The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
รู้แล้ว

ในฐานะที่เราไม่ใช่ "คนวงใน" ( ในหลาย ๆ วง )

และเป็นคนน้ำแข็งหนาพอสมควร ( น่าอายจัง ) จนไม่ใช่จะได้ข่าวเรื่องใน ๆ จากใครได้ง่าย ๆ

เราจึงเรียนรู้เรื่องของนักเขียนหลายคนเพียงจากเรื่องที่เขาเขียน

เรื่องอื่นนอกจากนั้นเราไม่รู้ และบางครั้งก็ไม่ได้คิดจะรู้ เพราะเราคิดว่านักเขียนแทบทุกคนพยายามจะเอาส่วนที่เขาสบายใจที่สุด และคิดว่าดีที่สุดออกมาแสดงอยู่แล้ว ( ดีที่สุดไม่ได้หมายถึง persentable ที่สุด แต่อาจจะหมายถึง proud to present ที่สุด )

ด้วยเหตุนี้ อะไรที่นักเขียนไม่บอก เราก็ไม่รู้

แต่เราคิดว่าบางครั้ง ในงานบางงาน เราก็ "อ่าน" ได้

เราอ่านสารคดีท่องเที่ยวน้อยมาก ในความทรงจำอันเลือนรางตั้งแต่เด็ก ๆ มาจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ แทบไม่มีหนังสือท่องเที่ยวอยู่เลย ชั่วแวบที่คิดออกก็อาจจะมีเรื่อง "ฉากญี่ปุ่น" หรือหลาย ๆ เรื่องของ ส.พลายน้อย ( แต่ส.พลายน้อยไปเที่ยวจริงหรือเปล่านะ ) ทว่าที่จำหนังสือพวกนี้ได้ ก็เป็นเพราะจำอยู่ในเซ็ตภายใต้ชื่อคนเขียน ( อ้อ นึกออกอีกคนนึงแล้ว เป็นนักเขียนของต่วยตูนที่ตลกมากเรียนจบมาจากอินเดีย แกน่ารักมาก แต่ตอนนี้เรานึกชื่อแกไม่ออก - -'' )

เราซื้อ "โตเกียวไม่มีขา" ไปเมื่อปีก่อน ซื้อเพราะอยู่ในอารมณ์อยากซื้อ และอาจจะเพราะรูปเล่มที่ให้อารมณ์กึ่ม ๆ ดีด้วย

แต่เราไม่ "ประทับใจ" โตเกียวไม่มีขา

เราคิดอยู่หลายพักว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะแกไปแหล่งขายบริการหรือ ก็เปล่า เพราะนักเขียนต่วยตูนคนนั้นก็ไปเหมือนกัน ( แอ่วสาวทุกเมืองที่ผ่านเลย ) และเราก็ไม่ว่าอะไรถ้าแกจะไปแอ่ว ไอ้ของที่มีมาบอกไม่มีมันหลอกตัวเอง

เราเพิ่งมารู้ว่าทำไมเมื่อคืน ตอนที่เราอ่านเรื่อง "จากโปสการ์ดถึงอีเมล์" ของภาณุ มณีวัฒนกุล

มันเป็นเรื่องของ "ประสบการณ์"

มีอยู่หลายบทหลายตอนที่คุณภาณุพูดด้วยอารมณ์รุนแรงถึงสิ่งเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความโง่เขลาและอ่อนแอของมนุษย์ มีอยู่บทหนึ่งที่แกพูดถึงอดีต สมัยที่ทำสารคดี และถูกขับไล่ ต้นสังกัดถูกฟ้องหลายครั้งหลายหน เพราะแกทำสารคดีเปิดโปงอะไรหลายอย่างที่น่าทุเรศและไม่ถูกต้อง

