พระนิพพาน


🌷 พระนิพพาน

วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๒

เจริญสุขท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ใจน้อมเอาธรรมะเข้ามาสู่ตน โอปนะยิโก เพื่อปรารภความเพียร ให้รู้ถึงเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงแก่นแท้พระศาสนาแล้วทำให้นึกถึงหัวใจพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตของตนเอง ให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่นออกไป 

ส่วนลัทธิและศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ก็แทบไม่แตกต่างไปจากพุทธศาสนาเลย คือ สอนให้ละชั่ว ทำความดี ส่วนทางด้านจิตใจนั้น สอนให้สวดมนต์อธิษฐานจิต ด้วยการร้องขอเอาจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนนับถือ ช่วยดลบันดาลความสุข ความมีโชค ความร่ำรวย ความปลอดภัยไร้โรคา ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว 

ที่แตกต่างกันนั้นตรงนี้ คือ พุทธศาสนาอยู่ในหลักเหตุผล ให้ฝึกฝนอบรมจิตของตนจนบริสุทธิ์หมดจด เข้าสู่วิมุตติสุข จิตหลุดพ้น ได้มรรคผลนิพพาน ตามสติกำลังของตน 

พระองค์ทรงตรัสว่าถ้าการร้องขอหรืออธิษฐานแล้วได้ผล จะไม่มีคนจนอยู่ในโลกนี้เลย แต่ก็ยังมีพุทธศาสนิกชนที่ยังมีกำลังใจอ่อนนั้น ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ยังหนีไม่พ้นการร้องขอจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพราะเป็นการง่าย เป็นการลงทุนที่น้อย หวังผลจากอารมณ์ความรู้สึกคิดได้มาก แต่ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถามว่าบุคคลเหล่านั้นไม่รู้หรือ ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่ารู้ ในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงต้องการ เพราะพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบปราณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ (นึกเดาเอา) ละเอียด บัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) เท่านั้น จึงจะรู้ได้ 

เพราะเหตุนี้ชาวพุทธส่วนมากจึงเพียงเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีล ในวันสำคัญๆ ทางศาสนาเท่านั้น ส่วนการภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาในทางจิตใจ เพื่อความวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันเกินวิสัยที่ตนจะกระทำได้ เพราะคิดไปเอง โดยมากที่ให้ทานรักษาศีล ก็เพียงเพราะกลัวความตกต่ำลำบากในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตกาลอันยาวไกลไปถึงภพหน้า ด้วยการอธิษฐานจิตขอเอาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระที่วัดนั่นเอง  โอกาสที่เป็นไปได้นั้นมีอยู่ เฉพาะกับบุคคลที่เคยได้กระทำกรรมอันสืบเนื่องด้วยสิ่งนั้น สะสมไว้ก่อนมาแล้ว  ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้วว่า บางคนไปอธิษฐานไปขอไว้ที่นั่นที่นี่แล้ว บรรลุผลอันตนเองต้องการ ก็เที่ยวเดาส่งไปเลยว่า เกิดจากการที่ตนเองอธิษฐานและขอไว้ ซึ่งเป็นการคิดเองเออเองของตนเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว กิเลสกรรมวิบากที่ตนได้เคยสะสมไว้ ได้กระทำไว้ต่างหาก ที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่ขอนั่นแหละ เที่ยงแท้แน่นอนที่สุด 

ส่วนบุคคลอีกจำพวก ที่เคยได้มีสายบุญสายกรรมสัมผัสกับหลักธรรมที่แท้จริง อันคือจิตมาก่อน ย่อมต้องกำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรมแท้ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดในการสืบต่อ ในการเพียรประคองจิตของตน ให้อยู่ในฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ จนเป็นวสี เพราะเป็นส่วนสำคัญมากในการเดินมรรคจิตสู่อริยมรรคนั่นเอง 

ส่วนมากแล้วได้ชื่อว่า เพียงแค่ได้สัมผัสกับหลักธรรมที่แท้จริงเท่านั้น คือเพียงแค่เคยภาวนาได้ และได้รับผลความอัศจรรย์ทางจิตมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ก็เข้าใจไปว่านั่นตนเองได้แล้ว และก็ปล่อยปละละเลยในสิ่งที่เคยได้นั้น ด้วยขาดความเพียรอย่างต่อเนื่อง ทำให้การภาวนาในโอกาสต่อๆ ไปเหมือนการเริ่มต้นใหม่ทุกๆ ครั้งไป เพราะจำทางเดินของจิตไม่ได้ นานวันไปก็จะล้าไปเอง เพราะอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยังครอบงำจิตอยู่

ในบางรายนั้น ไม่มีสายบุญสายกรรมเก่าสะสมไว้มาก เมื่อสัมผัสได้ถึงหลักธรรมที่แท้จริง กลับกลัวไปเองว่า เมื่อภาวนาต่อไปอีก เดี๋ยวตนเองจะหมดกิเลสไปซะ เพราะตนเองยังอยากมีกิเลสอยู่ โดยเข้าใจผิดด้วยคิดเองเออเองเท่านั้น ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว การจะสำรอกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากจิตนั้นได้ ไม่ใช่ของง่ายๆ เลย บุคคลผู้ที่สำรอก อวิชชา ตัณหาอุปาทานได้นั้น แม้อารมณ์เพียงนิดก็เจือติดจิตของตนไม่ได้ นั่นแหละของจริง 

และยังมีความเข้าใจผิดอย่างไม่น่าให้อภัยเลย เรื่องการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา สืบเนื่องจากไปฟังไปเชื่อบุคคลผู้ที่ตัวเองยังภาวนาไม่เป็น เพราะไม่รู้จักจิต เพียงเพราะคำพูดและความน่าเชื่อถือของผู้พูดนั้น ตรงกับจริตตรงใจของตนที่คิดไว้เท่านั้น ทั้งที่ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ได้กล่าวว่า มา ภพฺพรูปตาย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เหตุเพราะผู้พูดควรเชื่อได้ ลักษณะดี อยู่ในฐานะที่ดี พระองค์ทรงให้ฟังด้วยดี แล้วสมาทานนำไปปฏิบัติ แต่ที่สำคัญคือ ผู้รู้ต้องไม่ติเตียน

มีพุทธพจน์ในสมาธิสูตร ดังนี้ "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (หรือผู้ที่มีจิตสงบ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์แล้ว) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง" 

หลักธรรมที่แท้จริงคือจิตที่ตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ที่ยังสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ ย่อมได้ชื่นชมอรหัตตผล ส่วนผู้ที่ยังสัมมาสมาธิเพียงบางส่วน ย่อมได้ชื่นชมผลส่วนที่เหลือ  กล่าวได้ว่าสัมมาสมาธิไม่เป็นหมันเลย เพราะความเพียรมีผล ความพยายามมีผล

บุคคลผู้ที่ลงมือภาวนาได้สัมผัสหลักธรรมที่แท้จริงเพียงแตะๆ เท่านั้น อย่างน้อยก็ได้ฆราวาสธรรม เป็นหลักธรรมของผู้ครองเรือน มี ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน รู้จักข่มใจควบคุมอารมณ์ ๓. ขันติ ความอดทน ๔. จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน มีน้ำใจ 

ส่วนบุคคลผู้เข้าถึงสัมผัสหลักธรรมที่แท้จริงยิ่งๆ ขึ้นไป ย่อมได้ผลตามลำดับขั้น อันมี เทวธรรม พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติ สืบเนื่องจากการลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั่นเอง

ต่อจากนี้ เรามาเข้าสู่ หัวใจพระพุทธศาสนา อันต่อจากวันพระที่ผ่านมา (วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เป็นตอนสุดท้าย

🌷 พระนิพพาน 

คําว่า พระนิพพาน นี้ เป็นคําที่ออกหน้าออกตามากกว่าคําอื่นในภาคโลกุตรธรรม และเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ชาวพุทธอธิษฐานขอให้บรรลุถึง แต่ในทางธรรมะใช้คําอื่นอีกหลายคําเรียกแทนเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เช่น มทนิมฺมทาโน (ดับความมัวเมา)  ปิปาส วินโย (กําจัดความกระหาย)  อาลยสมุคฺฆาโต (ตัดความห่วงอาลัย)  วฏฺฏูปจฺเฉโท (ตัดวัฏฏะ) ตณฺหกฺขโย (สิ้นตัณหา) วิราโค (สิ้นความยินดี) นิโรโธ (ดับกิเลส) คือพระนิพพาน

ในหนังสือปุพพสิกขาวรรณนาได้บรรยายไว้ว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันละเอียด สุขุมลุ่มลึกอันใครๆ ไม่สามารถจะชี้แจงแสดงได้ แม้แต่พระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกก็ไม่สามารถแสดงได้ แต่ท่านเหล่านี้จะรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่ใช่วิสัยที่คนอื่นจะรู้ตามได้ ดังรายละเอียดปรากฏอยู่แล้วนั้น ถ้าผู้ที่อ่านพบเห็นเข้า ใช้สติปัญญาไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว จะดูกระไรๆอยู่ ในข้อที่ว่า พระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกชี้แจงให้เห็นไม่ได้ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนอย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว และชาวพุทธทุกคน ทุกท่าน ต่างก็เชื่อสนิทว่าพระองค์ได้บรรลุถึงพระนิพพานจริงๆ เช่นนั้น

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว คําว่า นิพพาน เป็นคําสมมุติบัญญัติที่มีมาในศาสนาอื่นก่อนศาสนาพุทธ เช่น ศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงหรือได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาเหนือบุคคลธรรมดาด้วยกัน มีอยู่ ๕ ประการ คือ การได้ครอบครองกามคุณ ๕ อย่างเพียบพร้อม การเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน  ตติยฌาน  จตุตถฌาน ศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นพระนิพพาน

ส่วนคําว่า นิพพาน ในพระพุทธศาสนานั้น มิได้หมายความเหมือนศาสนาอื่น ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว เรายอมรับกันว่าพระนิพพานเป็นธรรมชั้นสูงสุดเหนือโลกียธรรมทั้งหลาย และเป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนานี้ สําหรับผู้ที่เบื่อทุกข์ต่างๆ ในโลก จะได้เข้าถึงด้วยการลงมือปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาอย่างแรงกล้า และต่างก็คิดว่าเมื่อได้เข้าถึงพระนิพพานแล้ว ก็จะหมดทุกข์ในโลก ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายต่อไปอีก

🌷 พระนิพพานอยู่ที่ไหน? 

ถ้าสังเกตดูพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องพระนิพพาน และทางไปสู่พระนิพพานทุกบท ทุกตอน และทุกเรื่องให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงชี้ให้ทุกคนค้นหาพระนิพพานในอัตตภาพอันประชุมพร้อมด้วยรูปนามนี้เอง มิได้ทรงชี้ให้เที่ยวหาออกไปภายนอก แต่ประการใดทั้งสิ้น ดังตัวอย่างคําพังเพยของผู้รู้ที่กล่าวตามๆ กันมาว่าดังนี้คือ "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานนั้นก็อยู่ไม่ไกล้ไม่ไกล เพียงหายใจก็ได้ยิน" เป็นต้น เรายอมรับกันว่าถูกต้องเสียด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระนิพพานอันเป็นสภาพธรรมที่มีแก่นสารก็ย่อมอยู่ในอัตตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้เอง ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ดังที่เล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น อุปมาดังก้อนเพชรที่หมกตัวรวมอยู่กับแท่งหินใหญ่ในภูเขา ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องค้นหาเพชรจากแท่งหินในภูเขา ไม่ใช่ไปค้นที่อื่น ข้อนี้ฉันใด พระนิพพานก็มีรวมอยู่ในอัตตภาพร่างกายและจิตใจเหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องค้นหาพระนิพพานภายในอัตตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้ จะไปค้นหาพระนิพพานจากที่อื่นไม่ได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้น ซึ่งสอดคล้องกับคําสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างยิ่ง

เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ล่วงมานานมาก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายทาง หลายทอด ดังนั้น เมื่อพูดถึงพระนิพพานขึ้นมา ก็ย่อมมีรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปมาก บ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา บางที่ก็อธิบายว่า พระนิพพานเป็นเมืองแก้วเมืองสวรรค์ ทําให้ผู้ฟังนึกเลยออกไปถึงแสงสีอันวูบวาบของเพชรนิลจินดาก็มี บางที่ก็สอนว่า ในพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรปลอดจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสภาพว่างๆ แต่ไม่ชี้ชัดลงไปว่าอยู่ที่ไหนก็มี บางที่ก็สอนเปรียบพระนิพพานกับความร้อนเย็นว่าข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ยังร้อนอยู่ ไม่ใช่พระนิพพาน ต้องปล่อยข้าวให้เย็นเสียก่อน จึงจะนิพพานก็มี 

