Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . เงินเฟ้อ 7.6 ---> 8.9 ---> 9.0 ----> 10 . . .ทั้งปี 2551 เฉลี่ย 8%??...

...

เงินเฟ้อเดือนมิ.ย. สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเกินเพดานเป้าหมายของธปท. เป็นครั้งแรก

จากรายงานตัวเลขดัชนีราคาสินค้า ในเดือนมิถุนายน 2551 โดยกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 7.6 ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ (ค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5) และเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่เทียบกับเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนมิถุนายนสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 และเป็นครั้งแรกที่เงินเฟ้อพื้นฐานสูงเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) หลังจากที่ธปท. กำหนดกรอบดังกล่าวในปี 2543

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะขึ้นไปเกินร้อยละ 4.0 ในเดือนสิงหาคม และในช่วงปลายปีอาจเคลื่อนเข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.0 ซึ่งจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างยิ่งต่อการพิจารณากำหนดนโยบายการเงิน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ และในครั้งต่อๆ ไป

ในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 15.6 ในเดือนพฤษภาคม และสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน

ขณะที่หากมองไปข้างหน้า ราคาสินค้าวัตถุดิบยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งนอกเหนือจากที่มีการคาดหมายว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปถึงระดับ 150-170 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นแล้ว

ราคาก๊าซในประเทศก็อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระการอุดหนุนของทางการ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท ก็ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็กและยางพารา

ทำให้คาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนกรกฎาคม จะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 และอาจกล่าวได้ว่าต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 หรือเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2

แรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการดังกล่าว เป็นสัญญาณว่าราคาสินค้าผู้บริโภคอาจจะมีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงเกินร้อยละ 9 ในเดือนกรกฎาคม และอาจขึ้นไปเป็นตัวเลขสองหลักในเดือนสิงหาคม ซึ่งน่าเป็นช่วงที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงสุด แต่อาจจะยังคงอยู่เหนือระดับร้อยละ 9 ไปจนถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปี 2551 อาจอยู่ที่ร้อยละ 7.4-8.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไป จากแรงกดดันของต้นทุนผู้ผลิตที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่สะท้อนจากตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งตัวมากกว่าอัตราเงินเฟ้อมาโดยตลอดระยะ 10 เดือนที่ผ่านมา

และเป็นที่สังเกตว่าช่วงห่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของผู้ประกอบการกับอัตราเงินเฟ้อยิ่งกว้างมากขึ้น (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายน ห่างกันถึงเกือบร้อยละ 10) เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าผู้ประกอบการได้แบกรับภาระต้นทุนไว้มากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งในที่สุด ต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับไว้ดังกล่าวก็จะต้องถูกส่งผ่านไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภคในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงที่จะถึงนี้

...


Create Date : 02 กรกฎาคม 2551
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 13:46:26 น. 13 comments
Counter : 1019 Pageviews.

 
...

เงินเฟ้อ – เงินฝืดและนโยบายการแก้ไข

เงินเฟ้อ ( Inflation )
ในระบบเศรษฐกิจระบบใดก็ตาม ในปัจจุบันถือว่าเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ และเงินนี้จะเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นความต้องการเงินจึงเป็นปัญหาพื้นฐานในระบบ

ความหมายของเงินเฟ้อ ( Inflation )
เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้า สูงขึ้นเรื่อย ๆ ( rising prices ) การที่สินค้ามี ระดับราคาสูง ( high prices ) ไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ จำเป็นต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงจะเป็นเงินเฟ้อ

ปัจจัยสำคัญที่ชี้ให้ทราบว่ามีภาวะเงินเฟ้อ คือ เวลา ไม่จำเป็นว่าราคาสินค้าทุกชนิดต้องมีราคาสูงขึ้นในเวลาที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ อาจเป็นได้ว่าสินค้าบางชนิดมีราคาลดลง และสินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้น สิ่งสำคัญคือว่า เมื่อรวมราคาทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น สิ่งที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา คือ ดัชนีราคา (Price Index)

อธิบายภาวะเงินเฟ้ออย่างเข้าใจง่าย ๆ คือ ภาวะที่ข้าวของเครื่องใช้โดยทั่วไปมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง การสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าของเงินลดลง เช่น ปีที่ผ่านมาเราซื้อเสื้อผ้าด้วยเงินจำนวน 100 บาทต่อชิ้น มาปีนี้เราซื้อเสื้อผ้าตัวเดิมด้วยเงิน 103 บาท แสดงว่ามูลค่าของเงินลดลง 3% ปีต่อไปราคาของสินค้าชิ้นนี้ก็จะเพิ่มขึ้นอีกไปเรื่อย ๆ

แต่การเพิ่มขึ้นของสินค้า หมายถึงสินค้าทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือสองถึงสามอย่าง ก็ไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อ






ตามหลักวิชาการจะแบ่งอัตราเงินเฟ้อเป็น 3 ประเภท คือ

1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน ( Mild Inflation ) คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีภาวะอย่างนี้เป็นเหตุการณ์ปกติ ไม่มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากนัก แต่กลับเป็นผลดีที่เป็นแรงจูงใจในการลงทุน

2. เงินเฟ้อปานกลาง ( Moderate Inflation ) คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกินร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ประชาชนจะเกิดความเดือดร้อนเนื่องจากสินค้ามีราคาแพง ไม่สามารถปรับรายได้ให้สูงขึ้นตามราคาของสินค้าที่แพงขึ้นได้ทัน ในภาวะเช่นนี้คนงานจะเรียกร้องค่าจ้างให้สูงขึ้น วัตถุที่ใช้ในการผลิตราคาก็จะสูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูง ระดับราคาก็ต้องสูงตามไปด้วย

3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ( Hyper Inflation ) คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ภายใน 1 เดือน เป็นภาวะที่ข้าวยากหมากแพง ราคาของสินค้าแพงขึ้นมากจนผู้มีสินค้าไม่อยากจะเอาออกมาขาย ค่าของเงินลดต่ำลง และในที่สุดก็จะหมดอำนาจในการแลกเปลี่ยน ต้องใช้ทองคำซึ่งราคาค่อนข้างแน่นอนทำการแลกเปลี่ยน ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หลังสงคราม หรือเกิดจลาจล เป็นต้น



