Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
คลังเตรียมพิจารณากฎหมายเพื่อเก็บภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดก

. . .


คลังเตรียมพิจารณากฎหมายเพื่อเก็บภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดกเพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ


นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายต่อผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่ากระทรวงการคลังได้เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายที่เป็นไปตามหลักสากล ที่มีการเก็บภาษีจากการถือครองที่ดิน แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องสร้างความเป็นธรรม มีการกำหนดโครงสร้างจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม

“สศค. รายงานให้ฟังว่า ร่างกฎหมายที่ดิน มีรัฐบาลหลายสมัยนำร่างเสนอต่อสภาให้พิจารณา แต่เมื่อเสนอไปแล้ว สภาก็ล่มทุกครั้ง รัฐบาลนี้จึงต้องการลองของบ้างว่าจะผ่านการพิจาณาได้สำเร็จหรือไม่ เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วกฎหมายในลักษณะนี้ควรเสนอให้สภาพิจารณา รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน” นายกรณ์ กล่าว
ซึ่งการจัดเก็บภาษีมรดก รมว.คลัง กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการศึกษาของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สศค.ศึกษาแนวทางการจัดตั้ง กองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างระบบการออม และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 20 ล้านคน เช่น เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย อาชีพอิสระทั่วไป โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ร่วมกับสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อให้มีกองทุนดูแลสมาชิกในระยะยาวเหมือนกับกองทุนประกันสังคม สำหรับขนาดกองทุนจะเป็นเท่าใด มีหลักการดำเนินการกองทุนอย่างไร ต้องให้ สศค.ทำการศึกษาหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง

นายกรณ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ อยู่ระหว่างการศึกษาของ สศค.ซึ่งยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนกว่าจะนำมาปฏิบัติ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณาให้ครบถ้วน ระบบภาษีบางประเภทอาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือไม่

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบยังมีความจำเป็น ซึ่งทางกระทรวงการคลังกำลังเดินหน้าทำการศึกษาในระยะยาวถึง 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาในการเรียนฟรี 12-15 ปี จึงต้องปรับโครงสร้างภาษีให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ รมว.คลัง ได้เชิญนักวิชาการจากสถาบัน องค์กรต่างๆ กว่า 20 คน มาร่วมหารือและให้ข้อเสนอแนะ ในงาน “ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์” เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และคำวิจารณ์ การดำเนินโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อประกอบการวางนโยบายและแนวทางการทำงานต่อไป

โดยจะมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายหน่วยงานที่สำคัญ เช่น นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), นายสมชัย จิตสุชน และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), นางกิริฎา เภาพิจิตร จากธนาคารโลก, นายวรพล โสคติยานุรักษ์ จากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) เป็นต้น

. . .



รมว. แรงงาน ล้มมติคณะกรรมการประกันสังคม ที่จะซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน แต่เดินหน้าดำเนินการลดการเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม


นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายแสดงความเห็นคัดค้านมติคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ด สปส. ที่มีมติเห็นชอบให้นำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9.3 ล้านคนๆ ละ 5 กิโลกรัม

โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่ความคิดของตน แต่เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และมีการเสนอให้บอร์ด สปส.พิจารณาถึง 6 ครั้ง ล่าสุดแม้ข้อสรุปของบอร์ด สปส.จะยังไม่มาถึงตนอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน ตนได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียแล้วเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ายังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป อาจเกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนไม่มากนัก เพราะข้าวสาร 5 กิโลกรัมคิดเป็นเงินเพียง 100 กว่าบาท แต่ทั้งโครงการต้องใช้เงินถึง 1,000 กว่าล้านบาท จึงสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวไปแล้ว

“ตอนนี้รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยจะให้เงินคนละ 2,000 บาทแล้ว จึงคิดว่าความจำเป็นในการให้ข้าวสาร 5 กิโลกรัมมีน้อย และอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้”

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับการนำเงิน สปส.มาใช้ช่วยเหลือผู้ประกันตนในอนาคต จึงได้สั่งการให้ นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ด้วย

