Group Blog
All Blog
### ศาสนนาสอนให้เห็นความจริง ###









“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโปรดสัตว์โลก

เช่นสติปัฏฐาน ๔ ขันธ์ ๕ สมุทัย

 เป็นธรรมที่เชื่อมโยงกัน เกี่ยวเนื่องกัน

 อยู่ในพระอริยสัจ ๔ อย่างขันธ์ ๕ ก็คือกายกับใจ

 รูปก็คือร่างกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็เป็นอาการของใจ

เมื่อมีอวิชชาจิตก็เข้าไปยึดติดกับขันธ์ ๕

ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่

มันไม่ได้เป็นของใคร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้

มาแต่ดั้งเดิม มีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้

 เหมือนกับโลกนี้ มีอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม

 แต่พอเรามาเกิดในโลกนี้ เราก็มาครอบครองมายึด

 ว่าโลกนี้เป็นของๆเรา

 ต่างคนต่างแบกเอาที่ดินกันคนละผืน

แล้วก็ต้องมาดูแลรักษา มาแก่งแย่ง

 มาทำสงครามกัน ก็เพราะความหลง

ที่ทำให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้

ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะ

อวิชชาเป็นตัวทำให้เกิด

อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร

สังขารคือความคิดปรุง

 พอคิดปรุงไปแล้วก็เกิดวิญญาณมารับทราบ

 แล้วก็ทำให้เกิดนามกับรูป นามกับรูปก็คือขันธ์ ๕

 แล้วก็มีการสัมผัสของอายตนะ

ตาได้เห็นรูปต่างๆ หูได้ฟังเสียงต่างๆ

 ก็เกิดเวทนาขึ้นมา

 เวลาเห็นรูปสวยก็มีความสุข

 เวลาเห็นรูปไม่สวยก็มีความทุกข์

แล้วก็เกิดตัณหาขึ้นมา

 รูปสวยงามก็อยากจะได้ เป็นกามตัณหา

ไม่สวยงามก็เกิดความรังเกียจ เป็นวิภวตัณหา

 เป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์

ทำให้เกิดอุปาทาน ทำให้เกิดภพเกิดชาติ

 เกิดแก่เจ็บตาย นี่คือวัฎจักร

ของการเวียนว่ายตายเกิด

 เริ่มต้นที่อวิชชาในจิตของเรา

ที่พวกเรามาศึกษากันนี้ ก็เพื่อศึกษา

ให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริง

 ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่อวิชชาคิด

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า

เป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ไม่มีตัว ไม่มีตน เหมือนกับต้นไม้ ต้นเสา

 ศาลาหลังนี้ไม่มีตัวตน

แต่พอเราสร้างเสร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

 จิตของเราก็มาครอบครองว่านี่ศาลาของฉัน

 ถ้ามีใครมารื้อเราก็จะเกิดความเสียใจ

เพราะมีอุปาทานยึดติดอยู่กับศาลาหลังนี้

ชอบศาลาหลังนี้ ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ

 ถ้าใครมาทำลายก็เกิดความทุกข์

เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดการทะเลาะวิวาท

ก่อกรรมก่อเวรกันไป แล้วก็ตายจากกันไป

 ไปเกิดชาติหน้าต่อ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้

 นี่คือเรื่องของขันธ์ ๕

เราต้องศึกษาขันธ์ ๕ ให้เห็นว่า เป็นอนัตตา

 ไม่ใช่เรา เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

 ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าเราดูตัวเราตอนที่เราเป็นเด็กกับตอนนี้

เราจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน

ทั้งๆที่เป็นคนๆเดียวกัน ร่างกายเดียวกัน

แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ

เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ เดี๋ยวก็เก่า

 ใช้ไปนานๆเข้าก็ขาด นี่คือความไม่เที่ยง

เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เจริญเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อม

