The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

พุทธในไพร: กมลา ติยะวนิช



อาจจะแปลก ๆ หน่อยที่เขียนถึงหนังสือที่ตัวเองเป็น บก. แต่หนังสือเล่มนี้สนุกมาก ถ้าไม่แนะนำก็รู้สึกเหมือนว่าทำอะไรผิดไปเหมือนกัน เอาเป็นว่าไม่ได้แนะนำในฐานะ บก. แต่แนะนำในฐานะคนอ่านหนังสือคนหนึ่งก็แล้วกัน

...

พุทธในไพร เป็นหนังสือแปล ต้นฉบับชื่อ The Buddha in the Jungle แต่คนเขียนเป็นคนไทย เหตุที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะอาจารย์กมลาผู้เขียนเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล หนังสือเล่มนี้อยู่ในรีดดิ้งลิสต์ของคอร์แนล สำหรับนักศึกษาที่เรียนวิชาอุษาคเนย์ศึกษา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นหนังสือวิชาการหนักแน่นชวนง่วงแต่ประการใด แต่เป็นหนังสือรวมบทความสารคดีขนาดสั้น 44 บทความ เล่าเรื่องเมืองไทยในสมัย ร.3 - ต้น ร.9

...

(บางส่วนจากโปรยปกหลัง)

หนังสือเล่มนี้เป็นการฉายภาพอดีตกาลของสยามประเทศ ยุคหมู่บ้านป่า (รัชกาลที่ 3 ถึงราว พ.ศ. 2500) บอกเล่าช่วงเวลาที่พุทธศาสนายังฝังรากอยู่ในพื้นที่ชนบท (...) เล่าขานชีวิตของพระในยุคหมู่บ้านป่า เชื่อมโยงกับบริบทของสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระหว่างวัดกับบ้าน พระสงฆ์กับชาวบ้าน และผู้คนกับป่า

สมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ชาวบ้านจะเดินทางด้วยเท้า เกวียน หรือเรือชนิดต่างๆ ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกื้อกูลกัน เพราะศาสนาพุทธในแต่ละท้องถิ่นไม่แปลกแยกกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

พุทธในไพร ได้สอดประสานข้อมูลจากสองแหล่งใหญ่ แหล่งแรกคือการสัมภาษณ์พระเถระ ผนวกกับบันทึกความทรงจำและชีวประวัติของท่านเหล่านั้น ส่วนแหล่งที่สองมาจากบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตกผู้ร่วมสมัยกับพระเถระ ซึ่งบรรยายประสบการณ์ที่ได้พบเห็นเมื่อเดินทางเข้ามายังประเทศสยาม ลาว และรัฐฉาน

...

ความสนใจของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงที่การขนานเรื่องพระกับบันทึกและอนุทินของนักเดินทางตะวันตกที่เข้ามาในไทย (เช่นหมอบลัดเลย์) ซึ่งส่งผลที่น่าทึ่งเอามาก ๆ เพราะปรกติเวลาที่เราอ่านประวัติพระ เรื่องเล่าเหล่านั้นมักจะตัดขาดจากบริบททางประวัติศาสตร์ เราจะรู้กันแค่ว่าหลวงพ่อรูปนั้นรูปนี้เกิดพ.ศ.อะไร ทำอะไรบ้าง โดยไม่สามารถนึกออกว่าสภาพแวดล้อมของท่านเป็นอย่างไร และคนไทยเองก็ไม่ค่อยบันทึกสภาพแวดล้อมของตัวเองไว้ เพราะนึกว่ามันก็เป็นแค่เรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน (อะไรประมาณปลาไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในน้ำเพราะชิน)

แต่ฝรั่งที่เข้ามาในดินแดนแปลกถิ่น จะสังเกตและบันทึกสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นไว้เพราะความไม่ชิน ยิ่งไม่ชินเท่าไร ก็จะยิ่งบันทึกไว้อย่างละเอียด บอกถึงสิ่งที่พบเห็น ไม่ว่าธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ซึ่งชวนให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมเหมือนได้ไปด้วยกัน ของบางอย่างที่หายไปตามกาลเวลาในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเมือง จึงยังหลงเหลืออยู่ในบันทึกของฝรั่งพวกนี้เอง

