Group Blog
All Blog
### การเวียนว่ายตายเกิดคือเปลี่ยนร่างกาย ###









“การเวียนว่ายตายเกิดคือเปลี่ยนร่างกาย”


การเวียนว่ายตายเกิดคือเปลี่ยนร่างกายไปเรื่อยๆ

 เพราะร่างกายของทุกคนนี้ก็อยู่ได้แค่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี

ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตามก็เลยต้องกลับมาเกิด

แล้วก็กลับมาแก่ มาเจ็บ มาตาย แล้วก็ทุกข์กับมัน ทุกที

 เวลาที่เข้าโรงพยาบาลสุขหรือทุกข์กัน

 มีพระพุทธเจ้านี้ท่านบอกไม่อยากจะกลับมาเกิด

มาเเก่ มาเจ็บ มาตาย ท่านก็เลยไปหาวิธีไปศึกษา ไปบวช

 เพราะว่าคนที่จะเข้าถึงจิตได้นี้จะต้องเข้าสมาธิ

 ต้องมีศีลถึงจะเข้าสมาธิได้ ต้องอยู่คนเดียว

 อยู่ในป่าเงียบๆ นั่งทำใจให้สงบ

พอใจสงบก็จะเข้าไปถึงตัวจิต ตัวเรานี่แหละ

พวกเราไม่เคยมองเห็นตัวเราหรอก

ถ้าอยากจะเห็นตัวเรานี้ต้องนั่งสมาธิ

พอทำใจให้สงบแล้วเราก็จะเห็นตัวเรา

 แล้วเราก็จะเห็นว่าตัวที่ทำให้เราต้องมาเกิดอยู่เรื่อยๆ

 ก็คือความอยากของเรานี่แหละ ความอยากต่างๆ

อยากดู อยากฟัง ก็ต้องมีร่างกายใช่ไหม

 ถ้าไม่มีร่างกายดูได้ไหม ฟังได้ไหม

 สมมุติว่าร่างกายนี้ตายไป คุณยังอยากฟังอยู่

 อยากดูอยู่ คุณจะทำอย่างไร คุณก็ไปหาร่างกายอันใหม่

 ก็ไปเกิดใหม่ ทีนี้ไปเกิดใหม่

ก็ไม่มีร่างกายอันไหนที่เกิดมาแล้วไม่ตาย

 ได้ร่างกายมากี่ร่าง เกิดมาแล้ว

เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายแล้ว

 ก็มาทุกข์กับมัน เพราะเวลาได้ร่างกายมาทีไร

ก็ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ใช่ไหม

ร่างกายนี้เป็นของเราหรือเปล่า

 ความจริงร่างกายนี้ก่อนที่มันจะโผล่ขึ้นมาได้นี้มันอยู่ที่ไหน

 เคยคิดบ้างหรือเปล่า มันมาจากใครล่ะ

แล้วเวลาที่พ่อแม่ยังไม่ได้เจอกันมันอยู่ที่ไหน

แล้วเราอยู่ตรงไหนละ เดี๋ยวร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเราแล้ว

