ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย


💝 ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย

วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ในวาระใกล้ปีใหม่นี้ที่จะถึง วันพระนี้อาตมาภาพน้อมนำเอา อัปปมาทธรรม มาให้ฟังกันเพื่อยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมทั่วทุกตัวตน

🌷 อัปปมาทธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)

บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง

ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

การปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานี้ จะทำให้ศึกษาและรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีแก่นสารที่สามารถยึดถือและนำครอบครัวได้อย่างถาวรแต่ประการใด จึงต้องฝึกให้มีสติคอยระวัง มิให้เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เสียคุณภาพเดิมไปในขณะที่กำลังเข้ามากระทบ ถ้าไม่ระวังไว้ให้ดีแล้ว อารมณ์ก็ย่อมชักนำจิตใจให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปได้เป็นธรรมดา และทำให้ผู้นั้นประพฤติตนไปตามความพอใจได้ 

ดังนั้น หลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา จึงมีความจำเป็นที่สุดสำหรับสังคม ที่ควรจะนำมาปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น
ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม
สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ
ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ให้หมดไปโดยลำดับ จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น

การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขาแล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ "รู้" อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น "รู้" อยู่เสมอว่า ทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกิด และไม่ได้ตายเลยแต่ประการใดทั้งสิ้น

มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ

"อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ,  อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา" แปลว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว"

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์

แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก – ฟันหัก – เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้

"เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ" แปลว่า "ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย"

🌷 ความตาย

ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ (จิต) จุติ (เคลื่อน) ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ, เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ, ความเคลื่อนไป, ความแตกทำลาย, ความหายไป, มฤตยู, ความตาย, ความทำกาละ, ความแตกแห่งขันธ์, ความทิ้งซากศพไว้, ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย

สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่ยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม เข้ามาเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหนๆ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเรา (จิต) ไม่เข้าไปยึดถือรูปร่างกายอย่างสิ้นเชิงเมื่อใด ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ

"สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาโลก (สังขาร) ให้สูญสิ้นจากการยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตนทุกเมื่อเถิด ท่านจะพึงข้ามพ้นจากความตายเสียได้ ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ พระยามัจจุราชกจะแลไม่เห็นท่าน ดังนี้"

สรุปความแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้อบรมจิตตามหลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนา ก็ยังรู้ผิดและติดข้องอยู่ในอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ และประพฤติตนในทางที่จะให้ได้รับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจมาครอบครองเสมอ แต่เนื่องจากจิตไม่มีรูปร่างที่จะติดต่อกับอารมณ์โดยตรงได้ จึงต้องใช้รูปร่างกายสำหรับเป็นเครื่องมือติดต่อกับอารมณ์ด้วยเสมอ ครั้นรูปร่างกายเสื่อมสลายและตายลงในที่สุด จิตก็ยังติดใจในรสชาดของอารมณ์ที่ได้เคยเสพตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมือนเดิม จึงเท่ากับได้สร้างคติอันประทับใจไว้แล้วโดยอัตโนมัติ เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด ก็ต้องไปตามทางของตนเอง เพื่อไปเสพอารมณ์ที่พอใจอีกต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องสร้างร่างกายที่เหมาะกับสภาพของอารมณ์ไว้ เป็นเครื่องมือติดต่อกันด้วย

🌷  คติ (ทางที่ไปของสัตว์)

คติหรือทางที่ไปของสัตว์ แบ่งออกเป็น ๒ คือ สุคติ (ทางไปสู่ที่ดี) และทุคติ (ทางไปสู่ที่ชั่ว) สัตว์ที่ไปอยู่อบายภูมิ ได้แก่ เปรต นรก อสรุกายและสัตว์เดรัจฉาน จัดเป็นทุคติภูมิ สัตว์ที่ไปสู่มนุษย์ เทพ พรหม จัดเป็นสุคติภูมิ 

๑. อบายภูมิ ๔ เป็นคติของสัตว์ที่ล่วงละเมิดศีลของตนโดยจงใจและไม่อาย รวมทั้งผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรม ๕ ไว้ด้วย เฉพาะฆราวาส หมายถึง ล่วงละเมิดศีล ๕ ถ้าเจตนาล่วงละเมิดศีลด้วยอำนาจโทสะก็ไปนรก  ถ้าละเมิดศีลด้วยอำนาจโลภะก็ไปเปรต อสุรกาย ถ้าละเมิดด้วยอำนาจโมหะก็ไปสัตว์เดรัจฉานซึ่งจัดว่าเป็นทุคติภูมิทั้งสิ้น 

๒. มนุสภูมิ ๑ สัตว์ที่ประกอบกรรมตามหลักเบญจศีล - เบญจธรรม ซึ่งได้แก่ เมตตา กรุณา สัมมาชีพ สันโดษเฉพาะภรรยาตน สัจจะวาจา และมีสติสัมปชัญญะดี ย่อมมาสู่มนุษยภูมิ ซึ่งจัดว่าเป็นสุคติภูมิ

๓. เทวภูมิ ๖  คือสัตว์ชั้นเทพที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๖ ชั้น ประกอบแต่กุศลและมีหิริโอตัปปะด้วยความสงบตั้งมั่น ดังพระบาลีว่า “หิริโอตฺตปฺป สมฺปนฺนาสุกฺกธมฺม สมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวฺธมฺมา ตีวุจฺจเร” แปลว่า” เราเรียกสัตบุรุษผู้สงบตั้งมั่น ประกอบแต่กุศลด้วยหิริโอตัปปะว่าเป็นเทวธรรม” จัดเป็นสุคติภูมิ ๖ ชั้น 

๔. รูปพรหม ๑๖ คือสัตว์ที่ประกอบรูปาวจรกุศล บำเพ็ญรูปฌาน ๔ มีกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ จัดเป็นสุคติภูมิที่ปราศจากกาม ๑๖ ชั้น 

๕. อรูปพรหม ๔ คือสัตว์ที่ประกอบด้วยอรูปาวจรกุศล บำเพ็ญอรูปฌาน ๔ ซึ่งปราณีตยิ่งกว่ารูปาวจรกุศล ไม่มีรูปและปราศจากกาม ๔ ชั้น จัดเป็นสุคติภูมิชั้นสูงสุดในโลกนี้

🌷  คนสามัญตายแล้วต้องเกิดอีก

ปัญหานี้ คนรุ่นหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาธรรมะและผู้ที่อยู่ในวงการศาสนาเป็นจำนวนมาก มักยกขึ้นมาไต่ถามกันเสมอว่า คนตายแล้ว ไปเกิดอีกหรือไม่ ถ้าไปเกิดอีก อะไรไปเกิด และไปเกิดอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

ผู้ที่ถูกถามปัญหาดังกล่าวนี้ จะรู้สึกว่าที่ๆ ตนนั่งอยู่นั้น ร้อนเป็นไฟทีเดียว บางคนก็สายหน้า หาทางเลี่ยงหนีจากการสนทนาทันที บางคนก็ทำเมิน เสแสร้งว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย สู้พูดกันเรื่องปฏิบัติไม่ได้ บางท่านก็กลัวว่าจะเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ อยู่นอกศาสนาพุทธ บางท่านก็ยอมรับเสียตรงๆ ว่าอธิบายยาก เลยผลักให้ตายสูญไปเสีย จะได้หมดเรื่องหมดราวก็มี ดังนี้เป็นต้น

ปัญหาข้อนี้ กล่าวโดยความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนตลอดพุทธกาล และทรงย้ำนักหนาทีเดียวว่า สัตว์ที่ยังไม่หมดกิเลส จะต้องไปเกิดใหม่อีกเสมอ เช่นเดียวกับพระองค์ซึ่งได้ทรงเวียนว่ายตายเกิดมานับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วเหมือนกัน ดังนั้น จึงเป็นปัญหาอันสำคัญที่ผู้ศึกษาธรรมะ จะต้องค้นคว้าสอบสวนให้รู้เรื่องราวตามความเป็นจริง โดยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 

เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็ขีดวงจำกัดลงไปว่า จะต้องรับกรรมดีกรรมชั่วก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วก็แล้วกันไป เพราะฉะนั้น จึงเกิดข้อคิดตามมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ มาแล้ว ย่อมมีสภาพพ้นทุกข์ เหมือนกับนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเมื่อตายแล้วเท่านั้น ดังนั้นข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคม หลักของกรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ก็ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ความอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมเป็นโมฆะไปเสีย, ทุกประการ

ถ้าไม่ใช่ตายแล้วสูญ ดังว่านี้แล้ว ก็ต้องหมายความว่า คนสามัญตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีกอย่างไม่มีปัญหา จึงเป็นการสมควรที่จะได้ค้นคว้าให้รู้เรื่องราวข้อนี้ตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง ถ้าศึกษาศาสนาพุทธแล้ว พาตนเองให้เข้าไปอยู่ในข่ายของความเห็นว่าตายสูญแล้ว ควรจะได้ทบทวนดูเสียใหม่ดีกว่า

มีพุทธพจน์ที่มาในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้คือ

“คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน, สคฺคํ สุคติโนยนฺติ, ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา” แปลว่า “สัตว์บางพวกย่อมเข้าสู่ครรภ์ สัตว์ที่ทำกรรมชั่วย่อมไปเกิดในนรก สัตว์ที่ทำกรรมดีย่อมไปเกิดในสวรรค์ ท่านผู้สิ้นอาสวะย่อมปรินิพพาน”

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมข้ามภพข้ามชาติจริงๆ ไม่มีคลุมเครือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในภพเดียวชาติเดียวเลย การที่สัตว์จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ได้ยึดไว้ทุกประการ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น ได้ประกอบกรรมไว้อย่างใด ก็จะสั่งสมไว้ที่จิตทุกประการ เมื่อถึงคราวตายลง ผลของกรรมที่ได้ประกอบไว้อย่างนั้น จะส่งให้จิตไปเกิดยังภพภูมิที่ตนพอใจต่อไปอีกตามลำดับ

💝 💝 💝 

วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ แปลว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ความเพียรมีผล ความพยายามมีผลบาลีพระธรรมบทนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะสอบไล่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับการสอบนั้น ก็ต้องขยันหมั่นเพียรพยายามให้มากยิ่งขึ้นเพื่อจะได้สอบให้ผ่าน  หรือบุคคลทั่วไปที่เกิดทุกข์กายทุกข์ใจขึ้นมา ก็เพียรพยายามแสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อมาชดเชยกับความทุกข์กายทุกข์ใจนั้น ให้บรรเทาเบาบางลง ก็เช่นกัน  เป็นที่ยอมรับกันได้เพราะเป็นเรื่องของคนในโลก ส่วนมากแล้วที่ต้องแสวงหาอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการมาชดเชยกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องการ เป็นเรื่องธรรมดาของโลก  แต่ในทางธรรมนั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะเรื่องในโลกล้วนเป็นตัวทุกข์นั่นเอง เรื่องในโลกที่กล่าวมานั้น ล้วนยังตั้งอยู่ในความประมาททั้งสิ้น 

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ แปลว่า การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นลาภใหญ่ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก บุคคลผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติที่ว่ายากนั้น ในพระสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้เกิดมาในภพภูมิมนุษย์นั้นแสนยาก ท่านเปรียบเหมือนเต่าทะเล ที่มีโอกาส ๑๐๐ ปีถึงจะโผล่ขึ้นมาหายใจ ๑ ครั้ง แต่ละครั้งที่โผล่ขึ้นหายใจนั้น หัวของเต่าทะเลตัวนั้นจะต้องสวมเข้ากับแอก ที่มีขนาดเท่ากับหัวเต่าพอดี จึงจะได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วแอกที่ว่านี้ก็อาจจะลอยอยู่ส่วนไหนของทะเลก็ได้นั้น ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนจากบุญกุศลกรรมดีที่ได้เคยทำไว้ในครั้งก่อนๆ จึงจะมีโอกาสได้กลับมาเกิด แต่เมื่อได้สมบัติอันล้ำค่านี้แต่ก็หาได้ทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรไม่ เพราะสืบเนื่องจากไปเกิดในที่อันไม่สมควร คือเป็นถิ่นที่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา

แต่บุคคลผู้ที่น่าสงสารไปมากกว่านั้น คือ ผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับความสมบูรณ์พูนสุขพร้อมด้วยประการต่างๆ ทั้งปวง ตลอดถึงได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี แต่กลับประมาทมัวเมากับความสำเร็จในชีวิต จมปลักอยู่ในความสุขต่างๆ ที่ได้รับนั้น อันหาสาระไม่ได้เลย นอนปล่อยให้กาลเวลาเขมือบอายุ ชีวิต ให้สิ้นไปโดยไร้ประโยชน์ ก็ยังมีเป็นอันมาก เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เป็นเครื่องจูง อวิชชานั้นพร้อมที่จะกางกั้นให้หลงใหลจมปลักอยู่ในโลก ซึ่งเป็นวัฏฏะวน อันไม่จบไม่สิ้นยาวนานนับไม่ถ้วน ตัณหานั้นก็จะผูกมัดให้ติดอยู่กับความสำเร็จ ความสุข ความก้าวหน้า ความสมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งหลาย  ส่วนอุปาทานนั้นชักจูงให้เกิดฉันทราคะ (ผูกจิตติดใจ) ในสิ่งที่รักที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส 

