Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
13 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
ขึ้นราคาก๊าซก.ก.ละ 6 บาท-เตือนธุรกิจเกษตร, ส่งออก, เอสเอ็มอีรับผลกระทบปีหน้า

. . .

กพช. สรุปทยอยขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง-อุตสาหกรรม 6 บาทต่อกก. พร้อมให้ความช่วยเหลือแท็กซี่ให้เงินเปลี่ยนระบบก๊าซคันละ 40,000 บาท


นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี ออกเป็น 2 ราคา โดยมีมติให้ปรับขึ้นราคา 6 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยให้ทยอยปรับขึ้นเดือนละ 2 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนจะเริ่มปรับขึ้นเมื่อใดขึ้นอยู่กับที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายบริหารพลังงาน (กบง.) จะพิจารณา โดยจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน และปิโตรเคมีจะไม่มีการปรับราคาขึ้นแต่อย่างใดจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2552 ส่วนหลังจากนั้น จะมีการปรับขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในช่วงนั้น
การกำหนดราคาที่ปรับขึ้น 6 บาทต่อกก.มาจากการประเมินว่าราคาแอลพีจี ปีหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน และราคาสมมติฐานน้ำมันดิบประมาณ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

การปรับขึ้นราคาก๊าซในภาคขนส่งดังกล่าวจะกระทบถึงผู้ขับแท็กซี่ เพื่อลดผลกระทบแก่กลุ่มแท็กซี่ทางภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบใช้ก๊าซแอลพีจี เป็นเอ็นจีวี ฟรี ประมาณ 20,000 คัน จากปัจจุบันรถที่ใช้แอลพีจี มี 40,000 คัน สาเหตุที่ปรับเปลี่ยนให้ไม่หมด เนื่องจากการหารือกับสมาคมผู้ขับแท็กซี่คาดว่า จะมีรถแท็กซี่ปรับเปลี่ยนเพียงประมาณ 20,000 คัน

การปรับเปลี่ยนระบบให้รถแท็กซี่ที่ใช้แอลพีจีมาใช้เอ็นจีวี 20,000 คัน จะดำเนินการโดยให้เงินสนับสนุนค่าปรับเปลี่ยนระบบประมาณ 40,000 บาทต่อคัน และจะให้แท็กซี่นำอุปกรณ์เก่าแอลพีจี มาขายคืนชุดละ 3,000 บาท เพื่อป้องกันการนำอุปกรณ์เก่าไปใช้สำหรับภาคขนส่งอื่นๆ

หลังจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีมี 2 ราคา อาจเกิดการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไปใช้ในการขนส่งหรืออุตสาหกรรม

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การลักลอบนำก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไปใช้ในการขนส่งหรืออุตสาหกรรม ในปัจจุบันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4/2547 เรื่องการแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนปิโตรเลียม มีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการเข้มงวดการดำเนินการดังกล่าว หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายเข้มงวดขึ้น โดยเริ่มแรกจะประชาสัมพันธ์ และตักเตือน หลังจากนั้นหากพบการกระทำผิดจะมีการจับกุม ส่วนกรอบระยะเวลาจะเป็นเมื่อใดทาง กบง.จะเป็นผู้กำหนด

นายเมตตากล่าวว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้าจะให้บรรดาโรงบรรจุก๊าซติดตั้งมิเตอร์ เพื่อติดตามตรวจสอบให้ชัดเจนป้องกันการลักลอบถ่ายเทใช้ผิดประเภท ระหว่างที่ยังไม่มีมิเตอร์ก็จะใช้สถิติปริมาณการจำหน่ายปี 2550 เป็นตัวอ้างอิงไปก่อน

ปัจจุบันไทยมีการผลิตแอลพีจีประมาณ 350,000 ตันต่อเดือน แต่มีความต้องการใช้ประมาณ 379,000 ตันต่อเดือน แบ่งออกเป็นการใช้ภาคครัวเรือนร้อยละ 46, ปิโตรเคมีร้อยละ 20, ภาคขนส่งร้อยละ 19 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 15

ดังนั้น การปรับขึ้นราคาแอลพีจี 6 บาทต่อกิโลกรัม จึงจะมีปริมาณก๊าซที่ต้องปรับขึ้นราคาเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 34 (ภาคขนส่งร้อยละ 19 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 15)

