Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
15 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 

ลดราคาดีเซลลิตรละ 0.50 บาท - เก็บเงินเบนซิน 95 เข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 3 บาท - รัฐบาลใหม่

. . .


ภาคธุรกิจหนุน รัฐบาล “อภิสิทธิ์ 1” TDRI แนะดึง “หม่อมเต่า-ดร.ประสาร”ร่วม ครม.


นายประมนต์ สุธีรวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการที่เคยได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 คิดว่าทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์น่าเป็นคนที่น่าจะมีความเข้าใจปัญหาอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่ายินดีหากนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ทราบว่านายอภิสิทธิ์จะวางตัวอย่างไร เมื่อมีข่าวว่าจะนั่งกำกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย ซึ่งทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการศึกษาต่างก็มีความสำคัญ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณกลางปีที่รัฐบาลที่แล้วทำไว้ ก็อาจจะต้องมีงบประมาณเสริมเข้าไปอีก

“แม้จะยังไม่เห็นหน้าตาของทีมเศรษฐกิจชัดเจน แต่ก็หวังว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมที่มาจัดตั้งรัฐบาล จะสำนึกถึงการจัดตั้งบุคคลที่มีความดี และความสามารถมาช่วยกันทำงาน และยังเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับได้ อย่าให้เป็นเรื่องของโควตาอย่างเดียว”

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนฝากให้เร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย การพิจารณาตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จะต้องเป็นคนที่มีความสามารถ สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนได้ ส่วนจะเป็นใครนั้นคงต้องให้โอกาสในการทำงานก่อน

รัฐบาลจะต้องเร่งความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ดูแลภาคการส่งออกของประเทศ ภาคแรงงาน และกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มที่จะมีการต่อต้านรัฐบาลใหม่ รัฐบาลก็จะต้องใช้ฝีมือในการควบคุมดูแล

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์ จะเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นโจทย์ที่สำคัญ สำหรับรัฐบาลใหม่ หากการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะฟื้นความเชื่อมั่นได้เร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ หากรัฐบาลตั้งทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคนนอกที่มีความรู้ความสามารถ ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาล จะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนได้เร็วยิ่งขึ้น

ซึ่งนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการมีทั้งการกระตุ้นการลงทุนสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอีกด้วย

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีความรู้หลากหลายรอบด้าน มาดูแลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุนแรง

การที่นายอภิสิทธิ์จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองนั้น เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้มีอำนาจในการสั่งการอย่างเต็มที่ ไม่มีปัญหาเหมือนเช่นที่ผ่านมา และหากมีชื่อของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล จะถือว่าเหมาะสมมาก เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย เข้าใจการทำงานทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ขณะที่รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอื่นเข้ามาแอบแฝง และดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องลดเงื่อนไขทางการเมือง รวมถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือผู้ที่กำลังจะว่างงานจากปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยในระยะต่อไปต้องเร่งผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ

ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจในการเลือกนายอภิสิทธิ์มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้เข้ามาทาบทามให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หลังจากมีกระแสข่าวว่าได้ทาบทามให้ ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

. . .



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ภาระหนักรัฐบาลทั้งปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จัดทำบทวิเคราะห์ในหัวข้อ “ภารกิจรัฐบาลใหม่ ... เรียกคืนความเชื่อมั่น ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า แม้ขณะนี้ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงมาในระดับหนึ่ง หลังจากรัฐสภาได้มีการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่จะก้าวเข้ามาบริหารประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความยากลำบาก จากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศและผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤติการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญนับจากนี้ รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นคงทางการเมือง และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อเป็นพื้นฐานให้รัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ปัญหาหนักที่รออยู่หลายด้านให้มีความคืบหน้า

ปัญหาเฉพาะหน้าที่รอคอยการแก้ไขจากรัฐบาลชุดใหม่ ที่สำคัญได้แก่
1. ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย และธุรกิจเอสเอ็มอี
2. ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากการลดกำลังการผลิต และหยุดกิจการในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
3. ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ
4. ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นั้น หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่นโยบายกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อเสนอการจัดทำงบประมาณกลางปี และการกำหนดวงเงินขาดดุลว่าจะให้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท หรือจะขยายวงเงินให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ บทบาทที่สำคัญยังอยู่ที่การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 และปี 2552 ลง โดยคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.0-2.0 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0-4.3
ขณะที่ในปี 2552 เศรษฐกิจอาจหดตัวลงในไตรมาสแรก ทำให้อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกปี 2552 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปี 2552 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.5-2.5 ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองและการผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เป็นกุญแจสำคัญ

. . .



