Group Blog
All Blog
### วิปัสสนากรรมฐาน คือการรู้ทันกิเลส ###










วิปัสสนากรรมฐานคือการรู้ทันกิเลส


การปฏิบัติในพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วยการต้านกิเลส

 ไม่ใช่ตามกิเลส เริ่มตั้งแต่ทาน

การให้ทานเป็นการต้านกิเลสโดยตรงเลย

ปกติคนเราย่อมมีความหวงแหนเงินทอง

 อยากเก็บสะสมให้มาก ไม่อยากแบ่งปัน

 พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องการให้ทาน

 เพื่อทำให้กิเลสส่วนที่เป็นความตระหนี่บรรเทาเบาบาง

 เป็นการทวนกระแสกิเลส

อยากย้ำว่า เราไม่ได้ให้ทานเพียงเพราะว่า

เรามีจิตเมตตาเท่านั้น แม้จะไม่มีจิตเมตตาเลย

 แต่รู้อยู่ว่ามีกิเลส มีความโลภ มีความเห็นแก่ตัวอยู่

ผู้ฉลาดย่อมพยายามสละออกไป ด้วยการให้ทาน

 การให้ทานคือการต้านกิเลสฝ่ายโลภะโดยตรง

 แต่ว่าระยะหลังเราให้ทานกันไม่ถูกต้อง

 คือให้ทานแล้วกลับเพิ่มพูนกิเลส

 เช่น บริจาคหรือทำบุญ ๑๐ บาท

 ก็ขอให้ถูกล็อตเตอรี่เป็นล้าน

 ให้ทานแต่ละอย่าง ทำบุญแต่ละอย่าง

ก็หวังรวย หวังมั่งมี

อันนี้ไม่ใช่เป็นการต้านกิเลสแต่กลายเป็นตามกิเลส

 การทำบุญอย่างนี้จะได้ผลน้อย

การให้ทานแบบนี้จะไม่ช่วยทำให้จิตใจโปร่งเบา

 เพราะว่าเป็นการพอกพูนกิเลส

 แต่ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้ว

 คือให้เพื่อช่วยเหลือเขาจริง ๆ ไม่หวังประโยชน์เข้าตัว

 ก็จะช่วยบรรเทาอำนาจของกิเลสทีละน้อย ๆ

นอกจากทานแล้ว ศีลก็เหมือนกัน

โดยเฉพาะศีล ๕ ชัดเจนมาก

เป็นการต้านกิเลสส่วนที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ

โทสะ คือความโกรธ อยากจะทำร้าย อยากจะเบียดเบียน

 อยากจะเอาชีวิตเขา ก็มีศีลข้อที่ ๑ มาคอยกั้นเอาไว้

 ส่วนศีลข้อที่ ๒ ก็เป็นการต้านโลภะ

 คือ ความอยากขโมย อยากช่วงชิงทรัพย์สินของเขา

 ศีลข้อที่ ๓ ก็เหมือนกัน เป็นการต้านราคะ

 คือความอยากจะแย่งชิงคนรักของเขา หรือลูกสาวของเขา

 ศีลข้อที่ ๔ ต้านโทสะที่อยากทำร้ายเขา

ด้วยการโกหกพูดเท็จ

 ศีลข้อที่ ๔ ต้านโมหะคือความหลง

อันเกิดจากการเสพสุรายาเมา

ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มีจุดหมายทำนองเดียวกัน

คือเพื่อต้านกิเลส ได้แก่ความอยากเสพความสุขทางกาม

เช่น การกินอาหารปรนเปรอตน

การประดับประดาด้วยเครื่องหอม

 เสพสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การละเล่นสนุกสนาน

 หรือการเพลินในการนอน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นการต้านกิเลสทั้งนั้น

จากศีลแล้วก็มาถึงภาวนา ภาวนามี ๒ ส่วน

 เรียกว่า สมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา

 หรือว่าสมถกรรมฐานกับวิปัสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐานยังเป็นการต้านกิเลสอยู่

