The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

ศาสตราจารย์กับปราชญ์วิกลจริต : ไซมอน วินเชสเตอร์



( รูปปล้นมาจากมติชน เล่มนี้พิมพ์กับมติชนปี 45 )

เรื่องนี้ได้มาจากร้านหนังสือมือสอง เมื่อวานนี้เองสด ๆ อ่านจบแล้วอินเลิฟ เลยทีต้องมาเขียน

ตอนแรกเจอที่คิโนะพาราก้อน สะดุดชื่อเรื่อง เพราะปรกติเราชอบเรื่องคนบ้า ( ไม่ได้บ้าแบบก๋าก๊ะ หรือเรื่องที่เจาะลึกเอาความบ้าน่าทุเรศมาตีแผ่ แบบนี้ไม่ชอบ แต่เรามักจะรู้สึกว่าจิตใจคนเป็นเรื่องน่าสนใจ )

สะดุดใจอีกต่อ อ๊ะคนแปลคือ อ.นพดล

แต่ก็ไม่ได้ซื้อ เพราะในตอนนั้นยังไม่ได้อยากอ่านถึงขนาดนั้น ประกอบกับกำลังเบลอ ๆ

มาอีกทีไปเดินสยาม แวะร้านมือสอง ไล่สายตาผ่านตู้หนังสือก็เห็นเล่มนี้เข้าพอดี ห่อพลาสติกไว้ แต่คิด ๆ ดูแล้วครึ่งราคาเชียวนะ แถมปกหลังยังเขียนได้ชวนระทึกดีอีกด้วย ( ไม่เชิงระทึกนะ ถ้าพูดจริง ๆ คือเป็นความรู้สึกที่รวมระหว่าง angst melancholy และระทึกละมั้ง )

นี่ปกหลัง

ไม่มีอีกแล้ว...
การประกาศต่อสาธารณชนถึงโครงการมหึมา
ประสงค์จะรวบรวม คำทุกคำ ที่มีใช้ในภาษาอังกฤษ
การประมวลพจนานุกรมอังกฤษออกซฟอร์ด
ที่คุยอวดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 10 ปี
แต่ใช้เวลาจัดทำทั้งสิ้น 70 ปีเต็มๆ
ไม่มีอีกแล้ว...
ปราชญ์สองนายร่วมงานกันผ่านกาลเวลานับสิบปี
หนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษา อีกหนึ่งเป็นผู้ต้องขังวิกลจริต
ร่วมกันสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก
หนึ่งนั้นรักถ้อยคำ อีกคนทุ่มเททำงานเพียงเพื่อ
ปลอบประโลมวิญญาณคลุ้มคลั่งให้สงบลงได้บ้าง
ไม่มีอีกแล้ว
ความรัก ความเอ็นดู ระหว่างปราชญ์ชราทั้งสอง
เกร็ดประวัติศาสตร์บรรยายละเอียดจนได้กลิ่นบรรยากาศ
และจุดจบที่น่าสะพรึงกลัวยิ่ง


อ่านจบคิดในใจ โอ...ป๋าโปรเฟสเซอร์ถูกตาบ้านั่นเจี๋ยนแน่เลย ประมาณตายคาดิก ( ภาพการตายที่อุบาทว์และคงแก่เรียนอย่างประหลาด )

แต่จะเป็นไงก็อ่านกันเองละกัน

::: ต่อไปนี้มีสปอยล์นะก๊ะ :::


เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เกี่ยวกับการทำพจนานุกรมฉบับออกซฟอร์ด คือว่าเนื่องจากสมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ และถึงจะมีดิกฉบับนำร่องบ้างแล้ว แต่ก็ไม่มีใครริอ่านทำฉบับใหญ่ยักษ์อย่างที่คนในเรื่องทำกัน จึงทำให้ต้องใช้เวลาทำนานมาก และต้องใช้อาสาสมัครเยอะมาก

