ปัญญาในพระพุทธศาสนา


🌷 ปัญญา ในพระพุทธศาสนา

วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู

เจริญพร สุขสวัสดี แก่ญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ในธรรมและได้น้อมนำเอาเข้ามาใส่ในตน จึงได้รับรู้ว่า ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา ได้มีตัวอย่างที่มาในกาลามสูตร พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ที่ได้ทูลถามพระองค์ว่า มีคณาจารย์เจ้าลัทธิอื่นมากมายที่ได้ผ่านมา มักกล่าวอ้างว่า สิ่งที่ตนรู้ สิ่งที่ตนเห็น และสิ่งที่ตนสั่งสอนอยู่นั้น ถูกต้อง ส่วนคณาจารย์เจ้าลัทธิอื่นที่สอนอยู่นั้น ผิดหมด พระพุทธองค์ทรงสอนว่า 

เอถ ตุเมฺห กาลามา 
๑. มา อนุสฺสเวน กาลามชน ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยฟังตามๆ กันมา
๒. มา ปรมฺปราย ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยถือสืบๆ กันมา
๓. มา อิติกิราย ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยมงคลตื่นข่าว
๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยอ้างตำรา (ปิฎก) หรือคัมภีร์
๕. มา ตกฺกเหตุ ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ)
๖. มา นยเหตุ ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยการอนุมานเอา (คาดคะเน)
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน   ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยความตรึกตามอาการ
๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา  ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเห็นว่าต้องกันกับลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย  ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
๑๐. มา สมโณ โน ครูติ   ท่านอย่าได้ปลงใจเชื่อ โดยนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

กาลามะทั้งหลาย เมื่อมีใครมาแนะนำสั่งสอนท่าน ท่านจงตั้งใจฟังด้วยดีและศึกษาด้วยดี แล้วน้อมนำเอามาสมาทาน ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ไม่ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อพ้นทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจึงควรค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย

เมื่อมีพุทธพจน์กล่าวไว้ เราย่อมติตรองเห็นตามได้ว่า ศาสนาพุทธนั้นสอนให้เกิดปัญญา โดยไม่หลงใหลงมงายไปกับความเชื่อ ๑๐ ประการนี้ แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นไปตามพุทธโอวาทเลย เพราะชาวพุทธเรานั้นเชื่อง่ายเหลือเกิน ได้ปลงใจเชื่อไปแล้วเกือบทุกข้อที่มีในพุทธโอวาทเหล่านี้ อาจสืบเนื่องจากได้มีการอบรมสั่งสอนจากนักบวชหลายสำนักหลายรูปแบบ จนทำให้ชาวพุทธเราเกิดความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ถูก เพราะเท่าที่มีมานั้นก็ตรงกับกาลามสูตรที่ทรงกล่าวไว้ จึงหันไปยึดถือเอาวัตถุแทนไปก็มี 

แต่เท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ ก็มีอยู่หลายรูปแบบไม่ใช่น้อย อย่างกลุ่มที่ใกล้วัด ไม่ใช่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้วัด คือพวกที่ปกติอยู่บ้านก็หมั่นสวดมนต์ กราบพระ นั่งสมาธิภาวนาเป็นประจำอยู่แล้ว กลุ่มนี้แม้จะเข้าวัดบ้างไม่เข้าวัดบ้าง ก็จัดว่าเป็นพวกใกล้วัด เพราะวางตนเองไว้ในความไม่ประมาทในชีวิต หวังเพียงเพื่อให้ได้เข้าใกล้พระนิพพานหรือถึงพระนิพพาน ถ้าเป็นได้

กลุ่มถัดมา คือกลุ่มติดวัด กลุ่มนี้ชอบเข้าวัดเป็นนิสัย เพราะเห็นว่าการได้เข้าวัด ได้ไหว้พระ ขอพรจากพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นมงคลเสริมสร้างให้แก่ตนเองและครอบครัว เห็นว่าพระนิพพานนั้นไกลเกินฝัน เอื้อมไม่ถึง จึงเอาแค่บุญกุศลจากการให้ทาน รักษาศีล เท่าที่ตนเองจะทำได้ ถึงจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เดี๋ยวเข้าวัดก็ขอใหม่ได้ ชอบสะสมเสบียงบุญให้กับตนเองและครอบครัว ภาวนาก็เอาบ้างตามโอกาสที่มีเท่านั้น เมื่อกลับออกมาจากวัดแล้ว ก็วางสิ่งที่ได้มานั้นไว้ตรงไหนสักที่

กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มเฉียดวัด เป็นกลุ่มที่เข้าวัดตามเทศกาลที่มีเท่านั้น ทำทุกอย่างตามประเพณี

ส่วนกลุ่มที่เหลือนอกจากนี้ เป็นกลุ่มที่ยังจมติดอยู่ในกาม ยังส่องเสพกาม ยังถูกกามวิตกกัดกิน กามวิตกฺเกหิ ขชฺชมาโน ยังถูกไฟกามแผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากามคุณ อันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย คู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ด้วยฉันทราคะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าวัด หรือเฉียดวัดเลย ทาน ศีล ภาวนา ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่รู้จักบุญกุศลเหล่านั้น

