ศีล สมาธิ ปัญญา


🌷 ศีล สมาธิ ปัญญา

วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล
เจริญสุข สวัสดีมีชัย ในการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น

พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ เป็นคำกล่าวของหลวงปู่มั่น จากมุตโตทัย ดังนี้ "อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ แปลว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใด ย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน" 

การจะเข้าถึงโคตรภูได้นั้น ต้องปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในเท่านั้น มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้ "อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ" ซึ่งมีสภาวะธรรมตรงกันข้ามกับจิตที่ไม่สงบ วุ่นวาย กระสับกระส่าย ร้อนรุ่ม เพราะถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่งอยู่ การจะเข้าถึงโคตรภูญาณได้นั้น ต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา (มรรค ๘) เท่านั้น

🌷 ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น

พูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะ "ศีล ๕" ใครว่าไม่สำคัญ

อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ
เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ
บุคคลย่อมไปสู่สุคติก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา
ย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะสมบัติก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
ย่อมไปสู่นิพพานก็เพราะศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด 

จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่าศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อพูดถึงศีล ๕ สำหรับชาวบ้านเราท่านทั่วไปนั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ ห้ามได้บ้างไม่ได้บ้าง สืบเนื่องจากยังคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมภาวนานั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติคือต้องงดเว้นให้ได้

แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีลไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก เมื่อกล่าวถึง "ศีล สมาธิ ปัญญา" นักปฏิบัติธรรมภาวนาคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้าย โดยกระโดดข้ามไปที่ปัญญาเลยทีเดียว ทั้งชอบอวดกันว่า ได้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานวิปัสสนามาแล้ว ศีลและสมาธิจะเกิดมีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

ถ้าลองได้ขาดพื้นฐานหรือรากฐานอันเป็นรากแก้ว คือ ศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาเลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไรตนเองจึงจะมีพลังในการวิรัติข้อห้ามเหล่านี้ให้ได้

การปฏิบัติจนวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะพระอริยเจ้าในชั้นต้นนั้น ต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ทะลุ เท่านั้น ไม่มีวันที่จะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการก้าวข้ามโคตร (โคตรภู) แบบไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนอีกแล้ว

แต่นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ เมื่อมารู้จักศีลดีแล้ว แต่กลับมองข้ามส่วนสำคัญคือสมาธิ ไปเอาปัญญาวิปัสสนาเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานในการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีสติ สงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิ ต่อเมื่อได้ลงมือฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีสติ สงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด แบบมีสติคอยระลึกรู้อยู่เสมอว่า นี่ใช่ นั่นไม่ใช่ นั่นแหละ ปัญญาวิปัสสนาก็ย่อมปรากฎขึ้นโดยอัตโนมัติ เราต้องเริ่มต้นที่ฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคก่อน

แต่ยังมีนักบวช หรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในบางหมู่บางเหล่า มีศีล ๕ ที่วิบัติย่อยยับคาตาโดยมีผู้ประสบพบรู้เห็น เพราะมัวแต่ไปรักษาแต่ศีล ๒๒๗ อยู่ จนลืมรักษาศีล ๕ ของตน ไม่มีความละอายต่อบาป (อาหิริกัง)ร่วมกลับไม่มีความกลัวเกรงต่อบาป (อโนตตัปปัง) กลับใช้วิธีการสร้างภาพ โดยอาศัยบุคลิกลักษณะของตนที่น่าเชื่อถือ มีวาจาไพเราะ นุ่มนวล ชวนให้รัก ชักให้หลงใหล ให้เชื่อว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมขั้นอริยะแต่งตั้งกันขึ้นมาเอง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หามีคุณธรรมเหล่านั้นในตนเองไม่ เพราะขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อันเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการรักษาศีล ๕ อันงามในเบื้องต้นให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้เลย และไม่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม หรือหลักธรรมแท้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระนิพพาน อันจะมีมาในเบื้องหน้า มาแนะนำสั่งสอนสาธุชนได้จริง

นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ คนเราถ้าลองขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อันมีความสำคัญเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว ก็อย่าหวังมีความก้าวหน้าในภูมิรู้ ภูมิธรรม จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากศีล ๕นั้น เมื่อเทียบกับอาบัติปาราชิกที่เป็นอาบัติหนักแล้ว มีเข้าไปตั้งไม่รู้กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับอาบัติปาราชิกอันทำให้ขาดจากความดีแบบถาวร

🌷 สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง

เมื่อกล่าวถึงสมาธิที่งามในท่ามกลางแล้ว บุคคลทั่วไปมักเข้าใจไปว่า คือการนั่งคู้บรรลังก์โดยใช้อารมณ์อะไรก็ได้มาเป็นเครื่องล่อ (อามีสสัญญา) ทำให้จิตของตนสงบตั้งมั่นลงเป็นใช้ได้ หรือที่เรียกว่า สมถะภาวนา นั้น คือ ความสงบตั้งมั่นแห่งจิตของตน 

เมื่อกล่าวถึงความสงบของจิต ย่อมมีปรากฏให้เห็นได้ในบุคคลทั่วๆ ไป เพียงมีความรู้สึกว่าตนเองสบายกาย สบายใจ หรือสักๆ แต่ว่ารู้เรื่องราวในขณะนั้น เราก็จัดได้ว่าจิตมีความสงบสบายในระดับที่รับได้ แต่ยังไม่สามารถจัดเป็นสมาธิหรือสมถะภาวนาได้ เนื่องจากจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นลงในความสงบนั้น ถึงแม้นว่าจะสามารถประคองจิตของตนจนจิตสงบตั้งมั่นได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสงบตั้งมั่นนั้นอยู่ สืบเนื่องจากอามีสสัญญา (อารมณ์เครื่องล่อ) เกรงว่าอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่นั้นจะจืดจางลงไปได้ เช่น อารมณ์ที่ใช้ในรูปฌานและอรูปฌาน ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น เป็นของพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร ในสมัยก่อนพุทธกาล ถึงแม้ในสมัยนี้ก็ยังมีการนำกลับมาใช้สั่งสอน (อ้างว่าเป็นของพุทธ) กันอยู่ทั่วไป เราจัดการปฏิบัติแบบนี้ไว้ว่าเป็นพวกสมถะกรรมฐานล้วนๆ คือมีจิตสงบตั้งมั่นเพียงอย่างเดียวด้วยอารมณ์เป็นหนึ่ง แต่ก็ยังมีหวั่นไหวไปกับอารมณ์สุขที่ได้รับจากสมถะเป็นอย่างมาก จากการที่ยังยึดติดอย่างเหนียวแน่นอยู่กับอารมณ์ฌานอันละเอียดนั้น เพราะปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไม่เป็น 

แต่ปัจจุบันนี้มีการนำมาปนเปกันจนวุ่นว่ายไปหมด จนกลายเป็นว่าไม่รู้เลยว่าอันไหนพุทธ อันไหนพราหมณ์ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิ เมื่อเห็นใครนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมกรรมฐานสมาธิภาวนา จะถูกมองว่าเป็นพวกสมถะกรรมฐานภาวนาทันที เป็นสมาธิหัวตอ ไม่ทำให้เกิดปัญญา ต้องลืมตาปฏิบัติธรรมกรรมฐานสิ ถึงจะใช่ ที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะเกิดปัญญา แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ 

มีพระพุทธพจน์รองรับไว้ดังนี้ สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา 
"เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ในอายตนะภายในและภายนอก โดยอาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จะไม่เจริญ ไม่พอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกายทางใจก็ไม่มี เขาย่อมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ 

เมื่อบุคคลผู้เป็นเช่นนี้แล้ว เขามีความเห็นอันใด 
ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ 
มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ 
มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ 
ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว อย่างนี้แหละเขาได้ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยะอัฏฐัง คิกกะมัค)" 

และตรัสอีกว่า 
"ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ 
ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา 
ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา)
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ"

ขณะที่จิตมีความรู้สึกสงบสบายอยู่นั้น จิตก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่สามารถถอดถอนจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถดึงและประคองจิตให้กลับเข้ามาสู่ความสงบดังเดิมได้

ส่วนบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิมีสติสงบตั้งมั่นแน่วแน่ได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่น่าเชื่อถือของบุคคลทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นบุคคลที่จิตมีกำลังสติตั้งมั่นในระดับหนึ่ง ที่สามารถจะวิรัติ ข้อห้ามคือศีล อันเป็นธรรมที่งามในเบื้องต้น อันเป็นปรกติของมนุษย์ได้ ศีลของท่านไม่เป็นเพียงแค่ข้อห้ามเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านวิรัติ งดเว้นได้แล้ว

"สมาธิ" จึงถูกจัดให้เป็นธรรมอันมีความงามในท่ามกลาง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า
"สีละ ปะริภาวิโต สมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส 
สมาธิ ปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา 
ปัญญา ปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ
แปลว่า
สมาธิที่มีศีลอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้"

เพราะเมื่อจิตของตนเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังสติสามารถวิรัติข้อห้าม ยังศีลให้ บริสุทธิ์ได้ ย่อมสามารถยับยั้งจิตของตน ไม่ให้จิตเข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เปรียบเสมือนแขกจรเข้ามาได้

"สมาธิ" เป็นองค์ธรรมที่เชื่อมต่อร้อยรัดให้ ศีล สติ กับปัญญา เข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นทางนำไปสู่อมตะ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะนั้น เราเรียกว่าอมตะ โดยมี "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะอันมีองค์ธรรมที่แวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ 

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) ย่อมเป็นประธาน"

ส่วนสัมมาทิฏฐิที่เป็นประธานอยู่นั้น จะเป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะได้นั้นต้องมีองค์ประกอบดังนี้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงจะได้ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิของพระอริยเจ้า และองค์แห่งสัมมาสมาธิของพระอริยะก็เช่นกัน

(มหาจัตตารีสกสูตร)

"สัมมาสมาธิ" นั่นแหละจึงเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีความเพียรเพ่งภาวนา (ภาวนามยปัญญา) ไปจนกระทั่งจิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแน่วแน่ได้แล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่สามารถตริตรองตามได้ กับสิ่งที่รู้ที่เห็นที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงขอนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวรับรองไว้มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

จากพระบาลีในสมาธิสูตรได้ขยายความคำว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
- ทุกข์ ควรกำหนดรู้
- สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น
- นิโรธ ความดับทุกข์
- มรรค ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์

สภาวะธรรมของสัมมาสมาธิฌานฌานที่ ๔ ในอริยมรรค ๘ นั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหวแน่วแน่ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยองค์ภาวนาหรืออารมณ์ใดๆ ที่เรียกว่าอามีสสัญญาอีกแล้ว ซึ่งเป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงาน (กมฺมนิโย) ทางจิต พร้อมที่จะลด ละ เลิก และโน้มน้อมนำไปสู่สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (วิปัสสนา) เป็นเบื้องหน้า

มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เชื่อโดยขาดเหตุผลในการตริตรองตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบ สืบเนื่องจากมีการสอนให้ปฏิบัติโดยเดินเข้าไปสู่ปรมัตถธรรมเอา วิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว มองข้ามศีลอันงามในเบื้อง และสมาธิอันงามในท่ามกลางไปเลย ไม่ต้องไปใส่ใจและเสียเวลากับการสร้างฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เรียกว่ากรรมฐาน คือเพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ทำสมาธิ หรือที่เรียกว่าสมถะ ให้หลังขดหลังแข็ง หรือเพียรเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก

โดยสอนแค่ให้มารู้จักวิปัสสนาตามตำราที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก็พอ คือให้สักๆ แต่รู้สึกว่า แล้วนำเอาสิ่งที่ถูกสักๆ แต่รู้สึกว่านั้น มาพิจารณาจนจดจำเป็นความรู้ที่รู้มานั้นได้ตกผลึกเป็นปัญญา (ถิรสัญญา) เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เองโดยอัตโนมัติ เป็นความเข้าใจผิดไปเองแบบง่ายๆ ว่าสมาธิเกิดขึ้นได้เอง เป็นความเข้าใจแบบผิดฝาผิดตัวที่ไม่อาจนำไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่แท้จริงได้เลย

