Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
9 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 

แนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศ : ชะลอลงต่อเนื่องถึงปีหน้า

. . .


แนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศ : ชะลอลงต่อเนื่องถึงปีหน้า

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


จากตัวเลขยอดขายรถยนต์เดือนตุลาคมที่ได้มีการรายงานออกมานั้น พบว่าหดตัวลงถึงประมาณร้อยละ 15.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดือนกันยายนที่หดตัวลงร้อยละ 10.5 และเป็นอัตราการเติบโตที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้จะเป็นช่วงที่ปกติมีการขยายตัวของยอดขายสูงก็ตาม ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายในประเทศ 10 เดือนแรกหดตัวลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน

อย่างไรก็ตามทิศทางของยอดขายรถยนต์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่จะชะลอลงกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวก เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลง การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถต่างๆสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม จึงนับว่าช่วงเวลาอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ รวมถึงปีหน้าจะเป็นภาวะที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2551 และปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2551...ภาพรวมทั้งปีอาจหดตัวจากหลากปัจจัยลบรุมเร้า

สภาวะตลาดรถยนต์ในปี 2551 นับว่าเผชิญปัจจัยลบที่หลากหลายและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว

• เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2551 ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยได้รับประโยชน์อย่างมากจากนโยบายการลดภาษีสรรพสามิตให้แก่รถยนต์นั่งที่สามารถใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ อี 20 ประกอบกับสภาพการเมืองไทยในขณะนั้นที่สื่อให้เห็นถึงทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้นภายหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงช่วงเวลาดังกล่าวไทยได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีการขยายตัวต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม แต่เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากปัจจัยต่างๆดังกล่าวก็ได้เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวของยอดขายโดยเฉพาะรถกระบะ 1 ตัน ที่เริ่มหดตัวลงเล็กน้อยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยังคงหดตัวลงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
•
• เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2551 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นและทำสถิติสูงสุดช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ช่วงนี้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เป็นครั้งแรก ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่องนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป รวมถึงชนิดของรถยนต์ที่เลือกซื้อก็ตรงกับลักษณะการใช้งานจริงมากขึ้น นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เองยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดความกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ลดลง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะยอดขายรถกระบะ แม้ว่ารัฐบาลได้มีการออก 6 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งรวมไปถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2551 ก็ตาม
•
• เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2551 หลังจากวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯมีทิศทางรุนแรงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังลุกลามไปอีกในหลายๆภูมิภาค ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทยตามมา ปัญหาในภาคธุรกิจส่งออก อาทิ ปัญหาออร์เดอร์ที่ลดลง และปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากสถาบันการเงินต่างระมัดระวังในการปล่อยกู้ ส่งผลให้บางกิจการจำเป็นต้องปิดกิจการหรือลดพนักงานลง นอกจากนี้การที่ราคาสินค้าเกษตรของไทยปรับลดลง ล้วนแต่ส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวังมากยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ลดลง และการที่สถาบันการเงินต่างต้องระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อ ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายดังอดีตส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ และยิ่งเมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองโดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองส่งผลทำให้การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าบางชนิดของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักรวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผลกระทบทางธุรกิจดังกล่าวอาจทำให้มีการว่างงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น และแม้ค่ายรถยนต์ต่างๆจะเร่งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงงานมหกรรมยานยนต์ในช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้บ้าง เนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษจำนวนมากและมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆออกมาเปิดตัว รวมถึงรถยนต์ราคาประหยัดจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดขายรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ดังกล่าวอาจทำไม่ได้ตามเป้า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมืองไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และการที่สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ จึงอาจทำให้โปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดต่างๆไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้เท่าที่ควร และรถรุ่นใหม่ที่ออกมานั้นบางค่ายเป็นรถรุ่นที่สถานีบริการน้ำมันยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้นรถยนต์รุ่นที่จะช่วยทำยอดขายได้ดีในครั้งนี้ได้น่าจะเป็นรถที่ใช้พลังงานรูปแบบเดิม เช่น แก๊สโซฮอล์อี 20 และดีเซล แต่เป็นรุ่นที่เปิดตัวใหม่ รวมถึงรถราคาประหยัดนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายก็ได้มีการออกมาคาดการณ์ว่ายอดขายภายในงานในปีนี้จะอยู่ที่ 13,000 คันลดลงจากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 17,000 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 23.5 ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาเบื้องต้นทำให้คาดว่ายอดขายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้จะชะลอลงต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนยังมีไม่มากพอ


