Group Blog
All Blog
### เห็นอริยสัจ ๔ ในใจตลอดเวลา ###















“เห็นอริยสัจ ๔ ในใจตลอดเวลา”

การพูดถึงตัณหาความอยากนี้ก็พูดเป็นภาพรวมๆเท่านั้นเอง

 ตัณหาความอยากก็มีหลายรูปแบบ หลายอย่างด้วยกัน

 จึงมีการแบ่งชั้นของการบรรลุธรรมไว้ ๔ ชั้น

ชั้นโสดาบันก็กำจัดความอยากได้ในส่วนหนึ่ง

 ชั้นสกิทาคามีก็ได้อีกส่วนหนึ่ง

 ชั้นอนาคามีก็ได้อีกส่วนหนึ่ง

 แล้วชั้นอรหันต์ก็ได้อีกส่วนหนึ่ง

ได้ครบถ้วน ก็ต้องถึงขั้นที่ ๔ พระอรหันต์

ถึงจะสามารถกำจัดความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

รายละเอียดนี้ ก็ต้องไปปฏิบัติแล้วไปเจอ

 ผู้ที่มองจิตอยู่ตลอดเวลา ถ้าสมาธิแล้วจะเข้าถึงดูจิต

 จะเห็นการทำงานของอริยสัจ ๔ ว่าเป็นการทำงานของ ๒ ฝ่าย

ฝ่ายผูกมัดให้ติดอยู่ในกองทุกข์

 กับฝ่ายที่ปลดเปลื้องให้หลุดออกจากกองทุกข์

 ฝ่ายที่ผูกมัดให้อยู่กับกองทุกข์ก็คือ “สมุทัย”

สมุทัยกับความทุกข์ เวลามีความอยากก็จะมีความทุกข์

แล้วความอยากนี้ที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าฝ่ายของมรรค

ฝ่ายที่ปลดเปลื้องใจออกจากกองทุกข์นี้มีกำลังน้อยกว่า

 เหมือนกับการชักเย่อกันของ ๒ ฝ่าย

ฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่าฝ่ายนั้นก็จะดึงไปทางของฝ่ายนั้น

 เช่นถ้าธรรมะมีกำลังน้อยกว่า

 เช่นสติ สมาธิ ปัญญามีกำลังน้อยกว่าตัณหาความอยาก

ก็สู้ตัณหาความอยากไม่ได้ ใจก็จะวุ่นวายขึ้นมา

ใจก็จะมีความทุกข์ต่างๆ ขึ้นมา

 ถ้ามรรคคือสติ สมาธิ ปัญญา มีกำลังมากกว่าตัณหา

 ความทุกข์ก็จะสงบไป ความทุกข์ก็จะหายไป

ความอยากก็จะหายไป ใจก็จะสงบ ใจก็จะมีความสุข

ดังนั้นสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องสร้างให้มากก็คือมรรคนี่เอง

 สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญาให้มาก

 เหมือนกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

เวลาไปดับเพลิงนี้เจ้าหน้าที่ต้องมีน้ำไว้มากๆ

ถ้าน้ำมีน้อยกว่าไฟ สู้ไฟไม่ได้ ก็จะดับไฟไม่ได้

ถ้ามีน้ำมากกว่าไฟ กำลังของน้ำมีกำลังมากกว่ากำลังของไฟ

 น้ำก็จะสามารถดับไฟได้ ไฟป่าบางชนิดนี้ดับไม่ได้

หรือกว่าจะดับได้นี้ใช้เวลามาก

 ก็เพราะว่ากำลังของน้ำมีไม่พอ สู้กำลังของไฟไม่ได้ ฉันใด

ความทุกข์ใจของพวกเรา ถ้ามีตัณหาที่มีกำลัง

มากกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า

ความทุกข์ของใจเรา ก็จะดับไม่ได้

แต่ถ้าเรามีธรรมะของพระพุทธเจ้าที่มีกำลังมากกว่าตัณหา

 เราก็จะดับความทุกข์ใจต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

เวลาใจสงบนี้ใจจะเข้ามาถึงจุดนี้

 ใจจะเห็นการทำงานการต่อสู้ของทั้ง ๒ ฝ่าย

ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับได้ไปดูมวยข้างเวทีเลย

เวลาดูมวยข้างเวทีกับดูมวยที่ข้างหลังเวทีนี้มันมองไม่ชัด

 อยู่ข้างหลังเวทีมันมองไกลมองไม่ชัด

เหมือนกับเวลานั่งอยู่ข้างหน้าเวที

ฝ่ายไหนชกกี่หมัดนี้เห็นเลย

กรรมการที่ตัดสินจึงต้องนั่งอยู่ข้างเวที

ไม่ได้ไปนั่งอยู่ที่ขอบของเวที

อยู่ข้างหลังเวทีจะมองไม่เห็นชัด

จิตของผู้ที่ยังไม่มีสมาธินี้จะยังมองไม่เห็น

การทำงานอย่างชัดเจนของสมุทัย กับของมรรค

 แต่ถ้าจิตได้เข้าสู่สมาธิได้ เข้าสู่อุเบกขาแล้ว

จะสามารถเห็นการทำงานได้อย่างชัดเจน

เพราะขณะที่จิตอยู่ในอุเบกขานี้ “จิตจะนิ่ง”

 แสดงว่าตอนนั้นธรรมะมีกำลังมาก

สติมีกำลังมากกว่า ตัณหาความอยาก

แต่พอสติอ่อนกำลังลง

ตัณหาก็ดันใจให้ออกมาสู่ข้างนอกมาสู่รูป เสียงกลิ่นรส

 แล้วก็เกิดตัณหาขึ้นมา พอเกิดความอยาก

ก็เกิดความกระเพื่อมของใจขึ้นมา

ผู้ปฏิบัติเวลาปฏิบัติ ถึงจุดนี้แล้ว

ไม่มองอะไรแล้วมองใจเป็นหลัก

ดูว่าใจตอนนี้กระเพื่อมหรือไม่กระเพื่อม

 อยากหรือไม่อยาก

แล้วก็แก้ตรงที่ใจนี้ไม่ไปแก้ที่ข้างนอก

ข้างนอกก็แก้ไปตามเหตุตามผล

อันไหนพอจะแก้ได้ก็แก้ไป

 แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ข้างในใจ อยู่ที่ตัณหาความอยาก

