Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

บาดเจ็บจากการวิ่ง....ตอนที่ 2 เจ็บเข่า.... โดย ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์




มีคนถาม เรื่อง เจ็บสันหน้าแข้ง ผมก็ไปถามอากู๋ มาให้ ...

ไปพบ บทความที่ อ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ เขียน แล้วมีผลนำมาลงไว้ที่เวบ ... เห็นว่าน่าสนใจ อ่านง่าย เข้าใจง่าย ... ก็เลยนำมาฝากกัน ...

ตอนที่ ๒ บาดเจ็บบริเวณหัวเข่า

//www.patrunning.info/show.php?Category=board&No=10252



บาดเจ็บบริเวณหัวเข่า


บาดเจ็บหัวเข่านั้น ข้าพเจ้าพบบ่อยมาก พบแทบจะทุกวัน บางวันก็หลายๆ ราย ทั้งในนักวิ่ง และนักกีฬาทุกชนิด ทุกเพศทุกวัย ยิ่งในช่วงฤดูการแข่งขันด้วยแล้ว ยิ่งมากขึ้นหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บในเข่า นอกเขา ขณะวิ่ง หรือเข่าบวมเมื่อวิ่ง ฯลฯ

บางคนก็วนเวียนมาหลายครั้ง หลายหน เพราะไม่หาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเพียงพอ ยิ่งบางโรคซึ่ละเอียดอ่อนมาก เช่น โรคข้อเข่านักกระโดด หรือกระโจน (Jumper's knee) อาการที่เป็นดูเหมือนไม่มาก ก็คิดว่าไม่เป็นไรมาก แต่ก็ไม่หายสักที ทำให้วิ่งไม่ได้เต็มที่ แข่งขันไม่ได้ ด้วยความใจร้อน อยากจะหายเร็วๆ จึงเอาทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นหมอพระ ซึ่งเรื่องข้อเข่านักกระโดด หรือกระโจนนี้ ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจริงๆ ให้พักก็ต้องพัก หรืองดเว้นการงอเข่า ก็ต้องทำจริงๆ แล้วการให้ยา และการทำกายภาพบำบัด จึงจะทำให้หายได้


บาดเจ็บบริเวณเข่านี้ เป็นบาดเจ็บที่พบได้มากที่สุด จากการวิ่งที่พบได้บ่อยๆ คือ



1. โรคข้อเข่านักวิ่ง

ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นักวิ่ง เพราะพบมากที่สุด เป็นบาดเจ็บที่บริเวณผิวกระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้า

สำหรับผู้ที่มีรูปร่างของกระดูกสะบ้าไม่ปกติ หรือวิ่งมากไปไม่ถูกเทคนิค ทำให้การลื่นไหลของกระดูกสะบ้า ระหว่างที่มีการเหยียด และงอเข่าไม่สะดวก เมื่อวิ่งมากๆ จะทำให้เกิดแรงเค้นมารวมกัน อยู่ที่ผิวกระดูกอ่อน เมื่อมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีการทำลายกระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้า

ยิ่งถ้างอเข่ามากๆ จะเกิดแรงอักที่กระดูกสะบ้ามาก ทำให้ผิวกระดูกอ่อนถูกทำลายมากขึ้นไปเอง ดังนั้น การวิ่งที่งอเข่ามากๆ เช่น การวิ่งขึ้น หรือลงที่สูง หรือที่ลาดเอียงชัน จึงทำให้เกิดโรคข้อเข่านักวิ่งได้ง่าย

สำหรับอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้มีการทำลาย ของผิวกระดูกอ่อนที่พบได้บ่อยๆ ก็คือ กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง ทำให้ไม่มีตัวที่จะดึงรั้งกระดูกสะบ้าไว้ เมื่อมีการเคลื่อนไหว ผิวกระดูกของกระดูกสะบ้า จะไปถูไถกับกระดูก ของข้อเข่าทำให้มีการทำลายกระดูกอ่อนได้