เมื่อเอาเรื่องพระมาขนานกับบริบทจากบันทึกนักเดินทาง ภาพที่ออกมาจึง stunning อย่างยิ่ง เรื่องราวสมัยเมื่อครั้งที่หากปีนขึ้นไปบนยอดภูเขาทอง จะเห็นกรุงเทพเป็นทะเลป่า ที่มีเพียงยอดวัดโผล่พ้นให้เห็นเป็นจุด ๆ เหนือยอดไม้ เรื่องราวสมัยที่ถนนมีน้อย และผู้คนต้องแล่นเรือไปตามลำน้ำโดยระวังโจรดักปล้น หรือโจรที่แห่เข้ามาขโมยควายตอนมืด ๆ เรื่องราวสมัยที่ยังมีสถานีทำไม้อยู่ที่ภาคเหนือ และกว่าซุงท่อนหนึ่งจะล่องตามน้ำลงไปจนถึงกทม. ต้องใช้เวลาถึงห้าปี

เดิมทีอาจารย์กมลาแปลหนังสือเล่มนี้ไว้เพื่อเป็นหนังสืองานศพของคุณแม่อาจารย์ และเนื่องจากเป็นกิจเร่งด่วน จึงแปล 24 บทความจาก 44 บทความ ผู้ช่วยกันแปลต่างเป็นนักวิชาการหรือผู้มีความรู้ดีในวงการ เช่น อาจารย์อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม (ซึ่งแปลบทสุดท้ายของเล่มนี้ได้ดีจริง ๆ) และคุณมุกหอม วงษ์เทศ ต่อมาจึงได้นำมาตรวจแก้เพิ่มเติม และตีพิมพ์เป็นรูปเล่มสำหรับจัดจำหน่าย

เรื่องที่เล่าในเล่ม มีทั้งเรื่องทั่วไปในเมือง การใช้เรือ การต่อเรือ วัฒนธรรมของคนไทย การอยู่กับย่ายายในสมัยเด็ก สมุนไพรโบราณ เรื่องการเข้าป่าเข้าดง เจอเสือเจอช้างและงูจริง ๆ (ตลอดจนเรื่องของตาฝรั่งซวยที่นั่งอยู่ดี ๆ ก็มีงูพิษเลื้อยมานอนเป็นเพื่อนอยู่ใต้เก้าอี้ และเรื่องของหมอเฮาส์ มิชชันนารีแสนซวยที่ถูกช้างตกมันกระซวกพุง แต่หมอก็สามารถเย็บปิดพุงตัวเองเอาจนรอดทันมีคนมาช่วย - จขบ.ชอบเรื่องนี้มาก โคตรฮาร์ดคอร์ T-T) และเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพระ และนักเดินทางชาวตะวันตก

ปรกติจขบ.ไม่ค่อยอ่านหนังสือประวัติพระ เพราะรู้สึกเช่นเดียวกับคนจำนวนมากว่าน่าเบื่อ เพิ่งมาตระหนักเมื่ออ่านเล่มนี้ว่าเหตุที่รู้สึกว่าน่าเบื่อนั้นก็เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงท่านได้ รู้สึกเพียงว่าท่านเหล่านั้นเป็นคนดี แต่ไม่เข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่าง เหมือนอ่านนิยายที่มีแต่ตัวละครไม่มีฉาก เมื่ออ่านเล่มนี้ เพิ่งเห็นครั้งแรกว่าฉากเป็นอย่างไร ฉากเมืองไทยที่อาจารย์กมลาวาดให้เห็น enchanted มาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกอบอุ่นคุ้นเคย เหมือนได้เห็นสิ่งที่สูญหายไปแล้ว แต่ก็จำได้ว่าเคยมีอยู่ นอกจากนั้นบางตอนยังตื่นเต้น และบางตอนก็ถึงขั้นสยอง (ฝรั่งมันเขียนบรรยายประเพณีให้ศพเป็นทานแร้งที่วัดสระเกศได้ละเอียดอ้วกมาก ๆ) และบางตอนก็ให้ความรู้สึกสงบ แต่ที่ไม่ขาดเลยตลอดเรื่องคือความหลักแหลมในการเล่า ปรัชญาที่แฝงไว้แบบไม่ยัดเยียด และอารมณ์ขัน ยิ่งบทไหนอาจารย์กมลาแปลเอง จะยิ่งฮามาก อาจารย์เป็นคนเล่าเรื่องเก่งมากและ energetic เหมือนมานั่งเล่าให้ฟัง

หนังสือวางจำหน่ายแล้ว เล่มละ 250 บาท อีกยี่สิบบทที่เหลือก็มีโครงการจะแปลต่อไปเพื่อออกเป็นเล่มสองด้วย




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2558 16:36:51 น.
Counter : 2091 Pageviews.  

