Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
10 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
ราคาน้ำมันเบนซินลด 80 สตางค์--กกร.เสนอลดภาษี--แนวโน้มตกงานเพิ่ม--การใช้พืชพลังงานลดลง

. . .

ปตท.-บางจากประกาศลดราคาเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ลิตรละ 80 สตางค์ มีผลวันที่ 11 พ.ย.

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ลงลิตรละ 80 สตางค์ โดยมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น.วันที่ 11 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการของ ปตท. และบางจากฯ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันนี้(11 พ.ย.) เป็นดังนี้

เบนซิน 91 ลิตรละ 26.19 บาท,
แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 21.09 บาท,
แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 20.29 บาท
ส่วนดีเซลยังคงเดิมที่ลิตรละ 22.84 บาท
ไบโอดีเซล บี 5 ลิตรละ 21.84 บาท

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า สาเหตุการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันครั้งนี้เป็นผลมาจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และยังส่งผลให้เกิดการว่างงาน โดยล่าสุดอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค.51 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.5%

นายประเสริฐ กล่าวว่า มีแนวโน้มราคาตลาดโลกจะปรับลดลงอีก แต่ราคาน้ำมันดีเซลในช่วงนี้ราคาตลาดโลกยังผันผวนและอยู่ในเกณฑ์สูง หากค่าการตลาดสามารถปรับลดลงได้ก็จะลดราคาลงเช่นเดียวกับเบนซิน

นักวิเคราะห์จาก Petroleum Industry Research Associate (PIRA) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2552 จะเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนในปี 2552 เติบโต 4.1% หรือ 320,000 บาร์เรลต่อวัน

. . .


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมั่นใจแผนส่งเสริมการใช้เอ็นจีวีใน 15 ปีข้างหน้าจะเป็นไปเช่นเดิม แม้ราคาน้ำมันถูกลง โดยคาดว่าจะประหยัดได้ 3 แสนล้านบาทต่อปี

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานพิธีเปิดสถานีบริการเอ็นจีวีหลัก กัลปพฤกษ์ และศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซ เขต 6 ของ ปตท. โดยท่อส่งดังกล่าวจะนำก๊าซมาใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า การใช้ทดแทนเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่ง

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า สถานีหลัก และศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้เป็นการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมให้มีก๊าซธรรมชาติใช้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างประสิทธิภาพด้านพลังงานและเศรษฐกิจโดยรวม โดยในส่วนของเอ็นจีวีนั้น แม้ในปัจจุบันการติดตั้งจะชะลอตัวบ้าง แต่เชื่อมั่นว่าระยะยาวการใช้เอ็นจีวีจะยังคงขยายตามแผน คือ

ภายใน 15 ปีข้างหน้ายอดใช้เอ็นจีวีจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 10 เท่าตัว หรือมีความต้องการใช้ 28,000 ตันต่อวัน ลดการนำเข้าน้ำมันปีละ 122,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ผู้ใช้เอ็นจีวี ประหยัดเงินได้ประมาณ 168,000 ล้านบาทต่อปี รวมวงเงินที่จะประหยัดได้ 300,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 42 ล้านตันต่อปี เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้ระบบตลาดโลกได้อีกประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น กระทรวงพลังงานและ ปตท.จะเร่งส่งเสริมตามแผนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปีหน้านั้น ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน ยังไม่แล้วเสร็จ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีในปีหน้าหากได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน จะเป็นไปตามเกณฑ์ที่เคยประกาศไว้ คือ ขึ้นในอัตราไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซล ล่าสุดราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.84 บาทต่อลิตร ดังนั้น การปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี ก็จะไม่ถึง 12 บาทต่อกิโลกรัม

. . .



แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานในปีหน้าจะลดลงอีก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยืนราคาสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซลมาก ขึ้น โดย ณ เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งสิ้น 10.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5.8 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับน้ำมันไบโอดีเซลก็มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 13.3 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2550 มีปริมาณจำหน่ายเพียง 2.1 ล้านลิตร/วัน ทำให้ราคาพืชพลังงานที่นำไปผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลทั้งมันสำปะหลัง ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้ ความต้องการใช้พืชพลังงานลดลง

โดยเดือน ต.ค. 2551 หัวมันสำปะหลังสดมีราคา 1.40 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงสุด 2.23 บาท/กิโลกรัม หรืดลดลงร้อยละ 37.2

สำหรับราคาพืชพลังงานอื่น ๆ ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยราคาถั่วเหลืองในประเทศเดือน ต.ค. 2551 มีราคาอยู่ที่ 15.87 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคา 16-17 บาท/กิโลกรัม หรือร้อยละ 6.6 และราคาผลปาล์มสดในเดือน ต.ค. 2551 อยู่ที่ 2.72 บาท/กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 53.9 จากช่วงต้นปี 2551 ที่มีราคาสูงที่สุด 5.90 บาท/กิโลกรัม

สำหรับปี 2552 คาดว่าแนวโน้มความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 โดยราคาพืชพลังงานในประเทศจะทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังปี 2551 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และความกังวลต่อปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อนาคตของธุรกิจพลังงานทดแทนของไทยขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ หากพิจารณาด้านความคุ้มทุนในการผลิตพลังงานชีวภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่หากพิจารณาถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาวแล้ว ภาครัฐน่าจะยังมีความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทน ที่สำคัญของประเทศในระยะยาวอยู่ต่อไป และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ

ดังนั้น ในระยะยาวแล้วภาครัฐจะต้องให้ ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและโดยต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต

. . .


