Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
30 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก -- กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ - Sovereign Wealth Fund (SWF) . . .

. . .


ความพร้อมในการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund ของประเทศไทย

โดย ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์, ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์, และ ดร. ม.ล. พงศ์ระพีพร อาภากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

Sovereign Wealth Fund (SWF) หรือที่เรียกว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หมายถึง กองทุนของรัฐบาลที่มีทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศและมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ SWF แห่งแรกของโลกมีมานานกว่า 50 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี เพิ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก
1) ขนาดที่เพิ่มมากขึ้น ถึงประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ
2) ลักษณะการลงทุนที่ต่างไปจากการลงทุนประเภทอื่นๆ ของรัฐ โดยในบางกรณีเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนสูงและเป็นการลงทุนระยะยาว หรือลงทุนในธุรกิจที่สามารถเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ตัวอย่างการลงทุนของ SWFs ได้แก่ การลงทุนซื้อหุ้นสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2550-2551 โดย SWF ของจีน (Morgan Stanley and the Blackstone Group) และ SWFs ของคูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ (Citigroup) ซึ่งการลงทุนดังกล่าวทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองความเคลื่อนไหวของ SWFs มากขึ้น

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการลงทุนผ่าน SWFs นั้น ทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จำเป็นต้องการวางกลยุทธ์ในการยืนอยู่ในเวทีเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคต โดยต้องมั่นใจว่าประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการลงทุนผ่าน SWFs และจะสามารถใช้ประโยชน์จากการที่มีปริมาณเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP หรือ เท่ากับ 4.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หรือมูลค่าการนำเข้าของประเทศ 11 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอกับภาระต่างๆ โดยเงินทุนสำรองฯ มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 44% การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการวางแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในหลายๆ ประเทศได้มีการใช้ประโยชน์จากการมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ด้วยการจัดตั้ง SWFs เพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศที่มีมากขึ้น เช่น จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น ภาครัฐอาจนำแนวทางการจัดตั้ง SWFs ของประเทศเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยตามความเหมาะสม

บทวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง SWF ขึ้นในประเทศไทย โดยศึกษาแนวคิดการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งแหล่งเงินทุนอื่นๆ ของภาครัฐ มาจัดตั้ง SWF โดยมีเนื้อหาของสาระสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ
1) บทบาทของ SWFs ในระบบการเงินโลก
2) ความพร้อมในการจัดตั้ง SWF ของไทย และ
3) รูปแบบของ SWFs ที่เหมาะสม

โดยในส่วนแรกนั้น จะเป็นการศึกษาถึงแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนผ่าน SWFs และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ SWFs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในฐานะสถาบันลงทุนรายใหม่ ซึ่งรวมถึง การเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในกรณีที่มี SWFs จากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศ
ทั้งนี้ การลงทุนผ่าน SWFs ที่มีขนาดใหญ่และในบางครั้งอาจจะกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม หากมีการย้ายฐานการลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์การลงทุนแล้ว อาจทำให้ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินทั้งของไทยและของโลกเพิ่มสูงขึ้นได้

ในส่วนที่สองนั้น จะเป็นการศึกษาถึงระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม (Optimal reserve) ของประเทศ และปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ การจัดตั้ง SWF โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุน หรือที่เรียกว่า Non-Commodity SWF ซึ่งจัดตั้งโดยนำสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่เป็นส่วนประกอบของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีความมั่งคั่งที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก เนื่องจากทำให้ความมั่งคั่งที่แท้จริงของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีบางส่วนเกิดจากการเกินดุลบัญชีเงินทุน ซึ่งมีความผันผวนสูงและไม่สามารถนำมาเป็นแหล่งเงินทุนในการจัดตั้ง SWF ได้ เนื่องจาก SWFs มีการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและแนวโน้มการเคลื่อนไหวของการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในอนาคตด้วย

สำหรับส่วนที่สามนั้น จะเป็นการศึกษาถึงวัตถุประสงค์และรูปแบบการจัดตั้ง SWFs ในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาวางกลยุทธ์การจัดตั้ง SWF ของประเทศไทยตามความเหมาะสม การจัดตั้ง SWFs ในแต่ละประเทศจะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป โดยตัวอย่างวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากที่สุด 2 กรณี คือ

1) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการนำสินทรัพย์ของประเทศไปลงทุน (Wealth optimization funds) ซึ่งรวมถึงแนวคิดที่จะหาช่องทางการลงทุนเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถได้รับประโยชน์จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกิน (Excess reserves) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลตอบแทนระยะยาว (Yield enhancement) หรือการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic assets) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และ

2) เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะปานกลางหรือระยะยาว และลดผลกระทบในระยะสั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกหลักๆ ของประเทศ (Stabilization funds)

นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขึ้นต้องคำนึงถึงรูปแบบขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างองค์กร ระดับความอิสระและธรรมาภิบาลขององค์กร นโยบายและวัตถุประสงค์ในการลงทุน และความโปร่งใสในการดำเนินงาน เป็นต้น


. . .