เคนจิ

(สปอยล์ไหม สปอยล์ละมัง แต่ตูข้าคิดว่าการ์ตูนแบบนี้สปอยล์ก็ไม่เสียอรรถรสดอก)

อ่านเรื่องเคนจิอยู่สองวัน จริง ๆ ควรจบแล้ว แต่ใครไม่รู้มาเช่าเล่ม 16-19 ไป เลยได้อ่าน 1-15 และ 20-21

ชอบอยู่

เป็นการ์ตูนเก่าแล้ว เมื่อก่อนยังเห็นลงในนิตยสารการ์ตูนประมาณ Talent (ุรุ่นเหาขนาดไหนสามารถพิสูจน์ได้ตรงนี้เอง) ตอนแรกคิดว่ายาวกว่านี้ ไปเห็นที่ร้านเช่า อ้าว 21 เล่มจบเท่านั้นเอง สเกลของเรื่องก็เล็กกว่าที่คิดด้วย

เรื่องหลัก ๆ มีอยู่ว่าเด็กชายโก เคนจิ เรียนมวยจีนวิชาแปดปรมัตย์ (ปาจี๋ฉวน) จากปู่ จากนั้นปู่ก็ไปตามหาผู้มีพระคุณที่จีน แล้วหายไปเลย เคนจิจึงเดินทางออกตามหาปู่ ระหว่างนั้นก็ได้เรียนมวยต่าง ๆ ไปด้วย เรียกว่าเป็นการผจญภัยของเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่น (เคนจิอายุประมาณ 16-18 แต่หน้าค่อนข้างเด็กเมื่อเทียบกับอายุ) บนแผ่นดินจีนช่วงประมาณยุค 80-90 ก็ไ้ด้

ลายเส้นงามยิ่ง ท่ารำ และความเป็นไปต่าง ๆ ก็สมจริง (สมจริงแม้แต่รหัสโต้ตอบของพวกสมาคมลับแบบจีนเก่า) เพราะได้คนเขียนเรื่องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ที่ จขบ.ติดใจที่สุด และคิดว่าทำให้เรื่องแตกต่างจากเรื่องแนวศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ คงเป็น "ความเข้าใจ" ที่ค่อนข้างลุ่มลึกของคนเขียน

เรื่องอย่างเช่นว่า เพราะเคนจิชอบวิชาบู๊ ทำให้ดูแตกต่างไปจากเด็กรุ่นเดียวกันอย่างมาก คือในขณะที่แม่คาดหวังว่าเคนจิจะต้องเรียนหนังสือดี ๆ เข้ามหาลัยดี ๆ และทำงานดี ๆ มีชีวิตที่มั่นคง เคนจิซึ่งที่จริงเป็นเด็กหัวดีกลับมักจะ "มีเรื่อง" ตลอดเวลา และต้องไปเกี่ยวพันกับวงการนักเลงโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ควรบอกว่าเป็นโลกที่คนอย่างแม่ไม่นึกฝันว่าลูกชายตัวจะต้องไปยุ่งเกี่ยว และเคนจิเองก็ไม่ใช่ "นักเลง" ที่จริงแล้วค่อนข้างจะเป็นเด็กเรียบร้อยอยู่กับร่องกับรอย แม้ว่าจะมีจิตใจกล้าหาญมาก อยากรู้อยากเห็น และไม่ยอมคนง่าย ๆ ก็ตาม

