Group Blog
All Blog
### วันวิสาขบูชา ###












“วันวิสาขบูชา”

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา 

  วันที่เราน้อมจิตน้อมใจบูชาพระบรมศาสดา

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ 

 ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งต่อสัตว์โลกทั้งหลาย

เพราะการปรากฏของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

ไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ การประกาศพระธรรมคำสอน

 ก็ไม่ได้ประกาศทุกๆพระองค์ ถ้าไม่ได้สั่งสอนสัตว์โลก

 ก็จะเป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า

ทรงหลุดพ้นจากความทุกข์เพียงพระองค์เดียว

ไม่ทรงเผยแผ่สั่งสอนสัตว์โลก

สัตว์โลกทั้งหลายก็เลยไม่ได้รับประโยชน์

 จากการปรากฏขึ้นของพระปัจเจกพระพุทธเจ้า

 เพราะไม่มีพระพุทธศาสนา

 ถ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน

ก็จะมีพระศาสนาปรากฏขึ้นมา

 ผู้มีศรัทธาก็จะได้รับประโยชน์จากพระศาสนา

อย่างพวกเราเป็นต้น

 ทำให้พวกเราดำเนินชีวิตไปอย่างร่มเย็นเป็นสุข

 อย่างเจริญรุ่งเรือง

การรำลึกถึงพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

   เพราะถ้าไม่รำลึกถึงพระพุทธเจ้า มัวแต่ไปทำมาหากิน

หาความสุขกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เราก็จะลืมพระพุทธเจ้า

  จะลืมพระพุทธศาสนา แล้วเราก็จะเสียสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์

 ที่จะช่วยเราในยามที่เรามีความทุกข์ไป

เพราะไม่มีอะไรจะดับความทุกข์ในใจของเราได้

 นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ต่อให้มีเงินทองกองเท่าภูเขาก็ยังหนีความทุกข์ไปไม่ได้ 

 ต่อให้เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นพระมหากษัตริย์ ก็ยังหนีความทุกข์ไปไม่ได้ 

 ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในใจแล้ว จะต้องตกเป็นเหยื่อ

ของความทุกข์ด้วยกันทุกคน

 พวกเราจึงเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา

เห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 จึงได้รำลึกถึงวันของพระพุทธเจ้า

วันนี้ เป็นวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

  ซึ่งเป็นวันเดียวกันแต่ต่างปีกัน คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖

   ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาสเช่นปีนี้ คือมีวันเพ็ญ ๑๓ ครั้ง

 ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ แทน

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประสูติ ได้เกิดมาในโลกนี้

จากนั้นอีก ๓๕ ปีก็ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

 ต่อจากนั้นก็ทรงสั่งสอนสัตว์โลกอีก ๔๕ ปี

 ให้มีดวงตาเห็นธรรม ให้มีปัญญา

ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ 

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

  ซึ่งในสมัยพระพุทธเจ้าก็มีผู้บรรลุ

เป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก 

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ไม่ต้องกลับมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตายอีกต่อไป

 หลังจากนั้นก็ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานในอายุพรรษาที่ ๘๐

 ต่อจากนั้นก็มีพระธรรมคำสอนเป็นศาสดา

 แทนพระองค์มาจนถึงวันนี้

 เวลาได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ได้ประพฤติปฏิบัติตาม

 ก็เท่ากับได้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธเจ้า

เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า

ธรรมวินัยที่ตถาคตได้ตรัสไว้ชอบแล้วนี่แล

  จะเป็นศาสดาของพวกเธอ

  พวกเธอจะไม่ได้อยู่โดยปราศจากศาสดา

 ถ้านำเอาคำสอนของตถาคตไปศึกษาไปปฏิบัติ

 จนมีดวงตาเห็นธรรม เธอก็จะได้เห็นตถาคตที่แท้จริง

  ที่อยู่ในใจของเธอนั้นแล 

 เพราะว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต 

 ผู้เห็นตถาคตคือผู้เห็นธรรม

จะเห็นธรรมได้ก็ต้องมีศรัทธาความเชื่อ

 แล้วก็นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติ

กับกายวาจาใจของตน ชำระกายวาจาใจให้สะอาด

 จนปรากฏเป็นดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา 

 นี่คือเรื่องของพระพุทธเจ้าของพวกเรา

ที่ประสูติมาเพื่อทำความดี

การมาเกิดของมนุษย์ก็มาได้ ๓ ลักษณะด้วยกันคือ

 ๑. มาทำความดี ๒. มาทำความชั่ว

 ๓. มาไม่ทำความดีหรือความชั่ว 

 สำหรับพระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาทำความดี

มาทำคุณทำประโยชน์ให้กับพระองค์และสัตว์โลก 

 พวกที่มาทำความชั่ว ก็มาสร้างความเดือดร้อน

 ความวุ่นวาย ความหายนะให้กับตนเองและผู้อื่น

 ส่วนพวกที่มาแบบกลางๆ ไม่ทำความดีหรือความชั่ว

ก็จะไม่ทำคุณทำประโยชน์ ไม่สร้างความเสียหาย

ความทุกข์ให้กับใคร การมาเกิดของมนุษย์

จึงมีอยู่ ๓ รูปแบบด้วยกัน 

 การมาแบบพระพุทธเจ้าเป็นการมาที่ดีที่สุด

  เพราะจะทำให้ตนและผู้อื่นได้รับความสุข

 ได้หลุดพ้นจากความทุกข์นั่นเอง

  เราจึงควรยึดเอาแบบฉบับของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง

  ทรงสอนให้ทำความดี เราก็ทำความดี ให้ละบาป

เราก็ต้องละบาป สอนให้ชำระกายวาจาใจให้สะอาด

 กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

ด้วยการปฏิบัติบูชา คือทำบุญให้ทาน รักษาศีล

 ปฏิบัติธรรมเป็นต้น ที่จะพาไปสู่ที่ดี ไปสู่ที่เจริญ

 ทั้งตัวเราเองและผู้อื่น

การบูชาที่ถูกต้อง ต้องบูชาด้วยการประพฤติ ด้วยการปฏิบัติ 

 การบูชามีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ 

  ๑. อามิสบูชา ๒. ปฏิบัติบูชา 

 อามิสบูชาได้แก่การบูชาด้วยเครื่องสักการะ

เช่นดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น 

 ส่วนการปฏิบัติบูชา ก็คือการทำความดี ละบาป

 กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง 

 การบูชาทั้ง ๒ ชนิดนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

 การปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่แท้จริง

 เพราะจะให้ประโยชน์กับผู้บูชาได้อย่างแท้จริง 

 เราจึงต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

 และปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ทรงสอนให้ทำดีก็หมายถึงให้มีความกตัญญูกตเวที

 สำนึกในบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณ

เช่นบิดามารดาครูบาอาจารย์เป็นต้น

ท่านเป็นผู้ที่ให้เรามากกว่าเราให้ท่าน

 ท่านให้กำเนิดกับเรา ให้ความรู้กับเรา 

  ให้เราได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 บุญคุณของท่านจึงมีมาก เราจึงควรตอบแทนบุญคุณท่าน

 ด้วยการแสดงความเคารพ ความกตัญญูกตเวที

มีโอกาสใด มีเวลาใด ที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้

ก็ควรทำ ถ้ามีฐานะพอที่จะเลี้ยงดู

ให้ท่านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขก็ต้องเลี้ยงดูท่าน

ให้ท่านอยู่อย่างสุขอย่างสบายเท่าๆกับที่เราอยู่กัน

  อย่าให้พ่อแม่อยู่อย่างลำบากลำบน

แต่เราอยู่อย่างสุขอย่างสบาย

 อย่างนี้ถือว่าไม่มีความกตัญญู

 ต้องคิดถึงพ่อแม่เป็นอันดับแรก มากกว่าคิดถึงตัวเรา

 เราต้องเสียสละเหมือนกับที่พ่อแม่เสียได้สละให้กับเรา

  เสียสละเพื่อให้พ่อให้แม่ได้สุขได้สบาย

 ไม่ทำให้เราเสียหายล่มจม แต่จะทำให้เราเจริญรุ่งเรือง

 เพราะคนที่มีความกตัญญูเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่

จะเป็นคนที่น่ารัก น่าชื่นชมยินดี น่าสนับสนุน

น่าคบค้าสมาคม ไม่มีใครรังเกียจ

ไม่มีใครประณามว่าชั่วช้าเลวทราม

แต่คนที่ไม่มีความกตัญญูนี่แล จะไม่มีใครชื่นชมยินดี

ยกย่องสรรเสริญ คบค้าสมาคมด้วย

นี่คือความดีประการที่ ๑ ที่พวกเราทุกคนควรทำกัน

 เป็นพื้นฐานของความดีทั้งหลาย

  เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วอย่าให้ด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉาน

 แม้แต่สุนัขมันยังรู้จักคุณของคนที่เลี้ยงมัน

  เวลามันเห็นเจ้าของมันจะดีอกดีใจ กระดิกหาง

วิ่งล้อมหน้าล้อมหลัง เอาอกเอาใจเจ้าของ

  เราเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน

 อย่าให้สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าเรา

ด้วยการไม่มีความกตัญญูกตเวที

นอกจากมีความกตัญญูแล้วก็ให้มีความเคารพ

 มีสัมมาคารวะ ให้รู้จักที่สูงที่ต่ำ ในโลกนี้มีคนสูงต่ำไม่เท่ากัน 

 จะถือเท่ากันหมดไม่ได้ คนที่สูงกว่าเราก็ต้องให้ความเคารพ

  คนที่ต่ำกว่าเราก็ให้ความกรุณาสงสาร ให้ความเมตตา

คนที่เท่าเราก็ให้ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน 

 ควรปฏิบัติให้สมกับฐานะ เช่นผู้มีพระคุณ บิดามารดา

 ครูบาอาจารย์ ปู่ย่าตายาย ผู้หลักผู้ใหญ่

 ก็ต้องให้ความเคารพ

 เพราะจะทำให้เราเป็นคนดีเป็นคนเจริญนั่นเอง

นอกจากทำความดีแล้ว ก็ทรงสอนให้ละบาป

 ไม่ทำความชั่ว ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์

ประพฤติผิดประเวณี พูดโกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา

  เพราะการกระทำทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นโทษ

 ทั้งกับตัวเราและผู้อื่น ทำให้ตกทุกข์ได้ยาก 

 ต้องใช้เวรใช้กรรมทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆไป

จึงไม่ควรทำบาป ถ้าไม่อยากตกอยู่ในบ่วง

ของความทุกข์ความลำบาก

ประการสุดท้ายก็ทรงสอนให้ต่อสู้กับความโลภ

 ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเหมือนเชื้อโรค

ถ้ามีอยู่ในร่างกายก็จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

 เราจึงต้องกำจัดด้วยธรรมโอสถ คือทำจิตให้สงบ

แล้วก็เจริญปัญญา พิจารณาให้เห็นว่า

 สิ่งที่เราโลภเราโกรธเราหลงนั้น ไม่เที่ยง

 มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ไม่ต้องไปอยากได้

เพราะเวลาจากไปเราจะเศร้าโศกเสียใจ

เวลาโกรธใครก็ไม่ต้องไปทำร้ายไปฆ่าเขา

เพราะเดี๋ยวเขาก็ตายไปเอง

 เพราะเกิดมาแล้วไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายไปด้วยกันทุกคน

