Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
5 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 3.75%

. . .

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 8 ต.ค.ไว้ที่ 3.75%


ในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกำหนดจะประชุมรอบที่ 7 ของปีนี้ เพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.75 หลังจากที่ กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อครั้งในการประชุมสองรอบก่อนหน้า เนื่องจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจน ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความน่าวิตกกังวลลดน้อยลง

ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.อาจมีแนวโน้มที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.75 ในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงทางด้านเครดิตในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ กนง.คงจะต้องเฝ้าติดตาม และประเมินผลกระทบสำหรับการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สถานะทางด้านเครดิตของตลาดการเงินโลกมีการปรับตัวไปในทิศทางที่แย่ลงอย่างรวดเร็ว และยากที่จะประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่ชัดในระยะนี้

อย่างไรก็ตาม จากการที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ในอัตราที่น่าพอใจ ประกอบกับสถานะของสถาบันการเงินในประเทศก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินไทยก็ยังคงมีระดับที่ค่อนข้างสูงและไม่ได้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ ผลกระทบจากปัญหาการเงินโลกต่อเศรษฐกิจไทยยังคงไม่รุนแรงถึงระดับวิกฤต

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ร้อยละ 3.75 ตามเดิมในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคม 2551 นี้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 12 เดือนที่แท้จริงที่ยังมีค่าติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.18 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระนั้นก็ดี การประเมินน้ำหนักความเสี่ยงของ กนง. เพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า คงมี
แนวโน้มที่จะให้น้ำหนักมากขึ้นกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ซึ่งก็สอดคล้องกับคำแถลงของรองผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ทางด้านเครดิตในตลาดการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน ความอ่อนไหวและเปราะบางของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อาจนำมาสู่ความจำเป็นที่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างฉุกเฉินก่อนหน้าการประชุมตามวาระปกติ ซึ่งประเด็นความถดถอยลงของสถานการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และคงจะมีอิทธิพลต่อการให้น้ำหนักความเสี่ยงเพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในระยะถัดไปด้วยเช่นกัน

. . .



เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มร่วงลงต่อ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทในประเทศ (Onshore) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยอ่อนค่าลงตามทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค ขณะที่การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยโดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน

ต่อมาเงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยได้รับแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบหลังจากนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแบบฉุกเฉินก่อนการประชุมปลายเดือนตุลาคมเพื่อช่วยบรรเทาความปั่นป่วนของวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องมายืนที่ระดับประมาณ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 กันยายน)

แนวโน้มในสัปดาห์นี้ (6-10 ตุลาคม 2551) เงินบาทในประเทศอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.90-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ควรจับตา ประกอบด้วย สัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพตลาดของธปท. ความต่อเนื่องของแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดอินเตอร์แบงก์ (โดยเฉพาะในยุโรป)

ตลอดจนประเด็นการลงมติแผนการกอบกู้สถาบันการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมไปถึงการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ดุลการค้า และข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนสิงหาคม ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนกันยายน ตลอดจนบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา

. . .

ตลาดหุ้นไทย “ดัชนี SET ร่วงลงต่อ”


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 590.05 จุด ปรับตัวลดลง 4.67% จาก 618.97 จุด ในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 31.24% จากสิ้นปี 2550 นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันขายสุทธิที่ 3,532 ล้านบาท และ 86 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 3,617 ล้านบาท

แนวโน้มในสัปดาห์นี้ (6-10 ตุลาคม 2551) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีน่าจะแกว่งตัวผันผวนลง โดยแม้ว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินของสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส แต่ตลาดอาจจะตอบรับในเชิงบวกเพียงช่วงสั้นๆ ในขณะที่ ตลาดอาจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะกรณีการตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค รวมทั้งการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายเดือน ส.ค. (Pending Home Sale) ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 565 และ 530 จุด และแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 590 และ 611 จุด ตามลำดับ

. . .


กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่อนผันหนี้ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม


กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แจ้งสิทธิ์ผู้กู้ยืมที่อาศัยในเขตประสบภัยน้ำท่วมให้ไปติดต่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ครั้งละ 6 เดือน ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า เนื่องจากในขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ประสบกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำท่วม และมีผู้กู้ยืมส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ นั้น

กองทุนฯ จึงขอแจ้งสิทธิ์ในการผ่อนผันกรณีที่ผู้กู้ยืมประสบภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้กู้ยืมสามารถขอผ่อนผันการชำระหนี้ ได้ถึง 4 ครั้งๆละไม่เกิน 6 เดือน โดยขอแบบฟอร์มการขอผ่อนผันได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ในแต่ละงวด เพื่อเป็นการป้องกันการเสียเบี้ยปรับหรือถูกติดตามหนี้

ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม และผู้ปกครองที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยดังกล่าว สามารถสอบถามเกี่ยวกับการขอกู้ยืมหรือการชำระเงินคืนได้ที่ โทร. 0-2610-4888 หรือ //www.studentloan.or.th

. . .


Create Date : 05 ตุลาคม 2551
Last Update : 5 ตุลาคม 2551 18:50:52 น. 2 comments
Counter : 740 Pageviews.

 
. . .

กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยปี 2551…..ขยายตัวต่อเนื่อง
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าอีกหลายๆธุรกิจ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นจะลงอย่างไร เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ยังคงต้องเข้าสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ ตราบใดที่มาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนยังคงไม่มีมาตรฐานเดียวกัน สถาบันกวดวิชาถือเป็นแหล่งที่พึ่งทางด้านวิชาการที่เด็กนักเรียนต่างเชื่อมั่นว่า จะเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยสามารถเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำข้อสอบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับสูง เนื่องมาจากสถาบันการศึกษาของภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียน มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าเรียน จึงทำให้การแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งค่านิยมของตลาดแรงงาน ทั้งในการรับเข้าทำงาน และโอกาสความเจริญก้าวหน้าของการทำงานในอนาคต ซึ่งให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนการที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือวิธีการวัดผลสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปี 2553 มีผลกระทบโดยตรงต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในปีการศึกษา 2551 ที่จะต้องมีการทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test : GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional Aptitude Test : PAT) เพิ่มขึ้นมา แต่ยังคงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) เอาไว้ ซึ่ง GAT และ PAT เป็นการทดสอบที่จะต้องใช้ความรู้ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบได้ทั้งหมด 3 ครั้งต่อปี โดยในปีแรกจะต้องสมัครสอบในช่วงวันที่ 1 ก.ย.- 31 ต.ค. 51 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดความตื่นตัวกันมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีวัดผลสอบรูปแบบใหม่นั้น ไม่ได้ส่งผลให้ความรุนแรงในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยลดลงเลย โดยเฉพาะรูปแบบการรับตรงของสถาบันการศึกษาภาครัฐ กลับมีคะแนนการสอบที่สูงมาก สาเหตุเหล่านี้ต่างเป็นการเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อเรียนในมหาวิทยาลัยรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แนวโน้มของธุรกิจสถาบันกวดวิชา

ด้วยความที่ตลาดขยายตัวทั้งในแง่ของเด็กนักเรียนและผู้ประกอบการ (ผู้สอน) ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้ทุกปีๆละหลายคน ส่งผลให้ในแต่ละปี ผู้ปกครองต้องเสียค่าเรียนพิเศษเทอมละหลายหมื่นบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยส่วนใหญ่แล้ว อัตราค่าเรียนพิเศษจะคิดเป็นรายวิชา เฉลี่ยวิชาละ 2,500-5,500 บาท

ดังนั้น ตลาดของสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในปี 2550 จึงมีมูลค่าถึง 5,500 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเกือบร้อยละ 10 ซึ่งขยายตัวสูงกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการชะลอการลงทุนใหม่ และชะลอการเปิดสาขา เพราะต้องพิจารณาสถานการณ์หลังระบบแอดมิชชั่นที่เริ่มนำร่องมาในปี 2548 และปฏิบัติจริงในปี 2549