กกร.เตรียมเสนอรัฐบาลลดภาษีนิติบุคคล-บุคคลธรรมดา

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว โดยจะเสนอให้ลดการจัดเก็บจากร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ เหลือระดับที่ประเทศคู่แข่งจัดเก็บ คือ ร้อยละ 20-25

นอกจากนี้ จะเสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน โดยให้มีผลทันทีและมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

รวมทั้งจะเสนอให้ลดภาษีอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่จะทำให้มีเงินเหลือใช้จ่าย และการแก้ไขระบบภาษีบางประเภทที่เป็นอุปสรรคและภาระผู้ประกอบการ เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่เกิดขึ้นในขั้นตอนผู้ประกอบการผลิตสินค้ากับซัพพลายเออร์ต้นน้ำ และจะเสนอให้รัฐยกเลิกจัดเก็บภาษีจากการประนอมหนี้

สำหรับมาตรการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี มาตรการที่ควรจะผลักดัน ได้แก่ ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, เสริมสร้างและพัฒนาระบบโลจิสติกส์, จัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยบางส่วน, จัดให้มีการศึกษาและจ้างผู้เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจเฉพาะทางมาให้ความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เอสเอ็มอี

ส่วนการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 100,000 ล้านบาท ในปี 2552 นั้น การใช้งบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้เห็นผลเร็วภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีเป็นอย่างช้า และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.จะหารือเรื่องแนวโน้มการว่างงาน ที่มีแนวโน้มสูงถึง 1 ล้านคน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะการหางานปีหน้าจะยากกว่าปีนี้ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง หากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 3.8-4.0 จะต้องเดินหน้าสร้างการจ้างงาน และใช้จ่ายงบกลางปี 100,000 ล้านบาทให้ถูกต้อง

. . .


ส.อ.ท. วางแนวทางช่วยเหลือแรงงาน ที่มีแนวโน้มตกงานเพิ่มขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงผลสำรวจแนวโน้มการจ้างงานของชมรมบริหารบุคคลในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ว่า ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป จะมีคนตกงานประมาณ 100,000 คน

นายสันติ กล่าวว่า ทางสอท.ได้ขอให้ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหาแนวทางช่วยเหลือ เช่น เมื่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ก็ลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดค่าทำงานล่วงเวลา ลดวันทำงานวันหยุด หรือหากไม่ไหวก็เจรจาขอลดค่าจ้าง เพื่อรักษาการจ้างงาน และพิจารณาว่าอุตสาหกรรมใดต้องการแรงงานเพิ่มก็โยกไปอุตสาหกรรมนั้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มตกงานมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก โดยการตกงานจะเริ่มตั้งแต่ต้นปีหน้า และมีแนวโน้มจะเป็นตลอดทั้งปี

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งต่างก็เป็นห่วงเรื่องคำสั่งซื้อที่ลดลง และแนวโน้มการตกงาน จึงขอให้ประธานอุตสาหกรรมทุกจังหวัดเร่งสรุปแนวโน้มปริมาณคำสั่งซื้อ และการว่างงาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ก่อนหน้านี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดทั่วประเทศ 10,000 แห่ง ประสบความเดือดร้อนและในปีหน้าอาจเลิกจ้างคนงาน 300,000 คน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศลำบากมากขึ้น รวมถึงการขาดสภาพคล่องกรณีสถาบันการเงินเข้มงวดการให้สินเชื่อ จนเสี่ยงต่อการปิดโรงงาน จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในช่วงนี้
. . .