ที่มีกำลังน้อยกว่าธรรมะคือ สมาธิ สติ และปัญญา

ถ้ามีสติ มีสมาธิ มีปัญญามากกว่า

 ก็จะสามารถหยุดตัณหาความอยากต่างๆ ได้

 ตัณหาอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ใช้ปัญญาพิจารณา

ให้เห็นว่า มันเป็นไตรลักษณ์ไป

พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เห็นว่าเป็นทุกข์

 ก็ไม่อยากได้แล้ว เปลี่ยนใจไม่เอาดีกว่า

ใครอยากจะเอาความทุกข์กัน

ที่ทำแทบเป็นแทบตายที่อยากกันแทบเป็นแทบตาย

ก็เพราะว่าคิดว่า มันเป็นความสุขกัน

 แต่ไม่รู้เพราะว่าไม่ได้มองอยู่ที่ใจ

 ใจทุกข์แบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ

แต่ก็ยังอยากได้ในสิ่งที่อยากได้อยู่ จนกว่าจะได้สติ

 เห็นว่าตอนนี้เรากำลังทุกข์ เรากำลังแก้ปัญหาผิดจุดผิดที่

ที่เราจะต้องแก้ต้องอยู่ที่ใจอยู่ที่ตัณหา

ถ้ามีสติ มีปัญญา มีสมาธินี้จะอยู่ใกล้ใจมาก

จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตใจตลอดเวลา

แล้ว ก็จะแก้ปัญหาที่จิตใจ ด้วยสติหรือด้วยปัญญา

 ถ้ายังหาปัญญามาแก้ไม่ได้ก็ใช้สติ

ดึงจิตหยุดคิดปรุงเเต่งไปก่อน

 ระงับความคิดปรุงเเต่งไปชั่วคราวให้สักแต่ว่ารู้ไว้

แล้วความอยากก็จะหยุดไปชั่วคราว

แต่เวลาใดที่เผลอ ปล่อยให้คิด

ก็จะเกิดความอยากขึ้นมาใหม่

ถ้าจะอยากให้กำจัดความอยากอย่างถาวร

ก็ต้องเอาปัญญามาสอนใจ สอนให้เห็นว่า

ถ้าทำตามความอยากนี้แล้วจะนำไปสู่ความทุกข์

อันนี้เป็นเรื่องของการบำเพ็ญ

ถ้าบำเพ็ญถึงจุดที่เรียกว่า เข้าถึงฐานของจิตแล้ว

มันจะรู้ว่าเวทีต่อสู้นี้ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก

เวทีที่ต่อสู้ระหว่างธรรม กับกิเลสนี้อยู่ภายในใจ

 ถ้าเรายังไม่ได้เข้าถึงฐานของจิตนี้เรายังไม่เข้าถึงเวที

 เรายังจะไม่รู้จักวิธีดับความทุกข์ใจ ต่างๆ

 เราก็จะไปดับความทุกข์ใจด้วยการไปเปลี่ยน

หรือไปแก้สิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ

ถ้าคนนั้นไม่สบายใจ เราก็ไปแก้ที่คนนั้น

ถ้าสิ่งนั้นไม่สบายใจเราก็ไปแก้ที่สิ่งนั้น

 แก้ไปมันก็อาจจะแก้ได้ทำให้สบายใจได้

 แต่เดี๋ยวมันก็มีสิ่งใหม่โผล่ขึ้นมา

ที่จะทำให้เราไม่สบายใจอีก

 หรือจะมีคนใหม่มาทำให้เราไม่สบายใจอีก

เราก็จะต้องแก้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

เพราะเราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ คือตัณหาความอยากของเรา

 เราไปแก้ที่ปลายเหตุเวลาของไหนเสียเราก็ไปซ่อมมัน

 พอซ่อมมันเอามาใช้ได้ ความทุกข์ใจกับของนั้นก็หายไป

 เดี๋ยวใช้ไปสักพักมันก็เสียขึ้นมาอีก ก็ต้องซ่อมอีก

ซ่อมไม่ได้ก็ไปซื้อใหม่ พอซื้อใหม่เดี๋ยวใช้ไปสักพักมันก็เสียอีก

เพราะของทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นของชั่วคราว

 มันดีชั่วคราวมันให้ความสุขเราชั่วคราว

แล้วเดี๋ยวมันก็ต้องมีอันเป็นไป ถ้าเราต้องไปแก้ภายนอก

เราก็ต้องแก้อยู่เรื่อยๆ ถ้าเราแก้ภายในมันก็จะแก้หนเดียว

 เมื่อมันเสียก็ไม่ต้องไปซ่อมมันไม่ต้องไปใช้มันก็หมดเรื่อง

เกิดมาเราก็ไม่ได้เอามันมากับเรา

 เรามีอะไรติดตัวมากับเราบ้าง เราไม่มีอะไรติดตัวมากับเรา

ทำไมเราอยู่ได้ ตอนนี้เราต้องมีอะไรเต็มบ้านไปหมด

 มีข้าวมีของมีเครื่องใช้ไม้สอยมีคนนั้นคนนี้มาคอยรับใช้เรา

 มาให้ความสุขกับเรา แล้วเวลาที่เขาไม่อยู่เราจะทำอย่างไร

เวลาที่เขาไม่สบายเวลาที่เขาเสียเราจะทำอย่างไร

 เราก็ต้องไปเปลี่ยนไปซ่อมไปรักษาอะไรวุ่นวายไปหมด

แต่ถ้าเราไม่ไปใช้เขาเสียอย่างมันก็จะหมดปัญหาไป

พระพุทธเจ้าทรงว่าอย่าไปพึ่งอะไรให้พึ่งตนเอง

อัตตาหิ อัตโน นาโถ

 พึ่งตนก็คือพึ่งธรรมของพระพุทธเจ้า นี่แหละ

ถ้าเรามีธรรมแล้วเราไม่ต้องพึ่งอะไร

แม้แต่ร่างกายนี้เราก็ไม่ต้องพึ่งมัน

 ถึงเวลาที่มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย

ก็ปล่อยมันแก่ มันเจ็บ มันตายไป จะไม่ทุกข์จะไม่เดือดร้อน

กับความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นที่พึ่ง

มีกรหลุดพ้นเป็นที่พึ่ง จิตหลุดพ้นแล้วนี้

จะไม่ต้องพึ่งพาอาศัยต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้

สิ่งต่างๆ จะมีหรือไม่มี จะเกิดหรือจะดับนี้

จะไม่เป็นปัญหากับจิตใจอีกต่อไป

อันนี้แหละคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม

เพื่อที่ให้ใจของเรานั้นหลุดพ้นจากการพึ่งพาอาศัย

สิ่งต่างๆ ทั้งหลายทีมีอยู่ในโลกนี้

ไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยมันเพราะพึ่งไม่ได้นั่นเอง

เพราะพึ่งได้เป็นครั้งเป็นคราว

 เวลาที่พึ่งไม่ได้ก็จะทุกข์จะเดือดร้อน

 แต่ถ้าไม่พึ่งแล้วจะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อน

ถ้ามีที่พึ่งที่ไม่มีวันสิ้นไม่มีวันหมด

ก็คือธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พวกเราสร้างกันขึ้นมาภายในใจนี่เอง