ที่ผ่านมา การนำเข้าก๊าซแอลพีจีทาง ปตท.เป็นผู้นำเข้าตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ซึ่งมีการนำเข้าสูงสุดต่อเดือนเมื่อเดือนตุลาคมประมาณ 113,000 ตันต่อเดือน แต่ยอดนำเข้าได้เริ่มลดลงหลังจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเดือน พ.ย. 2551 นำเข้าประมาณ 100,000 ตัน คาดว่าเดือนธันวาคมจะนำเข้า 62,000 ตัน และ ม.ค.จะนำเข้าลดเหลือ 45,000 ตัน สาเหตุที่การนำเข้าลดลง เนื่องจากการใช้ภาคอุตสาหกรรม และปิโตรเคมีลดลงมากประมาณร้อยละ 30 เพราะผลพวงของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

. . .


บอร์ด กพช. ผลักดันอี 85 เป็นวาระแห่งชาติ เห็นชอบลดภาษีนำเข้ารถยนต์อี 85 จากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 เป็นเวลา 1 ปี พร้อมนำเงินกองทุนน้ำมันไปช่วยลดภาระภาษีสรรพสามิตอีก ร้อยละ 3 ส่วนเงินกองทุนอนุรักษ์ดีเซลเก็บเพิ่มอีก 50 สตางค์ เพื่อนำส่งเป็นเงินรถไฟฟ้า มีผลหลัง กบง.เห็นชอบ

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้มีการส่งเสริมการใช้ E85 แบบครบวงจร และส่งเสริมให้เอทานอลเป็นวาระแห่งชาติ คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเชิงเศรษฐกิจถึง 447,377 ล้านบาท สร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน

แบ่งเป็นการลดการนำเข้าน้ำมัน 386,720 ล้านบาท, ปรับโครงสร้างการผลิตพืชเกษตรไปสู่พืชพลังงาน, สร้างเสถียรภาพราคาพืชผลเกษตร, และต่อยอดมูลค่าด้านเกษตรอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 60,657 ล้านบาท และยังสามารถลดมลพิษและภาวะโลกร้อนได้ถึง 27.8 ล้านตันต่อปี

สำหรับแนวทางส่งเสริมให้มีการนำเข้า และประกอบรถยนต์ที่ใช้อี 85 ซึ่งเป็น FFV (Flex Fuel Vehicle) จะส่งเสริมเป็นพิเศษในปี 2552-2553 โดยภายในปี 2552 จะลดหย่อนภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป อี 85 จากอัตราปกติ ร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 จำนวนประมาณ 2,000 คัน ส่วนภาษีสรรพสามิตให้คงเท่ากับอี 20 ที่ร้อยละ 25

แต่เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้อี 85 จึงจะลดภาระภาษีสรรพสามิตแก่ผู้ซื้อรถยนต์ด้วยการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้การสนับสนุนร้อยละ 3 หรือเท่ากับว่ามีภาระจ่ายภาษีประมาณร้อยละ 22 โดยรูปแบบเช่นนี้ เป็นการจัดทำโครงการนำร่องในลักษณะ “Rebate” ให้กับผู้ซื้อรถ FFV ภายในช่วงปี 2552-2553 หลังจากนั้น ครม.คงจะมีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการสนับสนุนอี 85 ต่อไป

กพช.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่ง จากน้ำมันดีเซล B2 ในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร ให้กลับมาอยู่ที่อัตรา 0.75 บาทต่อลิตรตามเดิม จากที่เคยปรับลดเป็นการชั่วคราวในส่วนของน้ำมันดีเซลที่ กพช. มีมติไว้เมื่อ 12 มี.ค. 51 จะทำให้กองทุนอนุรักษ์ฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นอีก 483 ล้านบาทต่อเดือน จาก 131 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 614 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 7,368 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างดีเซล B5 และ B2 เพิ่มเป็น 1.50 บาท/ลิตร คาดว่าจะเป็นส่วนเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มมากขึ้น โดยจะมีผลหลังคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบ

นอกจากนี้ กพช.ยังตัดสิทธิพิเศษของบางจากฯ ในการจัดขายน้ำมันเชื้อเพลิงของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจจำนวนตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ บางจากฯ พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว

กพช.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติม (Supplemental Agreement) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ จากการไฟฟ้าของมาเลเซียหรือ TENAGA NASIONAL BERHAD (TNB)

และมีมติรับทราบการขอยกเลิก Tariff MOU ของกลุ่มผู้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ โครงการหงสาลิกไนต์ น้ำเงี๊ยบ และน้ำอู

รวมทั้งรับทราบโครงการที่ Tariff MOU หมดอายุแล้วอีก 2 โครงการ คือ น้ำเทิน 1 และน้ำงึม 3 และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานไปพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ต่อไป

. . .


ธปท.เตรียมทบทวนจีดีพี ปี 2552 ใหม่

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและข้อมูลเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ธปท.คงจะทบทวนสมมติฐานตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ เช่น ราคาน้ำมัน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ใหม่ จากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.8-5.0

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่มีเสถียรภาพดี ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งการส่งออก และนำเข้า ไม่อ่อนค่าหรือแข็งค่าจนเกินไป เคลื่อนไหวเกาะกลุ่มค่าเงินในภูมิภาคอยู่ในระดับกลาง โดยหากเทียบค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 3-4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคด้วยกันมีบางสกุลที่แข็งค่ากว่าเงินบาทไทย คือ เงินหยวนของจีน ดอลลาร์สิงคโปร์ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินเยนญี่ปุ่น ส่วนบางสกุลอ่อนค่ากว่าเงินบาทไทย เช่น วอนเกาหลี เปโซฟิลิปปินส์ รูเปียอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมติดตามดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ
สำหรับกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก มีความสมดุลทั้งด้านการค้าและการลงทุนไม่พบสัญญาณผิดปกติ ซึ่ง ธปท.ถือว่าค่าเงินและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ในเกณฑ์ดีในสภาวะที่เกิดปัญหาวิกฤติการเงินทั่วโลก

ส่วนเรื่องแนวคิดการจัดตั้งกองทุนบริหารเงินทุนสำรอง โดยนำเงินทุนสำรองมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการที่เอาเงินทุนสำรองไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงจะมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน และในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวจริง แต่อาจนำมาใช้ในอนาคตมากกว่า

ทั้งนี้ ในอนาคตถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย และผลกระทบรอบ 2 ที่จะต้องติดตามดู คือ อาจกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าในด้านการผลิต การว่างงาน การระดมทุนในต่างประเทศ ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง

. . .


ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.51 ยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 72


นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 72 อยู่ที่ 68.6
ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 69.2 ลดลงเป็นเดือนที่ 70
ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เดือนตุลาคมอยู่ที่ 89.5 ลดลงในรอบ 70 เดือนเช่นกัน

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 รายการลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐ

โดยน้ำหนักที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวลจะอยู่ที่ เสถียรภาพทางการเมือง เพราะยังไม่รู้ทิศทางว่าจะยุติเวลาใด จึงทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถยนต์ใหม่และบ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ผู้บริโภคเห็นว่า ยังไม่เหมาะสมอย่างมาก และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมกระทบบรรยากาศการค้าการลงทุน ไม่เฉพาะแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยประชาชน

ส่วนข้อคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าไทยที่มีต่อเศรษฐกิจไทย คือ หากถึงขั้นระดับวิกฤติ จะส่งผลให้ยอดขายโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวลดลงและอาจโยงถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปลดคนงานในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า ผลิตภัณฑ์เคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงภาคธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง ธุรกิจด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก

ภาพรวมทุกภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ยอดผลิตและยอดขายโดยรวมลดลง และกำลังหวั่นวิตกว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้จะโยงไปถึงการลดการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัย ภายนอกมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่ปัญหาหนักที่สุดที่ภาคธุรกิจกังวล คือ ปัญหาการเมือง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ปีหน้า คือ หาทางลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดภาษี ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง รักษาค่าเงินบาทให้ทรงตัว ส่งเสริมและหาตลาดใหม่ เพิ่มลงทุนในระบบสาธารณูปโภค เป็นการเร่งด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าว่า ปัจจัยลบ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวร้อยละ 2.9-3.1 และทำให้การส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 0.0-0.2, อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.0-2.5, มีการว่างงานประมาณ 760,000-900,000 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงานถึงร้อยละ 2.0-2.3 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่คาดว่าจะมีการว่างงานประมาณ 500,000 คน สิ่งเหล่านี้คือสมมติฐานของความเลวร้ายหากการเมือง และเศรษฐกิจโลกค่อนข้างแย่

หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไม่มากเกินไป และการเมืองกลับมามีเสถียรภาพดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก 2552 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.9-4.1 ส่งออกขยายตัวร้อยละ 8-10 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3-4 การว่างงาน 600,000-750,000 คน หรือร้อยละ 1.6-1.9 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่จะมีว่างงานประมาณ 500,000 คน

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าว่า จากการที่สมาชิกหอการค้าในหลายอุตสาหกรรมมองภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าค่อนข้างเลวร้าย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่งเอกชนจะต้องปรับตัว ขณะนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะภาคการส่งออก เพราะผู้นำเข้าสินค้าจากไทยต้องการให้ขยายระยะเวลาชำระเงินจาก 60 วัน เป็น 120 วัน หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยประสบปัญหา

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายไม่อยากให้วิตกกังวลและพูดถึงค่อนข้างมาก คือ ปัญหาแรงงาน หากดูแต่ละปีมีการว่างงาน 300,000-400,000 คน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากการว่างงานสูงกว่านี้แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจต่างๆ กำลังประสบปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้งบกลางปีที่เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทกระตุ้นภาคธุรกิจระดับต่าง ๆ และควรเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้ไปกระตุ้นภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองยังเป็นเช่นนี้และไม่รู้จะจบอย่างไร โอกาสเศรษฐกิจไทยจะประสบปัญหาขาลงอย่างน้อย 3 ปี

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงกดดัน ทำให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว โดยวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คาดว่าจะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้เงินอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกกว่าแสนล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนจะเสนอให้รัฐบาลเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล จากขณะนี้เก็บร้อยละ 30 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกรณีความขัดแย้งทีมเศรษฐกิจระหว่างนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี และนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น นายประมนต์ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะมองว่ายังเป็นกระแสข่าว แต่เชื่อว่าการพิจารณาเรื่องใดก็ต้องมีเหตุมีผล จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะดีกว่า

. . .



เตือนธุรกิจเกษตร, ส่งออก, เอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบรุนแรงในปีหน้า


นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวในการเสวนาเรื่อง วิกฤติการเงินโลก-วิกฤติความมั่นคงไทย ว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวเหลือร้อยละ 3.3 เนื่องจากภาคส่งออกขยายตัวลดลงมาก จากร้อยละ 19 เหลือร้อยละ 7 ทำให้รายได้จากการส่งออกเหลือ 8 แสนล้านบาท แต่ราคาน้ำมันที่ลดลง ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชนมากขึ้นประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม และจะทำให้ดุลการค้าของไทยปีนี้กลับมาเกินดุลได้

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับไทยในปีหน้าคือ ผลกระทบต่อ 3 ภาคธุรกิจสำคัญ คือ

1. ธุรกิจการเกษตร ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าปี 2540 เพราะขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง ราคาข้าวจาก 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 600 ดอลลาร์ต่อตัน สวนทางกับราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นเมื่อปี 2540 และเห็นว่าการที่รัฐบาลรับจำนำข้าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น และเป็นการใช้ภาษีประชาชนที่สิ้นเปลืองที่สุด เพราะรัฐบาลจะเก็บข้าวในปริมาณมากโดยไม่ได้นำมาใช้ และอาจทำให้ข้าวในสต๊อกเสียหาย

2. ธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะจะมีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้น และขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ และจะทำให้เอสเอ็มอี ที่สายป่านไม่ยาวเกิดปัญหา

3. ภาคการส่งออก จากอัตราการขยายตัวที่จะลดลงเหลือร้อยละ 7 เชื่อว่าจะมีโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกปิดกิจการ และทำให้แรงงาน พนักงาน ต้องตกงาน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นปัญหาแล้ว หลายบริษัทเริ่มลดเวลาการทำงาน เพื่อประคับประคองฐานะของบริษัท