 แสดงว่าเรามีกายทิพย์ รอจังหวะที่จะได้ร่างกายอันใหม่

 เหมือนเรารอซื้อรถยนต์คันใหม่

รถเก่าพังไป เราก็ไปซื้อคันใหม่

รถยังไม่ผลิตเราก็ไปซื้อใบจองไว้ก่อน

ทีนี่พอร่างกายนี้เริ่มผลิต พอตั้งครรภ์ปั๊บเราก็ไป

ถ้าจังหวะถึงคิวเราที่จะไปได้ร่างกายใหม่เราก็ได้แล้ว

แล้วอีก ๙ เดือนก็ออกมา

เราก็ขับมันออกมาจากท้องแล้ว ใช่ไหม

แล้วเราก็อยู่กับมันมาทุกวันเราก็คิดว่าเป็นมันเลย ใช่ไหม

 แล้วเดี๋ยวถึงเวลาแยกกันมันไปแยกกันที่ไหน

 แยกกันที่โรงพยาบาล แยกกันที่เมรุใช่ไหม

ร่างกายมันก็กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ

เวลาตายไปมันกลายเป็นอะไร

เวลาไปเผา ก็กลายเป็นขี้เถ้ากลายเป็นเศษกระดูกไป

 แล้วเวลามันมา มาจากอะไร

ออกจากท้องแม่ต้องทำอะไร ต้องหายใจใช่ไหม

หายใจก็เอาธาตุลมเข้าไปแล้ว

กินนมก็เอาธาตุน้ำเข้าไปแล้ว แล้วในน้ำนมก็มีธาตุดิน

 มีสารอาหารต่างๆ อันนั้นก็เป็นธาตุดินแล้ว

มันก็ทำให้เกิดธาตุไฟขึ้นมา

เวลาธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุดินมาผสมกัน

ก็ทำให้เกิดความร้อนขึ้นมาในร่างกาย

ร่างกายก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

ตอนนี้เราเอาธาตุลมเข้าไปอีกใช่ไหม

เดี๋ยวหิวน้ำก็ดื่ม เติมธาตุอยู่ตลอดเวลา

เดี๋ยวก็เติมดินใช่ไหม เวลากินข้าว ข้าวมาจากไหน

 ข้าวมาจากท้องฟ้า หรือมาจากดิน

แล้วต้องมีน้ำทำให้ข้าวโตไหม

 มันก็ต้องมีทั้งดินทั้งน้ำแล้ว ก็ต้องมีทั้งไฟ

 ต้องมีความร้อน ถ้าเป็นหิมะนี้ต้นมไม้ก็ไม่ขึ้น

 ถ้ามันหนาวมันก็ต้องมีธาตุไฟ

มีความร้อน อุณหภูมิ นี่เราก็ต้องเอาธาตุดินเข้ามา

 เราถึงโตขึ้นมาได้

 กินนมกินน้ำกินข้าวกินผักกินอะไรนี้มันก็เป็นดินน้ำลมไฟ

 แล้วพอเข้ามาในร่างกาย มันก็มาเปลี่ยนเป็นอะไร

 ผม ขน เล็บ ฟัน ผมก็ยาวขึ้น เล็บก็ยาวขึ้น

ฟันก็ยาวขึ้น หนัง เนื้อก็ใหญ่ขึ้น

 กระดูกก็ใหญ่ขึ้นก็มาจากอะไร จากอาหารที่เรากินเข้าไป

 แล้วตัวเราอยู่ตรงไหน เราอยู่ตรงไหนในร่างกายนี้

 ไม่มีส่วนเราเลย มีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น

 เราเพียงแต่เป็นคนขับ คนขับร่างกายอันนี้

เราเป็นคนสั่งให้ร่างกายมาที่นี่วันนี้

ถ้าเราไม่สั่งมันไม่มาหรอก ใช่ไหม

เราคิด ใจเราเป็นผู้คิด ผู้รู้

 เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เรารับจากตาหูจมูกลิ้นกาย

 ถ้าเราหลับตา ก็จะไม่เห็นภาพเราแล้ว

 ถ้าปิดหูก็จะไม่ได้ยินเสียงแล้ว

ผู้ที่ได้ยินเสียงที่รับภาพนี้ไม่ใช่ร่างกาย

ร่างกายเป็นเหมือนกล้อง กล้องนี้ก็ถ่ายภาพอยู่

 ตาเราก็ถ่ายภาพอยู่ แต่คนที่ดูภาพนี้

ไม่ใช่ร่างกายคือใจนี้ กายทิพย์นี่แหละเป็นตัวที่รู้

 ตัวรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้แล้วก็เกิดกิเสขึ้นมา

เกิดตัณหาความอยาก พออยากแล้วก็ต้องดูอยู่เรื่อยๆ

 อยากดูภาพนี้แล้ว อยากดูภาพนั้น

 อยากได้ยินเสียงนั้นอยากได้ยินเสียงนี้

อยาก พอเกิดความอยากขึ้นมาก็เลยรักร่างกาย

 หวงร่างกายขึ้นมา เหมือนเราหวงกล้อง

ถ้าเราใช้กล้องเราก็หวงมัน ใช้มือถือนี้เราก็หวงมัน

เราไม่อยากจะให้มันเสีย ไม่อยากจะให้มันหายไป

 ทีนี้ถ้ามือถือหายไป ทำอย่างไร เดือดร้อนไหม

 ติดต่อกับใครไม่ได้ พอมือถือเสียหายไปทำอย่างไร

 รีบไปที่ร้านเลยใช่ไหม ซื้อใหม่เลย

ร่างกายก็เป็นเหมือนมือถือ ใช่ไหม

พอร่างกายนี้ตายไปทำอย่างไรก็ไปซื้อใหม่เลย

เวลาจะซื้อก็ต้องรอคิวก่อน

ช่วงรอคิวก็ไปที่สวรรค์หรือไปที่นรกก่อน

 ขึ้นอยู่กับบุญกับบาปที่เราทำไว้

นี่แหละคือเรื่องของพวกเรา เรื่องของร่างกาย

เราเป็นคนคิดใช่ไหม ร่างกายคิดไม่เป็น

 เวลาไม่มีร่างกายทิพย์

ร่างกายมันนอนแข็งทื่อ อยู่นั่นแหละ ใช่ไหม

 หรือเวลานอนหลับมันก็ไม่ทำอะไร

ตอนนั้นร่างกายทิพย์ปล่อยร่างกายไว้ชั่วคราวให้พักผ่อน

 ส่วนร่างกายทิพย์นี้ไม่ต้องไปพักผ่อนมันก็ไปเที่ยวต่อ

 ไปฝันต่อ ฝันร้ายฝันดีไปตาม อำนาจของบุญของบาป

ที่ทำเอาไว้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าอนาคตของเราจะไปไหน

 ก็ให้ดูที่ความฝันของเรานี้ เราฝันดีหรือฝันร้าย

ถ้าฝันร้ายอนาคตก็คือนรก

 ถ้าอยากจะแก้ได้ก็แก้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ก็พยายาม มาทำบุญบ่อยๆ แล้วเดี๋ยวก็จะฝันดี

