Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
ตัวเลขว่างงานเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ... ลดลงเพราะผลจากฤดูกาล

. . .

ตัวเลขว่างงานเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ... ลดลงเพราะผลจากฤดูกาล

จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 2.4 ในเดือนม.ค. 2552 ซึ่งอาจทำให้มองดูเหมือนว่าตลาดแรงงานเริ่มมีเสถียรภาพ และภาวะการว่างงานอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คาด อย่างไรก็ตาม การปรับลดของอัตราการว่างงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล (Seasonal Effect) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศยังคงเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้สถานการณ์แรงงานที่ดีขึ้นในเดือน ก.พ. 2552 ที่ผ่านมายังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นวิเคราะห์สำคัญ มีดังนี้

 การมีงานทำและการทำงานต่ำระดับในเดือนก.พ. ปรับตัวดีขึ้น ... ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงถดถอยจากไตรมาส 4/2551

 ผู้มีงานทำในเดือนก.พ. 2552 มีจำนวน 36.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าเดือนม.ค.ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (Y-o-Y) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในนอกภาคเกษตรที่เติบโตเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือนม.ค. มาที่ร้อยละ 3.8 ในเดือนก.พ. ในขณะที่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 0.06 ในเดือนก.พ. ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนม.ค.

แต่ตัวเลขผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. มีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้ต้องระมัดระวังในการตีความ เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลการมีงานทำในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำในเดือนก.พ.มักจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าของทุกปี และมักจะกลับมาลดลงอีกในเดือนถัดไป ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในเดือนก.พ ทำให้ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง แม้ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนก.พ.ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ถึงร้อยละ 1.3 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ในช่วง 3 ปีก่อน แต่จากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้มีงานทำในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ยังคงชะลอลงจากในช่วงไตรมาส 4/2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8

 การทำงานต่ำระดับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนของผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชม.ต่อสัปดาห์ และพร้อมที่จะทำงานเพิ่มพลิกกลับมาติดลบร้อยละ 2.9 (YoY) ในเดือนก.พ. 2552 หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ในเดือนม.ค. แต่ในภาพรวมช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ภาวะการทำงานต่ำระดับยังคงรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 (จากที่เคยติดลบร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 4/2551 พลิกกลับมาเป็นบวกร้อยละ 11.3 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้)

 ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงในเดือนก.พ. ... แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเช่นกัน

 จำนวนผู้ว่างงานมีอัตราการเพิ่มที่ชะลอลง โดยมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 (Y-o-Y) ในเดือนก.พ. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 39.2 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดลงในกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเฉพาะในภาคเกษตร (หดตัวร้อยละ 16.0 ในเดือนก.พ. พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 418.2 ในเดือนม.ค.) และภาคบริการและการค้า (ขยายตัวร้อยละ 38.8 ในเดือนก.พ. ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 54.0 ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนการว่างงานในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งขึ้นจากร้อยละ 44.5 (Y-o-Y) ในเดือนม.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ในเดือนก.พ.

แต่อัตราการขยายตัวของการว่างงานในเดือนก.พ.ที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านฤดูกาล ซึ่งเมื่อย้อนไปดูข้อมูลในอดีต จะพบว่าผู้ว่างงานในเดือนก.พ.มักจะลดลงจากเดือนม.ค.ของทุกปี โดยผู้ว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 18.7 (M-o-M) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนที่ลดลงประมาณร้อยละ 15.7 ขณะที่การวิเคราะห์ตัวเลขผู้ว่างงานในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการว่างงานรวม (ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และเคยทำงานมาก่อน) ขยายตัวร้อยละ 33.5 สูงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน จะพบว่าสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังคงทวีความรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาส 4/2551 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ในไตรมาส 4/2551) โดยเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานในภาคการผลิตที่เติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในช่วงไตรมาส 4/2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 50.2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552

 ขณะที่ การว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนยังเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 13.8 (YoY) ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ว่างงานในกลุ่มนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ และไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ทำให้โอกาสในการได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานมีน้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีประสบการณ์ / เคยทำงานมาก่อน

 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในทุกภาคเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันก็ยังมีอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลด้วย ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ที่ร้อยละ 1.9 หรือ 7.1 แสนคน จะลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 2.4 หรือ 8.8 แสนคน แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเหมือนกับข้อมูลการมีงานทำและการว่างงาน ขณะที่อัตราการว่างงานดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.5 หรือ 5.6 แสนคน และภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 2.2 หรือ 8 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานของไทยทวีความรุนแรงขึ้นจากไตรมาส 4/2551 ที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.3 หรือ 5 แสนคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 1.4 รองลงมาเป็นภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ภาคเหนือ และภาคกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และ 0.5 ตามลำดับ ส่วนในเขตกรุงเทพฯ มีอัตราการว่างงานเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.04