หนึ่งในอาสาสมัครคือ ดร.ไมเนอร์ ซึ่งเป็นคนป่วยโรคจิตถูกขังอยู่ในโรงพยาบาลบ้า เพราะฆ่าคนขณะจิตหลอน แกอยู่ในโรงพยาบาลแล้วก็ไม่มีอะไรจะทำ เผอิญได้ข่าวเรื่องนี้จึงได้อาสาสมัครเข้าช่วย โดยติดต่อทางจดหมาย และเป็นอาสาสมัครที่มีคุณูปการต่อกองบ.ก.พจนานุกรมมาก ประมาณว่าคำไหนติดขัดข้องถ้าถามแกก็จะช่วยได้

ต่อมา เมอร์เรย์ ซึ่งเป็นบ.ก.ของกองทำพจนานุกรม ( แกคือ "ศาสตราจารย์" ในเรื่อง ) ได้ลองติดต่อกับไมเนอร์ดู ( ดูเหมือนจะเพิ่งมีการค้นพบหลักฐานการติดต่อกันของทั้งสองคนแบบค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อไม่นานนี้ ) ทำให้ทั้งสองคนกลายเป็นเพื่อนรักกันไปในที่สุด แต่ถึงเมอร์เรย์จะสงสารไมเนอร์ยังไงก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะในสมัยนั้นการรักษาอาการป่วยทางจิตเกือบจะไม่มีทางเป็นไปได้ ไมเนอร์ก็อาการทรุดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่าไม่มีทางหาย

ที่จริงบทแรก ๆ ของเรื่องนี้อ่านไม่ติดเท่าไหร่ โดยเฉพาะบทบรรยายสลัมที่เป็นฉากที่ไมเนอร์ทำฆาตกรรม เพราะรู้สึกว่าคนเขียนจงใจพูดถึงดิ้กเคนส์มากเกินไป แต่ว่าต่อ ๆ มาก็ยิ่งติดมากขึ้น ยิ่งตอนที่บรรยายถึงการรวบรวมพจนานุกรมแล้วชอบมาก ๆ ให้ความรู้สึกมันในอารมณ์แบบแปลก ๆ ชอบวิธีเขียนแบบจิกกัดตลกหน้าตายของคนเขียน และก็ชอบวิธีที่เขาบรรยายบุคคลในประวัติศาสตร์จริง พูดเหมือนกับว่าเป็นคนรู้จักสนิทกัน ก็มีหยิกแกมหยอกนิด ๆ หน่อย ๆ

เรารู้สึกว่าคนเขียนคงรักทั้งเมอร์เรย์ ( ศาสตราจารย์ ) และไมเนอร์ ( ปราชญ์วิกลจริต ) มาก ๆ อารมณ์ที่เขียนมันเข้าอกเข้าใจดี ที่จริงอาการป่วยของไมเนอร์ทำให้แกทำเรื่องน่ากระอักกระอ่วนหลายอย่าง ( รวมถึงเรื่อง "จุดจบที่น่าสะพรึงกลัว" นั่นด้วย )

แต่เราไม่รู้สึกว่าแกน่ากลัว จริง ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจุดจบน่าสะพรึงกลัว มีแต่ยิ่งอ่านเท่าไรยิ่งสงสารไมเนอร์ สงสัยมากว่าแกทนมีชีวิตอยู่ต่อมานานขนาดนั้นได้ไง เราคิดว่าแค่เป็นโรคซึมเศร้าก็แย่มากแล้ว นี่แก ( หลงผิดไปว่าตัวเอง ) ถูกทรมานทรกรรมต่าง ๆ นานาอยู่ทุกคืนทุกคืน

สรุปแล้วก็ชอบเรื่องนี้มาก ( โดยอธิบายเหตุผลชัดเจนไม่ได้ ) แต่ถ้าใครเจอแล้วก็หาอ่านกันดูแล้วกัน




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:05:58 น.
Counter : 1582 Pageviews.  