อาการของโรค คือ ปวด เจ็บ ใต้ลูกสะบ้า จะมีอาการเกิดขึ้น หรือเพิ่มมากขึ้น เมื่อวิ่ง ระยะทางมากขึ้น หรือเห็นได้ชัด เมื่อวิ่งขึ้นที่ลาดเอียง หรือวิ่งขึ้นที่สูง อาการที่เกิดขึ้นอาจเกิดหลังจากหยุดวิ่งทันที หรือภายหลังจากนั้น ในรายที่เป็นมากๆ เมื่อนั่งงิเข่าจะเหยียดเข่าไม่ค่อยออก

การปฐมพยาบาล และการรักษา

เมื่อมีอาการ ให้พัก ประคบน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ให้ยาแก้ปวด หลังจาก 24 ชั่วโมงให้ประคบร้อน เพื่อให้การอักเสบหายโดยเร็ว นอกจากนี้ การให้ยาต้านการอักเสบ จะทำให้การหายจากโรคเร็วขึ้น

เมื่อหายแล้วสิ่งต้องปฏิบัติอย่างยิ่ง คือ การฟื้นฟูสภาพให้เหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม คือ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงมากๆ โดยเริ่มต้นยกน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ประมาณ 10 ครั้ง เช้าและเย็น

จากนั้นให้เพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถยกได้เท่ากับข้างที่ดี หรือขนาดของกล้ามเนื้อต้นขา เท่ากับข้างที่ดี ถ้าต้องการให้ประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อการแข่งขันในระดับสูง ก็สามารถยกน้ำหนัก มากขึ้นได้ จนถึง หรือใกล้เคียง 1/3 ของน้ำหนักตัว


การป้องกัน

ตรวจร่างกายดูรูปทรงว่า ผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง หรือเลี่ยงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเสริม หรือปรับปรุงวิธีการวิ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับรูปทรงเฉพาะตัวของเราเอง


เรียนรู้เทคนิควิธีการวิ่งที่ถูกต้องที่สุด

บริหารกล้ามเนื้อต้นขา ให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดแรงเค้นที่กระดูกสะบ้าน้อยที่สุด




2. การเจ็บปวดบริเวณด้านนอก เหนือข้อเข่าเล็กน้อย (Iliotibial "band" friction syndrome)

เกิดจากการเสัยดสีของแผ่นพังผืดหนา ที่อยู่ด้านนอกของข้อเข่า กับกระดูกหัวเข้าทางด้านนอก ขณะเหยียดเข่า และงอเข่า ทำให้มีการอักเสบตามมาได้ จะมีอาการเจ็บปวดในขณะที่วิ่งมากขึ้น

โรคนี้จะพบในนักวิ่งที่โครงสร้างผิดปกติ คือ ขาโก่ง หรือเท้าคว่ำบิดออกด้านนอก ในนักสิ่งที่โครงสร้าง

ร่างกายปกติก็พบได้เช่นกัน คือ พวกที่วิ่งโดยไม่ยอมเปลี่ยน หรือซ่อมแซมรองเท้าที่สึกหรอได้ โดยเฉพาะรองเท้าที่สึกหรอทางด้านนอก เมื่อวิ่งจะทำให้เท้าเอียง และมีการเสียดสีของพังผืดดังกล่าว บริเวณข้อเข่า ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้



การปฐมพยาบาล และการรักษา

เมื่อมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น ให้ประคบด้วยน้ำแข็งนาน 10-20 นาที หลังจากนั้น บริหารเพื่อยืดพังผืดนี้ ให้หย่อนเพื่อลดการเสียดสี และต้องบริหารพังผืดนี้ให้แข็งแรงด้วย จะได้ไม่เป็นซ้ำอีก

แม้แต่ในคนที่มีความผิดปกติของโครงสร้าง ร่างกายดังกล่าว ถ้าไม่มากนัก ก็สามารถบริหารเพื่อไม่ให้เกิด อาการ จากการวิ่งได้เช่นกัน ถ้าในรายที่มีอาการมาก การรักษาจำเป็น คือ การให้ยาแก้ปวด และการให้ยาต้านการอักเสบ ทั้งชนิดกิน หรือฉีดยาเฉพาะที่ด้วย