Create Date : 30 กรกฎาคม 2551
Last Update : 3 สิงหาคม 2551 19:44:07 น. 8 comments
Counter : 2763 Pageviews.

 

มีแต่ข้อดีของ SWF อย่างเดียวเลยนะคะ

นำโยคะมาฝากค่ะ ท่ายืนด้วยไหล่จนถึงท่าคันไถค่ะ





โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 30 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:29:26 น.  

 
. . .

แหม ก็ผู้เขียนรายงานอยู่กระทรวงการคลังอ่ะนะคะ

. . .


โดย: som IP: 203.146.31.234 วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:43:48 น.  

 
. . .


เปรียบเทียบกม.คุ้มครองเงินฝาก "ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย"

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 กรกฎาคม 2551 08:03 น.

จากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ประเทศไทยกำลังมีเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา "ผู้จัดการกองทุนรวม" เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับคนที่กำลังต้องการหาคำตอบว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งการประกาศให้กฎหมายดังกล่าว หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าเราค่อนข้างตามหลังหลายประเทศอยู่พอสมควร...วันนี้ จึงนำข้อมูลจากการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับการใช้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากในต่างประเทศมาเปรียบเทียบให้ดูกัน ว่ามีรูปแบบและความแตกต่างอย่างไรบ้าง

เปรียบเทียบสถาบันคุ้มครองเงินฝากของประเทศต่างๆ

สหรัฐฯ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เริ่มบังคับใช้ในปี 2476 โดยวงเงินคุ้มครอง เป็นการประกันเงินฝากทั่วไปในวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) /ราย/สถาบันการเงินและประกันเงินฝากเพื่อนการเกษียณอายุ ในวงเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน เป็นลักษณะ Risk-Based โดยต่ำสุด 0.05-0.07% ของระดับความเสี่ยง และสูงสุดที่ 0.43% ของระดับความเสี่ยง

ฟิลิปปินส์ เริ่มบังคับใช้ปี 2506 วงเงินคุ้มครองนั้น เป็นการประกันเงินฝากสูงสุดไม่เกิน 250,000 เปโซ/ราย/ต่อสถาบันการเงิน (ประมาณ 200,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน อัตราเดียว 0.2% ของเงินฝาก ต่อปี

ญี่ปุ่น เริ่มบังคับใช้ปี 2514 ประกันเงินฝากสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านเยน/ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 3.2 ล้านบาท) แต่สำหรับบัญชีประเภท Settlement เพื่อการหักบัญชีค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ทางการมีนโยบายคุ้มครองเต็มวงเงินต่อเนื่อง ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน แตกต่างกันตามประเภทของเงินฝาก กล่าวคือ อัตรา 0.083% ต่อปีของเงินฝากทุกประเภทที่ประกัน และ 0.115% จากเงินฝากประเภท Settlement ซึ่งให้ความคุ้มครองเต็มจำนวน

เกาหลีใต้ เริ่มบังคับใช้ปี 2539 โดยวงเงินคุ้มครอง 50 ล้านบาท/ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 1.9 ล้านบาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน 0.1-0.3% จากฐานเงินฝากเฉลี่ยทั้งสิ้น โดยกำหนดอัตราดังกล่าวแตกต่างกันตามประเภทของสถาบันการเงิน คือ ธนาคารพาณิชย์ 0.1% บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) 0.2% และสถาบันประเภทอื่น (Merchant Banks, Mutual Saving Bank) 0.3%

เวียดนาม เริ่มบังคับใช้ปี 2543 ประกันเงินฝากสกุลเวียดนามดองสูงสุดจำนวน 50 ล้านดอง/ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 100,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน เก็บเบี้ยประกันจากสถาบันการเงินในอัตรา 0.15% ต่อปีของยอดเงินฝากที่ประกัน

มาเลเซีย เริ่มบังคับใช้ปี 2548 โดยวงเงินคุ้มครอง เป็นเงินฝากทั่วไปและเงินฝากอิสลามประเภทละ 60,000 ริงกิต/ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 630,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน 2 ปีแรกเรียกเก็บในอัตราคงที่ (Flat Rate) 0.06% ของเงินฝากที่ประกัน และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป จะเก็บอัตราเบี้ยประกันแตกต่างกันตามความเสี่ยง ของฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

อินโดนีเซีย เริ่มบังคับใช้ปี 2548 โดยวงเงินคุ้มครองที่ 100 ล้านรูเปีย/ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 450,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน เก็บเบี้ยประกันแบบคงที่ (Flat Rate) สำหรับสมาชิกทุกแห่ง (ธนาคารพาณิชย์ และ Rural Bank) ในอัตรา 0.20% ของเงินฝากต่อปี