อ่านบ่อย

เมื่อก่อนนี้ตอนเด็ก ๆ ถ้าชอบหนังสือเรื่องไหนขึ้นมามาก ๆ ก็จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนหนังสือเยิน

เดี๋ยวนี้หนังสือเยินน้อยลง ( แก่ขึ้นก็รักษาหนังสือมากขึ้นแล ) แต่ว่าหนังสือที่อ่านซ้ำก็มีน้อยลงเหมือนกัน เหมือนกับว่าอ่านมากขึ้น แต่อ่านรอบเดียว ถึงอย่างนั้นก็มีนิสัยชอบกกหนังสือ ทำนองว่าถึงอ่านรอบเดียวแต่ถ้ามันไม่เลวร้ายนักก็อยากมีไว้ในครอบครอง อะไรทำนองนั้น

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตอนเด็กถึงอ่านหนังสือซ้ำบ่อย และทำไมโตแล้วถึงไม่ได้อ่านซ้ำมากเท่าตอนเด็ก ถึงอย่างนั้น เล่มที่เคยอ่านซ้ำบ่อยตอนเด็ก ๆ ก็จะกลายเป็น treasure ตอนโต ถ้าเกิดหลงหายไปก็พยายามจะหามาเก็บไว้ หรือบางทีไม่ได้หลงหาย แต่เกิดไปเห็นหน้าค่าตาตามร้านหนังสือเก่าก็จะเกิดพิศวาสต้องหยิบมาลูบคลำ ( หนังสือที่อ่านตอนเด็ก ๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า อานิสงส์จากมารดา )

หนังสืออ่านซ้ำติดอันดับท็อปเท็นส่วนใหญ่เป็นหนังสือเด็ก ที่โปรดสุด ๆ ก็เช่น
ห้าใบเถา ( ชอบตอนที่มันแอบเอาขนมไปกินตอนนอนจัง )
ดวงตากระต่าย ( เลิฟมากมาย ชอบเด็กมีปัญหามาตั้งแต่สมัยนั้นสินะ )
ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย ( ลอร์ดจะเป็นไงก็ช่างเถอะ เราชอบท่านเอิร์ล ชอบที่สุดตอนที่ลอร์ดถามว่าผมยังเป็นหลานของปู่อยู่หรือเปล่า แล้วเอิร์ลบอกว่า "เป็นสิลูก" คนอ่านร้องห่มร้องไห้ตายไป )

ชอบนิทานด้วย ยังจำได้ว่าหนังสือที่อ่านเล่มแรกคือเรื่องนิทานอินเดียนแดง ซึ่งมารู้ตัวทีหลังว่าเป็นนิทานที่ประหลาด ๆ
นิทานที่โปรดมากอีกชุดคือนิทานภารตะร้อยเรื่องของ อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา สมัยนั้นออกทีละเล่มบาง ๆ เล่มละสิบเรื่อง พี่น้องสองคนตามอ่านยังกะการ์ตูน อ่านจนเล่มบางฉีก ตอนนี้ก็มีเล่มหนาปกแข็งในครอบครองแทน ตัวละครโปรดคือฤาษีทุรวาสขี้วีน เป็นฤาษีที่น่ากลัวที่สุดในวรรณกรรมอินเดียโบราณ ใครทำอะไรขัดใจนิดหน่อยพ่อว้ากแล้วสาปแหลก เป็นที่สยดสยองของเทวดาทั้งชั้นฟ้าอินเดีย
แต่เรื่องที่โปรดสุดในชุดนี้คือเรื่องของฤาษีภฤคุที่กล้าเทสต์ว่าพระเจ้าคนไหนในตรีมูรติเจ๋งที่สุด แถมยังเอาตัวเองเป็นหนูทดลองด้วย
เรื่อง "เทวดาฝรั่ง" ของอ.สายสุวรรณ ( เวอร์ชั่นพิมพ์ครั้งที่สองมั้ง ) ก็เป็นเล่มโปรดเหมือนกัน เล่มนี้ยังจำได้อยู่เลยว่าอ่านตอนแรกแล้วงง ๆ ทำไมเรียกเทพเจ้าไม่เหมือนในเซนต์เซย่าล่ะ ( สมัยเด็ก ๆ บ้าเซย่า )