 แนวโน้มสถานการณ์แรงงานในระยะที่เหลือของปี 2552 ยังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง

สำหรับในเดือนมี.ค. 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สถานการณ์การจ้างงานมีโอกาสที่จะยังทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในลักษณะเดียวกันกับในเดือนก.พ. ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมในเดือนมี.ค. 2552 ลดลงเหลือ 80,000 คน จากเดือนก่อนที่มีจำนวน 101,939 คน (เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551) ซึ่งอาจเป็นเครื่องชี้เบื้องต้นว่าตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนมี.ค.ที่จะมีการรายงานในครั้งถัดไปอาจชะลอลงได้

ส่วนสถานการณ์แรงงาน โดยเฉพาะตัวเลขว่างงานในระยะหลังจากไตรมาส 1/2552 เป็นต้นไป นอกจากจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 4 แสนคนในแต่ละปี ที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจสูงเกินความต้องการของตลาดแรงงาน / หรือความสามารถในการรองรับของภาคเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังจะขึ้นกับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) สถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยถ้าหากเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏสัญญาณบวกในลักษณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และมีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นได้ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อยและไม่มีเหตุการณ์อันไม่คาดคิด รวมทั้งมีการเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ก็อาจมีผลให้การชะลอการเลิกจ้างและปัญหาการว่างงานอาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผลักดันให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับร้อยละ 4.4 ในปี 2541 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สืบเนื่องจากภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ อัตราการว่างงานในช่วงที่เหลือของปีอาจจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเข้าหาระดับร้อยละ 3.0-3.7 เฉลี่ยในปี 2552 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจจะอยู่ในช่วง 1.1-1.4 ล้านคน จากในปี 2551 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน 

. . .


Create Date : 18 พฤษภาคม 2552
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 19:32:44 น. 2 comments
Counter : 535 Pageviews.

 
. . .

การประชุม 20 พ.ค. ... นโยบายการเงินยังคงเผชิญกับดักสภาพคล่อง


ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมรอบที่สี่ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 1.25% หลังจากที่ กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วรวม 2.50% ในการประชุมสี่รอบก่อนหน้า (3 ธันวาคม 2551, 14 มกราคม 2552, 25 กุมภาพันธ์ 2552 และ 8 เมษายน 2552 โดยปรับลดในอัตรา 1.00%, 0.75%, 0.50% และ 0.25% ตามลำดับ) ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง.คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาที่ 1.00% ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความคิดเห็นต่อประเด็นการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ดังนี้

 กนง.เผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญเกี่ยวกับปัญหากับดักสภาพคล่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.มีทางเลือกสองทางในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 นี้ คือ

 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25%
ภายใต้สถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักอยู่มากและชัดเจนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หาก กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามการคาดการณ์ของตลาดอีก 0.25% จาก 1.25% มาที่ 1.00% ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ก็น่าจะยังคงมีพื้นที่และเหตุผลมากพอให้สามารถดำเนินการได้ เพราะนอกจากจะเป็นการดำเนินการเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลสัมฤทธิ์จากการเลือกแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจจะมีน้อย เนื่องจากในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงมีอยู่สูงในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและความจำเป็นต้องรักษาผลประกอบการหรือมาร์จิ้นไว้ คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ถ้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขา คือ ทั้งขาดอกเบี้ยกู้และขาดอกเบี้ยฝาก ซึ่งในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงอีกนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากขึ้น เพราะในยามที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายกิจการของภาคเอกชนก็ย่อมมีทิศทางที่ชะลอตัวเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ออมเงินโดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุซึ่งหวังพึ่งพิงผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากในการประทังชีวิต รวมถึงผู้ออมเงินที่ไม่สะดวกจะโยกย้ายเงินออมของตนไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ แทนการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การที่ผู้ออมกลุ่มเหล่านี้มีรายได้หรือผลตอบแทนลดลง ก็อาจทำให้จำเป็นต้องลดการใช้จ่ายหรือประหยัดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว ความมุ่งหวังของ กนง.ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้ในท้ายที่สุดกลายเป็นว่าภาคเอกชนเกิดชะลอการใช้จ่าย หรืออาจกล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คงมีจำกัด

 การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

ในขณะเดียวกัน หาก กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กนง.ก็สามารถตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ได้เช่นกัน ถ้าหาก กนง. มองว่า สภาวะเลวร้ายที่สุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่แม้อาจยังเบาบางในระยะอันใกล้นี้ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินบางส่วนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้ กนง.ก็อาจมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงประการเดียว อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนักด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางนี้ ย่อมหมายความว่า บทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ คงจะตกอยู่ที่การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมนั้นก็กำลังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ยังต้องรอการอนุมัติจากสภาฯ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยให้เลวร้ายลงไปอีก ฉะนั้นแล้ว การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ อาจทำให้ กนง.ต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนถึงเหตุผลที่เลือกแนวทางนี้

 ถึงเวลาหรือยัง.. ถ้าจะทบทวนกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินไทย

จากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า กนง.กำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายอีกครั้งในการตัดสินใจนโยบายการเงินสำหรับการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เพราะไม่ว่า กนง.จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยลงอีก ผลสัมฤทธิ์จากนโยบายดังกล่าว คงจะมีจำกัดต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของไทย (Real Sector) ยังคงอาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก และเมื่อเกิดภาวะวิกฤตที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำงานได้ตามกลไกปกติ เพราะผู้เล่นในตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์ต่างพากันหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในขณะที่ ระบบการค้ำประกันสินเชื่อที่ทางการนำมาใช้ผ่านการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ยังมีขอบเขตของธุรกรรมที่ค่อนข้างจำกัดและอาจไม่สามารถรองรับความต้องการของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การขาดช่องทางในการกระจายความเสี่ยงนี้ จึงทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเดียวกันอย่างทันท่วงที ระบบเศรษฐกิจจึงถูกผลักดันให้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินด้อยประสิทธิภาพลง

ท่ามกลางภาวะกับดักสภาพคล่องในลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างของธนาคารกลางที่สามารถผลักดันการดำเนินนโยบายการเงินจนส่งผลให้ภาวะการตึงตัวของตลาดเงินค่อยๆ คลายตัวลง คงจะได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่นอกจากจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมาอย่างมากและรวดเร็วจนเข้าสู่กรอบ 0.00-0.25% ณ ปัจจุบัน จาก 5.25% ในช่วงกลางปี 2550 แล้ว เฟดยังเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องผ่านการทำธุรกรรม Open Market Operations กับตัวกลางทางการเงิน การรับซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Paper) และการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงปริมาณเพิ่มเติม (Unconventional Quantitative Easing) ซึ่งรวมถึงการรับซื้อตราสารหนี้ที่หนุนหลังด้วยสัญญาจำนองที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Agency Mortgage-Backed Securities) การรับซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Housing Related Government Sponsored Enterprises) และการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จนกระทั่งล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของเฟดได้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับที่อยู่ที่เพียง 8.94 แสนล้านดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ธปท.อาจจะไม่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินนโยบายการเงินไปได้มากเท่ากับเฟด เพราะภายใต้กรอบของกฎหมายแล้ว การเข้าซื้อตราสารของ ธปท.จะถูกจำกัดไว้เฉพาะตราสารที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นตราสารที่ออกหรือค้ำประกันโดยภาครัฐเป็นส่วนใหญ่


ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า หากแม้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิผลของนโยบายและการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่สำคัญว่า กนง. หรือ ธปท. ควรจะหยิบยกประเด็นกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (Monetary Transmission Mechanism) ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขยายขอบเขตด้านการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหรือการอัดฉีดสภาพคล่องไปสู่มือของภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนด้วยช่องทางที่หลากหลายหรือกว้างขวางมากขึ้นกว่าการพึ่งพาเพียงช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลักเช่นในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า ประเด็นคำถามนี้ ธปท.คงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความต้องการที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคเอกชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงผ่านช่องทางใหม่ที่ครอบคลุมและเข้าถึงภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจได้มากกว่าแบบดั้งเดิมที่อาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก กับความสามารถในการรับความเสี่ยงภายใต้กรอบของกฎหมายที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ ว่า อะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน หรือจุดสมดุลของสองสิ่งนี้อยู่ที่ตรงไหน 

. . .


โดย: loykratong วันที่: 18 พฤษภาคม 2552 เวลา:19:35:17 น.  

 
Just desire to say your article is as surprising. The clearness in your post is simply excellent and i could assume you are an expert on this subject. Fine with your permission allow me to grab your feed to keep up to date with forthcoming post. Thanks a million and please carry on the enjoyable work.
Oakley Sunglasses Sale //www.davidsoncountyonline.com


โดย: Oakley Sunglasses Sale IP: 94.23.252.21 วันที่: 3 สิงหาคม 2557 เวลา:18:16:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.