การป้องกัน

ดูรูปทรวงของร่างกายว่า มีขาโก่ง หรือเท้าคว่ำ บิดออกด้านนอกหรือไม่ เพื่อจะได้เสริมด้วยรองเท้า หรือปรับปรุงวิธีการวิ่ง ให้รูปทรงในการวิ่ง เป็นปกติดีที่สุด ถ้าเป็นมากๆ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไข

บริหารให้ส่วนพังผืดไม่ให้ตึง และให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ

ดูแลเรื่องรองเท้าไม่ให้สึกหรอ โดยเฉพาะด้านนอกของพื้น ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนใหม่ ก็ต้องเสริมให้ถูกต้อง




3. โรคข้อเข่านักกระโดด หรือกระโจน (Jumper's knee)

ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติอีกเช่นกัน แก่ผู้ที่ชอบกระโดด หรือกระโจน แต่สำหรับพวกที่ชอบกระโดด หรือกระโจน แล้วเป็นสิ่งที่แทบจะคู่กันเลยทีเดียว

โรคชนิดนี้เป็นบาดเจ็บที่เกิดจากการฉีกขาดของเอ็น หรือพังผืดที่บริเวณกระดูกสะบ้า อาจจะค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีก็ได้

สาเหตุนั้นเกิดจาก การกระตุก กระชากของเอ็นที่เกาะที่กระดูกสะบ้าในทันที ทำให้ฉีกขาด โดยเฉพาะนักสิ่งที่มีกล้ามเนื้อต้นขา ไม่แข็งแรง จึงไม่มีตัวที่จะประคองเข่า และลดการกระตุกนี้ การฉีกขาดจึงเกิดได้ง่าย ทั้งที่แรงกระทำไม่มากนัก

อาการของโรคคือ เจ็บปวดบริเวณรอบๆ กระดูกสะบ้า ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือหลายๆ ตำแหน่ง ในรายที่เป็นมาก จะเจ็บอยู่ตลอดเวลา หรือบางรายจะมีอาการก็ต่อเมื่อ วิ่งกระโดด หรือกระโจน


การปฐมพยาบาล และการรักษา

เมื่อมีอาการครั้งแรก ให้พักประคบน้ำแข็งประมาณ 10 นาที แล้วให้พักอยู่ในท่าเข่า เหยียดให้ยาแก้ปวด

หลังจาก 24 ชั่วโมงจึงประคบร้อน ถ้ายังไม่หายใน 3 วัน ต้องยึดตรึงให้อยู่ในท่าเหยียดนาน 3 สัปดาห์

และให้ยาต้านการอักเสบชนิดกิน หลังจากหายแล้ว ให้บริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงมากๆ เพื่อที่จะได้ทนแรงกระตุก หรือกระชากนั้นได้ ในรายที่อาการค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นแบบเรื้อรัง

การรักษานอกจากหลีกเลี่ยงการกระโดด กระโจนแล้ว ต้องไม่พยายามงอเข่า ให้ยาต้านการอักเสบ รวมทั้งการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน หรือคลื่นเหนือเสียง (อัลตราซาวน์) ในการรักษาด้วย จึงจะทำให้การหายเร็วขึ้น

สิ่งที่ไม่ควรลืมเลย คือ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงกว่าเดิมให้มากๆ เพราะเมื่อเราวิ่งอีก จะได้ไม่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น


การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการวิ่งที่ต้องกระโดด หรือกระโจน

หลีกเลี่ยงพื้นวิ่งที่แข็ง เพื่อลดแรงกระแทก กระตุกที่ข้อเข่า

บริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงอยู่เสมอ




แหล่งที่มา
บทความ :
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล







Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2552 18:58:23 น. 5 comments
Counter : 44290 Pageviews.  

