Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
20 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . ทิศทางค่าเงิน และ ตลาดหุ้น สัปดาห์นี้ (21-25 ก.ค.) . . .

. . .


“เงินบาทแข็งค่าขึ้นขณะที่หุ้นไทยร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน”
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหลัก ในขณะที่ ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ของธนาคารพาณิชย์ในวันอังคาร การตัดจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงกลางสัปดาห์ และการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นอยู่ในกรอบระหว่าง 3.23-3.49% เทียบกับ 3.18-3.23% ในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1 วัน ในช่วงต้นสัปดาห์ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 3.25%

แต่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปที่ระดับ 3.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทั้งสองตลาดปรับตัวขึ้นตาม ขณะที่มีธุรกรรมระยะ 7 และ 14 วัน เพียงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ระดับ 3.50%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 5.15% ในวันศุกร์ ปรับลงจาก 5.43% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของไทยปรับขึ้นภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ 3.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวปรับตัวลดลงมาหลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากในช่วงก่อนหน้า โดยน่าจะมีแรงหนุนมาจากความต้องการลงทุนที่กลับเข้ามายังพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวอีกครั้ง

ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 3.99% ในวันศุกร์ เพิ่มขึ้นจาก 3.97% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับลงในวันจันทร์และวันอังคาร เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาคการธนาคารที่ฉุดให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯดิ่งลง หลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แสดงความคิดเห็นว่า ตลาดการเงินและสถาบันการเงินหลายแห่งยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเป็นอย่างมาก

และกล่าวเสริมว่า การร่วงลงของตลาดที่อยู่อาศัย ภาวะสินเชื่อหดตัวและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯจึงเป็นการลดการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ปรับตัวขึ้นวันพุธและวันพฤหัสบดี ตามการปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยได้รับแแรงหนุนจากการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน และรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของบริษัทบางแห่ง อีกทั้งจากการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับขึ้นสู่ 5.0% ในเดือนมิถุนายนด้วย


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทในประเทศ (Onshore) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ ยังมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่ามาจากธปท. (เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงิน) และนักลงทุนต่างประเทศ (อาจเป็นเพื่อตัดขาดทุน) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นผู้ขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากผู้นำเข้า โดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ขณะที่ตลาดการเงินได้ซึมซับข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไปมากแล้ว

สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งมายืนที่ระดับประมาณ 33.30 (ตลาดเอเชีย) โดยได้รับแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุนในตลาดออฟชอร์ และการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคบางสกุล อาทิ เงินเปโซ เทียบกับระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 กรกฎาคม) หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดในประเทศจาก Reuters



ในสัปดาห์นี้ (21-25 กรกฎาคม 2551) คาดว่าจะมีการทยอยไหลกลับเข้ามาของสภาพคล่องหลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.50% จากปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ภายใต้ภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ส่วนเงินบาทในประเทศอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.20-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ควรจับตา ได้แก่ แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้าและนักลงทุนต่างชาติ ทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค และสัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของธปท. ตลอดจนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2551 ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง/บ้านใหม่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ขั้นสุดท้าย) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจัดทำโดย Conference Board เดือนมิถุนายน ตลอดจนรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด



การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนปรับตัวอย่างผันผวนก่อนจะอ่อนแรงลงในช่วงท้ายสัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ระดับ 104.14 เยนต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนักอันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ขณะที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้กล่าวต่อสภาคองเกรสว่า ตลาดการเงินและสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก และการฟื้นฟูเสถียรภาพก็เป็นภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับเฟด

นอกจากนี้ เงินเยนยังได้รับแรงหนุนจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนซึ่งสะท้อนผ่านการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เงินเยนต้องลดช่วงบวกทั้งหมดลงในช่วงต่อมา ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2551 ของเจพี มอร์แกน เชสและเวลส์ ฟาร์โก ออกมาดีเกินคาด และได้ช่วยคลายกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตสินเชื่อลงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับปัจจัยบวกจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกอีกด้วย

