Group Blog
All Blog
### ความสงบนี่แหละเป็นเหมือนแฟนใหม่ ###













“ความสงบนี่แหละเป็นเหมือนแฟนใหม่”

การปฏิบัตินี้มันก็ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ

เดินเมื่อยเราก็นั่ง นั่งเมื่อยเราก็ลุกมาเดิน

 แต่เวลาเหงื่อออก หรืออะไรนี้ไม่ต้องไปอาบน้ำนะ

ถ้านักปฏิบัติเขาไม่ไปอาบน้งอาบน้ำ

 อาบเฉพาะเวลา ที่ต้องอาบวันละครั้ง

ถึงเวลาเย็นจะอาบค่อยอาบไปทีเดียว

เพราะถ้าไปอาบนี้ก็แสดงว่า เราไปมีกิเลสอยาก

 จะผ่อนคลายความไม่สบายทางร่างกายที่เกิดจากเหงื่อไคล

ก็อยากจะไปอาบน้ำ อันนี้ก็เป็นการไปปฏิบัติ ให้กับกิเลส

 ซึ่งเราต้องหัดทนอยู่กับมันไป เหงื่อจะออกก็ช่างมัน

 เมื่อยังไม่ถึงเวลาอาบเราก็ไม่ไปอาบ งั้นเดี๋ยวอาบทั้งวัน

 เดี๋ยวเดินได้สักพักหนึ่งอยากอาบน้ำแล้ว

เดี๋ยวนั่งสมาธิออกมาอยากจะอาบน้ำอีกแล้ว

ถ้าอย่างนี้มันไม่ใช่เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

การอาบน้ำนี้เพื่อชำระร่างกายวันละครั้งก็พอ

ไม่ได้อาบเพื่อให้ใจสบายเข้าใจไหม

เราต้องการใช้ธรรมะ ให้ใจสบาย

ทำใจให้สงบแล้วใจจะสบาย แล้วจะไม่เดือดร้อน

กับความไม่สบายของทางร่างกาย

 ไม่ใช่นั่งสมาธิปั๊บเหงื่อแตก ลุกขึ้นมาอาบน้ำแล้ว

 อาบน้ำเสร็จไปเดินจงกรมเดี๋ยวเหงื่อแตกอาบอีกแล้ว

 วันหนึ่งอาบกี่หน อย่างนี้ยังไม่ใช่เป็นการฆ่ากิเลส

เป็นการส่งเสริมกิเลส

การอยากอาบน้ำนี้ก็เป็นกามฉันทะ

 อยากจะสัมผัสกับความสบายทางร่างกาย

 พอร่างกายมันไม่สบาย ก็อยากจะทำให้มันสบายขึ้นมา

เราต้องการทำใจให้สบาย

ไม่ได้กังวลเรื่องของร่างกายจะสบายหรือไม่สบาย

ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าใจสบายแล้ว

มันจะไม่เดือดร้อนกับความไม่สบายของทางร่างกาย

 ดังนั้นพยายามอาบวันละครั้งก็พอ

พระนี้ท่านอาบกันแค่วันละครั้งเท่านั้น

ตอนเย็นตอนที่ปัดกวาดเสร็จแล้ว

 ตอนเสร็จอะไรเรียบร้อยแล้วก็ค่อยอาบกัน

หลังจากนั้นท่านก็ไม่อาบ จนกระทั่งถึงต่อมา

ตอนเช้าก็ไม่มีเวลาอาบพระ พอสว่างก็ต้องไปบิณฑบาต

ดังนั้นก็ปฏิบัติเพื่อให้ใจสงบเพื่อให้ใจเกิดปัญญา

เพื่อจะได้ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่ใจ ไปมีความเกี่ยวข้องด้วย

 ปล่อยวางคนนั้นปล่อยวางคนนี้

อย่าไปยึดอย่าไปติดกับเขา

 เพราะไม่ช้าก็เร็ว ก็จะต้องจากกัน

ถ้ายึดติดเวลาจากกันก็จะเสียใจจะทุกข์ใจ

ถ้าปล่อยแล้วเวลาจากกันก็จะไม่ทุกข์ใจ จะไม่เสียใจ

 ที่เรามาปฏิบัติกันเพื่อทำให้เราไม่ทุกข์ใจ ไม่เสียใจ

 เราก็ต้องหัดปล่อย หัดอยู่คนเดียว

อยู่คนเดียวแล้ว ก็อยู่กับความว่างอย่างเดียว

ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสมาเป็นเพื่อน

มาให้ความสุข

ไม่ต้องมีคนนั้นคนนี้มาเป็นเพื่อน มาให้ความสุข

ไม่ต้องมีเงินมีทองมาให้ความสุข เ

อาความสุขกับการมีธรรมะ มีสติมีสมาธิ มีปัญญา

แล้วจะทำให้ใจนี้อยู่กับความว่างเปล่าได้

ความว่างเปล่าก็คือไม่มีอะไร

 แม้แต่ร่างกายก็ไม่ต้องมีก็ได้

ถ้าใจมีธรรมะแล้ว

ร่างกายจะเป็นจะตาย ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 เพราะไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเพื่อน

ตอนนี้ใจยังต้องใช้ร่างกายเป็นเพื่อน

เป็นเครื่องมือหาความสุขต่างๆ

 แต่ถ้าใจมีความสุขในใจแล้ว

จะไม่ต้องใช้อะไรเป็นเพื่อนเป็นเครื่องมือ หาความสุข

อยู่เฉยๆ ใจสบาย ร่างกายเจ็บก็ไม่เดือดร้อน

ร่างกายแก่ก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายตายก็ไม่เดือดร้อน

 มีอะไรดูหรือไม่มีดูก็ไม่เดือดร้อน

มีอะไรฟังหรือไม่มีอะไรฟังก็ไม่เดือดร้อน

อยู่ในป่าได้ อยู่ในป่าคนเดียวสบาย

ไฟฟ้าก็ไม่ต้องมี น้ำประปาก็ไม่ต้องมี

ดูซิที่นี่(บนเขาชีโอน)มีอะไร ไม่มีอะไรหรอก

 คนที่ขึ้นมาอยู่บนนี้เขามาฝึกอยู่กับความว่าง

 พวกเราอยู่ที่บ้านต้องอยู่กับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรส

ต้องมีทีวีดู มีโทรศัพท์ฟัง มีตู้เย็นไว้เปิดหาขนมนมเนย

เครื่องดื่มอะไรกินต่างๆ มีเพื่อน มีแฟนมีอะไร

แล้วเป็นอย่างไร สุขประเดี๋ยวประด๋าวใช่ไหม

 เดี๋ยวบางทีก็ทุกข์ขึ้นมา

เวลาเปิดตู้เย็นมาแล้วไม่มีอะไรกินเลย ว่าง

เวลาไฟดับเป็นอย่างไรเดือดร้อนไหม

เวลาน้ำประปาไม่ไหลเป็นอย่างไรเดือดร้อนไหม

มาอยู่ในป่านี้ก็อยู่แบบธรรมชาติ

อยู่แบบเหมือนกับลิงอยู่ ไม่ต้องใช้น้ำประปา

ไม่ต้องใช้ส้วม ป่านี้มันเป็นส้วม ปวดท้องที่ไหนก็ฉี่ที่นั่น

 ไฟดับก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีเครื่องใช้อะไรที่ต้องใช้ไฟ

พวกเราไปพึ่งของข้างนอกกัน ไม่พึ่งของข้างใน

 เราก็เลยเดือดร้อนเพราะของข้างนอกมันไม่แน่นอน

บางทีมันก็มาบางทีมันก็ไม่มา

 เวลาไม่มาก็โอโฮ..วุ่นวายกันไปหมด

เวลามีอะไรก็ดีใจ พอเวลาเสียไปก็เสียใจ

แต่ถ้าเรามาฝึกฏิบัติธรรมอยู่กับความว่างได้

 อยู่กับความไม่มีอะไรได้ สบาย

 เพราะความว่างนี้ไม่มีวันหายไป มันจะว่างไปตลอด

 มีอะไรมันต้องมีหายไป ถ้าไม่มีอะไรมันก็จะไม่มีอะไรหาย

 วิธีที่จะอยู่กับความว่างได้ ก็ต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

