กล้วยไม้ช้างกระ เราก็มี

กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป ฉันนั้น แต่ออกดอกคราใด งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม
นึกถึงโคลงสี่สุภาพของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2500–2512 ขึ้นมาทันที อาจไม่ตรงตาม ต้นฉบับ เป๊ะ ๆ แต่ชอบแบบนี้มากกว่า ... การเลี้ยงกล้วยไม้ให้ออกดอกสำหรับเรา เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะฝากเทวดาเลี้ยงตามบุญตามกรรมซะมากกว่า จึงไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ด้วยรู้ถึงเหตุและปัจจัยอยู่แล้ว

เมื่อใดที่กล้วยไม้ออกดอกจึงเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก เพราะตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาก็เหมือนจะลาจาก จากคำว่า "ออกดอก" และถึงจะออกดอก ก็ออกอย่างเสียไม่ได้ ... ไม่โทษเทวดาท่านหรอกค่า เป็นที่ลูกช้าง ไม่ได้ดูแล แม่ "ช้างกระ" เอง 555

อาจเป็นด้วยปีนี้หนาวได้ยาวนานกว่าทุกปี ช้างกระที่บ้านก็เลยใจดียอมออกดอกให้ได้ชื่นชมกับเขาบ้าง แต่ก็ออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละ ช่อดอกไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ ... แต่ก็นะ แค่นี้ก็นับเป็นความกรุณาหาที่เปรียบมิได้ ลูกช้างซาบซึ้งใจ น้ำตาแทบไหล อิอิ คว้ากล้องคู่ใจมือไม้สั่น กดแชะ ๆ เอามาลงบล็อกซะเลย เพราะถ้าพลาด โอกาสนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีวาสนาได้เห็นอีกเมื่อไหร่

เอนทรี่นี้ก็ "ตามอารมณ์" จขบ. ตามชื่อที่ตั้ง ดูของจริงที่สวยงามสมบูรณ์แบบมามากแล้ว ก็ดูแบบ "มองโลกตาม ความเป็นจริง" บ้าง ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้สวยงามเสมอไป เอนทรี่นี้ก็เลยโชว์ "ช้างกระ" แบบ กุด ๆ ให้ดูบ้าง ... ถึงกุดก็กุดเสน่ห์นะจ๊ะ อิอิ

ในกระถางเดียวกัน ดูเหมือนจะมีเอื้องผึ้ง แคทลียา รวมอยู่ด้วย ... รักนะแต่ไม่แสดงออก 555 ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือดูแลอะไรเลย แค่รดน้ำวันละครั้งซึ่งก็ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะกล้วยไม้ต้องการความชุ่มชื้น มากกว่านั้น ใครสนใจ คลิก ดูบล็อกช้างกระซึ่งทำไว้ก่อนหน้านี้ดูได้ค่ะ

ช้างกระ กล้วยไม้ป่าที่มีดอกสวยและหอม จะเริ่มหอมตอนสาย ๆ และจะหอมตลบอบอวลในตอนใกล้ ๆ เที่ยง ออกดอกในเดือน ธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ดอกจะบานอยู่ราว 2-3 อาทิตย์ ก็โรยแล้ว ชาวบ้านเรียก กล้วยไม้ช้างกระเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "เอื้องต๊กโต"

ใบมีลักษณะหนาและแข็ง ความยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ส่วนความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใบจะเรียงกันขึ้นไปเป็นแนว ซึ่งดูแล้วก็เป็นเสน่ห์ของกล้วยไม้ช้างกระ ในรูปจะเห็นใบของกล้วยไม้อื่น ๆ รวมอยู่ด้วย อยู่กันเหมือนชุมชนแออัด แย่งกันอยู่แย่งกันกิน แต่ก็อบอุ่นใจน้า อิอิ






ธรรมชาติของช้างกระ เป็นไม้อิงอาศัยขนาดกลางถึงใหญ่ เจริญเติบโตทางปลายยอด รากอากาศของช้างกระ สามารถเกาะยึดอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่โดยไม่ได้ดูดน้ำเลี้ยงของต้นไม้ที่มันเกาะ ส่วนปลายรากเป็นตัวดูดซับ ความชื้นในอากาศ กักเก็บไว้เพื่อส่งให้ลำต้นของช้างกระเจริญเติบโตต่อไป

ส่วนใบของช้างกระ ได้รับแสงอาทิตย์หรือความสว่างจะเกิดกระบวนการสังเคราะห์แสง น้ำ เป็นอาหารหล่อ เลี้ยงลำต้นและการเจริญเติบโต การเลี้ยงกล้วยไม้เลียนแบบธรรมชาติแบบนี้ ทำให้กล้วยไม้แข็งแรง ทนแล้ง อึด ทนทานต่อโรค และให้ดอกที่ดี

ออกดอกแค่ 2 ช่อ แต่รัวถ่ายซะล้านแปด มุมถ่ายก็จำกัด แต่ก็ยิงมาซะเยอะ นาน ๆ จะโผล่มาให้เห็นหน้าก็ต้องจัดหนักอย่างนี้แหละ 555




Lenka - Trouble is a friend สนใจเรื่องกล้วยไม้อื่น ๆ ในบล็อกนี้ :
กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphiopedilum) คลิกที่นี่ เอื้องกะเรกะร่อน (Cymbidium) คลิกที่นี่ กล้วยไม้ ... รู้หน้าไม่รู้ใจ คลิกที่นี่ วานิลลา ... กล้วยไม้มหัศจรรย์ คลิกที่นี่ กล้วยไม้ช้างกระ คลิกที่นี่ เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi) คลิกที่นี่ กล้วยไม้แคทลียา (Cattleya) คลิกที่นี่ ฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis) คลิกที่นี่
Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2557 |
Last Update : 25 มกราคม 2564 17:23:33 น. |
|
70 comments
|
Counter : 7288 Pageviews. |
 |
|
ครัว กับ ไอเดียสร้างสรรค์ คลิกที่นี่ค่ะ