บางที่ก็สอนว่าในอัตตภาพอันประชุมพร้อมด้วยรูปและนามนี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น คือหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ซ้ำยังกล่าวโทษผู้ที่พูดว่ามีอะไรเป็นแก่นสารรวมอยู่ในอัตตภาพนี้ว่า เห็นผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็หมายความว่า จะต้องออกไปค้นหาพระนิพพานที่อื่น ภายนอกอัตตภาพร่างกายและจิตใจ อาจจะต้องออกไปค้นหาตามห้วยหนองคลองบึง ท้อง ทะเล เมฆหมอก หรือตามป่าเขาลําเนาไพร แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ยังไม่มีใครชี้ที่อื่นภายนอกให้ค้นหาพระนิพพานอย่างแน่นอนได้สักแห่งหนึ่ง ทําให้ผู้ฟังเกิดความสับสน จับจุดสําคัญในความหมายของคําว่า พระนิพพาน ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวพุทธจึงเพียงแต่ขอให้ถึงด้วยการอธิษฐานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ถึงจริงๆ เลย

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระพุทธโฆษาจารย์

พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพระอรรถกถาจารย์ในพระพุทธศาสนา ได้ให้ทัศนะเรื่องพระนิพพาน ไว้ดังนี้คือ

พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่มโนภาพที่จิต เนรมิตขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

อันหนวดเต่าเขากระต่าย เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาในครั้งไหนๆ แต่กาลก่อน อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่พระนิพพานนั้น ไม่ใช่หนวดเต่าเขากระต่าย เพราะว่าพระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

บรรดาสังขารทั้งหลาย มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่พระนิพพานนั้น ไม่ปรากฏในการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่ปรากฏความเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดอนันตรกาล

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระอภิธรรม

ในพระอภิธรรมนั้น ถือว่า "จิตคือวิญญาณขันธ์" หมายความว่า เมื่อพูดถึงจิตขึ้นมาแล้ว จะต้องมีอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งเป็น "สังขารธรรม" อยู่เสมอ จะแยกออกจากอารมณ์ไม่ได้ ดังนั้น จึงเข้าใจว่า จิตหรือวิญญาณขันธ์จะต้องดับลงเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพานได้ พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายเป็นแต่เพียงหมดกิเลสเท่านั้น ต้องรอให้จิตดับตายหายสูญไปเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพาน หมายความว่าพระอรหันต์จะบรรลุถึงพระนิพพาน เมื่อตายแล้ว เพราะไม่ยอมรับหลักธรรมว่า สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อแยกเอาอารมณ์ออกจากจิตได้  ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิจนย่างเข้าสู่สภาพที่สิ้นสุดจากอารมณ์ที่เรียกว่า โคตรภูญาณ ก็ยังถือว่าต้องยึดพระนิพพานเข้ามาเป็นอารมณ์ของจิตอีกต่อไป

ในคัมภีร์พระอภิธรรมถือว่า จิตไม่ใช่นิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต ดังนั้นในพระนิพพานจึงไม่มีจิต ใครมีจิตอยู่จึงบรรลุถึงพระนิพพานยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังจึงจับจุดสําคัญ เรื่องนี้ว่า เมื่อบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงสภาพดับตายหายสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในพระสูตรไม่ได้กล่าวไว้เช่นนี้

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระสูตร

ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระสูตรสําคัญๆ ทั้งหลายนั้น เช่น อนัตตลักขณสูตร เป็นต้น ถือว่าจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง เป็นแก่นสารของพระศาสนา เป็นนิพพาน หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาจนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่บรรลุถึงพระนิพพาน และรู้ว่าตนเองจิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุด ไม่มีกิเลสอันใดตกค้างอยู่อีกต่อไปตนได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้วด้วย

พระพุทธอุทานที่ได้ทรงเปล่งออกภายใต้ต้นโพธิ์ เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมซฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า พระนิพพานก็คือจิตที่สิ้นการปรุงแต่ง หรือจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง ผู้ที่ปฏิบัติถึงสภาวะเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้อยู่ว่า "ตนได้บรรลุพระนิพพานแล้วด้วยกันทุกคน" ทั้งนี้แสดงว่า ในพระนิพพานนั้น มีจิตที่สะอาดอยู่ด้วย เพราะสิ่งปรุงแต่งที่ทําให้จิตสกปรกได้ดับไปหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น พระนิพพาน คือ ความสะอาดของจิต จึงอยู่คู่กับจิต เป็นธรรมดา

เราสามารถกล่าวยืนยันอย่างแข็งแรงได้ว่า ไม่มีผู้ใดสามารถแยกสีเหลืองสุกปลั่ง ซึ่งแสดงความบริสุทธิ์ของทองคําออกไปเป็นคนละส่วนจากเนื้อทองคําได้ ฉันใด พระนิพพาน ซึ่งประกาศความบริสุทธิ์ของจิต ก็มิอาจทําให้อยู่แยกเป็นคนละส่วนจากจิตได้ ฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสงเคราะห์คําอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ที่ว่า "เมื่อได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว จิตนั้นก็ดับไปหมดสิ้น" ดังนี้คือ สิ่งที่ปรุงแต่งจิต ที่เรียกว่า "จิตสังขาร"เท่านั้นที่ดับไปอย่างหมดสิ้น คงเหลือสภาพจิตที่บริสุทธิ์อยู่ในพระนิพพานนั้นตลอดไป มิฉะนั้น ก็ย่อมทําให้เกิดความสงสัยคลุมเครือจนเสียเหตุผลได้ว่า ความบริสุทธิ์ที่เหลือไว้ให้เรียกว่าพระนิพพานนั้น ตั้งอยู่กับอะไร? กล่าวคือ ความบริสุทธิ์มีอยู่อย่างลอยๆ หาที่ตั้งไม่ได้

ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าน้ำบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ตั้งอยู่กับน้ำจํานวนนั้น ถ้าจิตบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ย่อมต้องตั้งอยู่กับจิตนั้น  ถ้าสงเคราะห์ให้ทั้งจิตผู้รู้และอารมณ์ที่ปรุงแต่งดับหมดแบบเถรตรงแล้ว ย่อมเสียเหตุผลดังที่กล่าวมานี้เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็ผิดจากสภาวะที่เป็นจริง คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่า ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว (คือมีจิต "รู้" อยู่ด้วยเสมอ) จิตไม่ได้ดับ แต่รู้ว่าสิ่งที่ปรุงแต่งจิตได้ดับหายไปแล้ว

เรื่องนี้สามารถยกอุปมาอุปมัยขึ้นเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจนดังนี้คือ สมมุติว่า เอาน้ำจํานวนหนึ่งเทลงในอ่างน้ำ แล้วคอยสังเกตดูอย่างละเอียดที่สุด เราจะเห็นว่า นับตั้งแต่เริ่มเทน้ําลงในอ่างเป็นต้นมา น้ําจะมีอาการกระเพื่อมหวั่นไหวไปมาในอ่างอย่างแรง จนกระทั่งเทเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นต่อมา ความกระเพื่อมหวั่นไหวจะลดลงสู่ระดับราบเรียบในที่สุด ถ้าเรากวนน้ํานั้นอีกครั้งหนึ่ง น้ําก็ย่อมกระเพื่อมหวั่นไหวตามไปอีก ถ้าหยุดกวนน้ํานั้น ความกระเพื่อมหวั่นไหวก็จะลดลงสู่ระดับราบเรียบเหมือนครั้งแรกอีก

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อเรากวนน้ํา น้ําก็จะกระเพื่อมหวั่นไหว เมื่อเราหยุดกวน น้ําก็จะหยุดกระเพื่อมและลดตัวลงสู่ระดับราบเรียบทุกครั้ง ไม่ว่าจะทําเช่นเดียวกันนี้กี่ครั้งก็ตาม ทั้งนี้แสดงว่า ความกระเพื่อมหวั่นไหวเป็นสภาพใหม่ที่น้ําถูกปรุงแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ส่วนสภาพราบเรียบลงเป็นเส้นระดับเป็นสภาพเดิมของน้ํา ที่มีอยู่โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มีให้เป็นแต่ประการใด หมายความว่า เมื่อสิ้นการปรุงแต่งเมื่อใด น้ําจะต้องคืนตัวลดระดับลงมาราบเรียบเองเสมอทุกครั้ง ข้อนี้ฉันใด

จิตที่ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปเพราะถูกอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งนั้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ เสียแล้ว อารมณ์ก็ย่อมไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมอันผ่องใสไปได้ จิตก็กลับคืนเข้าสู่สภาพบริสุทธิ์ สะอาดเหมือนเช่นเดิม หมายความว่า จิตไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่ดับหายไป คือสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งให้จิตเสียคุณภาพ เช่นเดียวกับความกระเพื่อมหวั่นไหวหายไปจากน้ํา ดังที่อุปมาอุปมัยไว้นี้ทุกประการ

🌷 พุทธภาษิตต่างๆ ที่แสดงเรื่องพระนิพพาน

๑. โย น ลิมฺปติ กาเมสุ สีติภูโต นิรูปธิ แปลว่า ผู้ใดสิ้นอุปธิ ไม่ติดในกามทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นผู้เย็นแล้ว ....... (สคาถวรรค) 

๒. อเนญฺชํ นหาตกํ พุทฺธํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหมฺณํ แปลว่า เราเรียกผู้ที่มีจิตไม่หวั่นไหว  ฟอกล้างแล้ว  ผู้รู้แล้ว นั้นว่าเป็นพราหมณ์  ……… (พระธรรมบท)

๓. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า จิตของผู้ใดไม่โศก  สิ้นกิเลสดุจดังสินธุลีแล้ว เป็นจิตเกษม โลกธรรมถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว นี่คือมงคลอันสูงสุด ......... (มงคลสูตร)

๔. อกิญฺจนํ อนาทานํ เอตํ ทีปํ อนาปรํ นิพฺพานํ อิติ นํ พฺรูมิ ชรามจฺจุปริกฺขยํ แปลว่า ความไม่กังวล ความไม่ยึดถือ (ในอารมณ์) นี้คือที่พึ่ง อย่างอื่นจากนี้ไม่มี อย่างนี้แหละเรากล่าวว่าเป็นนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งความแก่และความตาย ........ (โสฬสปัญหา) 

เพราะฉะนั้น จึงสามารถกล่าวสรุปได้ว่า พระนิพพานเป็นเรื่องที่สามารถนํามาพูดจากันให้รู้เรื่องได้ เพื่อให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ดังนั้น จึงทําให้ชาวพุทธเชื่อถืออย่างมั่นใจว่า พระนิพพานคือจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  หมดกิเลสเพราะสิ้นการปรงแต่งจากอารมณ์ต่างๆ อย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงเป็นสิ่งที่มีจริงและเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างยิ่ง

วิทยานิพนธ์ทั้งหลายที่เรียบเรียงขึ้นโดยอ้างอิงทฤษฎีที่มีผู้เขียนไว้ในตําราต่างๆ นั้น เราจะเห็นได้ว่าบางทีก็เป็นสิ่งไม่อาจแลเห็นได้ และบางทฤษฎีก็อาจถูกหักล้างจากนักตรรกวิทยาในภายหลังได้ แต่ก็จําเป็นต้องเชื่อเพื่อผลประโยชน์ในการได้วุฒิบัตร ดังกล่าวเหล่านี้ ยังน่าเชื่อถือน้อยกว่าพระนิพพานในพระพุทธศาสนาตั้งหลายเท่าเสียอีก

🌷 🌷 🌷 

เราพอสรุปได้ว่า มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้น ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ เป็นปริโยสานคือที่สุด มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้  "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" เป็นเพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางเดินสู่ความหลุดพ้นจากอวิชชาตัณหา อุปาทาน บรรลุพระนิพพาน อันเป็นบรมสุขแล 

มรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักธรรมสำคัญที่มีในพุทธศาสนาเท่านั้น และผู้ปฏิบัติตามย่อมพบกับความสงบอย่างแท้จริง มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร แสดงไว้ดังนี้ 

"ดูก่อน สุภัททะ ในธรรมวินัย (ศาสนา) ใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ย่อมไม่มี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ย่อมมี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

จำเพาะในธรรมวินัยนี้ (คือศาสนาพุทธ) เท่านั้น ที่มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ดังนั้น ในธรรมวินัยนี้จึงมี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

ลัทธิอื่น (ศาสนาอื่น) ว่างเว้นจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง (ไม่มีสมณะ) ถ้าภิกษุนี้พึงอยู่โดยชอบ (คือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘) โลกจะไม่พึงว่างเว้นจากพระอรหันต์เลย" สาธุ

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:40:48 น.
Counter : 893 Pageviews.