โตมาหน่อยอ่านนิยาย นิยายเล่มแรกในชีวิตคือนิยายแปลเรื่อง "โปแลนด์ราช" ของเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป เล่มนี้พยายามหาอยู่เหมือนกันว่าแปลมาจากต้นฉบับของใคร ชื่ออะไร คิดว่าถ้าพยายามมากกว่านี้คงหาเจอ จริง ๆ แล้วมันเป็นนิยายจักรวรรดินิยมอย่างแรง พระเอกคุณพอลเป็นทหารอังกฤษเก่งโดดเด้งทุกอย่าง มีหน้าที่ไปช่วยนางเอกที่เป็นเจ้าหญิงโปแลนด์นอกบัลลังก์กู้ชาติ ( ในนิยายบอกว่าตอนนั้นโปแลนด์เหลือแค่จังหวัดเล็ก ๆ ที่ยังเป็นเอกราช เรียกว่าประเทศเซอร์โนวา )

เปล่าหรอก เรื่องนี้ไม่ได้ชอบตาพอลพระเอก รวมทั้งไม่ได้ชอบบาร์บาร่านางเอกด้วย แต่ไพล่ไปชอบท่านนายพลลาดิสลาส ซาร์เบินแขนเดียว ผู้เฒ่าจอมแสบแห่งเซอร์โนวา ( สรุปว่าความโอจิค่อนของเราคงฝังรากลึกมานานแล้วสินะ ) เป็นตาลุงตัวดีที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า "ไอ้เฒ่าซาตาน" เวลานอนต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุนและกอดดาบเอาไว้ ทำนองว่ามีสิทธิ์ถูกลอบฆ่าได้ตลอดเวลา แถมตอนหลังกินหญ้าอ่อนด้วย แต่คู่นี้เราชอบกว่าคู่พระนางอีก เพราะตาลุงซาเบิร์นฉลาดรู้ทุกอย่าง ไม่รู้อย่างเดียวคือถูกผู้หญิงรุ่นลูกจีบ เพียรจีบไปจีบมาตาลุงแกก็ไม่รู้เรื่องสักที ( มีการถามด้วยว่าชอบใครเหรอหนู มาปรึกษากับป๋าก็ได้นะ คิดเสียว่าป๋าเป็นตัวแทนบิดาที่ล่วงลับไปแล้วละกัน ) ในที่สุด ยายหนูเธอเลยต้องบอกออกมาเอง - -''

เมื่อก่อนนี้เราไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง "นิยาย" กับ "วรรณกรรมเยาวชน" ( ไม่ว่าชิลเดร้นลิทหรือยังอะเดาท์ ) แต่พอโตมาแล้ว เราพบว่าเรื่องบางเรื่องที่อ่านนั้นได้รับการประทับตราว่าเป็นชิลเดร้นลิท ทั้งที่จริง ๆ แล้วความรู้สึกของเราต่อมันค่อนข้างคลุมเครือ เป็นต้นว่าเรื่อง "ครอบครัวรถสีฟ้า" ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชนของนอรเวย์ เรื่องที่อ่านจนเยินยับเหมือนกัน ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงได้ชอบเรื่องที่มีเนื้อหา "ธรรมดา" ขนาดนี้ ทั้งที่ปรกติเป็นคนชอบเรื่องวิเศษมหัศจรรย์พันลึกมากกว่า

แต่บางทีอาจจะเพราะมันธรรมดาจนรู้สึกว่าสบายใจ และรู้สึกว่าตัวละครในเรื่องมีความสบายใจในชีวิตกันดีก็ได้ละมั้ง

ที่จริงพอมาอ่านอีกหน ถึงได้รู้ว่าครอบครัวรถสีฟ้าเป็นนิยายฉีกขนบรุนแรง พ่อทำงานบ้าน ( เพราะแกกำลังทำธีสิสปริญญาเอกหรือโทนี่แหละ ) แม่ไปทำงาน พ่อหัดขับรถทีหลังแม่ พ่อพาลูกไปชอปปิ้ง คนบ้านนี้ไปเที่ยว "พักร้อน" กลางหน้าหนาว ( ก็พ่อทำธีสิสเสร็จตอนนั้นนี่หว่า ) แถมยังมีคุณลุงสุดเพี้ยนที่ใช้ชีวิตแบบฮิปปี้อีกต่างหาก

