Group Blog
All Blog
### สมาธิ ###














“สมาธิ”

สมาธิก็มี ๒ ชนิด มิจฉา กับสัมมา

สัมมาสมาธิก็นี่แหละ “อัปปนาสมาธิ” จิตสงบ

 แล้วก็ขณิกะก็เป็นสัมมาสมาธิ

 แต่ขณิกะนี้เป็นความสงบเดี๋ยวเดียวชั่วขณะ

 ใหม่ๆ เวลาเจริญสมาธินี้จะได้ขณิกะก่อน

 จิตจะรวมลงปั๊บแล้ว ก็จะถอนออกมา

 เพราะกำลังสติมีไม่มาก แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ

เจริญสติไปเรื่อยๆ สติมีกำลังมาก

 ต่อไปจิตสงบก็จะตั้งอยู่ได้นาน

อัปปนานี้ไม่มีนิมิตไม่มีอะไรทั้งสิ้น

มีแต่ความว่างความสงบหยุดคิดปรุงเเต่ง

 แล้วก็สักแต่ว่ารู้ “อุเบกขา” ที่เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์”

 จิตรวมเป็นหนึ่ง เหลือแต่ตัวรู้ตัวเดียว สักแต่ว่ารู้ตัวเดียว

 ส่วนมิจฉาสมาธิก็อุปจารสมาธิ

เหมือนกับท่านแสดงไว้ในหนังสือ “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ว่า จิตแบบนี้คือพอเข้าไปในอัปปนาแล้วไม่ตั้งอยู่ในอัปปนา

ถอยออกมารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ นิมิตต่างๆ

 หรืออภิญญาความสามารถต่างๆ เห็นกายทิพย์

เห็นรูปทิพย์เสียงทิพย์ อ่านวาระจิตของผู้อื่นได้

 เหาะเหินเดินอากาศหรืออะไรต่างๆ

ที่เรียกอภินิหารเรียกอภิญญา อันนี้เกิดจากอุปจารสมาธิ

แต่มันไม่มีอุเบกขา มันไปเห็นอะไรเข้ามันก็เกิดความรัก

 ความชังขึ้นมาได้ แล้วก็ไม่มีกำลัง

พอออกจากสมาธิมา

 ก็เป็นเหมือนน้ำที่แช่ในตู้เย็นแล้วไม่เย็น

 ตู้เย็นที่ไม่ได้เสียบปลั๊ก

แช่ไปกี่ชั่วโมงถอยออกมาน้ำมันก็เหมือนเดิม

 ดีไม่ดีร้อนกว่าเดิมเสียอีก

พอออกมาก็เห็นรูปได้ยินเสียง

ดมกลิ่นก็จะเกิดอารมณ์ตามขึ้นมา

เกิดตัณหาตามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

แล้วก็จะไม่สามารถต้านมันได้

เกิดแล้วก็ต้องไปต่อสู้กับมัน

 ไปตอบสนองมันเพราะสู้ไม่มีที่สู้ไม่มีอุเบกขาสู้

ไม่มีปัญญา ปัญญาจะมีอาจจะรู้ว่าไม่ดี ไม่ควรไปเสพ

 อยากจะดื่มสุราก็ไม่ควรดื่ม อยากจะดูหนังก็ไม่ควรดู

อยากจะไปเที่ยวก็ไม่ควรเที่ยว แต่มันไม่มีกำลังที่จะต้านมัน

 แต่ถ้ามาจากอัปปนาสมาธิออกมานี้มันมีอุเบกขา

 ยังเหลืออยู่ยังพอมีกำลังสู้กับมัน

 แล้วถ้ารู้ว่าสู้ไม่ไหว ก็กลับเข้าไปในอุเบกขาต่อไป

เติมอุเบกขาได้ แต่ถ้าเป็นอุปจาระนี้มันไม่มีอุเบกขาให้เติม

มันก็กลับเข้าไปในสมาธิมันก็เหมือนกัน

มันก็ต้องทำตามความอยาก มันก็หยุดความอยากไม่ได้

ต่างกันตรงนี้ นี่เรื่องของสมาธิ

มีมิจฉากับสัมมา สัมมาก็คือสงบนิ่ง เป็นอุเบกขา

สักแต่ว่ารู้ สงบเดี๋ยวเดียวเขาเรียกว่า ขณิกสมาธิ

 สงบนานก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ถ้าสงบแล้วถอยออกมารับรู้เรื่องราวต่างๆ

