กองทัพอากาศอินโดนิเซียกำลังเจรจาจัดหา F-16C/D เพิ่มเติมอีก 6 ลำ
แว๊บไปเจอบทความในเว็บของ Asia Time Online มาครับเกี่ยวกับการพัฒนากำลังรบของอินโดนิเซีย เจอข้อมูลที่น่าสนใจมากอยู่ข้อมูลหนึ่งคือ อินโดนิเซียกำลังเจรจาเพื่อจะจัดหา F-16C/D เพิ่มเติมอีก 6 ลำ
การจัดหาครั้งนี้มีมิติมากกว่าเครื่องบินรบธรรมดาครับ เพราะสถานการณ์ของอินโดนิเซียค่อนข้างพิเศษทีเดียว จึงขอถึอโอกาสมาเล่าให้ทุกท่านฟัง ณ โอกาสนี้ครับ
การคว่ำบาตรทางทหารต่ออินโดนิเซียของสหรัฐอเมริกา
จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของอินโดนิเซียในติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1999 เป็นผลให้สหประชาชาติเข้าแทรกแทรงโดยส่งกองกำลัง INTERFET และจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช สหรัฐอเมริกาทำการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางทหารต่ออินโดนิเซีย ทำให้ในเวลาต่อมาเครื่องบินของกองทัพอากาศอินโดนิเซียที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินจากสหรัฐเช่น F-16, F-5, A-4 ฯลฯ ต่างประสบปัญหาด้านความพร้อมรบอย่างรุนแรง
ในปี 2003 กองทัพอากาศอินโดนิเซียจึงลงนามในสัญญาจัดหา Su-27SK จำนวน 2 ลำ และ Su-30MK อีก 2 ลำจากรัสเซีย นับเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับมอสโควที่จะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากนั้นอินโดนิเซียจัดหาอาวุธอีกหลายรายการจากรัสเซีย โดยล่าสุดรัสเซียได้ให้เงินกู้จำนวน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดหาอาวุธเช่น Su-30MK2 จำนวน 6 ลำพร้อมอาวุธ, เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Kilo จำนวน 4 ลำ ฯลฯ นอกจากนั้นยังจัดหาเครื่องบินฝึกใบพัด KT-1 จากเกาหลีใต้ และร่วมกับจีนในการพัฒนาจรวดพื้นสู่พื้นอีกด้วย
Su-30MK Indonesia Air Force
การยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออินโดนิเซีย
ในปี 2005 สหรัฐประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรต่ออินโดนิเซีย รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ นาย Robert Gates ซึ่งเยือนอินโดนิเซียในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมากล่าวว่าอินโดนิเซียเป็นประเทศอิสลามขนาดที่เป็นประชาธิปไตย และแยกศาสนาออกจากการเมือง (huge Islamic country, democratic, secular) อีกทั้งยังกล่าวว่าการสร้างความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียเป็นเรื่องจำเป็น และคาดหวังให้อินโดนิเซียแสดงบทบาทมากขึ้นในเวทีนานาชาติ (I think strengthening our relationship with Indonesia is very important, not just in a regional context, but I think in terms of the role that Indonesia may be able to play more broadly)
แม้ว่าคำกล่าวของรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐจะเป็นการส่งสารถึงประเทศในตะวันออกกลางอย่างชัดเจน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดความสัมพันธ์ทางทหารอีกครั้ง เป็นความพยายามในการาลดอิทธิพลของรัสเซียและจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอินโดนิเซีย และรวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม
แต่อินโดนิเซียก็ยังมิได้หันหลังจากรัสเซียไปสู่สหรัฐในทันที ตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของอินโดนิเซียพูดว่า "เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสหรัฐจะไม่คว่ำบาตรเราอีก ที่ผ่านมารัสเซียดูจะไว้ในได้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อประเทศประสบความยากลำบาก" (How can we be sure they wont impose another embargo? ......... The Russians seem to be more reliable, especially during difficult times for our country.) และอินโดนิเซียก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะยังคงพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซียต่อไป
