Group Blog
All Blog
### สำรวมอินทรีย์เพื่อรสแห่งธรรม ###




















“สำรวมอินทรีย์เพื่อรสแห่งธรรม”

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ความยินดีในรสแห่งธรรมชนะความยินดีทั้งปวง

ถ้าพวกเราอยากจะสัมผัสกับรสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง

เราก็ต้องมีความยินดีที่จะสัมผัสกับรสแห่งธรรม

 ถ้าเรายินดี เราก็จะได้มีการปฏิบัติธรรม

 เมื่อเราได้ปฏิบัติธรรม เราก็จะได้บรรลุธรรม

เมื่อบรรลุธรรมแล้ว

เราก็จะได้พบกับรสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

 เพราะรสแห่งธรรมดับความทุกข์ ทั้งหลาย

ให้หมดสิ้นไปจากใจได้ ไม่มีรสอะไรในโลกนี้

จะสามารถดับความทุกข์ใจต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

ดังนั้นเราควรที่จะมีความยินดีกับการปฏิบัติธรรม

การที่เรามีความยินดีก็จะนำพาไปสู่การปฏิบัติ

 การปฏิบัตินี้จะได้ผลก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ

 เช่น ๑. การสำรวมอินทรีย์ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย

เรียกว่าอินทรีย์สังวรณ์ เราต้องอินทรีย์สังวรณ์กัน

เราต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่าไปดูอย่าไปฟัง

ในสิ่งที่จะทำให้เกิดตัณหาต่างๆ ขึ้นมา

จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เราจึงต้องไปปลีกวิเวกกัน

การไปปลีกวิเวกก็คือการไปอยู่ในสถานที่

ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ

 ที่เราสัมผัสกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

เวลาที่เราอยู่ที่บ้านอยู่ที่ทำงานอยู่ในบ้านอยู่ในเมือง

สถานที่เหล่านั้นไม่ถือว่า เป็นสถานที่ปลีกวิเวก

 สถานที่ปลีกวิเวกก็ต้องมาอยู่บนเขา

 บนเขานี้จะไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

ที่จะมายั่วยวนกวนใจทำให้เกิดความอยาก

ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านต่างๆ ขึ้นมา

 นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ปรารถนารสแห่งธรรม

จำเป็นที่จะต้องกระทำคือต้องมีการสำรวมอินทรีย์

 สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการไปปลีกวิเวก

อยู่ตามลำพังไม่ไปดูไม่ไปฟังอะไรต่างๆ

 ที่ทำให้เกิดความอยาก เกิดความทุกข์

ความวุ่นวายใจ ความฟุ้งซ่านขึ้นมา

สมัยที่เราไปอยู่กับหลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด

ท่านก็จะห้ามวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์

 ห้ามไม่ให้พระอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูทีวี

สมัยนี้คงจะต้องห้ามอีกหลายอย่าง

เพราะมันยังมีสิ่งที่มาแทน หรือมาเสริม

พวกหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ก็คือโทรศัพท์มือถือ

 อินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้มันก็จะเป็นการเปิดหู เปิดตา

ให้รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แล้วก็จะทำให้ใจไม่สงบ

 ทำให้ใจฟุ้งซ่านใจไม่สามารถรับสัมผัส กับรสแห่งธรรมได้

ถ้ามีสิ่งเหล่านี้คอยรบกวนใจอยู่

ผู้ที่ต้องการรสแห่งธรรมจึงจำเป็นจะต้องปิดมือถือ

 อย่าเปิดอย่าไปดูอย่าไปสนใจกับเหตุการณ์ต่างๆ

 เพราะถ้าไปรับรู้ข่าวสารเรื่องราวแล้ว

ก็จะทำใจให้วุ่นวายได้ ทำใจให้ไม่สงบได้

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องพิจารณาดูเอาเองว่า

อะไรจะสำคัญกว่ากันหรือรสแห่งธรรม

หรือรสของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่จะสำคัญกว่ากัน

เรามาบำเพ็ญเพื่ออะไร เรามาบำเพ็ญเพื่อ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ หรือเรามาบำเพ็ญ