 ภายในไม่ใช่ภายนอก ไม่ใช่ทางร่างกายภายในจิต

 ผ่านทางจิตรู้วาระจิตรู้รูปทิพย์กายทิพย์เสียงทิพย์นี้

รู้นรก รู้สวรรค์ เห็นนรกเห็นสวรรค์

พวกนี้อยู่ในอุปจารสมาธิทั้งนั้น

ความรู้แบบนี้ไม่ใช่เป็นความรู้ที่จะมาดับกิเลสได้

 ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สอนก็จะคิดว่าเป็นความรู้ที่วิเศษ

 คิดว่าได้บรรลุธรรมแล้ว ได้เห็นนรกได้เห็นสวรรค์แล้ว

คนที่ติดอย่างนี้ก็แก้ยาก หลวงตาก็เคยมีลูกศิษย์

คุณแม่ชีแก้วแกก็มักออกไปรู้เรื่องผีเรื่องคนตาย

 เรื่องสัตว์ตายทั้งหลาย เวลานั่งสมาธิทีไร

ก็จะไปรู้เรื่องราวเหล่านี้ แต่จิตไม่มีแรงออกทางปัญญา

 หลวงตาก็ต้องบังคับคอยเตือนคอยบอกว่าก็ไม่เชื่อ

 สุดท้ายก็ต้องใช้ไม้ตาย บอกว่า

“ถ้าไม่ฟังกันก็เลิกเป็นลูกศิษย์อาจารย์กัน

ต่อไปนี้ไม่สอนแล้ว ถ้ายังไปเล่นกับของพวกนี้อยู่”

เป็นเหมือนเดรจฉานวิชามันไม่ใช่โลกุตตระวิชา

 ไม่ได้ทำให้จิตหลุดพ้น เป็นโลกียวิชา

เป็นวิชาที่ทำให้จิตติดอยู่ในโลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

พอใช้คำขาดแบบนี้แกก็เลยยอม บังคับตัวเองไม่ให้ออกไป

 พอจิตสงบแล้วก็ใช้ “สติ” ดึงเอาไว้ให้อยู่ในสมาธิ

ให้อยู่ในอุเบกขา แล้วพอออกจากอุเบกขามาก็เจริญปัญญา

พิจารณาทางปัญญา พิจารณาร่างกาย

พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน ร่างกาย เวทนานี้อยู่ในขันธ์ ๕

พิจารณาว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา

สั่งมันไม่ได้ห้ามมันไม่ได้

สั่งให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่ได้

สั่งให้เวทนาให้มันไม่ทุกข์ไม่ได้

มันจะทุกข์ก็ต้องปล่อยมันทุกข์ มันจะสุขก็ปล่อยมันสุข

ใจมีหน้าที่สักแต่ว่ารู้ อย่าไปเกิดความอยากขึ้นมา

ถ้าเกิดความอยากให้เวทนาหายไป

เกิดความอยากไม่ให้ร่างกายตาย ก็จะเกิดความทุกข์ใจ

ความอยากนี้คือ “สมุทัย” ใน “อริยสัจสี่”

ความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

 และการจะหยุดความอยากได้ ก็ต้องเห็นว่า

สิ่งที่เราอยากนั้นมันเป็นไตรลักษณ์

อยากให้ร่างกายไม่ตายแต่มันต้องตาย

 มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าเห็นแล้วก็รู้ว่าอยากไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

อยากก็ตาย ไม่อยากก็ตาย แต่อยากแล้วทุกข์

ไม่อยากแล้วไม่ทุกข์ สู้ไม่อยากดีกว่า

ตายแบบไม่ทุกข์ดีกว่า ดีกว่าตายแล้วทุกข์

 หรืออยู่ก็ทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากแล้ว

ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย มันก็จะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา

ความเจ็บของร่างกาย ร่างกายเจ็บก็ต้องอยู่กับมันไป

 ไปอยากให้มันหายมันก็ไม่หาย

 เวลาคุณไม่สบายอยากให้มันหายมันหายไหม

มันก็ถึงเวลาเดี๋ยวมันก็หายเอง มันเป็นอนิจจัง

 ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องหาย

หายก็มีหายแบบสองแบบ หายแบบชั่วคราวกับหายถาวร

 หายชั่วคราวเดี๋ยวก็กลับมาเป็นใหม่อีก

เป็นไข้หวัดคราวนี้แล้วเดี๋ยวเดือนหน้า

สองเดือนหน้าก็มาเป็นใหม่ หายชั่วคราว

 ถ้าหายถาวรก็คือตาย ตายแล้วรับรองได้ว่า

ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บต่อไป

มันเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง

 มันเป็นอย่างนี้ความจริงของร่างกาย

ถ้าเรายอมรับความจริงได้

 เราก็ไม่ต้องมีความอยากไปต้านมัน

 อยากไม่ให้มันไม่เจ็บ อยากไม่ให้มันไม่ตาย

 อยากไปก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร นี่คือปัญญา

ที่จะพิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา

แล้วต่อไปก็จะปล่อยวางร่างกายได้ ปล่อยวางเวทนาได้

 มันจะตายก็ปล่อยมันตายไป มันจะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป

 แต่ใจไม่ทุกข์กับมัน

อันนี้ก็บรรลุธรรมขั้นแรกได้แล้ว “โสดาบัน”

ปล่อย ละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิก็การไปเห็นว่า

ร่างกายเป็นตัวเรา ของเรา เวทนาเป็นตัวเราของเรา

แต่ความจริงมันไม่ใช่ ร่างกายมันเป็นดินน้ำลมไฟ

มันไม่ได้เป็นของเรา เราเป็นเพียงแต่

ผู้มาครอบครองมันไว้ชั่วคราวมันไม่ใช่เป็นเรา

 เราไม่ได้เป็นมัน เวทนาก็เหมือนกัน เราสั่งมันได้หรือเปล่า

สั่งร่างกายได้หรือเปล่า มันก็ไม่ใช่เป็นของเรา

 ถ้าเป็นของเรา เราต้องสั่งมันได้

เราก็ต้องปล่อย มันแก่ก็ปล่อยมันแก่ไป

มันเจ็บก็เจ็บไป ตายก็ตายไป ถ้ามีปัญญามีอุเบกขา

มันก็จะทำใจให้วางเฉยได้

เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเป็นวิธีที่จะไม่ทุกข์

 ถ้าไม่วางเฉย ถ้าไปอยากมันจะทุกข์ขึ้นมา

การปฏิบัตินี้เป้าหมายก็เพื่อดับความทุกข์ใจ

ไม่ได้ทำอะไรให้ใจวิเศษหรอก ใจก็เหมือนเดิม

เพียงแต่ว่าทำให้มันฉลาด ทำให้มันไม่หลง

เพื่อมันจะได้ไม่ทุกข์เท่านั้นเอง

ใจของพวกเรากับใจของพระพุทธเจ้านี้ มีเหมือนกัน

เป็นตัวรู้เหมือนกัน ตัวคิดเหมือนกัน

แต่ต่างกันตรงที่ว่าหลงกับไม่หลงเท่านั้นเอง

 ใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นี้ท่านไม่หลง

 ท่านก็เลยไม่ผลิตความอยากขึ้นมา

เพื่อมาสร้างความทุกข์ให้กับใจ

แต่ใจของพวกเรายังมีความหลงอยู่

แล้วก็คอยผลิตความอยากขึ้นมาเรื่อยๆ

แล้วก็สร้างความทุกข์ให้กับพวกเรามาเรื่อยๆ

เราจึงต้องใช้ปัญญาของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าใช้ไตรลักษณ์

ใช้อสุภะมาละตัณหาความอยาก

 ถ้าเห็นไตรลักษณ์เห็นอสุภะมันก็จะไม่อยาก

พอไม่อยากมันก็หายทุกข์มันก็หลุดพ้นจากความทุกข์

นี่คือปัญญา หลังจากได้สมาธิแล้วออกมา

 ตอนขณะที่จิตนิ่งสงบนี้ไม่ต้องพิจารณา

เป็นเวลาสร้างอุเบกขา ยิ่งอยู่ได้นานเท่าไร

กำลังอุเบกขา ยิ่งมีมากเหมือนเเช่น้ำในตู้เย็น

แช่นานๆ ออกมามันจะได้เย็นนานๆ

จะได้มีเวลาพิจารณาธรรมได้นานๆ

ต้องพิจารณาเรื่อยๆ บ่อยๆ จนกระทั่งมันฝังอยู่ในใจ

จำได้จำว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์

จำว่าร่างกายนี้ เป็นอสุภะได้

พอตัณหาเกิดปั๊บมันก็จะขึ้นมาสู้กันเลย

 เหมือนกับเราท่องสูตรคูณนี้จำได้ สองคูณสองเท่าไร

แปดคูณแปดเท่าไร พอเวลาจะมาทำข้อสอบใช้การคูณนี้

มีข้อสอบถามมาว่าสิบสองคูณสิบสองเท่าไรปั๊บมันก็ออกมาเลย

 แต่ถ้าไม่ได้ท่องไว้ก่อนมันก็ต้องมานับสิบสอง

 ถึงสิบสองครั้งนี้ก็ไม่ทันกาล

อันนี้ก็เหมือนกันที่เราพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เรื่อยๆ

เพื่อให้เราไม่ลืม พอเกิดความทุกข์จะได้รู้เลยว่า

เกิดความอยากแล้วนะ มันอยากอะไรตอนนี้

อ๋อ มันเจ็บใช่ไหม มันอยากจะหายเจ็บใช่ไหม

แล้วมันหายหรือเปล่า หายด้วยความอยาก

มันกลับทำให้ความทุกข์มากขึ้น

ความเจ็บทางร่างกายมันไม่ได้ใหญ่โตอะไร

 ที่ใหญ่โตที่ทนไม่ได้คือความเจ็บทางใจ

คือความทุกข์ใจที่เกิดจากความอยาก

พอมีปัญญามีอุเบกขามันก็หยุดเฉยๆ อยู่เฉยๆดีกว่า

ทนเอาเหมือนตอนที่เราทนกับลมพัดนี้

 เสียงลมพัดนี้ก็ปล่อยมันพัดไป

 ถ้าเราอยากให้มันหายนี้เราจะทุกข์ขึ้นมาทันที

เราจะเห็นชัดเลยว่า ความทุกข์นี้มันรุนแรง

กว่าความเจ็บทางร่างกาย

 ความเจ็บจากแสงสีเสียงมันไม่รุนแรง

เท่ากับความเจ็บจากความอยาก นี่คือปัญญา

 จะคิดทางนี้ได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน

 จิตถ้าไม่มีสมาธิมันจะไปเลย พอเกิดอารมณ์ปั๊บมันไปเลย

 มันจะไม่ต่อต้านความอยาก อยากซื้ออะไรก็ซื้อเลย

 อยากดูอะไรก็ดูเลย อยากจะกินอะไรก็กินเลย

 เพราะเวลาไม่ได้ทำนี้มันเครียดมันหงุดหงิด

อยากจะสูบบุหรี่นี่ควักออกมาเลย ถ้าไม่ได้สูบนี้มันเครียดแล้ว

 แต่ถ้ามีอุเบกขา ถึงแม้ความอยากโล่ขึ้นมา

ถึงแม้ยังไม่ตายก็ยังใช้เหตุผล คุยกับมันได้ว่า

 “สูบไปทำไม สูบไปก็มีแต่สุขภาพจะแย่ลง

 สูบแล้วก็ต้องสูบอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ

สู้อย่าไปสูบมันดีกว่า โยนทิ้งไปเลย

กลับไปในอุเบกขาดีกว่าทำใจให้สงบดีกว่า”

มันก็หยุดความอยากได้

ต่อไปความอยากมันก็จะหมดกำลังไป

 ทุกครั้งที่เราฝืนมันกำลังของมันจะลดลงไปทีละครึ่งๆ

เดี๋ยวเดียวไม่กี่ครั้งมันก็หายไป

 คนเลิกบุหรี่ เลิกเหล้าได้ไม่เดือดร้อนแล้วใช่ไหม

 เห็นเหล้าเห็นบุหรี่ก็เฉยๆ เพราะไม่มีความอยาก

เพราะฝืนมันได้ เวลาอยากก็ไม่ทำมัน

 นี่คือเรื่องปัญญากับสมาธิ

ก่อนที่จะมาทำสมาธิและปัญญาได้ก็ต้องมีศีลก่อน

 เพราะถ้าเราไม่มีศีล ใจเราก็จะไปวุ่นวาย กับการกระทำ

ที่ทำให้ใจวุ่นวาย ศีล ๕ ก็ป้องกันได้ระดับหนึ่ง

 ถ้าเรารักษาศีล ๕ เราก็จะไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์

 ประพฤติผิดประเวณีก็จะไม่มีปัญหาต่างๆ

ที่เกิดจากการกระทำเหล่านี้ตามมา

แล้วถ้าเรารักษาศีล ๘ ก็จะลดการกระทำกิจกรรม

ที่เป็นโทษให้น้อยลงไปอีก

 เช่นไปร่วมหลับนอนกับผู้อื่นนี้ก็เหมือนกับไปติดสุรา

 ไปเที่ยวไปดูมหรสพบันเทิงอะไรต่างๆ

แต่งเนื้อแต่งตัวกินอาหารค่ำ

มันก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริม ความเจริญทางจิตใจ

ไม่ได้ทำให้ความสุขทางจิตใจเกิดขึ้น

แต่จะเกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ

กับการที่จะต้อง มาคอยตอบสนองความอยาก

ที่จะกระทำกิจกรรมเหล่านี้ก็จะไม่มีเวลามาเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ทำใจให้สงบ ก็ต้องรักษาศีล ๘ คนที่จะภาวนา

คนที่จะเจริญปัญญานี้ต้องถือศีล ๘ ศีล ๕ ไม่พอ

ศีล ๕ ยังกินข้าวเย็นได้ ยังเที่ยวได้

 ยังนอนหลับกับแฟนได้มันก็ไม่มีเวลามาเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ก็มัวแต่ไปกินข้าวเย็นดูหนังฟังเพลง แล้วก็หลับนอนกับแฟน

 ก็หมดเวลาไปแล้วจะไม่มีเวลามาเดินจงกรม นั่งสมาธิ

เจริญพุทโธๆเจริญสติ เพื่อให้จิตสงบ

จิตจะสงบได้ต้องเจริญสติก่อน ต้องมีสติก่อน

ต้องดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันไม่ปล่อยให้ใจ ไหลไปตามกระแส

ของความคิดต่างๆ ให้ใช้อะไรผูกไว้ ให้ใช้พุทโธๆผูกไว้

 ใจเป็นเหมือนเรือ จะให้เรือจอดอยู่นิ่งๆ

ไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำทำอย่างไรก็ต้องทอดสมอ

 ไม่เช่นนั้นก็ผูกไว้กับท่า ถ้าไม่ได้ผูกไว้กับท่าไม่ได้ทอดสมอ

เรือมันก็ต้องไหลไปตามกระแสน้ำ

 ใจของเราก็มีกระแสน้ำไหลอยู่ คือกระแสของความคิด

คิดอยู่ตั้งแต่ตื่น คิดอยู่ตลอดเวลาอย่าว่าแต่ตื่นเลยหลับก็คิด

 เวลาหลับคิดก็เป็นความฝัน มันก็คิดไปเรื่อยๆ

 คิดไปแล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง

 อยากบ้าง ไม่อยากบ้าง เบื่อบ้าง ไม่มีความสุข

 แต่ถ้าทำใจให้นิ่งเฉยๆ ไม่คิดได้ ใจก็เย็นสบาย เป็นอุเบกขา

 นั่งเฉยๆก็รวมเป็นอัปปนาสมาธิได้ ต้องมีสติหยุดใจให้ได้

 หยุดความคิดให้ได้ อย่าให้ใจไหลไปกับกระแสของความคิด

ให้ใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน สักแต่ว่ารู้

ก็ต้องใช้พุทโธหรือใช้การจดจ่อการเฝ้าดู

การกระทำของร่างกาย  ร่างกายทำอะไรอยู่

 ก็ให้อยู่กับการกระทำของร่างกายเพียงอย่างเดียว

 กำลังเดินก็เดินอย่างเดียวไม่ไปคิดถึง เรื่องนั้นเรื่องนี้

กำลังกินก็กินอย่างเดียว

กำลังอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำเพียงอย่างเดียว

ทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำ ไม่ให้ไปอยู่กับเรื่องอื่น

 จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องไม่มีกิจกรรมต่างๆ

 ถ้ายังไปทำมาหากินอยู่มันก็ต้องคิดแล้ว

วันนี้จะหาเงินเพิ่มเท่าไรดีไปหาลูกค้าเพิ่มที่ไหนดี

มันก็ไม่มีเวลาที่จะมาดึงจิตให้อยู่เฉยๆ อยู่กับพุทโธได้

คนที่จะเจริญสมาธิปัญญาได้จึงต้องเป็นนักบวชเสียส่วนใหญ่

 หรือคนที่เป็นเหมือนนักบวชคือไม่มีงานแล้ว

คนที่ทำงานมารวยแล้วอยู่เฉยๆได้แล้ว อยู่บ้านเฉยๆ

กินดอกเบี้ยได้แล้วพอแล้วไม่ต้องหาเงิน

เอาดอกมาจ่ายค่าอาหารค่าที่อยู่อาศัยค่าน้ำค่าไฟ

อยู่บ้านคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร

เดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ในบ้านก็ได้

 ถ้าเป็นฆราวาส แต่ถ้ามันไม่สะดวกสู้ไปบวชดีกว่า

ไปบวชแล้วจะมีที่ปฏิบัติที่ดีกว่ามีป่า มีเขาให้ปฏิบัติ

ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องอยู่ที่บ้าน

มาอยู่ตามป่าตามเขาก็อยู่ไม่ได้

 นี่ก็เรื่องของศีลของนักบวช ศีล ๘ ขึ้นไป

ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๑๐ ก็ของสามเณร

ศีล ๒๒๗ ก็ของภิกษุ ศีล ๓๑๑ ก็เป็นของภิกษุณี

ถ้าเราเป็นผู้หญิงอยากจะเป็นภิกษุณี ก็ไปเปิดดูซิว่า

 ภิกษุณีมีศีลกี่ข้อ อยากจะเป็นภิกษุณีก็รักษาศีล ๓๑๑ ข้อนี้

ก็เป็นภิกษุณีแล้วไม่ต้องมานุ่งเหลือง ห่มเหลืองก็ได้

ไม่ต้องให้มีคนมาบวชก็ได้

 การเป็นภิกษุณีไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวแล้วห่มผ้าเหลือง

 อยู่ที่ว่ารักษาศีลของภิกษุหรือภิกษุณีได้หรือเปล่า

สมัยนี้พวกผู้หญิงอยากจะบวชเป็นภิกษุณี

ก็มาวิ่งเต้นมาประท้วงเรียกร้องสิทธิการที่จะบวชเป็นภิกษุณี

 ไม่มีใครเขาห้ามอยากจะเป็นภิกษุณีก็ไปถือศีล ๓๑๑ ข้อ

ไปถือศีลของภิกษุณีก็เป็นภิกษุณีแล้ว

 เหมือนโยมอยากจะเป็นอุบากสกอุบาสิกา

ก็ไปถือศีล ๘ ก็เป็นแล้ว

 ไม่เห็นจะต้องมีใครมารับรองใช่ไหม

เวลาพระพุทธเจ้าบวชมีใครรับรองพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

 เอาสันทิฏฐิโกเป็นตัวรับรองสิ

เอาความจริงเป็นตัวรับรอง

ถ้าเรามีศีล ๘ เราก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาแล้ว

 ถ้าเรารักษาศีล ๒๒๗ ข้อได้เราก็เป็นภิกษุได้แล้ว

ถึงแม้จะไม่ได้บวชก็ไม่มีปัญหาอะไร

เราไม่ได้บวชเพื่อเอาหน้าเอาตาอะไร

เพื่อให้คนกราบไหว้ เราบวชเพื่อจะเอาศีล ๒๒๗ ข้อนี้

มาฆ่ากิเลสเอามาเป็นฐานของการภาวนาของการปฏิบัติ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

สนทนาธรรมบนเขา

 วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 พฤษภาคม 2559
Last Update : 8 พฤษภาคม 2559 12:04:16 น.
Counter : 636 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