Group Blog
All Blog
### ทุกครั้งที่พูดปดก็เหมือนกับเทความดีออกจากตัวเรา ###














“ทุกครั้งที่พูดปดก็เหมือนกับเทความดีออกจากตัวเรา”

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลเกี่ยวกับการพูดปดดังนี้

ทรงตักน้ำขึ้นมาเต็มขันแล้วทรงตรัสกับพระราหุลว่า

 เวลาที่พระราหุลพูดปดครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าก็จะเทน้ำออกนิดหนึ่ง

ถ้าพูดปดเรื่อยๆก็จะทรงเทน้ำออกเรื่อยๆ

จนไม่มีน้ำเหลืออยู่

 ทรงเปรียบน้ำเหมือนความดีที่มีอยู่ในตัวเรา

 ทุกครั้งที่พูดปดก็เหมือนกับเทความดีออกจากตัวเราไป

 เราไม่เสียดายความดีหรือ

 กลับไปเสียดายความรู้สึกของคนอื่น

ทำไมไม่รักษาความดีของเราไว้ ให้คิดอย่างนี้

คนอื่นไม่ทุกข์เดือดร้อนเวลาที่เราทุกข์เราเดือดร้อน

 ถ้าไม่มีความดีเราจะลำบาก ไม่มีเครดิตนะ

 ถ้าพูดปดก็จะเป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ

 พูดอะไรไม่มีใครเชื่อ ต้องคิดว่าการพูดปด

ทำให้เราเสียความดีไป

มันคุ้มค่ากับการรักษาน้ำใจของผู้อื่นไหม

ถ้าคิดอย่างนี้แล้วการรักษาศีลข้อ ๔ จะง่ายมาก

 ที่เราคบค้าสมาคมกันได้ก็เพราะเชื่อถือกัน

ถ้าเชื่อถือกันไม่ได้ ใครจะคบค้าสมาคมกับเรา

 ไว้ใจกันไม่ได้ พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง

 ต้องเห็นคุณค่าของสัจจะความจริงว่า

มีคุณค่ายิ่งกว่าคน จะคบกับเราหรือไม่ก็เรื่องของเขา

 ไม่คบกับเราก็ไม่เสียหายอย่างไร

แต่ถ้าไม่มีสัตย์จะเสียหายมากกว่า เสียความดีไป

 เช่นเดียวกับศีลข้ออื่น เป็นความดีทั้งนั้น

การลักทรัพย์นี้ไม่ดีใช่ไหม ถ้าไม่ลักทรัพย์ดี

 คนที่ไม่ลักทรัพย์เวลาอยู่กับผู้อื่น

ผู้อื่นจะปลอดภัยสบายใจ ยินดีที่จะให้เราอยู่ด้วย

เวลาเราไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้อื่นก็ยินดีเปิดบ้านต้อนรับเรา

 เพราะรู้ว่าเราไม่ลักทรัพย์

แต่ถ้ารู้ว่าเราลักทรัพย์ ก็ต้องคิดหนัก

บางทีก็ต้องปฏิเสธ ถ้ารู้ว่าเคยฆ่าผู้อื่น

ยิ่งไม่อยากจะให้เราอยู่ด้วย

การรักษาศีล ๕ จึงมีคุณประโยชน์มาก

มีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติเงินทอง

 ถ้ามีศีลแล้วจะได้ทรัพย์มาง่าย

เวลาไปสมัครงานถ้าเขารู้ว่าเรามีศีลเขาจะรับเรา

ถ้าไม่มีศีลเขาจะไม่รับเรา

ต้นเหตุที่มาของทรัพย์ภายนอกก็คือทรัพย์ภายใน

ก็คือศีล ๕ ยิ่งมีศีล ๒๒๗ ข้อนี้ยิ่งง่ายใหญ่

 เห็นไหมมีคนเอาเงินมาให้พระอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต้องไปแสวงหา สีเลน โภคสมฺปทา

 ศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์

ถ้าอยากจะร่ำรวยก็ต้องรักษาศีลไว้ให้ดี รวยแน่นอน

ไม่รวยเพราะโกง รวยแบบโกงนี้ไม่รวยจริง

เพราะอาจจะถูกยึดคืนไปหมด

 ถ้ารวยแบบมีศีลนี้ไม่มีใครยึดคืนไปได้

 พยายามมองให้เห็นคุณค่าของศีล

ว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ไม่ต้องเสียดายสิ่งอื่นๆ

 อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สละแม้แต่ชีวิต

เพื่อรักษาธรรม คือศีลนี้เอง

 ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

พวกเราไม่เห็นคุณค่าของศีลกัน

ก็เลยเหยียบศีลกันป่นปี้ไปหมด จนติดเป็นนิสัย

จึงเห็นว่าการรักษาศีลเป็นของยากไป

เพราะไม่เห็นคุณค่า

 ถ้าเห็นว่าศีลเป็นเหมือนเพชรนิลจินดา

 ก็จะรักษายิ่งกว่าชีวิต

บางคนยอมตายกำเพชรไว้ในมือ

 รักเพชรยิ่งกว่ารักชีวิต

เวลาโจรปล้นไม่ยอมให้เขาไป จึงต่อสู้เพื่อรักษาเพชร

 แล้วก็ถูกโจรฆ่าตาย เพราะรักเพชรยิ่งกว่ารักชีวิต

 ขอให้พวกเรารักศีลอย่างที่เรารักเพชร

จะรักษาศีล ๕ ได้อย่างสบายเลย

ขอให้พวกเราใช้ชีวิตของมนุษย์นี้

ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเมื่อไหร่

กลับมาคราวหน้าไม่รู้ว่าจะได้พบ

กับพระพุทธศาสนาหรือไม่

จึงควรพยายามบรรจุพระพุทธศาสนาให้อยู่ในใจให้ได้

ถ้ามีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว

 กลับมาคราวหน้าไม่พบพระพุทธศาสนา

 เราก็ยังสามารถปฏิบัติไปตามลำพังได้

เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ

 มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว

 จะมีครูบาอาจารย์มีพระศาสนาสอนหรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหา

 เพราะเรารู้ทางแล้ว เห็นอริยสัจ ๔ แล้ว

 เห็นว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ทุกข์กับสมุทัย

และสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือมรรคกับนิโรธ

ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว เกิดมากี่ภพกี่ชาติ

ก็จะรู้จักวิธีแก้ปัญหา คือความทุกข์ทางใจได้

ที่มีดวงตาเห็นธรรมกัน ก็คือเห็นพระอริยสัจ ๔

 ที่เกิดขึ้นในใจ เช่นเห็นความทุกข์ทรมานใจ

ที่เกิดจากความกลัวตาย แล้วก็ปลงด้วยมรรค

ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา

ถ้ายอมตายปั๊บนิโรธก็เกิดขึ้นมา

 ความรู้นี้จะอยู่ติดกับใจ จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติ

ก็จะไม่กลัวตาย เพราะรู้จักวิธีแก้ความกลัวตาย

ความเจ็บก็เหมือนกัน ความรักความชังก็เหมือนกัน

เพราะเห็นว่าเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะรัก

 ทุกข์เพราะชัง ก็จะเลิกรักเลิกชังทันที

นี่คือการมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ

จะสามารถปฏิบัติก้าวขึ้นไปตามลำดับได้

เพราะนี่เป็นเพียงก้าวแรกของการเห็นธรรม

 แต่ยังมีธรรมที่ละเอียดที่จะต้องปฏิบัติให้เห็นต่อไป

เวลาที่เกิดความทุกข์ใจจะเข้ามาแก้ภายในใจทันที

 จะไม่ไปแก้ข้างนอก

เช่นอากาศร้อนก็ไปหาเครื่องปรับอากาศมาติด

อย่างนี้จะไม่ทำ จะแก้ภายในใจ

ร้อนก็หัดอยู่กับความร้อนไป ความทุกข์ใจก็จะหายไป

 จะแก้ปัญหาที่ใจเสมอ อย่างนี้แสดงว่ารู้ทางแล้ว

ไม่ต้องมีคนสอนก็ได้ แต่อาจจะช้าหน่อย

เพราะอาจจะหลงติดอยู่ตรงจุดนั้นจุดนี้

เพราะยังไม่เคยผ่านทางนี้มาก่อน

แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ก็จะไปได้เร็ว

เพราะท่านจะคอยเตือน

ถึงจุดนี้จะต้องติด จะต้องแก้อย่างไร

มีครูอาจารย์คอยสอนก็จะไม่ติด

 พอถึงปั๊บจะรู้เลยว่า ตรงนี้ท่านเตือนไว้แล้ว

เหมือนคนที่เคยขับรถผ่านทางนี้มาแล้ว

จะบอกว่าตรงนี้ถนนไม่ดี เป็นหลุมเป็นบ่อ

ตรงนี้ทางโค้งอันตราย พอมาถึงที่ก็จะรู้ทันที

 จะได้ระมัดระวัง จะผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

ชาตินี้เรามีโอกาสกันแล้ว ควรเอาพระศาสนา

เอาพระอริยสัจ ๔ ให้เข้ามาอยู่ในใจให้ได้

 ให้เห็นพระอริยสัจ ๔ ภายในใจ

 เวลาไม่สบายใจจะรู้ทันทีว่าเกิดจากสมุทัย

ไม่ได้เกิดจากอะไร วิธีแก้ก็ต้องแก้ด้วยมรรค

 ต้องละสมุทัยคือความอยาก อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้

 อย่าไปอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตามที่เราอยาก

ให้ละความอยาก จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป

 ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วก็ถือว่าไม่เสียชาติเกิด

ได้กำไร ได้ต้นทุน ได้แผนที่

 ที่จะพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 โดยไม่มีพระศาสนาที่อยู่ภายนอก