นายไพฑูรย์ ยังกล่าวถึงมติที่ประชุม บอร์ด สปส.ที่จะให้นายจ้างและลูกจ้างลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อีกร้อยละ 2.5 ว่าจะยังคงเดินหน้าต่อ เพราะ หากทำได้จะช่วยไม่ให้กองทุนประกันสังคมได้รับผลกระทบจากคนตกงานจำนวนมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งอาจต้องเสียเงินจากกรณีที่เกิดการว่างงานมากกว่า 40,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับกองทุนในอนาคตเพราะทำในระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและนายจ้างภายในปีนี้เท่านั้น

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ด สปส. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของบอร์ด สปส. แต่อาจถูกมองในเรื่องของความเหมาะสม หรือความคุ้มค่าหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าที่บอร์ดมีมติดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐมนตรีจะมีความเห็นต่อมติดังกล่าวอย่างไร อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณา

ส่วนข้อสงสัยที่โครงการดังกล่าวถูกส่งเข้าบอร์ดพิจารณามากถึง 6 ครั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องที่พิจารณามาต่อเนื่อง และมีข้อโต้เถียงหลายครั้งของผู้ดำเนินโครงการ และตัวแทนส่วนราชการ เช่น สปส. และบางครั้งตนซึ่งเป็นประธานบอร์ด สปส.รวมถึงเลขาธิการ สปส.ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ประธานที่ประชุมชั่วคราวจึงไม่กล้าตัดสินใจ และนัดว่าให้มาประชุมตัดสินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมที่นำไปหารือในที่ประชุมบอร์ดเพื่อยกเลิกต่อไป

นายประกาย วิเศษวิสัย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และบอร์ด สปส.ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในที่ประชุม บอร์ด สปส.เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนคัดค้านโครงการซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9.3 ล้านคน เพราะเกรงว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และการแจกจ่าย อาจเป็นเรื่องอ้อยเข้าปากช้างได้
ทั้งนี้ คิดว่าแรงงานไทยไม่ถึงขั้นต้องอดข้าว และบางคนซื้อได้ในราคาถูกกว่า ถ้าหากจะแจกจริงก็ให้แจกกับคนที่กำลังถูกเลิกจ้างดีกว่า เพราะกำลังได้รับความเดือดร้อนจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ทั้งนี้ วันที่ 26 ม.ค.เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายไพฑูรย์ รมว.แรงงาน พิจารณายกเลิกโครงการทั้ง 2 โครงการ

. . .



กระทรวงแรงงานตั้งศูนย์ดูแลผู้ถูกเลิกจ้างแบบครบวงจร

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงาน ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ 5 หน่วยงานในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย แรงงานจังหวัด, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด, พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด, จัดหางานจังหวัด, และประกันสังคมจังหวัด เพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.

นายสมชาย กล่าวว่า ได้ทำการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ดูแลลูกจ้างแบบครบวงจร นับตั้งแต่หลังถูกเลิกจ้าง, การรับสิทธิประกันการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม, การหางานให้ทำ, รวมถึงการพัฒนาหรือฝึกฝีมือ โดยให้ยึดตามรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรืออยุธยาโมเดล

รวมทั้งให้มีการคัดเลือกหัวหน้าศูนย์ เพื่อทำหน้าที่ประสานข้อมูลกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันก็ให้วางแผนรองรับปัญหาแรงงานคืนถิ่นในจังหวัด ที่ไม่มีปัญหาการเลิกจ้างด้วย

“สำหรับสถานการณ์เลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 -19 ม.ค. มีสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้ว 35 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,950 คน และมีแนวโน้มสถานประกอบการ 39 แห่ง ลูกจ้าง 28,573 คน ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังถูกเลิกจ้างโดยสถานประกอบการประเภทผลิตอุปกรณ์และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการเลิกจ้างมากที่สุด” นายสมชาย กล่าว

. . .