0 comment
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ 

เจริญสุข สวัสดี พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

การเจริญธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นเครื่องชำระกิเลสออกจากดวงจิตได้ ผู้ที่ประพฤติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่งนิพพาน วิมุตติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย 

แท้ที่จริงแก่นสารของพระพุทธศาสนานั้น คือ การปฏิบัติกายวาจาใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ก็ถึงแก่นของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว แต่คนส่วนมากนั้นยังไม่เข้าใจเข้าไม่ถึงไม่รู้อยู่เห็นอยู่ ด้วยเหตุนั้น การปฏิบัติพระพุทธศาสนามักได้แต่เปลือกของศาสนา ส่วนแก่นแท้ของพระศาสนานั้นไม่ค่อยจะได้กันไปหรอก 

แก่นแท้ของบุญคือจิต เราเข้าถึงจิต ปฏิบัติให้ถึงจิต อันนั้นแหละเป็นแก่นแท้ของบุญ บาปก็อยู่ในนั้นด้วย ทั้งบุญและบาปอยู่ด้วยกันนั่นแหละ เพราะจิตมันหยาบ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันเหนียวแน่น ปกคลุมหุ้มห่อมาหลายภพหลายชาติ แล้วจิตนี้ ทีนี้ต้องทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ขาดวรรคขาดตอน  เหมือนลูกโซ่ไม่ขาดสาย ด้วยการอดนอน ผ่อนอาหาร หนักเข้าจิตกับสติปัญญากับกายนี้ มันจะรวมเข้าเป็นมัคคสมังคี (สามัคคีกันแน่นแฟ้น) แล้ว ต่อไปจิตมันก็จะเข้าสู่ความสงบได้ แล้วจึงจะได้ อาโลโก อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว เกิดความรู้และกำลังของจิต จะรู้ฉลาดต่อธรรมทั้งปวงได้ ถ้าทำความเพียรอ่อนก็ยากที่จะเป็นไปได้

แก่นสารของพระพุทธศาสนา ก็คือหัวใจพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นการปฏิบัติกาย วาจา ใจของตน ให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ  

โอวาทปาติโมกข์ มีดังนี้ 
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีทั้งปวง 
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ทรงแบ่งออกเป็นขั้นๆ ดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์  มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ซึ่งแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีต หรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ แปลว่า การทำให้จิตของตนมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

โดยความเป็นจริงในปัจจุบัน การปฏิบัติศาสนามักได้แต่เปลือกไป ส่วนแก่นแท้ของพระศาสนานั้น มักไม่ค่อยจะได้กันไปหรอก เพราะพุทธศาสนิกชนไปให้ความสำคัญกับการทำทาน รักษาศีล กันเสียส่วนมาก แต่กลับไม่ค่อยให้ความสนใจในการปฏิบัติภาวนามยปัญญา 

ซึ่งการภาวนานั้นเป็นการอบรมจิตของตนโดยตรง เป็นการต่อสู้กับอารมณ์ความปรารถนา ที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองไปตามกิเลสที่ใจปรารถนา เนื่องจากยังมีความทะยานอยาก และยังไม่ต้องการหยุดหรือยับยั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นในเวลานี้ เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด การบำรุงบำเรอปรนเปรอ ความทะยานอยาก จะหมดไป ซึ่งเป็นการคิดไปเองแบบคิดเองเออเองล่วงหน้าทั้งนั้น 

โดยเนื้อแท้แก่นแท้ของบุญกับจิตที่อบรมดีแล้ว การภาวนาเป็นการสร้างสติให้มีให้เกิดขึ้นที่จิตของตน บุคคลผู้มีสตินั้นจะกระทำการใดๆ หรือต้องการสิ่งใดๆ ล้วนมีความยับยั้งชั่งใจให้พอเหมาะพอควรแก่อัตภาพของตน โดยไม่เดือดร้อนในภายหลังเลย เพราะรู้ว่าอะไรควรใส่ใจที่จะทำ และอะไรที่ควรมองข้ามไปไม่ควรทำ เพราะการมีสตินั้นทำให้รู้ทันความคิดของตนเอง (ยับยั้งชั่งใจ)

แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบุคคลทั่วไปมักมีจิตที่หยาบกระด้างมากขึ้น อวิชชา ตัณหา เหนียวแน่น ปกคลุมหุ้มห่อมาหลายภพหลายชาติ พร้อมที่จะปล่อยจิตปล่อยใจให้ไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด กิเลสกาม กรรมวิบากที่ตนได้ทำไว้จนคุ้นชิน ถ้าคุ้นชินกับอกุศลธรรมต่างๆ ก็เป็นความชั่ว คนชั่ว หยาบกระด้าง ติดเป็นอนุสัยไป แก้ไขได้ยาก ส่วนบุคคลที่คุ้นชินกับกุศลธรรม กรรมดี เป็นคนดี มักอยู่ในทาน ศีล ภาวนา ถ้าเราเคยให้ทาน ทานนั้นจะกลับมาหาเรา ถ้าเรารักษาศีล เมื่อมีภัย ศีลนั้นจะมาคุ้มครองเรา เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิตตภาวนา ย่อมมีปัญญา เมื่อเจอทางตันหรืออุปสรรค มักจะมีทางออกให้เราเสมอ

มีพุทธดำรัสตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย มีสาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว (มีความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ในการเผากิเลส) ย่อมหวังได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทหรืออัปปมาทธรรมนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง 

พระองค์ทรงอุปมาว่า ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ กระทำให้มาก เจริญให้มาก มีแต่บ่ายหน้าสู่นิพพาน เหมือนแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี  สรภู  มหินที  ที่ไหลไปทางทิศปราจีน และไหลสู่มหาสมุทร

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ เป็นเป้าหมาย และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ

ภิกษุรูปหนึ่ง ทูลถามพระพุทธองค์ว่า พรหมจรรย์คืออะไร มีพระดำรัสตอบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เราจัดไว้อยู่ในปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เราจัดไว้อยู่ในหมวดศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เราจัดไว้อยู่ในหมวดสมาธิ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นนิยยานิกธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส อันมี โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา ออกจากจิตได้ ศีลเป็นรากเหง้าเค้ามูลของกุศลธรรมทั้งปวง มีโลกียะบุญกุศล โลกุตตระบุญกุศล เกิดขึ้นจากศีล ฉะนั้นเราต้องเจริญรักษาศีลให้สมบูรณ์เสียก่อน นักบวชในศาสนาพุทธ ถ้าเป็นผู้ไร้ศีลธรรมแล้ว ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้น ต้องถือว่าเป็นโมฆะ การบวชไม่มีหวังจะพ้นทุกข์ไปได้ มีแต่จะเศร้าหมองทุกอย่างไม่เป็นไป 

ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น 

พูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะศีล ๕ ใครว่าไม่สำคัญ
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ . . . .  เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมนำไปสู่สุคติก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา . . . . . . . ย่อมถึงพร้อมโภคะทรัพย์ก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมนำไปสู่นิพพานก็เพราะศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย . . . . . . . . เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด ฯ

จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่า ศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อพูดถึงศีล ๕ สำหรับชาวบ้านเราท่านทั้งหลายนั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ สืบเนื่องจากยังต้องคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมภาวนานั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติ คือต้องงดเว้นให้ได้

แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีลไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก เมื่อกล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นักปฏิบัติธรรมคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้าย คือ ปัญญา ที่ชอบอวดกันว่า ได้ปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว ศีล สมาธิ จะมีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อได้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนาปัญญามาแล้ว สติสมาธิจะมีขึ้นมาได้เอง 

ถ้าลองได้ขาดคุณธรรมขั้นพื้นฐานคือศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้เลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้อง ว่าจะทำอย่างไร ตนเองจึงจะมีพลังในการวิรัติ ข้อห้ามเหล่านี้ได้ การปฏิบัติจนสามารถวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว เพราะพระอริยเจ้าในชั้นต้น คือพระโสดาบัน ท่านต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์เท่านั้น ไม่มีวันที่ท่านจะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการข้ามโคตรแบบไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนคนธรรมดาอีกแล้ว 

แต่นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ คือเมื่อรู้จักศีลแล้ว มองข้ามสมาธิ ไปเอาปัญญาวิปัสสนาเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับบุคคลผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้แล้ว แบบมีสติคอยระลึกรู้อยู่นั่นแหละ ปัญญาก็ปรากฏโดยอัตโนมัติ ต้องเริ่มที่ฝึกฝนอบรมจิตของตนเอาก่อน

ต่อไปเป็น วิธีกำหนดฝึกฝนอบรมจิต คือ ทำความรู้สึกที่จิตของตนเอง ความรู้สึกอยู่ที่ตรงไหน จิตของเราก็อยู่ที่ตรงนั้น เพื่อจะให้จิตมีฐานที่ตั้ง ให้กำหนดจุดนิมิตที่รู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะนึก พุท พร้อมลมหายใจเข้า โธ พร้อมลมหายใจออกก็ได้ หรือใครจะไม่นึกอะไรก็ได้ เพราะที่สุดแล้วก็ต้องมารู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในขณะจิตเริ่มสงบ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเรียนให้รู้ธรรมชาติของร่างกาย 

ทำไมลมหายใจจึงชื่อว่าเป็นธรรมชาติของร่างกาย เพราะเหตุว่า เราจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม ร่างกายของเรานั้นก็ต้องหายใจอยู่โดยธรรมชาติ เพียงแต่เรามีหน้าที่กำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เฉยๆ อยู่เท่านั้น อย่าพยายามบังคับจิตให้สงบ แต่ให้ประคองจิตโดยแยบคาย ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตลอดเวลา จิตของเราจะเป็นอย่างไร เราไม่ต้องคำนึงถึง คำนึงแต่ว่าจะประคองจิตให้มันรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หายใจสั้นรู้ หายใจยาวรู้ เพียงแต่ระลึกรู้อยู่ที่รู้ ดูที่ตรงนี้ จนกระทั่งจิตมีสติกำกับอยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก 

สติเป็นสำคัญ อย่าปล่อยสติ สติเป็นเครื่องยืนยันตลอดถึงมรรคผลนิพพาน  สูงสุดไม่พ้นจากสติไปได้เลย เริ่มต้นตั้งแต่สติยังล้มลุกคลุกคลาน สติตั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง ต่อมาเริ่มประคองสติได้ เมื่อประคองสติให้ได้ ต้องหาฐานที่ตั้งอันเป็นนิมิตหมาย เป็นการดำเนินไปตามสติปัฏฐาน คือฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง เมื่อประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติได้อย่างต่อเนื่องอยู่ กลายเป็นสติอัตโนมัติ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นมหาสติ มหาปัญญา

ต่อจากนี้ เรามาว่ากันเรื่องของ หัวใจพระพุทธศาสนา ที่ยังค้างอยู่จากวันพระที่ ๔ พฤศจิกายน

🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ยกเอาสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในธรรมทั้งหลาย)

เป็นสติปัฏฐานข้อสุดท้าย ซึ่งมีอยู่  ๕ บรรพะ ด้วยกัน คือ นิวรณ์ห้า ๑  ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑ 

ดังที่ได้เคยยกมาแสดงไว้ตอนต้นนี้แล้วว่า การปฏิบัติสติปัฏฐานข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ย่อมมีผลทําให้กระเทือนถึงกันและกันโดยตลอด ดังนั้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงเป็นบทสรุปว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะใดก็ตาม เพราะจิตได้รับการอบรม จนมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพะที่กล่าวถึงนี้ จึงมีองค์ธรรมและสภาวะธรรมเหมือนกัน และสามารถใช้ตรวจดูจิตใจของตนเองว่า จิตใจมั่นคงเพียงใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจดูอาการยินดียินร้ายของจิต ที่เนื่องมาจากอารมณ์กระทบอีกอย่างหนึ่ง

นิวรณ์ ๕ (เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้น ถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้วิธีทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป ถ้าทําได้ดังนี้แล้ว ก็ย่อมสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

ขันธ์ ๕ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปนาม ก็ได้ 
เมื่อมีอารมณ์ (รูป) มากระทบจิต ความรู้สึก ความจําได้หมายรู้ และความนึกคิด อันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสมาธิ จนทําให้พลังสติสามารถปล่อยวางรูปนามที่เกิดขึ้นได้ ก็ย่อมพ้นทุกข์ แต่ถ้าพลังสติยังไม่สูงพอที่จะปล่อยวางรูปนามได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เมื่อจิตพ้นทุกข์ได้แล้ว รูปนามก็ดับไปเอง แต่จิตหลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือรูปนาม กลายเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในที่สุด และสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

อายตนะ ๖ (ช่องทางสําหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต ๖ ช่อง) 
อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้น หน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดู แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังคงอยู่ในบ้านและรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สําหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้ทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณ  ทางหูก็เป็นโสตวิญญาณ ทางจมูกก็เป็นฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็เป็นชิวหาวิญญาณ  สัมผัสทางกายก็เป็นกายวิญญาณ นึกคิดทางใจก็เป็นมโนวิญญาณ แตกต่างกันโดยชื่อช่องทาง แต่จิตผู้รู้เป็นดวงเดียวกัน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ที่น่ารักน่ายินดีขึ้นทางช่องทางใดปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ก็ให้ดับเสียที่ตรงนั้น บรรพะนี้เน้นหนักให้ใช้สติระวังช่องทางรับรู้อารมณ์ไว้ตลอดเวลา จิตก็หลุดพ้น 