ส่วนภาคสถาบันการเงิน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะมีการระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งบางแห่งอาจจะระวังมากเกินไป เพราะมีประสบการณ์จากปี 2540 มาแล้ว โดยขณะนี้ยังมีสภาพคล่องเหลือถึง 500,000 ล้านบาทที่จะปล่อยกู้ได้

นายศุภวุฒิกล่าวว่า ปัจจัยภายนอกจะต้องจับตาบทบาทของประเทศกลุ่ม จี 20 ที่จะมีอำนาจในการขับเคลื่อนโครงสร้างเศรษฐกิจของโลกแทน จี 7 เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปทำให้เงินทุนจากประเทศเอเชียและตะวันออกกลางเข้าไปมีบทบาทซื้อหุ้นหรือประคองสถาบันการเงินสหรัฐมากขึ้น ทำให้มีอำนาจสูงขึ้นด้วย แต่ยังเป็นห่วงว่าประเทศในยุโรปจะต้องเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจของยุโรปตะวันออกที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เงินยูโรอาจจะอยู่ไม่ได้ และต้องเตรียมรับมือกับลัทธิกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจากสหรัฐ เพราะสหรัฐต้องการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐเอง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีหน้า ปัญหาการเมืองของไทยจะกระทบต่อการบริโภคในประเทศร้อยละ 51 การลงทุนร้อยละ 22 การตัดสินใจลงทุนของภาครัฐร้อยละ 8 ทำให้ประชาชนระมัดระวังการบริโภค เอกชนลงทุนน้อยลง ภาครัฐไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ส่วนปัจจัยภายนอกกระทบต่อเศรษฐกิจไทยร้อยละ 71 ทำให้การส่งออกชะลอตัว เช่น เสื้อผ้า กุ้ง อิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัว ผู้สั่งซื้อสินค้าไม่จ่ายเงิน คำสั่งซื้อลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

อย่างไรก็ตาม ฐานะของไทยยังแข็งแกร่ง โดยอาจลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมทั้งมาตรการทางการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย บริหารอัตราแลกเปลี่ยน ส่งเสริมการลงทุนโดยเน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เดินหน้าเมกะโปรเจกต์ โดยใช้วัสดุในประเทศแทนการนำเข้า หากทำได้จะสามารถป้องกันปัญหาเศรษฐกิจได้

. . .

คลังเพิ่มเงินพิเศษช่วยข้าราชการ ลูกจ้าง ชายแดนภาคใต้ และเขตทุรกันดารทั่วประเทศ

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดสำนักงานในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสำนักงานในพื้นที่พิเศษประจำปีงบประมาณ 2552 แล้ว ตามประกาศลงวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอีก 5 อำเภอใน จ.สงขลา คือ อ.จะนะ, อ.เทพา, อ.นาทวี, อ.สะบ้าย้อย, และ อ.สะเดา เป็นพื้นที่พิเศษ โดยข้าราชการ และลูกจ้างประจำที่ปฏิบัติงานประจำหรือลักษณะประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (เงิน สปพ.) คนละ 1,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.51 - 30 ก.ย. 52

พร้อมกันนี้ ยังได้ประกาศสำนักงานในพื้นที่พิเศษฯ เพิ่มเติมอีก 113 หน่วยงานที่อยู่ใน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ โดยข้าราชการ และลูกจ้างประจำจะได้รับเงิน สปพ. คนละ 1,000 บาทต่อเดือน ย้อนหลังในปีงบประมาณ 51 ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 11.82 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเงินค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก ซึ่งได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลางว่า คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ก.บ.จ.ต.) ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงินค่าตอบแทนพิเศษและเสนอครม.ให้พิจารณา เบื้องต้นทราบว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดไว้คนละ 2,500 บาทต่อเดือน และเมื่อครม.มีมติอนุมัติแล้ว ผู้ที่เข้าตามหลักเกณฑ์จะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 1,500 บาทต่อเดือน

. . .


Create Date : 13 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 18:30:49 น. 1 comments
Counter : 578 Pageviews.

 
. . .