พอสรุปได้ว่า ทุกวันนี้ชาวพุทธเรายิ่งห่างไกลจากปัญญาทางพุทธศาสนา แต่กลับไปให้ความสำคัญกับปัญญาทางโลก ซึ่งเป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ เป็นปัญญาที่เกิดจากความรู้ที่ได้รับมา แล้วนำมาคิด คิดแล้วคิดเล่า จนความคิดเหล่านั้นตกผลึก แล้วเข้าใจว่านั่นแหละเป็นปัญญา ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงสัญญาเท่านั้น นำมาใช้จริงยังไม่ได้  เมื่อกระทบกับอารมณ์จากภายนอกหรือภายในทันทีทันใด ก็พร้อมที่จะสะดุ้ง กระเพื่อม ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ความรู้สึกยินดียินร้ายเหล่านั้น แล้วนำเอาสัญญาอารมณ์ที่ตนเองรู้มานั้น มาเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่กระทบอยู่ เป็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ตนเองชอบ และประทับใจ จดจำได้เป็นถิรสัญญา เป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไม่ใช่การสลัดอารมณ์ออกไป ในทันทีทันใดที่กระทบ 

การสลัดอารมณ์ออกไปในทันทีทันใดที่กระทบได้นั้น นี่จึงจะเป็นปัญญาทางธรรมอย่างแท้จริง ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ด้วยสมาธิภาวนาจนจิตของตน อ่อน ควรแก่การงานทางจิต สามารถปล่อยวาง หรือสลัดอารมณ์ที่มากระทบออกไปได้ เป็นวิมุตติจิต ที่หลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ มีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ ดังนี้

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสิกขา ๑ ในสิกขา ๓ เป็นมรรคจิต (ทางเดินของจิต) ที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการนำจิตของตนเข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดอันคงที่ ไม่กลับกลายอีกแล้ว เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นตั้งใจลงมือปฏิบัติแบบจริงจังแบบเอาชีวิตเข้าแลก เป็นสมาธิที่เป็นสัมมา สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางความยินดียินร้าย และความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต) ออกไปจากจิตได้ ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต

ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง ไม่ว่าจะที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ไม่สามารถปรุงแต่งจิตของผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสน วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้สมาบัติ (ความสงบอันพึงเข้าถึง) เป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวันของตน

สัมมาสมาธิ ฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณะมัตตายะ) จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไป เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ เข้าสู่ความสงบตั้งมั่น เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง 

การที่จิตได้รู้จักตทังควิมุตตินั้น ต้องถือว่าเป็นคุณอย่างมหันต์ จิตได้สัมผัสกับสุขที่ปราศจากอามีส สงบถึงขีดสุด เมื่อได้รู้จักแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญคือหมั่นตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้านั้น จนชำนาญเป็นวสี เป็นวิปัสสนาเครื่องทำลายอวิชชา 

ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด 
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้
"

เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง  คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้นคือ วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ   เห็นที่ใช่ รู้จักที่ไม่ใช่ เห็นคุณ เห็นโทษ รู้เหตุเกิด ความดับ ของอายตนะทั้งหลาย

รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" ก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า 
- อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็น ทุกข์ 
- เมื่อรู้แล้วว่า อารมณ์ทั้งหลายที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก สมุทัย -  เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย 
- เพื่อถึง นิโรธ - ความดับทุกข์ทั้งปวงได้ 
- ด้วยมรรค - ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์

มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า 
"เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ
ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค
ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ
 

แปลว่า ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน (สิ้นทุกข์)"

หากเราสามารถสร้างสติ (สัมมาสมาธิ) และประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดวิปัสสนา (ปัญญา) สืบเนื่องจากจิตของตนมีปัญญารู้ว่า ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ

ในการฝึกปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติ (ระลึกรู้) อยู่ จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้ และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ที่ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา (ปัญญา) ในเบื้องต้น

ฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือองค์ภาวนาต่างๆ เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดถืออยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกอบรมจิตให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญญาที่แหลมคมยิ่งๆ ขึ้นไปเอง

ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่ปราศจากอามีส เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา  ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุ่นวายได้ ตามความเป็นจริง 

เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตเป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ) โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ ที่มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตน ได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว

ใครที่ยังคิดว่า สมถะ (สมาธิ) และวิปัสสนา (ปัญญา) ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสน วุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนา - ปัญญาที่เกิดจากจิตที่รู้จักฐานสติสงบตั้งมั่นเป็นอย่างดี

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมรู้จักคุณและโทษ ความเกิดและความดับของอายตนะนั้น สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิด จนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์"

ส่วน "วิปัสสนา - ปัญญา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวาง ย่อมละสังโยชน์ได้

"สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาเสียแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า"

เมื่อกล่าวถึง "ปัญญา" แล้ว มีพระพุทธพจน์ (พระธรรมบท - มรรควรรค) ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ดังนี้ว่า 

"โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย
จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ


ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ 
ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลผู้รู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม 
ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ
"

ยังมีพระสูตร (นาวาสูตร) ที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ 
จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า 
ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ 
ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า 
เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร 

เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ 
เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ 
เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔   
เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ 
เพราะไม่อบรมพละ ๕ 
เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗  
เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ 
ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า 
ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ 
ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า 
เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร 

เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ 
เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ 
เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ 
เพราะอบรมอินทรีย์ ๕  
เพราะอบรมพละ ๕ 
เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ 
เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘


"บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว 
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" 

นี่คือ "ปัญญาในพระพุทธศาสนา - ธรรมอันงามในที่สุด" ซึ่งแตกต่างไปจาก ความเฉลียวฉลาด หรือ "ปัญญาในทางโลก" อย่างสิ้นเชิง ปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และสามารถนำจิตของตนไปสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใดเมื่อกระทบอารมณ์ เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ นั่นคือ จิตของตนต้องได้รับการอบรมฝึกฝนสมาธิอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันที ชั่วขณะจิตเดียว  เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕




Create Date : 11 มกราคม 2565
Last Update : 11 มกราคม 2565 18:33:46 น.
Counter : 489 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์