สำหรับปี 2551 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,900 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8 จากปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยกระตุ้นธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. การเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2551 กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มสัดส่วนของผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 จากสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีการศึกษา 2550 ทำให้เด็กนักเรียนต้องการหาความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในโรงเรียน ด้วยการเรียนพิเศษเพิ่มเติมตามสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง เพื่อให้มีระดับผลการเรียนในโรงเรียนที่ดี และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ สำหรับปีการศึกษา 2553 ที่จะต้องใช้เกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง (Admission) ในรูปแบบใหม่ จะทำให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนบางกลุ่มที่ตั้งใจศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวอย่างจริงจังสำหรับการสอบในแต่ละครั้งต้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น และหากเด็กนักเรียนยังมีความไม่แน่ใจว่า ตนเองต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาใด จะทำให้มีการเรียนพิเศษในด้านความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นไปอีก

2. การขยายกิจการ และการเปิดศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ ที่เปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงรายใหญ่ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ขึ้น ให้เป็นแหล่งรวมของสถาบันกวดวิชาหลายๆแห่งมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกของนักเรียนและผู้ปกครองในการเดินทาง ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มยอดจำนวนเด็กนักเรียนได้มากขึ้นกว่าที่เปิดเป็นสถาบันเดี่ยวแยกออกไปต่างหาก เพราะเด็กนักเรียนสามารถจัดตารางเรียนให้เหลื่อมล้ำกันได้ สำหรับในอนาคตนั้น ยังมีผู้ประกอบการสถาบันกวดวิชาบางรายคาดว่าจะสร้างศูนย์กวดวิชาที่ให้บริการได้ทุกวิชาอย่างครบวงจร ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเจาะตลาดในกลุ่มนักเรียนที่ต้องการใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

3. การแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย มีอัตราการแข่งขันอยู่ในระดับสูงทุกปี เนื่องจากเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต้องการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของภาครัฐที่มีชื่อเสียง เพราะค่านิยมของตลาดแรงงานที่ให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แต่สถาบันการศึกษาของภาครัฐสามารถรับเด็กนักเรียนได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เด็กนักเรียนจึงต้องเรียนกวดวิชามากขึ้นเพื่อให้สามารถสอบแข่งขัน และผ่านเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาของภาครัฐได้

4. ค่านิยมของผู้ปกครอง และตลาดแรงงาน เนื่องด้วย ในตลาดแรงงานมีการให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยต่างๆไม่เท่ากัน ผู้ปกครองจึงมีค่านิยมที่ต้องการให้เด็กนักเรียนได้เข้าเรียนในคณะที่ดี และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งถือเป็นการรับประกันจากในสังคมระดับหนึ่งว่า จะสามารถเข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงได้ หรือจะมีรายได้ดีในอนาคต ผู้ปกครองจึงส่งเสริมให้บุตร-หลานของตนเข้าเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมจากการเรียนตามปกติ

5. มาตรฐานการเรียน และการสอนของโรงเรียน ในปัจจุบัน ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนอาจารย์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทำให้มาตรฐานทางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านอาจให้เวลาในด้านการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติแก่เด็กนักเรียนไม่เพียงพอ หรือมีการสอนในรูปแบบเดิมๆ รวมทั้งขาดการวัดผลการเรียนโดยกระบวนการแสวงหาความรู้ การวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการนำความรู้จากในตำราเรียนมาประยุกต์ใช้ ด้วยเหตุต่างๆเหล่านี้ มีผลอย่างมากที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องหันไปพึ่งพาสถาบันกวดวิชา เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมนอกชั้นเรียน เพราะสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง จะมีระบบการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

อุปสรรคธุรกิจและการปรับตัว.....ทางรอดของธุรกิจ

ถึงแม้ว่าธุรกิจสถาบันกวดวิชาเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีอนาคตสดใส และสามารถเติบโตได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อหลายแห่ง ต่างหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เช่น การรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ แต่ก็ยังเกิดอุปสรรคในการทำธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการรายเดิม และผู้ประกอบการรายใหม่

โดยอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิมนั้น มาจากการที่สถาบันกวดวิชาต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน และระบบการสอบรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เช่น การจัดเตรียมการสอน และเอกสารประกอบการเรียนต่างๆ นอกจากการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนแล้ว ผู้ประกอบการหรือผู้สอนยังต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีแก่เด็กนักเรียน กล่าวคือ สถาบันกวดวิชาต้องเป็นพี่เลี้ยง คอยแนะแนว และให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนให้แก่เด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการได้ แต่ควรจะประเมินจากสภาวการณ์ในปัจจุบัน และต้องปรับตัวให้ทันกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น จึงจะสามารถอยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไปได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ไม่มีความแน่นอน และการเข้าสู่ตลาดธุรกิจสถาบันกวดวิชาในปัจจุบันก็ทำได้ยาก เพราะมีสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นส่วนใหญ่อยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่เรียนในสถาบันกวดวิชาแล้วก็จะพบว่า เด็กนักเรียนมีความจงรักภักดี เชื่อมั่นในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงเท่านั้น และยังเป็นการเรียนแบบตามคำชักชวนหรือบอกต่อกันมาแบบปากต่อปาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน จึงจะเข้าสู่ตลาดได้

การปรับตัว.....ฝ่าคลื่นธุรกิจและการแข่งขันที่รุนแรง

หากผู้ประกอบการในธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ท่ามกลางกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการศึกษาของไทยนั้น จำเป็นต้องปรับตัวในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. การออกแบบเนื้อหาหลักสูตร เพื่อรองรับระบบการสอบรูปแบบใหม่ และระบบการรับตรงจากมหาวิทยาลัย จะทำให้สถาบันกวดวิชามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การกวดวิชาเข้าภาคอินเตอร์แบบรับตรงที่จะมีความแตกต่างกันตามเกณฑ์ของแต่ละสถาบันการศึกษา อาจทำให้สถาบันกวดวิชาไม่สามารถระบุได้ว่า การเข้ากวดวิชาเพียงที่เดียวสามารถทำให้เด็กนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกหลักสูตร

2. การปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อใช้ในการสอบ O-NET / A-NET ในการสอบก่อนปีการศึกษา 2553 และการสอบ O-NET / GAT / PAT ในปีการศึกษา 2553 รวมถึงการรับตรงในบางคณะ ทำให้ต่อไปในอนาคต รูปแบบหลักสูตรของสถาบันกวดวิชาจะมีความเป็นตลาดเฉพาะ (Niche market) มากขึ้น

3. การปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน ผู้ประกอบการในธุรกิจสถาบันกวดวิชาจำเป็นต้องปรับกล-ยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งควรเริ่มขยายการเรียนการสอนแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยอาจให้บริการด้านการเรียนการสอนตามรูปแบบ และเวลาที่ตรงกับความต้องการของเด็กนักเรียน (On demand) เช่น การเรียนพิเศษผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียนมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2551 มูลค่าตลาดของธุรกิจสถาบันกวดวิชาจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 5,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.8 โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับเด็กนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาภาครัฐ โดยเพิ่มการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) รวมทั้งการขยายกิจการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และการรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์กวดวิชาของผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงต่างๆ ส่วนปัจจัยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า จะส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจสถาบันกวดวิชาโดยตรง ได้แก่ อัตราการแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาภาครัฐที่สูงอย่างต่อเนื่อง ค่านิยมของตลาดแรงงานที่ผลักดันให้เด็กนักเรียนต้องเข้าเรียนในคณะ และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง โครงสร้างของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียน และการสอนของแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานไม่เท่ากัน ทำให้เด็กนักเรียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากสถาบันกวดวิชามากขึ้น

อุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน และโครงสร้างของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ ส่งผลต่อการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ทั้งการจัดเตรียมการสอน เอกสารประกอบการเรียนต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้สอนควรต้องมีจิตวิทยาในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือที่ดีแก่เด็กนักเรียน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ไม่มีความแน่นอน และการเข้าสู่ตลาดธุรกิจสถาบันกวดวิชาเป็นไปได้ยาก หากไม่มีชื่อเสียงที่สะสมมายาวนาน

การดำเนินธุรกิจของสถาบันกวดวิชาให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ รวมทั้งต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นในระหว่างการเรียน และพัฒนาการบริการด้านการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของเด็กนักเรียน โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาเป็นส่วนสนับสนุนในการให้บริการควบคู่ไปด้วย

. . .


โดย: loykratong วันที่: 5 ตุลาคม 2551 เวลา:19:06:12 น.  

 



โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 6 ตุลาคม 2551 เวลา:7:53:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.