Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
9 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ไอซ์แลนด์ยึดแบงก์โคปทิง--สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ยืนยันฐานะมั่นคง--ธ.กลางทั่วโลกลดดอกเบี้ย...หุ้นฟื้น 1%

. . .

ไอซแลนด์เข้ายึดแบงก์ใหญ่สุดของประเทศแล้วเพื่อปกป้องระบบธนาคาร


เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานกำกับดูแลการเงิน (Financial Supervisory Authority) ของไอซแลนด์(Iceland) ได้เข้ายึดธนาคารโคปทิง (Kaupthing) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อปกป้องระบบธนาคาร และผู้ฝากเงิน โดย เงินฝากในประเทศที่ธนาคารแห่งนี้จะได้รับการค้ำประกันทั้งหมด และระบบธนาคารภายในประเทศจะสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ

ธนาคารโคปทิง (Kaupthing) เปิดเผยว่า คณะกรรมการของทางธนาคารได้ลาออก ขณะที่ทางการไอซแลนด์เข้าควบคุมธนาคาร ซึ่งทำให้ระบบธนาคารของไอซแลนด์ตกอยู่ในความควบคุมของรัฐเกือบทั้งหมด โดยทางการได้เข้าควบคุมกิจการของธนาคารใหญ่อันดับ 2 และอันดับ 3 คือ แลนด์สแบงกี (Landsbanki) และ กลิตนีร์แบงก์ (Glitnir) ไว้แล้วก่อนหน้านี้ และโคปทิงเป็นธนาคารของไอซแลนด์รายที่ 3 ที่ถูกยึดกิจการโดยรัฐบาล นับตั้งแต่ที่วิกฤตการเงินทวีความรุนแรงขึ้น

. . .


รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เตือน ยังจะมีแบงก์ล้มอีก

นาย เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกคำเตือนเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่า จะมีสถาบันการเงินสหรัฐฯ ล้มละลายเพิ่มอีก พร้อมชี้ด้วยว่า วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น "ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง" ต่อระบบเศรษฐกิจ

นายพอลสัน เตือนว่า แผนกอบกู้ภาคการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่า การล้มละลายสิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้ แผนการดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกหลายอาทิตย์กว่าจะเข้าที่เข้าทาง

แม้จุดประสงค์สำคัญของแผนกอบกู้ภาคการเงินฉบับนี้ คือ การอนุญาตให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เข้าซื้อหนี้เสียที่บริษัทต่างๆ ถือครองอยู่ แต่พอลสันก็กล่าวว่า "จะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ก่อนจะเริ่มซื้อหนี้เสีย”
ขณะที่วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ส่งผลกระทบทั่วโลก พอลสันเรียกร้องให้กลุ่มประเทศจี 20 จัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน ควบคู่กับการประชุมของกลุ่มจี 7 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ในวันที่ 10 ต.ค.นี้

" ผมขอย้ำว่าตลาดการเงินสหรัฐ และทั่วโลกยังคงอยู่ในสภาพที่ตึงตัวมาก ในช่วงสุดสัปดาห์นี้เราจะมีการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และการประชุมธนาคารโลก ซึ่งเชื่อว่าวาระการประชุมจะชูประเด็นวิกฤตการณ์ด้านสินเชื่อเป็นวาระหลัก "

กลุ่มประเทศจี 20 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อเป็นเวทีหารือร่วมกันระหว่างประเทศร่ำรวย และประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ อันประกอบด้วยประเทศร่ำรวยในกลุ่มจี 7 (สหรัฐฯ, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, อิตาลี และแคนาดา), ประเทศต่างๆ ในประชาคมยุโรป ตลอดจนอาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้ และตุรกี

. . .