เวลาที่หนังสือพรีเซนต์ว่า เมื่อเลือกมาทางนี้แล้ว ชีวิตก็เริ่มต่างจากคนอื่น ๆ ไปทุกที ซึ่งส่งผลให้แม่ซึ่งเป็นคนปรกติ อยู่ในกรอบปรกติของสังคมรู้สึกทุกข์ใจ จนต้องแสดงออกมาในรูปแบบของการดุว่า จำกัดอิสรภาพ และอื่น ๆ รู้สึกว่าทำได้สมจริง ทั้งในด้านของแม่ และด้านของเคนจิเอง ที่ก็ไม่ได้อยากทำให้แม่เสียใจ แต่มันช่วยไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามกับวิถีทางต่าง ๆ ในโลก ซึ่งคนจำนวนมากต่างคิดว่ามันมี "ทางเดียว" กล่าวคือ เรียนดี ๆ ทำงานดี ๆ และมีชีวิตที่ "ดี" คำถามว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ และคำถามว่าวีรบุรุษผู้กล้าคืออะไรกันแน่จะ lurking อยู่ในช่วงต้นของเรื่อง จนกระทั่งถึงตอนที่เคนจิออกไปจากหนทางปรกติแล้ว คำถามนี้ถึงค่อย ๆ จางไป

แต่ที่น่าสนใจคือ คำถามนี้กลับมาอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อเคนจิบรรลุเป้าหมาย (ณ ขณะนั้น) และกลับมาจากเมืองจีน ด้วยความรู้สึกว่า "ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร" คือในขณะที่ดิ้นรน แสวงหา สนุกกับการเพิ่มพูนความรู้ของตัวเองนั้น เคนจิไม่ทันได้คิดถึงแง่นี้ แต่รอจนได้สู้จนถึงระดับหนึ่ง ได้ปราบศัตรูตัวร้ายที่สุด จึงเกิดคำถามว่า เรียนศิลปะการต่อสู้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อมันไม่มีจุดสิ้นสุด และมันกลับกลายเป็นความว่างเปล่า เรียนเพื่อที่จะ "เก่งขึ้น" ไปเพื่ออะไร เพื่อต่อยตีกับคนให้ชนะอย่างนั้นหรือ เพื่อทำร้ายคนอย่างนั้นหรือ ว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนหนังสือหนังหาให้ดี เพื่อจะได้ทำงานบริษัทดี ๆ เลยใช่ไหม เพราะในทีุุ่สุด ชีวิตก็จะ "แค่นั้นเอง"

คำว่า "แค่นั้น" ไม่ได้หมายความว่าที่ได้มานั้นน้อย ไม่มีค่า ไม่ได้หมายความว่าความพยายามของแต่ละคนไม่มีความหมาย แต่หมายความว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง สามารถมองภาพอันกว้างใหญ่ของโลก แทนที่จะมองเพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้ว ก็จะเห็นความว่างเปล่าอย่างยิ่งของสิ่งที่ตัวเองพยายามทำ สำหรับคนหลายคน จุดนี้เองเป็นจุดที่ต้องพยายามขยายอัตตา พยายามจะแสดงให้โลกเห็นว่าสิ่งที่ตัวทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ สำคัญ ว่าตัวมีความหมายต่อโลกในแง่ใดแง่หนึ่ง เพื่อปลอบใจตัวเองว่าไม่ได้ใช้ชีวิตอย่าง "ไร้ค่า"

แต่สำหรับเคนจิซึ่งเป็นคนรู้คิด การขยายอัตตาแบบหลอกตัวเองอย่างนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จึงเกิดสภาพสูญญากาศที่ทำให้ไม่รู้ว่าตัวทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไรกันแน่ เมื่อถึงตอนนี้ "ปรัชญา" ต่าง ๆ ที่เคยแค่ได้ฟังมา จึงกลับมามีความหมายในอีกระนาบหนึ่ง ไม่ใช่เพียงระนาบที่ "รู้" แต่เป็น "ระนาบ" ของความเข้าใจ ความเข้าใจลงไปจากผิว ถึงเนื้อถึงหนัง ถึงกระดูก ทำให้เห็นโลกในอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่โลกในระดับที่เคยอยู่มาก่อน

