กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร



.........................................................................................................................................................


ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร


เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดเป็น ๓ ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค ๑ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค ๑ เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค ๑

เรื่องเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ที่จะรู้ให้ถ้วนถี่นั้นยากแต่ก็มีศิลาจารึกและหนังสือโบราณ พอจะตรวจตราสอบสวนให้รู้เรื่องได้บ้าง ศิลาจารึกและหนังสือโบราณมีเรื่องครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ข้าพเจ้าได้พบ ๑๑ เรื่อง จะบอกไว้โดยสังเขปต่อไปนี้ คือ

๑. ศิลาจารึกของขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงสุโขทัยรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วง จารึกไว้เมื่อราวปีมะโรง จุลศักราช ๖๕๔ พ.ศ. ๑๘๓๕ เป็นหลักศิลาแรกที่จารึกด้วยตัวหนังสือไทย เล่าเรื่องสุโขทัยตั้งแต่พระเจ้าขุนศรีอินทราทิตย์ครองราชสมบัติ มาจนถึงแผ่นดินของพระเจ้าขุนรามคำแหง

๒. ศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งครองราชสมบัติ ณ กรุงสุโขทัย เป็นรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง จารึกไว้ที่เมืองนครชุม (อยู่หลังเมืองกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้) เมื่อราวปีระกา จุลศักราช ๗๑๙ พ.ศ. ๑๙๐๐ เล่าเรื่องบรรจุพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองลังกา

๓. ศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย จารึกไว้เป็นภาษาไทยหลัก ๑ ภาษาเขมรหลัก ๑ เมื่อราวปีฉลู จุลศักราช ๗๒๓ พ.ศ. ๑๙๐๔ เล่าเรื่องต่างๆ ที่มีในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาลิไทย

๔. หนังสือเรื่องนางนพมาศ หนังสือเรื่องนี้ว่าเป็นของนางนพมาศ ธิดาของพระศรีมโหสถ เป็นตระกูลพราหมณ์ครั้งกรุงสุโขทัยแต่ เล้าเรื่องที่บิดานำนางนั้นถวายเป็นพระสนมของสมเด็จพระร่วงได้เป็นพระสนมเอกที่ท้างศรีจุฬาลักษณ์ เข้าไปอยู่ในพระราชวัง เห็นขนบธรรมเนียมราชประเพณี ตลอดจนภูมิสถานบ้านเมืองและรั้ววังอย่างไรก็จดพรรณนาไว้ในหนังสือนั้น รวม ๓ เล่มสมุดไทย เรียกกันว่าเรื่องนางนพมาศบ้าง เรียกตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์บ้าง

เมื่ออ่านตรวจดูหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าในทางภาษาเป็นหนังสือแต่งใหม่ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง สำนวนผิดกับหนังสือแต่งครั้งกรุงสุโขทัยนัก และมีข้อความในหนังสือนั้นบางแห่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นความจริงไม่ได้เป็นอันขาด เช่น ชาวต่างประเทศว่ามีอังกฤษ ฝรั่งเศส วิลันดา สเปน และที่สุดอเมริกัน ซึ่งความจริงรู้อยู่เดี๋ยวนี้เป็นแน่นอนว่า ฝรั่งชาติเหล่านั้นหรือชาติใดๆ ยังไม่มีมาทางประเทศนี้ในครั้งนางนพมาศ

อีกประการหนึ่งที่ว่า ครั้งนครสุโขทัยมีปืนใหญ่หนักตั้งห้าร้อยหาบ พันหาบ ข้อนี้ก็จะเป็นความจริงไม่ได้ ด้วยปืนใหญ่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในโลกในเวลานั้น เหตุใดจึงกล่าวไว้ในหนังสือนางนพมาศ เหตุนี้จึงน่าสงสัยจะเป็นหนังสือผู้อื่นแต่งขึ้นใหม่ๆ เอาแต่ชื่อนางนพมาศมาอ้างให้คนหลงเชื่อ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบบังคมทูลความปรารภเรื่องนี้แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง มีรับสั่งว่าได้ทรงสังเกตอยู่ว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศ ทางภาษาเป็นหนังสือใหม่และมีข้อความที่จะจริงไม่ได้อยู่ในนั้นจริง แต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นต้น ท่านทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ท่านคงจะได้ทรงสังเกตเห็นความวิปลาสในหนังสืออย่างที่เราเห็นเหมือนกัน แต่ท่านจะได้หลักฐานอื่นอย่างไรซึ่งเรารู้ไม่ได้มาประกอบ จึงได้ทรงเชื่อถือ

ในส่วนพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองนั้น พระองค์ทรงพระราชดำริเห็นว่า เรื่องเดิมเขาจะมีจริงแต่ต้นฉบับจะลบเลือนบกพร่องอยู่อย่างไร มามีผู้ปฏิสังขรณ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่ผู้ที่ปฏิสังขรณ์หย่อนทั้งสติปัญญาและความรู้ ไปหลงนิยมเสียว่า ยิ่งตกแต่งให้เพราะเจาะละเอียดลออขึ้นได้อีกเท่าใด ยิ่งเป็นการดี จึงซ่อมแซมเสียจนเลอะไปอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

๕. หนังสือตำนานพระสิหิงค์ พระภิกษุชื่อโพธิรังษีแต่งไว้เป็นภาษามคธ ประมาณว่าเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ จน ๒๐๗๐ เล่าเรื่องพระพุทธรูปซึ่งถวายพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์ เดิมสร้างขึ้นที่เมืองลังกา แล้วพระร่วงให้พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาไว้เมืองสุโขทัย แล้วเล่าถึงเหตุการณ์ที่เชิญพระสิหิงค์ไปไว้ยังเมืองต่างๆ หนังสือนี้ได้แปลและแต่งเป็นภาษาไทยหลายฉบับ

๖. หนังสือชินกาลมาลินี พระภิกษุชื่อรัตนปัญญาณอยู่ในอาณาจักรลานนาไทย (คือเชียงใหม่) แต่งเป็นภาษามคธ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๘๗๘ พ.ศ. ๒๐๕๙ กล่าวด้วยเรื่องพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ แปลเป็นภาษาไทยเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

๗. หนังสือจีนชื่อคิมเตี้ยซกทงจี๋ ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนในราชวงศ์ไต้เชง แผ่นดินเขียนหลง มีรับสั่งให้กรรมการขุนนางแต่งขึ้นเมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ พ.ศ. ๒๓๑๐ ว่าด้วยทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยาม หนังสือเรื่องนี้ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) ได้แปลเป็นภาษาไทย

๘. หนังสือพงศาวดารเหนือ ได้ความตามบายแผนกที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงรวบรวมเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ พ.ศ. ๒๓๕๐ กรมพระราชวังฯ มีพระบัณฑูรให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตขวาเป็นผู้เรียบเรียง วีที่พระวิเชียรปรีชาเรียบเรียงพงศาวดารเหนือ ดูเหมือนหนึ่งเที่ยวเก็บหนังสือเรื่องราวอะไรเก่าๆ บรรดามี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา บางทีจะถึงจดคำเล่าคำบอกของชาวเมืองเหนือ ที่รู้เรื่องเก่าๆ เอาหนังสือเหล่านั้นมาเรียบเรียงลำดับ ตามที่เชื่อว่าเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง แล้วคิดตกแต่งตรงหัวต่อด้วยตั้งใจจะเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นหนังสือพงศาวดารเหนือ จริงเป็นหนังสือหลายเรื่องเรียบเรียงไขว้เขว บางทีเรื่องเดียวซ้ำ ๒ หนก็มี ศักราชที่ลงไว้ในพงศาวดารเหนือวิปลาสจนอาศัยสอบสวนไม่ได้ทีเดียว แต่เนื้อเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารเหนือมีมูลที่เป็นความจริงอยู่มาก ถ้าจะสอบสวนต้องเลือกหั่นเอาไป อย่าเชื่อตามลำดับเรื่องที่พระวิเชียรปรีชาเรียงไว้ จึงจะได้ความ

๙. หนังสือตำนานโยนก ว่าด้วยพงศาวดารเหนือในมณฑลพายัพที่เมืองเชียงใหม่เป็นต้น พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) รวบรวมตำนานและพงศาวดารทั้งปวง มาตรวจสอบแต่งขึ้นเป็นตำนานโยนกเรื่อง ๑ หนังสือตำนานโยนกนี้เป็นหนังสือดี ที่ผู้แต่งคือ พระยาประชากิจกรจักร มีความอุตสาหะรวบรวม แต่งด้วยความคิดและความรู้โบราณคดีอย่างลึกซึ่ง ควรจะสรรเสริญว่าเป็นหนังสืออย่างดีในพงศาวดารไทยเรื่อง ๑ น่าเสียดายที่พระยาประชากิจกรจักรถึงอนิจกรรมไปเสียแต่งยังหนุ่ม ถ้ายังอยู่จะเป็นกำลังในการสอบสวนพงศาวดารได้อีกคน ๑

๑๐. หนังสือราชาธิราช เป็นพงศาวดารเมืองรามัญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้เรียบเรียงเป็นภาษาไทย เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ เนื้อความตอนต้นมีเรื่องเกี่ยวข้องถึงกรุงสุโขทัยมาก

๑๑. หนังสือจามเทวีวงศ์ พระโพธิรังษีเมืองเชียงใหม่แต่งเป็นภาษามคธ แปลออกเป็นพงศาวดารเมืองหริภุญไชย ก็มีเนื่องถึงกรุงสุโขทัยอีกเรื่อง ๑


เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตรวจสอบได้ง่ายกว่าเรื่องครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยมีหนังสือพระราชพงศาวดารอยู่เป็นหลัก

หนังสือพระราชพงศาวดารที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยมากมาแต่ก่อน คือ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับ ๒ เล่มสมุดฝรั่ง ที่หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมืองปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ พ.ศ. ๒๔๐๖ และโรงพิมพ์อื่นๆ ได้พิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง เข้าใจกันมาแต่ก่อนว่าหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับ ๒ เล่มนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งขึ้น (ด้วยอาศัยเก็บข้อความจากหนังสือเรื่องหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระวันรัตได้แต่งไว้เป็นภาษามคธ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า มหายุทธการตอน ๑ จุลยุทธการตอน ๑) จึงเรียกหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้นว่า พระราชพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ผู้ศึกษาพงศาวดารได้อาศัยแต่หนังสือฉบับ ๒ เล่มนั้นเป็นตำรา จนแทบเข้าใจกันทั่วไปว่า หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีแต่ฉบับนั้นฉบับเดียว

ความรู้เรื่องหนังสือพระราชพงศาวดาร เพิ่มมากว้างขวางออกไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) โปรดให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นสภานายกของกรรมการ และต่อมาได้ทรงตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้น เมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นพระราชธุระในหน้าที่สภานายกเอง กรรมการหอพระสมุดพยายามหาหนังสือเก่ามารวบรวมไว้ในหอพระสมุดได้มาก และผู้ที่เป็นสมาชิกในโบราณคดีสโมสรหลายคน ได้ช่วยกันตรวจสอบหนังสือพระราชพงศาวดารที่หอพระสมุดรวบรวมไว้ ถ้ามีข้อสงสัยก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หารือ และได้รับพระราชทานกระแสพระบรมราชวินิจฉัยมาเนืองๆ จนที่สุดไปรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องหนังสือพระราชพงศาวดาร ในเวลาก่อนพระองค์เสด็จสวรรคตเพียง ๒ เดือนเศษ ดังแจ้งอยู่ในสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พิมพ์ไว้ต่อไปนี้


สวนดุสิต
วันที่ ๘ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙



ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ


ได้หนังสือลงวันที่ ๕ เดือนนี้ว่า หอพระสมุดได้หนังสือพงศาวดารแปลกอีก ๒ ฉบับ เป็นฉบับเขียนเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ และฉบับทรงชำระในจุลศักราช ๑๑๕๗ ความเดียวกับฉบับพิมพ์ แต่ฉบับเขียนเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ ถ้อยคำขาดๆ เกินๆ ครุคระผิดกับฉบับพิมพ์ ได้คัดเทียบไว้ตอนหนึ่ง ส่งต้นหนังสือพระราชพงศาวดาร ๒ เล่ม กับที่ได้คัดเทียบความไว้มาให้ดู เธอตีความไม่ออกว่าฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ จะเป็นหนังสือกรุงเก่าแผ่นดินใด หรือหนังสือกรุงธนบุรีแต่ง ได้ลองพิจารณาดูความในหนังสือพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม หาหัวต่อยังไม่ได้นั้น ทราบแล้ว

พงศาวดารว่ากันด้วยฉบับพิมพ์ เห็นว่ามีอยู่ ๕ ฝีปาก ตอนแรกจะเป็นคัดจากจดหมายเหตุท้ายปูม (ตอนที่ ๒) ขึ้นหัวต่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ตอนนี้เข้าใจว่าได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลักที่จะแต่งได้มาจากไหน คือ จดหมายเหตุรายวันทัพอย่างเช่นจดหมายเหตุรายวันทัพครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งฉันได้คัดลงไว้ในพระราชวิจารณ์บางตอนนั้น

ตอนที่ ๓ เริ่มตั้งแต่แผ่นดินพระนารายณ์ลงมา จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เข้าใจว่าจะแต่งโดยรับสั่งพระเจ้าอยู่อยู่หัวบรมโกศ แต่ในระยะนั้นไม่มีจดหมายเหตุทัพจึงคัดลงไปเช่นกับได้ผูกสำนวนคำให้การอีแก่น ก็คัดลงไปทั้งดุ้นเลื้อยเจื้อย เพราะเก็บข้อความไม่เป็นเสียแล้ว

ตอนที่ ๔ ข้อความตั้งแต่ในแผ่นดินพระบรมโกศท่อนปลายมาจนเสียกรุง อาจที่จะเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้จดหมายขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ ข้อความจึงแตกกันอยู่เป็น ๒ แปลง

ตอนที่ ๕ เป็นตอนซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงเก็บตามรายวันทัพนั้นเอง ซึ่งมีสมุดรายวันอาจสอบกับพงศาวดารได้ว่าท่านเก็บอย่างไร ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ข้อซึ่งหนังสือ ๒ เล่มอ้างว่าทรงชำระเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ และ ๑๑๕๗ ฉันเห็นว่าจะเป็นแต่ชำระตรวจสอบถ้อยคำ และดัดแปลงสำนวนบ้าง ไม่ใช่แต่งหรือเก็บความขึ้นร้อยกรองใหม่ เคยสังเกตใจว่าสำนวนพงศาวดารนั้นแบ่งเป็นตอนๆ เช่นนี้ ได้ส่งสมุดดำทั้ง ๒ เล่มนั้นคืนออกมาด้วย


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์




เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจในพระบรมราชาธิบายในพระราชหัตถเลขานี้ชัดเจน จำจะต้องเล่าแม้โดยย่อ พอให้ทราบก่อนว่า หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับต่าง ที่หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมไว้ ได้มีต่างกันอย่างไรบ้าง

หนังสือพระราชพงศาวดาร ที่กรรมการหอพระสมุดหาต้นฉบับได้ในรัชกาลที่ ๕ มีอยู่ ๕ ความคือ