สำหรับในวันศุกร์ เงินเยนปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 106.61 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับ 106.21 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 กรกฎาคม) ขณะที่นักลงทุนจับตาดูผลประกอบการไตรมาส 2/2551 ของซิตี้กรุ๊ป ที่จะประกาศช่วงตลาดนิวยอร์ก

หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดนิวยอร์กจาก Reuters


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6038 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนัก หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ยังคงมีมุมมองต่อภาคการเงินในเชิงลบ โดยกล่าวว่า สถาบันการเงินยังคง "เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก" และการฟื้นฟูเสถียรภาพก็เป็นภารกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ของเฟด

ในขณะที่ ข่าวดีเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ของทางการสหรัฐฯ เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เงินยูโรต้องลดช่วงบวกทั้งหมด และอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ได้บรรเทาลง หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/2551 ของเจพี มอร์แกน เชสและเวลส์ ฟาร์โก ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ขณะที่ การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ช่วงขาลงของเงินยูโรเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงออกมาแสดงความวิตกต่อแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ในขณะที่ บทความในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ได้ระบุถึง แนวโน้มการลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ฯ ของกองทุนบริหารความมั่งคั่งของจีนและประเทศในตะวันออกกลาง

สำหรับในวันศุกร์ เงินยูโรปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5852 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับ 1.5940 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 กรกฎาคม) หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดนิวยอร์กจาก Reuters

. . .


 ภาวะตลาดทุน


 ตลาดหุ้นไทย “ดัชนีร่วงลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 18 เดือน”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 664.52 จุด ปรับลดลง 9.01% จาก 730.29 จุดในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 22.56% จากสิ้นปี 2550 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 10.66% จาก 64,706.43 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 57,806.65 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 12,941.29 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 11,561.33 ล้านบาท

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 234.87 จุด ขยับลง 5.03% จาก 247.30 จุดในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 13.77% จากสิ้นปีก่อน

โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องที่ 10,922.19 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 7,629.02 ล้านบาท และ 3,293.19 ล้านบาท ตามลำดับ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากปัจจัยลบทั้งภายในประเทศในเรื่องการเมือง และปัจจัยภายนอกจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องทั้งสัปดาห์

โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับลงจากแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานและแบงก์ ในขณะที่ภาวะการลงทุนยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองในประเทศ

ส่วนในวันอังคาร ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงอย่างหนักถึงร้อยละ 3.30 โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า 700 จุด ท่ามกลางแรงเทขายทั่วกระดาน นำโดยหุ้นในกลุ่มหลัก เช่น แบงก์ และพลังงาน เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

หลังจากนั้น ดัชนียังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในวันพุธ โดยดัชนีดิ่งลงทำสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี 3 เดือน หลังราคาน้ำมันดิ่งลงกว่า 6 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบ 17 ปี เป็นตัวฉุดหุ้นในกลุ่มพลังงาน

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ทั้งนี้ หลังจากเปิดทำการอีกครั้งในวันศุกร์ ดัชนียังคงปรับตัวลดลงไม่มากนัก แต่ก็ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยมีแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มพลังงานในช่วงบ่าย ทำให้กลุ่มพลังงานปรับตัวลบน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มแบงก์ ที่เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/51 ออกมา ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ยังสามารถยืนในแดนบวกได้เหมือนกับในช่วงเช้า


สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (21-25 กรกฎาคม 2551)
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีอาจปรับตัวผันผวน โดยแม้ว่าอาจมีแรงซื้อเก็งกำไรในผลประกอบการในกลุ่มแบงก์อย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าทิศทางของตลาดก็ยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มของราคาน้ำมัน และแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังต้องรอดูการแก้ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นทางการเมืองในประเทศด้วย

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ การเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ในวันจันทร์ ตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ในวันพุธ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่เดือนมิ.ย. ในวันศุกร์ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 660 และ 595 จุด และแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 704 และ 734 จุด ตามลำดับ