สัญชาตญาณของคนเรา ย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเอร็ดอร่อยในกามทั้ง ๕ อย่างนี้ ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาขยายออกไปเป็น ๖ คือ ธัมมารมณ์ เป็นการเก็บเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผูกจิตติดใจเข้ามาทางกายทั้ง ๕ นั้น เก็บไว้เป็นธรรมารมณ์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ จะเป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นเพียงความคิดฝันก็ได้ ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจ ในขณะที่รู้สึกถึงอารมณ์เหล่านั้น 

การที่มนุษย์พยายามขวนขวายหรือทำอะไรก็ตาม หากจะสิบสาวเรื่องราวไปแล้วจะพบว่า เขามีฉันทะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาอุตส่าห์เล่าเรียน หรือหมั่นเพียรประกอบอาชีพ ก็เพื่อให้ได้ผลจากอาชีพ แล้วไปจัดหาความสุขสบายในทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มาบำรุงบำเรอตน แม้แต่เรื่องทำบุญอธิษฐานให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความผูกจิตใจทั้งนั้น ความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลกโดยตรง โลกจะวินาศฉิบหายหรือเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากฉันทราคะนี้ โดยเฉพาะถ้าว่ากันทางคดีโลก การมีฉันทราคะกลับจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์ชื่อเสียงและอีกมากมาย  แต่ถ้ามองในแง่ของธรรมะ จะรู้สึกว่าเป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเล้นลับ เพราะฉะนั้นในทางธรรม ฉันทราคะเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม และถึงกับเป็นสิ่งที่จะต้องละกันให้หมดสิ้นในที่สุด จึงจะหมดความทุกข์ทั้งปวงได้ 

อัปปมาทธรรมนั้น เป็นธรรมเพื่อละฉันทราคะ ในอัปปมาทวรรค พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย มีสาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่างไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมหวังได้ว่าจักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) ทั้งปวง ยังกล่าวถึง ผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหยั่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ดังนี้ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔





Create Date : 28 ธันวาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2564 21:25:37 น.
Counter : 1841 Pageviews.

0 comment
สมาธิในพระพุทธศาสนา


💖 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ญาติธรรมทั้งหลายที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วน้อมนำเอาไปปฏิบัติ น้อมนำเข้ามาสู่ตน โดยเฉพาะเรื่องภาวนามยปัญญา เพื่อสร้างทางออกจากทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ ที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน วันพระนี้ อาตมาภาพจึงนำเอาเรื่อง "สมาธิในพระพุทธศาสนา" มาทบทวน ดังนี้

🌷 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

ถ้าหากพิจารณารายละเอียดเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ให้ดีแล้ว จะเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้ มรรคทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้ จะทํางานสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ กล่าวคือ 

จะต้องสลัดนิวรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบ ออกไปให้หมดด้วยสัมมาวายามะ ยกจิตขึ้นสู่อานาปานสติและประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่ที่อื่นด้วยสัมมาสติ เกิดความอิ่มใจเบากายเบาใจและเป็นสุขที่จิตสงบขึ้น อาการต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกปล่อยวางจนหมดในที่สุด เป็นสัมมาสมาธิ 

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น ซึ่งยึดแนบแน่นเป็นเอกัคคตาอยู่ในอารมณ์เดียวแต่ประการใด แต่เต็มไปด้วยพลังสติระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ

เมื่อพลังสติทํางานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบให้การพูด การทํา การคิดดำเนิน อย่างถูกต้องตามทํานองคลองธรรมไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิ คือยกจิตขึ้นสู่อานาปานสตินั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นบ้าไปได้เลย ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้า (ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆ ฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา) มากขึ้น ทําให้พูดถูก ทําถูก คิดถูกยิ่งขึ้น โดยลําดับ นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สําหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว ส่วนมากเกิดจากการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณด้วยปรารถนาลามก ไม่ได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่ได้ใช้สติสกัดกั้นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ คงปล่อยจิตใจให้ยินดีเพลิดเพลินและหวังว่าจะหาโอกาสนํามาครอบครองต่อไปในอนาคต เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทําเสน่ห์ ดูเลขหวยเบอร์ เป็นต้น ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ ในพระพุทธศาสนา จึงจําต้องจําทางเดินของจิตรวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยําและแยบคายเพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า วสี (ความชํานาญในการเข้า - ออกจากสมาธิ) ซึ่งควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงําได้ดีที่สุด

🌷 สมาธินอกพระพุทธศาสนา 

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนา ก็มีการปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่แล้วเหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงมีมาก่อนพุทธกาล ถึงแม้พระพุทธองค์ก็ทรงเคยเสด็จเข้าไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาฬารดาบสและพระอุทกดาบส ก่อนตรัสรู้มาแล้วด้วย แต่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น จิตของพระองค์ยังยึดอารมณ์ฌานอยู่อย่างเหนียวแน่น เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ เมื่อยังยึดอารมณ์อยู่ก็ย่อมถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้มีให้เป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ จึงทรงลาพระอาจารย์ทั้งสองท่าน ออกมาปฏิบัติสัมมาสมาธิโดยลําพังพระองค์เอง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ในที่สุด

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า สมาธิในศาสนาพราหมณ์ที่ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระ อาจารย์ทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว กับสมาธิที่พระองค์นํามาปฏิบัติจนได้ตรัสรู้นั้น ต่างกัน ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา ดังต่อไปนี้ "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย" (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ถ้าหากว่าสมาธิของพระอาจารย์ทั้งสอง เหมือนกับสมาธิที่ทรงปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้จริงแล้ว พระองค์ย่อมตรัสว่าได้ตรัสรู้เองโดยชอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สมาธิของศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกับสมาธิในพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีปัญหา เช่น ท้าวมหาพรหมยังยึดอัปปมัญญา ๔ อยู่ จึงมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเสวยวิบากของกรรมเช่นนี้หมดแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นอย่างอื่นที่เป็นกรรมรองต่อไปอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้

🌷 ประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า "สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"  แสดงว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยอบรมจิตให้มีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ได้ เมื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเสียได้ ความยินดียินร้ายอันเนื่องมาจาการยึดถือผิดๆ ก็ย่อมพลอยดับลงด้วยเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันนี้ ได้มีผู้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางถึงชนบทต่างๆ รวมทั้งวัดที่มีอยู่ทั้งหมดรวมสามหมื่นกว่าวัด ทั่วประเทศด้วย ทุกคน ทุกสถาบัน จําเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทอย่างเข้มแข็ง โดยไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ด้วยการก้าวเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสอนปฏิบัติสมาธินักเรียนและเยาวชน ซึ่งกําลังประพฤติตนสวนทางกับศีลธรรมอันดีงามอยู่ในขณะนี้ จนเป็นที่หวั่นวิตกแก่บิดามารดาผู้ปกครองครูอาจารย์ เป็นอันมากว่า ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข นักเรียนและเยาวชนในปัจจุบันย่อมจะกลายเป็นภาระอันหนักและไม่มีคุณภาพแก่ประเทศชาติในอนาคตทีเดียว 

ยังไม่สายเกินไปนักที่จะร่วมมือกัน นําหลักธรรมในพระศาสนาข้อนี้ มาส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชน รวมทั้งผู้หวังความสงบสุขในการครองชีวิตในสังคมนี้ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียงกัน เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่บินมาเรียนปฏิบัติสมาธิในประเทศไทย แล้วนํากลับไปเผยแพร่ต่อในประเทศมาตุภูมิของเขา ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

การปฏิบัติสมาธิจะทําให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ทําให้รู้จักชีวิตนี้ตามความเป็นจริง และมีพลังต่อต้านอํานาจฝ่ายต่ำที่เกิดจากอารมณ์ทั้งหลาย จึงทําให้ผู้ปฏิบัติประพฤติตนเป็นคุณประโยชน์ด้วยความองอาจเที่ยงธรรมและมั่นคงที่สุด

นอกจากนี้ การปฏิบัติสมาธิยังช่วยให้มีสติและความทรงจําดี ช่วยเกื้อกูลให้เล่าเรียนดี เป็นทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์และจรรโลงพระศาสนาอย่างถูกจุด ถ้ารณรงค์ให้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง อีกด้วย

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว คือ 
๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปรับอารมณ์ภายนอกด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) 
๒. เห็นอาการซัดส่ายวุ่นวายของจิตเนื่องด้วยยึดอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ 
๓. เห็นว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิสามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ได้ เป็นมรรค
๔. เห็นผลจากการปล่อยวาง ทําให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง เป็นนิโรธ

เมื่อปฏิบัติจนเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมทราบชัดด้วยตนเองว่า เป็นผู้ที่รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว ไม่ได้กลายเป็นคนบ้าเสียจริตไป ดังที่มีบางคนวิตกอยู่ แต่ประการใดเลย 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายกเอาอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในสติปัฏฐานสูตร ที่มีอยู่รวม ๒๑ ประการ มาเพื่อเพ่งดูอย่างเคร่งครัด ไม่เอาอารมณ์อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีทางเป็นบ้าเสียสติไปได้เลย แต่กลับจะทําให้ตนเองหายจากบ้า เพราะเห็นสิ่งต่างๆ ไม่วิปลาสอีกต่อไป

การเป็นบ้าเสียสติ จะเกิดขึ้นได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การปฏิบัติผิดๆ นอกรีต นอกรอย ออกจากคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ให้ปฏิบัติอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานเท่านั้น เช่น เอารูปผู้หญิงมาเพ่งเพื่อทําเสน่ห์ให้เขารักเรา เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงจะเป็นบ้า เสียสติ นี่คือความรู้ขั้นพื้นฐานสําหรับผู้ที่จะลงมือปฏิบัติทุกคน

🌷 ความหมายของคําว่า "สัมมาสมาธิ" (จิตตั้งมั่นชอบ)

คําว่า "สมาธิจิต (สม+อธิจิต)" หมายถึง จิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมทั้งหลาย มาเกิดพร้อมกัน เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ และปัญญา เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิ จะไม่มีทางหันกลับมาประพฤติชั่ว และทําให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแก่ครอบครัวหรือสังคมได้อีก ตลอดเวลาที่ยังปฏิบัติสมาธิอยู่ อย่างไม่ต้องสงสัย 

คุณธรรมที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันเหล่านี้ จะเป็นพลังให้จิตเดินทวนกระแสโลก คือ ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปได้โดยลําดับ จนกระทั่งหมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด เรียกว่า จิตตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ ตั้งมั่นอยู่ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป

คําว่า ฌาน กับ สมาธิ นี้ เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า ต้องใช้จิตเพ่งดู (ฌาน) อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ได้เลือกไว้ตลอดไป ก็ย่อมเกิดสมาธิขึ้น และเมื่อเพ่งดูตลอดไปอีก ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์นั้นๆ ทําให้เกิดญาณและปัญญา ตามมาตามลําดับ 

เพราะฉะนั้น ฌานจึงเป็นเหตุให้เกิดญาน (รู้ตามความเป็นจริง) แล้วจึงเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เสียได้ เราเรียกจิตที่มีความสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้ว่ามีปัญญา และเรียกจิตที่เพ่งดูอารมณ์ที่กําหนดให้ ไม่ซัดส่ายไปสู่อารมณ์อื่นว่ามีสมาธิ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อจิตได้รับการอบรมให้มีสมาธิขึ้นมาเมื่อใด ปัญญาก็จะเกิดมีขึ้นมาด้วยเมื่อนั้น มากหรือน้อยย่อมแล้วแต่กําลังสมาธิที่มี

🌷 อารมณ์ที่ควรเลือกสำหรับการปฏิบัติสมาธิ คือ อานาปานสติ

การใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสําหรับคนทุกชั้น เพราะสามารถทําได้เสมอทุกโอกาส ด้วยความตั้งใจจริง อย่างบ่อยๆ เนืองๆ ติดต่อกันไป โดยให้ตั้งสติอยู่ ณ จุดๆ หนึ่งจุดใด ซึ่งอาจจะเป็นริมฝีปากบน ปลายจมูก หรือในช่องจมูกก็ได้ เลือกกําหนดเอาเพียงจุดเดียว ที่สามารถรู้สึกว่าลมหายใจกระทบเด่นชัดที่สุด ทั้งลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ไม่ควรเลื่อนไปอยู่ที่อื่นต่อไป หรือเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นอีกตลอดชีวิตนี้ เพราะจะทําให้เกิดความชํานาญในการเข้าสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในขณะปฏิบัติสมาธิ 

ตามหลักสติปัฏฐานสูตรแล้ว ไม่มีตอนไหนเลยที่ให้ใช้คําบริกรรม ดังนั้นจึงไม่มีคําบริกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เกจิอาจารย์ในสํานักปฏิบัติทั้งหลาย ได้คิดขึ้นใช้กํากับในการเพ่งดูอารมณ์ที่ได้เลือกไว้ด้วย เพื่อผูกมัดจิตซึ่งมักแลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้เสมอ 

เช่น โบราณาจารย์ใช้คําว่า “อรหัง" สายพระอาจารย์มั่นใช้คําว่า "พุทโธ" สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ําภาษีเจริญใช้คําว่า "สัมมาอรหัง" สายพม่าใช้คําว่า “ยุบหนอพองหนอ" หลวงพ่อฤาษีลิงดําใช้คําว่า "นะมะพะทะ" ดังนี้ เป็นต้น 

ซึ่งกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว คําบริกรรมทั้งหมด แต่ละคําเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ของจิตอีกอย่างหนึ่งทั้งสิ้น ที่พระอาจารย์ได้บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ผูกมัดจิตที่ปราดเปรียวนี้ไว้ ไม่ให้แลบออกไปจากฐานที่กําหนด ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จักใช้ให้แยบคาย และกลมกลืนกับสภาวะของจิตตามสมควร อาจจะไม่ใช้เลยก็ได้ เพราะไม่ใช่พุทธบัญญัติ แต่จะใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง ใช้พร้อมๆ กันทีเดียวทั้งหมด หรือคิดเปลี่ยนคําบริกรรมเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ตามถนัด เพื่อทดลองดูนั้น ย่อมไม่เกิดผลดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับจะทําให้เกิดผลเสีย คือ เกิดวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) กั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิขึ้นมาเสียอีกก็ได้ 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องแล้วแต่ผู้ปฏิบัติเอง ที่จะเลือกเชื่อและใช้คําบริกรรมอย่างใดหรือไม่ และเมื่อได้ตัดสินใจเชื่อลงไปเช่นนั้นแล้ว ก็ควรรักษาวิธีการและคําบริกรรมเช่นนั้นไว้ตลอดไป จึงจะกลายเป็นวสีขึ้นมา เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ต้องหยุดคําบริกรรมนั้นๆ เสียทันที มิฉะนั้นแล้ว จิตก็จะไม่เป็นสมาธิสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ผลเสียของการใช้คําบริกรรม คือ ผู้ที่ใช้อาจใช้ไม่กลมกลืนกับอารมณ์ที่เพ่งดูอยู่ก็ได้ เช่น จิตไปจับอยู่ที่คําบริกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ลืมกําหนดอารมณ์สมาธิไปเสียก็มี หรือเวลาที่จิตเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเพราะลืมไปก็มี ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ก็ย่อมไม่เห็นพระไตรลักษณ์และไม่เกิดพลังปล่อยวางอารมณ์ได้เป็นธรรมดา

🌷 หลักในการเข้าสมาธิ 

เมื่อได้เลือกกําหนดจุดที่ลมหายใจเข้าออก กระทบเด่นชัดที่สุด ตามที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนแล้ว ก็รวมความรู้สึกทั้งหมดให้มารู้ชัดเจนอยู่ที่จุดนี้ และทําจิตให้แยบคายที่จะรักษาความรู้สึกอันนี้ ให้รู้ชัดอยู่ ณ จุดนี้ตลอดเวลา มิให้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น หากความรู้สึกนี้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น ก็ให้ใช้ความพยายามดึงกลับมาอยู่ที่ที่กําหนดนี้ให้ได้ ถ้าทําได้เช่นนี้จนกระทั่งจิตเชื่อง ก็ไม่แลบออกไปอีก สมความประสงค์

เวลาระหว่างที่จิตยังไม่เป็นสมาธิกับเมื่อจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้วนี้ ผู้ปฏิบัติควรจะใช้ความสังเกตดูและจําวิธีวางจิตของตนว่า ทําอย่างไรจึงจะให้จิตเข้าสู่สภาวะเช่นนี้ หรือที่เรียกว่า จําทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยํา เพื่อจะได้ใช้สําหรับเข้าสมาธิครั้งต่อไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นคลําหาทางเดินกันใหม่อีก การเข้าสมาธิได้เร็วนี้ จะช่วยเกื้อกูลพลังสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่กระทบทุกครั้ง มิให้มีโอกาสปรุงแต่งจิตได้

ในขณะที่จิตไม่แลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้นี้ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกที่กระทบเริ่มละเอียดแผ่วเบา เพราะจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว ตรงจุดนี้เป็นจุดสําคัญยิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความสังเกตดูและศึกษาวิธีวางจิตเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความชํานาญขึ้น ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งให้เข้าสมาธิสงบมากไปยิ่งกว่านี้ ให้ถอนลมหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้นอีกสักเล็กน้อย แล้วจึงกลับทําให้ลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนเมื่อตอนแรกอีกให้ได้โดยแยบคาย ให้ทําเช่นนี้ไปมาสัก ๒-๓ ครั้งจนชำนาญ และจำวิธีวางจิตไว้ให้ได้ด้วย ต่อจากนี้ก็พยายามสลัดปล่อยวางเรื่องที่รับรู้ออกไป จนจิตสงบถึงขีดสุด

เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรุงแต่งให้ร่างกายให้ดํารงอยู่ได้ ก็สงบตามไปด้วย ผู้ปฏิบัติก็ย่อมรู้ว่าลมหายใจดับลงแล้ว จิตได้แยกตัวอยู่ได้เป็นอิสระ และเป็นคนละส่วนกับลมหายใจ โดยไม่มีอันตรายอย่างใด ไม่ว่าจะต้องการอยู่ในสภาวะนี้ต่อไปอีกนานเพียงใดก็ตาม นี่คือขอบเขตของการปฏิบัติสมาธิ

🌷 หลักในการออกจากสมาธิ 

ให้สังเกตดูให้ดีว่า เมื่อลมหายใจยังหยาบอยู่ จิตก็ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปมา เมื่อลมหายใจเริ่มละเอียด จิตก็เริ่มสงบ และเมื่อลมหายใจละเอียดที่สุด จิตก็เป็นสมาธิสงบที่สุด ทั้งนี้แสดงว่าจิตเป็นสมาธิมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความละเอียดของลมหายใจโดยตรง 

ดังนั้น ถ้าต้องการจะออกจากสมาธิ ก็ให้ค่อยทําลมหายใจให้เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย ช้าๆ ด้วยความเยือกเย็นที่สุด อย่ารีบทําอย่างรวดเร็ว พอลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นบ้างแล้ว ก็ซ้อมถอยกลับคืนเข้าสมาธิให้ได้อีก โดยทํากลับไปกลับมาสัก ๒-๓ ครั้ง ด้วยความสังเกต เพื่อจําทางออกสมาธิ เช่นเดียวกับการทําเมื่อตอนเข้าสมาธิเหมือนกัน ก็จะทําให้เกิดความชํานาญเป็นอันมาก

การปฏิบัติสมาธินี้ เป็นการฝึกปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ ให้มารวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อปล่อยวางได้สําเร็จ ก็เกิดสภาพเบากายเบาใจ ทําให้เกิดเข้าใจตัวเองผิดว่าสําเร็จมรรคผลไปแล้วก็มี เช่น ในสํานักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่เป็นจํานวนมาก ทุกคนต่างก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการพูดจาซึ่งกันและกัน จึงไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจ ดังนั้นทุกคนจึงมีสมาธิสงบดีมาก

แม่ชีผู้หนึ่ง ซึ่งได้ปฏิบัติธรรมร่วมอยู่ด้วย ก็เกิดเข้าใจผิดขึ้นว่าตนเองสําเร็จแล้ว เพราะได้เข้าถึงสภาพที่หมดความเสียดแทงทางใจในขณะปฏิบัติ และไม่ทราบว่ายังต้องปฏิบัติต่อไปอีก 

ดังนั้น ในเช้าวันหนึ่ง หลังจากเข้าพบพระอาจารย์แล้ว ก็เล่ากับพระอาจารย์ว่า “ดิฉันปฏิบัติธรรมจนหมดโลภโมห์โทสัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีกแล้วเจ้าค่ะ จะต้องทำอย่างไรอีก” พระอาจารย์ก็ตอบว่า “นังตอแหล พูดโกหกทั้งนั้น รีบออกไปจากที่นี้เร็วๆ ไป๊” 

คําตอบเช่นนี้ เป็นอารมณ์ทดสอบความมั่นคงว่องไวของสติได้ดีทีเดียว ใครไม่ได้ผ่านการฝึกให้มีสติว่องไวต่อการรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพิ่มขึ้นจากการปล่อยวางความนึกคิดในการปฏิบัติสมาธิมาแล้ว เช่นแม่ชีผู้นี้เป็นต้น ก็ย่อมโกรธขึ้นมาทันที จึงอย่าเข้าใจผิดว่าสําเร็จเป็นอันขาด แต่ให้เข้าใจว่าจะต้องพากเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ทุกลมหายใจเข้าออก

🌷 องค์ของฌาน (ความเพ่ง) 

คำว่า "ฌาน" นี้ หมายถึงการใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งในอารมณ์สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา  จิต  ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่งโดยติดต่อกันไม่ขาดสาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า การปฏิบัติสมาธิหรือที่พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า วิปัสสนา นั้น ย่อมต้องใช้ความเพ่ง (ฌาน) โดยตลอด ดังพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า 

“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพาน สนฺติเก แปลว่า ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน”

การใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งกาย เวทนา จิต ธรรม ติดต่อกัน โดยไม่ขาดสายนี้ เรียกว่า สัมมาสติ เพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามความเป็นจริง และจะได้เกิดปัญญาปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุดตามลําดับ พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ฌาน ตามความสามารถที่จิตปล่อยวางได้ ดังต่อไปนี้คือ 

๑. ปฐมฌาน ยกจิตขึ้นเพ่ง (วิตก) และประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์สติปัฏฐาน (วิจาร) จนกระทั่งจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้ว ก็ย่อมเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขจากความสงบเบื้องต้น (สุข)

๒. ทุติยฌาน เมื่อจิตผ่องใสเป็นสมาธิแล้ว วิตกกับวิจารก็ย่อมดับไป จึงมีแต่ความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขในสมาธิที่เกิดขึ้น (สุข) 

๓. ตติยฌาน ปล่อยวางปีติเพราะวางเฉยเสียได้ เสวยสุขที่มีอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง 

๔. จตุตถฌาน ปล่อยวางสุข ทุกข์ ความดีใจเสียใจที่มีอยู่ ด้วยการวางเฉย ด้วยสติอันบริสุทธิ์ ซึ่งนับเป็นความสงบขั้นสูงสุดเพราะได้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ หมดสิ้น หมายความว่า ในขณะนี้จิตได้พ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่ง นับว่าเป็น วิโมกข์ คือ 

๑. อนิมิตตวิโมกข์ พ้นจากนิมิตหมายที่เห็นว่า อารมณ์เที่ยง
๒. อัปปณิตหิตวิโมกข์ พ้นจากการเข้าไปมีที่ตั้งว่า อารมณ์เป็นสุข 
๓. สุญญตวิโมกข์ พ้นจากการเห็นว่า อารมณ์เป็นอัตตา

จิตได้แยกตัวออกจากอารมณ์ด้วยอํานาจสัมมาสมาธิ จัดเป็นเจโตวิมุติ คือเข้าสู่เขตติดต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตระ ซึ่งฝ่ายพระอภิธรรมเรียกว่า โคตรภู  ถ้าหากปฏิบัติต่อไปอีกด้วยความพากเพียรและเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว สัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นมรรคองค์สุดท้าย ก็ย่อมทําหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เฉพาะ หน้าตามลําดับ จัดเป็นปัญญาวิมุติในพระศาสนานี้

ส่วนการปฏิบัติสมาธิในศาสนาอื่นนั้น มุ่งผลในทางให้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จิตยึดถืออารมณ์อย่างแนบแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น จึงเป็นเอกัคคตาอยู่ มีการนําพาผู้ปฏิบัติให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ ดูเทวดา เห็นเทวดาแต่งตัวมีชฎา เห็นพระเจดีย์จุฬามณีคล้ายๆ กับพระปฐมเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ เสด็จลงมาโปรด เห็นตัวเลขหวยเบอร์ เห็นจิตเป็นสีเหลือบใสๆ คล้ายสีปีกแมลงทับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมโนภาพเข้ามายึดถือ แทนที่จะปัดอารมณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ออกไปให้หมด ทําให้ยึดติดอยู่กับอารมณ์หนักยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

ดังนั้น สมาธิในศาสนาอื่นจึงไม่ใช่บาทฐานที่ทําให้เกิดปัญญาเลย ผู้ที่หวังความพ้นทุกข์จึงต้องเพิก (เลิก) การเพ่งอารมณ์ภายนอกเสีย แล้วเปลี่ยนมาเพ่งอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ แทนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าสมาธิแล้ว ย่อมเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่จะต้องให้ผลก่อนกรรมอย่างอื่นในภาคโลกียะนี้ ถึงแม้จะเป็นสมาธินอกพระศาสนาก็ตาม เพียงแต่ยังไม่พ้นทุกข์เท่านั้น

