รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
6 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

ดูเงาของจิตแล้วถึงมรรคถึงผลจริงหรือเปล่า

พอดีไปอ่านในลานธรรมที่กระทู้นี้
เขียนโดย โอเอซิส
6 พ.ค.2553 เวลา 12.06 น.
//larndham.org/index.php?/topic/39153-%e0%b8%94%e0%b8%b9%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87%e0%b8%9c%e0%b8%a5/page__view__getnewpost

ผมขอนำมาลงไว้ เพราะกระทู้ประเภทนี้มีสิทธิโดนลบทิ้งจากลานธรรมได้ง่าย ๆ เขาเขียนไว้ดังนี้ครับ

เรามีความสงสัยจริงๆเกี่ยวกับแนวทางประพฤติปฏิบัติที่พวกเราทำกันอยู่นี้ เพราะเท่าที่รวบรวมดูจากธรรมะจากครูบาอาจารย์พระป่าหลายท่าน อย่างกับว่ายังไม่เห็นมีครูบาอาจารย์องค์ไหนออกมาสนับสนุนการดูเงาของจิตอย่างที่ พวกเรา กระทำกันอยู่อย่างนี้ซักองค์ มีแต่ท่านจะบอกว่าผิดวิธี เช่น

หลวงพ่อมนตรี อาภัสสโร (วันที่ ๒๖ มี.ค. ๕๓) ว่า “การดูเงาของจิตนั้น เหมือนการที่นายพรานเขาส่องไฟล่อเสือ เสือจะตกใจและมัวแต่ไล่ตะปบไฟซึ่งเปรียบเหมือนอาการของจิต แทนที่จะหันมาตะปบคนส่องไฟซึ่งเปรียบเหมือนตัวจิต เหมือนที่คนปฏิบัติส่วนใหญ่จะไปไล่ตามดูอาการของจิต อารมณ์เป็นอย่างไร คิดแล้วอย่างไร เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหรือไม่ แทนที่จะย้อนกลับมาดูที่จิต อาการที่ตามดูกันนั้น บางครั้งอาการจะละเอียดยิบ ดูเหมือนจิตละเอียด แต่ความจริงคือการไล่ตาม "เงา" ไม่มีผลที่จะให้ละจากกิเลสเลย”

หลวงพ่อสงบ มนสฺสนฺโต ก็ว่า “ดูจิตๆน่ะ มันดูอาการของจิต เพราะธรรมชาติของมัน เหมือนคนเนี่ย อยู่ในที่มีแดดจะมีเงา เนี่ย เวลาจิตเนี่ย โดยธรรมชาติของ จิตคือตัวเรา ความคิดเป็นเงา ความคิดน่ะ เป็นเงา แล้วมันไปแก้ไขที่เงา มันจะเป็นไปได้ยังไง”

พระอาจารย์ตั๋น (ใน CD ของท่าน) ว่า “การพิจารณาอารมณ์นั้น ปล่อยวางชั่วคร่าวเท่านั้นแหละ วันนี้ละรูปนี้ลงไป ละเสียงนี้ กลิ่นนี้ รสนี้ ออกไป พรุ่งนี้ รูปใหม่ รสใหม่ กลิ่นใหม่ สัมผัสใหม่ ไม่เหมือนเดิม สติปัญญาต้องทำงาน เหนื่อย เหมือนเดิมทุกๆวัน ละวางได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้นแหละ”

หลวงปู่จันทร์เรียน ศิษย์หลวงปู่ชอบ กล่าวว่า “การดูจิต ที่อ้างคำกล่าวของหลวงปู่ดูลย์มันก็ถูกของท่าน แต่มันเป็นคนละขั้นคนละตอนกับเราท่านเหมือนมีทรัพย์ บริบูรณ์แล้ว ก็มองดูทรัพย์นั้น ท่านดูจิตแบบเป็นวิหารธรรมของท่านเฉย ๆ แต่เราหละ มีสมบัติคือศีลสมาธิอย่างท่านแล้วหรือ
จิตมันยังไม่ ยอมอยู่กับเจ้าของ จิต ไม่มีสมาธิก็ย่อมไม่อิ่มไม่พอ จึงมีแนวโน้มแล่นไปตามความอยาก ดูแต่ที่ชอบใจ ดูจิตอย่างนี้ แล้วจะยังไงต่อหละ
มันไม่ได้ดูเพื่อปล่อยเพื่อวาง”

แม้กระทั่งข้อเขียนของพระราชวรคุณเรื่องการเจริญจิตภาวนาแบบหลวงปู่ดูลย์ (//www.wimutti.net/pudule/dharma1.htm) ก็ไม่บอกว่าให้ดูอาการของจิตไปเรื่อยๆแล้วจะเกิดปัญญาได้เอง