จากทิศทางของยอดขายรถยนต์ในประเทศดังได้กล่าวไปข้างต้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าทิศทางของยอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้น่าจะหดตัวลง โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปี 2551 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 615,875 คัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.4 จากปี 2550 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2549


แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2552...หดตัวต่อเนื่องและอาจรุนแรงขึ้น

จากที่มีหลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะลดลงต่ำกว่า 600,000 คัน และผู้ประกอบการบางรายได้ออกมาคาดว่าอาจจะลดลงต่ำถึง 580,000 คัน อย่างไรก็ตามทิศทางยอดขายรถยนต์ในปีหน้านั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะปรากฏผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม และส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดรถยนต์ภายในประเทศด้วย นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ถ้าพิจารณาถึงแนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าระดับราคาเฉลี่ยในปี 2552 จะมีแนวโน้มลดลงจากปี 2551 ทำให้รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอย่างที่หลายฝ่ายออกมาคาดกัน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจจะช่วยส่งเสริมยอดขายให้ปรับตัวดีขึ้นได้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินคาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหนือความคาดหมายของตลาด โดยลดลงถึงร้อยละ 1 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ซึ่งคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงตามมา และยังมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้อีกภายใต้ทิศทางเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำดังเช่นปัจจุบันไปอย่างต่อเนื่องหรือปรับขึ้นไม่มากนัก ก็อาจช่วยให้ผู้บริโภคลดความกังวลด้านราคาน้ำมันลง รวมถึงมาตรการต่างๆของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือด้านราคาพืชผลการเกษตรสำหรับเกษตรกร ขณะเดียวกันการทำตลาดของค่ายรถต่างๆเพื่อกระตุ้นยอดขายซึ่งคาดว่าจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศได้บ้าง

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะอยู่ระหว่าง 540,000 ถึง 580,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 5.8 ถึง 12.3 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลสะท้อนมาสู่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดาได้ในขณะนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งนี้คาดว่ายอดขายจะหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความรุนแรง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวน่าจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก้าวผ่านช่วงจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในครึ่งหลังของปี 2551 อาจจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในครึ่งหลังของปี 2552 ขยายตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

. . .




 

Create Date : 09 ธันวาคม 2551
1 comments
Last Update : 9 ธันวาคม 2551 14:39:32 น.
Counter : 638 Pageviews.

 

. . .


หอการค้าไทย แนะรัฐบาลใหม่ควรช่วยเหลือภาคการส่งออก-ธุรกิจเอสเอ็มอี-และเตรียมแก้ปัญหาคนว่างงาน


นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายที่รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการ คือ

1. การดูแลภาคการส่งออก เพราะขณะนี้ผู้ส่งออกเริ่มมีปัญหาว่า ลูกค้าจากต่างประเทศขอยืดระยะเวลาชำระเงิน ดังนั้น รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระสินเชื่อให้นานขึ้น หรือจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระนานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่งออก และเอสเอ็มอีที่มีปัญหาในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันและการลงทุน เพื่อให้ภาคส่งออกไทยมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น

2. รัฐบาลควรจัดหาเงินทุนจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี นำไปลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งขณะนี้ขาดเม็ดเงินลงทุนซื้อเครื่องจักร โดยนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังเกิดการจ้างงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

3. การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการว่างงาน เพราะนอกจากจะมีแรงงานเดิมที่ทำงานอยู่แล้ว ยังจะมีนักศึกษาจบใหม่อีก ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ นำพนักงานที่ถูกลดเวลาทำงานไปฝึกอบรมเพิ่ม ส่วนนักศึกษาที่เรียนจบให้ส่งเสริมการกลับไปศึกษาเพิ่มเติมต่ออีก 1-2 ปี ในสาขาที่จำเป็น โดยรัฐบาลจะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการดำเนินการ

ภาคเอกชนคาดหวังจากรัฐบาลใหม่ คือ คุณสมบัติรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ควรจะมีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรม เป็นผู้นำสามารถบริหารภาครัฐได้อย่างโปร่งใส และไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ภาคเอกชน อยากให้พรรคการเมือง นักการเมือง ทำให้การเมืองนิ่ง มั่นคง มีเป้าหมายเดียวกัน อย่าให้ความเชื่อมั่นหายไปเหมือนที่ผ่านมา

. . .



