Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
16 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
. . . วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ... อาจยังไม่ยุติ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย . . .

. . .

วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ... อาจยังไม่ยุติ
เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงาน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


วิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (วิกฤตซับไพร์ม) ซึ่งในปัจจุบันได้ลุกลามต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปีเศษ และกลายมาเป็นวิกฤตการเงิน/สินเชื่อในปัจจุบันนั้น ได้เป็นชนวนที่ทำให้สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ในขณะที่ การเสื่อมถอยลงของมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี และแนวโน้มการขาดทุนจากการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนองตลอดจนตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อน ได้บีบให้สถาบันการเงินเหล่านั้นต้องเร่งทำการเพิ่มทุนภายใต้สภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ตลอดจนการระบายการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเป็นประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกสุดของตลาดการเงินในขณะนี้

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ สถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็งทางการเงินอาจต้องเผชิญกับบททดสอบที่สำคัญ ซึ่งหากสามารถประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ก็อาจสามารถดำเนินกิจการภายใต้ธุรกิจการเงินซึ่งมีความซับซ้อนนี้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของวิกฤตซับไพร์ม (ซึ่งกลายมาเป็นวิกฤตสินเชื่อ) สถาบันการเงินหลายแห่งต้องประสบปัญหาอย่างหนัก บางแห่งต้องทยอยปิดกิจการลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการจำนองเป็นหลัก ขณะที่ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะความปั่นป่วนนี้ได้

โดยล่าสุดบริษัท Lehman Brothers Holdings Inc. ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่า ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย ขณะที่ สภาพการณ์ที่กดดันได้บีบให้บริษัท Merrill Lynch & Co Inc. รับข้อเสนอและขายกิจการให้กับธนาคาร Bank of America นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยรายใหญ่อย่าง บริษัท American International Group Inc. (AIG) และสถาบันการเงินประเภท savings and loan รายใหญ่อย่างบริษัท Washington Mutual Inc. ก็กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และต้องแบกรับการปรับลดมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการถือครองตราสารที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองที่ด้อยค่า ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากสำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (FHFA) ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ (Conservatorship) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกับประเมินผลกระทบ และแนวโน้มระยะถัดไปดังนี้ :-


 ลำดับเหตุการณ์สถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาจากวิกฤตสินเชื่อ

สถาบันการเงิน ทางออกของปัญหา

บริษัท New Century Financial Corporation
2 เม.ย.2550 เข้ารับความคุ้มครองตามหมวด 11 กฎหมายล้มละลาย ท่ามกลางความกังวลว่า บริษัท Countrywide Financial Corp. บริษัทขนาดใหญ่สุดในธุรกิจปล่อยกู้จำนองสหรัฐฯ อาจต้องประสบกับภาวะล้มละลายถ้าสภาพคล่องย่ำแย่ลงไปอีก

วาณิชธนกิจ Bear Stearns (วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ)
16 มี.ค.2551 บริษัท JPMorgan Chase เข้าซื้อ บริษัท Bear Stearns ที่เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนักในราคาเพียง 2 ดอลลาร์ฯ ต่อหุ้น โดยเฟดให้การค้ำประกันที่จะอัดฉีดเงินทุนมากถึงเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำของ Bear Stearns

ธนาคาร IndyMac Bank (ผู้ปล่อยกู้จำนองรายใหญ่อับดับ 9 ของสหรัฐฯ)
11 ก.ค.2551 บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) เข้ายึดธนาคาร IndyMac ซึ่งนับเป็นการล้มละลายของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเป็นธนาคารแห่งที่ 5 แล้วในปี 2551

Fannie Mae (สมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง) และ Freddie Mac (บรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง)
7 ก.ย. 2551 สำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (FHFA) ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ (Conservatorship) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