การสอนแบบนี้ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นการทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังในสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

องค์ธรรมในฌานที่ ๔ ของสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ๔ รับรองไว้ชัดเจนดังนี้ สมาธิฌานที่ ๔ : เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่

สภาวะจิตของตนในฌานที่ ๔ นี้ จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บุคคลที่จิตมีสภาวะธรรมเช่นนี้ ย่อมมีปัญญารู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนตามความเป็นจริง ส่วนบุคลที่ยังมีจิตอันอารมณ์เจือติดอยู่เป็นนิจนั้น ย่อมสับสนวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉกเช่นมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามา จนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เมื่อสุดขอบของอารมณ์จึงจะสงบลงได้สักที พอเผลอไผลอีกก็วนลูปกลับไปเป็นเช่นเดิม เป็นวัฏฏะวนจนไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าสมาธิไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเสียแล้ว ในอริยมรรคมีองค์ ๘ คงไม่จำเป็นต้องมีการระบุลงไปอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีกหลายๆ พระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนรับรองและเน้นย้ำถึงความสำคัญของสมาธิโดยตรง โดยเฉพาะสัมมาสมาธิที่มีองค์ประกอบมีปัจจัยแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ อันมีศีลและปัญญารวมประกอบอยู่ด้วย แต่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่ามีการกล่าวถึงสัมมาวิปัสสนาเลยสักครั้งเดียว

🌷 ปัญญา ธรรมอันงามในที่สุด

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสิกขา ๑ ในสิกขา ๓ อันมี ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เป็นทางเดินของจิตที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงแก่นแท้ (จิต) ของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เป็นสมาธิที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ และความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต) ออกไปได้ ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต

ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ทั้งหลาย ไม่ว่าที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ไม่สามารถปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวาย ร้อนรุ่ม หรือฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป เพราะจิตของตนฉลาดรู้ว่า ที่นี่สงบหนอ (เอตํ สนฺตํ) ที่นี่ประณีตหนอ (เอตํ ปณีตํ) ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ จึงเป็นปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงหรือรู้เห็นอริยสัจ ๔

สัมมาสมาธิ ฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปเป็นขั้น เป็นตอน เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ (หลุดพ้นชั่วคราว) เข้าสู่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง

ดังมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ภิกขเว ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้นคือ วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ

การรู้เห็นอย่างไรจึงชื่อว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" ก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า
- อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็นทุกข์
- เมื่อรู้แล้วว่า อารมณ์ทั้งหลายที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก สมุทัย เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย
- เพื่อเข้าถึงนิโรธ ความดับทุกข์ทั้งปวงได้
- ด้วยมรรค ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์ คือปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไป

มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า
"เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ
ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค
ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ

ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ
ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป
สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน (สิ้นทุกข์)"

หากพวกเราสามารถสร้างสติ ประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง จิตย่อมไม่หวั่นไหว รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดวิปัสสนา (ปัญญา) เพราะจิตของตนมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่นี่สงบหน่อ ไม่วุ่นวายหนอ และรู้ดีว่าการที่จิตทะยานอยากออกไปสู่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ล้วนเป็นทุกข์ รู้ว่าที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ เมื่อทุกข์ดับ ตัณหาดับ สังขารดับ เกิดวิราคธรรม 

ในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติ (ระลึกรู้อยู่) จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้ และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางที่ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา (มีปัญญา) ที่สามารถแยกจิตออกจากอารมณ์ (วิราคธรรม)

ฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจ หรือองค์ภาวนาต่างๆ เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดถืออยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกฝนอบรมจิตของตนให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมแหลมคมยิ่งๆ ขึ้นไปเอง 

ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุ่นวาย ได้ตามความเป็นจริง

เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตที่เป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ) โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตน อันได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว

ใครที่ยังคิดว่า สมถะ (สมาธิ) และวิปัสสนา (ปัญญา) ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสนวุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนา - ปัญญาที่เกิดจากการที่จิตรู้จักฐานที่ตั้งสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นอย่างดี

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตที่อบรมดีแล้วย่อมรู้จักคุณและโทษ ความเกิดและความดับของอายตนะนั้น สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิด จนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์"

ส่วน "วิปัสสนา - ปัญญา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวาง ย่อมละสังโยชน์ได้

"สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า"

เมื่อกล่าวถึง "ปัญญา" แล้ว มีพระพุทธพจน์ พระธรรมบท มรรควรรค)ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ดังนี้ว่า

"โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย
จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ

ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ เมื่อไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ"

ยังมีพระสูตร (นาวาสูตร) ที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นประกอบภาวนานุโยคอยู่
จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่
ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า
เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร

เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔
เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔
เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔
เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕
เพราะไม่อบรมพละ ๕
เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗
เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนานุโยคอยู่
ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่
ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า
เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร

เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔
เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔
เพราะอบรมอิทธิบาท ๔
เพราะอบรมอินทรีย์ ๕
เพราะอบรมพละ ๕
เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗
เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘"

*
"บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" นี้คือ "ปัญญาในพระพุทธศาสนา - ธรรมอันงามในที่สุด" 

ซึ่งแตกต่างไปจากความเฉลียวฉลาด หรือ "ปัญญาในทางโลก" อย่างสิ้นเชิง เพราะปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไปจากจิตได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และสามารถนำจิตของตนสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใด เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ นั่นคือ จิตของตนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันที ชั่วขณะจิตเดียว เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕





Create Date : 07 พฤษภาคม 2565
Last Update : 7 พฤษภาคม 2565 11:43:25 น.
Counter : 1315 Pageviews.

0 comment
สัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘


🌷 สัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘

ทุกวันนี้ชาวพุทธเรานั้น มีน้อยกว่าน้อยนักที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ แต่ยังหลงไหลไปกับเครื่องประดับตกแต่งในทางศาสนาเสียมากกว่า และทุกวันนี้มีการนำเอาลัทธิพราหมณ์เข้ามาปนเปจนแทบจะกลืนเอาพุทธแท้ๆ เข้าไปจนเกือบจะไม่เหลือเค้าโครงให้แลเห็นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นของพราหมณ์แท้ๆ แต่กลับขาดพิธีกรรมเหล่านี้เสียไม่ได้ ถ้าไม่มีขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละวงแตก จะต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ได้ทำสืบๆ ต่อกันมาอย่างยาวนาน (มา ปรมฺปราย) 

ยิ่งโดยเฉพาะบุคคลผู้อยู่ในสังคมชั้นสูงด้วยแล้วยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก กลายเป็นแบบอย่างที่ผิดๆ ไปจนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมไปเสียแล้วก็มี โดยลืมคำสั่งสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ ดังนี้ 
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ  การไม่ทำชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา  การทำความดีทั้งปวง 
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ 
พระพุทธองค์สรุปคำสอนโดยย่นย่อว่ามีเพียงเท่านี้ 

ชาวพุทธทั้งหลายที่ผ่านการศึกษามาย่อมรู้ดีทั่วทุกตัวคน แต่จะทำตามได้สักกี่คน โดยเฉพาะข้อแรกข้อเดียว ก็เป็นหนามยอกอกของชาวพุทธอยู่แล้ว เมื่อได้ทำอกุศลมาแล้ว มักใช้วิธีแก้โดยการทำบุญกุศล เพื่อมาถ่ายโทษบาปที่ตนเองได้กระทำไว้ ซึ่งเป็นไปแทบไม่ได้เลย เพียงแต่ทำให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้นเท่านั้น 

การเข้าวัดก็เพื่อทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในโอวาทปาฏิโมกข์ โดยมีการบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็คือการเดินตามรอยพระบาทในโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเอง 

การบำเพ็ญทานนั้นเป็นเรื่องเดียวที่ชาวพุทธเราถนัดที่สุด และพร้อมที่จะร่วมบุญเมื่อมีใครมาชักชวน จะมากจะน้อยว่ากันไป แต่ที่ยากขึ้นเป็นลำดับต่อไปก็คือ การบำเพ็ญศีลนั่นเอง การที่มีบุคคลสามารถรักษาศีล ๕ ที่ตนรับมานั้นให้บริบูรณ์หมดจดไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยได้ ต้องถือว่าเป็นบุคคลอันเยี่ยมยอดที่ละชั่วทั้งปวงได้ 

แต่การที่มีบุคคลสามารถบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ได้นั้น ต้องมีการบำเพ็ญภาวนามยปัญญาควบคู่กันไปด้วย จึงจะเป็นได้ ส่วนถ้ามีใครมาบอกว่าตนเองนั้นสามารถรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ได้ฉันใด โดยที่ไม่เคยผ่านการบำเพ็ญภาวนามาเลยนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้น เพราะจิตของตนย่อมมีกำลังไม่มากพอที่จะวิรัติ (งดเว้น) ในข้อศีลเหล่านั้นได้ ให้ลองพิจารณาโดยแยบคายว่า ไม่ทะลุ ก็ต้องมีด่างพร้อยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

แต่ปัจจุบันนี้การละเมิดศีลกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในศีล ๕ มีการละเมิดมากที่สุดคือข้อที่ ๔ มุสาวาทา การโกหกทั้งๆ ที่รู้ เราจะรู้เห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีพระวจนะกล่าวไว้ว่า ใครที่ชอบโกหกทั้งๆ ที่รู้ ความชั่วอื่นจะไม่ทำเป็นไม่มี เพราะขาดซึ่งพลังจิตที่จะเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเท่านั้น 

เพราะพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกทุกๆ พระองค์ ล้วนทรงสั่งสอนให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ ฉะนั้นเรื่องจิตจึงเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา การที่เราหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค จนกระทั่งจิตของตนสิ้นอาสวะได้นั้น ย่อมต้องครอบคลุมไปถึงการละชั่วทั้งปวง และทำดีทั้งปวงได้ด้วยเช่นกัน จึงสามารถควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 

มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ดังนี้ 
เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริงในอายตนะภายในและภายนอก โดยอาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จะไม่เจริญ ไม่พอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกาย ทางใจก็ไม่มี เขาย่อมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ 

เมื่อบุคคลผู้เป็นเช่นนี้แล้ว 
เขามีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ 
มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ 
มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ 
ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว 
อย่างนี้แหละเขาได้ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยอัฏฐังคิกมรรค) 

และตรัสอีกว่า 
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ 
ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา 
ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา) ในอริยมรรค 
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ 

ยังทรงตรัสอีกว่า 
อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้บุคคลผู้เจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมทำวิชชาให้ถึงพร้อมไปถึงฝั่ง (นิพพาน) ได้ 

และตรัสเป็นพระคาถาว่า 
ในมวลหมู่มนุษย์ คนที่จะถึงฝั่งมีจำนวนน้อย  ที่เหลือมีแต่พวกนักวิ่งเลาะไปตามชายฝั่ง (ยังเที่ยวแสวงหา) ผู้ที่ประพฤติตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมข้ามบ่วงมฤตยู ซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่ง บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำ เจริญธรรมฝ่ายขาว หนีจากอาลัย (อาลยสมุคฺฆาโต) ละกามคุณ ๕ ให้ได้ โดยอาศัยธรรมที่ปลอดจากอาลัย (กิเลส) อันมีวิราคธรรม

พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

จากพระบาลีที่มาจากพระพุทธพจน์ ยังมีพระพุทธพจน์จากพระสูตรที่เชื่อมโยงรองรับไว้ว่า

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร?
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งรูป
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

จากพระพุทธพจน์ชัดเจนว่า จิตของตนย่อมรู้ชัดถึงความเกิดของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิตของตนอีกนั่นแหละ ย่อมรู้ชัดถึงความดับไปของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปได้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่จิตก็รู้ อะไรดับไปจากจิตก็รู้ สิ่งที่ถูกรู้เท่านั้นที่เกิดและดับไปจากจิต จิตผู้รู้ไม่ได้เกิดดับตามไปด้วย จะมีเพียงแต่อาการของจิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านั้น ที่พลอยเกิดพลอยดับตามไปด้วย จิตที่ตั้งมั่นดีแล้วนั้น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)

ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางท่าน ที่ท่านเทศนาไว้เป็นคราวๆ ในประชุมชนครั้งนั้นๆ ว่า "ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้ว เห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย" ด้วยท่านเกรงไปว่า ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น จะติดอยู่กับความเบากายเบาใจในสมาธิ จนลืมไปว่า ต้องออกไปใช้ปัญญาปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบจิตของตน เป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง คือตอนลืมตา เพื่อฝึกหัดการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต (ปัญญา) ระลึกรู้ก่อนที่จิตของตนจะไหวตัวไปตามอารมณ์เหล่านั้น 

มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับอัคคิเวสสนะว่า 
ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้จิตของเราอยู่ในสมาธินิมิตอะไร เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบ เราก็สามารถตั้งมั่นในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที 

พระองค์ทรงยังได้ตรัสต่อไปอีกว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตได้ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น ย่อมได้สมาบัติอันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสัมปชัญญะ มีสติ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตของตนได้

แต่กลับมองไปในทางตรงกันข้ามแบบคิดเองเออเองไปตามตำราในชั้นหลังว่า สมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญา สมาธิเป็นการติดสุข ชุ่มแช่ เมื่อพูดถึงสมาธิที่ติดสุข ชุ่มแช่ อยู่ในอารมณ์ฌานนั้น เป็นสมาธิในสมาบัติ ๘ หรือรูปฌานและอรูปฌาน จะว่าไปแล้วรูปฌานและอรูปฌานก็ยังให้เกิดปัญญาได้เช่นกัน แต่เป็นปัญญาทางโลก หรือโลกียปัญญา สามรถปล่อยวางอารมณ์หยาบๆ ได้ แต่กลับมาติดหนึบกับอารมณ์อรูปฌานอันละเอียดนั้น ดังมีพระพุทธวจนะว่า

ถ้าอาจารย์ทั้งสองคืออาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานาน เธอจักรู้ธรรมของเรานี้ได้ฉับพลัน เมื่อเธอได้ฟังธรรมนี้ 

จากพุทธวจนะเน้นชัดว่า สมาธินั้นย่อมทำให้เกิดปัญญา ยิ่งถ้าเป็นสัมมาสมาธิด้วยแล้ว ย่อมเกิดโลกุตตรปัญญา แต่ถ้าเป็นสมาธินอกศาสนานั้น มีเพียงปัญญาทางโลกเท่านั้น

ส่วนพวกที่ยึดติดอยู่กับตำรา (ปิฎก) ที่รจนาขึ้นมาในภายหลัง ไม่เอาสมาธิเลย กระโดดไปขั้นปัญญา ต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นเป็นสำคัญ ทั้งที่ตนเองไม่มีความเข้าใจในคำว่า "วิปัสสนา" เลย คำว่าวิปัสสนา แยกเป็นคำว่า วิ หมายถึง วิเศษและคำว่า ปัสสนา หมายถึง การรู้การเห็น เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน ได้คำว่า การรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเป็นเรื่องเดียวกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงในการเกิด - ดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

มีพระพุทธพจน์รับรองว่า "สัมมาสมาธิ" ยังให้เกิดปัญญาญาณ ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ รู้ชัดว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) เรา (จิต) ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตปล่อยวาง ลด ละ เลิก ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ลงได้ โดยมีอนัตตลักขณสูตร ดังนี้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
นิจจัง วา อนิจจัง วาติ 
เที่ยงหรือไม่เที่ยงล่ะ
อนิจจัง ภัณเต ไม่เที่ยง พระเจ้าค่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
ยัมปะนานิจจัง ทุกขัง วาตัง สุขัง วาติ 
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ทุกขัง ภัณเต เป็นทุกข์ พระเจ้าค่า

ยัมปะนานิจจัง ทุกขัง วิปริณามะธัมมัง กัลลัง นุตัง สะมะนุปัสสิตุง เอตัง มะมะ เอโสหะมัส๎มิ เอโส เม อัตตาติ  
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ นั่นเป็นตัวตนของเรา
โน เหตัง ภันเต หาอย่างนั้นไม่ พระเจ้าค่า

คำว่า "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดมีขึ้นมาในภายหลัง เป็นการรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ของอาจาริยวาท ในพระสูตรชั้นต้นๆ นั้น ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงตรัสรับรองคำนี้ไว้เลย

แต่มักมีการแอบอ้างเอา "วิปัสสนากรรมฐาน" มาบังหน้าเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น เพื่อความเกียจคร้านของตน ที่จะไม่ต้องทำ "สมถะกรรมฐาน" หรือที่เรียกว่า "สมาธิกรรมฐานภาวนา" ให้เหนื่อยยากลำบากกาย ต้องหลังขดหลังแข็ง เป็นด้วยว่าตนเองไม่สามารถเข้าถึงฌานในสัมมาสมาธิอันเป็นสำคัญ เมื่อไม่สามารถเข้าถึง ก็ด้อยค่ามันลงเสียเลย ซึ่งตรงกับในครั้งพุทธกาลที่พระมหากัสสปได้ทูลถามว่า

เมื่อก่อนนี้ บทบัญญัติมีน้อย แต่ทำไมบุคคลผู้เข้าถึงและบรรลุธรรมจึงมีมาก แต่นานวันเข้า บทบัญญัติมีมากขึ้น แต่บุคคลผู้รู้ธรรมและเข้าถึงธรรมกลับมีน้อยลง

พระองค์แสดงมูลเหตุให้ฟังและได้ทรงเน้นว่า การที่มีผู้นำเอาคำสั่งสอนนอกศาสนามาอ้างอิงว่าเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณค่าของศาสนาน้อยลง 

พระบรมศาสดาตรัสต่อว่า
สิ่งต่างๆ ในโลกนี้จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปหาได้ไม่ แต่พุทธบริษัท ๔ เท่านั้นที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไปด้วยเหตุ ๕ ประการคือ
๑. พุทธบริษัท (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ไม่เคารพในศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัทไม่ตะหนักในพระธรรม 
๓. พุทธบริษัทไม่เคารพต่อสงฆ์ 
๔. พุทธบริษัทไม่ตั้งใจศึกษาสิกขา ๓
๕. พุทธบริษัทไม่สนใจในการทำสมาธิ 

พระพุทธองค์ทรงรู้ล่วงหน้ามานานแล้วว่า จะต้องเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้น

และพวกที่ไม่เอาสมาธิ มักพูดจากล่าวร้ายโจมตีไปในทางที่เสียหายว่า "สมถะกรรมฐาน" เป็นเรื่องของสมณะพราหมณ์ ฤาษีชีไพร  ไม่ทำให้เกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้  เป็นเพียงหินทับหญ้าเอาไว้เท่านั้น เมื่อนำเอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้าก็จะกลับเจริญขึ้นมาใหม่ได้อีก เนื่องจากยังเข้าไม่ถึงสัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนานั่นเอง มักอ้างว่าต้อง "วิปัสสนากรรมฐาน" เท่านั้น จึงจะเกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้ ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน กล้าฟันธงเลยว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นเรื่องของการทำอัตตกิลมถานุโยค ด้วยผู้ที่พูดนั้นขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง 

พระองค์ทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์ที่บำเพ็ญเพียร ได้รับทุกขเวทนากล้า ก็อย่างยิ่งเพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้อีก ต่างกับการบำเพ็ญเพียรทางจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นจิตในจิต รู้ชัดว่าที่ทุกข์เกิดเพราะจิตไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว ก็รู้ชัดว่า นั่นไม่ใช่เรา (จิต) จิตก็รู้ชัดอีกว่าทุกข์ดับไปจากจิตของตน

ผู้พูดไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า "วิปัสสนา" ที่ตนคิดเองเออเองไปว่าเป็นปัญญาญาณนั้น เป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองเท่านั้น ที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิดจนความคิดที่ว่ามานั้นตกผลึกเป็นความรู้ ไม่ใช่ปัญญาญาณ ที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ยัง "สัมมาสมาธิ" ให้เกิดขึ้น จนจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาผัสสะ

มารู้จักกับคำว่า "สมาธิ" ที่มีมาก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก และ "สัมมาสมาธิ" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองโดยชอบแล้ว จึงกล้าตรัสรับรองตนเองไว้ว่า "ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  แปลว่า ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังจากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ"

มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นด้วยขาดการพิจารณาโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนหรือเพราะตำราพาไป กลับกลายเป็นการกล่าวตู่ลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธปัญญาของพระองค์ไปโดยไม่รู้ตัว อันเป็นกรรมหนักที่ตนเองต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ได้มีการนำเอา "สมาธิ" ที่มีมาแต่กาลก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ มาผสมปนเปเข้ากับ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ จนวุ่นวายไปหมด ทำให้ผู้ที่ศึกษาใหม่เกิดความลังเลสงสัยสับสนจนเกรงกลัวการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไป

โดยเห็นไปว่าการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการติดสุขอยู่ในฌาน เป็นพวกตัณหาจริต เป็นเรื่องของฤๅษีชีไพรและสมณพราหมณ์ จนมองข้าม "สัมมาสมาธิ" ในองค์แห่งอริยมรรค ๘ ไปให้ความสนใจกับคำว่า   "วิปัสสนากรรมฐาน" แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาสมาธิเลย

ทั้งที่คำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" นั้น เป็นของคู่กับ "สมถะกรรมฐาน" ชนิดที่ขาดกัน หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อนำเอา "สมถะและวิปัสสนา" มารวมเข้าด้วยกัน ที่ต้องรวมเข้าด้วยกัน เพราะในพระพุทธพจน์ใช้คำว่า สมถะและวิปัสสนา เมื่อใช้คำว่า และ ไม่ใช้คำว่า หรือ ก็แน่นอนว่า ต้องเป็นของร่วมกัน 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจได้ดังนี้ เมื่อนายกอ และนายขอ ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารด้วยกันว่า บัญชีของนายกอและนายขอ ก็แสดงว่านายกอและนายขอ ใช้บัญชีร่วมกัน เวลาจะถอนเงินออกจากบัญชีนั้น ต้องใช้ชื่อนายกอและนายขอ จึงจะถอนเงินออกจากบัญชีนั้นได้ จึงจะใช่ แต่ถ้าใช้คำว่า นายกอหรือนายขอแล้ว คนใดคนหนึ่งจะถอนเงินไปใช้ย่อมได้เช่นกัน 

ฉะนั้น สมถะและวิปัสสนา ก็เท่ากับ "สัมมาสมาธิ" ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นสมาธิกรรมฐานภาวนาที่สำคัญยิ่ง อันยังให้เกิดปัญญาญาณ รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ เห็นความเกิดและความดับของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เข้าใจในขันธ์ ๕ และรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรได้ทรงตรัสรับรองเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างเช่น สมาธิที่มีมาแต่กาลก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสรู้ หรือที่เรียกว่า "สมาบัติ ๘" นั้น อันมี รูปฌานและอรูปฌาน เป็นต้น

"อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน  ย่อมเป็นไปเพียงให้อุบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสีย ฯ"
(อรูปฌานที่ ๗)

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปในแนวทางที่ว่า "ธรรมนี้ไม่เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

แต่มิได้ทรงปฏิเสธไปแบบปัดทิ้ง ไม่เห็นคุณค่าเสียเลยทีเดียว ยังทรงตรัสยกย่อง ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงเล็งพระญาณเห็นถึงว่าอาจารย์ทั้งสองเหมาะสมที่จะตรัสรู้ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ว่า  เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ก็ระลึกถึงพระอาจารย์ทั้งสอง เราพึงแสดงธรรมแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ให้สงสัยขึ้นมาว่า แล้ว "สมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" นั้น แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหน จากการที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก (ตำรา) ดูจะเหมือนกันจนกระทั่งหาข้อแตกต่างกันไม่ได้เลย ดูไปแล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแอบต่อยอดความรู้ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาจาก "ฌานสมาบัติ" ดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แบบไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ

โปรดสังเกตด้วยใจที่เป็นธรรม พิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ก่อนจะเชื่ออะไรลงไปง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น จะเห็นว่าอารมณ์ที่พวกสมณพราหมณ์ และพวกฤๅษีชีไพรใช้นำเอามาเพียรเพ่งเป็นอารมณ์ฌานสมาบัตินั้น ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น เช่น เอารูปที่ปราศจากกามมาเป็นอารมณ์ภาวนา ถ้าเป็นรูปที่ก่อให้เกิดกามขึ้นมาได้นั้น เพียรเพ่งอย่างไรคงทำให้เกิดสมาธิฌานได้ยาก เพราะกิเลสตัณหาคงลากเอาไปกินตั้งแต่ต้นทางแล้ว อรูปก็เช่นเดียวกัน

ส่วนองค์แห่งฌานของรูปฌาน อรูปฌานที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมต้องแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ในองค์ฌานแห่งอริยมรรค ๘  องค์ฌานของฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกกายมาเป็นอารมณ์ภาวนา จนอารมณ์เกาะเกี่ยวกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า เอกัคคตา เป็นการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ที่นำไปสู่การละจากอารมณ์หยาบ เข้าไปติดสุขเหนียวหนึบอยู่กับอารมณ์อันละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป เพียงช่วยทำให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น ไม่นำไปสู่ความวิมุตติ จิตหลุดพ้นได้ เหมือนฌานใน "สัมมาสมาธิ" เลย มีพระพุทธพจน์รับรองดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สาม (อาสวักขยญาณ) ของอริยสาวกนั้น"

ฌานสมาบัติเป็นเพียงเอกัคคตารมณ์ ซึ่งจิตมีการเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ภาวนารวมเป็นหนึ่งอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อยวาง ส่วนฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค ๘ นั้นเป็นการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิต

รูปฌาน อรูปฌานนั้น ยังต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ฌานอันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้นตลอดเวลา ด้วยความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้ตามกาลเวลาที่ละเลยขาดความเพียรเพ่ง

ส่วน "ฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค ๘" นั้น เป็นอารมณ์ ณ ภายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมของตน เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตตนให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวโดยลำพังตนเอง เพราะรู้จักปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตเป็นชั้นๆ ในขณะปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เมื่อปล่อยเป็นแล้วไม่ต้องจำ

เริ่มต้นจากต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม จากนั้นปล่อยวางอามีสสัญญา พร้อมด้วยวาจาดับ ปรากฏเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาอย่างเด่นชัด มีอุเบกขา เสวยสุขด้วยนามกายอันปราศจากอามีส จากนั้นละสุข ละทุกข์ ดับโสมนัส โทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า "สัมมาสมาธิ"

สรุปได้ว่า ฌานนั้นมีมาแต่กาลก่อนนานมาแล้ว โดยมีทั้งฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น กับฌานในสัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบและตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาในกาลก่อน แม้แต่องค์ฌานก็ยังแตกต่างกันในส่วนผล ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เห็นตาลปัดกลับกันกับฌานในสัมมาสมาธิ เพราะฌานสมาบัติที่ว่านั้นยังเห็นอารมณ์เที่ยง ส่วนฌานในสัมมาสมาธินั้นเห็นขันธ์ ๕ (อารมณ์) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน

ใช่ว่า ฌานสมาบัติ ๘ จะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปนั้น ทรงเห็นว่าเป็นหนทางนำไปสู่ภพภูมิ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเป็นฌานที่ยังเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกอันละเอียดเป็นสุขอย่างเหนียวแน่นอยู่ สาธุ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๕




Create Date : 18 เมษายน 2565
Last Update : 18 เมษายน 2565 15:06:45 น.
Counter : 488 Pageviews.

0 comment
อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์


🌷 อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์  

วันศุกร์ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ในปัจจุบันนี้ วงปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาในพุทธศาสนานั้น มีรูปแบบที่แตกต่างและแตกแขนงกันออกไปอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ต่างก็นิยมยกย่องเทิดทูนแต่ในวงกรรมฐานของตนเท่านั้น และไม่ค่อยจะยอมรับฟังความคิดเห็นของพวกที่เห็นต่างซะด้วย ถึงกับมีการพยายามกดอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างไปจากที่ตนรู้ ให้ต่ำต้อยด้อยค่าลงไป ทั้งที่เป็นชาวพุทธเช่นกัน โดยการแบ่งแยกเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปได้ไม่นานนัก 

ขึ้นชื่อว่าปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสแล้ว เมื่อคิดที่จะทำอะไร ก็เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ เพื่อลาภ เพื่อสักการะ และคำยกย่องสรรเสริญ เป็นอานิสงส์ หวังผลว่าได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ หวังผลเพื่อให้คนรู้จักอย่างนั้นอย่างนี้ จึงพยายามคิดค้นหาอุบายอันแยบคาย เพื่อให้บุคคลที่สนใจเข้าถึงธรรมที่ตนรู้และที่ตนเชื่อและศรัทธาอยู่ ในรูปแบบที่เป็นการให้กำลังใจกันเสียมากกว่า เพื่อให้เกิดความเชื่อความศรัทธาและใฝ่ใจในธรรมที่เป็นกุศล ในทานที่ให้ ในศีลที่ต้องรักษา และการภาวนาในรูปแบบที่ตนอุปโลกน์ขึ้นมาตามมติของตนเอง แม้ธรรมเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นไปพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ หรือเพื่อนิพพานก็ตาม 

เพื่อป้องกันความสับสน พระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ก่อนปรินิพพาน ดังนี้  “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต  โส โว มมจฺจเยน สตฺถา แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราได้ล่วงลับไปแล้ว” 

ใช่ในขณะนั้นตอนนั้น มีเพียงแค่พระสูตรและพระวินัย แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาอีกมากมายจนกลายเป็นพระไตรปิฎก อันมี พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม หรือธรรมอันยิ่งได้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการแบ่งแยกกันมากขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาที่มีการถกเถียงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายในวงกรรมฐาน สู้เรามาตามรอยกรรมฐานของพระพุทธองค์ที่นำพระองค์ไปสู่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดในสามโลก จะได้ประโยชน์มากกว่า 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย โดยการแสดงให้เห็นด้วยการกำใบไม้ไว้ในกำมือ แล้วตรัสถามกับภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือเรา เมื่อเทียบกับใบไม้ในป่าแล้ว อันไหนมีมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ในป่าพระเจ้าข้า 

นี่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้นเองว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อความสงบ เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน มีเพียงกำมือเดียว อันมีพระสูตรชั้นต้นๆ และโพธิปักขิยธรรรม ๓๗ ส่วนความรู้อีกมากมายที่พระพุทธองค์ทรงรู้นอกเหนือจากนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์เลย 

พระพุทธองค์ทรงประกาศตนว่า ทรงได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง จนได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ด้วยข้อธรรมที่นำไปสู่การตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ อันมี นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ข้อใหญ่ใจความมาตกอยู่ที่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันมีชื่อเรียกว่า อัฏฐังคิโก มัคโค อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา 

ทรงเน้นย้ำเรื่องสมาธิอันมีอยู่ในอริยมรรค ข้อที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ ทำไมต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะขณะเวลานั้น มีการปฏิบัติสมาธิกันเกิดขึ้นอยู่ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ และเป็นสมาธิที่นิยมกันมากในยุคสมัยนั้น แต่เป็นไปเพียงเพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นได้เช่นกัน แต่ก็ยังหวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดที่เป็นเหตุให้เกิดฌานนั้นๆ มีการยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ฌานอันละเอียดนั้นอย่างเหนียวแน่น เพราะเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานเหล่านั้นจะจืดจางลงไปได้ (เสื่อม) เป็นเพียงแค่โลกียปัญญา 

ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่โลกียปัญญา สำหรับบุคคลผู้มีสามารถเข้าถึงฌานอันละเอียดเหล่านั้นได้ ก็เกิดประโยชน์ในทางโลกได้เช่นกัน เพราะมีความสามารถในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้  ทำให้ผงธุลีในตาน้อยลงได้ คือมีกิเลสเบาบางลงได้ กิเลสที่เบาบางลงนั้น เกิดจากความสามารถในการเพิกเฉยต่ออารมณ์กิเลสอย่างหยาบได้อย่างรวดเร็ว (ถิรสัญญา) แต่ก็ไปติดในอารมณ์กิเลสอันละเอียดที่เป็นสมาบัติที่ตนเองได้สร้างขึ้นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตนไม่เป็นนั่นเอง  ซึ่งต่างไปจากสัมมาสมาธิ 

มีพระบาลีธรรมบทในสมาธิสูตร ดังนี้ “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น(ไม่หวั่นไหว) ดีแล้ว ยอมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนาหรือปัญญา) ดังนี้” 

สืบเนื่องมาจาก หมวดสมาธิ ในองค์อริยมรรค อันมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็นสมาธิ มีจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้โดยลำพังตนเอง เป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตน ตามระดับฌานแต่ละชั้นที่จิตของตนเข้าถึง จนจิตเป็น อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ คือ จิตบริสุทธิ์วางเฉยอยู่ได้ในฌานที่ ๔  อารมณ์ที่ใช้ในองค์กรรมฐานภาวนา คือ อารมณ์ในสัมมาสติ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน? 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
นี้เรียกว่า สัมมาสติ

ยังมีคำกล่าวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งเราชาวพุทธเชื่อว่าท่านเข้าถึงคุณธรรมขั้นสูงสุดแล้ว ดังนี้ “สติปัฏฐาน ๔ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการของเวทนา ของจิต ของธรรม แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต และธรรมก็รู้ไปด้วยกันเพราะมีอาการอย่างเดียวกัน” 

จากอารมณ์ในสัมมาสติจะเห็นว่ามีการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม การเริ่มต้นนั้นควรเริ่มต้นกันที่ฐานกายในกายก่อนเป็นลำดับแรกก่อน คือ อานาปานสติ ซึ่งก็เป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายในของบรรพะแรกเช่นกัน 

ทำไมต้องฝึกฝนอบรมอานาปานสติก่อน มีพระพุทธพจน์ดังนี้ 

เมื่อภิกษุเจริญให้มากกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน ๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ สัมมัปปธาน๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ อิทธิบาท ๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ อินทรีย์ ๕ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ พละ ๕ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ โพชฌงค์ ๗ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ เหมือนเกิดลมหลายชนิดในอากาศ 

ในองค์อริยมรรคมี สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานขององค์มรรค ในวงภาวนากรรมฐานแล้ว อริยมรรคเป็นทางที่ลัดที่สุดและตรงที่สุดอีกด้วย ยิ่งกว่ากรรมฐานองค์อื่นๆ ทุกกองที่มีอยู่ในโลก

เมื่อกล่าวถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางเดินไปสู่ความเป็นอริยะ คือ 
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ในหมวดปัญญา 
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดอยู่ในหมวดศีล 
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดอยู่ในหมวดสมาธิ 
นี้เป็นเครื่องรองรับจิตแล้ว 

ใน ศีล สมาธิ ปัญญา มีองค์สมาธิ เป็นตัวกลาง ในการร้อยรัดเอาศีลและปัญญาเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดมรรคสมังคีได้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่าง มักจะถูกมองข้ามจากพวกนักตำรานิยมที่ติดหนึบอยู่กับวิปัสสนา (นึก) ของตน เพราะเป็นความรู้จากความนึกคิด ไม่ใช่ความรู้ที่รู้ขึ้นมาโดยไม่ต้องคิด (ภาวนา) มันต่างกันเป็นคนละเรื่อง ความรู้จากความนึกคิดขึ้นมาได้นั้นเกิดจากสัญญา ส่วนความรู้ที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องคิดนั้นมันปัญญาล้วนๆ อย่างท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวไว้ว่า คิดๆ เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด (รู้อยู่ที่รู้)