โพชฌงค์ ๗ (องค์ธรรมที่ทําให้ตรัสรู้ ๗ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ให้ใช้สติระลึกรู้ตัวเท่าทัน เป็นสติสัมโพชฌงค์ 
รู้ว่าอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ 
เพียรละความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นเนื่องจากนั้น เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ 
ละได้สําเร็จและเกิดความอิ่มอกอิ่มใจขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ 
ละปีติที่เกิดขึ้นได้อีก ก็เกิดความสงบเยือกเย็น เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  
จิตสงบเป็นสมาธิและเกิดพลังปัญญาขึ้นด้วย เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
ใช้พลังปัญญาวางเฉยต่ออารมณ์นั้นเสียได้ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 

รวมทั้งรู้วิธีที่จะทําให้สัมโพชฌงค์แต่ละอย่างเกิดขึ้น และมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทําให้จิตตรัสรู้เป็นพุทโธ (โพชฺฌ คือ พุทฺธ นั่นเอง)

อริยสัจ ๔ 
เป็นหลักในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ทรงแยกทางเดินของจิตไว้เป็นสองทาง คือ ทางเดินไปสู่ทุกข์ กับ ทางเดินที่ทําให้พ้นทุกข์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามรู้จักและเดินตามได้อย่างถูกต้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ 

๑. จิตที่แส่ออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกและเกิดความยินดียินร้าย เป็นสมุทัย 
๒. อารมณ์ที่รับเอาเข้ามาทําให้เกิดความวุ่นวาย เป็นทุกข์ 
๓. เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วเห็นอาการของจิตต่างๆ เป็นมรรค 
๔. ปล่อยวางความยินดียินร้ายเสียได้ เป็นนิโรธ

คำว่า นิโรธ นี้ แปลว่า ดับความยินดียินร้ายหรือดับตัณหาลงได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในปฐมเทศนานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า นิโรโธ สจฺฉิกาตพฺโพ แปลว่า กระทํานิโรธให้แจ้ง ดังนั้น จึงทรงหมายความว่า นิโรธ คือพระนิพพาน นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อหมายความถึงพระนิพพานแล้ว จะแปลว่า ดับ ไม่ได้ทีเดียว ต้องแปลว่า ทําให้แจ้ง คือ เปิดสภาพเดิมอันผ่องใสประภัสสรของจิตให้ปรากฏแจ้งชัดขึ้น อุปมาดังเมฆหมอกเคลื่อนตัวออกไป เปิดสภาพอันสว่างโพลงของดวงอาทิตย์ให้แจ่มแจ้งขึ้นตามเดิม ฉะนั้น

🌷 🌷 🌷 

นิโรธ จิตผู้รู้นี้ ไม่ติดในอารมณ์ กลอกกลิ้งเหมือนน้ำบนใบบัว นิโรธ ภาษาไทยแปลว่าดับ ดับเป็นกิริยากรรมของสิ่งหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงกิริยากรรมของกิเลสตัณหา ดับไปจากจิต เปิดความบริสุทธิ์แห่งจิตซึ่งเป็นประจำธรรมชาติแห่งจิตให้ปรากฏเด่นขึ้น โดยอำนาจข้อปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘ แต่มิได้หมายความว่า ข้อปฏิบัติคือมรรคนั้นสร้างความบริสุทธิ์แห่งจิตหรือสันตินิพพานให้เกิดขึ้น มรรคเพียงมีหน้าที่กำจัดให้กิเลสตัณหาหมดไปดับไปเท่านั้น ความบริสุทธิ์แห่งจิตหรือสันตินิพพาน เขามีอยู่ก่อนแล้ว เปรียบเหมือนการซักฟอกมลทินให้หมดไปจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฉะนั้น ดังนี้ 

มรรค ออกมาจากคำว่า มคฺโค แปลว่า ทาง เราพูดกันว่ามรรค เป็นชื่อของทางเดิน อย่างสกลมรรค ทางถนน แต่ในที่นี้หมายถึงกิริยากรรมของจิต ปฏิบัติตนเอง เป็นอุบายวิธีทำข้อปฏิบัติซักฟอกจิตให้ได้ความบริสุทธิ์เท่าทุนเดิม มรรค พระองค์ตรัสจัดไว้โดยกิริยากรรมถึง ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็น ความรู้ถูก คือ รู้เห็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก คือ ดำริที่จะออกจากกาม ดำริในอันไม่พยาบาท ดำริในอันไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา วจีกรรมถูก คือ เจตนางดเว้นวจีทุจริต 
๔. สัมมากัมมันโต กายกรรมถูก คือ เจตนางดเว้นกายกรรมทุจริต
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพถูก ไม่หลอกลวงเขากิน
๖. สัมมาวายาโม เพียรพยายามชอบ คือ เพียรละความชั่ว (อกุศล) ประพฤติความดี (กุศล)
๗. สัมมาสติ ตั้งสติไว้ถูกต้อง คือ ตั้งสติไว้ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม 
๘. สัมมาสมาธิ สมาธิถูก คือ เจริญฌาน ๔  ได้แก่ ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ดังนี้ 

สัมมาสมาธิ เป็นวิธีแยกจิตออกจากอารมณ์ แล้วจึงรู้เห็นอริยสัจ ๔ ในมหาจัตตารีสกสูตร เอาสัมมาสมาธิเป็นหัวหน้า สัมมาทิฏฐิเป็นบทที่ ๒ อริยมรรค ๘ ประการเหล่านี้ เป็นกิริยากรรมของจิต เป็นวิธีการชำระจิตให้บริสุทธิ์ เป็นกิจเพื่อทำความบริสุทธิ์อย่างเดียว แต่มีวิธีการทำถึง ๘ ส่วน ๘ ตอนต่างๆ กัน ส่วนนั้นต้องทำอย่างนั้นๆ ไม่เหมือนกัน ต้องทำครบทุกส่วนพร้อมเพียงกัน กระทำตามหน้าที่เป็นมัคคสมังคี ต้องพร้อมกันทำครบทั้ง ๘ ไม่พร่องไม่เลย เช่น ๗ ไม่ได้ ๙ ไม่ได้ พระองค์ตรัสจัดพอดีแล้ว อริยมรรค ๘ ส่วน ทางทำจิตให้บริสุทธิ์นี้ มีเนื้อความพิสดารกว้างขวางมาก เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔


 



Create Date : 20 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:40:29 น.
Counter : 614 Pageviews.

0 comment
สติปัฏฐาน ๔


🌷 สติปัฏฐาน ๔ 

วันพฤหัสบดีที่ ๔ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ 

เจริญพรพุทธบริษัททั้งหลาย ขอให้มีความสุขสวัสดี ให้มีความเจริญในธรรมแท้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

การได้ฟังพระธรรมเทศนาบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นการคอยเตือนจิตเตือนใจของตนให้ระมัดระวัง ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้นั้น ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากภพชาติที่ดีเลิศประเสริฐนั้น 

คราวนี้ผู้ปฏิบัติธรรมเองก็มีที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง ผู้ที่ภาวนาได้แล้ว เดินตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คอยระวังรักษาจิตของตนให้รู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ คือรู้อยู่ที่รู้ ไม่ให้ไปรู้อยู่ที่เรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบ คอยประคองจิตของตน ให้มีวิตกวิจาร วิตกคือยกจิตขึ้นสู่ฐาน วิจารคือประคองจิตของตนไว้ที่ฐานเสมอๆ เป็นการเดินตรงต่อมรรคผลนิพพานซึ่งเป็นเรื่องต้องอาศัยความเพียรเป็นอย่างมาก 

ส่วนผู้ที่ภาวนาได้แล้วแต่ยังติดอยู่ในนิมิต มีฤทธิ์ทางใจ มักไปรู้เห็นในเรื่องราวต่างๆ ทางนิมิต ถ้าผู้ปฏิบัติผู้นั้นไม่รู้จักละวางนิมิตที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยๆ นั้น เมื่อติดแล้วย่อมถอนยาก เรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นมานานและบ่อยมาก ขอยกคำกล่าวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) ดังนี้ 

แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่ง อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่า ตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเกิดเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง หลวงปู่ว่า เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้รวดเร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้รับก็คือทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตกต่ำ แล้วก็ตั้งจิตตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้งย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น เป็นอีกอย่างนึงต่างหาก 

ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรทั้งนั้นก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีลสมาธิปัญญาอย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ (มีในกาลามสูตร) การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง

หลวงปู่ยังแนะนำวิธีเข้าถึง อธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนให้เข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ได้น่าฟังน่าคิดด้วยว่า คิดเท่าใดๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงจะรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้

พอจะสรุปได้ว่า จิตคือธาตุรู้ ความคิดคืออารมณ์ที่จิตไปรู้อยู่ติดอยู่กับความคิดหรืออารมณ์นั้นๆ ต่อเมื่อพรากจิต (ธาตุรู้) เปลื้องจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ ได้ (หยุดคิด) มารู้อยู่ที่รู้ (ฐานที่ตั้งของสติ) การจะพรากจิตเปลื้องจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้นั้น ต้องอาศัยการนึกระลึกลงไปที่กาย (หมวดหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔) เพื่อเป็นการสร้างสติปัฏฐาน (สติตั้งอยู่ที่ฐาน) อย่างต่อเนื่องเนืองๆ 

แต่ในปัจจุบันการเรียนธรรมะกันจนเห็นว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติเกิดดับ เหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ จิตตายหายสูญ และในอัตภาพของคนเราอันประชุมพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรมนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ ปราศจากแก่นสาร ไร้ประโยชน์ มีแต่สิ่งสกปรกลามกปฏิกูล เป็นของสูญ หาชิ้นดีอะไรไม่ได้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น นี่แหละจึงเป็นความเห็นถูกเห็นชอบที่นิยมกันอยู่ จึงหลุดพ้นจากสัสตทิฏฐิได้ เป็นของพุทธศาสนา 

ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นเพราะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้าไปจนความหมายที่แท้จริงเลือนหายไป ซึ่งมีมาในสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร ที่พระมหากัสสปะได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องสัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม)

คราวหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่วัดเชตวัน พระมหากัสสปะได้เข้าเฝ้าถึงที่ประทับ ได้ทูลถามว่า เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อย ภิกษุได้สำเร็จอรหันต์มีมาก แต่เวลานี้ (เอตรหิ) สิกขาบทมีมาก ภิกษุได้สำเร็จพระอรหันต์กลับมีน้อย อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น

มีพระดำรัสตอบว่า กัสสปะเรื่องนี้เป็นอย่างนี้คือ เมื่อเหล่าสัตว์เสื่อมทรามลง สัทธรรมเสื่อมถอย สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุสำเร็จอรหันต์จึงมีน้อยลง สัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกอยู่ตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป ต่อเมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมก็จะเลือนหายไป 

กัสสปะ เหมือนหนึ่งว่า ทองเทียม (ชาตรูป ปฏิรูปกัง) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำแท้ (ชาตรูปัง) ก็ยังไม่หายไป ต่อเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองแท้จึงหายไป สัทธรรมก็เช่นกัน ตราบใดที่สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อใดที่สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น เมื่อนั้นสัทธรรมจึงเลือนหายไป โมฆบุรุษทำให้สัทธรรมเลือนหาย (อันตรธาน) 

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ยังสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ แท้จริงแล้วโมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหากเกิดขึ้นมาทำให้สัทธรมเลือนหายไป เหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหน (คนนำทาง) เท่านั้น สัทธรรมเลือนหายไปด้วยเหตุอย่างนี้ 

พุทธบริษัทที่ทำให้สัทธรรมเลือนหาย กัสสปะ เหตุฝ่ายเสื่อม ๕ อย่างต่อไปนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่อความเลือนหายไปแห่งสัทธรรม นี่คือการที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ๑. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๒. ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๓. ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๔. ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา (สิกขา ๓) ๕. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เหตุฝ่ายเสื่อม ๕ อย่างเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่อความเลือนหายแห่งสัทธรรม

จากสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร จะเห็นได้ว่าเพราะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งคำสอนต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ตามมติความถูกใจของพวกตน โดยเฉพาะในเรื่องของจิต ในเรื่องของอนัตตา เพราะมีการตีความให้ความหมายผิด จนทำให้ความหมายที่ถูกต้องคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เช่น ไม่มีอยู่จริง ไม่มีตัวตน โนอัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นมาจนได้ ด้วยให้ความหมายของคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แปลว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) กลับหมายรวมเอาพระนิพพานเข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สิ่งใดเป็นอนัตตา พวกเธอจงละเสียซึ่งสิ่งนั้นเสีย 

ส่วนในอนัตตลักขณสูตร พระองค์ทรงให้ความหมายไว้ชัดเจนยิ่ง โดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา ธรรมเหล่านี้ไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา ธรรมเหล่านี้เป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต) ดังนี้

และตอนที่พระองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้มีพุทธอุทาน ดังนี้ "ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ แปลว่า เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตน (จิตอันเป็นที่พึ่งอาศัย) เข้าด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากจิตสงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้"

เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อมีที่ไม่ใช่ตน พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ต้องมีที่ใช่ตน พึ่งพาอาศัยได้ ดังเรามักจะได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวตักเตือนบุตรหลานของตนที่เข้าสู่วัยทำงานแล้วว่า เมื่อไหร่ถึงจะเป็นตัวเป็นตนเสียที ทั้งที่เจ้าตัวก็นั่งฟังเฉยอยู่ที่นั่นด้วย ตัวตนในอีกนัยยะหนึ่ง ไม่ใช่รูปร่างกายที่เป็นตัวตนจับต้องได้ แต่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ ดังนี้