นายแบงก์ห่วงปัญหาสภาพคล่องปีหน้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณสภาพคล่องในประเทศยังอยู่ระดับค่อนข้างดี โดยมียอดเหลือ 300,000-400,000 ล้านบาท แต่หลายธนาคารมีความเป็นห่วงภาวะสภาพคล่องในอนาคตมากกว่า เพราะประมาณการว่าสภาพคล่องที่มีอยู่จะถูกใช้หมดไปในปีหน้า โดยมีสาเหตุมาจากเงินไหลออกนอกประเทศ และมีแนวโน้มจะมีการนำเงินในประเทศไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ซึ่งสมาคมธนาคารไทยได้หารือกับภาครัฐหลายครั้ง ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการป้องกันปัญหาการไหลออกของเงินแล้ว

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ขณะนี้ได้ปรับลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ตัวเลขเศรษฐกิจปรับลดลงอย่างมาก เช่น อังกฤษลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.50 สหรัฐก็ลดดอกเบี้ยลงแล้วหลายรอบ ญี่ปุ่นและยุโรปเริ่มเกิดปัญหาและมีการลดดอกเบี้ย

ส่วนเศรษฐกิจไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ชะลอลงมากเหมือนต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ไทยจะต้องประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เร่งด่วนเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดอกเบี้ยจะลดลงตามเศรษฐกิจปีหน้าที่จะชะลอลง เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น นโยบายการเงินจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลง ส่วนจะลดลงเมื่อใดต้องรอการพิจารณาของ กนง.ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้

ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำในปีหน้า เนื่องจากภาคเอกชนยังไม่มีการลงทุนและการบริโภคของประชาชนยังชะลอ เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้

. . .


ธอส. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้น 0.50-1.00% ป้องกันเงินไหลออก

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤติสถาบันการเงินโลกที่มองว่า จะได้รับผลกระทบหนักในปีหน้า ทำให้ปีนี้ผู้บริหารสถาบันการเงินทุกแห่งจะมุ่งเน้นบริหารดูแลสภาพคล่องและป้องกันปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องดูแล โดยขณะนี้ ธอส.มีสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาท หากดูแลไม่ดีจะมีลูกค้าถอนเงินฝากไปยังธนาคารอื่นที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า จึงต้องใช้กลยุทธ์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมาดึงดูดลูกค้า

นายขรรค์ กล่าวว่า เพื่อเสริมสภาพคล่องและระดมทุนรองรับการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจึงได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษ จากอัตราเดิมร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำ 3-6 เดือน ปรับเป็นร้อยละ 3.00-3.50 ต่อปี ตามปริมาณเงินฝาก

นอกจากนี้ ปรับขึ้นดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 เดือน จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.75 , ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 เดือน จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 3.00 มีผลตั้งแต่วันที่ 11 -30 พ.ย. 2551 เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากระยะยาว เพราะจะกระทบต้นทุนบริหารงาน อีกทั้งต้องรอดูทิศทางดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้

. . .


นักลงทุนเทขายหุ้นทำกำไร ฉุดดัชนีลด 7 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันที่ 10 พ.ย. ยังคงแกว่งตัวผันผวน และต้องเผชิญกับแรงเทขายทำกำไร ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 456.44 จุด ลดลง 7.37 จุด หรือร้อยละ 1.59 มูลค่าการซื้อขาย 10,768 ล้านบาท

นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 673 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 24 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 697 ล้านบาท

น.ส.ปองรัตน์ รัตนะวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง มองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ในช่วงเช้า เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประเทศจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่ระบบ

แต่ช่วงบ่ายปรับตัวลดลงเพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมา ประกอบกับเกิดความกังวล หลังบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (ทีเอสเอฟซี) ขาดทุนและถูกปรับลดอันดับเครดิตลง

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (11 พ.ย.) ดัชนียังคงแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ประเมินแนวรับที่ระดับ 453 จุด และแนวต้านระดับ 466 จุด

กลยุทธ์การลงทุน สำหรับนักลงทุนที่เก็งกำไรเป็นรายตัว แนะนำเลือกกลุ่มธนาคารและพลังงาน เพราะยังมีการเคลื่อนไหว ส่วนนักลงทุนระยะยาว ควรรอดูสถานการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน

. . .






Create Date : 10 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2551 19:57:31 น. 5 comments
Counter : 1038 Pageviews.

 
. . .

พืชพลังงานปี 2552 : ผลกระทบและแนวทางการปรับตัว

จากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 จนส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศแถบเอเชีย และมีสัญญาณว่ากำลังจะลุกลามจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2551 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนกระทั่งวิ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 และปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในเดือนตุลาคมปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหวาดวิตกถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าจะมีความรุนแรงเพียงใด ซึ่งผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลงมาก ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็เป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมาก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ดังนั้น คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากความหวาดวิตกต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงขณะนี้ ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพลดลง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบกับคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกในปี 2551/2552 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากอานิสงส์ของราคาพืชพลังงานในปี 2551 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาพืชพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง

สำหรับปี 2552 คาดว่า ความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 ซึ่งมีปริมาณการผลิตและความต้องการใช้พืชพลังงานขยายตัวสูง ทั้งนี้ ปี 2551 นับเป็นปีทองของพืชพลังงาน เนื่องจากที่ผ่านมาทั่วโลกต่างหวาดวิตกเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตด้านอาหารและวิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพัฒนาพลังงานทดแทนโดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซลกันมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมาราคาพืชพลังงานทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาพืชพลังงานที่สำคัญของไทย โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