 ถ้าเรามีสติธรรม มีสมาธิธรรม

 มีปัญญาธรรมอยู่ในใจแล้ว เราไม่ต้องพึ่งอะไร

นี่แหละเป็นธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เป็นที่พึ่งของเรา

 เป็นอัตตาหิ อัตโนนาโถ

ตอนต้นก็ต้องพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน

เพราะเรายังไม่มีธรรมต่างๆ อยู่ในใจของเรา

เราก็ต้องพึ่งพุทธัง ธัมมัง สังฆังสะระณัง คัจฉามิ

เข้าหาพระพุทธเจ้า เข้าหาพระอรหันตสาวก

 เข้าหาครูบาอาจารย์พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

เพื่อให้ท่านสอนวิธีสร้างธรรมะขึ้นมาภายในใจ

พอเราได้สร้างธรรมะขึ้นมาภายในใจแล้ว

เราก็อยู่คนเดียวได้ไม่ต้องไปอยู่กับครูบาอาจารย์

 ไม่ต้องไปศึกษากับท่าน เพราะว่าเราเป็นที่พึ่งของเราได้แล้ว

 ที่เรายังต้องศึกษาต้องพึ่งครูบาอาจารย์

เรายังไม่มีธรรมะอยู่ภายในใจ หรือมียังไม่มากพอ

หรือยังมีไม่สมบูรณ์ถ้ายังไม่สมบูรณ์และยังไม่รู้จักวิธี

ทำให้มันสมบูรณ์ ก็ต้องพึ่งคนที่เขาได้ทำ

ให้มันสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

 คนที่ทำให้ใจเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

ก็คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ดังนั้นในเบื้องต้นเราจึงต้องมี

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิเป็นที่พึ่งไปก่อน

 จนกว่าเราจะได้ธรรมแท้ ที่อยู่ภายในใจของเรา

เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง

เมื่อเราได้ธรรมที่เราสร้างขึ้นมาด้วยการปฏิบัติ เป็นที่พึ่ง

เราก็ไม่ต้องพึ่งธรรมข้างนอก

 เราไม่ต้องพึ่งธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

 จากคำสอนของพระอรหันตสาวก

เพราะเราได้น้อมเอาธรรมเหล่านั้นเข้ามาสู่ในใจของเราแล้ว

มาเป็นที่พึ่งของใจเราได้แล้ว เ

ราจะอยู่กับครูบาอาจารย์หรือไม่อยู่กับครูบาอาจารย์

ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เหมือนกัน

เพราะว่าเราไม่ต้องพึ่งท่านแล้ว

เรามีธรรมของท่านอยู่ในใจของเราแล้ว

อยู่ที่ไหนก็เหมือนกับได้อยู่กับท่าน

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

ต่อให้เธอเกาะชายผ้าเหลืองของเรา

แต่ถ้าเธอไม่มีธรรมอยู่ภายในใจของพวกเธอ

เธอก็อยู่ห่างไกลจากเราเป็นโยชน์

 แต่ถ้าเธอมีธรรมของเราอยู่ในใจของเธอแล้วนี้

 ถึงแม้เธอจะอยู่ห่างไกลจากเราเป็นโยชน์

ก็เหมือนกับอยู่ใกล้ชิดกับเรา

เหมือนกับเกาะชายผ้าเหลืองของเรา

นี่แหละเรื่องของหลักของธรรมเป็นอย่างนี้

ถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะไม่รู้จะไปหลงติดอยู่กับรูปธรรม

ที่ยังเป็นธรรมปลอมอยู่ไม่ใช่เป็นธรรมจริง

 เพราะยังไม่เป็นธรรมที่จะสามารถที่จะดับความทุกข์ต่างๆ

ให้หมดไปจากใจได้ ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของใจได้

คนถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะไม่เข้าใจเรื่องของธรรมแท้

 ว่าเป็นอย่างไร ก็จะกลับคิดว่าเป็นเรื่องพิสดาร

หรือเรื่องนอกลู่นอกธรรมไปก็ได้

เช่นพวกที่ยังติดอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ

 เวลาจะทำอะไรต้องตั้งนะโม ๓ จบ

เวลาจะฟังเทศน์จะต้องมีการอาราธนาศีล อาราธนาธรรม

 พอพระโผล่ขึ้นมาไม่ตั้งนะโม พูดธรรมะไปเลย

ก็หาว่าเป็นพระป่าเถื่อนไป

ไม่ใช่พระที่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น

 นี่คือเรื่องของผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงตัวธรรม

ยังติดอยู่ที่ตัวเปลือกของธรรม

 เปลือกของธรรมก็พิธีกรรมต่างๆ นี้เอง

 บางคนมานี่จะลาทีจะไปทีต้องตั้งนะโม

บอกไม่ต้องตั้งหรอก กราบก็กราบ ไปก็ไปเลย

 มาก็มาอย่ามาเสียเวลามาตั้งนะโม

มาขอขมาอะไรกันให้เสียเวลา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“ช่วงเวลาที่สำคัญ”



ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ





Create Date : 13 พฤษภาคม 2559
Last Update : 13 พฤษภาคม 2559 13:55:36 น.
Counter : 740 Pageviews.