อนัตตา เป็นความรู้ความเห็นของพระอริยเจ้าโดยตรง คนสามัญไม่รู้จัก ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านรู้จักอัตตา คือจิตที่ฝึกฝนอบรมดีแล้ว เป็นตัวเป็นตนเป็น ที่พึ่งที่อาศัยของใครๆ ได้ ส่วนสามัญชนไม่รู้จักอัตตา เพราะยังปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง (จิต) ตามที่ต้องการ มากน้อยแล้วแต่บุคคล เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมด้วยภาวนานุโยค จิตจึงไม่มีพลังมากพอที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ในยามถูกกิเลสครอบงำ จึงได้เที่ยวจับผิดๆ ไม่ถูกอัตตา (ที่พึ่งอาศัย) สักที 

ครั้นได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม อันมีรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) บุคคลผู้มีปัญญาก็คลำหาอัตตา ที่พึ่งอาศัย ได้ถูกต้อง แต่คนบาปหนากลับบอกว่า อัตตา ตัวตน ไม่มี 

อุปมาดั่งคนที่เข้าไปยึดถืออาศัยบ้านอยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้านและบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด จิตที่อาศัยอยู่กับขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ใช่จิต แต่จิตเป็นผู้รู้อยู่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิตแล้วก็ดับไปจากจิต นามขันธ์ทั้ง ๔ ล้วนเป็นอาการของจิตที่แสดงออกมาเมื่อจิตรับอารมณ์ต่างๆ กันทางช่องหน้าต่างบ้านที่ตนอาศัยอยู่ ช่องหน้าต่างทั้ง ๖ ช่องเปรียบเหมือนอายตนะทั้ง ๖ (ช่องทางรับอารมณ์)

จากนี้ เราก็เข้าเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา ต่อจากวันพระที่แล้ว (๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔)

🌷 สติปัฏฐาน ๔ (การใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง)

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศเป็นศาสนาไปในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้นๆ เช่น ทางสายกลางบ้าง ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง อริยมรรคบ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้าง  ศีลสมาธิปัญญาบ้าง ซึ่งพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า วิปัสสนา

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้น พระสูตรดังกล่าวนี้  จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระศาสนาทีเดียว

ที่ว่าใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง คือ เมื่อมีสิ่งใดหรืออารมณ์อย่างใดเกิดขึ้นก็ตาม ให้รักษาควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนไปอยู่ที่อื่นเลย จึงสามารถตัดอารมณ์กับอาการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ต่างๆ ได้ ถ้าสามารถรักษาสภาวการณ์เช่นนี้ไว้ได้ตลอดไปแล้ว จิตก็หลุดพ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ (โลก) ตามลำดับเหมือนกันหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

🌷 ธรรมะที่เกื้อกูลการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

จากที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบอายตนะทางหนึ่งทางใดนั้น ย่อมกระเทือนฐานทั้ง ๔ อย่างทั่วถึงกันเข้าไปสู่จิต และย่อมทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงและความประทับใจที่มี

ดังนั้น คุณธรรมเรื่องขันติ (ความอดทน) จึงมีความจำเป็นสำหรับรองรับในเบื้องต้น ในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ หมายความว่า ถ้าขาดคุณธรรมเรื่องขันตินี้เสียแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาจะไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย ได้แก่ ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวน ยั่วยุ อย่างหนึ่ง อธิวาสขันติ อดทนต่อความลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย และทุกขเวทนาต่างๆ  และธีติขันติ อดทนต่อความหนาวร้อน หิวกระหาย และหน้าที่การงาน รวม ๓ ประการเหล่านี้ด้วย

อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ มี ๒๑ บรรพะ แบ่งออกเป็น

กายานุปัสสนา (ฐานกาย) มี ๑๔ บรรพะ ดังนี้คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙
เวทนานุปัสสนา (ฐานเวทนา) มี ๙ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกัน
จิตตานุปัสสนา (ฐานจิต) มี ๑๖ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกันะ
ธัมมานุปัสสนา (ฐานธรรม) มี ๕ บรรพะ คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑

เมื่อรวมทั้ง ๔ ฐานแล้ว จึงมีอารมณ์รวม ๒๑ บรรพะ สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสติเวลาปฏิบัติ ซึ่งต่างกว่าอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มาในวิสุทธิมรรคของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไม่มีกสิณ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ รวมอยู่ด้วย 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติยังติดข้องอยู่ จิตนั้นก็ชื่อว่าเป็นสัตว์อยู่ แต่ถ้าปล่อยวางเสียได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังที่ตรัสไว้ในตอนต้นของพระสูตรว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา แปลว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย นั้นทีเดียว

สำหรับอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มีมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นปกรณ์พิเศษนอกพระไตรปิฎกนั้น มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ รวม ๔๐ อย่างเหล่านี้ มีผลเพียงทำให้จิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ และยึดอารมณ์นั้นๆ อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญญาปล่อยวางแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังความหลุดพ้น จึงต้องเพิกอารมณ์เหล่านี้เสีย แล้วหันมาใช้อารมณ์ ๒๑ บรรพะ อย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น

อารมณ์ข้ออสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อานาปานสติ ๑ ในสมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ดังกล่าวเหล่านี้ พอจะสงเคราะห์เข้ากับอารมณ์ในกายานุปัสสนาได้ เพราะเหมือนกัน จึงเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญาได้

อารมณ์ที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ รวม ๒๑ บรรพะ ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ สงเคราะห์ลงเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาสมาธิเป็นประธานได้ เมื่อจิตมีสมาธิอยู่ อกุศลก็ย่อมเข้าปรุงแต่งไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องเป็นประจำจนเคยชิน สำรวมระวังตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง แบบที่เรียกกันว่า ไปเข้ากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกจากกัมมัฏฐานเสียเด็ดขาด คือทิ้งวิธีปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ไม่ฝึกใช้สติกำกับการกระทำต่างๆ ไว้ด้วยตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายก็ย่อมพากันหลั่งไหลเข้าสู่จิตของผู้นั้น ตอนออกจากกัมมัฏฐานนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือปฏิบัติ ใช้สติตามระลึกอย่างไม่ขาดสายเข้าไปในอารมณ์ที่มีอยู่ในฐานทั้ง ๔ จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเข้าสู่จิตได้แม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการออกจากกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่วัดหรือสำนักใดก็ได้ เพียงแต่ปฏิบัติจนรู้จักจิต จับทางเดินของจิต และจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว 

ใครปฏิบัติมาก สำรวมระวังจิตไว้ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์มาก ใครปฏิบัติน้อย สำรวมระวังไม่ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์น้อย และใครไม่ปฏิบัติเลย ขาดความสำรวมระวังจิตอย่างสิ้นเชิง ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้อยู่ที่การบวชและห่มผ้าเหลืองแต่ประการใดทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ๔ จึงสามารถตรวจสอบที่จิตของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์มากระทบเมื่อใดแล้ว มีพลังสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นหรือไม่ กล่าวคือตัดความยินดียินร้ายออกไป และทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ได้หรือไม่ ดังนี้

🌷 🌷 🌷 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาปฏิรูปไปนั้น ก็คือเรื่องของจิต เพราะจิตนั้นเป็นธาตุรู้ ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย เมื่อรู้ผิดไปจากความเป็นจริง พอตายลงก็จุติ (เคลื่อนออกไป) สู่รูปร่างกายอื่น ก็หลงยึดเอารูปร่างกายใหม่ว่า เป็นตัวตน เป็นของตน เมื่อมีการยึดถือขึ้นมา ก็แสดงอาการยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่อารมณ์ความรู้สึกนั้นที่เข้ามากระทบ 

เมื่อมีเรื่องน่ายินดีก็ประสบกับสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมเพ้อหา ย่อมผูกจิตติดใจในฉันทราคะ มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมราคะไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อยินร้ายเกิดขึ้นก็ประสบกับทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ ร่ำไร รำพัน คร่ำครวญ งมงาย มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมความขัดเคืองไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อประสบกับอทุกขมสุขเวทนาที่เรียกว่าเฉยโง่นั้น ย่อมไม่รู้เท่าทันในความเกิดขึ้น ความดับไป คุณโทษ และวิธีสลัดเวทนานั้นตามความเป็นจริง มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมความไม่รู้จริงไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว

อาการดังกล่าวนี้จิตรู้มั๊ย ย่อมต้องรู้ จึงได้จดจำ (สัญญา) ยินดีก็รับไว้ ยินร้ายก็ผลักไสออกไป ที่จดจำไว้เพื่อเก็บไว้ปรุงแต่งต่อไปในครั้งคราวต่อๆ ไป (สังขาร) เมื่อปรุงแต่งจนพอใจแล้วก็ถูกเก็บไว้เป็นวิญญาณ คือแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับอายตนะต่างๆ เพราะไปเข้าใจเอาอาการของจิตคือนามขันธ์ ๔ อันมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นจิต จึงได้เข้าใจว่าจิตเป็นของเหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ 

ส่วนจิตที่รู้ถูก คือรู้เห็นตามความจริงในอริยสัจ ๔ เมื่อยินดียินร้ายเกิดขึ้น ก็มีพลังจิตมากพอที่จะปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้จิตยินดียินร้ายออกไปจากจิตของตนได้ เวทนาย่อมดับ เมื่อเวทนาดับ ตัณหาย่อมดับไปด้วย เป็นวิราคธรรมคือธรรมที่แยกแล้ว (จิตได้แยกออกจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

ขอนำคำกล่าวของกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ไว้ดังนี้

จิตเดิมเป็นธรรมแท้    ไม่ผันแปรแลเวียนวน
ประเสริฐสุดในสากล   เป็นตัวตนไม่เกิดตาย
ขันธ์ห้านั้นเกิดดับ  คำนวณนับก็มากหลาย
จิตเดิมนั้นไม่ตาย      ไม่ยักย้ายและถ่ายเท
ใครรู้เพียงแค่ขันธ์   ความรู้นั้นยังอ่อนแอ
ผู้ใดรู้จิตแท้              ผู้นั้นแลคือโพธิญาณ
เอวัง.
      
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔






Create Date : 05 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:52 น.
Counter : 493 Pageviews.

0 comment
การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา)


🌷 การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา) 

วันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๑ 

เจริญพร มีความสุขสวัสดีสาธุชนทั้งหลายผู้ใฝ่ใจในพระพุทธศาสนา เพื่อน้อมนำไปสู่สุขที่ปราศจากอามิส นำไปสู่ความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อคุ้มครองปกป้องตนให้พ้นจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

สืบเนื่องจากอาตมาภาพได้เทศนาเรื่องที่มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้ให้ความหมายของคำว่าอนัตตา คืออะไรที่เป็นอนัตตาธรรมนั้น ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าเองไม่อาจหนีพ้นเช่นกัน บังคับบัญชารูปร่างกายที่จิตของพระองค์ได้อาศัยอยู่ให้ตายหรือแตกทำลายไม่ได้ เหตุผลเพียงเพราะเข้าใจผิดไปว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม โดยได้ให้ความหมายไว้ว่า รูปก็คือกาย ส่วนนาม (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) คือจิต ฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไป รูปคือกาย ตายแตกทำลายไป นามคือจิตก็ต้องดับตายหายสูญไปด้วยเช่นกัน คงเหลือแต่ความบริสุทธิ์เฉยๆ เมื่อถูกถามว่าแล้วความบริสุทธิ์ไปตั้งอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้ ได้แต่ชี้ไปโน่นไปนี่ แต่กลับบอกไม่ได้ว่าที่ไหน

ซึ่งขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ข้อที่ ๓ ว่า "สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ แปลว่า การชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ขาวรอบ ล้วนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" เพราะความบริสุทธิ์นั้นเป็นเพียงแค่คุณลักษณะ จะตั้งอยู่ลอยๆ เองไม่ได้ ต้องมีที่ตั้งของความบริสุทธิ์นั้น เช่น น้ำที่บริสุทธิ์สะอาดหมดจด ความบริสุทธิ์ของน้ำต้องตั้งอยู่กับน้ำนั้น หรือทองคำแท้บริสุทธิ์ ๑๐๐% ความบริสุทธิ์เปล่งปลั่งย่อมต้องตั้งอยู่ที่ทองคำนั้นเช่นกัน

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ต้องเรียนรู้ศึกษาหลักธรรมแท้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าเกิดรู้ผิดไปจากความเป็นจริง เหมือนการสวมเสื้อแล้วติดกระดุมเม็ดแรกผิด ย่อมทำให้การติดกระดุมเม็ดอื่นๆ ผิดไปด้วยตลอดแนว