💖💖💖

เมื่อกล่าวถึงธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ คงหนีไม่พ้นอริยมรรคหรือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธาน เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทำให้ร่างกายส่วนต่างๆ นั้นบริบูรณ์ ฉะนั้น สมาธิ จึงมีชื่อเรียกหากัน ใช้แทนกันหลายชื่อ เช่น ภาวนาบ้าง กรรมฐานบ้าง สมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง เพ่งฌานบ้าง และอีกมากมาย เป็นการแตกแขนงออกไป เพื่อให้บุคคลที่มีกำลังจิตกำลังใจที่ยังไม่มากพอ  ได้เข้ามาสู่พุทธศาสนา ถึงจะภาวนากรรมฐานยังไม่ได้ สิ่งที่ทำลงไปนั้น ก็ไม่เป็นหมันอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สร้างทาน รักษาศีล เจริญภาวนาบ้าง ตามโอกาสที่มีเป็นครั้งคราว ทั้งที่การเจริญภาวนานั้นเป็นการอบรมพัฒนาจิตของตนโดยตรงให้ดีขึ้น เมื่อจิตดีขึ้นย่อมทำให้กายวาจาดีขึ้นไปด้วย ทานที่ทำ ศีลที่รับไว้ ย่อมรักษาไว้ได้ตามไปด้วย 

ภาวนามยปัญญาหรือสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ย่อมมีความแตกต่างกันกับสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไป เพราะสมาธิเหล่านั้นได้มีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกเสียอีก ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงศึกษามาแล้วเกือบทั้งนั้น อาทิเช่น การบนบานศาลกล่าว สวดอ้อนวอนร้องขอเอา การตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการสวดมนต์ จนกระทั่งจิตตั้งมั่นเฉียดเข้าใกล้ฌาน การเอารูป-อรูปที่ปราศจากกามมาภาวนาจนกระทั่งเป็นรูปฌาน-อรูปฌาน ซึ่งสูงสุดที่ได้ก็เพียงแค่นั้น การทรมานตนให้รับความลำบาก สูงสุดก็ได้ตะบะจากการทรมานนั้น ไม่อาจหลุดพ้นหรือกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้เลย 

ส่วนสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้น เป็นสมาธิที่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตจนหมด กระทั่งจิตมีสติสงบตั้งมั่น มีปัญญาไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกในจิตของตน จิตย่อมบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ ด้วยประการ ฉะนี้แล เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔




Create Date : 21 ธันวาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2564 21:25:50 น.
Counter : 591 Pageviews.

0 comment
อัตตา - อนัตตา ในพระพุทธศาสนา


💖 อัตตา & อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย (ปีฉลู)

เจริญพร มีความสุขสวัสดี วันพระนี้อาตมาภาพได้นำเอาหัวใจพระพุทธศาสนา ในส่วนที่ยังมีพุทธศาสนิกชนที่เข้าใจสับสน ผิดไปจากความเป็นจริงจำนวนมาก เรื่องอัตตา - อนัตตา ดังนี้

🌷  การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ทำให้ผู้ศึกษาธรรมะเข้าใจไขว้เขวอย่างมากมาย

กล่าวโดยความจริงแล้ว คำว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” แต่ส่วนใหญ่ที่ได้ยินกันอยู่ในปัจจุบันนี้ กลับแปลอย่างผิดๆ ว่า “ไม่มีตัวตน” ไปเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นอย่างมากมายทีเดียว

คำว่า “ไม่ใช่ตัวตน” หมายความว่า ตัวตนที่แท้จริงมีอยู่ แต่กลับหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เข้ามาเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

ส่วนคำว่า “ไม่มีตัวตน” นั้นหมายความว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย” ที่มีชีวิตจิตใจ นอกจากก้อนดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เข้าใจผิดว่า ไม่มีผู้กระทำกรรม และไม่มีผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ด้วย

ดังที่มักจะได้ยินกันว่า บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น มีแต่การกระทำอย่างเดียวเท่านั้น ผู้กระทำหามีไม่ เป็นต้น จัดเป็นนัตถิกทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า “อนัตตา” แต่ประการใดเลย

สำหรับคำว่า “อัตตา” นั้น เป็นสภาพธรรมที่อยู่ตรงกันข้าม กับคำว่า “อนัตตา” และมีปรากฏเป็นพุทธพจน์อย่างมากมายหลายแห่งเสียด้วย 

🌷 เงื่อนไขในการบัญญัติคำว่า อัตตา และ อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตร ดังนี้ “รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺเตยฺย” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย”

พุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนรวม ๒ นัย คือ

สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอนัตตา อันได้แก่ รูป (ทั้งนี้ทรงสอนรวมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย) นัยหนึ่ง

และสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอัตตา อันได้แก่ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งไม่พลอยหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อีกนัยหนึ่ง

ผู้ที่ศึกษาธรรมะยังไม่เข้าใจสภาพของจิตผู้รู้ ชั้นพุทโธ ซึ่งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนี้ จึงเหมาเอาเองว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องอัตตา

🌷 ตัวอย่างเรื่องอนัตตา ที่สอนกันอย่างผิดๆ ในปัจจุบัน

ตามธรรมดาแล้ว ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ แล้วนั้น ย่อมเป็นสัจธรรมที่มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหลาย ไม่มีขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย

ดังนั้น ธรรมะข้อใดที่สอนถ่ายทอดต่อๆ กันมา โดยไม่สอบเทียบกับหลักของเหตุผล ธรรมะข้อนั้นย่อมสะดุดความรู้สึกของผู้ที่รับถ่ายทอด ว่าขาดเหตุผลทันที ถึงแม้จะไม่รู้ในขณะนั้น ก็จะต้องมีผู้พบเห็นในภายหลัง และจะต้องถูกปฏิเสธทันทีเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กล่าวยืนยันสอนเรื่อง อนัตตาผิดๆ ว่าไม่มีตัวตนนั้น จึงกระทำไป เพราะไม่รู้จักตัวตน แต่กล่าวออกมาเช่นนี้ เพราะเรียนท่องจำมาอย่างแน่นสนิท ซึ่งจะต้องได้รับการปฏิเสธจากอนุชนในภายหลังอย่างไม่มีปัญหา

โปรดดูตัวอย่าง การสอนเรื่องไม่มีตัวตน เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังต่อไปนี้คือ “ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมเรื่อง อนัตตา นี้ พอสรุปได้ว่า การทำความเห็นว่าไม่มีตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่ดี เราจะได้รับผลอันน่าพึงพอใจ ตนนั่นแหละจะมีความสุขทุกทิพาราตรีกาล อาตมาจึงขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

การบรรยายธรรมะเช่นนี้ ย่อมฟังยากฟังเย็นเสียเหลือเกิน พูดวกวนเป็นน้ำในอ่าง เหมือนลวงคนเล่นต่อหน้าต่อตา เพราะพูดว่า ตัวตนเราเขา ไม่มีไปแล้ว ก็กลับพูดวนมาหาตน หาเรา หาอาตมา ให้มีความสุขเข้าอีกจนได้ จนกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกันเองขึ้นมา เพราะหยอดท้ายคำบรรยายว่าอาตมาขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้เพียงเท่านี้ ?

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าได้บรรยายธรรมะสืบต่อกันมาโดยไม่ถูกต้อง จนบางทีถึงกับอบรมให้เกลียดตัวเกลียดตนกัน เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงซึ่งมีอยู่จริงๆ ก็มี พอทักท้วงเข้าก็แก้ตัวอุตลุดไม่ยอมรับว่ามีตัวตน แต่กลับยิ่งกล่าวบิดเบือนเถลไถลว่า “อัตตา” (ตัวตน) เป็นแต่เพียงคำสมมุติบัญญัติ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีอะไร ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ อย่างว่าแล้ว ก็ย่อมสมมุติบัญญัติคำว่า “อัตตา” ออกมาไม่ได้เลย

🌷 ผลของการสอนผิดๆ ว่าไม่มีตัวตน

ผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักพลอยเชื่อตามผู้ที่สอนผิดๆ ว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ด้วยคิดว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพราะยังมีความรู้ไม่กว้างขวางพอและขาดประสบการณ์อยู่ จึงพากันกลัวนักกลัวหนาว่าจะมีตัวตน ถ้าใครพูดเรื่องตัวตนขึ้นมา ก็ตั้งข้อหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิให้ทันที จึงท่องจำคำ อนัตตา (ไม่มีตัวตน) ไว้จนขึ้นใจ พอพูดถึงเรื่องอะไร หรือแลเห็นอะไรสักหน่อย ก็ชิงบอกด้วยอำนาจสัญญาที่ได้ท่องจำไว้ว่า “ไม่มีตัวตน” ทันที

เช่น บอกว่า ไม่มีสัตว์ – บุคคล – ตัวตน – เรา – เขา มรรค ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน ส่วนนิพพานนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นนิพพาน แต่ผู้ถึงนิพพานไม่มี จึงทำให้เข้าใจเลยออกไปได้ว่า มีแต่การตีกันหัวแตกเท่านั้น แต่ผู้ตีไม่มี ดังนี้เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่าดังนี้ “ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา” แปลว่า “ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง”

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งอันเที่ยงแท้ถาวรอย่างแท้จริง

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ “ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต” แปลว่า “บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส”

แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน จึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

ความจริงนั้นคำสอนเรื่องไม่มีตัวตน เป็นคำสอนของปริพาชก จำพวก นัตถิกทิฐิ ซึ่งอยู่นอกศาสนาพุทธนี้ ที่ทำให้ผู้ฟังธรรมะเข้าใจผิดว่าตายแล้วก็พินาศดับสูญหมด ไม่มีตัวตนที่จะรับผลของกรรมดี กรรมชั่ว

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจว่าไม่มีตัวตน จึงปฏิเสธความเวียนว่ายตายเกิด และไม่เชื่อว่ามีชีวิตในปรโลกอีกต่อไป คือ มีทิฐิว่าตายแล้วสูญ

เมื่อมีทิฐิเกิดขึ้นเช่นนี้แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อผลบาปกรรม จึงมักพากันทำงานและใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครจะประสบความเดือดร้อนยุ่งยากก็ช่าง สังคมทั้งหลายก็ย่อมประสบปัญหายุ่งยากร่วมกัน ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ไม่ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหายุ่งยากดังกล่าวนี้ เพราะถือว่าธุระไม่ใช่ของตัว สังคมก็ยิ่งยุ่งยากจมลึกลงไปอีก

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสอนที่แปลคำ “อนัตตา” ผิดว่า “ไม่มีตัวตน” นี้ จึงมีพิษมีภัยแก่ความสงบสุขของสังคมนี้ฝ่ายเดียว ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก็จะไม่เห็นว่ามีพิษมีภัยอะไร

สรุปความให้ชัดที่สุดแล้ว ตัวตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาสอน ก็คือ จิตที่ได้ชำระให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสแล้ว ถ้ายังไม่ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เนื่องจากถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ จิตนั้นก็ยังไม่ใช่สภาพเดิมของตัวตน และเป็นทุกข์ตลอดไป หมายความว่า จิตสังขารไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

🌷 ตัวอย่างการสอนเรื่อง อนัตตา ผิดอีกแบบหนึ่ง

เท่าที่เป็นอยู่ ยังมีอาจารย์ธรรมะอีกหลายท่านเหมือนกัน ที่สอนว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” โดยอ้างพระบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ที่ใช่ตัวตน จึงไม่มี เพราะไม่เห็นมีอะไรอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ ซึ่งล้วนแต่บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้เลย ชีวิตซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตใจนี้ ก็ต้องแตกทำลายหายสูญไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น

ดังนั้น จึงต้องถูกปฏิเสธด้วยคำว่า อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) เพราะบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ ทั้งสองอย่างไปด้วย โดยไม่เข้าใจและขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อทดสอบ ให้รู้เรื่องราวของจิตใจตามความเป็นจริงมาก่อน จึงปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็น อนัตตา โดยการท่องจำพระบาลี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เท่านั้น

🌷 หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นอัตตาและสิ่งใดเป็นอนัตตา

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงปฏิเสธรูปนาม หรือ ขันธ์ ๕ ว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ และ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังปรากฏชัดอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น

ดังนั้น ถ้าไม่หลงผิด ยึดเอารูปนามหรือขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องด้วยมีอารมณ์มากระทบจิตว่าเป็นอัตตาตัวตนแล้ว ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้ เพราะว่า รูปนาม หรือขันธ์ ๕ นั้น เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ซึ่งเกิดจากสิ่งภายนอก

ด้วยเหตุนี้ การเชื่อว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงเป็นสัมมาทิฐิ ถ้าไม่เอารูปนามหรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน 

ในตอนท้ายพระสูตรดังกล่าว ได้สรุปความลงว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง “จิตของพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทาน ที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕” ทั้งนี้แสดงว่า บุคคลที่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ และปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ในที่สุดนั้น ก็คือ “จิต” นั่นเอง ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า จิต กับ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นคนละอย่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

อุปมาดัง “คน” ที่เข้าไปยึดถืออาศัย “บ้าน” อยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้าน และบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด “จิต” กับ “ขันธ์ ๕” ก็ฉันนั้น

ดังนั้น จึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่จิต
แต่จิตเป็นผู้รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิต

ในบรรดาพระสูตรสำคัญๆ ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา ดังปรากฏในพระบาลีว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” แปลว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” แต่ยังไม่ปรากฏชัดๆ สักแห่งว่าได้ทรงปฏิเสธว่าจิตเป็นอนัตตาด้วย

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษาธรรมะอีกไม่น้อย ที่ท่องจำพระบาลีนี้ไว้สำหรับตีความเอง โดยรวมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วิราคจิต พระนิพพาน ซึ่งเป็นหลักธรรมอันเป็นที่พึ่งสำคัญในพระศาสนานี้ ให้เป็นอนัตตาไปด้วย เช่นเดียวกับขันธ์ ๕ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

จึงทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ศึกษาธรรมะว่า ในพระพุทธศาสนามีแต่สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ที่ใช่ไม่มีเลยหรือ???