ตอนนี้พวกเราไม่เคยคิดจะตั้งคำถามหรือข้อสงสัยเนื่องด้วยคำพูดที่บอกต่อกันอยู่เสมอว่า

“เปรียบเทียบไปก็จะงง”
“เสียเวลาเปล่าๆ”
“ทางใครก็ทางมัน”
“เสียเวลาภาวนา”
“อย่าไปห่วงคนอื่นเลย เอาตัวเองให้รอดก่อน” ฯลฯ

แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์องค์ไหน ไม่ว่าสายอะไร พิจารณากาย หรือดูจิต ท่านก็บอกว่าแนวทางการปฏิบัติในลักษณะนี้ผิดทั้งนั้น แล้วควรหรือที่เราจะไม่สะกิดใจสงสัยสักนิดว่าทางที่เราเดินมันถูกแน่หรือเปล่า???

หรือจะปัดคำพูดของครูบาอาจารย์ทิ้งด้วยเหตุผลง่ายๆว่า “สงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย” “ทางใครทางมัน” ฯลฯ

หรือควรที่พวกเราจะตรวจสอบธรรมะของครูบาอาจารย์ต่างๆรวมไปถึงท่านที่ถูกกล่าวอ้างถึงว่าเป็นครูบาอาจารย์ของท่านว่าธรรมะของท่านกับครูบาอาจารย์นั้นๆมีเนื้อธรรมเป็นอันเดียวกันจริงหรือไม่?

หรือว่าจริงๆแล้วเรื่องมันก็ง่ายๆแค่ว่าธรรมะที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนสืบทอดกันมา(รวมถึงแนวทางดูจิตของหลวงปู่ดูลย์) กับแนวทางการ “ดูจิต” แบบที่พวกเราเข้าใจกันอยู่ตอนนี้มันแตกต่างกันและไม่อาจนำมาเทียบเคียงบอกว่าเป็นของที่ “เหมือนๆกันโดยเนื้อในแต่แตกต่างกันโดยเปลือกนอก”

จนครูบาอาจารย์ท่านต้องออกมาบอกเตือนว่าจริงๆแล้วธรรมะแบบใหม่นั้นเป็นของที่มีเพียงเปลือกนอกที่ดูเหมือนจะมีเนื้อในอันเดียวกัน แต่แท้ที่จริงเนื้อหาแก่นสารกลับแตกต่างกันจนถึงขั้นว่า

“ไม่มีผลที่จะให้ละกิเลสเลย”
“ละวางได้เพียงชั่วคราว”
“เหนื่อยเหมือนเดิมทุกๆวัน”
“ไม่ได้ดูเพื่อปล่อยวาง” หรือ
“แก้ไขที่เงา เข้าไม่ถึงจิต”???

ในขณะที่พวกเราบอกกันว่า ดูเงาจิตก็ได้ ดูอาการของจิตก็ได้ ตอนนี้อาจจะผิด เดี๋ยวนานๆไปก็ถูกเอง...

มันจะไม่เหมือนทำผิดไปมากๆ แล้วหวังเองว่าวันหนึ่งจะกลับมาถูกหรือ???

ในเมื่อครูบาอาจารย์เยอะแยะ ท่านก็บอกรู้จักแนวทางเราดี และก็บอกว่ามันผิด บางองค์ ท่านพูดถึงขั้นว่า ปิดกั้นมรรคผลนิพพานเลย(คือยิ่งทำไปก็ยิ่งยึดติดในแนวทางที่ทำและไปไม่ถึงมรรคผลนิพพาน) แล้วอย่างนี้เราจะมั่นใจยังไงว่าเราทำไปแล้วจะได้ถึงจุดหมายอย่างที่ต้องการ???

แล้วถ้าหนทางที่เรากำลังเร่งก้าวเดิน เร่งความเพียรกันอย่างสุดตัวโดยไม่คิดจะตั้งข้อสงสัย ไม่ซักถาม ไม่ตรวจสอบ มันผิดจากแนวทางที่พระพุทธเจ้ารวมถึงครูบาอาจารย์ได้วางแนวทางสืบทอดกันไว้พวกเราจะไม่ใช้ชีวิตในชาตินี้ที่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตายไปเปล่าๆกันเหรอ???