เพื่อความสงบที่เป็นเป็นรสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง

 นี่คือปัจจัยเสริมหรือที่จะถ่วง ความเจริญของผู้ปฏิบัติ

การสำรวมอินทรีย์ที่เรียกว่าอินทรีย์สังวรณ์

ด้วยการปลีกวิเวกแล้ว

ก็ด้วยการปิดเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

ที่จะเปิดให้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเข้ามารบกวนใจ

ข้อที่ ๒ อยู่ร่วมกันก็ไม่ควรคลุกคลีกัน

ต่างคนต่างแยกกันอยู่ ต่างคนต่างบำเพ็ญกัน

ไม่ใช่มานั่งจับเข่าคุยกัน

 หลวงตานี้ท่านต้องเดินตรวจวัด อยู่ตลอดเวลา

วันละหลายเที่ยวด้วยกัน

 เพราะท่านกลัวพระจะมานั่งจับกลุ่มคุยกัน

วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

คนนั้นคนนี้แล้วเดี๋ยวก็เกิดการทะเลาะวิวาทกัน

 แล้วก็ไม่ไปบำเพ็ญไม่ไปปฏิบัติกัน

ไปนั่งตั้งวงดื่มน้ำชาดื่มกาแฟ

รับประทานขนมนมเนยอะไรต่างๆ

 ท่านต้องเดินตรวจวัดอยู่เรื่อยๆ

เดินทั้งกลางวันเดินทั้งกลางคืน

กลางคืนก็ไปเดินดูว่า

มีพระไปจับกลุ่มอยู่ ในกุฏิไหนกันบ้าง

 นี่คือพระคุณของครูบาอาจารย์

มีครูบาอาจารย์คอยตรวจตราคอยห้ามปราม

 ก็จะทำให้พระเณรไม่กล้า ที่จะมาจับกลุ่มมาคุยกัน

มาดื่มกาแฟน้ำชากัน เพราะว่าถ้าท่านเห็นเข้า

ท่านก็จะเตือน เมื่อเตือนแล้วยังทำซ้ำอีก

ท่านก็เชิญออกจากวัดไป

เพราะท่านบอกว่าวัดนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเลี้ยงหมู เลี้ยงหมา

 มีไว้เพื่อภาวนา ใครจะมาอยู่วัดนี้ต้องภาวนา

 ถ้าจะมากินมานอนเหมือนหมู เหมือนหมา

ก็ไปกินไปนอนที่อื่น

 เพราะการกินการนอนเหมือนหมูเหมือนหมา

มันก็จะได้ผลเหมือนหมูเหมือนหมา

มันจะไม่ได้รสแห่งธรรม มันจะไม่ได้สัมผัสความสงบ

ที่เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา

นี่คือข้อที่ ๒ เมื่อไปปลีกวิเวกแล้วก็อย่าไปจับกลุ่มคุยกัน

 แยกกันอยู่แยกกันปฏิบัติ

ข้อที่ ๓ ก็คือให้รับประทานอาหารพอประมาณ

อย่ารับประทานอาหารมากเพราะจะทำให้ง่วงนอน

จะทำให้เกียจคร้าน ถ้านั่งสมาธิแล้วสัปหงก

แสดงว่ารับประทานมากเกินไปต้องผ่อนอาหาร

ต้องลดปริมาณอาหารลง ลงไปสักครึ่งหนึ่ง

ถ้าเคยรับประทาน ๒ มื้อก็เอามื้อเดียว

ถ้ามื้อเดียวยังง่วงอยู่ก็ลดปริมาณอาหารลงครึ่งหนึ่ง

 รับประทานพอรู้สึกว่าอิ่มก็หยุดรับประทาน

แล้วก็ดื่มน้ำเข้าไปแทน แล้วถ้ายังง่วงอีก

ก็ให้เว้นให้อดอาหารบ้าง ให้รับประทานวันเว้นวันดู

พื่อที่จะช่วยบรรเทาความง่วงนอน

เพราะความง่วงนี้ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์

ต่อการบำเพ็ญต่อการปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัตินี้จะต้องมีสติตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

 เดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้าง่วงนอนแล้วมันจะไม่อยากเดิน

ไม่อยากนั่ง อยากจะนอน

ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาของความง่วงนอนให้ได้

ด้วยการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร

รับประทานเพื่ออยู่ไม่ใช่รับประทาน

เพื่อให้ได้มีความสุข จากการรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหาร

ควรจะรับประทานแบบรับประทานยา

 รับประทานเพื่อเยียวยารักษาร่างกาย

ไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมไม่ให้เจ็บไข้ ได้ป่วย

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้บำเพ็ญจะต้องพิจารณา

ถ้าอยากจะเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

ถ้าอยากจะสัมผัส กับรสแห่งธรรม

ก็ตัดความสัมผัส กับรสแห่งอาหารดีกว่า

ยอมเสียสละการสัมผัสกับรสแห่งอาหาร

เพื่อเราจะได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม

 เวลาใจสงบนี้ถึงแม้ว่าร่างกายจะหิวนี้

ใจจะไม่รู้สึกหิวไปกับร่างกายเลย

นี่คือสิ่งที่เราควรจะแลก ยอมแลกเปลี่ยน

ยอมหิวทางร่างกายเพื่อให้เกิดความอิ่มทางจิตใจ

เพราะเมื่อได้ความอิ่มทางจิตใจแล้ว

ความหิวทางร่างกายนี้จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

 จะอดอาหาร ได้หลายวันเลย

ผู้ที่ภาวนาได้ความสงบแล้วมักจะชอบอดอาหาร

 เพราะเวลาอดอาหารนี้ ทำให้ความเพียรมีมาก

 เวลานั่งสมาธิก็นั่งได้นาน สงบได้นาน ไม่ง่วงนอน

เวลาเดินจงกรมก็เดินได้นาน

เวลาพิจารณาทางปัญญา ก็พิจารณาได้นาน

ไม่มีอะไรมาคอยรบกวนจิตใจ

การอดอาหารก็จะเป็นอุบายที่จะบังคับให้ผู้บำเพ็ญ

จะต้องภาวนา เพราะถ้าไม่ภาวนาปล่อยให้ใจคิดถึงอาหาร

ก็จะเกิดความหิวทางใจที่ทรมาน มากกว่า

ความหิวทางร่างกาย

พอรู้ว่าตอนนี้กำลังคิดถึงเรื่องอาหาร

ก็จะต้องรีบหยุดคิดทันที ต้องเจริญสติบริกรรมพุทโธทันที

 เพื่อที่จะไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องอาหาร

หรือถ้าจะคิดถึงเรื่องอาหาร ก็ให้คิดถึงสภาพที่ไม่น่าดู

ไม่น่ารับประทานของอาหาร เช่นอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก

 ขณะที่เคี้ยวอยู่ มันเเสนเอร็ดอร่อย

น่าจะดูหน้าตาของมันเสียหน่อยว่ามันหน้าสวยงาม

น่ารับประทาน หรือไม่ก็ลองคายมันออกมา

 คายมันใส่ในชามในจานแล้วก็ดูหน้าตามันว่า

โอ...หน้าตามันน่ากินเป็นอย่างนี้เอง

 แล้วก็ตักกลับเข้าไปกินใหม่

 หรือเวลาที่มันเข้าไปอยู่ในท้องอาเจียนออกมาดูซิ

ว่ายังอยากจะรับประทานอาหาร ที่เอร็ดอร่อยนั้นอยู่หรือไม่

 หรือเวลาที่มันขับถ่ายออกมา เวลาเข้าไปในห้องน้ำ

ขับถ่ายอาหารออกมาก็ควร จะดูหน้าดูตามันไว้

เพื่อจะได้ไม่ให้ถูกมันหลอกคราวหน้า

 เวลาอยากจะกินอาหารจะได้รู้ว่า

หน้าตาของมัน เป็นอย่างไร

 หน้าตาที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไร

เวลาที่มันออกมาจากร่างกายเราแล้ว

นี่ก็คือวิธีที่จะทำให้ความอยาก

รับประทานอาหารนี้หายไปได้

จะใช้คำบริกรรมพุทโธๆ หยุดความคิดถึงเรื่องอาหารต่างๆ

อาหารที่อยู่ในจานอาหารที่เขาตั้งขายอยู่ในร้าน

อย่าไปคิดถึงอาหารเหล่านั้น

มันจะทำให้เกิคดวามหิวโหยขึ้นมาในใจ

ให้คิดถึงอาหารที่อยู่ในปากอยู่ในท้องหรืออยู่ในโถส้วมแล้ว

 มันจะได้คลายความหิวโหยได้จะทำให้ใจกลับมาเป็นปกติ

จะทำให้นั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบได้ นี่คืออุบายวิธี

ถ้าเราไม่อดอาหาร ถ้าเรารับประทานอาหารเป็นปกตินี้

ความเพียรจะมีไม่มาก ความขี้เกียจมันจะมีมากกว่า

รับประทานอาหารเสร็จแล้วก็คิดถึงหมอน อยากจะนอน

แทนที่จะคิดถึงทางจงกรม แทนที่จะคิดถึงการนั่งสมาธิ

ก็จะคิดถึงหมอน จะเอาแต่นอน

 พอนอนตื่นขึ้นมาแล้วก็คิดอยากจะดื่ม

อยากจะรับประทานของอีก

ดื่มกาแฟอีก รับประทานขนมอีก

ถ้ายังไม่หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ก็รับประทานขนมได้อีก

 หรือถ้าหลังเที่ยงวันไปแล้วก็คิดถึงเนยก็ได้

เนยนี้อนุญาตให้รับประทานได้ หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

เนยแข็งหรือของต่างๆ ที่อนุญาตให้รับประทานได้

เป็นโอสถเป็นยา มันก็จะไม่ค่อยคิดถึงการเดินจงกรมนั่งสมาธิ

แล้วยิ่งถ้ามีมือถือมีหนังสือพิมพ์มีอะไรต่างๆ

เดี๋ยวก็ต้องเปิดดูแล้วว่าวันนี้มีข่าวสารอะไรบ้าง

เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

มีใครส่งข่าวส่งอะไร มาให้ทราบบ้าง

มันก็จะหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้

แทนที่จะไปเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา

ผู้บำเพ็ญนี้ควรตรวจดูปริมาณของการปฏิบัติ

ว่าวันนี้เราได้ปฏิบัติจริงๆ สักกี่ชั่วโมง

เราได้เดินจงกรม ได้นั่งสมาธินั้นกี่ชั่วโมงกัน

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นขึ้นมาก็ให้เจริญสติ

 ไม่ว่าจะทำภารกิจ การงานอะไรต่างๆ ก็ให้มีการเจริญสติ

หรือปัญญาควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจ

จนเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว เช่นพระสงฆ์ หลังจากเสร็จบิณฑบาต

หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตร กวาดถูศาลา

เสร็จเรียบร้อยแล้ว กลับไปที่พักก็ไปเดินจงกรมต่อ

 ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ จนถึงเวลาปัดกวาดตอนบ่าย

 ก็ปัดกวาด ปัดกวาดเสร็จแล้วก็ดื่มน้ำปานะ

ดื่มน้ำปานะเสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำสรงน้ำสรงท่า

ซักผ้าซักจีวรแล้ว ก็เข้าสู่ทางจงกรมเดินจงกรม นั่งสมาธิ

ไปจนถึงสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มหลังจากนั้นก็พักสี่ชั่วโมง