วาณิชธนกิจ Lehman Brothers (วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ)
15 มี.ค.2551 บริษัท Lehman Brothers ระบุ เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย (หลังจากธนาคาร Barclays Plc. ของอังกฤษ Bank of America และ Korean Development Bank ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศถอนตัวออกจากการเจรจาซื้อกิจการ)

บริษัทหลักทรัพย์ Merrill Lynch & Co Inc. ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในสหรัฐฯ
15 มี.ค.2551 บริษัท Merrill Lynch & Co Inc. ตกลงขายกิจการให้กับธนาคาร Bank of America ด้วยมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่ประสบความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตสินเชื่อ การปรับลดมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการครอบครองตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อจำนอง

บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ซึ่งเคยครองตำแหน่งบริษัทประกันที่มีมูลค่าตลาดที่มากที่สุดในโลก
กำลังดำเนินการ บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ซึ่งได้ลงทุนจำนวนมากในธุรกิจจำนอง กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะเพิ่มทุน และอาจต้องประกาศขายกิจการบางแห่งเพื่อระดมทุน ทั้งนี้ บริษัท AIG ได้รับการอัดฉีดเงินทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากเจ้าหน้าที่รัฐนิวยอร์ก อย่างไรก็ตาม บริษัท AIG กำลังเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหม่ หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของ AIG ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเพิ่มทุนของบริษัท

บริษัท Washington Mutual Inc. สถาบันการเงินประเภท savings and loan ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
กำลังดำเนินการ ราคาหุ้นของ บริษัท Washington Mutual Inc. ดิ่งลงอย่างหนักจากความวิตกที่ว่าบริษัทอาจไม่สามารถระดมทุนได้มากพอที่จะชดเชยการขาดทุนด้านการจำนองที่พุ่งขึ้น ขณะที่ ทางธนาคารคาดการณ์ว่า จะมีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีต่อไป

ที่มา : รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ นั้น มีความแตกต่างไปจากกรณีวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ Bear Stearns ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมีนาคม 2551 อยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นความช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยในช่วงปัญหาของ Bear Stearns นั้น เฟดได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านเงินทุนประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สำหรับสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องของ Bear Stearns โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของบริษัท JPMorgan Chase ในการเข้าซื้อกิจการ Bear Stearns เนื่องจากปัญหาของ Bear Stearns ในช่วงนั้น สะท้อนถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายอาจมีขนาดที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ วาณิชธนกิจ Bear Stearns ในเวลาดังกล่าว ได้ส่งผลทำให้เฟดต้องเปิดหน้าต่างปล่อยกู้โดยตรงให้กับดีลเลอร์ชั้นนำที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีท (ประกาศในวันที่ 16 มีนาคม 2551) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมสภาพคล่องที่ไม่เคยใช้มาก่อนนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัญหาของบริษัท Lehman Brothers ในรอบนี้ นั้น ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อสังเกตหนึ่งที่ประเมินได้จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ก็คือ เฟดและทางการสหรัฐฯ ได้เลือกให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องมากกว่าที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยตรงแบบกรณีของวาณิชธนกิจ Bear Stearns หรือเข้าไปช่วยกอบกู้กิจการแบบกรณีของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ดังจะเห็นได้จาก หลังจากที่การเจรจาระหว่างเฟด กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ กับตัวแทนสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว ก็ไม่พบว่า ทางการสหรัฐฯ จะออกมาตรการมาช่วยเหลือจนในที่สุดวันที่ 15 กันยายน 2551 บริษัท Lehman Brothers ต้องออกประกาศว่า ทางบริษัทได้เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย สำหรับกรณีของบริษัท Merrill Lynch & Co Inc. ก็เช่นเดียวกัน แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัท Merrill Lynch & Co Inc. ออกมาในรูปแบบของการทำข้อตกลงขายกิจการให้กับ ธนาคาร Bank of America โดยใช้หุ้นทั้งหมดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ท่าทีของเฟดในการหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยตรงในการเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหานั้น คงจะเป็นเพราะ เฟด และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่ต้องการที่จะสร้างภาระทางการเงินแก่ผู้เสียภาษี ซึ่งมักจะถูกวิจารณ์ว่า เป็นการนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยสถาบันการเงินที่ดำเนินการอย่างไม่รับผิดชอบ