สิงคโปร์ เริ่มบังคับใช้ปี 2549 โดยคุ้มครองผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา และองค์กรการกุศลที่มีบัญชีเงินฝากสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ในจำนวนไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ /ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 500,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน เก็บเบี้ยประกันตามความเสี่ยง (Risk-Based) 0.03-0.08% ของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองตามผลการกำกับและตรวจสอบของธนาคารกลาง

ฮ่องกง เริ่มบังคับใช้ปี 2549 โดยคุ้มครองเงินฝากทั้งที่เป็นฮ่องกงดอลลาร์ และเงินสกุลต่างประเทศไม่เกิน HK$ 100,000 /ราย/สถาบันการเงิน (ประมาณ 440,000 บาท) ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน เก็บในอัตราแตกต่างกัน 0.05-0.14% ของระดับความเสี่ยง ตามความเสี่ยงของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง (Risk-Based) ตามผลการจัดอันดับของ HKMA

ไทย เริ่มบังคับใช้ 11 สิงหาคม 2551 โดยคุ้มครองเงินฝากที่เป็นเงินบาทในจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท /ราย/สถาบันการเงิน ยอดเงินสมทบ (เบี้ยประกัน) รายปีของสถาบันการเงิน กฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 1% ของฐานเงินฝากเฉลี่ย โดยในปีแรกคงจะเก็บเป็น Flat Rate ในอัตรา 0.4% ของฐานเงินฝากเฉลี่ยเท่ากับที่เคยนำส่งให้ FIDF แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มว่าจะเก็บในลักษณะ Risk-Based


เปรียบเทียบ"ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย"

เมื่อเปรียบเทียบระบบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไทย มาเลเซีย(PIDM) และอินโดนีเซีย โดยสำหรับประเทศไทยพบว่า ปีที่จัดตั้งสถาบันได้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเริ่มมีการบังคับใช้ เมื่อ 11 สิงหาคม 2551 ด้านกฎหมายรองรับได้มีพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 มีสมาชิกคือ ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ+ธนาคารเพื่อรายย่อย+Subsidiary+สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ+บง.+บค. รวม 42 แห่ง (ณ. มิ.ย. 51) และมีแหล่งที่มาของทุนประเดิมจากรัฐในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท + เงินสมทบรายปีจากสมาชิก

อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันในทางปฎิบัติในปีแรก คงจะเก็บเป็น Flat Rate ในอัตรา 0.4%เท่ากับที่เคยนำส่งให้ FIDF แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มว่าจะเก็บในลักษณะ Risk-Based มีประเภทเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เป็นบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน(Non-Resident Baht Account:NRBA) และเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ วงเงินที่ได้รับการคุ้มครอง(รวมเงินต้นและดอกเบี้ย)ไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย/สถาบันการเงิน โดยวงเงินคุ้มครองจะทยอยลดลงภายใน 4 ปีหลังจากบังคับใช้กฎหมาย คือ จาก100 ล้านบาท มาเป็น 50 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท มาเป็น 10 บาท และมาเป็น 1 ล้านบาท ซึ่งจะครบคลุม 98.8%ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ในประเทศมาเลเซีย (PIDM) ได้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 โดยได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 โดยมีกฎหมายคุ้มครองเงินฝากจาก The Malaysia Deposit Insurance Corporation Act 2005 (MDIC Act) ซึ่งมีสมาชิกคือ ธนาคารพาณิชย์ โดยรวม ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในมาเลเซีย+บง.+ธ.อิสลาม รวม 35 แห่ง ( ณ มิ.ย.51) และมีแหล่งที่มาของทุนจากเงินสมทบรายปีจากสมาชิก

ทั้งนี้ เบี้ยประกันในทางปฎิบัติ คือ 2 ปีแรกเรียกเก็บเป็น Flat Rate 0.06%ของเงินฝากที่ประกัน และตั้งแต่ต้นปี 2551 (ปีที่ 3 )เป็นต้นไป จะเก็บอัตราดอกเบี้ยประกันแตกต่างกันตามความเสี่ยง(Risk-Based)ของฐานะการดำเนินงานของ สถาบันการเงิน โดยมีประเภทเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองได้แก่ เงินฝากที่ไม่ได้อยู่ในมาเลเซีย เงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ Negotiable Instruments of Deposits (NIDs) เงินฝากในตลาดเงินระหว่างประเทศ (Money Market) Repurchase Agreements หุ้นและพันธบัตร Unit Trusts