 

บาดเจ็บจากการวิ่ง....ตอนที่ 1 .... โดย ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=22

บาดเจ็บจากการวิ่ง....ตอนที่ 2 เจ็บเข่า.... โดย ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=23

บาดเจ็บจากการวิ่ง....ตอนที่ 3 เจ็บขา.... โดย ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=24

บาดเจ็บจากการวิ่ง....ตอนที่ 4 เจ็บเท้า.... โดย ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=25

วิ่งอย่างไร ไม่ให้ ปวดเข่า ..... โดย อ.นพ.จักรกริช กล้าผจญ์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=26

ตะคริว ( muscle cramps )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-08-2008&group=6&gblog=20

บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-06-2008&group=6&gblog=16

การยืดเส้นแบบประหยัด .... โดย ม.ร.ว. ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=6&gblog=27


โดย: หมอหมู วันที่: 15 สิงหาคม 2555 เวลา:3:06:53 น.  

 
ลบ comment
Learn'n'Run
https://www.facebook.com/LearnandRun/photos/a.285068351673539.1073741828.272454926268215/286829228164118/?type=1

“อย่าวิ่งมาก… เดี๋ยวเข่าเสื่อม!!!” จริงหรือ???

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆพี่ๆที่วิ่งกันอยู่แล้ว ก็คงจะเคยได้ยินคนอื่นๆ(ที่ยังไม่ได้เริ่มวิ่ง) พูดถึงเรื่องนี้กันมาบ้างใช่มั๊ยครับ
แล้วหลายท่านที่ไม่กล้าเริ่มวิ่งออกกำลัง ก็เนื่องจากกลัวว่าเข่าจะเสื่อมนี่แหละครับ

ผมเคยลองหาข้อมูลตามที่ต่างๆดูก่อนหน้านี้ ก็พบว่ามีหลายๆที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วเหมือนกันครับ โดยอ้างอิงถึงงานวิจัย 2-3 งานหลักๆ คือ

งานวิจัยของ Eliza Chakravarty จากมหาวิทยาลัย Standford ที่ศึกษานักวิ่ง 45 คน เทียบกับกลุ่มที่ไม่วิ่ง 53 คน เป็นเวลา 18 ปี พบว่ากลุ่มนักวิ่งมีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่วิ่ง (20% เทียบกับ 32%) พิมพ์ไม่ผิดครับ!!! กลุ่มนักวิ่งเกิดน้อยกว่าด้วยซ้ำ...

ส่วนอีกงานเป็นของ David Felson ซึ่งศึกษาข้อมูลในผู้เข้าร่วมวิจัย 1,279 คน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการวิ่ง กับอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน... จริงๆมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเยอะมากเลยครับ ใส่หมดคงไม่ไหว...
2 งานที่เอามาให้ดูนี้คุณภาพค่อนข้างดีครับ

แต่เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยอีกงานเพิ่งตีพิมพ์ครับ งานนี้ทำให้ทุกฉบับที่ผ่านมาดูเล็กไปเลย(ผมคิดว่าน่าจะยังไม่มีคนเขียนถึงนะครับ)...

Paul Williams ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ทำในนักวิ่ง 74,752 คน เทียบกับคนที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน 14,625 คน... พบว่าในคนที่วิ่งมากกว่าประมาณ 2 กม.ต่อวัน จะมีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนสะโพก ”ลดลง!!!”... อีกทั้งจำนวนผู้ที่มีปัญหาจากกลุ่มนักวิ่ง ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มเดินอีกด้วยครับ... โดยผู้วิจัยพบว่าสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อม ก็คือการที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่นักวิ่งส่วนใหญ่นั้น สัดส่วนน้ำหนักตัวจะน้อยกว่า จึงไม่ค่อยพบปัญหานี้ครับ... ส่วนนักวิ่งที่ออกกำลังกายอย่างอื่นร่วมด้วย พบว่ามีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมสูงขึ้นครับ (ไม่ได้บอกไว้ว่าออกกำลังแบบไหนครับ)

ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ เราน่าจะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้แล้วนะครับว่า “การวิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเสื่อม” แถมยังช่วยป้องกันได้ด้วยซ้ำ

เมื่อมีงานวิจัยใหญ่ขนาดนี้มาอ้างอิงแล้ว ต่อไปเวลามีคนบอกว่า “วิ่งมากๆเดี๋ยวข้อเข่าเสื่อมนะ”... เพื่อนๆพี่ๆก็ print งานวิจัยอันนี้ (Link ข้างล่างอันแรกนะครับ โหลดได้ฟรีด้วย!!!) แล้วก็ยื่นให้เพื่อนของท่านเอาไปอ่านอย่างนิ่มนวลได้เลยครับ เราจะได้มีเพื่อนวิ่งเพิ่มขึ้นๆ

Run Hard and Be Nice to People
Learn’n’Run

(ปล. ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เนื่องจากมีเพื่อนๆพี่ๆถามเข้ามาว่า "แล้วอย่างงี้มันเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักตัวมากกว่ารึเปล่า?... จากที่อธิบายไปด้านบนแล้ว ว่าผู้วิจัยพบว่าสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อม คือการที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่นักวิ่งส่วนใหญ่น้ำหนักตัวน้อย... อันนี้เป็นข้อจำกัดของการทำวิจัยครับ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานมาก และรูปแบบของการออกกำลังก็แตกต่างกัน ทำให้การที่จะควบคุมเรื่องน้ำหนักตลอดงานวิจัยให้เท่ากันนั้น เป็นไปได้ยากมากครับ)

“Effects of Running and Walking on Osteoarthritis and Hip Replacement Risk”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/?term=Effects+of+Running+and+Walking+on+Osteoarthritis+and+Hip+Replacement+Risk

“Long distance running and knee osteoarthritis. A prospective study”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18550323

“Effect of recreational physical activities on the development of knee osteoarthritis in older adults of different weights- the Framingham Study”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed?term=effect+of+recreational+physical+activities+on+the+development+of+knee+osteoarthritis+in+older+adults+of+different+weights+the+framingham+study&cmd=correctspelling


โดย: หมอหมู วันที่: 10 ตุลาคม 2557 เวลา:15:01:18 น.  

 


วิ่งทำให้ข้อเสื่อมจริงหรือ?

ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 92-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 92
เดือน/ปี: ธันวาคม 1986
คอลัมน์: วิ่งทันโลก
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.กฤษฎา บานชื่น

ที่มา...//www.doctor.or.th/article/detail/5585


บ่อยครั้งที่ผู้เขียนถูกถามว่า การวิ่งทำให้ข้อเสื่อมจริงหรือไม่

อนุสนธิของคำถามนี้ เนื่องมาจากความเข้าใจที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป (รวมทั้งนักวิ่งและหมอบางคน) ว่า การวิ่งกระทบกระเทือนต่อข้อ เป็นผลให้มีการสึกหรอหรือการเสื่อมของข้อเร็วกว่าเวลาอันควร
ผู้เขียนจะไม่บอกว่า ความเข้าใจนี้ถูกหรือผิด ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านจะตัดสินเอาเอง

เรามักจะนึกถึงภาพการวิ่งก่อให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อต่างๆ จนมีการสึกหรือเสื่อมไปทีละน้อยๆ จริงอยู่ถ้าร่างกายเราเป็นเครื่องจักร เช่นรถยนต์ คงมีสภาพเช่นว่านั้น แต่เนื่องจากเราเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ การออกกำลังกายเช่นการวิ่ง จึงอาจมีผลต่อข้อในทางตรงข้าม คือแทนที่จะทำให้ข้อเสื่อม ก็กลับแข็งแรงขึ้น ทำไม?