สอท. แนะรัฐบาลใหม่ต้องเร่งสร้างสมานฉันท์ ฟื้นความเชื่อมั่น ช่วยเหลือภาคธุรกิจ


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าขั้วไหนจะได้เป็นรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาในขณะนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย, ฟื้นความเชื่อมั่นของต่างประเทศ, และช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทั้งทางด้านการส่งออกในปีหน้า ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 4 - 5 เปอร์เซ็นต์, การเสริมสภาพคล่องให้ SME, เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี กระจายเงินสู่รากหญ้า

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ควรเป็นผู้ที่ไม่ก้าวร้าว มีภาพลักษณ์ที่ดี ฉลาด มีความสามารถ ซึ่งควรนำบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมทำงานให้มาก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะปีนี้ตัวเลขอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจหดตัว 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน

. . .



นักวิชาการแนะรัฐบาลใหม่เร่งดำเนินนโยบายเร่งด่วน ลดภาษี-ลดดอกเบี้ย

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่ารัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งดำเนินนโยบายเร่งด่วน เช่น

1. ลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษสำหรับกิจการที่ไม่มีการเลิกจ้างในปี 2552
2. เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน
3. จัดตั้งกองทุนเพื่อการฝึกอาชีพช่วยเหลือแรงงานในระบบเหมาช่วง
4. จัดตั้งกองทุนเพื่อกู้ยืมประกอบอาชีพอิสระ สำหรับผู้ถูกปลดออกจากงานที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
5. ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.75-1 เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อในปี 2552 จะต่ำมากคือ เพียงร้อยละ 0.5-1.0
6. ปล่อยเงินบาทให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เพื่อสนับสนุนการส่งออกและท่องเที่ยว
7. ลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 โดยให้ชดเชยรายได้ภาษีของรัฐ ด้วยการขึ้นภาษีน้ำมัน บุหรี่และสุรา รวมทั้งเก็บภาษีมรดก เป็นต้น

. . .



คาดไตรมาสแรกปี 52 จีดีพีไทยขยายตัวติดลบ แต่เฉลี่ยทั้งปีจะเติบโต 2-3%


ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2552 จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในรอบหลายปี โดยอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกปี 52 จะติดลบประมาณร้อยละ 0.5 และจะมีปัญหาคนตกงาน 900,000-1,200,000 คน

แต่ตลอดปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 2-3 ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง และประเทศไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลางของวิกฤติการเงินในครั้งนี้ หากไม่มีวิกฤติการเมืองเข้ามาซ้ำเติมอีก เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาส 4

จากสมมติฐานที่คาดว่า กรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1.7 การส่งออกของไทยจะไม่เติบโตเลย, การบริโภคเติบโตเพียงร้อยละ 2, การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3, และรายได้จากการท่องเที่ยวจะติดลบ

ดร. อนุสรณ์ เห็นว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีความประนีประนอม ลดความขัดแย้ง โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรจะมาจาก ส.ส. เพื่อเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตย มีความรู้ความสามารถ และต้องไม่นำมาซึ่งการประท้วง ทั้งจากคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดง เนื่องจากบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะยอมรับให้มีการประท้วงได้

ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ก็สามารถเกิดได้จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่จะร่วมมือกันในการแก้ปัญหา แต่ไม่ควรมองผลประโยชน์ และเล่นเกมการเมืองมากจนเกินไป ทั้งนี้ หากเป็นรัฐบาลแห่งชาติ เชื่อว่าภาคเอกชนคงจะยอมรับได้

. . .



ครม.ทุ่มงบ 1,900 ล้านบาท ช่วยนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน


น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รักษาการ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รักษาการได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติงบประมาณกลาง ปี 2552 จำนวน 1,900 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

โดยให้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย และ กลุ่มคนไทยที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยให้ทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว รวบรวมความเสียหาย เสนอของบผ่านมายังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังรับทราบการเลื่อนพิจารณางบประมาณ ในการให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัยตามการศึกษาของ คณะกรรมการอำนวยการติดตามความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กว่า 5,600 ล้านบาท ออกไปก่อน เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพันจำนวนมาก โดยขอให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผลการ ประชุมหาแนวทางเยียวยาภาคธุรกิจหลังเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทางสภาพัฒน์ฯได้ประเมินตัวเลขความเสียหายของภาคธุรกิจจากการปิดสนามบินเป็นเวลา 7 วัน อยู่ที่ 137,000 ล้านบาท
ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษร้อยละ 1 ต่อปี และลดภาษีลงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมของโลจิสติกส์