ราคาน้ำมันดีเซลลดลงอีกลิตรละ 50 สตางค์ มีผลวันที่ 16 ธ.ค.


ผู้ค้าน้ำมันได้ประกาศปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล และดีเซล บี 5 ลงลิตรละ 50 สตางค์ มีผลวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ส่งผลให้ราคาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นดังนี้ ดีเซล ลิตรละ 19.34 บาท ดีเซล บี 5 ลิตรละ 17.84 บาท

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุการปรับลดในครั้งนี้ เนื่องจากค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ค่าการตลาดไม่สูงมากอยู่ที่ระดับ 1.60 - 1.70 บาทต่อลิตร จึงต้องติดตามดูสถานการณ์ต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่อไปว่าจะสามารถปรับลดราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินได้หรือไม่

นายอนุสรณ์ คาดว่าความต้องการน้ำมันจะลดลงอีกร้อยละ 3-4 ตามภาวะเศรษฐกิจ ในส่วนของบางจากฯ ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยคาดว่ากำลังการกลั่นจะอยู่ประมาณ 91,000-95,000 บาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมัน วันที่ 16 ธันวาคม 2551

ชนิด ราคา เปลี่ยนแปลง
เบนซิน 95 26.59 -
เบนซิน 91 21.39 -
แก๊สโซฮอล์ 95 16.89 -
แก๊สโซฮอล์ 91 16.09 -
ดีเซล 19.34 -0.50
ดีเซล บี 5 17.84 -0.50

. . .



กบง. ปรับเพิ่มเพดานเงินส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน 95 จากลิตรละ 4 บาทเป็นลิตรละ 7 บาท และเพิ่มเงินชดเชยให้แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลิตรละ 30 สตางค์


นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ขยายเพดานการจัดเก็บเงินที่ได้จากการจำหน่ายน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไม่เกินลิตรละ 4 บาท เป็น 7 บาท
โดยในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะมีการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บเงินกองทุนสำหรับน้ำมัน 2 ประเภท คือ จัดเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มจาก 4 บาท เป็น 7 บาทต่อลิตร

และปรับการจัดเก็บเงินจากแก๊สโซฮอล์ อี 20 จากเดิมจัดเก็บ 0.15 บาทต่อลิตร เป็นชดเชยให้ 0.30 บาทต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดของแก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดต่ำลงจนไม่สร้างแรงจูงใจในการจำหน่าย ขณะที่ค่าการตลาดเบนซิน 95 อยู่ในระดับสูงเกินไป

โดยปัจจุบันค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 6.35 บาทต่อลิตร,
เบนซิน 91 ค่าการตลาด 1.90 บาทต่อลิตร,
แก๊สโซฮอล์ อี 10 ค่าการตลาด 2.03 บาทต่อลิตร,
แก๊สโซฮอล์ อี 20 ค่าการตลาด 1.60 บาทต่อลิตร,
ดีเซล บี 2 ค่าการตลาด 2.62 บาทต่อลิตร, และ
ดีเซล บี 5 ค่าการตลาด 3.25 บาทต่อลิตร

สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ 19.2 ล้านลิตร (เป็นแก๊สโซฮอล์ 10.5 ล้านลิตร) และเดือน พ.ย.51 เพิ่มเป็น 19.5 ล้านลิตร (เป็นแก๊สโซฮอล์ 10.9 ล้านลิตร) ขณะที่ดีเซลในเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ 45.2 ล้านลิตร และเดือน พ.ย.51 เพิ่มเป็น 46.4 ล้านลิตร