 ปี 2551...โอกาสทองของพืชพลังงาน ผลักดันราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์

นับตั้งแต่กลางปี 2550 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ราคาพืชพลังงานทั้ง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการพืชพลังงานเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่ขยายตัวสูงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาดภายในประเทศ ความต้องการพืชพลังงานเพื่อนำไปผลิตเอทานอลขยายตัวตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยืนราคาสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ปี 2551 (ตุลาคม) ไทยมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (ออกเทน 95 อี10,ออกเทน 91 อี10 และ ออกเทน 95 อี20) รวมกันทั้งสิ้น 10.5 ล้านลิตร/วัน (คิดเป็นปริมาณการผลิตเอทานอลประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพียง 5.8 ล้านลิตร/วัน (คิดเป็นปริมาณการผลิตเอทานอล 0.5 ล้านลิตร/วัน) หรือขยายตัวถึงร้อยละ 81.0

สำหรับน้ำมันไบโอดีเซลก็มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่นกันจากมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B2 และB5 ของภาครัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2551 (เดือนตุลาคม) ปริมาณจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 เพิ่มขึ้นเป็น 13.3 ล้านลิตร/วัน จากปี 2550 ซึ่งมีปริมาณจำหน่ายเพียง 2.1 ล้านลิตร/วัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาพืชพลังงานที่นำไปผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลทั้งมันสำปะหลัง ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยในเดือนเมษายน 2551 ราคาหัวมันสำปะหลังสดปรับตัวสูงสุดอยู่ที่ 2.23 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.72 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 ส่วนราคาพืชพลังงานอื่นๆก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยช่วงต้นปี 2551 ราคาถั่วเหลืองในประเทศอยู่ที่ 16-17 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10.95 บาท/กิโลกรัม สำหรับราคาผลปาล์มสดปรับตัวสูงที่สุดในเดือนมกราคมปี 2551 อยู่ที่ 5.90 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคา 3.02 บาท/กิโลกรัม


ประเด็นที่น่าสนใจ คือ นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นมา ราคาพืชน้ำมันของโลกทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ดัชนีราคาหมวดพืชน้ำมันที่สำคัญของโลก ทั้งถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน เรพซีด (Rapeseed) และดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืชโดยเฉพาะน้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงที่เคยมีราคาพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์จนทำสถิติสูงสุดในช่วงต้นปี 2551 และดัชนีราคาเริ่มปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรองรับปริมาณความต้องการพืชพลังงานที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า โดยในปี 2551 (เดือนกันยายน) ดัชนีราคาหมวดพืชน้ำมันอยู่ที่ 233 ส่วนดัชนีราคาน้ำมันพืชอยู่ที่ 209 ซึ่งปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2551 ซึ่งมีดัชนีราคาอยู่ที่ 295 และ 292 ตามลำดับ


สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ราคาพืชพลังงานที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะมันสำปะหลัง ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันต่างปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเช่นกันตามการเปลี่ยนแปลงของราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร พบว่า ในปี 2551 (เดือนตุลาคม) หัวมันสำปะหลังสดมีราคา 1.40 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงสุด 2.23 บาท/กิโลกรัม หรืดลดลงถึงร้อยละ 37.2 สำหรับราคาพืชพลังงานอื่นๆ ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยราคาถั่วเหลืองในประเทศเดือนตุลาคม 2551 มีราคาอยู่ที่ 15.87 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคา 16-17 บาท/กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 6.6 และราคาผลปาล์มสดในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ 2.72 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงที่สุด 5.90 บาท/กิโลกรัม หรือปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 53.9

ปี 2552 ราคาพืชพลังงานจะทรงตัวในระดับเดียวใกล้เคียงกับครึ่งหลังปี 2551...พึงระวังหลากปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปี 2552 คาดว่า ราคาพืชพลังงานในประเทศจะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เนื่องจากราคาได้ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับความวิตกกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากความรุนแรงของความผันผวนของราคาน้ำมันและวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ ดังนั้น ในปี 2552 หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสามารถปรับราคามาอยู่ที่เหนือระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากการที่กลุ่มโอเปกประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน อีกทั้งการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสามารถทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็จะส่งผลดีทำให้แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานขยายตัวตามปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น แต่หากในปี 2552 ทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ก็ย่อมส่งผลกระทบทำให้ความต้องการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอาจลดลงมาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับน้ำมันปิโตรเลียมได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยกดดันราคาพืชพลังงานในปี 2552 จะมีประเด็นความเสี่ยงหลายประการ ดังนี้

 ปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกขยายตัว
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ปี 2551/2552 ผลผลิตพืชน้ำมันของโลกจะมีปริมาณ 420.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550/2551 ซึ่งมีปริมาณผลผลิต 391.2 ล้านตัน หรือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 7.5 ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาผลผลิตพืชพลังงานล้นตลาด และทำให้ราคาพืชพลังงานตกต่ำลงได้ สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ปี 2551/2552 ปริมาณการผลิตพืชพลังงานจะขยายตัวมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาพืชพลังงานในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยในปี 2551/2552 ผลผลิตมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 29.2 ล้านตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 15.9 ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.4 ล้านตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 19.4 ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานของภาครัฐ และปัจจัยบวกจากราคาพืชพลังงานในปี 2551 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ในปี 2551/2552 ปริมาณผลผลิตอ้อยกลับลดลงเป็น 74.0 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 3.5 เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

 ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงรวดเร็วในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพปรับลดลง ความต้องการพืชพลังงานจึงลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลให้ราคาพืชพลังงานตกต่ำจนอาจก่อให้เกิดปัญหาพืชพลังงานล้นตลาดได้


 ความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก
จากสถานการณ์วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอยทั้งการบริโภคและการเดินทางต่างๆ ลง ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่สัดส่วนการใช้น้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น การที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจึงส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงตามไปด้วย

ผลกระทบและแนวทางปรับตัวของธุรกิจ...เตรียมรับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาน้ำมัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการพืชพลังงานของไทย โดยเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเพื่อรับมือกับผลพวงของวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็นกลุ่มต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงาน จากภาวะสินค้าเกษตรในปี 2551 ซึ่งมีราคาสูง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานของรัฐบาลเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมีแรงจูงใจการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาพืชพลังงานกลับพลิกผันจากในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงและราคากลับปรับตัวลดลงมากในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ดังนั้น คาดว่า จะส่งผลกระทบทำให้รายได้ของเกษตรกรในปี 2552 ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตพืชพลังงานยังปรับตัวลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ สำหรับแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ คือ ควรจัดให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต และรวบรวมผลผลิตในการขายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับโรงงานผู้ผลิต ขณะเดียวกันภาครัฐควรมีแนวทางชัดเจนในการบริหารจัดการการผลิตพืชพลังงานให้เหมาะสมกับภาวะราคาน้ำมัน รวมทั้งส่งเสริมการปลูก และการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร การจัดโซนนิ่งการปลูกพืชแต่ละชนิดตามความเหมาะสมของพื้นที่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ และการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าไปลงทุนปลูกพืชพลังงานในลักษณะ Contract Farming ให้มากขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกรณีของปาล์มน้ำมัน โดยการร่วมมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซียและอินโดนีเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบ สำหรับสถานการณ์ล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในส่วนของพืชพลังงานทั้งมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนับเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการพยุงราคาพืชพลังงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งวางแผนจัดการการปลูกพืชพลังงานโดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงานทดแทนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนอาจชะลอการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ย่อมได้เปรียบรายเล็ก เนื่องจากมีการต่อยอดธุรกิจมาจากบริษัทผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันปิโตรเลียมทำให้มีการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือโรงงานผู้ผลิตควรมีการวางแผนการผลิตร่วมกัน และการจัดการสต็อกให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลและไบโอดีเซลลงในน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยระบายสต็อกของโรงงานผู้ผลิตซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสัดส่วนความต้องการใช้พืชพลังงานให้มากขึ้นด้วย

ผลกระทบต่อผู้บริโภค จากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้พฤติกรรมการใช้น้ำมันของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวหันมาใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลมากขึ้น เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับลดลง จากเดิมในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปิโตรเลียมในขณะนั้นมีราคาสูงมาก อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อความต้องการใช้พืชพลังงานได้ ดังนั้น แนวทางที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ซึ่งมีความเหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยการรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศให้มากขึ้น โดยการรักษาส่วนต่างของราคาน้ำมันชีวภาพทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลกับราคาน้ำมันปิโตรเลียมให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมานิยมใช้กันมากขึ้น

ผลกระทบต่อนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้ประชาชนมีความสนใจใช้พลังงานทดแทนลดลง จนอาจส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศตามกรอบระยะเวลา 15 ปีซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยภาครัฐมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี 2565 เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทยในระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวัตถุดิบ การผลิต การตลาด การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิต และความต้องการใช้พลังงานชีวภาพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งบริหารจัดการการผลิตพืชพลังงานให้เหมาะสมกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน

กล่าวโดยสรุป จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานลดลง

สำหรับปี 2552 คาดว่า แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาพืชพลังงานปรับตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากทั่วโลกต่างกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารและด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพลังงานทดแทนกันมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2552 ราคาพืชพลังงานในประเทศจะทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังปี 2551 โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบและเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน ผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และผู้บริโภค รวมทั้งผลกระทบต่อนโยบายพลังงานของภาครัฐ

ทั้งนี้ อนาคตของธุรกิจพลังงานทดแทนของไทยขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาทางด้านความคุ้มทุนในการผลิตพลังงานชีวภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่หากพิจารณาถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาวแล้ว ภาครัฐจึงน่าจะยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศในระยะยาวอยู่ต่อไป และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ

ดังนั้น ในระยะยาวแล้วภาครัฐก็จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและโดยต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต

. . .



