อาเซียนกับความมั่นคง: งานแรกคือหาจุดมุ่งหมายร่วมกัน
เท่าที่ลองสังเกตุ ๆ ดู ส่วนใหญ่แล้วผมพบว่าพวกเราส่วนใหญ่ที่สนใจทางด้านการทหารคงอยากจะเห็นความร่วมมือทางทหารของอาเซียนเพื่อที่จะก้าวไปสู่ความร่วมมือในรูปแบบของ NATO ครับ
ซึ่งผมก็เห็นด้วย
ความจริงอาเซียนเกิดขึ้นมาจากวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงเป็นวัตถุประสงค์หลักด้วยซ้ำนะครับ และก็เคยมีองค์กรทางทหารคือ SEATO แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป วัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงจึงเป็นวัตถุประสงค์ในระดับรอง
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าปัญหาหลักปัญหาหนึ่งที่ทำให้องค์กรแบบ NATO ไม่เกิดในอาเซียนก็คือ เราหาโจทย์ที่ต้องการองค์กรแบบนี้มาเป็นคำตอบไม่เจอครับ
จะมีไปทำไม? ..... คำถามนี้สำคัญที่สุดครับ
แน่นอนว่ามีย่อมดีกว่าไม่มีครับ แต่ในปัจจุบัน ภัยคุกคามทางทหารขนาดใหญ่จากนอกภูมิภาคนั้นน้อยมากจนแทบเป็นศูนย์ แรงผลักดันให้เกิดองค์กรลักษณะนั้นจึงน้อยมาก
ถ้าสมมุติว่าจีนกับอินเดียประกาศว่าจะบุกอาเซียนสิครับ รับรองว่าไม่กี่ปีมีแน่นอน
ในภาพรวมแล้ว ประเด็นด้านความมั่นคงของอาเซียนในปัจจุบันผมคิดว่ามีอยู่สามอย่างนั่นคือ
1. ความมั่นคงทางทะเล เพราะอาเซียนอยู่ในภูมิภาคที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการคมนาคมของโลกนั้นคือช่องแคบมะละกาครับ การจราจรทางน้ำจำนวนมากของโลกจำเป็นต้องผ่านช่องแคบนี้ ประเด็นนี้มีสิ่งที่น่าสนใจตั้งแต่ภัยคุกคามขนาดเล็กอย่างโจรสลัดและการกระทำผิดกฏหมายทางทะเล ไปจนถึงภัยคุกคามที่แผงมากับวาระทางการเมืองเช่นการพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อเส้นทางนี้ของมหาอำนาจ
2. ความมั่นตามแนวชายแดนระหว่างชาติสมาชิก ไม่ใช่เฉพาะไทย-กัมพูชา และ ไทย-พม่า เท่านั้นนะครับที่มีปัญหาด้านแนวชายแดน อาเซียนเรายังมี ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย, มาเลเซีย-อินโดนิเซีย, มาเลเซีย-สิงคโปร์, กัมพูชา-เวียดนาม ฯลฯ และมีพื้นที่ขัดแย้งหลักในหมู่เกาะสแปรดลี่ร์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปะทะกันขนาดใหญ่ได้ระหว่างชาติคู่กรณี
3. ความมั่นคงทางด้านการก่อการร้าย ซึ่งดูแล้วเป็นสิ่งที่อาเซียนร่วมมือกันได้ดีที่สุดครับ เพราะชาติอาเซียนล้วนมีศัตรูคนเดียวกันนั่นก็คือขบวนการก่อการร้ายเจมา อิสลามิยาร์ หรือ JI ที่ฝังตัวและแพร่ขยายการปฏิบัติการในภูมิภาคนี้เพื่อหวังสร้างมหารัฐอิสลามที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งอาเซียน โดยมีการก่อการร้ายที่บาหลีเป็นจุดสูงสุดของกลุ่มนี้
ทั้งสามข้อนี้ต่างจากวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง NATO ซึ่งเป็นการก่อตั้งองค์กรเพื่อต่อต้านและรับมือกับอิทธิพลของโซเวียตในช่วงสงครามเย็นครับ
ทำให้ดูแล้วชวนให้คิดว่า องค์กรแบบนี้ ไม่น่าจะจำเป็นสำหรับอาเซียนในการที่จะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดตั้งองค์กรนี้
แต่ในที่สุดแล้ว ........ ผมยังสนับสนุนแนวคิดนี้อยู่ครับ
อย่าเพิ่งงงนะครับผม ที่ผมสนับสนุน ไม่ได้สนับสนุนองค์กรแบบ NATO หรือการจัดตั้งกองทัพอาเซียน เพราะในทางปฏิบัติมันต้องใช้งบประมาณมากและยังไม่ได้จำเป็นถึงขนาดนั้น
แต่ผมสนับสนุนการสร้างกลไลและช่องทางการสื่อสารที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันด้านความมั่นคงในอาเซียนครับ
การร่วมมือนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบของกองทัพอาเซียน แต่อาจจะเป็นแนวทางปฏิบัติของชาติสมาชิกในการแก้ปัญหาเพื่อลดโอกาสในการเกิดการใช้กำลังหรือความไม่เข้าใจกัน
เพราะจุดมุ่งหมายของแนวคิดนี้ ไม่ใช่การรวมตัวไปบุกใคร แต่เป็นการลดความหวาดระแวงระหว่างกันนั่นเองครับ