ที่ประชุม กบง. ยังเห็นชอบให้ตั้งอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยล่าสุดการจัดเก็บเงินกองทุนดังกล่าว จะทำให้กองทุนมีรายรับสุทธิเพิ่มจากวันละ 101 ล้านบาท เป็น 103 ล้านบาท

ปัจจุบัน สถานะของกองทุนน้ำมันมีเงินกองทุนจำนวน 16,097 ล้านบาท มีภาระหนี้จากการชดเชยราคาน้ำมันและการชดเชยภาษีสรรพสามิตรวมจำนวน 7,787 ล้านบาท และหนี้จากการชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซแอลพีจีอีก 7,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี เป็น 2 ราคา ระหว่างภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรม และจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

โดยล่าสุดราคาแอลพีจีในตลาดโลกอยู่ที่ 338 ดอลลาร์ต่อตัน ใกล้เคียงกับไทยที่กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่ 320 ดอลลาร์ต่อตัน

นอกจากนี้ กบง.ยังอนุมัติเงิน 88.8 ล้านบาทจากกองทุนน้ำมัน เพื่อสนับสนุนให้แท็กซี่ที่ใช้แอลพีจีมาติดตั้งเอ็นจีวี จำนวน 20,000 คัน ภายในเวลา 4 เดือน ซึ่ง ปตท. ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 761.6 ล้านบาท

ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีให้บริการ NGV แล้ว 275 แห่งใน 44 จังหวัด และในปี 2552 จะมีขยายสถานีบริการให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

. . .



“อนันต์ อัศวโภคิน” ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 6


วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2551 ซึ่งวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2551 จำนวน 5,095 ราย มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 397,901 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ถึง 78,285 ล้านบาท หรือลดลง ร้อยละ 16.44

สำหรับผลการจัดอันดับ ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นประจำปี 2551 ได้แก่
นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) สร้างสถิติใหม่ด้วยการรักษาตำแหน่งแชมป์เศรษฐีหุ้นไว้ได้อีกครั้ง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 14,657 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ร้อยละ 23.98 มูลค่า 14,633 ล้านบาท และ บมจ.แมนดารินโฮเต็ลร้อยละ 1.67 มูลค่า 4.21 ล้านบาท

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ยังเป็นของนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้บริหารบ มจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ซึ่งครองตำแหน่งติดต่อกัน 3 ปี โดยปีนี้ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 9,599 ล้านบาท จากการถือหุ้นพฤกษาฯในสัดส่วนร้อยละ 61.85 มูลค่าหุ้นลดลง 1,555 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.94 เนื่องจากราคาหุ้นพฤกษาฯลดลง

อันดับ 3 นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือหุ้นรวมมูลค่า 5,111 ล้านบาท มูลค่าลดลง 1,168 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.60

อันดับ 4 นายประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารบีอีซีเวิลด์ ถือหุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ร้อยละ 11.42 มูลค่ารวม 4,865 ล้านบาท ลดลง 434 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.19

อันดับ 5 นายนิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาท สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ แห่งโอสถสภา ไต่อันดับเศรษฐีหุ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากอันดับ 10 ในปี 2549 มาอยู่ในอันดับ 9 เมื่อปี 2550 และขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ในปี 2551 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 4,372 ล้านบาท ลดลง 902 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.10

อันดับ 6 นางพวงพันธุ์ บูลภักดิ์ นักลงทุนรายใหญ่อีกราย ที่ก้าวกระโดดจากอันดับ 148 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 3,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3,177.67 ล้านบาท หรือ 530.27%

อันดับ 7 นางนิจพร จรณะจิตต์ พี่สาวของ เปรมชัย กรรณสูต บิ๊กบอสอิตาเลี่ยนไทย ยังรักษาอันดับ 7 ไว้ได้เป็นปีที่ 3 โดยถือหุ้นมูลค่ารวม 3,631 ล้านบาท

อันดับ 8 นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แกรมมี่ ปีนี้ขยับขึ้นมาเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 8 หลังจากหล่นไปอยู่ในอันดับ 25 เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้ราคาหุ้น บมจ.แกรมมี่ที่ถืออยู่ 55.34% ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 31.92% ทำให้มูลค่าหุ้นที่ถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 3,526 ล้านบาท