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้พุทธพจน์สำหรับพิจารณาตัดสินปัญหา เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดที่เอาความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปใส่ ดังต่อไปนี้คือ

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า “ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วิปริณามธมฺมํ กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตุํ เอตํ มม เอโส หมสฺสมิ เอโส เม อตฺตาติ” แปลว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา”

พระปัญจวัคคีย์กราบทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเป็นอนัตตา และโดยกลับกัน สิ่งใดเที่ยง ไม่มีทุกข์ ไม่ปรวนแปรเป็นอย่างอื่น สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอัตตาในพระศาสนานี้

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สิ่งใดสามารถบังคับบัญชาให้เป็นอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นย่อมเป็นอัตตา และ สิ่งใดไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอนัตตา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ได้แก่ จิตที่ได้ฝึกฝน บังคับ ชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นวิราคจิต เป็นอมตธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ที่เดียวกัน และแยกจากกันไม่ได้ เพียงแต่สมมุติเรียกชื่อแตกต่างกันโดยคำพูด เท่านั้น

มีพระบาลียืนยันไว้ชัดเจนดังนี้คือ “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโล วา อตฺตภาโว” แปลว่า “จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้เป็นอัตภาพไปด้วย”

🌷 ขอบเขตของการบังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวัง

ตามธรรมดา อัตภาพร่างกายซึ่งรวมอยู่กับจิตใจนี้เป็นสังขารธรรม จึงจัดเป็นอนัตตา คือไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ ต้องปรวนแปรเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา

โดยเฉพาะรูปร่างกายนี้เป็นธรรมฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่อยู่ในอำนาจของจิต หมายความว่า จิตสามารถบังคับบัญชาใช้สอยร่างกายนี้ ให้ทำงานต่างๆ อันมิใช่สิ่งนอกเหนือคติธรรมดา ตามประสงค์ได้

โดยเฉพาะในแง่ของธรรมะ จิตย่อมบังคับบัญชาร่างกายไม่ให้ไปก่อกรรมทำชั่วได้ เช่นบังคับไม่ให้ถือศาสตราวุธไปทำร้ายผู้อื่น บังคับให้ทำความดี เป็นต้น สรุปแล้วสามารถกล่าวได้ว่า จิตบังคับบัญชาร่างกายให้ทำงานต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา ในเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพปรกติ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ถึงแม้ว่าการระวังรักษาทางแพทย์ ก็ย่อมหมายความว่า ต้องคอยควบคุมร่างกายที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ ให้กลับคืนเข้าสู่สภาพปรกติ ด้วยอำนาจของยาเหมือนกัน จะว่าบังคับบัญชาร่างกายไม่ได้โดยประการทั้งปวงนั้น ย่อมไม่ได้

ความหมายที่ว่า บังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ ตามที่ปรากฏอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น หมายแต่เพียงบังคับบัญชาไม่ได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่คร่ำคร่า ที่เป็นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปเท่านั้น เมื่อถึงเวลาแตกดับ ก็ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า บังคับบัญชาร่างกายในเรื่องการใช้งานไม่ได้ เหมือนดังที่ท่องจำตามๆ กันมาว่า อะไรๆ ก็เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น แต่ประการใด

ผู้ที่เรียนธรรมะโดยวิธีท่องจำตามๆ กันมาเช่นนี้ว่า อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น ที่ใช่ตัวตนไม่มีนั้น

อุปมาเหมือนดังผู้ที่ถูกเสี้ยมสอนให้ท่อง และเห็นว่า ธนบัตรที่มีอยู่ในท้องพระคลังทั้งหมด ไม่ใช่ธนบัตรดี (ปลอม) ทุกฉบับ รวมทั้งที่อยู่ในกระเป๋าตนเอง ก็ไม่ใช่ธนบัตรดี ไม่ว่าจะเห็นธนบัตรฉบับไหน สัญญาที่เกิดจากการท่องจำมา ก็ชิงทำหน้าที่พูดออกมาทันทีว่า ไม่ใช่ธนบัตรดีทั้งนั้น

ความรู้ที่เกิดจากถูกเสี้ยมสอนเช่นนี้ ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและขาดหลักวิชาการอย่างยิ่ง

ถ้าหากเริ่มสอนให้รู้จักรูปร่างลักษณะของธนบัตรที่ดี ว่าเป็นอย่างไรมาก่อนแล้ว ก็ย่อมรู้จักฉบับที่ไม่ใช่ธนบัตรดีได้ โดยไม่ต้องท่องหรือนึกเดาเอาเอง จนเกิดความผิดพลาดในที่สุด เป็นธรรมดา ข้อนี้ฉันใด

การเรียนธรรมะ โดยวิธีท่องจำว่า อะไรๆ ก็เป็นอนัตตาทั้งนั้น อัตตาไม่มีด้วยประการทั้งปวง ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่มั่นคง เช่นเดียวกับที่กล่าวมานี้ และย่อมผิดพลาดถ้านำเอาคำ อนัตตา ไปปฏิเสธ อมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) หรือโลกุตตรธรรม อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระนิพพาน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสมมุติบัญญัติว่า อนัตตา จึงมีคู่กับคำว่า อัตตา เสมอ จะมีแต่เพียงคำหนึ่งคำใด โดยไม่มีอีกคำหนึ่งมาเป็นคู่ ย่อมไม่ได้

🌷 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ตัวตน ควบคู่กับ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน

โปรดพิจารณาพุทธอุทานบทหนึ่ง ซึ่งทรงเปล่งออกหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ ดังนี้คือ

“ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ” แปลว่า “เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตนเข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก (จิต) สงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้” (ทรงเห็นว่า รูป อรูป สุข และทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยความมั่นใจ เพราะทรงรู้จักจิตที่สงบเป็นสันตินิพพานแล้ว)

จากพระบาลีที่ยกมานี้ จะแลเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงใช้หลักเกณฑ์อย่างมั่นคง ในการปฏิเสธ รูป อรูป (นาม) สุขและทุกข์ ที่เนื่องจากนั้นว่าเป็น อนัตตา จนพระองค์หลุดพ้นออกมาเสียได้ ซึ่งหมายถึง จิตหลุดพ้นโดยเฉพาะ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า อนัตตา สำหรับปฏิเสธ รูป นาม สุข และทุกข์ อันเนื่องจากนั้น ซึ่งเป็นสังขารธรรมในภาคพื้นโลกียะนี้เท่านั้น เพราะได้ทรงพบ จิตบริสุทธิ์ว่าเป็น อัตตา คือ สภาพธรรมที่ไม่ตาย (อมตธรรม) ที่ทรงความรู้ไว้ตลอดทุกกาลสมัย, มาแล้ว พระองค์มิได้ทรงปฏิเสธสิ่งต่างๆ โดยปราศจากเหตุผลเลย

ถ้าหากทรงปฏิเสธอมตธรรม ซึ่งได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ทิ้งเสีย ด้วยคำว่า อนัตตา แล้ว ก็ย่อมไม่มีธรรมะข้ออื่น หรือสิ่งอื่นในพระศาสนานี้ ที่จะนับว่ามีแก่นสารเป็นที่พึ่งได้อีกเลย คำว่าอมตธรรมอันเที่ยงแท้ถาวรก็ย่อมไม่มีจริง และพระองค์ย่อมตรัสว่าได้พบอมตธรรมในวันตรัสรู้ ไม่ได้อีกด้วย

🌷 อัตตาของศาสนาพราหมณ์กับอัตตาของศาสนาพุทธ

ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “อัตตา” เสียก่อนว่า พระพุทธองค์ก็ได้ทรงสอนพระอานนท์ซึ่งเป็นพระโสดาบัน ให้ “มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง” ดังที่ได้ยกมากล่าวแล้วข้างต้น เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิ่งใดที่จะเป็น อัตตา ได้นั้น สิ่งนั้นจะต้องมี คุณลักษณะ ที่อาจยกมาแสดงได้ ๔ ประการ ดังนี้คือ

๑. นิจฺโจ (เที่ยงแท้)
๒. ธุโว (คงทน)
๓. สสฺสโต (ถาวร)
๔. อวิปริณาม (ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น)

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ไม่มีคุณสมบัติเช่นว่านี้ หรือมีคุณลักษณะตรงกันข้าม สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สภาพธรรมของอัตตา แต่เป็นสภาพธรรมของอนัตตา และตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ (คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) เช่นเดียวกับโลกียธรรมทั้งหลายเหมือนกัน

ทั้งนี้หมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นอัตตานั้นอยู่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์อย่างสิ้นเชิง จึงดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ตลอดไป

🌷 อัตตาของศาสนาพราหมณ์

ในศาสนาพราหมณ์นั้น ถือว่าพระพรหมมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ด้วยกันแล้ว แตกต่างกันมากมาย กล่าวคือ สัตว์อื่นได้เวียนเกิดแล้วตาย เกิดแล้วตายเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยครั้งแล้ว แต่พระพรหมก็ยังคงดำรงตนอยู่ในสภาพเช่นนั้น จึงเกิดความประมาทขึ้นและเข้าใจว่าตัวเองไม่ตาย และได้บัญญัติเรียกตนเองว่าเป็นอัตตาขึ้น

ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เรียก พระพรหม ว่าเป็นมหาตมัน (อัตตาใหญ่) และเข้าใจว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายล้วนแต่แตกแยกออกมาจากพระพรหมทั้งสิ้น เมื่อปรารถนาจะกลับไปเป็นพระพรหมอีก ก็ต้องลงมือบำเพ็ญตบะ ทำฌานสมาบัติไว้ ครั้นตายลงเมื่อใด ก็จะได้กลับไปรวมอยู่กับพระพรหม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอัตตาอีกในที่สุด

🌷 อัตตาของศาสนาพุทธ

พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธความเห็นของศาสนาพราหมณ์ในเรื่องนี้ว่า สภาพของพระพรหมทั้งหลายนั้นก็เป็นผลของการบำเพ็ญฌานสมาบัติ ที่สัตว์ได้เพ่งเพียรปฏิบัติทางจิตไว้ก่อน

ดังนั้น จึงเป็นเพียงภพภูมิหนึ่งที่ยังยึดถืออารมณ์ที่ปราศจากกาม และถูกอารมณ์นั้นๆ ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการปรุงแต่งที่เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่ส่งผลให้พระพรหมดำรงชีวิตอยู่ อย่างยืนยาวกว่าการปรุงแต่งด้วยอารมณ์อย่างอื่น ดังที่ทรงแสดงทิฐิไว้ ๖๒ ประการใน "พรหมชาลสูตร" แล้วนั้น อันล้วนแต่เป็นจิตสังขารทั้งสิ้น

เมื่อพระพรหมยังมีจิตที่ถูกปรุงแต่งอยู่ ก็ย่อมต้องมีการสิ้นอายุในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แล้วก็ย่อมต้องจุติเข้าสู่กามาวจรภูมิ (ภูมิที่ยังท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่เป็นกามคุณ) อีกเป็นธรรมดา

ดังนั้น ฐานะของพระพรหมจึงไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทน ไม่ถาวร และจะต้องมีการผันแปรไปเป็นอย่างอื่น จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นอัตตา เนื่องจากจิตของพระพรหมยังยึดถืออารมณ์และถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ คือเป็นจิตสังขาร จึงจัดเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา (ไม่ใช่สภาพตัวตนดั้งเดิม)

ดังนั้นความเข้าใจของศาสนาพราหมณ์ว่าพระพรหมเป็นอัตตา จึงไม่ถูกต้อง การเห็นที่ว่าอารมณ์เที่ยง หรือเห็นว่าจิตสังขารเที่ยง จึงเป็นความเห็นผิดฝ่ายสัสสตทิฐิ

พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า ตราบใดที่สัตว์ยังติดข้องในอารมณ์อยู่ ตราบนั้นสัตว์จะยังไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้ ดังที่ทรงรำพึงเมื่อทรงศึกษาอยู่ในสำนักพระอุทกดาบสและพระอาฬารดาบสนั้น

ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงชี้ชัดเจนว่า จิตที่สิ้นความยินดีและแยกออกจากอารมณ์ทั้งปวงอย่างเด็ดขาด คือ วิราคจิต จัดเป็นนิพพาน เป็นอมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) ซึ่งย่อมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นอีกต่อไป เป็นอัตตาตัวตนในพระพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง ดังที่ทรงยกมาสอนพระอานนท์ว่า "ให้มีตัวตนเป็นเกาะ มีตัวตนเป็นที่พึ่ง" นั้นทีเดียว

💖💖💖

เรื่องอัตตา - อนัตตานี้ เปรียบเหมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะกลืนก็ขมจนกลืนไม่ลง จะคายหรือก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะในครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน อนัตตลักขณสูตร จนกระทั่งมีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นพร้อมกันทีเดียว ๕ รูป รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วยเป็น ๖ รูป เพราะอนัตตาธรรมนั้นเป็นความรู้ความเห็นของพระอริยชน คนสามัญไม่รู้จัก ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านรู้จักอัตตา ส่วนคนสามัญไม่รู้จักอัตตา เที่ยวจับผิดไม่ถูกอัตตาสักที ครั้นได้รับคำแนะนำว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา - ตัวตน (อนัตตา) คนมีปัญญาก็คลำหาอัตตาถูก แต่คนบาปกลับบอกว่า อัตตา - ตัวตน ไม่มี

สืบเนื่องจากปัจจุบันได้มีการรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ และมีการให้ความหมายของคำว่าอนัตตานั้น ผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก เช่น แปลคำว่า อนัตตา ไม่มีตัวตน หรือ no ในภาษาอังกฤษ no อัตตา  แถมยังวินิจฉัยว่าพระนิพพานนั้นเป็นอนัตตาเข้าไปอีกด้วย จึงทำให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก สำหรับบุคคลรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาว่าจะเชื่อใครดี 

ทางฝ่ายครูบาอาจารย์สายพระป่าที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ความหมายตรงตามความเป็นจริง ตรงต่อพระพุทธพจน์ อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน คือ ตัวตนนั้นมีอยู่ แต่ที่เห็นและที่อาศัยอยู่ (ขันธ์ ๕) นั้นมันไม่ใช่เพราะท่านได้รู้จักที่ใช่แล้วว่า ตนนั้นคือจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสมาห่อหุ้ม จึงพึ่งพาอาศัยได้ และพระนิพพานก็มีอยู่จริง ที่จิตอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสนั้น 

ถ้าอนัตตาหมายถึงไม่มีตัวตน ก็แสดงว่าที่ว่ามานั้นสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง เราเพียงติต่างหรือสมมุติมันขึ้นมาเอง เชื่อถืออะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่ ซึ่งต่างจากพระบาลีธรรมบท พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมซฺฌคา จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๔




Create Date : 13 ธันวาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2564 21:26:00 น.
Counter : 992 Pageviews.

0 comment
จิต 💖 หัวใจพระพุทธศาสนา


จิต 💖 หัวใจพระพุทธศาสนา

วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ 

เจริญสุข สวัสดี จากวันพระนี้ อาตมาได้นำเอาเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา เรียบเรียงโดยอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ และรวบรวมโดยเภสัชกรหญิงณัฏฐิยา ปันภัทรทรัพย์ ที่ได้เคยพูดไว้เป็นตอนๆ กระจัดกระจาย ทำให้ผู้ฟังฟังต่อเนื่องได้ยาก จึงได้รวบรวมให้เป็นตอนๆ แบบต่อเนื่อง วันพระนี้ เรื่อง "จิต คือ หัวใจพระพุทธศาสนา"

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง อันได้แก่ คำสั่งสอนเกี่ยวกับศีล วินัย ข้อห้ามต่างๆ ซึ่งจะป้องกันพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติตาม มิให้ตกไปสู่ที่ชั่ว หรือได้รับความเดือดร้อนนานาประการจากการอยู่ร่วมกันในสังคม

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ คำสั่งสอนที่เกี่ยวกับการทำความดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสต่างๆ ที่จะทำให้จิตเศร้าหมอง

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ถ้าหากทำความเข้าใจให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงแบ่งคำสั่งสอนออกเป็นขั้นๆ ดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามโดยลำดับ

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้วดีเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์นี้ มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีต หรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ" แปลว่า "การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

🌷 เรื่องจิต

เนื่องจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ จิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แต่จิตก็ไม่มีรูปร่างหน้าตาให้แลเห็นได้ด้วยตา  ทั้งๆที่เรารู้ว่ามีจิตอยู่ด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักจิตพร้อมทั้งคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหลาย ให้รู้จักตามความเป็นจริงเสียก่อน ถ้ารู้จักผิดไปแม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาและการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาขั้นต่อไป ก็ย่อมผิดเพี้ยนไปตลอดสาย และย่อมได้ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทันที 

ดังนั้น จึงอย่ามอบความเป็นใหญ่ในเรื่องความเชื่อถือของเราให้กับใครง่ายๆ เพราะเห็นว่าผู้นั้นน่าเชื่อถือเป็นอันขาด ที่ถูกนั้น เราจำเป็นต้องเปิดใจให้กว้าง สำหรับรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย แล้วนำมาสอบเทียบกับเหตุผลและการปฏิบัติธรรมดูจนมั่นใจเสียก่อนว่า มีเหตุผลถูกต้อง แล้วจึงตัดสินใจเชื่อ ก็ย่อมไม่ผิดพลาดขึ้นได้ในภายหลัง

🌷 สภาพเดิมของจิต

ตามพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท ว่าไว้ดังนี้ "ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา" แปลว่า "ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) ได้"

ซึ่งแสดงว่าจิตนี้มีดวงเดียวต่อคนเท่านั้น ไม่ได้มีคนละหลายๆ ดวง ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบัน

🌷 ต้นกำเนิดของจิต

ตามพระบาลีที่มาในอนมตัคคสูตร ได้บรรยายไว้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้  "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนมนานมาแล้ว ซึ่งผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน"

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ดั้งเดิมก่อนแล้ว โดยไม่มีผู้ใดเป็นผู้สร้างขึ้น กล่าวคือ ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยอันใดทั้งสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ 

🌷 คุณลักษณะของจิต

มีพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท แสดงไว้ดังนี้ คือ  "ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุง กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ" แปลว่า "ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น"

ทั้งนี้ ทรงหมายความชัดเจนว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ดิ้นรน กลับกลอก ว่องไว ปราดเปรียว ในขณะที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ แต่สามารถฝึกฝนอบรมให้สงบได้

🌷 กิเลสเครื่องเศร้าหมองมีติดมากับจิต ตั้งแต่ต้นเลยหรือว่ามาเกิดขึ้นในภายหลัง

มีพระบาลีรับรองไว้ชัดเจน ดังนี้คือ "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาพดั้งเดิมของจิตนี้ผ่องใสประภัสสร แต่ที่เศร้าหมองไป เป็นเพราะกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"

พระบาลีข้อนี้สอดคล้องกับแนวคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้ยกขึ้นกล่าวก่อนหน้านี้ว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนแต่สอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งสิ้น ความจริงมีอยู่ว่า สิ่งใดก็ตามที่จะชำระให้สะอาดได้นั้น สภาพเดิมของสิ่งนั้นย่อมต้องสะอาดอยู่ก่อน จึงเพียงแต่หาวิธีกำจัดความสกปรกออกไปเท่านั้น ของสิ่งนั้นก็ย่อมกลับคืนเข้าสู่สภาพเดิมอันสะอาดได้ ถ้าหากสภาพเดิมของสิ่งนั้นๆ สกปรกอยู่แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถชำระให้สะอาดได้ ฉันใดฉันนั้น

คำว่า จิตประภัสสรนี้ ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า ถ้าสภาพเดิมของจิตสะอาดบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ย่อมเป็นเป็นจิตของพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงนั้นคือ จิตที่ผ่องใสเพราะยังมิได้ถูกเจือปนด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งอื่นภายนอกเท่านั้น โดยเฉพาะหมายถึงจิตที่ยังอยู่ในภวังค์ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ เช่นจิตในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท (ไม่ฝัน) หรือกำลังสลบอยู่ เป็นต้น เมื่อยังไม่ถูกสิ่งภายนอกเข้าปรุงแต่งจนทำให้เสียคุณภาพอันผ่องใสที่มีอยู่เดิมไป จิตนั้นก็ย่อมดำรงความประภัสสรอยู่ จนกว่าจะขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ (สัมผัส) ในขณะต่อไป

🌷 จิตเกี่ยวข้องกับหลักของกรรมอย่างไร

บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีจิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้หมายความว่า บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น ก็เพราะจิตเป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำ ทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตนั่นเอง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ "มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ" แปลว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ผู้ที่กล่าววาจา หรือกระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น"

ดังนั้นถ้ากล่าวตามหลักของกรรมในพุทธศาสนาที่ว่า "ผู้ใดทำกรรมไว้อย่างใด ย่อมได้รับผลของกรรมอย่างนั้น" แล้ว จิตนี้ย่อมเป็นสภาพธรรมที่มีแก่นสาร ไม่เหลวไหล หรือไม่มีการเกิดดับเหมือนกระแสไฟฟ้าสลับ แต่ประการใดทั้งสิ้น ถ้าจิตเป็นสภาพธรรมที่เหลวไหล ไม่มีแก่นสารเสียแล้ว หลักของกรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ก็ย่อมพลอยเหลวไหลไปอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่มีการเกิดดับและทั้งไม่เคยเกิดดับมาเลย

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้สัมผัส หรือให้แลเห็นได้เลย นอกจาก "ความรู้" ที่แสดงออกมายังอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกเท่านั้น ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติเพื่อสาธิตดูว่า ความรู้ของจิตที่ว่านี้ รู้อยู่ตลอดเวลา หรือว่า รู้บ้าง - ไม่รู้บ้าง ถ้าผลของการสาธิตปรากฏออกมาว่า รู้บ้าง - ไม่รู้บ้าง ก็ย่อมสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าจิตเกิดดับได้ แต่ถ้าปรากฏว่า รู้อยู่ตลอดเวลา แล้วพูดว่าจิตเกิดดับ ก็ยอมพูดผิดจากความเป็นจริง จัดเป็นมิจฉาวาจา และความเห็นผิดจากความเป็นจริงเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นมิจฉาทิฐิอย่างไม่มีปัญหา โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงจากการสาธิตดังต่อไปนี้

🌷 วิธีสาธิตว่าจิตไม่มีการเกิดดับ

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา หรืออาจจะกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า  จิตคือตัวศาสนาเลยก็ได้ ดังนั้น การใช้เวลาศึกษาเพื่อให้รู้จักจิตอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงมากเป็นพิเศษ ย่อมเกื้อกูลการศึกษาธรรมะเป็นอันมาก 

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเรียนท่องจำธรรมะจากตำราหรือครูอาจารย์ที่สอนว่า จิตเกิดดับ เป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้เฉลียวใจว่า ขัดกับเหตุผลและหลักของกรรมกันเลย นั่นก็คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งทำกรรมไว้อย่างหนึ่งแล้วดับไป จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง จะต้องรับกรรมต่อจากจิตดวงเก่า ดังนี้ ซึ่งจะเป็นผลให้รู้จักธรรมะข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง ผิดตามไปด้วยตลอดสาย

ถ้าจิตเกิดดับเช่นนี้จริง เหมือนดังที่เรียนกันอยู่ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต ในวันมาฆะบูชานั้น รวมทั้งข้อบัญญัติเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามนำไปปฏิบัตินานเพียงไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือสาธิตนั้น เราจะต้องทราบเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า จิตคือธาตุรู้ หมายความว่า ที่ใดมีธาตุรู้ยืนทรงตัวอยู่ ก็ต้องแปลว่าที่นั้นมีจิตอยู่

ถ้าธาตุรู้นั้น รู้อยู่โดยตลอดเวลาแล้ว แต่เรากลับพูดว่า จิตเกิดดับ (รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) ก็ย่อมพูดผิดจากความจริง

เพราะว่า ถ้าพูดว่า จิตเกิด ก็ย่อมแปลว่า เดิมไม่มีจิตอยู่ แต่เพิ่งจะมีจิตขึ้นมา และถ้าพูดว่า จิตดับ ก็แปลว่า จิตนั้นได้หายไปแล้ว ขณะนี้ไม่มีธาตุรู้เหลืออยู่อีกแล้ว

ดังนั้น ขอให้ใช้ความเป็นธรรมสังเกตดูว่า "ธาตุรู้" ได้บกพร่องขาดหายไปในขณะใดหรือไม่ แล้วกล่าวออกมาตามความเป็นจริงเท่านั้น ก็จะทำให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และนี่คือสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง พระบรมศาสดาย่อมไม่ทรงสั่งสอนสิ่งใดที่ผิดไปจากความจริงเป็นอันขาด