(๑) หนังสือพระราชพงศาวดาร ที่เรียกพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า “ฉบับหลวงประเสริฐ” เพราะพระปริยัติธรรมธาดา (แพ) เปรียญ แต่ยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปได้ต้นฉบับมาให้แก่หอพระสมุด กรรมการจึงให้เรียกชื่อว่า “ฉบับหลวงประเสริฐ” เพื่อให้เป็นเกียรติแก่ผู้ให้ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ข้างต้นมีบานแผนกว่า “ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน และกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ และเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้” ดังนี้ คือว่าหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีรับสั่งให้แต่งขึ้น ต้นฉบับที่หอพระสมุดได้มาเห็นจะเขียนในครั้งกรุงเก่า ได้มาแต่เล่ม ๑ เล่มเดียว ความขึ้นต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าแพนงเชิง เมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๖๖ ถึงสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปถึงเมืองห้างหลวง หมดเล่ม ๑ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับ ความกล่าวย่อๆ แต่มีเนื้อความที่พระราชพงศาวดารฉบับอื่นบกพร่องอยู่ในฉบับนี้หลายแห่ง และศักราชที่บอกไว้สอบได้ถูกต้องมั่นคงมาก หนังสือฉบับนี้ เข้าใจว่าของเดิมจะมีเล่ม ๒ อีกเล่มหนึ่ง

(๒) หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ (คือต้นฉบับที่ได้มา เขียนเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ปี ๑) ฉบับนี้ความพิสดารอย่างฉบับที่พิมพ์เป็น ๒ เล่ม แต่จะขึ้นต้นที่ไหนลงท้ายที่ไหนและกี่เล่มจบทราบไม่ได้ เพราะหาต้นฉบับได้แค่ ๒ เล่ม รู้ได้ว่าความหนึ่งต่างหากที่สำนวนผิดกับฉบับอื่นๆ

(๓) หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗ มีบานแผนกว่า “ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลยราชกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร” ดังนี้ เข้าใจได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงศาวดารในปีนั้น และในต้นฉบับเขียนบอกในที่บางแห่งว่าตั้งนั้นทรงแทรกเข้าใหม่ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้ต้นฉบับเขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ ไว้เพียง ๓ เล่ม มีฉบับจำลองอีก ๔ เล่ม รวม ๗ เล่ม คงจะเริ่มความแต่เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่จะจบเพียงไร และจะเป็นสมุดไทยกี่เล่ม ยังทราบไม่ได้

(๔) หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับเมืองเพชรบุรี (คือได้ต้นฉบับมาจากเมืองเพชรบุรี) ฉบับ ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) จารลงใบลานผูกไว้เป็นคัมภีร์ฉบับ ๑ ทั้ง ๒ ฉบับนี้เทียบโวหารดู ความตรงกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ที่ว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่ง แต่ไม่มีพระราชพงศาวดารสังเขปเรื่องนายแสนปม และพระราชพงศาวดารย่อข้างต้น

เรื่องพระราชพงศาวดารสังเขปที่พิมพ์ไว้ข้างต้นฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้น ตามฉบับที่มีในหอพระสมุดฯ มีบายแผนกข้างต้นว่า “ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก วันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรรณพ มาเผดียงกรมหมื่นนุชิตชิโนรส วันพระเชตุพน ให้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารลำดับกษัตริย์กรุงเก่าโดยสังเขป ทูลเกล้าฯ ถวาย” ดังนี้ เป็นอันเข้าใจได้ว่า เป็นหนังสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงเรียบเรียงขึ้นทีหลังเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก หมอบรัดเลเห็นจะได้ฉบับมาพร้อมกับพระราชพงศาวดารความพิสดาร จึงพิมพ์ตอนสังเขปลงไว้ข้างหน้า ส่วนพระราชพงศาวดารย่อต่อตอนสังเขปนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ได้ทรงเรียบเรียงขึ้นในคราวทรงเรียบเรียงพระราชพงศาดารสังเขปนั้นเอง

ข้าพเจ้าได้เอาพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ข้างตอนต้น ทั้งความและถ้อยคำตรงกับฉบับหลวงประเสริฐ เห็นได้ว่าผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ได้คัดพระราชพงศาวดารฉบับที่แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาลงไว้ในฉบับพิสดารนี้หลายแห่ง และเพิ่มเติมขยายความออกให้กว้าง ตั้งแต่ตอนแผ่นดินสมเด็จไชยราชาธิราชลงมา มีที่ประหลาดอยู่หน่อยที่ศักราชซึ่งลงไว้ในฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ตรงกับฉบับหลวงประเสริฐเพียงในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง ต่อนั้นมาผิดศักราชกันตั้งแต่ ๔ ปีถึง ๒๐ ปีก็มี

(๕) หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่พิมพ์นี้ฉบับ ๑ ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์ฉบับ ๑ ๒ ฉบับนี้ความต้องกัน หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ได้ความว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมของเก่าหลายแห่ง เนื้อความบริบูรณ์ดีขึ้นมาก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระแล้ว นำต้นฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจแก้ไข จึงปรากฏพระราชหัตถเลขาอยู่ในต้นฉบับ หอหลวงพระสมุดได้มาแต่ ๒๒ เล่ม แต่เคราะห์ดีที่ได้ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์มาประกอบกัน ได้เนื้อความบริบูรณ์เป็นหนังสือ ๔๒ เล่มสมุดไทย กล่าวความแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ จบเพียงจุลศักราช ๑๑๕๒

หนังสือพระราชพงศาวดารที่หอพระสมุดได้มา มีต่างความกันดังนี้ ทำให้รู้ได้แน่ว่า หนังสือพระราชพงศาวดารมีอยู่ก่อนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มิได้ทรงแต่งพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มขึ้นใหม่ดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หารือ ว่าหนังสือพระราชพงศาวดารนี้จะแต่งในครั้งใดบ้างแน่ จึงได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ดังแจ้งอยู่ในพระราชหัตถเลขานั้น

ครั้งต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ พ.ศ. ๒๔๕๔ นายเสถียร รักษา (กองแก้ว) ให้หนังสือพระราชพงศาวดารแก่หอพระสมุดอีกฉบับ ๑ ต้นฉบับเขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ สำนวนยังเก่ากว่าฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ ขึ้นไปอีก หนังสือฉบับนี้หอพระสมุดได้ไว้แต่เล่มเดียว ทราบไม่ได้ว่าจะขึ้นต้นลงท้ายเพียงไร และกี่เล่มจบ แต่ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า หนังสือพระราชพงศาวดารความพิสดารมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าแน่ ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ แต่งหรือชำระครั้งกรุงธนบุรี จึงผิดสำนวนกับฉบับนี้ อนึ่ง ศักราชที่ลงไว้ในฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นี้ ยังตรงกับในฉบับหลวงประเสริฐ เป็นพยานรู้ได้ว่าศักราชที่ลงในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพิ่งมาคลาดเคลื่อนเมื่อชำระในครั้งกรุงธนบุรีหรือในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เสียดายนักที่ไม่ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ มาทันถวายเมื่อกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าได้ทอดพระเนตรเห็นจะต้องพระราชหฤทัยเป็นแน่

หนังสือพระราชพงศาวดารทุกๆ ฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมา น่ายินดีที่บังเอิญมีข้อความตอนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคืนพระแก้วฟ้าแก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิด้วยกันทุกฉบับ ข้อนี้เป็นหลักพอที่จะคัดเทียบให้เห็นได้ ว่าสำนวนหนังสือพระราชพงศาวดารเหล่านี้ต่างฉบับผิดกันอย่างไร หรือถ้าจะว่าโดยทางสันนิษฐาน คือหนังสือพระราชพงศาวดารนี้ของเดิมแต่งไว้อย่างไร และได้แก้ไขโวหารผิดกันเป็นชั้นๆ โดยลำดับมาอย่างไร จึงได้คัดเทียบโวหารลงไปต่อไปนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ความสังเกตของผู้ศึกษาพงศาวดาร

ความฉบับหลวงประเสริฐ

“ ศักราช ๙๒๖ ชวดศก พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรี ลงมาส่งยังพระนครศรีอยุธยา และว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้านั้น และจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง ” นี่เป็นสำนวนในฉบับเก่าที่สุดที่หาได้

ความฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖

“ ในขณะพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีพระเจ้าช้างเผือกปราสาททองเธอส่งให้ไปถวายแก่พระยาล้านช้างนั้น ครั้นพระแก้วฟ้าราชบุตรีไปถึงเมืองล้านช้าง พระยาก็ว่า เราจำเพาะใช้ให้ไปขอพระเทพกระษัตรี และพระแก้วฟ้าราชบุตรีนี้เรามิได้ให้ไปขอ และเราจะส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนไปยังพระนครศรีอยุธยา และจะขอพระเทพกระษัตรีซึ่งจำเพาะแต่ก่อนนั้น ครั้นเสร็จการศึกช้างเผือก พระยาล้านช้างก็แต่งพระยาแสน ๑ พระยานคร ๑ พระยาทิพมนตรี ๑ ให้มาส่งพระแก้วฟ้า และพระยาล้านช้างให้แต่งพระราชสาส์นมาถวายว่า จะขอพระเทพกระษัตรี พระเจ้าช้างเผือกก็ตรัสบัญชาตาม จึงตกแต่งการที่จะส่งพระเทพกระษัตรีไปแก่พระยาล้านช้าง ครั้นถึงเดือน ๕ ปีชวดฉศก ศักราช ๙๒๖ พระเจ้าช้างเผือกตรัสให้พระยาแมนไปส่งพระราชธิดาไปแก่พระยาล้านช้างอันมานั้น ส่งไปโดยทางสมอสอ “ สำนวนนี้แต่ใหม่ทีหลัง ความตรงกับฉบับหลวงประเสริฐแต่เนื้อเรื่องกับศักราช

ความฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕

“ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรีก็เสียพระทัยนัก จึงตรัสว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับคอช้าง เป็นวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เป็นทูตานุทูตให้ลงมาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุธยา และมีพระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย ในลักษณะพระราชสาส์นนั้นว่าเดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กิตติศัพท์นี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑสีมาเมืองกรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาตรว่าพระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคยิ่งกว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกิตติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เป็นที่อัปรายศชั่วกัลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาส์นอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณะพระราชสาส์น และส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ละอายพระทัยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตกแต่งการที่จะส่งพระราชธิดา และจัดเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาสชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย ครั้นถึงเดือน ๕ ศักราช ๙๑๓ ปีกุนตรีนิศก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญสมเด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ “ สำนวนนี้เป็นแต่แก้ไขถ้อยคำฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ เล็กน้อย




 

Create Date : 12 กันยายน 2550   
Last Update : 12 กันยายน 2550 10:29:48 น.   
Counter : 17884 Pageviews.  


คำให้การหัวพันห้าทั้งหกในศึกฮ่อ


แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทยและประเทศราช ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช


.....................................................................................................................................................



คำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



ที่เรียกว่าเมืองหัวพันห้าทั้งหกนี้เป็นเมืองไทยหมู่ ๑ หลายเมืองด้วยกัน เรียกชื่อว่าหัวเมืองเมือง ๑ เมืองซำเหนือเมือง ๑ เมืองซำใต้เมือง ๑ เมืองซ่อนเมือง ๑ เมืองโสยเมือง ๑ เมืองเหยียบเมือง ๑ เมืองสบแอดเมือง ๑ เมืองเชียงค้อเมือง ๑ ตั้งอยู่ทางข้างเหนือเมืองหลวงพระบาง

เรื่องราวของเมืองเหล่านี้ เดิมทีเดียวตั้งแต่ราว พ.ศ. ๕๐๐ พวกชนชาติไทยตั้งต้นอพยพมาแต่แดนเดิมของตน คือที่ประเทศจีนฝ่ายใต้บัดนี้ มีมณฑลฮุนหนำและมณฑลกุยจิ๋วเป็นต้น มาเที่ยวหาที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นอิสระทางแดนดินข้างตะวันตก มาตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่ง ครั้นจำเนียรกาลนานมาก็เกิดแว่นแคว้นแดนไทยขึ้นโดยลำดับ เป็นหลายอาณาเขตด้วยกัน ข้างตอนเหนือที่ต่อแดนจีนเรียกว่าอาณาเขตสิบสองเจ้าไทย ทิศตะวันตกเรียกว่าอาณาเขตสิบสองปันนา ต่อมาเมื่อพวกไทยมีกำลังมากขึ้น ก็ขยายอาณาเขตต่อออกไป พวก ๑ ไปตั้งบ้านเมืองอันได้นามปรากฏในชั้นหลังสืบมาว่าสิบเก้าเจ้าฟ้า อยู่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวินต่อแดนพม่า ไทยพวกนี้ได้นามว่าไทยใหญ่ หรือที่เราเรียกกันในบัดนี้ว่าเงี้ยว ไทยอีกพวก ๑ ขยายอาณาเขตลงมาทางลุ่มแม่น้ำโขงข้างทิศใต้ มาตั้งบ้านเมืองขึ้นเป็น ๒ อาณาเขต เรียกว่าลานช้างอยู่ข้างตะวันออกอาณาเขต ๑ เรียกว่าลานนาอยู่ข้างตะวันตก (คือมณฑลพายัพบัดนี้) อาณาเขต ๑ ไทยพวกนี้ได้นามว่าไทยน้อย

ต่อมาพวกไทยน้อยในอาณาเขตลานนาปราบปรามพวกขอมขยายเขตแดนลงมาข้างใต้จนได้เป็นใหญ่ในสยามประเทศนี้เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ส่วนไทยน้อยที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตลานช้างนั้น ก็ขยายแดนออกไปทางทิศตะวันออกจนต่อแดนพวกจาม ทางทิศใต้ได้แดนขอมตอนแผ่นดินสูงข้างฝ่ายเหนือ (คือท้องที่มณฑลอุดรเดี๋ยวนี้) แล้วตั้งเป็นกรุงกะ-ษั-ต-ริ-ย์ เรียกว่ากรุงศรีสัตนาคนหุต เอาเมืองเซ่า (ซึ่งมาได้นามในชั้นหลังว่าเมืองหลวงพระบาง) เป็นราชธานี อาณาเขตกรุงศรีสัตนาคนหุตทางทิศเหนือต่อกับอาณาเขตสิบสองเจ้าไทย

เหล่าเมืองหัวพันห้าทั้งหก (อันเรื่องพงศาวดารมีในสมุดเล่มนี้) อยู่ในระหว่างกรุงศรีสัตนาคนหุตกับเมืองสิบสองเจ้าไทย จึงตกมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีสัตนาคนหุตก่อน ต่อมาครั้งกรุงศรีสัตนคนหุตมีอำนาจมากขึ้น แม้เมืองสิบสองเจ้าไทยก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีสัตนคนหุตอย่างเดียวกัน เรื่องชั้นเดิมมีมาดังนี้ พวกชาวเมืองหัวพันห้าทั้งหกก็ยังเป็นไทย และพูดภาษาไทยอยู่จนทุกวันนี้