โดยเฉพาะอนัตตาธรรม ที่แปลว่าไม่ใช่ตน เมื่อมีที่ไม่ใช่ ที่ใช่ต้องมี เป็นทวินิยม ส่วนบังคับบัญชาไม่ได้นั้นเป็นเพียงความจริงในเรื่องของโลกเพียงส่วนเดียว ที่ท่านอาจารย์โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วเปล่งพระวาจาออกมา ดังนี้ "ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ แปลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก มีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นมีอันดับไปเป็นธรรมดา" นี่หมายถึงสิ่งต่างๆ ในโลก ทั้งที่ไม่มีจิตครองและที่มีจิตครอง เมื่อมีการเกิดขึ้นย่อมต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา 

แต่ในส่วนของที่มีจิตครองอยู่นั้น ยังมีความซับซ้อนเป็นอันมากซ่อนอยู่ เพราะมีทั้งที่บังคับบัญชาได้และที่บังคับบัญชาไม่ได้ ส่วนที่บังคับบัญชาไม่ได้นั้นก็แค่เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย แต่ปัจจุบันนี้วิทยาการก้าวหน้าไปมาก ถึงกับมีการควบคุมในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ตามความต้องการของตน 

ส่วนที่บังคับบัญชาได้นั้น คือการใช้สอยรูปร่างกายนี้เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นจากโลกธรรมทั้งหลาย นั่นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทางเดินไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เป็นวัฏฏะวนในโลกอีกแล้ว เพราะจิตได้หลุดพ้นจากความตาย เมื่อไม่ตายก็ไม่มีการกลับมาเกิดอีกอย่างแน่นอน 

อาตมาภาพจึงได้น้อมนำเอาพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จากพระสูตรมาให้ฟังกัน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น จะได้ตัดความลังเลสงสัยในเรื่องปฏิบัติธรรมลงไป

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า เมื่อท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอย่างนี้ว่า พระศาสดามีปกติตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร พระศาสดามีปกติตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ 

แม้เมื่อท่านทั้งหลายได้ตอบไปอย่างนี้ ก็จะพึงมีกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล เป็นต้น) แม้พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง (มีจังกีพราหมณ์และตะลุกกะพราหมณ์ เป็นต้น) แม้คหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีจิตตคหบดีและสุทัตตะคหบดีหรืออนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น) แม้สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีสภิยะปริพาชกและปิโลติกปริพาชก เป็นต้น) ถามปัญหายิ่งขึ้นไป 

หากคนผู้เป็นบัณฑิตใคร่ถามว่า ก็พระศาสดาของพวกท่านทรงเห็นโทษอะไร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ 

ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เปลี่ยนแปลง ปรวนแปร ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น 

พระศาสดาของพวกเราทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ เมื่อกำจัดฉันทราคะเสียได้แล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่เกิดขึ้นที่จิตของตน

พระสารีบุตรยังได้ชี้แนะสั่งสอนนกุลปิตาคหบดี ในนกุลปิตาสูตรว่า 

ปุถุชนเป็นบุคคลได้ชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย ไปด้วยความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากตาย 

เพราะปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ (คนสงบ คนดี คนมีศีลธรรม คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม) ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ 

เมื่อพิจารณาด้วยความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าตน (จิต) มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
พิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีในตน (จิต) 
และดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เรา (จิต) เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม) เป็นของเรา (จิต) 

เมื่อเขาดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรเปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น โศกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงเกิดขึ้นแก่เขา ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย ไปด้วยความไม่อยากแก่เฒ่าคร่ำคร่า ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากตายจากโลกนี้ แต่ก็พร้อมที่อยากจะกลับมาเกิดอีก

ส่วนบุคคลแม้ชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่ไม่ชื่อว่ามีจิตกระสับกระส่าย

ดูก่อนนกุลปิตาคหบดี ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ (คนสงบ คนดี คนมีศีลธรรม คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม) 

ย่อมไม่พิจารณาด้วยความยึดมั่นถือมั่น เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน (จิต)
ไม่พิจารณาเห็นตน (จิต) ว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เรา (จิต) เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม) และรูปนามเป็นของเรา (จิต) 

เมื่อพระอริยสวกนั้น ไม่ดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นรูปนามรูปนามเป็นของเรา เมื่อรูปนามนั้นปรวนแปรเปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกนั้น

คหบดี บุคคลแม้ชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่ไม่ชื่อว่ามีจิตกระสับกระส่ายเป็นอย่างนี้แล

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้ นกุลปิตาคหบดีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตร

จากพระสูตรที่เชื่อมโยงกันนี้ พระสารีบุตรได้เทศนาสั่งสอนอบรมทั้งฆราวาสและพระภิกษุทั้งหลายเช่นเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงรู้ถึงเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า

จิตนั้น เมื่อยึดมั่นถือมั่นเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ หรือรูปนามนั้นมาเป็นตน พอรูปนามป่วยก็ว่าเราป่วย พอรูปนามแก่ชราคร่ำคร่าก็ว่าเราแก่ชราคร่ำคร่า พอรูปนามแตกตายทำลายไป ก็ว่าเราตาย 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปุถุชนทั้งหลายโดยมากยังกลัวความตาย ยังไม่อยากตาย แต่อยากเกิดในภพภูมิที่ดียิ่งๆ ขึ้น จึงได้เร่งลงมือทำคุณงามความดีเท่าที่โอกาสเอื้ออำนวยให้ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามสติกำลังของตน 

แต่เมื่อตราบใดที่ยังไม่หมดความยึดมั่นถือมั่น ยังมีอวิชชาตัณหาครอบงำอยู่ เมื่อตายกายแตกทำลายไป จิตย่อมต้องจุติ (เคลื่อน) ออกไปหาภพภูมิใหม่ตามแรงของกิเลสกรรมวิบากที่เข้ามาในวาระสุดท้ายของชีวิต ในรูปของวิญญาณธาตุคือจิต (ธาตุรู้) เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้น ที่มายึดโยงอยู่ขณะใกล้ตาย จึงต้องจุติออกไปยังภพภูมินั้นๆ ที่อารมณ์นั้นครอบงำอยู่ เรียกว่าจุติจิต  

มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโลวา อตฺตภาโว แปลว่า จิตได้ชื่อว่าเป็นตน แต่หลงไปยึดเอาสกลกายนี้เข้าไปด้วย

แต่ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มบางพวกเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงว่า รูปคือร่างกาย นามคือจิต ทั้งที่นามนั้นคืออาการของจิต ไม่ใช่จิต เมื่อเข้าใจไปตามนี้ พอรูปร่างกายหรือขันธ์ ๕ ตายแตกทำลายไป จิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ย่อมต้องดับตายหายสูญไปด้วย  แล้วก็มีจิตดวงใหม่จุติออกไปหาภพภูมิใหม่แทน กิเลสกรรมวิบากที่เคยได้ทำไว้ของจิตดวงเก่าไปไหน ตามไปด้วยหรือ ถ่ายทอดกรรมกันตอนไหน เพราะจิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว ๒ ดวง จึงไม่มีเหตุผลที่จิตดวงเก่าจะถ่ายทอดกรรมให้จิตดวงใหม่ได้ ที่ไปจุติแทนดวงเก่า 

จึงได้เข้าใจไปว่าพระพุทธเจ้าเองก็หนีไม่พ้นบ่วงแห่งความตาย ถ้าหนีไม่พ้นบ่วงแห่งความตาย พระองค์ต้องกลับมาเกิดอีก แต่เราทุกคนก็รู้กันอย่างชัดเจนว่า พระองค์นั้นไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว เพราะพระองค์ได้ตัดภพชาติหมดสิ้นแล้ว เมื่อไม่ทรงกลับมาเกิดอีก ก็แสดงว่าพระองค์ไม่เคยตาย แต่ที่ตายแตกทำลายไปนั้นคือรูปนามหรือขันธ์ ๕ รูปร่างกายที่พระองค์อาศัยเท่านั้น พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า รูปนามหรือขันธ์ ๕ นั้นไม่ใช่เรา (จิต) นั่นไม่เป็นเรา (จิต) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต)

เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อไม่มีภพเป็นปัจจัย ชาติจึงไม่มี เมื่อไม่มีชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะย่อมไม่มีเช่นกัน 

ดังมีพระบาลีที่มีมาใน มหาปรินิพพานสูตร ต่อไปนี้คือ จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ แปลว่า ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้

ผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลายอย่างเช่นเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องเข้าใจว่า มีสิ่งที่มีลักษณะเที่ยงแท้เป็นแก่นสารอยู่สิ่งหนึ่ง คือจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งถึงอีกพระชาติหนึ่ง และพระชาติติดต่อกันไปเป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนตรัสรู้ และจิตดวงนี้ได้ยืนตัวเป็นประธานอยู่ทุกชาติไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม 

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายที่ถือเอากำเนิดเป็นพระชาตินั้นต่างหาก ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือเปลี่ยนชาติใหม่ทุกชาติ ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง คือเปลี่ยนใหม่ตามร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น ไม่ได้เลย 

เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นสัมมาสัมพุทโธรู้อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติเกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งเป็นใจความในพระพุทธพจน์ข้อนี้ และได้ทรงตรัสต่ออีกว่า ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ แปลว่า บัดนี้ เราได้ถอนเสียซึ่งความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออกเสียหมดสิ้นแล้ว ภพที่จะมาถึงใหม่เป็นไม่มี 

จากนี้ มาต่อกันเรื่อง หัวใจพุทธศาสนา ที่ยังค้างอยู่ของวันพระที่แล้วกัน


🌷 การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา) 

ถ้ายกพุทธพจน์ที่มีมาในสติปัฏฐานสูตรต่อไปนี้ ขึ้นมาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า เป็นคําสั่งสอนที่เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามัญชนย่อมพิจารณาเห็นตามและชวนให้ลงมือปฏิบัติจริงจังอย่างยิ่ง เพียงแต่ปฏิบัติให้เกิดขึ้นมากๆ ด้วยวิธีกําหนดพิจารณาลมหายใจเข้าออกของตนเองเนืองๆ ก็ย่อมทําให้สามารถปล่อยวางความยินดียินร้าย อันเนื่องด้วยอารมณ์และเป็นผู้ที่หลุดพ้นได้ในที่สุด กล่าวคือ 

"อานาปานสฺสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปาริปุเรนฺติ 
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺตโพชฺฌงฺเค ปาริปุเรนฺติ 
สตฺตโพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปาริปุเรนฺติ แปลว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่าทําสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่า ทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่า มีวิชชาทําให้จิตหลุดพ้น ดังนี้" 

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็สามารถศึกษารู้เรื่องของอารมณ์ต่างๆ และสร้างพลังปัญญาขึ้นมาได้อย่างบริบูรณ์ จัดเป็นสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ซึ่งทําให้จิตมีความว่องไวในการปล่อยวางความยินดียินร้ายอันเนื่องด้วยอารมณ์ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่อไปจากนี้ จึงเป็นเรื่องการนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ คือ ปัญญาสิกขา หรือที่เรียกว่า วิปัสสนา กันอยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้น การปฏิบัติในขั้นปัญญาสิกขานี้ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของสมาธิ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ และไม่ต้องกล่าวซ้ำถึงวิธีปฏิบัติสมาธิต่อไปอีก หมายความว่า เมื่อปล่อยวางอาการยินดียินร้ายที่เกิดมาจากอารมณ์ ภายนอกเสียได้ ก็ย่อมทําความสงบร่มเย็นตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นภายในจิตเพียงอย่างเดียวในที่สุดเท่านั้น

อนึ่ง เมื่อได้กล่าวผ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ก็ขอชี้ให้เห็นว่า การตัดความยินดียินร้ายออกไปอย่างฉับพลันของลัทธิเว่ยหล่างก็ดี ฮวงโปก็ดี วิปัสสนาก็ดี ล้วนแล้วแต่ได้ผ่านการปฏิบัติสัมมาสมาธิกันมาอย่างชํานาญดีแล้วทั้งสิ้น จนกระทั่งเกิดคุณธรรมสําหรับสกัดกั้น ความยินดียินร้าย ทําความยินดียินร้ายให้ดับไป และทําไม่ให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้นอีกต่อไปด้วย ดังรายละเอียดที่มีในนิวรณ์บรรพะ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นทีเดียว

ส่วนทางคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น ก็กล่าวไว้ว่า การเจริญปัญญา จะต้องมี ศีล และสมาธิเป็นบาทฐาน โดยใช้สติกํานดรู้ให้ทันอารมณ์ปัจจุบันอย่างหนึ่งอย่างใดในวิปัสสนาภูมิ ๖ ประการ คือ ขันธ์ ๕  อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เพื่อให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง และสามารถปล่อยวางเสียได้ในที่สุด ตามข้อปฏิบัติเรื่องวิสุทธิ ๗ ในวิสุทธิมรรค ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ได้เรียบเรียงไว้

สําหรับเรื่องราวที่ปรากฏในพระพุทธประวัตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ ตลอดพุทธกาล ให้เห็น  ให้สมาทาน ให้อาจหาญรื่นเริงในธรรมีกถาว่า 

อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา 
สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ ใหญ่ 
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ 
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