สาเหตุที่เกิดภาวะเงินเฟ้อมีจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ

o ต้นทุนสินค้าเพิ่ม ( cost - push inflation ) คือ การทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

o ความต้องการสินค้าเพิ่ม ( demand – pull inflation ) คือ ปริมาณความต้องการซื้อมากขึ้นทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น


ต้นทุนการผลิต คือ สิ่งที่ใช้พิจารณานโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคา วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงขึ้นผู้บริโภคก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เมื่อพนักงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อ

ภาคการผลิตเมื่อสินค้าราคาดีขึ้นก็จะมีคนเร่งผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ทำให้ต้องจ่ายค่าแรงในรูปของค่าล่วงเวลาก็จะทำให้รายได้ของพนักงานเพิ่มขึ้นอีก ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะหมุนเป็นวัฏจักรผลักดันทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในที่สุด

“ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาสินค้าก็สูงขึ้นจนทำให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพง ”


ผลที่ได้รับจากภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อปานกลาง และภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมาก อำนาจการซื้อของเงินลดลง ซื้อสินค้าได้น้อยลงในจำนวนเงินเท่าเดิม ผลจากภาวะเงินเฟ้อทำให้บุคคล 2 กลุ่ม มีผลได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน เช่น

กลุ่มบุคคลที่ได้เปรียบจากภาวะเงินเฟ้อ

1. เจ้าของกิจการ ผู้ผลิตสินค้า นักอุตสาหกรรม เมื่อบุคคลเหล่านี้ผลิตสินค้าออกมา สินค้าขึ้นราคาก็ต้องขายตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น ถ้ามีสินค้าอยู่ในคลังสินค้าผลิต หรือซื้อมาในราคาต่ำ จะทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น สำหรับเกษตรกร สามารถขายผลผลิตได้กำไรราคาสูงขึ้น แต่ได้เท่าเดิม ต้องซื้อสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นในราคาแพง และฐานะของเกษตรกรยังยากจนอยู่แล้ว ทำให้การผลิตในเนื้อที่จำกัดและขนาดเล็ก เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เกษตรกรก็ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าผู้ใด ทั้ง ๆ ที่ผลิตอาหารได้เอง

2. พ่อค้าและนักธุรกิจ จะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่มีราคาสูง เพราะสินค้าค้างสต็อค การกักตุนสินค้าซื้อถูกขายแพง แต่เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ค่าของเงินต่ำลงจนไม่มีค่า สินค้าขายไม่ออก พ้อค้า นักธุรกิจก็ไม่ได้รับประโยชน์เช่นกัน

3. ลูกหนี้ เมื่อค่าของเงินลดลง เงินหาง่ายขึ้น แต่ลูกหนนี้ยังคงชำระหนี้เช่นเดิม

4. ผู้ถือหุ้น สินค้าราคาทำให้ยอดขายสูงขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น ผู้ถือหุ้นจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบจากภาวะเงินเฟ้ออย่างปานกลาง



กลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบจากภาวะเงินเฟ้อ

1. ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และบำนาญ เป็นรายได้ประจำเพราะได้น้อย ค่าของเงินลดลง ราคาสินค้าสูงขึ้น ถึงแม้จะมีการปรับเงินเดือน ค่าจ้างตามดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ราคาสินค้าได้ขึ้นราคาไปรอล่วงหน้าก่อนแล้ว ฉะนั้นการปรับเงินเดือน ค่าจ้าง จึงเดินสวนทางกับราคาสินค้า

2. เจ้าหนี้ ค่าของเงินลดลงแต่การชำระหนี้เงินกู้ยังคงได้รับดอกเบี้ยเท่าเดิม เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ

3. ผู้ที่มีรายได้จากค่าเช่า ค่าเช่าจะขึ้นเหมือนดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้ แต่จะเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

4. ผู้มีรายได้ไม่แน่นอน จะเป็นผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุด เพราะรายได้น้อยมาก และไม่แน่นอน แต่ราคาสินค้า เปลี่ยนแปลงสูงขึ้น

5. ผู้ที่มีเงินออม ค่าของเงินลดลงแต่ดอกเบี้ยยังไม่เพิ่มให้สูงขึ้น ตามดัชนีราคาสินค้าซึ่งโดยทั่วไปมีราคาสูงขึ้น


การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ
1. ใช้นโยบายทางการเงิน ( Monetary Policy )

1. ธนาคารกลางจะต้องพยายามลดปริมาณเงินในท้องตลาดให้หมุนเวียนน้อยลง
2. ธนาคารกลางจะต้องเพิ่มเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้น มีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องลดการให้เครดิตลง
3. เพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลดตั๋วเงินจากธนาคารพาณิชย์ให้สูงขึ้น ทำให้ธนาคารไม่กล้าซื้อลดตั๋วเงินหรือให้กู้มากนัก
4. ควบคุมการขายสินค้าผ่อนชำระให้มีระเบียบและหลักเกณฑ์มากขึ้น เช่น การส่งเงินดาวน์ครั้งแรก ( Down payment ) จะต้องสูงขึ้น และลดระยะเวลาผ่อนชำระให้สั้นลง
5. ธนาคารกลางขายหลักทรัพย์ออกไปในท้องตลาด เพื่อทำให้เงินสดสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง
6. รัฐบาลจะต้องลดค่าใช้จ่าย งบประมาณในเรื่องที่มีความไม่จำเป็นเร่งด่วนทั้งหมด

2. ใช้นโยบายทางการคลัง ( Fiscal Policy )