เกิดภพหน้าชาติหน้าเป็นมนุษย์แต่ไม่มีพระศาสนา

 ก็ยังสามารถปฏิบัติต่อไปได้

เพราะพระศาสนาจะมีอายุเพียง ๕๐๐๐ ปี

ตามที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้

ถ้าต้องไปใช้เวรใช้กรรมในนรก ไปรับบุญบนสวรรค์

เป็นเวลาหมื่นปีแสนปี พอกลับมาใหม่

พระพุทธศาสนาก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่

เพราะมีอายุ ๕๐๐๐ ปี

กว่าพระพุทธศาสนาของพระศรีอาริย์มาปรากฏ

ก็อีกหลายกัป ชีวิตนี้อาจจะเป็นเหมือนรถเมล์

เที่ยวสุดท้ายก็ได้นะ ถ้าไม่ขึ้นรถก็จะตกรถ

จึงควรรีบคว้าอริยสัจเข้ามาสู่ใจ

 ต้องนั่งให้เจ็บปวดแล้วดับไปเอง

 แยกทุกข์กายออกจากทุกข์ใจ

ให้เห็นทุกข์ใจว่าเกิดจากความกลัวความเจ็บ

 ความอยากให้ความเจ็บหายไป

 แล้วก็ดับมันด้วยการละความกลัวความเจ็บ

ไม่กลัว มันจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไป ปล่อยให้มันเจ็บไป

ถ้ากลัวตายก็ปล่อยให้มันตายไป

ถึงเวลาตายก็ให้มันตายไป ปลงมันไป

ถ้าปลงได้จะเห็นทุกข์ดับภายในใจเลย

จิตจะดิ่งเข้าสู่ความสงบความสบาย

พอเห็นอย่างนี้ก็จะเห็นอริยสัจ

 และจะใช้อริยสัจนี้แก้ปัญหาอื่นๆได้

เพราะยังมีปัญหาอื่นๆอีกมากที่ยังต้องแก้

 เป็นปัญหาแบบเดียวกัน จะเป็นเรื่องสมุทัยกับทุกข์

 วิธีแก้ก็คือมรรคกับนิโรธ

การได้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนานี้

เป็นบุญเป็นกุศลมาก

 จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสอันดีนี้ผ่านไป

โดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือไป อย่าคว้าน้ำเหลว

 อย่าเสียชาติเกิด ต้องเอาดวงตาเห็นธรรมมาให้ได้

 เห็นอริยสัจ ๔ ให้ได้

 ต้องไม่กลัวความเจ็บไม่กลัวความตาย

 ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ

พิจารณาความเจ็บอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นธรรมดา

 จึงจะสามารถผ่านไปได้ ด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๑๔ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓

 (จุลธรรมนำใจ ๒๒)

"ทำใจให้เฉย"










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาตื อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มีนาคม 2559
Last Update : 28 มีนาคม 2559 11:14:21 น.
Counter : 754 Pageviews.

0 comment
### วิธีทดสอบของครูอาจารย์ ###
















“วิธีทดสอบของครูอาจารย์”

ความเคารพครูอาจารย์นี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก

 ครูอาจารย์จะสั่งสอนเราได้ก็ต่อเมื่อเราให้ความเคารพ

ถ้าเราไม่ให้ความเคารพ แสดงว่าเราไม่ให้ความเชื่อฟัง

 เมื่อเราไม่ให้ความเชื่อฟัง สั่งสอนไปก็เสียเวลาเปล่าๆ

 เวลาที่ครูอาจารย์จะสั่งสอนใคร

ก็ต้องดูอาการของคนที่มารับการศึกษาว่า มาแบบไหน

ถ้ามาแบบสูงกว่าก็ถอย คือบางทีมาสอน ไม่ได้มารับคำสอนก็มี

 หรือเวลาสอนก็เถียงกลับ อย่างนี้สอนไปก็เปล่าประโยชน์

 เหมือนกับเรื่องพระโปฐิละ ที่เคยเล่าให้ฟัง

ที่ไปขอสามเณรให้เป็นอาจารย์

 พระโปฐิละมีพรรษาตั้ง ๓๐-๔๐ พรรษา

 แต่สามเณรยังไม่ได้พรรษาเพราะไม่ได้บวชเป็นพระ

 แต่บรรลุธรรมขั้นอรหันต์ ก็ไปขอศึกษาธรรมะจากสามเณร

 เพราะพระอรหันต์รูปอื่นไม่ยอมสอนเหลือสามเณรองค์เดียว

 พระโปฐิละยอมอุปัฏฐากสามเณรทุกอย่าง

 ล้างบาตรให้ กวาดถูกุฏิให้ ซักจีวรให้

รับใช้ทำตามคำสั่งทุกอย่าง จนสามเณรเห็นว่า

เป็นคนมีความเคารพเชื่อฟังแล้ว จึงสอนธรรมะให้

พอสอนไม่นานพระโปฐิละก็บรรลุธรรม

 นี่คือความสำคัญของความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่

 เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ครูอาจารย์ท่านมีความรู้มากกว่าเรา

 ถ้าเราอยากจะได้ความรู้ เราก็แสดงเจตนา

ว่าเราพร้อมจะรับคำสั่งสอนจากท่าน

การทำความเคารพที่ดีที่สุดคือที่ใจ

ผู้ที่ร่างกายคารวะแต่ใจไม่คาวระก็ถือว่าไม่ได้คารวะอยู่ดี

คือทำเเบบฝืนๆ ขัดๆ คือต้องทำเพราะว่า

ไม่อยากจะโดนคนอื่นว่ากล่าวติเตียน

อย่างนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเป็นการเสแสร้ง

 ไม่ได้ออกจากใจ และผู้ที่รับการคาวระก็จะดูออกด้วย

ว่าทำแบบเสเเสร้งหรือทำแบบออกจากใจจริงๆ

ถ้าไม่แน่บางทีท่านก็มีวิธีทดสอบดู

ถ้ากราบแล้วเดินหนีไปเลยดูซิจะทำยังไง

อย่างหลวงตา บางทีไปกราบท่าน ท่านลุกเดินหนีเลย

 ดูซิเราจะทำยังไง เราจะโกรธหรือเปล่า

ถ้าเราโกรธ ถ้าเรามีความเคารพท่านเราจะไม่โกรธ

แต่ถ้าเสเเสร้งก็จะแสดงกิริยาอาการโกรธขึ้นมาทันที

"กูไม่มาแล้ววัดนี้ อุตส่ากราบแล้วยังลุกหนีอีก"

ครูอาจารย์ท่านมีวิธีดัดกิเลสคนเยอะเเยะไปหมด

 ดังนั้นเวลาเข้าหาครูอาจารย์ต้องใจเด็ดจริงๆถึงจะเข้าถึง

ถ้าใจไม่เด็ดจริงๆเข้าไม่ถึงหรอก

 เพราะท่านจะมีวิธีการทดสอบต่างๆนานา

เพราะท่านก็เคยถูกทดสอบมาแล้ว

 เวลาท่านเข้าหาครูอาจารย์ท่านก็เคยถูกทดสอบมาก่อน

 ครูอาจารย์แต่ละองค์ท่านก็จะทดสอบความจริงใจของเรา

ว่าจริงหรือเปล่า เพราะท่านผ่านมาแล้ว

ท่านก็จะมีวิธีที่จะทดสอบพวกเรา มีในพระไตรปิฎก

ท่านแสดงไว้ว่า สมมุติว่าเราไปกราบครูอาจารย์

แล้วเรามีความเคารพ เราอยากไปศึกษากับท่าน

 และถ้าท่านขับไล่ไสส่ง อย่าไปสนใจทำเป็นหูทวนลม

 อยู่ไป เจอหน้าท่านทีไรท่านจะไล่ ก็ปล่อยให้ด่าไป

 เราก็อยู่ของเราไป นี่แหล่ะคือการทดสอบใจกัน

ไม่ใช่ทำเป็นคนหน้าบาง พอท่านไล่ตะเพิดก็ไป

 เปิดเลยไม่กลับเลย แสดงว่าใจไม่ถึง

 ต้องหน้าด้าน แต่ด้านเพื่อความดีไม่ใช่เพื่อความชั่ว

ครูอาจารย์ท่านมีหลายวิธีทดสอบ

 อย่างกรณีสามเณรทดสอบ

เพราะโปฐิละเถระ ให้ลงไปในน้ำหาของ

ทั้งทีจีวรพระโปฐิละตัดเย็บอย่างดี เป็นจีวรสวยงาม

แต่พอลงน้ำตัวเปียก สามเณรก็บอกเปลี่ยนใจไม่เอาละให้ขึ้นมา

 เพื่อจะดูว่าพระโปฐิละมีกิริยาอาการอะไรหรือเปล่า

 แต่ท่านก็เฉย ไม่มีอาการโกรธเลย

นี่แหล่ะคือวิธีทดสอบของครูอาจารย์

ดั้งนั้นถ้าท่านแสดงกิริยาอาการอะไรออกมาก็ถือการทดสอบ

 ในเมื่อเราเชื่อว่าท่านคือครูอาจารย์ของเรา

ท่านมีสิ่งที่ดีสอนธรรมะให้กับเรา

 เราจะได้รับประโยชน์จากท่าน เราก็ต้องอดทน

เพราะท่านทดสอบความอดทน

เพราะการที่เรานั่งสมาธิที่จะฝ่าความเจ็บความปวดไปได้

ต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน

เจ็บนิดหน่อยก็ไม่มีกำลังที่จะพุทโธล่ะ สติแตก

พิจารณาไม่ได้ พุทโธก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีความอดทน

ก็จะสามารถบริกรรมพุทโธ จนผ่านความเจ็บนั้นไปได้

ขันติ ท่านบอกว่าเป็นตปะ คือเป็นไฟแผดเผากิเลส

 "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา"

ผู้ที่จะสามารถเผากิเลสเอาชนะกิเลส ต้องมีขันติ

 มีความอดทนเป็นขันติบารมี

นอกจากอธิษฐานบารมี สัจจะบารมี วิริยะบารมี

นอกจากบารมีเหล่านี้แล้ว ขันติบารมีเป็นตัวนี้แหล่ะ

 นำพาให้เราปฏิบัติได้ ถ้าเราไม่มีอธิษฐานไม่มีความสัจจะ

ความตั้งใจแน่วแน่ สัจจะคือความแน่วแน่

วิริยะ คือความพากเพียร ขันติคือความอดทน

 เราจะไม่สามารถปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนาได้

แต่ถ้าเรามีบารมีทั้ง 4 นี้เราก็สามารถปฏิบัติได้

 อย่างรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ขึ้นเขาลงห้วยได้ ปฏิบัติได้

 ดังนั้น ถ้าเราอยากไปทางนี้เราต้องตรวจตราว่า

เรามีความตั้งใจจริง มีสัจจะ คือความแน่วแน่ มีความขยัน

 มีความอดทนหรือไม่ ถ้าไม่มีสักข้อก็ หาหมอนหาเสื่อดีกว่า.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖

“ตักบาตรเทโว”










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 มีนาคม 2559
Last Update : 26 มีนาคม 2559 11:06:24 น.
Counter : 680 Pageviews.