โดยมาตรการฉุกเฉินด้านสภาพคล่องของเฟดที่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับการล้มละลายของ Lehman Brothers ก็คือ การที่เฟดได้ขยายขอบเขตของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ค้ำประกันการกู้ยืมในโครงการปล่อยกู้แก่บริษัทดีลเลอร์ชั้นนำ (PDCF) เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเภทของหลักทรัพย์ที่สามารถใช้ในการประกันการกู้ยืมในระบบ Repo สามฝ่ายของธนาคารชำระบัญชีขนาดใหญ่สองแห่ง โดยก่อนหน้านี้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าว ถูกจำกัดไว้เพียงแค่หลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าลงทุนเท่านั้น

นอกจากนี้ เฟดได้ขยายขอบเขตของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ในการประกันการกู้ยืมในโครงการปล่อยกู้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล (TSLF) ด้วยเช่นกัน โดยหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ประกันการกู้ยืมในการประมูลโครงการ 2 ได้นับรวมหลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าลงทุนทุกประเภท นอกเหนือไปจากพันธบัตรรัฐบาล หลักทรัพย์ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์หรือสัญญาจำนองที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น AAA ที่ได้อนุญาตไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ


ปัญหาความปั่นป่วนของของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน โดยผลกระทบทางอ้อมที่เห็นชัดที่สุดก็คือ การปรับตัวลงด้วยขนาดที่รุนแรงอย่างถ้วนหน้าของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ในขณะที่ ผลกระทบทางตรง ที่อาจเกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนนักในขณะนี้ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหากับสถาบันการเงินอื่นๆ นั้น มีจำกัด

 ผลกระทบทางอ้อม

ความไม่เพียงพอด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหา ได้กระตุ้นให้นักลงทุนทั่วโลกระบาย / ลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ แรงเทขายหุ้นอย่างหนักในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2550 และล่าสุดสถานการณ์ปัญหาของบริษัท Lehman Brothers บริษัท Merrill Lynch & Co Inc. และบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ได้จุดชนวนแรงเทขายในตลาดหุ้นเอเชีย ตลาดหุ้นยุโรป ต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันที่ 15-16 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา โดยในวันที่บริษัท Lehman Brothers ประกาศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายนั้น ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดทรุดลง 4.4% ซึ่งนับเป็นการร่วงลงใน 1 วันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 ขณะที่ ดัชนี S&P 500 ปิดดิ่งลง 4.7% ซึ่งถือเป็นการร่วงลงคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ตลาดเปิดทำการอีกครั้งหลังเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

นอกจากนี้ นักลงทุนยังทำการระบายธุรกรรม Carry Trade ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ การทะยานแข็งค่าขึ้นของเงินเยน ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการทำ Carry Trade และการแข็งค่าขึ้นของเงิน ฟรังก์สวิส ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย ทั้งนี้ เงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นมายืนที่ระดับประมาณ 104.00 เยนต่อดอลลาร์ฯ (ช่วงท้ายตลาดเอเชียวันที่ 16 กันยายน 2551) เทียบกับระดับ 107.92 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า (ก่อนข่าวการประกาศล้มละลายของบริษัท Lehman Brothers) ขณะที่ เงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1075 ฟรังก์ต่อดอลลาร์ฯ (ช่วงท้ายตลาดเอเชียวันที่ 16 กันยายน 2551) เทียบกับระดับ 1.1303 ฟรังก์ต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า