1. เก็บภาษีเข้าให้มากและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐบาลลง
2. ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากรในอัตราที่สูงขึ้น เช่น ภาษีรายได้บุคคล ทำให้รายได้สุทธิส่วนบุคคลลดลง ประชาชนจะใช้จ่ายเงินน้อยลง และจัดเก็บภาษีทางอ้อมสำหรับสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นให้สูงขึ้น
3. ปรับปรุงหนี้สาธารณะเพื่อช่วยลดปริมาณเงินลง และช่วยสกัดกั้นไม่ให้มีการขยายเครดิตออกไป ( หนี้สาธารณะก็คือ เงินที่รัฐบาลกู้มาจากประชาชน สถาบันทางการเงินภายในประเทศและต่างประเทศ )
4. เพิ่มดอกเบี้ยเงินออมให้มากขึ้น เป็นการจูงใจให้ประชาชนมีการออมทรัพย์โดยมาฝากเงินกับทางธนาคาร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นการช่วยชาติในการพัฒนาประเทศ
5. ถ้าประเทศได้เปรียบดุลการค้าในระหว่างภาวะเงินเฟ้อแล้ว จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นไปอีกวิธีแก้ไขจะต้องถอนรายได้จากต่างประเทศนี้ออกไปเสียจากค่าใช้จ่ายหมุนเวียน หรือนำสินค้าที่ขาดแคลนเข้าประเทศให้มากขึ้น ลดการส่งออกให้น้อยลง นำรายได้จากต่างประเทศไปช่วยเหลือประเทศที่ด้อยพัฒนา โดยการให้กู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ เก็บภาษีขาออกให้มากขึ้น เก็บภาษีขาเข้าที่ขาดแคลนให้น้อยลง หรืออาจจะเพิ่มค่าของเงินให้สูงขึ้น ทำให้สินค้าเข้ามีราคาถูกและสินค้าขาออกมีราคาแพง

3. รัฐบาลจะต้องควบคุมค่าครองชีพไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยการควบคุมค่าจ้าง เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง

4. รัฐบาลจะต้องเข้ามาแทรกแซงควบคุมสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้มีราคาสูงเกินไป

5. ใช้ระบบผ่อนคลายทางการเงิน ( Easy Money Policy )
หมายความว่า เป็นการใช้นโยบายที่ประนีประนอมกัน ไม่ใช้วิธีการรุนแรง




ปัญหา-การแก้ไขเงินเฟ้อ และนโยบายเศรษฐกิจที่ควรเป็น

ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางธุรกิจมาก แต่ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อนจะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่การพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้น้อยลงอาจจะทำให้เผชิญปัญหากับอัตราว่างงานสูงขึ้น เพราะแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง

ภาระหนักของภาครัฐบาล คือ ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้โดยไม่ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ยากมาก เพราะเผลอ ๆ อาจจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและการจ้างงานกลับลดลง

ดังนั้นรัฐบาลควรจะกระจายงานไปสู่ภูมิภาคให้มากที่สุด พร้อมเร่งให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชน ให้ชาวชนบทสามารถพึ่งพาตนเองมากขึ้น และนโยบายของรัฐจะต้องเน้นการพึ่งพาตนเองด้วยไม่ควรพึ่งพาอาศัยการลงทุนจากต่างชาติมากจนเกินไป

การลงทุนจากต่างชาติจะทำให้ประเทศต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักลงทุน ทำให้ประเทศชาติขาดเอกราชทางเศรษฐกิจ และการลงทุนจากต่างชาติจะยังให้เกิดการเปิดการค้าเสรี ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนา จะเสียเปรียบต่อประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากศักยภาพ ในการแข่งขันของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเหนือกว่าทุกทาง

ในระบบการค้าเสรีจึงเป็นเรื่อง ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ในที่สุดระบบการค้าเสรีจะก่อให้เกิดอำนาจการผูกขาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงคราวนั้นการแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถทำได้ง่ายดายนัก...

..........................................................................








เงินฝืด ( Deflation )

ความหมายของเงินฝืด

ภาวะเงินฝืดเป็นที่ภาวะที่ตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ คือ “ เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ” ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เกิดจากการระดมเงินทุน เกิดจากการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินจากเอกชน เกิดจากการลดจำนวนธนบัตร เป็นต้น

ในภาวะที่ตลาดซบเซาทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องการเงินเพื่อมาหมุนเวียนในกิจการ ทำให้ต้องหาทางเพื่อเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเงิน ซึ่งต้องลดราคาสินค้าเพื่อจูงใจผู้ซื้อ มีทั้งลด แลก แจก แถม

เงินฝืดมักจะเป็นผลพวงมาจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เกิดปัญหาเกิดหนี้เสีย และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ภาคการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินค้าเชื่อมั่นมากขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อทำให้ภาคธุรกิจภาคการเงินไม่สามารถที่จะหาเงินมาหมุนเวียนจนทำให้กิจการบางแห่งต้องปิดตัวลง ยังทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก

เมื่อพนักงานส่วนหนึ่งกลายเป็นคนตกงาน ทำให้ประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปยังธุรกิจการค้า และมีผลต่อภาคการผลิตอื่น ๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์โดมิโนทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจล้มระเนระนาดเฉกเช่นประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา

กลุ่มผู้ได้เปรียบจากกภาวะเงินฝืด

1. ผู้ที่มีรายได้ที่ประจำแน่นนอน เช่น ผู้ที่รับรายได้เป็นเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน บำนาญ
2. ผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ย หุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้านี้
3. ผู้ที่เก็บเงินไว้กับตัวเอง
4. ผู้มีรายได้จากค่าเช่า ผู้เช่าก็ต้องจ่ายในราคาเท่าเดิม เพราะได้ทำสัญญาผูกมัดแล้ว