แต่เวลาที่อ่านอีกเรื่องของแก อย่างเช่น คือคนในความทรงจำ และ อารมณ์กาแฟ แกไม่ได้พูดถึงเรื่องอย่างนี้ และเราก็ไม่รู้ว่าแกเคยทำอะไรมาในอดีต เรารู้แต่ว่าลุงคนนี้เป็นผู้ใหญ่ ฉลาดช่างคิด อ่อนโยน บางทีก็อ่อนไหว

ในที่สุดเราก็รู้ว่าแกมี "ประสบการณ์" มา ผ่านอะไรหลายอย่างที่เจ็บปวด สู้กับอะไรหลายสิ่งซึ่งยากจะสู้ได้ พบคนหลายคนที่งดงามที่น่าเกลียดน่าชัง

ความจริงเหล่านั้นทำให้แกมีความเสถียรหลายอย่างในตัว แกไม่ตื่นเต้นทั้งกับความดีและความเลวอีกต่อไป ไม่ยกประสบการณ์บางอย่างจนสูงเด่นประหนึ่งเป็นไฮไลท์อันควรเอาไว้บนแท่น ไม่ชื่นชมอะไรจนเกินเหตุ แกเพียงแต่แสดงสิ่งที่มันเป็นเพราะมันเป็นเช่นนั้น

แกให้ความสำคัญและจดจำกับคนที่ดีด้วยเสมอ แต่ก็ไม่เคยบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งดีพร้อม ยิ้มด้วยมุมปาก ( และบางทีก็ยิ้มแหย ๆ ) ให้กับความประหลาดและพิลึกของคนบางคน โกรธเกรี้ยวความไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ชังโลก ( ยิ่งงานเล่มหลัง ๆ ยิ่งมีอารมณ์อย่างนี้ชัดเจน )

นั่นคือสิ่งที่เราชอบ

จำได้เลา ๆ ว่าคนที่เขียน "ต้นส้มแสนรัก" เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าจะเป็นนักเขียนก็ต้องมีประสบการณ์เยอะ ๆ ไปเจอคนให้มาก ๆ ทำอะไรให้มาก ๆ

เรานึกถึงดอกไม้สด เราไม่คิดว่าดอกไม้สดจะสามารถ "ออกไปหาประสบการณ์มาก ๆ" ได้ ในฐานะลูกสาวตระกูลผู้ดีในสมัยก่อนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย และด้วยสุขภาพอย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้ เรื่องของดอกไม้สดจึงอยู่ในปริมณฑลของสังคมแบบหนึ่ง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องในครอบครัว

แต่สายตาของดอกไม้สดช่างแหลมคม คำบรรยายชัดเจน และความรู้สึกที่ได้ก็แทบจะเหมือนเห็นด้วยตาตัวเอง แม้กระทั่งตอนที่อายุมากขึ้น และเรื่องหลัง ๆ แสดงความร่วงโรยบางอย่าง แต่เรื่องเหล่านั้นก็พัฒนาการไปในรูปแบบที่ช้าลง โครงเรื่องเลือนหาย ความเป็นมนุษย์ชัดจนคนอ่านเกือบจะอึดอัด ( อารมณ์พาฝันหายไปแล้ว ) ที่จริงคือมันเฉียบมากขึ้นในหลาย ๆ แง่ทีเดียว

ไม่ใช่ว่าเราจะชอบแต่เรื่องของคนมีอายุ แต่บางที เราอาจจะคาดหมายว่าจะได้เรียนรู้ และ "เห็น" อะไรบางอย่างมากขึ้นหน่อย ด้วยการอ่านเรื่องของคนอื่น

มันอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว

แต่ในที่สุดแล้ว กาลเวลาก็คงจะเปลี่ยนแปลงเรา เช่นเดียวกับที่เปลี่ยนแปลงคนอื่น ๆ

บางทีมันอาจจะทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น และเลิกเรียกร้องบางอย่าง เพื่อจะหันมายอมรับบางอย่างเพียงด้วยสิ่งที่มันเป็นก็ได้


Create Date : 09 พฤษภาคม 2549
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:45:12 น. 6 comments
Counter : 585 Pageviews.