อย่างไรจึงเรียกว่ารู้อยู่ที่รู้ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เราต้องมานึกถึงอารมณ์องค์ภาวนาควบคู่ไปกับลมหายใจเข้า - ออกด้วย เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ฯลฯ อยู่ ในขณะที่บำเพ็ญเพียรอารมณ์องค์ภาวนา (ถูกรู้) ต้องอาศัยจิตผู้รู้ (นึกคิด) ระลึกรู้อยู่ที่อารมณ์กรรมฐานภาวนาที่ถูกรู้ เมื่อรู้อยู่ที่รู้ เพียรประคองจิตของตนให้รู้อยู่ที่รู้อย่างตั้งมั่น อย่าได้เผลอไผล (ขาดสติ) ปล่อยให้จิตหลุดออกจากอารมณ์กรรมฐาน (ถูกรู้) ไปรู้อยู่ที่เรื่องราวต่างๆ หรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาปรุงแต่ง ทำให้จิตซัดส่ายวุ่นวายไปตามเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นได้ ซึ่งบางครั้งมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้นๆ ว่ามีความตั้งใจมั่นคงขนาดไหน ในแต่ละครั้งของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา 

การที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาได้หรือไม่ได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมเองว่า มีความเพียรพยายามมากน้อยขนาดไหน ในการที่จะประคองจิตของตนให้คอยระลึกรู้ อยู่ที่อารมณ์องค์กรรมฐานได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย จิตของตนก็จะรวมลงเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นรวมลงเป็นสมาธิแล้ว ขณะนั้นอารมณ์ขององค์ภาวนาที่ใช้เป็นเครื่องล่อก็จะดับไปเช่นกัน เหลือแต่ลมหายใจเข้า - ออก ที่ละเอียดประณีตอยู่ ต้องคอยสังเกตให้ดีโดยแยบคาย ถ้าขาดความรอบคอบแล้วจะจับลมละเอียดตรงนี้ไม่ได้เลย ตรงนี้ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งที่ยังใหม่อยู่และ หรือฝึกมาบ้างแล้ว เป็นธรรมดา

สำหรับพวกนักวิปัสสนา (นึก) ทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วมักให้ความสำคัญไปที่ มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยเฉพาะในหมวดจิตตานุปัสสนา (ดูจิต) และหมวดธรรมเป็นพิเศษ เพราะเข้าใจไปเองว่าเหมาะสมกับพวกที่มีปัญญา แต่มีเวลาน้อย คือ พวกทิฏฐิจริต หรือพวกวิปัสสนายานิก นั่นเอง ความคิดในเรื่องเหล่านี้ที่เกิดมีขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากบุคคลเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าถึง อขฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ (จิตตัวใน) ได้ ย่อมต้องเชื่อไปตามตำราที่มีการรจนาขึ้นมาในภายหลัง ที่ระบุชัดเจนเลยว่า หมวดกายและหมวดเวทนานั้น เหมาะสำหรับพวกตัณหาจริต ซึ่งมีปัญญาไม่มาก แต่มีเวลามาก เป็นพวกสมถะยานิก 

ส่วนบุคคลผู้ได้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจนเข้าถึงจิตตัวในได้แล้ว ย่อมรู้ดีว่า ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทุกผู้ทุกคน ล้วนมีตัณหาและทิฏฐิทั้งนั้น เพราะทั้งสองสิ่งเป็นของคู่กัน เมื่อมีความทะยานอยาก (ตัณหา) ย่อมทำให้เกิดความเห็น (ทิฏฐิ) ผิดไปจากความเป็นจริงได้ หรือคนมีทิฏฐิ (ความเห็น) ผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมต้องมีตัณหา (ความทะยานอยาก) ขึ้น เช่นกัน

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรงหมายเอาภิกษุทั้งหมดที่ฟังพระพุทธองค์ทรงเทศน์สั่งสอนในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในขณะนั้น ไม่ได้ทรงแยกว่าพวกวิปัสสนายานิกหรือพวกสมถะยานิกเลย มีพระบาลีดังนี้ 

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ  อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วง ซึ่งความโศก และความร่ำไรรำพัน เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส (ความเสียใจ ทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ (ธรรมที่ถูก คือ อริยมรรค) เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ มี ๔ อย่าง) 

จากพระบาลีนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องมี ๔ ฐาน เป็นทางไปอันเอก ภาษาชาวบ้านว่า ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ต้องเริ่มต้นที่ฐานกาย ก็จะกระเทือนไปถึงฐานเวทนา ฐานจิต และฐานธรรมเช่นกัน

มีพระพุทธพจน์ในสติปัฏฐาน ๔ เกี่ยวกับอานาปานสติ ดังนี้ 

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ เป็นกายชนิดหนึ่งในจำพวกกายทั้งหลาย ฉะนั้น ในเวลานั้นภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย 

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า การใส่ใจ (มนสิการ) ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นอย่างดีเช่นนี้ เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในจำพวกเวทนาทั้งหลาย 

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า มีอานาปานสติสำหรับคนที่มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ฉะนั้น ในเวลานั้น ภิกษุจึงชื่อว่า เพ่งพิจารณาจิตในจิต 

ภิกษุทั้งหลาย เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาความไม่เที่ยง ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดถึงความไม่เที่ยง เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาคลายความกำหนัดในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดว่าถึงคลายความกำหนัด เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาความสละคืนกิเลส ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดว่าถึงความสละคืนกิเลส เมื่อนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาธรรมในธรรม 

เพราะอานาปานสตินั้น เมื่อเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ นี้บริบูรณ์ โดยมีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า การจะทำให้มหาสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ขึ้นมาได้นั้น จะต้องเจริญให้มากและประกอบอยู่เนืองๆ ในอานาปานสติบรรพะให้ยิ่งๆ ขึ้น จนชำนิชำนาญอย่างคล่องแคล่ว มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา,  มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา 
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา, จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา, สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา, วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว  
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ 
อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชา จิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องสืบสวนทวนความลงไปว่า เรื่องอานาปานสตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ที่ไหนบ้าง 

เมื่อก่อนตรัสรู้ ทรงเจริญอานาปานสติโดยมาก 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวเราในสมัยก่อนจะตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็อยู่ด้วยวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่) นี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายของเราก็ไม่ลำบาก ตาของเราก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็พ้นจากอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก จิตของเราพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เธอก็พึงทำไว้ในใจซึ่งสมาธิ อันมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออก เป็นอารมณ์นี้ให้ดี 

เมื่อตรัสรู้แล้ว  ก็ทรงอยู่ด้วยอานาปานสติโดยมาก 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชเจ้าลัทธิอื่น พึงถามอย่างนี้ว่า พระสมณะโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมอะไรโดยมาก ท่านทั้งหลายพึงตอบว่า พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิ มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ (อานาปานสติ) โดยมาก 

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องถึงอานาปานสติสมาธิโดยชอบ ก็กล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด ยังเป็นเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) ยังมิได้บรรลุอรหัตผล เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปรง จากโยคะ (เครื่องผูกมัด) อยู่ สมาธิที่มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญให้มากกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสดองในสันดาน) 

พระอรหันต์เจริญอานาปานสติทำไม 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดที่เป็นพระอรหันต์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีสิ่งควรทำอันใดทำเสร็จแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีประโยชน์ส่วนตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นกิเลสเป็นเหตุมัดไว้ในภพแล้ว พ้นเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้น เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ 

เจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างอื่นอีกมาก 
ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ อานาปานสติ (สมาธิ ซึ่งมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์) อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน (การตั้งสติที่ฐาน) ๔ อย่างให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ (องค์ประกอบแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้) ๗ อย่างให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา (ความรู้) วิมุติ (ความหลุดพ้น) ให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อละสังโยชน์ เพื่อถอนอนุสัย เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏ เพื่อสิ้นอาสวะ 

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย สาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมหวังได้ว่าจักเจริญอริยมรรค ๘ 

ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง 

พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่า ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ มีแต่บ่ายหน้าสู่นิพพาน เหมือนแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหินที ที่ไหลไปทางทิศปราจีน และไหลสู่มหาสมุทร 

พระพุทธองค์กล่าวถึงผู้เจริญอริมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ เป็นเป้าหมาย 

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริงในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ไม่เจริญพอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกายทางใจก็ไม่มี เขายอมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ

ปฐมบทพื้นฐาน (สติปัฏฐาน ๔) ในบรรพะแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น คือ เริ่มต้นที่อานาปานสติบรรพะ หรือพิจารณากายในกายกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่ที่ว่างจากเรือนก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า 

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า

จากที่ยกมานี้ พอสรุปได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของสัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระพุทธพจน์ที่มีมาในมหาจัตตารีสักกสูตร ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีธรรมรองรับ (สอุปนิสัง) มีองค์ประกอบ (สัปปริขารัง) ธรรมรองรับและองค์ประกอบของสัมมาสมาธิ ๗ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

สรุป เมื่อกล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นการกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน คือ เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน เพื่อให้หลุดพ้นจากอุปธิทั้งหลาย

ขณะที่กำลังเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอานาปานสติ (สัมมาสมาธิ) อยู่นั้น องค์ธรรมสำคัญที่มาประกอบด้วย คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จิตจึงรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณปรวนแปรไป จิตของเราหาปรวนแปรกระสับกระส่ายตามไปด้วยไม่ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑ เมษายน ๒๕๖๕




Create Date : 02 เมษายน 2565
Last Update : 2 เมษายน 2565 14:55:41 น.
Counter : 666 Pageviews.

0 comment
อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน


🌷 อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู 

เจริญสุข สวัสดี พระนี้มาว่ากันเรื่องขมที่ขมปี๋สำหรับสาธุชนคนพุทธศาสนา ที่เป็นนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนารุ่นใหม่ทั่วๆ ไป

เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดคุยถกธรรมกันขึ้นในหัวข้อเรื่อง "อัตตาและอนัตตา" แล้วล่ะก็ เหล่านักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลายที่เป็นพุทธแท้ พุทธกึ่งๆ หรือพวกลูกครึ่งพราหมณ์ ก็มักมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวาง ตามมติความเชื่อที่ตนเองได้รับรู้จากแหล่งความรู้ที่ตนเองได้รับและเชื่อถืออยู่ ไม่ยอมลดละกัน ไม่ยอมลงรอยกันตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม 

ทั้งที่มีหลักธรรมอันควรอ้างอิงที่สมควรแก่ธรรมของพระบรมศาสดา โดยการน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนหลักๆ เหล่านั้น มาเพียรปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา จนเข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ 

การที่เราได้เรียนรู้ ศึกษา รับฟังมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถืออยู่ สืบเนื่องจากมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหมดหัวใจที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้ขาดวิจารณญาณที่ดี ในการพิจารณาธรรมที่เคย ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว โดยมีการปักธงคือความเชื่อของตนลงไป โดยขาดการพิจารณาด้วยความแยบคาย 

ซึ่งมีหลักกาลามสูตรที่พระบรมศาสดาได้วางไว้ดีแล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบ สอบสวน เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า สิ่งที่รู้มานั้น สามารถลงกันได้ดีหรือไม่ โดยไม่มีความขัดแย้งกันกับพระพุทธพจน์ที่เป็นหลัก ภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่นั้นเป็นเรื่องเดียวกันรอยเดียวกันกับพระพุทธพจน์หรือไม่

ดังในมหาประเทศ ๔ ที่พระองค์ทรงว่าไว้

๑. หากมีภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (คำสั่งสอนของพระศาสดา)

๒. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์

๓. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (คือชำนาญในพุทธพจน์ทั้ง ๕ นิกาย) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์

๔. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่รูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ 

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตรเทียบดูในพระวินัย 
 
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ไม่ได้ พึงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน แสดงว่าสงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น ถือและทรงจำมาผิด พึงทิ้งเสีย 