กลุ่มที่เสียเปรียบจากภาวะเงินฝืด

1. ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าแต่ละวันจะมีรายได้เท่าไร บางวันมีรายได้น้อย บางวันมีรายได้มาก และบางวันไม่มีรายได้เลย เช่น ผู้ที่รับจ้างทั่ว ๆ ไปไม่มีหลักแหล่ง
2. เจ้าของกิจการ ผู้ผลิตสินค้า นักอุตสาหกรรม เมื่อระดับราคาสินค้าที่ผลิตออกมามีราคาลดตำลงเรื่อย ๆ แต่ต้นทุนวัตถุดิบ ตนทุนในการผลิตสูง ผู้ผลิตจะไม่ทำการผลิตอีกต่อไป หรืออาจจะลดการผลิตออกมาให้น้อยลง
3. พ่อค้านักธุรกิจ เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และหยุดชะงักการผลิต พ่อค้า นักธุรกิจ ก็ต้องขาดรายได้ คือ กำไร ตามไปด้วย แถมยังตกงานอีก
4. ลูกหนี้ ขณะที่ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินมูลค่าของ เงินคงที่ แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด มูลค่าของเงินมีค่ามากขึ้น และการทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เงินหายากขึ้น แต่ต้องชำระหนี้ในมูลค่าเท่าเดิม
5. ผู้เช่า การผลิตก็ชะลอตัวลง และลดตำลงเรื่อย ๆ ราคาสินค้าก็ลดลง ด้านทุนการผลิตสูงขึ้น รายได้ที่รับเข้ามาก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ผู้เช่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ให้เช่าในราคาเท่าเดิม ไม่ได้ลดไปตามราคาสินค้า


การแก้ไขภาวะเงิน ฝืด

1. การใช้นโยบายทางการเงิน

1. ธนาคารกลางจะต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในตลาดให้สอดคล้องกับปริมาณของอุปสงค์และอุปทาน
2. ธนาคารจะต้องลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อที่จะทำให้มีการขยายเครดิตเพิ่มขึ้น
3. ประกาศควบคุมกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าประเภทจำเป็น เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ นำมัน การขนส่ง ฯลฯ


2. การใช้นโยบายทางการคลัง

1. รัฐบาลจะต้องกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการลงทุนให้ชนบท เช่น จัดให้มีโครงการสร้างงานในชนบท ( กสช. ) โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ใช้งบประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำมากเพิ่มขึ้น มีแหล่งนำ มีถนน ทำให้เพิ่มผลผลิตตามไปด้วย
2. งบประมาณรายจ่ายรายจ่ายของรัฐบาลจะต้องจ่ายให้มีสภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น จะทำให้เงินหนุนเวียนในตลาดรวดเร็วขึ้น เช่น รัฐบาลจ้างทำของ ( ถนน เขื่อนกั้นน้ำ ชลประทาน ฯลฯ ) สั่งซื้อสินค้า เมื่อธุรกิจได้รับเงินของทางรัฐบาล จะทำให้เกิดการสร้างงานต่อไป
3. ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ดอกเบี้ยถูกจ่ายคืนในระยะยาว มาลงทุนในโครงการที่ช่วยพัฒนาประเทศและสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้
4. ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงทุน โดยมีระยะปลอดภาษี และให้ความสะดวกทุกประการ
5. ลดอัตราภาษีของรายได้บุคคลของประชาชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายก็มีมากขึ้นตามลำดับ

3. ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ นำขึ้นมาใช้ เช่น แก๊สธรรมชาติ เท่ากับเป็นการสร้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ภาวะเงินฝืดเบาบางลง

4. ส่งเสริมผลผลิตทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้การตลาดเป็นแกนนำ ทำให้เงินตราไหลเขาสู่ประเทศมากขึ้น







ตัวอย่างมาตรการทางการเงินที่ใช้ในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และเงินฝืด

มาตรการ ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

1. เปิดตลาดซื้อขายพันธบัตร (open market operation) ธนาคารกลางจะประกาศขายพันธบัตรออกสู่ท้องตลาด เพื่อลดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ

2. การเพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (change in legal reservation) ธนาคารจะประกาศเพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย เพื่อชะลอไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น (ลดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ)

3. การเปลี่ยนแปลงอัตรารับช่วงซื้อลดหรืออัตราธนาคาร (change in rediscount rate or bank rate) ธนาคารกลางประกาศเพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลดหรืออัตราธนาคารซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางคิดกับธนาคารพาณิชย์เมื่อธนาคารพาณิชย์มากู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อลดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์มาเพื่อการปล่อยสินเชื่อสูงขึ้น

4.การขอร้องไปยังธนาคารพาณิชย์ (moral suasion) ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ควบคุมการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

5.การเปลี่ยนแปลงอัตราการกู้ยืมหรือสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ (change in margin requirement) ประกาศเพิ่ม margin requirement เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์

6. การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (change in deposit rate) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเพิ่มระดับการออม เมื่อลดการใช้จ่าย ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลง

มาตรการ ควบคุมภาวะเงินฝืด

ธนาคารกลางจะประกาศซื้อพันธบัตรจากท้องตลาดกลับคืน เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางประกาศลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น(เพิ่มการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ)

ธนาคารกลางประกาศลดอัตรารับช่วงซื้อลดหรืออัตราธนาคารซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางคิดกับธนาคารพาณิชย์เมื่อธนาคารพาณิชย์มากู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์มาเพื่อการปล่อยสินเชื่อต่ำลง

ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ประกาศลด margin requirement เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เร่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์

ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มการใช้จ่าย ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น




ตัวอย่างมาตรการทางการคลังที่ใช้ในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด

มาตรการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด

1. การเปลี่ยนแปลงในรายจ่ายของรัฐบาล (change in government expenditure)
2. มาตรการทางด้านรายได้ (ภาษี) ลดรายจ่ายของรัฐบาลในด้านต่างๆ เนื่องจากรายจ่ายของรัฐบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญตัวหนึ่งที่รวมอยู่ในอุปสงค์มวลรวมลดลงในที่สุด

รัฐบาลควรเข้มงวดในด้านภาษีให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประชาชนจะได้ลดการใช้จ่ายลง เช่น เรียกเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในอัตราที่สูง กำหนดอัตราภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น เรียกเก็บภาษีเงินได้ในอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ( progressive tax) กล่าวคือ รายได้มากเก็บภาษีในอัตราที่สูง รายได้น้อยเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ เพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล เพื่อยกระดับอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

รัฐบาลควรเข้มงวดในด้านภาษี เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ประชาชนจะได้มีรายได้มากขึ้น ที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เช่น ลดอัตราภาษีที่เก็บจากเงินได้ การลดอัตราภาษีสำหรับการส่งสินค้าออกทำให้ต่ำลงเพื่อสนับสนุนให้มีการส่งสินค้าออกมากขึ้น การเพิ่มอัตราภาษีสำหรับการนำสินค้าฟุ่มเฟือยเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ฯลฯ

หมายเหตุ...(ลอกมาจากอินเตอร์เน็ตนานแล้ว จำไม่ได้ว่าเว็บไหน ขออภัยที่ไม่ได้อ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล)...