 อย่าไปทำบาป ถ้าไปทำบาป ไปมีเรื่องมีราว

กับคนนั้นคนนี้ดื่มสุรายาเมาแล้ว ก็ไปทะเลาะวิวาท

ไปตีหัวคนนั้นแล้วก็ไปด่าคนนี้

มันก็จะสะสมบาปไว้ในใจสะสมนรกไว้ในใจ

ถ้าเราอยากจะสะสมบุญ สะสมสวรรค์ก็นี่ทำบุญบ่อยๆ

 ทำบุญทุกวัน วันละเล็ก วันละน้อย

 ใส่บาตรบ้าง ให้เงินคนนั้นคนนี้ ช่วยคนนั้นคนนี้บ้าง

 นี่เรียกว่าเป็นการทำบุญ ทำกับใครก็ได้

ไม่ต้องทำกับพระอย่างเดียว

ทำกับมนุษย์ทำกับสัตว์เดรัจฉานทำกับคนที่เรารู้จัก

ทำกับคนที่เราไม่รู้จักเป็นการสร้างสวรรค์ให้กับเรา

 เพราะเราจะรู้สึกดีใช่ไหม เวลาเราได้ช่วยเหลือคนอื่น

 เรารู้สึกอย่างไร ทุกข์หรือสุขแล้วทำไมไม่ชอบทำกัน

 ชอบไปสร้างความทุกข์ เวลาไปด่าคนนี้ใจสุขหรือทุกข์

แต่ชอบด่าเขาเหลือเกิน

ชอบสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง

ความสุขไม่ชอบสร้าง

 เพราะคิดว่ามันไม่มีผลตามมา

ความสุขความทุกข์ที่เราให้กับคนอื่นนี้

มันจะกลับมาหาเรา

ดังนั้นเรามาสร้างความสุขให้กับคนอื่น

 ช่วยเหลือคนอื่น แล้วเราก็จะได้รับความสุข

จากการช่วยเหลือคนอื่น

การที่เรามาช่วยเหลือพระนี้เรามีประโยชน์ ๒ เด้ง

 นอกจากได้รับความสุขจากการช่วยเหลือพระแล้ว

 เราได้คุยกับพระแล้วเราจะได้ยินได้ฟังธรรมะ

 ได้รู้จักตัวเราดีขึ้น อย่างวันนี้ถ้าไม่ได้มาที่นี่

ก็ไม่ได้ฟังเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้

เราก็ยังจะไม่รู้จักตัวเราว่า เป็นคนกันแน่

เราก็ยังคิดว่าเราเป็นร่างกายอยู่

แต่ตอนนี้เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นร่างกายแล้ว

ต่อไปเราก็ไม่กลัวแล้ว

 ร่างกายมันจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

เราก็ปล่อยให้มันแก่ มันเจ็บ มันตายไป

 เพราะเราห้ามมันไม่ได้

ยิ่งอยากให้มันไม่แก่ ก็ยิ่งทุกข์ทรมานใช่ไหม

แต่ถ้าเราไม่อยากเราจะไม่ทรมาน

เชื่อไหม ลองปลงดูซิ เจ็บก็เจ็บ

เจ็บก็ส่งเข้าอู่เหมือนรถนี้ ให้หมอรักษา

 หมอเป็นเหมือนกับช่างซ่อมรถ หมอก็ซ่อมไป

 ซ่อมไม่ได้เขาก็บอกว่า ซ่อมไม่ได้

ก็รอให้มันตายไป ตายไปก็ไม่เป็นไร

 เราไม่ได้ตายไปกับมัน

เราก็ไปรอที่สวรรค์ถ้าเราทำบุญเยอะๆ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 มิถุนายน 2559
Last Update : 22 มิถุนายน 2559 11:37:00 น.
Counter : 850 Pageviews.

0 comment
### ต้องพยายามหมั่นสร้างสติให้เป็นนิสัย ###








“ต้องพยายามหมั่นสร้างสติให้เป็นนิสัย”