โดย: loykratong วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:02:04 น.  

 
. . .

FTA …อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยขาดดุลกับญี่ปุ่น และจีนเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเจรจาเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) กับนานาประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วกับ 5 ประเทศ และอีก 1 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย เขตเสรีการค้าไทย-จีน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) เขตเสรีการค้าไทย-อินเดีย (ITFTA) เขตเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เขตเสรีการค้าไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) เขตเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และเขตเสรีการค้าไทย-อาเซียน (AFTA) ซึ่งแม้ว่าการเปิดเสรีการค้าจะมีผลดีต่อการช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขยายตลาดออกไปได้มากขึ้น จากราคาสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดเนื่องจากสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงประโยชน์ที่จะได้จากผลของข้อตกลงในส่วนของสินค้าชนิดอื่นที่เป็นปัจจัยการผลิตซึ่งไทยจะสามารถนำเข้าได้ในราคาถูกลง เป็นต้น ทว่าการเปิดเสรีการค้าอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้เช่นกัน หากอุตสาหกรรมยังไม่มีความพร้อมพอที่จะแข่งขันกับประเทศที่ไทยไปทำการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะในแง่ของต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยภายใต้การเปิดเขตเสรีการค้าในแง่มุมต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย

จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 3,905.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 26.4 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ซึ่งแม้การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะมีการขยายตัวดีในหลายประเทศ แต่พบว่ามีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีการหดตัวของยอดการส่งออก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลงอย่างมาก และการลดกำลังการผลิตในประเทศเหล่านี้

ส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 3,056.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 27.3 โดยคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ซึ่งจากตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์เกินดุลเป็นมูลค่า 848.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้หากสังเกตจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในช่วง 9 เดือนแรกตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2550 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 34.1 ส่วนมูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ซึ่งหากดูจากตัวเลขการขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 จะเห็นว่าการส่งออกมีการขยายตัวลดลงจากในอดีต ขณะที่การนำเข้ากลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากผลจากการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น

จากมูลค่าการตลาดระหว่างประเทศกับประเทศที่ไทยได้ทำการเปิดเสรีการค้า และได้มีผลบังคับใช้แล้วนั้นพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 2,396.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 40.7 และมูลค่าการส่งออกนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 61.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของชิ้นส่วนรถยนต์ไทยและเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ในปี 2550 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.1 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการทำเขตเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ส่งผลให้มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นถึงร้อยละ 36.4 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่ารวม 2,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 22.7 และมูลค่าการนำเข้านี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 82.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของชิ้นส่วนฯทั้งหมดและเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่มีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาประมาณร้อยละ 86.0 โดยคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ กลุ่มประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลที่เกิดจากการทำเขตเสรีการค้า ไทย-ญี่ปุ่น ส่งผลให้มีการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นถึงร้อยละ 21.2 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 0 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยที่ร้อยละ 87.0 ของชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีการนำเข้ามาจากญี่ปุ่นเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทส่วนประกอบ และอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมทั้งหมดเกินดุลก็ตาม แต่จากตัวเลขการค้าระหว่างประเทศคู่เจรจาดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ขาดดุลเป็นมูลค่าประมาณ 135.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการขาดดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 1138 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ขาดดุลไป 1,004.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 13.3 และเป็นการขาดดุลกับประเทศจีน 77.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ขาดดุลไป 41.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างมากถึงร้อยละ 85.8 ขณะที่คู่เจรจาอื่นๆไทยเกินดุลทั้งหมด โดยที่เกินดุลมากที่สุดกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันถึง 824.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลีย 132.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศอินเดีย 100.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประเทศนิวซีแลนด์ที่ไทยได้ดุลรวม 21.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเปิดการค้าเสรีนั้นไม่เพียงสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทยเท่านั้น แต่ทว่ายังเป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศด้วยที่ต้องรับมือกับคู่แข่งหน้าใหม่จากต่างประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

โอกาสและความท้าทายจากการเปิดเสรีการค้าต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย

จากข้อมูลตัวเลขการส่งออกในเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศของไทยส่งผลต่อการขยายการส่งออกไปยังนานาประเทศที่ไทยได้ร่วมทำการเปิดเสรีการค้า พร้อมกันนี้ก็เพิ่มความท้าทายและอุปสรรคให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศด้วย จากการเข้ามาทำตลาดของชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศ โดยในส่วนของประโยชน์และโอกาสจากการเปิดเสรีการค้าที่ไทยได้รับมีดังนี้