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือนรัฐบาลปรับนโยบายการเงินการคลัง รองรับวิกฤติการเงินโลก และควรดำเนินนโยบายดอกเบี้ยให้ยืดหยุ่นและผ่อนคลาย


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า การประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.50 ของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก (มีตารางประกอบ) นับเป็นมาตรการก้าวสำคัญของผู้กำหนดนโยบายการเงินทั่วโลกเพื่อรับมือกับวิกฤติการทางการเงิน ซึ่งถูกคาดว่าจะมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงระดับความกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกต่อความเสี่ยงของโอกาสการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าของความสูญเสียรวมที่อาจเกิดขึ้นมีขนาดที่ใหญ่มาก ซึ่งตัวเลขประมาณการล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประกอบกับผลกระทบของวิกฤติการเงินในรอบนี้แผ่ขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในสหรัฐฯ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยร่วมกันของธนาคารกลางทั่วโลก อาจยังไม่นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวิกฤติการเงินในรอบนี้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เพียงพอและไม่ใช่มาตรการที่เบ็ดเสร็จ ในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินของโลก

และเมื่อพิจารณาไปถึงสถานการณ์ที่อาจต้องเผชิญต่อไป อาทิ ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจยังคงทำให้กลไกการทำงานของตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อ ยังคงไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างเต็มที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงมาตรการในการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา น่าจะถูกทยอยประกาศออกมาในระยะถัดไป

สำหรับผลกระทบต่อไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทย ควรจะต้องยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากขึ้น ทางการไทยควรเร่งหยิบยกประเด็นในเรื่องนโยบายการเงินและการคลังที่สอดรับกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจยาวนานกว่าที่เคยประเมินไว้

เพราะหากไม่มีมาตรการ หรือการดำเนินการที่เหมาะสมในการรองรับภาวะวิกฤติดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่เริ่มแรกเกิดขึ้นภายนอกประเทศ ก็อาจจะทวีความรุนแรงและความซับซ้อนมากขึ้น จนส่งผลให้เศรษฐกิจและภาคการเงินของไทยอาจตกอยู่ในความอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้ทางการไทยประสบกับความยากลำบากหรือต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกมากในการที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ


วันที่ ประเทศ ก่อนปรับ หลังปรับ ลดลง (%)
7 ต.ค. 51 ฮ่องกง 2.50 2.00 0.50
8 ต.ค. 51 สหรัฐ(FED) 2.00 1.50
ยุโรป(ECB) 4.25 3.75
อังกฤษ 5.00 4.50
แคนาดา 3.00 2.50
สวีเดน 4.75 4.25
จีน 7.20 6.93 0.27
ไทย 3.75 3.75 -
9 ต.ค. 51 ไต้หวัน 3.50 3.25 0.25
เกาหลีใต้ 5.25 5.00

. . .


ธปท.ย้ำระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยอาวุโสฝ่ายตลาดและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในขณะนี้ระบบการเงินไทยยังมีสภาพคล่องเงินบาทในตลาดจำนวนมาก โดยตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สภาพคล่องเงินบาทในระบบมีสูงถึง 1,407,826 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับวงเงินสินทรัพย์สภาพคล่องรายปักษ์ที่ ธปท.บังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงร้อยละ 6 ของเงินฝากและหนี้ระยะสั้น พบว่า มีสูงถึง 3.7 เท่า หรือมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่ธนาคารพาณิชย์ จะนำไปลงทุน หรือปล่อยกู้ได้สูงถึง 1,097,123 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ทุกวัน ธปท.จะมีการปล่อยเงินเข้าไปในระบบการเงิน ประมาณวันละ 300,000-500,000 ล้านบาท ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ธนาคารพาณิชย์สามารถจะนำไปลงทุน และปล่อยสินเชื่อมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ เงินที่ ธปท.ปล่อยกลับเข้าไประบบ 300,000-500,000 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้นำไปลงทุน หรือให้สินเชื่อต่อ แต่ส่งกลับเข้ามาให้ ธปท.กู้ใหม่ และบางวันส่งเงินกลับมาให้ธปท.กู้มากกว่าที่ ธปท.ปล่อยเข้าระบบด้วยซ้ำ ทำให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีความต้องการเงินเพิ่มเพื่อลงทุน หรือปล่อยสินเชื่อ เพราะยังมีเงินสด และสภาพคล่องในมือเพียงพอ ทำให้ ธปท.ยังไม่เคยต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเข้าระบบ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่เคยมาขอกู้ มีแต่ให้ ธปท.กู้เงิน