เพราะหลักเบื้องต้นที่ว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ใช้ก็จะเสื่อมเหมือนมีดที่คมในฝักแต่ชักไม่ออก (เพราะเป็นสนิม เนื่องจากไม่เคยได้ใช้เลย) หรืออาจเปรียบกับเครื่องยนต์ ถ้ามีการเดินเครื่องอยู่เสมอ ส่วนต่างๆก็จะทำงานเรียบร้อยดี แต่ถ้าจอดทิ้งไว้หลายๆวัน พาลสตาร์ตไม่ติดเอา
ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนกัน ข้อที่ไม่ค่อยได้ใช้ เกิดการติดขัดได้ ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ ข้อไหล่ซึ่งมักติดในคนแก่ที่ไม่เคยบริหารไหล่หรือใช้งาน การเคลื่อนไหวข้อ ทำให้มีการหล่อลื่น และช่วยให้ข้อเคลื่อนที่ได้สะดวกอย่างไรก็ดี ทุกอย่างคงมีขีดจำกัด การใช้ข้อมากเกินไปอาจเป็นผลร้าย แต่แค่ไหนเล่าจึงจะเรียกว่ามากเกินไป การวิ่งทุกๆวันเป็นการใช้ข้อที่มากเกินไป หรือวิ่งวันเว้นวันจึงจะพอดี เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

คุณหมอริชาร์ด พานุช (Richard Panush) แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา คงต้องการคำตอบต่อคำถามเช่นว่าเหมือนกัน จึงได้ทำการศึกษาสภาวะข้อ ของนักวิ่งวัยกลางคน 17 นาย 9 คนในจำนวนนี้เป็นนักวิ่งมาราธอน (ซึ่งหมายความว่าวิ่งกันอาทิตย์ละกว่า 100 กิโลเมตร) และมีอยู่คนหนึ่งซึ่งในชีวิตวิ่งมากว่า 78,400 กิโลเมตร โดยเฉลี่ยนักวิ่งกลุ่มนี้วิ่งสัปดาห์ละ 55 กิโลเมตร เป็นเวลา 12 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอีก 18 คน ที่ไม่ใช่นักวิ่ง คุณหมอพานุช ไม่พบว่าความแตกต่างกันในด้านการเสื่อมของข้อเท้า ข้อเข่า และข้อสะโพก ในคนทั้ง 2 กลุ่ม

คุณหมอพานุชสรุปว่า การวิ่งมิได้ทำให้ข้อสึกหรือเสื่อมอย่างที่เคยเข้าใจ
ในวารสาร J.A.M.A. (วารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน) เล่มเดียวกัน (7 มีนาคม 2529) แพทย์หญิงแนนซี่ เลน (Nancy Lane) จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ก็ได้ทำการศึกษานักวิ่งของ Fifty-Plus Runners Association (ผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมนี้ได้ต้องอายุเกินกว่า 50 ปี) จำนวน 41 คน แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งวิ่งเพียงหนึ่งในสิบและออกกำลังกายเพียงหนึ่งในสี่ของกลุ่มสมาชิกสมาคม หมอเลนพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มนักวิ่งจะไม่มีสิ่งซึ่งส่อแสดงการเสื่อมของข้อต่างๆ เช่น ข้อเข่า และข้อกระดูกสันหลัง แตกต่างไปจากกลุ่มควบคุม แต่ยังมีเนื้อกระดูกมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 40 เปอร์เซ็นต์

นั่นก็หมายความว่า ในนักวิ่งที่หมอเลนทำการศึกษา มีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุ (osteoporosis) ซึ่งเป็นโรคสำคัญของสตรีสูงอายุชาวอเมริกันน้อยกว่า

แล้วอย่างนี้ยังจะบอกว่าวิ่งทำให้กระดูกและข้อเสื่อมอีกหรือ


โดย: หมอหมู วันที่: 10 ตุลาคม 2557 เวลา:15:02:07 น.  