จขบ.ชอบมากที่ปู่บอกให้เคนจิไปซ้อมมวยใต้แสงดาว และเมื่อไหร่ที่ไม่รู้สึกว่าตัวเอง "เล็กกระจ้อยร่อย" แล้วนั่นแหละ ถึงค่อยมาบอกปู่ ความรู้สึกว่าตัวเองเล็ก ก็เป็นความรู้สึกของอัตตาอย่างหนึ่ง คือตัวเองเล็กเมื่อเทียบกับโลก รอจนเมื่อไม่มีอัตตา เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ของทั้งหลายก็ไม่ได้แยกขาดจากกัน ความหมายที่ค้นหาก็จะไปอีกระดับหนึ่ง ชีวิตก็จะไปอีกระดับหนึ่ง

ในเล่มสุดท้ายของเรื่อง เป็นตอนพิเศษของปรมาจารย์วิชาแปดปรมัตถ์ หลี่ชูเหวิน ซึ่งเป็นคนฉลาดสุด ๆ (ในเชิงมวย) และมีวิริยะอุตสาหะเอามาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอัตตาสูง เหยียดหยามคนอื่น หยิ่งยโส ไม่ผูกสัมพันธ์กับใคร ประมาณเท่สุดยอดแต่ชาวบ้านอยากอยู่ห่าง ๆ ไว้

อ่านแล้วก็รู้สึกว่า ถึงหลี่ชูเหวินจะเก่งกว่านี้ มีชื่อเสียงกว่านี้ และอื่น ๆ ยิ่งกว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต่อให้จนตาย เคนจิเก่งได้ไม่เท่าหลี่ชูเหวิน เคนจิก็เป็นคนที่ไปถึงคุณค่าของความเป็นคนได้มากกว่าอยู่ดี

แปลกที่รู้สึกว่าหลี่ชูเหวินเป็นคนน่าสงสาร และในบางขณะถึงกับน่าสมเพช ทั้งที่พี่แกเก่งบี้คนอื่นตายได้หมด และเหลือชื่อเสียงอันเลื่องลือไว้ในโลกขนาดนั้น




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:06:54 น.
Counter : 1447 Pageviews.  

แบล็คแจ็คที่หายไป

เจอภาษาเวียดนามแบบครบชุด มีคนเอาไปปะในมังงะฟอกซ์
กดที่ปกก็จะเข้าไปดูไส้ได้ แต่ทั้งหมดเป็นภาษาเวียดนาม

ดูแต่รูปพอหายคิดถึงนิ

//comic.vuilen.com/viewbook.php?bookid=494




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:07:22 น.
Counter : 757 Pageviews.  

คุณภาณุที่รัก

เหมือนเคยเขียนถึงแล้ว ช่วงที่เจอคุณภาณุใหม่ ๆ อนึ่งที่ว่าเจอคุณภาณุนั้นไม่ได้หมายถึงเจอตัวเป็น ๆ แต่หมายถึงได้พานพบผ่านหน้าหนังสือ ด้วยว่าข้าพเจ้าไปซื้ออารมณ์กาแฟมาเมื่อประมาณสองปีก่อน (เนื่องจากในขณะนั้นข้าพเจ้าก็บังเกิดอารมณ์กาแฟขึ้นเช่นกัน) หลังจากนั้นมาก็หลงรักคุณภาณุ และติดตามเป็นแฟน

คุณภาณุเขียนหนังสือหลายเล่ม แต่ส่วนมากบาง และส่วนมากเป็นหนังสือท่องเที่ยว หลังจากซื้อทั้งหมดที่หาเจอมากกไว้แล้ว จึงไม่ค่อยมีความคาดหวังเท่าไรนักว่าคุณภาณุจะออกหนังสือใหม่ งานคราวนี้ จขบ.เดินท่อม ๆ อยู่ในงานตอนสองทุ่ม (ก่อนที่จขบ.จะยกของและกล้ามเนื้อน่องขวาฉีกเล็กน้อย และเดี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน หมอบอกว่าประมาณสองอาทิตย์ถึงสองเดือนถึงจะหาย) ในขณะกำลังไปเรื่อย ๆ อยู่ ก็ได้ยินเสียงประกาศไมค์ลอยประชาสัมพันธ์ว่า หนังสือเล่มใหม่ของคุณภาณุ มณีวัฒนกุล ซึ่งทำให้จขบ...อ๊ะ แล้วรีบไปตามหาตามเขาประกาศทันที (แสดงว่าอีประกาศนี่ใช้การได้เหมือนกันสินะ)