 
ต้องไม่ลืมด้วยว่าแก่ตัวลง ก็เย็นชากับเรื่องอะไรต่อมิอะไรได้สุดขั้วเช่นกัน

อ้อ.... แวะมาบอกเรื่อง blog ที่จริงอันนี้เขียนไว้นานแล้วก่อนมาเขียนที่นี่ friday.diaryis.com จริงๆ ไม่ค่อยได้เขียน คิดจะเขียนแล้วก็เบื่อ - -' เซ็งตัวเองเหมือนกัน


โดย: pew IP: 202.44.135.35 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:13:27:16 น.  

 
แต่เราชอบโตเกียวไม่มีขาแหละค่ะ

ชอบแง่มุมที่แกไปในที่ที่ "นักท่องเที่ยว" ทั่วไปไม่มีโอกาสได้สัมผัสในหลายๆ อย่าง

ทั้งโรงหนังโป๊ การนอนข้างถนน ฯลฯ

มันเป็นอีกรสและอีกมุมของการเที่ยวญี่ปุ่นที่เราคงไม่สามารถทำได้น่ะค่ะ

แล้วหลายๆ ถ้อยคำก็โดนใจเราดี


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:16:33:03 น.  

 
นักเขียนต่วยตูนที่เขียนเรื่องอินเดียชื่อ ชัยชนะ โพธิวาระค่ะ ชอบอ่านเรื่องของแกเหมือนกันพวกแขกยิ้ม คลี่ส่าหรีจีบสาวแขก ยิ้มอาบัง ฯลฯ อะไรพวกนี้ สมัยเด็กอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกกี่ทีก็ขำ

โตเกียวไม่มีขา นี่ไม่เคยอ่านค่ะ แต่พูดถึงการรู้จักตัวตนของนักเขียนนี่สำหรับตัวเองเมื่อก่อนจะก้ำกึ่งทั้งอยากรู้และไม่อยากรู้เลยค่ะ มีนักเขียนบางคนสำหรับตัวเองแล้วเขาเหมือนดาราไอด้อลของเด็กวัยรุ่นนั่นล่ะ กลัวว่าเกิดรู้จักตัวจริงเข้ามากๆ แล้วจะ เอ่อ... ก็เลยให้มันคลุมเครือไว้ดีกว่า แต่เดี๋ยวนี้เวลาผ่านไป ความอยากรู้อยากเห็นมันก็เริ่มมากขึ้นตามอายุ

อ่าน entry นี้ของคุณแล้วคิดถึงคำที่เคยอ่านมา(จำไม่ได้ว่าใครเขียน)ที่บอกว่านักเขียนจะมี 3 การเป็นพิเศษ คือ ประสบการณ์ สังเกตการณ์ จินตนาการ หากอันหนึ่งอันใดด้อยไป ก็ต้องมีที่เหลือมากขึ้นเพื่อทดแทนกัน


โดย: vee vee' IP: 58.147.100.50 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:19:53:51 น.  

 
ก็เคยเป็นนะ อ่านข้อเขียนของใครแล้วนึกถึงตัวตนของคนเขียนไปด้วย

จริงที่ว่าตัวอักษรมันบอกอะไรเราหลายอย่าง แต่บางที การรู้จักคนเขียนมากไปก็ทำให้ภาพของความจริงในตัวอักษรเหล่านั้นพร่าเลือน

การรู้จักตัวตนของคนเขียน มันก็มีทั้งแง่ลบและแง่บวก

หากมาคิดดูอีกที มันก็เป็นประสบการณ์แปลกๆ ที่มีไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มนุษย์แต่ละคน แต่ละนิสัย มีมุมมองอย่างไร และเขียนเรื่องราวออกมาได้อย่างไร