0 comment
### ครูบาอาจารย์จะให้ความสำคัญกับการสั่งสอน ###

















“ครูบาอาจารย์จะให้ความสำคัญ

กับการสั่งสอน”

การทำตามความอยากนี้ไม่ได้เป็นการดับความทุกข์

แต่กลายเป็นทำให้ความทุกข์นี้มีเพิ่มขึ้นไป

เผานานขึ้นไปอีก เป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความทุกข์

วิธีที่จะดับความทุกข์ก็ต้องไปทางสายกลาง

อย่างที่ได้แสดงไว้คือ ทาน ศีล ภาวนา

 หรือมรรคที่มีองค์ ๘ นี่เอง

 ทางนี้มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

เป็นผู้ที่ได้ค้นพบ ก่อนหน้านั้นก็มีทางสุดโต่งมีอยู่ ๒ ทาง

 พวกหนึ่งก็หาความสุขจากลาภยศสรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรส อีกพวกหนึ่งก็ออกบวช

แล้วก็ไปทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ

พระพุทธเจ้าก็ทรงลองมาหมด

ทรงอดพระกระยาหารทั้ง ๔๙ วัน

ความอยากก็ยังไม่ดับไป  ความทุกข์ก็ยังไม่หมดไป

จนในที่สุดต้องใช้เหตุใช้ผลมาวิเคราะห์หาความจริง

 ก็ทรงค้นพบว่าความอยากมันอยู่ในใจ

การจะดับความอยากก็ต้องดับด้วยปัญญา

 ดับด้วยสติ ดับด้วยสมาธิ พอดับได้หมดแล้ว

ละได้หมดแล้วก็หลุดพ้นจากความทุกข์

ทีนี้ก็เอามาเผยเเผ่สั่งสอน

ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ผู้ที่มีธรรมรองรับอยู่แล้ว เช่นมีสติ มีสมาธิ อยู่แล้ว

 พอฟังเรื่องอริยสัจ ๔ ปั๊บ ก็บรรลุธรรมได้ทันที

หยุดความอยากได้ทันที เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ

พอฟังเรื่องอริยสัจ ๔ ฟังมรรค ๘ ปั๊บ

ก็เกิดมีดวงตาเห็นธรรมเห็นอนิจจัง

 เห็นว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

 เห็นอนัตตาว่าไปห้ามเขาไม่ได้

เห็นทุกข์ว่าเกิดจากความอยากไปให้เขาไม่ดับนั่นเอง

 ชอบสิ่งที่เกิดแต่ไม่ชอบสิ่งที่ดับ

ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ต้องยอมรับทั้ง ๒ ส่วน

ยอมรับส่วนที่เกิดและยอมรับส่วนที่ดับ ก็จะไม่ทุกข์

ก็จะไม่มีความอยากไม่ให้ดับ เพราะรู้ว่าอยากไปก็ป่วยการ

 อยากไปก็ไปห้ามเขาไม่ให้ดับไม่ได้

อยากไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

 ไม่ให้ร่างกายตายก็ไปยับยั้งความแก่

ความเจ็บ ความตายไม่ได้อยู่ดี แต่ถ้าไม่อยาก

ก็จะยับยั้งดับความทุกข์ใจได้

อันนี้แหละจำเป็นจะต้องมีครูบาอาจารย์เวลาปฏิบัติ

 มันต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 แล้วมันก็จะเบื่อหน่าย มันจะไม่อยากได้

ได้อะไรมาต้องทุกข์เอามาทำไม แต่ไม่เห็นเอง มันตาบอด

 ได้อะไรก็คิดว่าจะได้ความสุขใช่ไหม

ได้ภรรยาก็คิดว่าจะได้ความสุข

ได้สามีก็คิดว่าจะได้ความสุข

 แต่ไม่เห็นทุกข์ที่ตามมาด้วย ชอบมองเหรียญด้านเดียว

ไม่ยอมมองอีกด้านหนึ่งกัน

 มองแต่ด้านบวก ไม่ยอมมองด้านลบ

 คนเขาก็เลยกล่าวหาว่าศาสนาพุทธนี้

เป็นศาสนาที่มองแต่ด้านลบ

อ้าว..ก็ต้องมองด้านลบบ้างซิมันจะได้เห็นความจริงครบถ้วน

พวกเรามองแต่ด้านบวกเพียงด้านเดียว

 มันก็เลยถูกความหลงหลอกทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 เวลาไปเจอความจริงเข้า ชีวิตของเรามันไม่ได้มีด้านเดียว

มันไม่เป็นด้านบวกด้านเดียว มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ถ้าเรามองเห็นทั้ง ๒ ด้านเราก็จะไม่หลง

เราก็จะได้ไม่ไปยึดไปติดกับชีวิต

ทุกวันนี้เราไปยึดไปติดกับชีวิต

 คิดว่ามีชีวิตแล้วจะมีแต่ความสุข

มีความสุขแล้วมาบ่นว่าทุกข์กันทำไม

เวลาแก่ก็ทุกข์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์

 เวลาตายก็ทุกข์ เวลาไม่ได้ทำอะไรตามใจอยากก็ทุกข์

 ทุกข์อยู่ตลอดเวลาแล้วยังอยากจะอยู่กัน

 ยังอยากจะกลับมาเกิดกัน เพราะไม่เห็นด้านลบนั่นเอง

พระพุทธศาสนาจึงต้องมาสอนด้านลบ

 เพราะไม่มีใครยอมมองด้านลบกัน

 คนไม่รู้ก็เลยมาว่าศาสนาพุทธนี้

เป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้าย มองโลกในแง่ลบ

ความจริงไม่ได้มอง มองความจริง มองในส่วนที่ไม่มองกัน

 เพื่อใจจะได้เข้าสู่ความจริงได้อย่างเต็มที่

เห็นความจริงอย่างเต็มที่ก็จะเบื่อหน่ายขึ้นมาเอง

 ก็จะเบื่อกับการเกิด เบื่อกับการอยากได้สิ่งต่างๆ

 เบื่อแล้วหยุดความอยากได้แล้วก็ดับความทุกข์ได้

 หมดความทุกข์ไม่ต้องกลับมาเกิดได้

การไม่กลับมาเกิดก็ไม่ได้หมายความว่า เราหายไปไหน

 ใจของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิมอยู่ที่เดิม

 ใจของเราตอนนี้อยู่ตรงไหน ตอนที่เราหยุดความอยาก

หยุดการเวียนว่ายตายเกิดก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่

ใจนี้ไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน ใจมีที่อยู่ของตน

 เราเรียกที่อยู่นี้ว่าโลกทิพย์เท่านั้นเอง

แต่ใจนี้มันเปลี่ยนได้เท่านั้นเอง

 เปลี่ยนจากทุกข์มากเป็นทุกข์น้อย

หรือเปลี่ยนจากไม่มีความทุกข์ได้ การเปลี่ยนไปของใจ

 เปลี่ยนกับเรื่องของความทุกข์นี้เท่านั้นเอง

 แต่เรื่องการหายไปไหนไม่มีวันหาย

มีร่างกายก็ไม่หาย ไม่มีร่างกายก็ไม่หาย

มีอยู่เหมือนเดิมเท่าเดิม แต่ว่าจะสุขหรือจะทุกข์เท่านั้นเอง

 ถ้ามีร่างกายก็ทุกข์ ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่ทุกข์

 เช่นใจของพระพุทธเจ้าตอนนี้

ของพระอรหันตสาวกทั้งหลายตอนนี้ ก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่

เหมือนกับตอนที่มีร่างกาย

 เพียงแต่ว่าตอนนี้ไม่มีร่างกายต้องมาแบก

ร่างกายนี้ท่านเรียกว่าเป็น ภาราหเว

 เป็นภาระที่หนักอย่างยิ่ง

เราทุกคนในที่นี้ ครึ่งหนึ่งของชีวิต

หรือเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตเรานี้

เราหมดไปกับการแบกหามร่างกายอันนี้

ดูแลรักษาร่างกายอันนี้ คนที่ไม่มีปัญญาก็จะมองไม่เห็นกัน

 แบกกันไปอยู่เรื่อย พอไม่มีอันนี้ก็ไปหาอันใหม่มาแบกต่อ

รู้สึกว่าเวลาไม่มีแล้วมันเบาเกินไป มันไม่ทุกข์

แล้วรู้สึกว่ามันผิดแปลกไป

ต้องหาความทุกข์มาใส่หัวใจอยู่อยู่เรื่อยๆ

อยู่คนเดียวก็ต้องไปหาคู่มาแบกกัน

พอมีคู่แล้วก็หาลูกมาแบกเพิ่มอีก

แล้วก็หาสมบัติมาแบกกันอีก หายศหาอะไรมาแบกกันอีก

พอเวลาตายจากกันไปก็เศร้าโศกเสียใจ

แบกกันอีกแบบหนึ่ง แบกกันอยู่ตลอดเวลา

เวลามีก็แบก เวลาไม่มีก็แบก แบกความทุกข์อยู่เรื่อยๆ

 เวลามีก็ทุกข์เพราะความกลัวว่ามันจะหมด

 กลัวว่ามันจะหายไป เปลี่ยนไป

เวลามันหายไปเปลี่ยนไปก็ทุกข์อีก

 เวลาไม่มีทุกข์อีก ทุกข์อยากจะได้อยากจะมีกับเขา

 เห็นเขามีก็อยากจะมีก็ทุกข์อีก พอได้มาก็ทุกข์อีก

 พอเสียไปก็ทุกข์อีก ทุกข์อยู่ทุกขั้นตอน

เพราะความอยากนี้เท่านั้เอง เวลาไม่มีก็อยากจะได้

เวลามีแล้วก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ

 เวลาหมดไปก็อยากจะให้เขากลับมา มันก็ทุกข์อยู่ตลอดเวลา

 ถ้าไม่มีความอยากแล้วก็จะไม่ทุกข์

ได้อะไรมาก็ไม่ทุกข์ ไม่มีอะไรก็ไม่ทุกข์

ดังนั้นขอให้เราศึกษาแล้วถ้าเราปฏิบัติ

 ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็ควรที่จะเข้าหาอยู่เรื่อยๆ

 ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ด้วยกันก็ได้ ขอให้มีผู้ที่ให้คำปรึกษา