คนเขียนคนนี้ ( ขอโทษที่จำชื่อไม่ได้ แต่เราชอบงานเขามากนะ ) ทำให้เรารู้สึกว่าอะไรที่เรามองว่า "ประหลาด" ( จากสเตอริโอไทป์ ) นั้นจริง ๆ มันก็ไม่เห็นประหลาดตรงไหน มีความสุขกันดีได้ อีกเรื่องที่เขาเขียน "เด็กแปดคนกับรถบรรทุก" ได้อ่านทีหลัง ก็ชอบเหมือนกันแต่ไม่เท่าครอบครัวรถสีฟ้า จุดที่ชอบเห็นจะเป็นความครีเอทีฟของครอบครัว ซึ่งถึงแม้จะจน แต่ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองจน แถมเวลาชวนเพื่อนมาบ้าน ( เพื่อนบางคนหมิ่นว่าจนเลยไม่ยอมมา ) ป๊ะป๋าบ้านนี้ยังดัดแปลงบ้านได้มันสะใจกลายเป็นเรื่องโจรสลัด ขนาดว่าเพื่อนรวย ๆ ที่มานั่นจะไม่ยอมกลับบ้านตัวเองเอาเลย

พวกนิยายรุ่นใหญ่ที่อ่านแล้วอ่านซ้ำซากทีหลัง ก็มี "น้ำหอม" อ่า... เราไม่ได้ชอบฆาตกรฆ่าหั่นศพนะ แต่เราหลงรักดีเทลของเรื่องนี้จริง ๆ ชอบวิธีการบรรยายกรรมวิธีการทำน้ำหอม และก็วิธีเล่าเรื่องมาก

แล้วก็มี "รักระหว่างมื้อ" เรื่องนี้พระเอกนางเอกก็ถูกถีบทิ้งไปเหมือนกัน ชอบของกิน...ของกิน พระเจ้า คนเขียนช่างบรรยายของกินได้น่ากินเสียเหลือเกิน ( ทำให้นึกถึงหนังสือภาพสมัยเด็กชุด "แดนป่า" ที่มีหกเล่มจบ มีอยู่หน้าคู่อยู่หน้านึงทรมานใจคนอ่านอย่างแรก วาดเป็นบ้านไอติม ที่ทุกอย่างในบ้านเป็นไอติม...ไอติม...โคน...คุกกี้ และไอติม เห็นแล้วจะเป็นลม - ชุดนี้ก็เลิฟมากมาย )

เมื่อวานเพิ่งได้เรื่อง "ศาสตราจารย์กับปราชญ์วิกลจริต" ( ของมติชน แปลโดยอ.นพพล เวชสวัสดิ์ วางขายปี 45 ) มาจากร้านมือสอง ตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นเล่มโปรดที่คาดว่าจะอ่านซ้ำหลายรอบไปแล้ว อาจจะรีวิวอีกรอบถ้ามีอารมณ์

สงสัยเราจะชอบหนังสือที่มีดีเทลล์มาก ๆ ละมั้งเนี่ย




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:06:40 น.
Counter : 842 Pageviews.  

หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง: อิตาโล คัลวิโน



เล่มนี้พิวแนะนำให้อ่าน

พิวจังมักจะแนะนำให้อ่านเรื่องที่ไม่รู้จักมาก่อน เช่น คาฟคาเกยตื้น ( มันชื่อ "คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ" แต่จขบ.ชอบเรียกแบบนี้นี่นา... ) บ้านปรารถนารัก ทำอย่างไรให้โง่ นอกจากนั้นพิวจังยังแนะนำหนังแปลก ๆ ที่จขบ.ไม่รู้จัก เช่น always ด้วย แท้งกิ้วนะพิวจัง

หมายเหตุ : จขบ.รู้สึกว่าการคบมิตรสหายในวงหนังสือที่อ่านคนละแนวกันเป็นเรื่องดี เพราะจะได้รับคำแนะนำให้อ่านเรื่องที่ตัวเองไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่ามีในโลก บางทีอ่านเล่มเดียวกัน ความคิดเกี่ยวกับเล่มนั้นก็ไม่เหมือนกัน แต่ถึงจะชอบหรือไม่ชอบ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ เวลาได้เดินออกจากเส้นทางประจำของตัวเอง ไปเห็นอะไรแปลก ๆ บ้างก็สนุกดี