 ใครทำบุญทำกรรมอะไรมา

ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไปใช้บุญใช้กรรม 

 ไม่ต้องไปสร้างเวรสร้างกรรม เพราะจะย้อนกลับมาหาเรา

  เวลาโกรธก็ทำใจให้นิ่งเฉย ให้อภัย

 ไม่จองเวร แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไป

 ไม่ช้าก็เร็วเขาก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมของเขา

ไปตกทุกข์ได้ยาก ไปตายในที่สุด

ไม่ต้องไปทำอะไรให้เสียเวลา ให้เหนื่อยเปล่าๆ

นี่คือวิธีกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ด้วยการเจริญปัญญา

ให้คิดเสมอว่าไม่มีอะไร เที่ยงแท้แน่นอน

 ไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอด

เวลาอยากจะได้อะไร ก็พยายามมองให้เห็นว่า

มีความทุกข์ด้วย ไม่ใช่มีความสุขอย่างเดียว 

 เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็จะมีความสุขดีอกดีใจ

แล้วก็ต้องมาห่วง มากังวล มาดูแลรักษา

มาเสียอกเสียใจร้องห่มร้องไห้

 เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องจากเราไป อย่าไปเอามาดีกว่า

 คนเราไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากมายก่ายกอง

 ถ้ามีปัจจัย ๔ พอเพียงก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่นๆอีก

 ถ้าไม่อยากมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้หาความสุขภายในใจ

ด้วยการปล่อยวางความโลภ ความโกรธ ความหลง

อย่าไปอยากได้อะไร อย่าไปโกรธใคร อย่าไปหลงอะไร

 แล้วจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นตัวอย่าง

 มีผู้นำเอาไปศึกษาและปฏิบัติตาม

จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก

  พวกเราก็อยู่ในฐานะที่จะดำเนินตามพระพุทธเจ้าได้

  ถึงแม้จะไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

 อย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตของเราไม่วุ่นวาย

 ไม่ทุกข์มากจนเกินไป เวลาอยากจะได้อะไร

ถ้าไม่มีปัญญาที่จะหามาได้ ก็ตัดใจไปเสีย

ไม่มีก็ไม่ตาย คิดเพียงเท่านี้ก็จะสบายใจ

 ไม่ต้องไปเป็นหนี้เป็นสิน ไม่ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย

เพื่อหาเงินหาทองมาซื้อสิ่งที่เราอยากได้

  ที่ไม่ได้ทำให้เราวิเศษให้เราสุขมากขึ้นเลย

แต่จะทำให้ทุกข์มากขึ้น ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว

การดำเนินชีวิตด้วยการทำความดี คือมีความกตัญญู

มีสัมมาคารวะ ละบาป กำจัดความโลภ ความโกรธความหลง

 ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย จะมีความร่มเย็นเป็นสุข

 ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

 จึงขอให้น้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชานี้

แล้วความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของท่าน

 ก็จะเป็นผลที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


...................................

กัณฑ์ที่ ๓๓๓ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

(กำลังใจ ๓๕)

“วันวิสาขบูชา”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 พฤษภาคม 2559
Last Update : 20 พฤษภาคม 2559 10:15:14 น.
Counter : 661 Pageviews.

0 comment
### วิธีวัดกำลังของตัณหากับกำลังของธรรม ###












“วิธีวัดกำลังของตัณหากับกำลังของธรรม”

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหาก็มีอยู่ง่ายๆคือ

 เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งเฉยๆ

สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย

ไม่ลุกจากเก้าอี้จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้

จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้

มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ

 รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน

จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร

 รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้ ต่อสู้กับความอยาก

ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้ ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ

ห้ามเถลไถลไปที่อื่น เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ

 ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้

ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

 ดูว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่

 น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย

เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง

ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู

 ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู

 ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรา

กับของกิเลสตัณหา ใครจะมีมากกว่ากัน

นี่เป็นวิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย

 นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ

 ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้

 นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร

 ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง

ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา

 ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่

 เวลาเกิดความอยากลุก ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย

พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔

ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก

ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก

ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู

 นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ

 แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก

จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก

นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข เพราะใจไม่สงบ

 ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ที่จะดับความอยาก

ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา กำหนดสถานที่

 กำหนดเงื่อนไข ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด

 สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่คลุกคลีกัน

 ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง ควบคุมการบริโภคอาหาร

 รับประทานพอประมาณ รับประทานมื้อเดียวก็พอ

เจริญสติอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย

จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด

 จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้

แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา

 จะนั่งเฉยๆได้ จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ

 พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข ที่ดีกว่าความสุข

ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ

 ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา

เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์ เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก

จะสุขตอนที่ได้เสพ แต่สุขเดี๋ยวเดียว

 เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ

 เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส

ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว

 เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย

ถ้าได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ กิเลสก็จะออกมา

มาชวนให้ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ชวนไปเปิดตู้เย็นหาเครื่องดื่ม หาขนมรับประทาน

ก็ต้องใช้ปัญญาว่า ถ้าต้องการดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า

 ถ้าต้องการรับประทานอาหารขนมนมเนย

 ก็ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลารับประทาน

 ต้องมีมาตรการควบคุม กีดกันไม่ให้กิเลสตัณหา

มาหลอกมาล่อ ว่าร่างกายต้องการอาหาร

จริงอยู่ที่เราต้องให้อาหารกับร่างกาย แต่ควรให้ตามเวลา

 ถ้าวันนี้รับประทานอาหารไปแล้ว ก็ถือว่าหมดสิทธิ์

ถ้าจะรับประทานอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องเป็นพรุ่งนี้

วันนี้ไม่เอาแล้วของขบเคี้ยวทั้งหลาย จะเอาแต่น้ำดื่มเท่านั้น

 เพราะร่างกายต้องการน้ำ แต่ไม่ดื่มน้ำที่มีรสต่างๆ

 เพราะเป็นการเสพรส เป็นกามตัณหาความอยากในรส

 ต้องดื่มน้ำเปล่าๆ ไม่มีรสชาติกลิ่นสีมาเกี่ยวข้อง

ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรสมีสีมีกลิ่น

แสดงว่าไม่ได้ดื่มเพื่อร่างกายเพียงอย่างเดียว

 แต่ดื่มเพื่อกามตัณหาด้วย

 คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

 เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะตัดกามตัณหา

ตัดภวตัณหา ตัดวิภวตัณหา จึงต้องระมัดระวัง

พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็ต้องหยุด ถ้าอยากไปโน่นมานี่ก็ต้องหยุด

เพราะเป็นภวตัณหา เช่นอยากไปหาเพื่อน อยากไปทำบุญ

 การอยากไปทำบุญในตอนที่ปฏิบัติ ก็เป็นโทษต่อการปฏิบัติ

 เพราะทำให้จิตออกข้างนอก

 นักภาวนา ผู้ปฏิบัติ ผู้ปลีกวิเวกจึงต้องระวังไม่ให้กิเลสหลอก

ให้ออกไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐิน ฉลองโบสถ์

 ฉลองเจดีย์ ฉลองวันเกิดครูบาอาจารย์

การกระทำเหล่านี้สำหรับนักบุญ

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมได้เลื่อนขั้นขึ้นมาแล้ว

 เป็นนักบุญมาแล้ว พอแล้ว ตอนนี้มาเป็นนักบวช

 มารักษาศีล มาสังวรอินทรีย์ มาปลีกวิเวก

มาต่อสู้กับกิเลสตัณหา เวลากิเลสตัณหาหลอกก็ต้องรู้ทัน

เช่นหลอกให้ไปงานศพไปงานวันเกิดของครูบาอาจารย์

 ไปงานบุญงานกุศลต่างๆ สำหรับนักบวชต้องถือว่า

ไม่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะจะขัดขวางการชาร์จกำลังใจ

 การสร้างกำลังใจ ที่จะใช้ในการฆ่าฟันกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจ การไปทำบุญกลับเป็นการสร้างกำลัง

ของกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น ต้องคิดอย่างนี้

 ออกไปแล้วก็ไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรส ไปพบคนนั้นคนนี้

ก็ได้พูดได้คุยกัน ก็จะไม่ได้เจริญสติ

 พอเขาเอาเครื่องดื่มมาให้ดื่มก็ต้องดื่ม ด้วยความเกรงใจ

 และด้วยความอยากที่ซ่อนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว

แต่ก็อ้างความเกรงใจ แต่ความจริง ถ้าไม่อยากแล้ว

ต่อให้เขายัดเข้าไปในปากก็จะยัดไม่เข้า เพราะไม่อยาก

 แต่ความอยากจะฉวยโอกาสอ้างความเกรงใจ

 นี่คือเล่ห์กลของกิเลสตัณหา ที่แสนละเอียด

 ที่จะหลอกล่อให้ออกจากการสร้างกำลังใจ

สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้อยู่ในสถานภาพใด

 เป็นนักบุญหรือเป็นนักบวช

 ถ้าเป็นนักบุญก็ต้องยอมรับผลของนักบุญว่าได้แค่สวรรค์

ถ้าเป็นนักบวชก็ต้องรักษาสถานภาพของนักบวชไว้

 เหมือนคนที่แต่งงานกับคนที่เป็นโสด มีสถานภาพต่างกัน

 จะทำตัวให้เหมือนกันไม่ได้

คนโสดจะไปเที่ยวกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ทำได้

แต่คนที่มีคู่ครองแล้วต้องไปกับคู่ครองเท่านั้น

พุทธศาสนิกชนก็มีหลายสถานภาพด้วยกัน

 ถ้าเป็นนักบุญก็ไปเลย ใครมาชวนทำบุญที่ไหน ไปเลย

ไปอินเดียไปเลย ใช้เงินให้หมด

 พอหมดแล้วจะได้ไม่ต้องไปไหน

 จะได้เป็นนักบวช พอเป็นนักบวชแล้ว จะไม่ไปไหนแล้ว

 จะเข้าป่าไปปลีกวิเวก จะไม่สังคมกับใคร ไม่ติดต่อกับใคร

 จะดึงใจให้เข้าข้างใน ด้วยการเจริญสติ

เดินจงกรมนั่งสมาธิ ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 ไม่ว่าจะทำภารกิจใด ที่จำเป็นจะต้องทำ

 ก็จะเจริญสติควบคู่ไปด้วย ปัดกวาดก็พุทโธไปด้วย

 หรือเฝ้าดูการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว

ไม่ให้จิตไปอดีตไปอนาคต ไม่ให้คิดถึงใคร

ให้จิตอยู่กับการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว

 เวลาขบฉันก็อยู่กับการขบฉันเพียงอย่างเดียว

เวลาซักจีวรก็อยู่กับการซักจีวร เวลาอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำ

 พอเสร็จกิจก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิทันที สลับกันไป

จนถึงเวลาพักผ่อนหลับนอน ก็พักผ่อนหลับนอน

 พอตื่นขึ้นมาลุกขึ้นมาก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ

จนกว่าจะถึงเวลาไปทำภารกิจต่างๆ

 เช่นไปทำอาหาร ไปรับประทานอาหาร

 ถ้าเป็นพระก็ออกบิณฑบาต กลับมาฉันก็ฉันด้วยสติ

 ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา

อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสร้างกำลังใจ

รักษาสถานภาพของนักบวช

ใครมาชวนให้ไปทำบุญที่ไหนก็ต้องปฏิเสธ

 ทำมาพอแล้ว ไม่มีเงินจะทำอีกแล้ว

นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดผล ต้องมีมาตรการ

 ต้องรู้จักสถานภาพของตน ว่าตอนนี้เป็นนักบุญหรือนักบวช

 ไม่อย่างนั้นกิเลสจะหลอกให้หลง แทนที่จะปฏิบัติ

จะหลอกให้ไปทำบุญ จะไม่เจริญก้าวหน้า

จะติดอยู่ที่การทำบุญ ไม่ยอมรักษาศีล ๘ ไม่ยอมปลีกวิเวก

ไม่ยอมภาวนา ไม่ยอมออกบวช

ถ้าไม่ออกบวช จะไม่สามารถสร้างกำลังใจ ให้มีกำลังเต็มร้อย

 ที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การทำบุญกำลังไม่พอ

ที่จะปราบกิเลสให้หมดไปจากใจได้

 แต่การทำบุญก็เอื้อต่อการปฏิบัติ

 ถ้าทำบุญจนเงินทองหมด ก็จะไม่มีเงินทองรับใช้กิเลส

 ก็ต้องเข้าวัด บังคับใจให้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

 ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาตินี้

ก็ต้องรีบทำให้มากที่สุด

เพราะไม่รู้ว่ามีเวลาเหลืออยู่มากน้อย

 ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่หรือไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 ให้คิดอย่างนี้ จะได้ไม่ประมาทนอนใจ

อย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนพระอานนท์ว่า

 ต้องระลึกถึงความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

 ให้รู้ว่าตายได้ทุกเวลานาที ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย

 หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย คิดอย่างนี้

จะได้ไม่ประมาทนอนใจ จะได้รีบทำกิจที่ควรทำ

คือสร้างกำลังใจให้มีมากกว่ากิเลสตัณหา

ถ้ามีก็จะฆ่ากิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้

 พอหมดแล้ว ก็หมดภารกิจ ไม่มีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป

 จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเสร็จกิจแล้ว

 ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว

ถ้าทำไม่เสร็จ ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่

 มาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ มาปฏิบัติใหม่

 มาคราวหน้าอาจจะไม่มีพระพุทธศาสนา

มาคอยนำทาง มาคอยสอน ก็จะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรกัน

เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในชาตินี้ ถ้ามันไม่ฝังอยู่ในใจ

 ถ้ายังไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความจำ

พอกลับมาใหม่ก็จะลืมๆ เพราะความจำหายไปได้

แต่ความจริงไม่หาย

ดังที่มีคนถามพระอรหันต์ว่า พระอรหันต์ลืมได้หรือไม่

 ท่านก็ตอบว่าลืมได้ ลืมชื่อคนนั้นลืมชื่อคนนี้

 ลืมสิ่งนั้นลืมสิ่งนี้ เช่นกินยาไปแล้ว

บางทีก็ลืมไปแล้วว่ากินหรือยัง ลืมวันเดือนปีได้

 มีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืม มี ท่านไม่ลืมความจริง

คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา

ผู้มีพระอริยสัจ ๔ อยู่ในใจแล้ว

 จะมีพระพุทธศาสนาอยู่กับตนเสมอ

จะรู้ว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ

นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก

ไม่ว่าจะเกิดในภพใด จะพบพระพุทธศาสนาหรือไม่

จะมีพระพุทธศาสนาที่อยู่ในใจ คอยกระตุ้น

ให้เจริญมรรคตลอดเวลา

มรรคคืออะไร ก็คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญานี่เอง

 ไม่มีวันลืม พระอริยะทุกองค์ อย่าว่าแต่พระอรหันต์

 พระโสดาบันก็ไม่ลืม

 พระโสดาบันจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

 เพราะท่านไม่หลงไม่ลืมทาง ไม่ลืมพระอริยสัจ ๔

มีแผนที่ติดตัว มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับใจ

 ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง

 รู้ว่าพระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

รู้ว่าพระอริยสงฆ์สาวกคือผู้เห็นอริยสัจ ๔

 ผู้มีอริยสัจ ๔ อยู่ในใจ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

ท่านไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

ไม่มีวันลืมพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดชาติใด

 จะมีพระพุทธศาสนานำทางเสมอ ท่านสามารถปฏิบัติเองได้

 ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาภายนอกใจนำทาง

นี่คือเรื่องของความจริงกับความจำ

ธรรมะที่ได้ศึกษาในเบื้องต้นจะเป็นความจำก่อน

 ถ้าไม่เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะเลือนรางไป

ได้มาฟังเทศน์กันหลายครั้งแล้ว

 พอกลับไปไม่กี่วันก็หายไปหมด

 จำไม่ได้เลยว่าพูดอะไรบ้าง ก็ต้องกลับมาฟังใหม่

ฟังแล้วกลับไปก็เหมือนเดิม

อาทิตย์ที่แล้วได้ฟังอะไรไปบ้าง จำได้หรือเปล่า

 นี่ก็กลับมาฟังใหม่อีก ก็ฟังเรื่องเก่าอีก

 เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องสติปัญญา ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 ก็ยังไม่เข้าไปในใจ ฟังแล้วก็ลืม

ถ้าไม่เอามาคิดอยู่เรื่อยๆก็จะลืม

ถ้าเอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะไม่ลืม

 เหมือนกับท่องสูตรคูณ หรือพิมพ์ดีดสัมผัส

ถ้าพิมพ์อยู่เรื่อยๆก็จะจำได้ แต่ถ้าหยุดพิมพ์ไปสักพักหนึ่ง

 เวลาจะพิมพ์ใหม่ จะไม่มั่นใจว่าจะพิมพ์ได้หรือไม่

ถ้าไม่ทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะลืมได้

จึงต้องนำเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังให้ฝังอยู่ในใจ

 ให้เป็นความจริง ด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๔๕๗ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“เติมกำลังใจ”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 พฤษภาคม 2559
Last Update : 19 พฤษภาคม 2559 15:03:19 น.
Counter : 677 Pageviews.

0 comment
### เมล็ดพืชของการตรัสรู้ ###

















“เมล็ดพืชของการตรัสรู้”

วันที่ท่านทั้งหลายได้มาวัด เพื่อมาปลูกฝังเมล็ดพืช

ของพระพุทธศาสนา เมล็ดพืชของการตรัสรู้

 เมล็ดพืชของมรรคผลนิพพาน ให้หยั่งลึกลงไปในใจ

 ให้เจริญเติบโต ให้ออกดอกออกผล

ให้เป็นที่พึ่งของตนได้ไปตลอด

การมาวัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปฏิบัติภารกิจ

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบให้พุทธศาสนิกชนได้กระทำกัน

 จึงเป็นการปลูกเมล็ดพืชของพระศาสนา

 เมล็ดพืชของการตรัสรู้ เมล็ดพืชของมรรคผลนิพพาน

ให้เจริญงอกงามเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่

ในเบื้องต้นต้องอาศัยการทำนุบำรุงดูแลอย่างใกล้ชิด

 เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ในระยะแรก

ที่ต้นไม้ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้

 ก็ต้องอาศัยผู้อื่นคอยให้น้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย

กำจัดแมลงต่างๆ ที่จะมาทำลายต้นไม้

ไม่ให้เจริญงอกงาม พอต้นไม้สามารถอยู่ตามลำพังได้แล้ว

 ก็ไม่จำเป็นต้องไปรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอีกต่อไป

 เพราะสามารถดูแลเลี้ยงดูตนเองได้แล้ว ฉันใด

เมล็ดพืชของพระพุทธศาสนาก็เป็นอย่างนั้น

ในเบื้องต้นต้องอาศัยการปลูกฝัง ต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน

 กำจัดแมลงและวัชพืชต่างๆ ไม่ให้มาทำลายต้นไม้

ของพระพุทธศาสนา ให้หยั่งรากลงลึกในจิตใจ

 จนกลายเป็นนิสัยสันดานแล้ว

ต่อจากนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนา

 มีใครมาสอน มาชักจูง ให้ไปในทางของพระศาสนา

 เพราะใจจะไปในทางของพระพุทธศาสนาโดยถ่ายเดียว

 การปลูกเมล็ดพันธุ์พืชของพระพุทธศาสนา

 ของการตรัสรู้ ของมรรคผลนิพพาน

จึงต้องให้ความใกล้ชิดในระยะเบื้องต้น

ต้องหมั่นดูแลรักษาใจ ให้เมล็ดพืชของพระพุทธศาสนา

หยั่งรากลึกลงไปในใจ ต้องมาวัดบ่อยๆ

ต้องปฏิบัติธรรมบ่อยๆ ต้องทำบุญให้ทานบ่อยๆ

จนติดเป็นนิสัย เมื่อเป็นนิสัยแล้ว

ก็จะรักการทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ในภพใดชาติใด

จะมีพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เป็นเรื่องสำคัญอีกต่อไป

 เพราะใจมีพระพุทธศาสนาฝังลึกอยู่ในใจแล้ว

 สามารถบำเพ็ญปฏิบัติไปตามลำพัง

จนถึงมรรคผลนิพพานได้

 ในเบื้องต้นเราจึงต้องให้ความสำคัญ ต่อการทำนุบำรุง

ดูแลรักษาต้นไม้ ของพระพุทธศาสนา

 ด้วยการบำเพ็ญบารมีต่างๆ ซึ่งเปรียบเหมือนกับ

การรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชและแมลงต่างๆ

 ไม่ให้มาทำลายให้ตายไป นี่คือหน้าที่ของเรา

 ถ้าปรารถนาการตรัสรู้ ปรารถนามรรคผลนิพพาน

 ปรารถนาการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เราต้องหมั่นดูแลรักษาเมล็ดพืช

ของพระพุทธศาสนา ปลูกฝังลงไปในดิน รดน้ำพรวนดิน

 จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นมา ด้วยการบำเพ็ญทานบารมี

คือการให้ ให้ในสิ่งที่เรามี ไม่จำเป็นต้องไปหา

ในสิ่งที่ไม่มีมาให้ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องบำเพ็ญ

แต่เรามีอย่างอื่นที่เราให้ได้ นอกจากทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทอง มีวิทยาทาน มีอภัยทาน มีธรรมทาน

