ชะตากรรมของ F-22 ในกำมือโอบาม่า
วันพรุ่งนี้ว่าที่ประธานาธิปดีสหรัฐคนใหม่ นายบารัค โอบามา จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิปดีสหรัฐอย่างเป็นทางการครับ
แน่นอนว่ามีงานหนักหลายเรื่องรอท่านประธานาธิปดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สงคราม การก่อการร้าย หรือสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกที่สหรัฐเข้าไปมีส่วนร่วม
และที่สำคัญที่สุด อนาคตของกองทัพอากาศสหรัฐก็อยู่ในมือท่านประธานาธิปดีเช่นกัน
ในช่วงปีสุดท้ายของวาระของประธานาธิปดีบุช มีโครงการจัดหามากมายที่สร้างความปวดหัวให้กับกองทัพ เพนตากอน และผู้ผลิตต่าง ๆ เช่นโครงการ CSAR-X หรือโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยลำใหม่, โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ทดแทน OH-58D Kiowa, โครงการ KC-X หรือโครงการจัดหาเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศลำใหม่ทดแทน KC-135 ฯลฯ ซึ่งแต่ละโครงการประสบชะตากรรมต่าง ๆ กันไปทั้งถูกเลื่อน ถูกยกเลิก หรือถูกสั่งให้เริ่มโครงการใหม่
แต่โครงการที่เป็นที่จับตาสูงสุด ไม่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย นั่นคือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-22 ของกองทัพอากาศสหรัฐ
โครงการ F-22 เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างสุดยอดเครื่องบินรบที่สามารถเอาชนะเครื่องบินรบของฝ่ายโซเวียตได้ในยุคสงครามเย็น โดยคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดก็คือเครื่องบินต้องมีคุณสมบัติ "ตรวจจับได้ยาก" หรือ Stealth ซึ่งคือเทคโนโลยีที่ลดโอกาสที่เรด้าร์ของฝ่ายตรงข้ามจะตรวจจับ F-22 ได้นั่นเอง
แม้ว่าผลลัพธ์ของโครงการจะออกมาตามที่มุ่งหวังไว้ นั่นคือ F-22 เป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดในโลกในปัจจุบัน แต่ผลพวงจากค่าใช้จ่ายของโครงการที่บานปลายกว่าที่ประมาณการไว้มากทำให้กองทัพอากาศสหรัฐถูกตัดลดความต้องการจากเดิมที่ตั้งไว้ราว 700 ลำเหลือเพียง 183 ลำเท่านั้น เนื่องจากราคาค่าตัวมีราคาสูงถึงกว่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยราคานี้ยังไม่รวมการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะต้องทำในอนาคตเพื่อให้เครื่องบินปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถ้ารวมค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดเข้าไปด้วยแล้ว ราคาต่อตัวจะสูงเฉียด 300 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
และนั่นก็ทำให้เกิดข้อวิจารณ์และการโต้เถียงในกองทัพอากาศสหรัฐ เพนตากอน และสภาคองเกรสมากมายเกี่ยวกับอนาคตของโครงการนี้ กล่าวคือโดยจำนวนการสั่งซื้อเพียง 183 ลำนั้น Lockheed Martin จะต้องถูกบังคับให้ปิดสายการผลิต F-22 ในปี 2012 หรือไม่ถึง 10 ปีหลังจากเปิดสายการผลิตขึ้นมาเป็นครั้งแรก ผลกำไรและความคุ้มค่าของเงินที่ลุงทุนไปจำนวนมหาศาลก็จะลดลง
กองทัพอากาศสหรัฐก็พยายามล็อบบี้คองเกรสให้อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อ F-22 เพิ่มเติม เพราะจำนวนเพียง 183 นั้น ไม่เพียงพอที่จะใช้ในการปฏิบัติการในอนาคตอีกกว่า 30 ปี อีกทั้งกองทัพอากาศสหรัฐยังเผชิญกับปัญหาอากาศยานเก่าซึ่งประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหลายแบบ ที่สำคัญก็คือ F-15 ซึ่งพบการร้าวของชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างซึ่งทำให้เครื่องบินฉีกขาดกลางอากาศและนำมาซึ่งการปลดประจำการ F-15 หลายลำที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกัน
ถ้า F-22 ปิดสายการผลิตไป กองทัพอากาศจะไม่เหลือโครงการพัฒนาอากาศยานในอนาคตเพื่อทดแทนเครื่องบินของตนเลยยกเว้นโครงการ F-35
นั่นก็ทำให้กองทัพอากาศใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการกดดันคองเกรสเพื่ออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อ F-22 ให้ได้อย่างน้อยที่สุด 243 ลำซึ่งเป็นความต้องการขั้นต่ำที่สุดที่กองทัพอากาศยอมรับได้