สำหรับเรื่องหลักของกรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมเช่นนั้น ไม่มีการถ่ายทอดกรรมให้แก่กัน

สมมุติว่า เรายกวัตถุชิ้นหนึ่ง ออกมาตั้ง ณ จุดๆ หนึ่ง แล้วเพ่งดูอยู่ ณ จุดๆ นั้น โดยไม่ให้สายตาที่เพ่งดู เคลื่อนออกไปเพ่งดูที่จุดอื่น นอกจากที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวเท่านั้น เราย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ตั้งอยู่ที่จุดนั้น

ทีนี้ เรายกเอาวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้น โดยใช้สายตาเพ่งดูอยู่ที่จุดที่กำหนดไว้ตามเดิม เราก็ย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นแล้ว

ต่อจากนี้ ก็ยกเอาวัตถุชิ้นเดิมนั้นกลับเข้ามาตั้ง ณ จุดที่กำหนดไว้เดิมอีก เราก็ย่อม "รู้" ว่า วัตถุชิ้นนั้น ได้กลับมาตั้งอยู่ในที่เดิมอีกแล้ว และเมื่อเรายกวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราก็ย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นอีกแล้ว ดังนี้

ทำเช่นนี้ไม่ว่ากี่ครั้งก็ตาม ย่อมสรุปผลได้ว่า เราย่อม "รู้" อยู่ทุกขณะและตลอดเวลา ว่าวัตถุชิ้นนั้นได้เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และวัตถุชิ้นนั้นได้หายไปจากจุดนั้น ไม่ว่าจะมีวัตถุตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ ณ จุดที่กำหนดให้นั้นก็ตาม

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตของเราไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน คือ ไม่ได้เกิดดับ ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย แต่วัตถุ คือ "สิ่งที่ถูกจิตรู้" ต่างหาก ได้เกิดขึ้นที่การรับรู้ของจิต เมื่อยกไปตั้งที่จุดนั้น และดับไปจากการรับรู้ของจิต เมื่อยกออกไปเสียจากจุดนั้น วัตถุต่างๆ หรือเรื่องที่จิตรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความนึกคิดทางใจ ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ นั้น ต่างหากที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนับครั้งไม่ถ้วนในระยะวันหนึ่งๆ

มีหลักฐานพระบาลี ในมหาสติปัฏฐานสูตรรับรองอยู่ ดังนี้ คือ "สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ" แปลว่า "เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต ดังนี้"

ทั้งนี้ เราย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับตามพระบาลีนี้คือราคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับตามอารมณ์จากภายนอก แต่ธาตุรู้คือจิตนั้น รู้ทรงตัวอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดดับตามราคะไปด้วยเลย

💖💖💖

เราสรุปได้ว่า ทั้งหมดที่พระพุทธองค์ได้ทรงอบรมสั่งสอนมานั้น มีเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น เช่น คำสั่งสอนในโอวาทปาฏิโมกข์หรือหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ข้อแรก จิตกับอารมณ์อกุศล ข้อสอง จิตกับอารมณ์กุศล ข้อสาม ก็คือจิตที่ปราศจากอารมณ์ทั้งกุศลและอกุศล แสดงว่าจิตเป็นประธานของธรรมทั้งปวง 

อย่างในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ชัดเจนว่า "สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ" แปลว่า "เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะดับไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะดับไปจากจิต" โทสะ โมหะก็เช่นกัน 

ในระหว่างที่จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่นั้น จิตย่อมแสดงอาการยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ต่ออารมณ์ที่มากระทบอยู่ในขณะนั้น เมื่อยินดีก็เกิดสุขเวทนา ยินร้ายก็เกิดทุกขเวทนา จิตก็จดจำอารมณ์นั้นไว้ เมื่อมีโอกาสอันควรก็นำเอาสัญญาที่เก็บไว้นั้น ขึ้นมาปรุงแต่ง (สังขาร) วนรอบแล้วรอบเล่าจนอิ่มตัวในเวลานั้น ทำให้เกิดวิญญาณ คือแจ้งในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นการเข้าใจจิตแบบถูกฝาถูกตัว 

แต่ก็ยังมีที่สอนกันจนเข้าใจจิตแบบผิดฝาผิดตัว ในเรื่องขันธ์ ๕ หรือรูปนาม โดยให้ รูปคือรูป ส่วนนามนั้นคือจิต เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดดับ ก็กลายเป็นว่า จิตเกิดดับ ดวงเก่าดับไป จิตดวงใหม่เกิดขึ้น มารับอารมณ์หรือกรรมของดวงเก่าที่ถ่ายทอดไว้ โดยให้เหตุผลไว้ว่า จิตจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งละ ๑ ดวงเท่านั้น จะเกิดพร้อมกันทีเดียว ๒ ดวงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พอถูกถามว่าแล้วมีเวลาถ่ายทอดกรรมกันตอนไหน ก็จะมีอาการคอแข็งขึ้นมาทันที โดยความเป็นจริงที่ติตรองตามได้นั้น การถ่ายทอดออกไป คนถ่ายทอดต้องอยู่ เพื่อทอดไปถึงผู้รับ จึงจะถูกต้อง 

เพราะถ้าศึกษาพุทธศาสนาโดยเชื่อแบบขาดเหตุผลรองรับ และไม่เคยนำมาตรวจสอบสอบสวนเทียบเคียงแล้ว ย่อมหลงทางไปได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาแล้วด้วย ทำให้ผิดไปตลอดแนว ฉันใด เหมือนการติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด ทำให้ผิดไปตลอดแนวเหมือนกัน ฉันนั้น เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔


 



Create Date : 05 ธันวาคม 2564
Last Update : 5 ธันวาคม 2564 16:03:18 น.
Counter : 566 Pageviews.

0 comment
อินทรีย์ ๕


🌷 อินทรีย์ ๕

วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๒ 

ณ บัดนี้ ให้พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา นั่งขัดสมาธิภาวนาสำรวมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นอยู่กับกายของตน อย่าส่งจิตออกไปอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นธัมมารมณ์ที่ผุดขึ้นมา หรือส่งจิตออกไปภายนอกกายของตน นำเอาสติมาแนบกาย ทุกคนควรทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ และพิจารณาไปตามกระแสธรรมที่เกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายนี้ล้วนมาจากพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น 

สำหรับบุคคลผู้ที่ไม่หมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ แต่มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ ขอให้จิตของเรานั้น พึงพ้นจากอาสวะกิเลส เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นเถิด ดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอ ย่อมไม่อาจพ้นไปจากอาสวะกิเลสได้ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย เราจะเห็นว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความหมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ ด้วยการประกอบภาวนานุโยคแล้ว จิตของเธอ ย่อมจะไม่มีพลังจิตในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นออกไปได้เลย

เมื่อบุคคลเหล่านั้น เพียงแค่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน และนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านเหล่านั้น มาขบคิด เมื่อขบคิดแล้ว คิดเล่า เฝ้าแต่คิด พิจารณาความรู้ที่ได้มานั้น จนความรู้เหล่านั้นตกผลึก เกิดเป็นความเข้าใจในธรรมที่ตนเองได้ยินได้ฟังมา จึงเข้าใจไปว่าความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นความรู้ที่นำมาใช้ประโยชน์จริงได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้เหล่านั้นยังเป็นแค่สัญญาอารมณ์ ซึ่งมักจืดจางลงไปตามกาลเวลา ถ้าเราไม่ได้นำความรู้เหล่านั้นมาทบทวน ยังเป็นปัญญาทางโลกอยู่นั่นเอง ก็เมื่อบุคคลเหล่านั้นอิ่มใจ หรือมีความอิ่มใจ เต็มปรารถนากับแค่ความรู้ ความเข้าใจที่เกิดจากความคิดที่ตกผลึกเช่นนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่ผลักตนเองให้ออกห่างไปจากมรรคผลนิพพาน ดังมีพระบาลีธรรมบท กล่าวไว้ ดังนี้

"โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย
จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ 

ปัญญาย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะการประกอบ 
เมื่อไม่ประกอบ ปัญญาก็สูญสิ้นไป
บุคคลผู้รู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อม
ย่อมตั้งตนเองไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ"

จากพระธรรมบทนั้น เมื่อบุคคลรู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อมแล้ว พึงตั้งตนเองไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ คือ เป็นทางแห่งการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เป็นภาวนามยปัญญา เพราะปัญญาที่ได้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า "ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ ที่นั่นวุ่นวายหนอ" 

ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการหมั่นประกอบความเพียร ฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่ทำให้เกิดความยินดี ยินร้าย สุข ทุกข์ กุศล และอกุศล ให้ออกไปจากจิตของตน นั่นต้องเริ่มจากการมีความหมั่นประกอบฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ ต่อเนื่องอยู่ อย่าปล่อยให้การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น ขาดช่วงขาดตอน ขาดความต่อเนื่องเนืองๆ เพราะการปล่อยให้ขาดช่วงขาดตอน ขาดความต่อเนื่องนั้น ทำให้เหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งไป เพราะที่เราทิ้งช่วงไปนั้น ทำให้เราจะจำทางเดินของจิต ซึ่งเราปฏิบัติอยู่นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการวางจิตของตน ให้สงบตั้งมั่นเข้าสู่ลมละเอียดได้อย่างรวดเร็วนั้น ไม่ได้ 

แม้แต่พระบรมศาสดาเองยังทรงเน้นย้ำพร่ำสอน ให้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา อันเป็นภาวนามยปัญญานั้นโดยมาก มีพระธรรมบทที่ทรงตรัสแก่พระอานนท์ ดังนี้ว่า

"ดูก่อนอานนท์ เราจักแสดงการเจริญอินทรีย์ อย่างไม่มีวิธีอื่นที่ยิ่งกว่า ในธรรมวินัยของพระอริยะ จักแสดงให้พระเสขะ ผู้ที่ยังปฏิบัติอยู่ จักแสดงให้พระอริยะ ผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้" จึงทำให้มารและเสนามารหลง และอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจเข้าครอบงำจิตของบุคคลผู้ปฏิบัติได้ นั่นก็เพราะว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้นเป็นอริยมรรค เป็นทางเดินของจิตนำไปสู่พรหมจรรย์

"ดูก่อนอานนท์ กิจใดอันพระศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ พึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูก่อนอานนท์ นั่นราวป่า นั่นโคนไม้ นั่นที่ว่างจากเรือน พวกเธอทั้งหลาย จงเพียรเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี่เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย"

จากพระธรรมบทนั้น พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำพร่ำสอนให้พระสาวกทั้งหลาย เพียรเพ่งฌาน พวกที่ปฏิบัติธรรมบางกลุ่มนั้น มักกลัวมากกับคำว่า เพ่งฌาน เพราะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพวกดาบสฤาษีชีไพร ทั้งที่คำว่า เพ่งฌาน นั้นเป็นการปฏิบัติธรรม ที่เรารู้อยู่กับองค์ภาวนาอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย เพราะการรู้อะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆ โดยไม่ขาดสายนั้นก็คือการเพ่ง 

การเพ่ง ก็คือ การรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้ปฏิบัติรู้อยู่ เห็นอยู่ ตลอดสายของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา รู้เห็นถึงการดิ้นรนทุรนทุรายของจิต และในการที่จะพรากจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหล่านั้น จนกระทั่งจิตว่างจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย และอารมณ์เหล่านั้นไม่สามารถครอบงำจิตหรือปรุงแต่งจิตของตนได้เลย จิตก็จะสงบประณีต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

บุคคลผู้ไม่ประมาท มีสติรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกได้นั้น จิตย่อมรวมลงตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตมีสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่อย่างนี้ อุเบกขา สติปาริสุทธิง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนในภายหลังอย่างแน่นอน บุคคลเช่นนั้นเมื่อกระทำอะไรลงไป ย่อมมีสติคอยกำกับคอยควบคุมอยู่ตลอด เมื่อมีสติคอยควบคุมอยู่ คอยกำกับอยู่ ย่อมมีความยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีความยับยั้งชั่งใจ กุศลธรรมฝ่ายต่างๆ ทั้งหลายย่อมมารวมกันอยู่ที่นั่น บุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน และก็ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความรำคาญ ไม่สร้างความสับสนวุ่นวายให้กับคนรอบข้างอย่างแน่นอน ไปอยู่ที่ไหน ย่อมยังประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นที่นั่น

นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงได้สั่งสอนเรื่อง ธรรมที่มีกำลังมาก หรือมีพละมาก หรือธรรมที่เป็นใหญ่เฉพาะ ธรรมนั้นคือ อินทรีย์ ๕ ให้กับภิกษุทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอาจารย์สารีบุตรก็ได้กล่าวอรรถาธิบายเพิ่มเติมในธรรมเหล่านั้นด้วย ทรงตรัสว่า