บ่อยครั้งที่พบว่า ชอบงานของคนที่ไม่ได้ชอบขี้หน้าเลย ทำให้คิดต่อไปได้ว่า เขาก็มีแง่ดีเหมือนกันนี่หว่า

ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเกลียดงานของคนบางคน หรือเฉยๆ แต่กลับชอบใจในตัวตนของคนเหล่านั้นเอง

อืม คนเรานี่มันไม่ได้สมบูรณ์แบบจริงๆ นั่นแหละนะ

เอ่อ บ่นบ้าอะไรเนี่ย เจ๊อย่าถือสาเลย แค่อะไรติดในหัวใจว่า คนเขียนนี่ต้องสร้างภาพไหมว่าเป็นคนดีให้คนอ่านชื่นชม ถ้าเขียนดี แต่คนอ่านรู้สึกว่านิสัยไม่น่ายกย่อง(ไม่ได้เลว แค่อาจมีเห็นแก่ตัวบ้าง ตามประสามนุษย์โลก แล้วก็มีดีมีเลวมั่งตามสมควรเนี่ย) มันเลวร้ายถึงขนาดต้องประณามและบอยคอตงานเขียนเขาด้วยรึเปล่านั่น

ความจริงที่พบอีกอย่าง คนเรามักเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น แต่ไม่ได้มองลึกเข้าไปในตัวตนของเขาเลย ไม่แม้ปากจะบอกว่าได้อ่านงานเขียนที่บอกตัวตนที่แท้จริงของเขาด้วยซ้ำ


โดย: mink (รพินทร์ ) วันที่: 10 พฤษภาคม 2549 เวลา:3:58:51 น.  

 
พิวจัง @ บางทีเย็นชาก็ดี บางทีเย็นชาก็ไม่ดี บางทีตื่นเต้นก็ดี แต่บางทีก็ตื่นเต้นก็ไม่ดี
เพราะงั้นไม่เลยรู้เลยว่าที่จริงอะไรถึงจะเวิร์คกันแน่เนอะ
งือ ๆ ไว้จะแวะไปที่ไดนุ เราเองบางทีก็อยากเขียนจนเลิกเขียนไม่ได้ แต่บางทีก็ไม่อยากเขียนเป็นนาน ๆ เหมือนกัน

คุณสาวไกด์ @ นับถือความใจกล้าของคนเขียนเลยละค่ะ ^^

คุณ vee vee' @ อ๊ะ ใช่แล้วละคับ คุณชัยชนะนี่เอง ชอบแกมาก ๆ เลยนะ แต่ว่ามาเจอหลังจากที่แกเขียนหนังสือมานานแล้ว เลยมีไม่ครบ ป่านนี้ไม่รู้ว่าแกจะยังเที่ยวอยู่หรือเปล่านะ
นักเขียนบางคนเราก็ไม่อยากรู้เพราะอยากจะเห็นภาพเขาเฉพาะที่ผ่านจากตัวหนังสือเหมือนกันค่ะ อย่างเวลานักเขียนที่ชอบบางคนแจกลายเซ็นงี้ เราก็ไปแอบยืนดูอยู่ห่าง ๆ ไม่ยอมเข้าไปใกล้เลย ไม่รู้เขาจะนึกว่าเป็นสโตกเกอร์หรือเปล่าเนอะ
ชอบ "สามการ (ณ์)" มาก ๆ เลยค่ะ รู้สึกว่ามันสรุปทุกอย่างที่จำเป็นจริง ๆ ด้วย แต่แอบ ๆ คิดว่าที่จริงมีอีก "การ" นึงเหมือนกันเนอะ คือ "วิกฤตการณ์" นั่นเอง อย่างเช่น "วิกฤตการณ์ทางมนุษย์ศาสตร์" ( บ.ก.โฮก ) หรือ "วิกฤตการณ์ทางการเงิน" ( ไส้แห้งแล้ว )
อะไรแบบนี้ล่ะค่ะ^^''