ในที่สุดก็สลายไปหมด

ร่างกายเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่

ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่

กลายเป็นคนแก่ แล้วในที่สุดก็ตายไป

นี่คือเรื่องอนิจจัง

นอกจากเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแล้ว

 ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วย

 แต่เราหลงไปยึดไปติดว่าเป็นตัวตน

 เมื่อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี

เราก็เสียใจ เราก็ทุกข์

เพราะไม่อยากจะให้เป็นไปในทางนั้น

 เราอยากจะให้ร่างกายแข็งแรง

สวยงาม สดชื่น อยู่ตลอดเวลา

 แต่ร่างกายก็ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา

 เดี๋ยวอีกหน่อยผมก็ขาว ผมก็ร่วง หนังก็เหี่ยว

 ไม่มีกำลังวังชาที่จะทำอะไร

เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องนอนบนเตียง

แล้วในที่สุดก็ไม่หายใจ

เวลาเอาไปฝัง ก็สลายกลับไปสู่ดิน

น้ำในร่างกายก็ซึมลงไปในดิน

ร่างกายนี้เมื่อพิจารณา

ก็จะเห็นว่าเป็นธาตุ ๔ นั่นเอง

 ดิน น้ำ ลม ไฟ มาทางอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

 แล้วก็เปลี่ยนเป็น อาการ ๓๒

เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น

ศาสนาสอนให้เราเห็นความจริงของกายและใจ

 ไม่ให้ไปฝืนความจริง ถ้าฝืนแล้วจะทุกข์

คนที่ยังต้องไปเสริมอะไรต่างๆ

 เช่นไปดึงหนังดึงหน้าให้ตึง ไปย้อมผม

 เป็นการพยายามฝืนความจริง

ไม่ยอมรับความจริงว่า

 จะเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ตลอด

เพราะต้องเปลี่ยนไป แต่เขาไม่ยอม

ยังอยากจะสาว ยังอยากจะหล่ออยู่

 จึงต้องพยายามหาอะไรต่างๆ

มารักษาร่างกายไว้ ไม่ให้เสื่อม

แต่จะรักษาอย่างไร ก็สู้กับความจริงไม่ได้

เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องตายไปด้วยกันทุกคน

 แต่ถ้าเรายอมรับได้ ใจเราก็จะสบาย

 ใจเราก็จะเฉยๆ ไม่ทุกข์ เพราะระงับดับตัณหา

 ต้นเหตุของความทุกข์ได้

กำจัดความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

ไม่ให้มีอยู่ในใจได้

ยอมรับความจริงของร่างกาย ใจก็จะไม่มีอุปาทาน

ในอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยสรุปว่า

 ทุกข์เกิดจากอุปาทาน

การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้เอง

 อยากจะให้เป็นไปตามความต้องการของเรา

ตามความชอบของเรา

อยากจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

อยากให้มีแต่สุขเวทนา ไม่ให้มีทุกขเวทนา

 วันไหนมีสุขเวทนา เราจะรู้สึกมีความสุขมาก

แต่ถ้าวันไหนไม่มีสุขเวทนา

เช่นต้องไปทำงานทำการ

หรือไปทำอะไรที่ลำบากยากเย็น

ก็มีทุกขเวทนาขึ้นมา ก็จะไม่ชอบ

 พอไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่าเวทนามีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน

มีสุขบ้าง ไม่สุขบ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตามเรื่องของเขา

บางทีอยู่ๆก็สุขขึ้นมาในใจ ในกายของเรา

 พอไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ทุกข์ขึ้นมา

แต่ใจไม่ต้องไปทุกข์ตามถ้ามีสติมีปัญญา

 เรารู้ว่าขณะนี้เวทนาเป็นอย่างไร

ก็อย่าไปต่อต้านเวทนานั้น

 ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อย่าไปต่อต้าน อย่าไปปฏิเสธ

 เป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย

ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด

 แต่เราไม่ค่อยจะรอกัน เราใจร้อน

พอเกิดทุกขเวทนาปั๊บ

จะต้องรีบแก้ทันที ให้หายไป

 โดนแมลงสัตว์กัดต่อยนิดหน่อยก็รีบหายาหม่อง

 หาอะไรมาทา ทั้งๆที่ปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง

ก็จะหายไปเอง ถ้าไปอยู่ที่ไม่มียาจะทำอย่างไร

 โดนแมลงกัด ก็ต้องเจ็บต้องปวดเป็นธรรมดา

 เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าอยู่เฉยๆ รับรู้เฉยๆ

 ไม่ไปอยากให้มันหาย ใจก็จะไม่ทุรนทุราย

 แต่ถ้าอยากให้มันหาย ก็ต้องวิ่งหาหมอ

 วิ่งหายามาแก้กันวุ่นไปหมด

นี่ก็คือเรื่องของขันธ์ ๕

 โดยยกรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์มาเป็นตัวอย่าง

ไม่ได้กล่าวถึงสัญญา สังขาร วิญญาณเลย

 แต่ความจริงแล้วนามขันธ์ทั้ง ๔ นี้

จะทำงานไปพร้อมๆกัน

เช่นพอตาเห็นรูป วิญญาณก็รับทราบ

ว่ารูปมาแล้ว สัญญาก็แปลความหมาย

ของรูปว่าเป็นใครน่าชื่นชมยินดีหรือไม่

 เห็นรูปนี้ปั๊บ จำได้ว่าคนนี้เคยให้เงิน

 มาทีไรเอาเงินมาให้ทุกที ก็เกิดสุขเวทนา

สังขารก็ปรุงว่าต้องไปต้อนรับเขาหน่อย

 ไปทักทายเขา เชิญชวนให้เขานั่ง

แต่ถ้าสัญญาแปลว่าคนนี้เป็นเจ้าหนี้ จะมาทวงหนี้

 ทุกขเวทนาก็จะเกิดขึ้นมา

 เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ สังขารก็จะคิดว่า

ทำอย่างไรดี จะหลบหน้าดีหรือไม่

นี่คือการทำงานของนามขันธ์ทั้ง ๔

ถ้าเรามีสติคอยดูการทำงานของนามขันธ์

 เราก็จะสามารถควบคุมสังขารได้

พอเห็นคนนี้แล้ว เห็นว่าเป็นเจ้าหนี้

 เราก็ไม่อยากจะเจอเขา แต่จำเป็นต้องเจอ

เพราะมีความผูกพันกัน เป็นคู่เวรคู่กรรมกัน

 เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ

ถึงแม้ไม่อยากจะเจอหน้า ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้

 ทำใจให้นิ่งไว้ แล้วก็เจอกัน คุยกัน

 เขาจะเอาอะไร ก็พูดไปตามความจริง

เรามีเท่าไร ก็ให้เขาไปเท่านั้น

ถ้าเขาไม่พอใจ เขาโกรธ เขาจะด่าเรา

ก็ให้เขาทำไป เป็นเรื่องของเขา

ไม่ใช่เรื่องของเรา เราคอยรักษาใจให้เป็นอุเบกขา

 เป็นปกติ ไม่วิ่งเข้าหา ไม่วิ่งหนี ตั้งรับด้วยปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๒๓๐ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 กรกฎาคม 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2559 7:06:36 น.
Counter : 706 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