อย่าขี้เกียจในการสร้างสติ ต้องขยัน

ทำให้มันเป็นนิสัยไปเลย

 ถ้าเรามีสติอย่างต่อเนื่องมีระดับของสติ ที่ไม่หย่อนยาน

 เวลานั่งสมาธิมันจะสงบและนั่งได้นาน

 แต่ถ้าเราขี้เกียจพุทโธๆ ขี้เกียจสร้างสติ

เหมือนเติมน้ำมันรถนี้ ถ้าเราเติมน้ำมันรถอยู่เรื่อยๆ

 วันก็จะวิ่งไปได้ไกล ถ้าเราขี้เกียจเติมน้ำมัน

เดี๋ยวมันก็จะวิ่งไปไม่นาน น้ำมันก็หมดมันก็ไปไม่ถึงไหน

ดังนั้นต้องพยายามหมั่นสร้างสติให้เป็นนิสัย

ใช้พุทโธๆไปก็ได้ ใช้การเฝ้าดูร่างกายไปก็ได้

 ร่างกายทำอะไรก็ จดจ่ออยู่กับการกระทำของร่างกายไป

อย่าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องอื่น

ให้เฝ้าดูการทำงานของร่างกายไป ก็ถือว่ามีสติ

 คืออย่าปล่อยให้ใจคิด อย่าปล่อยให้ใจไปคิดอดีต

 คิดถึงอนาคต ให้ใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน

 ใช้พุทโธดึงเข้ามาก็ได้

ใช้การเฝ้าดูการทำงานของร่างกายก็ได้

กำลังแปรงฟันก็ให้ดูที่แปรงฟันอย่างเดียว

 อย่าไปคิดเรื่องอื่น

กำลังล้างหน้าก็อยู่กับการล้างหน้าอย่างเดียว

 อย่างนี้เรียกว่าการสร้างสติ

แล้วพอเวลานั่งสมาธิ มันก็จะนิ่ง

อยู่กับลมมันก็จะอยู่กับลมมันก็จะไม่ไปไหน

อยู่กับพุทโธมันก็จะอยู่กับพุทโธแล้ว มันก็จะนิ่ง

จะนั่งได้นาน จะสงบ

ต้องพยายามสร้างสติ ต่อไปมันจะเป็นอัตโนมัติไป

ที่เรียกว่า “สติปัญญาอัตโนมัติ” พอเราสร้างบ่อยๆ

แล้วมันจะติดเป็นนิสัย แล้วมันจะเป็นส่วนหนึ่งของเราเลย

มันจะมีนิสัยส่วนหนึ่งคอยระมัดระวังคอยดูคอยอะไร

อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา จะไม่เผลอไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

 พยายามสร้างไปเรื่อยๆ แล้วสติตัวนี้เราเอาติดตัวไปได้

 ไปเกิดชาติหน้าเราก็ทำต่อได้เลยไม่ต้องไปเริ่มต้นที่ศูนย์

คนบางคนมาเกิดชาตินี้นั่งสมาธิได้เลย

นั่ง ๕ นาที ก็สงบเลย

 เพราะชาติก่อนเขาสร้างสติไว้มาก

พอเขานั่งปั๊บก็สงบเลย

คุณแม่ชีแก้วนี้นั่ง ๕ นาทีก็สงบ

 เพราะฝึกสติมากในชาติก่อนๆ

การสร้างสตินี้เป็นของที่มีแต่คุณมีแต่ประโยชน์

ไม่มีโทษแล้วเป็นสมบัติ ที่เราเอาติดตัวไปได้

แล้วเป็นกุญแจดอกสำคัญ

ในการที่จะไปสู่พระนิพพาน

ถ้าไม่มีสติก็จะไม่มีสมาธิ

ไม่มีสมาธิก็จะเจริญปัญญาไม่ได้

 ไม่มีปัญญาก็ฆ่ากิเลสไม่ได้ ไปนิพพานไม่ได้

ดับทุกข์ไม่ได้ ทุกอย่างเกิดจากการมีสติก่อน

สตินี้เหมือนกุญแจรถยนต์นี้

ถ้าไม่มีกุญแจ รถยนต์ก็ไม่ไปไหนไม่ได้แล้วใช่ไหม

 ต้องมีกุญแจรถยนต์ เปิดประตูเข้าไป

สตาร์ทเครื่องแล้วก็สามารถขับไปไหนมาไหนได้

 สตินี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติแล้วนั่งสมาธิก็สงบ

สงบก็มีความสุข ก็จะตัดกิเลสได้

ถ้าเห็นว่าการทำตามกิเลสเป็นทุกข์

ทำแล้วทุกข์ก็ทำไปทำไม

อยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมันทุกข์

อยากไปทำไม สู้อย่าไปอยากไม่ดีกว่าหรือ

ถ้ามีสมาธิมันก็หยุดความอยากได้

ถ้าไม่มีสมาธิถึงแม้จะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็หยุดไม่ได้

 อย่างตอนนี้พวกเรารู้ว่า อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ

 อยากไม่ตายเป็นทุกข์แต่หยุดมันได้หรือเปล่า

 ลองไปนั่งสมาธิดูซิ พอนั่งสมาธิพอจิตสงบแล้ว

รู้ว่าอยากแบบนี้เป็นโทษเป็นทุกข์ก็จะไม่อยาก

 เหมือนคนที่จะเลิกบุหรี่เลิกสุราก็แบบเดียวกัน

ถ้านั่งสมาธิได้ เลิกบุหรี่ได้ เลิกสุราได้

ถ้ารู้ว่าดื่มสุราแล้วเป็นทุกข์ดื่มไปทำไม

ดื่มแล้วก็เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ต่อไปกระเพาะ ลำไส้ ตับ ไต