...


โดย: loykratong วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:54:48 น.  

 
...

"ดร.โกร่ง" ชี้ เงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะทะลุ 10% ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

"ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" เตือนความเสี่ยงเงินเฟ้อเกิน 10% ช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปี 52 ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ผลักดันให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินออมลดลง อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินตึง แนะแบงก์ชาติดึงดอกเบี้ยไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไป พร้อมกับการอัดฉีดสภาพคล่อง

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้มีโอกาสที่จะสูงเกิน 10% ขณะที่ตลอดทั้งปี 52 เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงอยู่เกินระดับ 10% ขึ้นไปเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นมาตลอดในปี 51 และแม้คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่ขึ้นต่อ หากอยู่ที่ระดับ 120-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ จะทยอยขึ้นราคาเมื่อสต็อกสินค้าเก่าหมด

นายวีรพงษ์ มองว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาวะเงินเฟ้อสูงในระดับ 10% นั้น สิ่งแรกที่จะเห็น คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการสินเชื่อจะมีเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ขณะที่เงินออมในระบบจะเริ่มน้อยลง เพราะนำเงินไปใช้ซื้อสินค้า หรือลงทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง อันเนื่องจากสินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นตามต้นทุน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในหมวดพลังงาน ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นขาดดุล

ด้านการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนจะชะลอตัวลง เพราะความต้องการสินค้าและบริการจะเริ่มลดลง ส่งผลถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ที่จะปรับลดลงด้วยเช่นกัน และทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ โดยเชื่อว่าสิ้นปีนี้อาจจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์ โดยระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ เพราะเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก การบริโภคแม้จะเป็นอาหารก็คงลดน้อยลง

นายวีรพงษ์ กล่าวว่าการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพยายามทำหน้าที่เพื่อให้ทุกอย่างมีเสถียรภาพไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย, สภาพคล่องในระบบการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องมีงบประมาณขาดดุล ด้วยวิธีเพิ่มการลงทุน หรือลดภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

“เงินเฟ้อสูงที่เกิดจากราคาน้ำมัน เป็น cost push ผลคือจะทำให้เงินตึงตัว ดอกเบี้ยแพง แบงก์ชาติต้องดึงดอกเบี้ยไว้ อย่าให้ขึ้นเร็ว เงินจะตึงก็ต้องปั๊มเงินออกมา ต้องทำให้มีเงินเพียงพอ แต่เท่าที่ดูทัศนคติของผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการฯ แล้ว ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เพราะยังเข้าใจว่าดอกเบี้ยจะเป็นตัวปราบเงินเฟ้อ แต่จริงๆ มันเป็นผลของเงินเฟ้อ” นายวีรพงษ์ ระบุ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่กลับไปในยุคของฟองสบู่แตก แต่อาจซึมลงคล้ายลักษณะของลูกโป่งรั่วและแฟบลงมากกว่า

“เที่ยวนี้ยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่แตก แค่ลูกโป่งแฟบ มันเป็นอาการซึมลง ไม่ใช่แบบปี 40 ที่ระเบิดตูม แต่ครั้งนี้ค่อยซึมลงเหมือนลูกโป่งรั่ว เพราะเศรษฐกิจเราเป็นประเทศเล็ก ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ โลกเขาลงก็ต้องลงตาม ฝืนไม่ได้ แต่ให้ลงอย่างมีระเบียบ และลงอย่างจำเป็นต้องลง ไม่ใช่ลงเพราะไม่รู้ หรือด้อยสติปัญญาของเรา” นายวีรพงษ์ กล่าว

ส่วนกระแสข่าวการถูกทาบทามให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น นายวีรพงษ์ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการทาบทาม ซึ่งหากจะตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งจริง ก็จะรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และหากจะปฏิเสธไม่รับก็จะไม่รับอย่างไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในโอกาสครบรอบ 11 ปีลอยตัวค่าเงินบาท ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยขณะนี้ต่างจากปี 2540 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินสำรองในประเทศถึง 2 เท่า และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น แต่ปัจจุบันมีหนี้ต่างประเทศน้อยกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ

ดังนั้น ไทยคงไม่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 ที่นักลงทุนตกใจขนเงินออกนอกประเทศ ประกอบกับปัจจุบันสถานะทางการคลังก็ดีขึ้นมาก จึงไม่ส่อให้เกิดวิกฤติการเงิน อีกทั้งภาคเอกชนระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนค่อนข้างมาก ส่วนธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงของเครดิตและสินเชื่อ ดังนั้น ไทยจึงไม่น่าเกิดวิกฤติร้ายแรงเหมือนปี 2540

...


โดย: loykratong วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:16:36 น.  

 
ตอนนี้ของแพงจนเกินจะทนไหว
แล้วถ้าเงินยังเฟ้อขึ้นไปอีก
ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
คนรวยบ่นๆแต่ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
คนจน.....ทำไงดี


โดย: zoomzero IP: 124.120.22.18 วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:27:51 น.  

 
บลอคแห่งสาระ

ยอดเยี่ยมแห่งปี


โดย: be-oct4 วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:51:34 น.  