 ผลกระทบทางตรง

สำหรับผลกระทบทางตรงที่อาจเกิดขึ้นนั้น อาจไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนมากนักในขณะนี้ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมเชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหากับสถาบันการเงินอื่นๆ นั้น มีจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ก็คือ สภาพคล่องและเงินสดเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินทุกแห่งแสวงหา พร้อมๆ จัดหามาตรการที่จะทำให้เงินทุนของทางบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของทางบริษัทได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากภาวะความปั่นป่วนของสถาบันการเงินในรอบนี้

 ประเมินแนวโน้มในระยะถัดไป

จากการที่ต้นเหตุของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในรอบนี้ อยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ยังคงทรุดตัวลง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ น่าจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป โดยการทรุดตัวของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯดังกล่าว จะยังคงส่งผลกระทบต่อการบันทึกมูลค่าทางบัญชีของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ขณะที่ปัญหาการเสื่อมค่าของมูลค่าทางบัญชีของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ตลอดจนข่าวร้ายของภาคการเงิน จะบรรเทาเบาบางลง ก็ต่อเมื่อตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วเท่านั้น

นอกจากสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิกฤตในรอบนี้แล้ว ท่าทีของธนาคารกลาง และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยจากกรณีของ บริษัท Lehman Brothers และ บริษัท AIG ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เฟดและทางการสหรัฐฯได้เลือกที่จะให้ความช่วยเหลือในรูปของมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง มากกว่าจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนโดยตรงให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อลดข้อวิจารณ์ต่อประเด็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งที่เคยดำเนินธุรกิจอย่างขาดความรอบคอบในอดีต ซึ่งท่าทีดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ ย่อมจะทำให้สถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ต้องดิ้นรนมากขึ้นในการแสวงหาพันธมิตรเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการสหรัฐฯคงจะตระหนักดีว่า การเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่สถาบันการเงินที่เกิดปัญหานั้น แม้ว่าอาจจะช่วยลดความตื่นตระหนกของตลาดเงินตลาดทุนลงไปได้ แต่ก็อาจจะสร้างปัญหาในด้านวินัยทางการเงินและความรับผิดชอบของสถาบันการเงินตามมาในภายหลัง รวมทั้งยังไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เสียภาษี ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการเข้าไปช่วยเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง พร้อมๆ กับการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการว่างงาน คงจะส่งผลให้ปัญหาตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯต้องลากยาวออกไป โดยการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจะยังคงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ตลาดการเงินทั่วโลก ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ จะยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในขณะเดียวกัน คงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะขยายวงกว้างออกไปมากน้อยเพียงไร ซึ่งทำให้ คาดว่า เฟดและทางการสหรัฐฯ ตลอดจนธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาช่วยให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติสภาพคล่องและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของบรรดานักลงทุน ซึ่งน่าจะส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก คงยากที่จะปรับตัวขึ้น ณ ขณะนี้ 

. . .





Create Date : 16 กันยายน 2551
Last Update : 16 กันยายน 2551 19:37:57 น. 1 comments
Counter : 913 Pageviews.

 
. . .

หุ้นไทยลดลง 2.8% จากผลกระทบวิกฤติการเงินจากกรณีเลห์แมนบราเธอร์ส


ภาวการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยดิ่งทำสถิติต่ำสุด ปรับตัวลดลง 17.83 จุดหรือร้อยละ 2.8 มาปิดที่ 624.56 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 13,919 ล้านบาท โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินรอบใหม่ หลังจากที่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ล้มละลาย

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า ดัชนีลดลงต่อเนื่องจากวันก่อนเพราะวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ สำหรับผลกระทบหลักที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่ ผลกระทบจากการขายสินทรัพย์ของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส เพื่อชำระหนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกลดลง และผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยการเป็นผู้ลงทุนในตราสารการเงิน และเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส

ส่วนการที่ AIG ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Moody และ S&P สู่ระดับ A- จากระดับเดิมที่ AA- หลังจากที่ AIG ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องจำนวน 40,000 ล้านบาท จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ คาดว่าจะมีส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ต่อไป ดังนั้น นักลงทุนควรจะชะลอการลงทุนและถือเงินสด

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอ็คคินซัน กล่าวว่า หุ้นไทยร่วงลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติยังขายต่อเนื่อง เพราะกังวลปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ และการเมืองยังไม่นิ่งมองแนวโน้มตลาดยังคงผันผวน คำแนะนำนักลงทุนช่วงนี้ให้ชะลอการลงทุนไว้ก่อน

. . .