แต่เป็นการต้านที่แยบคายกว่า เช่น

เมื่อมีโทสะก็เอาเมตตา หรือกรุณามาบรรเทาความโกรธ

 เวลาเราโกรธ จิตใจจะร้อนรุ่ม

แต่พอเราตั้งจิตปรารถนาดี หรือแผ่เมตตาให้เขา

ใจก็จะเยือกเย็น เหมือนกับว่าเอาน้ำมาดับไฟ

หรือเวลาเกิดตัณหา ราคะขึ้นมา

วิธีการแบบสมถะก็คือ พิจารณาอสุภกรรมฐาน

 นึกถึงซากศพหรือความไม่งามของร่างกาย

ก็จะทำให้ราคะฝ่อลง เพราะเจอธรรมะคู่ปรปักษ์

ราคะต้องเจอกับอสุภะ นี้ก็เป็นการต้านกิเลสแบบหนึ่ง

 เป็นการทวนกิเลส จะเรียกว่าเป็นการ “ย้อนศรกิเลส” ก็ได้

เวลาหลงใหล มัวเมา เพลิดเพลินในความสุข

ก็นึกถึงความตาย คือพิจารณามรณสติ

ทำให้เกิดความสังเวช เกิดความตื่นตระหนก

หรือเกิดความกลัวขึ้นมา

ทำให้ความหลงใหลเพลิดเพลินในความสุขฝ่อลง

 ถ้าจิตฟุ้งซ่านล่ะ ก็ใช้วิธีบังคับหรือ กำหนดจิต

ให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจบ้าง

 ท้องพองยุบบ้าง ความฟุ้งซ่านก็สงบลงไปได้

 ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการต้านกิเลสเหมือนกัน

แต่ว่าเป็นการต้านด้วยการบังคับควบคุมจิต

ไม่ใช่การบังคับควบคุมกายหรือวาจา

 เหมือนกับทานและศีล

แต่ถามว่าเท่านี้พอไหม แทนที่จะตามกิเลส ก็ต้านกิเลส

 แค่นี้ยังไม่พอนะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมี วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่การต้านกิเลส

 แต่เปลี่ยนมาเป็นการรู้ทันกิเลส

ตรงนี้คนที่ถนัดกับการต้านกิเลส อาจรู้สึกว่าทำยาก

 เพราะว่าถูกฝึกมาให้ต้านกิเลสอย่างเดียว

โดยเฉพาะคนที่ใฝ่ธรรมะ

 เราถูกสอนมาว่าต้องต้านกิเลสอย่างเดียว

ทานก็ดี ศีลก็ดี หรือการกดข่มอารมณ์ ที่เป็นอกุศล

 ล้วนเป็นไปเพื่อต้านกิเลสทั้งนั้น

ดังนั้นพอมาทำวิปัสสนา หรือเจริญสติปัฏฐาน

 ซึ่งเป็นบาทฐานของวิปัสสนา ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้านกิเลส

 เวลามีความโกรธ ความหงุดหงิดเกิดขึ้น

หรือแค่ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็จะเข้าไปจัดการกับมัน

 ด้วยการกดข่ม เวลามีนิวรณ์เกิดขึ้น

 เช่น ความง่วงเหงา หาวนอน (ถีนมิทธะ)

ความฟุ้งซ่าน (อุธัจจกุกกุจจะ)

ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา)

ความปรุงแต่งทางกาม (กามฉันทะ)

หรือความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจ (พยาบาท)

 นักปฏิบัติจะมองว่านิวรณ์เหล่านี้เป็นกิเลสที่จะต้องกด

 ต้องข่ม ต้องจัดการ แต่ใช้วิธีนี้อย่างเดียวไม่พอแล้ว

จะตามกิเลสก็ไม่ใช่ จะต้านกิเลสตะพึดตะพือก็ไม่ถูก

 โดยเฉพาะในขั้นของการบำเพ็ญทางจิต

 ที่เรียกว่า วิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน

 ถึงขั้นนี้ ต้องยกระดับมาสู่การรู้กิเลสหรือรู้ทันกิเลสแทน

 อันนี้จะเรียกว่าเป็นทางสายกลางก็ได้

พอปฏิบัติมาถึงจุดหนึ่ง

ตามกิเลสก็สุดโต่ง ต้านกิเลสก็สุดโต่ง

 ถ้ามาถึงขั้นเป็นวิปัสสนาแล้ว

เราจะต้องยกจิตมาสู่ทางสายกลาง

คือรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับใจ รู้ความเปลี่ยนแปลงของใจ

 ที่จริงก็รวมไปถึงกายด้วย

 ไม่ว่าทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาก็ตาม

พอมาถึงขั้นที่เป็นการเจริญสติ หรือวิปัสนาแล้ว

 จะไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง

ในขั้นสมถกรรมฐาน เรายังเอาเมตตามาข่มโทสะ

เอาอสุภะมาข่มราคะ แต่พอถึงจุดที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน

 เพื่อเป็นบาทฐานสู่วิปัสสนา เราต้องเปลี่ยนวิธีการ

 คือหันมาเรียนรู้ที่จะดูใจของตนอย่างเป็นกลาง

อะไรเกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน รู้เฉย ๆ

 โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ ชอบก็รู้ ชังก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้

 ตรงนี้ดูเหมือนง่าย เพราะว่าไม่ต้องทำอะไรนอกจากรู้

แต่ว่าความเคยชินเดิม ๆ ทำให้เราอดไม่ได้

ที่จะเผลอใช้วิธีการเดิม ๆ ก็คือไปกด ไปข่ม ไปต้านกิเลส

พระไพศาล วิสาโล









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 มีนาคม 2559
Last Update : 6 มีนาคม 2559 11:41:28 น.
Counter : 600 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