อีกทั้ง วงเงินที่ได้คุ้มครอง(รวมเงินต้นและดอกเบี้ย)ไม่เกิน 60,000 ริงกิต/ราย/สถาบันการเงิน(630,000 บาท) ซึ่งจะแยกกันระหว่าง เงินฝากปกติ เงินฝากอิสลาม บัญชีร่วม (Joint Accounts) บัญชีของเงินผู้ดูแลผลประโยชน์(Trust Accounts)บัญชีเงินฝากของเจ้าของกิจการรายเดียว ห้างหุ้นส่วน และธุรกิจเฉพาะที่เป็นวิชาชีพ ซึ่งจะครอบคลุม 95% ของผู้ฝากทั้งหมดที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน

ขณะที่ ประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ( 1 ปีหลังจากผ่านกฎหมาย) เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 โดยมีกฎหมายรองรับจาก The Republic of Indonesia Law Number 24 of 2004 concerning the Indonesia Deposit Insurance Corporation ซึ่งมีสมาชิกคือ ธนาคารพาณิชย์(รวมสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ)128 แห่ง และRural Banks ประมาณ 1,800แห่ง (ณ มี.ค. 51) และมีแหล่งที่มาของทุนประเดิม 4,000 ล้านล้านรูเปีย+ค่าสมาชิกแรกเข้าจาก สถาบันการเงิน0.1% ของเงินกองทุน+เงินสมทบรายปี(จ่าย 2 ครั้งต่อปี)

ในส่วนของ เบี้ยประกันในทางปฎิบัติ 0.2% ต่อปีของค่าเฉลี่ยรายเดือนของเงินฝากทั้งหมด (รวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อื่นด้วย) โดยมีประเภทเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง คือเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์อินโดนีเซียที่อยู่ในต่างประเทศ (ส่วนเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จะได้รับความคุ้มครองด้วย) ซึ่งวงเงินที่ได้รับความคุ้มครอง(รวมเงินต้นและดอกเบี้ย)อยู่ที่ 100 ล้านรูเปีย/ราย/สถาบันการเงิน (450,000 บาท)

อนึ่ง การวงเงินคุ้มครองจะทยอยลดลงจาก 5,000 ล้านรูเปีย (22 มี.ค. 2549- 21 ก.ย. 49)เป็น 1,000ล้านรูเปีย (22 ก.ย. 2549-21มีนาคม 2551)มาเป็น 100 ล้านรูเปีย (22 มีนาคม 2550) และมีความครอบคลุ้ม 98% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์


ข้อสังเกตหลังมีสถาบันการคุ้มครองเงินฝาก

ในประเทศมาเลเซีย เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าการพุ่งขึ้นของดัชนีตลาดหุ้น การเติบโตของจำนวน Unit trust เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันต่อเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และประจำลดลง

สำหรับประเทศอินโดนีเซียพบว่า เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าการพุ่งขึ้นของดัชนีตลาดหุ้น มีสัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินฝากประจำต่อเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ลดลง

. . .



ผู้ค้าน้ำมันประกาศลดราคาดีเซล 50 สต./ลิตรเช้าพรุ่งนี้

กรุงเทพฯ 31 ก.ค.-ผู้ค้าน้ำมันหลายราย อาทิ ปตท. บางจากปิโตรเลียมและเชลล์ ประกาศปรับลดราคาน้ำมันกลุ่ม ดีเซลลงลิตรละ 50 สตางค์ มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) ขณะที่ ปตท.ระบุช่วงเดือนกรกฎาคม ลดราคาน้ำมันลงแล้ว 6.80-8.70 บาทต่อลิตรไปแล้ว

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ประกอบกับการทรุดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จากหนี้ด้อยคุณภาพที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้นักลงทุนเริ่มลดปริมาณการลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดเอเชียปรับตัวลดลง ทำให้ ปตท. พิจารณาปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร

ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เวลา 05.00 น.วันพรุ่งนี้ เป็นดังนี้ ดีเซลหมุนเร็ว B5 ลิตรละ 36.94 บาท ดีเซลหมุนเร็ว 37.44 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 ลิตรละ 29.19 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 30.49 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 29.69 บาท และเบนซิน 91 ลิตรละ 37.99 บาท ซึ่งนายประเสริฐ กล่าวว่า การลดราคาน้ำมันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 9 แล้ว ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลและกลุ่มน้ำมันเบนซิน รวมลดราคาลงไปแล้วถึง 6.80 - 8.70 บาทต่อลิตร. -สำนักข่าวไทย


. . .






โดย: som IP: 203.146.31.234 วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:48:49 น.  

 

ขิมสงสัยจังฮะว่าถ้าขิมฝากประจำเดือนละห้าร้อยบาทก็ได้คุ้มครองเงินฝากใช่มั้ยฮะ แต่พอยอดครบหนึ่งล้านห้าร้อยบาทก็ไม่ได้รับการคุ้มครองแล้วใช่มั้ยฮะ ตาม พ.ร.บ. นี้ งั้นขิมก็ไปฝากแบงค์กรุงไทยของรัฐบาลไม่ดีกว่าเหรอฮะ ฝากเท่าไหร่ก็มั่นคงปลอดภัย


โดย: ขิมทอง IP: 202.12.118.61 วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:16:14:34 น.  