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ แม้ว่าชาติอาเซียนจะมีสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน แต่ก็ยังมีความหวาดระแวงกันอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง
และความหวาดระแวงกันนี่แหละครับที่ทำให้อาเซียนก้าวไปสู่ความร่วมมือกันทางด้านการทหารที่แท้จริงได้ช้ามาก
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือหมู่เกาะสแปรดลี่ย์ที่เป็นทั้งกรณีพิพาษระหว่างชาติอาเซียนและชาตินอกอาเซียน ไปจนถึงระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันเอง ที่นี่ยังมีการปะทะกันอย่างประปรายหลายครั้ง และถูกคาดว่าจะเป็นชนวนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดสงครามขึ้น
ในการจัดตั้งกลไลนี้อาจจะเป็นในรูปของการร่างข้อกำหนดที่จะให้ชาติอาเซียนสามารถใช้กลไลของอาเซียนในการจราจรเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยมีอาเซียนและชาติสมาชิกเป็นตัวกลางในการประสานการเจรจา
นอกจากประโยชน์ด้านการลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้งแล้ว ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่จะได้ก็คือ ความน่าเชื่อถือของอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้น และการลดอิทธิพลของชาติมหาอำนาจในการแทรกแทรงอาเซียน เพราะเรามีกลไลของเราเอง ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งเต้นหาพวกในยูเอ็นซึ่งต้องมีข้อแลกเปลี่ยนมากมาย
ในอีกด้านหนึ่ง อาเซียนอาจจะเปิดช่องทางในการร่วมมือกันทางทหารในการปฏิบัติการในระดับภูมิภาค เช่นการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อลาดตระเวนร่วมกัน หรือการฝึกร่วมทางทหารในชาติอาเซียน
เช่นในตัวอย่างของการลาดตระเวนร่วมกันของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย และไทยในบริเวณช่องแคบมะละกาเพื่อปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายทางทะเล ผมคิดว่าเราสามารถใช้โมเดลนี้กับอาเซียนได้ โดยอาศัยความยินยอมของแต่ละประเทศในการส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อลาดตระเวนป้องปรามการกระทำผิดกฏหมายหรือภัยคุกคามต่อภูมิภาคทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางพื้นดิน
นอกจากนั้นก็น่าจะมีการร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค รวมไปจนถึงการจัดการฝึกร่วมกันในระดับภูมิภาค
กฏเกณฑ์ หรือแนวทางที่ว่านี้ อาจจะเป็นไปได้โดยการยกระดับ ASEAN Security Community (ASC) ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้วให้กลายมาเป็นองค์กรภายใต้อาเซียนที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านความมั่นคงต่าง ๆ ในอาเซียน และปฏิบัติงานภายใต้กฏบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่กำลังจะถูกจัดตั้งในปี 2558
โดย ASC จะดูแลในเรื่องการจัดตั้งช่องทางการสื่อสารระหว่างชาติอาเซียน จัดตั้งกลไลในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในกรอบของประชาคมอาเซียน และจัดตั้งแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียน
ซึ่งในที่สุดแล้ว ถ้าเรามีช่องทางที่จะพูดคุย มีแนวทางที่จะยุติความขัดแย้งก่อนที่กระสุนจะถูกลั่นออกจากปากกระบอกปืน ความหวาดระแวงกันนั้นก็จะค่อย ๆ หมดไป จนเราสามารถเริ่มหวังเห็นกองทัพอาเซียนได้ในอนาคตครับ.
อ่านเพิ่มเติม
"กองทัพเรือไทยร่วมลาดตระเวนในช่องแคบมะละกา"
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=24-09-2008&group=2&gblog=97
Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2552 |
|
7 comments |
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2552 23:01:22 น. |
Counter : 6272 Pageviews. |
|
|
|