 ทำใจให้สงบ ทำใจให้นิ่ง แล้วใจจะไม่หิว

ใจจะอิ่มใจจะพอใจจะมีความสุข

ความสุขของใจคือความสงบ

ของอย่างอื่นนี้เป็นยาพิษ รูปเสียงกลิ่นรสนี้เป็นยาพิษ

เป็นเหมือนยาเสพติด

 คนเราปกติเราไม่ต้องเสพยากันใช่ไหม

 แต่คนที่ไปเสพยา พอเวลาเขาเสพเขาก็มีความสุข

พอเวลาเขาไม่มียาเสพเขาก็ทุกข์

 คนที่เสพรูปเสียงกลิ่นรสเวลามีเสพก็สุข

 เวลาไม่มีเสพก็ทุกข์

พวกเรานี้เป็นพวกติดรูปเสียงกลิ่นรสมาตั้งแต่เกิด

 เกิดมานี้ก็ติดรูปเสียงกลิ่นรสกัน

อยากดูอยากฟังอยากดม อยากลิ้มรสกัน

 พอเวลาไม่มีให้เสพก็ทุกข์กัน

นี่คือปัญหาของพวกเรา พวกเราเป็นพวกติดยาเสพติด

 ติดรูปเสียงกลิ่นรส เราต้องมาหยุด

 วิธีหยุดก็ต้องมาปฏิบัติธรรม มานั่งสมาธิ มาเจริญสติ

เพื่อทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้ว

ใจก็จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรส

แล้วใช้ปัญญาสอนใจว่า การเสพรูปเสียงกลิ่นรส

 เหมือนเสพยาเสพติด คนที่ติดยาเสพติด

กับคนที่ไม่ติดยาเสพติด ใครสบายกว่ากัน

 คนที่ติดเหล้า กับคนที่ไม่ติดเหล้าใครสบายกว่ากัน

 คนที่ติดบุหรี่กับคนที่ไม่ติดบุหรี่

คนที่ติดเที่ยวกับคนที่ไม่คิดเที่ยว ใครสบายกว่ากัน

ต้องเปรียบเทียบดู

แล้วเราก็จะเห็นโทษของการติดอะไรต่างๆ

 คนที่ติดแฟนกับคนที่ไม่ติดแฟน ใครสบายกว่ากัน

 คนที่ติดลูกกับคนที่ไม่ติดลูกใครสบายกว่ากัน ใช่ไหม

 คนที่ติดแม่กับคนที่ไม่ติดแม่ ใครสบายกว่ากัน

 เวลาติดแม่เวลาไม่เห็นหน้าแม่ก็เดือดร้อนขึ้นมาแล้ว

งั้นอย่าไปติดอะไร พวกเราเกิดมานี้

มันมีตัวติดมาตั้งแต่กำเนิด ติดรูปเสียงกลิ่นรส

ติดลาภยศ สรรเสริญ อยากได้เงินไหม อยากได้ยศไหม

 อยากได้ให้คนชมไหม ไม่ชอบให้คนด่าใช่ไหม

 พอใครด่าหน่อยก็ โอโฮ...เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา

 นี่แหละคือปัญญา เราไปติดสรรเสริญ

พอได้นินทากลับมาก็ โอโฮ...เสียอกเสียใจ

 ไปติดยศพอไม่ได้เลื่อนยศเลื่อนขั้น

 ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้เงินเพิ่มก็เสียใจ

 ติดเงินเดือน อยากจะได้เงินมากๆ

พอไม่ได้มากก็เสียใจ พอไม่ได้ก็เสียใจ

 พอไม่มีเงินใช้ก็เสียใจ

ถ้าเรามาฝึกนั่งสมาธิทำใจให้สงบได้

เราไม่ต้องใช้เงินก็ได้

เชื่อไหม ความสุขของสมาธินี้

มันทำให้เราไม่อยากได้อะไร

เมื่อไม่อยากได้อะไรก็ไม่ต้องใช้เงิน

 แม้แต่ร่างกายนี้มันจะตายก็ไม่เดือดร้อน

เพราะใจไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 ถ้ามีความสุขทางใจแล้ว

ไม่ต้องใช้ร่างกายหาความสุขต่างๆ

ทุกวันนี้เราเดือดร้อนกันก็เพราะเราติด

ติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ ติดรูปเสียงกลิ่นรสกัน

 เหมือนคนติดยาเสพติด เราต้องมาเลิกติดสิ่งเหล่านี้

ให้ถือศีล ๘ นี้ให้เลิก ศีล ๘ ให้เลิกหาความสุข

ทางตาหู จมูกลิ้นกาย แล้วก็ให้มานั่งสมาธิทำใจให้สงบ

เจริญสติ พอใจสงบแล้วก็เลิกได้

 เพราะเวลาสงบแล้ว จะได้ความสุขที่ดีกว่า

ความสุขที่เราได้จากสิ่งต่างๆ

 เราก็ไม่ต้องอาศัย ไม่ต้องหาความสุข

จากลาภยศ สรรเสริญ ไม่ต้องหาความสุขจาก

รูปเสียงกลิ่นรสอีกต่อไป

มีลาภยศ สรรเสริญหรือไม่มีก็ไม่เดือดร้อน

ตอนนี้เดือดร้อน เพราะเราไม่มีความสุขตัวใหม่

 ถ้าเรามีความสุขแล้ว ความสุขตัวเก่าเราก็ทิ้งไปได้

ความสุขที่ได้จากลาภยศ สรรเสิรญ

มันจะสู้ความสุขตัวใหม่ไม่ได้

 ความสุขที่ได้จากความสงบ

เหมือนกับถ้าเราได้แฟนใหม่ที่ดีกว่าแฟนเก่า

เราก็ทิ้งแฟนเก่าแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีแฟนใหม่

ก็เอาแฟนเก่าไปก่อนดีกว่า ยังไงก็ยังดีกว่าไม่มีใช่ไหม

พระพุทธจึงสอนให้พวกเรามาสร้างแฟนใหม่กันขึ้นมา

 เรามีแฟนใหม่รอเราอยู่แล้วแต่เราไม่ไปหามันเอง

คือความสงบนี่แหละเป็นแฟนใหม่

เป็นแฟนที่ซื่อสัตย์กับเราจะอยู่กับเราไปตลอด

จะไม่เบี้ยวไม่ทิ้งเรา จะไม่หนีเราไปหาแฟนใหม่

 เขาจะอยู่กับเราไปตลอด

เพราะถ้าเรารู้จักวิธีทำใจให้สงบได้แล้ว

 เราก็สามารถทำได้ตลอดเวลา

ต้องการให้ใจสงบเมื่อไหร่ก็สงบได้

งั้นเรามาหาเเฟนใหม่กันดีกว่า

เพื่อเราจะได้ทิ้งแฟนเก่า ทิ้งลาภยศ สรรเสริญ

ทิ้งรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ไป

 เพราะว่าเเฟนเก่านี้บางทีมันทรยศเรา

 บางทีมันไม่มี เวลามันไม่มีเงินใช้ขึ้นมานี้ปวดหัวไหม

เวลาไม่มีรูปเสียง กลิ่นรสให้ดูให้ฟัง

นี้เป็นอย่างไร เหงาไหม

นั่นแหละหรือเวลาร่างกายไม่สามารถที่จะไปหาเงินได้

 ก็เดือดร้อนแล้ว เวลาร่างกายไม่สามารถไปเที่ยวได้

ก็เดือดร้อนแล้ว นี่เราพึ่งความสุขแบบไม่แน่นอน

 ความสุขที่ต้องหมดไปสักวันหนึ่ง

เวลาร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ

 ร่างกายจะตายนี้หาความสุขไม่ได้แล้ว

งั้นเรามาหาความสุขทางใจกันดีกว่า

เพราะว่าเราจะมีความสุขตลอดเวลา

แม้แต่เวลาร่างกายแก่ เจ็บ ตายก็ยังหาความสุขนี้ได้อยู่

 เพราะความสุขแบบนี้ไม่ต้องใช้ร่างกาย ใช้สติ

 ใช้พุทโธๆไป ใช้การนั่งสมาธิ ใช้ปัญญาสอนใจ

ว่าอย่าไปหลงกับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 เป็นยาเสพติด เลิกเสพดีกว่า

ดูคนที่เขาไม่เสพยาเสพติดซิ เขาสบายกว่าคนที่เสพไหม

 พระนี้เป็นเหมือนคนที่ไม่เสพรูปเสียงกลิ่นรส

 พระเขาถึงไม่ต้องมีเงินใช้ ไม่ต้องไปเที่ยว

ตามผับตามบาร์อยู่แต่ในป่าเขา สบาย

ไม่เดือดร้อนไม่วุ่นวาย

เวลาร่างกายจะเป็นอะไรก็ไม่เดือดร้อน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙







ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 มิถุนายน 2559
Last Update : 7 มิถุนายน 2559 10:21:03 น.
Counter : 711 Pageviews.

2 comment
### เครื่องมือที่จะซักฟอกจิตใจ ###













“เครื่องมือที่จะซักฟอกจิตใจ”

ทาน ศีล ภาวนานี้เป็นเครื่องมือที่จะซักฟอกจิตใจ

ให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือที่จะทำให้จิตนี้ หลุดพ้น

จากอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง

ของความอยากต่างๆ คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส

ความอยากมีอยากเป็นและความอยากไม่อยากไม่เป็น

ถ้าไม่เจริญทาน ศีล ภาวนา จิตจะไม่สามารถหลุดพ้น

 จากอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆได้เลย

 จิตจะไม่สามารถเข้าสู่ความว่าง เข้าสู่ความไม่มีอะไร

 เข้าสู่ความสุขที่ถาวรตลอดเวลา

 ต้องอาศัยทาน ศีล ภาวนา เป็นเครื่องมือ

ส่งให้จิตได้หลุดออกจากอำนาจ ของกิเลสตัณหาต่างๆ

เหมือนกับยานอวกาศที่จะส่งออกไปสู่โลกนี้

จะต้องมีจรวดที่มีพลังมาก จรวดที่สามารถขับเคลื่อน

ส่งญาณอวกาศให้ขึ้นสู่อวกาศให้อยู่พ้นรัศมี

ของการดึงดูดของโลก ถ้าจรวดไม่มีกำลังพอ

ที่จะส่งยานอวกาศให้พ้นรัศมีของการดึงดูดของโลก

 ยานอวกาศนั้นก็จะต้องตก กลับมาบนโลก ฉันใด

จิตที่จะว่างจิตที่จะมีบรมสุขนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยจรวด

ของทาน ศีล ภาวนา เราต้องสร้างจรวดนี้คือทาน ศีล ภาวนา

เพื่อที่จะได้ส่งจิตให้หลุดออกจากการดึงดูด

ของความโลภ ความโกรธ ความหลง

ของกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 เพราะถ้าทาน ศีล ภาวนามีกำลังไม่มากพอ

ก็จะไม่สามารถส่งให้จิตนี้หลุดออกจากรัศมี

ของความโลภ ความโกรธ ความหลง

ของความอยากต่างๆได้

ก็ยังจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

โลกที่จิตติดอยู่นี้ก็คือโลกของการเวียนว่ายตายเกิด

โลกของไตรภพ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

กามภพก็คือที่อยู่ของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน

ของเทวดาของเปรต ของอสูรกาย ของสัตว์นรก

 เพราะว่าจิตพวกนี้ยังเสพกามกันอยู่ถึงเรียกว่ากามภพ

 เทวดาก็เสพรูปเสียงกลิ่นรส

แต่เป็นรูปเสียงกลิ่นรส ที่ละเอียดที่เราเรียกว่ารูปทิพย์

 เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ พวกเปรตพวกอะไรก็เสพ

แต่ไม่มีอำนาจไม่มีบุญที่จะได้เสพ

เพราะไปทำบาปเลยต้องไปเสพไฟนรกแทน

ไปเสพความหิวความโหยแทน ไปเสพความทุกข์แทน

 เพราะไปทำบาปไว้ ถึงแม้อยากจะเสพก็ไม่มีให้เสพ

เหมือนขอทาน

ขอทานก็อยากจะมีความสุขเหมือนเศรษฐี

 เพียงแต่ว่าไม่มีเงินที่จะไปซื้อสิ่งต่างๆมาเสพ

 แทนที่จะมีความสุขจากการได้เสพแบบเศรษฐี

ก็ได้เสพแบบขอทาน

แต่ก็ยังมีความอยากเสพเหมือนกัน

 ไม่ว่าขอทานหรือเศรษฐีก็ยังมีความอยาก

ที่จะเสพกามเหมือนกัน จิตที่ยังอยากในการเสพกามนี้

ก็จะติดอยู่ในกามภพ กามภพนี้ก็แบ่งไว้ ๒ ระดับ

 ระดับที่มีความสุขมากกว่า ความทุกข์

และระดับที่มีความทุกข์มากกว่าความสุข

ระดับที่มีความสุขมากกว่าความทุกข์ก็เรียกว่า สุคติ

หรือสวรรค์ชั้นต่างๆ

หรือภพของมนุษย์นี้ถือว่าอยู่ในสุคติ

 ส่วนทุคติหรืออบายนี้ก็เป็นภพที่มีความทุกข์

 มากกว่ามีความสุข อันนั้นก็เป็นภพของเดรัจฉาน

ของเปรตของอสูรกาย ของสัตว์นรก

ที่ติดอยู่ก็เพราะอำนาจของความอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรส

 ความอยากในกามนั่นเอง

ผู้ที่เกิดในกามภพก็คือ

พวกที่ยังไม่ได้ชำระกามารมณ์

กามตัณหาให้หมดไปจากใจ

พวกที่สามารถชำระกามารมณ์ ให้หมดไป

หรือกำจัดหรือกดเอาไว้ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิด

 เช่นพวกที่ได้ไปเกิดรูปภพกับอรูปภพ

พวกที่ไปเกิดรูปภพก็คือพวกที่ได้รูปฌาน

พวกที่ปฏิบัตินั่งสมาธิอยู่แล้ว

สามารถทำจิตให้สงบด้วยรูปฌาน อยู่ในฌาน ๔ ขั้น

ด้วย รูปฌานขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔

ถ้าได้บรรลุถึงฌานต่างๆ เหล่านี้ เวลาตายไป

ก็ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภพ

เพราะว่าไม่มีความยินดีที่จะเสพกาม

ไม่มีความยินดีที่จะเสพ รูปเสียงกลิ่นรส

 มีความยินดีที่จะเสพรูปฌาน ขั้นต่างๆ

ก็จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหมในรูปพรหม

แล้วถ้าผู้ที่บรรลุถึงอรูปฌาน สามารถเข้าสู่อรูปฌานได้

 จิตก็จะไปอยู่ในอรูปภพ ที่เราเรียกว่า ไตรภพนี้

ก็คือ ๓ ภพนี้ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

 ๓ ภพนี้แปลว่า ไตร ไตรภพ

ที่ท่านพูดว่า ไตรโลกธาตุ

 ก็หมายถึงภพทั้ง ๓ นี้ แต่ภพทั้ง ๓ นี้

ก็เป็นภพที่ไม่เที่ยงไม่ถาวร

 เมื่อได้แล้วก็จะต้องเสื่อมลงมา

ไม่ว่าจะเป็นภพที่สูงหรือต่ำก็ตาม

เมื่อได้อรูปภพแล้วต่อไปก็เสื่อมลงมาเป็นรูปภพ

 จากรูปภพก็เสื่อมลงมากามภพ

 มาเป็นเทวดา มาเป็นมนุษย์

 พวกที่ไปตกนรกพวกที่ไปเป็นเดรัจฉานเมื่อหมดบาปแล้ว

ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

 แต่ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นๆ ลงๆ อยู่

 ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้ทำไว้ในขณะที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

 พอมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าทำบุญไปเรื่อยๆ

ก็จะได้ไปเกิดในขั้นของเทวดา

 ถ้านั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ ก็ไปสู่ขั้นรูปภพกับอรูปภพ

 แต่ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะยังมีตัณหา

 ความอยากที่จะเสพความสุขเหล่านี้อยู่

ยังอยากจะเสพความสุขทางกามารมณ์อยู่

ยังมีความอยาก ที่จะเสพความสงบอยู่

ก็ยังจะติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่จะหลุดออกจากการเวียนว่ายตายเกิดได้นี้

จะต้องไม่มีความอยากที่จะเสพอะไรทั้งนั้น

 ไม่มีกามตัณหา ไม่มีภวตัณหา ไม่มีวิภวตัณหา

ถึงจะสามารถที่จะหลุดออกจากไตรโลกธาตุนี้ได้

หลุดออกจากไตรภพ หลุดออกจากวัฏฏสงสาร

 วัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ต้องใช้ธรรมขั้นวิปัสสนา

 ธรรมขั้นสมถะนี้ ยังทำให้ติดอยู่กับ

การเวียนว่ายตายเกิดในภพอยู่แต่จะไปเกิดในภพที่สูง

คือรูปภพและอรูปภพ ผู้ที่ได้สมถภาวนา

แต่ยังต้องกลับมาเกิดกลับมาเป็นมนุษย์

แล้วกลับมาปฏิบัติธรรมใหม่ก็จะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ไป

 ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่อยากจะกลับมาเกิดอีกต่อไป

ก็ต้องเจริญวิปัสสนา พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่ใจไปติดไปยินดี ว่าเป็นไตรลักษณ์

ถ้ายินดีกับรูปฌานก็ให้พิจารณาว่า

เป็นไตรลักษณ์เป็นทุกข์

ถ้ายังยินดีกับอรูปฌาน ก็ต้องพิจารณาว่า

มันเป็นไตรลักษณ์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

มันยังทำให้เกิดอยู่ ถ้ายังมีความโลภอยู่

 ยังจะต้องกลับมาเกิด

ถ้าไม่อยากจะกลับมาเกิดก็ต้องตัดความโลภ

 ความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจ

จะตัดความโลภ ความอยากหมดไปได้ก็ต้องเห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจอยากได้นั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 พอเรายินดีอะไรปั๊บให้รู้ทันทีว่าเรากำลังสร้างภพสร้างชาติ

 เพราะว่าสิ่งที่เรายินดีนี้

จะทำให้เราต้องกลับมาหามันอยู่เรื่อยๆ

 พอเราตายจากชาตินี้ไป

พอเราไปใช้บุญไปใช้บาปหมดแล้ว

เราก็จะกลับมาหามันใหม่

ถ้าชอบสูบบุหรี่ก็จะกลับมาสูบบุหรี่

ถ้าชอบดื่มเหล้าก็จะกลับมาดื่มเหล้า

ถ้าชอบเล่นการพนันก็จะกลับมา เล่นการพนัน

ถ้าชอบหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็จะกลับมาหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ถ้าชอบนั่งสมาธิทำใจให้สงบ

ก็จะกลับมานั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 ถ้าอยากจะไม่กลับมาเกิดก็ต้องพิจารณา ด้วยปัญญา

ว่าอย่าไปชอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่าไปชอบอย่าไปอยาก

อย่าไปมีความรู้สึกยินดียินร้ายกับเขา ต้องปล่อยวาง

ต้องตัดไปให้หมด ต้องละให้ได้ให้หมด

ถ้าละให้ได้หมดแล้วจิตก็จะว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง

 ว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลง

ว่างจากตัณหาความอยากต่างๆว่างจากรูปเสียงกลิ่นรส

ว่างจากลาภยศ สรรเสริญ

ว่างจากรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ว่างจากธรรมารมณ์ต่างๆ ใจก็จะเป็นปรมัง สุญญังขึ้นมา

เป็นปรมัง สุขังขึ้นมา มีความสุขตลอดเวลา

ความสุขที่แท้จริงคือความสุขที่ได้จากความว่างนี่เอง

เพราะว่าความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ นี้

มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนมันเป็นของชั่วคราว

 เวลาสูญเสียไปความสุขที่ได้มากจากสิ่งนั้น ก็จะหายไป

 แล้วสิ่งที่มาแทนที่ก็คือ ความทุกข์

เช่นถ้ามีความสุขกับภรรยาหรือสามี หรือกับลูก

 เวลาภรรยาหรือสามีหรือลูกจากเราไป

ความสุขนั้นก็จะหายไป ความทุกข์ก็จะเข้ามาแทนที่

 อันนี้เพราะว่ามันเป็นความสุขปลอม เป็นความสุขชั่วคราว

 แล้วก็ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งข้างหน้านี้เราจะต้องสูญเสีย

 สูญเสียสามี สูญเสียภรรยา สูญเสียบุตร สูญเสียธิดาไป

เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ

มีเกิดแล้วก็ต้องมีตาย อันนี้จึงทำให้จิตนี้ยังต้องทุกข์

กับสิ่งต่างๆ อยู่ เพราะไม่มีปัญญา

เพราะมองไม่เห็นไตรลักษณ์

เพราะมองว่าสิ่งต่างๆ นี้ไม่เที่ยง

สิ่งที่เราคิดว่า ให้ความสุขกับเรานี้เราไม่รู้ว่า

เขาจะให้ความสุขกับเราไปตลอด

ต้องมีวันใดวันหนึ่งที่เขาจะต้อง จากเราไป

หรือเราต้องจากเขาไป พอเราต้องมีการจากกัน

ความสุขที่ได้จากกันและกันก็จะหายไป

สิ่งที่จะมาแทนที่ก็คือความทุกข์

ผู้ที่ต้องการที่ทำให้จิตให้ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง

จึงต้องพิจารณา ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปติดไปยินดียินร้าย

ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ให้ยินดียินร้าย

ไม่ให้เสพสิ่งต่างๆ ให้เสพความว่าง ให้เสพความสงบ

เวลาจิตสงบนี้จิตก็จะว่าง

ความสงบนี้ก็มี ๒ ระดับด้วยกัน ความว่างก็มี ๒ ระดับ

ในช่วงที่เราปฏิบัติ คือความสงบหรือความว่างชั่วคราว

 เช่นในขณะที่เราเข้าสมาธิทำใจให้สงบ

ใจก็จะว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรส

ว่างจากลาภยศ สรรเสริญ ว่างจากความโลภ

ความโกรธ ความหลง ว่างจากความอยากต่างๆ

ว่างจากโมหะอวิชชา แต่เป็นความว่างชั่วคราว

 ว่างในขณะที่อยู่ในสมาธิ

 พอออกจากสมาธิมาความว่างนั้นก็จะหายไป

เพราะกิเลสตัณหาก็จะฟื้นขึ้นมา

ความยินดีในลาภยศ สรรเสริญ

ความอยากจะเสพรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะหวนกลับคืนขึ้นมา

 ถ้าต้องการที่จะกำจัดหลังจากที่ออกจากสมาธิแล้ว

เพื่อทำให้เป็นความว่างที่ถาวร ก็ต้องใช้ปัญญา

 ถ้ามีปัญญาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

 เช่นลาภยศ สรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสนี้

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใจก็จะหยุดความอยาก

 หยุดความโลภได้ ทำลายความอยาก ทำลายความโลภได้

พอทำลายความอยาก ทำลายความโลภได้ใจก็จะว่าง

 ว่างจากความโลภ ความอยาก

ว่างจากสิ่งที่ไปโลภไปอยาก

 คือลาภยศ สรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส

ธรรมารมณ์หรือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ต้องทำลายด้วยปัญญา

