JAS-39 Gripen: วิเคราะห์ ลูกค้า Gripen ชาติที่ 6 ต่อจากไทย
Gripen มีลูกค้าในปัจจุบันอยู่ 4 ชาติครับ ฮังการี, เช็ค, ETPS (Empire's Test Pilot School), และแอฟริกาใต้ ..... ไทยกำลังจะเป็นลูกค้าชาติที่ 5 ด้วยจำนวนการจัดหา 12 ลำ
ในบทความนี้ เราจะไปมองดูโอกาสของ Gripen ในแต่ละประเทศที่อาจจะเป็นลูกค้ารายที่ 6 ต่อจากกองทัพอากาศไทยกันครับ
เริ่มต้นด้วยประเทศที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด 2 ประเทศก่อนคือ
- โรมาเนีย
กองทัพอากาศโรมาเนียกำลังพิจารณาปลดประจำการ MiG-21 จำนวน 110 ลำของตนในปี 2008 (ปัจจุบัน MiG-21 ใช้งานได้ 48 ลำ) และต้องการเครื่องบินที่มาทดแทนมากถึง 48 เครื่อง มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย คู่แข่งในชั้นต้นมี F-16C/D, Gripen, และ Typhoon
สถานการณ์ล่าสุดในตอนนี้คือ F-16 ไม่น่าจะมีโอกาสแล้วในกองทัพอากาศโรมาเนีย ซึ่งจะเหลือคู่แข่งจริง ๆ อยู่สองแบบคือ Gripen และ Typhoon
Typhoon มีข้อเสียเปรียบ Gripen ในการแข่งขันที่โรมาเนียคือเรื่องราคา ออสเตรียจัดหา Typhoon ไปประจำการจำนวน 16 ลำ ด้วยมูลค่าเฉลี่ยแล้วลำละ 100 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าโรมาเนียจัดหา Typhoon ครบตามความต้องการ จะต้องใช้เงินถึง 4,600 ล้านเหรียญ มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและงบประมาณทางทหารของโรมาเนีย
สำหรับ Gripen นั้น โรมาเนียสนใจที่จะใช้ Airframe (ตัวถัง) เก่า ซึ่งเป็นตัวถังของ Gripen ที่เคยใช้งานในกองทัพอากาศสวีเดน แต่มีชั่วโมงบินน้อยมาก คือราว 200 ชม. เท่านั้น โดยการปรับปรุงตัวถังเก่าจะต้องเปลี่ยนปีกและตรวจสอบโครงสร้าง รวมถึงเครื่องยนต์ด้วย
Gripen เมื่อเทียบกับ Typhoon แล้ว มีราคาถูกกว่าราว 30 ล้านเหรียญต่อลำ หรือมีราคาราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ และราคาก็น่าจะถูกลงอีกเพราะใช้ตัวถังเก่า และถ้าคิดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามความต้องการแล้ว ทางโรมาเนียต้องจ่าย 3,360 ล้านเหรียญ ประหยัดเงินมากกว่าการจัดหา Typhoon ถีงราว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ทำให้นักวิเคราะห็ต่างคาดการณ์ว่า Gripen น่าจะมีโอกาสสูงที่จะได้รับการคัดเลือก
ทั้งนี้ โรมาเนียจะประกาศการตัดสินใจในปีหน้า หรืออย่างช้าปี 2009
- โครเอเชีย
โครเอเชียก็เป็นอีกชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงกองทัพอากาศของตนจากระบบโซเวียตเป็นระบบนาโต้ โดยโครเอเชียจะจัดหาเครื่องบินขับไล่มาทดแทน MiG-21 จำนวน 13 ลำของตน ในความต้องการขั้นต้นคือ 12 - 16 และ และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 24 ลำภายในปี 2020
คู่แข่งในโครงการนี้ล่าสุดคือ F-16 และ Gripen ครับ ซึ่งข้อเสนอล่าสุดของสหรัฐคือ สหรัฐจะบริจาค F-16A/B ให้กับโครเอเชีย ซึ่ง Lockheed Martin บอกว่าจะเป็นการดีกับโครเอเชียเองในแง่ความคุ้ยเคยถ้าในอนาคตโครเอเชียต้องการจัดหา F-35 มาใช้งาน ส่วน Gripen ก็ยังคงข้อเสนอเดิมอยู่ แต่สิ่งที่ Gripen แตกต่าง (ในความคิดของ Saab AB) นั้นคือสวีเดนสามารถให้การตอบแทนทางอุตสาหกรรม (Industrial Offset) ซึ่งจะช่วยสร้างงานในโครเอเชีย และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ในขณะที่สหรัฐไม่มีข้อเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังต้องจับตาดูว่า โครเอเชียจะเลือกข้อเสนอใด ซึ่งถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ F-16A/B ก็จะเทียบความสามารถกับ Gripen ไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าโครเอเชียต้องจ่ายเงินซื้อ Gripen แต่แทบไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ F-16A/B แต่อย่างใด
การตัดสินใจจะมีขึ้นในปี 2008 หรือ 2009
นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ Gripen เข้าไปแข่งขันและมีโอกาสได้รับคัดเลือกเช่นกันครับ คือ
- สวิสเซอร์แลนด์
สวิสเซอร์แลนด์ต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทน F-5 เช่นเดียวกับกองทัพไทย โดยเริ่มโครงการในปีที่แล้ว ทั้งนี้ คู่แข่งของ Gripen นั้นมี F-35, Rafale, และ Typhoon ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวทั้งสิ้น ในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของโครงการ ทำให้ยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก
- บราซิล