 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ “ดัชนี DJIA ร่วงลงจากปัญหาสถาบันการเงิน”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2551 ดัชนี DJIA ปิดที่ 11,446.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.94% เมื่อเทียบกับ 11,100.54 จุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แต่ร่วงลง 13.71% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,312.30 จุด ปรับขึ้น 2.41% เมื่อเทียบกับ 2,239.08 จุดปลายสัปดาห์ก่อน แต่ร่วงลง 12.82% จากสิ้นปีก่อนหน้า

โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนี DJIA ร่วงลง โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องสถาบันการเงินของสหรัฐฯ หลังจากการล้มละลายของธนาคารอินดีแมคในวันศุกร์ โดยความกังวลนี้ได้บดบังมุมมองในเชิงบวกในช่วงแรกที่มีต่อแผนการของทางการสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค

ส่วนในวันอังคารดัชนี DJIA ดิ่งลง และปิดที่ระดับต่ำกว่า 11,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยหุ้นในกลุ่มการเงินได้รับแรงกดดัน หลังจากที่นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในแผนของทางการสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือต่อแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ดัชนี DJIA พุ่งขึ้นต่อเนื่องในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงหนุนจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ซึ่งได้ช่วยลดความกังวลเรื่องภัยคุกคามจากภาวะเงินเฟ้อ และรายงานผลประกอบการของเจพี มอร์แกน เชส ที่ออกมาดีเกินคาด

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นอาจไม่สามารถไต่ขึ้นได้ในวันศุกร์ เนื่องจากบริษัทกูเกิล ไมโครซอฟท์ และเมอร์ริลลินช์ เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังหลังปิดตลาดในวันพฤหัสบดี

 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น “ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ”

เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2551 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 12,803.70 จุด ปรับลดลง 1.81% จากปิดตลาดที่ 13,039.69 จุด เมื่อสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 16.36% จากสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลง ท่ามกลางการปรับลดของหุ้นในกลุ่มแบงก์ เช่น หุ้นมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หลังจากที่ดัชนีสามารถดีดตัวขึ้นในช่วงเช้า เพื่อขานรับต่อมาตรการฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค

ส่วนในวันอังคารดัชนี NIKKEI ปิดตลาดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง โดยหุ้นในกลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อภาคการเงินของสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นในกลุ่มส่งออก ได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และความวิตกเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าของญี่ปุ่น

หลังจากนั้น ดัชนี NIKKEI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในกลางสัปดาห์ โดยหุ้นกลุ่มแบงก์ เช่น หุ้นมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีข่าวว่าหน่วยงานกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ได้ออกกฎระเบียบฉุกเฉินเพื่อจำกัดการทำช็อตเซลในหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่

ส่วนในวันพฤหัสบดี ดัชนี NIKKEI ปรับตัวขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ในขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อวิกฤตสินเชื่อและเข้าซื้อในกลุ่มแบงก์ หลังผลประกอบการของเวลส์ ฟาร์โก ออกมาดีเกินคาด

อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลดลงในวันศุกร์ โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในคืนนี้ (18 ก.ค.) ขณะที่ดัชนีดัชนีปรับตัวขึ้นได้ในช่วงเช้า โดยหุ้นในกลุ่มส่งออก เช่น ฮอนด้า มอเตอร์ ได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า ส่วนหุ้นในกลุ่มแบงก์ ได้แรงหนุนจากผลกำไรของเจพีมอร์แกนที่ปรับตัวลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้

ทั้งนี้ ความระมัดระวังหลังบริษัทกูเกิล ไมโครซอฟท์ และเมอร์ริล ลินช์ เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังหลังปิดตลาดสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี มีอิทธิพลต่อตลาด มากกว่าแรงหนุนที่เกิดจากการที่เจพีมอร์แกนเปิดเผยว่าผลประกอบการไม่ได้ลดลงมากอย่างที่คาดไว้ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าเทขายหุ้นก่อนช่วงวันหยุดยาว โดยตลาดหุ้นโตเกียวจะปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันหยุดประจำชาติ

. . .


Create Date : 20 กรกฎาคม 2551
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 20:07:38 น. 1 comments
Counter : 525 Pageviews.

 

ขิมงงฮะ


โดย: ขิมทอง IP: 202.12.118.61 วันที่: 21 กรกฎาคม 2551 เวลา:9:47:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.