ผลกระทบจากกรณีเลห์แมนบราเธอร์สล้มละลาย


คลังหวั่นปัญหาการเงินสหรัฐลาม เอไอจีในไทยสั่งจับตาใกล้ชิด


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการหารือหรือแสดงความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจไทย หลังจากที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่งในส่วนกระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นห่วงสถานการณ์ของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส เพราะลงทุนในไทยน้อย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าคงเหลือทุนจากต่างประเทศอีกไม่มากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวล คือ กรณีของบริษัท เอไอจี ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐที่กำลังประสบปัญหาการเงินเช่นกัน เนื่องจากเอไอจี เข้ามาลงทุนในไทยมาก ซึ่งได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าการลงทุนของเอไอจี ในไทย มีจำนวนมากน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้

. . .


คปภ.ยืนยันฐานะ เอไอเอ มั่นคงไม่น่าห่วง


นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณี บริษัท เอไอจี ซึ่งเป็นบริษัทประกันของสหรัฐมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และอาจทำให้บริษัทลูกในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะ เอไอเอ อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องว่า คปภ. มีกฎหมายควบคุมให้บริษัทประกันต้องตั้งเงินสำรองกองทุนให้เพียงพอและเป็นไปตามกฎหมาย คือ ต้องมีเงินกองทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 150 ของการประกอบธุรกิจ แต่เอไอเอ ประเทศไทย มีเงินกองทุนมากถึงร้อยละ 1,107 ซึ่งสูงกว่าหลักเกณฑ์

นอกจากนี้ ภาพรวมฐานะของเอไอเอ ประเทศไทย ปี 2550 มีสินทรัพย์รวมตามบัญชีมากกว่า 300,000 ล้านบาท และในปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.- ก.ค. ผลการดำเนินงาน มีสินทรัพย์รวม 380,000 ล้านบาท และมีผลกำไรสะสมปี 2550 กว่า 65,000 ล้านบาท และในช่วงปี 2551 ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. มีกำไรสะสมมากกว่า 70,000 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องสูง และไม่น่าส่งผลกระทบต่อผู้ถือกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่บริษัทเอไอเอ จะส่งผลกำไรไปให้บริษัทแม่คือ เอไอจี ตามกฎหมายมาตรการ 32 ของ พ.ร.บ.ประกันชีวิต กำหนดไว้ว่า การส่งเงินผลกำไรไปให้บริษัทแม่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนคือ คปภ.ก่อน ซึ่งเอไอเอ ได้ทำเรื่องขอส่งผลกำไรไปยังบริษัทแม่ นับตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมา ในลักษณะปีต่อปี ซึ่งปี 2546 คปภ.ได้อนุมัติให้ส่งเงินไปได้ 1,200 ล้านบาท, ปี 2547 จำนวน 1,200 ล้านบาท, ปี 2548 จำนวน 2,000 ล้านบาท, ปี 2549 จำนวน 2,000 ล้านบาท, และปี 2550 ได้ขอนำส่งเงินกำไรจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยจะทยอยส่งเดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่ง คปภ.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

“หากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องฐานะของบริษัทประกันภัย สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงจากสายด่วนประกันกัน 1186 ” นางจันทรา กล่าว

. . .