ปัญญาก็คือต้องเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์

 ต้องเห็นว่าเป็นอสุภะถ้าไปหลงกับรูปที่สวยที่งาม

ไปเกิดความยินดี

เกิดความใคร่กับรูปร่าง หน้าตาที่สวยที่งาม

ก็ต้องดูตอนที่รูปร่างหน้าตานี้มันเปลี่ยนไป

เพราะรูปร่างหน้าตาของคนทุกคนนี้มันไม่สวย

ไม่น่าดูไปตลอด มันจะต้องมีเวลาที่มันแก่ลงไป

หนังเหี่ยวลง ผมหงอก

 หลังค่อมแล้วเวลาที่มันตายขึ้นอืด

 หรือเวลาที่มันเปื่อยผุพังไป ต้องดูอสุภะ

ถึงจะทำให้คลายกามารมณ์ความอยาก

ที่จะเสพร่างกายของผู้อื่น

นี่คือเรื่องของปัญญาที่จะทำให้ความว่างนี้

เป็นความว่างที่ถาวร ความว่างที่ได้จากสมาธินี้

เป็นความว่างชั่วคราว เหมือนกับที่เราเอาหินทับหญ้าไว้

เวลาหินทับหญ้า หญ้ามันก็จะไม่งอกงามขึ้นมา

แต่มันไม่ตาย พอยกหินออกไป สักพักหนึ่ง

หญ้ามันก็จะงอกคืนขึ้นมาใหม่

ถ้าต้องการให้หญ้านี้ไม่โผล่ขึ้นมาอีกเลย

ก็ต้องถอนรากมัน ถอนรากของหญ้าออกมา

ถ้าถอนรากของหญ้าขึ้นมาแล้ว

ต้นหญ้านั้นก็จะตายอย่างถาวร

กิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆก็มีราก

รากของกิเลสตัณหาก็คือความหลง โมหะอวิชชา

ที่ไม่เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไปโลภ

ไปอยากได้นี้มันเป็นทุกข์

 ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง

ทุกข์เพราะว่าเราจะไม่สามารถ

ที่จะควบคุมบังคับให้อยู่กับเรา

 เป็นของเราไปได้ตลอด

ต้องใช้ไตรลักษณ์ต้องใช้อสุภะ

 ถึงจะสามารถหยุดตัณหา ทั้ง ๓ ได้

คือกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

 ถึงจะสามารถทำใจให้ว่างได้ตลอดเวลา

ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดอนันตกาล

เช่นใจของพระพุทธเจ้า

และใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ใจของท่านว่างอยู่ตลอดเวลา

เพราะท่านได้กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ กำจัดโมหะอวิชชาให้หมดไปจากจิต

จากใจแล้วจึงไม่มีอะไรที่ทำให้จิตไปไขว่คว้า

หาสิ่งต่างๆเข้ามาให้ความทุกข์กับจิตอีกต่อไป

จิตปล่อยวาง ทุกสิ่งทุกอย่าง

ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามสภาพของเขา

 เขาจะดีเขาจะชั่วก็เป็นเรื่องของเขา

เขาจะเกิดเขาจะดับก็เป็นเรื่องของเขา

ไม่ใช่เรื่องของจิตที่จะไปวุ่นวายด้วย

 วุ่นวายทำไมได้ประโยชน์อะไร จากความวุ่นวาย

 นอกจากความทุกข์ ความเสียอกเสียใจ

นี่คือปัญญาของผู้ที่ปฏิบัติธรรม

 ปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบ

แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา

พวกเรานี้เป็นหนี้บุญคุณของพระพุทธเจ้าอย่างใหญ่หลวง

 บุญคุณของพระพุทธเจ้านี้ใหญ่หลวงกว่า

บุญคุณของพ่อของแม่ พ่อแม่นี้ให้เรามีร่างกายนี้

แต่พ่อแม่ไม่สามารถ

ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

แต่พระพุทธเจ้านี้สามารถทำให้เรา

หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 สามารถทำให้พวกเราไม่ต้องกลับมาเกิด

มาแก่มาเจ็บมาตายอยู่เรื่อยๆ

 อย่างที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

เป็นโชคเป็นวาสนาของพวกเราที่ได้มาเกิด

ได้มาเจอกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนแล้ว

พวกเราจะไม่มีวันที่จะรู้ว่า วิธีการที่จะทำให้เรานี้

หลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนี้

 จะทำได้อย่างไร แต่ตอนนี้พวกเราโชคดี

 เราได้มาเจอคำสอน เจอวิธีที่จะทำให้เราได้หลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลาย

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ด้วยการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนานี่เอง

 ถ้าเราปรารถนานิพพานัง ปรมัง สุญญัง

 นิพพานัง ปรมัง สุขัง เราก็ต้องปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา

 ถ้าเราไม่ปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา

จิตของเราจะไม่มีวัน ที่จะเป็นนิพพานัง ปรมัง สุขัง

 นิพพานัง ปรมัง สุญญังได้เลย

 เหมือนกับเสื้อผ้าที่สกปรก

 ที่เราต้องการให้มันสะอาดนี้

ถ้าเราไม่เอาไปซักฟอกด้วยน้ำด้วยผงซักฟอก

เสื้อผ้ามันจะไม่มีวันที่จะสะอาดได้

ปล่อยมันทิ้งไว้เฉยๆ มันก็มีแต่จะเหม็น

ใช้มันไปยิ่งใช้มันก็ยิ่งเหม็นไปใหญ่ ฉันใด

จิตใจของเราถ้าไม่มีการซักฟอก ด้วยทาน ศีล ภาวนา

 มีแต่การสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลง

 สะสมตัณหาความอยากมัน ก็จะยิ่งสกปรกไปเรื่อยๆ

แล้วมันก็จะส่งกลิ่นเหม็นให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของจิตนั้น

เพราะมันจะต้องไปรับผล ของความเหม็นของจิต

ก็คือไปเกิดในอบาย เพราะยิ่งมีความโลภ

ความอยากมากเท่าไหร่

โอกาสที่จะทำบาป ทำกรรมก็จะมีมากขึ้นไปเท่านั้น

ดังนั้นขอให้พวกเราพยายามเข้าหาพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า พยายามศึกษา

วิธีการเจริญทาน ศีล ภาวนา

ว่าเจริญอย่างไร บำเพ็ญอย่างไร

 แล้วขอให้พยายามปฏิบัติไป

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเถิด

 พยายามซักฟอกใจของเราอยู่เรื่อยๆ

 ด้วยทาน ศีล ภาวนานี้ แล้วสักวันหนึ่ง

เราก็จะได้พบกับคำว่านิพพานัง ปรมัง สุขัง

นิพพานัง ปรมัง สุญญังอย่างแน่นอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“คุณลักษณะของจิตในพระนิพพาน”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 มิถุนายน 2559
Last Update : 5 มิถุนายน 2559 11:25:13 น.
Counter : 643 Pageviews.

0 comment
### ปฎิบัติธรรมเพื่อซักฟอกจิตใจ ###










"ปฏิบัติธรรมเพื่อซักฟอกจิตใจ”

ที่พวกเรามาศึกษากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

มาปฏิบัติธรรมกันนี้ก็เพื่อที่จะ

มาซักฟอกจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์

 เพราะเมื่อจิตใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว

 จิตใจก็จะเป็นนิพพาน จะบรรลุถึงนิพพาน

 จิตใจจะเป็นจิต ที่สะอาดบริสุทธิ์

 เมื่อจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ก็จะไม่มีตัวที่จะดึงจิตใจ

ให้ไปเวียนว่ายตายเกิด

ตัวที่ดึงจิตใจให้ไป เวียนว่ายตายเกิดก็คือ

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา

นี่คือตัวที่จะฉุดลากให้จิตใจ ไปเกิดใหม่

 หลังจากที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว

แต่ถ้าจิตได้รับการชำระได้รับการ กำจัดโลภะ โทสะ โมหะ

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อวิชชา

จะให้หมดไปจากจิตจากใจแล้ว จิตใจก็ไม่ไปเกิด

เพราะไม่มีเชื้อพาไป เหมือนกับรถยนต์ที่น้ำมันหมดแล้ว

ก็จะไม่สามารถวิ่งไปไหนมาไหนได้อีกต่อไป

 ถ้าไม่อยากให้รถวิ่งนี้ก็ลอง ถ่ายน้ำมันออกให้หมด

 ถ่ายน้ำมันที่มีอยู่ในถังออกไปให้หมด

 ไม่ว่าใครจะมาขับก็จะไม่สามารถขับรถยนต์คันนี้

ให้ไปไหนมาไหนได้ เพราะไม่มีน้ำมัน ฉันใด

จิตใจถ้าไม่มีน้ำมันของภพชาติคือกิเลสตัณหา

 ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส

 ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 จิตใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์

จิตใจก็จะไม่ไปเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป

จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์เราเรียกว่า “นิพพาน”

จึงเป็นที่มาของคำว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง”

“นิพพานัง ปรมัง สุญญัง”

จิตที่สะอาดบริสุทธิ์ จะมีความสุขตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง

ไม่มีเวลาใดเลยที่จะมีความทุกข์

จิตที่มีความสุขตลอดเวลา เพราะว่าจิตไม่มีอะไรภายในใจ

ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ว่างจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากรูปเสียงกลิ่นรสคือไม่มีอุปาทาน

ไม่มีตัณหาความอยากที่จะไปเสพลาภยศ สรรเสริญ

ไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไปเสพรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ไปเสพธรรมารมณ์ต่างๆ

นี่คือความว่างของจิตว่างจากสิ่งเหล่านี้

เวลาถ้าได้สัมผัสรับรู้เพราะว่ายังมีร่างกาย ยังมีขันธ์อยู่

 ยังมีรูปเวทนา สัญญาสังขารอยู่

ก็จะเป็นการสัมผัสเฉยๆ รับรู้เฉยๆ

เหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว น้ำกับใบบัวนี้จะสัมผัสกัน

 น้ำมันจะกลิ้งไปกลิ้งมาบนใบบัว

 มันจะไม่ถูกใบบัวนี้ดูดซึมเข้าไป

 เพราะใบบัวนี้ไม่มีตัวที่จะฉุดที่จะดูดนั่นเอง

จิตใจของจิตที่ได้ถึงพระนิพพานแล้วก็เป็นอย่างนั้น

 ไม่มีตัวดูดสิ่งต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในใจ

ตัวดูดก็คือกิเลส ตัณหานี่เอง

ความโลภ ความอยากได้อะไรต่างๆ

อันนี้จะเป็นตัวที่จะทำให้จิตไม่ว่างจากลาภยศ สรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ตื่นขึ้นมานี้ก็จะดูด ตื่นขึ้นมาก็จะคิดถึงลาภยศ สรรเสริญ