กองทัพอากาศอินโดนิเซียในปัจจุบัน
ปัจจุบันกองทัพอากาศอินโดนิเซียประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่และโจมตีราว 70 ลำจากสหรัฐ ยุโรป และรัสเซียคือ
- Su-27SK 2 ลำ - Su-30MK 2 ลำ (สั่งซื้อ Su-30MK2 เพิ่มอีก 6 ลำ) - F-16A/B Block 15 10 ลำ (จากจำนวนเดิม 12 ลำ) - F-5E/F น้อยกว่า 10 ลำ - OV-10F 7 ลำ - Hawk 209 32 ลำ
ส่วนฝูงบินลำเลียงประกอบไปด้วย C-130 จำนวนราว 10 ลำ, F.27 จากเนเธอแลนด์จำนวนราว 7 ลำ CN-212 และ CN-235 อีกราว 30 ลำ
โครงการในอนาคต
เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่และโจมตีที่มีอยู่เดิม ซึ่งล้าสมัยและใกล้หมดอายุการใช้งานลง อินโดนิเซียวางแผนที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่จำนวนมากถึง 48 ลำในอีกราว 5 ปีข้างหน้านี้
ทำให้การสั่งซื้อ F-16C/D จำนวน 6 ลำ และการจัดหาแพ็กเก็ต MLU (Mid-Life Upgrade) เพื่อปรับปรุง F-16A/B Block 15 ของกองทัพอากาศอินโดนิเซียอีก 6 ลำซึ่งใช้การไม่ได้มานาน บวกกับการจัดหา Su-30MK2 อีก 6 ลำ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามนี้เท่านั้น และคงจะมีข่าวการจัดหาเพิ่มเติมออกมาอีกเรื่อย ๆ นอกจากนั้น อินโดนิเซียยังพิจารณาเครื่องบินที่จะมาทดแทน OV-10F, Hawk 53 และ F-5E/F อีกด้วย โดยมีตัวเลือกคือ เครื่องบินใบพัดลาดตระเวน/โจมตีเบาแบบ KO-1 จากเกาหลีใต้, เครื่องบินฝึกไอพ่น/โจมตีเบาแบบ K-8 Karakoram จากจีน และ เครื่องบินฝึกขั้นสูง/ขับไล่เบาแบบ L-159 จากสาธารณรัฐเช็ค และมีข่าวว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องบินโจมตี Hawk รุ่นใหม่จากอังกฤษเพิ่มเติมอีกหลายลำ
F-16B Indonesia Air Force
F-16C/D ทอ.อินโดนิเซีย?
เรายังแทบไม่รู้อะไรเลยสำหรับอุปกรณ์ที่จะติดตั้งกับ F-16C/D ในล็อตนี้ถ้าการจัดหาประสบความสำเร็จ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเท่านั้น แต่ F-16 รุ่นนี้ก็น่าจะมีความสามารถทัดเทียมกับ F-16C/D Block 50/52 รุ่นมาตราฐานของโปแลนด์และชิลี รวมถึงน่าจะมีการจัดหาอาวุธปล่อยอีกจำนวนหนึ่งเช่น จรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยกลาง AIM-120 AMRAAM, จรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ AIM-9 Sidwinder รวมถึงจรวดและระเบิดเช่น จรวดนำวิถีด้วยกล้องโทรทัศน์ AGM-65 Maverick หรือระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการทำ MLU ให้กับ F-16A/B ที่มีอยู่เดิมจำนวน 6 ลำแล้ว จะทำให้กองทัพอากาศอินโดนิเซียสามารถจัดตั้งฝูงบินขับไล่ที่ปฏิบัติการด้วย F-16 ได้ 1 ฝูง เมื่อรวมกับฝูงบินขับไล่ Su27/30 แล้ว จะทำให้อินโดนิเซียมีฝูงบินขับไล่ป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 2 ฝูง และฝูงบินโจมตีอีกราว 4 - 5 ฝูง
สรุปโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ของอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
- สิงคโปร์: F-15SG จำนวน 24 ลำ ลำแรกจากสายการผลิตน่าจะขึ้นบินได้อย่างเร็วในปลายปีนี้ - มาเลเซีย: Su-30MKM จำนวน 18 ลำ จะได้รับมอบครบทั้ง 18 ลำในปีนี้ พร้อมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะจัดหา Su-30MKM อีก 18 ลำหรือ F/A-18E/F Super Hornet จำนวน 18 ลำ - ไทย: Gripen จำนวน 6 ลำ และมี Option ที่จะจัดหาอีก 6 ลำ - อินโดนิเซีย: Su-30MK2 จำนวน 6 ลำ และกำลังเจรจาเพื่อจัดหา F-16C/D อีก 6 ลำ
อ้างอิง
"Indonesia's appetite for arms grows"
//www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/JB29Ae02.html
"Indonesia in talks for six F-16s"
//www.flightglobal.com/articles/2008/03/03/221920/indonesia-in-talks-for-six-f-16s.html
OV-10F Indonesia Air Force
Create Date : 04 มีนาคม 2551 |
Last Update : 4 มีนาคม 2551 17:14:09 น. |
|
5 comments
|
Counter : 3823 Pageviews. |
|
|
|