คาดไทยเสียหายจากกรณีเลห์แมนฯ 3,000 ล้านบาท


นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงผลจากการที่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส มีปัญหาในสหรัฐอเมริกา ว่า หากคาดคะเนความเสียหายจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนบราเธอร์ส เมื่อคำนวณจากการได้คืนสินทรัพย์หลังการล้มละลายตามข้อมูลในอดีตของสหรัฐฯ คาดว่าจะได้คืนประมาณ 30 เซนต์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะมีความเสียหายประมาณ 3,000 ล้านบาท จากการทำธุรกิจเกี่ยวข้องในวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

น.ส.บุษเรศ หยุ่นนิยม ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า ข่าวการประกาศล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์ของเลห์แมน บราเธอร์ ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง และมีการไหลออกของเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศกลับเข้าไปที่อเมริกา
สำหรับผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยนั้น คาดว่ามีไม่มากนัก เนื่องจากเลห์แมนไม่มีสาขาในประเทศไทย และในส่วนของการให้สินเชื่อ การลงทุนในพันธบัตร และการทำสัญญาอนุพันธ์ซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าระหว่างธนาคารพาณิชย์กับเลห์แมนมีจำนวนไม่มาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยว่า ตัวเลข ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2551 ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 14 แห่ง มียอดคงค้างปล่อยสินเชื่อโดยตรงและซื้อพันธบัตร 4,300 ล้านบาท ซึ่งต้องรอดูว่าจะได้รับสิทธิคืนเท่าไร และต้องกันสำรองหนี้เพิ่มจำนวนเท่าไร ในขณะที่ส่วนสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจำนวน 5,300 ล้านบาท จะมีความเสียหายเกิดขึ้น เฉพาะเพียงส่วนต่างดอกเบี้ยที่ซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิน 100 ล้านบาท

. . .



ธนาคารกรุงเทพ เชื่อจะได้รับเงินคืนบางส่วนจากเลห์แมนบราเธอร์สฯ


ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้ลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิ (senior unsecured bond) ของเลห์แมน บราเธอร์ส จำนวน 3,500 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการชำระคืนบางส่วน โดยผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ

เผยว่า ผลการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นกู้ของเลห์แมนฯ จะมีผลต่องวดบัญชีเพียง 1 ไตรมาส และจะไม่ส่งผลให้ธนาคารต้องมีขาดทุนสุทธิ เนื่องจากยังมีกำไรจากการดำเนินงาน

นางกุลธิดา ศิวยาธร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า คงต้องรอดูกระบวนการศาลของทางสหรัฐฯว่าการชำระหนี้จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าคงจะได้คืนมาบ้างบางส่วน

. . .


ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีผลกระทบกรณีเลห์แมน บราเธอร์สฯ เพราะขายตราสารไปแล้ว


นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ขายตราสารทางการเงินก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะเป็นการตัดขายขาดทุน ซึ่งคาดว่าจะบันทึกผลขาดทุนภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนผลกระทบเกี่ยวกับสถาบันการเงินมองว่าไม่น่าจะกระทบมาก เพราะสถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่ง

. . .


หอการค้าแนะผู้ส่งออกปรับตัวหาตลาดใหม่ รับมือวิกฤตการเงินสหรัฐฯ


นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวถึงวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ในขณะนี้ โดยระบุว่า ผู้ส่งออกของไทยจะต้องจับตาสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และเร่งปรับตัวหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดสำคัญของไทย ดังนั้น วิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯ จะกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อัญมณี และเครื่องประดับ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มสินค้าที่ไทยเข้าร่วมกับพันธมิตรกับผู้ส่งออกในกลุ่มเอเชียด้วยกัน
ผู้ส่งออกของไทยจะต้องปรับตัวเร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลัก และยังคิดว่าวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ในที่สุดเชื่อว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐฯ จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไปในตลาดสหรัฐฯ มากนัก ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปจลาดสหรัฐปีละประมาณ 3.0-3.5 แสนตัน หากสหรัฐลดปริมาณนำเข้าข้าวไทยร้อยละ 10 ก็ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยังคิดว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คงไม่ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร

เนื่องจากแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ความต้องการสินค้าไปบริโภคยังมีอยู่ต่อเนื่อง แต่กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

. . .



