์นี้พระองค์เดียวว่าให้ตั้งเจ้ากรมเป็นพระยา อีก ๒ พระองค์ เจ้ากรมเป็นพระ แต่ในสุพรรณบัฏที่ทรงตั้งส่วนพระองค์เจ้านายทรงพระยศเป็น “กรมสมเด็จพระ” เหมือนกันทั้ง ๒๓ พระองค์ คือกรมพระชั้นพิเศษ มิใช่กรมพระยา ยศพระยาเป็นแต่สำหรับตัวเจ้ากรมบางคน อย่างเดียวกับพระยาเทพสุดาวดีในรัชกาลที่ ๑

รองจากกรมสมเด็จพระ ทรงตั้งเจ้านายเป็น “กรมพระ” ชั้นสามัญ ๓ พระองค์ คือ

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์ กรมขุนรามอิศเรศ เป็น กรมพระรามอิศเรศ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร เป็น กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร พระองค์ ๑ ในประกาศเลื่อนกรมเฉพาะพระองค์นี้ให้ทรงตั้งเจ้าหกรมเป็นพระยา (ได้ยินว่าเพราะตัวผู้เป็นเจ้ากรมในเวลานั้นเป็นราชินิกูลสายบางช้าง) พึงเห็นได้ชัดว่าที่เจ้ากรมเป็นพระยามิได้พาให้กรมเจ้านายเป็นกรมพระยาไปด้วย

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศ เป็น กรมพระพิทักษ์เทเวศ พระองค์ ๑

การตั้งกรมเจ้านายตามระเบียบซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติผิดกับระเบียบเก่าเป็นข้อสำคัญบางอย่าง คือ

๑) กรมพระแต่ก่อนมีแต่ พระมหาอุปราชกับสมเด็จพระพันปีหลวงและกรมพระราชวังหลัง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงบัญญัติว่าพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่พระชันษาแก่กว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจเป็นกรมพระได้ แต่ที่พระชันษาอ่อนกว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นได้แต่กรมหลวง จึงมีจำนวนกรมพระมากขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา

๒) คำ “สมเด็จ” ที่ใช้ในพระนามเจ้านายแต่เดิมมา หมายความอย่างเดียวว่าเป็นเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี หรือเรียกโดยย่อว่า “สมเด็จกรมพระเทพสุดาวดี” ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา คำ “สมเด็จ” ในพระนามเจ้านายหมายความต่างกันได้ ๓ อย่าง หมายว่าเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ หมายว่าเป็นกรมพระชั้นพิเศษซึ่งไม่จำต้องเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ และหมายเป็นยศพระญาติวงศ์ชั้นสูงไม่จำต้องเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ เขียนต่างกันเช่นว่าสมเด็จกรมพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระเดชาดิศร และสมเด็จพระรูปศิริโสภาค ดังนี้ แต่คำเรียกด้วยวาจาคนพูดหมายแต่สะดวกปาก จึงเรียกสมเด็จเป็นอย่างเดียวกันว่า สมเด็จพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระเดชาดิศร สมเด็จพระรูปฯ ดังนี้


ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อรกเสวยราชย์พระราชทานอุปราชาภิเษกพระบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ ๑

สถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระชนนี ซึ่งสวรรคตล่วงไปก่อนแล้วเป็น กรมสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ มีเจ้ากรมขอเฝ้าเป็นพระ พระองค์ ๑

ตั้งกรมพระเจ้าราชวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็น กรมพระสุดารัตนราชประยูร (เทียบที่กรมพระเทพามาตย์) พระองค์ ๑

ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ แล้ว

เลื่อนพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เป็น พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นกรมพระ พระองอค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ ซึ่งทรงผนวช เป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ ๑

ต่อมาเลื่อนเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ เป็นกรมสมเด็จพระ เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

ถวายมหาสมณุตมาภิเษกกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็น กรมสมเด็จพระ เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