0 comment
### คนที่เห็นว่าตนยังโง่อยู่ คนนั้นแหละจะเป็นคนที่ฉลาดได้ ###












"คนที่เห็นว่าตนยังโง่อยู่

คนนั้นแหละจะเป็นคนที่ฉลาดได้"

เวลาไปหานักปราชญ์จึงอย่าไปหวังให้ท่านยกย่องสรรเสริญ

 เตรียมรับคำดุด่าไว้ ถ้าวันไหนท่านไม่ด่า

 แสดงว่าท่านไม่โปรดเรา ท่านไม่เมตตา

ถ้าวันไหนท่านด่า แสดงว่าท่านเป็นห่วงเป็นใยเรา

 เหมือนกับพ่อแม่ที่คอยสอนลูก อยากจะให้ลูกได้ดิบได้ดี

เห็นลูกประพฤติตนเองไม่เหมาะสมต่างๆ

 ก็คอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือน แต่ลูกก็มีกิเลส

พอโดนว่ากล่าวตักเตือนหน่อย

 แทนที่จะฟังด้วยเหตุด้วยผล

 ฟังเพื่อก่อก็กลับฟังเพื่อทำลาย

เกิดอารมณ์ โกรธเกลียดชังคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมา

บางทีก็โต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนอยู่ด้วยกันไม่ได้

การฟังธรรมะนั้น ฟังเพื่อจะได้มีหลัก

 ต่อไปเวลาใครพูดอะไรว่าอะไร จะฟังด้วยเหตุด้วยผลจริงๆ

 ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ ไม่ต้องการคำสรรเสริญ

ที่เป็นเหมือนขนมหวาน

ไม่เหมือนของขมๆที่เป็นเหมือนยา

 กินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง

 ฟังการว่ากล่าวตักเตือนแล้วได้ประโยชน์

 เหมือนกับเอากระจกมาส่องหน้า

ให้เห็นว่าหน้าของเราเป็นอย่างไร มีตำหนิตรงไหน

 เปื้อนตรงไหน ผมหวีเรียบร้อยหรือยัง

ล้างหน้าล้างตาสะอาดหรือยัง

 ถ้าไม่มีกระจกให้ดูบางทีก็ไม่รู้

 คนที่บอกความผิดก็เป็นเหมือนกับกระจกส่องหน้าเรา

 จึงควรดีใจ เพราะเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา

เขาชี้ความผิดของเรานี้ ก็เท่ากับชี้ขุมทรัพย์ให้เราแล้ว

ขุดลงไปตรงนี้จะได้ทรัพย์อันวิเศษขึ้นมา

ยึดติดกับสิ่งต่างๆไม่ดี รีบชำระเสีย

 โลภโมโทสันไม่ดี รีบชำระเสีย

อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ให้มีเหตุมีผล

 มีสติคอยควบคุมใจไว้

อย่าปล่อยให้ดีใจ ถ้าดีใจแล้วเดี๋ยวจะต้องเสียใจ

 ความดีใจก็เป็นความหลงอย่างหนึ่ง

เช่นเวลาคนสรรเสริญแล้วดีใจอย่างนี้

พอคนไม่สรรเสริญก็จะเสียใจ

ถ้าเขาดุด่าว่ากล่าวเรา ก็จะเดือดร้อนใจขึ้นมา

 ถ้ามีเหตุมีผลมีสติแล้ว ใจจะตั้งอยู่ในอุเบกขา

จะไม่มีอารมณ์กับอะไร เพียงแต่รับรู้ สักแต่ว่ารู้

แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญา ถ้าสิ่งที่พูดนั้นถูกต้อง

ก็แสดงว่าเขาเป็นคนตาดี ถึงแม้จะเป็นการตำหนิ

 ก็ตำหนิด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริง

 เวลาสรรเสริญเขา ก็สรรเสริญด้วยความจริงเหมือนกัน

 แต่คนที่พูดไม่ตรงกับความจริง ถึงแม้จะสรรเสริญเยินยอ

ก็รู้ว่าเป็นการโกหก เป็นการหลอกให้เราดีใจ

ถ้าตำหนิเราในสิ่งที่ไม่จริง ก็แสดงว่าเขาตาไม่ดี

หรือมีอารมณ์ไม่ดี ชอบแต่จะตำหนิผู้อื่น

 ชอบที่จะทำให้ผู้อื่นเสียอกเสียใจ เดือดเนื้อร้อนใจ

แต่ทำได้กับคนที่ยังติดอยู่กับการสรรเสริญนินทาอยู่เท่านั้น

 คนที่ไม่ติดอยู่กับการสรรเสริญนินทานี้

จะไม่ถูกกระทบทั้ง ๒ อย่าง

ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทา ก็เท่าเดิม

มีอยู่ ๑๐๐ ก็มีอยู่ ๑๐๐ เท่าเดิม

เขาไม่สามารถหัก ๑๐๐ ให้เหลือ ๙๕ ได้

 หรือเพิ่มให้เป็น ๑๐๕ ขึ้นมาได้จากคำพูดของเขา

เราจะมีเพิ่มมากขึ้นหรือมีน้อยลง

ไม่ได้อยู่ที่การกระทำของผู้อื่น

 แต่อยู่ที่การกระทำของเราทำดีมากขึ้นก็ได้เกิน ๑๐๐

ทำดีน้อยลงก็ลดลงมา มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การกระทำของเรา

 เพียงแต่ว่าเราต้องอาศัยผู้ที่ฉลาดกว่าเรา

คอยช่วยบอกทางให้กับเรา

การไปอยู่กับครูบาอาจารย์ก็จะได้ประโยชน์อย่างนี้

 เราทำเองตามลำพังก็ไปได้ในระดับหนึ่ง

 แต่ก็จะหยุดอยู่ตรงนั้น เพราะคิดว่าเราดีพอแล้ว

แต่ครูบาอาจารย์ท่านดีกว่า ท่านรู้ว่ายังดีไม่พอ

 ดังสุภาษิตที่ว่า คนที่เห็นว่าตนยังโง่อยู่

 คนนั้นแหละจะเป็นคนที่ฉลาดได้

แต่คนที่คิดว่าตนฉลาดแล้ว คนนั้นแหละคือคนโง่ที่แท้จริง

เพราะเมื่อคิดว่าตนฉลาดแล้ว ก็ไม่คิดที่จะแสวงหา

ความรู้ความฉลาดเพิ่มเติม ก็จะโง่ไปเรื่อยๆ

แต่คนที่คิดว่าตนเองยังโง่อยู่ ยังต้องเข้าหาผู้รู้อยู่

ต้องอาศัยผู้อื่นคอยชี้บอกอยู่ ก็จะมีโอกาสที่จะฉลาดได้

 แต่จะมีอยู่จุดหนึ่งที่จะรู้แก่ใจว่าพอตัวแล้ว

พอดับกิเลสได้หมดแล้ว ก็รู้ว่าพอแล้ว

ถึงแม้จะไม่รู้วิชาการต่างๆ

วิชาวิศวะฯวิทยาศาสตร์ชีวะฯการบัญชีหรือวิชาอะไรก็ตาม

 บวกลบคูณหารไม่เป็นอ่านหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ไม่ออก