ครั้นกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงคราวเสื่อมทรามลงโดยลำดับจนเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๔๐ ราชวงศ์ที่ครองเมืองเกิดแตกกันเป็น ๒ พวก ต่างปราบกันไม่ลง จึงยอมแยกกันเป็น ๒ อาณาเขต ฝ่ายหนึ่งตั้งเมืองหลวงพระบางเป็นเมืองหลวงอยู่ทางตะวันตก อีกฝ่ายหนึ่งตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงอยู่ทางตะวันออก เมื่อแยกกันเช่นนี้กำลังและอำนาจก็น้อยลงด้วยกัน บังคับบัญชาได้แต่เมืองขึ้นที่อยู่ใกล้เมืองหลวง แต่เมืองขึ้นที่อยู่ไกลออกไปเช่นเหล่าหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหกเป็นต้นนั้น ทั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์และเจ้าเมืองหลวงพระบางต่างถือว่าเป็นเมืองขึ้นของตน แต่มิได้ปกครองมั่นคง เป็นแต่แต่งข้าหลวงขึ้นไปตรวจตราเป็นครั้งคราว ข้าหลวงฝ่ายไหนขึ้นไปถึงพวกเจ้าเมืองท้าวขุนหัวเมืองเหล่านั้นก็ฟังบังคับบัญชา จึงเป็นเมืองขึ้น ๒ ฝ่ายมาช้านาน จนกระทั่งเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์เป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

ครั้นเมื่อพวกญวนซึ่งลงมาชิงเขตแดนของพวกจามตั้งเป็นประเทศญวนขึ้น และพวกเม่งจูซึ่งมาได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจีน ต่างแผ่อำนาจแต่งข้าหลวงมาถึงหัวเมืองสิบสองเจ้าไทย และหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหก พวกหัวเมืองเหล่านั้นก็ยอม “ทู้” ต่อญวนและจีน ดังเคยประพฤติมาต่อกรุงศรีสัตนาคนหุตซึ่งแตกกันเป็น ๒ ก๊ก ความปรากฏในรัชกาลที่ ๓ ว่าเมื่อเจ้าอนุผู้ครองเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ ได้ยอมยกหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหก และเมืองพวนให้เป็นสินบนญวน เพื่อจะขอกำลังอุดหนุน แต่ครั้งนั้นไทยปราบปรามพวกกบฏได้ราบคาบ จนจับตัวเจ้าอนุได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกอาณาเขตเมืองเวียงจันทน์เสีย พระราชทานเมืองหัวพันห้าทั้งหกให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบางแต่นั้นมา

มามีเหตุเกี่ยวข้องด้วยหัวเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเมื่อคราวทัพฮ่อในรัชกาลที่ ๕ พวกฮ่อตั้งซ่องสุมกันในแดนจีนแล้วยกลงมาตีหัวเมืองสิบสิงจุไทยและเมืองพวน ครั้นได้เมืองเหล่านั้นไว้ในอำนาจแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ฮ่อพวก ๑ ยกกองทัพลงมาทางเมืองเวียงจันทน์ (ซึ่งเป็นเมืองร้าง) หมายจะตีหัวเมืองในมณฑลอุดร ฮ่ออีกพวก ๑ ยกไปทางเมืองหัวพันห้าทั้งหก หมายจะตีเอาเมืองหลวงพระบาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) กับพระยานครราชเสนี (กาจ สิงหเสนี) ยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อทางเมืองเวียงจันทน์ทาง ๑ ให้เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายกกับเจ้าพระยานครศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) ยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อทางเมืองหลวงพระบางทาง ๑ ได้รบพุ่งกัน พวกฮ่อแตกพ่ายทั้ง ๒ ทาง การก็สงบไปคราวหนึ่ง

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ พวกฮ่อกลังลงมาอีก มาตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งเชียงคำในแขวงเมืองพวน แล้วยกกองทัพมาตีหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีกครั้ง ๑ จึงโปรดฯ ให้พระยารณไชยชาญยุทธ (ครุธ) เมื่อยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย กับพระยาพิไชย (มิ่ง) ยกกองทัพหัวเมืองขึ้นไปก่อน แล้วให้พระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) เป็นแม่ทัพยกตามขึ้นไปปราบฮ่อเป็นครั้งที่ ๒ กองทัพยกขึ้นไปครั้งนี้ถึงได้ไปตั้งล้อมค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ แต่เผอิญเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชไปถูกกระสุนปืนข้าศึกในเวลารบกัน การหาสำเร็จไม่

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงโปรดฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองหนองคายทาง ๑ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อยังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพ ยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบางทาง ๑ กองทัพทางกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมยกขึ้นไปถึงเมืองพวน พวกฮ่อทิ้งเมืองหลบหนีไปไม่ต้องรบพุ่ง แต่กองทัพทางเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกขึ้นไปต้องรบกับพวกฮ่อในหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหกหลายครั้ง พวกฮ่อจึงแตกหนีไปบ้างยอมสามิภักดิ์บ้าง

เมื่อปราบพวกฮ่อเรียบร้อยแล้ว กองทัพไทยตั้งอยู่ที่เมืองซ่อน เจ้าพระยาสุรศักดิ์สมตรีจึงมีคำสั่งให้ถามพวกเจ้าเมืองหัวพันห้าทั้งหกถึงเรื่องพงศาวดารของเมืองนั้นๆ ตามที่รู้กันมาในพื้นเมือง แล้วจดส่งลงมากรุงเทพฯกับใบบอก เดิมมีสำเนาอยู่ที่กระทรงมหาดไทย หอพระสมุดฯ ได้ฉบับมาจึงได้พิมพ์ในสมุดนี้ เพื่อให้ทราบเรื่องราวทั่วกันและรักษาไว้มิให้สูญ


.....................................................................................................................................................





 

Create Date : 06 กันยายน 2550   
Last Update : 6 กันยายน 2550 9:19:34 น.   
Counter : 3134 Pageviews.  


อำแดงเหมือน กับ นายริด


อำแดงเหมือน กับ นายริด



.................................................................................................................................................................



ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา
ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก



มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการโรงศาล แลราษฎรในกรุงหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มีหญิงสาวคนหนึ่ง ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ความในฎีกาดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าอำแดงเหมือนเป็นบุตรนายเกต อำแดงนุ่น อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ ๒๑ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อนขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายเรื่องราวให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๔ ปีชวดฉศก๑๔ นายภูให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าต่อบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่า บิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า

ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดฉศก๑๔ เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภู นายภูให้ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านรู้เห็นเป็นอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้า ได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึงพาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยอยู่ที่บ้านกำนัน นายภูจึงอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน

ครั้น ณ เดือน ๗ ปีฉลูสัปตศก๑๕ มีหมายหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดไปเกาะข้าพระพุทธเจ้ากับนายริด กับบิดามารดานายริด มาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าให้การว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีและกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายริดแพ้ความนายภู นายภูไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หาให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่

ครั้นเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ นายภูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริด กับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน มีความแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการ เกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดากับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนมาแล้ว บังคับให้นายริดส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตุลาการ นายริดกับบิดามารดานายริด แลผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนก็เป็นคู้สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าได้ให้การไว้ต่อตุลาการเป็นความสัตย์จริง ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว นายเปี่ยม พะทำรงคุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตะราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาขู่เข็ญจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเป็นภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนตุลาการให้ชำระความต่อไป ก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยม พะทำรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ แกล้งใช้แรงงานต่างๆ เหลือทนได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัครเป็นภรรยานายริดชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ฎีกานี้ทรงแล้วจึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาลง ถ้าความเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไกลจากการที่เป็นจริงนัก ให้จมื่นราชามาตย์ กับนายรอดมอญ มหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฎีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายชู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่ง ให้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นเงินสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิง แลชายที่ว่าเป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเป็นเลิกแล้วต่อกันทั้งเรื่อง

แต่ถ้าความแปลกจะมีนอกจากที่ว่าในฎีกานี้ จะต้องตัดสินตามสักสองอย่าง คือ กิริยาที่บิดามารดายอมยกให้บุตรหญิงของตัวไปแก่ชายนั้นกระมัง จึงต้องยอมให้เขาฉุด ก็ถ้าการเป็นดังนี้ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา เพราะฉะนั้นในความเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชานชู้เดิมแลตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย

แลหญิงนั้นเมื่อหนีบิดามารดาตามชู้ไป ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วย ถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้ก็เร่งคืนให้ เว้นไว้แต่ผ้านุ่งห่มแลเบี้ยเงินหรือสิ่งของราคาสักสามตำลึง ให้บิดามารดาลดให้หญิง เพื่อจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่สักเดือนหนึ่งสองเดือน กว่าจะมีที่ทำมาหากินกับชายที่ตัวหญิงนั้นยอมเป็นเมียเขา

ความวิวาทอายัดแลฟ้องเถ้าแกให้เลิกเสีย

ตามลัทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใด ชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเป็นเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของ แลให้เมียเป็นดังสัตว์เดียรัจฉาน เพราะลัทธิอย่างนั้น แลจึงได้ตัดสินในเวลาหนึ่ง ให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงหย่าชายหย่าได้นั้นให้ยกกฎหมายนั้นต้องยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นประมาณ ความเรื่องนี้ที่เปรียบเทียบพิจารณาว่าเป็นเมียว่าไม่ได้เป็นเมียให้ยกเสีย เอาแต่ตามใจหญิงที่สมัครไม่สมัครเป็นประมาณ หญิงใดมีชายมาขอ บิดามารดายกให้ ตัวยอมไปอยู่ด้วยกัน มีผู้รู้เห็นด้วยกันมากกว่าสองคน เป็นผัวเมียกัน ร่วมสุขทุกข์รุนรอนเดียวกันอยู่นานหลายวันหลายเดือนประจักษ์แจ้งแก่คนรอบบ้านรอบเมือง ไม่มีใครขัดใครเถียง จึงควรตัดสินว่าเป็นผัวเมียกัน ในความเรื่องนี้จะให้เป็นถึงอย่างนั้นจะไม่ได้ จึงต้องให้เป็นไปตามใจหญิงสมัคร

ความคล้ายกับเรื่องนี้แต่ก่อนก็เคยตัดสินมา แต่ก่อนมีผู้มีชื่อพาบุตรหญิงไปขายไว้แก่พระยาสิงหราชฤทธิไกร ผู้บิดาหลวงเสนาภักดี แต่หญิงนั้นยังเป็นเด็ก ครั้นหญิงนั้นเจริญเป็นสาว หลวงเสนาภักดีสมคบเป็นภรรยา ครั้นภายหลังบิดามารดาของหญิงมายุยงหญิง ให้ถอนตัวจากหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมเป็นภรรยา จะสมัครคืนไปกับบิดามารดา หลวงเสนาภักดีก็ยอมปล่อย บิดามารดาจึงเอาเงินค่าตัวมาส่งหลวงเสนาภักดี แล้วรับตัวหญิงไปไว้ ไม่ช้าก็ไปบอกขายให้ผู้อื่นยอมยกหญิงนั้นให้เป็นภรรยาผู้อื่น หญิงนั้นไม่สมัครมาร้องทุกข์ จะขอกลับคืนมาเป็นภรรยาหลวงเสนาภักดี หลวงเสนาภักดีก็ยอมใช้เงินแรงกว่าค่าตัวเดิม แต่ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่บิดามารดาขืนใจบุตรไปขายให้ผู้อื่น ความเรื่องนี้ก็ได้โปรดตัดสินให้ตามใจหญิงแลหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมให้ตามใจบิดามารดา แลชายซึ่งจะเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่

ความสองเรื่องนี้โปรดตัดสินให้ตามหญิงแลชายที่รักใคร่กัน ไม่ตามใจบิดามารดา ชะรอยคนบางจำพวกที่มีคดีของตัว ที่ตัวสำคัญว่าคล้ายกับเรื่องสองเรื่องนี้ แต่ได้ถูกตัดสินไปอย่างอื่นแต่ก่อนแล้ว จะมาบ่นหรือคิดว่าทรงตัดสินความต่างๆ ครั้งก่อนไม่เหมือนกัน การนั้นทรงพระราชดำริทราบแล้วว่า จะมีผู้ว่าอย่างนั้นจะคิดอย่างนั้น ขอให้ผู้สังเกตคดีถ้อยความพิจารณาดูให้ละเอียด ซึ่งทรงตัดสินต่างๆ ไปนั้น ตามบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของหญิงแลชาย แลเกี่ยวข้องในที่สูงที่ต่ำ มีที่กำหนดผิดกันอยู่จึงทรงตัดสินยักเยื้องไป

ชักเรื่องเทียบให้เห็นว่า แต่ก่อนนี้ไป นายไทยมหาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนเป็นนายรองชิด บัดนี้เป็นขุนนครเกษมศรี รองปลัดกรมกองตระเวนขวา แต่เถ้าแก่ไปขอทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุน เป็นภรรยา ได้ปลูกหอปลูกเรือนอยู่ด้วยกัน แล้วได้ให้ท้าวสมศักดิ์นก พาทรัพย์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทข้างใน ได้พระราชทานเงินตราให้ทรัพย์เมื่อเวลาเข้าไปเฝ้าบ้าง ครั้นภายหลังทรัพย์กับนายรองชิดโกรธขึ้งขุ่นเคืองกัน นายรองชิดมาอยู่บ้านเดิมไปมาหาสู่ทรัพย์แต่ห่างๆ ภายหลังทรัพย์มีชู้กับพันสรสิทธิ์ปั่น ในกรมพระตำรวจ

แลเมื่อพระยาเทพอรชุนไม่ได้อยู่บ้าน ไปราชการมณฑลนครศรีธรรมราช นายรองชิดไปหาทรัพย์ จับได้พันสรสิทธิ์ปั่นชายชู้ในที่นอน เถียงไม่ได้ นายรองชิดเห็นว่าทรัพย์เคยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงรู้จักอยู่ จึงนำความนั้นกราบทูบพระกรุณา จึงมีพระบรมราชโองการให้ลูกขุนปรับชายชู้ตามศักดินานายรองชิด เสร็จแล้วหญิงสมัครจะไปอยู่กับชายชู้ ชายชู้ก็สมัครจะรับไป เพราะได้เสียเบี้ยปรับมากแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ทรัพย์เป็นบุตรขุนนางมีบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นหญิงบุตรบิดามารดาสามัญเสมอราษฎร จะโปรดให้เป็นไปตามใจสมัครทรัพย์และชายชู้ของทรัพย์ไม่ได้ พระยาเทพอรชุนบิดาของทรัพย์ก็ไปราชการอยู่ไกล ภายหลังเกิดความเรื่องนี้ขึ้น พระยาเทพอรชุนจะว่าอย่างไรก็ยังไม่ทราบ

จึงโปรดให้หาตัวนายพิศาลหุ้มแพรในพระบวรราชวัง แลบุตรพระยาเทพอรชุนที่เป็นมหาดเล็กหลายนายมาแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า ทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุนนอกใจนายรองชิดผู้ผัว ยอมให้พันสรสิทธิ์ทำชู้จนนายรองชิดผู้ผัวจับได้ บัดนี้ชายชู้ก็เสียงเบี้ยปรับเสร็จแล้ว ตัวทรัพย์จะสมัครไปอยู่กับชายชู้ ญาติพี่น้องจะยอมให้หรือไม่ คาดเห็นว่า พระยาเทพอรชุนจะยอมยกให้ชายชู้หรือไม่ บุตรพระยาเทพอรชุนทุกนายกราบทูลพระกรุณาว่าไม่ยอม คาดใจพระยาเทพอรชุนว่าเห็นจะไม่ยอมให้ไปคบกับชายชู้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้มอบตัวทรัพย์ให้นายพิศาลพี่ชายของทรัพย์รับตัวทรัพย์ไปจำไว้คอยท่าพระยาเทพอรชุน การต่อไปข้างหน้าสุดแต่พระยาเทพอรชุนผู้บิดา