###

ใครจะอ่านหนังสือเล่มนี้ กรุณาคิดเอาไว้เลยว่าอย่าเอาอะไรกับมัน อย่าคาดหวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งที่ควรทำคือเอนหลังอ่านลูกเดียว และปล่อยให้มันเดินของมันไปเอง

จะให้เล่าเรื่องย่อ - -'' ก็เล่ายากเหลือเกิน เอาเป็นว่ามันเป็นหนังสือที่เกิดจากการปะติดปะต่อ "ตอนต้น" ของเรื่องราวประมาณหกเจ็ดเรื่องเข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องที่หาตอนจบไม่เจอ เป็นการแสวงหาตอนต่อและตอนจบไปจนกระทั่งถึงจบเรื่อง ระหว่างการแสวงหาก็เจอสถานการณ์ประหลาด ( ที่แสนคุ้นเคย ) ไปด้วย

###

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่านแล้วได้อารมณ์ถูกหนังสือกัด

ไม่ใช่กัดแบบจิก ๆ กัด ๆ แต่เป็นกัดจริง ๆ แยกเขี้ยวมาถึงก็ง่ำเลย จากนั้นเราก็สะบัด ๆ แต่มันก็ไม่ยอมปล่อย พอสะบัดแรงขึ้นก็ไม่ยอมปล่อยหนักขึ้นไปอีก ทำให้เริ่มอยากเอาไม้ทุบหัวสักป็อก หนังสืออะไรดุจัง

มันเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับหนังสือ เกี่ยววงการหนังสือ เกี่ยวกับการวิจารณ์หนังสือ เกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือ เกี่ยวกับการเขียนหนังสือ เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ เกี่ยวกับโลกของหนังสือที่บางทีพอมอง ๆ แล้วก็ประหลาดดี ทั้งล้อเลียนขนบการเขียน ล้อเลียนนักอ่านประหลาด ๆ แบบต่าง ๆ ล้อเลียนนักเขียน ล้อเลียนสนพ.

อ้อใช่ ล้อเลียนนักวิจารณ์ด้วย แต่นักวิจารณ์นี่ไม่ได้หมายถึงวิจารณ์ว่าหนังสือดีหรือไม่ดีหรอกนะ เป็นการวิจารณ์เชิงวิชาการที่ใช้ทฤษฏีช่วย กัดเล็ก ๆ ว่านักวิชาการบางคนเอาทฤษฏีกลบตัวหนังสือ ได้หนังสือมาแค่ช่วงเดียวก็บอกว่า "เรียนไปได้เป็นเดือน" โดยไม่สนใจตอนต่อไปหรือตอนจบเลย

อ่านหลายตอนก็พยักหน้าหงึก ๆ ว่าเห็นด้วย...พูดตรงใจจังเลยพี่ อ่านบางตอนก็รำคาญความเยิ่นเย้อเหมือนกัน มีบางช่วงที่รู้สึกว่ารุงรังแปลก ๆ ( แต่อาจจะเพราะเราไม่เข้าใจบริบทของคนเขียนเอง )

แต่โดยรวม ๆ แล้วคิดว่า หามาอ่านก็ดี มันตลกดีและดุดี

แต่ตอนอ่านก็อย่าคิดอะไรล่วงหน้ามาก เอนหลังอ่านอย่างเดียว ปล่อยใจตามมันไปเลย




 

Create Date : 24 ตุลาคม 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:01:49 น.
Counter : 1957 Pageviews.  

intuition

นานแล้ว

เราเคยได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ awakening intuition ( ปลุกลางสังหรณ์ ) สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันบอกว่า "ความเจ็บป่วย" ของคนเรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอยเสมอไป และไม่ได้เกิดเพียงเพราะปัจจัยภายนอก ( รับเชื้อโรคมา ร่างกายอ่อนแอ ) แต่อาจจะเกิดขึ้นในฐานะ "สัญญาณเตือนภัย" ซึ่งจิตใต้สำนึกกำลังพยายามเตือนเราอยู่ก็ได้