 ก็ไม่สำคัญ ขอให้รู้ทันกิเลส ปราบกิเลสได้ก็พอแล้ว

 ความรู้นี้เป็นสันทิฏฐิโก รู้อยู่ในใจ ไม่หลงกับอะไรแล้ว

ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรแล้ว คนสรรเสริญก็ไม่ได้ดีใจ

 คนนินทาก็ไม่ได้เสียใจ ได้อะไรมาก็ไม่ได้ดีใจ

เสียอะไรไปก็ไม่ได้เสียใจ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ตกใจ

แก่ก็ไม่เดือดร้อน ตายก็ไม่เดือดร้อน

นี่แหละคือการรู้ทันกิเลส รู้แบบนี้ ถ้ารู้แบบนี้แล้ว มันรู้อยู่แก่ใจ

 ความรู้แบบนี้ไม่ต้องให้คนมาบอก ว่าถึงที่หรือยัง

 อิ่มตัวหรือยัง เหมือนกับกินข้าว

ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่าอิ่มหรือยัง มันรู้อยู่แก่ใจ

กายอิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง ใจไม่วุ่นวายเดือดร้อนกับอะไร

 ก็รู้ของมันเอง ไม่ต้องไปถามใคร

ถ้ารู้แบบนี้แสดงว่าฉลาดแล้ว มีความรู้พอเพียงแล้ว

 ไม่กังวลกับความรู้อย่างอื่น ไม่อับอายขายหน้า

 ถ้าเขียนหนังสือไม่เป็น อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก

 ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ พระอาจารย์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

 ยังมีลูกศิษย์เป็นชาวต่างประเทศเยอะแยะเลย

ถามว่าท่านสอนอย่างไร ท่านก็ตอบว่าใช้ภาษาธรรมะ

 พยักหน้าไปมา ชี้โน้นชี้นี่ สัตว์มันอยู่ด้วยกัน มันก็ไม่ได้พูดกัน

 ก็ยังอยู่ด้วยกันได้ สัตว์บางชนิดก็พูดได้บ้าง เช่นนก

 แต่ก็ไม่ได้เป็นศัพท์แสงเหมือนกับที่เราพูดกัน

พอสื่อกันได้ ด้วยสายตา ด้วยกิริยาอาการต่างๆ

กับเด็กเล็กๆพูดกันไม่รู้เรื่อง เราก็ทำให้กลัวได้

พอยกมือจะตีก็รู้แล้ว จึงอย่าไปหลงกับวิชาต่างๆ

 อย่าไปคิดว่าต้องเรียนรู้ทางโลก จบปริญญาตรีโทเอกก่อน

แล้วจะมีปัญญามาปฏิบัติธรรม

อาจกลับเป็นปัญญาขวางธรรมเสียอีก ทำให้มีทิฐิถือตน

คิดว่าตนฉลาด ครูบาอาจารย์สั่งสอนก็จะต่อต้านคัดค้าน

เถียงอยู่ภายในใจ ไม่ยอมรับ

 เพราะความรู้ของทางโลกกับทางธรรมนี้ มันคนละเรื่องกัน

ความรู้ทางโลกรู้มากเท่าไหร่กิเลสยิ่งกลับมีมากขึ้นเท่านั้น

 ยิ่งหลงตนเองมากขึ้นเท่านั้น แต่ความรู้ทางธรรมนี้

ยิ่งมีมากเท่าไหร่ กิเลสยิ่งเล็กลงยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ

อัตตาตัวตนจะน้อยลงไปน้อยลงไป จนเหลือศูนย์

เป็นสุญตาไป ปราศจากตัวตน ทิฐิมานะ การถือตน

ไม่ถือว่าตนสูงตนวิเศษอย่างไร

ไม่เหมือนคนที่มีความรู้ทางโลกมาก จะคิดว่าตนวิเศษ

 เหมือนกับวิศวกรกลุ่มหนึ่ง

ที่ไปทดสอบภูมิปัญญาของพระป่ารูปหนึ่ง ถามท่านว่า

 หลวงพ่อเครื่องบินบินได้อย่างไร ท่านตอบว่าจิต

จิตทำให้มันบินได้ ถ้าไม่มีจิตแล้วมันจะบินได้อย่างไร

คนเราถ้าไม่มีจิตก็เป็นซากศพ เครื่องบินจะบินขึ้นได้

ก็ต้องมีคนที่มีชีวิตคิดสร้างมันขึ้นมา ผลิตมันขึ้นมา

 แล้วก็ขับมัน ต้องมีจิต จิตถึงเป็นใหญ่

มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนมยา มโนเศรษฐา

ธรรมทั้งปวงมีจิตเป็นเหตุ เป็นประธาน

 ถ้าไม่มีจิตก็จะไม่มีสิ่งต่างๆ ศาลาหลังนี้ก็เกิดมาจากจิตใจ

 ร่างกายนี้ก็เกิดมาจากจิตใจ

ยกเว้นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

 ที่ไม่มีจิตเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นต้นไม้ภูเขาแดดลมต่างๆ

จิตเป็นต้นเหตุที่ให้ความสุขความทุกข์กับเรา

เพราะในจิตของแต่ละคนนี้มีอริยสัจ ๔ ทำงานอยู่ตลอดเวลา

 เป็นเหตุและผล ๒ คู่ ทุกข์กับสมุทัยก็เป็นคู่หนึ่ง

มรรคกับนิโรธก็อีกคู่หนึ่ง อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะมีกำลังมากกว่า

 ถ้าสมุทัยมีกำลังมากกว่า กิเลสตัณหามีมากกว่าธรรมะ

ทุกข์ก็จะมีมากกว่าสุข ถ้าธรรมะมีมากกว่า

 คือมีมรรคมากกว่าสมุทัย มากกว่าตัณหา

 มีทานศีลภาวนามากกว่า ความทุกข์ก็จะน้อยกว่าความสุข

ถ้าไม่มีสมุทัยเลย ก็จะไม่มีความทุกข์เลย

 จึงไม่ต้องไปหาอริยสัจ ๔ ที่ไหน มันมีอยู่ในใจเราตลอดเวลา

 จะมองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่จะไม่เห็นกัน

เพราะไม่ได้ศึกษา หรือศึกษาเพียงตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือ

 ทุกข์สมุทัยนิโรธ ทุกข์เป็นอย่างนั้น สมุทัยเป็นอย่างนั้น

 แต่เวลามันทำงานอยู่ตลอดเวลานี้ กลับไม่รู้ตัว

 ไม่รู้ว่ามันกำลังทำงานอยู่

ถ้าภาวนาแล้วสติปัญญาจะพุ่งเข้าไปตรงจุดนั้น

ไปดูการทำงานของอริยสัจ ๔ เหมือนไปดูมวยชิงแชมป์โลก

ระหว่างธรรมะกับกิเลส ที่ต่อสู้อยู่ในใจ ใจเป็นเหมือนเวที

 แต่ส่วนใหญ่มักจะไปเชียร์กิเลสกัน จึงมีทุกข์มาก

พอกิเลสแย็บออกมาปั๊บ ก็รีบตอบรับทันที ไปเที่ยวไหม ไปเลย

 ไปวัดไหม ยังไม่ว่าง นี่แสดงว่ากำลังเชียร์กิเลส

 กิเลสจึงคว้าแชมป์โลกไปครอง

อวิชชานี่แหละคือแชมป์โลก

ถ้าธรรมเป็นแชมป์ก็จะได้มรรคผลนิพพาน

ที่เกิดจากทานศีลภาวนา เกิดจากธรรมะ

ไม่ได้เกิดจากอย่างอื่น

 ไม่ได้เกิดจากพระพุทธเจ้า ไม่ได้เกิดจากครูบาอาจารย์

เกิดจากมรรคที่เราจะต้องผลิตขึ้นมาเอง

ครูบาอาจารย์เพียงสอนวิธีผลิต

ว่าทำอย่างไรให้มีมรรคขึ้นมา เช่นให้มีความขวนขวาย

ให้ใฝ่รู้สนใจศึกษา ฟังเทศน์ฟังธรรม เข้าหาผู้รู้

หาครูบาอาจารย์ หาพระสงฆ์องค์เจ้า

 ที่รู้จริงเห็นจริงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

แล้วน้อมเอาคำสอนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่สักแต่ว่าฟัง

เข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวาไป

 ไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจไว้เป็นเชื้อเพื่อนำไปปฏิบัติเลย

 ถ้าฟังอย่างนี้ก็ยังไม่เกิดประโยชน์

 ถ้าฟัง ๑๐๐ แล้วเอาไปปฏิบัติได้ทั้ง ๑๐๐ จึงจะเกิดประโยชน์

อย่างในสมัยพุทธกาลที่บรรลุกันตอนที่กำลังฟังเทศน์เลย

 สดๆร้อนๆ เรียกว่าฟังทั้ง ๑๐๐ เก็บไว้ทั้ง ๑๐๐

 เอาไปปฏิบัติทั้ง ๑๐๐ ในปัจจุบันทันทีเลย

 เอาไปพิจารณาในจิตในใจ เห็นอริยสัจ ๔

ที่กำลังปรากฏอยู่ในจิตในใจ เห็นสมุทัย

เห็นอวิชชาเห็นโมหะ ด้วยสติปัญญา

 ที่ทะลุทะลวงเข้าไปทำลายในขณะที่ฟังเลย

 คือเห็นด้วยไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

ในทุกสัดส่วนของสภาวธรรมทั้งหลาย

อวิชชาโมหะก็จะไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๓๗๙ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

(จุลธรรมนำใจ ๑๒)

"ต้องเลือกเอาธรรม"






ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 11 พฤษภาคม 2559
Last Update : 11 พฤษภาคม 2559 11:29:16 น.
Counter : 826 Pageviews.

0 comment
### ทางแยก ###

















"ทางแยก"

การตัดสินใจของเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 เหมือนกับเดินไปถึงทางแยก

จะตรงไปเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี

 ถ้าเลือกถูกทางก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ถ้าเลือกไม่ถูกทางก็จะวนไปวนมา วนอยู่ในวัฏฏะสงสาร

วนอยู่ใน ๓ ภพ วนอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ

 อย่างที่พวกเรากำลังวนกันอยู่

จึงควรให้น้ำหนักกับธรรมะมากกว่าสิ่งอื่น

 ดังที่ทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ

 แม้แต่ชีวิตก็ทรงตรัสว่าไม่สำคัญเท่ากับธรรมะ

ชีวิตนี่เหมือนหัวโขน หมดอันนี้ก็ได้อันใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ

 แต่ธรรมะได้มายากมาก ไม่ง่ายเหมือนกับได้ชีวิต

เพราะชีวิตเกิดได้อยู่เรื่อยๆ ตายปั๊บก็ได้เกิดอีกแล้ว

 จึงไม่ต้องเสียดายชีวิต เพราะธรรมะได้มายากมาก

ไม่มีธรรมะชีวิตก็ไม่มีความสุข

มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ

 ถ้ามีธรรมะแล้วชีวิตก็มีความสุข

 เหตุของความสุขก็คือธรรมะนี่เอง

 เหตุของความทุกข์ก็คือการขาดธรรมะ

 จึงควรให้ความสำคัญกับธรรมะมากกว่าอย่างอื่น

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างธรรมะกับอะไรก็ตาม

 ก็ต้องเลือกธรรมะก่อน

พระพุทธเจ้าได้ทรงจัดลำดับความสำคัญ

ของสิ่งต่างๆไว้ดังนี้

 สิ่งแรกที่ทรงให้สละคือสมบัติข้าวของเงินทอง

 รองลงมาก็อวัยวะ รองลงมาก็ชีวิต เพื่อรักษาธรรมะ

ที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

 สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ

 ธรรมะก็อย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี้แหละ

ทาน ศีล ภาวนา เวลาทำบุญให้ทานเราก็สละทรัพย์

เพื่อให้ได้ธรรมะมา เวลารักษาศีลเราจะไม่พูดปด

 ไม่หวังร่ำรวยจากการทำมาหากินที่ทุจริต

 เราก็เสียทรัพย์ไปส่วนหนึ่ง เสียประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง

แต่เราได้ศีลธรรมมา เราไม่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 แต่ไปหาที่วิเวกสงบสงัด ทำจิตใจให้สงบ เราก็ได้ธรรมะ

 คือสมาธิความสงบใจ เราเจริญปัญญาเราก็จะได้

หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ มีคุณค่าทั้งนั้น

ถ้าเราพิจารณาดูแล้ว มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เราเสียไป