 คนที่ดื่มสุรานี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยไข้เจ็บ

หลายชนิดด้วยกัน

 แต่ที่ดื่มไปเพราะว่าไม่รู้ว่า มันเป็นโทษ

การรู้ว่ามันเป็นโทษก็เพราะมีปัญญา

แต่รู้แล้วหยุดไม่ได้ก็เพราะไม่มีสมาธิ

ก็ต้องนั่งสมาธิให้ได้

 ถ้านั่งสมาธิไม่ได้ก็แสดงว่าไม่มีสติ

 ก็ต้องสร้างสติขึ้นมาก่อน

 พอสร้างสติมาแล้วเวลามานั่งใจจะนิ่งใจจะสงบ

 พอสงบแล้วพอรู้ว่าดื่มสุราแล้วเป็นโทษก็เลิกดื่มได้

เลิกได้หมด ติดสุราติดยาเสพติดขนาดไหน

ถ้ามีสมาธิ มีปัญญาเลิกได้หมด ติดร่างกายก็เลิกได้

พวกเราก็ติดร่างกายกันเหมือนติดยาเสพติด

ร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนยาเสพติดของพวกเราแล้ว

เสพกันทุกวัน แต่สักวันหนึ่งมันจะไม่มีให้เสพ

มันถึงเดือดร้อนกัน แต่ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

เราจะเลิกได้ ไม่ต้องเสพร่างกาย

 เรามีความสุขในสมาธิเราเสพความสุขดีกว่า

เราเสพความสุขจากสมาธิดีกว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย

 ไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันหมดจะอยู่กับเราไปตลอด

 จะไปกับเรา ร่างกายนี้ตายไป

เราก็เอาความสงบนี้ไปกับเราได้

เราก็ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่

ไม่ต้องกลับมาแก่มาเจ็บมาตายใหม่

การเจริญสติจึงมีคุณมีประโยชน์มหาศาล

ขอให้พวกเราพยายามทำกันเถิด

มีคุณค่ามากกว่ามีทองคำ เป็นร้อยตันเป็นพันตัน

 สู้เอาสติตัวเดียวดีกว่า

 มีทองคำเป็นร้อยตันพันตันก็ดับความทุกข์ของเราไม่ได้

ดับการอยากดื่มสุราไม่ได้ ดับการอยากสูบบุหรี่ไม่ได้

แต่มีสติแล้วหยุดได้ มีสติหยุดแล้วใช้ปัญญาสอนใจว่า

 การทำตามความอยากต่างๆนี้เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข

 แล้วเราก็จะเลิกทุกอย่างได้หมด พยายามลองดู

 ง่ายจะตาย คำว่าพุทโธคำเดียวมันยากหรือ

เด็กมันยังพูดได้เลย หลวงปู่มั่นสอนชาวเขาให้พุทโธ

หลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมอยู่ในป่า ชาวเขาแอบมาดู

เอ..ท่านกำลังทำอะไร

 เห็นท่านเดินไป เดินมากลับไปกลับมา

 ก็เลยไปถามว่าหลวงปู่ทำอะไร

หลวงปู่บอกหาพุทโธอยู่โว้ย..พวกชาวเขาก็ถามว่า

 พวกผมช่วยได้ไหม หลวงปู่มั่นก็บอกว่า ได้...

ชาวเขาก็ถามว่า ทำอย่างไรล่ะ... หลวงปู่มั่นบอก...

ก็ท่องพุทโธๆไปซิ เขาก็เลยได้ฝึกสติไป ช่วยหลวงปู่

อันที่จริงหลวงปู่กลับช่วยเขา ครูบาอาจารย์ท่านมีอุบาย

 เหมือนเราสอนเด็กเราต้องมีอุบายสอน

 บางทีบังคับมันไม่ยอมทำ

แต่ถ้าหลอกมันว่าทำแล้วดีมันก็จะทำ

 หรือทำให้แม่ก็อยากจะทำ

อย่างลูกนี้ถ้าบอกว่า มาวัดมากับแม่นี้ก็จะมา

แต่ถ้าจะให้มาเองนี้มันไม่มาหรอก ใช่ไหม

 แม่ก็ใช้อุบายนี้หลอกให้ลูกมาวัด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 มิถุนายน 2559
Last Update : 21 มิถุนายน 2559 10:20:58 น.
Counter : 762 Pageviews.

3 comment
### อย่าหลงในตัณหาจะทำให้เราเกิดทุกข์ ###











ชายหนุ่มทำโทรศัพท์มือถือหาย

 รู้สึกเป็นทุกข์อย่างมากเพราะเพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน

 แถมราคาก็แพงด้วย จึงไปหาหลวงพ่อขอคำปรึกษา

 เผื่อจะได้ของคืนมา

หลวงพ่อฟังปัญหาแล้ว

 แทนที่จะซักถามเรื่องโทรศัพท์มือถือ กลับถามว่า

“มีทองไหม ?”

“มีครับ”

“อีกไม่นานทองก็จะหาย” แล้วท่านก็ถามต่อว่า “มีรถไหม ?”

“มีครับ”

“อีกไม่นานรถก็จะหาย...แล้วมีแฟนไหม?”