 
Heel Strike or Forefoot Strike การวิ่งแบบเอาฝ่าเท้าลงหรือเอาส้นเท้าลง
ดีกว่ากัน ?? โดย By GRETCHEN REYNOLDS

Heel Strike or Forefoot Strike การวิ่งแบบเอาฝ่าเท้าลง หรือเอาส้นเท้าลง ดีกว่ากัน ?? โดย By GRETCHEN REYNOLDS

ปกติแล้วการวิ่ง ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะมีการลงน้ำหนัก 2 แบบ คือแบบแรกใช้ส่วนส้นเท้าลงพื้นก่อน( heel Strike)

และแบบที่สองคือใช้ส่วนฝ่าเท้าลงพื้น ก่อน( forefoot Strike, Toe Strike)จากการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลหลายฐานข้อมูล

พบว่าการวิ่งของคนส่วนใหญ่80-90 % จะเป็น Heel strike คือเอาส้นเท้าลงก่อนซึ่งก็มีข้อคัดค้านว่าที่เป็นอย่างนี้

เนื่องจากรองเท้าในปัจจุบัน ออกแบบทำให้นักวิ่งต้องวิ่งลงด้วยส้นเท้าก่อนเพราะเป็นลักษณะที่ส้นด้านหลังสูง ทำให้ตัวเลข

ของคนวิ่งแบบForefoot strikeดูน้อยกว่าความเป็นจริง และคิดว่าถ้าเราวิ่งเท้าเปล่าแบบธรรมชาติ การวิ่งจะลงน้ำหนักจะเป็นแบบ

forefootเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำซึ่งเป็นธรรมชาติที่ถูกต้องของมนุษย์และยังเชื่อว่าการวิ่งแบบ Forefoot strike

ช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บจากการวิ่งได้ดีกว่า Heel Strike

จึงได้มีที่มาของการวิจัยที่ประเทศ Finland โดย ทดลองเอา อาสาสมัคร ของทั้งชายและหญิง ที่มีน้ำหนักและส่วนสูงใกล้เคียงกัน

ที่มีการวิ่งที่แตกต่างกัน 2 แบบ โดยการตรวจวัดผลการลงน้ำหนักด้วย motion-capture sensorsจากการเก็บข้อมูลพบว่าจุดที่มี

การลงน้ำหนัก มากที่สุดและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ มี 3 จุด ได้แก่ ที่ เข่า , ข้อเท้า และ เอ็นร้อยหวาย

การวิ่ง

แบบ Heel strikeมีผลให้เกิดการบาดเจ็บที่เข่าได้มากกว่าแบบ Forefeet strike โดยการลงน้ำหนักแบบ heel strike

มีแรงกระทำต่อเข่าสูงกว่าแบบ Forefeet strike ถึง 16 % ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำได้ง่ายกว่าอย่างไรก็ดี

การวิ่งแบบ Forefeet strikeก็มีข้อเสียคือทำให้เกิดแรงกระทำต่อ ข้อเท้าและเอ็นร้อยหวาย มากกว่า แบบ Heel strike ถึง 20 %

และนำไปสู่การบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายและข้อเท้าได้ง่ายกว่าดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การวิ่งทั้งสองแบบ ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บ

จากการวิ่งได้เหมือนกันเพียงแต่เป็นคนละตำแหน่งที่บาดเจ็บ Heel strike ทำให้คุณบาดเจ็บที่เข่าได้ ถ้าเป็นมากๆเกิด

patellofemoral stress syndrome , Forefeet strikeก็ทำให้เกิด Plantar fasciitis (เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ) Achilles’ tendinopathy

(เอ็นร้อยหวายอักเสบ ) , และ stress fractures of the footการร้าวของกระดูก ได้ . ดังนั้นคุณไม่สามารถหลบเลี่ยง

การบาดเจ็บทั้งหมดจากการเปลี่ยน style การวิ่งได้เลย

อย่างไรก็ตามเราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้ เพื่อเลือก style การวิ่งที่เหมาะกับคุณได้ เช่น ถ้าคุณมีปัญหาปวดเข่า