 วันนี้จะไปหาเงินที่ไหน วันนี้จะไปเอาตำแหน่งที่ไหน

 วันนี้จะไปรับการสรรเสริญเยินยอจากที่ไหน

วันนี้จะเสพรูปเสียงกลิ่นรส แบบไหนจากที่ไหนดี

วันนี้จะเสพรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 วันนี้จะเสพธรรมารมณ์ต่างๆ

จิตมันจะไขว่คว้าหาสิ่งต่างๆเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

ด้วยอำนาจของโมหะ อวิชชาที่จะทำให้เกิดความโลภ

 ความอยากได้ต่างๆปรากฏขึ้นมา

ตัวนี้แหละที่เป็นตัวที่ทำให้จิตไม่ว่าง

ตื่นขึ้นมานี้จิตก็จะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ คิดหาโน่นหานี่

เพราะจิตไม่มีความสุขภายในตัวเอง

 จิตไม่มีความอิ่มในตัวเองก็เลยต้องไปหาความสุข

 จากสิ่งต่างๆ เช่นลาภยศ สรรเสริญ

เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

นี่คือเรื่องของจิตที่มีอยู่ ๒ ประเภท

จิตของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์นี้เป็นจิตประเภทหนึ่ง

 จิตของผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุถึงพระนิพพาน ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง

 ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นอื่น

ก็ยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่ พระโสดาบันก็ยังมีกิเลสตัณหาอยู่

พระสกิทาคามี พระอนาคามีก็ยังมีกิเลสตัณหาอยู่

 แต่มีปริมาณนี้จำนวนน้อยตามลำดับของธรรมที่ได้ปฏิบัติ

 เช่นพระโสดาบันนี้จะมีกิเลสน้อยกว่าปุถุชนธรรมดา

แล้วก็พระสกิทาคามีก็จะมีกิเลสน้อยกว่าพระโสดาบัน

พระอนาคาก็จะมีกิเลสน้อยกว่าพระสกิทาคามี

และพระอรหันต์ก็จะไม่มีกิเลสเลย อันนี้เป็นขั้นสูงสุด

การปฏิบัตินี้ก็ต้องปฏิบัติให้ไปถึงขั้นสูงสุด

 เหมือนกับการซักเสื้อผ้าเราก็ต้องซักให้มันสะอาดบริสุทธิ์

การที่ได้เข้าสู่ขั้นของพระอริยเจ้าแล้วนี้

มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

คือการชำระกิเลสตัณหานี้

มันจะทำไปต่อ อย่างต่อเนื่องจะไม่หยุดไม่หย่อน

 ตราบใดที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจอยู่

ถ้าได้เป็นถึงพระอริยะ

คือตั้งแต่ ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว

จิตนี้จะมีแต่การชำระไปเรื่อยๆ

ท่านถึงได้พยากรณ์หรือกำหนดไว้ว่า

 ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วนี้

จะบรรลุถึงพระนิพพานภายใน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

 เพราะว่าการชำระของแต่ละคนนี้

มีความสามารถแตกต่างกัน

 บางคนมีความรู้ความสามารถมีสติมีปัญญามาก

 มีกิเลสน้อย การที่จะชำระให้เสร็จได้อย่างง่ายดาย

และรวดเร็วก็จะมีมากกว่าคนที่มีสติปัญญาทึบมีกิเลสหนา

 แต่ไม่ว่าจะมีปัญญาฉลาดหรือไม่ฉลาด

มีกิเลสหนาหรือไม่หนา

 ถ้าลองได้เข้าสู่ขั้นพระโสดาบันแล้วนี้

 จะได้บรรลุถึงพระนิพพานกันอย่างแน่นอนทุกๆคน

เพียงแต่ว่าจะช้าหรือจะเร็วเท่านั้น

 บางคนก็สามารถทำให้บรรลุได้ภายในชาติเดียว

 เช่นพอได้บรรลุพระโสดาบันก็ปฏิบัติต่อไป

พอปฏิบัติต่อไปก็ได้ขึ้นไปสู่ขั้นสกิทาคามี

พอปฏิบัติต่อไปอีกก็จะถึงขั้นพระอนาคามี

แล้วพอปฏิบัติต่อไปอีก ก็จะถึงขั้นพระอรหันต์ตามลำดับ

 อยู่ที่การปฏิบัติเป็นหลัก อยู่ที่ความเพียรเป็นหลัก

 บางคนได้ขั้นโสดาบันแล้ว ก็พอใจก็ไม่ขวนขวาย

ก็ติดอยู่กับขั้นโสดาบันไปก่อน จนกว่าจะมีตัวมากระตุ้น

ก็คือความทุกข์ใจ เช่นความสูญเสีย บุคคลที่ตนรักไป

ก็จะทำให้กระตุ้นหาวิธีที่จะไม่ให้ไปติดกับคนที่รัก

ก็จะต้องมีการเจริญธรรมที่เรียกว่าอสุภะ

 เวลาเห็นคนที่รักที่ชอบก็ต้องดูความไม่สวยไม่งาม

ของร่างกายของเขา พอเห็นว่าร่างกายของเขานี้

ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารัก ก็จะถอนความรักในบุคคลนั้นได้

ก็จะไม่ติดอยู่กับการเสพกาม

ก็จะเลื่อนขึ้นจากขั้นโสดาบันขึ้นไป สู่ขั้นอนาคามี

พอไปถึงขั้นอนาคามีก็ไปติดอยู่กับความสุขทางธรรมารมณ์

 อารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา

ว่าธรรมารมณ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ถาวร

มีเจริญแล้วก็มีเสื่อมไป เหมือนกับร่างกาย

พอพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นอนิจจัง เห็นว่าเป็นทุกข์

 ถ้าไปยึดไปชอบไปอยากเสพอยากสัมผัส ก็จะปล่อยวาง

พอปล่อยวางธรรมารมณ์ต่างๆได้ จิตก็จะหลุดพ้น

จากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ขั้นโสดาบันนี้ ท่านก็ไม่ยึดไม่ติดกับลาภยศ สรรเสริญ

กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ท่านก็ยังไม่ยึดติดกับร่างกาย รูป เวทนา สัญญา

 สัญญา สังขาร วิญญาณ

แต่ท่านยังหลงยังยึดติดอยู่กับกามารมณ์ กามราคะ

 ยังมีความใคร่ความยินดี กับการเสพกามารมณ์อยู่

แล้วพอได้พิจารณาอสุภะก็จะทำให้

ความอยากจะเสพกามารมณ์นั้นหมดไป

ก็เลยไปเสพธรรมารมณ์แทน

พอไม่มีกามารมณ์ก็เลยไปเสพธรรมารมณ์

ธรรมารมณ์ก็คือความสงบต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ

 ความสุขที่เกิดจากความสงบ

ในระดับของฌานต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ

ก็ต้องพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง

 มันไม่ใช่สิ่งที่เราไปควบคุมบังคับได้

เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นทุกข์

เพราะว่าไปอยากให้มันเที่ยง ไปอยากให้มันอยู่ไปตลอด

 พอพิจารณาเห็นด้วยปัญญาก็จะปล่อยวางได้

ปล่อยวางไม่เสพธรรมารมณ์ต่างๆ

ไม่เสพธรรมารมณ์จิตก็หลุดพ้น

จิตก็สะอาดบริสุทธิ์เต็มร้อย เป็นพระนิพพานขึ้นมา

นี่คือเรื่องของจิตที่นิพพาน ไม่ได้สูญหายไปไหน

จิตของพระพุทธเจ้าที่พวกเรากราบไหว้บูชาที่เรารำลึกถึง

ในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมานี้ จิตของพระพุทธเจ้าก็ยังอยู่

 เพียงแต่ว่าท่านไม่มีร่างกายที่จะมาติดต่อ

กับพวกเราเท่านั้นเอง เพราะท่านเห็นว่าการมีร่างกายนี้

เป็นการสร้างความทุกข์ เป็นกองทุกข์ไม่ใช่เป็นกองสุข

การไม่มีอะไรต่างหากที่เรียกว่าเป็นความสุข

ใจต้องไม่มีอะไรกับอะไร ไม่มีอะไรกับลาภยศ สรรเสริญ

 ไม่มีอะไรกับรูปเสียงกลิ่นรส ไม่มีอะไรกับขันธ์ ๕

 คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ไม่มีอะไรกับธรรมารมณ์ อารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ

 ไม่ยึดไม่ติดไม่เสพไม่ยินดีไม่สนใจ

นี่คือจิตที่ได้หลุดพ้นแล้วพลุดพ้น

 จากอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง

หลุดพ้นจากอำนาจของกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

 หลุดพ้นด้วยอะไร ก็หลุดพ้นด้วยทาน ศีล ภาวนานี่เอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“คุณลักษณะของจิตในพระนิพพาน”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 04 มิถุนายน 2559
Last Update : 4 มิถุนายน 2559 12:28:43 น.
Counter : 793 Pageviews.