บรรดาศักดิ์เจ้ากรมของกรมสมเด็จพระเป็นพระยาทุกคน ตั้งแต่เลื่อนกรมครั้งนี้เป็นต้นมา อนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติไว้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอเป็นได้เพียงกรมหลวงเป็นอย่างสูงนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ทรงอนุโลมตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เป็นพิเศษ จึงทรง

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงภานุพันธุวงศวรเดช เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๕ (ถ้าไม่นับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มีกรมสมเด็จพระ ๔ พระองค์ กรมพระ ๓ พระองค์

อนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ไขระเบียบพระยศสมเด็จพระมเหสีตั้งเป็นแบบใหม่ แบบเดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระมเหสีเป็นกรมหลวง แต่คนทั้งหลายเรียกว่าสมเด็จพระพันวัสสา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทรงงดการตั้งกรมสำหรับพระมเหสี คงแต่เรียกกันว่าสมเด็จพระพันวัสสามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุโลมตามแบบในกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกำหนดศักดิ์ “พระภรรยาเจ้า” (พระมเหสี) เป็น ๔ ชั้น คือพระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอัครชายา ทรงสถาปนา

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระบรมราชินีเป็นอัครมเหสี เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เทียบเท่าพระมเหสี พระองค์ ๑ สมเด็จทั้งสองพระยานี้มีกรมแต่ไม่ใช้คำ “กรม” ในพระนาม ดูเหมือนจะเป็นแรก

ในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนพระยศเจ้านายจากประเพณีที่มีมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง คือเลิกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร อนุโลมตาม “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” ในกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา แทนที่พระมหาอุปราช ไม่ตั้งกรมต่างหาก

มูลเดิมของ “กรม” เจ้านายมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นข้อสำคัญในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตั้งแต่โบราณมาเจ้านายย่อมมีข้าคนเป็นบริวารทุกพระองค์ บริวารของเจ้านายที่ยังไม่ได้รับกรมมีจางวางเป็นหัวหน้าควบคุม ขึ้นอยู่ในกรมสนมพลเรือน เมื่อเจ้านายพระองค์ใดรับกรมก็แยกข้าคนของพระองค์ออกไปตั้งเป็นกรม ๑ ต่างหาก มีเจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชีควบคุม ลดศักดิ์จางวางลงมาคุมหมวดในกรมนั้น ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ปล่อยพลเมืองจากสังกัดกรมต่างๆ ไปอยู่ในปกครองของเทศาภิบาลตามท้องที่ และให้บรรดาชายฉกรรจ์ต้องรับราชการทหารชั่วคราวเสมอหน้ากันทุกคน แทนขึ้นทะเบียนเป็น “เลก” สังกัดอยู่ในกรมต่างๆ อย่างแต่ก่อน ตามพระราชบัญญัตินี้เลิกกรมเจ้านายหมด แต่นั้นมาคำ “กรม” ก็เป็นแต่ติดอยู่กับพระนามเจ้านาย ไม่มีตัวตน เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชีก็กลายเป็นคนรับใช้เหมือนอย่างฐานานุกรมของพระราชาคณะ จึงนับว่าเลิก “กรม” เจ้านายมาแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓


ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงแก้ไขระเบียบพระเกียรติยศเจ้านายหลายอย่าง เป็นต้นแต่แก้พระนามอัฐิเจ้านายต่างกรม คือ

๑) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติให้เรียกว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระองค์ ๑ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระองค์ ๑ และกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พระองค์ ๑ นั้น ให้เปลี่ยนคำ “กรมพระราชวังบวร” ที่นำพระนามเป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้า”

๒) สมเด็จพระชนนีพันปีหลวงซึ่งเป็น “กรมสมเด็จพระ” แต่ก่อนมา เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี พระองค์ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระองค์ ๑ สมเด็จพระเทพสิรินทรา บรมราชินี พระองค์ ๑