 
1 ล้านต่อรายต่อ 1 สถาบันการเงิน ใช่มั๊ยอ่ะ
ส่วนเกินก็กระจายๆไปหลายๆธนาคาร ได้ธนาคารละ 1 ล้านนะ ประมาณนี้รึเปล่า ไม่แน่ใจ


โดย: loykratong วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:16:16 น.  

 

สำหรับ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ประเทศไทยกำลังมีเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ

11 สค. 2551 - 10 สค. 2552 คุ้มครองเงินฝากตามจำนวนที่ฝาก/ราย/สถาบันการเงิน

11 สค. 2552 - 10 สค. 2554 คุ้มครองเงินฝากสูงสุดที่ 100 ลบ./ราย/สถาบันการเงิน

11 สค. 2555 คุ้มครองเงินฝากเพียง 1 ลบ./ราย/สถาบันการเงิน




โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 2 สิงหาคม 2551 เวลา:23:44:35 น.  

 
. . .

นับถอยหลังเลิกค้ำเงินฝาก กฎหมาย-ทางออกที่ประชาชนต้องรับทราบ [ นสพ.ไทยรัฐ 4 ส.ค. 51 - 16:05 ]

ดูเหมือนประชาชนคนฝากเงินซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แทบจะไม่รู้เลยว่า ทันทีที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 และให้เวลาในการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 6 เดือน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

เงินฝาก รวมถึงเงินสะสมทุกประเภท และทุกบัญชี จะไม่ได้รับการค้ำประกันอีกต่อไป!

ทั้งนี้ แม้คำนิยามของสถาบันคุ้มครองเงินฝากจากข้อมูลของ ธปท.ต่อจากนี้ จะระบุว่า สถาบันเป็นหน่วยงานใหม่ของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเสริมสร้างความมั่นคง และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็ตาม

แต่การคุ้มครองผู้ฝากเงิน กำหนดไว้ให้รัฐคุ้มครองต่อราย ผู้ฝากต่อสถาบันการเงินในจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่รัฐให้ การคุ้มครองเต็มตามจำนวนที่ฝาก

ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ผู้ฝากอาจขอรับคืนได้จากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินภายหลังการขายทรัพย์ชำระหนี้แล้ว โดยเมื่อจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว สถาบันจะทยอยลดการคุ้มครองผู้ฝากเงินจากเต็มจำนวนเงินฝากในปีแรก เป็นคุ้มครองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมาย เพื่อให้ผู้ฝากและสถาบันการเงินได้มีเวลาในการปรับตัว ตามแผนการทยอยลดการค้ำประกันในช่วง 4 ปี ดังนี้

สำนักสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กฎหมายบัญญัติให้เปิดดำเนินการในวันเดียวกับที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 11 ส.ค. 2551 สถาบันนี้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ อาคารอีสท์วอเตอร์ เลขที่ 10 ถนนวิภาวดีรังสิต 5 แขวง จอมพล จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 และรัฐจัดสรรเงินจดทะเบียนเบื้องต้นให้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ต้องเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และนำส่งเบี้ยประกันในอัตราไม่เกิน 1% ของยอดเงินฝากเฉลี่ย แทนการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่จะยุบตัวเองไป โดยเบี้ยประกันอาจเก็บแตกต่างกันตามประเภท หรือฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้นๆ แต่ในเบื้องต้นจะเก็บเท่ากันทุกธนาคาร ที่ 0.4% ของเงินฝากรวมบริหารงาน

สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมี “คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก” ที่ประกอบด้วย กรรมการที่มาจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีกไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน แต่ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง และด้านกฎหมายอย่างน้อยด้านละ 1 คน มีผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดย รมว.คลัง เสนอชื่อประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ รมว.คลัง

หากมีสถาบันการเงินถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อจัดการกับทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิด แล้วนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงเงินฝากส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ได้รับการคุ้มครองด้วย

ในการนี้มีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมการคุ้มครองเงินฝาก 34 แห่ง บริษัทเงินทุน 5 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง



อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ครอบคลุมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะตั้งขึ้น เช่น ธนาคารอิสลาม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ส่วนเงินฝากที่จะได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากทุกประเภทที่เป็นเงินบาทในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ทั้งเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ แต่ไม่คุ้มครองเงินฝากในบัญชีประเภทเงินบาทของบุคคล ที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (NonResident Baht Account)

นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยค้างจ่ายของเงินฝาก จนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ เฉพาะวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากเงินในระบบถึง 98.6% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด ซึ่งถ้าหากสถาบันการเงินที่ผู้ฝากเงิน ถูกสั่งปิดกิจการ ผู้ฝากเงินสามารถยื่นคำขอรับเงินฝากได้ภายใน 90 วัน นับจากวันที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากประกาศกำหนดให้มายื่นขอรับเงิน หลังจากนั้นผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน

วงเงินคุ้มครองที่ต่อรายต่อสถาบันการเงินหมายถึง วงเงินสูงสุดที่ผู้ฝากเงินแต่ละรายจะได้ เช่น



หากเป็นเงินฝากในบัญชีร่วม หรือกองทุนรวมต่างๆ ให้แบ่งเงินฝากตามสัดส่วนของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของบัญชี หากแบ่งได้ เช่น กรณีกองทุนรวม แต่หากไม่ทราบสัดส่วนให้ถือว่าแบ่งเท่านั้น แล้วนำไปรวมกับบัญชีเดี่ยวของแต่ละคนที่มี และคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท



ทั้งนี้ คณะกรรมการเตรียมการการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแจ้งว่า การคุ้มครองเงินฝากมีวัตถุประสงค์ดูแลเงินฝากของรายย่อยเป็นหลัก ในกรณีของคนรวย หรือภาคธุรกิจ เชื่อว่า ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจริง กลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถเลือกสถาบันการเงินที่มั่นคงในการฝากเงินก้อนใหญ่ หรือบัญชีกระแสรายวันเพื่อหมุนเวียนในการทำธุรกิจได้

และในทางปฏิบัติคงมีภาคธุรกิจไม่มากที่จะกระจายเงินฝากออกเป็นบัญชีละ 1 ล้าน ตามที่ผู้บริหาร ธปท.เคยแนะนำก่อนหน้าว่า ให้แยกฝากเงินเป็นรายบัญชี บัญชีละ 1 ล้านบาท ยังธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมการคุ้มครองเงินฝาก (เช่น ฝากบัญชีละ 1 ล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 42 แห่ง จะได้รับการคุ้มครองเงินฝาก 42 ล้านบาท)

คณะกรรมการยังระบุด้วยว่า เงินฝากนอกเหนือจากการคุ้มครอง 1 ล้านบาท จะไม่สูญทั้งหมด หากมีการล้มของสถาบันการเงินเกิดขึ้นจริง

เพราะตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ได้อนุญาตให้ ธปท.เข้าไปควบคุมกิจการของสถาบันการเงินที่อ่อนแอ โดยที่ยังมีเงินกองทุน และสินทรัพย์ยังไม่ติดลบ เพื่อให้ ธปท. เข้าไปดูแลทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่จำเป็นต้องปิดกิจการให้เหลือมากที่สุด หรือให้เหลือเพียงพอจะสามารถคืนเงินฝากทั้งจำนวนแก่ผู้ฝากเงินทุกรายได้ ภายใต้การเฉลี่ยทรัพย์สิน

พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังได้ให้อำนาจคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากในการรับสถาบันการ เงินใหม่เข้ามาในขอบเขตการประกันเงินฝากของสถาบันการเงินเพิ่มเติม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินสูงสุดที่ให้การคุ้มครองได้ ด้วย เช่น ในอนาคต หากมีความจำเป็น ก็สามารถจะเพิ่มความคุ้มครองเป็นเต็มจำนวน หรือให้ มากกว่าการคุ้มครองสูงสุดในวงเงิน 1 ล้านบาทได้ โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

ดังนั้น หากกรณีที่การคุ้มครองเงินฝากยังไม่ครอบคลุม หรือเห็นว่าการคุ้มครองเงินฝากอาจจะมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีกองทุนรวมได้รับการคุ้มครอง 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา และภาคธุรกิจ ก็ให้เสนอเรื่องเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมได้

โดยในปีแรก ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2551 นี้ ถึงวันที่ 10 ส.ค. 2552 ยังคงเป็นการคุ้มครองเงินฝาก 100% ซึ่งผู้ฝากเงินทุกรายจะไม่ได้รับผลกระทบ ก่อนที่เริ่มต้นปีต่อไป การค้ำประกันเงินฝากโดยรัฐจะค่อยๆทยอยยกเลิกไป (ตามตารางข้างต้น)

ส่วนการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เพื่อที่จะแสดง ให้ประชาชนเห็นความมั่นคงแข็งแกร่งของฐานะการเงินและการดำเนินการนั้น ในอนาคตสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีการให้เกรด เช่น เกรด A เกรด B เกรด C และเกรด D แก่สถาบันการเงินนั้นๆ