คนเขียนอ้างว่าตัวเองเป็นคนมีประสาทสัมผัสพิเศษ ( คือมี "ลางสังหรณ์" ) และใช้ประโยชน์ของลางสังหรณ์นั้นในการอ่านโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยเหลือคนป่วย หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยเคสสตั๊ดดี้ ( ซึ่งสมัยนั้นเราอ่านสนุกยังกะนิทาน ) เกี่ยวกับความเจ็บป่วยในอวัยวะต่าง ๆ และ "สัญญาณ" ที่ร่างกายพยายามจะเตือนให้เจ้าตัวรู้ว่ากำลังมี "ปัญหา" อยู่ เรายังจำได้เลือน ๆ เกี่ยวกับเคสของผู้หญิงที่ทู่ซี้ไม่ยอมหย่าทั้งที่โดนตบตี คนที่ถูกครอบงำด้วยความรู้สึกล้มเหลว นอกจากนั้นยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างซึ่งจำไม่ได้แล้ว และขี้เกียจไปค้นหาหนังสือรื้อฟื้นขึ้นมาอีก

เนื่องจากเราไม่มีลางสังหรณ์เอง ( รวมทั้งปราศจากเซนส์ในหลาย ๆ แง่ ) เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่คนเขียนแกบอกนั้นจริงหรือไม่ แต่เราเองก็มีความเชื่อว่าความเจ็บป่วยของร่างกายเป็นสัญญาณของความไม่มั่นคงบางอย่างในจิตใจ ซึ่งหมายความว่าเราเชื่อว่าร่างกายกับจิตใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน ถ้าร่างกายไม่สมดุล จิตใจก็ไม่สมดุล และถ้าจิตใจไม่สมดุล ร่างกายก็ไม่สมดุล

คนเขียนคนนั้นแกยังบอกอีกว่าสัญญาณแรก ๆ มันจะเบาก่อน แต่ถ้าเจ้าของร่างกายไม่ "ฟังเสียงจากภายใน" ของตัวเอง ไม่ช้าไอ้เสียงนั่นก็จะปี๊บดังขึ้นเรื่อย ๆ ประหนึ่งนาฬิกาปลุก และความเจ็บป่วยก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการรักษาให้หายขาดจากโรคบางโรคอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นต้องรักษาจิตใจและให้ความสำคัญกับ "ปัญหา" ไปพร้อมกับการดูแลร่างกาย ไม่ใช่ว่าป่วยก็กินยา เพราะคนเขียนคนนั้นเขาว่าป่วยก็กินยาไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจความเป็นจริงรอบตัว ในไม่ช้าโรคที่เป็นก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนบางทีถึงยาเอาไม่อยู่ได้

เนื่องจากได้ใส่ข้อมูลนี้ไว้ในสมองแล้ว บางทีเวลาตัวเองป่วย หรือเห็นคนอื่นป่วย เราก็ถามตัวเองเล่น ๆ เหมือนกันว่า "จริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น" บางทีจริง ๆ แล้วมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นนอกจากป่วยจริง ๆ และบางทีมันก็มีอะไรจริง ๆ ไม่ใช่แค่ป่วย

เป็นวิธีคิดที่แปลกดี แต่บางทีก็เห็นจริงตามเหมือนกัน




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:21:02 น.
Counter : 567 Pageviews.  

The Five People You Meet in Heaven : Mitch Albom



เล่มนี้ของอัลบอม ตั้งใจจะซื้อตั้งนานแล้วตั้งแต่ตอนออกมาใหม่ ๆ แต่ทุกครั้งที่เห็นหน้าก็ซื้อไม่ลง เพราะหนังสือแพงมากเมื่อเทียบกับไซส์ ( ประมาณสามร้อยบาทปลาย ๆ ) บางทีก็งงนิดหน่อยว่าราคาหนังสือภาษาอังกฤษนี่ตั้งจากอะไร

แต่เราชอบอัลบอมตั้งแต่ตอนที่อ่าน Tuesdays with Morrie ( ว่าไปอีกทีจะชอบอัลบอมหรือเปล่าไม่รู้ แต่ชอบคุณครูมอรี T^T ) เล่มนี้มีแปลแล้วเป็นภาษาไทยชื่อ "วันอังคารกับคุณครูมอรี" ลองหาอ่านกันดูได้ เป็นหนังสือที่ดีนะ