“มีครับ”

“อีกไม่นานแฟนก็จะหาย”

ชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้นก็ได้คิด

ปัญหาถูกเปลื้องไปจากใจ

กราบหลวงพ่อแล้วเดินออกจากกุฏิด้วยสีหน้าที่ดีขึ้น

ชายหนุ่มไม่รู้สึกเป็นทุกข์ที่สูญโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป

 เพราะได้คิดว่านั่นเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

เมื่อเทียบกับความสูญเสียอีกมากมาย

ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 เขาคงระลึกได้อีกด้วยว่าความสูญเสียพลัดพรากนั้น

เป็นธรรมดาของชีวิต

 หลวงพ่อไม่ได้แช่งว่า ทอง รถ และแฟนของเขา

จะมีอันเป็นไป หากแต่ท่านพูดถึงสัจธรรมของชีวิต

ที่ไม่มีใครหนีพ้น เพราะมีกับเสียนั้นเป็นของคู่กัน

คนเรามักลืมคิดถึงธรรมดาของชีวิต

ที่ต้องมีการพลัดพรากสูญเสีย

 เมื่อมีหรือได้อะไรก็ตามก็ทึกทักเอาว่า

มันจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

เรายอมไม่ได้ที่มันจะพรากจากเราไป

(เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นฝ่ายละทิ้งมันไปเอง)

น้อยนักที่เราจะเผื่อใจนึกถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่เรามี .

พระไพศาล วิสาโล







ขอบคุณที่มา fb. พระไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 มิถุนายน 2559
Last Update : 21 มิถุนายน 2559 9:42:06 น.
Counter : 806 Pageviews.

1 comment
### ขยายใจให้ใหญ่ขึ้นด้วยการเป็นผู้ให้ ###









ขยายใจให้ใหญ่ขึ้น

“ใจของเรานั้นสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้

หากไม่ถูกรัดรึงด้วยความเห็นแก่ตัว

หรือความยึดติดในตัวตน

 คนที่คิดถึงแต่ตนเอง จิตใจจะคับแคบ

 และมีความสุขได้ยาก

ต่อเมื่อนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ จิตใจจึงจะขยายใหญ่

 และมีความสุขได้ง่ายขึ้น

เพราะเห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กลง

ยิ่งให้ก็ยิ่งมีความสุข ทำให้เห็นชัดว่า

ความสุขมิได้เกิดจากการมีการเสพเท่านั้น

ที่ประเสริฐและยั่งยืนกว่านั้น

คือความสุขที่เกิดจากการให้และการเกื้อกูลผู้อื่น”

พระไพศาล วิสาโล







ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโต เพื่อธรรมะและธรรมชาติ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 มิถุนายน 2559
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 10:32:29 น.
Counter : 1042 Pageviews.

1 comment
### อดทนพากเพียรเจริญสติ ###









“อดทนพากเพียรเจริญสติ”

หน้าที่ของศีล ๘ ที่จะเสริมสร้างความเพียรให้กับพวกเรา

 เพื่อที่เราจะได้มีเวลามาสร้างเหตุ

ที่จะทำให้ใจเราได้ผลจากการบำเพ็ญสมถภาวนา

 เหตุที่เราต้องมีก็คือ สตินี่เอง

เราต้องเจริญสติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ยากมาก

สำหรับพวกเรา สำหรับใจของพวกเรา

ที่ไม่เคยถูกควบคุมบังคับ ที่เคยถูกปล่อย

ให้ไหลไปตามกระแสของอารมณ์ความคิดปรุงเเต่งต่างๆ

 พอถูกบังคับให้อยู่กับอารมณ์เดียว เรื่องเดียว

 เช่นการบริกรรมพุทโธๆหรือการเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