แต่ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ได้ พึงสันนิษฐานว่า นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุเหล่านี้ ทรงจำรับมาด้วยดี 

อย่างในมหาประเทศ ๔ นี้ พระพุทธองค์ก็ทรงเน้นย้ำให้เห็นว่า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ โดยขาดความรอบคอบ ทั้งที่ตนเองก็ยังไม่ได้ลงมือสมาทาน น้อมนำเอาธรรมเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังเลย

ดังมีปรากฏในอนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรชั้นต้นๆ ในครั้งพุทธกาล ที่พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "อนัตตา" เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาสั่งสอนให้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งขณะนั้นเป็นอริยบุคคลเพียงแค่ชั้นพระโสดาบันเท่านั้น ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาบทนี้จบลง ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกันทีเดียว ๕ รูป ทำให้เกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๖ รูป รวมพระพุทธองค์เข้าไปด้วย

อนัตตลักขณสูตร ทรงแสดงให้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ ได้เห็นชัดลงไปในขันธ์ ๕ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา)  จึงเปรียบเสมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของนักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่ๆ ที่มีความเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น เข้าใจว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอยู่จริง หรือบางท่านใช้คำว่า โน อัตตา โน ที่แปลว่า ไม่ ในภาษาอังกฤษ และพระพุทธองค์ทรงล้วนสอนแต่เรื่องอนัตตา  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) เป็นต้น 

เป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง อย่างไม่น่าให้อภัยเลย เพราะอนัตตาที่มีมาในอนัตตลักขณสูตรนั้น ก็ชัดเจนในตัวว่า ไม่ใช่ตัวตน และพระพุทธองค์เองก็ยังตรัสสอนเรื่องอัตตา (ตัวตน) ไว้สำหรับตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรม ทั้งที่มีมาในพระสูตรอย่างมากมายหลายที่หลายแห่งด้วยกัน 

หากพิจารณาพระสูตรที่มีปรากฏอยู่นั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า "อนัตตา" แปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ซึ่งมีความหมายแตกต่างเป็นคนละเรื่องราวกับคำว่า "ไม่มีตัวตน" ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ไม่เคยปรากฏให้รู้ให้เห็น ไม่มีเจ้าของ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การสมมุติกันขึ้นมาเองจากจินตนาการ หรือที่เรียกว่าติต่างมันขึ้นมาเอง เอาไว้เพื่อพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง ตัวอย่างเช่น ตัวการ์ตูน สัตว์ต่างๆ ในเทพนิยายที่บุคคลจินตนาการขึ้นมา 

ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เวลาท่านเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน คำว่า "ไม่มีตัวตน" ของท่านนั้น ท่านหมายเอาสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่มีรูปร่างปรากฏให้จับต้องได้เท่านั้น แต่สามารถรับรู้และเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆ 

ในเมื่อที่มีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ ก็แสดงว่าสิ่งที่ใช่ต้องมีอยู่ ซึ่งเป็นหลักของทวินิยม อนัตตาธรรมนั้น จึงเป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ อนัตตาเป็นความรู้ความเห็นของอริยชน คนสามัญทั่วไปไม่รู้จัก เพราะพระอริยเจ้าท่านรู้จักอัตตาที่แท้จริง  

ส่วนสามัญชนคนทั่วไปไม่รู้จักอัตตา เที่ยวยึดมั่นถือมั่นจับเอาผิดๆ ไม่ถูกต้องอัตตาซักที ครั้นได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต)  ขันธ์ ๕ ไม่เป็นเรา (จิต) ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา) คนมีปัญญาบารมีก็สามารถคลำหาอัตตาได้ถูกต้อง แต่สำหรับคนเขลาเบาปัญญากิเลสหยาบบาปหนา กลับบอกว่าอัตตาตัวตนไม่มีไปเสีย

ฝ่ายที่ยังมีความเชื่อเรื่อง “ไม่มีตัวตน” ในสายปริยัติจำนวนมากนั้น หมายเอาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอยู่จริง (สพฺเพ ธมฺมา อนัตตา) เช่น การกระทำมีอยู่ ผู้กระทำไม่มี ทางเดินมีอยู่ ผู้เดินไม่มี เช่น มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน นิพพานนั้นก็สักแต่ว่านิพพาน แต่ผู้เข้าถึงนิพพานไม่มี 

แต่เมื่อถูกถามว่า ตอนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา” พระพุทธองค์รู้ใช่ไหมว่า ทรงเข้าถึงพระนิพพานแล้ว มีคำถามไป แต่ไม่ได้ยินคำตอบ มีแต่ความเงียบกริบ ได้แต่คอแข็ง 

สรุปง่ายๆ ก็คือ อะไรๆ ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ความจริงแล้วคำสอนว่า “ไม่มีตัวตน” ดังที่กล่าวมานั้น เป็นคำสอนของพวกปริพาชกฝ่ายนัตถิกทิฐิ เป็นพวกนอกพุทธศาสนา

แปลกแต่จริง พวกที่มีความเชื่อดังกล่าวนั้น กลับมีความเชื่ออีกอย่างว่า กฏแห่งกรรมมีอยู่จริง ทำดีได้รับผลดี ทำชั่วได้รับผลชั่ว เมื่อคนเราตกตายลงไปแล้ว ต้องมีอะไรสักอย่างที่เคลื่อนออกไป (จุติ) เพื่อไปชดใช้กรรมดีกรรมชั่วที่ตนทำไว้นั้น

 การกระทำมีอยู่ แต่กลับเชื่อว่าผู้กระทำไม่มี มักกล่าวอ้างบิดเบือนเถลไถลว่าเป็นแต่เพียง "สมมุติบัญญัติ" ทั้งที่นิยามของคำว่า "สมมุติบัญญัติ” นั้นชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ การจะสมมุติอะไรขึ้นมาได้นั้น สิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง เช่น กระจกรูปทรงกระบอกก้นปิด บัญญัติเรียกว่า "แก้ว" แล้วบัญญัติซ้อนลงไปเป็น "สมมุติบัญญัติ" ว่า นั่นแก้วกาแฟ แก้วน้ำ เป็นต้น 

โดยความเป็นจริงแล้ว อะไรที่เราได้สมมุติบัญญัติสิ่งนั้นขึ้นมา เมื่อเราถอนคำสมมุติบัญญัติของสิ่งนั้นทิ้งไป ก็ใช่ว่าสิ่งที่เราสมมุติบัญญัติขึ้นมานั้น จะต้องหายไปด้วยกับคำสมมุติบัญญัติเหล่านั้น จึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง

เมื่อมีสมมุติบัญญัติ คำว่า "อนัตตา" พระองค์ทรงต้องมีบัญญัติของคู่กัน คือ   "อัตตา" ซึ่งเป็นทวินิยม (ของคู่กัน) ทวินิยมนั้นเป็นที่นิยมยอมรับของคนทั่วไป เมื่อมีดีก็ต้องมีชั่ว มีขาวก็ต้องมีดำ มีสูงมีต่ำ มีรวยมีจน ฯลฯ

และคำว่าอัตตานั้น ก็ยังมีปรากฏอยู่มากมายในพระสูตร อีกทั้งมีนัยยะที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทนั้นๆ เช่น การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน (อัตตา) แม้แต่การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์รูปฌานและอรูปฌานอันละเอียดนั้น ก็จัดเป็นอัตตานุทิฏฐิ  

แต่ในบริบทที่หมายถึงจิตได้รับการอบรมฝึกฝนจนบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย นั่นก็ได้ชื่อว่าตน อันเป็นที่พึ่งที่อาศัยเช่นกัน ดังพระบาลีว่า “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโลวา อตฺตภาโว แปลว่า จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้ เป็นอัตภาพไปด้วย”

พอสรุปได้ว่า จิตที่ได้ชื่อว่าตนนั้น ต้องเป็นจิตที่หมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมด้วยภาวนานุโยค จนจิตได้รับความบริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ มีสติ มีสัมปชัญญะ 

แต่จิตของปุถุชนนั้น ด้วยมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ จึงได้หลงยึดเอารูป ซึ่งเป็นอารมณ์ และนาม อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์นั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นตนเข้าไปด้วย รูปนาม ขันธ์ ๕ นั้น เป็นอนัตตา

เรามาพิจารณาขอบเขตของคำว่า "อนัตตา" กัน เมื่อจิตมีการยึดมั่นถือมั่นเอา (สมมุติบัญญัตินั้น) รูปร่างกายที่มีอวัยวะภายในครบสมบูรณ์ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด รัก ชอบ ชัง เหตุเพราะมีจิตเข้ามายึดครองร่างกายนี้ อีกทั้งยังยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นของๆ ตนคือจิตนั่นเอง หรือเรียกว่าจิตยึดเอารูป - นาม (ขันธ์ ๕) ว่าเป็นของๆ ตน 

เมื่อตรวจสอบกับพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วในอนัตตลักขณสูตร ว่า "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)" ก็คือไม่ใช่จิตที่ยึดครองอยู่นั้น เพราะจิตที่ยึดครองอยู่นั้น ซัดส่าย วุ่นวาย หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เราย่อมเอาจิตสังขารเหล่านั้นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ (อนัตตา) 

โดยมีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดๆ ในหลายพระสูตร ในบางพระสูตรพระพุทธองค์กล่าวโทษ ภิกษุที่เห็นว่าจิตเป็นวิญญาณ (ขันธ์) เป็นพวกโมฆบุรุษ เช่น ในมหาตัณหาสังขยสูตร ความว่า

"พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?
             
สาติภิกษุ (เกิดความเห็นผิด) ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง
             
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?
             
สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ
             
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ภิกษุชื่อสาติ ก็นั่งก้มหน้า คอตก หมดปฏิภาณ เก้อเขินถอนใจ

ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน"
 
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาติคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณขันธ์ นั่นเอง และยังมีกลุ่มบุคคลอีกมากที่เข้าใจไปเช่นนั้น เหมือนกัน

เมื่อรู้จักฝั่งนั้นแล้วลองหันมารู้จักคำว่า "อัตตา" ที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า "อนัตตา" ในรูปแบบนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ เราเคยได้พบเจอกันบ่อยๆ แต่ถูกบดบังด้วยอนัตตาธรรม ธรรมที่ไม่ใช่ตน จนมองข้ามเรื่องนี้ไป 

เรามักได้ยิน ได้ฟังเสมอๆ เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านสั่งสอนลูกหลานของตนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านวัยเป็นผู้ใหญ่ "เมื่อไหร่เอ็งจึงจะเป็นตัวเป็นตน" เสียที เมื่อได้ยินได้ฟังปุ๊บ เรารู้ได้ทันทีว่า ท่านกำลังบอกให้ลูกหลานของท่านให้รู้จักฝึกฝนอบรมควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่ในคุณธรรมอันดีงาม เพื่อให้รู้จักความสงบตั้งมั่นที่ต้องรับผิดชอบดูแลตนเองและคนรอบข้าง เป็นที่พึ่งที่อาศัยไว้ใจได้ นี่เป็นเพียง "อัตตา" ระดับชาวบ้าน

ส่วน "อัตตา" ที่เป็นนามธาตุในพระสูตรอันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้นั้น คือ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งบริสุทธิ์หมดจด ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่า

"ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา
ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา
ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง 
เธอจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง"

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง "ตัวตน" ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย 

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงตรงคงที่ ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันเที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) อย่างแท้จริง

ในอัตตทีปสูตรนี้  พระพุทธองค์ประทานพระโอวาทแก่พระภิกษุว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่

ต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร? 

ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ มิได้เรียนรู้ มิได้เห็นพระอริยเจ้า มิได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ 

ย่อมพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน 
เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
ครั้นแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของเขานั้นแปรปรวนไป เป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะเหตุที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนและเป็นอื่นไป

ตรัสต่อไปว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง มีแปรปรวนไป มีความจางหาย มีความดับ เห็นตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อก่อน และรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณทุกชนิดในเวลานี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอันต้องแปรปรวนไป

เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสได้ เมื่อละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นต้นได้ ก็ไม่หวาดหวั่น เมื่อไม่หวาดหวั่นใจ ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรียกได้ว่า ตทังคนิพพานแล้ว

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ
"ปริโยทเปยฺย  อตฺตานํ  จิตฺตกฺกิเลเสหิ  ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต  ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส"

แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์และภิกษุทั้งหลาย ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีอยู่จริงจึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

ยังมีบาลีพระธรรมบทรับรองเรื่อง อัตตา ตัวตน ไว้ดังนี้
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ          โกหิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน               นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน          บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ 
ก็บุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว      ย่อมได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นได้โดยยาก

จากบาลีพระธรรมบท เราจะเห็นว่ามีบุคคล คือ มีเรา มีเขา มีเธอ มีฉัน ฯลฯ และแถมมีตนเข้ามาอีกด้วย ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย เช่น บอกว่า เธอจงฝึกฝนตน ฉันจะฝึกตน เขาจะฝึกตน ให้เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยได้ คงไม่ใช่ตนที่เป็นรูปร่างกายอย่างแน่นอน เพราะการที่บุคคลมีรูปร่างกายที่แข็งแรง แต่ขาดสติปัญญา ขาดทักษะในการปล่อยวางอารมณ์ไม่มีสัมปชัญญะเสียแล้ว บุคคลเช่นเธอ ฉัน เขา ที่ว่ามานี้ จะเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยได้ล่ะหรือ ย่อมไว้วางใจไม่ได้อย่างนอน ต่อเมื่อหมั่นประกอบความเพียรฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค จนกระทั่งจิตของตนนั้น สงบ มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่อิงบุคคลอื่นแถมยังสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นได้อีกด้วย เราย่อมได้ชื่อว่ามีจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่อาศัยที่บุคคลอื่นได้โดยยากอย่างแท้จริง

ฝ่ายที่เข้าใจไปในทางตรงข้ามกับอริยสาวก ดังมีในพระพุทธพจน์ "มหาปุณณมสูตร" ความว่า

"ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน) กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปอย่างนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

เมื่อเข้าใจว่า จิตคือวิญญาณแล้ว ก็พลอยเข้าใจไปว่า กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปไม่มีที่จะบันทึกลงตรงไหน เนื่องจากขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตนเพราะเป็นอนัตตา เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา กรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำไปแล้ว ก็ไม่อาจให้ผลกับตนได้ เพราะไม่ใช่ตน (อนัตตา) ในเมื่อไม่มีที่ๆ ให้กรรมดี กรรมชั่วที่ทำไปแล้วนั้นบันทึกลงได้

จึงได้พูดโดยสะเพร่าด้วยความเข้าใจผิดไปเองว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตน) แล้วกรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำ จักถูกตนได้อย่างไร ใช่หรือไม่? เพราะเป็นความเข้าใจผิดของภิกษุรูปนั้นเองว่า จิตคือวิญญาณ เมื่อวิญญาณเป็นอนัตตาธรรม ไม่ใช่ตน แล้วกรรมที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ทำ  ก็ไม่อาจถูกตนได้สิ   นี่คือโมฆบุรุษ

สำหรับข้อที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" นั้น เป็นการอ้างแบบเฉไฉไม่ยอมรับความจริง พยายามแสร้งมองไม่เห็นบริบทรอบข้าง โดยที่ไม่เคยดูบริบทก่อนหน้านั้นให้ดีเสียก่อน ทุกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา นั้น บริบทก่อนหน้ามักจะต้องกล่าวถึง รูป - นาม (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นอนัตตา กระทั่งมีการละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่กลับถูกมองข้ามไปเสีย 

เราต้องไม่ลืมว่า ธรรมฝ่ายโลกุตตรธรรม ที่เที่ยงตรงคงที่ต่อพระนิพพานนั้น มีอยู่จริง เช่น อมตธรรม อกุปปธรรม วิราคธรรม ฯลฯ ธรรมดังกล่าวทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ซึ่งตรงข้ามกับ "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ดังที่กล่าวอ้างไว้ โดยมีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้ ในฉันทสูตรที่ ๓ ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย" 

เป็นอันชัดเจนในตัวแล้วว่า ธรรมอันเป็นอนัตตานั้น เราควรละเสีย เพราะเมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ย่อมเป็นทุกข์  มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 

เหตุทำให้เข้าถึง "อนัตตาธรรม" ได้นั้น ควรเดินไปตามรอยทางเดินที่นำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ "อริยมรรคมีองค์ ๘" อันมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็คือทางไปสู่พรหมจรรย์ และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ก็คือความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในมหาจัตตารีสกสูตร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ  
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง"

องค์ประกอบดังกล่าวมี สัมมาทิฐิเป็นใหญ่เป็นประธาน แม้สัมมาทิฐิที่เป็นอริยะเป็นใหญ่เป็นประธานอยู่นั้น ย่อมต้องมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดสัมมาวิมุตติ สัมมาญาณได้ ทำให้จิตมีพลังรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และรู้ว่าสิ่งไหนใช่ สิ่งไหนไม่ใช่ "รูป - นาม (ขันธ์ ๕) ไม่ใช่ตนคือจิต จิตไม่ใช่รูป - นาม (ขันธ์ ๕)"

สรุปสุดท้าย กล่าวตามข้อเท็จจริง พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้ง หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้มลายหายสูญไปด้วยแต่ประการใดเลย เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็นอัตตา (ตัวตน) ต่างหาก

พระองค์ทรงสอนให้ถอนความยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดไปนั้นเสีย เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัตินั้นด้วย จิตจึงเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างแท้จริง เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕





Create Date : 26 มีนาคม 2565
Last Update : 26 มีนาคม 2565 15:07:29 น.
Counter : 354 Pageviews.

0 comment
เราจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งได้อย่างไร


🌷 เราจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งได้อย่างไร

วันพฤหัสที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู 

วันพระนี้ อาตมาภาพมีความตั้งใจจะพูดเรื่อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นสรณะที่แท้จริง ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นสมมุติ ที่เป็นเพียงรูปธรรมอยู่ในทุกวันนี้  ต่อจากที่ได้พูดถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ที่มีรจนาไว้ในหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งเป็นปริยัติธรรม เพื่อน้อมนำมาสู่การปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันแท้จริง ซึ่งจัดเป็นธรรมแท้ หรือหัวใจพระพุทธศาสนานั่นเอง

เมื่อได้ฟังบุพพสิกขาวรรณนาที่อาตมาภาพคัดย่อมานั้น เราก็รู้ถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ตามแบบฉบับที่คัดสรรไว้ เพื่อสั่งสอนพระที่บวชเข้ามาใหม่ ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นสยามภาษา ซึ่งค่อนข้างจะละเอียดตามสมควร ส่วนปัจจุบันนี้ก็มีการลดหย่อนผ่อนลงไปบ้างตามสมควรแก่กาลเวลาที่ล่วงเลยไป แต่ก็ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ต่อกุลบุตรที่บวชเข้ามาเพื่อหวังความหลุดพ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพรรณนาถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

ในปัจจุบัน จะมีพระภิกษุสงฆ์สักกี่รูปกันที่รู้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในโลก (สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ) 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน (จิตบริสุทธิ์) ต่างกันแต่สมมุติบัญญัติเท่านั้น ที่เหมือนกันโดยความหมายนั้น เป็นเรื่องของวิราคจิต วิราคธรรม หรือที่นิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง เป็นธรรมที่แยกแล้ว คือจิตที่แยกจากอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ (จิตที่สะอาดบริสุทธิ์) เราเรียกการสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คำว่า กำจัดราคะ กำจัดโทสะ กำจัดโมหะนั้น  หมายถึงนิพพานธาตุ ฉะนั้น นิพพานธาตุจึงได้ชื่อว่าธรรมอันเป็นที่สิ้นอาสวะ (อาสวักขยะ) ยังมีคำถามอีกว่า อะไรคืออมตะ อะไรคือทางให้ถึงอมตะ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่าอมตะ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือทางอันนำไปสู่อมตะ

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับดับทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า "โยจ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คตา, จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ  แปลว่า ผู้ใดจะถือเอา พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นที่พึ่งได้นั้น ผู้นั้นจะต้องเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ดังนี้"

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องลงมือศึกษาและปฏิบัติตามอริยสัจ ๔ คือ ขัดเกลาจิตใจของตนเอง ให้เลิกยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง จิตของผู้นั้นก็ย่อมบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปด้วยในที่สุด จึงสิ้นทุกข์ หมดกังวลจากเรื่องราวต่างๆ ตามพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย

เราพอจะมองเห็นและรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ดีขึ้นว่า พระรัตนตรัยเป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์ ที่ไม่ยึดถือเอาวัตถุหรืออารมณ์ใดๆ ในโลกอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเรื่องของนามธรรม ไม่ใช่เรื่องของรูปธรรมที่อาจลูบคลำ ถูกต้อง หรือแลเห็นได้ ดังที่หลายคนเข้าใจกันอยู่ว่าอยู่ภายนอกตัวเองในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว จึงจะนับว่าเป็นพระรัตนตรัย 

ส่วนบุคคลที่มีศีล ๕ บริสุทธิ์ รู้กายที่ถูกต้อง ไม่หลงยึดถือเอาขันธ์ ๕ มาเป็นตน มารู้จักตนอันแท้จริง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งอื่นนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีอีกแล้ว (สีลลัพพัตตปรามาส) ดังมีมาในราชสูตร สาวัตถี ฯ พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า 

“พระเจ้าจักรพรรดิถึงได้เป็นเจ้าครอบครองทวีปทั้ง ๔ และเมื่อสวรรคตแล้ว ก็ไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ คือเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรกกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต และอบาย ทุคติ วินิบาต 

ส่วนอริยสาวกชั้นโสดาบัน เดินบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เธอพ้นจากนรกกำเนิด สัตว์เดรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต และอบาย ทุคติ วินิบาต 

ธรรม ๔ ประการนั้น คือ
๑. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธเจ้า
๒. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรม
๓. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระสงฆ์
๔. มีอริยกันตศีล (ศีล ๕ บริสุทธิ์) ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ (วิญญุปปะสัตถา) ไม่ถูกถือมั่น เป็นไปเพื่อสมาธิ”

วันหนึ่ง พระอานนท์ไปสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร เรียนถามว่า คนเช่นไร พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า โสดาบัน คำตอบของพระสารีบุตรชี้ไปที่ธรรม ๔ ประการของพระโสดาบัน 

และครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ทรงถามท่านว่า อะไรคือ โสดาปัตติยังคะ พระสารีบุตรกราบทูลว่า โสดาปัตติยังคะ (องค์คุณของโสดาบัน) คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ  (ฟังคำสั่งสอน)
๓. โยนิโสมนสิการ (ใส่ใจพิจารณาเป็นอย่างดี)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฎิบัติที่ถูกที่ควร)

ตรัสถามอีกว่า กระแสธรรม (โสโต) ได้แก่อะไร พระสารีบุตรทูลตอบว่า กระแสธรรม หมายถึง อริยมรรค ๘ ทรงตรัสถามอีกว่า โสดาบัน ผู้ถึงกระแสธรรมคือคนเช่นไร พระสารีบุตรทูลตอบว่า ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า โสดาบัน พระพุทธเจ้าสาธุการในคำตอบทุกข้อของพระสารีบุตร 

สัตบุรุษ หมายถึง คนสงบ คนดี คนมีศีล ที่ประกอบสัปปุริสธรรม 
เมื่อบุคคลเป็นเช่นนั้นแล้ว 
เขามีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ
มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ
มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ
ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขาย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว
อย่างนี้แหละ เขาได้ชื่อว่า เจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยอัฏฐังคิกมรรค)

🌻 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ)

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา"  (ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ) โดยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" หรือคือ "โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ"