อันดับ 9 นายประชุม มาลีนนท์ ก้าวขึ้นจากอันดับ 12 มาเป็นเศรษฐีหุ้นในอันดับ 9 ถือหุ้นรวมมูลค่า 3,390 ล้านบาท

อันดับ 10 นางสาวอัมพร มาลีนนท์ ไต่ขึ้นมาจากอันดับ 13 เมื่อปีที่แล้ว ถือหุ้นมูลค่า 3,363 ล้านบาท

อันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2551

อันดับ ชื่อ มูลค่าหุ้น (ล้านบาท)
1 อนันต์ อัศวโภคิน 14,657
2 ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ 9,599
3 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 5,111
4 ประวิทย์ มาลีนนท์ 4,865
5 นิติ โอสถานุเคราะห์ 4,372
6 พวงพันธุ์ บูลภักดิ์ 3,777
7 นิจพร จรณะจิตต์ 3,631
8 ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม 3,526
9 ประชุม มาลีนนท์ 3,390
10 อัมพร มาลีนนท์ 3,363

สำหรับการจัดอันดับตระกูลเศรษฐีหุ้นไทย ผลปรากฏว่าตระกูลมาลีนนท์ครองอันดับ 1 ของตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยได้อีกครั้งในปีนี้ โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 24,427 ล้านบาท มูลค่าลดลง 2,045 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.73 หุ้นที่ถือครอง ได้แก่ หุ้นบีอีซี เวิล์ด, ร.พ.ศิครินทร์, ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และไอที ซิตี้

ส่วนตระกูลอัศวโภคิน ยังคงรักษาอันดับ 2 ไว้อีกปีหนึ่ง จากการถือหุ้นของธุรกิจในตระกูล ได้แก่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แมนดาริน โฮเต็ล, ควอลิตี้เฮ้าส์ และเอพี พร๊อพเพอร์ตี้ รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 17,685 ล้านบาท มูลค่าลดลง 156 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.88

อันดับ 3 เป็นของตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรแบรนด์ “พฤกษา” รวมมูลค่า 11,410 ล้านบาท ลดลง 1,848 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.94

ส่วนตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัล ถือหุ้นรวมมูลค่า 10,917 ล้านบาท ลดลง 5,175 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.16

และอันดับ 5 เป็นของตระกูลปราสาททองโอสถ ด้วยมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 6,625 ล้านบาท ลดลง 1,193 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.26

สำหรับตระกูลชินวัตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตกลงมาหนึ่ง
อันดับจากอันดับ 47 มาอยู่อันดับ 48 ในปีนี้ โดยมูลค่าหุ้นลดลงเหลือ 1,369 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 18.98 ซึ่ง น.ส.พิณทองทา ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังเป็นเศรษฐีหุ้นในอันดับ 108 ทั้งคู่ ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเซทในสัดส่วนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 28.97 มูลค่า 628 ล้านบาท ส่วนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ถือหุ้น บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี และเอสซี แอสเซท ถือหุ้นรวมมูลค่า 6.45 ล้านบาท

อันดับตระกูลเศรษฐีหุ้นไทย ปี 2551

อันดับ ชื่อ มูลค่าหุ้น (ล้านบาท)
1 ตระกูลมาลีนนท์ 24,427
2 ตระกูลอัศวโภคิน 17,685
3 ตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ 11,410
4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ 10,917
5 ตระกูลปราสาททองโอสถ 6,625

. . .



สศก. เผย ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 51 ขยายตัว 4.4% คาดการณ์แนวโน้มปี 52 จะขยายตัว 3-4%


กระทรวงเกษตรฯ สรุปภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 51 จีดีพีภาคเกษตรโต 4.4% พร้อมคาดการณ์ปีหน้าภาคเกษตรหดตัวเล็กน้อยหลังเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยพืชเศรษฐกิจข้าวและปศุสัตว์ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สาขาประมงและป่าไม้ซบเซา