2 comment
### คุณลักษณะของจิตในพระนิพพาน ###











“คุณลักษณะของจิตในพระนิพพาน”

จิตที่ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว

มีคุณสมบัติอยู่ ๒ ประการด้วยกันคือ

 ๑. นิพพานัง ปรมัง สุขัง ๒. นิพพานัง ปรมัง สุญญัง

 คือมีความสุขอย่างมาก มีความสุขเต็มร้อย

มีความสุขตลอดเวลา

ไม่มีเวลาใดในจิตที่จะมี ความทุกข์เลย

จะมีแต่ความสุขตลอดเวลาเรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 ๒. จิตนี้จะว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีอยู่ในโลกนี้

 ว่างจากลาภยศ สรรเสริญ ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ว่างจากขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญา สังขารวิญญาณ

ว่างจากธรรมารมณ์ทั้งหลาย

 จิตนี้จะไม่มีวันที่จะไปเกี่ยวข้องหรือไปเสพสิ่งต่างๆ

ที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ยังมีการสัมผัสอยู่

เช่นร่างกายนี้ยังไม่ตาย

ก็ยังมีการสัมผัสลาภยศ สรรเสริญ

สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะอยู่

 ยังสัมผัสกับรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ยังสัมผัสกับธรรมารมณ์ต่างๆอยู่

เพียงแต่ว่าการสัมผัสนี้จะเป็นเหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว

 คือใบบัวนี้ จะไม่ดูดซึมน้ำที่หยดไว้บนใบบัว

 ต่างฝ่ายต่างจะอยู่แยกกัน หยดน้ำก็ยังเป็นหยดน้ำอยู่

ใบบัวก็ยังเป็นใบบัวอยู่ ไม่เปียกเพราะหยดน้ำ

ไม่เหมือนกับจิตของปุถุชน

จิตของผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

จะเป็นเหมือนกระดาษซับกระดาษซึม

 เวลาหยดน้ำลงไปในกระดาษซับ กระดาษซึม

 กระดาษมันจะซับซึมเอาน้ำเข้าไปหมด ฉันใด

จิตของผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

ก็ยังจะเสพลาภยศ สรรเสริญ

 เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เสพรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

เสพธรรมารมณ์ต่างๆอยู่ เสพด้วยอะไร

เสพด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เสพด้วยโมหะอวิชชา เสพด้วยตัณหาความอยากต่างๆ

เสพด้วยกามตัณหา เสพด้วยภวตัณหา

 และเสพด้วยวิภวตัณหา

 แต่สำหรับจิตที่ได้ถึงพระนิพพานแล้วนี้

จะปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ปราศจากโมหะอวิชชา ปราศจากตัณหากามตัณหา

 ภวตัณหา และวิภวตัณหา

ตัวที่ทำให้น้ำกับกระดาษมันดูดกันก็คือ

ตัวโลภ โกรธ หลง ตัวกิเลสตัณหา ตัวโมหะอวิชชานี้

 แต่ถ้าจิตได้รับการชำระได้รับการกำจัดความโลภ

ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ

โมหะอวิชชาให้หมดไป จากใจแล้ว

ใจก็จะว่างใจจะไม่เสพถึงแม้จะสัมผัสรับรู้

แต่จะไม่มีอารมณ์กับสิ่งที่ได้มารับรู้ได้สัมผัส

จะเป็นแต่สักแต่ว่า “สักแต่ว่า”

สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้ดม

ได้ลิ้มรสได้สัมผัส แต่จะไม่มีความยินดี ยินร้าย

กับสิ่งต่างๆได้ที่เสพได้สัมผัส

 เวลาที่ไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัสจิตก็จะว่างจะเฉยๆ

 จะไม่ได้คิดถึงลาภยศ สรรเสริญ

จะไม่ได้คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 จะไม่ได้คิดถึงอะไรทั้งหลายทั้งปวง จิตจะอยู่กับความว่าง

 เพราะว่าความว่างนี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

ที่เป็นบรมสุขนี้ก็คือความว่างนี่เอง ท่านจึงทรงแสดงไว้ว่า

 “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” “นิพพานัง ปรมัง สุขัง”

จิตที่ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง

นี่คือคุณสมบัติของพระนิพพาน

 แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัตินี้

จะเเปลความหมายของนิพพานัง ปรมัง สุญญังผิดไปได้

เช่นบางคนก็แปลไปว่า พระนิพพานก็คือความสูญ

 สูญทุกสิ่งทุกอย่างจิตก็สูญ

 จิตมันจะไม่สูญ จิตมันไม่มีวันสูญ

ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตมันสูญได้

จิตของพวกเรานี้ก็ไม่มีวันสูญ

 เพียงแต่ว่าจิตของพวกเรา

 ที่เป็นปุถุชนนี้ยังมีโลภ โกรธ หลง

 ยังมีตัณหาความอยากต่างๆอยู่

 มันจึงไปเสพลาภยศ สรรเสริญ

ไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไปเสพรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ไปเสพธรรมารมณ์ต่างๆ มันจึงต้องเวียนว่ายตายเกิด

 ต้องทุกข์กับการเกิดแก่เจ็บตาย

 แต่จิตของผู้ที่ได้ไปถึงพระนิพพานแล้ว

เป็นจิตที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ โมหะอวิชชา

จึงไม่เสพรูปเสียง กลิ่นรส ไม่เสพลาภยศ สรรเสริญ

 ไม่เสพรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ไม่เสพธรรมารมณ์ต่างๆ แต่ยังสัมผัสรับรู้อยู่

 รู้ก็สักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น

ไม่มีความยินดียินร้ายกับสิ่งที่ได้สัมผัสรับรู้

 เวลาได้เห็นก็ไม่ได้ดีใจ เวลาไม่ได้เห็นก็ไม่ได้เสียใจ

นี่คือคำว่า “ปรมัง สุญญัง” สูญจากการไปเสพ

 ใจไม่คิดถึงไม่ใฝ่หา ไม่สนใจไม่ใยดี

 กับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ใจหรือจิตนี้ไม่มีวันสูญ

จิตนี้มีอยู่ ๒ ประเภทคือจิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิด

กับจิตที่ไม่เวียนว่ายตายเกิดแล้ว

 แต่จิตทั้ง ๒ จิตนี้ไม่ได้สูญ

 จิตที่ได้ถึงพระนิพพานก็ยังมีอยู่

 เพียงแต่จิตนี้ไม่ไปเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว

จึงมีแต่ปรมัง สุขัง เพราะการเกิดแต่ละครั้งนี้

จะต้องไปสัมผัสกับความทุกข์ต่างๆ

 ทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ

และบุคคลต่างๆ นี่คือเรื่องของจิตที่เรียกว่า

 “ปรมัง สุญญัง” อย่าไปกลัวว่า

ถ้าเราปฏิบัติถึงพระนิพพานแล้วเราจะสูญไป

 เราไม่มีวันสูญ ผู้รู้นี้ไม่มีวันสูญ

สิ่งที่สูญก็คือความทุกข์ต่างๆ สิ่งที่สูญก็คือ

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 โมหะอวิชชา กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

 สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปจากใจหมด

 เมื่อมันสูญหายไปก็เลยทำให้ใจนี้มีแต่บรมสุข ปรมัง สุขัง

 ถ้าจิตนี้เปรียบเทียบเหมือนกับเสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่ไม่สะอาด เช่นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่แล้ว

เราก็ต้องเอาไปซัก เวลาที่ซักเสื้อผ้าที่ไม่สะอาด

เสื้อผ้าหลังจากที่ได้รับการซักฟอกเสื้อผ้าก็จะสะอาด

แต่เสื้อผ้าไม่ได้หายไปไหน เสื้อผ้าก็ยังมีอยู่

 แต่เป็นเสื้อผ้าที่สะอาด ฉันใด

ใจที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง มีความอยากต่างๆ อยู่

 ถ้าได้รับการกำจัดด้วยการปฏิบัติ

 ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

 ที่เป็นเครื่องซักฟอกจิตใจ

 ถ้าซักฟอกไปจนจิตใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว

จิตใจจะหายไปไหน

จิตก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่ได้รับการซักฟอก

เมื่อรับการซักฟอกแล้วเสื้อผ้าก็สะอาด

 เสื้อผ้าไม่ได้หายไปไหน

จิตใจที่ได้รับการซักฟอกก็ไม่ได้หายไปไหน

จิตใจสะอาดปราศจากคราบสกปรกต่างๆ

 คราบสกปรกจิตใจก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โมหะอวิชชา

นี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องมากำจัดกัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“คุณลักษณะของจิตในพระนิพพาน”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 มิถุนายน 2559
Last Update : 3 มิถุนายน 2559 10:54:25 น.
Counter : 919 Pageviews.

0 comment
### ปัญญาคือการเห็นโทษของการทำตามความอยาก ###















“ปัญญาก็คือการเห็นโทษ

ของการทำตามความอยาก”

ปัญญาก็คือการเห็นโทษ

ของการทำตามความอยาก

ว่าสิ่งที่ตัณหาความอยาก

 อยากได้นั้นมันจะนำไปสู่ความทุกข์

ตอนต้นจะให้เราได้รับความสุขก่อน

เราอยากจะได้อะไร พอเราได้มาเราก็ดีอกดีใจ

 พอเราได้มาแล้วเรา ก็จะต้องทุกข์กับการดูแลรักษามัน

 ต้องทุกข์กับความหวงทุกข์กับความห่วง

เราได้อะไรมาเราก็จะรักเราก็จะหวง

พอเราหวงเราก็จะทุกข์เราก็จะห่วงเราก็จะทุกข์

แล้วเวลาที่เขาจากเราไป

หรือต้องจากเขาไป เราก็จะทุกข์อีก

 นี่คือสัมมาทิฏฐิหรือปัญญา ที่เราจะต้องเอามาใช้

ในการละความอยากต่างๆ ให้เห็นว่า

การเดินตามความอยากนี้ การทำตามความอยากนี้

นำไปสู่ความทุกข์ในบั้นปลาย

ในเบื้องต้นจะนำไปสู่ความสุข

อยากได้อะไรพอได้มา ก็ดีใจ มีความสุขใจ

 แต่ต่อมาก็ต้องดูแลรักษาสิ่งที่ได้มาแล้ว

เวลาที่จะต้องเสียไปจากไป

เวลานั้นก็จะกลาย เป็นความทุกข์ใจขึ้นมา

อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องใช้ปัญญา

ถ้าเราอยากจะกำจัดตัณหาให้หมดไปจากใจ

ถ้าเรากำจัดตัณหาได้แล้วมันจะไม่กลับมาอีก

ถ้าเราละความอยากไม่แก่

 อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้แล้ว มันจะไม่กลับมาอีก

 เราจะไม่กลัวความแก่ ไม่กลัวความเจ็บ

ไม่กลัวความตายไปตลอด ถึงเวลาแก่ก็จะเฉย

ถึงเวลาเจ็บก็จะเฉย ถึงเวลาตายก็จะเฉย

 ถึงวเลาจะต้องเสียอะไรก็จะเฉย

 ได้อะไรมาก็ไม่ห่วงไม่หวง

 เวลาจะเสียไปก็จะไม่เสียใจ

เพราะว่าไม่มีความอยากกับสิ่งต่างๆนั่นเอง

เพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง

ถ้ายังต้องมาเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ อยู่ก็รับรู้ไป