การกระทำของร่างกายในทุกอิริยาบถ

ก็จะเกิดความรู้สึกอึดอัด เราก็ต้องมีคุณธรรมข้อที่ ๔

ก็คือความอดทน มันจะยากจะลำบากก็ต้องทนทำมันไป

 ฝืนทำมันไปเหมือนกับการกระทำ

สิ่งที่เราไม่เคยกระทำมาก่อน มันจะยากกว่า

การกระทำที่เราเคยทำมาแล้ว

เช่นถ้าเราถนัดมือขวา การใช้มือขวานี้จะรู้สึกง่ายสบาย

แต่พอต้องมาใช้มือซ้ายบังคับให้ใช้มือซ้ายนี้

มันจะไม่ถนัดและมันจะรู้สึกยากลำบาก

 แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำ

เพราะการปล่อยให้ใจไหลไป ตามกระแส

ของความรู้สึกนึกคิดนี้จะไม่ทำให้ใจสงบ

 จะไม่ทำให้ใจเป็นหนึ่ง จะไม่ทำให้ใจเป็นสุข

ที่จะมาใช้ต่อสู้กับความอยากต่างๆ ได้

ดังนั้นเวลาที่เราต้องเจริญสติ

เราต้องใช้ความขันติ อดทน ใช้วิริยะอุตสาหะ

 ความพากเพียร ใช้อธิษฐานสัจจะ คอยควบคุม

ให้เจริญสติให้ได้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นสัมปชัญญะ

คือมีสติตลอดเวลา ไม่เผลอไปคิดปรุงเเต่ง

 กับเรื่องนั้นเรื่องนี้จะอยู่กับพุทโธๆไป

หรือจะอยู่กับการเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

การกระทำของร่างกาย ในทุกอริยาบถ

 ถ้าเราสามารถควบคุมใจให้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

เช่นอยู่กับพุทโธได้ อยู่กับการเฝ้าดู

การเคลื่อนไหวของร่างกายได้ ใจก็จะเป็นหนึ่ง

 ใจก็จะนิ่งใจจะสงบ แล้วใจก็จะรวมเข้าสู่อุเบกขา

 เข้าสู่ความว่าง เข้าสู่ความสุข

ที่เต็มไปด้วยความอิ่มความพอ

พอเรามีความสุขอย่างนี้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะต้าน

ความอยากต่างๆได้

เพราะความอยากนี้มันเป็นความหิวปลอม

มันเป็นความรู้สึกที่หลอกเรา ว่าเราหิว

เราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้

แต่พอเรามีความอิ่มที่เกิดจากสมาธิ

ที่เป็นความอิ่มจริง เป็นความพอจริง

ถึงแม้ว่าจะเป็นความอิ่มความพอชั่วคราว

มันก็พอที่จะใช้สู้กับความอยากที่เป็นความหิวปลอมนี้ได้

ทำไมถึงเรียกว่าหิวปลอม

 เพราะว่าถ้าเราไม่ทำตามความอยาก

เราก็จะไม่รู้สึกว่าเราอดยากขาดแคลนแต่อย่างใด

 ถ้าใจเรามีความสงบ

ที่เรารู้สึกว่าเราหิวอดยากขาดแคลนก็เพราะว่า

ใจเราไม่สงบนั่นเอง

ใจเราไม่มีอาหาร คือความสงบ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ

จึงทำให้เราเกิดความรู้สึกหิวอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา

 จนติดเป็นนิสัยไป หลังจากที่ได้สมาธิได้ความอิ่มแล้ว

 นิสัยความหิวความอยากนี้มันก็ยังไม่ตายไป

 มันก็จะโผล่ออกมาเรื่อยๆ หลังจากที่เราออกจากสมาธิมาแล้ว

 แต่ถ้าเรามีความสงบแล้วและเราได้ปัญญา

จากพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า อย่าไปทำตามความอยาก

 เพราะการทำตามความอยากนี้

ไม่ใช่เป็นการให้ความสุขที่แท้จริง

แต่กลับเป็นการ สร้างความทุกข์ที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะความสุขนี้มันจะไม่มีวันหมดไป

 ต่อให้เราทำตามความอยากได้ มากน้อยเพียงไร

มันจะไม่ได้ทำให้ใจของเราอิ่ม ทำให้ใจของเราพอ

 แต่จะกลับทำให้ใจของเราหิวทำให้ใจของเราวุ่นวายไปอยู่เรื่อยๆ

วิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบและอิ่มอย่างถาวร

 ก็คือเราต้องไม่ทำตามความอยากเท่านั้น

 ให้เราดูสิ่งที่เราอยากได้ ว่าเวลาได้มาแล้ว

 มันมีผลอะไรกับจิตใจเรามันให้ความสุขเรานานสักเพียงไร

 บางทีมันให้เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง

แล้วมันก็จางหายไปแล้วมันก็จะเกิดความอยากที่จะได้ใหม่

ส่วนของที่ไม่จางหายไปของที่ได้มาแล้วยังมีอยู่

 มันก็กลับสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา

 เพราะเราได้ของอะไรมาเราก็มักจะรักจะหวงจะห่วง

เพราะเราอยาก จะให้ของที่เราได้มา

หรือบุคคลที่เราได้มานั้นอยู่กับเราไปเรื่อยๆ ไม่จากเราไป

แต่พอเราคิดขึ้นมาว่าเขาอาจจะ ต้องจากเราไปวันใดวันหนึ่ง

หรือเขาจากเราไปจริงๆ

เวลานั้นแทนที่เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราได้มา

 สิ่งที่เราได้มานั้นกลับกลายเป็นเหตุ

ที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

 การสูญเสียสิ่งที่เรารักไปนี้

มักจะทำให้เรา ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจกัน

 แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งที่เราได้มา

เราจะมาเศร้าโศกเสียใจร้องห่มร้องไห้กับอะไร

อันนี้ให้ใช้ปัญญาพิจารณา

ดูตามพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาและได้ทรงปฏิบัติมา

 พระองค์ทรงฝืน ความอยากทุกชนิด

ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ที่เรียกว่ากามตัณหา พระองค์ก็ทรงฝืนไม่ทำตาม

ภวตัณหา คือความอยากมี อยากเป็น

พระองค์ก็ทรงฝืนไม่กระทำ

วิภวตัณหา ก็ทรงฝืนไม่กระทำตามความอยาก

 พอไม่กระทำไปเรื่อยๆ

ความอยากก็จะอ่อนกำลังลงไปตามลำดับ

แล้วก็จะหมดไปในที่สุด

นี่แหละคือวิธีที่เราจะสร้างมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