อนึ่งกฎหมายเก่าว่าผัวเมียหย่าร้างกันแยกย้ายกันไป บุตรชายให้ได้แก่มารดา บุตรหญิงให้ได้แก่บิดา กฎหมายบทนี้มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ให้ใช้ได้แต่ในบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์ต่ำ ก็ถ้าว่าบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์สูงศักดินากว่า ๔๐๐ ขึ้นไปให้ตามใจบิดา ถ้าบิดาไม่รับเลี้ยงขับไล่บุตรเสียด้วย บุตรจึงตกเป็นของมารดา ถ้าบิดารักชาติตระกูลยศศักดิ์อยู่ ไม่ยอมให้ไปกับมารดา บุตรก็ต้องเป็นของบิดาหมด ด้วยนัยนี้ ถ้าในบางที่บางคราว หญิงที่มีศักดิ์สูงจะไปได้ผัวไพร่มีบุตรเกิดด้วยกัน บุตรนั้นก็ต้องเป็นของมารดา หรือของตาแลญาติข้างมารดาหมดตามบรรดาศักดิ์ เมื่อตัดสินดังนี้ จะว่าเข้าข้างผู้ดีข่มขี่ไพร่เกินไปก็ตาม แต่เห็นว่าผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นอันมากจะเห็นชอบด้วย ถ้าจะไม่ตัดสินอย่างนั้น จะว่าไปตามกฎหมายเก่าก็จะเป็นที่เสียใจแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์มากนัก ชักเรื่องว่ามาทั้งนี้จะให้เห็นหลักความที่ทรงพระราชดำริแล้วตัดสิน อย่างความบางเรื่องคล้ายๆ กับความที่ร้องฎีกาสองเรื่องนี้ คือผู้หญิงสมัครจะไปอยู่กับผู้ชาย ผู้ชายก็สมัครจะรับ แต่ญาติพี่น้องของหญิงเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเขาไม่ยอมเลย ก็ในความเรื่องนั้นตามรูปความก็ควรจะทรงตัดสินให้ตามใจหญิงสมัคร เหมือนกับความฎีกาสองเรื่องนี้

ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ไม่ได้มาพิจารณาการให้ละเอียด ก็ดูเหมือนจะเห็นไปอย่างนั้นด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ละเอียดไป ระลึกดูการแต่หลังมา เห็นว่าหญิงในตระกูลนั้นไม่เคยตกไปเป็นภรรยาผัวที่ต่ำศักดิ์เสมอกับชายที่หญิงนั้นรักนั้นเลย ชายคนนั้นมักใหญ่ใฝ่สูงเอื้อมเข้าไปสมคบกับหญิงในตระกูลสูงเช่นนั้น เป็นที่แปลกใจคนในตระกูลนั้นทั้งสิ้น ถ้าจะตัดสินให้ตามใจหญิงแล้ว คนในตระกูลนั้นทั้งสิ้นเขาคงคิดว่าผู้ครองแผ่นดินลดศักดิ์ตระกูลเขาให้ต่ำไป ตัวอย่างจะเป็นที่เขาเสียใจไม่รู้หาย ถึงจะบังคับชายให้เสียเบี้ยละเมิดให้แก่เขาตามกฎหมาย อย่าว่าเลย ถึงจะเสียให้เขาสัก ๑๐๐ ชั่งเป็นเบี้ยปรับ เขาก็ลั่นวาจาว่าไม่ยอมยินดีรับเป็นอันขาดทีเดียว

อนึ่งถ้าจะตัดสินให้ชายหญิงคู่นั้นได้อยู่ด้วยกันตามสมัครรักใคร่กันแล้ว ผู้ตัดสินก็ดูเป็นโง่งมนักไม่รู้เท่ารู้ทันคนเสียคมเสียคาย ถูกหลอกถูกลวงกล้ำกรายเข้ามาในพระราชวัง โทษเสมอขบถแต่แผ่นดินเก่ามาจนแผ่นดินใหม่ ก็จะเป็นอันไม่รู้เท่าอ้ายขบถเสียการที่ปรากฏว่าไม่รู้เท่านั้น จะเป็นที่จะให้คนลามๆ ต่างๆ เดินทางนั้นมาลูยลายพระราชฐานต่อไปในภายหน้า จึงประกาศมาขอให้ผู้มีปัญญาตริตรองดู

แต่ความสามัญในโรงศาลในกรุงแลหัวเมืองทั้งปวง ให้ตุลาการพิจารณาสังเกตตระกูลหญิงตระกูลชาย แลเปรียบเทียบให้คล้ายกับกระแสพระราชดำริ ก็ซึ่งถือลัทธิว่าชายถูกต้องหญิงแล้ว ก็เชื่อว่าเป็นเมียนั้นใช้ไม่ได้ ให้บังคับตามใจสมัครในตระกูลหญิงที่ต่ำ แลตามใจบิดามารดาพี่น้องหญิงในตระกูลที่สูงศักดิ์ ตามบังคับนี้เถิด

วิสัยตระกูลต่ำมีแต่คิดจะหาเงินหาทอง ย่อมข่มขืนบุตรหลานของตัวแล้วเอาไปขายไปให้ ให้ไปต้องทนยากอยู่ในที่ที่ตัวจะได้เงินได้ทองมาก แต่บุตรไม่ควรที่จะต้องยากเพราะบิดามารดา จึงต้องตัดสินให้ตามใจบุตรสมัคร ประการหนึ่ง หญิงก็ไม่ควรจะสึกหรอมากไปหลายแห่ง ในตระกูลต่ำ ถ้าตัดสินให้เป็นของบิดามารดาแล้ว ก็จะทำให้สึกหรอมากไปดังเช่นเป็นในความฎีกาสองเรื่องนี้ ก็ในตระกูลสูงโดยว่าหญิงพลัดไปสึกหรอในสถานที่ต่ำ เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้อง ก็เมื่อคืนมาให้ญาติพี่น้องถึงต้องสึกหรอเป็นสองซ้ำสามซ้ำ ญาติพี่น้องทั้งปวงคงจะไม่ยอมให้ไปสึกหรอในตระกูลต่ำ โดยจะต้องสึกหรอเขาคงจะให้ไปสึกหรอในที่มีศักดิ์สูงเป็นที่ยำเยงกลัวของคนเป็นอันมาก คนทั้งปวงเกรงใจไม่ออกปากพูดถึงความเรื่องนั้นได้ ก็เป็นอันแก้อายให้หายไปโดยลำดับ เพราะจะทำคนทั้งหลายให้ลืมความนั้นเสีย

ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ หรือเป็นวันที่ ๕๓๓๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้



.................................................................................................................................................................


คัดจากชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔





 

Create Date : 01 กันยายน 2550   
Last Update : 1 กันยายน 2550 15:48:25 น.   
Counter : 8645 Pageviews.  


แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง

ศักราช ๗๑๒ ขาลศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) วัน (๖ ฯ ๕) ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ


สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)



ประวัติสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

มีในจดหมายเหตุของโหรว่า สมเด็จพระรามาธิบดีสมภพเมื่อ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๖๗๖ พ.ศ. ๑๘๕๗

ในพระราชพงศาวดารย่อ ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ว่า พระเจ้าอู่ทองได้ครองราชสมบัติเมืองเทพนคร (ซึ่งข้าพเจ้ายุติว่าเมืองอู่ทอง) เมื่อปีวอก จุลศักราช ๗๐๖ พ.ศ. ๑๘๘๗ เมื่อพระชันษาได้ ๓๐

เรื่องสร้างกรุงศรีอยุธยา มีในจดหมายเหตุของโหรว่า พระเจ้าอู่ทองสร้าง ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๒๑ สร้างทีหลังนี้ดูไม่มีมูลในเรื่องพงศาวดารทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าโหรวางศักราชปีกุนนั้นผิด ถ้าปีกุนจุลศักราช ๗๐๙ จึงจะได้ความ คือพระเจ้าอู่ทองย้ายมาจากเมืองอู่ทองมาสร้างเวียงเหล็กในแขวงเมืองอโยธยา เมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๐๙ พ.ศ. ๑๘๙๐ อยู่ ๓ ปีจึงสร้างกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหนังสือพงศาวดารทุฉบับ และจดหมายเหตุของโหรยุติต้องกันว่า ฝังหลักเมืองเมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๓ นาฬิกา ๙ บาท ปีขาล (น่าจะเป็นปีเถาะยังเป็นโทศก) จุลศักราช ๗๑๒ พ.ศ. ๑๘๙๒ นับอายุกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยา พระชันษาได้ ๓๖ พรรษา สมเด็จพระรามาธิบดีเสวยราชสมบัติอยู่กรุงศรีอยุธยา ๑๙ ปี สวรรคตเมื่อปีระกา จุลศักราช ๗๑๓ พ.ศ. ๑๙๑๒ พระชันษาได้ ๕๕ ปี


ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้าง ขนานนามโดยพิสดารว่า กรุงเทพมหานคร (บวร) ทวาราวดีศรีอยุธยา หนังสือพระราชพงศาวดารอธิบายนามทั้งปวงนี้ว่า ที่เรียกว่า กรุงเทพมหานคร เพราะเอาชื่อเมืองเทพนครเดิมของพระเจ้าอู่ทองมาใช้ ข้อนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่ายังไม่ตรงดี ที่จริงชื่อกรุงเทพมหานครนั้น เห็นจะหมายความว่าเป็นราชธานี เมืองใดเป็นราชธานีเมืองนั้นก็มีชื่อว่ากรุงเทพมหานคร ชื่อนี้ยังได้เอาลงใช้จนกรุงเทพฯมหานครอมรรัตนโกสินทร์นี้ ชื่อ ทวาราวดี ที่อธิบายว่าเพราะมีลำแม่น้ำล้อมรอบนั้นถูกต้อง กรุงศรีอยุธยาที่พระเจ้าอู่ทองสร้างมีลำแม่น้ำล้อมรอบจริง ด้านเหนือซึ่งเรียกว่าคลองเมืองเดี๋ยวนี้ เวลานั้นสายน้ำลำแม่น้ำลพบุรียังไหลลงมาทางนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ ด้านตะวันออกมีลำแม่น้ำสัก แต่เวลานั้นสายน้ำยังลงมาทางบ้านม้า ด้านใต้ ด้านตะวันตก ลำแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางหัวแหลม ออกบางกระจะวัดพระเจ้าพนัญเชิงอย่างทุกวันนี้ ที่เรียกนามว่า ศรีอยุธยานั้น เอาชื่อเมืองอโยธยาเดิมมาใช้มิใช่คิดขึ้นใหม่

ตัวเมืองที่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้าง เข้าใจว่ากำแพงเมืองยังใช้เพียงหลักไม่ระเนียดปักบนเชิงเทินดิน เพราะได้ความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า พึ่งมาก่อกำแพงด้วยอิฐเมืองแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แนวกำแพงเมืองสร้างครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ด้านเหนือ ด้านตะวันตก ด้านใต้ ตั้งลงมาถึงริมลำน้ำทั้ง ๓ ด้าน แต่ด้านตะวันออกลำน้ำสักยังอยู่ห่างมาก แนวกำแพงเมืองอยู่หลังวัดจันทรเกษมเข้าไป ลำน้ำแต่หัวรอลงมาจนวัดพระเจ้าพนัญเชิง ในเวลานั้นขุดเป็นแต่คูเมืองเรียกว่า ขื่อหน้า พึ่งมาขุดขยายเป็นลำน้ำใหญ่เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระธรรมราชาธิราช พระราชวังที่สร้างครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างริมหนองโสนคือ บึงพระราม ห่างแม่น้ำ อยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญเดี๋ยวนี้ ปราสาทราชมณเฑียรสร้างด้วยไม้ทั้งนั้น พระราชมณเฑียรย้ายลงมาตั้งริมน้ำ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปราสาทก็เห็นจะพึ่งมาก่อเป็นตึกเมื่อย้ายพระราชมณเฑียรคราวนั้น


พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว (เมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก) ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร เหมือนด้วยพระนามสมเด็จพระนารายณ์อวตารอันผ่านกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น หนังสือเก่าทุกเรื่องบรรดาที่ได้พบ ทั้งที่แต่งในภาษาไทยและภาษามคธ ใช้พระนามรามาธิบดีนี้เป็นพระนามของพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาทุกเรื่อง แต่สร้อยพระนามเขียนแปลกๆ กัน ยาวบ้างสั้นบ้าง ข้าพเจ้าคัดตามที่ได้พบในที่ต่างๆ ลงมาไว้ต่อไปนี้

๑. ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง สมเด็จพระรามาธิบดีบดินทรศรีสุนทรบรมมหาจักรพรรดิ บวรธรรมิกมหาราชาธิราช ชาติหริหรินทร์ อินทรเดโชชัยมไหสุริยศวรรยาเทพาดิเทพตรีภูวนาถ บรมบาทบพิตร
๒. ในกฎหมายลักษณะโจร สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสฤษดิรักษจักรพรรดิราชาธิราช ตรีภูวนาถธิเบศร์บรมบพิตร
๓. ในกฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรจะกรพรรดิราชาธิราช ราเมศวรธรรมิกราชเดโชชัย เทพตรีภูวนาธิเบศร์ บรมบพิตร
๔. ในกฎหมายลักษณะผัวเมีย สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบพิตร
๕. ในกฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช
๖. ในโองการแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่านในพระราชพิธีศรีสัจปานการ สมเด็จพระรามธิบดีศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช

พระนามรามาธิบดีนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในประเทศทางนี้ได้ใช้เป็นพระนามก่อนพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาภายหลังปรากฏในศิลาจารึกกัลยาณีที่เมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าหงสาวดีพระองค์ที่เรียกพระนามในหนังสือราชาธิราชว่า พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ คือพระมหาปิฎกธรนั้น ได้ใช้นามรามาธิบดีเป็นพระนามในจารึกพระองค์หนึ่ง พระเจ้ากรุงกัมพูชาที่ใช้นามรามาธิบดีก็มีแต่ในสมัยภายหลังมาทั้งนั้น

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งไทยทั้งพม่ารามัญ ตามที่เรียกกันแต่ก่อนมา ลัทธิของชาวประเทศทางนี้ มีวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นเดินถึง ๕ อย่างต่างกันคือ
๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
๒. พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
๓. พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
๔. พระนามตามที่ปากตลาดเรียกกันเมืองล่วงรัชกาลไปแล้ว
๕. พระนามที่เรียกกันในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น ตามราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณ เมื่อจะทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ขึ้นผ่าพิภพ สมณพราหมณาจารย์และเสนาพฤฒามาตย์ที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ประชุมปรึกษากันถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น จารึกลงในแผ่นทองถวายเมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก มักเป็นพระนามมีสร้อยยืดยาวมาก