คุณควรวิ่งแบบ Forefeet strike แต่ถ้าคุณมีปัญหาที่ข้อเท้าหรือเอ็นร้อยหวาย คุณควรวิ่งแบบ Heel strike แทนการเปลี่ยน Style

การวิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่คุณสามารถทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป การบาดเจ็บจากการวิ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว ควรหมั่นสังเกต

และปรึกษาแพทย์ถ้าอาการไม่หายไปเรื่องนี้ยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป และน่าจะมีงานวิจัยเพิ่มอีกในอนาคตอย่างแน่นอน

คุณคิดว่าอย่างไร


โดย: แปดเทพอสูร วันที่: 20 เมษายน 2558 เวลา:16:19:42 น.  

 
กระทู้พันทิบ ข้อมูลแน่นนนนน .. เกี่ยวกับ การวิ่ง

“วิ่งลงส้น หรือวิ่งเท้าเปล่า” ท่าวิ่งแบบไหนดีกว่ากัน???
//pantip.com/topic/31991867

ผมร่วมแสดงความเห็น นำมาบันทึกไว้ด้วย ..

๑. จาก ภาพโครงสร้างกระดูกเท้า จะเห็นว่า กระดูกส้นเท้า มีขนาดใหญ่ หนา ... ในขณะที่กระดูกนิ้วเท้า เล็กเรียว แสดงให้เห็นว่า กระดูกส้นเท้าถูกออกแบบให้รับน้ำหนัก (แรงกระแทก) มากกว่า กระดูกนิ้วเท้า

๒. โครงสร้างของเท้า นอกจากกระดูกแล้ว ยังมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ด้วย

๓. การรับน้ำหนัก จึงแบ่งทั้ง กระดูก และ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ .. ขึ้นอยู่กับท่าทาง (ตำแหน่ง) ที่ลงน้ำหนัก


จากข้อมูลข้างต้น .. นำมาพิจารณาเกี่ยวกับ ท่าทางการวิ่ง

๑. ถ้าวิ่ง ลงน้ำหนักที่ส้นเท้า ขณะสัมผัสพื้น ... แรงกระแทกก็จะลงที่กระดูกส้นเท้า ซึ่ง ท่าเดิน ปกติ ก็จะลงน้ำหนักที่ส้นเท้าก่อน ..การวิ่งแบบนี้จึงเป็นลักษณะตามโครงสร้างที่ธรรมชาติออกแบบมา แต่ก็มีข้อเสียคือ ความเร็วจะน้อยกว่า และ ถ้าวิ่งเหยียดเข่าสุด ก็จะมีแรงกระแทกไปที่เข่ามากกว่า

๒. ถ้าวิ่ง ลงน้ำหนักที่นิ้วเท้า ขณะสัมผัสพื้น ... แรงกระแทกก็จะลงที่ กระดูกนิ้วเท้า กล้ามเนื้อเส้นเอ็น ซึ่งโครงสร้างตามธรรมชาติ ไม่ได้ออกแบบมาให้รับแรง จึงต้อง ฝึกฝน มากกว่าปกติ เพื่อให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็น รับแรง ได้เพิ่มมากขึ้น (โอกาสเกิดการบาดเจ็บก็สูงขึ้น) แต่ การวิ่งแบบนี้ ก็สามารถเร่งความเร็วของการวิ่ง ได้มากกว่า การลงน้ำหนักที่ส้นเท้า และ แรงกระแทกที่เข่าจะน้อยกว่า ( เพราะ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อรับแรงกระแทกไปแล้ว)


สรุปว่า .. ถ้าอยากจะวิ่งแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับ แต่ละบุคคล การฝึกฝน ลักษณะการวิ่ง ฯลฯ .. เรื่องแบบนี้ ไม่มีอะไรที่ถูกผิด ไม่มีอะไรที่ดีทั้งหมด ไม่มีอะไรที่เหมาะสมกับทุกคน เลือกได้ตามชอบเลยครับ




โดย: หมอหมู วันที่: 30 กันยายน 2558 เวลา:15:26:13 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]