รัฐวางแผนกู้ธนาคารโลกและเอดีบีรวม 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. อยู่ระหว่างการดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคารโลก จำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเอกนิติ กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากรวมกับวงเงินที่ใช้ในมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา หนี้สาธารณะจะขึ้นไปถึงร้อยละ 42 ในปี 2553 ซึ่งยังไม่เกินกรอบพระราชบัญญัติ ที่กำหนดให้หนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 50

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเห็นผลชัดเจนได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกยังคงติดลบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง เทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีก่อน ที่จีดีพีโตกว่าร้อยละ 6

นายพิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจระดมเงินผ่านทางการออกพันธบัตร แต่หากจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ควรหามาตรการป้องกันความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย และเห็นว่ารัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายจริง เช่น การผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเอกชน สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนแทนการใช้มาตรการที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ เพราะจะเกิดผลเสียต่อรายได้รัฐในระยะยาว

. . .



ราคาสินค้าไหว้เจ้าช่วงตรุษจีนปีนี้ลดลงร้อยละ 10-20

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังออกตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะสินค้าไหว้เจ้า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนย่านเยาวราช ว่า ราคาสินค้าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10-20

สำหรับสินค้าที่ราคาลดลงในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เช่น เป็ด จากตัวละ 400 บาท เหลือ 380 บาท, ไก่ จากตัวละ 200 บาท เหลือ 120 บาท, เนื้อสุกร จากกิโลกรัมละ 120-125 บาท เหลือ 100-110 บาท, ฟองเต้าหู้ จาก 100-250 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 100-200 บาทต่อกิโลกรัม, เห็ดหอม จาก 400 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 280 บาทต่อกิโลกรัม, และแอปเปิล สาลี่ ก็ราคาลดลง
ส่วนสินค้าที่แพงขึ้น เช่น ดอกไม้จีน จาก 200 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 240 บาทต่อกิโลกรัม

นายยรรยง กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้พ่อค้า-แม่ค้าต่างบ่นว่า ขายสินค้าไม่ค่อยดี แต่เป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกซื้อสินค้าในราคาลดลง

นายยรรยง กล่าวว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ออกตรวจเช็คราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค 15 สายทั่วประเทศร่วมกับพาณิชย์จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีนหรือการจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยขณะนี้เริ่มตรวจสอบทุกพื้นที่แล้ว หากพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569

ส่วนราคาทองคำรูปพรรณในช่วงตรุษจีนปีนี้ ทองคำน้ำหนัก 1 บาท ราคา 14,450 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคาทองอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่ได้ให้สมาคมค้าทองคำรายงานความเคลื่อนไหวให้กระทรวงพาณิชย์ทราบเป็นช่วงๆในเวลา 09.00 น., 11.00 น., และ 15.00 น.ของทุกวัน เพื่อดูว่ามีความผันผวนอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ราคาทองคำยังไม่ผิดปกติ แต่ประชาชนอาจจะมองว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้น โดยค่ากำเหน็จอยู่ที่ 400-900 บาท

. . .



กรมการค้าภายในเตรียมเสนอ กกร.ขึ้นบัญชีข้าวโพด-มันสำปะหลัง เป็นสินค้าควบคุม


นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 26 ม.ค.พิจารณานำสินค้าเกษตร 2 รายการ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม เพื่อให้สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดูแล และห้ามการเคลื่อนย้ายในจังหวัดที่ติดชายแดน หากจะมีการเคลื่อนย้ายจะต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน

ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้มีสินค้าเกษตรที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมเพิ่มเป็น 5 รายการ คือ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, กระเทียม, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, และมันสำปะหลัง
สาเหตุที่ต้องห้ามเคลื่อนย้าย เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงการเปิดโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายสินค้าได้ราคาดี จึงไม่ต้องการให้มีการลักลอบนำสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เข้าโครงการ ขณะนี้ราคาข้าวโพดอยู่ที่ 6 บาท/กก. แต่รัฐรับจำนำในราคา 8.50 บาท/กก. จึงทำให้อาจเกิดปัญหาการสวมสิทธิ์ได้

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เหตุที่มีการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าโครงการรับจำนำจำนวนมากกว่าปกติที่เคยรับจำนำเพียง 3-5 แสนตัน เพราะราคาข้าวโพดในตลาดโลกตกลงมาอย่างมาก อีกทั้งปริมาณผลผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีเพียง 3.8 ล้านตัน เพราะช่วงก่อนหน้านี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ส่วนการเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวโพดอีก 2.5 แสนตัน จากเดิมที่กำหนดรับจำนำไว้ 7.5 แสนตัน ก็เชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งหากเทียบสัดส่วนถือว่ารับจำนำ 35-40% ของผลผลิตที่ออกมาในปีนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า ผลผลิตปี 2551/52 จะมีจำนวน 3.7 ล้านตัน โดยเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.51 ประมาณ 68.94%, เดือน พ.ย.-ธ.ค.51 ประมาณ 24.68% และเดือน ม.ค.-มิ.ย.52 อีก 6.38%

. . .