วันนั้นเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ

พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" แปลว่า "ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มานั้น พระพุทธองค์ทรงไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน" แต่ทุกวันนี้กลับนำเอาไปผสมปนเปกับศาสนาพราหมณ์ จนดูคล้ายกับว่าต่อยอดมาจากศาสนาพราหมณ์ยังไงยังงั้น ทั้งที่พระองค์ทรงประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่า ธรรมที่เราตรัสรู้นั้น เราไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนเลย 

แต่เมื่อได้มีการรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาในภายหลัง จนกระทั่งดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ได้ทรงต่อยอดการตรัสรู้ชองพระองค์มาจากพราหมณ์ อันมีรูปฌานและอรูปฌาน ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธฌานของพราหมณ์เหล่านั้นมาตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่เลย ด้วยคำว่า "ธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงรูปฌานและอรูปฌานสมาบัติเท่านั้น" ย่อมเป็นการชัดเจนแล้วสำหรับผู้ที่ศึกษาใหม่ 

ทุกวันนี้ยังมีบุคคลเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่รู้และยังเข้าใจผิดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อกล่าวถึงการเพียรเพ่งฌานเท่านั้นแหละ จะกลายพันธุ์ไปเป็นของพวกฤาษี ชีไพรเลยทันที ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสกับพระอานนท์รับรองว่า "ดูก่อนอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนวาง (ว่างเปล่าจากเรือน) พวกเธอทั้งหลาย จงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำสั่งสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย"

🌻 พระรัตนตรัย (แก้วมณีอันมีค่า ๓ ดวง)

ชาวพุทธทั้งหลาย ต่างยอมรับนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังมีบทสวดระลึกถึงว่า

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ดังนั้น จึงได้ตั้งสมัญญาถวาย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย (แก้วมณีอันมีค่า ๓ ดวง)

พระรัตนตรัยตั้งอยู่ที่ไหน? ถ้าไปถามคนที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วๆ ไปดูแล้ว เราจะเห็นว่าหลายคนตอบ ดังนี้คือ พระพุทธก็อยู่ในโบสถ์ พระธรรมก็อยู่ในตู้ และพระสงฆ์ก็นั่งสวดมนต์อยู่ในวัดต่างๆ ตรงกัน

กล่าวให้ชัดที่สุด พระพุทธ ก็คือ พระพุทธรูป  พระธรรม ก็คือ ตัวอักษรที่จารึกธรรมะซึ่งเก็บอยู่ในตู และพระสงฆ์ ก็คือ ผู้ที่นุ่งเหลือง ห่มเหลืองที่บวชเข้ามาอยู่ในวัดนั่นเอง

รวมความแล้ว คนที่นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมาก พากันเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุและอยู่ภายนอกตัวเอง ไม่ได้อยู่ภายในตัวเองเลย

ถ้าเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุและอยู่นอกตัวเองเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมถือเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้จริงๆ คือ ได้แต่สวดระลึกลมๆ แล้งๆ ว่าเป็นที่พึ่งเท่านั้นเอง หรือกล่าวให้ชัดเจนได้ว่าไม่รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ก็ได้

พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศตนเองว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฌานในพระพุทธศาสนาหรือสัมมาสมาธิที่ทรงตรัสสั่งสอนสาวกทั้งหลายไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เป็นการต่อยอดความรู้จากรูปฌานหรืออรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานสมาบัติที่มีปรากฏอยู่ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาเสียอีก 

ฉะนั้น ฌานในสัมมาสมาธิ จึงไม่ใช่สมาธิแบบทั่วๆ ไป และฌานในสัมมาสมาธินั้น ก็ไม่ใช่ฌานสมาบัติของพราหมณ์อีกเช่นกัน สัมมาสมาธิเป็นฌานในอริยมรรค 

เมื่อบุคคลเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ครบถ้วนบริบูรณ์ เท่ากับว่าเขามีธรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ สมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป (ยุคนัทธา) ชื่อว่า
ได้กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง (อภิญญา) 

ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ 
ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา 
ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา) 
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ 

แต่ก็ยังมีอาจารย์บางท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการปฏิบัติธรรม ท่านได้ยัดเอาสัมมาสมาธิผนวกเข้ากับสมาธิในรูปฌานและอรูปฌาน ท่านบอกว่าถ้าเข้าสมาธิไม่ลึกมากนั้นเป็นเพียงรูปฌาน ถ้าเข้าสมาธิได้ลึกมากก็เป็นอรูปฌาน ตอนเข้าสมาธิอยู่นั้นเราสามารถนิ่งได้เพราะอยู่ในสมาธิ  แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จิตก็ไม่อาจนิ่งได้อีก แบบนี้ไม่สามารถกำจัดอวิชชา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ท่านก็อธิบายวิธีนิ่งที่ไม่ต้องหลับตาเข้าสมาธิ ฟังดูแล้วน่าจะมาจากสัญญาไม่ใช่ปัญญา 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว บุคคลใดก็ตามที่มีจิตนิ่ง (สงบ) ได้นั้น จิตของตนย่อมต้องมีความสงบตั้งมั่น (สมาธิ) เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงจะนิ่งได้ในขณะลืมตา เพราะเป็นขั้นที่สองของการปฏิบัติธรรมในสติปัฏฐาน ๔ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง เป็นขั้นของวิปัสสนา เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จึงนิ่งได้ เพราะมีบาทฐานมาจากการปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิ (อานาปานสติ) จากการที่ได้ฝึกฝนจนชำนาญในขั้นตอนแรก คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง จึงทำให้นิ่ง (หยุด) เป็น ย่อมเกิดจากผลที่ได้จากการหลับตา ขณะนั้นจิตรู้ชัดว่า ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ (เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ) กับรู้ชัดว่า ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ จึงเลือกที่จะนิ่ง (หยุด) เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาขณะลืมตาเห็น มีพระบาลีดังนี้

"อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ แปลว่า เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกธรรม (อารมณ์) ที่มีมาเฉพาะหน้า เรากล่าวว่านั่นแหละเป็นเครื่องทําลายอวิชชา"

เมื่อกล่าวถึงเนื้อธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น คือ อริยสัจ ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ทำให้ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เปล่งวาจาว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" เพราะท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะในขณะนั้น ได้กำหนดรู้เห็นตามความเป็นจริง ถึงเรื่องในโลกล้วนเป็นทุกข์ จึงควรที่จะละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย ด้วยการปฏิบัติฌานในพระพุทธศาสนา (สัมมาสมาธิ) 

เมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า หัวข้อธรรมที่ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะ ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์ (จิต) ที่ติดข้องในอารมณ์ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งสิ้น หรือก็คือ จิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์นั่นเอง

ตรงตามที่พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า "โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงปิดบังไว้ จึงหลงงมงายอยู่ในความมืด เพราะความทะยานอยาก (ตัณหา) มีประการต่างๆ" นั่นเอง

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อธรรมที่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" นั้น หมายความเกี่ยวเนื่องกับ จิตที่ติดข้องยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นเอง

แต่กลับมีพวกอิ๊กคิวที่ชอบตีความไปตามจริตที่ติดความมักง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไหลตามกิเลสว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น" ให้รู้ก็พอ ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่พยายาม อย่าไปบังคับ เพราะบังคับมันไม่ได้ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงเดี๋ยวๆ มันก็ดับของมันไปเองเป็นธรรมดา ปล่อยไปตามยถากรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของปุถุชนคนทั่วไป ที่ได้มีการฝึกฝนให้จิตคุ้นชินกับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น โดยใช้วิธีเฉย (โง่) จัดว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าบุคคลอีกจำนวนมากที่เมื่อเกิดเรื่องขึ้น มักมีการสนองตอบต่ออารมณ์เหล่านั้น ล้วนเป็นการเก็บกักอารมณ์ในรูปของธรรมารมณ์ที่ถูกเก็บไว้ในใจ ทำให้พระธรรมบทของท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะนี้เสียหายไปด้วย

คำกล่าวที่ว่า "เป็นธรรมดานั้น" ล้วนกล่าวถึงเรื่องของโลกที่เกิดมีขึ้น โลกก็คือหมู่สัตว์อันอารมณ์ครอบงำอยู่ ล้วนเกิดขึ้นและดับไปจากโลก ส่วนจิตที่ต้องการหลุดพ้นจากโลกนั้น เมื่อติดข้องในอารมณ์ ควรที่จะต้องละ ต้องสละคืนกลับความยึดมั่นถือมั่นเรื่องในโลกออกไปให้หมดสิ้น เป็นธรรมดา เมื่อสละคืนความยึดติดได้ ย่อมพ้นโลก เหนือโลกเป็นโลกุตรธรรม

เมื่อรู้แล้ว ละเรื่องที่รู้ไม่เป็น ได้แต่ดูเฉยๆ ก็คือความไม่รู้นั่นเอง ว่าควรละเรื่องที่รู้ ก็คือไม่รู้จักสมุทัย เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองของสัตว์โลก (จิต) ผู้ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย รู้แล้วไม่ยึดติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นไม่มี

ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อท่านรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก รู้แล้วละเรื่องที่รู้นั้น เมื่อละเป็นก็ย่อมเย็นได้ สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา

ไม่ใช่อย่างที่พยายามสั่งสอนเพื่อครอบงำความคิดให้เชื่อตามๆ กันไปว่า "เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ให้รู้ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยๆ (เฉยโง่) เดี๋ยวมันก็ดับของมันไปเอง" 

การรู้แบบนี้ก็เปรียบเสมือนว่าไม่รู้จักอารมณ์ เพราะละสิ่งที่รู้ขณะนั้นไม่เป็น ปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามยถากรรมดีๆ นี่เอง นานวันไปก็กลับกลายเป็นถิรสัญญา คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น 

เมื่อคุ้นชินกับอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปได้เร็วขึ้น ไม่ใช่จากการฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักปล่อยวาง (ละ) อารมณ์เหล่านั้น แต่เป็นเพราะสัญญาที่จดจำธรรมารมณ์ (ถิรสัญญา) ดังกล่าวไว้ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง ประกอบกับว่า เมื่อจดจำธรรมารมณ์ดังกล่าวที่ว่ามานี้ได้อย่างยาวนาน ทำให้ธรรมารมณ์ดังกล่าวนั้น จืดจางไปจากความรู้สึกนึกคิดของตนได้ ด้วยเกิดจากการเปลี่ยนอารมณ์ที่จดจำได้อย่างแม่นยำของตนจนคุ้นชิน ไม่ใช่เกิด - ดับไปเองด้วยการปล่อย แต่ดับไปเองด้วยการเปลี่ยน

โดยไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า ธรรมารมณ์ในส่วนที่ประทับใจหรือที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ก็ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในธรรมารมณ์เหล่านั้น แบบปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทั่วๆ ไป วนเวียนเป็นวัฏฏะ ไม่รู้จักจบสิ้น ธรรมารมณ์เก่าดับไป ธรรมารมณ์ใหม่เกิดขึ้นๆๆ ตลอดไป

เนื่องจากไม่ฝึกฝนอบรมจิตด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา จึงทำให้ไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) ไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า

ทุกข์ ควรต้องกำหนดรู้ และต้องรู้จักเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้นด้วย เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรต้องฝึกละเหตุให้เป็น จิตจึงจะเย็นได้ (ดับ) จะละสิ่งที่รู้ให้เป็นจึงจะเย็นได้นั้น ต้องเดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ที่มีสัมมาสมาธิเป็นประธานในองค์มรรคนั่นเอง 

บุคคลใดปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีสัมมาสมาธิเป็นบาทฐานดีแล้ว ย่อมสร้างพลังจิตให้มีขึ้นเกิดขึ้น ในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปได้ ดังนั้นจึงสามารถสกัดกั้นความปราดเปรียวของกายทิพย์หรือนามกายให้อ่อนกำลังลงได้ ทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น ก็จะบรรเทาเบาบางลงไป จนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์ได้นั่นเอง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บริบูรณ์จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕


 



Create Date : 18 มีนาคม 2565
Last Update : 18 มีนาคม 2565 16:12:20 น.
Counter : 604 Pageviews.

0 comment
1  2  3  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์