ซึ่งเหมือนกันทั้งหมด บางทีก็ทรงแสดงธรรมเช่นนี้ที่บ้านของผู้ที่อังคาสพระองค์ให้ฉันภัตตาหารด้วย ผู้ที่ฟังแล้วลงมือปฏิบัติตามเพียงชั่วระยะเวลาที่ฉันเสร็จเท่านั้น ก็ได้บรรลุมรรคผลกันเป็นแถวอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จุดสําคัญจึงอยู่ที่การลงมือปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา อย่างกว้างขวางพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันรณรงค์ให้นักเรียนและเยาวชนลงมือปฏิบัติ จริงจังและเป็นประจํา ควบคู่กับการเรียนวิชาศีลธรรมภาคทฤษฎีด้วย ก็จะช่วยพัฒนาจิตใจสังคมให้ดีขึ้นได้โดยลําดับ

สําหรับการปฏิบัติธรรมเรื่องปัญญานั้น ฝ่ายพระสูตรมีหลักฐานอยู่หลายแห่งและมากมายทีเดียว ได้กล่าวสอดคล้องต้องกันว่า ให้ระวังรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ดังตัวอย่างในพระสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวัคค์ หน้า ๑๘๔ ว่า 

"จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ,  จิตฺตโวทานา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ, ตสฺมาตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตฺตพฺพํ ทีฆ รตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคนโทเสนโมเหนาติ 
แปลว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์จะเศร้าหมองก็เพราะจิตเศร้าหมอง  สัตว์จะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วก็เพราะจิตผ่องแผ้ว  เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพวกท่านจงหมั่นพิจารณาจิตของตนเองบ่อยๆ เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ มาตลอดกาลนาน ดังนี้"

พระพุทธองค์ทรงถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานในธรรมทั้งหลาย  ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นย่อมตั้งอยู่ที่จิต จึงทรงสั่งสอนให้พระภิกษุรักษาจิตและชำระจิตให้บริสุทธิ์ตลอดพุทธกาล ไม่มีข้อปฏิบัติอย่างอื่นนอกเหนือไปจากนี้เลย

🌷 🌷 🌷 

ประมาณ ๕ เดือนหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ พระองค์ได้ทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระธรรมทูตออกไปประกาศพระศาสนา ทิศละรูปไม่ซ้อนทางกัน ด้วยพระดำรัสที่มักนำเฉพาะตอนที่ถือกันว่าสำคัญมากมาอ้างอิงอยู่เสมอ คือพุทธพจน์ที่ว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก 

ส่วนพระดำรัสเต็มว่า ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ (กายทิพย์) ทั้งที่เป็นของมนุษย์ (กายเนื้อ) แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น (คือศีล) งามในท่ามกลาง (คือสมาธิ) งามในที่สุด (คือปัญญา) จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสื่อมไปเสีย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม

สรุปได้ว่า คนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ คืออริยมรรค เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อตายไป คนพาลจึงเข้าถึงกาย (การถือปฏิสนธิในกายอื่น) เมื่อยังเข้าถึงกาย เขาจึงไม่พ้นไปจากชาติ (ความเกิด) ชรา มรณะ (ความตาย) โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่าเขาไปไม่พ้นจากทุกข์ 

ส่วนบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์ คืออริยมรรค เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เป็นการสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อตายไป บัณฑิตจึงไม่เข้าถึงกาย เมื่อไม่เข้าถึงกาย เขาจึงพ้นจากชาติ (ความเกิด) ชรา มรณะ (ความตาย) โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราจึงกล่าวว่าเขาพ้นจากทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความแปลกกัน นี้เป็นความแตกต่างกัน นี้เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นั่นเอง เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔





Create Date : 30 ตุลาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:36 น.
Counter : 325 Pageviews.

0 comment
ฌาน (ความเพ่ง)


🌷 ฌาน (ความเพ่ง)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันปวารณาออกพรรษา

เจริญสุขสวัสดี สาธุชนผู้ใส่ใจในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

เมื่อพูดถึงวันออกพรรษา ทำให้ระลึกนึกไปถึงการตักบาตรเทโวเสียเป็นส่วนมาก ที่มีสาธุชนชนทั่วสารทิศ ละแวกวัด หรือมาจากต่างถิ่นไกลๆ ที่ศรัทธาในวัดนั้นๆ มาร่วมกันตักบาตรเทโวข้าวสารอาหารแห้ง เสร็จพอในช่วงเวลาสายลงมา ก็จะมีสาธุชนที่ศรัทธาในการสละให้ ก็จะมาออกโรงทานกัน เพื่อเลี้ยงดูบุคคลผู้ที่มาทำบุญในวันนั้นกัน จนกลายเป็นประเพณีนิยมของเราชาวพุทธ 

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของช่วงเวลาเข้าพรรษาจนกระทั่งถึงออกพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ ได้พากันตั้งใจที่จะปรารภความเพียรด้วยการหมั่นประกอบฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค เพื่อปรารถนาให้จิตของตนนั้นได้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย

สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุส่วนมากนั้นเที่ยวจาริกด้วยเท้าไปในสถานที่ต่างๆ หรือจาริกไปเพื่อแสวงหาที่ปลีกวิเวกในการปฏิบัติธรรม เมื่อเจอที่ที่เป็นสัปปายะดีแล้ว ก็จะอยู่พักปฏิบัติธรรมชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วก็จาริกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ติดที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ 

เมื่อต้องจาริกบ่อยๆ พอถึงช่วงเวลาฤดูฝนซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านร้านถิ่นมีการทำนาทำไร่ทำสวนกันที่สุด ภิกษุที่จารึกไปที่ต่างๆ นั้นได้มีการเหยียบย่ำพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ในช่วงเวลานั้นห้ามจาริกออกไปค้างอ้างแรมที่ใดๆ ทั้งสิ้น จะได้มีเวลาเพื่อปรารภความเพียรได้อย่างเต็มที่ตามสติกำลังของตน เพื่อพัฒนาจิตให้ก้าวหน้า หลุดพ้นจากอาสวะ โดยการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค มีพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่เขาผูกด้วยหวายแช่อยู่ในน้ำนั้น ๓ เดือนบ้าง ๖ เดือนบ้าง ในฤดูหนาวพอลากขึ้นมาบนบก หวายที่ถูกลมพัด ถูกแดดแผดเผา ถูกฝนพร่างพรม ก็จะเปื่อยผุไปโดยไม่ยาก ฉันใด ภิกษุผู้หมั่นประกอบความเพียรในการอบรมจิตด้วยภาวนานุโยค ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังโยชน์ (กิเลสผูกมัดจิต) ก็จะเสื่อมไปโดยไม่ยากเลย"

เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือภาวนานุโยคแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปส่วนมาก ยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จากการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค (คำว่า ภาวนา แปลว่า การเจริญ การทำให้เป็น ให้มีขึ้น การพัฒนาจิต) พอได้เห็นความหมายของคำว่าภาวนา ทำให้ระลึกนึกถึงอริยสัจในข้อที่ ๔ คือ มรรค ซึ่งเป็นภาเวตัพพะธรรม เป็นธรรมที่ควรเจริญให้เกิดขึ้นเจริญให้มากขึ้น ให้มีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสมาธิ อันมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นหมวดที่พัฒนาจิตของตนให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

ขั้นแรกนั้น เพียรเจริญสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ การกำหนดเช่นนี้เป็นการกำหนดสติให้คอยยับยั้งอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นที่จิตไม่ให้เกิดขึ้น ใช้สติสลัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป และเจริญกุศลธรรม (สมาธิ) ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ยังกุศลธรรม (สมาธิ) ที่เกิดขึ้นแล้วให้สงบปราณีตยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการทำงานร่วมกันของสัมมาวายามะ สัมมาสติ จิตของผู้เจริญอยู่ ย่อมรวมลงเป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิ) เป็นการทำให้เจริญ ให้มีขึ้น ย่อมพัฒนาจิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน 

โดยตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการทะยานอยาก แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ที่ชอบที่ใช่ และจิตก็จะพยายามยึดถือเอาสิ่งที่ออกไปรับรู้มานั้นว่าเป็นตนเป็นของๆ ตน เพราะฉันทราคะที่มีผูกจิตติดใจในอารมณ์  เราต้องอาศัยสติที่เกิดจากความเพียรเพ่ง ในการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค 

เมื่อจิตเกิดไปกระทบอารมณ์เข้า มีความยินดีเกิดขึ้น จิตก็จะกระเพื่อมฟูฟ่องขึ้นไปๆ เมื่อยินร้ายจิตก็จะกระเพื่อมเช่นกัน แต่ฟุ้งซ่านซัดส่ายขัดข้องกระจายออกไป ให้เราใช้สติที่เคยสร้างมานั้น พร้อมทั้งพลังแห่งสมาธิ หรือขณะแห่งสมาธิ (ขณิกสมาธิ) พรากจิต เปลื้องจิตออกจากอาการกระเพื่อม มารู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ อาการกระเพื่อมที่ปรากฏอยู่ก็จะสงบราบคาบลงได้สำเร็จ นั่นแหละปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว 

แต่ให้สบายใจได้ว่า บุคคลผู้หมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคนั้น ผลจะได้รับย่อมได้มนุษย์สมบัติเป็นขั้นต่ำ ย่อมได้พรหมสมบัติเป็นขั้นกลาง และขั้นสูงสุดย่อมบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน

อีกเรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านพ้นไปโดยให้มีความเข้าใจแบบผิดๆ ของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง ที่เราสามารถติตรองตามได้ เรื่องนั้นก็คือ อนัตตธรรม ซึ่งเป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ

เนื่องจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านย่อมรู้จักตนที่ถูกต้องแท้จริง อันมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งที่อาศัย (สรณะ)  ทำให้พระอริยเจ้าทั้งหลายมารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ไปด้วยเช่นกัน มีพระพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ความว่า "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม หรือ ขันธ์ ๕) นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)"

แต่สืบเนื่องจากอาตมาภาพได้ฟังพระธรรมเทศนาของอาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางพอสมควรเลยทีเดียว ท่านได้ให้ความหมายหรือพูดง่ายๆ ว่า ท่านได้ตีความตามมติของตนเองว่า สิ่งใดเป็นอนัตตา นั่นหมายถึง สิ่งนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คือ รูปนามหรือขันธ์ ๕ บังคับบัญชาไม่ได้ 

ท่านได้เทศนาเรื่องนี้บ่อยครั้งเอามากๆ เป็นเพราะท่านไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง จึงได้ให้ความหมายไว้เช่นนั้น อะไรที่เป็นอนัตตา ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ โดยท่านไม่เคยนำมาพินิจพิจารณาสอบสวน เทียบเคียงกับหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย 

การบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่เป็นอนัตตธรรม ก็เฉพาะปกิณกะทุกข์เท่านั้น เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชราคร่ำคร่า ความตาย เย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นไปตามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น 

ลองติตรองตามให้ดี ถ้ารูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่เราคือจิต ได้อาศัยอยู่ เกิดอยากได้รถหรูสักคันมาเป็นของตน เมื่ออยากได้จนเป็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น ถ้ามีทรัพย์พอซื้อได้ก็คงซื้อทันที นั่นย่อมไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดมีทรัพย์ไม่พอล่ะ และยังไม่สามารถบังคับบัญชาได้ด้วย คงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของๆ ตน เมื่อเป็นแบบนี้ ต่อให้มีคุกตารางเท่าไหร่ ก็ไม่พอขังสำหรับบุคคลที่คิดชั่วทำอกุศลได้

รูปร่างกายอันมีจิตครอง ที่เรียกว่า รูปนามหรือขันธ์ ๕ เราย่อมสามารถควบคุมนำพาให้ไปบำเพ็ญบุญกุศล ไปสร้างความดีต่างๆ นานาตามที่ต้องการได้ สามารถชักนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายอันเป็นอกุศลได้เช่นกัน เพราะรู้จักจิต เข้าถึงจิตตัวในหรืออธิจิต โดยหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคนั่นเอง

ยังมีตัวอย่างจากพุทธพจน์ใน "มหาปุณณมสูตร" ที่มีภิกษุรูปหนึ่ง ไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง โดยเข้าใจผิดในเรื่องอนัตตธรรมเช่นกัน เพราะไปเข้าใจว่าจิตคือวิญญาณ ดังนี้

"ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน) กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

จากนี้ เรามาต่อเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา จากวันพระที่แล้วกัน (๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔)

🌷 องค์ของฌาน (ความเพ่ง) 

คำว่า "ฌาน" นี้ หมายถึงการใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งในอารมณ์สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา  จิต  ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่งโดยติดต่อกันไม่ขาดสาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า การปฏิบัติสมาธิหรือที่พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า วิปัสสนา นั้น ย่อมต้องใช้ความเพ่ง (ฌาน) โดยตลอด ดังพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า 

"นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพาน สนฺติเก แปลว่า ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน"

การใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งกาย เวทนา จิต ธรรม ติดต่อกัน โดยไม่ขาดสายนี้ เรียกว่า สัมมาสติ เพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามความเป็นจริง และจะได้เกิดปัญญาปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุดตามลําดับ พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ฌาน ตามความสามารถที่จิตปล่อยวางได้ ดังต่อไปนี้คือ 