 ถ้าต้องมีนั่นมีนี่ก็รู้ว่าต้องมี

พอมันจะต้องไม่มีก็รู้ว่ามันไม่มี

 รับได้ทั้ง ๒ ส่วน มาก็ได้ไปก็ได้ เจริญก็ได้เสื่อมก็ได้

ถ้าไม่มีตัณหาความอยากแล้วจะไม่มีความทุกข์กับสิ่งต่างๆ

 จะไม่มีตัณหาได้ก็ต้องมีอุเบกขา แล้วก็มีปัญญา

คอยสอนใจเวลาเกิดตัณหาความอยาก

 อยากจะให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

อยากจะให้สิ่งนี้เป็นอย่างนี้

 ก็จะได้ใช้ปัญญามาระงับว่าอยากไม่ได้ อยากแล้วทุกข์

 อย่าไปอยาก เขาจะอยู่ก็อยู่ไป

 เขาจะไปก็ให้เขาไป เท่านั้นเอง

 แล้วเราจะไม่ทุกข์กับอะไรทั้งนั้น

แล้วก็อย่าอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น

อยากให้เขาเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนี้แหละ

เขาเป็นกล้วยเราอยากจะให้เขาเป็นส้มได้อย่างไร

คนเรามีนิสัยต่างกัน มีความชอบ ความชังต่างกัน

มีพฤติกรรมอะไรต่างกัน เราไปสั่งเขาไม่ได้หรอก

 ไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ ถ้าเขาชอบสูบบุหรี่ ชอบกินเหล้า

เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ เขาต้องเปลี่ยนเขาเอง

 เขาเปลี่ยนได้ ถ้าเขาอยากจะเปลี่ยน

ถ้าเขาเห็นโทษ ของการกระทำของเขา

 เขาก็เปลี่ยนแต่เราจะไปสั่งเขาไปขอเขานี้

ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนเขาได้

ถ้าเราไปอยากให้เขาเปลี่ยนเราก็จะทุกข์ใจไปเปล่าๆ

 ไม่เกิดประโยชน์อะไร

นี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้

ส่วนในเรื่องของกามอารมณ์ ถ้าเราไปรักใครชอบใคร

เห็นว่าเขาสวยเขางามเขารูปหล่อ

อยากจะร่วมหลับนอนกับเขาเรา ก็ต้องพิจารณา

เวลาที่เขาไม่สวยบ้าง เวลาเขาแก่เป็นอย่างไร

 เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างไร

 เวลาเขาตายไปเป็นอย่างไร

 เวลาที่เขาตื่นนอนขึ้นมายังไม่ได้หวีเผ้าหวีผม

ยังไม่ได้ล้างหน้าล้างตาว่าเป็นอย่างไร

 หรือเวลาที่ถ้าเรามีตาทิพย์ก็มองเข้าไปข้างใน

ดูภายใต้ผิวหนังบ้างก็ได้ ดูว่าภายใต้ผิวหนัง

ในร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ก็มีโครงกระดูก

 มีกระโหลกศรีษะ มีอวัยวะน้อยใหญ่มีหัวใจมีตับ

มีปอดมีไตมีลำไส้ มีสิ่งที่สกปรกอยู่ในร่างกาย

อุจจาระปัสสาวะ เหงื่อไคลอะไรต่างๆ มีอยู่ในร่างกายนี้หมด

 เพียงแต่เราไม่มองมันเท่านั้นเอง

เราไปมองส่วนที่มันสวยมันน่าดูเท่านั้นเอง

 จึงทำให้เราเกิดความรักเกิดความใคร่ขึ้นมา

พอเกิดความรักใคร่ขึ้นมา ก็อยู่คนเดียวไม่ได้

 อยู่แล้วเหงาว้าเหว่ต้องมีคู่ครอง

พอไปมีคู่ครองแล้วก็ต้องไปทุกข์ กับเขาแล้ว

 อยู่ด้วยกันเดี๋ยวก็ต้องขัดใจกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน

 มีความอยากไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอยากอยู่บ้าน

คนหนึ่งอยากออกนอกบ้าน เดี๋ยวก็อยู่ด้วยกันไม่ได้

ก็ต้องมาทะเลาะกันมาโกรธกันมาเกลียดกันในภายหลัง

 นี่ก็เป็นการพิจารณาเพื่อที่จะทำให้เรา

ไม่ต้องอยู่แบบมีคู่ครอง อยู่แบบคนเดียวสบายกว่า

 ถ้าเรามีอสุภะแล้วเราจะไม่เหงา เวลาเกิดความเหงาขึ้นมา

เราพิจารณาอสุภะแป๊บเดียวมันก็หายเหงา

พอความอยากที่จะไปร่วมหลับนอนกับใครนี้มันหายไป

 ความเหงามันก็จะหายไป

นี่คือเรื่องของปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พวกเราพิจารณากัน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป

เป็นองค์ประกอบของมรรคที่สำคัญ

ควบคู่กับสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มรรค ๒ องค์นี้

เป็นองค์ที่สำคัญที่สุด

ส่วนมรรคองค์อื่นนี้ก็เป็นองค์ที่จะคอยสนับสนุน

หรือคอยป้องกันไม่ให้จิตของเราไปสร้างความทุกข์

สร้างความวุ่นวายใจ เช่นสัมมากัมมันโต สัมมาวาจา

 ก็คืออย่าไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี

ไปพูดปดไปโกหกหลอกลวง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้

จะทำให้เรามีเรื่องมีปัญหาต่างๆตามมา

 ไปฆ่าผู้อื่น เดี๋ยวผู้อื่นเขาก็อาฆาตพยาบาท

เขาก็มาตามจ้องล้างจองผลาญเรา

ปทำร้ายเขา เขาก็จะมาทำร้ายเรา

ไปโกงเขา ไปลักทรัพย์เขา เขาก็จะต้องมาทวงเอาคืนไป

 ไปยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาของผู้อื่น

ก็จะทำให้สามีภรรยาของผู้นั้น เขาโกรธเกลียดขึ้นมา

ก็ต้องอย่าไปทำ เรียกว่า สัมมากัมมันโต

การกระทำที่ถูกก็คือต้องไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์

ไม่ประพฤติผิดประเวณี

สัมมาวาจาก็คือต้องพูดความจริงอย่าพูดโกหก

 อย่าพูดคำเท็จ เพราะว่าจะทำให้เรามีศัตรูหรือมีปัญหา

ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น ผู้ที่เขาเสียหาย

เขาก็ต้องมาตามจับเราไปขึ้นศาล ไปลงโทษ

หรือไปเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ

 ที่เราไปสร้างให้กับเขาคืนมา

แล้วก็ให้มีสัมมาอาชีโว มีอาชีพที่เหมาะสม

 คืออาชีพที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

อาชีพอะไรที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่นการขายสุรายาเมา

ถ้าเราขายสุราเดี๋ยวคนซื้อสุราไปดื่ม

เดี๋ยวพอเมาก็ไปทะเลาะวิวาทไปทำร้ายผู้อื่น

 ขับรถยนต์ก็จะไปเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ถึงแก่ความตาย

หรือพิกลพิการได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้กระทำเองก็ตาม

 แต่เราก็มีส่วนร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี

 ซึ่งมันอาจจะย้อนกลับมาหาเราก็ได้

เราขับรถไปดีไม่ดี ก็ไปเจอคนเมาขับวิ่งมาชนเรา

ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับเราก็ได้

ดังนั้นเราอย่าไปทำอาชีพที่มันจะส่งเสริม

การกระทำที่จะทำให้เกิดโทษเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

 เช่นการขายสุรายาเมา หรือขายศาสตราวุธต่างๆ

ขายปืน ขายมีดที่เขาจะเอาไปเพื่อใช้ในการฆ่าชีวิตของผู้อื่น

 อันนี้ก็ไม่ควรที่จะทำ แล้วส่วนสัมมาวายาโม คือความเพียร

ชอบให้เรามีความขยันหมั่นเพียร

ขยันหมั่นเพียรในการเจริญมรรคนี่เอง

ให้ขยันหมั่นเพียรในการฟังเทศน์ฟังธรรม

 เพราะว่าเราฟังเทศน์ ฟังธรรมแล้ว

เราก็จะได้มีสัมมาทิฏฐินี้เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 แล้วหลังจากที่พระพุทธเจ้า ทรงเอาสิ่งที่ได้ทรงตรัสรู้มาสอน

ถ้าเราได้ยินได้ฟังเราก็จะได้ปัญญา

ได้ความรู้ได้ความฉลาดขึ้นมา

 เช่นเวลาเราฟังเทศน์ฟังธรรม

เราจะได้ฟังเรื่องของอริยสัจ ๔ อยู่เรื่อยๆ

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วเราก็จะได้เอาไปใช้

ในการควบคุมความคิดของเรา

สอนให้เราคิดไปในทางที่ถูกที่ควร

ให้เราคิดว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ เราอย่าไปอยากได้อะไร

 อย่าไปอยากมีอะไร อย่าไปอยากเป็นอะไร

ให้เราคิดว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา

เราไม่สามารถไปควบคุมบังคับให้เขาไปเป็นไป

ตามความต้องการของเราได้เสมอ

 ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะละความอยากต่างๆได้

พอเราไม่มีความอยากต่างๆ ใจของเราก็จะสงบ

 จะเย็นจะสบาย เวลาแก่ก็สงบเย็นสบาย เ

วลาเจ็บไข้ได้ป่วยเวลาตายก็สงบเย็นสบาย

เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายมันก็ไม่เดือดร้อน

 ร่างกายมันก็เป็นเหมือนต้นไม้ดีๆ นี่เอง

เวลาเราไปฟันต้นไม้ ต้นไม้มันไม่ร้องห่มร้องไห้

มันไม่มีความรู้สึกในต้นไม้ ฉันใด

ร่างกายของเรานี้ก็ไม่มีความรู้สึก

 ร่างกายไม่มีความรับรู้ความรู้สึกของร่างกาย

 ผู้ที่ไปรับรู้ความรู้สึกของร่างกายก็คือใจที่ไม่เป็นร่างกาย

 เพียงแต่เป็นผู้รับรู้เท่านั้น แต่เนื่องจากมีความอยาก

ไม่ให้มีความรับรู้ ในสิ่งที่อยากจะไม่รับรู้

พอต้องรับรู้สิ่งที่ไม่อยากจะรับรู้ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าไม่มีความอยากก็รับรู้ได้อย่างสบาย

รับรู้ว่าร่างกายแก่แล้ว ร่างกายเจ็บแล้ว ร่างกายตายแล้ว

จะรับรู้ได้ก็ต้องมีใจที่สงบนิ่งเป็นอุเบกขา

ดังนั้นต้องฝึกเจริญสติอยู่เนืองๆ

ตั้งแต่ตื่นจนหลับจะทำได้ก็ต้องไปอยู่แบบนักบวช

ถึงจะทำได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นฆราวาสนี้วันที่ไปทำงานนี้