• การเปิดเสรีการค้าส่งผลดีในทางตรงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยโดยการทำให้ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้นทั้งในส่วนของชิ้นส่วน OEM และ REM เนื่องจากการลดกำแพงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศคู่สัญญาจะทำให้สินค้าจากไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในด้านราคาได้ ทั้งนี้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยนั้นได้มีแนวทางการลดภาษีภายใต้กรอบการเจรจาต่างๆดังนี้

- ชิ้นส่วนยานยนต์ 9 รายการที่อยู่ภายใต้กรอบการเจรจากับอินเดียซึ่งอยู่ในรายการสินค้าเร่งลดภาษี 82 รายการนั้นปัจจุบันได้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 แล้ว
- รายการที่ทำการเจรจากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มอาเซียนนั้นจะทำการลดลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดในปี 2553
- ส่วนรายการที่ทำการเจรจากับจีน ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน
- จะมีเพียงบางรายการที่จัดอยู่ในประเภทสินค้าปกติ ซึ่งหากมีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าร้อยละ 20 ได้ทำการลดลงเหลือร้อยละ 20 แล้วในปี 2548 และจะทยอยลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 เช่น หม้อน้ำ และ กระปุกเกียร์ เป็นต้น และบางรายการที่จัดอยู่ในประเภทสินค้าปกติได้รับความยืดหยุ่นให้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ได้ถึงปี 2557
- ในส่วนสินค้ารายการอื่นๆที่ได้มีการนำเข้าไปอยู่ในการเจรจานั้นยังจัดอยู่ในรายการที่มีความอ่อนไหวสูงและจะคงภาษีเดิมที่ร้อยละ 10 ถึง 42 ซึ่งก็อยู่ในข้อตกลงเบื้องต้นที่จะมีการลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 50 ในปี 2558 สำหรับสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวสูง
- ส่วนรายการที่ทำการเจรจากับญี่ปุ่น
- ในส่วนของเครื่องยนต์พิกัด 8408 ที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าร้อยละ 20 ได้ทำการลดลงเหลือร้อยละ 20 แล้วในปี 2550 และจะคงอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 แล้วลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2557 ส่วนรายการที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าร้อยละ 20 จะคงอัตราภาษีเดิมไว้แล้วลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2557 เช่นเดียวกัน
- ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆในพิกัด 8708 จะใช้วิธีการลดภาษีเช่นเดียวกับอัตราภาษีนำเข้าเครื่องยนต์ แต่จะต่างกันตรงที่จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดในปี 2555
นอกจากนี้การเปิดเสรียังทำให้ผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นรู้จักกับสินค้าไทยมากขึ้น นำมาซึ่งโอกาสในการทำการค้าในระยะยาวตามมาหากชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยมีราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

• การเปิดเสรีการค้าจะเป็นตัวบังคับให้ไทยมีการปรับตัว โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการเปิดตลาดให้กับชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่มีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งจะส่งผลให้มีการพัฒนาความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวถึงระดับที่เกิดความประหยัดต่อขนาด เป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกไปยังนานาประเทศทั่วโลกได้ง่ายขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง มีผลผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบเป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อการส่งออก สร้างดุลการค้าให้กับประเทศไทย

• การเปิดเสรีการค้าจะทำให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Project : AHRDP)


• ส่วนผลทางอ้อมที่จะได้รับ คือ การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่นเหล็กรีดร้อนจากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านต้นทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นอกจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าแล้ว การเปิดเสรีการค้ายังเป็นความท้าทายหนึ่งของผู้ประกอบการด้วย ดังนี้

• การเปิดเสรีการค้าจะทำให้มีชิ้นส่วนสำเร็จรูปชนิดเดียวกันหรือมีความคล้ายคลึงกันจากคู่แข่งภายนอกประเทศมากขึ้น โดยการแข่งขันจะมีคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยไม่พัฒนาความสามารถในการผลิตให้ทัดเทียมกับต่างชาติ ก็อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศได้ และอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ เช่นจากญี่ปุ่น ซึ่งมาลงทุนผลิตแข่งขันกับผู้ประกอบการในไทยด้วย

• การเปิดเสรีโดยเฉพาะกับประเทศที่มีการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทย เช่น ญี่ปุ่น อาจทำให้ในอนาคตบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นมีโอกาสจะเลือกใช้ชิ้นส่วนโดยเฉพาะชิ้นส่วน OEM นำเข้าจากญี่ปุ่นสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เช่น รถอีโคคาร์ ภายหลังภาษีนำเข้าลดลงเป็นศูนย์ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในไทยลดลง และการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงจากญี่ปุ่นอาจจะลดลงเนื่องจากสามารถนำเข้าชิ้นส่วนที่ผลิตในญี่ปุ่นได้โดยตรงเพราะกำแพงภาษีที่ลดลง ประกอบกับหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะส่งผลทำให้สินค้าของไทยราคาแพงกว่าหรือเท่ากับสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีตามมา

• กำแพงภาษีที่หายไปจากการเปิดเสรีการค้าอาจทำให้บางประเทศหันไปใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีแทน เช่น การกำหนดมาตรฐานยานยนต์และส่วนประกอบต่างๆของออสเตรเลีย (Australia Design Rules : ADRs) การควบคุมและจำกัดปริมาณนำเข้า การที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆกับผู้ผลิตในประเทศ โดยการลดหย่อน Excise Tax ให้กับรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเดียวที่มีผลต่อการขยายตัวของการส่งออก ทิศทางเศรษฐกิจของโลกก็เป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกในปี 2551 นี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐฯซึ่งคาดว่าจะชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิม จากการลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงในทั้งสองประเทศนี้ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักเป็นอันดับ 1 และ 5 ของไทยตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศทั้งสองนี้รวมประมาณ 896 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 22.9 ของมูลค่าส่งออกรวม รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางรายในไทยก็เริ่มส่งสัญญาณการลดกำลังการผลิตลงจากที่ตั้งเป้าไว้เดิมด้วย แสดงถึงแนวโน้มการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่จะชะลอลง ซึ่งหากมองในด้านของอุปสงค์แล้ว จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในปี 2552 อาจจะชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.5 ในปี 2551 และร้อยละ 40.9 ในปี 2550 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปทาน เช่น การวางแผนการขยายกำลังผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น อินเดีย โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แนวโน้มการเปิดโรงงานใหม่ หรือการย้ายฐานการผลิตมาไทย เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้กำลังการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การส่งออกอาจจะไม่ชะลอตัวลงมากก็เป็นได้

โดยสรุป การเปิดเสรีการค้าไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนของไทยไปยังต่างประเทศเท่านั้น แต่การเปิดเสรีการค้าของไทยกับบางประเทศกลับยิ่งเป็นการทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโดยเฉพาะในรายผู้ประกอบการคนไทย และเอสเอ็มอีที่จะต้องพยายามหาตลาดใหม่อยู่เสมอ และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น รวมถึงการพยายามให้เกิดความประหยัดต่อขนาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อให้ราคาสินค้ามีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตามในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปค่อนข้างมากนั้น ทำให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปีนี้จะชะลอลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.5 จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.9 ในปีก่อนหน้าและคาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2552 ด้วย

ดังนั้นเพื่อให้การเปิดเสรีการค้าเป็นการเพิ่มช่องทางในการขยายการส่งออก และเพื่อลดความท้าทายจากการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีในปัจจุบันนี้ ความร่วมมือจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนและพัฒนาปัจจัยต่างๆที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหลักเช่นเหล็ก หรือมีการพัฒนาโครงการเหล็กต้นน้ำที่มีประสิทธิภาพในประเทศ การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญภาครัฐควรมีบทบาทในการวางแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ร่วมกับการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการวางแผนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยด้วย

ส่วนการเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลควรต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะการเปิดเสรีกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าในกลุ่มยานยนต์มากและมีค่าจ้างแรงงานต่ำ จึงทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยทั้งในส่วนของรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาทำตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ราคาถูกจากจีน ภาครัฐจึงควรต้องพิจารณาในด้านความพร้อมของผู้ผลิตไทยและกรอบระยะเวลาการเปิดเสรีเป็นสำคัญ ประกอบกับความพร้อมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงมีการเตรียมการรับมือในเรื่องมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าโดยการใช้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษีที่อาจจะตามออกมาจากประเทศที่ไทยทำการเจรจาด้วย

ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ในระยะสั้นนี้จากที่มีการออกมาแสดงความกังวลรวมถึงมีการกล่าวถึงแนวโน้มที่จะลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงในปีหน้านั้น ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยเฉพาะ OEM อาจจำเป็นต้องมีการปรับแผนการผลิตในปีหน้านี้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศ และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการส่งออกควรหาแนวทางในควบคุมต้นทุน เช่น การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีแนวโน้มผันผวนสูง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีกับประเทศที่ทำการเจรจากับไทย โดยการพยายามผลักดันให้เกิดการค้ากับประเทศเหล่านี้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และแม้ปัจจุบันรถยนต์และชิ้นส่วนที่ผลิตจากไทยส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีคุณภาพ แต่ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างจีน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ในระยะยาวจึงควรหาวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตลง โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของบริษัท และการศึกษาวิจัยด้านการตลาดของแต่ละประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

. . .


โดย: loykratong วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:04:04 น.  

 







โดย: loykratong วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:25:07 น.  

 


โดย: loykratong วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:38:46 น.  

 


...loy....loy..kra..tong...


โดย: ดราก้อนวี วันที่: 10 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:56:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.