โครงการ F-X ของบราซิลถูกพักอย่างไม่มีกำหนดในปี 2003 เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ และได้จัดหา Mirage 2000 มือสองจำนวน 12 ลำมาใช้งานเพื่อเป็นการอุดช่องว่าง และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้หลังจากการประกาศเพิ่มงบประมาณทางการทหารขึ้นอีก 50% บราซิลได้ประกาศโครงการจัดหาอากาศยานใหม่อีกครั้ง ซึ่งเรียกกันเล่น ๆ ว่า F-X2 โดยบราซิลต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่จำนวน 36 ลำ ในจำนวนเงิน 2.2 พันล้านเหรียญ และผู้ผลิตจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมการทหารของบราซิลด้วย
นอกจาก Gripen และ Su-35 ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่เข้าแข่งขันในโครงการ F-X รุ่นแรกก่อนที่จะถูกพักไปนั้น ยังคาดว่า Rafale และ Eurofighter จะเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผู้ที่เข้าแข่งขันแล้ว เชื่อว่า Gripen หรือ Rafale น่าจะเป็นผู้แข่งขันที่มีโอกาสได้รับเลือกมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากประวัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งทั้งสวีเดนและฝรั่งเศสมักจะเสนอให้ประเทศผู้ซื้อ ส่วน Typhoon ก็น่าจะมีโอกาสสอดแทรกเข้ามาได้ถ้ามีข้อเสนอในการถ่ายทอดเทคโนดลยีที่ดีพอ
ทั้งนี้ บราซิลต้องการใช้โครงการ F-X2 ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานทางทหารของตน
- นอร์เวย์
นอร์เวย์ต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทน F-16AM/BM จำนวน 57 ลำของตน โดยจะประกาศการตัดสินใจในปี 2010
ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้นมี Typhoon, F-35 และ Gripen โดย Saab AB เสนอแผนแบบ Gripen-N ที่เพิ่มประสิทธิภาพ พิสัย และน้ำหนักบรรทุกเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนอร์เวย์ นอกจากนั้นยังเสนอความร่วมมือทางอุตสาหกรรมหลายอย่าง ทั้งนี้ นอร์เวย์เพิ่งอนุมัติเงินทุกจำนวน 150 ล้านโครนให้ Saab AB วิจัยถึงความเป็นไปได้ของ Gripen-N แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าในที่สุดแล้ว F-35 น่าจะมีโอกาสได้รับเลือกมากที่สุด (ถ้าโครงการ F-35 ไม่ล้มเหลว) เนื่องจากนอร์เวย์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยและพัฒนาในโครงการ JSF มาตั้งแต่ต้น
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายชาติที่คาดว่า Gripen จะเข้าร่วมการแข่งขันเช่น สโลวาเกีย บัลแกเรีย กรีซ
โครงการจัดหาที่ได้รับความสนใจจากวงการการบินทางทหารจากทั่วโลกนั่นคือ MMRCA ของอินเดีย ในโครงการนี้ อินเดียมีความต้องการเครื่องบินรบขนาดกลางจำนวน 126 ลำในสัญญามูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญ และผู้ผลิตจะต้องตอบแทนด้วยการลุงทุนในอุตสาหกรรมทางการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นมูลค่า 50% ของสัญญา พร้อมกันนี้ เครื่องบินส่วนใหญ่ยังต้องประกอบเองโดยบริษัท HAL ของอินเดียในประเทศอินเดียอีกด้วย โครงการนี้ล่าช้ามานานและถูกปรับเปลี่ยนความต้องการหลายครั้ง รัฐบาลอินเดียส่ง Request for Information (คำร้องขอข้อมูล) ไปยังผู้ผลิตที่สนใจ และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ส่ง Request for Proposal (คำร้องของข้อเสนอ) ซึ่งเป็นการร้องขอให้ผู้ผลิตเครื่องบินทั้ง 6 แบบคือ F-16C/D Block 70, F/A-18E/F, Rafale, Typhoon, MiG-35 และ Gripen ยื่นข้อเสนอขั้นสุดท้ายเพื่อให้ทางการอินเดียพิจารณา โดยคาดว่าจะได้รายชื่อของผู้เข้ารอบสุดท้ายสองถึงสามรายในราวกลางปีหน้า
ทั้งนี้ Gripen แทบไม่มีหลังเลยกับโครงการนี้ เนื่องจากความต้องการของกองทัพอากาศอินเดียเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากความต้องการเครื่องบินขนาดเบามาเป็นเครื่องบินขนาดปานกลาง Gripen นั้นจึงเพียงแค่ตอบเสนอความต้องการเริ่มแรกเท่านั้น ผู้เข้ทแข่งที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็น MiG-35 นั้นเอง
ใน 2 ปีข้างหน้า โรมาเนียและโครเอเชียจะตัดสินใจเลือกแบบของอากาศยาน ในราวปี 2010 - 2012 สวิสเซอร์แลนด์, นอร์เวย์ และบราซิลจะทำการเลือกแบบ เราต้องจับตาดูว่า ชาติลูกค้าชาติที่ 6 ของ Gripen จะเป็นใคร? การจัดหาในครั้งนี้ของไทย จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศอื่น ๆ ที่จะจัดหาเครื่องบินรบเหมือนในโครงการในอดีตหรือไม่? หรือว่าเราจะเป็นชาติลูกค้าชาติสุดท้าย?
Time will tell.
Create Date : 25 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2550 3:13:17 น. |
|
5 comments
|
Counter : 2684 Pageviews. |
|
|
|
แวะมาทักทายกันหลังวันลอยกระทงครับ