๑. ปฐมฌาน ยกจิตขึ้นเพ่ง (วิตก) และประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์สติปัฏฐาน (วิจาร) จนกระทั่งจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้ว ก็ย่อมเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขจากความสงบเบื้องต้น (สุข)

๒. ทุติยฌาน เมื่อจิตผ่องใสเป็นสมาธิแล้ว วิตกกับวิจารก็ย่อมดับไป จึงมีแต่ความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขในสมาธิที่เกิดขึ้น (สุข) 

๓. ตติยฌาน ปล่อยวางปีติเพราะวางเฉยเสียได้ เสวยสุขที่มีอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง 

๔. จตุตถฌาน ปล่อยวางสุข ทุกข์ ความดีใจเสียใจที่มีอยู่ ด้วยการวางเฉย ด้วยสติอันบริสุทธิ์ ซึ่งนับเป็นความสงบขั้นสูงสุดเพราะได้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ หมดสิ้น หมายความว่า ในขณะนี้จิตได้พ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่ง นับว่าเป็น วิโมกข์ คือ 

๑. อนิมิตตวิโมกข์ พ้นจากนิมิตหมายที่เห็นว่า อารมณ์เที่ยง
๒. อัปปณิตหิตวิโมกข์ พ้นจากการเข้าไปมีที่ตั้งว่า อารมณ์เป็นสุข 
๓. สุญญตวิโมกข์ พ้นจากการเห็นว่า อารมณ์เป็นอัตตา

จิตได้แยกตัวออกจากอารมณ์ด้วยอํานาจสัมมาสมาธิ จัดเป็นเจโตวิมุติ คือเข้าสู่เขตติดต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตระ ซึ่งฝ่ายพระอภิธรรมเรียกว่า โคตรภู  ถ้าหากปฏิบัติต่อไปอีกด้วยความพากเพียรและเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว สัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นมรรคองค์สุดท้าย ก็ย่อมทําหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เฉพาะหน้าตามลําดับ จัดเป็นปัญญาวิมุติในพระศาสนานี้

ส่วนการปฏิบัติสมาธิในศาสนาอื่นนั้น มุ่งผลในทางให้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จิตยึดถืออารมณ์อย่างแนบแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น จึงเป็นเอกัคคตาอยู่ มีการนําพาผู้ปฏิบัติให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ ดูเทวดา เห็นเทวดาแต่งตัวมีชฎา เห็นพระเจดีย์จุฬามณีคล้ายๆ กับพระปฐมเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ เสด็จลงมาโปรด เห็นตัวเลขหวยเบอร์ เห็นจิตเป็นสีเหลือบใสๆ คล้ายสีปีกแมลงทับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมโนภาพเข้ามายึดถือ แทนที่จะปัดอารมณ์ดังกล่าวเหล่านี้ออกไปให้หมด ทําให้ยึดติดอยู่กับอารมณ์หนักยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

ดังนั้น สมาธิในศาสนาอื่นจึงไม่ใช่บาทฐานที่ทําให้เกิดปัญญาเลย ผู้ที่หวังความพ้นทุกข์จึงต้องเพิก (เลิก) การเพ่งอารมณ์ภายนอกเสีย แล้วเปลี่ยนมาเพ่งอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ แทนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าสมาธิแล้ว ย่อมเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่จะต้องให้ผลก่อนกรรมอย่างอื่นในภาคโลกียะนี้ ถึงแม้จะเป็นสมาธินอกพระศาสนาก็ตาม เพียงแต่ยังไม่พ้นทุกข์เท่านั้น

🌷 อัญญาวิโมกข์ (ความหลุดพ้นเพราะรู้ตามความเป็นจริง)

เมื่อปฏิบัติสมาธิ มาจนกระทั่งจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องจําทางไว้ให้แม่นยําที่สุด พร้อมที่จะเข้าถึงได้อีก ทุกขณะที่ต้องการ เมื่อมีอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อใด ก็ใช้พลังสติ คอยตัดความยินดียินร้ายออกไป พร้อมกับเข้าสมาธิสงบถึงขีดสุดทันที จึงจะไม่ถูกอารมณ์พาไปเศร้าหมองได้ ไม่ใช่ว่าพอเลิกปฏิบัติสมาธิก็เลิกกันอย่างสิ้นเชิง พอจะปฏิบัติใหม่ก็ต้องเริ่มต้นกันอีกทุกครั้ง ดังที่เป็นกันอยู่ส่วนมากในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติธรรมจึงไม่ก้าวหน้าดังที่ตั้งใจ 

มีพทธพจน์ที่มาในจูฬนิเทศ ข้อ ๔๔๕ ขุททกนิกายแห่งพระสูตรเล่ม ๓๐ ตรัสไว้ดังนี้ คือ  "อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ แปลว่า เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกถึงธรรม (อารมณ์) ที่จะมีมาข้างหน้า เรากล่าวว่านั่นเป็นเครื่องทําลายอวิชชา"

หมายความว่า นับตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไปเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ซึ่งได้รับการอบรมให้มีขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิ เพื่อปล่อยวางความยินดียินร้ายอันเนื่องด้วยอารมณ์ให้ได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาทางอายตนะทางใดก็ตาม เพียงแต่รู้แล้วก็วางเฉยเป็นอุเบกขาด้วยอำนาจสมาธิ (จิตตั้งมั่น) ตลอดไป เมื่อทําเช่นนี้แล้ว อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ก็ย่อมดับไปเองเป็นธรรมดาตามลําดับ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมาธิกับปัญญานี้จะเป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อได้ฝึกสมาธิมาดีแล้วเสมอ เราเรียกจิตที่ไม่ซัดส่ายหวั่นไหวไปตามอารมณ์ว่ามีสมาธิ และเรียกจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เสียได้ว่ามีปัญญา จะมีมากหรือน้อยย่อมแล้วแต่พลังสมาธิที่มี

🌷 ปัญญา กับ สัญญา 

การเรียนวิทยาการทางโลกจนกระทั่งได้รับปริญญายาวเหยียด และการเรียนวิชาศีลธรรมภาคปริยัติด้วยนั้น ต้องอาศัยการท่องจําเป็นใหญ่ เรียกว่า สัญญา (ความจําได้หมายรู้) คือเป็นเพียงเพิ่มความจําได้หมายรู้ให้มากขึ้น และยึดติดในวิทยาการนั้นเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มปัญญาในการปล่อยวางความยึดถือในอารมณ์ต่างๆ ให้มากขึ้นตามไปด้วยแต่ประการใด

🌷 🌷 🌷 

ในตอนต้นแห่งพระธรรมเทศนา อาตมาภาพเห็นว่าได้กล่าวถึงเรื่องอนัตตธรรม มามากพอสมควรแล้ว น่าจะยุติลงได้ แต่สืบเนื่องจากเมื่อเช้าได้ฟังธรรมเทศนาของอาจารย์ท่านเดิม แต่คราวนี้เตลิดไปไกลสุดสงสารกว่าที่คิด เพราะอนัตตธรรมที่ท่านให้ความหมายไว้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้นั้น ก็นับว่าถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เที่ยวนี้ท่านไปไกลกว่านั้น เกินขอบเขต โดยนำเอาพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระสัพพัญญู เป็นผู้เห็นโลกอย่างแจ่มแจ้ง กลับทึกทักเอาเองว่า พระพุทธองค์เองก็ยังไม่อาจพ้นจากอนัตตธรรมได้เช่นกัน ที่ให้ความหมาย อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ว่า แม้พระองค์ก็หนีไม่พ้นเรื่องความตาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชราคร่ำคร่า เพราะพระองค์บังคับบัญชารูปร่างกายที่จิตของพระองค์อาศัยอยู่ไม่ได้ 

นี่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาจารย์ท่านนั้น เอารูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่สมมุติขึ้นมานั้นเป็นตัวตนของพระพุทธเจ้า ทั้งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนในอนัตตลักขณสูตรว่าด้วย "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปร่างกายของพระองค์นั้น) นั่นไม่ใช่เรา ไม่เป็นไร ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา)" แม้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ยังเข้าใจได้เลย โดยเฉพาะในครั้งกระนั้นได้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกพร้อมกันทีเดียว ๖ รูป รวมทั้งพระพุทธองค์

เนื่องจากอนัตตธรรมนั้น เป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ เพราะท่านได้เข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปนามหรือขันธ์ ๕ ส่วนที่เป็นตนคือจิตที่วิมุติหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดในเรื่องโลกว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นย่อมมีอันดับไปเป็นธรรมดา เช่นกัน" เป็นโลกียะสัจ (ความจริงในโลก) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 

ส่วนพระอรหันต์ท่านย่อมเข้าถึงแล้วซึ่งโลกุตระสัจ (ความจริงที่เหนือโลก พ้นโลก ไม่ติดอยู่ในโลกอีกแล้ว) เพราะมารู้จักตนด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุขและทุกข์ จึงได้ปฏิเสธรูปร่างกายที่มีจิตครองนี้ว่า  นั่นไม่ใช่เรา (จิต) นั่นไม่เป็นเรา (จิต) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต) พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้จักอนัตตธรรมเป็นอย่างดี รู้จักกายที่แท้จริง ดังที่พระองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า จิตคือเรา 

พระวักกลิ เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ เข้าบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ที่เข้าใจผิดว่ารูปร่างกายนี้คือเรา (พระพุทธเจ้า) จึงได้ตามเสด็จพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่า ได้เข้าใกล้ชิดและเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจของพระวักกลิเรื่องนี้อยู่ เมื่อได้โอกาสจึงตรัสว่า 

วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเราว่าเป็นเรา และกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่ที่นี่ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเราห่างกันไกลกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว วักกลิ เมื่อเธอต้องการจะเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราจะบอกทางให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า "โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ แปลว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าจิตคือธรรม คือเรา ส่วนรูปร่างกายไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ในอัตภาพร่างกายของคนและสัตว์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีกายซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น คือ กายธรรม (จิต) ๑ กายทิพย์ (นามกาย) ๑ กายเนื้อ (รูปกาย) ๑

๑. กายธรรม (จิต) เป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ และดำรงไว้ซึ่งความรู้ของตนเองตลอดทุกกาลสมัย โดยมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยทำให้มีให้เป็นเลย แลเห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้ ความรู้ของคน ก็รู้อย่างคน ความรู้ของสัตว์ ก็รู้อย่างสัตว์  ความรู้ของพระพรหม ก็รู้อย่างพระพรหม ต่างกันเป็นพวกๆ ไป

มีปรากฏในอัคคัญสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า กายธรรมก็ดี กายพรหมก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของตถาคตทั้งสิ้น ไม่เคยเกิดไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย

กายธรรม นี้เมื่อได้เข้ามาอยู่ในโลก คือเป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ดี ก็เป็นประธานของสังขารธรรมทั้งหลาย และมีคุณภาพปราดเปรียวว่องไวในการเคลื่อนตัวไปรับรู้อารมณ์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีวัตถุทึบอย่างใดขวางกั้นไว้ได้เลย และอยู่เหนือการเกิดการตายของสังขารธรรมอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ กายธรรมเป็นอมตธรรม

๒. กายทิพย์ หรือนามกาย หรือนามรูป หรือทิพยกาย หรือโอปปาติกะ หรืออทิสสมานกาย มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นกายละเอียดที่ห่อหุ้มกายธรรมไว้

กายทิพย์ เป็นกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงอารมณ์ไว้ ดังนั้น จึงสามารถเคลื่อนไหวออกจากความรู้สึกนึกคิดเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ได้อย่างปราดเปรียวเหมือนกายธรรม และเปลี่ยนคุณภาพเป็นผ่องใสบ้าง เศร้าหมองบ้างตามความคิดปรุงแต่งให้เป็นไป ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร

แต่ถ้าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนแยกเรื่องที่นึกคิดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง จนบรรลุอรหัตตผลแล้ว กายทิพย์จึงแตกตายสนิท ดังนั้น เมื่อรูปกายเนื้อแตกตาย ก็จะไม่มีกายทิพย์ จุติ - ปฏิสนธิ ต่อไปอีกเลย

๓. กายเนื้อ หรือรูปกาย เป็นกายหยาบ ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดจากบิดามารดา เติบโตด้วยข้าวสุก ขนมสด มีทวาร ๕ แห่งสำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส มีอายุยืนเพียงชาติเดียว สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ตาย กายเนื้อ สามารถแลเห็นได้ด้วยตา เป็นกายชั้นนอกที่สุดของคนและสัตว์ทั้งหลาย

สรุป ในอัตภาพร่างกายของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีจิตหรือกายธรรมเป็นประธาน ซ้อนอยู่ภายในกายทิพย์ และกายทิพย์ก็ซ้อนอยู่ภายในกายเนื้อ รวมเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน กายทั้ง ๓ ชั้นนี้ มีความเป็นอยู่เกี่ยวเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันตลอดเวลา เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันออกพรรษา ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔




Create Date : 22 ตุลาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:20 น.
Counter : 109 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์