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ในขณะนี้ ธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน และระบบการเงินโลก จะกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศไม่มากนัก โดยสภาพคล่องในระบบจะลดลง ก็ต่อเมื่อธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ นักธุรกิจไทยที่เคยกู้เงินต่างประเทศหันมากู้เงินในประเทศ จากผลกระทบที่ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศสูงขึ้น และการไหลออกของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ธปท.มีความพร้อมในการปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็ง ธปท.ได้ดูดซับสภาพคล่องผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อลดสภาพคล่องที่ล้นระบบจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลเข้ามามากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้สามารถทยอยปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเข้าไปในระบบได้ หากสถานการณ์มีความจำเป็น และตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง ธปท.ได้ปรับการบริหาร ลดการดูดซับสภาพคล่องลง โดยขายดอลลาร์สหรัฐออกไปต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือไว้ หากในช่วงต่อไปมีความจำเป็นต้องปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้นด้วย เช่นการเพิ่มประเภทของหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจาก ธปท.เป็นต้น

. . .


ตลาดหุ้นฟื้นตัว หลังธนาคารกลางหลายประเทศประกาศลดดอกเบี้ย ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเตรียมหารือโบรกเกอร์ประเมินสถานการณ์วันนี้ (10ต.ค.)

ภายหลังจากตลาดหุ้นไทยลดลงรุนแรงกว่า 100 จุดในช่วงเวลา 3-4 วันที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ตลาดหุ้นไทยกลับมายืนแดนบวกได้ โดยปิดตลาดที่ 499.99 จุด เพิ่มขึ้น 7.65 จุด หรือคิดเป็น 1.55% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 20,029 ล้านบาท ถึงแม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิ 2,297 ล้านบาท

นางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี มองว่า ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนทั้งบวกและลบ โดยระหว่างวันดัชนีแกว่งตัวลดลงต่ำสุด 18 จุด และเพิ่มขึ้นสูงสุด 16 จุด ซึ่งเป็นการฟื้นตัวทางเทคนิค เพราะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งฟื้นตัว หลังธนาคารกลางหลายประเทศ ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ขณะที่การเมืองในประเทศยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ทำให้หุ้นกลุ่มหลักที่เคยถูกแรงเทขายอย่างหนัก เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี และธนาคาร กลับมาปิดบวกได้

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 10 ต.ค.นี้ มองว่า ดัชนียังคงแกว่งตัวผันผวน โดยต้องติดตามตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก เพราะจะมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย พร้อมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการเมืองในประเทศ ประเมินแนวรับไว้ที่ 460-470 จุด และแนวต้าน 510-517 จุด ด้านกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้เทขายทำกำไรเมื่อดัชนีขึ้นไปถึงระดับแนวต้าน (510-517)

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้( 10 ต.ค.) ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะหารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และโบรกเกอร์ต่างชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์ในตลาดโลก
ส่วนเรื่องวิกฤติการเมืองในประเทศคงต้องให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ไข แต่ในภาคเศรษฐกิจนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงจะต้องทำงานต่อไป เพราะหากปล่อยไว้ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

. . .



สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ยืนยันฐานะการเงินแข็งแกร่ง แม้บริษัทแม่ในอังกฤษเข้าร่วมแผนฟื้นฟูสภาพคล่องสถาบันการเงินของรัฐบาลอังกฤษ

นางประถมาภรณ์ สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยัน การเข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 ธนาคารของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด อังกฤษ ที่เข้าร่วมในแผนฟื้นฟูสภาพคล่องสถาบันการเงินของรัฐบาลอังกฤษ ไม่ได้เกิดจากการขาดสภาพคล่องของธนาคาร แต่เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินในประเทศอังกฤษของ 8 ธนาคารใหญ่ ซึ่งจะมีรัฐบาลเข้าช่วยเหลือเพิ่มทุน และค้ำประกันหุ้นกู้ หากมีความต้องการ

ซึ่งทางสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด อังกฤษ ยังไม่ประสงค์จะใช้ความช่วยเหลือของรัฐบาล เพราะยังคงมีสภาพคล่องสูง เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เนื่องจากตลาดหลักของธนาคารยังคงเป็นตลาดเอเชีย และแอฟริกา

ในส่วนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด อังกฤษ นั้น ธนาคารมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องสูงแล้ว โดยยังอยู่ในสถานะเป็นผู้ปล่อยกู้สุทธิในตลาดอินเตอร์แบงก์(เงินกู้ระหว่างธนาคารพาณิชย์)ของไทย

ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากร้อยละ 72.5 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 13.94 และเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 13.4 โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีเงินฝากของลูกค้าไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอและยังดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการช่วยฟื้นฟูสภาพคล่องและอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบการเงินธนาคารของอังกฤษ ได้มีธนาคารทั้งหมด 8 แห่งของอังกฤษเข้าร่วม ได้แก่ Royal Bank of Scotland, Lloyds TSB, HBOS, Barclays, HSBC, Nationwide, Abbey National/Santander and Standard Chartered Bank โดยธนาคารที่เข้าร่วมโครงการสามารถ ขอสภาพคล่องเพิ่มเติมจากธนาคารกลางได้ในกรณีที่จำเป็น และมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม

หากต้องการออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนเสริมสภาพคล่อง รัฐบาลอังกฤษจะค้ำประกันหุ้นกู้ที่ออกใหม่ให้ทั้งหมด โดยมีเงินสำรองประกันหุ้นกู้ขณะนี้ประมาณ 250,000 ล้านปอนด์ โดยรัฐบาลจะดูแลความเพียงพอของเงินสำรองดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ธนาคารทั้ง 8 แห่ง มีสภาพคล่องสูงขึ้น

หากต้องการเพิ่มทุน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อเงินกองทุน สามารถรับการสนับสนุนโดยออกหุ้นกู้บุริมสิทธิขายให้แก่รัฐบาลอังกฤษ จำนวนเงินที่สำรองไว้รวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านปอนด์ และสามารถเพิ่มวงเงินให้อีก 25,000 ล้านปอนด์ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งจะทำให้ภาคการเงินของอังกฤษมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

. . .





Create Date : 09 ตุลาคม 2551
Last Update : 9 ตุลาคม 2551 20:54:09 น. 2 comments
Counter : 864 Pageviews.

 
โอ้โห.....


สาระเพียบ


คุกคูอ่านไม่ไหวแล้ว ไปยืนขาเดียวดีฝ่า


โดย: คุกคู IP: 125.25.19.199 วันที่: 10 ตุลาคม 2551 เวลา:22:02:33 น.  

 


Recession is coming ... Reminder to all my friends

Recession is coming .... make your own judgment, don't panic !! Do what is wise.
ความถดถอยทางเศรษฐกิจกำลังเริ่มต้น...กรุณาตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง แต่อย่าตระหนกตกใจ!! พยายามดำเนินชีวิตไปตามปกติเท่าที่จะทำได้

The recession looks very eminent. It is really time to take pro active steps to avoid a painful time in the next two years which is how long the recession is expected to last.
ความถดถอยครั้งนี้ดูเหมือนจะค่อนข้างสำคัญ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นรับมือเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่คาดว่าจะเป็นเวลาถึง 2 ปีในครั้งนี้