รถจักรยานยนต์ครอบครัวผลักดันตลาดโตต่อเนื่อง พร้อมแรงหนุนจากกระแสความนิยมเครื่องยนต์หัวฉีด ส่งผลยอดจดทะเบียนเดือน ต.ค. ขยายตัว 10%


สภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นไตรมาสสุดท้ายของปี ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปริมาณยอดจดทะเบียนโดยรวมทั้งสิ้นสูงเกินกว่า 1.38 แสนคัน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 10% ทั้งนี้เป็นเพราะแรงหนุนจากกระแสใหม่ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญและความนิยมในรถแบบเครื่องยนต์หัวฉีด โดยเฉพาะในกลุ่มรถประเภทครอบครัว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์รถหัวฉีดใหม่ลงสู่ตลาดนั้น มีอัตราการเติบโตสูงถึง 14% ในขณะที่รถแบบ เอ.ที. เริ่มส่งสัญญาณแนวโน้มทิศทางขาขึ้น จากการขยับเพิ่มสัดส่วนตลาด ส่งผลให้ค่ายผู้นำเปิดตัว เอ.ที. หัวฉีดใหม่อีกหนึ่งรุ่น เพื่อผลักดันและกระตุ้นการตื่นตัวของตลาด

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารส่วนงานขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมรถจักรยานยนต์ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปริมาณการจดทะเบียนโดยรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 138,437 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 125,975 คันแล้ว มีปริมาณยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 12,462 คัน หรือเทียบเท่าอัตราการขยายตัวถึง 10%

โดยการเติบโตเพิ่มขึ้นของตลาดนั้น เนื่องมาจากเป็นช่วงการเริ่มต้นย่างเข้าสู่ฤดูของการขาย ประกอบกับการกระตุ้นสร้างกระแสใหม่ให้กับตลาดจากค่ายผู้ผลิตรายใหญ่ ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยลงสู่ตลาด ได้แก่ เทคโนโลยีระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีด ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมและการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์รถประเภทครอบครัวแบบหัวฉีดรุ่นใหม่ คือ ฮอนด้า ซีแซด-ไอ 110 (CZ-i 110) นั้น ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีปริมาณการจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งก้าวขึ้นจากอันดับ 10 ของรถที่มียอดจดทะเบียนสูงสุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในอันดับ 6 ของเดือนล่าสุด อันเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดในกลุ่มรถแบบครอบครัวมีอัตราการขยายตัวจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 14%

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ทางฮอนด้ายังมีแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันและกระตุ้นตลาดในกลุ่มรถแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ ให้มีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยการวางจำหน่ายรถ เอ.ที. รุ่นใหม่อีกหนึ่งรุ่นที่ติดตั้งระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีด PGM-FI (Programmed Fuel Injection) ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ ได้แก่ รุ่น ฮอนด้า แอร์เบลด ไอ (Air Blade i) หลังจากที่ตลาดของรถแบบ เอ.ที. เริ่มส่งสัญญาณแนวโน้มในทิศทางขาขึ้น ด้วยการมีสัดส่วนตลาดขยับเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดในเดือน ต.ค. มีสัดส่วนตลาด 44%

ในส่วนของรายละเอียดยอดการจดทะเบียนประจำเดือน ต.ค. นั้น ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 71,695 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 52% มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 14% , รถแบบ เอ.ที. 61,479 คัน สัดส่วนตลาด 44% เติบโตเพิ่มขึ้น 7% , รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 3,434 คัน สัดส่วนตลาด 2% เติบโตลดลง 13% , รถแบบสปอร์ต 1,152 คัน สัดส่วนตลาด 1% เติบโตเพิ่มขึ้น 8% และรถประเภทอื่นๆ 677 คัน

สำหรับปริมาณการจดทะเบียนสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ คือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,462,043 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้ว มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7% โดยแบ่งแยกเป็นรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 753,842 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 52% มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 9% , รถแบบ เอ.ที. 651,462 คัน สัดส่วนตลาด 45% เติบโตเพิ่มขึ้น 5% , รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 40,650 คัน สัดส่วนตลาด 3% เติบโตลดลง 9% , รถแบบสปอร์ต 9,736 คัน สัดส่วนตลาด 1% เติบโตเพิ่มขึ้น 4% และรถประเภทอื่นๆ 6,353 คัน

. . .


โดย: loykratong วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:18:35:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.