สถาบันการเงินที่ร่วมคุ้มครองเงินฝาก
1. ธนาคารกรุงเทพ
2. กรุงไทย
3. กรุงศรีอยุธยา
4. กสิกรไทย
5. ทหารไทย
6. ไทยธนาคาร
7. ไทยพาณิชย์
8. นครหลวงไทย
9. สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
10. ยูโอบี
11. ธนชาต
12 .ทิสโก้
13. เมกะ สากลพาณิชย์
14 .เกียรตินาคิน
15. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย
16. สินเอเซีย
17. ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
18. เอไอจี เพื่อรายย่อย
19. เอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี.
20. เจพีมอร์แกน เชส
21. โอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
22. โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ
23. ซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.
24. อาร์ เอช บี จำกัด
25. อเมริกา เนชั่นแนล แอสโซ-ซิเอชั่น
26. คาลิยง
27. ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
28. ดอยซ์แบงก์
29. มิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด
30. บีเอ็นพี พารีบาส์
31. ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
32. ธนาคารแห่งประเทศจีน
33. โซซิเยเต้ เจเนราล
34. อินเดียนโอเวอร์ซีส์
บริษัทเงินทุน (5 แห่ง)
1. บริษัทเงินทุนฟินันซ่า
2. บง.สินอุตสาหกรรม
3. บง.กรุงเทพธนาทร
4. บง.แอ็ดวานซ์
5. บง.อเมริกัน เอ็กซ์เพรส
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)
1. เครดิตฟองซิเอร์ ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ
2. เครดิตฟองซิเอร์ สหวิริยา
3. เครดิตฟองซิเอร์ เอเซีย

แต่จะไม่เปิดเผยในที่สาธารณะ นอกจากจะแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินแต่ละแห่งทราบเป็นการภายใน เพราะในอนาคตธนาคารที่มีเกรดแตกต่างกัน จะจ่ายเงินสบทบไม่เท่ากัน ซึ่งประชาชนอาจจะดูจากจุดนี้ได้ ส่วนจะดู หรือตรวจสอบข้อมูลที่ว่านี้ได้จากแหล่งใด ธปท.ยังไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างชัดแจ้ง แต่ก็คาดว่าการจัดเครดิตเรตติ้งจะเกิดขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 5 ปี หรือจนกระทั่งการค้ำประกันเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินนั่นเอง

นอกจากนี้ อาจจะมีการสอบถามความสมัครใจของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกว่า จะมีการว่าจ้างให้สถาบันจัดอันดับเอกชนเข้ามาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อเผยแพร่หรือไม่อย่างไรด้วย.

********

“กสิกรไทย” ชี้ “เดินสายกลาง” เลือกลงทุน ทางออกบริหารเงินออม




“วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบลจ.กสิกรไทย และว่าที่รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยคนใหม่ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดเงินตลาดทุนมานาน ให้ข้อคิดเมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ว่า ประชาชนไม่ควรตื่นเต้นตกใจ เพราะธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินไม่ได้ล้มกันง่ายๆ เมื่อมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้น สถาบันนี้จะคอยดูแลสถานะของสถาบันการเงินต่างๆ หากเห็นว่ามีอาการไม่ดีก็จะสั่งให้แก้ไข เช่น เพิ่มทุนให้มีฐานะแข็งแกร่งขึ้น

สำหรับเงินฝากที่มีอยู่ หากต้องการได้รับการค้ำประกันทั้งหมด ถ้ามีเงินรวมกันไม่ถึง 22 ล้านบาท อาจใช้วิธีกระจายเงินไปฝากสถาบันการเงินทั้ง 22 แห่งได้ แต่อาจพบความไม่สะดวกบ้าง แต่สบายใจว่าเงินที่มีอยู่ได้รับความคุ้มครอง 100% แน่

ส่วนผู้มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ยังมีทางเลือกอีกมากในการบริหารจัดการเงิน โดยให้เริ่มจากประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองก่อน หากรับความเสี่ยงได้สูงสามารถกระจายการลงทุนไปยังทรัพย์สินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงได้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ต้องเลือกลงทุนแบบที่มีความ เสี่ยงต่ำ

“โดยหลักการจัดสรรการลงทุนที่ดี สำหรับคนทั่วไปจะเป็นรูปพีระมิด คือความเสี่ยงต่ำควรจัดสรรเงินไปลงทุนในสัดส่วนที่สูงและค่อยๆลดสัดส่วนการลงทุนลงสำหรับการลงทุนที่เสี่ยงสูงขึ้น โดยการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจะลงทุนน้อยที่สุด”

นอกจากนี้ “วิวรรณ” ยังได้ชี้ทางเลือกของการลงทุนที่มีในปัจจุบันให้เราๆท่านๆ ได้พิจารณาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ คือการฝากเงินในส่วนที่ได้รับการคุ้มครอง, การลงทุนในตลาดเงิน เช่น ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอายุคงเหลือไม่ถึง 1 ปี ซึ่งได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลอยู่แล้ว ที่ว่าเสี่ยงต่ำเพราะอายุของตราสารสั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยมากนัก ผลตอบแทนที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.5-3.0% ต่อปี