สภาหอการค้าฯ เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ต่อรมว.อุตสาหกรรม

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ต่อนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่เข้าหารือร่วมกัน โดยหอการค้าไทยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยขอให้สนับสนุนใน 4 เรื่องหลัก คือ
1.1 ปัญหาขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยขอให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
1.2. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ พ.ศ. ... เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้ในการทำธุรกิจ เป็นหลักประกันขอสินเชื่อได้
1.3. สนับสนุนการรวมกลุ่มทางธุรกิจที่มีศักยภาพ (คลัสเตอร์) และ
1.4. สนับสนุนงบประมาณ จัดทำแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 2 ปี 2550-2554 ซึ่งประกอบด้วย 17 โครงการย่อย วงเงิน 263.5 ล้านบาท
2. ขอให้มีการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้เร่งทบทวน ช่วยเหลือภาคธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ขอให้เร่งรัดโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ระหว่างสงขลา-สตูล
3. ยังขอให้เร่งการลงทุนเมกะโปรเจกท์ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ปัตตานี
4. ส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อบรรเทาการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลมีมาตรการชะลอการเลิกจ้างอุดหนุนงบประมาณจ้างลูกจ้างชั่วคราว
5. เสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ โดยยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับพลอยที่นำเข้าเป็นวัตถุดิบ
6. ตั้งสถาบันอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
7. สร้างห้องตรวจสอบวิเคราะห์สารไดออกซิน
8. ของบประมาณเดินหน้าโครงการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย เพราะระยะแรกได้งบประมาณ 5 ล้านบาทจากที่ขอ 30 ล้านบาท
9. ช่วยเหลือเอกชนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานสินค้าของเล่น
10.เสริมสร้างขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และไลฟ์สไตล์

. . .



ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยืนยันต้องการ 5,000 ล้านบาท ฟื้นวิกฤติท่องเที่ยว

นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและการปิดสนามบินส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยต้นปีที่ผ่านมาที่เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว พบว่าปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30 ขณะที่มาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ขยายเวลาการให้วีซ่า 3 เดือน ลดค่าธรรมเนียมลงจอดของสายการบินต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้บ้าง

นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจท่องเที่ยวระยะสั้น ภาครัฐต้องจัดหาสภาพคล่องแหล่งเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อย โดยต้องมีวงเงินไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปจัดโปรโมชั่นกระตุ้นท่องเที่ยว สำหรับสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวคือภาครัฐต้องมีมาตรการออกมาสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าปัญหาการเมืองจะไม่กระทบภาคธุรกิจท่องเที่ยวหรือมีการปิดสนามบินอีก

น.ส.มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ กล่าวว่า หากภาครัฐต้องการเร่งฟื้นฟูท่องเที่ยวจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นอกจากนี้ ควรเร่งระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรการต่างๆ ให้เร็วขึ้น จากเดิม 2-3 เดือน เป็นเห็นผลภายใน 1 เดือน เพราะหากล่าช้าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายย่อยทั้งโรงแรมและรีสอร์ตขนาดเล็กจะประสบปัญหา โดยคาดว่าหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายภายใน 2-3 เดือน ผู้ประกอบการเหล่านี้จะมียอดปลดแรงงานไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 คน

อนึ่ง สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศได้จับมือกับภาคเอกชน จัดงาน “เที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก 2009” ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวออกบูธ 10,000 ตารางเมตร จำนวน 1,005 บูธ โดยผู้ประกอบการมั่นใจว่าการจัดงานดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในงานไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท


. . .



ธปท.เผยนักธุรกิจมองแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 1/52 ชะลอตัวต่อเนื่องแต่มีสัญญาณดีขึ้น


ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความเห็นว่าแนวโน้มไตรมาส 1/52 ภาวะอุปสงค์ในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับคืนมาจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 52

ธปท.รวบรวมข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธรกิจ สถาบันและสมาคมธุรกิจในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ 137 ราย รวมถึงการตอบกลับแบบสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและแบบสอบถามพิเศษจากผู้ประกอบการ 572 ราย ในระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.51

ผลสำรวจความเห็นพบว่า แนวโน้มไตรมาส 1/52 ด้านการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงต่อเนื่องจากการอ่อนตัวของอุปสงค์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ แต่สถานการณ์การเมืองที่นิ่งขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้สูงขึ้นและจะช่วยให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะต่อไป
ด้านการลงทุน คาดว่าภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการ 34% จะลดหรือชะลอการขยายกิจการในช่วงไตรมาส 1/52 จากปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและปัญหาทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนการส่งเสริมการลงทุนในเชิงรุกของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะย้ายฐานการลงทุนจากไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและต้นทุนทางการเงินที่ลดลงน่าจะมีส่วนช่วยในการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะต่อไป

การส่งออกในช่วงไตรมาส 1/52 ยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 แม้ว่าอุปสงค์จากประเทศเศรษฐกิจใหม่(Emerging markets)จะยังคงเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีความเสี่ยงสูงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี เครื่องหนัง และรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการชะลอตัวอย่างมากของอุปสงค์ในกลุ่มประเทศคู่ค้า ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอาหารแปรรูปเกษตร ยังมีคำสั่งซื้ออยู่จนถึงไตรมาส 1/52 เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพและราคาไม่สูงนัก

หากพิจารณาตามขนาดของธุรกิจ พบว่าผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่าและฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่งน้อยกว่า โดยเฉพาะด้านสภาพคล่อง การปรับตัวจึงทำได้ยากกว่า

ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มมีสัญญาณการอ่อนตัว โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจปรับลดเวลาการทำงานและลดคนงานประเภท Sub-contractor แต่ยังไม่มีสัญญาณการเลิกจ้างแรงงานประจำที่ชัดเจนในไตรมาส 4/51 แต่แนวโน้มภาวะการจ้างงานในช่วงไตรมาส 1/52 อุปสงค์ของสินค้าในตลาดต่างประเทศที่หดตัวมากขึ้นจะส่งผลให้ระดับการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งผลสำรวจฯพบว่า 31% ของผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับลดจำนวนแรงงานลง ขณะที่ 62% จะยังคงแรงงานไว้เท่าเดิม

แนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และราคาสินค้านั้น การอ่อนตัวของอุปสงค์ทั้งจากในและต่างประเทศจะทำให้แรงกดดันด้านราคาสินค้าและบริการทั่วไปมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เป็นผลสำคัญจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง และราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ความต้องการพืชเพื่อใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนลดลงตามไปด้วย

อุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลง แต่มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการปรับลดราคาของผู้ประกอบการเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท และอัตราดอกเบี้ยขาลงเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ ส่วนอุปทานมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย เป็นผลมาจากปี 51 ที่มีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งจะเปิดขายในต้นปี 52

นอกจากนี้ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยตามปัจจัยเสี่ยง(Risk perception)จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปทานในระยะต่อไป

ด้านความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวของ เศรษฐกิจโดยการชะลอการลงทุนในระยะนี้ออกไปก่อน รวมถึงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต การแสวงหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา การกระจายการส่งออกไม่ให้เกิดการกระจุกตัว และการเพิ่มสัดส่วนของตลาดในประเทศ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐาน ทางการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปรับตัวมากกว่า โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการสินค้าคงคลังในภาวะที่อุปสงค์อ่อนตัวลง ความสามารถในการพัฒนาการผลิตเพื่อการแข่งขันหรือรองรับความต้องการในอนาคต และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในภาวะที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดใน การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

. . .




Create Date : 22 มกราคม 2552
Last Update : 22 มกราคม 2552 20:20:37 น. 1 comments
Counter : 729 Pageviews.

 


โดย: ดราก้อนวี วันที่: 27 มกราคม 2552 เวลา:9:11:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.