"ผู้ที่ยังอินทรีย์ ๕ ให้เกิดขึ้น ให้เจริญ ให้บริบูรณ์ บุคคลนั้นก็จะได้ชื่นชมอรหันตผล ส่วนบุคคลที่กระทำให้ เจริญอินทรีย์ ๕ ได้บางส่วน ก็ได้ชื่นชมอริยผลที่เหลือ กล่าวได้ว่า การเจริญอินทรีย์ ๕ นั้น ไม่ว่าเจริญมาก กระทำให้มากได้ตามสติกำลังของตนเท่าไหร่ ย่อมไม่เป็นหมันเลย ย่อมได้ผลแห่งการกระทำเหล่านั้นด้วย" 

มารู้จักอินทรีย์ ๕ กัน อินทรียสัมปันโน คือผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "เพราะได้กระทำให้มาก เจริญให้มาก ซึ่งอินทรีย์ ๕ ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ ด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน" ซึ่งพระองค์ได้เปรียบอินทรีย์ ๕ กับอานาปานสติ มีการกล่าวถึงอานาปานสติไว้ว่าเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังให้ธรรมอีกหลายอย่างสำเร็จลงได้ มีพระบาลี ดังนี้

"อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ  มหานิสํสา  
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

แปลว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสติให้ระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิดผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสติให้ระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากดีแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์

สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มาก
ย่อมยังให้โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์

โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มาก
ย่อมยังให้เกิดวิชชา วิมุตติ จิตหลุดพ้น 
เป็นไปเพื่อละสังโยชน์ เป็นไปเพื่อถอนอนุสัย เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ" 

เราก็จะเห็นแล้วว่า จากพระบาลีในพระธรรมบทนั้น การเจริญให้มาก กระทำให้มาก ซึ่งอานาปานสติ เมื่อทำให้ต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสายแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔  ยังให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ไปด้วย พระองค์ถึงได้เปรียบอินทรีย์ ๕ กับอานาปานสติ

เรามารู้จักอินทรีย์ ๕ กันว่ามีองค์ธรรมอะไรบ้าง 
๑. ศรัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความรู้ตัวทั่วพร้อม 
๕. ปัญญา ความรู้ทั่วชัด

ที่เรียกคำเหล่านี้ว่าอินทรีย์ เพราะแต่ละอย่างนั้นเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของตน หน้าที่ในที่นี่นั้น คือ การกวาดล้างอกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ 

- ศรัทธา กวาดล้างความไร้ศรัทธา
- วิริยะ กวาดล้างความเกียจคร้าน
- สติ กวาดล้างความประมาท
- สมาธิ กวาดล้างความฟุ้งซ่าน
- ปัญญา กวาดล้างความโง่ ความหลง 

ธรรมหมวดนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าพละ เพราะทำให้มีพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง โดยอกุศลธรรมฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถครอบงำได้ อินทรีย์แต่ละอย่างนั้น มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า สัทธินทรีย์  วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ 

พระองค์ยังเปรียบอินทรีย์ ๕ ว่าหวังผลได้เช่นเดียวกับสติปัฏฐาน ๔  ที่นิคมชื่ออาปณ ในแคว้นอังคะ พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระสารีบุตรว่า "อริยสาวกผู้มีศรัทธาแน่วแน่เลื่อมใสในตถาคต ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคต หรือในคำสั่งสอนของตถาคตเลย" เมื่อพระสารีบุตรแจ้งในพระดำรัสนั้น และได้กราบทูลว่า "อริยสาวกผู้มีศรัทธา ก็หวังได้ว่า จักระดมความเพียร เพื่อละอกุศล เพื่อยังกุศลให้ถึงพร้อม มีกำลังความมุ่งมั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย" 

เพราะศรัทธาในอินทรีย์ ๕ นั้นเป็นศรัทธาที่หมดความสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นความเชื่อแบบหมดหัวใจ จึงเป็นศรัทธาที่นำไปสู่วิริยะ 

วิริยะของพระอริยสาวกนั้นเป็นวิริยินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจะเป็นผู้มีสติ เพราะวิริยินทรีย์ เมื่อเรานำมาเทียบได้กับ สัมมาวายามะ ซึ่งเป็นองค์มรรคองค์ที่ ๖ ในอริยมรรค ๘ มีดังนี้

- เพียรละอกุศล ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
- เพียรละอกุศล ที่เกิดแล้ว ให้หมดไป
- ยังกุศล ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
- ยังกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น

นี่คือ วิริยะนำไปสู่สติ สติของพระอริยสาวกนั้นเป็นสตินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจะเหนี่ยวนำเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ คือเหนี่ยวเอาอุเบกขา สติปาริสุทธิง หรือสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่ ซึ่งได้จากสัมมาสมาธิ จิตอิสระรวมลงเป็นหนึ่ง สติหรือสตินทรีย์นี้ที่จะเหนี่ยวนำเอาอารมณ์เหล่านั้นมาได้ ต้องระลึกรู้อยู่ที่ กาย เวทนา จิต และธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ คือ

พิจารณากายในกาย เป็นภายในบ้าง
พิจารณากายในกาย เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณากายในกาย ทั้งภายในและภายนอกบ้าง

พิจารณาเวทนาในเวทนา เป็นภายในบ้าง
พิจารณาเวทนาในเวทนา เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งภายในและภายนอกบ้าง

พิจารณาจิตในจิต เป็นภายในบ้าง
พิจารณาจิตในจิต เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณาจิตในจิต ทั้งภายในและภายนอกบ้าง

พิจารณาธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง
พิจารณาธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณาธรรมในธรรม ทั้งภายในและภายนอกบ้าง

เช่นนี้ สตินำไปสู่สมาธิ สมาธิของอริยสาวกนั้นเป็นสมาธินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจักรู้จักหรือรู้จักชัดถึงสังสารวัฏ อันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ สำหรับผู้มีอวิชชาขวางกั้นจิต มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้เลยว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดเอาตอนไหน" เป็นการดับอวิชชาได้โดยสิ้นเชิง

สมาธินำไปสู่ปัญญา ปัญญาของอริยสาวกนั้นเป็นปัญญินทรีย์ เมื่อพูดถึงปัญญาแล้ว บุคคลทั่วไป มักคิดไปว่าการได้ปัญญามานั้น ปัญญาที่ได้มานั้นจะทำให้รู้จักคิด เป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย มีความทรงจำดี ซึ่งเป็นการเข้าใจปัญญาผิดไปจากความเป็นจริง เพราะปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นั่นเป็นเพียงโลกียปัญญา 

ส่วนปัญญาในทางธรรมนั้น เป็นปัญญาที่เกิดจากมีสติ มีสมาธิ มีความสามารถในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกึกคิดทั้งหลายออกไป เมื่อกระทบอารมณ์ปั๊บ สามารถปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกึกคิดออกไปได้ทันที ปัญญานั้นจึงเป็นโลกุตตรปัญญา เพราะปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจากความรู้ยิ่งเห็นจริง ในธรรมฝ่ายกุศลกรรมและอกุศล เป็นการรู้ชัดถึงธรรมทั้งหลาย เป็นการรู้ชัดอย่างทั่วถึง ทั้งการไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นปัญญาที่เกิดจากวิมุตติธรรม 

เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกทั้งหลายได้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ส่งทอดกันมาอย่างนี้ ก็ย่อมเชื่อมั่นว่า ธรรมเหล่านี้ก็คือธรรมที่ตนได้เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนั่นเอง  ซึ่งบัดนี้ ตนได้สัมผัสด้วยนามกาย คือ จิตตัวใน หรือ อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ และได้เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา 

จากนั้นพระพุทธองค์ยังได้ทรงสอนให้รู้ว่า รู้ได้อย่างไรว่า บุคคลเป็นเสขะ หรือเป็นอเสขะ ในเสขะสูตรโฆสิตา พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เหตุที่ทำให้ภิกษุรู้ตัวเองว่าเป็นเสขะหรือเป็นอเสขะ ดังนี้ 

ผู้เป็นเสขะย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ รู้จักทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และพิจารณาเห็นว่าไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ภายนอกอื่นใด ที่แสดงธรรมอันจริงแท้แน่นอนเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ ว่า มีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด แม้จะยังไม่ได้สัมผัสอินทรีย์ ๕ เหล่านั้นด้วยนามกาย คือยังไม่เข้าถึงจิตตัวในอย่างชัดเจน แต่ก็เข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญา ตามกำลังของตนที่ได้ปฏิบัติมา

ส่วนบุคคลผู้เป็นอเสขะนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ ว่า มีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ทั้งได้สัมผัสด้วยนามกาย คือสัมผัสได้ด้วยจิตตัวใน อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ ผู้ที่ปฏิบัติจนเห็นจิตตัวในแล้ว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา 

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมรู้ชัดด้วยอินทรีย์ ๖ 
อินทรีย์ ๖ ในที่นี้ เป็นอินทรีย์ที่หมายถึง อายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งคอยรับอารมณ์จากอายตนะภายนอก อันมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ และรู้ชัดว่า อินทรีย์ ๖ เหล่านี้จักดับหมดสิ้นไม่เหลือ และอินทรีย์ ๖ เหล่าอื่นจักไม่เกิดขึ้นในภพไหนๆ อีก คือ วิมุตติหลุดพ้นแล้ว จิตไม่เวียนว่ายเข้ามาในสังสารจักรอีกแล้ว จึงได้ชื่อว่า อเสขะบุคคล

จากสมุทยสูตร ความเกิดแห่งจิตมี เพราะมีนามรูป จิตไม่มี ก็เพราะไม่มีนามรูป ความเกิดแห่งธรรมมี เพราะมีมนสิการ ธรรมไม่มี ก็เพราะไม่มีมนสิการ 

ความเกิดแห่งจิต ทำให้เกิดอาการของจิตขึ้น อันมีนาม ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิตที่กระทำตอบต่ออารมณ์นั้นๆ รูปมีช่องทางในการทำงานรับรู้อารมณ์ของรูป มีด้วยกัน ๕ ช่องทาง อันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อทำงานรับรู้อารมณ์ผ่านช่องทางดังกล่าวแล้ว ก็ส่งอาการยินดียินร้ายไปเก็บไว้ที่จิตหรือที่เรียกว่าใจ อีกช่องทาง รวมแล้วเป็น ๖ ช่องทาง คืออายตนะ ๖ ที่เรียกว่าอินทรีย์ ๖ ในปฏิจสมุปปบาท เรียกว่าสฬายตนะ มี ๖ ประการเช่นกัน 

๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา) 
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู) 
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก) 
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น) 
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย) 
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ) 

เรียกว่าอายตนะภายใน ๖ เมื่อกระทบรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ เรียกว่าอายตนะภายนอก ๖ ย่อมทำให้เกิดวิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบ แบ่งเป็น ๖ ช่องทางตามช่องทางที่รับรู้อารมณ์ คือ 

- จักขุวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางตา 
- โสตวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางหู 
- ฆานวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางจมูก 
- ชิวหาวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางลิ้น 
- กายวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางกาย 
- มโนวิญญาณ รับรู้ธัมมารมณ์ 
ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ 

ภิกษุผู้ไม่รู้ชัดถึงความเกิดความดับ ส่วนดีส่วนเสีย และวิธีสลัดพ้นจากผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ก็หมายถึงยังไม่จบพรหมจรรย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากธรรมวินัยนี้ 

ฝ่ายเกิดแห่งทุกข์ อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ถึงกัน วิญญาณผัสสะและเวทนาที่เกิดจากผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหานี้ คือความเกิดแห่งทุกข์ 

ฝ่ายความดับแห่งทุกข์ เมื่อตัณหาที่เกิดจากผัสสายตนะดับ เพราะละความใคร่ (วิราคะ)  โดยสิ้นเชิง อุปาทานก็ดับ เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาสก็ดับ กองทุกข์ทั้งปวงดับ ด้วยอาการอย่างนี้ 

บุคคลผู้ไม่สำรวม จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์  ชิวหินทรีย์  กายินทรีย์  มนินทรีย์ เป็นต้น จิตย่อมแส่สายไปในรูปทั้งหลายที่ตามองเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน ในกลิ่นที่จมูกสูดดม ในรสที่ลิ้นได้ลิ้ม ในโผฏฐัพพะที่กายได้ถูกต้อง แส่ส่ายไปในธัมมารมณ์ที่ใจรู้ได้ เมื่อจิตแส่สายไปแล้ว ปราโมทย์ (ปีติอย่างอ่อน) ก็ไม่มี เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิ (ความสงบระงับกายใจ ความเยือกเย็น) ก็ไม่มี บุคคลผู้นั้นก็อยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้เป็นทุกข์ย่อมไม่ตั้งมั่น (ไม่เป็นสมาธิ) เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลาย (สมถะและวิปัสสนา) ก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างแท้จริง

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายที่จะเข้ามาที่จิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกสุขทุกข์ทางฐานเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะช่วยให้จิตละวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปให้หมดสิ้น

มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ "อปฺปมาโท อมตํ  ปทํ  ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ อปฺปมตฺตา  น  มียนฺติ เย  ปมตฺตา  ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว"  เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2564 9:34:51 น.
Counter : 1349 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog