Group Blog
All Blog
### ความอยาก ###











“ความอยาก”

ปัญหาของพวกเราก็คือความอยาก

 อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 พอไม่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะพยายามหาวิธี

ทำให้เป็นไปตามความอยาก พอเป็นแล้วก็เท่านั้น

ไม่ได้แก้ปัญหาคือความอยาก ไม่ได้ทำให้ความอยากหมดไป

 พอได้สิ่งที่อยากได้แล้ว

ความอยากก็จะโผล่ขึ้นมาอีก อยากได้อีก

 ก็จะอยากไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหมดปัญหา

เพราะเวลาอยากได้อะไร ก็ต้องมีปัญหามีอุปสรรค

 กว่าจะแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคได้

ก็จะเสียเวลาเสียเงินทองไปโดยใช่เหตุ

 เพราะไม่ได้แก้ปัญหา กลับสร้างปัญหาขึ้นมาอีก

 เพราะจะมีความอยากอีก เพราะเบื่อกับของที่ได้มา

 อยากได้ของที่ยังไม่ได้ ถ้าไม่หยุดความอยาก

ความอยากจะไม่มีวันหมดไป

 ความทุกข์ต่างๆก็จะไม่มีวันหมด

วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงก็คือต้องหยุดความอยาก

ถ้าหยุดความอยากได้แล้ว ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป

 เหตุที่ทำให้อยาก ก็เพราะไม่รู้ว่า

สิ่งที่อยากได้นั้น ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ทำให้ใจอิ่มพอ

 ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญ

 เป็นความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 จะไม่สามารถให้ความอิ่มความพอแก่ใจได้

 ต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไรก็ตาม ความพอจะไม่เกิดขึ้น

 เพราะไม่ได้หยุดความอยาก ได้เงินมาร้อยล้านก็ยังไม่พอ

 ได้พันล้านก็ยังไม่พอ ได้แสนล้านก็ยังไม่พอ

ยังอยากอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่อยากได้เงิน

ก็อยากจะได้อย่างอื่น ได้เงินมากแล้ว

ก็อยากจะได้เกียรติยศ

 พอได้ลาภแล้วก็อยากจะได้ยศ

 รวยแล้วก็อยากจะเป็นคุณหญิงเป็นคุณนาย

 อยากเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี

 เป็นประธานาธิบดี จะอยากไปเรื่อยๆ

ดังที่เคยพูดไว้ ตอนต้นก็อยากจะอยู่ดีกินดี

ไม่อดอยากขาดแคลน พออยู่ดีกินดีแล้ว ก็อยากจะร่ำรวย

พอรวยแล้วก็อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากมีเกียรติ

 มีชื่อเสียงมีหน้ามีตา พอมีแล้วก็อยากจะมีไปนานๆ

 ไม่อยากให้เสื่อมหมดไป เวลาตายไปก็อยากจะไปสวรรค์

จะอยากต่อไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด

ถ้ายังมีความอยากก็ยังมีความหิว มีความต้องการ

มีความไม่พอ ก็จะไม่มีความสุข ต้องหยุดความอยาก

 เพราะถ้าหยุดความอยากได้ ความอิ่มความพอก็จะเกิดขึ้น

พวกเราไม่รู้ความจริงนี้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

แล้วนำเอาความจริงนี้มาเผยแผ่ มาบอกพวกเรา

 พวกเราจะไม่มีวันรู้ได้

 ก็จะหลงอยู่กับการหาลาภยศสรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 แล้วก็ต้องมาทุกข์กับความเสื่อมของลาภยศสรรเสริญ

ของความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 เช่นเวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป สูญเสียบุคคลที่รักไป

ก็จะเศร้าโศกเสียใจ ในขณะที่เราอยู่กับสิ่งที่รักกับบุคคลที่รัก

 ก็จะมีความห่วงใย มีความวิตกกังวล กลัวว่าจะจากไป

 เวลาไม่มีสิ่งที่รักบุคคลที่รัก ก็อยากจะมี

พออยากจะมีก็อยู่ไม่เป็นสุข ต้องดิ้นรนแสวงหา

สิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ บุคคลที่รักบุคคลที่ชอบ

เพราะใจมีแต่ความอยาก จึงผลักดันให้ไปหาสิ่งต่างๆ

 ความอยากเกิดจากความหลง เห็นผิดเป็นชอบ

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความทุกข์ว่าเป็นความสุข

 เห็นลาภยศสรรเสริญ เห็นความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ว่าเป็นสุข แต่ความจริงแล้วเป็นทุกข์

 ทุกข์เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เจริญอย่างเดียว

เจริญแล้วก็เสื่อมด้วย เกิดแล้วก็ดับ มาแล้วก็ไป

 มองไม่เห็นส่วนที่เสื่อม ส่วนที่ดับ ส่วนที่จากไป

เวลาเห็นสิ่งที่อยากได้ จะไม่คิดว่าจะจากไป

 จะเสื่อม จะเปลี่ยนไป นี่คือความหลง

ที่จะหลอกให้วิ่งเข้าหาความทุกข์

 เพราะไม่เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ไม่เห็นความเสื่อมของสิ่งต่างๆ ไม่รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้

ที่จะให้ความสุขได้อย่างแท้จริง

ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

 ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ถ้าได้พบก็จะรู้ว่า

ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ในใจ อยู่ในตัวเรา

อยู่ที่การทำใจให้สงบ ถ้าไม่มีศาสนาก็จะไม่มีใครรู้

 คนที่ไม่มีศาสนาจึงไม่คิดที่จะทำใจให้สงบ

 ไม่รู้ว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่ ความสุขที่ดีเลิศ

 ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ความสงบของใจ

จึงทุ่มเทเวลาให้กับการหาลาภยศสรรเสริญ

หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เลยต้องอยู่กับกองทุกข์

 เวลาที่สิ่งต่างๆเปลี่ยนไป เสื่อมหมดไป

นี่คือความหลงของผู้ที่ไม่ได้เข้าหาศาสนา

โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนารู้ว่า

ความสงบสุขของใจเป็นความสุขที่แท้จริง

รู้วิธีสร้างความสุขนี้ให้ถึงจุดสูงสุด ที่ไม่มีวันเสื่อม

ศาสนาอื่นก็รู้เหมือนกัน

แต่ไม่รู้วิธีสร้างความสุขให้ถึงจุดสูงสุด ที่ไม่มีวันเสื่อม

 รู้เพียงระดับฌานระดับสมาธิ ที่ต้องเสื่อมหมดไป

ไม่รู้วิธีสร้างความสงบที่ถาวร ก็คือพระนิพพาน

 พระนิพพานก็คือใจที่มีความสงบตลอดเวลา

สงบอย่างถาวร ที่เกิดจากการกำจัด

ความอยากทั้งหลายให้หมดไป ด้วยอำนาจของปัญญา

 ของสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

ที่เห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้

ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องมีปัญญามีความรู้นี้

 จึงจะสามารถกำจัดความอยากต่างๆ

ให้หมดไปได้อย่างถาวร

ถ้ากำจัดด้วยการเพ่งอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

เช่นกำหนดดูลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธๆ

เพื่อไม่ให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะหยุดความอยากได้ชั่วคราว

เพราะความอยากต้องใช้ความคิดเป็นเครื่องมือ

พอความคิดหยุดทำงานความอยากก็ต้องหยุดทำงาน

แต่ไม่ได้หยุดแบบถาวร

เวลาออกจากสมาธิมาคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ความอยากก็จะตามมากับความคิดได้

 พอคิดถึงคนนั้นคนนี้ก็เกิดความอยากขึ้นมา

 อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 พอคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 ก็จะเกิดความไม่สงบ เกิดความกระวนกระวาย

กระสับกระส่าย กระตือรือร้น อยู่ไม่เป็นสุข

เพราะความอยากไม่ได้หมดไปอย่างถาวร

ด้วยการหยุดความคิด

ความอยากเกิดจากความหลง เห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นว่าได้อะไรแล้วจะได้ความสุข

ต้องแก้ความหลงด้วยสัมมาทิฏฐิ คือรู้พระอริยสัจ ๔

 ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

ทรงรู้ว่าความอยากได้สิ่งต่างๆนี้แล

 เป็นต้นเหตุที่ทำลายความสงบของใจ

พอความสงบถูกทำลายไป ความสุขก็หายไป

 ความทุกข์ก็กลับมาแทนที่

 ถ้าอยากจะให้ความสงบความสุขกลับมา

 ก็ต้องหยุดความอยาก.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๔๕๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“ต้องหยุดความอยาก”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 พฤษภาคม 2559
Last Update : 15 พฤษภาคม 2559 14:50:12 น.
Counter : 728 Pageviews.

0 comment
### เปลี่ยนมุมมอง ###














เปลี่ยนมุมมอง

เราควรยอมรับว่าทุกคนมีข้อดีข้อเสียด้วยทั้งนั้น

 จะหาใครเพอร์เฟกต์ สมบูรณ์แบบย่อมไม่มี

แต่ถ้าเมื่อไหร่เรามองแต่แง่ลบ

 เราจะทำงานอย่างไม่มีความสุข

ถ้าเรามองเห็นรอบด้าน เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย

เราจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

และจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันน้อยลง

คนทุกวันนี้มองเห็นหรือจ้องจับผิดได้ง่าย

หลายคนพอบอกให้วิจารณ์งานของเพื่อน

ก็สามารถพรรณนาได้ยาวเหยียด

แต่พอขอให้ชมเขากลับทำไม่ได้

อาตมาอยากแนะนำว่าก่อนจะวิจารณ์ใคร

 ควรมองเห็นข้อดีของคนนั้นเสียก่อน

 ถ้าเราจะวิจารณ์เขา 1 ข้อ เราต้องเห็นข้อดีของเขา 2 ข้อ

 นี่เป็นการฝึก เพราะสมัยนี้คนเราเก่งเรื่องการจับผิดมาก

 อาตมา เชื่อว่าถ้าเราชมกันมากขึ้น

บรรยากาศในที่ทำงานจะดีขึ้น

 ถ้าเราลองปรับมุมมองซะหน่อย

เราจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

พระไพศาล วิสาโล






ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤษภาคม 2559
Last Update : 14 พฤษภาคม 2559 11:30:14 น.
Counter : 666 Pageviews.

0 comment
### มองเป็นเห็นธรรม ###














มองเป็นเห็นธรรม

“คนเราส่วนใหญ่ทุกข์ก็เพราะความคิดหรือมุมมอง 

ถ้ามองไม่เป็น เห็นแต่ข้อเสียหรือข้อผิดพลาด

 ถึงจะได้โชคลาภมากมายเพียงใด

ใจก็มีแต่ความหงุดหงิดขึ้งเครียด

ความสุขนั้นบ่อยครั้งมารออยู่ข้างหน้าแล้ว

แต่ผู้คนกลับปล่อยให้มันผ่านเลยไป

เพราะมัวจดจ่ออยู่กับจุดเล็ก ๆ

ที่เป็นลบแค่ไม่กี่จุดเท่านั้น

หากมองข้ามมันไปบ้าง

ความสุขก็จะมานั่งในใจเราทันที”

พระไพศาล วิสาโล






ขอบคุณที่มา fb. Zen Sukato
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤษภาคม 2559
Last Update : 14 พฤษภาคม 2559 10:54:56 น.
Counter : 841 Pageviews.

0 comment
### กรรมคือผู้กำหนดอนาคตของเรา ###














“กรรมนี่แหละเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกเรา”

ถาม : การกระทำ การประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญตน

 การใช้ชีวิตในชาติปัจจุบัน คือการกำหนดทิศทาง

การเกิดของภพหน้าโดยตรงใช่หรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นๆอีก

พระอาจารย์ : พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แล้วว่า

 กรรมนี่แหละเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกเรา

กรรมเป็นผู้จำแนกแยกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆนานา

 กรรมนี่แหละที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์

เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน

 เป็นอะไรก็อยู่ที่กรรมนี้เท่านั้น

คือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ถ้ากรรมดีคือบุญกุศลก็จะพาไปสู่สุคติ

พาไปสู่มรรคผลนิพพาน

 ถ้ากรรมชั่วก็จะพาไปสู่อบาย ไปสู่การเกิดเป็นเดรัจฉาน

 เป็นเปรต ไปสู่นรก ทั้งหมดนี้อยู่ที่กรรมนี้เท่านั้น

กรรมแปลว่าการกระทำ
ที่เราใช้คำว่ากรรมนี้

บางทีเราใช้คำว่ากรรมแทนคำว่าบาป

เช่นบุญกรรม ความจริงแล้วเราหมายถึงบุญบาป

แต่คำว่ากรรมจริงๆนี้เป็นคำกลางๆ

ไม่ใช่เป็นบุญหรือเป็นบาป ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นบุญ

 ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นบาป

ดังนั้น ทั้งหมดนี้อยู่ที่คำว่ากรรม

อย่างที่บทที่เราได้สวดกันอยู่ ประจำว่า

 เรามีกรรมเป็นของๆตน เรามีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด

เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งของเรา

จะทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

นี่แหละหลักของพระพุทธศาสนา อยู่ที่ตัวนี้ตัวเดียว

 อยู่ที่กรรมลิขิต ไม่ได้อยู่ที่เทวลิขิต ไม่ได้อยู่ที่พรหมลิขิต

 อยู่ที่การกระทำของเรา เราอยากเป็นพระอรหันต์ก็เป็นได้

 เราอยากจะเป็นเดรัจฉานเราก็เป็นได้

อยากจะเป็นเดรัจฉานก็อย่าไปรักษาศีล ๕

ถ้าอยากจะเป็นพระอรหันต์ก็ออกบวช

 เจริญสมถะวิปัสสนาภาวนาไป

ก็จะเป็นพระอรหันต์ขึ้นได้ในอนาคต

อนาคตนี้จะใกล้หรือจะไกล ก็อยู่ที่ความพร้อม

ของปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

กัณฑ์ที่ ๔๖๗ ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

“กฐินกาล”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤษภาคม 2559
Last Update : 14 พฤษภาคม 2559 10:39:14 น.
Counter : 545 Pageviews.

0 comment
### การขอขมา ###











“การขอขมา”