๓) ถวายพระนามสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ องค์พระบรมราชาชนนีเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตั้งตำแหน่งต่างๆ ในราชเสวกเป็นทำเนียบข้าราชการในสมเด็จพระพันปีหลวง แทนเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชีอย่างแต่ก่อน พึงเห็นได้ในบรรดาพระนามที่แก้ไขดังกล่าวมา พระนามใดที่เคยทีคำ “กรม” เปลื้องเอาคำ “กรม” ออกจากพระนามทั้งนั้น เอาแต่คำ “สมเด็จพระ” เป็นประธาน แต่คำ “กรม” แม้ไม่มีแก่นสารแล้วก็ยังทิ้งจากพระยศเจ้านายไม่ได้หมด ยังคงใช้ต่อมาเป็นแต่แก้ไขชั้น “กรมสมเด็จพระ” เป็นสมเด็จฯ กรมพระยา” กรมชั้นอื่นนอกนั้นคงอยู่ตามเดิม

การที่แก้ยศ กรมสมเด็จพระ เป็น สมเด็จฯ กรมพระยา นั้น เกิดแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกลวงวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌาย์ เป็นสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก ตัวอย่างเจ้านายที่ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกมาแต่ก่อนเป็น “กรมสมเด็จพระ” เหมือนกันทั้ง ๒ พระองค์ แต่ผิดกันที่ยศเจ้ากรมของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เป็นพระ เจ้ากรมของกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระยา ปัญหาเรื่องกรมพระกับกรมพระยาเกิดขึ้นด้วยยศเจ้ากรมเป็นพระยาไม่ตรงกับกรมสมเด็จพระ เหมือนเช่นกรมพระ กรมหลวง เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสปรึกษากับกรมหลวงวชิรญาณฯ ทรงกำหนดชั้นกรมเจ้านายให้เป็นระเบียบตรงกับชั้นยศขุนนางซึ่งเป็นเจ้ากรมคงตามแบบเดิมตั้งแต่กรมหมื่นขึ้นไปจนกรมพระ ต่อนั้นทรงพระราชดำริจะให้มี “กรมพระยา” (ไม่มีคำสมเด็จ) ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และแก้ยศกรมสมเด็จแบบเดิมเป็น “สมเด็จกรมพระยา” เทียบเท่าชั้นสมเด็จเจ้าพระยาทางยศขุนนาง อันนี้เป็นพระเค้าพระราชดำริ

มีปัญหาต่อไปว่าคำ “สมเด็จกรมพระยา” จะเอาเข้าพระนามตรงไหน จะเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยา” หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา” สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นควรเป็นอย่างข้างหลัง และทรงพระดำริต่อไปว่า สมเด็จเจ้าพระยาได้เครื่องยศและมีกรมทนายเหมือนอย่างเจ้าต่างกรมฉันใด สมเด็จกรมพระพระยา (ที่มิได้เป็นเจ้าฟ้า) ก็ควรจะมีศักดิ์คล้ายเจ้าฟ้า (เคยได้ยินคำตรัสว่า “เจ้าฟ้ายก” เปรียบเช่นพระราชาคณะยก) เพราะฉะนั้นตามประเพณีเดิมพระองค์เจ้าต่างกรมทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ เท่ากันทุกชั้น จึงเพิ่มศักดินาสมเด็จกรมพระยาเป็น ๓๕๐๐๐ ต่ำกว่าศักดินาเจ้าฟ้าต่างกรม ๕๐๐๐ และได้พระราชทานเครื่องยศลงยาราชาวดีเหมือนเจ้าฟ้า เมื่อเอาคำ “สมเด็จ” มาตั้งหน้าพระนามกรมพระยาเหมือนอย่างเจ้าฟ้า ก็ต้องแก้ทางระเบียบพระนามเจ้าฟ้าให้ผิดกัน จึงเอาคำ “เจ่าฟ้า” ลงไว้ข้างหน้านามกรม เช่นว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้า กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ฉะนี้ ให้ผิดกับสมเด็จกรมพระยาที่มิได้เป็นเจ้าฟ้า