 ให้เป็นไปอย่างถาวร ต้องสร้างด้วยวิปัสสนาภาวนา

 คือหลังจากที่เราได้สมถภาวนาคือความสงบแล้ว

เราก็เอาความสงบนี้มาต่อสู้กับความหิวความอยากต่างๆ

มาสนับสนุนปัญญา

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณา

 ให้พิจารณาว่าทุกอย่างไม่เที่ยงดีขนาดไหนก็ไม่เที่ยง

 ถึงเวลามันก็ต้องจากเราไป

ถ้าเรารักมันเราก็จะทุกข์

ของไม่ดีถ้าเราเจอมันเราก็จะทุกข์

ถ้าเราอยากจะให้มันหายไป มันก็หายไม่ได้

 เพราะมันเป็นอนัตตา มันไม่ได้เป็นของเรา

มันไม่ได้เป็นตัวเรา มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะสั่ง

มันหายไปได้ เช่นเวลาความแก่โผล่มา

เราจะสั่งให้มันหายไปไม่ได้

เราจะกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่ได้

เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะสั่งให้มันหายไปไม่ได้

เวลาที่มันจะตายขึ้นมา เราไปสั่งให้มันไม่ตายไม่ได้

 เราก็ต้องหยุดความอยาก อย่าไปสั่งอย่าไปอยาก

ให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เพราะมันจะทำให้เราต้องเครียด

ต้องทุกข์ทรมานใจไปเปล่าๆ

โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงแต่อย่างใด

 ความแก่ก็ยังต้องแก่ ความเจ็บก็ยังต้องเจ็บ

 ความตายก็ยังต้องตาย

 แต่ความเจ็บ ความแก่ ความตายนี้

 มันไม่ได้เป็นตัวปัญหา

มันไม่ได้เป็นตัวที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

 ตัวที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

ก็คือความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ

 อยากไม่ตายนี้ต่างหากอันนี้คือความจริงที่เรียกว่าปัญญา

 ที่เราสามารถพิจารณาและแยกแยะออกให้เห็นได้ว่า

 อะไรเป็นพิษเป็นภัยกันแน่

พวกเรากลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย

เหมือนกับกลัวเสือ แต่ความจริงมันเป็นเสือที่ไม่กัด

ตัวที่กัดเรา เรากลับไม่กลัว

เรากลับไม่รู้ว่ามันเป็นตัวที่กำลังกัดเรา

ตัวที่กำลังกัดเราก็คือตัววิภวตัณหานี้

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

ไม่ใช่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

คนที่ไม่มีความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เช่นพระอริยบุคคลทั้งหลายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี้

 ท่านไม่ทุกข์กับความแก่ ไม่ทุกข์กับความเจ็บ

 ไม่ทุกข์กับความตาย เพราะท่านเจอเสือที่แท้จริง

และได้ฆ่ามัน ท่านรู้ว่าเสือตัวนี้ก็คือวิภวตัณหานี่เอง

 ตัวที่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

 เพราะมันไม่มองความจริงมองแต่ความหลง

 คิดไปตามความหลง รักอะไรแล้ว

ก็ต้องให้มันอยู่กับเราไปตลอด

รักร่างกายนี้ก็ต้องการให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 ก็เลยสร้างเสือขึ้นมา เสือก็แท้จริงก็คือ

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

พอใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะแล้ว

ก็เลยรู้ว่า ต้องฆ่าตัวไหน ตัวที่จะต้องฆ่าก็คือ

ตัวความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนี่เอง

 ตัวนี้แหละที่เป็นเสือจริง เสือปลอมก็คือ

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันไม่กัดเรา

มันไม่ทำลายจิตใจของเรา

อันนี้จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีสมถภาวนา

ถ้าไม่มีสมถภาวนา เราจะไม่มีกำลัง

ที่จะพิจารณาความจริงอันนี้

 มันต้องพิจารณาในขณะที่ เกิดเหตุการณ์จริง

ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์จริง อย่างตอนนี้

เราพิจารณากันมันยังไม่ได้เป็นของจริง

 มันยังดับความทุกข์ไม่ได้ มันยังฆ่าเสือไม่ได้

ต้องรอให้เสือมาจริงๆก่อน

ต้องรอให้เกิดวิภวตัณหาขึ้นมาจริงๆ

การที่จะเกิดวิภวตัณหาขึ้นมา

ก็ต้องไปเจอความแก่ ความเจ็บ ความตายอย่างจริงๆ

 แล้วดูซิว่าจะทำใจได้หรือเปล่า

ทำใจให้ไม่ทุกข์กับความแก่

ความเจ็บ ความตายได้หรือเปล่า

 ถ้าทำได้ก็แสดงว่า

เราได้ฆ่าเสือ ตัวที่มาคอยกัดกินใจของเรา

นี่คือเรื่องของวิปัสสนาที่จะต้องเอามาใช้

ในการฆ่าเสือทั้ง ๓ ตัวนี้

เสือคือกามตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘

“อธิษฐาน สัจจะ วิริยะ ขันติ”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 มิถุนายน 2559
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 10:10:27 น.
Counter : 790 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