 การเสียสละก็คือให้สละประโยชน์สุขส่วนย่อย

เพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า

ในสายตาของคนที่มีความหลงอย่างพวกเรานี้

จะรู้สึกว่าทรัพย์มีคุณค่ามาก

แต่ในสายตาของนักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้า

ทรงเห็นว่าไม่มีคุณค่าเลยกับจิตใจ

 ท่านถึงสละราชสมบัติออกบวชได้

ทรัพย์ไม่ได้ทำให้จิตใจหลุดพ้นได้ แต่เป็นเหมือนบ่วง

 เป็นเหมือนกับตะขอ ที่เกี่ยวให้จิตใจต้องเวียนว่าย

อยู่ในภพในชาติต่างๆ มีความต่างกันมากคุณกับโทษ

 ถ้าไม่พิจารณาจะมองไม่เห็น

 เพราะความหลงจะหลอกให้เห็นคุณค่าของทรัพย์

มากกว่าอย่างอื่น

แต่ธรรมะนี่เห็นคุณค่ายาก

ถ้าไม่ได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

เช่นให้ทานนี่เราก็ได้ผล แต่เราไม่รู้ เพราะไปเล็งผลผิดที่

ไม่ได้เล็งที่ใจเรา ไปเล็งที่คนรับคนที่เราทำบุญด้วย

 ถ้าเล็งผลที่ใจแล้ว ไม่ว่าคนรับจะเป็นใคร ไม่สำคัญ

สำคัญที่ความบริสุทธิ์ใจของเรา ความเมตตากรุณาของเรา

 ความเสียสละของเรา ที่จะช่วยคนนั้นให้ได้รับประโยชน์

 โดยไม่สำคัญว่าจะต้องเป็นสัตว์หรือเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำไป

ถ้าอยู่ในสภาพที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ

เราช่วยเหลือเขาได้ ก็ช่วยไป

โดยไม่หวังผลตอบแทนจากการช่วยเหลือนี้เลย

อย่างนี้แหละจะปรากฏเป็นผลขึ้นมาในใจเรา

 ใจจะมีความภูมิใจ มีความสุขใจ มีความอิ่มเอิบใจ

มีความพอใจ แต่เรามักจะไปมองผลที่ชาติหน้าโน้น

 หรือผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ

มันก็เลยไม่ได้เป็นการให้ทาน แต่เป็นการแลกเปลี่ยน

เป็นการซื้อขาย ให้เงินเขาแล้ว

 เขาก็ให้สิ่งที่เราต้องการมา ไม่ได้เป็นการให้ทาน

 จึงไม่มีความรู้สึกวิเศษวิโสปรากฏขึ้นมาในใจ

 แต่ถ้าให้โดยไม่รับผลตอบแทน

เห็นความทุกข์ของผู้อื่นแล้ว

 ก็ช่วยบรรเทาทุกข์ให้เบาบางลงไป

 หรือทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ

ทำไปแล้วเราก็มีความสุขแล้ว

 แต่เรามักจะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำ

 ว่าได้ปรากฏขึ้นมาแล้วในใจของเรา

เพราะใจมีกิเลสมาปิดบัง ยังอยากจะได้ผลตอบแทน

 อย่างน้อยก็อยากจะให้เขารู้ว่าเราได้ทำ

ต้องประกาศชื่อจึงจะมีความสุข

 เป็นกิเลสไป ไม่ได้เป็นธรรมแล้ว

 เป็นความสุขแบบกิเลสที่ไม่มีน้ำหนัก

ไม่เหมือนกับความสุขแบบธรรมะ ที่มีความหนักแน่น

เหมือนกับรับประทานอาหารหนัก

ส่วนความสุขของกิเลสเหมือนกับรับประทานขนม

 รับประทานของเบา อิ่มได้เดี๋ยวเดียวก็จะหิวอีกแล้ว

 อยากจะกินอีก แต่ความสุขความอิ่มของธรรมะนี้

พออิ่มแล้วจะไม่อยากจะได้อะไรเลย มันมีความสบายใจ

มีความสุขใจ ทุกครั้งที่คิดถึงการเสียสละแล้ว

จะมีความสบายใจ มีความภูมิใจเสมอ

 เพราะฉะนั้นการทำอะไรขอให้ดูใจเป็นหลัก

 ผลมันเกิดขึ้นทันทีในใจ แล้วก็ส่งผลต่อไปในอนาคต

ในภพชาติต่างๆ ปฏิบัติไปแล้วจิตมีความสุข

กิเลสเบาบางลงไป ทุกข์เบาบางลงไป

ภพชาติก็เบาบางลงไป ภพชาติที่เหลืออยู่ก็เป็นภพชาติที่ดี

 เป็นสุคติเป็นส่วนใหญ่ เพราะทำแต่เหตุที่ดีไว้

 เป็นผลพลอยได้มากกว่า

 ที่ต่อจากผลในปัจจุบัน คือใจที่มีความสงบ

 มีความเย็นสบาย มีความเบา มีความพอใจ

ไม่หิวไม่อยากไม่กระหาย กับเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข

 ใครจะสรรเสริญยกย่องหรือไม่ก็ไม่สำคัญ

ใครจะตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่สนใจ

 ไม่สำคัญ แต่รับฟังเสมอ

 ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทาตำหนิติเตียน

ฟังเพื่อก่อ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ดีใจหรือไม่พอใจ

 ฟังหาเหตุหาผล เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา

 เพราะบางทีเรามองไม่เห็นโทษของเรา

 บางทีต้องอาศัยคนอื่น ที่มีธรรมะสูงกว่าช่วยชี้บอก

 เช่นเวลาเข้าหาครูบาอาจารย์

ท่านก็จะชี้บอกโทษของเราเป็นส่วนใหญ่

ท่านไม่ค่อยพูดเรื่องคุณของเราเท่าไหร่

เพราะมันมีน้อย แล้วก็ไม่มีประโยชน์

 พูดถึงเรื่องโทษของเรา เราจะได้แก้ไข เป็นคุณกับเรา

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กัณฑ์ที่ ๓๗๙ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

 (จุลธรรมนำใจ ๑๒)

"ต้องเลือกเอาธรรม"








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 พฤษภาคม 2559
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 10:20:24 น.
Counter : 775 Pageviews.