หนังสือเล่มใหม่ของคุณภาณุชื่อดอกไม้นอกสวน เป็นเรื่อง...จะบอกว่าท่องเที่ยวก็ไม่ถูก เป็นภาพถ่ายที่มี "ดอกไม้" อยู่ (ในรูปแบบต่าง ๆ) จากประเทศต่าง ๆ พร้อมด้วยเรื่องราวที่เหมือนคนในรูปจะเป็นคนเล่าจริง ๆ จขบ.หาทราบไม่ว่าเรื่องเหล่านี้คุณภาณุแต่งเอง หรือฟังเขาเล่า หรือฟังเขาเล่าแล้วต่อเติมเอง แต่เรื่องเกือบทั้งหมดอ่านแล้วก็รู้สึกดี ไม่ใช่ดีแบบ feel good (ว่ากันตามจริง เรื่องหลายเรื่องก็ไม่ใคร่จะชวนให้ฟีลกู๊ดมากนัก) ที่รู้สึกดีอาจจะเพราะว่า...มันเป็นเช่นนั้นเอง

ว่ากันตามจริง จขบ.ไม่ใคร่นิยมหนังสือท่องเที่ยวประเภทติสต์แตกที่ไปแล้วก็ค้นพบสัจธรรม จากนั้นก็กลับมาเขียนถึงสัจธรรม หรือพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นประหนึ่งว่าข้าเป็นปราชญ์อันยิ่ง ช่างเข้าใจโลกเสียจริง ประหนึ่งว่าข้าได้ไปแสวงบุญอันยิ่ง และพบธรรมอันประเสริฐในเวลาเจ็ดวันสิบห้าวัน เพราะจขบ.ไม่คิดว่าใครจะพบธรรมอันยิ่งในเจ็ดวันสิบห้าวันกันง่าย ๆ ที่จริงแล้ว จขบ.มักจะรู้สึกเหมือนข้อความหนึ่งในเรื่องเกมลูกแก้ว ที่บอกว่าพระราชามีปราชญ์มากมาย ปราชญ์เหล่านั้นถกเถียงข้อธรรมได้หลักแหลมเหลือเกิน แต่พอถึงเวลา ปราชญ์พวกนี้ก็พากันอิจฉาริษยา โกรธเกลียด และพูดจาส่อเสียดกันเอง ว่ากันตรง ๆ คือการ "รู้" ธรรม ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปนักหรอก แต่การ "มีชีวิต" อยู่ด้วยธรรม เป็นเรื่องยากกว่า การพูดถึงสัจธรรมเป็นเรื่องง่าย การใช้ชีวิตด้วยสัจธรรมนั้นเป็นเรื่องใช้เวลา

ว่าแต่เขา แต่จขบ.เองก็เหมือนกัน กำลัง "เดินทาง" อยู่ เพื่อจะไปให้ถึงจุดที่อยู่ได้โดยไม่ต้องขยายอัตตา ไม่ต้องมีอะไร

คุณภาณุไม่ได้พูดถึงสัจธรรมอะไร (หรือพูด แต่ข้าไม่รู้สึกถูกยัดเยียด เลยรู้สึกเหมือนไม่ได้พูด) คุณภาณุเพียงแต่บอกว่าไปเห็นอะไรมา เพียงแต่เล่าเพราะ "มันเป็นเช่นนั้นเอง" แต่เพราะว่ามองผ่านสายตาของคุณภาณุ โลกจึงได้สวยอย่างนั้น โลกถึงได้เป็นประกายเรืองรอง เข้มลึก และน่าอัศจรรย์ เพราะว่าคุณภาณุเป็นมนุษย์ที่สวยงาม ดังนั้นไม่ต้องขยายก็เห็น ก็เข้าใจ

มองผ่านตัวหนังสือของคุณภาณุ มองผ่านมุมกล้องของคุณภาณุ ก็เห็นคุณภาณุ ยิ่งคุณภาณุเขียนไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้จขบ.รู้สึกว่า โอ้เจอแล้ว จขบ.ก็หาคนแบบนี้อยู่ หาคนที่เขียนหนังสือแบบนี้ มันเหมือนกับว่า ในขณะเขียน คุณภาณุก็เดินทางเหมือนกัน เจอตัวเองอย่างที่อยากเป็นที่สุดหรือยังนะ จขบ.ก็รอและติดตามอยู่เหมือนกัน




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:07:52 น.
Counter : 556 Pageviews.  