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตของภาคเกษตรในภาพรวม
สศก.ได้ประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี ภาคเกษตรในปี 2551 มีอัตราการขยายตัว 4.4% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของผลผลิต และระดับราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยสาขาที่มีการขยายตัวได้แก่ พืช, ปศุสัตว์ และบริการทางการเกษตร ในขณะที่สาขาประมงและป่าไม้มีการหดตัวลงเล็กน้อย
สาขาพืชมีการขยายตัวถึง 6.2% เนื่องจากผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน
สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1.7% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพัฒนาการเลี้ยงไก่อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน รวมทั้งปลอดการระบาดของโรคไข้หวัดนกเกือบตลอดปี 2551 ทำให้การส่งออกสินค้าปศุสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่แปรรูปเพิ่มมากขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% เนื่องจากในปีนี้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกพืชสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้มีการใช้บริการในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สาขาประมงหดตัวลง 0.1% จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำประมงทะเล ขณะที่ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงลดลงเช่นกัน จากต้นทุนอาหารกุ้งเพิ่มขึ้นและราคากุ้งตกต่ำ การส่งออกสินค้าประมงลดลง เนื่องจากการบริโภคทั้งในประเทศและตลาดโลกชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
สาขาป่าไม้หดตัวลง 3.1% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณการใช้ไม้ลดลงด้วย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2552 สศก. คาดว่าแนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวอยู่ในระดับ 3-4% ชะลอลงจากปี 2551 เล็กน้อย เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะด้านราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการบริโภคของประชากรชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

สาขาที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2552 ยังคงเป็นสาขาพืช, ปศุสัตว์และบริการทางการเกษตรเหมือนกับปีนี้ โดยสาขาพืชคาดว่าจะขยายตัว 4.7-5.7% จากสินค้าข้าวเป็นหลัก, สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1%, สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.1-3.1%, สาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลง 2.7%, และสาขาป่าไม้ หดตัวลง 3.6%

จากการประเมินสถานการณ์ของภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวที่ค่อนข้างชัดเจนในปีหน้า ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมภาครัฐควรเร่งหามาตรการรองรับการชะลอตัวของภาคเกษตรที่จะมาถึง เช่น การขยายตลาดส่งออก, การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรให้มีความหลากหลายและสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น, ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรองรับผลกระทบจากการทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ


ประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (%)
2551 2552
จีดีพีภาคเกษตร 4.4 3-4
- พืช 6.2 4.7-5.7
- ปศุสัตว์ 1.7 1.1-2.1
- บริการทางการเกษตร 2.6 2.1-3.1
- ประมง -0.1 -2.7
- ปาไม้ -3.1 -3.6

. . .



หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 12 จุด รับข่าวการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน ตอบรับข่าวการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยดัชนีปิดตลาดที่ 437.06 จุด เพิ่มขึ้น 12.27 จุด หรือร้อยละ 2.89 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19,486 ล้านบาท

นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 655 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 14 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 669 ล้านบาท

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี มองว่า ตลาดหุ้นไทยมีความคึกคักมากขึ้น ตอบรับข่าวที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับไม่มีปัจจัยลบจากต่างประเทศเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศก็เริ่มชัดเจน และความขัดแย้งน่าจะลดลง ทำให้นักลงทุนเข้ามาเล่นเก็งกำไร ส่งผลให้ดัชนีเคลื่อนไหวผ่านแนวต้านไปได้
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 16 ธ.ค. หากไม่มีปัจจัยที่เป็นลบ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อ แต่ต้องระวังหุ้นบางตัวอาจถูกแรงเทขายทำกำไรออกมา

นอกจากนี้ ต้องติดตามบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยตลาดต้องการบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับหรือมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษมาแก้ปัญหา ประเมินแนวรับที่ 430 จุด และแนวต้านที่ 450 จุด ด้านกลยุทธ์การลงทุน ให้ขายเมื่อดัชนีเพิ่มขึ้น และซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลง

. . .