ทั้งนี้ ภาครัฐควรกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อวางแผนรับมือต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่อาจถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดสนามบินอีกในอนาคต พร้อมทั้งเตรียมสนามบินฉุกเฉินในการใช้รับส่งผู้โดยสารและสินค้าอย่างเป็นระบบ

. . .



โซนี่คอร์ป เตรียมสั่งปลดพนักงาน 8,000 คน


บริษัท โซนี่ คอร์เปอเรชัน (Sony Corporation) ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ได้ประกาศแผนการลดจำนวนพนักงานในสายงานอิเล็กทรอนิกส์ ลง 8,000 ตำแหน่ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 5 ของสายงานทางด้านนี้ของบริษัท ภายในเดือนเมษายน ปี 2010 นี้

นอกจากจะปลดพนักงาน 8,000 ตำแหน่งแล้ว ทาง โซนี่ ยังมีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงอีกร้อยละ 30 และเตรียมสั่งปิดโรงงานของบริษัทอีก ร้อยละ 10 ของโรงงานโซนี่ที่มีอยู่ 57 แห่งทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารของโซนี่ ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะสั่งปิดโรงงานในประเทศใดบ้าง

นาย คัตซึฮิโกะ โมริ ผู้จัดการกองทุน Daiwa SB Investments ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การปลดพนักงานของโซนี่ ถือเป็นมาตรการเบื้องต้น ในการลดค่าใช้จ่ายของทางบริษัทเท่านั้น และเชื่อว่าทางโซนี่ เองยังต้องมีมาตรการอีกหลายอย่าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ประมาณ 100,000 ล้านเยน หรือราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วงสิ้นปีหน้า

โรงงานอยุธยาลอยแพพนักงานกว่า 1,000 คน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เอ็ม แอนด์ เจ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สั่งปลดคนงานโดยไม่บอกล่วงหน้า จำนวนกว่า 1,000 คน ทั้งหมดเป็นพนักงานจากบริษัทรับเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) จำนวน 12 บริษัท ที่ป้อนพนักงานเข้าทำงานในบริษัท เอ็มแอนด์เจ เทคโนโลยี จำกัด

. . .



ธนาคารทหารไทย-ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงร้อยละ 0.25-1.00

ธนาคารทหารไทย ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงทั้งเงินให้สินเชื่อและเงินฝาก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดจากร้อยละ 7.50 เหลือร้อยละ 7.00

อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดจากร้อยละ 8.00 เหลือร้อยละ 7.50
อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดจากร้อยละ 8.00 เหลือร้อยละ 7.75

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนกิจ สำหรับลูกค้าทุกประเภทอยู่ที่ร้อยละ 0.75-1.75

เงินฝากประจำทั่วไปสำหรับลูกค้าประเภท 3 เดือน เป็นร้อยละ 1.50-2.00
ประเภท 6 เดือน เป็นร้อยละ 1.75
ประเภท 12 เดือน เป็นร้อยละ 1.75-2.00
ประเภท 24-36 เดือน เป็นร้อยละ 2.50-2.75
เงินฝากประจำธนกิจสำหรับลูกค้าทุกประเภท ประเภท 7, 14, 21 วัน และ 1-2 เดือน เป็นร้อยละ 1.75

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโปรโมชั่นพิเศษให้สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่เปิดบัญชีออมทรัพย์ TMB Lion Saving ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 1.99 ต่อปี เป็นเวลา 4 เดือน


ธนาคารกสิกรไทย ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป โดยได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลงร้อยละ 0.50 ทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ร้อยละ 6.75
อัตราดอกเบี้ย MOR อยู่ที่ร้อยละ 7.00
อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ร้อยละ 7.25

นอกจากนี้ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท สำหรับบุคคลทั่วไปลงร้อยละ 0.75-1.00
ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.35-1.65
เงินฝากประจำ 6 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.50-1.65
เงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.75
เงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 2.50

. . .


 

โดย: news IP: 118.173.223.192 9 ธันวาคม 2551 21:22:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.