 



นำความสดชื่นหลังเรียนโยคะมาฝากค่ะ วันนี้มีท่านี้ด้วยค่ะ โยคะคือการประสานการเคลื่อนไหวของร่างกายกับดวงจิตที่สงบนิ่งและลมหายใจ สามารถสร้างสมดุลระหว่างร่างกาย จิตใจ และสมองทำให้สบายใจและสงบสุขค่ะ

อ่านเรื่อยๆ มาถึงความเห็นของ ดร. วีรพงษ์ และ ดร. ประสาร แล้วค่อยโล่งใจหน่อยนะคะ ที่ยังไงก็ไม่เหมือนยุคฟองสบู่แตก ขอให้เป็นลูกโป่งขนาดใหญ่แบบบอลลูนแล้วกันนะคะที่รั่วแค่ปลายเข็ม อิอิอิ ทุกสิ่ง ย่อมมีรอยร้าว รอยแตก เพื่อให้แสงสว่างเล็ดลอดมาได้เสมอค่ะ

ในทุกวิกฤติมักมีโอกาสและในทุกโอกาสก็มีวิกฤติเสมอล่ะนะคะ

อิอิอิ ขอบคุณอาหารสมองดีๆ ค่ะ fit & firm เลยล่ะคะ .....55555..... ขอบคุณค่ะ ขอบคุณอีกครั้งมารบกวนอ่านทุกวันเลยค่ะ

ราตรีสวัสดิ์นะคะ



โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:21:29 น.  

 
แวะมาบอกว่า ค่าน้ำมันดีเซล ที่นี่ 55 บาท/ลิตรแล้วจ้า..

อยู่กรุงเทพใช้น้ำมันถูกแล้วนาจะบอกให้...


โดย: granun วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:0:53:22 น.  

 
เงินเฟ้อตอนนี้อ่ะเป็นเพราะน้ำมัน

ส่วนทางออกของรัฐที่ขึ้นดอกเบี้ย มันจะดีจริงรึป่าวนี่ก็คงเเล้วเเต่คนมอง ว่ามองด้านไหน

เเต่ท่าทางน้ำมันคงจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆเเน่ะ เเต่รมต คลัง กลับพูดว่าเเค่ 150-170 . . เป็นอะไรที่สิ้นคิดดี

การขึ้นดอกเบี้ย มีผลดีต่อสถาบันการเงิน + ผู้มีคนเงินฝากเยอะๆในธนาคาร ที่ค่าของเงินที่มีจะได้เท่าเดิม ไม่ใช่โดนเงินเฟ้อกลืน

เเต่มันช่วยเศรษฐกิจได้หรือ

เเล้วทำไม เมื่อหลายๆเดือนก่อน USA ถึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ย มันก็น่าคิดดี

เป็ฯบล๊อคที่ให้ความรู้ได้ดีมากเลยคับ


โดย: หงส์แดงตะแคงฟ้า วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:9:42:13 น.  

 
...

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะ Stagflation

ภาวะ Stagflation คือ ภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่างๆ หรือเงินเฟ้อ (Inflation) ขณะเดียวกันก็ประสบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น (Stagnation)

โดยภาวะ Stagflation นี้ อาจเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงถูกซ้ำเติมจากปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทาน (supply shock) ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งผลักดันราคาสินค้าและบริการต่างๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น หรืออาจเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อม เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่นโยบายของภาครัฐที่พยายามจะบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคา แต่กลับเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดด้วยการออกกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเลวร้ายลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหา Stagflation หรือเศรษฐกิจประสบกับปัญหาเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงไปพร้อมๆ กัน การใช้นโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสองในเวลาเดียวกันอาจทำได้ยากลำบาก เพราะเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง กลับยิ่งเป็นการซ้ำเติมอีกปัญหาหนึ่งให้แย่ลงไปกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพให้กับระดับราคา ทางการอาจใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวอาจยิ่งถดถอยลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในทางกลับกัน หากจะแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทางการอาจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านราคาและเงินเฟ้อ จนในท้ายที่สุดอาจทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาทางด้านเสถียรภาพที่ยากเกินจะควบคุมได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ทางการควรจะรับมือกับปัญหา Stagflation ที่เกิดขึ้นอย่างไร ??


ประสบการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในอดีต ภาวะ Stagflation ที่เคยเกิดขึ้นและเป็นที่จดจำ ได้แก่ ภาวะ Stagflation ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯในสมัยทศวรรษ 1970 โดยย้อนกลับไปในปี 1971 ที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ใช้นโยบายควบคุมค่าจ้างและราคา (Wage and price control) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่นโยบายดังกล่าวกลับยิ่งทำให้สหรัฐฯประสบกับภาวะ Stagflation ในเวลาต่อมา เพราะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่ลดลงในการผลิตสินค้า จนกระทั่งเกิดเป็นภาวะขาดแคลน กอปรกับในปี 1973 ซึ่งเกิดสงคราม Yom Kippur War ขึ้นระหว่างประเทศอาหรับที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปก กับอิสราเอล สหรัฐฯที่สนับสนุนอิสราเอลได้ถูกโอเปกปฏิเสธการจัดส่งน้ำมันให้ (Arab Oil Embargo) ทำให้ต้องพึ่งพาการผลิตน้ำมันในประเทศเท่านั้น

แต่ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯก็ขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอันเป็นผลจากนโยบายควบคุมค่าจ้างและราคาของทางการ ส่งผลให้ปริมาณอุปทานน้ำมันมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังจะเห็นได้จากการเข้าคิวเพื่อเติมน้ำมันที่ปั๊มซึ่งยาวออกมาถึงนอกถนน ภาวะการณ์เช่นนี้ในที่สุดได้นำมาสู่การเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1

ทั้งนี้ เพื่อที่จะเยียวยาเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา นายอาเธอร์ เบิร์นส ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสมัยนั้น ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ดังจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปี 1974-1975 ที่มีค่าติดลบ (ในปี 1974 และ 1975 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 11.1% และ 9.1% เทียบกับอัตราดอกเบี้ย Fed Funds โดยเฉลี่ยที่ 10.5% และ 5.8% ตามลำดับ)

ขณะที่ นโยบายการคลังมีข้อจำกัดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในช่วงสงครามเวียดนามและโครงการด้านสังคมเพื่อฟื้นฟูหลังสงคราม อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตหรือจีดีพีของสหรัฐฯกลับหดตัวลง 0.5% และ 0.2% ในปี 1974 และ 1975

ต่อมา เมื่อนายวิลเลียม มิลเลอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดในเดือนมกราคม 1978 ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นอย่างมาก จากที่เพิ่ม 4-5% ในปี 1977-1978 มาเป็นเพิ่มขึ้น 40% ในปี 1979 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2