 เวลาที่เราปฏิบัติแล้วไปติดอยู่ตรงไหน

รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าก็ควรที่จะเข้าหา

 หรือไม่มีครูบาอาจารย์ก็ใช้การฟังเทศน์ฟังธรรมของท่านไป

 พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า ควรจะฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ

กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เป็นมงคลอย่างยิ่ง

 เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะได้ยินได้ฟัง

เรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

เรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว ถ้าได้ฟังซ้ำอีก

ก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ

และก็จะกำจัดความสงสัยต่างๆได้

ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้องและทำให้จิตใจผ่องใส

 จิตใจสงบเย็นสบาย นี่คืออานิสงส์ของการฟังเทศน์ฟังธรรม

การอยู่กับครูบาอากจารย์นี้ ท่านจะถือการสอนนี้เป็นหลัก

 ครูบาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์จริงๆนี้

ท่านจะถือเรื่องการสั่งสอนนี้

เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกศิษย์

ท่านจะคอยเรียกเข้ามาอบรบอยู่เรื่อยๆ ๔ - ๕ วัน

ถ้าท่านว่างไม่มีติดภารกิจก็จะเรียกประชุมอบรม

 สั่งสอนพูดธรรมแสดงธรรมให้ฟังกัน

 เพราะได้ฟังอยู่เรื่อยๆก็เหมือนกับการดูแผนที่อยู่เรื่อยๆ

 เวลาเราขับรถเดินทางไปในที่ที่เราไม่เคยไป

 ถ้เราไม่คอยเปิดเเผนที่ดูแล้วพอถึงทางแยกก็เลยไปแล้ว

 ก็จะเสียเวลาต้องย้อนกลับมาใหม่

หรือไปผิดทางกว่าจะมารู้ว่าไปผิดทาง

ก็เลยไปตั้งหลายชั่วโมง

ต้องย้อนขับรถกลับมา แต่ถ้าคอยเปิดเเผนที่อยู่เรื่อยๆ

พอถึงทางแยกตรงไหนปั๊บก็ต้องดูก่อน

ก่อนจะถึงทางแยกก็ต้องดูแล้ว ดูว่าไปถูกทางหรือเปล่า

สมัยนี้เรามีเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการทางด้านการบอกทาง

 เดี๋ยวนี้รถยนต์มีแผนที่บอกทางโดยอัตโนมัติ

 เพียงแต่บอกจุดหมายปลายทางว่าเราจะไปตรงไหนเท่านั้น

 เขาจะเลือกทางที่สั้นที่สุด สะดวกที่สุดให้กับเรา

ยิ่งสมัยนี้ยิ่งถ้าเป็นแบบออนไลน์เขาจะบอกเลยว่า

เส้นนี้มีปัญหาหรือเปล่า รถติดหรือเปล่า

มีอุบัติเหตุหรือเปล่า ถ้ามีก็ให้หลักเลี่ยง

ก็ให้ไปใช้เส้นทางอื่นได้เลย

เทคโนโลยีนี้มันก็ดีเหมือนกัน ก็มันก็เสียตรงที่

มันทำให้เรากลายเป็นคนซื่อบื่อไป คิดเองไม่เป็น

 ต่อไปถ้าเกิดเครื่องมันเสียก็ไม่รู้จะไปอย่างไร

เพราะไปไม่ได้ ก็อย่าไปหลงกับมันมากจนเกินไป

ขอให้คิดว่ามันเป็นเครื่องมือเสริมในการเดินทางของเรา

 แต่เราก็ต้องสามารถเดินทางไปได้

 โดยที่ไม่มีถ้าเกิดเครื่องมันเสียแล้วเราไปไม่ได้เลย

แสดงว่าเราแย่มาก เราต้องมีวิธีที่สำรอง

 เราต้องกลับมาดูแบบเดิมได้

ต้องกลับมาเปิดแผนที่ที่เป็นกระดาษดูได้

การอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน

ก็เหมือนกับมีเครื่องไม้เครื่องมือ

ที่คอยบอกทางให้เราอยู่เป็นระยะ ๆ

แต่ถ้าไม่มีเราก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 พระสูตรต่างๆ หรือคำสอนของครูบาอาจารย์

ที่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้ เป็นหนังสือก็ดี

หรือเป็นเสียงก็ดีเราก็ต้องคอยเปิด คอยฟังอยู่เรื่อยๆ

 ต้องมีแผนสำรอง แผนรองรับ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านตายไปจะทำอย่างไร

ท่านไม่อยู่กับเราไปตลอด อย่างเช่นหลวงตานี้

ท่านจากพวกเราไปแล้ว

แต่ธรรมะที่ท่านสั่งสอนให้กับพวกเรานี้

 มีอยู่มากมายก่ายกองยังทำหน้าที่แทนท่านได้อย่างเต็มที่

 แต่พวกเราไม่ยอมเข้าไปหาแผนสำรองกัน

 เคยติดอยู่กับแผนที่อยู่ใกล้ตัวท่าน

พอไม่มีท่านแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปหาที่พึ่งที่ไหน

ความจริงนี้ หนังสือของท่าน เทปซีดี ต่างๆ นี้

เป็นที่พึ่งได้เหมือนกับตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่

เราต้องรู้จักการหาแผนที่

อย่าไปติดอยู่กับแผนที่แบบใดแบบหนึ่ง

พอแผนที่แบบนั้นเสียไป ก็ไม่รู้จะไปหาแผนที่ที่ไหนอีกแล้ว

 เช่นถ้าเครื่องในเสียก็ไม่เป็นไรเปิดแผนที่กระดาษได้

มีกระดาษพับเก็บไว้ในรถก็เอามาเปิดดูได้

 ถ้าไม่มีแผนที่ก็หยุดถามคนได้

ขับรถไปถึงสี่แยกก็ถามคนได้ว่า ทางนี้ไปทางไหนกัน

อย่าไปแบบสุมเดาไป การสุมเดานี้

ไม่ได้เป็นวิธีที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทาง

ดังนั้นต้องคอยศึกษาหมั่นศึกษาอยู่เรื่อยๆ

 เพราะถ้าศึกษาโดยไม่ปฏิบัติก็เหมือนกับการเดินทาง

 โดยที่ไม่มีแผนที่ไม่มีเครื่องนำทาง ต้องศึกษา

ท่านทรงสอน ๓ ขั้นตอน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

 ปริยัติก็คือการศึกษาแผนที่ ปฏิบัติก็คือการเดินทาง

 ปฏิเวธก็คือการเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง

 ถ้ามีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็จะเป็นผลที่ตามมา

 ถ้ามีปริยัติไม่ปฏิบัติก็ไม่มีปฏิเวธ

 ถ้ามีปฏิบัติไม่มีปริยัติก็ไม่มีปฏิเวธเหมือนกัน

 หรือมีก็อาจจะช้า เพราะว่าต้องลองผิดลองถูก

 อย่างพระพุทธเจ้านี้ไม่มีปริยัติ

 ไม่มีครูอาจารย์คอยสั่งคอยสอน

 ต้องลองผิดลองถูกเองถึงช้า

 ถ้ามีครูบาอาจารย์แล้วออกบวชนี้ ถ้าออกบวชภายใน ๗ วัน

ปัญญาของพระพุทธเจ้านี้บรรลุได้อย่างแน่นอน

 หรืออาจจะก่อน ๗ วันก็ได้ เพียงฟังธรรมจากพระอรหันต์

หรือพระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะบรรลุได้

แต่ท่านไม่มีครูบาอาจารย์ ท่านเลยต้องค้นหาทางเอง

ลองผิดลองถูกเอง มาถึงสามแยกก็ต้องไปมันทั้งสามทาง

 เลี้ยวซ้ายลองดูก่อน ไปถึงทางดันก็กลับมา

เลี้ยวขวาก็ไปเจอทางตันอีก ไปต้องตรงไป

 แล้วก็ต้องทำอย่างนี้ไปทุกทางแยก

 จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ต้องช้าอย่างแน่นอน

ไม่เหมือนกับคนที่มีแผนที่มีคนบอกทาง

 มาถึงก็ไม่ต้องลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไปเลย

 ตรงไปปั๊บก็ถึงจุดหมายปลายทางเลย

ดังนั้นอย่ามองข้ามปริยัติไปเป็นอันขาด

เพียงแต่ว่าอย่าไปติดปริยัติอย่างที่เขาเป็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

 เรียนปริยัติกันแล้วก็ไม่ปฏิบัติกัน

 เรียนจบเปรียญ ๙ ก็ได้รับเกียรติยศได้รับพัดยศได้เงินเดือน

 ก็เลยข้ามปฏิบัติไปเป็นอาจารย์สอนไปเลย

ข้ามปฏิบัติ ข้ามปฏิเวธ เพราะได้รับปริญญาแล้ว

 ได้ประกาศนียบัตรแล้วว่าได้จบเปรียญ ๙แล้ว

จบพระไตรปิฏกแล้ว แต่ก็จบแบบใบลานเปล่า

 ไม่ได้จบภารกิจในอริยสัจ ๔ ไม่ได้ศึกษาทุกข์

ไม่ได้รู้ทุกข์ ไม่ได้ละตัณหาต้นเหตุของความทุกข์

ไม่ได้ทำนิโรธความดับทุกข์ให้แจ้ง

ไม่ได้เจริญมรรคให้เต็มที่

ถ้าไม่ได้ทำภารกิจในศาสนาพุทธในอริยสัจ ๔นี้

ก็จะไม่ได้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติกิจของพุทธศาสนาได้สำเร็จ

 เรียนจบเปรียญ ๙ แล้วก็ไปรับหน้าที่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป

ก็สั่งสอนแบบใบลานเปล่า สอนได้แต่ปฏิบัติไม่ได้

 สอนอริยสัจ ๔ แต่ละตัณหาไม่ได้ เจริญมรรคไม่ได้

นี่คือปัญหาของพระพุทธศาสนาทุกวันนี้ หลงทางกัน

 ถ้าปริยัติก็ปริยัติไปอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติเลย

บางพวกปฏิบัติก็ไม่ศึกษาไม่ปริยัติเลย

 บวชได้วันเดียวก็ออกไปตั้งสำนักเป็นครูเป็นอาจารย์แล้ว

 ชอบเป็นอาจารย์กัน ไม่ชอบเป็นลูกศิษย์

ไม่ชอบเป็นนักศึกษากัน

เป็นอาจารย์มันได้ประโยชน์มากกว่า

 ได้ลาภสักการะ ได้คนกราบไหว้บูชามีชื่อมีเสียงมีหน้ามีตา

ขอให้พูดเก่งๆเท่านั้นเอง ขอให้รู้ธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา

 แล้วเอามาพูดก็พอแล้ว คนฟังก็ติดอกติดใจกัน

 หลงกราบไหว้บูชาคิดว่าเป็นผู้วิเศษกัน

แต่พอเกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาก็สู้มันไม่ได้

 ในที่สุดก็ต้องตายเพราะกิลเสตัณหานี้เอง

แต่ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติจนบรรลุแล้ว

 กิเลสจะไม่มีวันที่จะมาทำลายได้เลย

 เพราะท่านได้ทำลายมันหมดแล้ว ฆ่ามันหมดแล้ว

 บางทีมาศึกษามาปฏิบัติก็ลืมเป้าหมายที่แท้จริง

ว่ามาปฏิบัติละกิเลส บางทีมาศึกษามาปฏิบัติ

เพื่อที่จะสร้างกิเลสกันอยากเป็นใหญ่เป็นโตกัน

อยากครูเป็นอาจารย์ อยากจะมีลูกศิษย์ลูกหากันแล้ว

 มันก็มาแย่งลูกศิษย์ลูกหากัน

อาจารย์ของฉันดีกว่าของเธอ

 อาจารย์ของเธอสู้ของฉันไม่ได้

 กลายเป็นอย่างนั้นไปอีก เลยต้องเข้าใจว่า

เราศึกษาปฏิบัติเพื่อละความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ดับความอยากต่างๆ เพื่อดับความทุกข์ต่างๆ ภายในใจ

นี่คือผลที่เราต้องการเท่านั้น

จะมีใครนับหน้าถือตาเราหรือไม่ จะเคารพเราหรือไม่

จะฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาหรือไม่ไม่สำคัญ

จะถวายลาภสักการะให้หรือไม่ ไม่สำคัญ

 ของพวกนี้เป็นของจิ๊บจ๊อย

ของที่ไม่สามารถที่จะมาดับความทุกข์ภายในใจของเราได้

 สิ่งที่จะดับความทุกข์ภายในใจของเราได้ก็คือ

 มรรคที่มีองค์ ๘ นี้เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

 สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป

อันนี้แหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ

เมื่อได้แล้วก็ต้องเอามาใช้ดับความทุกข์ละความอยาก

 บางทีได้แล้วก็ไม่เอามาใช้

เหมือนกับมีมีดแล้วก็ไม่กล้าไปฆ่ามัน

 ยังเสียดายมันอยู่ ยังรักยังหวงมันอยู่

ก็เป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์อะไร มีความรู้ก็ไม่เอามาใช้

 ก็เป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดอยู่ดี

ถ้ามีความรู้แล้วเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ก็ต้องปล่อยมันซิ ต้องตัดมันเลย

 มีภรรยามีสามีก็หย่ากันเลย ต่างคนต่างอยู่กันเลย

อยู่แล้วมันทุกข์อยู่กันทำไม

มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองก็สละมันไปเลย

ออกบวชกันเลย คนสมัยนี้เขาบอกพอบรรลุแล้ว

เขากลับไปเป็นฆราวาสได้แล้ว อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้แล้ว

กลับไปหาทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง

กลับไปหาลาภสักการะได้แล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว

 คิดไปอย่างนั้นอีก ถูกกิเลสหลอกโดยไม่รู้สึกตัว

คนที่ไม่ยึดติดกับลาภสักการะนี้ เขาไม่หาลาภสักการะ

 มันมาก็ต้องเป็นเรื่องของมันเองเท่านั้นเอง

ไม่ได้ไปบังคับให้มันมา มันจะมาก็ไม่ได้มายึดมาติด

มันมาก็เอาไปทำประโยชน์ต่อไป

ไม่ได้เอามาใช้เพื่อเสริมความสุขให้กับตนเอง

 เพราะความสุขที่ได้มาจากลาภสักการะนี้มันจิ๊บจ๊อย

 เมื่อเทียบกับความสุขที่ได้จากการดับความทุกข์

เป็นคนละโลกกันเลย ความสุขที่ได้จากการดับความทุกข์

 ที่เกิดจากการปฏิบัตินี้ มันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า “ปรมัง สุขัง”

 ความสุขที่ได้จากลาภยศนี้มันสุขๆดิบๆ

สุขแล้วก็กลายเป็นทุกข์ไป

ดังนั้นอย่าลืมเป้าหมายของเรา

อย่าลืมเป้าหมายของการปฏิบัติของเรา

 ของการศึกษาของเรา ก็คือการละตัณหา ทั้ง ๓ นี้เท่านั้นเอง

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 เวลาใดที่เกิดความอยากขึ้นมานี้ใน ๓ ชนิดนี้

ก็ให้รู้เถิดว่ากำลังหลงทางแล้ว

ถ้าเราทำตามความอยากของกามตัณหา ภวตัณหา

 วิภวตัณหา แสดงว่าเราหลงทางแล้วไปไม่ถูกทาง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๖

“กิจในอริยสัจ ๔”







ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 มีนาคม 2559
Last Update : 25 มีนาคม 2559 11:17:01 น.
Counter : 725 Pageviews.

2 comment
### ความสำคัญของครูบาอาจารย์ ###















“ความสำคัญของครูบาอาจารย์”

ในการศึกษาในการปฏิบัติธรรม

สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขาดไม่ได้ ก็คือครูบาอาจารย์

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม

จะไม่สามารถบรรลุผลบรรลุธรรมได้

 เพราะเป็นทางที่ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติยังไม่เคยไปมาก่อน

 เหมือนกับการเดินทางไปสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน

 ถ้าไม่มีผู้บอกทางหรือไม่มีแผนที่บอกทาง

 ผู้เดินทางจะไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายปลายทาง

ที่ปรารถนาได้ ฉันใด

การศึกษาการปฏิบัติธรรม ก็เป็นเหมือนกับการเดินทาง

จำเป็นจะต้องมีผู้บอกทางหรือผู้นำทาง

หรือมีแผนที่บอกทาง ถึงจะสามารถบรรลุธรรมขั้นต่างๆได้

 ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า

ผู้ที่ได้ตรัสรู้ ทางที่จะนำไปสู่มรรคผล นิพพาน

 รองจากพระพุทธเจ้าก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ท่านก็เป็นผู้ที่ได้ศึกษา และได้ปฏิบัติจนถึงธรรมขั้นต่างๆแล้ว

 รองจากพระอรหันตสาวกก็คือพระอนาคามี

 รองจากพระอนาคามี คือพระสกิทาคามี

รองจากพระสกิทาคามีก็คือพระโสดาบัน

นี่คืออาจารย์ขั้นต่างๆ ที่ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติควรจะมีไว้

เป็นผู้สอนผู้สั่งผู้นำทาง

 ถ้าไม่สามารถหาพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก

หรือพระอริยสงฆ์สาวกขั้นใดขั้นหนึ่งได้

ก็ให้ใช้คำสอนของท่านที่ได้ถูกบันทึกไว้สื่อต่างๆ

 เช่นในหนังสือ ในแผ่นซีดี ในแผ่นวีดีโอเป็นต้น

คำสอนของท่านเหล่านี้ก็ยังสามารถเป็นผู้นำทาง

ให้ผู้ปฏิบัติได้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้

 เป็นเหมือนแผนที่ถ้าไม่มีคนนำทางก็ขอให้มีแผนที่

ก็ยังสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ได้

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้

ก่อนที่จะเสด็จจากพวกเราไปว่า

 ธรรมวินัยที่เราตรัสไว้ชอบแล้วนี่แล

 จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป

จะเป็นอาจารย์ของพวกเธอต่อไป

หลังจากที่เราตายจากพวกเธอไปแล้ว

 พวกเธอจะไม่ได้อยู่ปราศจากศาสดา

 จะมีศาสดามีครูมีอาจารย์คอยสั่งคอยสอนอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าเราไม่สามารถหาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้

เราก็ยังมีคำสอนของพระอรหันตสาวกรูปต่างๆ

 เป็นผู้สอนเราได้อยู่ คำสอนของท่านเหล่านี้

สามารถที่จะเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเราได้

แต่สู้ตัวของท่านเองไม่ได้ เพราะว่าคำสอนนั้น

ไม่สามารถที่จะมาสั่งให้พวกเราทำโน่นทำนี่ได้

 ถ้าเราไม่เปิดฟังไม่เปิดอ่าน ก็เหมือนกับว่าไม่มีครูไม่มีอาจารย์

 ถึงแม้ว่าจะมีครูอาจารย์อยู่ในคำสอน

 แต่ก็ไม่เหมือนครูอาจารย์ที่มีรูปร่างหน้าตา

 เวลาไปอยู่กับท่านนี้ ท่านจะคอยกระตุ้นคอยเตือน

 คอยดึง คอยลากเรา แต่หนังสือธรรมะนี้ไม่สามารถทำได้

เราต้องเป็นคนที่ต้องฉุดลากตัวเราเองด้วยการพยายามศึกษา

 ฟังเทศน์ฟังธรรมฟังคำสอนอยู่เรื่อยๆ

ดังในมงคลสูตรที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า

การฟังธรรมตามกาลตามเวลาเป็นมงคลอย่างยิ่ง

การฟังธรรมก็เท่ากับการฟัง การบอกทางเดินนั่งเอง

ว่าเราจะต้องเดินไปในทิศทางไหน เราต้องทำอะไร

ถ้าเราฟังธรรมเราจะได้เอามาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของเรา

ว่าเรากำลังปฏิบัติตามที่ท่านสอนหรือไม่

หรือเราปฏิบัติสวนทางกับที่ท่านสอน

 ถ้าเราเดินสวนทางเราจะได้แก้ไขเสีย

 แทนที่จะนั่งสมาธิภาวนา เรากลับไปนั่งกินกาแฟ

 ไปนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือกัน เปิดมือถือคุยกับคนนั้นคนนี้