Bakuman

มีคนบอกให้อ่านหลายคนแล้วละ แต่เพิ่งได้ฤกษ์อ่านเมื่อพี่อุ๋ยพูดถึงบก.ให้ฟังวันก่อน ก่อนหน้านี้ไม่นาน น้องคนหนึ่งมาสัมภาษณ์และพูดขึ้นว่า พี่คิดอย่างไรที่มีนักเขียนบางคนเห็นว่า บก.ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ก็ตอบไปว่า พี่แสวงหาบก.ในฝันมาตลอดชีวิต คิดว่าบก.สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์ที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นี้ ซึ่งหนังสือต้องออกเร็ว ออกมาก เพื่อแข่งขัน อายุการวาง (shelf life) สั้น ชั้นวางในร้านมีจำกัด และอื่น ๆ ประกอบกับปัจจัยในแง่อื่นนอกจากแง่การตลาดอีกหลายข้อ การที่จะหาบรรณาธิการที่มาไล่จี้ไล่ไช และค่อย ๆ ตบตีปลุกปั้นนักเขียนขึ้นมาสักคน ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นแม้ตลอดมา จขบ.จะพบบรรณาธิการที่ช่วยเหลือจขบ.ไว้มากหลายท่าน แต่บรรณาธิการอย่างบก.ของเรื่องห้าใบเถา (ซึ่งสั่งคนเขียนกลับไปผ่าตัดเรื่องใหม่หมดแล้วค่อย ๆ เรียงบทใหม่ทีละบท ผลคือกลายเป็นงานคลาสสิกขึ้นหิ้ง) หรือบก.อย่าง บก.ฮัตโตริในเรื่องบาคุแมน (อ่านงี้เปล่าวะ) จึงยังไม่เคยพบ

เรื่องบาคุแมน คนวาดคือคนวาดเดธโน้ต ส่วนคนเขียนเรื่องไม่ได้กลับไปดูว่าใครเขียน แต่คิดว่าคงเป็นคนเขียนเรื่องเดธโน้ต (หรือเปล่า) ไม่แน่ใจ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหนุ่มสองคนในโลกของนักเขียนการ์ตูน ก็เริ่มกันตั้งแต่ทำงานอย่างไร ในวงการเป็นอย่างไร แข่งขันสูงขนาดไหน อนึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของนักเขียนการ์ตูนเด็กผู้ชาย นิตยสารการ์ตูนที่เกี่ยวข้องคือ จัมป์ ดังนั้นโลกของเจ้าหนุ่มสองคนนี้อาจจะต่างจากโลกของนักเขียนการ์ตูนผู้หญิง และนักเขียนการ์ตูนผู้ใหญ่ พอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้เห็นภาพส่วนหนึ่งของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นค่อนข้างเคลียร์ และได้ข้อคิดต่าง ๆ มาก เพราะเรื่องค่อนข้างเรียลลิสติก แต่ไม่มองโลกในแง่ร้าย

มีอะไรหลายอย่างในเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจอ่าน หรืออ่านข้ามไป เช่นความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในเรื่อง เพราะมีหลายจุดรู้สึกว่าคนเขียนจงใจกดไว้ ไม่ให้ไปมากกว่านี้ แต่คิดว่าเป็นความจงใจในแง่ความรู้สึกว่า "อยากให้เป็นอย่างนี้" (อยากได้ความรักแบบอุดมคติ อยากเขียนถึงความพยายามอุสาหะแบบอุดมคติ) อย่างนั้นมากกว่า ซึ่งบางจุดส่งผลถึงและอิน แต่บางจุดก็ยังรู้สึกว่ากดไว้ (และจงใจกด)

อย่างไรก็ตาม แม้จะอ่านข้ามส่วนนั้น แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการ์ตูน และชีวิตนักเขียนการ์ตูนนั้นดีมาก อ่านอย่างละเอียด และคิดว่าคงอ่านซ้ำอีก ที่จริงคิดมานานแล้วว่าไม่ยักมีคนเขียนเรื่องนักเขียนการ์ตูน แต่คิดเอาเองว่าคงกลัวมีการสาวไส้กันเอง หรืออาจจะรู้สึกว่าชีวิตตัวก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ยังต้องมาเขียนถึงอีก ดูไม่มันเอาเสียเลย แต่เรื่องบาคุแมนนี้เป็นจริงอย่างที่พี่อุ๋ยว่า คือระทึกมาก หักมุมไปหักมุมมา สนุกดี

...