ไทยจับมืออินโดนีเซียและมาเลเซีย ลดการส่งออกยาง 7 แสนตัน และลดการผลิต 2.15 ตันในปีหน้า แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

นายนูร์มาลา อับดุล ราฮิม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าของมาเลเซีย เปิดเผยว่า ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, และมาเลเซีย เห็นพ้องจะลดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 7 แสนตันในปีหน้า เพื่อพยุงราคาในตลาดที่ร่วงลงอย่างหนักในปัจจุบัน

เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ประกาศลดกำลังผลิตยางลง 2.15 แสนตันในปีหน้า จากกำลังการผลิตรวมของ 3 ประเทศในปีที่แล้ว 7 ล้านตัน และมีการส่งออกรวมกัน 5.5 ล้านตัน
การจำกัดปริมาณการส่งออกและลดกำลังผลิตลง จะส่งผลให้อุปทานยางในตลาดโลกปรับตัวลดลงรวม 9.15 แสนตันในปีหน้า

นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตยางของไทยและมาเลเซีย ยังแจ้งกับบรรดาสมาชิกไม่ให้ส่งออกยางธรรมชาติที่มีราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 1.35 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47.25 บาท)

สำหรับการหารือของ 3 ชาติผู้ผลิตยางธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ราคายางในตลาดกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นร่วงลงกว่า 70% นับตั้งแต่ที่ทะยานไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ผลพวงจากความต้องการในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ราคาซื้อขายล่วงหน้าของยางธรรมชาติงวดส่งมอบเดือนพ.ค. ที่ตลาดกรุงโตเกียว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ร่วงลง 3.8% มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 105.8 เยน หลังจากที่สภาคองเกรสสหรัฐคว่ำแผนกู้วิกฤตค่ายรถยนต์ในประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อผลิตยางรถยนต์ปรับตัวลดลง

ในประเทศไทย ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 32.17 บาท ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 34.50 บาท ลดลงจากระดับ 100-103 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำยางดิบในท้องถิ่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 28 บาท

. . .




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2551
2 comments
Last Update : 15 ธันวาคม 2551 20:34:16 น.
Counter : 743 Pageviews.

 

. . .


ภารกิจรัฐบาลใหม่ ... เรียกคืนความเชื่อมั่น
ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


จากผลการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเสียงข้างมาก 235 เสียง ต่อ 198 เสียงที่เลือก พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก และอีก 3 เสียงที่งดออกเสียง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอันหนักหน่วง ที่อาจนำไปสู่ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา การเข้ามารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงอยู่บนความคาดหวังของประชาชนคนไทย ภาคธุรกิจไทย และนานาประเทศ ที่กำลังมุ่งหวังให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากปมความวุ่นวายทางการเมือง กลับมาเดินหน้าแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลกที่มีแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้านี้

ประเด็นนับจากนี้ไป สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจอยู่ที่ประเด็นด้านความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งด้วยคะแนนเสียงที่มีอยู่นี้ก็น่าจะเพียงพอในระดับหนึ่งที่รัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศให้เดินหน้าได้ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคนี้สามารถยึดเหนี่ยวกันไว้ได้อย่างมั่นคงและมีเอกภาพในเชิงนโยบาย ประเด็นสำคัญที่จะตามมา คือ การจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการวางทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหนักที่รออยู่หลายด้าน ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อาจสรุปตามกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้ดังนี้

 กระทรวงพาณิชย์ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจมีโอกาสขยายตัวได้น้อยมาก หรือในกรณีเลวร้ายอาจหดตัวลงจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วางเป้าหมายในเบื้องต้นที่จะผลักดันการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 2552 ให้ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งนับเป็นความท้าทายภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจภูมิภาคหลักมีแนวโน้มที่อาจจะประสบภาวะถดถอยที่จมลึกและยาวนานกว่าที่คาดคิดไว้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจและการค้าของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นความหวังที่จะช่วยทดแทนตลาดหลักที่กำลังมีปัญหา เช่น ประเทศจีน กลับดูจะไม่สดใสอย่างที่คาดกันไว้ โดยการนำเข้าของจีนหดตัวลงถึงร้อยละ 17.9 ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ดังนั้น นโยบายด้านการผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวเป็นบวกได้ในปีหน้าจึงเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง นอกจากนี้ ในด้านเสถียรภาพราคาในประเทศ ประเด็นที่น่ากังวลคือแนวโน้มที่อาจจะเกิดภาวะเงินฝืด โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะเข้าหาศูนย์ หรือติดลบในบางเดือนของช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 ซึ่งภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวลดลงนั้น แม้ดูผิวเผินคล้ายกับจะเป็นผลบวกต่อการบริโภค แต่ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแท้จริง ก็อาจส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ จากการที่ธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะขยายการผลิตเนื่องจากไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ ขณะที่ตลาดแรงงานก็อาจไม่สามารถได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง และในที่สุดแล้วจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ก้าวเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