โดยลงทุนได้โดยตรง หากไม่ถนัดก็ลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ได้ เพื่อให้มืออาชีพผู้จัดการกองทุนต่างๆจัดการให้ เสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อย แต่สบายใจ โดยกองทุนประเภทนี้จะเปิดขายและรับซื้อคืนทุกวัน จะได้เงินในวันทำการถัดไป

ถัดไปเป็นการฝากเงิน ส่วนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และลงทุนในตลาดเงิน เช่น ในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวกว่า 1 ปี แต่อาจมีหุ้นกู้ภาคเอกชนเข้ามาปนด้วย ซึ่งหุ้นกู้เอกชนนี้อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากโอกาสผิดนัดชำระดอกเบี้ย หรือเงินต้น แต่หากเลือกบริษัทที่มั่นคง ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ดี ความเสี่ยงที่ว่าก็จะน้อยลง แถมยังได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล

เช่น หุ้นกู้ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือหุ้นกู้เอไอเอส เป็นต้น แต่อาจได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ในตลาดที่เปลี่ยนไปจึงควรลงทุนน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่หากไม่ถนัดก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมพันธบัตรได้ ปัจจุบันผลตอบแทนอยู่ที่ 3.7-6.5% แต่ค่าความผันผวนขึ้นลงอยู่ที่ 2.91% ต่อปี

ถัดไปเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนในกองทุนผสม (มีทั้งตลาดเงิน พันธบัตรตราสารหนี้ และหุ้น) หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทให้เช่า การลงทุนในทองคำ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 7-14% ต่อปี แต่มีความผันผวนเฉลี่ยอยู่ที่ 12-16% ต่อปี

ส่วนความเสี่ยงที่สูงขึ้น คือการลงทุนในหุ้นผลตอบแทน ที่จะได้คือเงินปันผลกรณีที่บริษัทนั้นๆมีผลกำไรดี หลังคืนเงินกู้ และดอกเบี้ยแล้ว หากไม่มีแผนนำกำไรที่เหลือไปขยายกิจการ หรือลงทุนเพิ่มก็มักจะจ่ายปันผลมากน้อยแล้วแต่ผลประกอบการ ส่วนใหญ่จะได้ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ในทางกลับกันบางบริษัท อาจขาดทุนหรือได้กำไรน้อย ก็จะไม่มีเงินเหลือมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้นเลย

ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุน ในหุ้นของตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-12% ต่อปี แต่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 20-26% ต่อปี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3-10% ต่อปี ค่าความผันผวนอยู่ที่ 10-15% ต่อปี

“ความเสี่ยงที่สำคัญของการลงทุนในหุ้น คือความเสี่ยงจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้น-ลง ซึ่งอันนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลขาดทุนจากราคาหุ้นที่ลดลง ขณะเดียวกันก็สามารถได้ผลตอบแทนหรือกำไรสูงมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนในหุ้นต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีการศึกษาหาข้อมูลมาอย่างดี โดยอาจลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้น ลงทุนในหุ้นซึ่งมีเงื่อนไขของการลงทุนให้เลือกหลากหลายได้”

สำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งจัดให้อยู่ที่ยอดของพีระมิด แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงมากเช่นกัน คือการลงทุนในตลาดล่วงหน้าเช่น สินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า และตราสารอนุพันธ์ อันนี้ไม่ได้แนะนำให้กับผู้ฝากเงินหรือผู้ออมเงินปกติทั่วไป เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญสูง

“วิวรรณ” ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการลงทุนเป็นรูปแบบพีระมิดนี้จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถ “เดินสายกลาง” ได้ และผลตอบแทนก็จะอยู่กลางๆ ที่เสี่ยงสูง ก็ลงทุนน้อยเวลาขาดทุนก็จะได้ไม่กระทบมาก แต่ก็ลงทุนเผื่อว่าเวลากำไรดี ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนโดยรวมเพิ่มขึ้น แถมช่วยเพิ่มสีสันให้กับการลงทุนด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ



. . .


โดย: loykratong วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:19:41:52 น.  

 

อิอิอิ ชัดเจนค่ะชัดเจน พรบ. คุ้มครองเงินฝาก

ฟังเขาเล่าว่ามาค่ะ ไม่เห็นในรายละเอียด คลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย

พรุ่งนี้เริ่มใช้ พรบ. ธุรกิจสถาบันการเงินด้วยค่ะ ยังไม่รู้เรื่องเลยค่ะ มีเปิดดีวีดีฟังด้วย แต่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาค่ะ .....55555.....


โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:20:30:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.