สิ่งที่อ่านได้ และเห็นชัด ๆ อย่างหนึ่ง คือการเปรียบเทียบแนวการ์ตูน อย่างเช่นเป็น character-based หรือ plot-based ธรรมดาคนอ่านการ์ตูนของจัมป์ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย จะชอบการ์ตูนต่อสู้ที่ใช้ตัวละครเล่าเรื่อง คือมีตัวละครก่อน เรื่องตามมาทีหลัง เนื้อหาของเรื่องจึงไม่ซับซ้อนในแง่พล็อต (แต่อาจซับซ้อนในแง่อื่น) อย่างไรก็ตาม จขบ.คิดว่าคนเขียนบาคุแมนก็ใส่ตัวเองลงไปในเรื่อง คือเจ้าหนุ่มในเรื่องบาคุแมน คนที่เป็นคนเขียนเรื่องนั้นไม่ใช่พวกคาแรคเตอร์เบส แต่เป็นพวกพล็อตเบสอย่างเห็นได้ชัด สามารถเขียนได้ลึก แต่ตัวละครอาจจะไม่มีเสน่ห์หรือดีไซน์ได้เท่ากับเรื่องของนักเขียนการ์ตูนอีกคน ว่าไปแล้วก็นึกถึงอะไรประมาณเซนต์เซย่า (คาแรคเตอร์เบสสุด ๆ) และมอนสเตอร์ (หรือหนักกว่านั้นคือทเวนตี้เซนจูรี่) ที่จริงแม้ว่าเรื่องอย่างฮิคารุ และเดธโน้ตจะมีคาแรคเตอร์โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด แต่ว่าความสนุกของเรื่องส่วนใหญ่ไปอยู่ที่การหักเหลี่ยมเฉือนคมมากกว่า

เวลาที่คนเขียนพรีเซนต์นักวาดการ์ตูนในเรื่องออกมาแต่ละคน ก็เห็นความแตกต่างระหว่างแนวค่อนข้างชัด (และแอบรู้ด้วยว่าคนเขียนมองแต่ละแนวยังไง) มีคนที่เขียนแบบคาแรคเตอร์เบสสุด ๆ และฟรีสุด ๆ คนที่เขียนเรื่องดิบ ๆ เถื่อน ๆ พวกติสต์หน่อยที่เขียนเชิงแนวคิดปรัชญา บางทีอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง และคนเขียนประมาณติงต๊องอะไรของแก ดูแล้วบางทีก็เห็นตัวเอง บางทีก็เห็นนักเขียนคนอื่น ๆ ที่มีตัวตนอยู่จริงเหมือนกัน

...

เรื่องในวงการนั้น มีหลายเรื่องหลายราวที่อ่านแล้วเตือนใจตัวเองอย่างยิ่ง เรื่องอย่างเช่นว่า เรื่องคำวิจารณ์ เรื่องความฝันคืออะไรกันแน่ ความฝันสมัยเด็กกับโลกของความจริง การวิ่งชนกำแพงครั้งแล้วครั้งเล่า การผ่านอะไรไปทีละขั้นทีละตอน ความล้มเหลวหรือการประสบความสำเร็จ คิดว่าคนทุกคนก็คงเคยเจอเหมือนกัน ที่จริงถึงแม้ว่าพระเอกสองคนนี้จะเก่งมาก ถ้าเทียบกับอายุและคนทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ "ประสบความสำเร็จ" เสมอไป ไม่ได้ "ขึ้นทางด่วน" อย่างที่ตัวละครบางตัวได้ขึ้น เรียกว่าก็มีเวลาที่ลำบาก หมดไฟ และต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนอะไรไปตามสถานการณ์ ซึ่งทำให้เติบโตขึ้นเหมือนกัน

ว่าแล้วก็ติดตามกันต่อไป




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:09:18 น.
Counter : 901 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.