 กระทรวงอุตสาหกรรม ปัญหาที่ตามมาจากวิกฤติการเงินโลกและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกหลายประเภท และประเด็นที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกในขณะนี้ คือ วิกฤติในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งหากยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Big Three ล้มลงไป จะไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และอาจโยงใยไปกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ค่ายยุโรปหรือญี่ปุ่นที่ใช้ซัพพลายเชนรวมกันกับ Big Three ด้วย ในขณะเดียวกัน สำหรับประเทศไทย การลงทุนของบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ ในไทยนั้น นับว่ามีความสำคัญไม่น้อย แม้ผู้เล่นรายหลักจะเป็นค่ายรถจากญี่ปุ่นก็ตาม ซึ่งผลกระทบต่อไทยจากปัญหาของกลุ่มบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ นั้น ในระยะสั้น คงเป็นผลกระทบต่อแผนการผลิตและการส่งออกรถยนต์ในประเทศไทยของบริษัทเหล่านั้น ขณะที่ในระยะปานกลางขึ้นไป อาจจะมีผลต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย นอกจากปัญหาในอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ประเด็นสำคัญเฉพาะหน้าอื่นๆ ยังได้แก่ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้หันเป้าหมายกลับเข้ามายังประเทศไทย และนโยบายในการช่วยเหลือสนับสนุนเอสเอ็มอี เป็นต้น

 กระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มประสบปัญหาค่อนข้างหนักในปี 2552 โดยมีสาเหตุหลักจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ประท้วงปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอกเมืองตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนกระทั่งเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 5 ธันวาคม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยว ทำให้มีการยกเลิกการจองห้องพักจำนวนมาก และถึงแม้ในกรณีที่ปัญหาทางการเมืองคลี่คลายลงและนับจากนี้รัฐบาลชุดใหม่อาจจะมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศได้ก็ตาม แต่การภาคท่องเที่ยวของไทยยังต้องใช้เวลานานอีกหลายเดือนกว่าที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งอาจรวมไปถึงการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ และการกิจกรรมที่จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นต้น สำหรับในภาคเกษตร ปัญหาที่สำคัญในช่วงปีหน้าคือภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะเข้ามาพยุงราคาสินค้าเกษตร ซึ่งรวมถึงการผลักดันยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในการนำสินค้าเกษตรไปใช้แปรรูปสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น

 กระทรวงการคลัง สิ่งที่หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นั่นคือนโยบายกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้พิจารณาอนุมัติการจัดทำงบประมาณกลางปีขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท และเริ่มมีการพูดกันถึงความจำเป็นที่อาจจะต้องเพิ่มวงเงินของงบประมาณกลางปีให้สูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดงบกระตุ้นทางการคลังก็อาจมีข้อจำกัดด้วยกรอบเพดานการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งตามเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เดิม ตั้งเป้าหมายขาดดุลงบประมาณไว้ 249,500 ล้านบาท แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง คงจะส่งผลให้การจัดเก็บงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้า และกระทรวงการคลังเองก็ได้ออกมายอมรับว่าอาจจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะที่หากเพิ่มงบกลางปีที่วงเงินเดิมคือ 100,000 ล้านบาทเข้าไป การขาดดุลงบประมาณในปี 2552 อาจสูงขึ้นไปที่ประมาณ 450,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4.6 ของจีดีพี ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดต่อการเพิ่มวงเงินขาดดุลให้สูงขึ้นไปกว่านี้ นอกจากนี้ ด้วยวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้เดิมก็เห็นได้ว่ามีปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า โดยเดือนตุลาคม 2551 มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 9.4 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากข้อติดขัดต่างๆ ในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ แต่คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมก็อาจจะยังคงมีอัตราการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าอยู่ เนื่องจากภาวะสูญญากาศทางการเมือง ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเบิกจ่ายก็อาจยังไม่เร่งตัวขึ้นมากนักเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น รัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งการใช้จ่ายงบประมาณในเดือนที่เหลือของปี ให้กระจายลงไปสู่การแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่