๒. พระนามพิเศษที่ถวายเพิ่มพระเกียรติยศนั้น คือถ้าในแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเป็นพระเกียรติยศพิเศษ จึงถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เช่น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก” นี้เป็นต้น ประเพณีถวายพระนามพิเศษที่ว่านี้ เห็นจะมีมาแต่โบราณมาก พระเจ้าอโศกในมคธราฐที่เรียกพระนามในหนังสือว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกก็ดี ที่จารึกพระนามไว้ว่าพระเจ้าปิยทัสสีก็ดี พระเจ้าดิศผู้เป็นพระพุทธศาสนูปถัมภกพระองค์แรกในลังกาทวีป ที่ใช้พระนามในหนังสือว่าพระเจ้าเทวานัมปิยดิศก็ดี เหล่านี้น่าจะเป็นพระนามที่ถวายพิเศษ

พระนามถวายพิเศษแรกปรากฏในประเทศนี้ มีเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทย พระเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงพระราชศรัทธาสละราชสมบัติออกทรงผนวชคราวหนึ่ง เมื่อลาผนวชแล้วพระมหาสวามีสังฆราช ซึ่งมาแต่ลังกา ถวายพระนามว่า พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช ดังนี้ มาในชั้นกรุงเก่า ข้าพเจ้าเห็นว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ดี พระเจ้าทรงธรรมก็ดี พระเจ้าปราสาททองก็ดี พระนารายณ์ก็ดี เหล่านี้น่าจะเป็นพระนามถวายพิเศษ ด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้คือ

พระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นจะมาแต่ศรีตรีภพธรณีชิต ที่พระมหาสวามีสังฆราชถวายแด่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัย จะถวายพระนามนี้แด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อใดทราบไม่ได้ เห็นในบานแผนกกฎหมายตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใช้พระนามนี้แล้ว ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ ยังมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นที่ใช้พระนามนี้ คือ มหาราชท้าวลก ที่ครองราชย์สมบัติเมืองเชียงใหม่ในคราวเดียวกัน และเป็นคู่รบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หนังสือข้างฝ่ายเหนือเรียกว่าติโลกราช ที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภกเมืองทำสังคายนา ซึ่งนับในตำนานของเราว่าเป็นครั้งที่ ๗ นั้น ต่อมาพระเจ้าทรงธรรมได้ใช้พระนามปรากฏในที่บางแห่งว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าพระนามบรมไตรโลกนาถนั้นเป็นพระนามพิเศษพระนามหนึ่ง

พระนามที่เรียกว่า พระมหาจักรพรรดิ นั้น รู้ได้แน่ว่าเป็นพระนามพิเศษ แม้ต้นตำราพราหมณ์หรือตำราที่มาในพระพุทธศาสนา ก็ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินต่อบางพระองค์จึงจะเป็นจักรพัตราธิราช พระนามนี้ชั้นกรุงเก่าเห็นจะถวายเมื่อมีช้างเผือกถึง ๗ ช้าง วิเศษกว่าที่จะเรียกเพียงพระเจ้าช้างเผือก

พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้น มาแต่คำว่า ธรรมราชา แน่ พระนามที่เรียกว่า “ธรรมราชา” มูลเหตุเดิมน่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งพระเจ้าอโศก ด้วยเหตุแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาดังกล่าวมาแล้วในตอนอธิบายเหตุการณ์เมื่อก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา พระนามนี้พระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปคงจะเอามาใช้ และพวกลังกาพาเข้ามาในประเทศนี้ ยกย่องว่าคู่กับจักรพรรดิราชา ปรากฏว่าได้ถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัยเป็นครั้งแรก เห็นจะถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าทรงธรรมกรุงศรีอยุธยา เนื่องในเหตุที่พบรอยพระพุทธบาท ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุของวันวลิตวิลันดา ว่าเรียกกันมาแต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่

พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าปราสาททอง นั้น ที่จริงพม่าเขาใช้ก่อน ดังจะแลเห็นได้ในหนังสือราชาธิราช ที่เขาเรียกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่าพระเจ้ามณเฑียรทอง พระนามนี้เห็นจะเอาอย่างพม่ามาถวาย เมื่อสร้างพระวิหารสมเด็จเป็นปราสาทปิดทองมีขึ้นองค์แรก มีปรากฏในจดหมายเหตุของวิลันดา ว่าใช้แต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าพระนามนี้จะเกิดขึ้นเพราะขุดปราสาททองได้ในจอมปลวก ดังกล่าวในหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่า

พระนามที่เรียกว่า พระนารายณ์ นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามพิเศษ ด้วยได้พบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นฉบับหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า” ทุกแห่ง และพบหนังสือตำนานแต่งกรุงเก่า ราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอีกเรื่องหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง” หมายความว่าสมเด็จพระนารายณ์พระองค์ที่สวรรคตที่เมืองหาง หนังสือนี้ทำให้เข้าใจว่า เวลาเมื่อจะแต่งจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่าพระนารายณ์มากกว่าพระองค์เดียว (คือมีพระนารายณ์ลพบุรีขึ้นอีกองค์หนึ่ง) จึงเรียกพระนารายณ์เดิมว่า พระนารายณ์เมืองหาง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเข้าใจว่าพระนามที่เรียกพระนารายณ์นั้นเป็นพระนามพิเศษ

ครั้งหลังที่ถวายพระนามพิเศษอย่างอธิบายมานี้ คงยังจำกันได้อยู่โดยมาก คือที่ได้ถวายพระนาม “ปิยมหาราชาธิราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติยืนนานยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ในสยามประเทศ ครั้งทำพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เพราะพระองค์เป็นที่รักของประชาชนทั่วไป พระนามนี้จารึกอยู่ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประชาชนชาวสยามพร้อมกันทำถวายสนองพระเดชพระคุณ ยังอยู่ที่หน้าพระลานสวนดุสิตจนทุกวันนี้

๓. พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือ พระเป็นเจ้า หรืออย่างเราเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์ ถ้าชาวเมืองอื่นก็มักจะเรียกตามนามเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่า พระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่นเรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกตามนามเดิมหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก

๔. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัด และพาระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้ว พระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นเรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่เพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลัง ในกรุงเก่า ที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือ ในพระโกศ มาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้นพระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่า ขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่า ขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวร ถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่า พาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี

๕. พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ในปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์ เรื่องนี้มีความลำบากเป็นอุทาหรณ์ แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ ๒ เรียกรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น ๒ รัชกาล เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ ๑ เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างขึ้นเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าออยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าเรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เองให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้

พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงรัชกาลไปแล้ว ซึ่งสมมติเรียกในรัชกาลครั้งกรุงเก่า เรียกตามต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏบ้าง เรียกตามพระนามพิเศษบ้าง แต่โดยมากนั้นเรียกตามพระนามเดิมที่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย เมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ได้ผ่านพิภพ ยกตัวอย่างดังพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า พระราเมศวร พระมหินทร พระนเศวร พระเอกาทศรถ พระรัษฎา พระยอดฟ้า พระเชษฐา พระอาทิตยวงศ์ เจ้าทองจัน เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค เจ้าฟ้าชัย เหล่านี้เป็นพระนามแต่ครั้งยังเป็นลูกหลวงทั้งนั้น พระนามที่เรียกว่า พระบรมราชา พระรามราชา พระอินทรราชา พระไชยราชา พระมหาธรรมราชา พระศรีสุธรรมราชา เหล่านี้บรรดาที่ใช้คำว่า “ราชา” ไว้ท้าย ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามสำหรับเจ้าครองเมือง

พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าที่เรียกพระนามพิเศษ และเรียกอย่างปากตลาดอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร มาปรากฏสมมติใช้ในราชการเป็นอย่างอื่น มีอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าหลายพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอนุมัตินำมาใช้ในพระราชนิพนธ์คือ

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใช้ว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์
สมเด็จพระเพทราชา ใช้ว่า สมเด็จพระธาดาธิเบศร์
สมเด็จพระเจ้าเสือ ใช้ว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใช้ว่า สมเด็จพระภูมินทราชาธิราช
สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ใช้ว่า สมเด็จพระมหาบรมราชา

(แต่พระนามนี้ เมื่อได้ต้นฉบับพม่ามาสอบแปลใน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรียกพระนามพระเจ้าบรมโกศในบางแห่งว่า พระมหาธรรมราชา เรียกพระนามพระมหาธรรมราชาซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรว่า พระสุธรรมราชา ดังนี้)

พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า พระองค์ใดจะมีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไร จะทราบในเวลานี้ไม่ได้แน่นอน ข้าพเจ้าได้สอบพระนามตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และในบานแผนกกฎหมาย (ต้องขอบอกไว้หน่อยว่า ศักราชที่ลงไว้ในหนังสือกฎหมายผิดอยู่หลายแห่ง บางทีศักราชจะพาให้ข้าพเจ้าหลงรัชกาลไปได้บ้าง) พระนามพิสดารตามที่พบอยู่มีอยู่ดังนี้

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
๑. ในกฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมนาถบพิตร สิทธิสุนทรธรรมเชดา มหาสุริยวงศ์ องค์บุรุโษดมบรมมหาจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช (เข้าใจกันว่าพระนามนี้ผูกขึ้นเพราะหมายความพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น)
๒. กฎมณเฑียรบาล สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสุทธิ์สุริยวงศ์ องค์พุทธางรกูร บรมบพิตร
๓. กฎหมายศักดินาในกรุง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายกดิลกผู้เป็นเจ้า
๔. กฎหมายศักดินาหัวเมือง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ
๕. กฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิรามาธิบดี
๖. กฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิศรรามาธิบดี
(๕ กับ ๖ ถ้าศักราชพลาด คงเป็นกฎหมายแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
กฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชราเมศวร บรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
กฎหมายลักษณะพิศูจน์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชธิราช

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระสรรเพชญ์วงศ์กูรสุริโยดม บรมมหาธรรมราชาธิราชราเมศวร ปวเรศธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรเทพสมมติราช บรมบพิตร

สมเด็จพระเอกาทศรถ
๑. ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิ สวรรยาราชาธิบดินทร์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตร นาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวสัย สมุทัย ตโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทรา ธาดาธิบดีศรีวิบุลย คุณรุจิตรฤทธิราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิคตา มกุฎเทศมหาพุทธางกูร บรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะกบฏศึกตั้งก่อนเสวยราชย์ สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
กฎหมายพระธรรมนูญ สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
กฎหมายพระธรรมนูญกรมศักดิ์ลักษณะอาญาหลวง ๒ แห่ง ลักษณะเบ็ดเสร็จรวม ๕ แห่งในกฎหมาย สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๑. ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดีศรีสรรเพชญ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวร ธรรมธราธิบดี ศรีสฤฎิรักษสังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีดินทร หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอกนิฐ จิตรรุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์องค์เอกาทศรสรุทร์ วิสุทธยโศดม บรมอาชวาธยาศรัย สมุทัยตโรมนต์ อนนตคุณวิบุลยสุนทรบวรธรรมมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนาถบดินทร์ วรินทราธิราชชาติพิชิต ทิศพลญาณสมันตมหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอศวรรยาธิบัติขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตนโมฬี ศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์สรรเพชญ์พุทธางกูร บรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเพทราชา
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิ

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
๑. กฎหมายลักษณะทาส สมเด็จพระรามาธิบดินทร นรินทรบรมมหาจักรพรรดิราเมศวรราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรบรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะทาสอีกแห่ง ๑ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมมหาจักรพรรดิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศรบรมบพิตร
๓. กฎหมายมูลคดีวิวาท สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชบรมจักรพรรดิศวรบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระบรมราชามหาดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศร โลกเชษฐนายก อุดมบรมนาถบพิตร

พิเคราะห์ดูพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏดังแสดงมา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ต้นพระนามจะเหมือนกันโดยมาก ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองลงมาจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะใช้นามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ทุกพระองค์ ถ้าจะใช้พระนามอื่นก็มีเมื่อครั้งพระบรมราชา (พงั่ว) เข้ามาครองราชย์สมบัติ บางทีจะใช้พระนามขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะเวลานั้นสมเด็จพระราเมศวรซึ่งใช้พระนามสมเด็จพระรามาธิบดียังมีพระองค์อยู่ และพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นั้นที่ใช้พระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเอาอย่างก็จะมีบ้าง คือ เจ้าสามพระยา เป็นต้น นอกจากนี้เห็นจะใช้พระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีทุกพระองค์

มาจนสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติ เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ใช้พระนามขึ้นในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ และใช้พระนามนี้ต่อมาจนตลอดราชวงศ์นั้น ถึงพระเจ้าทรงธรรมเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพบหลักฐานรู้แน่ว่าอยู่ในราชวงศ์เดียวกันกับพระเจ้าทรงธรรม ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ใช้พระนามนี้ลงมาจนตลอดราชวงศ์ของพระเจ้าประสาททอง

มาถึงสมเด็จพระเพทราชาตั้งราชวงศ์ใหม่ (ไม่พบหลักฐานว่าขึ้นต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไรแน่ แต่) ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะกลับใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ด้วยได้เห็นในบานแผนกกฎหมายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี และในโองการแช่งน้ำของพราหมณ์ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จรามาธิบดี คงจะใช้พระนามนี้จนพระเจ้าสุริยามรินทร์ บางทีจะใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะขุนหลวงหาวัดยังมีพระองค์อยู่

ครั้นถึงกรุงธนบุรี กลับใช้พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ อีกเป็นแน่ ด้วยได้พบหนังสือพระราชโองการ และศุภอักษรที่มีในครั้งกรุงธนบุรีใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบพิตร หลายแห่ง ศุภอักษรที่เจ้าประเทศราชมีมายังใช้คำว่า “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร”

ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ พึ่งมาเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๔ ตอนหลังว่า ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏในชั้นกรุงกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ จึงเป็นเหตุให้เห็นว่าแต่ครั้งกรุงเก่าก็จะซ้ำกันเหมือนอย่างนี้ ลักษณะขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระสุพรรณบัฏ พึ่งมาเปลี่ยนเป็นเฉพาะพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้สืบมา

พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ตามที่ใช้ในบานแผนกกฎหมาย โดยมากใช้แต่คำ “สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ไม่ได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์ สร้อยพระนามก็ดูมักจะแต่งแต่โดยต้องการให้ไพเราะจึงผิดๆ กันไป แม้พระนามที่ขึ้นต้น บางทีก็หันไปเอาความไพเราะเป็นสำคัญ จึงมีพระนามที่ใช้ในบานแผนกกฎหมายอยู่หลายแห่งซึ่งได้รู้เป็นแน่ว่า มิใช่พระนามที่ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่เป็นดังนี้เป็นด้วยอาลักษณ์ (หรือผู้ใด) ที่มีหน้าที่แต่งบานแผนกกฎหมายแต่โบราณ ไม่ไม้คิดการยืดยาวมาถึงประโยชน์ของคนภายหลัง คิดเฉพาะแต่เวลานั้นเสมอจะเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างให้เพราะๆ ให้เป็นเกียรติยศ คติที่ใช้พระนามตามที่ขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏ จะมีแต่ในบางสมัยหรือในผู้แต่งบานแผนกแต่บางคน จึงเห็นได้ในบานแผนกกฎหมาย ที่ใช้พระนามพระรามาธิบดี มีมากแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับพระเจ้าบรมโกศ ใช้พระนาม พระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นมากกว่าแผ่นดินอื่น

ข้อวินิจฉัยเรื่องลักษณะพระนามต่างๆ ของพระเจ้าแผ่นดินในชั้นกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ ว่าตามความเห็นของข้าพเจ้า จะผิดชอบอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีจะตัดสินเทอญ


..........................................................................................................................................................