การขอขมาก็ขอในใจนั่นแหละ

 เราไปทำอะไรใครเขาผิด เราก็อย่าไปทำอีก มันก็จบ

ไม่ต้องมาตั้งนะโม มากล่าวคำขอขมา

เราอย่าไปทำซ้ำซาก

 คำว่าขอขมานี้ก็เพื่อไม่ให้เราไปทำซ้ำซาก

ให้เราสำนึกผิด ในพฤติกรรมของเรา

 แล้วเราไม่ต้องไปทำต่อ

 เพราะคนที่เขาถูกละเมิดนี้เขาไม่สนใจหรอก

 เขาอยู่ของเขาได้ จะไปล่วงเกินอะไรเขา

 ถ้าเขามีธรรมอยู่ในใจเขาไม่สนใจหรอก

เขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

มีในโลกนี้มีสรรเสริญ มีนินทาเป็นธรรมดา

 เวลาทำอะไรถูกใจเขา เขาก็สรรเสริญเรายกย่องเรา

 เวลาทำอะไรไม่ถูกใจเขา เขาก็ด่าเรา มันก็มีเท่านั้น

จะมีอะไร ไปห้ามเขาได้ที่ไหน

แต่คนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นไม่กังวล

 ไม่ต้องมาขอขมาไม่ต้องมีอะไร

ทำอะไรผิด ถ้าสำนึกผิดแล้วแก้ไป

อย่าไปทำมันอีกเท่านั้นล่ะ นี่คือหลักของการขอขมา

 ก็เพื่อที่จะได้ไม่ไปล่วงเกินผู้อื่นอีก

 ถ้ารู้ว่าการกระทำของเรานั้น

มันเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร

ครั้งต่อไปก็อย่าไปทำมันเท่านั้นเอง มันก็จบ

นี่คือพูดเปรียบเทียบเรื่องของการรู้ธรรม

ที่ยังเป็นเปลือกกับการรู้ธรรมที่เป็นเนื้อมันต่างกันอย่างนี้

 ดังนั้นเวลาเราไปวัดป่านี้ เราจะเห็นว่า

การกระทำพิธีกรรมต่างๆ นี้แทบจะไม่มีกัน

 เพราะท่านไม่สนใจ เรื่องเปลือก ท่านจะเอาแต่เนื้อ

แต่ถ้าเราไปอยู่วัดที่ยังไม่มีเนื้อ

 เขาก็มีแต่เปลือกให้เรากินกัน ตั้งนะโมกันอยู่นั่นแหละ

ทำอะไรทีก็นะโมกันไปที มีแต่กล่าวคำถวาย

มีแต่สวดสาธยายอะไรไปร้อยแปด พันประการ

แต่ผลคือความสงบนี้ไม่เกิดขึ้นมาเลย

ความสุขความปีติของใจไม่มีเลย

เพราะไม่ได้เนื้อธรรม ได้แต่เปลือกธรรม

 แต่ไปวัดป่า วัดที่ไม่มีพิธีกรรมนี้

ไปถึงก็แสดงธรรมกันเลย

 ขึ้นเวทีแสดงธรรม ถ้าตั้งจิตตั้งใจฟัง

พอเข้าใจธรรมขึ้นมาก็จะเกิดความปีติเกิดความสุขใจขึ้นมา

นี่คือเรื่องของธรรมที่มีทั้ง ๒ รูปแบบ

 ธรรมที่เป็นเปลือกและธรรมที่เป็นเนื้อ

 ตอนต้นเราก็ต้องเจอเปลือกก่อน เป็นธรรมดา

 เราก็ต้องศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน

แล้วก็ถูกสอนให้ทำพิธีอะไรต่างๆ ไป

 ให้ทำวัตรเช้าเย็น เวลาถวายของก็ต้องมีการกล่าว

เวลาขอศีลก็ต้องมีการกล่าวคำขอศีล

 ศีลมีแค่ ๕ ข้อแต่กล่าวกันไม่รู้กี่ ๑๐๐ ครั้ง

 ขอไปทำไม ๕ ข้อ ขอหนเดียวมันก็จบแล้ว

 การขอเพื่อให้รู้ว่ามีอะไรบ้างเท่านั้นเอง

 ไม่รู้จึงมาถามพระว่า ศีล ๕ มีอะไรบ้าง

จะได้เอาไปรักษา พอรู้แล้วก็ไม่ต้องมาขออีกแล้ว

ขอไปทำไม มันก็ไม่ได้มากไปกว่า ๕ ข้อนี้

ขอ ๕๐๐ ครั้งมันก็ได้ ๕ ข้อนี่แหละ ขอหนเดียวก็พอ

ขอแล้วขอให้รักษาให้มันได้

ดีกว่าขอ ๕๐๐ ครั้งแล้วรักษาไม่ได้ แม้แต่ข้อเดียว

นี่คือพูดเปรียบเทียบให้ฟังเรื่องของเปลือกกับเรื่องของเนื้อ

 เพื่อจะได้มีอะไรเป็นเครื่องพิจารณา

เป็นเครื่องที่จะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติไม่ถูก

 เรายังติดอยู่กับเปลือกหรือเราติดอยู่กับเนื้อแล้ว

นี่คือเรื่องของการเข้าหาธรรม

ในวันที่เรามีวันหยุดเพิ่มขึ้นมาวันหนึ่ง

ซึ่งมีเวลาน้อยมาก ปีหนึ่งที่เราจะมีวันหยุด

ที่เราจะเข้าวัดเพื่อเข้าหาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้มีไม่กี่วัน

มีไม่ถึง ๓๐ ในปีหนึ่งที่มี ๓๖๕ วันนี้

 เรามีเวลาเข้าวัดสัก ๓๐ วันได้หรือไม่

คิดดูก็แล้วกันว่ามันมากหรือน้อยเพียงอย่างไร

แล้วผลที่เราจะได้รับจากการปฏิบัติ

มันจะได้รับมากน้อยเพียงอย่างไร

ดูคนที่เขาอยู่วัดตลอดเวลา แล้วก็ไม่ใช่อยู่แค่ ปี ๒ ปี

อยู่กันเป็น ๑๐ ปี นั่นแหละคนเหล่านี้แหละ

เป็นผู้ที่จะได้รับผล ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าเข้าวัดกันปีละไม่กี่วัน

อันนี้โอกาสที่จะได้รับผลนี้ มันน้อยมาก

ก็ขอให้นำเอาเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้

ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ

เพื่อความสุขและความเจริญในธรรมที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“ช่วงเวลาที่สำคัญ”










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 พฤษภาคม 2559
Last Update : 14 พฤษภาคม 2559 10:18:24 น.
Counter : 562 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