พวกเรามาประพฤติปฏิบัติก็เพื่อหวังให้ถึงความพ้นทุกข์กัน ไม่ได้หวังเพียงแค่ความสบายใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ก็ขอตั้งข้อสงสัยไว้อย่างนี้ สงสัยไม่อยากสับสนก็รู้ ไม่อยากถกกันเพราะมันไม่สงบก็เข้าใจ แต่ถ้ามันผิดจริง เราจะไม่ตายเปล่า เสียเวลากันไป ๑ ชาติฟรีๆ กันหมดนี่หรือ

เดี๋ยวจะมีคนมาบอกว่า สงสัยก็รู้ว่าสงสัยไปละกัน ถ้าหากว่าการปฏิบัตินั้นอยู่ในร่องในรอยแล้วก็อุ่นใจอยู่ แต่ถ้ามันผิดล่ะ เพราะครูบาอาจารย์ออกมาพูดกันขนาดนี้แล้ว จะให้สงสัยรู้ว่าสงสัยต่อไปหรือ

สงสัยก็รู้ว่าสงสัย ไม่ต้องไปทำอะไรมัน
สงสัยว่าปฏิบัติผิดทาง ก็รู้ว่าสงสัยว่าปฏิบัติผิดทาง
สงสัยว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีทางได้มรรคผล ก็รู้ว่า สงสัยว่าไม่มีทางได้มรรคผล
สงสัยว่าปฏิบัติแล้วสูญเปล่าทั้งชีวิต ก็รู้ว่าสงสัยว่าสูญทั้งชีวิต


ใคร่ขอความกรุณาพิจารณาด้วย

*****
จบเนื่อหาในกระทุ้ลานธรรมเพียงเท่านี้

****
ตอไป ผมขอแสดงความเห็นดังนี้ครับ

*************
นับตั้งแต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกี่ยวกับวิชาดูจิตที่สอนโดยพระอาจารย์รูปหนึ่ง ตั้งแต่ต้นปี 2553 นี้ ท่านที่อยู่ในวงการกรรมฐานคงรู้กันดีว่าเรื่องอะไร ต่อมาก็มีกลุ่มบุคคลที่มาเสนอค้านคำสอนดังกล่าวโดยการนำเอาคำสอนของพระอาจารย์บางรูปมาเทียบเคียง

สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติ ย่อมเกิดข้อสงสัยเป็นธรรมดาว่า คำสอนการดูจิตที่กำลังโด่งดังกันทุกวันนี้ สามารถเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ ดังที่กระทู้ในลานธรรมเขียนขึ้นมาดังที่ผมนำมาลงไว้ด้วย (เผื่อโดนลบทิ้งไป ในลานธรรม)

ก่อนอื่น คำว่า เงาของจิต ที่คนเขาพูด ๆ กัน ตามความเข้าใจของผม ก็คือ อาการของจิต แต่ถ้าผมเข้าใจผิดไป ข้อเขียนของผมข้างนี้ก็คงไม่ตอบโจทย์ของข้อเขียนในกระทู้ในลานธรรม ต่อไปผมจะเรียกว่า อาการของจิต ผมจะไม่ใช้คำว่า เงาของจิต

จากที่ผมได้ปฏิบัติผ่านมา การเห็นอาการของจิตได้นั้น
เป็นขั้นที่ผู้ปฏิบัติเพิ่งเริ่มมีกำลังของสัมมาสติมากขึ้นกว่าเดิม จึงสามารถเห็นอาการของจิตได้ แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ หรือ คนที่ปฏิบัติสมาธิแบบฤาษี ที่ไม่มีทางเห็นอาการของจิตได้

การเห็นอาการของจิตได้นี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดผลดี 2 ประการคือ

ประการแรก ผู้ปฏิบัติจะเริ่มมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีกว่าเดิม เช่น พอโกรธเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นอาการโกรธนี้ได้ และจะหยุดอาการโกรธนี้ได้เร็วขึ้น ยิ่งผู้ปฏิบัติมีกำลังสัมมาสติตั้งมั่นมากขึ้น มากเท่าใด เขายิ่งควบคุมอาการของจิตได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย
ท่านคงพอมองออกได้นะครับว่า ถ้าท่านควบคุมอาการของจิตได้
ทุกข์ใจของท่านจะลดลงไปได้ นี่คือผลดี ที่ได้จากการปฏิบัติแล้วมีความสามารถในการเห็นอาการของจิต

ประการที่สอง ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจได้เองด้วยปัญญาว่า อาการของจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่ของตัวเขาเลย ผู้ปฏิบัติจะเห็นมันเป็นไตรลักษณ์
นี่คือภาวนามยปัญญาขั้นต้นของการปฏิบัติสมาธิแบบพุทธ

สำหรับท่านที่ปฏิบัติแล้วเห็นอาการของจิตได้จริง ๆ แล้ว ผมขอแสดงความยินดีจากใจจริงของผม และ สำหรับท่านที่ยังปฏิบัติไม่ได้ อย่าได้คิดปรามาสต่อท่านที่ปฏิบัติแล้วเห็นอาการของจิตได้แล้ว