 ส่งข้อความหาคนนั้นคนนี้ อย่างนี้พอเราได้ยินได้ฟัง

 ท่านก็บอกว่า “การกระทำอย่างนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูก

ทางที่ถูกนั้นเราต้องดึงใจให้เข้าข้างใจด้วยสติ”

 เช่นการบริกรรมพุทโธๆ ดึงใจให้เข้าข้างใน

อย่าปล่อยใจให้ออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เพราะจะทำให้ใจไม่สงบจะไม่ให้ใจมีความสุข

จะทำให้ใจมีแต่ความหิวโหยมีแต่ความอยาก

 มีแต่ความต้องการ มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจ

แต่ถ้าดึงใจให้เข้าสู่ข้างในได้ ให้เข้าสู่ความสงบได้

ใจจะมีความอิ่มมีความพอมีความสุขอย่างยิ่ง

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้จะทำให้เราได้รู้ว่า

เรากำลังเดินทางที่ถูกที่ควรหรือไม่

และควรที่จะต้องทำอะไรบ้าง

ถ้าเราทำถูกแล้วตอนนี้เราถึงจุดไหนแล้ว เราถึงขั้นไหนแล้ว

 เราควรจะทำอะไรต่อจากขั้นที่เรามาถึงแล้ว

เพราะการปฏิบัติธรรมนี้ก็มีหลายขั้นหลายตอนด้วยกัน

 เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นทำทานขึ้นไปสู่ขั้นรักษาศีล

ขั้นรักษาศีลก็มีหลายขั้น ขั้นศีล ๕ ขั้นศีล ๘

ขั้นศีล ๑๐ ขั้นศีล ๒๒๗ หรือ ๓๑๑ ข้อ

แล้วก็เข้าไปสู่ขั้นสมาธิขั้นต่างๆ

 แล้วขึ้นสู่ชั้นปัญญาขั้นต่างๆมีหลายขั้นด้วยกัน

การปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

เราจึงต้องมีผู้คอยสั่งคอยสอน ถ้าเราไม่มีผู้สั่งผู้สอน

เราก็จะไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอะไร

 และการมีครูบาอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่นี้ก็จะดีกว่า

การมีหนังสือของท่าน เพราะหนังสือของท่าน เราอ่านแล้ว

เราอาจจะแปลความหมายผิดก็ได้

หรือไม่เข้าใจความหมายของคำสอนของท่าน

เราก็จะไม่สามารถที่จะไปสอบถามได้ว่าหมายความว่าอย่างไร

 เพราะเวลาบางทีคนพูดนี้พูดแล้วเขาใจว่าตนเองพูดอะไร

 แต่คนฟังหรือคนอ่าน อ่านแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจได้

ถ้ามีอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน

ก็ยังสามารถสอบถามได้

แต่ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องลองผิดลองถูกดู ทำแบบนี้ใช่ไหม

 ไม่ใช่ลองทำแบบนี้ดูว่าผู้ปฏิบัติก็จำเป็น

จะต้องรู้จักทดสอบไม่ใช่ปฏิบัติแบบเอามาทั้งดุ้น อย่างนี้

บางทีปฏิบัติไปแล้วไม่ได้ผลก็ต้องพิจารณาดูว่า

เราแปลคำสอนผิดไปหรือเปล่า

เช่นผู้ที่ปฏิบัติมักจะไม่เข้าใจกันระหว่างสมาธิกับปัญญา

ว่าเวลาใด และเวลาใดให้ทำปัญญา

เรามักจะได้ยินว่าเราต้องทำสมาธิทำใจให้สงบก่อน

พอใจสงบแล้วเราถึงจะไปเจริญปัญญาได้

แต่เราก็จะเข้าใจผิดก็ได้ว่า พอจิตสงบนิ่งแล้ว

เราก็จะพิจารณาทางปัญญาต่อไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ใช่

ทางที่ถูกนั้นคือเวลาเจริญสมาธิเพื่อให้ใจสงบ

พอใจสงบแล้วไม่ให้ทำอะไร ให้ใจสงบนิ่งๆ อยู่ไปนานๆ

 เหมือนกับคนที่นอนหลับอย่าไปปลุกขึ้นมาทำงาน

พอเขานอนหลับได้แป๊บเดียว ยังไม่ทันอิ่ม

หลับได้ไม่กี่นาทีก็ปลุกให้ลุกขึ้นไปทำงาน

 เขาก็จะไม่มีแรงที่จะไปทำงานเพราะนอนยังไม่พอ

เวลาที่คนนอนพักผ่อนหลับนอนนี้

เราไม่ควรไปปลุกเขาขึ้นมาทำงาน

 ควรปล่อยให้เขานอนพักผ่อนให้นานที่สุด

จนกว่าเขาจะอิ่มพอกับการหลับนอนพักผ่อนแล้วลุกขึ้นมา

 พอเขาตื่นขึ้นมาแล้วทีนี้ เขาก็พร้อมที่จะไปทำงานต่างๆได้ ฉันใด

การทำใจให้สงบก็เหมือนกันกับการพักผ่อนของใจ

 เป็นการเติมพลังให้กับใจ เติมอุเบกขาให้กับใจ

 เวลานั่งสมาธิ พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบเป็นอัปปนาสมาธิ

สักแต่ว่ารู้ มีอุเบกขามีความสุขที่เกิดจากความสงบ

 เวลานั้นไม่ใช่เป็นเวลาที่ดึงจิตออกมาพิจารณาธรรมขั้นต่างๆ

เวลานั้นเป็นเวลานั้นเป็นเวลาที่ให้จิตพักผ่อนให้เต็มที่

ให้อยู่ในสมาธิให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

หรือว่าถ้าเป็นขั้นฝึกใหม่ๆ จิตสงบเพียงเดี๋ยวเดียว

 พอสงบแล้วก็ถอนออกมา ถ้าเรายังมีสมาธิไม่มากพอ

 มีอุเบกขาไม่มากพอ ในขั้นแรกๆ

ของการฝึกสมาธินี้ควรที่จะกลับเข้าไปในสมาธิให้มากที่สุด

 ให้บ่อยให้ที่สุดก่อน ยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องการเจริญปัญญา

 เพราะว่าจิตยังไม่พร้อมที่จะไปพิจารณาทางปัญญา

 ควรฝึกสมาธิให้ชำนาญก่อน

ให้สามารถอยู่ในความสงบได้นานเป็นชั่วโมงขึ้นไปก่อน

จนสามารถที่จะเข้าได้ทุกเวลาอย่างง่ายดาย

นั่งหลับตา ๕ นาทีจิตก็เข้าสู่ความสงบได้

ถ้าสามารถมีความชำนาญในการเข้าสมาธิได้

อย่างคล่องแคล่วว่องไวและรวดเร็วและตั้งอยู่ในสมาธิได้

 เป็นเวลายาวนาน หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

 เวลานั้นก็เป็นเวลาที่เราควรที่จะเจริญปัญญาได้แล้ว

 เพราะถ้าเราไม่เจริญปัญญา เรามัวแต่ควบคุมใจให้สงบต่อไป

 เราก็จะเรียกว่าติดสมาธิ จะทำแต่สมาธิเพียงอย่างเดียว

ไม่ยอมเจริญปัญญา

การเจริญปัญญานี้ต้องรอให้จิตพักออกจากสมาธิก่อน

 ขณะจิตนิ่งสงบสักแต่ว่ารู้เป็นอุเบกขานี้

ไม่ใช่เวลาที่จะพิจารณาทางปัญญา

ต้องรอให้จิตถอนออกมา การถอนออกมาหมายถึงอย่างไร

ก็ถอนออกมารับรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ

มารับรู้เรื่องราวต่างๆ มารับรู้เรื่องความคิดปรุงเเต่ง

 พอมีความคิดปรุงเเต่งแล้วต้องเอาความคิดปรุงเเต่งนี้

ที่จะคิดไปในทางกิเลสตัณหา ให้มาคิดในทางปัญญา

 ถ้าไม่มีสติ เวลาออกจากสมาธิมานี้

ความคิดปรุงเเต่งส่วนใหญ่จะคิดไปในทางตัณหา

ผู้ที่อยู่ในขั้นสมาธิ เวลาออกจากสมาธิ

จึงต้องบริกรรมพุทโธต่อ หรือเจริญสติต่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

 จะบริกรรมพุทโธ หรือจะเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

ของการกระทำของร่างกาย อย่างนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ

เพื่อรักษาสมาธิที่ได้ แต่ยังไม่ได้มีการเจริญปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙

“ความสำคัญของครูบาอาจารย์”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 มีนาคม 2559
Last Update : 24 มีนาคม 2559 11:20:53 น.
Counter : 721 Pageviews.

0 comment
### บุคคลสัปปายะ ###














“บุคคลสัปปายะ”

การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีครูบาอาจารย์นี้

จะทำให้คืบหน้าไปได้ยากกว่าการมีครูบาอาจารย์

ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีครูบาอาจารย์

ในรูปแบบของหนังสือธรรมะก็ตาม

 หนังสือธรรมะก็ยังสู้การมีครูบาอาจารย์ ผู้ที่ได้ปฏิบัติ

ได้ผ่านได้หลุดพ้นมาแล้วไม่ได้

 ดังนั้นเราก็ต้องแสวงหาบุคคลสัปปายะ

บุคคลที่สามารถที่จะนำทางสั่งสอนช่วยเหลือเรา

แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติ

 และชี้บอกทางอันถูกอันควรที่เราควรจะบำเพ็ญ

ถ้าได้ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ

ได้บรรลุธรรมแล้ว เป็นผู้สั่งสอนก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

 เพราะท่านจะสามารถสอนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ

ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติได้

 นอกจากครูบาอาจารย์แล้ว

บุคคลที่ร่วมปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน

ว่ามีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมากน้อยเพียงไร

 ถ้าไปอยู่กับผู้ที่ไม่ค่อยสนใจปฏิบัติธรรม

ปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้างไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง

 แทนที่จะบำเพ็ญปฏิบัติอย่างเต็มที่

ถ้าไปอยู่ร่วมกับบุคคล ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ

หรือให้ความสำคัญไม่มากพอ เขาก็จะชวนเขาก็ดึงเรา

ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ร่วมกับเขาได้

 แล้วถ้าเราไม่ไปทำก็จะมีความรู้สึกไม่ปรองดอง

 ไม่สามัคคีกัน บุคคลที่เราจะต้องอยู่ร่วมกัน

ก็ควร จะเป็นบุคคลที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน

 ให้ความสำคัญเหมือนกันเช่นให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติ

อย่างสมัยที่เราไปหาที่ปฏิบัติและไปหาครูบาอาจารย์

ก็ได้วัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นจุดเเรกที่ได้ไป

ก็เป็นบุญเป็นกุศล ที่ได้พบทั้งสถานที่ที่สัปปายะ

และบุคคลที่สัปปายะ สถานที่ก็สงบ สงัด วิเวก

ไม่มีกิจกรรมวุ่นวายต่างๆ ห่างไกลจากแสงสีเสียง

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ครูบาอาจารย์คือหลวงตาท่านก็เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

 ชำนาญในเรื่องของการปฏิบัติธรรม

เพราะท่านได้ผ่านทุกอย่างมากแล้ว

แล้วท่านก็ให้ความสำคัญ กับการปฏิบัติธรรม

ยิ่งกว่าการทำกิจกรรมอะไรต่างๆ

 ถ้ามีความจำเป็นจะต้องทำกิจกรรม ท่านก็จะรีบๆทำ

แล้วทำไม่มาก ทำเท่าที่จำเป็น

แล้วถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ

ก็อาจจะไม่ให้พระเณรต้องมาทำ จะหาคนอื่นมาทำกัน

 อันนี้เพื่อส่งเสริมให้พระเณรที่อยู่ในวัดกับท่าน

ได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่

แล้วถ้าพระเณรในวัด

ไปให้ความสำคัญต่อกิจกรรมอย่างอื่น

 ท่านก็จะคอยเตือนแล้วถ้าไม่เชื่อฟัง

ท่านก็จะขับไล่ ออกไปจากวัดเลย

 เพราะถ้าอยู่แล้วก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่น

เพราะจะทำให้เป็นตัวอย่างไม่ดี

หรืออาจจะทำให้ดึงให้ผู้อื่นต้องมาร่วมกิจกรรมกับตน

 ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้บำเพ็ญ

นี่ก็คือเรื่องของบุคคลสัปปายะกับสถานที่สัปปายะ

ผู้ปฏิบัติจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดูสถานที่

ที่ตนเองปฏิบัติอยู่ว่าเป็นอย่างไร

และบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยว่าเป็นอย่างไร

เป็นบุคคลที่เอื้อต่อการปฏิบัติ

หรือเป็นบุคคลที่เหนี่ยวรั้งการปฏิบัติ

ถ้าเหนี่ยวรั้งไม่ให้คืบหน้า ไม่ให้เจริญก้าวหน้า

ก็ควรที่จะหนีไป อย่าไปอยู่ใกล้กับบุคคลเหล่านั้น

เพราะไม่เกิดประโยชน์

ไปหาบุคคล ที่ดึงเราไปในการปฏิบัติ

ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

 ถ้าไม่สามารถหาบุคคลที่ฉลาดกว่าเราเก่งกว่าเราอยู่ด้วย

 พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสสอนว่าให้อยู่ตามลำพังยังจะดีกว่า

 อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน ถึงแม้ว่าจะไม่กำไร

 คือไม่มีครูบาอาจารย์มีผู้ที่เขาดีกว่า เก่งกว่าเรา

 คอยดึงคอยสอนเราก็ดีกว่า

อยู่กับคนที่เขาด้อยกว่าเราในการปฏิบัติ

หรือไม่สนใจในการปฏิบัติ เขาก็จะดึงให้เราไม่ปฏิบัติ

จะดึงให้เราไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน

ดังนั้นการที่จะบำเพ็ญให้ได้เกิดประโยชน์ได้รับผล

จำเป็นที่จะต้องหาสถานที่สัปปายะและอยู่กับบุคคลสัปปายะ

 โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มปฏิบัตินี้

เช่นพระภิกษุนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติไว้เลยว่า

 พระบวชใหม่นี้จะต้องอยู่กับครูบาอาจารย์

อย่างน้อย ๕ พรรษาขึ้นไป

เพื่อที่จะได้มีผู้ที่ให้การอบรมสั่งสอน

ในเรื่องของการบำเพ็ญในการปฏิบัติธรรม

เพราะเรื่องของธรรมนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผู้ที่บวชใหม่

 จะรู้ได้อย่างรอบคอบ ผู้บวชใหม่นี้ก็เปรียบเหมือนกับทารก

ที่คลอดออกมาจากท้องของมารดา

ที่ยังต้องอาศัยบิดามารดาไว้คอยดูแลเลี้ยงดูปกป้องรักษา

ให้เจริญเติบโตขึ้นมาจนกว่า จะสามารถช่วยตนเองได้แล้ว

 จึงจะสามารถอยู่อย่างปราศจาก

การช่วยเหลือดูแลของพ่อแม่ได้ ฉันใด

ผู้ปฏิบัติใหม่ หรือนักบวชใหม่ พระภิกษุที่บวชใหม่นี้

จำเป็นจะต้องอยู่กับครูบาอาจารย์

อย่างน้อยก็ ๕ พรรษาขึ้นไป

 ต้องอยู่ใกล้ชิดกับท่านเพื่อให้ครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอน

ว่ากล่าวตักเตือน ห้ามปราบถ้าไปกระทำอะไรต่างๆ

 ที่ไม่ควรกระทำ ถ้าอยู่ตามลำพังจะไม่รู้ว่าตนเองทำผิดทำถูก

 ทำดีหรือทำไม่ดี ซึ่งในสมัยนี้ก็เรามักจะได้ยินได้ฟัง

พระที่บวชเพียงพรรษาสองพรรษา บวชยังไม่ได้พรรษา

บางที ก็ไปตั้งสักนักอยู่ตามลำพังหรือถ้าไปอยู่กับบางสำนัก

ก็ไม่มีครูบาอาจารย์แล้วก็จะไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆ

ที่ไม่สมควรที่จะกระทำ แทนที่จะบำเพ็ญแทนที่จะปฏิบัติ

ก็ไปทำตัวเป็นครูบาอาจารย์ อบรมสั่งสอน

ฆราวาสญาติโยมที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

 คิดว่าพอเป็นพระแล้วก็เป็นครูเป็นอาจารย์ได้ โ

ดยเฉพาะพระที่บวชแล้วที่ไปหลงคิดว่าตนเองได้บรรลุแล้ว

ก็จะทำตัวเป็นครูบาอาจารย์คอยสั่ง คอยสอนญาติโยม

คอยพาญาติโยมไปปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ

ทำตัวแบบนี้ไปได้ไม่กี่ปีในที่สุดก็สิกขาลาเพศไป

เพราะว่าไม่มีธรรมแท้อยู่ในใจ

ธรรมที่ตนคิดว่าตนรู้นั้นเป็นธรรมปลอม

 คือเป็นธรรมที่ได้จากการศึกษา

ธรรมที่ได้จากการศึกษากับธรรมที่ได้จากการปฏิบัตินี้

ไม่เหมือนกัน ธรรมที่ได้รับจากการศึกษา

เป็นธรรม ที่มีกิเลสหุ้มห่อจิตใจอยู่

 การศึกษานี้ไม่ได้ไปฆ่ากิเลสตัณหา ต่างๆ

ให้หมดไปจากใจได้

แต่การปฏิบัติธรรมนี้ จะกำจัดกิเลสตัณหาต่างๆ

ให้หมดไปจากใจได้ ธรรมปฏิบัติจึงเรียกว่าเป็นธรรมแท้

พราะธรรมที่กำจัดกิเลสตัณหา

 กำจัดความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

 แต่ธรรมที่ศึกษานี้ ยังไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสต่างๆ

 ให้หมดไปจากใจได้ ถ้าไปทำตนเป็นอาจารย์นี้

ก็จะถูกกิเลสตัณหาหลอกแล้ว

 หลอกว่าตนเองได้บรรลุเป็นอาจารย์ได้แล้ว

แล้วก็จะวุ่นวายอยู่กับการสั่งสอน

 แต่ใจของตนนี้ก็ถูกรุมเร้าด้วยกิเลสตัณหาอยู่เรื่อยๆ

จนถึงในขีดหนึ่งก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้

เพราะเวลาได้เป็นครูอาจารย์นี้

ก็จะมีลาภสักการะอะไรต่างๆ เข้ามาอย่างมากมาย

 แล้วก็มีการออกไปตามสถานที่ต่างๆ

ไปเห็นไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ถ้าใจที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่

 ถ้าได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวเหล่านี้ก็จะเกิดความโลภ

ความอยากมากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 และในที่สุด ก็อาจจะไม่สามารถรักษาธรรมวินัย

คือศีลของพระไว้ได้ อาจจะไปทำอะไรที่เกิดความเสียหาย

เกิดความเสื่อมเสีย แล้วในที่สุดก็จะถูกขับไล่

หรือถูกขับสึกไป อันนี้เป็นเรื่องของการที่บวชแล้ว

ไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ได้ศึกษากับครูบาอาจารย์

 บวชแล้วก็ตั้งตนเองเป็นอาจารย์ขึ้นมา

เพราะมีความหลงเชื่อว่า ตนเองเป็นผู้มีความรู้

มีความสามารถในทางธรรม คิดว่าตนเองได้บรรลุธรรมแล้ว

 อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้เริ่มปฏิบัติ ควรที่จะสังวรณ์

ควรที่จะคิดเป็นอุทาหรณ์เตือนใจไว้อยู่เรื่อยๆ ว่าเรามาปฏิบัตินี้

ไม่ได้มาปฏิบัติเพื่อ จะเป็นครูบาอาจารย์ของใคร

หลวงตาบอกว่าการปฏิบัตินี้เพื่อสอนตัวเราเอง

ท่านบอกว่าสอนตัวเราเองให้ได้ก่อน

เป็นอาจารย์ของเราเองให้ได้ก่อน

 ก่อนที่จะเป็นอาจารย์ของผู้อื่น

กำจัดกิเลสตัณหาของเราให้หมดไปให้ได้ก่อน

แล้วค่อยไปสอนให้ผู้อื่นเขากำจัดกิเลสตัณหาต่อไป

 พระพุทธเจ้าท่านก็บำเพ็ญมาเป็นตัวอย่าง

 พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ก็เอาแบบฉบับของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวอย่าง