 ตื่นขึ้นมาตีสองตีสามก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ

จนถึงเวลาออกบิณฑบาตนี่คือเวลาของการปฏิบัติ

 เราเป็นผู้ปฏิบัติเราเคยตรวจดูปริมาณ

ของการปฏิบัติของเราบ้างหรือไม่ว่า

เราได้ปฏิบัติมากน้อยเพียงไร ได้กี่เปอร์เซ็นต์

ของเวลาที่เราจะสามารถปฏิบัติได้

อันนี้มันจะเป็นตัววัดผลของเราว่าเราจะได้ผลมากผลน้อย

 ผลมากผลน้อยก็อยู่ที่การปฏิบัติ

อันนี้ก็เรื่องของการรับประทานอาหารพอประมาณ

เพื่อที่จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา

 ไปกับการหลับการนอนกับการรับประทาน

กับการดื่มเครื่องดื่มต่างๆ

เพื่อจะได้ดึงเอาเวลามาบำเพ็ญมาปฏิบัติ ๓ อย่าง

ข้อ ๑.ก็คือให้สำรวมอินทรีย์

ตาหูจมูกลิ้นกายด้วยการไปปลีกวิเวก

 ๒.ก็อย่าคลุกคลีกัน

๓.ก็ให้รับประทานอาหารพอประมาณ

อย่าให้การรับประทานอาหารมาเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญ

 ยอมสละความทางรสของอาหาร

เพื่อที่จะได้ความสุขของรสแห่งธรรม

 ยอมอด ยอมรับประทานอาหาร เพียงเล็กๆ น้อยๆ

รับประทานเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้

ไม่อดไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่พิกลพิการ

แล้วข้อที่ ๔. ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้บำเพ็ญให้มาก

ก็คือการเจริญสตินี่เอง เจริญสติตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะสตินี้เป็นธรรมที่สำคัญที่สุด

ในบรรดาธรรมทั้งหลาย

การที่เราจะบรรลุธรรมได้ สัมผัสกับรสแห่งธรรมได้

 เราต้องมีปัญญา การที่เราจะมีปัญญาได้เราต้องมีสมาธิ

การที่เราจะมีสมาธิได้เราต้องมีสติ

 ถ้าไม่มีสติปล่อยให้ใจลอยไปลอยมา ใจจะไม่ตั้งมั่น

ใจจะไม่รวมเป็นหนึ่ง ใจจะไม่ได้ความสงบไม่ได้อุเบกขา

เมื่อไม่ได้อุเบกขาการที่จะใช้ปัญญา

เพื่อมาละตัณหาความอยากต่างๆ

 ก็จะไม่เป็นผลจะทำไม่ได้ เพราะว่าใจยังมีรักมีชัง

มีกลัวมีหลงอยู่ เวลาปัญญาชี้บอกว่า

อย่าไปทำตามความรักความชังก็ไม่มีกำลังที่จะฝืน

 เพราะไม่มีอุเบกขาจึงจำเป็นจะต้องเจริญสมาธิให้มากๆ

เพื่อให้มีอุเบกขามากๆ การจะมีสมาธิให้มากๆ

 ก็ต้องมีสติที่ต่อเนื่อง สติที่มีอยู่กับตัวตลอดเวลา

สติที่ไม่ล้มไปล้มมา หายไปหายมา

 สติที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เราต้องคอยดูตัวนี้คอยเจริญสติให้มากๆ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙

“สำรวมอินทรีย์เพื่อรสแห่งธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 พฤษภาคม 2559
Last Update : 5 พฤษภาคม 2559 13:00:55 น.
Counter : 989 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