0 comment
### อย่าดูถูกตัวเอง ###









นิทานสอนใจ


มีนิทานเรื่องหนึ่งให้ข้อคิดแง่นี้ไว้ดีมาก

 เป็นเรื่องของหญิงชราที่ทุกวัน

จะหามหม้อดินเผาสองใบออกไปตักน้ำ

ใบหนึ่งก็เป็นหม้อที่สมบูรณ์

อีกใบหนึ่งเป็นหม้อที่มีรอยร้าว

 เมื่อตักน้ำแล้วก็จะแบกหมอสองใบนั้นกลับไปที่บ้าน

 ซึ่งเป็นระยะไกลพอสมควร

แต่พอถึงบ้าน หม้อที่ร้าวก็จะเหลือแค่ครึ่งหนึ่ง

 เนื่องจากน้ำรั่วไหลตลอดทาง

 แต่ว่าหญิงชราก็ยังคงทำแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน

เป็นเวลานานนับปี

วันหนึ่งหม้อใบร้าวก็พูดกับหญิงชราว่า

 รู้สึกว่าแย่มากที่ปล่อยให้น้ำรั่วไหล

กว่าจะถึงบ้านยายก็มีน้ำเหลือครึ่งเดียว

 ไม่เหมือนหม้ออีกใบที่ทำงานได้เต็มที่

เก็บน้ำไว้ได้เต็มทุกวัน

หม้อใบร้าวนั้นตัดพ้อหญิงชรา

ว่าเอาฉันมาทำงานนี้ทำไม

 หญิงชราก็บอกว่า เจ้าไม่สังเกตหรือว่า

 ตลอดเส้นทางจากลำห้วยจนถึงบ้าน

 ด้านที่ฉันแบกเจ้าอยู่นั้น

มีดอกไม้สวยงามขึ้นมาเป็นแนวเลย

ขณะที่ด้านที่ฉันแบกหม้อที่สมบูรณ์นั้น

ไม่มีดอกไม้ขึ้นเลย

 ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฉันเอาพันธุ์ไม้มาหว่าน

ตรงด้านที่ฉันแบกหามเจ้าเอาไว้

ทุกวันที่ฉันหามเจ้า เจ้าก็ช่วยรดน้ำให้ดอกไม้เหล่านั้น

จนชูช่อสวยงาม ดอกไม้ที่เจ้าช่วยรดน้ำ

 เราก็เก็บมาถวายพระและประดับบ้านเราจนสวยงาม

 เจ้าไม่สังเกตหรือ

เมื่อได้ยินเช่นนั้น

หม้อใบร้าวก็เกิดความภาคภูมิใจขึ้นมา

 เพราะได้รู้ว่าตนเองได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า

หญิงชราเป็นคนฉลาดฉลาด

 สามารถเอาหม้อที่ร้าวมาใช้ประโยชน์ได้

เรื่องนี้ชี้ว่าแม้สิ่งที่มีตำหนิ บกพร่อง ไม่สมบูรณ์

ก็มีประโยชน์ถ้ารู้จักใช้

ธรรมชาติหรือโลกนี้อยู่ได้

เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนั้น

 แมลงหรือสัตว์เล็ก ๆ มีคุณค่า

มีความสำคัญต่อชีวิตและโลกนี้

อาจจะมากกว่าสัตว์ที่ผู้คนกำลังเป็นห่วง

 เช่น ปลาวาฬ ช้าง เสือหรือหมีแพนด้า

พวกนี้อยู่ชั้นยอดของปิรามิด

ถึงแม้จะมีความสำคัญแต่ถ้าหายไป

ก็ไม่ส่งผลกระเทือนต่อระบบนิเวศมาก

 แต่ถ้าพวกแมลง สัตว์เล็กๆ เช่น ผึ้ง แมงมุม มด

หรือแม้แต่แบคทีเรีย สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

จะเกิดความวุ่นวายกันทั้งโลกเลย

 ตอนนี้หลายประเทศกำลังเดือดร้อน

เพราะผึ้งไม่รู้หายไปไหน ตายไปเยอะมาก

 ชาวสวนชาวไร่เลยพากันเดือดร้อน

เพราะต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสร

 หลายแห่งต้องผสมเกสรเองเพราะผึ้งหายไป

ธรรมชาติที่อยู่กันได้อย่างราบรื่นกลมกลืน

ก็เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ

 หลายคนไม่ทราบว่า

ออกซิเจนที่เลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งโลก

และมนุษย์เจ็ดพันล้านคนนั้น

ส่วนใหญ่มาจากแพลงตอน

 ซึ่งเป็นจุลชีพในมหาสมุทรทั่วโลก

 แพลงตอนมี ๒ ประเภท คือ ที่เป็นสัตว์และพืช

ถ้าเป็นพืชเรียกว่าไฟโตแพลงตอน อยู่ตามมหาสมุทร

นอกจากเป็นอาหารของปลาวาฬแล้ว

 ยังเป็นตัวการผลิตออกซิเจนเป็นอันดับต้นๆของโลก

 แม้ว่ามันจะตัวเล็กมาก แต่ว่ามีความสำคัญต่อชีวิต

ของสัตว์และคนทั้งโลก

หากแพลงตอนสูญพันธุ์ไป ก็เดือดร้อนทั้งโลก

สิ่งเล็กๆ ไม่ใช่ว่าไร้ค่า

 และสิ่งที่ดูเหมือนไร้ค่า ที่จริงแล้วมีความสำคัญมาก

 ขอให้เราคำนึงถึงความข้อนี้ อย่าดูถูกสิ่งเล็กน้อย

 และอย่าดูถูกตัวเองว่าไม่มีคุณค่า ไร้ความสำคัญ

เราแต่ละคนมีความสำคัญและความสามารถทั้งนั้น

 อยู่ที่ว่าสำคัญเรื่องไหน สามารถเรื่องอะไร

ในทำนองเดียวกันคนอื่นก็สำคัญเช่นกัน

อย่าดูถูกว่าเขาต่ำต้อยไร้ค่า

 หากคิดเช่นนั้นเราอาจเสียใจในภายหลังก็ได้.

พระไพศาล วิสาโล








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 พฤษภาคม 2559
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 9:58:44 น.
Counter : 1261 Pageviews.

0 comment
### ใจรู้สึกอย่างไร ###













ใจรู้สึกอย่างไร?

“คนเราจะทุกข์หรือไม่....

ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรมากระทบกับเรา

แต่อยู่ตรงที่เรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น

หรือทำอย่างไรกับมันต่างหาก

แม้จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับเรา

แต่ถ้าเราทำใจรับได้

ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม

แม้มีเงินทองไหลมาเทมา

แต่ถ้าเราคิดว่ามันน้อยเกินไป

ทำให้รวยไม่พอหรือไม่เท่าคนอื่น

เมื่อนั้นใจเราก็เป็นทุกข์ทันที”

พระไพศาล วิสาโล








ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตเพื่อธรรมะและธรรมชาติ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 พฤษภาคม 2559
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 9:42:46 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