มิ้งค์ @ อย่างแรกเลยก็คือ เจ๊คิดว่าเราทุกคนต้องรับผลการกระทำของตัวเอง คนที่พยายามทำตัวดีเพราะกลัวถูกว่า แต่ก็รู้สึกอึดอัดเพราะไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเอง หรือคนที่ทำตามใจชอบตัวเองอย่างไม่ยี่หระ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกว่ากล่าว ทั้งหมดนี้ก็เป็นทางเลือกของตัวเอง ตัวเองเลือกอะไรไปแล้วก็รับผลอย่างนั้น ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง ในโลกนี้ไม่มีใครจะเอาได้แต่ของดีหรอก

ส่วนที่ว่าชอบหรือไม่ชอบนั้น เจ๊ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเจ๊ชอบเพื่อนบางคนแต่ไม่ชอบอาหารที่มันทำ ( อาจจะเพราะมันกระหน่ำใส่พริกลงไปจนทำให้เจ๊สยองขวัญ ) แต่ไม่กินกับข้าวของมัน เจ๊ก็ยังชอบมันได้

ที่ต่างกันอยู่อย่างก็คือคนทำงานศิลปะมักจะรู้สึกว่า งานของตัวเองเป็น "อีกตัวตน" หนึ่งของตัว เพราะอย่างนั้นเวลาที่มีคนมาบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็จะพลอยรู้สึกว่าตัวเองถูกชอบหรือไม่ชอบไปด้วย

แต่จริง ๆ แล้วกระทั่งตัวเราเวลาพูดด้วยปาก ตัวเราเวลาเล่าด้วยเรื่อง ตัวเราเวลาแสดงดนตรี ตัวเราเวลาสื่อสารด้วยสารพัดจะห้าร้อยวิธีในโลกนี้ มันก็ยังแตกต่างกันไปตามการแสดงออกของสื่อเหล่านั้น ต่อให้ไส้มันไส้เดียวกัน แต่ไม่คิดบ้างหรือว่าทำไมคนเล่นแชทนาน ๆ บางคนกลับคุยโทรศัพท์ไม่เก่ง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากเราสื่อสารออกไปด้วยงานศิลปะ ก็ต้องคิดด้วยว่าความชอบความชังของคนเสพนั้นต่าง ๆ กันไป ชอบร็อค หรือหนวกหูร็อคเกือบตาย ชอบเรื่องเศร้า หรืออะไรวะ ชีวิตก็บัดซบพออยู่แล้ว ยังต้องมาบัดซบกับเรื่องแต่งอีกเรอะ

มันไม่เหมือนคนนิสัยดีหรือนิสัยไม่ดี ส่วนตัวเจ๊คิดว่า "ความนิสัยดี" ส่วนใหญ่แล้วมันค่อนข้างสื่อสารได้เป็นสากล

ก็พูดไปแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเองจะไม่ติดอยู่ในวังวนของความชอบหรือความไม่ชอบหรอกนะ

แต่หวังว่าสักวันจะออกไปได้เหมือนกัน ( แต่ถ้าออกไปแล้วจะยังเป็นมนุษย์อยู่ไหมนะ )


โดย: เคียว (ลวิตร์ ) วันที่: 11 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:06:04 น.  

 
อ่านเรื่องโตเกียวไม่มีขาแล้วเหมือนกันครับ หลังจากซื้อมาปีกว่า(หยุดอ่านไปปีนึงเพราะอกหักอ่ะ)
อ่านแล้วมีส่วนที่ทั้งชอบและไม่ชอบครับ
แล้วก็รู้สึกว่าต้องไป tower record ของที่นั่นให้ได้เท่านั้นเอง


โดย: JM!D IP: 124.121.96.223 วันที่: 30 กรกฎาคม 2549 เวลา:14:23:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.