 กระทรวงแรงงาน ปัญหาการว่างงานเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องเร่งหามาตรการรองรับการว่างงานในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีผู้ว่างงานสูงขึ้นไปกว่า 1 ล้านคนในช่วงปี 2552 มาตรการบรรเทาปัญหาจำเป็นต้องทำพร้อมกันไปหลายแนวทางโดยจัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วย ประการแรก คือ การรักษาตำแหน่งงานเดิม โดยจูงใจให้มีการเลิกจ้างน้อยที่สุด ซึ่งอาจใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วย เช่น ให้ธุรกิจสามารถลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการคงการจ้างงานในองค์กร หรือการให้ผ่อนผันการนำส่งเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกค้า แต่แนวทางนี้อาจจะกระทบต่อฐานะของกองทุนประกันสังคม ซึ่งคงต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขและผลกระทบอย่างรอบคอบ การสร้างตำแหน่งงานใหม่ โดยรัฐบาลต้องเร่งผลักดันโครงการใช้จ่ายด้านการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเมกะโปรเจกต์ แต่เป็นโครงการที่มีความสำคัญการการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างงานในชุมชนท้องถิ่นรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมหรือการบริการให้กลับสู่ท้องถิ่นและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ การสร้างงานรองรับบัณฑิตจบใหม่ โดยรัฐบาลอาจจัดสรรงบประมาณพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนท้องถิ่น โดยจ้างบัณฑิตจบใหม่เข้าไปช่วยในการพัฒนาโครงการดังกล่าวอย่างครบวงจร และการสร้างหลักสูตรอบรมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมรองรับเศรษฐกิจใหม่ทดแทนอุตสาหกรรมที่ไทยเริ่มแข่งขันไม่ได้

โดยสรุป แม้ว่าในขณะนี้ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงมาในระดับหนึ่ง หลังจากรัฐสภาได้มีการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ จะก้าวเข้ามาบริหารประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความยากลำบาก จากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศและผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤติการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญนับจากนี้ รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นคงทางการเมืองและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อเป็นพื้นฐานให้รัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ปัญหาหนักที่รออยู่หลายด้านให้มีความคืบหน้า ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าที่รอคอยการแก้ไขจากรัฐบาลชุดใหม่ ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยและธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากการลดกำลังการผลิตและหยุดกิจการในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นั้น หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่นโยบายกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อเสนอการจัดทำงบประมาณกลางปีและการกำหนดวงเงินขาดดุลว่าจะให้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท หรือจะขยายวงเงินให้สูงขึ้น นอกจากนี้ บทบาทที่สำคัญยังอยู่ที่การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณและการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ จากผลกระทบของเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ลง (จากประมาณการเดิมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551) โดยคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0-2.0 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0-4.3 (จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.5) ขณะที่ในปี 2552 อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกอาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2552 ไว้อยู่ในกรอบระหว่างร้อยละ 2.5-3.5 โดย ณ ขณะนี้มีความโน้มเอียงเพิ่มขึ้นที่ตัวเลขอัตราการขยายตัวจะหันเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการ ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรุนแรงกว่าที่คาด รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่รุมเร้า อาจมีความเป็นไปได้ที่การเติบโตของเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะต่ำลงกว่ากรอบประมาณการข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากปัญหานานัปการที่เผชิญอยู่นี้ได้มากน้อยเพียงใด 

. . .

 

โดย: loykratong 15 ธันวาคม 2551 20:36:59 น.  

 












 

โดย: loykratong 15 ธันวาคม 2551 20:57:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.