แต่ five people นี่ไม่คิดว่ามีคนแปล เพราะยังไม่เห็นสักที ( หน้าแตกจ้า เมื่อกี้เพิ่งมีคนบอกว่าแปลแล้ว ^^'' )

ที่ได้อ่านเล่มนี้เป็นเพราะบอกรุ้งยี้ว่าจะไปร้านหนังสือมือสองดาสะ รุ้งยี้เลยดาวน์โหลดรายชื่อหนังสือไปดู แล้วฝากซื้อเล่มนี้ เราบอกว่าฝากซื้อก็ได้ แต่ขออ่านก่อน ( แฮ่.. ) รุ้งยี้ก็บอกว่าได้

หนังสือเล่มบาง อ่านจบภายในไม่ถึงสามชั่วโมง แต่ก็รู้สึกดี ๆ ที่ได้อ่าน

*** ( ต่อจากนี้อาจมีสปอยล์นะก๊ะ ) ***

เมื่อเธอตายไปแล้ว เธอจะได้พบกับคนห้าคนบนสรวงสวรรค์ ผู้ซึ่งจะบอกเธอว่าชีวิตของเธอนั้นมีความหมายอย่างไร

เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความตายของตัวเอกชื่อ เอ็ดดี้

เอ็ดดี้เป็นหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุงของสวนสนุกเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ตลอดชีวิตไม่ได้ทำอะไรมากมายนอกจากตรวจเครื่องเล่นต่าง ๆ ในสวนสนุก เอ็ดดี้คิดว่าชีวิตของตัวเองธรรมดาสามัญ ไม่มีความหมาย รู้สึกว่าตัวเอง "ติดกับ" อยู่ในฐานะเล็ก ๆ ที่ไม่สลักสำคัญ

เอ็ดดี้ตายเพราะเข้าไปช่วยเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ในระหว่างอุบัติเหตุเครื่องเล่นตกลงมา พอตายแล้วเอ็ดดี้ก็พบตัวเองบนสวรรค์ ได้รับคำบอกเล่าว่าจะได้เจอคนห้าคน เอ็ดดี้เดินทางจาก "สวรรค์" ของคนหนึ่งไปยังสวรรค์ของอีกคนหนึ่ง รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ จนกระทั่งมาจบที่สวรรค์ของตัวเอง

***

เรื่องนี้มีหนัง เราเคยดูในยูบีซีสักช่อง รู้สึกน่าเสียดายที่ดูหนังไปก่อน เพราะตอนที่ดูหนังจบ ร้องห่มร้องไห้เป็นบ่อน้ำตาแตก แต่พออ่านหนังสืออีกที รู้ตอนจบไปแล้ว เลยไม่รู้สึกรุนแรงมากเท่ากับคราวดูหนัง

แต่ก็ยังชอบอยู่นะ ชอบความรู้สึกของหนังสือที่พาเราไปเรื่อย ๆ "คนบนสวรรค์" ที่ชอบที่สุดคือ คนแรกกับคนสุดท้าย แต่ที่ชอบจริง ๆ คือตอนจบที่เอ็ดดี้มาถึงสวรรค์ของตัวเอง แล้วรู้ว่าจริง ๆ แล้วชีวิตของตัวเองมีความหมายยังไง

มันให้อารมณ์เหมือนกลอนของเอมิลี่ ดิกคินสัน บทโปรดของเรา

If I can stop one heart from breaking,
I shall not live in vain:
If I can ease one life the aching,
Or cool one pain,
Or help one fainting robin
Unto his nest again,
I shall not live in vain.


ป.ล. ไปรื้อดูที่อเมซอน อัลบอมเพิ่งออกหนังสือใหม่ ( เมื่อวานนี้เอง สุด ๆ เลย ) ชื่อ For One More Day

รอต่อไปจนกว่าจะเป็นปกอ่อนละกัน - -''

ปปล. ตอนนี้กำลังจะอ่าน Pligrim Regress ของ C.S. Lewis ดูสิว่าลุงกับเราใครจะอึดกว่ากัน




 

Create Date : 27 กันยายน 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:59:45 น.
Counter : 2619 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.