Suggestions:
ข้อแนะนำ

1. Don't take any loans; buy homes, properties with loans, or even cash. Keep as much cash as possible.
อย่าดำเนินการใดเกี่ยวข้องกับการกู้ยืม เช่น การซื้อบ้าน ทรัพย์สิน หรือการหมุนเงินสด พยายามถือเงินสดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

2. Pay off as much of personal loans, private loans, as debt collection will be hastened.
จ่ายคืนเงินกู้ส่วนบุคคล หรือเงินกู้เอกเทศต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะการตามเก็บหนี้ครั้งนี้จะโดนเร่งรัดอย่างมาก

3. Sell any stocks you can even at lower prices.
ขายหุ้นใดที่ถืออยู่ออกไป แม้ว่าจะได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาทุน

4. Take money off from Trust Funds.
ถอนเงินสดออกมาจากกองทุนเงินฝากต่างๆ

5. Don't believe in huge sales forecast from customers, be extremely prudent, lowest inventories, reduce liabilities.
อย่าเชื่อถือในคำทำนายเกี่ยวกับยอดขายจำนวนมโหฬารจากลูกค้า แต่ต้องสุขุมรอบคอบ พยายามลดสินค้าคงคลังให้ต่ำที่สุด และลดหนี้สินลง

6. Don't invest in new capital.
อย่าลงทุนในทรัพย์สินใหม่ๆ

7. If you are selling homes/ properties/ cars, do it now, when you can get good prices, they are going to fall.
ถ้าคุณกำลังขายบ้าน/ ทรัพย์สิน/ รถยนต์ ให้รีบดำเนินการทันทีขณะที่ยังได้ราคาดี ไม่เช่นนั้นราคาจะตกต่ำลงไปกว่านี้อีก

8. Don't invest in new business proposals.
อย่าลงทุนในข้อเสนอทางธุรกิจใหม่ๆ

9. Cancel holiday plans using credit cards.
ยกเลิกแผนวันหยุดที่จะใช้จ่ายโดยบัตรเครดิต

10. Don't change jobs, as companies will retrench based on 'last in first out'.
อย่าเปลี่ยนงานช่วงนี้ เพราะบริษัทต่างๆจะทำการตัดรายจ่ายโดยเอาคนที่มาทีหลังออกก่อน

Stay cool, wait, and if you took all of the above actions and more, you probably will be better off then many. This is not a rumor.
ใจเย็นๆ ให้รอคอยอย่างสงบ ถ้าสามารถดำเนินการตามที่กล่าวมาแล้ว คุณจะเป็นผู้ที่โชคดีกว่าอีกหลายๆคน นี่ไม่ใช่ข่าวลือ

Bear Stearns is the first of many banking and financial institutions that will start falling in the not too future. If Bear Stearns can fall, so can JP Morgan, Citibank, HSBC, and the whole world. US economy falls, the rest will crumble.
ธนาคารแบร์สเติร์นส์กำลังเป็นหนึ่งในหลายๆธนาคารและสถาบันการเงินที่กำลังจะล้มในอีกไม่นาน ถ้าธนาคารนี้ล้มได้ สถาบันอื่น เช่น เจ พี มอร์แกน , ซิตี้แบ๊งค์ , ฮ่องกงแบ๊งค์และเซี่ยงไฮ้ และที่เหลือทั้งโลกก็อาจล้มตามได้เช่นกัน ถ้าเศรษฐกิจอเมริกาล้ม ที่อื่นก็ย่อมป่นปี้ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

India and all those self economies will be the most protected, but not gullible.
อินเดียและประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจภายในที่ดีและครบวงจรจะได้รับผลกระทบน้อย แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

Europe may be a little stronger, but not China , another giant! :place Malaysia will see significant impact.
ยุโรปอาจจะดูแกร่งกว่าที่อื่นเล็กน้อย แต่ไม่เหมือนจีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่มาเลเซียจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ


A friendly reminder form a friend!!!





โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 11 ตุลาคม 2551 เวลา:21:46:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.