นักวิชาการเชื่อวิกฤตเลห์แมนฯ กระทบการส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรป - คาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถึงปีหน้า


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การประสบปัญหาวิกฤติการเงินของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ในสหรัฐอเมริกา จะมีผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป เข้าสู่ภาวะถดถอย และคงมีผลต่อประเทศไทยในทางอ้อมเท่านั้น เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนในตราสารซีดีโอ (Collateralized Debt Obligation) น้อย

โดยในระยะสั้นจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับแนวรับที่ 600 จุด และเงินบาทอ่อนค่าลง แกว่งตัวในระดับ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในปีนี้ ให้ขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 1 และทำให้การส่งออกของไทยในปีหน้าชะลอตัวลงอยู่ในกรอบร้อยละ 8-10 โดยปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ยังคงมีความรุนแรง และการเมืองในประเทศไม่มีความมั่นคงจะเป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ให้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 4.5-5.0

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงปี 2552 แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันจะลดลงถึงระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกครั้ง อัตราดอกเบี้ยจะลดลง

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่ที่เข้ามาแทนที่คือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและถดถอยอย่างมาก

ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้แม้จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ แต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรงเท่ากับปี 2472-2474 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดสงคราม แต่วิกฤติครั้งนี้ เกิดจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ(ซับไพรม) เชื่อมกันทั่วโลก จึงเกิดผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากสถาบันการเงินไทยไม่ได้ลงทุนในตราสารซับไพรมมากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือตลาดหุ้นไทยจะตกต่ำลงอีก แต่จะไม่รุนแรงเท่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ และฮ่องกงที่เชื่อมโยงกับสหรัฐมากกว่าไทย

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอแนะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 ในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 8 ตุลาคมนี้ เพราะจะรอนโยบายการคลังไม่ได้ เนื่องจากการเมืองมีปัญหา

. . .


สมาคมธนาคารไทยแนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ รับมือเงินตึงตัวจากปัญหาเลห์แมน บราเธอร์ส


เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย คาดวิกฤติการเงินสหรัฐฯส่งผลกระทบให้เกิดภาวะเงินตึงตัว แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐน่าจะส่งผลต่อบริษัท และสถาบันการเงินในสหรัฐฯเกือบทุกแห่งที่มีบริษัทแม่ในสหรัฐฯจะดึงเม็ดเงินลงทุนกลับไปช่วยพยุงสถานะของบริษัทแม่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินตึงตัวในประเทศไทย รัฐบาลต้องเร่งผลักดัน พ.รบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 และเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็ว หากไม่เร่งการเบิกจ่ายจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบล่าช้า ยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น และขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่ามีปัญหาเงินตึงตัวบ้างแล้ว เนื่องจากภาคธุรกิจไม่กล้าขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุนในช่วงนี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็จะต้องจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

. . .



ครม.มีมติรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน


น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เพิ่มอีก 1 ล้านตัน จากเดิม 3.5 ล้านตัน เป็น 4.5 ล้านตัน เนื่องจากยังมีชาวนาที่รอเข้าโครงการอีก 50,000 ราย

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการจำนวน 12,000 ล้านบาท และให้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 829 ล้านบาท ให้กับองค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และธกส.

ที่ประชุม ครม.ยังได้เห็นชอบให้เลื่อนการจัดงาน 'มหกรรมมั่นใจไทยแลนด์ เพื่อการลงทุน ประเทศไทย' จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 10 - 12 ต.ค. นี้ออกไปก่อน เนื่องจากเกรงว่า อาจจะตรงกับช่วงแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนจะเป็นเมื่อใด ก็ต้องรอนโยบายของรัฐบาลให้ชัดเจนอีกครั้ง

. . .






โดย: loykratong วันที่: 16 กันยายน 2551 เวลา:19:44:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.