ในการบำเพ็ญของพระพุทธเจ้า

ในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าก็ทรงไปศึกษา

กับครูบาอาจารย์ต่างๆ จนได้ปฏิบัติถึงขั้นสูงสุด

ที่ครูบาอาจารย์ต่างๆ จะสามารถสั่งสอนได้

คือขั้นรูปฌานและอรูปฌาน

แต่ไม่มีครูบาอาจารย์รูปใดที่รู้ธรรม

ที่เหนือกว่าขั้นรูปฌาน อรูปฌาน

คือธรรมระดับของอริยมรรค อริยผลไม่มีใครรู้

 พระพุทธเจ้าก็เลยต้องไปศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง

จนในที่สุดก็ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ได้บรรลุได้มีดวงตาเห็นธรรม เห็นพระอริยสัจ ๔

 เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เมื่อทรงเห็นและทรงสามารถปฏิบัติตาม

สิ่งที่พระองค์ได้ทรงเห็นแล้ว

พระทัยของพระองค์ก็ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

หลังจากนั้นแล้วพระองค์จึงใช้เวลาใคร่ครวญพิจารณา

อยู่ประมาณ ๒ เดือนด้วยกัน

ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖

และกว่าที่จะทรงตรัสสินพระทัย

นำธรรมะที่ทรงได้รู้ได้เห็นนี้

มาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลก

ในเบื้องต้นพระองค์ก็มีความท้อ

พระทัยไม่มีความอยากที่จะเผยแผ่สั่งสอน

เพราะเห็นธรรมที่ทรงต้องปฏิบัตินี้

เป็นธรรมที่ยากต่อสัตว์โลกทั้งปวง

 ผู้ยังติดอยู่กับความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ผู้ที่ยังติดอยู่กับความสุข ทางลาภยศ สรรเสริญ

จะไม่มีความสามารถที่จะสามารถบำเพ็ญ

และบรรลุถึงธรรมขั้นนี้ได้เลย

 อันนั้นเป็นความคิดในเบื้องต้น

แต่หลังจากมีเวลาใคร่ครวญก็ทรงเห็นว่า

บุคคลต่างๆ นี้ไม่เหมือนกัน มีหลายระดับด้วยกัน

ระดับจิตใจความรู้ความสามารถที่จะศึกษา

ที่จะบำเพ็ญนี้มีความสามารถไม่เท่าเทียมกัน

มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะรับคำสอน

และนำเอาไปปฏิบัติได้ก็มี

พวกที่ไม่มีความรู้ความสามารถพอ ที่จะนำไปปฏิบัติก็มี

พระองค์จึงได้ทรงแยกแยะผู้ปฏิบัติไว้เป็นบัว ๔ เหล่า

 พอได้ใคร่ครวญแล้วในที่สุด

 ก็ทรงตัดสินพระทัยประกาศพระธรรมคำสอนแก่สัตว์โลก

นี่คือความรู้สึกของคนที่เขาบรรลุธรรมแล้ว

เขาไม่มีความอยากที่จะเป็นอาจารย์ของใคร

 ไม่อยากจะเป็นครูอยู่เฉยๆ ดีกว่าสบายอยู่แล้ว

ไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไรอยู่แล้ว

 บำเพ็ญนี้มีแต่ความเหนื่อยยากทั้งกับตนเอง

และก็ต้องไปเหนื่อยยากกับการสั่งสอนผู้อื่น

 อยู่เฉยๆ สบายอยู่แล้ว สอนก็ไม่ได้กำไร ไม่ได้อะไร

แต่ประโยชน์ที่จะได้รับคือผู้ที่จะมาสั่งสอนเท่านั้น

 ผู้สอนเองนั้นเป็นเหมือนน้ำ

แก้วน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ในแก้วแล้ว

 ต่อให้เทน้ำเข้าไปในแก้วมากน้อยเพียงไร

ก็ไม่สามารถที่จะได้น้ำมากไปกว่าที่ได้อยู่ในขณะนั้น

เพราะมันเต็มเปี่ยมแล้ว

จิตใจของพระพุทธเจ้า

จิตใจของพระอรหันตสาวกนี้

 ท่านเป็นปรมัง สุขังแล้ว บรมสุขแล้ว

มีความสุขเต็มเปี่ยมอยู่ภายในหัวใจแล้ว

ไม่สามารถที่จะเพิ่มความสุข

 ให้มีมากไปกว่าที่มีอยู่ไปได้แล้ว

ไม่ว่าจะกระทำอะไรก็ตาม

จะทำบุญเพิ่มขึ้นจะไม่ทำบุญเพิ่มขึ้น มันก็ได้เท่านั้น

 แต่การที่ทรงตัดสินพระทัยสั่งสอนผู้นั้น

ก็เพราะทรงเห็นความทุกข์ยากลำบาก

ที่อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหา

ของพระองค์เองมาก่อน

และเห็นผู้ที่ยังไม่ได้กำจัดกิเลสตัณหาว่า

จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหานี้ ไปตลอด

 ไม่มีวันที่จะหลุดออกมาได้ด้วยตนเองเลย

 ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาเป็นผู้เผยแผ่สั่งสอน

วิธีกำจัดกิเลสตัณหาต่างๆ

ถ้าพระองค์ไม่ทรงประกาศพระธรรมคำสอน

บุคคลต่างๆ ที่มีกิเลสตัณหา ครอบงำจิตใจ

จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาไปตลอด

 แต่ถ้าพระองค์เผยแผ่สั่งสอนบุคคลเหล่านั้น

 ก็จะมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความครอบงำ

ของกิเลสตัณหาได้ ถ้ามีศรัทธาความเชื่อที่จะบำเพ็ญ

 ที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์

พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยสอนแต่

จะสอนกับบุคคลที่มีศรัทธาความเชื่อ

คนที่ไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ

พระองค์ก็จะไม่ทรงสั่งสอน

 และในเบื้องต้นก็ทรงไปสั่งสอนคนที่มีความรู้

 ความสามารถที่จะสามารถรับธรรมไปได้อย่างรวดเร็ว

 ก็ทรงมุ่งไปที่นักบวชทั้งหลายก่อน

เพราะนักบวชนั้น เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญธรรมมา

อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว คือระดับศีล ระดับสมาธิ

 ระดับทาน ทำทานสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

ออกบวชแล้วมาบำเพ็ญรักษาศีลแล้ว

มาฝึกจิตทำใจให้สงบได้แล้ว แต่ไม่มีปัญญา

 เพราะไม่มีครูอาจารย์คนในโลกรู้เรื่องของปัญญา

ที่จะทำให้จิตใจได้หลุดพ้น จากอำนาจ

ของกิเลสตัณหาทั้งหลาย

 พระองค์ก็ทรงมุ่งไปสั่งสอนแก่บุคคลเหล่านั้น

พอได้ทรงสั่งสอนเพียงเทศน์ครั้งสองครั้ง

บุคคลเหล่านั้นก็สามารถปฏิบัติตาม

และบรรลุเป็นพระอรหันตสาวก ขึ้นมาได้

อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

เพราะว่าเป็นผู้ที่มีภาชนะรองรับธรรมของพระพุทธเจ้า

คือปัญญา คือเขามีศีล มีสมาธิอยู่แล้ว

พอได้ฟังธรรมได้ฟังปัญญาจากพระพุทธเจ้า

ก็น้อมเอาเข้ามากำจัดกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปได้

จึงได้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาได้อย่างง่ายดาย

ได้ในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมเลย

 อันนี้ก็เป็นแนวทางของผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว

 ตรัสรู้แล้วไม่มีความรู้สึกที่อยากจะสั่งสอนใคร

ไม่อยากจะเป็นครู อยากจะเป็นอาจารย์ของใคร

แต่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพราะว่า

ไม่มีผู้อื่นที่จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้

ถ้าไม่ทำก็จะไม่สามารถทำให้ผู้อื่นนั้นหลุดพ้น

จากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

นี่คือลักษณะของครูบาอาจารย์ที่แท้จริง

 ท่านต้องเป็นครูบาอาจารย์ของตัวของท่านเองให้ได้ก่อน

 เมื่อท่านสอนตนเองได้แล้วท่านจึงค่อยไปสอนผู้อื่นต่อไป

 ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ถ้าเราศึกษาดูประวัติ

ท่านจะเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเด็กเป็นลูกศิษย์ก่อน

 เวลาบวชแล้วก็ขวนขวายศึกษาอยู่กับครูบาอาจารย์

ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ศึกษาฟังคำอบรมสั่งสอน

จากครูบาอาจารย์แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ

กว่าจะทำตนเป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมาได้

ก็อย่างน้อย ๑๐ - ๒๐ ปีขึ้นไป

ไม่ใช่บวชเพียงวันสองวันก็มาตั้งตนเอง

 ให้เป็นครูเป็นอาจารย์ นี่คือลักษณะของบุคคล

ที่ขาดบุคคลสัปปายะที่ไปจะร่วมอยู่ด้วย

เวลาที่ได้เริ่มปฏิบัติ หรือได้เริ่มบวชเป็นพระภิกษุ

 อันนี้ผู้ปฏิบัติก็ควรที่จะสังวรณ์ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ

ว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน ไปเป็นครูเป็นอาจารย์

พยายามทำตนเองให้เป็นนักศึกษา

ทำตนเองให้เป็นลูกศิษย์ลูกหาไปก่อน

 พยายามพิจารณาปฏิบัติให้อย่างรอบคอบ

ว่ากิเลสตัณหาที่ตนเองคิดว่ามันตายแล้ว

มันตายจริงหรือไม่

ต้องทดสอบดูไปเรื่อยๆก่อน จนกว่าจะมีความมั่นใจ

แล้วจะสอนใครก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์

 ไม่ใช่อยากจะสอนใครก็ไปหาคนนั้นคนนี้

ไปเรียกเขามาสั่งมาสอน

แต่สอนก็เพราะว่ามีผู้เขาเข้ามาหาเราเอง

เขาต้องการจะได้ยินได้ฟังได้รับความรู้จากเรา

แล้วเราก็ค่อยสอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙

“อุปสรรคขวางความสงบ”









ขอบคุณข้อมูลจาก fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 มีนาคม 2559
Last Update : 23 มีนาคม 2559 11:48:30 น.
Counter : 552 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