เจริญสติแบบนี้ไม่ได้ อย่างมากก็ประคับประคองจิต

ให้อยู่กับการทำงาน เท่านั้นเอง เป็นสติคนละแบบกัน

สติในการทำงาน กับสติในการทำใจให้สงบนี้ไม่เหมือนกัน

ต้องการทำใจให้สงบนี้ต้องอยู่ห่างไกลจากงานการ

 อยู่ห่างไกลจากเรื่องราวต่างๆ ถึงจะสามารถที่จะควบคุมใจ

 ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง

เช่นอยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆไป แต่ถ้าต้องทำงาน

ก็อย่างมาก ที่จะทำได้ก็คือมีสติอยู่กับการทำงาน

เพื่อที่เราจะได้ทำงานได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด

ถ้าไม่มีสติเวลาไปคิดบัญชี ก็จะคิดผิดคิดถูกได้

 เวลานั่งคิดบัญชีก็ไปคิดถึงแฟนบ้าง คิดถึงขนมบ้าง

 คิดถึงอะไรบ้าง พอบวกเลขคูณหารขึ้นมา

ก็อาจจะบวกผิดคูณผิดได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีสติ

แต่ถ้ามีใจจดจ่ออยู่กับงาน ที่กำลังทำอยู่

กำลังบวกก็คิดอยู่กับการบวกเลขลบคูณหารอยู่

มันก็จะทำให้ไม่ผิดพลาด อันนี้เรียกว่า

สติที่ใช้ในการทำงาน ที่เราไม่เรียกว่าสัมมาสติ

สัมมาสติต้องอยู่กับอารมณ์เดียว อยู่กับเรื่องเดียว

อยู่กับพุทโธอย่างเดียว หรืออยู่กับลมหายใจอย่างเดียว

อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างเดียว

อย่างนี้ ถึงจะเรียกว่า “สัมมาสติ”

คือไม่ต้องการให้ใจของเรา คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 เพราะความคิดจะทำให้ใจไม่สงบ

 เราต้องการหยุดความคิดจะหยุดความคิดนี้

ใจ ก็ต้องอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว

นี่ถึงเรียกว่าสัมมาสติ แล้วสัมมาสมาธิจิตต้องรวมเป็นอัปปนา

 สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ถ้าไปเจอสมาธิ

ที่แบบมีนิมิตต่างๆ นี้ก็เรียกว่า มิจฉาสมาธิ

อย่าไปสนใจ ถ้าไปเห็นนิมิตต่างๆ ไปรู้นั่นรู้นี่มีตาทิพย์หูทิพย์

 หรือมีอะไรความสามารถพิเศษขึ้นมาอย่าไปสนใจ

เพราะมันไม่นำไปสู่การทำใจให้เป็นอุเบกขา

 ถ้าใจไม่มีอุเบกขาออกจากสมาธิแบบนี้มา

ก็จะไม่มีกำลังที่จะหยุด ตัณหาความอยากได้

ถ้าเราต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์

ด้วยการละตัณหาความอยาก หยุดตัณหาความอยาก

 เราต้องพุ่งไปที่สัมมาสมาธิคือสมาธิที่มีอุเบกขา

 จิตสงบ นิ่ง ว่างปราศจากความโลภ ความอยากต่างๆ

 ถ้าอยู่ในนิมิตถ้าไปเจอนิมิตนี้ถ้าตามรู้นิมิตนี้

มันก็เกิดความอยากได้ เห็นนิมิตสวย

ก็อยากจะอยู่กับนิมิตนั้นนานๆ

ไปเจอนิมิตไม่สวยก็อยากจะให้มันหายไป

จิตยังไม่เป็นอุเบกขา จิตจะเป็นอุเบกขาก็ต่อเมื่อ

มันเข้าไปสู่ ความว่างไม่มีอะไรให้รู้ให้เห็น

ไม่มีความคิดปรุงเเต่ง

ดังนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ว่าสัมมาสติเป็นอย่างไร

 “สัมมาสมาธิ” เป็นอย่างไรเพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูก

 เพราะบางคน คิดว่านั่งสมาธิเพื่อให้เห็นนรกเห็นสวรรค์

ให้มีตาทิพย์หูทิพย์ให้ระลึกชาติได้

ให้มีความสามารถพิเศษ เห็นอนาคตเห็นอดีตเห็นอะไรต่างๆ

การเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์

ในการที่จะมาละตัณหาความอยาก

ในการที่จะมาดับความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ

 พวกที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้

ก็ยังไม่สามารถ ที่จะละตัณหาความอยากได้

 และอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของตัณหาความอยากก็ได้

 พวกที่มีความสามารถพิเศษ

ก็จะเอาความสามารถพิเศษนี้มาในการทำมาหากินก็ได้

 มาเป็นหมอดู พวกหมอดูนี้เขามักจะเห็นภายในกัน

 เห็นโน้นเห็นนี่กัน พอคนที่อยากจะรู้ก็มาหา

 มาหาก็มีการทำนาย ทายทักอะไรไป

เสร็จแล้วก็มีการให้รางวัลกัน ก็เป็นวิธีทำมาหากินไป

ก็จะไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

เพราะไม่ได้เอาไปละความอยาก

 แต่กลับเอาไปเป็นเครื่องมือของความอยาก

 คือเอาเป็นไปเครื่องมือหาเงินหาทอง

 เพื่อที่จะได้เอาเงินนี้ไปทำตามความอยากต่างๆ

 อยากไปเที่ยวก็มีเงินไปเที่ยว อยากจะมีเงินไปดื่ม

ก็มีเงินไปกินไปดื่ม มันก็เลยติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด

ติดอยู่กับความทุกข์เหมือนเดิม สมาธิแบบนี้ไม่ดี

ถึงแม้ว่าในสายตาของผู้ที่ไม่รู้อาจจะเห็นว่าดีเหลือเกินนะ

 สามารถที่จะรู้อะไรต่างๆได้ มีตาทิพย์ หูทิพย์

 รู้จิต รู้ใจของผู้อื่นได้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

อันนี้มันเป็นความวิเศษที่ไม่วิเศษ

ความวิเศษที่วิเศษก็คือใจ ที่ไม่มีความรัก ความชัง

 ความกลัว ความหลง ใจที่ไม่มีตัณหาความอยากคืออุเบกขา

นี่คือสิ่งที่เราต้องการสร้างขึ้นมา

สร้างใจให้มันเป็นกลางแล้วเวลาถ้าเกิดตัณหาความอยาก

จะดึงให้ไปทางตัณหาเราก็ใช้กำลังของอุเบกขา

แล้วใช้ปัญญามาช่วยกันดึงเอาไว้

ให้อยู่ในอุเบกขาให้วางเฉยต่อไป

 ถ้าวางเฉยได้ใจก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ

 ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆได้

 หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจาก

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 หลุดพ้นจากความุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากกัน

นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนา

ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา

หลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ สัจธรรมความจริง

ที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลก ๔ ประการ

คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

แต่ทรงรู้ว่าในใจของสัตว์โลกนี้มีแต่ทุกข์กับสมุทัย

ไม่มีนิโรธไม่มีมรรคกัน จึงต้องสอนให้มาสร้างมรรคกัน

 พอมีมรรคแล้วก็จะมีนิโรธ

คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ตามมา

 ดังนั้นการปฏิบัติของพวกเรานี้ ก็คือการเจริญมรรคนี่เอง

 เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมกัมมันโต สัมมาสังกัปโป

สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม

สัมมาสติและสัมมาสมาธิ

 ถ้าสรุปเข้ามาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลก็รักษาให้บริสุทธิ์ สมาธิก็ทำให้จิตให้สงบ

ให้นิ่งให้เย็นให้เป็นอุเบกขา

ปัญญาก็หมั่นสอนใจว่า ทุกอย่างในโลกนี้เป็นทุกข์

ไม่เที่ยงไม่ใช่ของเรา

ไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับให้เขาอยู่กับเรา

เป็นไปตามความอยากของเราได้

ถ้าอยากแล้วก็จะทุกข์ถ้าไม่อยากก็จะไม่ทุกข์

ถ้ามีความรู้อย่างนี้อยู่ ใจก็จะหยุดความอยาก

 เพราะไม่มีใครอยากจะทุกข์

ถ้าเรารู้ว่าที่เราไม่สบายเพราะว่าเรากินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้

ต่อไปเราก็จะไม่กล้ากินอาหารชนิดนั้น

เพราะว่าเราไม่อยากจะทุกข์กับมัน

 แต่บางทีเราไม่รู้กัน เราไม่รู้ว่าความทุกข์ของเรา

เกิดจากตัณหาความอยากของเราเอง

 เราก็เลยยังทุกข์กันอยู่อย่างต่อเนื่อง

แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว เราได้ยินได้ฟังธรรม

จากพระพุทธเจ้าแล้วว่าตัณหาความอยากของเรา

 เป็นต้นเหตุของความทุกข์ของเรา

 และการจะดับหรือละตัณหาของเราได้ก็ต้องใช้มรรคเท่านั้น

 มรรคก็คือศีล สมาธิและปัญญา

ดังนั้นถ้าเราหมั่นเจริญศีล สมาธิและปัญญาอยู่เรื่อยๆ

 สักวันหนึ่งเมื่อศีล สมาธิ ปัญญามีกำลังมากกว่า

ตัณหาความอยากต่างๆ เราก็จะสามารถหยุดตัณหา

ความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจของเราได้

 แล้วใจของเราก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

 นี่คือประโยชน์ที่เราจะได้รับ

จากการมาพบกับพระพุทธศาสนา

 การได้พบเฉยๆนี้ยังไม่พอ พบแล้วเราต้องศึกษา

ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เสร็จแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ

ไม่ใช่พบกับพระพุทธศาสนาก็เข้าวัดเพียงแต่กราบพระ

 กราบไหว้ ๓ ครั้งแล้วก็กลับบ้าน

 ถ้าพบแบบนี้ยังไม่ได้ประโยชน์พบแล้วต้องศึกษา

 ให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรา ปฏิบัติอะไร

เมื่อรู้แล้วเราก็นำเอาไปปฏิบัติ

 เมื่อเราปฏิบัติแล้วเราก็จะได้รับผลที่เกิจการปฏิบัติ

ก็คือการหลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งหลายนั่นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“สัจธรรมในใจ ๒ คู่”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 มิถุนายน 2559
Last Update : 2 มิถุนายน 2559 11:41:58 น.
Counter : 735 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