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งสมเด็จกรมพระยานอกจากสมเด็จพระมหาสมณะอีก ๒ พระองค์ กรมพระพระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นสมเด็จกรมพระยาพระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทววงศ์วโรประการ เป็นสมเด็จกรมพระยาพระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าพาหุรัตนมณีมัย เป็นกรมพระเทพนารีรัตน พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธพงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนคำนำพระนามตามชั้นพระราชวงศ์ ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยอีกอย่าง ๑ เพราะตามแบบเก่าต้องแก้ชั่วบุรุษ ทรงบัญญัติใหม่เพื่อมิให้ต้องแก้ คือ

๑) บรรดาพระราชบุตรธิดาแต่ชั้นพระเจ้าอาว์ขึ้นไป รวมทั้งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ให้ใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” เหมือนกันทุกชั้น

๒) พระราชบุตรและธิดาสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” แต่ลูกเธอของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็น “พระราชวรวงศ์เธอ”

เจ้านายชั้นพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระวงศ์เธอ คงอยู่ตามแบบเดิม


ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี แต่การตั้งกรมเจ้านายพฤติการณ์ผิดกับรัชกาลที่ ๖ ด้วยได้เฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่ในรัชกาลนั้นแล้ว พระอุปัชฌาย์ก็ได้เฉลิมพระยศและสิ้นพระองค์ไปแล้ว แต่มีกรณีเป็นเหตุที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแก้ไขแบบเดิมบ้าง การตั้งกรมเจ้านายในรัชกาลที่ ๗ จึงทรงเพิ่มพระยศสมเด็จพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังอยู่ ๓ พระองค์ คือ

ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า เจ้ากรมเป็นพระยา เทียบที่กรมพระเทพามาตย์แต่โบราณ พระองค์ ๑

ทรงสถาปนาพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เจ้ากรมเป็นพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระยศพระอัครชายาเธอ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ เป็นพระวิมาดาเธอ กรมพระ พระองค์ ๑

เพิ่มพระยศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐ เสมอกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นสมเด็จกรมพระยา พระองค์ ๑

เพิ่มพระยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ พระองค์ ๑ (น่าจะนับว่าเป็นกรมพิเศษ เพราะมิได้เพิ่มศักดินาและเครื่องยศอย่างสมเด็จกรมพระยา)

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

นอกจากสมเด็จพระพันวัสสา สมเด็จพระปิตุจฉา และสมเด็จพระราชปิตุลา ในรัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมเด็จกรมพระยา พระองค์ ๑ สมเด็จกรมพระและกรมพระ ๔ พระองค์


เรื่องตำนานการตั้งกรมสมเด็จและกรมพระมามรดังนี้

ที่จะเรียกว่า “สมเด็จกรม” หรือ “กรมสมเด็จ” นั้น หม่อมฉันเห็นว่าที่มิได้มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ควรเรียกตามพระสุพรรณบัฏเป็นหลัก ชั้นก่อนรัชกาลที่ ๖ คงเรียกพระนามดังนี้ จะยกตัวอย่าง เช่น

สมเด็จ (พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า) กรมพระเทพสุดาวดี
กรมสมเด็จพระเดชาดิศร
สมเด็จ (พระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้า) กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์

เจ้านายพระองค์ใดที่ได้เป็นสมเด็จกรมพระยาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ มา จึงควรเรียกว่าสมเด็จกรมพระยา ที่เรียกว่ากรมพระยาเลยขึ้นไปถึงก่อนรัชกาลที่ ๖ ไม่มีมูล และทำให้เกิดยุ่งด้วย เพราะกลายเป็นสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนพระยศต่ำกว่าพระองค์ใหญ่ และทำให้ดูเหมือนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงพระยศต่ำกว่ากรมสมเด็จพระเดชาดิศร หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้.


.........................................................................................................................................................


คัดจากชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2550   
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 10:21:11 น.   
Counter : 8403 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com