 

Create Date : 29 สิงหาคม 2550   
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 9:44:59 น.   
Counter : 15389 Pageviews.  


ว่าด้วยตำนานการเดินทางของฝรั่งมาสู่สยาม และมูลเหตุที่รับเป็นไมตรี

อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง

ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร คือที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปรตุเกต เป็นทีแรกที่กรุงสยามจะได้เป็นไมตรีกับฝรั่ง เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๙๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๘

ตำนานเหตุการณ์ที่ฝรั่งชาติโปรเกตมาเป็นไมตรีนั้น แต่เดิมมาทางที่ไปมาค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก (คือประเทศทั้งหลายตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนเมืองจีน) ไปมากันแต่ ๓ ทาง คือ ทางสายเหนือเดินบกได้ตั้งแต่เมืองจีนมาข้างเหนือประเทศธิเบต ไปลงแม่น้ำอมุราหรือโอซุส มีทางจากอินเดียขึ้นไปบรรจบกันที่แม่น้ำนี้ ล่องน้ำลงไปแล้วต้องขึ้นเดินบกเลียบชายทะเลคัสเปียนไปลงท่าที่ทะเลดำทาง ๑ ทางสายกลาง ใช้เรือแต่เมืองจีนแล่นมาทางทะเลจีน (ความปรากฏว่า จีนรู้จักใช้เข็มทิศเดินเรือในทะเลมาแต่เวลาร่วมพุทธกาลแล้ว) ผ่านอ่าวสยามไปทางเกาะสุมาตรา แล่นเลียบไปจนถึงอินเดีย จากอินเดียก็ใช้เรือแล่นเลียบฝั่งไปทางอ่าวเปอร์เซีย จนถึงแม่น้ำติคริส แล้วขึ้นเดินบกไปลงท่าที่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางสายกลางนี้ ถ้าเดินบกจากอินเดียไปทางประเทศเปอรเซียก็ได้เหมือนกัน


ภาพแผนที่แสดงเส้นทางการเดินทางติดต่อค้าขาย ในสมัยโบราณ


อยู่มาพวกอาหรับที่อยู่ตามเมืองชายทะเลแดง ซึ่งเคยแล่นเรือเลียบฝั่งมาอินเดียทางอ่าวเปอรเซียมาสังเกตรู้ลมมรสุม ว่ามีฤดูที่ลมพัดแน่วแน่อยู่ทางทิศเดียว จึงจับเวลาให้สบมรสุมแล่นเรือข้ามทะเลอาหรับไปมาอินเดียได้ เกิดพบทางเส้นใต้นี้อีกสายหนึ่ง รับสินค้าบรรทุกเรือไปทางทะเลแดงได้จนถึงประเทศอียิปต์ ต้องขึ้นเดินบกหน่อยหนึ่งก็ไปถึงท่าทะเลเมดิเตอเรเนียน พวกพ่อค้าที่ทำการค้าขายในระหว่างประเทศทางตะวันออกกับยุโรป เดินไปมาค้าขายตามทาง ๓ สายที่กล่าวมานี้

อนึ่ง แต่โบราณมีสิ่งสินค้าซึ่งเป็นของเกิดทางประเทศฝ่ายตะวันออก เป็นของดีมีราคาที่ต้องการใช้ในยุโรปมีหลายชนิด เป็นต้นว่า ผ้าแพรและถ้วยชามซึ่งส่งไปจากเมืองจีน ทองคำและเพชรนิลจินดาซึ่งเป็นของเกิดในสุวรรณภูมิประเทศและในอินเดีย ตลอดจนเครื่องเทศมีขิงและพริกไทยเป็นต้น ซึ่งปลูกเป็นแต่ทางตะวันออกนี้ บรรดาที่ซื้อขายใช้สอยกันในยุโรปเป็นของที่พ่อค้าหาไปจากประเทศทางตะวันออกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการค้าขายกับประเทศทางตะวันออก เป็นการที่เกิดกำไรแก่พวกพ่อค้า และเป็นผลประโยชน์แก่เมืองท่าที่รับส่งสินค้าเป็นอันมากมาแต่โบราณ

เมื่อ พ.ศ. ๕๔๓ เกิดพระเยซูขึ้นในหมู่ชนชาติยิว ในมณฑลปาเลสติน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศโรมในยุโรป พระเยซูประกาศตั้งคริสตศาสนามีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้น แต่พวกยิวที่เป็นศัตรูของพระเยซูมีมากกว่า จึงจับพระเยซูประหารชีวิตเสียที่เมืองเยรูซาเล็ม เมื่อ พ.ศ. ๕๗๔ แต่เหตุที่พระเยซูถูกประหารชีวิตนั้นเอง กลับทำให้พวกสานุศิษย์เชื่อมั่นในลัทธิศาสนาของพระเยซู จนคริสตศาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรปจำเนียรกาลนานมา เป็นศาสนาที่ฝรั่งนับถือแทบทั่วไป

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๔ เกิดพระนาบีมะหะหมัดขึ้นในหมู่ชนชาติอาหรับที่เมืองเมกกะ พระนาบีมะหะหมัดประกาศตั้งศาสนาอิสลามขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง นับศักราชศาสนาอิสลามตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๑๑๖๕ พระนาบีมะหะหมัดเที่ยวรบพุ่งแผ่ศาสนาอิสลามอยู่ ๑๐ ปี ก็กระทำกาลกิริยา เมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ต่อจากนั้นมามีกาหลิฟ (ภาษาอาหรับแปลว่ารัชทายาท) เป็นหัวหน้าศาสนาอิสลาม ทำการรบพุ่งแผ่นอาณาจักรและศาสนาอิสลามตามอย่างพระนาบีมะหะหมัด ได้บ้านเมืองในประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจตั้งแต่ต่อแดนอินเดียออกไปจนถึงยุโรป ทางค้าขายไปมาที่กล่าวมาแล้วทั้งสายใต้และสายกลาง ตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลาม อุมาและเห็นประโยชน์ที่อาจจะได้ในการค้าขาย มาเป็นกำลังและบำรุงการศาสนาอิสลาม จึงอุดหนุนให้พวกที่ถือศาสนาอิสลาม โดยมากเป็นพวกอาหรับ ให้เอาเป็นธุระทำการค้าขายพร้อมไปกับทำกิจในศาสนา แม้พวกที่ส่งไปเที่ยวสอนศาสนาตามเมืองต่างประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นแก่กาหลิฟ ก็สั่งให้เที่ยวตั้งทำการค้าขาย พร้อมกับการสั่งสอนศาสนาด้วย เหตุนี้พวกฝรั่งที่ถือศาสนาพระเยซูเป็นอริอยู่กับพวกอิสลามด้วยผิดลัทธิศาสนากัน จะค้าขายกับประเทศทางตะวันออกจึงไม่สะดวกดังแต่ก่อน ต้องคิดหาทางหลีกเลี่ยงอำนาจของพวกอิสลาม มาค้าขายกับประเทศทางตะวันออกโดยทางข้างสายเหนือ แต่ต่อมาเมื่อประเทศในทางสายนั้นตกอยู่ในอำนาจแขกอิสลาม ฝรั่งก็ต้องจำใจรับสินค้าพวกตะวันออกที่พวกอิสลามนำไปขายต้องยอมเสียกำไรให้แก่พวกอิสลามอีกชั้นหนึ่ง

ความคิดเห็นได้มีแก่ฝรั่งมานานแล้วว่า น่าจะแล่นเรือทางทะเลเลียบตามแนวฝั่งตะวันตกของทวีปแฟริกามาถึงอินเดียและเมืองจีนได้ แต่ในครั้งนั้นความรู้ภูมิศาสตร์ยังมีน้อย และกำลังติดการรบพุ่งกับพวกแขกอิสลามเสียช้านานหลายร้อยปี จน พ.ศ. ๑๖๔๓ เมื่ออำนาจพวกอิสลามถอยลง ฝรั่งตีคืนบ้านเมืองที่เป็นประเทศเสปญ และโปรตุเกตเดี๋ยวนี้ได้โดยมาก ได้ตั้งราชอาณาจักรโปรตุเกสขึ้นแล้ว มีราชโอรสของพวกพระเจ้าดองยวงพระเจ้าโปรตุเกสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า ดองเฮนริก เป็นผู้มีอัธยาศัยนิยมในวิชาการเดินเรือ คิดพากเพียรจะเดินเรือมาให้ถึงอินเดีย จึงรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตตกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศ แสวงหาผลประโยชน์อย่างวิธีซึ่งพวกอิสลามเคยทำมาแต่ก่อนบ้าง คือเที่ยวสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายประการ ๑ เที่ยวค้าขายหากำไรเป็นผลประโยชน์ให้แก่เมืองโปรตุเกตประการ ๑ และถ้าพบบ้านเมืองควรเอาไว้ในอำนาจได้ ก็ขยายอาณาจักรโปรตุเกตให้กว้างขวางออกไปด้วยประการ ๑


ภาพแสดงตัวอย่างความรู้ทางภูมิศาสตร์แผนที่โลก ในสมัยโบราณ


พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตทรงพระดำริเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ดองเฮนริกลงมาจั้งอยู่ที่เมืองชายทะเลแห่ง ๑ ดองเฮนริกเกลี้ยกล่อมผู้ที่ชำนาญการเดินเรือและฝึกสอนผู้คนควบคุมเข้าได้เป็นพวก ลงทุนจัดหาเรือเดินทะเลบรรทุกสินค้าของยุโรป ส่งเรือเหล่านั้นไปค้าขายตามเมืองอาฟริกาข้างตะวันตก ได้สำเร็จประโยชน์มาก คือไปได้บ้านเมืองที่ฝรั่งยังไม่เคยไปแต่ก่อน เป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตหลายแห่ง ในส่วนการค้าขายเอาสินค้ายุโรปไปเที่ยวแลกของดีมีราคาในอาฟริกา คืองาช้างและทองคำเป็นต้น ก็ได้กำไรมาก ส่วนการสอนคริสตศาสนานั้น นอกจากพาบาทหลวงไปเที่ยวสั่งสอน ดองเฮนริกยังไปเที่ยวรับซื้อพวกแขกดำซึ่งเป็นทาสเป็นเชลยอยู่ตามอาฟริกา พาบรรทุกเรือมาเมืองโปรตุเกต ขายต่อไปแก่พวกโปรตุเกตที่มีใจศรัทธาจะสั่งสอนพวกมิจฉาทิฐิ รับซื้อไว้ใช้สอยและสั่งสอนให้เข้ารีตคริสตศาสนา เกิดกำไรในการนี้ด้วยอีกประการ ๑

เมื่อการที่ดองเฮนริกทำได้ประโยชน์ดีเกินกว่าที่คาดหมายดังกล่าวมานี้ จึงเกิดความวิตกขึ้นว่าจะมีผู้อื่นมาทำการประชัน พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดแต่งเรือออกมาเที่ยวค้าขายทำการประชันกับดองเฮนริก และเพื่อห้องกันมิให้ฝรั่งชาติอื่นมาแย่งชิง ดองเฮนริกได้ไปทูลขออาชญาต่อโป๊ปผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในคริสตศาสนาที่เมืองโรม โป๊ปก็ออกอาชญาอนุญาตให้แก่ดองเฮนริกว่า บรรดาเมืองมิจฉาทิฐิที่โปรตุเกตได้ไปพบปะให้เป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกต ห้ามมิให้ชาติอื่นไปแย่งชิง แต่โปรตุเกตต้องทำการสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายในบรรดาเมืองที่ได้ไปพบปะนั้น จึงจะถืออำนาจตามอาชญาของโป๊ปได้

เมื่อดองเฮนริกทำการสำเร็จประโยชน์และได้อำนาจดังกล่าวมาแล้ว กิตติศัพท์ก็แพร่หลาย มีพวกฝรั่งทั้งชาติโปรตุเกตและชาติอื่น ขอเข้าเป็นพวกดองเฮนริกเป็นอันมาก ดองเฮนริกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศโดยอาการดังกล่าวมา คราวละ ๒ ลำบ้าง ๓ ลำบ้างทุกๆ ปี ตั้งแต่ดองเฮนริกได้เริ่มทำการมาตลอด ๔๐ ปี ตรวจทางทะเลตามฝั่งอาฟริกาลงมาได้เพียงแหลมเวอเด ด้วยการที่ใช้ใบในมหาสมุทรแอตแลนติกต้องฝ่าคลื่นฝืนลม เรือที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นลงมาได้ด้วยยาก ดองเฮนริกสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓ เพราะการที่ดองเฮนริกทำกลายเป็นการสำคัญของโปรตุเกต ทั้งที่ได้ทรัพย์และได้อำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงจัดเอาเป็นราชการแผ่นดินต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๐๒๙ ในรัชกาลของพระเจ้าดองยวงที่ ๒ ครองประเทศโปรตุเกต พระเจ้าดองยวงแต่งให้บาโทโลมิวเดอดายส์คุมเรือกำปั่น ๒ ลำแล่นมาตรวจทาง บาโทโลมิวเดอดายส์แล่นก้าวในมหาสมุทรแอตแลนติกหลงเลยมาได้ถึงแหลมอาฟริกาใต้ ที่เรียกว่าแหลมกู้ดโฮ้ปในบัดนี้ ได้ความรู้ว่าได้พบทางที่จะมาอินเดียเป็นแน่แล้ว บาโทโลมิวเดอดายส์จะแล่นเรือเลยมาอินเดีย แต่พวกลูกเรือถูกลำบากกรากกรำเสียช้านาน ไม่ยอมแล่นต่อมาอีก จึงจำต้องกลับไปเมืองโปรตุเกต

ต่อมามีฝรั่งชาวเมืองเยนัวคนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอโคลัมบัส ได้ไปเดินเรืออยู่กับโปรตุเกตหลายปี ไปได้ความที่เกาะมะไดรา ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ฝั่งอาฟริกา ว่ามีไม้คลื่นซัดมาในมหาสมุทรจากทางทิศตะวันตกมาติดเกาะนั้น ไม้มีรอยคนแก่เป็นลวดลาย จึงเกิดความคิดเห็นว่า แผ่นดินอินเดียที่โปรตุเกตค้นหาทางไปอยู่นั้น จะเป็นแผ่นดินยาวแต่ตะวันออกไปจนทางตะวันตก ตลอดมหาสมุทรแอตแลนติก คริสโตเฟอโคลัมบัสจึงนำความเห็นทั้งนี้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกต จะขอรับอาสาคุมเรือไปเที่ยวหาประเทศอินเดียถวายโดยทางตะวันตกอีกทางหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตให้ที่ประชุมผู้ชำนาญแผนที่และการเดินเรือปรึกษาความเห็นของคริสโตเฟอโคลัมบัส ที่ประชุมไม่เห็นด้วย คริสโตเฟอโคลัมบัสมีความน้อยใจ จึงลอบออกจากเมืองโปรตุเกตไปรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินเสปญ


Christopher Columbus


ประเทศเสปญเวลานั้นยังแบ่งเป็น ๒ ราชอาณาจักรแต่ รวมกันด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายได้ทำการวิวาห์กัน พระเจ้าแผ่นดินเสปญแต่งเรือให้คริสโตเฟอโคลัมบัสคุมไปเที่ยวหาประเทศอินเดียตามประสงค์ คริสโตเฟอโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพียรไปจนพบหมู่เกาะในทวีปอเมริกาเหนือ ที่ยังเรียกอยู่จนทุกวันนี้ว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันตก โดยเข้าใจในครั้งนั้นว่าเป็นประเทศอินเดีย มิใช่ทวีปหนึ่งต่างหาก คริสโตเฟอโคลัมบัสถือเอาแผ่นดินที่ไปพบนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศเสปญ จึงเกิดอำนาจแข่งโปรตุเกตขึ้นในทางเที่ยวหาเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น จนต้องไปขออาชญาโป๊ปให้ป้องกันการที่จะแย่งชิงเมืองขึ้นกันในระหว่างโปรตุเกตกับเสปญ โป๊ปจึงเอาแผนที่โลกเท่าที่รู้อยู่ในเวลานั้นมาขีดเส้นแต่เหนือไปใต้ และบอกอาชญาว่าบรรดาแผ่นดินข้างวตะวันตกของเส้นนั้น ถ้าพวกเสปญไปพบให้เป็นเมืองขึ้นของเสปญ ข้างตะวันออกของเส้นให้เป็นของโปรตุเกต แต่ทั้งสองประเทศต้องสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายในเมืองเหล่านั้น จึงจะมีอำนาจตามอาชญาของโป๊ป


Christopher Columbus กับชาวอินเดียตามความเข้าใจในสมัยนั้น



THE AGE OF DISCOVERY
Spain ang Spanish Discovries ==> Red
Portugal and Portuguese Discovries ==> Green


ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ ในรัชกาลของพระเจ้ามานูเอลครองกรุงโปรตุเกต พระเจ้ามานูเอลให้วัสโคดาคามาคุมเรือรบ ๓ ลำพร้อมด้วยศัสตราวุธ บรรทุกสินค้ายุโรปและเครื่องราชบรรณาการสำหรับที่จะถวายพระเจ้าแผ่นดินตามเมืองในประเทศตะวันออก แล่นอ้อมทวีปอาฟริกาออกมาให้ถึงอินเดียให้จงได้ วัสโคดาคามาแล่นเรือฝ่าคลื่นฝืนลมออกมาด้วยความลำบากเป็นอันมาก เรือมาเสียลงลำหนึ่งเหลืออยู่แต่ ๒ ลำ มาถูกพายุใหญ่พวกลูกเรือทนความลำบากกรากกรำ จะขอให้กลับหลายครั้ง วัสโคดาคามาไม่ยอมกลับ แต่เพียรแล่นเรือมาถึง ๑๑ เดือน จึงแล่นอ้อมทวีปอาฟริกามาได้ถึงเมืองเมลินเด ซึ่งอยู่ทางชายทะเลด้านตะวันออก มาหานำร่องได้ที่เมืองเมลินเด แล้วแล่นข้ามทะเลอาหรับมาถึงเมืองกาฬีกูฏที่อินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๐๔๑


Vasco da Gama


สมัยเมื่อโปรตุเกตแล่นเรือจากยุโรปออกมาถึงอินเดียได้นั้น ในประเทศอินเดียได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากกว่าแต่ก่อนเสียเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ตั้งแต่เกิดศาสนาอิสลามขึ้นในแว่นแคว้นแดนอาหรับ ถึงพวกอิสลามไม่ได้ยกกองทัพมารบพุ่งจนถึงแดนอินเดียก็จริง แต่ได้พากันออกมาเที่ยวตั้งทำการค้าขาย และมาเที่ยวสอนศาสนาอิสลามอยู่ตลอดเวลาถึง ๖๐๐ ปี มีผู้คนพลเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเป็นอันมาก บ้านเมืองในประเทศอินเดียในเวลานั้นก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพปกครองเป็นราชอาณาจักรใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แยกกันอยู่เป็นประเทศน้อยๆ เมืองทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือมีคันธาราฐเป็นต้น ในเวลานั้นผู้คนพลเมืองก็เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเสียแล้ว ข้างตอนทางกลางบางเมืองถือศาสนาอิสลาม แต่ที่ยังถือศาสนาพราหมณ์ก็ยังมีอยู่มาก แต่ตอนข้างใต้ยังถือศาสนาพราหมณ์


Vasco da Gama route map


เมืองกาฬีกุฏที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเป็นที่แรก ตั้งอยู่ทางชายทะเลข้างตะวันตกในแหลมมละบา เป็นราชธานีของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือศาสนาพราหมณ์ เรียกพระนามว่าพระเจ้าสมุทรินทร ส่วนการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลในอินเดียไม่ว่าในเมืองที่ศาสนาอิสลามหรือถือศาสนาพราหมณ์ มีพวกพ่อค้าแขกอิสลามไปตั้งทำการค้าขายอยู่ช้านานแล้วทุกแห่ง วิธีค้าขายของพวกเหล่านี้ ไปทูลขออนุญาตต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งห้างตามเมืองท่า รับซื้อสินค้าในพื้นเมืองบรรทุกเรือไปเที่ยวจำหน่ายตามนานาประเทศ ตลอดจนยุโรปและรับสินค้าต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นเมือง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองบ้านเมือง ตั้งแต่พวกอิสลามมาตั้งทำการค้าขายก็เกิดผลประโยชน์ทั้งในทางเก็บภาษีอากร และตั้งคลังสินค้าซื้อขายสิ่งขิงบางอย่างเป็นของหลวงได้กำไรอีกชั้น ๑ เมื่อว่าโดยย่อในเวลานั้นการค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก คืออินเดียเป็นต้นอยู่ในมือพวกพ่อค้าแขกอิสลามทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดสามารถจะแย่งชิง

เมื่อวัสโคดาคามาแล่นเรือถึงเมืองกาฬีกูฏ ให้ขึ้นไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่าเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการมาจากพระเจ้ากรุงโปรตุเกต ให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอไปมาค้าข่ายกับเมืองกาฬีกูฏ ฝ่ายพระเจ้าสมุทรินทรเคยได้ผลประโยชน์อยู่ในการค้าขายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อได้ทราบว่ามีฝรั่งโปรตุเกตจะมาขอทำการค้าขายอีกชาติ ๑ ก็ไม่มีความรังเกียจรับรองวัสโคดาคามาอย่างราชทูต และยอมอนุญาตให้โปรตุเกตซื้อขายสินค้าตามประสงค์

แต่ฝ่ายพ่อค้าแขกอิสลามในเมืองกาฬีกูฎเมื่อรู้ว่าโปรตุเกตแล่นเรือบรรทุกสินค้ามาถึงอินเดียได้จากยุโรป ก็คิดคาดการล่วงหน้าแลเห็นได้ตลอด ว่าถ้าพวกไปมาค้าขายกับอินเดียได้โดยทางเรือ ผลประโยชน์การค้าขายของตนจำจะต้องตกต่ำ ด้วยทางที่พวกพ่อค้าแขกขนสินค้าไปมาในระหว่างอินเดียกับยุโรป ต้องบรรทุกเรือแล้วขนขึ้นเดินบกไปลงเรืออีก ต้องเสียค่าขนสินค้ามาก ฝรั่งเอาสินค้าบรรทุกเรือแล่นตรงมาได้รวดเดียวเสียค่าขนน้อย คงจะขายสินค้ายุโรปได้ราคาถูกกว่า และอาจจะซื้อสินค้าพื้นเมืองได้ราคาแพงกว่าตน ถ้าขับเคี่ยวกันไป การค้าขายคงจะไปตกอยู่ในมือฝรั่งหมด พวกพ่อค้าแขกอิสลามคิดเห็นดังนี้ จึงตั้งใจกีดกันมาแต่แรก

เพื่อจะมิให้โปรตุเกตไปมาค้าขายในอินเดียได้ดังประสงค์ ในเบื้องต้นพวกพ่อค้าแขกอิสลามทำอุบายให้เกิดข่าวเล่าลือให้ราษฎรหวาดหวั่นต่างๆ จนไม่กล้ามาค้าขายกับฝรั่ง และไปบนบานเจ้าพนักงานให้แกล้งกีดขวางหน่วงเหนี่ยววัสโคดาคามามิให้ทำการได้สะดวก แต่เผอิญในเวลานั้นมีฝรั่งชาวเสปญคน ๑ ซึ่งแขกอิสลามเอาเข้ารีตแล้วพามาไว้ที่เมืองกาฬีกูฎ ได้ทราบความคิดของพวกพ่อค้าอิสลาม มีความสงสารพวกโปรตุเกตด้วยเป็นชาติฝรั่งด้วยกัน จึงลอบนำความไปแจ้งแก่วัสโคดาคามา วัสโคดาคามาจึงอุบายซ้อนกลพวกพ่อค้าแขก โดยแกล้งทำเป็นไม่รู้เท่าราษฎรในเชิงค้าขาย เมื่อเวลาเอาสินค้ายุโรปขึ้นไปค้าขาย แม้พวกชาวเมืองจะต่อตามจนถึงขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนสินค้าที่ชาวเมืองนำมาขายให้ ถึงจะโก่งเอาราคาแพงวัสโคดาคามาก็ยอมซื้อ พวกชาวเมืองเข้าใจว่าฝรั่งโง่ ก็พากันมาซื้อขายกับวัสโคดาคามามากขึ้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามเห็นดังนั้น จึงเอาความไปยุยงแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลพระเจ้าสมุทรินทร ว่ากิริยาที่พวกโปรตุเกตซื้อขาย ดูไม่คิดถึงทุนรอนตามทำนองค้าขาย เห็นจะเป็นคนสอดแนมที่ฝรั่งแต่งให้มาสืบสวนการงานบ้านเมือง เมื่อรู้กำลังแล้วฝรั่งคงจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเป็นแน่ พระเจ้าสมุทรินทรเห็นจริงด้วย จึงให้จับวัสโคดาคามากับพรรคพวกซึ่งขึ้นไปบนบกขังไว้

ฝ่ายน้องชายวัสโคดาคามาซึ่งอยู่ในเรือ เห็นพระเจ้าสมุทรินทรทำแก่พี่ของตนดังนั้น ก็จับขุนนางเมืองกาฬีกูฏซึ่งลงไปอยู่ในเรือไว้บ้าง จึงเข้าไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า วัสโคดาคามามาเป็นราชทูต มาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ซึ่งพระเจ้าสมุทรินทรได้รับรองอย่างราชทูต ที่จะมาทำร้ายผู้เป็นราชทูตผิดราชประเพณี พระเจ้าสมุทรินทรจึงได้ปล่อยวัสโคดาคามา และว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้หายความเคียดแค้น วัสโคดาคามาได้ออกเรือจากเมืองกาฬีกูฏเมืองเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๐๔๑ แล่นไปแวะที่เมืองคานะนอ ซึ่งอยู่ชายทะเลฝั่งมละบาข้างเหนือเมืองกาฬีกูฏ พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองนั้นก็แกล้งอีก แต่เจ้าเมืองคานะนอไม่เชื่อฟังคำยุยงของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม ช่วยเป็นธุระแก่พวกโปรตุเกตหาสินค้าได้จนเหลือระวางเรือ วัสโคดาคามาสำเร็จความประสงค์แล้ว ก็แล่นเรือจากอินเดียกลับไปถึงเมืองโปรตุเกตเมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๐๔๒

การที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาได้ถึงอินเดียคราวนั้น เป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่โปนตุเกต ด้วยตั้งแต่โปรตุเกตพากเพียรตรวจทางทะเลมาได้เกาะและบ้านเมืองชายทะเลอาฟริกาตามรายทางไว้เป็นเมืองขึ้นบ้างเป็น ไมตรีบ้าง ขยายอำนาจและอาณาจักรออกมาโดยลำดับ มีที่พักเป็นระยะมาตลอดทางแล้ว พอรู้ทางว่ามาถึงอินเดียได้ ก็อาจจะจัดการเดินเรือไปมาค้าขายถึงอินเดียได้ทันที ส่วนผลประโยชน์ที่จะพึงได้ในการค้าขายกับอินเดียนั้น แต่เพียงไปเที่ยวแรกที่วัสโคดาคามามาด้วยเรือ ๒ ลำ ราคาสินค้าที่ได้ไปเมื่อไปคิดราคาเทียบกับทุนที่แต่งเรือออกมาครั้งนั้น โปรตุเกตได้กำไรถึง ๖๐ เท่า จึงเกิดความทะเยอทะยานยินดีกันอย่างใหญ่ในประเทศโปรตุเกต ด้วยแลเห็นทั่วกันว่าประเทศโปรตุเกตจะเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจและทรัพย์สมบัติต่อมา การก็เป็นจริงดังนั้นทุกประการ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้ากรุงโปรตุเกตให้แต่งเรือออกมาอินเดียอีก คราวนี้คิดการเตรียมแก้ไขความขัดข้องมาเสร็จ ด้วยได้ความรู้แล้วว่าทางตะวันออกพวกถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเคยเป็นข้าศึกกับฝรั่งมาหลายร้อยปียังมีอำนาจอยู่ และการค้าขายทางตะวันออกก็อยู่ในมือของพวกนั้น การที่พวกโปรตุเกตออกมาประเทศตะวันออกคงจะถูกพวกแขกที่ถือศาสนาอิสลามคิดร้าย เกียจกัน ทั้งการสอนคริสตศาสนาและการค้าขายมิให้โปรตุเกตทำการได้สะดวก ด่วยเหตุนี้พระเจ้ากรุงโปรตุเกตจึงให้แต่งเป็นกองทัพ มีจำนวนเรือรบ ๑๓ ลำ กระสุนดินดำและนายไพร่พลทหารประจำลำรวม ๑๕๐๐ คน ก็เลือกสรรแต่ล้วนที่กล้าหาญชำนาญการศึก ให้เปโดร อัลวเรส คาบรัล เป็นแม่ทัพและเป็นราชทูต คุมเครื่องราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองประเทศตามรายทางบรรดาที่เข้ากับโปรตุเกต และมอบอำนาจออกมากับคาบรัลในครั้งนั้น ว่าถ้าบ้านใดเมืองใด หรือบุคคลจำพวกใด ขัดขวางแก่การของโปรตุเกต ว่ากล่าวโดยดีไม่ตลอดแล้ว ก็ให้ใช้กำลังปราบปรามเอาไว้ในอำนาจให้จงได้


Pedro Alvares Cabral


คาบรัลยกกองทัพเรือออกจากเมืองโปรตุเกต เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๐๔๓ ใช้ใบเรือลงมาจนถึงแหลมเวอเด แล้วแล่นก้าวออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือไปถูกพายุซัดพัดข้ามมหาสมุทรไปพบเมืองบราซิลในอเมริกาใต้เข้า จึงได้เมืองบราซิลเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตในคราวนั้น คาบรัลแล่นเรือกลับจากเมืองบราซิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงเมืองเมลินเดในอาฟริกาข้างตะวันออก ซึ่งเป็นไมตรีกับโปรตุเกตมาแต่ก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม เรือที่ไปด้วยกัน ๑๓ ลำ ไปแตกกลางทางบ้าง ต้องกลับบ้าง พลัดกันบ้าง เหลืออยู่แต่ ๖ ลำ คาบรัลรับนำร่องที่เมืองเมลินเดแล้วก็แล่นข้ามทะเลอาหรับมา รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองโปรตุเกตได้ ๖ เดือน จึงถึงท่าเมืองกาฬีกูฏเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม



แผนที่แสดงการเดินทางของ Pedro Alvares Cabral



แผนที่แสดงการเดินทางของ Vasco da Gama เทียบกับ Pedro Alvares Cabral


พระเจ้าสมุทรินทรเมื่อเห็นกองทัพเรือโปรตุเกตยกมาคราวนี้ ก็ให้ข้าราชการออกไปรับ พาคาบรัลขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องบรรณาการ และยอมทำสัญญาอนุญาตที่ดินให้พวกโปรตุเกตตั้งห้างค้าขายที่เมืองกาฬีกูฏตามประสงค์ แต่ครั้นเมื่อสร้างห้างสำเร็จแล้ว โปรตุเกตหาซื้อสินค้าอยู่ ๒ เดือนไม่ได้สินค้า จึงสืบสวนได้ความว่า เพราะพวกพ่อค้าแขกอิสลามอุบายชิงรับซื้อบรรดาสิ่งสินค้าซึ่งรู้ว่าพวกโปรตุเกตต้องการไว้เสียก่อน ไม่ให้พวกโปรตุเกตหาซื้อได้ คาบรัลไปทูลความต่อพระเจ้าสมุทรินทร พระเจ้าสมุทรินทรก็มิรู้จะทำประการใด

คาบรัลขัดใจจึงให้ไปแย่งเอาสินค้าของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม ซึ่งกำลังเอาลงบรรทุกเรือที่จอดอยู่ในอ่าว พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่อยู่บนบก เมื่อเห็นพวกโปรตุเกตปล้นเอาสินค้าของตนดังนั้น ก็คุมพรรคพวกยกมาปล้นสินค้าที่ห้องของโปรตุเกตบ้าง พวกแขกอิสลามกับพวกโปรตุเกตเกิดรบกันขึ้นในเมืองกาฬีกูฏ พวกแขกอิสลามมากกว่าฆ่าพวกโปรตุเกตตาย ๕๔ คน และเผาห้างของโปรตุเกตเสียสิ้น พวกกองทัพเรือโปรตุเกตเห็นพวกแขกอิสลามทำร้ายพวกของตนที่อยู่บนบก ก็ยกกำลังไปตีปล้นเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม บรรดาที่จอดอยู่ในอ่าวเมืองกาฬีกูฏ ฆ่าพวกแขกล้มตายเป็นอันมาก แล้วเผาเรือเหล่านั้นเสียถึง ๑๐ ลำ แล้วเลยเอาปืนใหญ่ยิงเมืองกาฬีกูฏอยู่ ๒ ชั่วโมง แล้วจึงถอนสมอใช้ใบเรือไปจากเมืองกาฬีกูฏ ไปพบเรือแขกเข้าที่ไหน พวกโปรตุเกตก็ปล้นเรือแขกตลอดทางมา จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างพวกโปรตุเกตกับพวกแขกอิสลามขึ้นแต่ครั้งนั้น

เรื่องราวที่พวกโปรตุเกตทำอย่างไรต่อมาในอินเดีย มีมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้โดยพิสดารในที่นี้ ตั้งแต่โปรตุเกตเกิดรบขึ้นกับพวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองกาฬีกูฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ แล้ว แต่นั้นมาการค้าขายของโปรตุเกตก็กลายเป็นเอากำลังเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติ หาอำนาจและอาณาจักรทางตะวันออก เอาแต่ชื่อว่าเที่ยวสอนคริสตศาสนาและค้าขายขึ้นบังหน้า เพราะการใช้ปืนไฟใหญ่น้อยและวิธีรบพุ่งในทางทะเล พวกชาวตะวันออกยังไม่ชนาญเท่าโปรตุเกต โปรตุเกตน้อยๆ คนเคยรบชนะพวกอินเดียที่มากกว่าหลายคราว จึงได้ใจ แต่นั้นโปรตุเกตก็แต่งกองทัพเรือออกจากยุโรปทุกปี พบเรือพวกแขกเข้าที่ไหนก็ปล้นเอาทรัพย์สมบัติและทำลายเรือเสีย

ส่วนเมืองตามชายทะเลในอินเดีย เมืองไหนยอมเข้ากับโปรตุเกต โปรตุเกตก็ตั้งห้าง แล้วเลยทำห้างขึ้นเป็นป้อมเอากำลังทหารมารักษากดขี่เจ้าบ้านผ่านเมือง เอาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตบ้าง เมืองไหนไม่เข้าด้วยหรือไม่ค้าขายด้วย โปรตุเกตก็ถือว่าเป็นข้าศึก เที่ยวรบพุ่งทำร้ายต่างๆ ไม่ช้าเท่าใดเมืองอินเดียตามชายฝั่งทะเลมละบากก็ตกอยู่ในอำนาจโปรตุเกตหลายเมือง ส่วนการค้าขายเมื่อโปรตุเกตเที่ยวทำลายเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามเสียเป็นอันมากแล้ว โปรตุเกตก็ได้สินค้าประเทศทางตะวันออก เมืองโปรตุเกตเกิดเป็นที่ชุมนุมการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกขึ้นใหญ่โตจนเมืองฝรั่งแถวทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งเคยร่ำรวยด้วยการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกตามเส้นทางเปอร์เซียและอียิปต์ ถึงความอัตคัดขัดสนไปหลายเมือง

เมื่อการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเปลี่ยนไปเฟื่องฟูเป็นตลาดใหญ่อยู่ที่เมืองโปรตุเกต ดังกล่าวมานี้ จึงมีชาวโปรตุเกตเป็นอันมากทะเยอทะยานอยากออกมาหาทรัพย์สมบัติทางตะวันออก พวกผู้ดีมีสกุลก็เข้าไปรับอาสาเป็นนายทหารบ้าง อกมาเป็นผู้สอนศาสนาบ้าง ที่เป็นฝรั่งเลวก็ไปอาสาเป็นลูกเรือและพลทหาร ด้วยความเข้าใจทั่วกันว่าเป็นช่องทางที่จะออกมาปราบปรามพวกอิสลาม เอาทรัพย์สมบัติของพวกมิจฉาทิฐิไปเป็นอาณาประโยชน์ อย่างพวกอิสลามได้เคยทำแก่ปู่ย่าตายายของตนมาแต่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอันใด

เมื่อโปรตุเกตไปมาหาที่มั่นได้ที่ชายทะเลอินเดียแล้ว ได้ข่าวว่าทางตะวันออกต่อมามีเมืองมะละกา เป็นเมืองท่าสำคัญในทางรับส่งสินค้าระหว่างเมืองจีนกับอินเดีย และมีสินค้าตามเมืองที่ใกล้เคียงซึ่งมาขายที่เมืองมะละกามาก เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ ตรงกับในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเจ้ากรุงโปรตุเกตจึงแต่งให้โลเปสเดอสิไครา คุมเรือกำปั่นรบ ๔ ลำ เป็นราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าเมืองมะละกา ซึ่งเป็นแขกมลายูนับถือศาสนาอิสลามแล้วในเวลานั้น เจ้าเมืองมะละกาก็รับรองสิไคราอย่างราชทูต และยอมให้ที่ตั้งห้างตามประสงค์

แต่เมื่อพวกโปรตุเกตขึ้นไปซื้อขายสินค้าที่ห้างตั้งใหม่ ไปเกิดวิวาทขึ้นกับพวกชาวเมืองมะละกา สิไคราสงสัยว่าเจ้าเมืองมะละกาคิดกลอุบายเข้ากับพวกพ่อค้าแขกอิสลามจะทำร้าย สิไครามีความโกรธเป็นกำลัง จึงจับพวกชาวมะละกาที่ลงมาอยู่ในเรือ เอาลูกธนูเสียบหนังหัวประจานส่งขึ้นไปบอกเจ้าเมืองมะละกา ว่าถ้าไม่คบกับโปรตุเกตจะตีเอาเมืองมะละกาให้จงได้ ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาเห็นโปรตุเกตดูหมิ่นก็โกรธ จึงให้ขุนนางคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นบันดาหรว่าการฝ่ายทหาร คุมกำลังไปล้อมจับโปรตุเกตที่ขึ้นไปซ้อขายอยู่บนบก ฆ่าฟันตายเสียบ้าง จับเป็นไว้ได้เป็นตัวจำนำก็หลายคน สิไคราไม่มีกำลังพอที่จะตีเอาเมืองมะละกาได้ในคราวนั้น ด้วยพวกพลเรือนขึ้นไปถูกชาวมะละกาฆ่าฟันและจับไว้เสียมาก จึงให้เผาเรือโปรตุเกต ๒ ลำ เอาคนมาลงเรือที่ยังเหลืออยู่ ๒ ลำแล่นกลับไป

เมื่อความทราบถึงโปรตุเกต ว่าเจ้าเมืองมะละกาทำร้ายแก่พวกโปรตุเกต ก็ให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองมะละกา แต่ประจวบเวลาเกิดเหตุขึ้นในอินเดียและทางทะเลแดง ด้วยพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองแขกที่ถูกโปรตุเกตรังแกกดขี่ต่างๆ หลายเมือง เข้ากันรบพุ่งโปรตุเกต โปรตุเกตต้องปราบปรามอยู่จนปีมะแม จุลศักราช ๘๗๑ พ.ศ. ๒๐๕๒ อัฟฟอนโสอัลบูเคอเด แม่ทัพใหญ่ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ของพระเจ้าโปรตุเกต จึงยกกองทัพเรือมายังเมืองมะละกา กองทัพอัลบูเคอเคแล่นมาพบเรือแขกที่ไหนก็ตีชิงเรื่อยมาจนถึงเมืองมะละกา เมื่อเดือนมิถุนายน


Affonso d'Albuquerque


อุบายให้ไปบอกเจ้าเมืองมะละกาว่าเป็นราชทูตจะมาเป็นไมตรีโดยดีไม่รบพุ่ง ให้เจ้าเมืองมะละกาส่งตัวพวกโปรตุเกตที่จับไว้เป็นตัวจำนำลงมาให้ แล้วอัลบูเคดเคก็จะขึ้นไปหาเจ้าเมือง ข้างเมืองมะละกาก็ให้มาบอกว่า จะยอมเป็นไมตรีและจะส่งพวกโปรตุเกตคืนให้ แต่ขอให้อัลบูเคอเคขึ้นไปทำทางไมตรีเสียก่อน อัลบูเคอเคคอยอยู่เห็นการไม่ตกลงกัน ก็ยกกำลังขึ้นตีเมืองมะลพกา ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน ชาวมะละกาสู้ไม่ได้ต้องถอยออกไปนอกเมือง พวกโปรตุเกตเผาเมืองมะละกาเสียแล้วก็ถอยกลับลงเรือ พวกมะละกาก็กลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเมืองอีก ในเวลานั้นมีสำเภาจีนมาค้าขายอยู่ที่เมืองมะละกาประมาณ ๑๐๐ ลำ สำเภาจีนจะกลับเมือง อัลบูเคอเคจึงให้โปรตุเกตคน ๑ ชื่อเฟอนันเดถือหนังสือโดยสารเรือสำเภาจีนเข้ามากรุงศรีอยุธยา ขอเป็นไมตรีไปมาค้าขายกับไทย ด้วยได้ทราบว่าเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ก่อน

อัลบูเคอเคมาตระเตรียมการอยู่ที่เรือ พอพร้อมเสร็จก็คุมกำลังขึ้นตีเมืองมะละกาครั้งที่ ๒ ในเดือนสิงหาคม คราวนี้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พวกเจ้าเมืองมะละกาสู้โปรตุเกตไม่ได้ก็แตกหนี เมืองมะละกาจึงได้อยู่ในอำนาจโปรตุเกตแต่นั้นมา

เมื่อโปรตุเกตได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่นแล้ว ถึงปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ พระเจ้ามานูเอล พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงแต่งให้ดวดเตโคเอลโลเป็นราชทูต เข้ามาทำสัญญามีทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณ กรุงศรีอยุธยาในคราวๆ เดียวกับไปทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ตามจดหมายของโปรตุเกตว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยินดีรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกต พระราชทานอนุญาตให้โปรตุเกตตั้งห้าง ไปมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองปัตตานีได้ตามประสงค์ และจะรับแต่กองทัพไทยไปช่วยโปรตุเกตปราบปรามพวกแขกที่มาตีเมืองมะละกาด้วย ต่อมาปรากฏว่าโปรตุเกตดีรับอนุญาตให้ไปตั้งห้างค้าขายที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองมะริดอีก ๒ เมือง

ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ พ.ศ. ๒๐๖๒ โปรตุเกตไปขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ยอมให้ไปมาค้าขายตามประสงค์ และให้โปรตุเกตตั้งห้างที่เมืองเมาะตะมะแห่ง ๑ โปรตุเกตจึงเป็นไมตรีกับไทยและมอญแต่นั้นมา

เรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย ข้อนี้ไม่มีข้อสงสัย ด้วยหนังสือทั้งปวงทั้งของไทยของมลายูและของฝรั่งถูกต้องกัน และมีเนื้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๑๗ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๑๙๙๘ แต่จะมีผลอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าที่ไทยยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เห็นจะเป็นด้วยเรื่องเจ้าเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม เอาใจเผื่อแผ่พวกอาหรับที่มาเป็นครูบาอาจารย์สอนให้กระด้างกระเดื่องขึ้น แต่กองทัพไทยเห็นจะตีไม่ได้เมืองมะละกาในคราวนั้น เมื่อโปรตุเกตมาตีเมืองมะละกาเกรงจะวิวาทขึ้นกับไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเมืองมะละกาอยู่แต่เดิม จึงแต่งราชทูลเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทย ในเวลานั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังไม่เสร็จสงครามกับเชียงใหม่ จึงรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกต

การที่โปรตุเกตมาเป็นไมตรีกับไทยก็ดี กับมอญก็ดี ไม่มาเกะกะวุ่นวายเหมือนกับเมืองแขกในอินเดีย เพราะ ๒ ประเทศนี้ถือพุทธศาสนาไม่มีสาเหตุที่จะวิวาทกันด้วยเรื่องลัทธิศาสนาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะ ๒ ประเทศเป็นประเทศใหญ่ ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้สิทธิ์ขาด โปรตุเกตจะทำร้ายไม่ได้เหมือนอินเดีย จึงมาค่าขายแต่โดยดี ใช่แต่เท่านั้นยังมีพวกฝรั่งโปรตุเกตที่คิดหาสินจ้างโดยลำพังตัว พากันเข้ามาอยู่ในบ้านเมือง มารับจ้างเป็นทหารทำการรบพุ่งให้ทั้งไทยและมอญ การค้าขายและเป็นไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศ ได้เริ่มต้นมีมาแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยมูลเหตุดังอธิบายมานี้


....................................................................................................................................................


คัดจาก
หนังสือ ชุมนุมพระนิพนธ์ เรื่อง อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2550   
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 14:56:33 น.   
Counter : 5121 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com