ที่เราให้คนอื่นได้ นอกจากวัตถุทาน

 วัตถุทานก็คือข้าวของเงินทอง เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

 อย่างที่ญาติโยมนำเอามาถวายพระในวันนี้ เรียกว่าวัตถุทาน

 แต่นอกจากวัตถุทาน แล้วยังมีวิทยาทาน

 มีความรู้ที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้ สั่งสอนผู้อื่น

ให้รู้จักวิธีทำอะไรต่างๆได้ โดยไม่ไปคิดเงินคิดทอง

เรียกผลตอบแทน ก็เป็นการให้ทานเหมือนกัน

แล้วก็ยังมีอภัยทานคือการให้อภัย

เวลาไม่สบายอกไม่สบายใจกับใคร

 แทนที่จะอาฆาตพยาบาท ก็ให้อภัย

 ให้อภัยแล้วเขาก็ปลอดภัยจากเรา เราก็ปลอดภัยจากเวรกรรม

ที่จะตามมา เมื่อต่างฝ่ายต่างสงบ ต่างฝ่ายต่างนิ่ง

ปัญหาต่างๆก็หมดไป ถ้าไม่ให้อภัย ไปปองร้ายไปทำร้ายเขา

 ก็จะมีโทษตามมา ไหนจะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ

ไปเข้าคุกเข้าตะราง ไหนจะถูกเขาจองเวรจองกรรม

 ไหนจะต้องทุกข์ทรมานรุ่มร้อนจิตใจ

 ถ้าให้อภัยทานได้เรื่องเหล่านี้ก็จะไม่มีเลย

มีแต่ความสงบเย็นสบาย นอกจากนั้นก็ให้ธรรมทานได้

เรามาวัดมาฟังเทศน์ฟังธรรม มาศึกษามาปฏิบัติ

 ก็พอจะรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด

 รู้วิธีทำใจให้สงบให้สบาย ไม่ให้รุ่มร้อน

 เวลามีเพื่อนมีคนที่รู้จักทุกข์ใจเศร้าหมอง

 ไม่สบายอกสบายใจ ถ้ามาปรับทุกข์ก็ให้ธรรมะคำสอน

ของพระพุทธเจ้าไป จะช่วยคลายความทุกข์ได้

ถ้านำเอาไปปฏิบัติ สอนให้เขาให้อภัย

ถ้าโกรธแค้นโกรธเคือง อาฆาตพยาบาท

แทนที่จะยุยงส่งเสริมให้เขาอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรม

 ก็สอนให้เขาให้อภัย เพื่อจิตใจจะได้สงบเย็นสบาย

เป็นการให้ธรรมทาน จึงไม่จำเป็นต้องวุ่นวาย

กับการหาเงินหาทอง เพื่อมาบำเพ็ญทานบารมี

การให้วัตถุเงินทองนี้สำหรับผู้ที่มีเหลือกินเหลือใช้

 ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ให้เอาไปช่วยเหลือผู้อื่น

ถ้าเราไม่มีเราก็บำเพ็ญศีลบารมีต่อไปเลย คือศีล ๕

ได้แก่การละเว้นจากการฆ่าสัตว์

ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี

 พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา ต้องพยายามรักษาให้ได้

 รักษาได้มากเท่าไหร่ก็จะได้บารมีมากขึ้นเท่านั้น

 ต้นไม้ของพระพุทธศาสนาก็จะหยั่งรากลึกลงไปในใจ

 มากขึ้นเท่านั้น จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น นี่คือศีลบารมี

นอกจากนั้นก็ต้องบำเพ็ญเนกขัมบารมี

คือการออกจากกามสุข ไม่หาความสุขจากตาหูจมูกลิ้นกาย

 จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ดูหนังฟังเพลง

ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จะหาความสุขจากการ

ทำจิตใจให้สงบ ถือศีล ๘ ละเว้นจากการเสพกาม

 ละเว้นจากการรับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

 ละเว้นจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ บนฟูกหนาๆ

นอนแบบเรียบง่าย นอนกับพื้นไม้ ปูเสื่อปูผ้านอน

ไม่ต้องการหาความสุขจากการหลับนอน

 อาศัยการหลับนอนเพื่อพักผ่อนร่างกายให้มีกำลัง

 เพื่อจะได้ตื่นขึ้นมาบำเพ็ญสมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ

 ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ จนจิตสงบตัวลง

 แล้วจะพบกับความสุขที่เหนือกว่าความสุขอื่นๆ

 เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายได้เสพ

 ได้มาเป็นสมบัติ นี่คือเนกขัมบารมี คือรักษาศีล ๕

ข้อแล้วก็เพิ่มอีก ๓ ข้อ เป็น ๘ ข้อด้วยกัน เรียกว่าศีลบวช

 เป็นเนกขัมบารมี แล้วก็บำเพ็ญเมตตาบารมี

 ด้วยการแผ่ความรู้สึกที่ดี ความปรารถนาดีแก่ผู้อื่น

 ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ให้ปราศจากความทุกข์

 ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่จองเวรจองกรรมกัน

 ไม่เบียดเบียนกัน นี่คือการแผ่เมตตา

 คือตัวเราต้องไม่เบียดเบียน ไม่จองเวรจองกรรมผู้อื่น

 มองผู้อื่นเป็นเหมือนญาติมิตร เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อน

 ปรารถนาให้เขามีแต่ความสุขความเจริญ

 อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญเมตตาบารมี

แล้วก็เจริญอุเบกขาบารมี ทำจิตใจให้วางเฉย

ปราศจากอารมณ์ต่างๆ เช่นยินดียินร้าย โลภโกรธหลง

 เพราะจะทำให้จิตใจไปทำในสิ่งที่เสื่อมเสียต่อไป

 ให้ทุกข์วุ่นวายใจ อยู่ไม่เป็นสุข

ถ้ารู้จักทำใจให้เป็นอุเบกขาวางเฉยได้แล้ว

 จะอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เดือดร้อนกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น

 เพราะใจสามารถแยกตนออกจากสิ่งต่างๆได้

 เช่นเราอยู่ที่นี้ เราแยกตัวเราออกจากเหตุการณ์ต่างๆ

ที่บ้านเราได้ ตอนนี้ที่บ้านจะเป็นอย่างไร

ใจของเราก็ไม่กังวลกับเหตุการณ์ที่บ้านเลย

 เพราะไม่ไปรับรู้ ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เราอยู่ที่นี้ใจของเราเย็นสบายปราศจากความวุ่นวายต่างๆ

 เป็นอุเบกขา เพราะกำลังฟังเทศน์ฟังธรรม

ไม่มีโอกาสไปคิดถึงเรื่องที่จะทำให้วุ่นวายใจ

 เพราะเราไปขัดไปขวางไปห้ามไม่ให้เขาเกิดขึ้นไม่ได้

 ถ้าเขาจะเกิดจะเป็นเราก็ห้ามไม่ได้

 แต่สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือใจของเรา

เราห้ามใจของเราไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้ทุกข์กับเรื่องต่างๆได้

ด้วยการแยกใจออกจากสิ่งต่างๆ

ด้วยการพากายพาใจมาอีกที่หนึ่ง

ปล่อยให้เรื่องที่บ้านเป็นไปตามเรื่องของเขา

 อะไรจะเกิดก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าอยู่ในเหตุการณ์

ไม่สามารถแยกกายออกจากเหตุการณ์ได้

ก็ต้องแยกด้วยการทำใจให้เป็นอุเบกขา

 อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้วุ่นวายใจ ให้คิดถึงพุทโธๆไปเรื่อยๆ

 ระลึกแต่พุทโธๆไปในใจ หลับตา ไม่ต้องไปดูไม่ต้องไปรับรู้

 เรื่องที่กำลังสร้างความวุ่นวายใจ ให้อยู่กับพุทโธๆไป

หรือจะอยู่กับบทสวดมนต์บทใดบทหนึ่งก็ได้ ให้สวดไปเรื่อยๆ

 จนกว่าจะลืมเรื่องที่สร้างความวุ่นวายใจ

เมื่อลืมแล้วใจจะสงบนิ่งเป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา

นี่คือการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี ด้วยการเจริญสมถภาวนา

 ทำจิตใจให้สงบ ให้เย็น ให้เป็นอุเบกขา

 ไม่รับรู้เรื่องที่สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจ

 เพราะไปห้ามเรื่องราวต่างๆไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้

 แต่เราสามารถห้ามใจ ไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆได้

 เมื่อใจสงบแล้ว จะเห็นว่าอะไรจะเกิดก็เกิดไปเถิด

ไม่สำคัญอะไร เพราะใจของเราสุข ใจของเราสบาย

แม้ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายไป ใจก็อยู่อย่างสงบ

 ปราศจากความทุกข์วุ่นวายใจได้ เพราะมีอุเบกขา

 รู้จักทำจิตใจให้สงบ ให้นิ่ง ให้ปล่อยวาง

 นี่คือการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

จากนั้นก็บำเพ็ญปัญญาบารมี เพื่อกำจัดความทุกข์

ความวุ่นวายใจให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ

เพราะความวุ่นวายต่างๆเกิดจากความหลง

 รู้ไม่ทันเรื่องต่างๆที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย รู้ไม่ทันความไม่เที่ยง

 ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน ถูกความหลงหลอกให้เห็นว่า

สิ่งนั้นสิ่งนี้จะอยู่ไปอย่างถาวร จะให้ความสุขกับเรา

 เป็นของเราเป็นตัวเรา เป็นความหลง

รู้ไม่ทันตามความจริงของสิ่งต่างๆในโลกนี้

 มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น

ที่มีปัญญารู้ทันความหลง รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราไมใช่ตัวเรา

ด้วยการเจริญปัญญา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

เป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นกันได้ แต่เราไม่ดูกัน

 มีอะไรบ้างที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีหรอก

ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 ร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ออกมาจากท้องแม่ก็ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างตอนนี้

 เวลาตายไปเอาไปเผา ก็จะกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป

นี่คือความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ร่างกายของเราก็ไม่เที่ยง

 ร่างกายของคนอื่นก็ไม่เที่ยง ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้ว

จะไม่หวังให้อยู่ไปนานๆ เพราะเป็นไปไม่ได้

 ไม่หวังว่าจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะเป็นไปไม่ได้

จะเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น

 ด้วยอุเบกขา คือปล่อยวาง ไม่ยินดียินร้าย

กับการเป็นการไปของสิ่งต่างๆ ของเรื่องต่างๆ

 ของบุคคลต่างๆ เมื่อเขาถึงเวลาที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย

ถึงเวลาต้องตายจากเราไป ก็ปล่อยให้เป็นไป

 ดูแลกันได้ก็ดูแลกันไป ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไป

ถ้าสุดวิสัยก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริง

ของอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน

ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

 ก็จะอยากให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปนานๆ

พอสิ่งนั้นจากเราไปก็ต้องทุกข์ใจ เสียอกเสียใจ

แต่ถ้าเรารู้ทัน รู้ว่ายึดติดกับอะไรไม่ได้

เพราะยึดติดแล้วจะทำให้เราทุกข์ มีใครอยากจะทุกข์บ้าง

ไม่มีใครอยากทุกข์ แต่ที่ทุกข์กันก็เพราะรู้ไม่ทัน

เพราะความหลงหลอกให้ยึดให้ติด แต่ถ้าสอนใจอยู่เสมอว่า

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เรายึดติดได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง

ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา ต้องมีการเกิดขึ้น

ตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นธรรมดา ถ้าได้สอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว

 ต่อไปใจจะรู้ทัน จะปล่อยวาง จะไม่กล้ายึดติดกับอะไร

 การไม่ยึดติดก็ไม่ทำให้ชีวิตของเราขาดอะไรไป

เราก็ยังมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เหมือนเดิม ยังมีสามี ยังมีภรรยา

 ยังมีบุตร มีธิดา มีสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆเหมือนกัน

 เพียงแต่เราไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้เท่านั้นเอง

เมื่อถึงเวลาที่เขาจะจากเราไป ก็ยินดีให้เขาไป

 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด เขาอาจจะอยากจากเราไป

เพราะเขาเบื่อขี้หน้าเราก็ได้ เขาไปชอบคนใหม่ ก็ปล่อยเขาไป

 หรือเขาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วตายไปก็ปล่อยเขาไป

หรือเขาต้องย้ายไปทำงานที่อื่น ไม่ได้อยู่กับเราก็ปล่อยเขาไป

 เราก็อยู่ของเราได้ เพราะมีอุเบกขาธรรม จิตมีความสงบ

 มีปัญญา ไม่หลงยึดติดกับอะไร อยู่ตามลำพังได้

 ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาให้ความสุข

เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ให้ความสุขได้อย่างแท้จริง

 ทุกสิ่งทุกอย่างมีความทุกข์ซ่อนอยู่ทั้งนั้น

ได้มาใหม่ๆก็ดีอกดีใจมีความสุข

พอสิ่งนั้นเปลี่ยนไปเสียไป

 ก็เสียอกเสียใจ มีความทุกข์ตามมา

แต่ถ้ารู้ทันก็จะไม่หลงยึดติด

 ถ้าต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็อาศัยไป ถ้าอาศัยไม่ได้

 เขาต้องจากเราไป ก็ให้เขาไป

ถ้ายังมีความจำเป็นก็หามาใหม่ หาได้ก็ดี

 หาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่สามารถหามาได้แล้วต้องตายไป

ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง

ก็ต้องตายด้วยกันทุกคน จะมีหรือไม่มีก็ตาม

ถ้าใจเป็นอุเบกขามีปัญญาแล้ว ก็จะไม่เป็นปัญหาเลย

 จะปล่อยวางได้ อายุจะสั้นจะยาวไม่สำคัญ

เพราะไม่ได้ยึดติดกับอะไรในโลกนี้แล้ว

มีสมบัติที่เลิศที่ประเสริฐอยู่ในใจแล้ว

คือความสงบที่ไม่เสื่อมคลาย

 ด้วยอำนาจของบุญบารมีต่างๆที่ได้บำเพ็ญมา

จะส่งใจให้ไปถึงขั้นตรัสรู้ ถึงขั้นมรรคผลนิพพานเลย

 นี่คือการปลูกฝังเมล็ดพืชของพระพุทธศาสนา

เมล็ดพืชแห่งการตรัสรู้ เมล็ดพืชแห่งมรรคผลนิพพาน

 ให้เจริญงอกงาม ด้วยการบำเพ็ญบารมี

ดังที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้บำเพ็ญกันมา ถ้าบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าตรัสรู้

ถ้าเป็นพระอรหันตสาวกก็เรียกว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน

 แต่เป็นความหมายอันเดียวกัน ได้บำเพ็ญจนถึงพระนิพพาน

 ถึงที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย

 สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จะมีศาสนาหรือไม่ก็ตาม

 ถ้ารากของพระศาสนาได้หยั่งลึกลงไปในนิสัยสันดานแล้ว

 ไม่ว่าจะไปเกิดในภพใดชาติใด

 ก็จะสามารถเจริญพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในใจ

 ให้ถึงขั้นสูงสุด ให้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ได้เลย

 ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาภายนอกอีกต่อไป

เพราะพระพุทธศาสนาภายนอกเป็นเหมือน

ที่รับเมล็ดพืชมาปลูกไว้ในใจของเรา

 เมื่อได้รับเมล็ดพืชมาแล้ว

คือได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนแล้ว

 ก็น้อมเอามาปฏิบัติกับกายวาจาใจ

เพื่อปลูกฝังเมล็ดพืชของพระพุทธศาสนา

ให้หยั่งรากลึกลงไปในใจ จนกลายเป็นนิสัยสันดาน

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ก็ตาม

 ก็ไม่เป็นปัญหากับเราอีกต่อไป

เพราะเรามีศาสนาอยู่ภายในใจแล้ว

ถึงแม้คนอื่นจะมาหลอกให้ไปทำบาปทำกรรม

เพื่อให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา หลอกให้ไปซื้อไปเช่าวัตถุ

สิ่งนั้นสิ่งนี้มาห้อยคอ ก็จะไม่สามารถหลอกให้เราหลงตามได้

เพราะรู้แล้วว่าอะไรเป็นเหตุที่จะนำมา ซึ่งความสุข

ความเจริญรุ่งเรืองความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย

ก็คือบุญบารมีที่ได้แสดงไว้นี่เอง

จึงควรหมั่นบำเพ็ญบุญบารมีกันอย่างสม่ำเสมอ

 ไม่ว่าจะเป็นทานบารมีก็ดี ศีลบารมีก็ดี เนกขัมบารมีก็ดี

 เมตตาบารมีก็ดี อุเบกขาบารมีก็ดี ปัญญาบารมีก็ดี

ควรบำเพ็ญไปเรื่อยๆ เป็นการปลูกฝังดูแลรักษาต้นไม้

ของพระพุทธศาสนา ให้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของเรา

 ให้เจริญเติบโตงอกงาม เป็นมรรคผลนิพพานไปในที่สุด

 จึงควรมีความยินดีต่อการประพฤติปฏิบัติตาม

พระธรรมคำสอน มีความเชื่อมั่นว่าเป็นทางเดียวที่เลิศที่วิเศษ

 ที่จะพาไปสู่ความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กัณฑ์ที่ ๓๖๗ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๐

(กำลังใจที่ ๔๑)

“เมล็ดพืชของการตรัสรู้”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 พฤษภาคม 2559
Last Update : 18 พฤษภาคม 2559 10:09:02 น.
Counter : 788 Pageviews.

0 comment
### นิพพานคือความสงบของใจ ###

















“นิพพานก็คือความสงบของใจ”

การได้ยินได้ฟังผลของการปฏิบัติ จากผู้ที่ได้ผลมาแล้วนี้

 จะทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ผลเกิดกำลังใจ

อย่างเวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรม

 เล่าถึงผลของการปฏิบัติของท่าน ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจ

 หลังจากฟังเทศน์ฟังธรรมไปแล้ว มีกำลังใจที่จะภาวนา

กลับไปเดินจงกรมไปนั่งสมาธิต่อได้หลายชั่วโมง

ปกติมักจะนอนกัน แต่วันไหนได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

ใจจะกระปรี้กระเปร่ากระฉับกระเฉง

 เหมือนกับเอานิพพาน เอาผลของการปฏิบัติ

มายื่นให้กับเรา อยู่ตรงนี้เอง หยิบไปสิ

 เดินจงกรมนั่งสมาธิไปสิ เดี๋ยวผลก็จะมาเอง

 คอยควบคุมใจ อย่าปล่อยให้ลอยไปลอยมา

 อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้อยู่กับพุทโธ

 ให้อยู่กับร่างกาย ถ้าอยู่ได้แล้วก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ

พอสงบแล้วก็จะมีกำลังต่อสู้กับตัณหาความอยาก

มีกำลังพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา

 พิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาทุกข์

ที่เกิดจากสมุทัยคือตัณหาความอยาก

นิโรธที่เกิดจากมรรค มรรคคือการพิจารณา

ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง

 ก็จะหยุดความอยากดับความทุกข์ได้

อริยสัจ ๔ นี้อยู่ในใจของพวกเรา

ส่วนใหญ่จะเป็นแต่ทุกข์กับสมุทัย

 เพราะใจจะคิดแต่เรื่องของความอยาก

 อยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากจะไปนั่นอยากจะไปนี่

อยากจะดูอยากจะฟัง อยากจะเสพ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะตลอดเวลา

 ไม่เคยคิดไม่อยากเลย ไม่เคยคิดเบื่อกับลาภยศสรรเสริญ

 เบื่อกับรูปเสียงกลิ่นรส ไม่เคยคิดว่าเป็นความทุกข์เลย

 ทั้งๆที่มันทุกข์แสนทุกข์ ก็ยังมองไม่เห็นว่ามันทุกข์

 เช่นเวลาจะไปเที่ยวสักครั้งหนึ่ง

ต้องเตรียมตัวเตรียมการมากน้อยเพียงไร

ต้องทำหนังสือเดินทางต้องขอวีซ่า

ต้องจองตั๋วเครื่องบินจองที่พัก ต้องตรวจโรค

 ต้องเสี่ยงภัยกับการเดินทาง ขึ้นแล้วไม่รู้ว่าจะลงแบบไหน

 เวลาลงแต่ละครั้งก็ท่องพุทโธๆกัน ขอให้ลงดี

พอลงปลอดภัยแล้วก็อยากจะขึ้นใหม่อีก

ทำไมอยู่เฉยๆไม่ได้ อยู่อย่างปลอดภัยกลับไม่อยู่กัน

 อยู่ติดดินสบายจะตายไป ชอบไปอยู่บนฟ้ากัน

 อยู่ยิ่งสูงเวลาตกลงมาก็ยิ่งเจ็บ

ต้องพยายามสร้างอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา

ฉันทะ ความยินดีที่จะภาวนา

 วิริยะ ความพากเพียรภาวนา

จิตตะ ใจจดจ่ออยู่กับการภาวนา

วิมังสา จะไม่คิดไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนา

ไม่คิดไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐิน

ไปสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ สร้างมาพอแล้ว

 พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ด้วยโบสถ์ด้วยเจดีย์

แต่ตรัสรู้ด้วยการนั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นโพธิ์

อยู่ในป่า ปลีกวิเวก อยู่ตามลำพัง ถ้าอยากจะบรรลุธรรม

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุ

ก็ต้องปฏิบัติแบบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ

 ต้องปลีกวิเวก อยู่ในป่าในเขา อยู่ตามโคนไม้

 อยู่ตามสถานที่สงบสงัด เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกันไป

 จนกว่าใจจะสงบ พอออกจากความสงบ

 ก็ใช้ปัญญาสกัดความอยากต่างๆ

 ถ้ายังไม่มีความอยาก ก็ซ้อมไว้ก่อนเตรียมไว้ก่อน

 เช่นความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 ก็ต้องพิจารณาละร่างกายไปก่อน

ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เวลาอยากจะไม่แก่

ก็ใช้ปัญญาสกัดความอยากได้ ว่าห้ามความแก่ไม่ได้

ร่างกายจะแก่เราไปหยุดมันไม่ได้

ถ้าอยากไม่แก่ก็จะทุกข์ใจไปเปล่าๆ

 ผมจะหงอกก็ปล่อยให้หงอกไป ไม่ต้องย้อม

หนังจะเหี่ยวก็ปล่อยให้เหี่ยวไป ไม่ต้องทำศัลยกรรม

 ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาได้ก็รักษาไป

รักษาไม่ได้ก็ต้องอยู่กับมันไป เช่นเดียวกับความตาย

ถ้าป้องกันได้ก็ป้องกัน ป้องกันไม่ได้

จะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป

 แต่ใจอย่าอยากไม่ตายเป็นอันขาด

 ถ้าอยากไม่ตายจะทุกข์ทรมานใจ

ถ้ายอมรับความจริง ใจจะเฉยๆ ตายก็ได้อยู่ก็ได้

แต่ถ้ายังอยู่แล้วอยากจะตาย อย่างนี้ก็ไม่ถูก

 เป็นความอยากเหมือนกัน อยากตายก็ไม่ดี

 อยากไม่ตายก็ไม่ดี ต้องอยู่ตรงกลาง

 อยู่ระหว่างความอยากตายกับความไม่อยากตาย

 คืออยู่เฉยๆ เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง

ร่างกายจะอยู่ก็ปล่อยให้อยู่ไป

 เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาไม่หาย

 เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ตอนนั้นอยากจะตาย

ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะยังไม่ตาย

 เวลาร่างกายจะตายก็ไม่อยากตาย อย่างนี้ก็ทุกข์อีก

 ต้องปล่อยวาง ถึงเวลาจะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป

 ถึงเวลาอยู่ก็ต้องปล่อยให้อยู่ไป แล้วใจจะไม่ทุกข์

 ใจไม่ได้เป็นร่างกาย ไปทุกข์กับร่างกายทำไม

 เหมือนกับไปทุกข์กับคนอื่นทำไม

 คนอื่นจะเป็นจะตาย ทำไมต้องวุ่นวายไปกับเขาด้วย

ใจเราไม่ได้เป็นไม่ได้ตายไปกับเขาเลย ใจไม่มีวันตาย

 ใจได้ร่างกายที่เป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง

 ใจก็เลี้ยงดูตุ๊กตาไป พาไปโน่นพามานี่ พาไปเที่ยว

 ถ้าไม่มีร่างกายก็ไปเที่ยวไม่ได้

ถ้าไม่มีความอยากเที่ยวแล้ว

 จะมีหรือไม่มีร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา

ถ้าไม่มีความอยากจะใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา

จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็เป็นไป

 หลวงปู่ชอบต้องนั่งรถเข็นท่านก็ไม่เห็นเดือดร้อน

ท่านก็อยู่กับมันไป เข็นท่านไปไหนท่านก็ไป

ไม่เข็นท่านก็ไม่ไป ท่านอยู่ตามอัตภาพ

ใจท่านไม่ได้ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

ท่านไม่ได้ไปหาความสุข ท่านไปโปรดสัตว์ ไปเผยแผ่ธรรมะ

ไปสั่งสอนธรรมะให้แก่ผู้อื่น แต่พวกเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น

พวกเราไม่ได้ไปโปรดสัตว์ เราไปโปรดตัวเราเอง

 ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน

 พอร่างกายไม่สามารถไปได้

 ก็หงุดหงิดเศร้าสร้อยหงอยเหงา

 อยากจะตายไม่อยากจะอยู่ พออยากจะตายก็ทุกข์อีก

 ทุกข์ซ้ำซ้อน ทุกข์ที่ร่างกายแล้วยังต้องมาทุกข์ที่ใจอีก

ถ้าไม่มีความอยากตาย เวลาร่างกายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

เจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ใจจะเฉยๆ ไม่เดือดร้อน

เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร เวลาร่างกายปกติก็เฉย

 เจ็บไข้ได้ป่วยก็เฉย เพราะปฏิบัติรักษาใจให้เฉยได้

ด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเจริญปัญญานี่เอง

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือรักษาความเฉย

 ความเป็นอุเบกขา ความสงบของใจนี่เอง

นิพพานก็คือความสงบของใจ เป็นความสงบที่ถาวร

ความสงบระดับอื่นยังไม่ถาวร

ความสงบระดับสมาธิไม่ถาวร เพราะต้องออกจากสมาธิ

 ความสงบของพระโสดาบันก็ยังไม่เต็มร้อย

พระโสดาบันสงบกับเรื่องความแก่

ความเจ็บความตายของร่างกาย

แต่ยังไม่สงบกับเรื่องของกามารมณ์

 พระโสดาบันพระสกิทาคามี

ยังวุ่นวายกับเรื่องกามารมณ์อยู่

เวลาเห็นรูปร่างหน้าตาสวยงามเกิดกามารมณ์

 แต่พระอนาคามีไม่วุ่นแล้ว ท่านเห็นร่างกายทีไร

 ก็เห็นว่าไม่สวยงาม เพราะเห็นส่วนที่ไม่สวยงาม

 เห็นตอนที่ร่างกายตายไป เห็นอาการ ๓๒

 เห็นอวัยวะต่างๆที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง

ท่านจึงไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย

กับเรื่องกามารมณ์ ไม่วุ่นวาย ใจของท่านสงบ

ไม่ว่าจะเป็นความแก่ความเจ็บความตาย

 ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของร่างกาย

จะไม่ทำให้ใจของพระอนาคามีไม่สงบ

เพราะไม่มีความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

ไม่มีความอยากทางกามารมณ์

ส่วนพระอรหันต์นี้ท่านกำจัดความหลงในอัตตาตัวตนได้

ท่านไม่หลงว่าท่านมีตัวมีตน ท่านเป็นตัวรู้

ใครจะด่าก็รับรู้ ใครจะชมก็รับรู้ ไม่มีตัวตนมารับรู้

 เหมือนกล้องถ่ายรูป ใครจะยิ้มใส่กล้อง

ใครจะด่าจะหน้าบึ้งตึงใส่กล้อง กล้องก็ถ่ายหมด

แต่ใจของผู้ที่ยังมีอัตตาตัวตนจะรับไม่ได้

 เวลาเห็นหน้าบึ้งตึงดูถูกเหยียดหยาม ใจจะโกรธแค้น

 เพราะยังมีอัตตาตัวตนอยู่ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน

ให้ทำตัวเป็นเหมือนปฐพี เป็นเหมือนดิน

ใครจะเหยียบย่ำ อุจจาระปัสสาวะใส่ ปฐพีไม่เดือดร้อน

ใจก็ต้องเป็นอย่างนั้น ใครจะดูถูกเหยียดหยาม

 ทำร้ายทำลายอย่างไร ก็ไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ ไม่ถือตัว

เพราะไม่มีตัวตนจะถือ มีแต่ตัวรู้ ก็รู้ไป

สักแต่ว่ารู้ ดังที่ทรงสอนชายคนหนึ่ง

ที่ขอพระพุทธเจ้าให้สอนธรรมะ

ในขณะที่ทรงบิณฑบาตอยู่

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาสอน

 เขาก็ขอให้สอนแบบสั้นๆ สอนแบบสรุป

ก็ทรงตรัสสอนว่าให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น

 ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปคิดปรุงแต่ง

 ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นเราเป็นเขา ไม่ต้องปรุงแต่ง

ให้รับรู้เฉยๆ เขาก็เข้าใจความหมาย

 จึงขออนุญาตไปเตรียมอัฐบริขาร เพื่อจะได้บวช

ไปกลางทางถูกกระทิงขวิดตาย

พระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ให้ฌาปนกิจ

แล้วสร้างสถูปบรรจุอัฐิของเขาไว้

การสร้างสถูปบรรจุอัฐิแสดงว่า ต้องเป็นบุคคลสำคัญ

 สมัยก่อนจะสร้างสถูปหรือเจดีย์ก็เพื่อพระพุทธเจ้า

 พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระมหาจักรพรรดิ

 แสดงว่าชายคนนั้นได้เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงตัวรู้

แหวกม่านของอวิชชาโมหะ ที่หลอกให้คิดว่า

ตัวรู้เป็นตัวเราของเรา ตัวรู้เป็นเพียงตัวรู้

ไม่ได้เป็นตัวเราของเรา รู้เฉยๆ ไม่มีเรารับรู้

 ถ้ามีก็จะดีใจเสียใจกับสิ่งที่รับรู้ ต้องรับรู้แบบกล้องถ่ายรูป

กล้องถ่ายรูปไม่มีตัวมีตน ถ่ายภาพอย่างเดียว

 ใครจะทำหน้าอย่างไรใส่กล้อง ก็ถ่ายหมด

ไม่เลือก ไม่เหมือนใจที่มีอัตตาตัวตน

จะมองแต่คนที่ยิ้ม คนหน้าบึ้งจะไม่มอง

นี่คือการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงตัวรู้ เข้าถึงธาตุรู้

เข้าถึงของจริงของแท้ รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้

 ก็ต้องทำใจให้สงบ ต้องระงับความคิดปรุงแต่ง

แล้วจะพบกับความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ไม่มีเจริญไม่มีเสื่อม ความสุขที่อยู่คู่กับผู้รู้

 ที่หมดความอยาก ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะรู้ได้

 ถ้าปฏิบัติก็จะบรรลุ จะรู้เฉยๆตลอดเวลา

ไม่มีความอยากไปไหน อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้

 เหลือแต่หน้าที่เลี้ยงดูร่างกายไปตามอัตภาพ

 เลี้ยงได้ก็เลี้ยงไป เลี้ยงไม่ได้ก็อดตายไป ก็จบ

 แต่ใจไม่วุ่นวายกับเรื่องการเลี้ยงดูร่างกาย

 ไม่วุ่นวายกับการไปไหนมาไหน เพราะไม่มีความอยาก.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๔๕๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“ต้องหยุดความอยาก”










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 พฤษภาคม 2559
Last Update : 17 พฤษภาคม 2559 10:31:13 น.
Counter : 794 Pageviews.

0 comment
### ต้องหยุดความอยาก ###
















“ต้องหยุดความอยาก”

การจะหยุดความอยากได้ ก็ต้องรู้ว่า

สิ่งที่อยากได้นั้น ไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงที่ถาวร

 นอกจากไม่ให้ความสุขแล้วยังให้ความทุกข์ด้วย

ลองพิจารณาดู ทุกวันนี้เราทุกข์กับอะไร

ทุกข์กับสิ่งที่เรามีไม่ใช่เหรอ สิ่งที่เราไม่มีเราไม่ทุกข์

 คนที่มีสามีมีภรรยา ก็จะทุกข์กับสามีทุกข์กับภรรยา

คนที่มีลูกก็จะทุกข์กับลูก มีทรัพย์ก็จะทุกข์กับทรัพย์

 มียศก็จะทุกข์กับยศ มีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็จะทุกข์กับความเสื่อมของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ของตาหูจมูกลิ้นกาย ที่ต้องรักษาให้ดีเพื่ออะไร

 ก็เพื่อจะได้ใช้ตาดูรูป รักษาหูเพื่อจะได้ยินเสียง

 ที่จะทำให้เราสุข แต่รักษาอย่างไรไม่ช้าก็เร็ว

ก็ต้องเสื่อมหมดไป ตาหูจมูกลิ้นกายไม่เที่ยง

ต้องเสื่อมหมดไป รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่ได้เสพสัมผัสก็ไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป

 ดูภาพยนตร์เสร็จแล้วก็หมดไป

 ถ้าอยากจะดูอีกก็ต้องกลับไปดูอีก

ถ้าอยากจะฟังก็ต้องกลับไปฟังอีก

พอฟังเสร็จก็หายไปหมด ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ ดูอยู่เรื่อยๆ

 ดื่มอยู่เรื่อยๆ รับประทานอยู่เรื่อยๆ ถึงจะมีความสุข

นี่คือความทุกข์ของการมีสิ่งต่างๆ มีลาภก็ต้องทุกข์กับลาภ

 มียศก็ต้องทุกข์กับยศ มีสรรเสริญก็ต้องทุกข์กับการนินทา

เวลาได้ยินเสียงสรรเสริญก็มีความสุข

พอได้ยินเสียงนินทาก็จะเกิดความทุกข์

 มีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส

พอตาหูจมูกลิ้นกายไม่อยู่ในสภาพ

ที่จะเสพรูปเสียงกลิ่นรสได้ก็จะทุกข์

เช่นเวลาร่างกายไม่สบาย

ไม่สามารถไปดูไปฟังไปดื่มไปรับประทานได้

ตอนนั้นก็มีแต่ความทุกข์ใจ

ถ้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับลาภยศสรรเสริญ

กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะไม่ทุกข์

ถ้าไม่มีสามีภรรยา ก็จะไม่ทุกข์กับสามีภรรยา

 ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก

 ไม่มีร่างกายก็ไม่ทุกข์กับร่างกาย

 มีร่างกายก็ทุกข์กับร่างกาย

ทุกข์กับการดูแลรักษาร่างกาย

หาอาหารหาน้ำหาอากาศ

 มาหล่อเลี้ยงร่างกาย ทุกข์กับความแก่

ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์กับความตายของร่างกาย

 พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า

 ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น

ถ้าไม่เกิดก็จะไม่ทุกข์กับลาภยศสรรเสริญ

กับตาหูจมูกลิ้นกาย จะไม่เกิดได้ก็ต้องมีสิ่งที่ดีกว่า

ที่ทำลายความอยากได้ ก็คือความสงบนี้เอง

 ถ้าเข้าถึงความสงบแล้ว จะหยุดความอยากได้

เพราะความสุขที่ได้จากความสงบ

 เหนือกว่าความสุขที่ได้จากความอยาก

ถ้าได้ความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว

 เวลาได้ร้อยล้านพันล้านก็จะไม่ตื่นเต้นดีใจแต่อย่างใด

เป็นนายกฯเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ตื่นเต้นดีใจ

 ไปเที่ยวรอบโลก ๓๖๐ ครั้ง ก็ไม่ตื่นเต้นดีใจ

อยู่บ้านสบายกว่า ไม่ต้องวุ่นวาย

กับการทำหนังสือเดินทาง ทำวีซ่า ตรวจโรค

 ฉีดยาป้องกันโรคภัยต่างๆ จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

วุ่นวายไปหมด ถ้าไม่มีความสงบความสุขภายในใจ

 จะถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

 เพราะคิดว่าจะได้ความสุข ได้หลุดพ้น

จากความเบื่อหน่าย เวลาอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ

 จะเบื่อหงุดหงิดรำคาญใจ พอจะได้เดินทางไปเที่ยว

ตามสถานที่ต่างๆ ใจก็ปรุงแต่งว่าต้องสนุกต้องสุข

 ดีกว่าอยู่บ้าน อยู่กับความเบื่อหน่าย

ก็เลยยอมสู้กับความยากลำบาก

ในการทำหนังสือเดินทาง ทำวีซ่า ตรวจโรค ฉีดยา

จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

แล้วก็ต้องเสี่ยงภัยกับการนั่งเครื่องบิน

 ไม่รู้ว่าจะลงมาแบบไหน จะไม่คิดถึงภัย

 คิดถึงความทุกข์ยากลำบาก

 เพราะอยากจะหนีจากความเบื่อหน่าย

 ที่มีอำนาจมากกว่าการไปเสี่ยงภัย

ไปวุ่นวายกับการทำอะไรต่างๆ

ถ้ามีความสงบแล้วอยู่เฉยๆจะไม่เบื่อหน่าย

 เพราะความสงบจะระงับความเบื่อหน่าย

ระงับทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด

 มีแต่ความสุขความส

บายความเย็น ความเป็นอุเบกขา

ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อยู่กับเหตุการณ์ต่างๆได้

อยู่เฉยๆก็อยู่ได้ ถ้าต้องทำอะไรก็ทำได้

 ถ้ามีเหตุให้ทำก็ทำไป แต่จะไม่หาเหตุมาทำ

เพื่อหนีความเบื่อหน่าย

เพราะไม่มีความเบื่อหน่ายที่จะต้องหนี

 นี้แหละเป็นความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่จะทำให้หยุดความอยากต่างๆได้

จึงต้องสร้างความสุขใจกัน ด้วยการปล่อยวางความสุข

ที่ไม่ใช่ความสุขใจ ต้องปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ

ปล่อยวางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ด้วยการทำทาน สละลาภยศสรรเสริญ

 สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

อย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงปฏิบัติ ทรงสละราชสมบัติ

 สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ออกบวช

สละความอยากที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

 สละความอยากฆ่าผู้อื่น อยากลักทรัพย์

 อยากประพฤติผิดประเวณี อยากโกหกหลอกลวง

อยากเสพสุรายาเมาและอบายมุขทั้งหลาย

 ต้องสละต้องรักษาศีลให้ได้ แล้วก็มาสละความคิด

ที่คิดอยู่ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์กับใจ ทำให้ใจฟุ้งซ่าน

ทำให้หิวทำให้อยาก ด้วยการเพ่งอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 จะได้ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าใช้พุทโธเป็นอารมณ์

 ก็บริกรรมพุทโธๆไป

ถ้าใช้ร่างกายเป็นอารมณ์ ก็เฝ้าดู

การเคลื่อนไหวของร่างกายไปทั้งวัน

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทุกอิริยาบถ ทุกขณะ

พอตื่นขึ้นมาลืมตา ก็ดูว่าร่างกายทำอะไร

ลุกขึ้นมายืน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังเดินไปเข้าห้องน้ำ

 กำลังจะล้างหน้า อาบน้ำ ทำกิจต่างๆ

แต่งเนื้อแต่งตัว ทำอาหาร รับประทานอาหาร

 เดินทางไปทำงาน ไปทำภารกิจต่างๆ

ให้ใจเฝ้าดูร่างกายอย่างเดียว ไม่ให้ไปคิดถึงคนนั้นคนนี้

 เรื่องนั้นเรื่องนี้ ยกเว้นเฉพาะเรื่องที่จำเป็น

จะต้องคิดจริงๆเท่านั้น

เช่นต้องคิดว่าวันนี้ต้องไปทำอะไรบ้าง

 พอรู้แล้วว่าต้องทำอะไร ก็ไปทำ

 เวลาทำก็เฝ้าดูการกระทำของร่างกายไป

ถ้านั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร

ก็หลับตาแล้วดูลมหายใจเข้าออกไป

อย่าคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้ามองไปทางซ้ายมองไปทางขวา

 ก็จะมีอารมณ์กับสิ่งที่เห็น เอามาคิดมาปรุงแต่ง

 ทำให้ไม่สบายอกไม่สบายใจ

เกิดความโลภเกิดความอยาก

 เช่นนั่งรถเห็นป้ายโฆษณาสินค้าก็อยากได้

 เห็นคนขับรถไม่มีมารยาทก็อารมณ์เสีย

 อย่าไปดูสิ่งเหล่านี้ มาดูลมหายใจเข้าออกดีกว่า

เวลาเดินทางไปทำงาน ถ้าไม่ต้องขับรถ นั่งเฉยๆ

ก็นั่งหลับตาดูลมหายใจไป

จะไปถึงที่ทำงานอย่างรวดเร็ว จะไม่รู้สึกว่าช้าเลย

 ถึงแม้รถจะติดเป็นชั่วโมงก็รู้สึกว่า

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

 เพราะใจไม่มีความอยากจะให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ใจเฉยๆ ถึงเมื่อไหร่ก็ถึงเมื่อนั้น

ถ้าใจไม่มีความอยากให้ไปถึงตามเวลาที่ต้องการ

 ไปถึงช้าหรือไปถึงเร็วก็จะไม่เป็นปัญหา

นั่งหลับตาเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกจนไปถึงที่ทำงาน

 พอลงจากรถก็เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายต่อไป

 กำลังเดินไปเปิดประตู พบใครถ้าจำเป็นต้องทักทาย

 ก็แผ่เมตตา สวัสดี ยิ้มแย้มแจ่มใส

สบายดีเหรอ ก็ว่ากันไป พอไม่ให้เสียมารยาท

 เสร็จแล้วก็เดินต่อไปจนถึงที่ทำงาน

 เวลาทำงานใจก็อยู่กับการทำงาน

ถ้าต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ ก็เฝ้าดูความคิด

ให้คิดอยู่กับเรื่องงานเรื่องการอย่างเดียว

ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องอื่น

พอเสร็จแล้ว มีเวลาว่างก็นั่งดูลมต่อ

นี่คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

สามารถเจริญได้ตลอดเวลา

ถ้าเป็นนักภาวนา ถ้าเจริญสติเป็น

จะไม่ไปเสียเวลากับการคุยกับคนนั้นคุยกับคนนี้

วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้

แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ใจก็จะไม่นิ่งไม่สงบ

 จะว้าวุ่นขุ่นมัว แต่ถ้าใจมีสติจดจ่อเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา

 ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจจะเย็น ใจจะว่าง ใจจะสบาย

นี่คือการใช้ร่างกายเป็นอารมณ์ผูกใจ

 เป็นอารมณ์เพื่อเจริญสติ เรียกว่ากายคตาสติ

ถ้าถนัดกับการบริกรรมพุทโธ

ก็บริกรรมพุทโธไปทั้งวันเลย ไม่ว่ากำลังทำอะไร

ก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าไม่จำเป็นจะต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ

 หรือเรื่องที่จำเป็นจะต้องคิด ก็บริกรรมพุทโธไป

อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดเพ้อเจ้อ

 อยากจะเป็นอย่างนั้นอยากจะเป็นอย่างนี้

อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อย่าไปคิด

 อยู่กับพุทโธดีกว่า บริกรรมพุทโธๆไป

เวลานั่งสมาธิจะสงบอย่างรวดเร็ว ๕ นาที ๑๐ นาทีใจก็รวมได้

 รวมแล้วก็จะมีความสุข เบาอกเบาใจ

 มีความว่าง มีความเย็น มีความอิ่ม มีความพอ เป็นอุเบกขา

 สักแต่ว่ารู้ แต่ไม่มีความคิดปรุงแต่งให้รับรู้

 ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะให้รับรู้ ถ้ามีก็ไม่สนใจ

ความสงบนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ

 ๑. สงบแบบรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะหายไป

ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เหลือแต่ตัวรู้ผู้รู้ สักแต่ว่ารู้อยู่ตัวเดียว

 ๒. รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะยังมีอยู่แต่ใจไม่สนใจ

เสียงก็ได้ยิน เวทนาทางร่างกายก็รับรู้

ว่าเจ็บตรงนั้นบ้างปวดตรงนี้ แต่จะไม่รำคาญ ไม่วุ่นวาย

 ไม่มีอารมณ์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางได้

 ต่างฝ่ายต่างอยู่ เขาก็อยู่ของเขา เราก็อยู่ของเรา

เสียงจะมีก็ปล่อยเขามีไป

ร่างกายจะเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้

ก็ปล่อยเขาเจ็บไป ใจจะเป็นอุเบกขา จะรับรู้เฉยๆ

ไม่คิดปรุงแต่ง อยากจะให้ความเจ็บหายไป

อยากจะให้เสียงหายไป จะไม่มี

พอไม่มีความอยากก็จะไม่มีความทุกข์

ใจก็จะอยู่อย่างสงบ

 ถ้ามีความอยากขึ้นมาก็จะทนนั่งอยู่ไม่ได้

 เช่นอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

 ก็จะเกิดความเจ็บขึ้นมาภายในใจ

ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกาย

ก็จะนั่งต่อไปไม่ได้ หรืออยากจะให้เสียงหายไป

ไม่อยากจะฟัง ก็จะทนนั่งอยู่ไม่ได้ จะต้องลุกเดินหนีไป

ให้ห่างไกลจากเสียงนั้น

ถ้ามีความอยากเมื่อไหร่ต่อให้มีสมาธิ

ก็สามารถทำลายสมาธิความสงบได้

ถ้ามีสมาธิแล้วอยากจะรักษาความสงบของใจ

ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจ

ว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้ไม่ได้ให้ความสุข อย่าไปอยาก

 เช่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นต้องดื่ม

 อยากจะลิ้มรสต่างๆ ก็ต้องบอกว่าอย่าดื่มดีกว่า

ดื่มแล้วก็จะติด ต้องดื่มอีก

 เวลาอยากดื่มแล้วไม่ได้ดื่ม ก็จะหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจ

 ถ้าไม่ดื่มได้ ใจก็จะสงบ เป็นอุเบกขา

หมายถึงเวลาที่มีสมาธิแล้ว พอเกิดความอยากขึ้นมา

 มันก็จะกลบอุเบกขาที่มีอยู่ ถ้าหยุดตัณหาได้

 อุเบกขาก็จะกลับคืนมา นี่คือวิธีรักษาอุเบกขา

 รักษาความสงบของใจ หลังจากที่ออกจากสมาธิ

ต้องคอยเตือนใจว่าอย่าทำตามความอยาก

ความอยากจะทำลายความสงบ ทำลายอุเบกขา

 สิ่งที่ได้จากการทำตามความอยาก

 ก็สู้ความสุขที่ได้จากความสงบ ความเป็นอุเบกขาไม่ได้

 ดังนั้นเวลาออกมาแล้ว อยากจะเสพรูปเสียงกลิ่นรส

ก็ต้องบอกใจว่าอย่าไปเสพ อย่าไปดู อย่าไปฟัง

อย่าไปดื่ม อย่าไปรับประทาน ถ้าจะดื่มจะรับประทาน

ก็ต้องดื่มต้องรับประทานด้วยเหตุผล

 ก็คือถึงเวลาต้องรับประทานค่อยรับประทาน

ถึงเวลาดื่มค่อยดื่ม แต่อย่าดื่มด้วยความอยากดื่ม

 อย่ารับประทานด้วยความอยากรับประทาน

ต้องสกัดความอยากทุกรูปแบบ

 จะได้รักษาความสงบของใจได้

ต่อไปความอยากก็จะหมดกำลังไปเรื่อยๆ

จนในที่สุดก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจ

ใจก็จะอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องใช้ปัญญาแล้ว

เพราะความอยากหมดไปแล้ว

 ปัญญามีไว้เพื่อสกัดความอยาก ปัญญาจะสอนใจว่า

 ความอยากคือต้นเหตุของความไม่สบายใจ

สิ่งที่อยากได้ก็ไม่สามารถให้ความสุขที่ถาวรได้

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้นั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 มีเกิดมีดับ เวลาได้มาใหม่ๆก็สุข พอเสื่อมไปดับไป

หรือเปลี่ยนไปก็จะไม่สุข

 เช่นเวลาคนที่ให้ความสุขกับเราเปลี่ยนไป

เคยดีแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นไม่ดี

 เราจะได้รับความสุขจากเขาหรือเปล่า

นี่ก็คือการใช้ปัญญาหลังจากที่ออกจากสมาธิ

เพื่อจะได้รักษาความสุข ที่เกิดจากความสงบให้อยู่อย่างถาวร

พอไม่มีความอยากมาทำลายความสงบแล้ว

 ก็ไม่ต้องใช้ปัญญาอีกต่อไป

 เพราะนิโรธคือความดับของความทุกข์

ได้ดับอย่างถาวรแล้ว เพราะไม่มีความอยาก

มาลบล้างความสงบของใจ

เพราะมีปัญญาคอยควบคุมความอยากอยู่ตลอดเวลา

 นี่แหละคือการปล่อยวาง เพื่อจะได้ความสุขที่แท้จริง

 ที่มีอยู่ในใจ ต้องปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ

ปล่อยวางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ปล่อยวางการทำร้ายผู้อื่นเบียดเบียนผู้อื่น

 ปล่อยวางความคิดปรุงแต่งต่างๆ ปล่อยวางความอยาก

 พอปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดแล้ว

ใจก็จะสงบอย่างถาวร นี่คือความรู้

ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว

 เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

 แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา

ถ้าปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับผล คือความสุขที่ถาวร

ที่เรียกว่านิพพานัง ปรมังสุขัง

นิพพานังคืออะไร ก็คือการไม่มีความอยากนั่นเอง

 ใจที่ไม่มีความอยากก็คือใจที่เป็นนิพพาน

 พอไม่มีความอยาก ก็จะเป็นปรมังสุขัง เป็นบรมสุข

 เป็นความสุขที่ถาวร ไม่มีวันหมดไป

 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

 จะไม่มากระทบกระเทือนกับใจเลย

 เพราะใจได้ปล่อยวางทุกอย่างแล้ว

ได้ปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ ปล่อยวางความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยวางความคิดปรุงแต่ง

 ปล่อยวางความอยากต่างๆ ปล่อยวางร่างกาย

 ปล่อยวางเวทนาความรู้สึก คือความสุข ความทุกข์

 ความไม่สุขไม่ทุกข์ของร่างกาย ปล่อยวางได้หมด

ไม่ทุกข์อีกต่อไป ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 เวทนาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

ลาภยศสรรเสริญจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 ตาหูจมูกลิ้นกายจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 ถ้าจะรักษาก็รักษาไปตามเหตุตามผล

 รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ต้องปล่อย

ให้เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ใจจะไม่วุ่นวาย

กินไม่ได้นอนไม่หลับ กับการดูแลรักษาสิ่งต่างๆ

เพราะไม่สามารถจะรักษาได้

ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จะต้องแปรเปลี่ยนไปหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจริญสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมหมดไป

 ศาลาหลังนี้สักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมหมดไป

 เหมือนกับกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย

 ที่สวยงามและยิ่งใหญ่ พอถึงเวลาก็ต้องเสื่อมหมดไป

ร่างกายของพวกเราก็เช่นเดียวกัน

 ไม่นานก็จะเสื่อมหมดไป

 กลายเป็นเศษกระดูกเศษขี้เถ้า

ที่สัปเหร่อจะเก็บให้ญาติพี่น้อง

หลังจากที่ได้ทำฌาปนกิจแล้ว

 นี่คือความจริงที่ต้องมองกัน เพื่อจะได้ปล่อยวาง

 จะได้ตัดไม่ยึดไม่ติด ไม่หลงไปคิดว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา

 ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา

ของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของดินน้ำลมไฟ

ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธาตุ ๔ มารวมกันเป็นสัตว์เป็นบุคคล

 เป็นต้นไม้เป็นวัตถุต่างๆ เป็นข้าวของต่างๆ

รวมกันได้สักระยะหนึ่งก็ต้องแยกจากกันไป

เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ไม่มีเจ้าของ

 เป็นดินน้ำลมไฟ อย่าไปยึดอย่าไปติด

 อย่าไปอยากได้อยากมี เพราะจะทำให้ทุกข์ใจ

 เวลาอยากได้อะไร ใจก็จะกระวนกระวาย

 ได้มาแล้วก็กระวนกระวาย กลัวว่าจะจากไป

 เวลาจากไปก็เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์

เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเอง ด้วยความอยากของเรา

 ด้วยความหลงของเรา ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้นั้น

เป็นทุกข์ ไม่รู้วิธีดับความทุกข์

แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอยู่ที่การทำทาน รักษาศีล

สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ทำไมไม่ทำกัน

ถ้าทำแล้วรับรองได้ว่า จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจ

 เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทำมาแล้ว

 ใจของท่านจึงไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย

เพราะได้เจริญทานศีลภาวนาอย่างเต็มที่

 พวกเราก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน

 ถ้าเจริญทานศีลภาวนาอย่างเต็มที่

จึงขอฝากเรื่องของการเจริญทานศีลภาวนา

 เรื่องของการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ด้วยปัญญา

 ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 ที่จะอยู่กับเราไปตลอด มีสิ่งเดียวที่จะอยู่กับเราไปตลอด

 ก็คือความสงบของใจ ที่เกิดจากการหยุดความคิด

หยุดความอยากต่างๆ ให้พวกเรานำเอาไปพิจารณาและปฏิบัติกัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

กัณฑ์ที่ ๔๕๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“ต้องหยุดความอยาก”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 พฤษภาคม 2559
Last Update : 16 พฤษภาคม 2559 12:56:41 น.
Counter : 830 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