แต่นายมิลเลอร์กลับมีความเห็นว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งผลักดันให้เงินเฟ้อปรับขึ้นจาก 6.5-7.6% ในปี 1977-1978 มาที่ 11.3% ในปี 1979 จะปรับตัวลดลงมาเองเมื่อเวลาผ่านไปโดยที่ไม่ต้องดำเนินนโยบายใดๆ (self-correcting) และไม่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จนกระทั่งนายพอล โวลคเกอร์ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดในเดือนสิงหาคม 1979 โดยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์

ภายใต้สถานการณ์ในขณะนั้นที่ราคาน้ำมันยังคงพุ่งขึ้นอีก 71.5% ในปี 1980 นายโวลคเกอร์ได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 20% ในระหว่างปี 1981 เทียบกับระดับ 10% ณ สิ้นปี 1978 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อซึ่งพุ่งขึ้นไปที่ 13.5% ในปี 1980

การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดดังกล่าว ส่งผลให้ในท้ายที่สุดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 1980-1982 และอัตราการว่างงานยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องยาวนานอีกหลายปี



ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯก็อาจกำลังเผชิญกับภาวะ Stagflation โดยภายหลังการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลายาวนานในสมัยประธานเฟดอลัน กรีนสแปน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นต้นตอของภาวะฟองสบู่และนำมาสู่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อที่จะแก้ปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่ได้ลุกลามไปสู่ภาคการเงินของสหรัฐฯ

ประธานเฟดคนปัจจุบัน นายเบน เบอร์นันเก้ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากและรวดเร็วตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ถึงเดือนเมษายน 2551 จากอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับ 5.25% สู่ระดับ 2.00%

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงมาสู่ระดับที่เฟดคาดหวังไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนหลีกหนีสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯและหันไปถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ผลักดันให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในดินแดนตะวันออกกลาง ตลอดจนกำลังการผลิตน้ำมันที่อยู่ในระดับที่ปริ่มกับความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลก

โดยเพื่อที่จะบรรเทาปัญหา Stagflation ที่แม้อาจจะไม่รุนแรงมากเท่ากับในช่วงทศวรรษ 1970 เพราะปัจจุบันภาวะการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีได้ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถจะส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ผู้บริโภคผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น

จะเห็นได้ว่า เฟดได้มีความพยายามที่จะควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วยการออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างชัดเจน จนทำให้ตลาดตีความว่าเฟดอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยจากขาลงมาเป็นขาขึ้นในช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างเร็ว

ทั้งนี้ แม้ว่ากระแสการคาดการณ์ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะได้ลดทอนลงไปบ้าง หลังเฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ 2.00% ในการประชุมวันที่ 24-25 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดกลับมามองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วเท่าที่คาดไว้เดิม เพราะปัญหาในภาคการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงไม่ฟื้นตัว (เป็นที่คาดว่า สถาบันการเงินสหรัฐฯอาจต้องบันทึกส่วนสูญเสียจากการลงทุน (write-downs) และเพิ่มทุนอีกระลอก ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงอ่อนแอ)

แต่การส่งสัญญาณแสดงความเป็นห่วงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของเฟดที่น่าจะยังมีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เพื่อควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ก็บ่งชี้ว่า เฟดกำลังพยายามที่จะเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาการถีบตัวสูงขึ้นของระดับราคาและค่าจ้าง (wage-price spiral) โดยแสดงจุดยืนว่าพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในอนาคต เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

บทเรียนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ

จากประสบการณ์ภาวะ Stagflation ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอดีตและปัจจุบัน บ่งชี้ว่า

 การแก้ปัญหา Stagflation มีข้อจำกัดและทำได้ลำบาก เพราะเพื่อที่จะแก้ปัญหาหนึ่ง อาจทำให้อีกปัญหาหนึ่งบานปลาย

 การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาใด ย่อมมีต้นทุนหรือผลกระทบตามมา ขณะที่การไม่ดำเนินนโยบายใดๆ เลย หรือตัดสินใจดำเนินนโยบายช้าไป หรือทำด้วยขนาดที่มากหรือน้อยเกินไป หรือเลือกใช้นโยบายที่ผิดทิศทาง ก็อาจทำให้ปัญหาลุกลามและยากที่จะเยียวยากลับมาสู่ภาวะปกติได้ในเวลาอันสั้น

 ดังนั้น การดำเนินนโยบายที่พอเหมาะ ทั้งจังหวะเวลา ทิศทาง และขนาด จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นความท้าทายของธนาคารกลางและภาครัฐ เพราะ ณ ขณะที่เผชิญปัญหา คงยากที่จะประเมินได้ว่านโยบายที่ใช้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยเวลากว่าจะรับรู้ได้ว่านโยบายนั้นๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลงไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายซึ่งมีข้อมูลครบถ้วน ก็ควรจะเป็นผู้ที่มีบทบาทและชั่งน้ำหนักเพื่อตัดสินใจดำเนินนโยบายด้วยความรอบคอบต่อภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 เหนือสิ่งอื่นใด ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง (Credibility) ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน มากกว่าขนาดหรือทิศทางของนโยบาย เพราะจะมีผลต่อความไว้วางใจที่สาธารณชนมีให้ ในขณะที่แรงกดดันทางการเมืองจากฝ่ายบริหารอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายของธนาคารกลางบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้การทำงานของธนาคารกลางเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธนาคารกลางควรที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งเพื่อให้สาธารณชนมีความมั่นใจต่อความมีอิสระของธนาคารกลางด้วย





สถานการณ์ประเทศไทย

ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทยในเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ 8.9% สูงสุดในรอบ 10 ปี และพุ่งขึ้นจาก 7.6% ในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสจะแตะระดับเลขสองหลักในบางเดือนของไตรมาส 3/2551 และมีค่าเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ประมาณ 7.4-8.0% ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สูงขึ้นมากจากค่าเฉลี่ยที่ 2.3% ในปี 2550

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงในระยะที่เหลือของปี 2551 เทียบกับที่โตสูงถึง 6.0% ในไตรมาสแรก

อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับภาวะ Stagflation อย่างอ่อนๆ อยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาหรือการดำเนินนโยบายของทางการในภาวะเช่นนี้ คงจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และตระหนักถึงต้นทุนหรือผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้นโยบายนั้นๆ

ทั้งนี้ การหยิบยกประสบการณ์ของสหรัฐฯขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าไทยต้องดำเนินนโยบายเช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ เพราะภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เพื่อที่จะดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในท้ายที่สุดแล้วคงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้ละเลยต่อความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงไปอีก

แต่ภายใต้ภาวะที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ผนวกกับราคาสินค้าอีกหลายรายการเตรียมที่จะปรับเพิ่มขึ้น กนง.อาจจำเป็นต้องควบคุมและดูแลเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ให้สูงเกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 0-3.5% เฉลี่ยรายไตรมาส หลังจากที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ได้พุ่งขึ้นทะลุกรอบบนตามเป้าหมายของ กนง.เป็นครั้งแรก มาที่ 3.6% สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี จาก 2.8% ในเดือนพฤษภาคม และยังมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยับสูงขึ้นไปเกินระดับ 4.0% ในเดือนสิงหาคม รวมทั้งอาจเคลื่อนเข้าหาระดับ 4.5-5.0% ในช่วงปลายปีนี้


อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน*

ไทย 3.25%
ไต้หวัน 3.625%
เกาหลีใต้ 5.00%
ฟิลิปปินส์ 5.25%
อินเดีย 6.00%
จีน 7.47%
อินโดนีเซีย 8.50%

ที่มา: รอยเตอร์ * ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2551

นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันของไทยที่มีค่าติดลบที่ 4.59% ในเดือนพฤษภาคม 2551 กอปรกับเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีระดับต่ำเป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น ก็จะเห็นว่านโยบายการเงินของไทยอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย (Accommodative) ค่อนข้างมาก

ดังนั้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า กนง.ในที่สุดแล้วคงจำต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระยะที่เหลือของปีนี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม

ในขณะที่นโยบายการคลังผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการของภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ น่าที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยไม่ตกไปสู่ภาวะชะลอตัวที่รุนแรง

โดยสรุป การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะ Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่างๆ หรือเงินเฟ้อ (Inflation) ขณะเดียวกันก็ประสบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น (Stagnation) นั้น นับว่าเป็นความยากลำบากของธนาคารกลางเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้วนเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วแทบทั้งสิ้น

ซึ่งคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ภายใต้ภาวะ Stagflation ที่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากราคาวัตถุดิบหรือราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง อาจจะไม่ได้ช่วยให้ราคาวัตถุดิบหรือราคาน้ำมันถูกลง และผลของการขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายบริหารคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ก็เพื่อยับยั้งปัญหาเสถียรภาพทางด้านราคาไม่ให้บานปลายไปจนยากเกินจะควบคุมได้ในอนาคต

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารกลางจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวกโดยทันที เพราะนั่นจะยิ่งส่งผลที่เลวร้ายลงไปอีกต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ในขณะที่ หากธนาคารกลางไม่ดำเนินการใดๆ เลย ก็คงจะไม่ได้เช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดข้อกังขาต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพทางด้านราคา

ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เองก็ได้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนราคาแพงในสมัยทศวรรษ 1970 มาแล้ว โดยการที่เฟดไม่สนับสนุนการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดในภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันและเงินเฟ้อจะปรับตัวลงมาเมื่อเวลาผ่านไป แต่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในยุคนั้นแทนที่จะปรับลดลง กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนท้ายที่สุดทำให้เฟดจำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่รุนแรงหลังจากนั้น

ดังนั้นแล้ว การดำเนินนโยบายที่พอเหมาะ ทั้งจังหวะเวลา ทิศทาง และขนาด จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นความท้าทายของธนาคารกลางและภาครัฐ

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) เนื่องจากภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีในเดือนมิถุนายน กอปรกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทะลุกรอบบนของเป้าหมาย กนง.ในช่วง 0-3.5% มาที่ 3.6% และยังมีแนวโน้มจะปรับตัวเข้าหาระดับ 4.5-5.0% ในช่วงปลายปีนี้

กนง.แทบจะไม่เหลือทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าคงจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย แต่ กนง.คงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก กนง.จำต้องรักษาสมดุลความเสี่ยงและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดการเงิน และสาธารณชนให้มีความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางด้านราคาในระยะข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ด้วย

...






โดย: som IP: 58.137.155.65 วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:42:57 น.  

 
หายไปไหนมาคะพี่นิ้งค์ ซำบายดีมั๊ยเอ่ย คิดถึงนะคะ ^_^


โดย: นู๋ Beee เองค่ะ (http://beee.bloggang.com) IP: 125.24.163.237 วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:18:12 น.  

 
...

อิ อิ อิ...สบายดีจ้า...
ตอนนี้ก็ทำงานๆ ดูข่าว เขียนข่าวจ้า...

เมี๊ยว เมี๊ยว...

...


โดย: som IP: 58.137.155.65 วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:53:23 น.  

 
อ่านจนมึนไปเลย...ขอบคุณค่า


โดย: อิมูกิ IP: 118.172.52.23 วันที่: 4 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:28:10 น.  

 
อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของเงินสกุลต่างๆ กำหนดขึ้นมาได้อย่างไรคะ กรุณาตอบให้ด้วยนะคะ เพราะว่าต้องเอาไปทำการบ้านน่ะค่ะ kunlawan2526@hotmail.com


โดย: จอย IP: 222.123.140.231 วันที่: 7 สิงหาคม 2551 เวลา:11:59:40 น.  

 
What i do not understood is in fact how you're now not actually much more smartly-appreciated than you may be now. You're very intelligent. You know therefore significantly when it comes to this matter, made me in my view believe it from a lot of various angles. Its like women and men aren't fascinated unless it is something to do with Lady gaga! Your personal stuffs nice. Always handle it up!
Ray Ban Aviators //www.homesnetwork.com/


โดย: Ray Ban Aviators IP: 94.23.252.21 วันที่: 2 สิงหาคม 2557 เวลา:10:39:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.