ไม่เฉพาะแต่กองทัพอากาศเท่านั้น บริษัทผู้ผลิตต่างก็ช่วยกันกดดันอีกแรงหนึ่ง การกดดันหลักที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเคยใช้ก็คือ ให้คองเกรสอนุญาตให้ส่งออก F-22 ไปให้ลูกค้าต่างชาติได้ เพื่อที่จะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นและต้นทุนต่อเครื่องจะได้ลดลง โดย Lockheed Martin พุ่งเป้าหมายไปที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดหา F-22 โดยแสดงความสนใจอย่างยิ่งที่จะจัดหา F-22 เพื่อทดแทน F-4J ของตน อีกทั้งยังมีบางประเทศที่ให้ความสนใจ F-22 เช่นอิสราเอลและออสเตรเลีย แต่ว่าคองเกรสก็ไม่ยินยอมอนุมัติให้ส่งออก F-22 แต่อย่างใดเนื่องจากกลัวว่าความลับทางการทหารจะรั่วไหล
สำหรับ F-22 แล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะ Lockheed Martin เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เพราะยังมีบริษัทอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เช่น Boeing ที่ผลิตลำตัว, ปีก, ระบบ Avionic, และ software Northrop ผลิตเรด้าร์ AN/APG-77 ส่วน Pratt & Whitney ก็ผลิตเครื่องยนต์ F119-PW-100 และบริษัทเหล่านี้ก็ยังว่าจ้างอีกหลายบริษัทในการรับช่วงผลิตซึ่งสร้างงานได้ถึงกว่า 100,000 ตำแหน่ง เฉพาะ Boeing นั้นคาดการณ์ว่าถ้าคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อ F-22 เพิ่มเติม Boeing อาจจะต้องปลดคนงานไปกว่า 1,200 ตำแหน่งเลยทีเดียว ทุกวันนี้ บริษัทผู้ผลิตจึงให้เหตุผลทางด้านการจ้างงานในการกดดันคองเกรส โดยกล่าวว่าการที่จะต้องสูญเสียสำแหน่งงานจำนวนมากนั้นไม่เป็นผลดีอย่างสิ้นเชิงต่อประเทศที่กำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้
แต่ในซีกการเมืองแล้ว มีหลายเสียงที่ออกมาสนับสนุนให้ยุติโครงการนี้ไว้ที่คำสั่งซื้อจำนวน 183 ลำ หนึ่งในนั้นคือนายโรเบิร์ต เกตส์ ที่เคยออกมาพูดวิจารณ์โครงการ F-22 และ V-22 ว่าเป็นโครงการทางทหารที่ใช้งบประมาณได้ไม่คุ้มค่าและสมควรต้องยุติ ในคองเกรสเอง วุฒิสมาชิกหลายท่านก็วิจารณ์ว่า F-22 เป็นเครื่องบินที่ไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามและสถานการณ์ที่สหรัฐกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจาก F-22 มีความสามารถเต็มที่ในภารกิจอากาศสู่อากาศเท่านั้น แต่มีความสามารถที่จำกัดมากที่ภารกิจโจมตีภาคพื้นดินและการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด ซึ่งไม่มีประโยชน์ในสนามรบอย่างอิรักหรืออัฟกานิสถาน และผลักดันให้คองเกรสสนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการ F-35 ที่มีอนาคตมากกว่า
การโต้เถียงดำเนินมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จนในที่สุดคองเกรสก็อนุมัติงบประมาณให้กองทัพอากาศจัดซื้อ F-22 เพียง 4 ลำในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2008 เพียงเพราะคองเกรสต้องการให้สายการผลิตยืดออกไปเล็กน้อยเพียงไม่กี่เดือนเพื่อรอให้ว่าที่ประธานาธิปดีโอบาม่ามาตั้ดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับ F-22 เพราะถ้าไม่มีการสั่งซื้อใด ๆ ก่อนเดือนพฤศจิกายนปี 2008 ซึ่งเป็นเวลาที่ชิ้นส่วนแรกของเครื่องสุดท้ายจะเริ่มทำการผลิตแล้ว สายการผลิตจะต้องค่อย ๆ ปิดตัวลง และการเปิดสายการผลิตขึ้นมาใหม่ต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล
นั่นทำให้เราคงได้เห็นการตัดสินใจของประธานาธิปดีโอบามาภายในครึ่งปีแรกนี้ และไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะเป็นอย่างไร ย่อมส่งผลต่อกำลังทางอากาศและการปฏิบัติการในอีก 30 ปีนับจากนี้ของกองทัพอากาศสหรัฐแน่นอนครับ
Create Date : 19 มกราคม 2552 |
Last Update : 19 มกราคม 2552 13:02:14 น. |
|
25 comments
|
Counter : 3201 Pageviews. |
|
|
|