ตามข้อแย้งเรื่องการสอนการดูจิต การเห็นอาการของจิต ยังไม่ใช่มรรคผลนิพพาน นี่ถูกต้องครับ แต่ว่า ผู้ที่ได้มรรคผลนิพพาน จะต้องผ่านการเห็นอาการของจิตนี่ก่อน ซึ่งเป็นทางผ่าน ถ้าใครไม่ผ่านจุดนี้ ก็จะไม่มีทางไปถึงมรรคผลนิพพานได้ เปรียบเหมือนว่า ท่านต้องผ่าน ประถมศีกษาปีที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิขึ้น ประถมศึกษาปีที 2

เมื่อผู้ปฏิบัติที่สามารถเห็นอาการของจิตได้แล้ว เมื่อเขาฝึกฝนต่อไปแบบเดิม กำลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ของเขาจะยิ่งตั้งมั่น แล้วต่อไป เขาจึงจะเห็นตัวจิตได้จริง ๆ ที่เป็นการเห็นด้วยญาณ ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลยที่จะเห็นตัวจิตจริง ๆ ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

เมื่อเขาเห็นตัวจิตจริงๆ ได้ ในขั้นต้น ๆ กำลังญาณของเขายังไม่ตั้งมั่น เขาจะเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง แต่เมื่อเขาฝึกต่อไปอีกเรื่อย ๆ กำลังญาณของเขาตั้งมั่นมากขึ้น เขาจะเห็นตัวจิตนี้ได้บ่อย ๆ และถ้าญาณตั้งมั่นดีจริงๆ เขาจะเห็นตัวจิตได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะทำอะไรอยู่ เขาก็จะเห็นตัวจิตนี้ได้อยู่เสมอ โดยที่เขาไม่ต้องมองดูเลย เขาก็เห็นมันได้

ในขณะที่ตัวจิต ปรากฏให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นอยู่ ผู้ปฏิบัติจะไม่มีอาการของจิตเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่มีอาการของจิตเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะไม่มีทุกข์ใจเลย นี่คือ การดูจิตที่แท้จริง การเห็นจิตที่แท้จริง มันจะเป็นอย่างนี้

ผมหวังว่า บทความนี้จะทำให้ท่านที่สามารถเห็นอาการของจิตได้แล้ว เกิดความสบายใจขึ้นมาได้ ไม่ลังเลสงสัยว่า เอ..ถูกทางหรือไม่
ผมอยากจะบอกท่านว่า ท่านมาถูกทางแล้วครับ แต่ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ท่านมีงานที่ต้องทำต่อไปในการหมั่นฝึกฝนกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิให้ตั้งมั่นยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนได้ญาณที่ตั้งมั่นอย่างที่สุด จึงจะถึงมรรคผลนิพพานได้

แต่ถ้าท่านไม่ลงมือฝึกฝนการเพิ่มพลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิแล้วละก็
แต่ท่านกลับกระโดดลงไปดูอาการของจิตเลย นั้นคือท่านกำลังข้ามขั้นตอนแล้วครับ และสิ่งที่ท่านคิดว่า เห็นอาการของจิต จะไม่ใช่อย่างที่ท่านเข้าใจเลย เพราะการเห็นอาการของจิต นี่เห็นจริง ๆ ไม่ใช่แค่คิดเอาเองว่า โกรธ ก็รู้ว่า โกรธ ..... สงสัย ก็รู้ว่า สงสัย.... มันไม่ใช่แบบนั้นหรอกครับ




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2553
2 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 16:13:02 น.
Counter : 1849 Pageviews.

 

ผมขอเพิ่มเติมดังนี้

ที่ว่าดูอาการของจิต นั้น ในความเป็นจริงของการปฏิบัติ
ไม่ใช่การตั้งใจดูเลย แต่ผู้ปฏิบัติจะเห็นอาการของจิตได้เอง เมื่ออาการของจิตปรากฏขึ้น และการเห็นได้นี้ จะต้องเห็นได้ทันทีที่อาการของจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่า อาการของจิตเกิดแล้ว ถึงแม้ว่าเพียง 5 วินาทีผ่านมาแล้ว ก็ไม่ใช่การเห็นอาการของจิตแล้ว

กล่าวคือ เกิดอาการของจิตปุ๊บ ผู้ปฏิบัติเห็นปั๊บแทบจะเวลาเดียวกัน นั้นแหละคือเห็นอาการของจิต

 

โดย: นมสิการ 6 พฤษภาคม 2553 20:09:26 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 16:49:12 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.